เรื่องอื้อฉาวข้อมูลเคมบริดจ์แอนะลิติกา

ในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 2010 ปรากฎว่ามีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายล้านคนโดยไม่ได้รับความยินยอมโดยเคมบริดจ์แอนะลิติกา บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอังกฤษ โดยหลักมุ่งประสงค์เพื่อใช้ในการโฆษณาทางการเมือง[1]

ข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บรวบรวมโดยแอปพลิเคชันที่ชื่อ "ดิสอีสยัวร์ดิจิทัลไลฟ์" (This Is Your Digital Life) ซึ่งพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลชื่ออเล็กซานดรา โคแกน และบริษัทของโคแกนที่ชื่อโกลบอล ไซแอนซ์ รีเสิร์ช ในปี 2556[2] แอปพลิเคชันดังกล่าวประกอบไปด้วยชุดคำถามเพื่อสร้างโปรไฟล์ทางจิตวิทยาของผู้ใช้ และเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเพื่อนบนเฟซบุ๊กของผู้ใช้โดยอาศัยแพลตฟอร์มโอเพนกราฟ (Open Graph) ของเฟซบุ๊ก[2] แอปพลิเคชันดังกล่าวเก็บรวบรวมข้อมูลโปรไฟล์ผู้ใช้ไปถึง 87 ล้านราย[2] เคมบริดจ์แอนะลิติกาใช้ข้อมูลในส่วนดังกล่าวเพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงวิเคราะห์ต่อแคมเปญหาเสียงเพื่อรับเลือกเป็นประธานาธิบดีของเท็ด ครูซ และดอนัลด์ ทรัมป์[3][4] นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่าเคมบริดจ์แอนะลิติกามีส่วนในการเข้าแทรกแซงการลงประชามติว่าด้วยสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร แต่จากการสืบสวนอย่างเป็นทางการ พบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง "เกินไปกว่าการเก็บข้อมูลเบื้องต้น" และไม่พบว่ามี "การรั่วไหลอย่างมีนัยสำคัญ" เกิดขึ้นแต่ประการใด[5][6]

ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลโดยมิชอบมีการเปิดเผยในปี 2561 โดยคริสโตเฟอร์ ไวลีย์ อดีตพนักงานของเคมบริดจ์แอนะลิติกาที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน และเดอะนิวยอร์กไทมส์[7] ทำให้เฟซบุ๊กต้องออกมาขอโทษกับการก่อให้เกิดการเก็บข้อมูลดังกล่าว และทำให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟซบุ๊ก ต้องเข้าให้การต่อรัฐสภาสหรัฐ[7] ในเดือนกรกฎาคม 2562 คณะกรรมาธิการทางการค้าสหรัฐ (Federal Trade Commission) ได้ลงโทษปรับเฟซบุ๊กจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากกรณีละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล[8] และในเดือนตุลาคม 2562 เฟซบุ๊กตกลงชำระค่าปรับจำนวน 500,000 ปอนด์ให้แก่สำนักผู้ตรวจการข้อมูลแห่งสหราชอาณาจักร (Information Commissioner's Office) เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ที่ก่อให้เกิด "ความเสี่ยงต่อภยันตรายอย่างร้ายแรง"[9] ในเดือนพฤษภาคม 2561 เคมบริดจ์แอนะลิติกาได้ยื่นขอล้มละลายตามความในหมวด 7 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐ[10]

หน่วยงานที่ทำการโฆษณาแห่งอื่น ๆ ได้ใช้วิธีการกำหนดเป้าหมายทางจิตวิทยาในรูปแบบต่าง ๆ มาหลายปี และเฟซบุ๊กเองก็ได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีทำนองเดียวกันในปี 2555[11] อย่างไรก็ดี การเปิดเผยวิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและลักษณะของลูกค้าของเคมบริดจ์แอนะลิติกา ซึ่งรวมถึงแคมเปญหาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดีของดอนัลด์ ทรัมป์ และแคมเปญโวทลีฟ (Vote Leave) ในกรณีเบร็กซิต ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงความท้าทายเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายทางจิตวิทยาที่นักวิชาการได้เคยเตือนไว้[11] เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวทำให้ประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลและอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ในแวดวงการเมืองมากขึ้น และก่อให้เกิดการพูดถึงการ #DeleteFacebook (ลบ[บัญชี]เฟซบุ๊ก) อย่างมากในทวิตเตอร์[12]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง