ชุดกีฬาฟุตบอล

ในกีฬาฟุตบอล ชุดกีฬา หมายถึง อุปกรณ์มาตรฐานและเครื่องแต่งกายของนักฟุตบอล ในภาษาอังกฤษ สำเนียงบริเตนใช้คำว่า "kit" หรือ "strip" และสำเนียงอเมริกันใช้คำว่า "uniform" ตามกติกานั้นกำหนดให้ใช้ชุดกีฬา และห้ามไม่ให้สวมใส่สิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้เล่นอื่น ในการแข่งขันแต่ละแห่งนั้นอาจระบุเงื่อนไขเฉพาะ เช่น กฎบังคับด้านขนาดของโลโก้ที่แสดงบนเสื้อและกล่าวว่า ในการแข่งขันแต่ละนัดระหว่าง 2 ทีมนั้น หากสีของชุดกีฬาเหมือนหรือคล้ายกัน ทีมเยือนจะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกชุด

ภาพในปี ค.ศ. 2006 ของปาเวล เนดเวต สวมชุดกีฬาฟุตบอลในแบบปัจจุบัน

โดยปกติแล้วนักฟุตบอลจะมีหมายเลขอยู่ด้านหลังของเสื้อ โดยทีมแรกจะสวมเสื้อตั้งแต่หมายเลข 1 ถึง 11 เพื่อให้พอสอดคล้องกับตำแหน่งการเล่น แต่ในระดับอาชีพแล้ว หมายเลขของผู้เล่นเข้าใหม่มักจะถูกกำหนดจากหมายเลขของผู้เล่นคนอื่นในทีม ซึ่งผู้เล่นแต่ละคนในทีมจะถูกกำหนดหมายเลขตายตัวในฤดูกาลนั้น ๆ สโมสรอาชีพมักจะแสดงนามสกุลหรือชื่อเล่นบนเสื้อ อาจจะอยู่เหนือ (มีบางครั้งที่อยู่ต่ำกว่า) หมายเลขเสื้อ

ชุดฟุตบอลนั้นมีการพัฒนา แต่เดิมผู้เล่นจะสวมเสื้อผ้าฝ้ายหนา ๆ กางเกงทรงหลวมยาวถึงเข่าและรองเท้าหนังแข็ง ๆ หนัก ๆ ต่อมาในศตวรรษที่ 20 รองเท้าเบาและอ่อนลง ส่วนกางเกงสั้นลง และการพัฒนาด้านการผลิตเสื้อผ้าและการพิมพ์ ได้มีการผลิตเสื้อใยสังเคราะห์ที่เบาลง พร้อมกับการออกแบบที่มีสีสันและซับซ้อนขึ้น เมื่อการเติบโตของการโฆษณาในศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดโลโก้ของผู้สนับสนุนบนเสื้อผ้า และมีการผลิตเสื้อให้แฟนฟุตบอลได้ซื้อหากัน ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมากสู่สโมสร

อุปกรณ์

อุปกรณ์พื้นฐาน

สนับแข้งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกติกาฟุตบอล

กติกาฟุตบอลระบุอุปกรณ์พื้นฐานที่ต้องใส่ของนักฟุตบอลทุกคน โดยในกฎข้อ 4 กล่าวว่า นักฟุตบอลทุกคนต้องมีอุปกรณ์ 5 ชนิด คือ เสื้อ กางเกงขาสั้น ถุงเท้า รองเท้า และ สนับแข้ง[1] อนุญาตให้ผู้รักษาประตูใส่กางเกงขายาวแทนกางเกงขาสั้นได้[2] นักฟุตบอลส่วนมากใส่รองเท้าสตัด (ภาษาอังกฤษอเมริกันอาจเรียกว่า "soccer shoes"[3][4] หรือ "cleats"[4]) แต่กฎไม่ได้ระบุรายละเอียดเฉพาะของรองเท้า[1] เสื้อต้องมีแขนเสื้อ (จะแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้) และผู้รักษาประตูต้องสวมเสื้อที่แตกต่างจากนักฟุตบอลคนอื่น รวมถึงผู้ตัดสิน อาจใส่กางเกงซับในกันหนาวได้ แต่ต้องเป็นสีเดียวกับสีกางเกงขาสั้น สนับแข้งต้องสามารถใส่ถุงเท้าปกคลุมได้ทั้งหมด วัสดุของสนับแข้งอาจทำจากยาง พลาสติก หรือวัสดุใกล้เคียง และต้องอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันได้อย่างสมเหตุสมผล[1] ส่วนข้อห้ามในการใช้อุปกรณ์ มีระบุไว้ในกฎว่า "ห้ามผู้เล่นสวมอุปกรณ์หรืออะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้เล่นอื่น"[1]

ในการแข่งขันทั่วไป กำหนดให้ผู้เล่นบนสนามทุกคนในทีมสวมเสื้อสีเดียวกัน ถึงแม้ว่ากฎจะบอกเพียงว่า "ทั้ง 2 ทีมจะต้องใส่เสื้อสีที่แตกต่างกัน รวมถึงแตกต่างกับผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสิน"[1] ในการแข่งขันระหว่างทีมนั้น หากเสื้อของทีมเยือนมีสีใกล้เคียงกับทีมเหย้า ทีมเยือนต้องเปลี่ยนสีชุด[5] ด้วยกฎนี้ ทำให้ทีมมีเสื้อชุดที่ 2 หรืออาจหมายถึง เสื้อทีมเยือน หรือ สีทีมเยือน ในการแข่งขันระหว่างทีมชาติ ในบางครั้งทีมชาติก็ยังเลือกใส่เสื้อทีมเยือน แม้จะไม่ได้ใส่เสื้อสีขัด ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษจะใส่เสื้อสีแดง (เสื้อทีมเยือน) ในขณะที่เป็นทีมเหย้า เพื่อให้เหมือนกับชุดที่ใส่ชนะเลิศฟุตบอลโลก 1966[6] สโมสรอาชีพหลายสโมสรมีชุดที่ 3 ใช้ในกรณีหากทั้งเสื้อทีมเยือนหรือทีมเหย้าใกล้เคียงกับฝั่งตรงข้าม[7] สโมสรส่วนใหญ่มักจะคงสีหลักของทีมต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ[7] และสีนี่เองที่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสโมสร[8] ทีมชาติในการแข่งขันระหว่างประเทศมักจะสวมเสื้อสีเดียวกับกีฬาประเภทอื่นของทีมชาติด้วยเช่นกัน สีเสื้อทีมชาติมักยึดมาจากสีในธงชาติ แต่ก็มียกเว้น เช่น ฟุตบอลทีมชาติอิตาลี สวมเสื้อสีน้ำเงินแทน เพราะเป็นสีของราชวงศ์ซาวอย ในขณะที่ทีมชาติออสเตรเลีย สวมเสื้อสีเดียวกับสีแห่งชาติ คือ สีเขียวและทอง ที่ทั้ง 2 สีไม่ปรากฏบนสีธงชาติ ส่วนฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์ สวมเสื้อสีส้ม ซึ่งเป็นสีของราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา[9]

เสื้อทีมเยือนของออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ในฤดูกาล 2006–07

ปกติเสื้อของชุดฟุตบอลทำจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ที่ไม่ดูดซับเหงื่อและความร้อนจากร่างกายในลักษณะเดียวกับเสื้อที่ทำจากใยธรรมชาติ[10] สโมสรอาชีพส่วนใหญ่มีโลโก้ผู้สนับสนุนด้านหน้าของเสื้อ ซึ่งหมายถึงการสร้างรายได้ให้กับสโมสร[11] และบางสโมสรยังเสนอให้มีโลโก้ด้านหลังของเสื้อด้วย[12] กฎของแต่ละแห่ง มีข้อห้ามเรื่องขนาดของโลโก้ หรือตำแหน่งของโลโก้ที่ปรากฏอยู่บนเสื้อ[13] การแข่งขันอย่างในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ให้ผู้เล่นสวมเสื้อที่มีโลโก้ของพรีเมียร์ลีกบนแขนเสื้อ[14] หมายเลขของผู้เล่นส่วนใหญ่จะแปะที่ด้านหลังของเสื้อ แต่ในการแข่งขันระดับทีมชาติมักจะแปะหมายเลขไว้ด้านหน้า[15] และการแข่งขันของทีมอาชีพ มีการแปะนามสกุลของผู้เล่นเหนือหมายเลขเสื้อ[16] กัปตันของแต่ละทีมจะสวมปลอกกัปตันทีมรอบแขนซ้าย เพื่อระบุตำแหน่งกัปตันทีมให้ผู้ตัดสินและผู้สนับสนุนรับรู้

รองเท้าสมัยใหม่ ที่ออกแบบเพื่อใช้กับหญ้าเทียมหรือทราย

ผู้เล่นโดยมากในปัจจุบัน สวมรองเท้าที่ทำขึ้นพิเศษที่อาจทำจากหนังหรือวัสดุสังเคราะห์ รองเท้าสมัยใหม่นั้นมีการตัดลงไปเล็กน้อยเหนือข้อเท้าเพื่อให้แตกต่างจากรองเท้าหุ้มข้อสูงในอดีต และมีสตั๊ดติดอยู่ที่ฝ่าเท้า สตั๊ดมีทั้งยึดติดอยู่กับฝ่าเท้าเลยหรือรุ่นที่นำออกได้[17] รองเท้าสมัยใหม่อย่างเช่น อาดิดาส พรีเดเตอร์ มีแนวความคิดดั้งเดิมที่ออกแบบให้กับอดีตผู้เล่นลิเวอร์พูล เคร็ก จอห์นสตัน มีการออกแบบทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีถุงลมที่ฝ่าเท้าและใบมีดยางแทนที่ของสตั๊ด[18] ใบมีดนั้นเป็นที่ถกเถียงในหมู่ผู้จัดการทีมชั้นนำ โดยลงความเห็นว่า ก่อให้เกิดความบาดเจ็บได้ทั้งต่อผู้เล่นฝั่งตรงข้ามและผู้สวมใส่เอง[19][20]

กติการะบุว่าผู้เล่นทุกคน ไม่ว่าจะเพศไหน ก็ต้องสวมเสื้อทีมแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 สโมสรฟุตบอลหญิงเนเธอร์แลนด์ เอฟเวเดอรักท์ (FC de Rakt) ตกเป็นหัวข้อข่าวระดับนานาชาติโดยได้เปลี่ยนชุดกีฬาแบบเก่ามาสวมกระโปรงสั้นและเสื้อรัดรูปแทน รูปแบบชุดกีฬานี้เป็นการเรียกร้องจากทีมเอง และถูกสมาคมฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ห้ามใช้ชุดดังกล่าว แต่ต่อมาได้กลับคำตัดสินเมื่อปรากฏว่าสโมสรสวมกางเกงอยู่ใต้ด้านในกระโปรง สมาคมจึงอ่อนข้อให้[21]

อุปกรณ์อื่น

ถุงมือผู้รักษาประตูในแบบต่าง ๆ

กติกาอนุญาตให้ผู้เล่นสวมถุงมือได้[22] ส่วนผู้รักษาประตูมักจะสวมถุงมือพิเศษ ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1970 ผู้เล่นมักไม่ค่อยสวมถุงมือ[23] แต่ปัจจุบันถือเป็นเรื่องผิดปกติหากผู้รักษาประตูไม่สวมถุงมือ ในการแข่งขันระหว่างทีมชาติโปรตุเกส กับทีมชาติอังกฤษในการแข่งขันยูโร 2004 รีการ์ดูถูกวิจารณ์อย่างมากหลังตัดสินใจไม่สวมถุงมือในการดวลลูกโทษ[24] ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา การออกแบบถุงมือได้มีการพัฒนาอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องป้องกันนิ้วหักไปด้านหลัง มีการแบ่งแต่ละส่วนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และอุปกรณ์สำหรับฝ่ามือก็ออกแบบให้ป้องกันสำหรับให้การยึดเกาะดีมากขึ้น[23] ถุงมือมีการออกแบบในแต่ละส่วนเพื่อความหลากหลาย เช่น แบบแฟลตปาล์ม, โรลล์ฟิงเกอร์, และเนกาทีฟ ที่มีความแตกต่างในการเย็บและความพอดีมือ[25]

ในบางครั้งผู้รักษาประตูจะสวมหมวกแก๊ปเพื่อป้องกันแสงจ้าจากดวงอาทิตย์หรือแสงจ้าจากดวงไฟ[22] ส่วนผู้เล่นที่มีปัญหาด้านสายตา อาจสามารถใส่แว่นสายตาได้ ตราบใดที่ไม่เป็นอันตรายหรือตกหล่นหรือแตก ที่อาจเป็นอันตราย แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่มักใส่คอนแทกต์เลนส์มากกว่า ในกรณีของเอ็ดการ์ ดาวิดส์ นักฟุตบอลชาวเนเธอร์แลนด์ ที่ไม่สามารถใส่คอนแทกต์เลนส์ได้เนื่องจากเป็นต้อหิน เขาจึงใส่แว่นตากันลม อันทำให้ผู้คนจดจำภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้[26] ส่วนอุปกรณ์อื่นที่อาจทำอันตรายต่อผู้เล่นอื่น อย่างเช่น เครื่องประดับ อัญมณี ไม่อนุญาตให้ใส่ลงแข่งขัน[1] อุปกรณ์อื่นที่ผู้เล่นสวม อย่าง เบสเลเยอร์ (ชุดรัดกล้ามเนื้อ) ได้แก่ เทกฟิตของอาดิดาส, ไนกีโปรของไนกี้และรุ่นเบสเลเยอร์ของแคนเทอร์เบอรี[27] ผู้เล่นอาจใส่อุปกรณ์สวมศีรษะเพื่อป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ตราบใดที่ไม่ทำอันตรายต่อผู้สวมและผู้เล่นคนอื่น[28]

คณะตัดสิน

ผู้ตัดสิน ฮาวเวิร์ด เวบบ์ สวมชุดดำ

ผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสินและผู้ตัดสินที่ 4 สวมชุดในลักษณะคล้ายกับผู้เล่น ถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบุชัดเจนในกติกา แต่ตามทฤษฎีของฟุตบอลแล้ว ชุดของคณะตัดสินต้องมีสีแตกต่างจากผู้เล่นทั้ง 2 ทีม[29] ในปี ค.ศ. 1998 ผู้ตัดสินพรีเมียร์ลีก เดวิด เอลเรย์ ถูกบังคับให้เปลี่ยนเสื้อขณะแข่งขันไปได้ครึ่งทางในการแข่งขันระหว่างแอสตันวิลลากับวิมเบิลดัน[30] สีดำถือเป็นสีดั้งเดิมของผู้ตัดสิน ส่วนคำว่าชายในชุดดำ เป็นคำที่ใช้แบบไม่เป็นทางการ ที่หมายถึงผู้ตัดสิน[31] แต่อย่างไรก็ตามเริ่มมีการใช้สีอื่นมากขึ้นในยุคสมัยใหม่[32] ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1994 ฟีฟ่าอนุญาตอย่างเป็นทางการให้ผู้ตัดสินสามารถสวมชุดสีอื่นนอกจากสีดำได้[33] ในบางครั้งก็มีโลโก้ของผู้สนับสนุนบนเสื้อของผู้ตัดสิน มักปรากฏอยู่บนแขนเสื้อ[34]

ประวัติ

ยุควิกตอเรีย

ชุดเสื้อผ้ากีฬาที่มีหลักฐานการบันทึกครั้งแรก โดยเฉพาะในกีฬาฟุตบอลเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1526 เป็นชุดกีฬาของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ที่มีอ้างอิงว่ามีรองเท้าฟุตบอล[35] ในหลักฐานยุคแรกสุดนั้น บันทึกว่าสีเสื้อเป็นการระบุทีมฟุตบอล มาจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนรัฐบาลอังกฤษยุคแรก ตัวอย่างเช่นภาพทีมฟุตบอลวิทยาลัยวินเชสเตอร์ ก่อนปี ค.ศ. 1840 ระบุไว้ว่า "บุคคลทั่วไปต้องสวมชุดกีฬาสีแดงส่วนนักศึกษาวิทยาลัยสวมชุดสีน้ำเงิน" สีดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งในบทความของนิตยสารกีฬา เบลส์ไลฟ์อินลอนดอน ในปี ค.ศ. 1858[36][37] สีชุดทีมเหย้าได้รับการกล่าวถึงในกติการักบี้ฟุตบอล (กฎข้อ 21) ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1845 "ห้ามผู้เล่นสวมหมวกแก๊ปหรือไม่ใส่ชุด ที่ไม่ใช่ชุดทีมเหย้าของตัวเอง"[38] ในปี ค.ศ. 1848 มีการบันทึกในกีฬารักบี้ว่า "ถือได้ว่ามีการปรับปรุงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ในนัดการแข่งขัน มีการแต่งตัวลักษณะเฉพาะที่ประกอบด้วยหมวกแก๊ปและชุดกีฬาทำจากผ้าฝ้าย"[39]

องค์กรด้านฟุตบอลเกิดขึ้นที่อังกฤษในคริสต์ทศวรรษ 1860 มีหลายทีมในช่วงนั้นสวมชุดกีฬาแข่งขัน ในลักษณะเท่าที่มีให้ใส่ ผู้เล่นทีมเดียวกันแยกแยะโดยการสวมหมวกแก๊ปหรือสายคาดเอว[7] ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา จนในปี ค.ศ. 1867 หนังสือคู่มือการเล่นแนะนำให้แต่ละทีมว่า "จะเป็นการดีหากจัดการเตรียมให้ชุดกีฬาของทีมหนึ่งเป็นชุดสีหนึ่ง สมมติว่าสีแดง และอีกทีมหนึ่งเป็นอีกสี สมมติว่าสีน้ำเงิน" เป็นการแก้ปัญหาการสับสนรวมไปถึงการแย่งชิงลูกบอลจากทีมตรงข้าม[40]

ทีมนิวบรอมป์ตันในปี ค.ศ. 1894 สวมชุดกีฬาในยุคนั้น ประกอบด้วย ชุดหนา ๆ กางเกงขายาว รองเท้าหนัก ๆ และสนับแข้งใส่นอกถุงเท้า

ชุดกีฬามาตรฐานชุดแรกเกิดขึ้นราวคริสต์ทศวรรษ 1870 มีหลายสโมสรเลือกที่จะใส่ชุดสีเดียวกับสีของโรงเรียนหรือองค์กรกีฬาที่จัดตั้งสโมสรฟุตบอลขึ้น[7] ตัวอย่างเช่นสโมสรฟุตบอลแบล็กเบิร์นโรเวอส์ ได้ออกแบบชุดโดยมีที่มาจากผู้เล่นส่วนหนึ่งเคยเป็นนักเรียนของวิทยาลัยมัลเวิร์น เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่พัฒนาสโมสร สีดั้งเดิมคือสีฟ้าอ่อนและขาว เพื่อสะท้อนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่มีผู้ก่อตั้งของสโมสรหลายคนศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้[41] สีและการออกแบบของเสื้ออาจมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละนัด สโมสรฟุตบอลโบลตันวันเดอเรอส์มีเสื้อสีชมพูและเสื้อสีขาวจุดแดงในปีเดียวกัน[42] ส่วนกางเกงไม่เหมือนในปัจจุบันที่ใส่กางเกงขาสั้น ในยุคนั้นสวมกางเกงทรงหลวมยาวถึงเข่าหรือใส่กางเกงขายาว มักใส่เข็มขัดหรือที่รัด[43]ลอร์ด คินเนร์ด ดาวดังฟุตบอลยุคแรก กล่าวไว้ว่ามักจะใส่กางเกงขายาวสีขาวสว่าง[44] ไม่มีการติดหมายเลขบนเสื้อเพื่อระบุผู้เล่นแต่ละคน ในนัดการแข่งขันปี ค.ศ. 1875 ระหว่างสโมสรฟุตบอลควีนส์พาร์กกับสโมสรฟุตบอลวันเดอเรอส์ในกลาสโกว์ แยกแยะผู้เล่นจากสีของหมวกแก๊ปหรือถุงเท้า[45] ส่วนการใช้สนับแข้งครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1874 โดยผู้เล่นจากสโมสรฟุตบอลนอตทิงแฮมฟอเรสต์ที่ชื่อ แซม เวลเลอร์ วิดโดว์สัน เขาได้ตัดสนับแข้งของกีฬาคริกเกตและนำมาสวมนอกถุงเท้า แนวคิดนี้ในช่วงแรกถือเป็นเรื่องน่าขบขัน แต่ต่อมาผู้เล่นคนอื่นก็นำมาใช้ด้วยเช่นกัน[46] ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ สนับแข้งเล็กลงและใส่ด้านในของถุงเท้า[47]

ในขณะที่การแข่งขันได้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากการเล่นสมัครเล่นในหมู่ผู้มีฐานะไปเป็นผู้เล่นอาชีพชนชั้นแรงงาน ชุดกีฬาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย สโมสรได้เข้ามาดูและรับผิดชอบชุดกีฬาแทนนักกีฬา รวมถึงพิจารณาด้านการตลาด เพื่อให้มีผู้ชมการแข่งขันมากขึ้น และเพื่อแยกแยะผู้เล่นแต่ละคน นำไปสู่สีสันของชุดที่ก่อนหน้านี้จะใช้สีพื้นฐานทั่วไป ในปี ค.ศ. 1890 ฟุตบอลลีกของอังกฤษ ที่เพิ่งก่อตั้งก่อนหน้านี้ 2 ปี ได้กำหนดห้าม 2 ทีมที่แข่งขันจดทะเบียนสีของทีมในสีที่คล้ายกัน แต่กฎนี้ก็ยกเลิกไปเมื่อทุกทีมมีชุดที่ 2 ที่มีสีที่แตกต่างกัน[7] แต่เดิมทีมเหย้าจะต้องเปลี่ยนชุดหากใช้เสื้อสีคล้ายกัน แต่ในปี ค.ศ. 1921 ได้มีการแก้ไขกฎให้ทีมเยือนต้องเปลี่ยนชุดแทน[48]

รองเท้าสำหรับฟุตบอลโดยเฉพาะ เกิดขึ้นในยุคแห่งฟุตบอลอาชีพ ในช่วงแรกผู้เล่นยึดตะปูเข้ากับแผ่นหนังเข้ากับรองเท้าเพื่อเพิ่มการยึดเกาะ แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1863 สมาคมฟุตบอลได้ออกกฎห้ามใช้ตะปูในรองเท้า ในคริสต์ทศวรรษ 1880 ได้เกิดรองเท้าสตั๊ดอย่างหยาบ ๆ รองเท้าในยุคนี้ทำจากหนังหนา ๆ อุปกรณ์กันนิ้วเท้าหนัก ๆ และสวมเลยไปถึงข้อเท้าของผู้เล่น[49]

ต้นศตวรรษที่ 20

หลังจากที่ฟุตบอลได้รับความนิยมในยุโรปและส่วนอื่นของโลก สโมสรต่าง ๆ ได้นำชุดกีฬาเหมือนอย่างที่ใส่ในสหราชอาณาจักร ในบางกรณีได้รับแรงดลใจ โดยใช้สีเดียวกับสโมสรอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1903 สโมสรฟุตบอลยูเวนตุสของอิตาลีได้นำลายสลับขาว-ดำ ที่ได้รับแรงดลใจจากสโมสรฟุตบอลนอตส์เคาน์ตีมาใช้[50] สองปีต่อมาสโมสรกลุบอัตเลตีโกอินเดเปนเดียนเตของอาร์เจนตินา ได้นำเสื้อสีแดงมาใช้หลังจากได้ดูเกมการเล่นของสโมสรฟุตบอลนอตทิงแฮมฟอเรสต์[51]

ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 กางเกงขาสั้นลงและผู้รักษาประตูสวมชุดที่มีสีแตกต่างจากเพื่อนร่วมทีม ดูได้จากภาพถ่ายของสโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน ในปี ค.ศ. 1910

ในปี ค.ศ. 1904 สมาคมฟุตบอลอังกฤษออกกฎให้ผู้เล่นสวมนิกเกอร์บอกเกอส์คลุมหัวเข่าด้วย ทีมแข่งขันเริ่มสวมกางเกงที่สั้นลง กางเกงชนิดนี้ช่วงนั้นเรียกว่า "นิกเกอส์" (knickers) ใช้เรียกจนกระทั่งในคริสต์ทศวรรษ 1960 เมื่อเปลี่ยนมาใช้คำว่า "ชอร์ตส" (shorts) แทน[43] ในช่วงแรกนั้น แทบทุกทีมสวมนิกเกอส์ที่มีสีที่แตกต่างจากเสื้อ[7] ในปี ค.ศ. 1909 เพื่อที่ให้ผู้ตัดสินสามารถแยกแยะผู้รักษาประตูออกจากผู้เล่น จึงมีกฎให้ผู้รักษาประตูสวมชุดที่มีสีแตกต่างจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่นด้วย ในช่วงแรกเสื้อของผู้รักษาประตูใช้สีเลือดหมูหรือสีน้ำเงินเข้ม ต่อมาในปี ค.ศ. 1912 เมื่อสีเขียวได้รับเลือกเป็นตัวเลือกของสีที่สาม ปรากฏว่าผู้รักษาประตูแทบทุกคนมักสวมใส่สีเขียว ช่วงนี้ผู้รักษาประตูโดยทั่วไปใส่ชุดขนสัตว์หนา ๆ ทำให้ดูเหมือนเสื้อกันหนาวเมื่อเทียบกับเสื้อของผู้เล่นอื่น[43]

มีการทดลองที่จะใส่หมายเลขบนเสื้อในคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่แนวความคิดในช่วงแรกไม่ได้รับความนิยม[52] การแข่งขันใหญ่ครั้งแรกที่มีการสวมหมายเลขเกิดขึ้นในนัดตัดสินเอฟเอคัพ ค.ศ. 1933 ระหว่างสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี แทนที่แต่ละทีมจะมีหมายเลขติดอยู่กับชุดเดิม แต่ผู้จัดได้เตรียมชุดพิเศษ 2 ชุดคือสีขาวและสีแดง และเลือกโดยการทอยเหรียญ เอฟเวอร์ตันสวมชุดหมายเลข 1–11 ขณะที่ซิตีสวมชุดหมายเลข 12–22[53] จนกระทั่งราวช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถึงมีการนำหมายเลขเสื้อมาใช้เป็นมาตรฐาน แต่ละทีมสวมหมายเลข 1–11 ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎว่าตำแหน่งใดสวมหมายเลขอะไร แต่ก็มีการเจาะจงตำแหน่งผู้เล่นกับหมายเลข ตัวอย่างเช่น หมายเลข 9 มักสงวนไว้กับกองหน้าตัวเป้า[52] อีกตัวอย่างที่แตกต่าง สโมสรฟุตบอลเซลติก ของสกอตแลนด์ ใส่หมายเลขไว้บนกางเกงแทนบนเสื้อ ใช้จนกระทั่งนัดการแข่งขันระหว่างประเทศปี ค.ศ. 1975 และใช้ในการแข่งขันภายในประเทศจนปี ค.ศ. 1994[54] ในคริสต์ทศวรรษ 1930 เกิดการพัฒนาด้านการผลิตรองเท้า ใช้วัสดุสังเคราะห์ใหม่ที่เบากว่าหนัง ในปี ค.ศ. 1936 ผู้เล่นในยุโรปสวมรองเท้าที่เบากว่ารองเท้าเมื่อทศวรรษก่อนถึง 1 ใน 3 แต่สโมสรอังกฤษยังไม่ได้รับรองเท้ารูปแบบใหม่นี้เข้ามาใช้ นักฟุตบอลอย่าง บิลลี ไรต์ แสดงความเห็นอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับรองเท้าใหม่นี้ว่า เหมาะสำหรับการเล่นบัลเลต์มากกว่าฟุตบอล[55]

ชุดของ ฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินา ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960

ในช่วงหลังสงครามไม่นาน หลายสโมสรถูกบังคับให้สวมชุดที่แปลกออกไปเนื่องจากกฎเรื่องการแต่งกาย[7] สโมสรฟุตบอลโอลดัมแอทเลติกของอังกฤษ ที่มีชุดดั้งเดิมสีน้ำเงินและขาว ได้เปลี่ยนมาใส่เสื้อสีแดงและขาว ที่ยืมมาจากสโมสรรักบี้ท้องถิ่น[56] สโมสรฟุตบอลไคลด์ของสกอตแลนด์ สวมชุดสีกากี[57] ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ผู้เล่นในยุโรปใต้และอเมริกาใต้สวมชุดที่เบาลงมาก สวมเสื้อคอวีแทนคอกลมและใช้ผ้าใยสังเคราะห์แทนผ้าใยธรรมชาติหนัก ๆ[22] รองเท้าคู่แรกที่ตัดลงไปต่ำกว่าข้อเท้า ผลิตขึ้นโดยอาดิดาสในปี ค.ศ. 1954 ถึงแม้ว่าราคาจะแพงกว่ารองเท้าเดิม 2 เท่า แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้อาดิดาสเข้าสู่ตลาดฟุตบอลด้วย ในเวลาเดียวกันอาดิดาสยังพัฒนารองเท้าสตั๊ด ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเงื่อนไขของสนามแข่ง[17] ในส่วนอื่นของโลก รับรูปแบบใหม่นี้ค่อนข้างช้า อย่างสโมสรอังกฤษต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้และยังคงสวมชุดดั้งเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากก่อนช่วงสงคราม[22] และทีมในยุโรปตะวันออกยังคงสวมชุดแบบเก่าเหมือนเดิม สโมสรฟุตบอลดีนาโมมอสโกที่ออกทัวร์ในยุโรปตะวันตกใน ค.ศ. 1945 ได้รับความสนใจโดยเฉพาะเรื่องสวมกางเกงยาวคล้ายถุง มากกว่าคุณภาพในการเล่นฟุตบอลเสียอีก[58] ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศ เช่นถ้วยฟุตบอลยุโรป ชุดของยุโรปตอนใต้ได้รับความนิยมไปในส่วนอื่นของทวีป โดยปลายทศวรรษ ก่อนช่วงสงคราม ทั้งเสื้อและรองเท้าหนัก ๆ ก็แทบไม่มีการใช้อีก ในคริสต์ทศวรรษ 1960 มีการเปลี่ยนแปลงด้านการออกแบบชุดกีฬาเล็กน้อย สโมสรทั่วไปมักเลือกคู่สีพื้นฐาน เพื่อให้ดูดีภายใต้แสงไฟแบบใหม่ในสนาม[7] การออกแบบตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ได้รับความสนใจอย่างมากจากแฟนฟุตบอล[59]

ยุคใหม่

เสื้อที่มีโลโก้ของผู้สนับสนุนในหลาย ๆ ฤดูกาลของสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง เป็นรูปแบบที่คุ้นเคยของเสื้อในยุคใหม่

ในคริสต์ทศวรรษ 1970 สโมสรต่าง ๆ เริ่มมีการสร้างลายชุดเฉพาะของทีมอย่างแข็งขัน และในปี ค.ศ. 1975 สโมสรฟุตบอลลีดส์ยูไนเต็ด ได้เปลี่ยนแบบดั้งเดิมที่เป็นสีน้ำเงินและทอง มาเป็นชุดขาวล้วน เป็นการล้อเลียนชุดของเรอัลมาดริดในคริสต์ทศวรรษ 1960[60] และลีดส์ยูไนเต็ดยังเป็นสโมสรแรกที่ออกแบบชุดเพื่อจำหน่ายให้กับแฟนฟุตบอล เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการตลาด สโมสรอื่น ๆ จึงได้เจริญรอยตาม โดยมีการเพิ่มโลโก้ของผู้ผลิตและสิ่งตกแต่งมากขึ้น[7] ในปี ค.ศ. 1973 สโมสรของเยอรมัน ไอน์ทรัคท์เบราน์ชไวจ์ ได้เซ็นสัญญากับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่น แยเกอร์ไมส์เทอร์ ให้แสดงโลโก้ของผลิตภัณฑ์บนด้านหน้าของเสื้อ[61] หลังจากนั้นไม่นานแทบทุกสโมสรใหญ่ ๆ ก็ได้เซ็นสัญญาในลักษณะเช่นนี้ และค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนนี้ก็ได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 2008 สโมสรเยอรมัน สโมสรฟุตบอลบาเยิร์นมิวนิกได้รับเงิน 25 ล้านยูโรจากผู้สนับสนุน ดอยท์เชอเทเลโคม[62] อย่างไรก็ตามสโมสรสเปนอย่าง สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาและอัตเลติกเดบิลบาโอ ปฏิเสธที่จะให้มีโลโก้ผู้สนับสนุนบนเสื้อผ้า[63] จนเมื่อปี ค.ศ. 2006 บาร์เซโลนาได้เซ็นสัญญาจนถึงปี ค.ศ. 2011 โดยตกลงว่ามีโลโก้ขององค์กรการกุศลยูนิเซฟ แต่ไม่รับค่าสนับสนุน ในทางกลับกัน ได้บริจาคเงิน 1.5 ล้านยูโรต่อปี[64] ส่วนนักฟุตบอลเองก็เริ่มเซ็นสัญญากับผู้สนับสนุนกับบริษัทต่าง ๆ เอง ในปี ค.ศ. 1974 โยฮัน ครัฟฟ์ปฏิเสธที่จะสวมเสื้อของฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์เนื่องจากผู้สนับสนุนคืออาดิดาสที่ขัดต่อผู้สนับสนุนของเขาคือ พูมา และได้รับอนุญาตให้สวมเสื้อที่ไม่มีโลโก้อาดิดาสบนเสื้อด้วย[65] พูมายังจ่ายให้เปเล่ 120,000 เหรียญดอลลาร์ ให้เขาสวมรองเท้าและเรียกร้องเป็นการพิเศษให้เขาผูกเชือกรองเท้าในนัดตัดสินฟุตบอลโลก 1970 เพื่อให้มั่นใจว่า จะได้เห็นรองเท้าของเขาในระยะใกล้สู่ผู้ชมทางโทรทัศน์ทั่วโลก[66]

ในคริสต์ทศวรรษ 1980 ผู้ผลิตอย่างฮัมเมลและอาดิดาสเริ่มออกแบบเสื้อที่มีการออกแบบที่ซับซ้อนขึ้น กับเทคโนโลยีใหม่ด้านองค์ประกอบการออกแบบใหม่ เช่น การพิมพ์เงาและลายเย็บ[7] ในฟุตบอลโลก 1986 ทีมชาติเดนมาร์กสวมชุดของฮัมเมลที่มีลาย แต่ทำให้เกิดความวุ่นวายในวงการสื่อ ฟีฟ่าให้ทีมชาติเดนมาร์กสวมกางเกงเพียงสีเดียว เหตุผลกางเกงลาย ทางฟีฟ่ากลัวว่าจะเกิดลายมัวเร (moiré artefact) บนจอโทรทัศน์[67] ต่อมาเมื่อกางเกงสั้นลงกว่าเดิม ในช่วงระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980[52] และมักมีหมายเลขบนกางเกงด้านหน้า[68] ในการแข่งขันเอฟเอคัพ นัดตัดสินในปี ค.ศ. 1991 สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์สวมกางเกงยาวและหลวม ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นเรื่องขบขัน แต่หลังจากนั้นไม่นานนักสโมสรต่าง ๆ ทั้งในอังกฤษและที่อื่นก็ได้ใส่กางเกงที่ยาวขึ้น[69] ในคริสต์ทศวรรษ 1990 การออกแบบเสื้อเริ่มซับซ้อนยิ่งขึ้น มีหลายทีมใช้คู่สีที่ฉูดฉาดมาก การตัดสินใจในการออกแบบขึ้นอยู่กับความต้องการให้เสื้อดูดีเมื่อแฟนฟุตบอลสวมใส่ เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบด้านแฟชั่น[7] แต่การออกแบบหลายครั้งในยุคนี้ก็ถือเป็นการออกแบบที่เลวร้ายที่สุดตลอดกาล[70] ในปี ค.ศ. 1996 สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นที่รู้จักในทางที่ไม่ดีนักในด้านการออกแบบชุดลายสีเทา ที่ออกแบบมาเพื่อให้ดูดีเมื่อสวมใส่กับกางเกงยีนส์ แต่ในการแข่งขันครั้งหนึ่ง ผู้จัดการทีม อเล็กซ์ เฟอร์กูสันได้สั่งให้เปลี่ยนชุดระหว่างพักครึ่ง โดยอ้างว่าที่ทีมแพ้ 3–0 เพราะนักฟุตบอลไม่สามารถเห็นผู้เล่นคนอื่นได้ดีในสนาม ยูไนเต็ดเปลี่ยนชุดเป็นอีกสีในครึ่งหลัง โดยยิงได้ 1 ประตูโดยไม่เสียประตูเพิ่ม[71] ในลีกสูง ๆ หมายเลขเสื้อมีความสำคัญ โดยจะจัดสรรให้กับผู้เล่นโดยเฉพาะ[72] ความนิยมอีกเรื่องหนึ่งคือผู้เล่นมักฉลองการยิงประตูโดยการถกเสื้อขึ้นเพื่อแสดงทัศนะด้านการเมือง ศาสนา หรือคำคมส่วนตัว โดยพิมพ์ไว้บนเสื้อใน เป็นเหตุให้คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศออกกฎในปี ค.ศ. 2002 ห้ามมีการเขียนหรือโลโก้ใดบนเสื้อใน[73] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2004 ได้เพิ่มกฎห้ามผู้เล่นถอดเสื้อออกด้วย[74]

ชุดกีฬาฟุตบอลในตู้โชว์

เมื่อตลาดเสื้อกีฬาเติบโตอย่างมาก สโมสรชั้นนำได้รับรายได้จากการขายและมักมีการเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบโดยพิจารณาอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร ที่ตลาดชุดกีฬามีค่ามากกว่า 200 ล้านปอนด์[75] มีหลายสโมสรถูกฟ้องร้องเรื่องการกำหนดราคาของชุด ในปี ค.ศ. 2003 สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถูกปรับ 1.65 ล้านปอนด์จากสำนักงานการค้ายุติธรรม (Office of Fair Trading) [76] และเนื่องจากราคาชุดกีฬาที่สูงจึงทำให้แฟนฟุตบอลจำนวนมากซื้อของปลอม ที่นำเข้าจากประเทศอย่าง ประเทศไทยและมาเลเซีย[77] อย่างไรก็ตามแฟนฟุตบอลก็ยังซื้อเสื้อฟุตบอลที่มีหมายเลขและชื่อดาราฟุตบอล ที่ทำให้เกิดรายได้กับสโมสรอย่างมาก ใน 6 เดือนแรกหลังจากที่เดวิด เบคแคมย้ายไปยังสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริด สโมสรขายเสื้อที่มีชื่อเขาได้มากกว่า 1 ล้านตัว[78] ตลาดยังพัฒนาไปกว่านั้น เมื่อเสื้อที่นักฟุตบอลสวมในนัดต่าง ๆ ถูกนำมาวางขายในฐานะของสะสม เสื้อที่เปเล่ใส่ในนัดตัดสินของฟุตบอลโลก 1970 ได้รับการประมูลขายออกไปด้วยจำนวนเงินถึง 150,000 ปอนด์ ในปี ค.ศ. 2002[79]

การออกแบบชุดกีฬาที่พัฒนาไปอีกขั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 กับความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 2000 ฟุตบอลทีมชาติแคเมอรูนลงแข่งขันในแอฟริกาคัพออฟเนชันส์ที่ประเทศมาลี โดยเสื้อแขนกุด[80] แต่ต่อมาฟีฟ่าออกกฎห้ามใส่เสื้อแขนกุด[81] บริษัทผู้ผลิตชุดกีฬาพูมาได้เพิ่มแขนเสื้อโปร่งสีดำเพื่อให้ไม่ผิดกฎ แต่ต่อมาทีมก็ได้ใส่ชุดแบบเสื้อกล้ามด้านนอกสุด[71] ฟีฟ่าออกคำสั่งห้ามทีมใส่เสื้อนอกทับแต่ทีมก็ได้เพิกเฉยไป เป็นผลให้ทีมชาติแคเมอรูนถูกตัดคะแนน 6 คะแนน ในรอบคัดเลือกการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006[82] แต่ต่อมาได้กลับคำตัดสินหลังการอุทธรณ์[83] อีกชุดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือชุดแนบเนื้อที่ออกแบบให้กับฟุตบอลทีมชาติอิตาลีออกแบบโดยแคปพา ชุดดังกล่าวต่อมาสโมสรอื่นและทีมชาติอื่นนำมาทำตามภายหลัง[71]

อีกแฟชันหนึ่งในระยะเวลาสั้น ๆ คือที่โพกหัวสนูด ที่จบลงเมื่อคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศสั่งห้ามใช้ในปี ค.ศ. 2011 ด้วยเหตุที่อาจเกิดอันตรายขึ้นได้[84][85] คณะกรรมการฯ ยังสั่งห้ามใส่ฮิญาบในปี ค.ศ. 2007 แต่ประเด็นนี้ก็ถูกยกขึ้นมาอีกหลังได้รับความกดดันจากเจ้าชายอาลีแห่งจอร์แดน[86] ส่วนในฝรั่งเศส สหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสยังคงสั่งห้ามใส่ฮิญาบต่อไป[87]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง