ปราสาทพระวิหาร

ปราสาทพระวิหาร (เขมร: ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร; อังกฤษ: Temple of Preah Vihear)[1] เป็นปราสาทหินตามแบบศาสนาฮินดูที่ตั้งอยู่บริเวณทิวเขาพนมดงรัก (เขมร: ភ្នំដងរែក ภฺนํฎงแรก; "ภูเขาไม้คาน")[2] สูงจากระดับทะเลปานกลาง 657 เมตร ที่ตั้งของศาสนสถานแห่งนี้รู้จักกันในนาม เขาพระวิหาร (เขมร: ភ្នំព្រះវិហារ ภฺนํพฺระวิหาร)[3] ปราสาทพระวิหารนั้นตั้งอยู่ในจังหวัดพระวิหารของประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นทางขึ้นสู่ปราสาทที่สะดวกที่สุด[4]

ปราสาทพระวิหาร
บฺราสาทพฺระวิหาร
ปราสาทพระวิหาร
ศาสนา
เทพพระศิวะ
เทศกาลเทวสถาน
ที่ตั้ง
ที่ตั้งบนยอดเขาพระวิหาร ทิวเขาพนมดงรัก
ประเทศจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
ปราสาทพระวิหาร
ที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
พิกัดภูมิศาสตร์14°23′26″N 104°40′49″E / 14.39056°N 104.68028°E / 14.39056; 104.68028
สถาปัตยกรรม
ผู้สร้างพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
เสร็จสมบูรณ์คริสต์ศตวรรษที่ 11-12
จารึกK.383 K.380 K.381 K.382
ระดับความสูง525 m (1,722 ft)
เว็บไซต์
preahvihearauthority.gov.kh
ชื่อทางการปราสาทพระวิหาร
เกณฑ์พิจารณาวัฒนธรรม: (i)
อ้างอิง1224rev
ขึ้นทะเบียน2008 (สมัยที่ 32)
พื้นที่154.7 เฮกตาร์ (967 ไร่)
พื้นที่กันชน2,642.5 เฮกตาร์ (16,516 ไร่)

ปราสาทพระวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบเขมร สร้างตามแนวเหนือใต้ซึ่งผิดแปลกไปจากปราสาทขอมส่วนใหญ่ ไทยและกัมพูชามีประวัติพิพาทเหนือตัวปราสาทเป็นเวลานานแล้ว ใน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท (ดู คดีปราสาทพระวิหาร) และวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกในประเทศกัมพูชา[5]

ชื่อ

ปราสาทแห่งนี้มีชื่อเรียกเก่าสุดว่า "ภวาลัย" ตามรายงานของกรมวิชาการ และมีชื่ออื่น ได้แก่ "ศรีศิขรีศวร", "วีราศรม" และ "ตปัสวีนทราศรม"[6]

นามของปราสาทพระวิหารตามที่ปรากฏในศิลาจารึก คือ "ศีรศิขเรศวร" (ស្រីសិខៈ រិ ស្វារៈ)[7] ประกอบด้วย "ศีร" (ศรี หรือสิริ, เป็นคำนำหน้า) กับ "ศิขเรศวร" มาจาก "ศิขร" (ภูเขา) และ "อิศวร" (ผู้เป็นใหญ่ หรือหมายถึง พระอิศวร) แปลได้ว่า ผู้เป็นใหญ่หรือพระอิศวรแห่งภูเขา

เมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร"[8]

บางครั้ง ชาวกัมพูชาเรียกปราสาทว่า "พนมพระวิหาร" (ភ្នំព្រះវិហារ) ขณะที่ชาวไทยมักเรียกว่า "เขาพระวิหาร" และนับแต่ประมาณ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา มีการละคำว่า "เขา" ไว้ในชื่อเพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างตัวปราสาทและเนินเขาที่ตั้งปราสาท

ที่ประดิษฐาน

ปราสาทพระวิหารมองจากด้านบน (ทางฝั่งไทย)
แผนที่แสดงเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา (จุดสีเขียวแสดงตำแหน่งของปราสาทพระวิหาร)

ปราสาทพระวิหารประดิษฐานอยู่บนผาเป้ยตาดีของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ณ ละติจูดที่ 104 องศาตะวันออก 41 ลิปดา[9] ในอดีตก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำพิพากษา (คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505) ผาเป้ยตาดีอยู่ในเขตหมู่บ้านภูมิซร็อล ตำบลเสาธงชัย (เดิมขึ้นกับ ตำบลบึงมะลู) อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากอำเภอเมืองศรีสะเกษ 110 กิโลเมตร

และเมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษาในปี พ.ศ. 2505 นั้นเองจึงเป็นผลทำให้ปัจจุบันปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในจังหวัดพระวิหารของประเทศกัมพูชา อยู่ห่างจากปราสาทนครวัดในเมืองพระนคร ไป 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงพนมเปญไป 320 กิโลมตร

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่เคยชี้ขาดว่าเขตแดนไทย-กัมพูชาดังกล่าวมีเส้นอยู่ตรงจุดใด ศาลฯ ชี้ขาดเพียงว่า กัมพูชามีอธิปไตยทางดินแดนเหนือปราสาทพระวิหาร แต่ก็มีชาวไทยบางคนเข้าใจว่า ศาลฯ ชี้ขาดแต่ตัวปราสาทเท่านั้น ไม่รวมถึงอาณาบริเวณอันเป็นที่ประดิษฐานปราสาทแต่อย่างใด[10]

การเยี่ยมชม

ทางเข้าทางด้านหน้าตัวปราสาพระวิหาร

ในอดีตการเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารจะใช้ทางขึ้นจากฝั่งไทย โดยทางการไทยและทางการกัมพูชามีรายได้จากการท่องเที่ยวร่วมกัน แต่ปัจจุบันมีความตึงเครียดระหว่างแนวชายแดนประชาชนทั่วไปจึงไม่สามารถขึ้นไปชมประสาทจากทางประเทศไทยได้อีก กัมพูชาได้สร้างถนนคอนกรีตยาว 3 กิโลเมตรไต่เขาขึ้นไปยังปราสาทพระวิหารสำเร็จแล้ว และเป็นทางที่ประชาชนทั่วไปใช้ขึ้นไปชมปราสาทได้ในปัจจุบันผ่านทางประเทศกัมพูชา[11]

สถาปัตยกรรม

ทับหลังสลักภาพพระกฤษณะกำลังรบกับอรชุน ที่โคปุระแห่งที่ 3

ปราสาทพระวิหารมีลักษณะเป็นแบบศิลปะบันทายศรี ลักษณะบางส่วนคล้ายคลึงกับพระวิหารของปราสาทนครวัด รูปรอยแกะสลักบนปราสาทสันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย มีพระศิวะเป็นเทพสูงสุดของศาสนา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะที่ทรงประทับบนยอดเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลปราสาทพระวิหารจึงสร้างบนหน้าผาเป้ยตาดี ทำให้ปราสาทแห่งนี้เปรียบเหมือนการค่อย ๆ ก้าวไปสู่ที่ประทับของพระศิวะ ซึ่งแทนด้วย "ยอดเป้ยตาดี"[12] หากมองจากข้างล่างผาจะเห็นตัวปราสาทเหมือนวิมานสวรรค์ลอยอยู่บนฟากฟ้า[10] โดยมีแผ่นดินเขมรต่ำ (ขแมร์กรอม) ประหนึ่งมหาสมุทรรองรับอยู่เบื้องล่าง[12] ตัวปราสาทประกอบด้วยสถาปัตยกรรมต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ ปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระ อาคารรูปกากบาท วิหาร บรรณาลัย และบันไดนาคพร้อมทางเดิน[3]

ปราสาทพระวิหารมีลักษณะแผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก โดยจัดวางผังหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่น ๆ ซึ่งตามปกติมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อันเนื่องจากภูมิศาสตร์เป็นเครื่องกำหนดแล้ว ก็น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นบางประการที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนเขมรสูงในอดีต ตัวปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปราศจากบรรณาลัยขนาบเบื้องหน้า การวางผังที่กำหนดตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อสร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง วัสดุตัวปราสาทสร้างด้วยหินทรายและหินดาน โดยเทคนิคการก่อสร้างทำโดยนำก้อนศิลาทรายซึ่งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวางซ้อนกันขึ้นไปตามรูปผังที่กำหนดไว้ โดยอาศัยน้ำหนักของแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนกดทับกันเพียงอย่างเดียว มีส่วนยึดจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น[2]

ลักษณะสำคัญ

แผนผังของปราสาทพระวิหาร[13]

ปราสาทพระวิหารมีความยาว 800 เมตรตามแนวเหนือใต้ และส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาว และบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล[14]) แต่โครงสร้างปราสาทแห่งนี้ก็ยังแตกต่างอย่างมากจากสถาปัตยกรรมปราสาทหินของหินโดยทั่วไปที่พบในพระนคร เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้าตามคติความเชื่อของฮินดู

ปราสาทพระวิหารประกอบด้วยทางเดินและอาคารเรียงกัน ลานหินต่างระดับมีทั้งหมด 4 ระดับ ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู[13]) คั่นอยู่ 5 ชั้น (นับจากชั้นในออกมา ดังนั้นโคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) เป็นกลุ่มอาคารรูปกากบาท ซึ่งกรมศิลปากรเรียกว่า "มนเทียร"[15] ชั้นที่สำคัญ คือ โคปุระชั้นที่ 3 และ 4[16] โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว

บันไดหน้า

บันไดหน้า ทางขึ้นปราสาทพระวิหาร มองจากโคปุระชั้นที่ 5

บันไดด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา ช่วงแรกเป็นบันไดหิน กว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร จำนวน 162 ขั้น บางชั้นสกัดหินลงไปในพื้นหินของภูเขา สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้[13]) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์นั่ง ช่วงที่ 2 กว้าง 4 เมตร ยาว 27 เมตร มี 54 ขั้น มีฐานกระพักกว้าง 2.5 เมตร 7 คู่ มีรูปสิงห์นั่งตั้งอยู่ บันไดหน้าแบ่งออกเป็นสองช่วง โดยที่ตัวบันไดช่วงที่สองแคบกว่าช่วงแรก มีฐานสี่เหลี่ยมและสิงห์นั่งขนาดเล็กกว่าช่วงแรก[17]หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา นักศึกษาไทยได้ประท้วงคำตัดสินของศาลฯ และปิดทางขึ้นปราสาทที่อยู่ในเขตแดนไทย ทำให้ชาวกัมพูชาที่ต้องการขึ้นปราสาท จะต้องขึ้นทางช่องเขาแคบ ๆ สูงชันที่เรียกกันว่า "ช่องบันไดหัก"[10]

ลานนาคราช

ลานนาคราชหรือสะพานนาค อยู่ทางทิศใต้สุดบันไดหินด้านหน้า ปูด้วยแผ่นหินเรียบ มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร ขอบลานสร้างเป็นฐานเตี้ย ๆ บนฐานมี นาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว แผ่พังพานหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำตัวอยู่บนฐานทั้งสอง ทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชชูขึ้นเล็กน้อย นาคราชทั้งสองตัวมีลักษณะคล้ายงูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบปาปวน มีบันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 5 บันไดกว้าง 7 เมตร สูง 11.50 เมตร สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งรูปสิงห์[18]

โคปุระ ชั้นที่ 1

โคปุระชั้นที่ 1 ตั้งอยู่บนไหล่เขา มุมทั้งสี่ด้านของลานก่อเป็นขั้นบันไดมิให้พัง[19] สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสูง 1.8 เมตร บันไดหน้าประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง เสาโคปุระสูง 3.5 เมตร เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบ "กาบู" ปัจจุบันเหลือปั้นลมและประตูซุ้มที่ยังสมบรณ์อยู่เพียงด้านตะวันออกด้านเดียว หน้าจั่วจำหลักเป็นรูปเทพนั่งชันเขาเหนือเศียรเกียรติมุข หน้าบันเป็นรูปนาคราช 5 เศียร ข้างละ 1 ตัว หางไปประสานกันบนยอด[20]

บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 1 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน สูง 5 ขั้น ประมาณ 2 เมตร ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 1 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน ยาว 340 เมตรถึงไหล่เขา เป็นเส้นทางขึ้น-ลง ไปสู่ที่ราบประเทศกัมพูชา เรียกว่า "ช่องบันไดหัก" หรือ "ถนนบันไดหัก" ก่อนถึงโคปุระ ชั้นที่ 2 มีสระน้ำตั้งอยู่ทางตะวันออกสระหนึ่ง ชื่อว่า "สระทรง"[20]

สระสรง

สระสรงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 1 ไปโคปุระ ชั้นที่ 2 ห่างออกไป 12.40 เมตร จะพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16.80 เมตร ยาว 37.80 เมตร กรุด้วยท่อนหินเป็นชั้น ๆ มีลักษณะเป็นขั้นบันไดปากผายก้นสอบ

โคปุระ ชั้นที่ 2

โคปุระ ชั้นที่ 2 สร้างอยู่บนไหล่เขา มีเขื่อนหินกันพังตามริมไหล่เขา เป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียง ตั้งอยู่ ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก โคปุระชั้นที่ 2 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ยาว 39 เมตรจากตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 29.5 เมตรจากเหนือไปใต้

เป็นศิลปะสมัยหลังโคปุระ ชั้นที่ 1 คือ แคลง/บาปวน มุขหน้าแบ่งเป็น 2 คูหา ริมซุ้มประตูด้านนอกตั้งรูปสิงห์ มุขตะวันออกและตะวันตกแบ่งเป็น 3 คูหาริมซุ้มประตูด้านนอกตั้งรูปสิงห์ ห้องใหญ่แบ่งเป็น 5 คูหา มุขใต้แบ่งเป็น 2 คูหาหน้าบันเป็นภาพของการกวนเกษียณสมุทร ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทพระวิหาร"[21] ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช

จากซุ้มประตูด้านใต้มีบันไดทางไปโคปุระชั้นที่ 3 ยาว 148 เมตร กว้าง 11 เมตร คู่ไปกับขอบถนน เป็นคันหินถมดินให้น้ำไหลห่างไปจากโคปุระ ชั้นที่ 3 ทางตะวันออกมีสระรับน้ำ 2 สระ[22]

โคปุระ ชั้นที่ 3

ภาพวาดโคปุระที่ 3 โดยปามังติเอร์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส

โคปุระชั้นที่ 3 นั้นมีขนาดใหญ่สุด สมบูรณ์ที่สุด และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า บันไดกว้าง 3.6 เมตร สูง 6 เมตร สองข้างมีฐานตั้งรูปสิงห์นั่ง 5 กระพัก

  • มนเทียรกลาง มุขเหนือหน้าบันเป็นรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑ มุขตะวันออกและตะวันตกที่ผนังด้านเหนือมีซุ้มประตู 1 ซุ้มหน้าประตูมีรูปสิงห์นั่งตั้งอยู่ ห้องใหญ่มีหน้าต่างซีกเหนือ 6 ช่องซีกใต้ 2 ช่องมุขใต้หน้าบันเป็นรูปพระอิศวรบนหลังโคอุศุภราช
  • ห้องขนาบ ทั้งซ้ายและขวาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลางเป็นลานแบ่งเป็น 4 ห้อง ห้องตามขวางด้านหน้ายาว 35.5 เมตร กว้าง 7 เมตรผนังด้านลานมีหน้าต่าง 5 ช่อง ห้องตามยาวซ้ายและขวายาว 15 เมตร กว้าง 6 เมตร ห้องตามขวางด้านหลังยาว 40 เมตร กว้าง 8.5 เมตร ยกฐานสูง 2.4 เมตร ผนังด้านใต้มีหน้าต่าง 5 ช่อง มุขหน้ามีหน้าต่างข้างละ 3 ช่อง เข้าใจว่าบรรณาลัยนี้สร้างเพิ่มเติมภายหลังมนเทียรกลาง ที่ลานหน้าด้านตะวันออกมีปรางค์ศิลา 1 องค์ กว้าง 4 เมตร สูง 6 เมตร

จากโคปุระชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นไปสู่ถนนที่ยาว 34 เมตร มีเสานางเรียงปักรายข้างถนน ข้างละ 9 ต้น ถัดจากเสานางเรียงไปเป็นสะพานนาค 7 เศียร

โคปุระ ชั้นที่ 4

  • มนเทียรหน้า เป็นรูปกากบาท กว้าง 23 เมตร ยาว 23 เมตร มีมุขทั้ง 4 ทิศ ที่มุขเหนือและใต้มีช่องหน้าต่างมุขละ 2 ช่อง มุขตะวันออกและตกมีประตูหน้าหลังมุขละ 2 ประตู กับช่องหน้าต่างมุขละ 1 ช่อง ห้องใหญ่มีหน้าต่างที่ผนังด้านเหนือ 6 ช่อง ด้านใต้ 4 ช่อง ซุ้มประตูส่วนมากจะเป็นซากปรักหักพัง กรอบประตูห้องใหญ่มีจารึกอักษรขอมระบุบปีศักราชตกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตูและมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา
  • เฉลียงซ้ายและขวา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 32 เมตร ผนังด้านนอกทึบ ด้านในเปิดมีเสาราย 10 ต้น ที่สนามด้านหน้ามีภาพจำหลักตกหล่นอยู่หลายชิ้น เช่น รูปกษัตริย์กำลังหลั่งน้ำทักษิโณฑกแก่พราหมณ์
  • มนเทียรกลาง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 9 เมตร ยาว 13 เมตร มีมุขหน้าขนาด 8 x 5 เมตรมีหน้าต่างข้างละช่อง ตัวมนเทียรมีหน้าต่างข้างละ 3 ช่องกลางห้องมีเสาราย 2 แถว ๆ ละ 4 ต้น
  • บรรณาลัย (ห้องสมุด) ซ้ายและขวา อยู่ขนาบ 2 ข้างของมนเทียรกลาง กว้าง 6.5 เมตร ยาว 11 เมตร

โคปุระ ชั้นที่ 5

  • ระเบียงคด ด้านทิศเหนือยาว 22 เมตรกว้าง 5.5 เมตร มีผนังละ 3 ประตูที่ผนังด้านเหนือและใต้ด้านทิศตะวันออกและตก กว้าง 4 เมตร ยาว 52 เมตรผนังด้านนอกทำทึบ ผนังด้านในมีหน้าต่าง ข้างละ 20 ช่อง ด้านทิศใต้ ผนังด้านในมีหน้าต่าง 6 ช่อง ตรงกลางมีประตู
  • ปรางค์ประธาน มีวิหารเชื่อมต่ออยู่ทางทิศเหนือ มีฐานย่อมุม 3 ชั้น ชั้นแรกอยู่เสมอพื้นราบ ชั้นที่ 2 สูง 75 เซนติเมตร ทุกที่ ๆ ตรงกับประตูมีบันได 5 ขั้น กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร ตัวปรางค์ทรุดพังมาครึ่งองค์ เหลือเพียงราว 9 เมตร กว้าง 7 เมตร วิหารที่เชื่อมต่อ ฐานกว้าง 15 เมตร ยาว 17 เมตร สูง 1.5 เมตร มีประตูทั้ง 4 ทิศ บันไดตรงประตูทิศเหนือมี 3 ขั้น กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 1.5 เมตร ประตูทิศใต้เชื่อมกับปรางค์ มีหน้าต่างด้านตะวันออกและตก ด้านละ 1 ช่อง กลางวิหารมีแท่งหินรูปสี่เหลี่ยม 1 แท่น
  • มนเทียรตะวันออก กว้าง 16 เมตร ยาว 20.5 เมตรมีมุขด้านเหนือ, ใต้, ตะวันออกแต่ละมุขมีประตู 3 ประตู ภายในแบ่งเป็นห้อง ๆ
  • มนเทียรตะวันตก กว้าง 18.5 เมตร ยาว 20.5 เมตรมีมุขด้านเหนือ, ใต้, ตะวันตกแต่ละมุขมีประตู 3 ประตู

เป้ยตาดี

เป้ยตาดี มีเนื้อที่กว้าง 44 เมตร ยาว 50 เมตร "เป้ย" เป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผา หรือโพงผา ตามคำบอกเล่า ว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร ถ้าวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร ตรงชะง่อนผาเป้ยตาดี จะมีรอยสักฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่า "๑๑๘-สรรพสิทธิ" แต่ก่อนมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่ บริเวณผาเป้ยตาดี ในปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานส่วนรอยแกะสลักพระนามของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์นั้นปัจจุบันถูกกระเทาะทำลายไปแล้ว

ประวัติศาสตร์

ภูมิหลังทางสังคม

ปราสาทพระวิหารคือมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มิใช่ของประเทศหรือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับชนหลายเผ่าพันธุ์ และหลายคติความเชื่อ[23] ในอดีตนั้น เทือกเขาพนมดงรักเป็นสถานที่ติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างที่ราบสูงโคราชกับที่ราบเขมรต่ำ การสถาปนาปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนท้องถิ่นและผู้นับถือศาสนาฮินดูมีขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2[24]

ศิลาจารึกที่ปราสาทเขาพระวิหาร เรียกว่า “ศิลาจารึกศิวศักติ” หรือ “ศิลาจารึก K. ๓๘๒” สลักขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต ตัวอักษรเทวนาครี เป็นศิลาจารึกที่บอกเล่าเรื่องราวให้ทราบว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของ “ชาวกวย” หรือ “ชาวกูย” ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ในดินแดนอิสานประเทศมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนกระทั่งเข้าสู่ยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์สมัย “อาณาจักรฟูนัน” หรือ “อาณาจักรสุวรรณภูมิ” เรืองอำนาจขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน กษัตริย์ฟูนันได้สร้างปราสาทเทพบิดรไว้บนภูเขาพนมดงรัก มอบหมายให้ชาวพื้นเมืองรักษา

ตามจารึกศิวะสักติ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงกำหนดหลายพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภวาลัยแห่งเขาพระวิหาร เป็นเขตของเจ้าพื้นเมืองของตระกูลพระนางกัมพูชาลักษมี พระมเหสีของพระองค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศาสนสถานบนเขาพระวิหาร[25] ต่อมา พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โปรดให้สถาปนาพระภัทเรศวรแห่งลิงคปุระไว้ ณ ยอดเขาพระวิหารด้วย อันเป็นการให้ความสำคัญแก่เขาพระวิหารในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของบรรพบุรุษของชนชาติจามและขอม[26] นอกจากนี้ ยังทรงทำให้ปราสาทเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อ พิธีกรรมเกี่ยวกับบรรพบุรุษ และประเพณีสักการบูชาอันพ้องกับเทศกาลของเกษตรกร ความนิยมในการประกอบพิธีกรรมที่ปราสาทพระวิหารนำไปสู่การขยายตัวของชุมชนใกล้เคียง[27] ตามจารึกกล่าวไว้ว่าพระองค์ส่ง "ทิวากรบัณฑิต" มาบวงสรวงพระศิวะทุกปี นอกจากนี้ยังมีชุมชนโดยรอบที่พระมหากษัตริย์ทรงอุทิศไว้ให้รับใช้เทวสถาน ชุมชนที่มีชื่อในจารึกอย่างเช่น กุรุเกษตร, พะนุรทะนง เป็นต้น[12] ต่อมาปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ตาม"เอกสารประวัติกัมพุพงศ์ และองค์กรแห่งพระราชการ พร้อมทั้งพระประวัติของพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น"[28]

การก่อสร้าง

ปราสาทพระวิหารประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้นเมื่อนครหลวงของอาณาจักรขอมอยู่ใกล้ คือ ที่นครวัด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบบางประการในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี ตามหลักจารึกที่ค้บพบ 3 หลักคือ จารึกศิวะศักติ จารึกหมายเลข K380 และ K381 เชื่อว่าเริ่มก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1432-1443) และเป็นรูปร่างเมื่อในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ซึ่งสถาปนาศรีศิขเรศวร ในปี พ.ศ. 1436[12] แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (มีพระนามจารึกที่กรอบประตูโคปุระชั้นที่ 2 ว่า "สูรยวรรมเทวะ" และปีที่สร้างแล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ตามจารึกคือ พ.ศ. 1581[14]) และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ตามลำดับ[12] ปราสาทพระวิหารสร้างด้วยศิลาทรายซึ่งสกัดจากบริเวณเทือกเขาพนมดงรักนี้ และวัสดุก่อสร้างอื่น ได้แก่ อิฐเผาและ "ไดทะมะป้วก" (ดินเหนียวคล้ายหิน)[29] ปัจจุบันปราสาทหลงเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง แต่ทว่ายังมีอาคารปราสาทเหลืออยู่อีกหลายแห่ง[10]

กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร

คดีความ พ.ศ. 2502

"แผนที่ภาคผนวก 1" กำหนดเขตแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งจัดทำขึ้นอย่างผิดพลาดโดยลากเส้นผิดจากแนวสันปันน้ำซึ่งเป็นหลักสากล แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยระบุว่าการไม่คัดค้านความผิดพลาดดังกล่าวถือว่าทางการไทยยอมรับแผนที่นี้มาช้านานแล้ว

ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหารในสมัยปัจจุบันคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ขณะทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อิสาน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ"[30] ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม โดยมีความตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว[31]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ประเทศฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อประเทศเยอรมนี ทำให้แสนยานุภาพทางทหารลดลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสปฏิเสธและมีการเคลื่อนไหวทางทหาร ที่ทำให้เกิดสงครามพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้รับชัยชนะในการรบตลอด 22 วัน กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนจังหวัดไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองให้กับไทย ตาม อนุสัญญาโตเกียว[32] ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์ ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยต้องรักษาสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น และต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงตกลงคืนดินแดน 4 จังหวัดให้ฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง

ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501[14] และในปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน[14]

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3[33] และในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต ทั้งนี้คำตัดสินของศาลโลกนั้นเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ การจะนำคดีกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้นสามารถทำได้ถ้ามีหลักฐานใหม่และต้องทำภายในสิบปี

หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ปราสาทหินแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเพียงช่วงสั้น ๆ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ปีต่อมาก็ถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง จากนั้นก็เปิดอีกครั้งจากฝั่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา

แผนที่ในแถลงการณ์ร่วมไทย–กัมพูชา พ.ศ. 2551

เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548 กัมพูชาได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2549 วันที่ 30 มกราคม ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกที่ปารีสขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่เกี่ยวกับเขตกันชนของปราสาท และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับฝ่ายไทย[12] พ.ศ. 2550 กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง ขณะที่ไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม (transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป โดยให้ไทย-กัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะเพียงตัวปราสาทเท่านั้น โดยผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อ (i) เพียงข้อเดียว

ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นำประเด็นนี้มาโจมตีเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[34][35][36] เหตุการณ์นี้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในที่สุด

นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ใช้ปืนใหญ่ยิงปะทะกัน ซึ่งต่างก็โทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นฝ่ายเริ่มก่อน[37] วันที่ 5 กุมภาพันธ์ กัมพูชาได้ยื่นจดหมายถึงสหประชาชาติ ความว่า "พฤติการณ์ล่าสุดของทหารไทยได้ละเมิดข้อตกลงสันติภาพปารีส พ.ศ. 2534 กฎบัตรสหประชาชาติ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505"[38]

การตีความคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และในวันเดียวกัน ประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน[39] วันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลจึงสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวบางประการ

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวเนื่อง

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวเนื่องกับปราสาทพระวิหาร มีดังนี้

  • ภาพสลักบนหน้าผามออีแดง : เป็นภาพสลักนูนต่ำรูปเทพชายและหญิงในท่าเรียงกัน 3 องค์ และยังมีส่วนที่สลักไม่เสร็จ
  • สถูปคู่ : เป็นสถูปคู่ 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย เป็นแท่งสี่เหลี่ยม สูง 4.2 เมตร ยอดมน ข้างในมีโพรงบรรจุสิ่งของ
  • สระตราว : สระน้ำขนาดใหญ่ คาดว่ามีสถานะเทียบเท่าบาราย (แหล่งเก็บน้ำในอารยธรรมขอม มักสร้างใกล้ปราสาทหิน) บริเวณใกล้เคียงพบร่องรอยการตัดหินเพื่อนำไปสร้างปราสาท[12]

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • ธิดา สาระยา. (2552). ปราสาท (เขา) พระวิหาร. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. ISBN 978-974-7385-26-7.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ

14°23′46″N 104°40′49″E / 14.39611°N 104.68028°E / 14.39611; 104.68028{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง