รัฐธรรมนูญเมจิ

รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น (คีวจิไต: 大日本帝國憲法; ชินจิไต: 大日本帝国憲法, ทับศัพท์: Dai-Nippon Teikoku Kenpō) มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า รัฐธรรมนูญเมจิ (明治憲法, Meiji Kenpō) เป็นรัฐธรรมนูญของจักรวรรดิญี่ปุ่น ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1889 และใช้บังคับตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1890 จนถึง 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1947[1]

รัฐธรรมนูญนี้ตราขึ้นหลังจากการฟื้นฟูเมจิเมื่อ ค.ศ. 1868 และบัญญัติให้มีรูปแบบการปกครองที่ประสมระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญโดยใช้ระบอบของปรัสเซียกับบริติชเป็นต้นแบบด้วยกัน[2]

ตามรัฐธรรมนูญนี้ ในทางทฤษฎีแล้ว จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงเป็นผู้นำสูงสุด และคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหัวหน้า คือ นายกรัฐมนตรีที่องคมนตรีเลือกมานั้น เป็นผู้รับสนองพระบัญชาอีกที แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จักรพรรดิทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าที่แท้จริงของรัฐบาล นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ก็ไม่จำต้องมาจากการเลือกขององคมนตรีเสมอไป

วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 มีการชำระรัฐธรรมนูญนี้ทั้งฉบับตามวิธีการปรกติที่กำหนดไว้สำหรับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จนทำให้รัฐธรรมนูญนี้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงคราม ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา

โครงสร้าง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 76 มาตรา แบ่งเป็นเจ็ดหมวด โดยรวมแล้วประกอบด้วยถ้อยคำประมาณ 2,500 คำ รัฐธรรมนูญนี้มักเผยแพร่พร้อมกับคำปรารภ พระราชปฏิญญาที่ทรงกระทำในพระราชวังหลวง และพระราชหัตถเลขาประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมแล้วจะทำให้มีคำเพิ่มขึ้นอีก 1,000 คำ[3]

หมวดทั้งเจ็ด คือ

  • หมวด 1 จักรพรรดิ (มาตรา 1–17)
  • หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของพสกนิกร (มาตรา 18–32)
  • หมวด 3 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 33–54)
  • หมวด 4 คณะรัฐมนตรีและคณะองคมนตรี (มาตรา 55–56)
  • หมวด 5 ศาล (มาตรา 57–61)
  • หมวด 6 การคลัง (มาตรา 62–72)
  • หมวด 7 บทเบ็ดเตล็ด (มาตรา 73–76)

บทบัญญัติหลัก

อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยให้เหตุผลว่า ทรงสืบเชื้อสายสวรรค์อย่างไม่ขาดตอนมาชั่วกาลนาน ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่อิงหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

เนื่องจากเป็นการนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณ์) กับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (กษัตริย์ถูกจำกัดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ) มาประสมกัน จึงมีบางบทบัญญัติที่ขัดแย้งกันเองในประเด็นจักรพรรดิหรือรัฐธรรมนูญกันแน่ที่มีอำนาจสูงสุด

มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติว่า จักรพรรดิทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิ สิทธิต่าง ๆ ในความเป็นอธิปไตยประมวลอยู่ในพระองค์ทั้งสิ้น อำนาจที่แบ่งเป็นสามฝ่าย คือ บริหาร, นิติบัญญัติ, ตุลาการ นั้นรวมอยู่ที่พระองค์ อย่างน้อยก็ในทางนิตินัย แต่มาตรา 5 และ 64 ระบุว่า กฎหมายและงบประมาณต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย นอกจากนี้ บางกิจการก็จะต้องกระทำในพระนามาภิไธย เช่น การออกกฎหมาย และการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

มาตรา 3 ว่า จักรพรรดิทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งกลุ่มนิยมเจ้าแบบสุดโต่งตีความว่า หมายถึง จักรพรรดิมีพระราชอำนาจจะยกเลิกรัฐธรรมนูญหรืองดใช้บทบัญญัติบางบทก็ได้

มาตรา 11 ว่า จักรพรรดิทรงบัญชาทหารบกและทหารเรือทั้งปวง ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกและทหารเรือตีความว่า หมายถึง ทหารทั้งปวงจะเชื่อฟังแต่พระราชโองการเท่านั้น ไม่จำต้องเชื่อฟังคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มาตรา 55 ว่า พระราชโองการไม่มีผลเป็นกฎหมายอยู่ในตัว เว้นแต่มีรัฐมนตรีลงชื่อรับสนอง อย่างไรก็ดี จักรพรรดิมีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัย

สิทธิและหน้าที่ของพสกนิกร

รัฐธรรมนูญระบุว่า พสกนิกรญี่ปุ่น (Japanese subject) มีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ (คำปรารภ), เสียภาษี (มาตรา 21), และเป็นทหารเมื่อถูกเกณฑ์ (มาตรา 20)

รัฐธรรมนูญให้พสกนิกรบางกลุ่มมีสิทธิและเสรีภาพบางประการดังต่อไปนี้ เว้นแต่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอื่น

  • เสรีภาพในการอยู่อาศัย (มาตรา 22)
  • สิทธิที่จะไม่ถูกค้นหรือบุกรุกเคหสถาน (มาตรา 25)
  • สิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร (มาตรา 26)
  • สิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว (มาตรา 27)
  • เสรีภาพที่พูด ชุมนุม หรือสมาคม (มาตรา 29)
  • สิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการโดยเท่าเทียมกัน (มาตรา 19)
  • สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยชอบ (มาตรา 23)
  • สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีในศาล (มาตรา 24)
  • เสรีภาพทางศาสนา ตราบที่ไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือหน้าที่ในฐานะพสกนิกร (มาตรา 28)
  • สิทธิที่จะถวายฎีกา (มาตรา 30)

องค์กรของรัฐบาล

รัฐธรรมนูญให้จักรพรรดิมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการ ประกาศสงคราม ทำสัญญาสันติภาพ ทำสนธิสัญญา ยุบสภาล่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และออกพระราชกำหนดในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่นอกสมัยประชุม ที่สำคัญ คือ มีพระราชอำนาจบัญชาทั้งทัพบกทัพเรือโดยตรง รัฐธรรมนูญยังกำหนดว่า คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ต้องขึ้นตรงต่อจักรพรรดิ มิใช่ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และยังกำหนดให้มีคณะองคมนตรี ส่วนองค์กรที่ไม่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญ คือ เก็นโร (元老) ซึ่งประกอบด้วยคนวงในที่คอยถวายคำปรึกษาต่อจักรพรรดิ เป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลมาก

รัฐธรรมนูญนี้ให้สภานิติบัญญัติประกอบด้วยสภาย่อยสองสภา คือ สภาสูง เรียกว่า "คิโซกุอิง" (貴族院; "สภาขุนนาง") ประกอบด้วย สมาชิกราชวงศ์ ขุนนาง และบุคคลอื่น ๆ ที่ทรงแต่งตั้ง กับสภาล่าง เรียกว่า "ชูงิอิง" (衆議院; "สภาปรึกษาทั่วไป") ประกอบด้วย บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนที่เป็นชาย ชายคนไหนมีสิทธิเลือกตั้งเท่าไร ขึ้นอยู่กับว่า เสียภาษีมากน้อยเท่าไร คุณสมบัตินี้ผ่อนคลายลงใน ค.ศ. 1900 และ 1919 กระทั่ง ค.ศ. 1925 ที่เริ่มกำหนดให้ชายทุกคนมีสิทธิเสมอหน้ากันในการเลือกตั้ง[4]

อำนาจนิติบัญญัติเป็นของสภานิติบัญญัติและจักรพรรดิ สภาและจักรพรรดิต้องเห็นชอบด้วยกันในการตรากฎหมาย แต่สภามีอำนาจร่างกฎหมาย รวมถึงพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายและงบประมาณ

การแก้ไขเพิ่มเติม

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้มีกำหนดไว้ในมาตรา 73 ว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะเป็นกฎหมายได้ ต้องมาจากการเสนอของจักรพรรดิโดยการมีพระราชโองการหรือพระราชหัตถเลขาไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาทั้งสองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยคะแนนะเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา จึงจะถือว่า ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเมื่อได้รับความเห็นชอบดังกล่าวแล้ว จักรพรรดิจะทรงตราร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นกฎหมาย แต่มีพระราชอำนาจเต็มที่ที่จะยับยั้งร่างนั้นได้ นอกจากนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ในช่วงที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่ไม่ว่าบทบัญญัติเหล่านี้จะว่าไว้ประการใด ก็ไม่เคยมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเลยนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นต้นมาจนสิ้นอำนาจลงไปใน ค.ศ. 1947

เมื่อจะยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น มีการทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่ตามมาตรา 73 ดังกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องมาจากจักรพรรดิ จึงมีการขอพระราชานุมัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็พระราชทานให้ดังทรงแถลงไว้ในพระราชหัตถเลขาประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่คำปรารภระบุว่า มาจากการอนุมัติของปวงชนในชาติแทน เพื่อให้เป็นไปตามหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Akamatsu, Paul. (1972). Meiji 1868: Revolution and Counter-Revolution in Japan (Miriam Kochan, translator). New York: Harper & Row.
  • Akita, George. (1967). Foundations of constitutional government in modern Japan, 1868–1900. Cambridge: Harvard University Press.
  • Beasley, William G. (1972). The Meiji Restoration. Stanford: Stanford University Press. ISBN 9780804708159; OCLC 579232.
  • Beasley, William G. (1995). The Rise of Modern Japan: Political, Economic and Social Change Since 1850. New York: St. Martin's Press. ISBN 9780312127510; OCLC 695042844.
  • Craig, Albert M. (1961). Chōshū in the Meiji Restoration. Cambridge: Harvard University Press. OCLC 482814571.
  • Jansen, Marius B., and Gilbert Rozman, eds. (1986). Japan in Transition: from Tokugawa to Meiji. Princeton: Princeton University Press. ISBN 9780691054599; OCLC 12311985.
  • Jansen, Marius B. (2000). The Making of Modern Japan. Cambridge: Harvard University Press. ISBN 9780674003347; OCLC 44090600.

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง