สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นการอธิบายถึงความแตกแยกระหว่างกลุ่มการเมืองน้อยใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเดิม ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 โดยในทัศนะของนิธิ เอียวศรีวงศ์ สภาวะดังกล่าวแทบจะทำให้รัฐไทยล่มสลายลงไปตามเจตนาของพม่าในการรุกรานอาณาจักรอยุธยาเลยทีเดียว[1] สภาวะดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนที่บ้านเมืองอันเป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริงจะถูกสถาปนาขึ้นอีกครั้งหลังจากการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[2]

เบื้องหลัง

ปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง อาณาจักรอยุธยาเผชิญกับสงครามครั้งใหญ่กับพม่าราวปี พ.ศ. 2308-2310 ผลของการสงครามครั้งนั้นได้ทำลายกรุงศรีอยุธยาจนไม่อาจตั้งกลับเป็นอาณาจักรของคนไทยได้อีก อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและความไม่ปลอดภัยจากภัยสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2310 ครั้นเมื่อพม่าเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏข้าราชการและราษฎรจำนวนมากหลบหนีไป ซึ่งขณะนั้นได้มีชาวพระนครหลบหนีจากพระนครกว่า 8,000 คน ได้อพยพลี้ภัยไปทางทิศอีสานและทิศตะวันออกซึ่งชาวพระนครได้หลบหนีไปพึ่งเจ้าชุมนุมต่าง ๆ ที่กำลังก่อตัวเป็นอิสระขึ้นเช่น ชุมนุมเจ้าพระฝาง, ชุมนุมเจ้าพิมาย, ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก[3] ซึ่งตามทัศนะของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้บรรยายถึงสภาพจลาจลจากการที่ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาจำนวนมากได้พากันหลบหนีออกจากพระนคร ซึ่งมีการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น อาจเพื่อเอาชีวิตรอด อาจเพื่อแสวงหาการคุ้มครอง อาจเพื่อเลี้ยงชีพโดยการลักขโมยผู้อื่น[4] แต่ไม่คิดจะรวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยาเลย

กรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองพิมาย

หลังจากที่พ่ายแพ้ให้แก่พม่าที่ปราจีนบุรีแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระโอรสธิดาและพระยารัตนาธิเบศร์เสด็จไปประทับตั้งหลักที่ด่านโคกพระยาในช่วงกลางปีพ.ศ. 2309 เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียให้แก่พม่า แต่พระยารัตนาธิเบศร์ล้มป่วยถึงแก่กรรมเสียที่ด่านโคกพระยา กรมหมื่นเทพพิพิธจึงประทานเพลิงศพให้กระทำการปลงศพแก่พระยารัตนาธิเบศร์[5] ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พระพิบูลสงครามเจ้าเมืองนครนายกและหลวงนรินทร์นำไพร่ชายหญิงจำนวนประมาณสามร้อยคน หนีพม่าขึ้นไปทางเขาพนมโยงไปตั้งที่ด่านจันทึก เจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งเป็นอริกับพระยาพิบูลสงครามมาแต่ก่อน ส่งทหารมาสังหารพระพิบูลสงครามและหลวงนรินทร์ไปเสีย กวาดต้อนชาวเมืองนครนายกเข้าไปไว้ที่นครราชสีมา

กรมหมื่นเทพพิพิธให้หลวงมหาพิชัยและนายทองคำ นำหมวกฝรั่ง เสื้อแพรกระบวนจีน และผ้าเกี้ยว นำไปประทานให้แก่เจ้าพระยานครราชสีมา เพื่อขอการสนับสนุนจากเจ้าพระยานครราชสีมา แต่ทว่าต่อมาอีกสิบสี่สิบห้าวัน หลวงพลเมืองนครราชสีมาออกมาทูลกรมหมื่นเทพพิพิธว่า เจ้าพระยานครราชสีมาวางแผนจะส่งกองกำลังชาวเขมรจำนวน 500 คน ลงมาจับองค์กรมหมื่นเทพพิพิธลงไปส่งที่กรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธทรงตกพระทัยเตรียมตัวจะเสด็จหนี แต่หม่อมเจ้าประยงค์พระโอรสของกรมหมื่นเทพพิพิธทูลเตือนสติพระบิดาให้ประทับอยู่สู้

หม่อมเจ้าประยงค์ทูลขอประทานเงินจำนวนห้าชั่ง นำไปแจกจ่ายเกลี้ยกล่อมนายบ้านสิบสองตำบล ได้ไพร่พล 550 คน วันพุธขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10[5] (17 กันยายน พ.ศ. 2309) หม่อมเจ้าประยงค์ พร้อมทั้งหลวงมหาพิชัยและหลวงปราบ คุมกำลังจำนวน 30 คน พร้อมทั้งชาวบ้าน เข้าไปซุ่มอยู่ในเมืองนครราชสีมา ต่อมาวันรุ่งขึ้น ขึ้น 15 ค่ำ (18 กันยายน) เป็นวันพระ เจ้าพระยานครราชสีมาออกมาทำบุญที่วัดกลางไม่ทันได้ตั้งตัว หม่อมเจ้าประยงค์จึงนำกำลังเข้าล้อมจวนของเจ้าพระยานครราชสีมา เข้าจับกุมเจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งถูกสังหารเสียชีวิตไป แต่หลวงแพ่งน้องชายของเจ้าพระยานครราชสีมาสามารถควบม้าหลบหนีออกไปเมืองพิมายได้ทันแก่เวลา หม่อมเจ้าประยงค์ให้ยิงปื่นใหญ่ขึ้นเป็นสัญญาณฤกษ์และเกณฑ์คนออกมารับเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธเข้าไปประทับในเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธจึงสามารถเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ

แต่ทว่าหลังจากนั้นเพียงห้าวัน หลวงแพ่งได้ขอความช่วยเหลือจากพระพิมายเจ้าเมืองพิมาย นำกำลังมาเข้าล้อมเมืองนครราชสีมาเพื่อแก้แค้นให้แก่พี่ชาย ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเกณฑ์คนได้เบาบางขึ้นไม่เต็มเชิงเทินกำแพงเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธป้องกันเมืองนครราชสีมาได้สี่วัน จึงเสียเมืองนครราชสีมาให้แก่หลวงแพ่ง กองทัพของพระพิมายและหลวงแพ่งเข้าเมืองได้ทางวัดพายัพ หลวงแพ่งจับเอาพระโอรสของกรมหมื่นเทพพิพิธได้แก่หม่อมเจ้าประยงค์ หม่อมเจ้าดารา หม่อมเจ้าธารา รวมทั้งขุนนางของกรมหมื่นเทพพิพิธได้แก่พระพิชัยราชาและหลวงมหาพิชัย นำไปสำเร็จโทษประหารชีวิตปลงพระชนม์ไปหมดสิ้น[5][6] ยังเหลือแต่พระโอรสที่พระชนม์ยังน้อย หม่อมเจ้าอุบลพระธิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธตกเป็นภรรยาของนายแก่นลูกน้องของหลวงแพ่ง และหม่อมเสมพระชายาของกรมหมื่นเทพพิพิธตกเป็นภรรยาของนายย่น ลูกน้องของหลวงแพ่งอีกเช่นกัน หลวงแพ่งต้องการสำเร็จโทษประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายได้ขอให้ไว้พระชนม์ชีพ กรมหมื่นเทพพิพิธนั้นถูกพระพิมายจับกุมองค์กลับไปยังเมืองพิมาย

ปรากฏว่าพระพิมายนั้นมีความนับถือกรมหมื่นเทพพิพิธว่าเป็นวงศาราชตระกูล จึงทำนุบำรุงยกย่องกรมหมื่นเทพพิพิธไว้เป็นเจ้า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 พระพิมายทราบข่าวว่าพม่าได้กวาดต้อนพระบรมวงศานุวงศ์อยุธยาไปพม่าไปสิ้น[5] พระพิมายจึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าแผ่นดินว่าเป็นเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายจึงแต่งตั้งพระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่งตั้งบุตรชายทั้งสองของพระพิมายได้แก่ นายสาและนายน้อย ให้เป็นพระยามหามนตรีและพระยาวรวงศาธิราชตามลำดับ นำไปสู่การกำเนิดของชุมนุมเจ้าพิมาย

พระพิมายและบุตรทั้งสองวางแผนสังหารหลวงแพ่งและยึดเมืองนครราชสีมาคืนให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธ ประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 พระพิมายและบุตรทั้งสองยกกำลังจำนวน 500 คน ไปเยียมพบกับหลวงแพ่งที่เมืองนครราชสีมา หลวงแพ่งมีความไว้วางใจพระพิมายเห็นว่าเคยปราบกรมหมื่นเทพพิพิธมาด้วยกัน หลวงแพ่งจัดละครให้พระพิมายดู ในขณะที่กำลังดูละครกันอยู่นั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) ลุกขึ้นใช้ดาบฟันหลวงแพ่งเสียชีวิต พระยามหามนตรี (สา) ฟันนายแก่นเสียชีวิต พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) ฟันนายย่นเสียชีวิต เสียชีวิตทั้งสามคน พวกทหารเมืองพิมายฆ่าฟันฝ่ายเมืองนครราชสีมาล้มตายจำนวนมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) จึงสามารถยึดเมืองนครราชสีมาให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธได้สำเร็จ และมอบหมายให้พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) เรียกว่า "พระยาน้อย"[7] ตั้งอยู่ที่ด่านจอหอคอยรักษาเมืองนครราชสีมา[5][6]

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

เมื่อพระยาตากเห็นว่าไม่สามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาจากการโจมตีของพม่าได้อีกต่อไป ในวันเสาร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ (4 มกราคม พ.ศ. 2310) พระยากตากจึงนำกองกำลังไทยจีนจำนวน 500 คน พร้อมทั้งแม่ทัพนายกองคณะผู้ติดตาม ฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางตะวันออก พระยาตากต่อสู้รบกับทัพพม่าที่ติดตามมาและค่ายชาวบ้านผู้นำท้องถิ่นซึ่งไม่ยอมรับอำนาจของพระยาตาก จนกระทั่งพระยาตากได้เข้าตั้งมั่นที่เมืองระยองในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาพ.ศ. 2310 พระยาตากได้ประกาศตนเป็นเจ้าตาก ในเดือนมิถุนายนพ.ศ. 2310 พระยาตากยกทัพเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ พระยาตากใช้เมืองจันทบุรีเป็นสถานที่รวบรวมกำลังพลและต่อเรือเป็นเวลาสามเดือน

ฝ่ายพม่าหลังจากที่ยึดกรุงศรีอยุธยาได้จำต้องโยกย้ายกำลังโดยส่วนใหญ่กลับไปสู้รบในสงครามจีน-พม่า (Sino-Burmese War) โดยที่วางกำลังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น (อำเภอบางปะหัน) ทางเหนือของเมืองอยุธยาโดยมีสุกี้พระนายกองหรือนายทองสุกชาวมอญเป็นผู้นำ เพื่อรักษาการณ์ในสยามในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในเดือนตุลาคม พระยาตากยกกองทัพเรือจำนวน 5,000 คน ออกจากจันทบุรีเข้ามาที่แม่น้ำเจ้าพระยา ยึดป้อมเมืองธนบุรีได้และยกทัพต่อไปโจมตีพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น นำไปสู่การรบที่โพธิ์สามต้น พระยาตากเข้าตียึดค่ายโพธิ์สามต้นได้เมื่อวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310) มองย่าแม่ทัพพม่าจากโพธิ์สามต้นหลบหนีไปเข้าหากรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองพิมาย

ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพปรักหักพังเต็มไปด้วยซากศพไม่สามารถใช้เป็นฐานที่มั่นเพื่อตั้งรับการรุกรานของพม่าได้ ในขณะที่เมืองธนบุรีมีป้อมวิชัยประสิทธิ์ตั้งอยู่แล้ว[8] พระยาตากจึงตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองธนบุรีสถาปนาเมืองธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวงพระนครแห่งใหม่ของอาณาจักรธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อวันจันทร์ขี้น 8 เดือนยี่ ปีกุน จุลศักราช 1128 (28 ธันวาคม พ.ศ. 2310) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

ชุมนุมใหญ่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

ภาพแสดงที่ตั้งชุมนุมต่าง ๆ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310)
1: ชุมนุมพระยาตาก (รวมกับชุมนุมสุกี้พระนายกอง)
2: ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก
3: ชุมนุมเจ้าพระฝาง
4: ชุมนุมเจ้าพิมาย
5: ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า แนวคิดที่ว่าดินแดนสมัยอาณาจักรอยุธยาเดิมถูกแบ่งออกเป็น 5 ชุมนุม อาจเป็นแนวคิดจากพระวนรัตน์ แต่ชุมนุมที่ถูกนับนี้ เป็นชุมนุมที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากเท่านั้น ซึ่งพระราชพงศาวดารก็ได้บันทึกตามนี้เช่นกัน[9] ส่วน เทพ สุนทรศารทูล แบ่งออกเป็น 8 ชุมนุม[10] เป็นชุมนุมขนาดใหญ่ 5 ชุมนุม ชุมนุมขนาดย่อม 2 ชุมนุม และชุมนุมชนชาติอื่น 1 ชุมนุม

  • ชุมนุมของสุกี้พระนายกอง (หรือ ชุกคยี) เป็นชุมนุมของพม่าตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น หลังจากทัพพม่าถอนกำลังกลับกรุงอังวะแล้ว เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งสุกี้พระนายกอง หรือนายทองสุก ชาวมอญ (รามัญ) ต่อมาพระยาตากเข้ายดค่ายโพธิ์สามต้นได้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2310 สุกี้พระนายกองสิ้นชีวิตในที่รบ เป็นการสิ้นสุดชุมนุมของสุกี้พระนายกอง
  • ชุมนุมพิษณุโลก: เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพระพิษณุโลก ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์ และ ปากน้ำโพ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เคยเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสู้รบ จึงมีผู้นับถืออยู่มาก เมื่อตั้งตนเป็นเจ้าแล้ว ได้มีข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาสวามิภักดิ์อยู่ด้วยหลายนาย
  • ชุมนุมเจ้าพระฝาง: พระสังฆราชาในเมืองสวางคบุรี (ฝาง) ได้ตั้งตนเป็นเจ้า ทั้งที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาวบ้านทั่วไปเรียก เจ้าพระฝาง หรือ พระเจ้าฝาง มีชื่อเดิมว่า เรือน เป็นชาวเมืองเหนือ
  • ชุมนุมภาคใต้นครศรีธรรมราช: ในสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ พระยาราชสุภาวดีได้มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช[11] ในขณะที่หลวงสิทธิ์นายเวร (หนู) ได้มาเป็นปลัดเมือง ในช่วงที่พม่าเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาฯ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พระยาราชสุภาวดี) ได้รับมอบหมายให้นำกำลังไปเข้าร่วมการป้องกันกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระยาราชสุภาวดีมีความผิดถูกปลดจากตำแหน่งกลับไปที่กรุงศรีฯ[11] ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่างอยู่ยังไม่มีการแต่งตั้งใหม่ โดยมีพระปลัด (หนู) เป็นผู้รั้งเมืองอยู่ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระปลัด (หนู) จึงตั้งตนขึ้นเป็นเจ้านครฯ ตั้งชุมนุมนครศรีธรรมราช มีอาณาเขตที่หัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงเขตแดนหัวเมืองมลายู
  • ชุมนุมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนที่จะตั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระยาตากพิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีทางรบชนะ จึงนำทหารจำนวนหนึ่งไปสร้างฐานกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่ชายแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมด

การรบที่เกยไชย

ในเดือนสิบเอ็ด[8] (ตุลาคม) พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพยกขึ้นไปโจมตีชุมนุมพิษณุโลกของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นแห่งแรก ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลกส่งหลวงโกษา (ยัง) เมืองพิษณุโลกลงมาตั้งรับที่เกยไชย (ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์) ทัพฝ่ายธนบุรีเข้ารบกับฝ่ายเมืองพิษณุโลกในการรบที่เกยไชย ฝ่ายพิษณุโลกยิงปืนมาต้องพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ข้างซ้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายทัพธนบุรีจึงถอยกลับ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าแค่เฉี่ยวพระมังสะ (เนื้อ) ไปเท่านั้น "ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝนต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบติดผิวพระมังสะไป"[6] ในขณะที่จดหมายเหตุทรงจำในกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่า "ไปตีเกยไชยถูกปืนไม่เข้า"[12]

ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เห็นว่าตนเองได้รับชัยชนะเหนือธนบุรี กอปรกับการที่ตนมีขุนนางข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยาเข้าด้วยจำนวนมาก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงประกอบพิธีตั้งตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ที่เมืองพิษณุโลกในพ.ศ. 2311[7] แต่งตั้งให้พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) เป็นสมุหนายก[13] แต่ทว่าต่อมาไม่นานเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนเดือนสิบเอ็ดปีชวดสัมฤทธิศกตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311 ในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ระบุว่า "อยู่ในราชสมบัติ 6 เดือน พระชนมายุได้ 49 ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม"[14] ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า "ตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินรับพระราชโองการ อยู่ได้ประมาณเจ็ดวัน ก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในคอถึงพิราลัย" [15] ในขณะที่พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ก็ได้ล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. 2311[13] ในเวลาต่อมาไม่นานเช่นกัน พระอินทรอากร (จัน) น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน แต่ก็ทำให้เมืองพิษณุโลกอ่อนแอตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะ จึงยกทัพลงมาตีเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก ตั้งค่ายล้อมเมืองพิษณุโลกทั้งสองฟากแม่น้ำน่าน พระอินทรอากรต้านทานเจ้าพระฝางอยู่ได้สามเดือน[7] ก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมืองพิษณุโลก เปิดประตูเมืองรับทัพเจ้าพระฝางเข้ายึดเมืองพิษณุโลก ในที่สุดเจ้าพระฝางก็สามารถเข้ายึดเมืองพิษณุโลกและผนวกชุมนุมพิษณุโลกเข้ารวมกับชุมนุมพระฝางไปในที่สุด พระอินทรอากรถูกสังหารนำศพขึ้นเสียบประจาน เป็นการสิ้นสุดของชุมนุมพิษณุโลก

เจ้าพระฝางเก็บเอาทรัพย์สินและกวดต้อนผู้คนจากเมืองพิษณุโลกกลับไปที่เมืองสวางคบุรี บรรดาหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพระฝาง ชาวเมืองพิษณุโลกและเมืองพิจิตร ได้แตกหนีลงมายังกรุงธนบุรีจำนวนมาก[7]

ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย

หลังจากที่พระยาตากเข้ายึดค่ายพม่าโพธิ์สามต้นได้ในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2310 มองย่าแม่ทัพพม่าได้เดินทางหลบหนีไปยังเมืองนครราชสีมาเพื่อขอความคุ้มครองจากกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมาย ในพ.ศ. 2311 หลังจากศึกเกยไชย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปตามตัวมองย่าและเพื่อปราบชุมนุมเจ้าพิมาย โดยมีพระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) เป็นทัพหน้า ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพมาจึงจัดการป้องกันดังนี้

  • เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) พระยามหามนตรี (สา) และมองย่า ตั้งรับที่ด่านจอหอ
  • พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) หรือพระยาน้อย ผู้รักษาเมืองนครราชสีมา ตั้งรับที่ด่านขุนทด

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) โจมตีพระยาวรวงศาธิราชที่ด่านขุนทด ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพด้วยพระองค์เองเข้าตีด่านจอหอ ฝ่ายชุมนุมพิมายพ่ายแพ้ จับกุมตัวได้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระยามหามนตรี และมองย่าแม่ทัพพม่า มีพระราชโองการให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตไปทั้งสามคน ส่วนพระยาวรวงศาธิราชนั้นสามารถเดินทางหลบหนีข้ามเทือกเขาพนมดงรักไปยังเมืองเสียมเรียบกัมพูชาได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้พระราชวรินทร์และพระมหามนตรียกทัพไปติดตามพระยาวรวงศาฯถึงกัมพูชาเมืองเสียมเรียบแต่ไม่พบตัว พระยาวรวงศาธิราชจึงหายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์

ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อทราบข่าวว่าเสนาบดีแม่ทัพนายของของชุมนุมพิมายพ่ายแพ้ถูกประหารชีวิตไปหมดแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธจึงเตรียมตัวเสด็จหลบหนีไปยังเมืองล้านช้างศรีสัตนาคนหุต แต่ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาสามารถจับกุมองค์กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระโอรสธิดากลับมาถวายแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงดีพระทัยโสมนัสทรงแต่งตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยากำแหงสงคราม[5]หรือเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาคนใหม่

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำตัวกรมหมื่นเทพพิพิธกลับไปชำระความที่กรุงธนบุรี ทรงให้เบิกตัวกรมหมื่นเทพพิพิธมาเข้าเฝ้าที่หน้าพระที่นั่ง แต่กรมหมื่นเทพพิพิธไม่ยอมกราบถวายบังคม สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตรัสว่า "ตัวจ้าวหาบุญวาศนาบาระมีมิได้ ไปอยู่ที่ใดก็ภาพวกพ้องผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงจ้าวไว้ก็จภาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยกัน จ้าวอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถีด อย่าให้จุลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างน่าอีกเลย"[7] แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงลงพระราชอาญาให้สำเร็จโทษประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี[6]

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลื่อนพระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้มีความชอบในการปราบกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมาย ให้เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์แลัพระยาอนุชิตราชาตามลำดับ[5][6] นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินยังทรงแต่งตั้งให้พระโอรสของกรมหมื่นเทพพิพิธสององค์ได้แก่ หม่อมเจ้ามงคลและหม่อมเจ้าลำดวนให้เป็นที่เจ้าราชนิกูลเป็นเจ้าเชษฐกุมารและเจ้าอนุรุทธเทวา[12]

ปราบชุมนุมนครศรีธรรมราช

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระปลัด (หนู) ปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตนเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองภาคใต้ เป็นเจ้านครศรีธรรมราชจัดตั้งชุมนุมนครศรีธรรมราช เจ้านครฯแต่งตั้งให้หลานเขยคือหลวงฤทธิ์นายเวร (จันทร์ จันทโรจวงศ์) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ขึ้นเป็นอุปราชแห่งนครศรีธรรมราช เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว หัวเมืองมลายูปัตตานีไทรบุรีที่เคยส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้แก่สยาม ต่างหลุดพ้นไปจากอำนาจของสยามเป็นเวลาชั่วคราว

ในพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งทัพกรุงธนบุรีลงใต้เพื่อปราบชุมนุมนครศรีธรรมราช นำโดยเจ้าพระยาจักรี (หมุด) และมีแม่ทัพคนอื่นๆได้แก่พระยายมราช (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศระบุว่า คือพระยายมราชบุญมา ในขณะที่พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ระบุว่า เป็นคนละคนกัน) พระยาศรีพิพัฒน์ และพระยาเพชรบุรี นำกองทัพจำนวน 5,000 คนลงใต้ ไปถึงเมืองปะทิว ชาวเมืองปะทิวและเมืองชุมพรต่างหลบหนีเข้าไปในป่า มีนายมั่นชาวเมืองปะทิวเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี[5] สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดฯมีตราออกไปให้ตั้งนายมั่นเป็นเจ้าเมืองชุมพร จากนั้นทัพเดินทางต่อไปยังเมืองไชยา หลวงปลัดเมืองไชยาออกมาสวามิภักดิ์อีกเช่นกัน จึงทรงแต่งตั้งให้หลวงปลัดเมืองไชยาเป็นพระวิชิตภักดีเจ้าเมืองไชยา[5]

การรบที่ท่าหมาก

ฝ่ายเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อทราบว่าฝ่ายธนบุรียกทัพลงมา จึงเรียกหลวงสงขลา (วิเถียน)[16] ซึ่งเป็นญาติกับเจ้านครฯ และพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน สามีของคุณหญิงจัน)[17] นำกำลังพลจากเมืองสงขลาและเมืองพัทลุงมาช่วย[16] ร่วมกับทัพเมืองนครฯจัดทัพออกไปตั้งรับที่ท่าหมาก (อำเภอสิชล) ทางเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยาจักรี (หมุด) นำทัพธนบุรีข้ามแม่น้ำบ้านดอนไปสู้กับฝ่ายเมืองนครฯที่ท่าหมาก นำไปสู่การรบที่ท่าหมาก ฝ่ายธนบุรีมีกำลังพลน้อยกว่าและขาดเสบียงอาหาร[16] ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชได้รับชัยชนะ แม่ทัพฝ่ายธนบุรีพระยาศรีพิพัฒน์และพระยาเพชรบุรีสิ้นชีวิตในที่รบ ขุนลักษมณาบุตรของเจ้าพระยาจักรีถูกฝ่ายนครฯจับกุมตัวได้ เจ้าพระยาจักรี (หมุด) จึงถอยทัพกลับไปที่เมืองไชยา เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว เจ้าพระยานครฯ (หนู) ได้จัดละครให้หลวงสงขลาและพระยาพัทลุงได้ชมเป็นการตอบแทน และอนุญาตให้เจ้าเมืองทั้งสองกลับเมืองของตนไป[16]

การยึดเมืองนครศรีธรรมราช

พระยายมราชบอกเข้าไปกราบทูลว่า เจ้าพระยาจักรี (หมุด) นั้นเป็นกบฏ ไม่เป็นใจด้วยราชการ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระวินิจฉัยว่า แม่ทัพนายกองทำสงครามไม่สำเร็จแล้วจึงกล่าวโทษต่อกัน การปราบชุมนุมนครศรีธรรมราชเป็นศึกใหญ่ หากให้เสนาบดียกทัพลงไปเพียงอย่างเดียวยากที่จะสำเร็จ จำต้องเสด็จยกทัพเรือพยุหยาตราไปด้วยพระองค์เอง

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงจัดเตรียมทัพเรือกำลังพล 10,000 คน กับฝีพายกรรเชียงอีก 10,000 คน พร้อมทั้งอาวุธปืนใหญ่น้อย เสด็จเรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวา ยกทัพออกจากพระนครธนบุรีทางชลมารค ออกจากปากน้ำสมุทรปราการ ถึงบางทะลุ (ตำบลบางทะลุ อำเภอเมืองเพชรบุรี) ในวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือน 9 (20 สิงหาคม พ.ศ. 2312) บังเกิดคลื่นลมพายุรุนแรง เรือกองทัพล่มบ้างแตกบ้าง จนกองเรือหลวงจำต้องจอดหลบพายุอยู่ในอ่าว สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้ปลูกศาลเพียงตาขึ้นที่บนชายฝั่งบางทะลุ ตั้งเครื่องสังเวยบวงสรวงเทพารักษ์ผู้พิทักษ์รักษามหาสมุทร แล้วทรงตั้งสัตย์อธิษฐาน ขอให้คลื่นลมทะเลสงบลงในทันที จากนั้นคลื่นลมพายุจึงสงบลง จากนั้นทัพเรือหลวงจึงสามารถเดินทางได้ไปต่อ[5]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จถึงเมืองไชยา เสด็จขึ้นฝั่งที่ท่าพุ่มเรียงประทับที่พลับพลาในเมืองไชยา มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพิชัยราชาเร่งยกทัพไปทางบก ไปสมทบกับเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เข้าตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชให้จงได้ แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทางชลมารค ยกทัพเรือถึงตำบลปากคูหา ทอดพระเนตรเห็นดาวหางขึ้นทางทิศใต้ เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าเมืองนครฯจะพ่ายแพ้ต่อทัพของธนบุรี[5]

พระยายมราชเป็นทัพหน้ายกข้ามแม่น้ำตาปีที่ท่าข้ามจนถึงลำพูน เข้ารบกับทัพเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าหมากอีกครั้ง คราวนี้ฝ่ายธนบุรีได้รับชัยชนะ ฝ่ายนครศรีธรรมราชแตกพ่ายหนีไป พระยายมราชยกไปตั้งที่เขาศีรษะช้าง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งเจ้าขรัวเงิน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของอุปราชจันทร์ พร้อมทั้งภรรยาคือท่านผู้หญิงแก้ว เดินทางเข้าไปในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นความลับ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้อุปราชจันทร์ตีตนออกห่างจากเจ้านครฯ[18] พงศาวดารเมืองสงขลาระบุว่า อุปราชจันทร์มีความคุ้นเคยกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงให้คนลักลอบแต่งหนังสือไปถวายว่า ทัพเมืองสงขลาและเมืองพัทลุงกลับไปแล้ว ขอให้รีบเสด็จยกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชจะได้เมืองโดยง่ายและเร็ว[16]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จถึงปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช ในวันพฤหัสบดีแรม 6 ค่ำ เดือน 10 (21 กันยายน พ.ศ. 2312) ในเวลาสามโมงเช้า ทัพหลวงก็เข้าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช นำไปสู่การรบที่นครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ (หนู) มอบหมายให้อุปราชจันทร์ยกทัพมาตั้งรับที่ท่าโพธิ์ ปรากฏว่าทัพของอุปราชจันทร์พ่ายแพ้ เจ้าพระยานครฯ (หนู) พร้อมทั้งครอบครัว รวมทั้งบุตรเขยคือเจ้าพัฒน์ เดินทางหลบหนีออกจากเมืองนครศรีธรรมราชไป ทัพฝ่ายธนบุรีจึงสามารถเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ในวันนั้น

นายคง ไพร่คนหนึ่งในกองของพระเสนาภิมุข จับได้ช้างพลายเพชรซึ่งเป็นช้างที่นั่งของเจ้านครฯมีเครื่องยศอยู่นำมาถวาย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงช้างพลายเพชรเสด็จเข้าเมืองนครศรีธรรมราชในวันนั้น ฝ่ายธนบุรีจับกุมได้อุปราชจันทร์ พร้อมทั้งญาติวงศ์ของเจ้านครฯ และขุนนางนางในของเจ้านครฯ

ติดตามเจ้านครฯ

ฝ่ายเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พร้อมทั้งครองครัวและเจ้าพัฒน์ เดินทางหลบหนีไปยังเมืองจะนะ เมืองเทพา จากนั้นหลบหนีต่อไปยังเมืองสงขลา หลวงสงขลา (วิเถียน) ได้นำพาเจ้านครฯและครอบครัว เจ้าพัฒน์ เจ้ากลาง รวมทั้งพระยาพัทลุง (พระพิมลขัน) เดินหลบหนีไปที่เมืองปัตตานี สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ยกทัพเรือ และเจ้าพระยาพิชัยราชายกทัพทางบก ลงใต้ต่อไปเพื่อติดตามจับกุมตัวเจ้านครฯ ในวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 (6 ตุลาคม พ.ศ. 2312) เสด็จยกทัพเรือจากนครศรีธรรมราชไปประทับที่สงขลา เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาพิชัยราชาติดตามไปถึงเมืองเทพา จับชาวจีนและแขกมาถามได้ความว่าเจ้านครฯหลบหนีไปปัตตานีแล้ว[6] ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เมื่อทราบว่าเจ้านครฯหลบหนีไปพึ่งเมืองปัตตานี จึงมีจดหมายถึงสุลต่านมูฮาหมัด (Muhammad) เจ้าเมืองปัตตานีให้ส่งตัวเจ้านครฯให้แก่ทางธนบุรี ฝ่ายสุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานีไม่ต้องการสู้รบกับสยาม[19]จึงจำยอมส่งตัวเจ้าเมืองทั้งสามได้แก่ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองสงขลา และเจ้าเมืองพัทลุง ให้แก่ฝ่ายธนบุรีแต่โดยดี เจ้านครฯพร้อมทั้งครอบครัวจึงถูกเจ้าพระยาจักรี (หมุด) จับกุมนำตัวใส่เรือไปถวายที่สงขลา สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จนำตัวเจ้านครฯกลับถึงเมืองนครศรีธรรมราชวันศุกร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2312)

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาให้เรือสำเภาบรรทุกข้าวเปลือกมาแจกจ่ายให้แก่ข้าราชบริพารผู้มีความชอบในการตีเมืองนครศรีธรรมราช และให้กรมสังฆการีธรรมการไปนิมนต์พระสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราช พระราชทานข้าวสารให้พระภิกษุรูปละหนึ่งถัง เงินรูปละหนึ่งบาท และพระราชทานเงินให้แก่ยาจกวนิพกคนละหนึ่งสลึงในทุกวันอุโบสถ โปรดฯให้สมโพชเวียนเทียนพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเวลาสามวัน

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปรึกษาโทษของเจ้าพระยานครฯ (หนู) ขุนนางทั้งปวงกราบทูลให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตเจ้านครฯไปเสีย แต่ทรงไม่เห็นด้วย ตรัวว่าทั้งพระองค์เองและเจ้านครฯต่างคนต่างเป็นใหญ่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองคับขัน ยังไม่ได้เป็นข้าของพระองค์ถือว่ายังไม่ใช่กบฏ อีกทั้งเจ้านครฯยังมีความชอบคอยป้องกันขันธสีมาจากปัจจามิตรทางใต้[20] จึงมีพระวินิจฉัยให้งดโทษเจ้านครฯไว้ก่อน แล้วนำตัวเจ้านครฯไปที่กรุงธนบุรีไว้เป็นข้ารับใช้ในพระองค์ต่อไป สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ (บริติชมิวเซียม: หม่อมเจ้าดาราสุริวงษ์พระเจ้าหลานเธ่อ) ขึ้นเป็นเจ้านครศรีธรรมราชองค์ใหม่ โดยให้พระยาราชสุภาวดี (อดีตเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช) และพระศรีไกรลาสอยู่ช่วยราชการเมืองนครฯ แต่งตั้งกรมการเมืองนครศรีธรรมราชตามตำแหน่ง ทรงแต่งให้นายโยมเป็นพระสงขลาเจ้าเมืองสงขลาคนใหม่[16] ทรงให้ราชบัณฑิตนำพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราช ขนลงเรือไปที่กรุงธนบุรีเพื่อคัดลอกทดแทนพระคัมภีร์ที่สูญไปในสงคราม แล้วจีงนำกลับมาไว้ที่เมืองนครฯตามเดิม และทรงให้นิมนต์พระอาจารย์ศรีวัดพนัญเชิง พระภิกษุอยุธยาซึ่งได้ลี้ภัยพม่ามาอยู่ที่นครศรีธรรมราช กลับไปที่กรุงธนบุรีด้วย

ในเดือนสี่ (มีนาคม) พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จออกจากเมืองนครศรีธรรมราช นิวัติกลับคืนสู่กรุงธนบุรี ทรงแต่งตั้งพระอาจารย์ศรีวัดพนัญเชิงจากเมืองนครศรีธรรมราช เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แห่งกรุงธนบุรี

บทสรุป

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พร้อมครอบครัว และหลวงสงขลา (วิเถียน) ถูกนำตัวไปไว้ที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานอภัยโทษให้แก่เจ้าพระยานครฯ (หนู) ให้ถือน้ำพิพัฒนสัตยา[6] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้นายจันมหาดเล็กเป็นพระยาพัทลุงเจ้าเมืองพัทลุง แต่ต่อมาในพ.ศ. 2315 ถูกปลดจากตำแหน่ง[17] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งนายขุน (ขุนคางเหล็ก) บุตรของพระยาราชวังสัน (ตะตา) ให้เป็นพระยาพัทลุงคนใหม่แทนที่[17] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2313 สุลต่านมูฮาหมัดเจ้าเมืองปัตตานีส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้ามาถวาย "วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง (20 กันยายน พ.ศ. 2313) เสด็จอยู่ณพระตำหนักค่ายหาดสูง แขกเมืองตานีมาสู่พระบรมโพธิสมภาร ถวายดอกไม้ทองเงิน"[6]

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พำนักอยู่ที่กรุงธนบุรีเป็นเวลาเจ็ดปี บุตรสาวทั้งสองได้แก่ท่านหญิงฉิมและท่านหญิงปรางได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนกระทั่งพ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์แห่งเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชกำหนดให้ยกอดีตเจ้านครฯเดิมให้เป็นเจ้าขันธสีมาเป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช พระนามว่า พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช "เปนเจ้าขัณฑสิมาสืบมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกันกับพระยาประเทศราชประเวณีดุจเดียวกัน"[20] ได้เกียรติยศอย่างเจ้าประเทศราชได้รับพระโองการ ส่วนท่านผู้หญิงทองเหนียวภรรยาของเจ้านครฯเป็นพระมเหสีได้รับพระเสาวณีย์[12] มีขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์เป็นของตนเอง ที่ว่าราชการเรียกว่าท้องพระโรง[11] และเจ้าจอมฉิม ธิดาของเจ้านครฯ (หนู) ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ พระอัครมเหสีเบื้องซ้าย กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ประสูติพระโอรสคือเจ้าฟ้าทัศพงษ์ เจ้าฟ้าทัศไพ เจ้าฟ้านเรนทรราชกุมาร และพระธิดาคือเจ้าฟ้าปัญจปาปี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เมืองปัตตานีและไทรบุรีส่งทัพเข้ามาร่วมสู้รบกับพม่า แต่เมืองทั้งสองไม่ได้ส่งกำลังมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งเจ้านครฯให้เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราชนั้น มีพระราชโองการให้พระเจ้านครศรีธรรมราชลองใจเจ้าเมืองปัตตานีและไทรบุรีด้วยการนำตราโกษาธิบดีบัวแก้วออกไปขอยืมเงินเมืองละ 1,000 ชั่ง "เมืองไทร เมืองตานี เปนข้าขัณฑสิมาพระนครศรีอยุทธยา มิได้มาช่วยการสงคราม เสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนปฤกษาให้มีตราโกษาธิบดีออกไปลองใจยืมเงินเมืองละพันชั่งเพื่อจะดูน้ำใจเมืองไทร เมืองตานี แลตราโกษาธิบดีนั้นก็ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ควรให้พระเจ้านครศรีธรรมราชเสนาธิบดีคิดอ่านอุบายถ่ายเทว่ากล่าว"[20] ปีต่อมาพ.ศ. 2320 พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีใบบอกขอพระราชทานแต่งทัพไปปราบหัวเมืองมลายูที่แข็งเมืองอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงไม่เห็นด้วย ตรัสว่าการศึกพม่ายังติดพัน ให้ศึกพม่าเรียบร้อยแล้วก่อนจึงจะยกทัพไปตีหัวเมืองมลายู[5]

ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง

อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน ในจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการสิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและเหตุการณ์ต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2313

ต้นกำเนิดของเจ้าพระฝาง

พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ระบุว่า เจ้าพระฝางเดิมชื่อว่า เรือน เป็นชาวเมืองเหนือ ได้เดินทางมาเล่าเรียนพระไตรปิฎกที่กรุงศรีอยุธยา ได้เป็นพระพากุลเถระเป็นพระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสีอยู่ที่วัดศรีอโยธยาในกรุงศรีอยุธยา จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯให้พระพากุลเถระ (เรือน) ไปเป็นพระสังฆราชาเจ้าคณะที่วัดสวางคบุรีเมืองสวางคบุรี (ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์) เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วมหาเรือนตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าแต่ไม่สึกออกยังคงอยู่ในสมณเพศ นุ่งห่มผ้าจีวรสีแดง คนทั่วไปขนานามว่า "เจ้าพระฝาง" แห่งเมืองฝาง หรือเมืองสวางคบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปถึงน้ำปาดแดนลาว เจ้าพระฝางมีแม่ทัพนายกองเป็นพระสงฆ์หลายรูปได้แก่ พระครูคิริมานนท์ พระครูเพชรรัตน์ พระอาจารย์จัน พระอาจารย์ทอง และพระอาจารย์เกิด ซึ่งพงศาวดารพระพนรัตน์ฯระบุว่า "ล้วนเป็นอาลัชชีมิได้ละอายแก่บาปทั้งนั้น"[7] ในพงศาวดารมักกล่าวถึงชุมนุมของเจ้าพระฝางว่าประกอบด้วย"คนอาสัจอาธรรม"เนื่องจากทำผิดพระวินัยขึ้นมาเป็นผู้นำในทางโลก

ในพ.ศ. 2311 เจ้าพระฝางสามารถขึ้นยึดครองชุมนุมพิษณุโลกได้ ทำให้หัวเมืองเหนือทั้งปวงตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพระฝาง เป็นศัตรูที่สำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เจ้าพระฝางกวาดต้อนกำลังคนและทรัพย์สินจากพิษณุโลกไปที่เมืองฝาง

ติดต่อกับฮอลันดา

ฮอลันดาได้ปิดสถานีการค้าในอยุธยาไปตั้งแต่พ.ศ. 2038 เนื่องด้วยภัยจากการรุกรานของพม่า[21] ในพ.ศ. 2312 พระยาพิพัฒโกษา (หรือพระยาพิพิธโกษา Pia Pipit Kosa)[22] ผู้ว่าที่พระคลัง ได้มีหนังสือถึงกรมการเมืองฮอลันดาที่เมืองเบตาเวีย เชื้อเชิญให้ฝ่ายฮอลันดาเข้ามาตั้งสถานีการค้าเพื่อทำการค้าขายในสยามอีกครั้ง รวมทั้งขอซื้อปืนคาบศิลามาให้ในการรบกับพม่าด้วย ฝ่ายกรมการฮอลันดาไม่ต้องการเข้ามาตั้งสถานีการค้าในสยาม เนื่องจากการค้ากับสยามในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาฮอลันดาประสบปัญหาภาวะขาดทุน[21] จึงบ่ายเบี่ยงด้วยการตอบว่า ฝ่ายฮอลันดายินดีที่จะมอบปืนคาบศิลาให้แก่กรุงธนบุรี แต่การที่จะกลับไปตั้งสถานีการค้าในสยามนั้น จำต้องกราบทูลขอพระอนุญาตจากเจ้าชายแห่งออเรนจ์และนาสเซา (Prince of Orange and Nassau)[22] เสียก่อน หลังจากนั้นฝ่ายเมืองเบตาเวียจึงส่งปืนคาบศิลามายังธนบุรี แต่สยามและฮอลันดาไม่ได้มีการติดต่อกันอีกอย่างเป็นทางการจนกระทั่งพ.ศ. 2403 ในสมัยรัชกาลที่ 4

การยึดเมืองพิษณุโลก

ในเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2313 เจ้าพระฝางได้ส่งทัพหัวเมืองเหนือลงมาโจมตีแย่งชิงข้าวปลาอาหาร เผาบ้านเรือนราษฎรลมาจนถึงเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้แต่งทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง จำนวนรวม 10,000 คน ดังนี้;[6][7]

สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯให้เจ้าพระยาพิชัยราชา และพระยายมราช (บุญมา) ยกทัพหน้าจำนวน 10,000 ล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำทัพหลวงจำนวน 12,000 คน เสด็จออกจางกรุงธนบุรีทางชลมารค ในวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2313) ในเวลานั้นราคาข้าวแพงถึงเกวียนละสามชั่ง บังเอิญมีเรือกำปั่นค้าข้าวสารมาจากทิศใต้ โปรดฯให้ซื้อเกณฑ์ข้าวเข้ากองทัพแล้วจึงแจกจ่ายแก่สมณชีพราหมณ์รวมทั้งยาจกวณิพก รวมทั้งให้แก่ครอบครัวของข้าราชการ ในเวลานั้นแขกเมืองยักกะตรา (จาการ์ตา - นำปืนคาบศิลาของฮอลันดามาถวาย) และแขกเมือตรังกานูนำปืนคาบศิลาจำนวนทั้งสิ้น 2,200 กระบอกเข้ามาถวาย

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพไปถึงเมืองนครสวรรค์ และถึงปากพิงวันแรม 2 ค่ำ เดือน 9 (8 สิงหาคม พ.ศ. 2313) ฝ่ายเจ้าพระฝางส่งหลวงโกษา (ยัง) แม่ทัพที่เคยสามารถเอาชนะสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เกยไชย มาตั้งรับทัพธนบุรีอยู่ที่เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพเข้าตีเมืองพิษณุโลกในวันนั้นเวลายามหนึ่งเศษ นำไปสู่การรบที่เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสามารถยึดเมืองพิษณุโลกได้สำเร็จ ฝ่ายหลวงโกษา (ยัง) ถอยไปยังตำบลโทก จากนั้นหลวงโกษายังจึงหลบหนีไป สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลกในอีกสองวันต่อมา แรม 4 ค่ำ (10 สิงหาคม) เสด็จนมัสการพระพุทธชินสีห์และพระพุทธชินราช ประทับอยู่ในเมืองพิษณุโลกเป็นเวลาเก้าวันจนกระทั่งทัพของเจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราช (บุญมา) มาถึง

มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชเร่งยกทัพขึ้นไปตีเมืองฝางสวางคบุรี ตรัสว่าเวลานั้นน้ำน้อยตลิ่งอยู่สูง ข้าศึกอาจยิงลงมาใส่กองเรือได้ แต่อีกไม่นานน้ำจะสูงขึ้น เวลผ่านไปสามวัน น้ำในแม่น้ำน่านสูงขึ้นเสมอตลิ่งดังพระราชดำรัส[7]

การยึดเมืองฝางสวางคบุรี

ฝ่ายเจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชยกทัพถึงเมืองฝางสวางคบุรีแล้วตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ เมืองสวางคบุรีนั้นมีกำแพงเมืองเป็นเพียงแต่ถมเป็นเนินดินขึ้นเท่านั้น[7] เจ้าพระฝางให้คนขึ้นเชิงเทินเตรียมป้องกันเมือง ในเวลานั้นช้างพังเชือกหนึ่งในเมืองสวางคบุรีตกลูกเป็นช้างเผือก เจ้าพระฝางจึงเสี่ยงทายนำหญ้าเมืองเหนือและหญ้าเมืองใต้ให้ลูกช้างเผือกกิน ปรากฏว่าลูกช้างเผือกนั้นเลือกกินหญ้าเมืองใต้[12] เจ้าพระฝางจึงมีความตกใจ คิดว่าลูกช้างเผือกนี้เกิดมาเป็นบุญแก่แม่ทัพจากทิศใต้ไม่ได้เป็นของตนเอง ฝ่ายเมืองสวางคบุรีสู้รบอยู่ได้สามวัน เจ้าพระฝางจึงเดินทางหลบหนีออกจากเมืองสวางคบุรีไปทางเหนือ นำแม่ช้างพังและลูกช้างเผือกไปด้วย ฝ่ายทัพกรุงธนบุรีเจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชจึงสามารถเข้ายึดเมืองฝางสวางคบุรีได้ในที่สุด

เจ้าพระยาพิชัยราชาและพระยายมราชมีใบบอกลงมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินว่าได้เมืองสวางคบุรีแล้วแต่นายเรือนเจ้าพระฝางหลบหนีไปได้ จึงมีพระราชโองการให้ติดตามตัวเจ้าพระฝาง (บริติชมิวเซียม: อ้ายเรือนผ์าง) พร้อมทั้งนำช้างเผือกกลับไปให้ได้ ในวันอาทิตย์แรม 7 ค่ำ เดือน 9 (13 สิงหาคม พ.ศ. 2313) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพหลวงออกจากเมืองพิษณุโลก ต่อมาในวันแรม 13 ค่ำ หลวงคชชาติในกองของพระยาอินทรวิชิตเมืองวิเศษไชยชาญ สามารถจับนางพระยาช้างเผือกมงคลเศวตคชสารศรีเมืองตัวประเสริฐ (บริติชมิวเซียม: นางพญามงคลเสวตรคชสารศรีเมืองต่อประเสรีฐ) จากชายป่าแม่น้ำมืด[12]มาถวายได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพถึงแม่น้ำมืดวันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 (30 สิงหาคม) มีพระราชโองการให้เกลี้ยกล่อมกวาดต้อนราษฎรที่กระจัดกระจายหนีภัยสงครามให้กลับเข้ามาอยู่ตามเดิม และทรงให้ตั้งด่านทั้งชั้นในและชั้นนอกดักจับตัวเจ้าพระฝางให้จงได้ แล้วจึงเสด็จไปประทับที่พระตำหนักค่ายหาดสูง (ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์)

ชำระพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ

วันจันทร์เดือน 11 ขึ้น 6 ค่ำ (25 กันยายน พ.ศ. 2313) ได้ตัวแม่ทัพนายกองของพระฝางได้แก่ พระครูคิริมานนท์ อาจารย์จัน อาจารย์ทอง พระอาจารย์เกิด แต่ยังไม่ได้ตัวเจ้าพระฝางและพระครูเพชรรัตน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้สึกพระภิกษุทั้งสี่รูปออกจากสมณเพศ และจองจำทั้งสี่คนลงไปชำระไต่สวนที่กรุงธนบุรี

ในวันเดียวกันนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯให้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายหัวเมืองเหนือ มาประชุมพร้อมกันหน้าพระที่นั่งที่ค่ายหาดสูง มีพระราชโองการว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเหนือ ล้วนแต่เป็นพรรคพวกของนายเรือนเจ้าพระฝางทั้งสิ้น ประพฤติผิดศีลจับอาวุธทำสงครามดื่มสุราเสพสีกา จะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศต่อไปไม่ได้ อีกทั้งพระสงฆ์ที่ทรงศีลและไม่ทรงศีลก็อยู่ปะปนกันอยู่ไม่สามารถจำแนกแยกได้[6][7] จึงทรงเห็นว่าให้พระภิกษุหัวเมืองเหนือทั้งปวงออกจากสมณเพศ

  • ถ้าภิกษุรูปใดยอมรับผิดออกจากสมณเพศแต่โดยดีจะพระราชทานให้เข้ารับราชการ
  • ถ้าภิกษุรูปใดไม่ยอมรับ ทรงให้ดำน้ำพิสูจน์สู้กับนาฬิกาสามกลั้น
    • หากชนะพิสูจน์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอธิการพระราชาคณะฝ่ายเหนือ
    • ถ้าแพ้พิสูจน์จะลงพระราชอาญาสักข้อมือไม่ให้บวชเป็นพระสงฆ์อีก
    • ถ้าเสมอนาฬิกาจะพระราชทานผ้าไตรจีวรให้บวชใหม่
  • ถ้าแต่เดิมไม่ยอมรับ แต่จะให้ดำนำกลับคืนว่าว่ายอมรับผิด จะลงพระราชอาญาประหารชีวิตเสีย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดาน จัดพิธีพลีกรรมเทพยดาแล้ว ทรงตั้งจิตอธิษฐาน หากพระภิกษุองค์ใดยังทรงศีลมิได้ขาด ขอให้พระบารมีโพธิญาณและอำนาจของเทวดาช่วยปกปักษ์รักษาพระสงฆ์รูปนั้นไม่ให้แพ้แก่นาฬิกา หากภิกษุรูปได้ศีลวิบัติด้วยจตุปาราชิก จงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาเป็นประจักษ์แก่ปวงชน ในการดำน้ำพิสูจน์ชำระพระสงฆ์ฝ่ายเหนือในครั้งนั้น มีพระภิกษุที่ชนะแก่นาฬิกาบ้าง แพ้แก่นาฬิกาบ้าง ขุนนางข้าราชการจึงตัดสินตามพระราชโองการ บรรดาผ้าจีวรของพระสงฆ์ที่แพ้พิสูจน์นั้น ทรงให้นำไปเผาเพื่อนำสมุกไปทาพระธาตุสวางคบุรี แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้เย็บผ้าไตรจีวร 1,000 ผืน[6][7] เพื่อบวชพระสงฆ์หัวเมืองเหนือใหม่ทั้งหมด

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะจากกรุงธนบุรี ให้มาเป็นพระราชาคณะฝ่ายเหนือ ได้แก่ พระพิมลธรรมไปอยู่เมืองฝางสวางคบุรี พระธรรมโคดมไปอยู่เมืองพิชัย พระธรรมเจดีย์อยู่เมืองพิษณุโลก พระพรหมมุนีไปอยู่เมืองสุโขทัย พระเทพกวีไปอยู่เมืองสวรรคโลก พระโพธิวงศ์ไปอยู่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง[7]

บทสรุป

ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 (21 ตุลาคม พ.ศ. 2313) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงเมืองพิษณุโลก มีพระราชโองการให้สมโภชพระศรีรัตนธาตุเมืองพิษณุโลกเป็นวลาสามวัน แล้วจึงทรงแต่งตั้งปูนบำเหน็จแม่ทัพที่มีความชอบในสงครามให้รั้งเมืองฝ่ายเหนือดังนี้;[6][7]

โดยชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝางได้นั้น นับเป็นการพระราชสงครามสุดท้ายที่ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 และทำให้สิ้นสุดสภาพจลาจลการแยกชุมนุมอิสระภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และนับเป็นการสถาปนากรุงธนบุรีได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสำเร็จศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝาง ในปี พ.ศ. 2313[23]

เจ้าพระฝางหลบหนีไปฝ่ายกรุงธนบุรีไม่สามารถตามจับกุมตัวได้ เจ้าพระฝางจึงสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ในที่สุด กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่า เจ้าพระฝางอาจหลบหนีขึ้นไปทางเหนือพึ่งพิงโป่มะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่[8] เป็นเหตุให้โป่มะยุง่วนส่งทัพลงมาโจมตีเมืองสวรรคโลกในปีต่อมาพ.ศ. 2314 ฝ่ายพรรคพวกของเจ้าพระฝางยังคงถูกจองจำอยู่ในธนบุรี จนกระทั่งพ.ศ. 2319 ก่อนเสด็จยกทัพไปเมืองพิษณุโลกในสงครามอะแซหวุ่นกี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้นำอดีตพรรคพวกของเจ้าพระฝางไปสำเร็จโทษประหารชีวิตทั้งหมด

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง