เบน เฟียริงคา

เบร์นาร์ท ลือคัส "เบน" เฟียริงคา (ดัตช์: Bernard Lucas "Ben" Feringa; เสียงอ่านภาษาดัตช์: [ˈbɛrnɑrt ˈlykɑs ˈbɛn ˈfeːrɪŋɣaː]) เป็นนักเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ชาวดัตช์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนาโนเทคโนโลยีระดับโมเลกุลและตัวเร่งปฏิกิริยาเอกพันธุ์ เฟียริงคาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณยาโกบึส วันต์โฮฟฟ์ด้านวิทยาศาสตร์เชิงโมเลกุล[2][3]ประจำสถาบันเคมีสตราติง[4] มหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นสมาชิกของราชสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์[5] เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 2016 ร่วมกับเซอร์ เจ. เฟรเซอร์ สตอดดาร์ตและฌ็อง-ปีแยร์ โซวาฌจากผลงานด้านการออกแบบและสังเคราะห์จักรกลโมเลกุล[1][6]

เบน เฟียริงคา
ศาสตราจารย์เฟียริงคาใน ค.ศ. 2017
เกิดเบร์นาร์ท ลือคัส เฟียริงคา
(1951-05-18) 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1951 (72 ปี)
จังหวัดเดรนเทอ ประเทศเนเธอร์แลนด์
สัญชาติชาวดัตช์
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน
มีชื่อเสียงจากจักรกลโมเลกุล, ตัวเร่งปฏิกิริยาเอกพันธุ์, สเตอริโอเคมี, เคมีแสง
คู่สมรสBetty Feringa
รางวัลNobel Prize in Chemistry (2016)[1]Elf Stadttor (1997)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมีอินทรีย์
วัสดุศาสตร์
นาโนเทคโนโลยี
เคมีแสง
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน (1984–ปัจจุบัน)
รอยัลดัตช์เชลล์ (1979–1984)
วิทยานิพนธ์Asymmetric oxidation of phenols. Atropisomerism and optical activity (1978)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกHans Wijnberg [nl]
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงNathalie Katsonis
เว็บไซต์benferinga.com
เบร์นาร์ท เฟียริงคาที่งานแถลงข่าวรางวัลโนเบลในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ค.ศ. 2016

การทำงาน

เฟียริงคาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงินใน ค.ศ. 1974[7] และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันเดียวกันใน ค.ศ. 1978 จากวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการออกซิเดชันสารประกอบกลุ่มฟีนอลแบบอสมมาตร[8] จากนั้นจึงเข้าทำงานที่บริษัทเชลล์ในเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรก่อนจะเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโกรนิงเงินใน ค.ศ. 1984 ก่อนจะเลื่อนขึ้นเป็นศาสตราจารย์ในสี่ปีถัดมา งานช่วงแรกของเฟียริงคาเน้นไปที่ตัวเร่งปฏิกิริยาเอกพันธุ์และปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยสนใจสเตอริโอเคมีของปฏิกิริยาเป็นพิเศษ[9] งานด้านสเตอริโอเคมีของเฟียริงคาทำให้เขามีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับเคมีแสงในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งทำให้เขาค้นพบมอเตอร์ระดับโมเลกุลที่หมุนทิศทางเดียวและควบคุมด้วยแสงเป็นครั้งแรก[10] ก่อนจะสังเคราะห์ "นาโนคาร์" หรือรถยนต์ที่มีขนาดระดับโมเลกุลที่ขับเคลื่อนโดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้น[11] เฟียริงคาจดสิทธิบัตรกว่า 30 ฉบับ ตีพิมพ์งานวิจัยทางวิชาการกว่า 650 ฉบับและถูกนำไปอ้างอิงรวมกว่า 30,000 ครั้ง[12] และเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอกมากกว่า 100 คน[13]

เกียรติประวัติ

สมาคมเชิงวิชาการหลายแห่งทั้งในและนอกประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับเฟียริงคาเข้าเป็นสมาชิก โดยใน ค.ศ. 1998 เฟียริงคาได้รับเลือกให้เป็นภาคีสมาชิกของราชสมาคมเคมี (FRSC; Fellow of the Royal Society of Chemistry) สหราชอาณาจักร ต่อมาใน ค.ศ. 2004 เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ชาวต่างชาติของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Sciences) หลังจากนั้นเขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของราชสมาคมศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ (Royal Netherlands Academy of Arts and Sciences) ใน ค.ศ. 2006[14] และดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์วิชาการ (Academy Professor) ในสถาบันเดียวกันใน ค.ศ. 2008 นอกจากนี้ เฟียริงคายังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมเคมีแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ (Royal Netherlands Chemical Society)[15] ใน ค.ศ. 2016 และสมาชิกชาวต่างชาติของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐในเดือนเมษายน ค.ศ. 2019[16]

นอกเหนือจากสมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ แล้ว เฟียริงคายังได้รับรางวัลอีกหลายรายการจากผลงานวิจัยของเขา[17][18][19][20][21][22] และร่วมเขียนบทความทบทวนวรรณกรรมในวารสารต่าง ๆ และเขียนบางบทในตำราวิชาการด้วย[23] เฟียริงคาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 2016 ร่วมกับเซอร์ เจ. เฟรเซอร์ สตอดดาร์ตและฌ็อง-ปีแยร์ โซวาฌจากผลงานด้วยจักรกลโมเลกุล[1] ก่อนหน้านั้นเฟียริงคาก็ได้รับความคาดหมายว่าน่าจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ซีรีส์แอนิเมชันซิตคอม เดอะซิมป์สันส์ ตอนหนึ่งใน ค.ศ. 2010 มีฉากที่ตัวละครทายว่าใครจะได้รับรางวัลโนเบล และตัวละครหนึ่งเขียนทายว่าเฟียริงคาจะได้รับรางวัลในสาขาเคมี[24]

เฟียริงคาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตเนเธอร์แลนด์ชั้นเบญจมาภรณ์ (Knight) ใน ค.ศ. 2008 จากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์[25] และชั้นตริตาภรณ์จากสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016[26] นอกจากนี้เขายังได้รับสถานะ "พลเมืองกิตติมศักดิ์" จากสภาเมืองโกรนิงเงิน[27] ถนนสายหนึ่งในบ้านเกิดของเขาได้รับชื่อว่า Prof. Dr. B. L. Feringadam[28]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง