สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่

ราชินีแห่งสหราชอาณาจักร

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ (อังกฤษ: Anne of Great Britain; 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ พระนางเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สจวตพระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ ก่อนที่ทั้งอังกฤษ และสกอตแลนด์จะรวมตัวกันเป็น ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพในปี ค.ศ. 1707

สมเด็จพระราชินีนาถเเอนน์
สมเด็จพระราชินีนาถเเห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์
ครองราชย์8 มีนาคม 1702 – 1 พฤษภาคม 1707
(5 ปี 54 วัน)
ราชาภิเษก23 เมษายน 1702
ก่อนหน้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 3
สมเด็จพระราชินีนาถบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
ครองราชย์1 พฤษภาคม 1707 – 1 สิงหาคม 1714
ถัดไปพระเจ้าจอร์จที่ 1
พระราชสมภพ6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665(1665-02-06)
พระราชวังเซนต์เจมส์ เวสต์มินสเตอร์ ราชอาณาจักรอังกฤษ
สวรรคต1 สิงหาคม ค.ศ. 1714(1714-08-01) (49 ปี)
พระราชวังเค็นซิงตัน มิลเดิลเซ็กซ์ บริเตนใหญ่
ฝังพระบรมศพ24 สิงหาคม 1714
เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
พระราชสวามีเจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์ก
พระราชบุตรเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์
ราชวงศ์ราชวงศ์สจวต
พระราชบิดาพระเจ้าเจมส์ที่ 2 และที่ 7
พระราชมารดาแอนน์ ไฮด์
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นพระราชธิดาองค์ที่สองของสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเลดี้แอนน์ ไฮด์ พระชายาองค์แรก เมื่อพระราชบิดาของพระราชินีนาถแอนน์ถูกโค่นราชบัลลังก์ในปี 1688 พระเชษภคินีได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษร่วมกับพระสวามีพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 หลังจากพระราชินีนาถแมรีที่ 2 สวรรคตเมื่อปี 1694 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ได้ครองราชบัลลังก์ต่อกระทั่งสวรรคต

ในปี 1702 ราชอาณาจักรสกอตแลนด์และราชอาณาจักรอังกฤษรวมกันเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรใหม่และในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถของราชอาณาจักรไอร์แลนด์ ทรงครองราชย์ได้ 12 ปี ก่อนที่จะสวรรคตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714 ที่พระราชวังเค็นซิงตันในกรุงลอนดอน

ชีวิตของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เต็มไปด้วยเหตุการณ์วิกฤติหลายครั้ง ทั้งทางส่วนพระองค์ ทางปัญหาการสืบราชบัลลังก์ และทางการแบ่งแยกทางศาสนา เมื่อเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท กษัตริย์พระองค์ต่อไปจึงเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 จากราชวงศ์ฮาโนเวอร์แห่งราชอาณาจักรฮาโนเวอร์ ผู้เป็นพระญาติทางราชวงศ์สจวตจากพระอัยกี เจ้าหญิงอลิซาเบธ สจวต ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ[1]

เบื้องต้น

วัยเยาว์

ซาราห์ เชอร์ชิล ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ พระสหายสนิทของพระราชินีนาถแอนน์
พระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระราชบิดาของพระราชินีนาถแอนน์
จอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ นายทัพและนักการเมืองคนสำคัญในรัชสมัยของพระราชินีนาถแอนน์

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665 ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเลดี้แอนน์ ไฮด์ พระมเหสีพระองค์แรก ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 อีกด้วย พระราชินีนาถแอนน์และพระราชินีนาถแมรีเป็นพระราชธิดาเพียงสองพระองค์ของพระเจ้าเจมส์เท่านั้นที่ทรงมีพระชนม์ชีพมาจนโต [1]

ขณะยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงแอนน์ทรงถูกส่งไปฝรั่งเศสเมื่อเพื่อรักษาโรคพระเนตรอักเสบ ขณะประทับอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ทรงประทับอยู่กับพระอัยกี สมเด็จพระราชินีอ็องเรียต มารีในพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อพระราชินีเฮนเรียตตาสิ้นพระชนม์จึงทรงย้ายไปประทับอยู่กับพระปิตุจฉาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา แอนน์ สจวต[1] จนเสด็จกลับสู่อังกฤษเมื่อปี 1670

พระนางเจ้าแอนน์ใน ค.ศ 1687

ราวปี 1673 เจ้าหญิงแอนน์ทรงได้รู้จักกับซาราห์ เจ็นนิงส์ ผู้กลายมาเป็นพระสหายคนสนิทและเป็นที่ปรึกษาผู้มีอิทธิพลมากที่สุดเกือบตลอดพระชนม์ชีพคนหนึ่งของพระองค์[2] ไม่ทรงถือพระองค์ว่าเป็นเจ้านายกับซาราห์เห็นได้จากการที่สตรีสองคนนี้มีชื่อเล่นให้แก่กันว่า มิสซิสมอร์ลีย์ และ มิสซิสฟรีแมน[3]ภายหลังซาราห์ได้สมรสกับจอห์น เชอร์ชิล ผู้ที่ต่อมาจะได้เป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระ แม่ทัพผู้มีความสามารถคนสำคัญของอังกฤษคนหนึ่ง[4]

ในปี 1673 พระราชบิดาของเจ้าหญิงแอนน์ได้ทรงเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่ยังทรงมีพระราชโองการให้พระราชธิดาทั้งสองให้ได้รับการเลี้ยงอย่างเคร่งครัดในนิกายโปรเตสแทนต์[5]

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1683 เจ้าหญิงแอนน์อภิเษกสมรสกับ เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นโปรเตสแทนต์และพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก (พระเจ้าคริสเตียนที่ 5) [6]

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2

เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685 หลังจากที่ทรงเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิกก่อนสวรรคต พระราชบิดาของเจ้าหญิงแอนน์ขึ้นเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ[7] แต่พระเจ้าเจมส์ไม่ทรงเป็นที่นิยมของประชาชนชาวอังกฤษด้วยเหตุที่ทรงเป็นคริสศานิกชนโรมันคาทอลิก[8] ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนมีความหวาดระแวงเพิ่มขึ้นเมื่อพระชายาพระองค์ที่สอง แมรีแห่งโมดีนา ผู้เป็นโรมันคาทอลิก[9] ทรงให้ประสูติกาลพระราชโอรส เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1688 จึงทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อังกฤษจะกลับไปเป็นราชอาณาจักรโรมันคาทอลิก[10]

ขณะนั้นเจ้าหญิงแอนน์ ไม่ได้ทรงประทับอยู่ที่กรุงลอนดอนแต่อยู่ที่เมืองบาธ และมีข่าวลือกันว่าพระราชโอรสไม่ใช่พระราชโอรสที่แท้จริง แต่เป็นเด็กที่ถูกลักลอบนำเข้ามาแทนที่พระราชโอรสที่สิ้นพระชนม์หลังคลอด แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่สนับสนุนข่าวลือนี้ และสาเหตุที่แท้จริงที่แมรีไม่อยู่ในกรุงลอนดอนอาจจะเป็นได้ว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ไม่ทรงต้องการให้โปรเตสแทนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของรัฐ[11] แมรีทรงประท้วงความมีสิทธิของพระอนุชาอย่างเป็นทางการ แอนน์เองก็ทรงเขียนถึงพระเชษภคินีแมรีว่า

"หม่อมฉันจะไม่มีทางทราบอย่างแน่นอนว่าเด็กคนนี้จะเป็นพระราชโอรสจริงหรือไม่ เด็กคนนี้อาจจะเป็นพระอนุชาของเรา แต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะทราบ .... ใครก็ช่วยไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกกลัวกันไปร้อยแปดพันประการ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นไปในทางใด ก็ขอให้เชื่อได้ว่าหม่อมฉันก็ยังคงเชื่อมั่นในความเชื่อทางศาสนาเช่นที่เป็นอยู่และจะมีความจงรักภักดีต่อไป" [12]

ในที่สุดเจ้าหญิงแมรีพระเชษภคินีและพระสวามีได้เสด็จกลับจากประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อมาโค่นราชบัลลังก์ของพระราชบิดาระหว่างการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ตามคำอัญเชิญลับของ “ผู้อัญเชิญทั้งเจ็ด” (Immortal Seven) ซึ่งเป็นกลุ่มขุนนางโปรเตสแทนต์

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์

เจ้าหญิงแอนน์ทรงถูกพระเจ้าเจมส์ที่ 2 สั่งห้ามไม่ให้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าหญิงแมรีที่เนเธอร์แลนด์ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1688 แต่ทั้งสองยังคงทรงเขียนจดหมายติดต่อกันและเจ้าหญิงแอนน์เองคงจะทรงทราบถึงแผนการการรุกรานของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 เป็นที่เชื่อกันว่าพระกรณียกิจของแอนน์ระหว่างช่วงเวลานี้มีอิทธิพลมาจากคำแนะนำที่ถวายโดยซาราห์และจอห์น เชอร์ชิล[13]—แอนน์ไม่ทรงแสดงความสนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อเจ้าชายวิลเลียมเสด็จขึ้นฝั่งอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน 1688 แต่กลับทรงเขียนถึงเจ้าชายวิลเลียมประกาศสนับสนุนการรุกรานของพระองค์ เชอร์ชิลลาออกจากการเป็นข้าราชสำนักของพระเจ้าเจมส์เมื่อวันที่ 24 ในเดือนเดียวกัน, เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กพระสวามีของแอนน์ทรงลาออกวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเจ้าเจมส์เสด็จกลับลอนดอนในวันที่ 26 ก็ทรงพบแอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ทรงทำเช่นเดียวกันในคืนวันที่ 25[14] พระเจ้าเจมส์จึงทรงสั่งให้กักแอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ไว้ในพระราชวังไวท์ฮอล แต่แอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ก็หนีออกทางบันไดหลังไปพักที่บ้านบาทหลวงแห่งลอนดอนอยู่คืนหนี่งก่อนที่จะไปถึงนอตติงแฮมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมก่อนที่จะทรงประกาศอย่างเป็นทางการว่าไปถึงที่นั่นแล้ว และทรงแต่งตั้งคณะมนตรี จากนั้นก็เสด็จไปเฝ้าเจ้าชายวิลเลียมและกองกำลังติดตามมาที่ออกซฟอร์ด แอนน์ก็เช่นเดียวกับแมรีทรงถูกตำหนิว่าไม่ทรงแสดงความกังวลต่อการหลบหนีของพระเจ้าเจมส์แต่ก็ให้เหตุผลในการกระทำของพระองค์ว่าไม่ทรงชอบการแสดงว่ามีปัญหา แอนน์เสด็จกลับลอนดอนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 3

ในปี 1689 รัฐสภาประกาศว่าการหลบหนีของพระเจ้าเจมส์เป็นการสละราชสมบัติโดยปริยายฉะนั้นบัลลังก์จึงว่างลง รัฐสภาจึงถวายราชบัลลังก์แก่เจ้าหญิงแมรี แต่ทรงยอมรับร่วมกับพระสวามีซึ่งทำให้เป็นสมัยสองกษัตริย์สมัยเดียวในประวัติการปกครองแบบราชาธิปไตยของอังกฤษ[15] และทรงออกพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ที่กำหนดให้เจ้าหญิงแอนน์และผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์และพระเจ้าวิลเลียม ตามด้วยผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าวิลเลียมที่อาจจะมีในอนาคต

วิลเลียมและแมรี

ไม่นานหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้าวิลเลียมและพระราชินีนาถแมรีได้พระราชทานรางวัลให้แก่จอห์น เชอร์ชิลโดยการแต่งตั้งให้เป็น “เอิร์ลแห่งมาร์ลบะระ” แต่การปฏิบัติของวิลเลียมและแมรีต่อซาราห์และจอห์น เชอร์ชิลในภายหลังไม่ดีนัก ในปี 1692 ทรงมีความสงสัยว่าลอร์ดมาร์ลบะระเป็นมีส่วนในการสนับสนุนการฟื้นฟูราชวงศ์สจวต (Jacobitism) พระราชินีนาถแมรีที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดลอร์ดมาร์ลบะระออกจากทุกตำแหน่ง เลดีซาราห์ มาร์ลบะระก็ถูกถอดจากตำแหน่งในพระราชวังตามสามีซึ่งทำให้เจ้าหญิงแอนน์กริ้วและประท้วงโดยการย้ายออกจากพระราชฐานไปประทับอยู่ที่ “บ้านไซออน”[2] ซึ่งเป็นบ้านของดยุกแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ ทหารรักษาพระองค์ของเจ้าหญิงแอนน์ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งเช่นกัน นอกจากนั้นทหารก็ยังถูกสั่งไม่ให้ถวายความเคารพต่อเจ้าชายจอร์จพระสวามีอีกด้วย[13]

เมื่อพระราชินีนาถแมรีที่ 2 สวรรคตด้วยโรคฝีดาษเมื่อปี 1694 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 จึงทรงปกครองราชบัลลังก์ด้วยพระองค์เองต่อมา ส่วนเจ้าหญิงแอนน์นั้นได้ทรงกลายเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งไปโดยปริยายตามพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 เพราะผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรี่ไม่ทรงมีรัชทายาท พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ทรงพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเจ้าหญิงแอนน์เพื่อเพิ่มความนิยมต่อประชาชนซึ่งไม่ทรงเคยได้รับเท่าเทียมกับพระมเหสี ทรงคืนบรรดาศักดิ์ต่างๆ ที่เจ้าหญิงแอนน์เคยทรงเป็น พร้อมกับทรงอนุญาตให้เจ้าหญิงแอนน์กลับมาประทับอยู่ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทรงให้เจ้าหญิงแอนน์ออกนอกหน้า และไม่ทรงยอมแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในยามที่ไม่ทรงสามารถปกครองด้วยพระองค์เองได้

ในปี 1695 ทรงเอาใจเจ้าหญิงแอนน์โดยพระราชทานตำแหน่งต่างๆ คืนให้กับลอร์ดมาร์ลบะระ เป็นการตอบแทนต่อการสนับสนุนของเจ้าหญิงแอนน์ต่อรัฐบาลของพระองค์ แต่ในระยะเดียวกันนี้ ในปี ค.ศ. 1696 ตามคำกล่าวอ้างของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อเจ้าหญิงแอนน์ทรงใกล้ที่จะได้รับราชบัลลังก์ เจ้าหญิงแอนน์ทรงเขียนจดหมายถึงพระบิดาให้ทรงมาสวมมงกุฏเมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 สวรรคต และทรงสัญญาว่าจะทรงฟื้นฟูราชบัลลังก์เมื่อมีโอกาส[16] อีกข่าวลือหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานก็ว่าพระเจ้าวิลเลียมทรงตั้งพระทัยที่จะยกราชบัลลังก์หลังจากเสด็จสวรรคตให้แก่พระโอรสของพระเจ้าเจมส์โดยมีข้อแม้ว่าให้การศึกษาแบบโปรเตสแตนต์ซึ่งเป็นข่าวลือที่อาจจะมีส่วนทำให้เจ้าหญิงแอนน์ทรงเป็นกังวลอยู่บ้าง[17]

พระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์

ในช่วงเวลานี้เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงแอนน์ทรงประสบปัญหาส่วนพระองค์เรื่องการมีพระโอรสธิดา จนกระทั่งปี 1700 เจ้าหญิงแอนน์ทรงพระครรภ์อย่างน้อย 18 ครั้งแต่ทรงตกถึง 13 ครั้ง และในบรรดาพระโอรสธิดา 5 พระองค์ที่รอดชีวิตมาได้ 4 พระองค์อยู่ได้เพียงไม่เกินสองปีก็สิ้นพระชนม์ พระโอรสองค์เดียวที่มีอายุยืนที่สุดก็คือ เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์ที่สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 11 พรรษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 1700 สถานะการณ์นี้ทำให้เกิดวิกฤตการการสืบราชบัลลังก์ในอังกฤษ[1] พระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรีเองก็ไม่มีพระราชโอรสธิดา ฉะนั้นเจ้าหญิงแอนน์จึงทรงเป็นรัชทายาทแต่ผู้เดียวของราชบัลลังก์ที่ระบุในพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ถ้าไม่มีการระบุรัชทายาทต่อจากเจ้าหญิงแอนน์ราชบัลลังก์ก็อาจจะตกไปเป็นของเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 “ผู้อ้างสิทธิเฒ่า” (Old Pretender) ผู้ที่อาจจะอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์

เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้นับถือโรมันคาทอลิกขึ้นครองราชบัลลังก์รัฐสภาอังกฤษจึงออก พระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 (Act of Settlement 1701) ซึ่งระบุว่าเมื่อสิ้นสุดเจ้าหญิงแอนน์ และพระราชโอรสธิดาในอนาคตของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แล้ว ราชบัลลังก์จะต้องตกไปเป็นของเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์และผู้สืบเชื้อสายจากพระองค์ เจ้าหญิงโซเฟียเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทางพระราชธิดาเจ้าหญิงอลิซาเบ็ธ สจวต ทางรัฐสภามิได้พิจารณาพระประยูรญาติอีกหลายพระองค์เพราะทรงเป็นโรมันคาทอลิก เจ้าหญิงแอนน์ทรงยอมรับพระราชบัญญัติ[18]

พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1702 และเจ้าหญิงแอนน์ทรงได้รับการสวมมงกุฏเมื่อวันที่ 23 เมษายน[19]

รัชสมัยพระราชินีนาถแอนน์

พระนางเจ้าแอนน์ ราว ค.ศ. 1690

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน

ทันทีที่เจ้าหญิงแอนน์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ พระองค์ก็ทรงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ซึ่งเป็นสงครามที่อังกฤษสนับสนุนสิทธิในการครองราชบัลลังก์สเปนของอาร์ชดยุกคาร์ลและเป็นสงครามที่ต่อเนื่องเรื่อยมาจนสิ้นสมัยของพระองค์และเป็นสงครามที่มีอิทธิพลต่อทั้งนโยบายการต่างประเทศและนโยบายภายในประเทศ

หลังจากนั้นก็ทรงแต่งตั้งพระสวามีขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารเรือ” (Lord High Admiral) ผู้มีอำนาจสูงสุดในราชนาวี และทรงมอบอำนาจการปกครองทหารบกให้แก่ลอร์ดมาร์ลบะระในตำแหน่ง “ร้อยเอก” (Captain-General) [20] นอกจากนั้นลอร์ดมาร์ลบะระยังได้รับเกียรติยศอีกหลายอย่างจากพระราชินีนาถแอนน์รวมทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ [3] (Knight of the Garter) และได้รับเลื่อนจากเอิร์ลเป็นดยุก[21] ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระก็ได้รับตำแหน่งในราชสำนักสูงขึ้นเป็น “เจ้ากรมพระภูษามาลา” (Mistress of the Robes) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของสตรีประจำราชสำนัก ผู้มีหน้าที่ดูแลพระภูษามาลาและเครื่องเพชรพลอยของพระราชินีนาถแอนน์

พระราชบัญญัติสหภาพ

เมื่อผ่านพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 รัฐสภาอังกฤษมิได้ปรึกษารัฐสภาสกอตแลนด์ที่ส่วนหนึ่งมีความประสงค์ที่จะรักษาราชบัลลังก์ไว้กับราชวงศ์สจวตและรักษาสิทธิในการเลือกผู้สืบราชบัลลังก์[22] ทางราชอาณาจักรสกอตแลนด์จึงตอบโต้กลับด้วยการออกพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัย ค.ศ. 1704 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าเมื่อสิ้นสุดจากพระราชินีนาถแอนน์แล้ว สกอตแลนด์มีอำนาจที่จะเลือกประมุขพระองค์ต่อไปสำหรับราชบัลลังก์สกอตแลนด์จากผู้สืบเชื้อสายของราชวงศ์ของสกอตแลนด์ (ผู้ที่ได้รับเลือกโดยสกอตแลนด์จะไม่เป็นผู้เดียวกับผู้เดียวกับผู้ปกครองราชอาณาจักรอังกฤษ นอกจากว่าถ้าสถานะการณ์ทางศาสนา เศรษฐกิจ และทางการเมืองจะเป็นที่ตกลงกันได้) แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้รับการยอมรับจนเมื่อสกอตแลนด์ขู่ว่าจะถอนตัวจากกองทัพของดยุกแห่งมาร์ลบะระในยุโรปและไม่ยอมเก็บภาษีต่าง ๆ ตามที่อังกฤษต้องการ

แต่ความที่รัฐสภาอังกฤษเกรงว่าสกอตแลนด์จะหันกลับไปเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสถ้าสกอตแลนด์ได้รับเอกราช ทางการอังกฤษจึงได้ออกพระราชบัญญัติต่างด้าว ค.ศ. 1705 (Alien Act 1705) เป็นการตอบโต้ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าอังกฤษจะต่อต้านสกอตแลนด์ทางเศรษฐกิจและจะประกาศให้ชาวสกอตแลนด์เป็นคนต่างด้าวทั้งหมด (ซึ่งเป็นการทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของชาวสกอตแลนด์ในอังกฤษ) นอกจากว่าสกอตแลนด์จะยกเลิก “พระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัย” และเข้ารวมตัวกับอังกฤษ สกอตแลนด์เลือกประการหลัง ด้วยเหตุนี้สกอตแลนด์จึงส่งผู้แทนมาเจรจาต่อรองในการรวมตัวกับอังกฤษเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1706 ข้อตกลงได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1707 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 อังกฤษและสกอตแลนด์จึงกลายเป็นอาณาจักรเดียวกันในชื่อ “บริเตนใหญ่” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 [23]

การปกครองระบบสองพรรค

ในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์การปกครองของรัฐสภาวิวัฒนาการแยกเป็นสองพรรค: พรรคทอรีและพรรควิก พระองค์เองโปรดพรรคทอรีมากกว่าแต่ก็ทรง อดทนกับนโยบายของพรรควิก

องค์มนตรีชุดแรกของพระราชินีนาถแอนน์มาจากพรรคทอรีโดยมีซิดนีย์ โกโดลฟิน เอิร์ลแห่งโกโดลฟินที่ 1 (Sidney Godolphin, 1st Earl of Godolphin) เป็นหัวหน้าแต่พรรควิกซึ่งไม่เห็นด้วยกับพรรคทอรีในการสนับสนุนสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย พรรควิกยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นเมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระได้รับชัยชนะในยุทธการเบล็นไฮม์ในปี ค.ศ. 1704 พรรควิกจึงเข้ามาเป็นองค์มนตรีแทนพรรคทอรีจนเกือบหมด ลอร์ดโกโดลฟินถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคทอรีแต่ก็สนับสนุนดยุกแห่งมาร์ลบะระ ฉะนั้นถึงแม้ว่าลอร์ดโกโดลฟินจะเป็นหัวหน้าคณะมุขมนตรีแต่อำนาจที่แท้จริงมาจากดยุกแห่งมาร์ลบะระและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ชาร์ลส์ สเป็นเซอร์ เอิร์ลแห่งซันเดอร์แลนด์ที่ 3 และโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายจอร์จ

เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กพระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1708[24] การเป็นผู้นำทางราชนาวีของพระองค์ไม่เป็นที่นิยมต่อพรรควิก ขณะที่ทรงนอนประชวรพรรควิกก็วางแผนที่จะปลดพระองค์จากตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” พระราชินีนาถแอนน์จึงทรงขอให้ดยุกแห่งมาร์ลบะระหยุดยั้งมิให้ยื่นคำรัองที่ว่า

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ทรงโทมนัสจากการสูญเสียพระราชสวามีเป็นอันมากและสิ่งนี้เองเป็นจุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และดัชเชสแห่งมาร์ลบะระพระสหายเก่าเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระมาถึงพระราชวังวินด์เซอร์ไม่นานหลังจากเจ้าชายจอร์จสิ้นพระชนม์และบังคับให้พระราชินีนาถแอนน์ออกจากพระราชวังวินด์เซอร์ไปประทับที่พระราชวังเซนต์เจมส์ทั้งๆ ที่ไม่ตรงกับพระราชประสงค์ พระราชินีนาถแอนน์ทรงขอร้องว่าให้ทิ้งพระองค์ไว้ให้โศรกเศร้าเพียงลำพัง แต่ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระกลับจัดให้มีคนมาเฝ้าดูแลพระองค์ตลอดเวลา จึงทรงกริ้วดัชเชสแห่งมาร์ลบะระที่เจ้ากี้เจ้าการในสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องพระราชประสงค์

พรรควิกฉวยโอกาสในการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายจอร์จในขณะที่พระราชินีนาถแอนน์ยังทรงโศรกเศร้าโดยไม่ยอมรับพระราชประสงค์และก่อตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรควิกที่นำโดย ซิดนีย์ โกโดลฟิน เอิร์ลแห่งโกโดลฟินที่ 1 แต่อำนาจของพรรควิกยังถูกจำกัดอยู่เนื่องจากพระราชินีนาถแอนน์ทรงยืนยันที่จะทำหน้าที่ “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ด้วยพระองค์เองโดยไม่ยอมแต่งตั้งผู้ใดจากพรรควิกมาแทนพระราชสวามี แต่พรรควิกไม่สนใจและเรียกร้องให้ทรงตั้งเอ็ดเวิร์ด รัสเซลล์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านคนสำคัญของเจ้าชายจอร์จดำรงตำแหน่งนั้น พระราชินีนาถแอนน์ทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดและทรงเลือกคนของพระองค์เอง โธมัส เฮอร์เบิร์ต,เอิร์ลแห่งเพ็มโบรคที่ 8 ขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” คนใหม่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1709 แต่พรรควิกก็สร้างความกดดันจนเอิร์ลแห่งเพ็มโบรคต้องลาออกเพียงเดือนเดียวหลังจากที่ได้รับแต่งตั้ง ในที่สุดพระราชินีนาถแอนน์จึงทรงยอมแต่งตั้งเอ็ดเวิร์ด รัสเซลล์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดตามที่พรรควิกต้องการ

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

พระนางเจ้าแอนน์ ค.ศ. 1702

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปนเป็นสงครามที่สิ้นเปลืองมากจนทำให้ความนิยมในการปกครองของพรรควิกเสื่อมลง โดยเฉพาะในการที่โรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์ที่ใช้ปัญหาทางเศรษฐกิจจากสงครามในการเร้าใจผู้เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1710 พรรคทอรีจึงได้รับเลือกกลับมาเป็นพรรคเสียงข้างมาก[25] คณะมนตรีใหม่นำโดยโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์พยายามหาทางยุติสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน โดยพรรคทอรีเสนอให้ยกสเปนให้พระนัดดาของกษัตริย์ฝรั่งเศสแต่พรรควิกทนความคิดที่จะให้ราชวงศ์บูร์บง ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปนไม่ได้[26]

ข้อโต้เถียงมายุติลงเมื่อพระพระเชษฐาของอาร์คดยุกชาร์ลส์ผู้ที่พรรควิกสนับสนุนเสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1711 ชาร์ลส์จึงได้ออสเตรีย ฮังการี และราชบัลลังก์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อังกฤษจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรกับการยกราชบัลลังก์สเปนให้ชาร์ลส์ แต่สนธิสัญญาอูเทรชท์ ค.ศ. 1713 (Treaty of Utrecht 1713) ที่เสนอต่อรัฐสภาก็มิได้รวมการลดอำนาจราชวงศ์บูร์บงตามที่พรรควิกต้องการ[27]

พรรคทอรีของสภาสามัญชนได้รับความนิยมจนมีอำนาจที่ไม่มีผู้ใดหยุดยั้งได้ แต่พรรคทอรีของสภาขุนนางไม่มีอำนาจเช่นเดียวกัน พระราชินีนาถแอนน์จึงทรงตั้งตำแหน่งขุนนางสืบตระกูล (Peerage) ใหม่ขึ้นอีกสิบสองตำแหน่งเพื่อจะลดเสียงข้างมากของพรรควิกในสภาขุนนาง การแต่งตั้งขุนนางสืบตระกูลครั้งใหญ่เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์อังกฤษ จำนวนตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษในระยะเวลาเกือบห้าสิบปีที่ครองราชย์ยังน้อยกว่าจำนวนที่พระนางเจ้าแอนน์ทรงแต่งตั้งขึ้นภายในวันเดียว[28] การกระทำครั้งนี้ทำให้การอนุมัติสนธิสัญญาและยุติการเกี่ยวข้องของอังกฤษในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนสำเร็จ[29]

สวรรคต

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์สวรรคตด้วยโรคข้อต่ออักเสบเมื่อเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ของวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714 ด้วยพระบรมศพของพระองค์บวมมากจนต้องใส่ในหีบพระบรมศพที่เกือบจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์[30] และด้วยเหตุที่เจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นรัชทายาทตามพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 มาสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน (8 มิถุนายน ปีเดียวกัน) เจ้าชายจอร์จแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าหญิงโซเฟียจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่แทน [1] โดยการละเว้นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์คนอื่น ๆ เช่นเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวตพระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 การขึ้นครองราชย์เป็นไปโดยไม่มีอุปสรรคสำคัญนอกจากการแข็งข้อที่ล้มเหลวของจาโคไบต์ (Jacobitism) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์สจวตสองครั้งในปี ค.ศ. 1715 และ 1719[31]

มรดก

รัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นรัชสมัยที่องคมนตรีเริ่มมีอิทธิพลและอำนาจในการปกครองเพิ่มขึ้นและอำนาจของพระมหากษัตริย์ลดลง ในปี ค.ศ. 1708 พระนางเจ้าแอนน์เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของอังกฤษที่ทรงใช้อำนาจในการไม่ทรงอนุมัติพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนอำนาจจากพระมหากษัตริย์ไปสู่องคมนตรีมาเห็นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 1 จนที่ปรึกษาประจำพระองค์เซอร์โรเบิร์ต วอลโพล เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดที่ 1 (Robert Walpole, 1st Earl of Orford) มักจะถูกบรรยายว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร” คนแรก [32]

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์มักจะทรงกังวลกับพระสุขภาพเพราะทรงเป็นโรคพอร์ฟิเรีย (porphyria) และเพราะความที่ไม่ทรงมีสุขภาพดีนักจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เสนาบดีโดยเฉพาะโรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ เอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ดและมอร์ติเมอร์ ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ และ บารอนเนสอะบิเกล มาแชมเข้ามามีอิทธิพลทางการตัดสินพระทัยทางเมืองของพระราชินีนาถแอนน์[2]

สมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นสมัยของศิลปะ วรรณกรรม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทางสถาปัตยกรรม จอห์น แวนบรูห์สร้างสิ่งก่อสร้างที่เด่น ๆ เช่นว้งเบล็นไฮม์[4]ให้แก่ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ และคฤหาสน์เฮาวาร์ด[5]ให้แก่ชาร์ลส์ เฮาวาร์ด เอิร์ลแห่งคาร์ไลสล์ที่ 3 ถึงแม้ว่าสมัยของพระราชินีนาถแอนน์จะไม่มีลักษณะอะไรทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่เด่น แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยของพระองค์ก็มาเป็นที่นิยมกันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในลักษณะที่ถือกันว่าหรูหราโออ่าและใช้รายละเอียดในการตกแต่งมาก ทางด้านวรรณกรรมสมัยนี้มีนักเขียนสำคัญ ๆ เช่นแดเนียล เดอโฟ, อเล็กซานเดอร์ โพพ และ โจนาทาน สวิฟท์

ทางกฎหมาย, พระนามของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์สำคัญฉบับแรกของอังกฤษที่เรียกว่า “บทกฎหมายแอนน์” (Statute of Anne) ค.ศ. 1709 ซึ่งให้ลิขสิทธิ์งานเขียนต่อผู้ประพันธ์ทั้งหมดแทนที่จะเป็นของสำนักพิมพ์ตามที่เคยเป็นมา[33]

ทางภูมิศาสตร์, พระนามของแอนน์ใช้เป็นชื่อเมืองหรือเขตการปกครองหลายแห่งเช่น เมืองแอนนาโพลิส รัฐแมริแลนด์ สหรัฐ ซึ่งเดิมมีชื่อต่าง ๆ เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี ค.ศ. 1694 โดยเซอร์ฟรานซิส นิโคลสันเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เมืองอื่นที่ใช้พระนามก็ได้แก่ พรินเซสแอนน์ (รัฐแมริแลนด์) ควีนแอนน์เคานตี (รัฐแมริแลนด์) และ พริ้นเซสแอนน์เคานตี รัฐเวอร์จิเนีย

ตำแหน่ง

ตราประจำเจ้าหญิงแอนน์แห่งเดนมาร์ก
ตราประจำพระนางเจ้าแอนน์แห่งอังกฤษ
(ค.ศ. 1702 ถึง 1707)
ตราประจำพระนางเจ้าแอนน์แห่งบริเตนใหญ่
(ค.ศ. 1707 ถึง 1714)
  • 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1665 – 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1683: เฮอร์ไฮเนส เลดีแอนน์ (Her Highness The Lady Anne)
  • 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1683 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1702: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าฟ้าหญิงแอนน์แห่งเดนมาร์ก (Her Royal Highness The Princess Anne of Denmark)
  • 8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714: เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีนาถ (Her Majesty The Queen)

พระราชินีนาถแอนน์ในสมัยนิยม

  • “เชอร์ชิลคนแรก” (The First Churchills) เป็นละครโทรทัศน์ของบีบีซีที่แสดงชีวิตของพระราชินีนาถแอนน์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนสวรรคตโดนเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับซาราห์ เชอร์ชิล
  • “Das Grinsende Gesicht” ค.ศ. 1921 ภาพยนตร์เงียบออสเตรียสร้างจากนวนิยายเรื่อง “คนที่หัวเราะ” (The Man Who Laughs) โดย วิคเตอร์ ฮูโก
  • “คนที่หัวเราะ” ค.ศ. 1928 ภาพยนตร์เงียบสร้างจากนวนิยายเรื่อง “คนที่หัวเราะ” โดย วิคเตอร์ ฮูโก
  • “Ett Glas vatten” ละครโทรทัศน์ของสวีเดนสร้างจากบทละครเรื่อง “Le Verre d'eau” โดย ยูจีน สไครบ์
  • “Sakk-matt” ค.ศ. 1977 ละครโทรทัศน์ของฮังการีสร้างจากบทละครเรื่อง “Le Verre d'eau” โดย ยูจีน สไครบ์
  • “Das Glas Wasser” ค.ศ. 1960 ละครโทรทัศน์ของเยอรมนีสร้างจากบทละครเรื่อง “Le Verre d'eau” โดย ยูจีน สไครบ์
  • “เร็น: ผู้สร้างบริเตน” (Wren: The Man Who Built Britain) ค.ศ. 2004เป็นสารคดีของบีบีซี

พระราชวงศ์

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Benians, Ernest Alfred et al. (1909). The Cambridge Modern History (เคมบริดจ์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่). MacMillan & Co. (เคมบริดจ์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่)
  • Ward, Adolphus W. (ed.). The Cambridge Modern History (เคมบริดจ์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่). Cambridge, England: Cambridge University Press.
  • Gregg, Edward (2001). Queen Anne (พระราชินีนาถแอนน์). Yale University Press.
  • Innes, Arthur Donald (1913). A History of England and the British Empire (ประวัติศาสตร์อังกฤษและจักรวรรดิอังกฤษ). The MacMillan Company.
  • Lednum, John (1859). A History of the Rise of Methodism in America (ประวัติความรุ่งเรืองของ Methodism ในสหรัฐอเมริกา). Philadelphia: John Lednum.
  • Lodge, Edmund (1832). The Genealogy of the Existing British Peerage. Saunders and Otley.
  • Waller, Maureen, "Sovereign Ladies: Sex, Sacrifice, and Power. The Six Reigning Queens of England." (กษัตรีย์: เพศ, ความเสียสละ, และอำนาจ. พระราชินีหกพระองค์ของอังกฤษ) St. Martin's Press, New York, 2006. ISBN 0-312-33801-5
ก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ถัดไป
พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษและสกอตแลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707)
ไม่มี
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ได้รวมราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 แห่งสกอตแลนด์
พระมหากษัตริย์สกอตแลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707)
ไม่มี
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ได้รวมราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งไอร์แลนด์
พระมหากษัตริย์ไอร์แลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(8 มีนาคม ค.ศ. 1702 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714)
พระเจ้าจอร์จที่ 1
พระราชอิสริยยศสถาปนาใหม่
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ได้รวมราชอาณาจักรอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่

พระมหากษัตริย์บริเตนใหญ่
(ราชวงศ์สจวต)

(1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714)
พระเจ้าจอร์จที่ 1


🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง