เส้นทางธารน้ำตา

เส้นทางธารน้ำตา (อังกฤษ: Trail of Tears) หมายถึงการบังคับการโยกย้ายถิ่นฐานของชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาที่รวมทั้งเชอโรคี, ชอคทอว์และอื่นจากดินแดนบ้านเกิดไปตั้งถิ่นฐานยังเขตสงวนอินเดียน (Indian Territory) ใหม่ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาที่ในปัจจุบันคือโอคลาโฮมา “เส้นทางธารน้ำตา” มาจากคำบรรยายการโยกย้ายของชาติชอคทอว์ (Choctaw Nation) ในปี ค.ศ. 1831[1] ชนพื้นเมืองอเมริกันที่โยกย้ายต้องเผชิญกับสภาวะอากาศ เชื้อโรค และความอดอยากระหว่างการเดินทางไปยังจุดหมาย อันเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ที่รวมทั้งจำนวน 4,000 คนของจำนวน 15,000 คนของเชอโรคีที่ต้องย้ายถิ่นฐาน[2]

แผนที่ “เส้นทางธารน้ำตา”

ในปี ค.ศ. 1831 เชอโรคี, ชิคาซอว์, ชอคทอว์, มัสคีกี (ครีค) และ เซมินโอเล (Seminole) (บางครั้งรวมกันเรียกว่าเผ่าวัฒนธรรมห้าเผ่า (Five Civilized Tribes)) ตั้งถิ่นฐานเป็นชาติอิสระในบริเวณที่เรียกว่าดีพเซาธ์ (Deep South) ของสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (เสนอโดยจอร์จ วอชิงตัน และ เฮนรี น็อกซ์) ได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลายขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเชอโรคีและชอคทอว์[3] แอนดรูว์ แจ็คสันเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีการโยกย้ายชาวพื้นเมืองอเมริกันตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian Removal Act of 1830) ในปี ค.ศ. 1831 ชอคทอว์เป็นชนกลุ่มแรกที่ถูกโยกย้ายและกลายเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการโยกย้ายกลุ่มอื่นๆ ต่อมา หลังจากชอคทอว์เซมินโอเลก็เป็นกลุ่มต่อมาที่ถูกโยกย้ายในปี ค.ศ. 1832, มัสคีกี (ครีค)ในปี ค.ศ. 1834, ชิคาซอว์ในปี ค.ศ. 1837 และ เชอโรคีในปี ค.ศ. 1838[ต้องการอ้างอิง] เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1837 ชาวพื้นเมืองอเมริกัน 46,000 ก็ถูกโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมทางตอนใต้ที่ทำให้ที่ดินทั้งหมด 25 ล้านเอเคอร์กลายเป็นดินแดนสำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปที่เข้ามาใหม่[4]

การโยกย้ายโดยความสมัครใจของชอคทอว์

ค.ศ. 1832 ฮาร์คินส์ผู้มีอายุเพียง 22 ปีเขียน “จดหมายลาต่อพลเมืองอเมริกัน” (Farewell Letter to the American People)

ชาติชอคทอว์เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐแอละแบมา, มิสซิสซิปปี และ ลุยเซียนา หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาฉบับต่างๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1801 แล้วชอคทอว์ก็เหลือดินแดนที่เป็นของตนเองอยู่เพียง 45,000 ตารางกิโลเมตร สนธิสัญญาลำธารแดนซิงแรบบิทยกดินแดนที่เหลือทั้งหมดให้แก่สหรัฐอเมริกา และได้รับการอนุมัติเมื่อต้นปี ค.ศ. 1831 การโยกย้ายชอคทอว์ออกจากดินแดนเดิมเพิ่งมาตกลงกันหลังจากที่ได้ทำการตกลงกันในข้อที่ว่าทางรัฐบาลสหรัฐจะอนุญาตให้ชอคทอว์ยังคงอยู่ในดินแดนได้ จอร์จ ดับเบิลยู. ฮาร์คินส์ผู้นำของชนเผ่าชอคทอว์คนสำคัญเขียนจดหมายถึงพลเมืองอเมริกันก่อนที่จะได้มีการดำเนินการโยกย้ายว่า:

การเขียนจดหมายถึงท่านทั้งหลายที่เป็นชาวอเมริกันเป็นการกระทำที่ทำให้ข้าพเจ้าออกจะหวั่นวิตก เพราะข้าพเจ้าทราบถึงความสามารถอันไม่ถึงขั้นของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านผู้มีความรู้ความเชื่อมั่นก็คงจะไม่ยินดีที่จะได้รับจดหมายจากชอคทอว์ แต่เมื่อพิจารณาถึงการที่จะถูกโยกย้ายไปทางตะวันตกของมิสซิสซิปปีในฤดูใบไม้ร่วงที่จะมาถึงแล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่าเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะเขียนจดหมายมาร่ำลาเพื่อแสดงความคิดเห็นของข้าพเจ้า และความคิดเห็นเกี่ยวกับการถูกโยกย้ายของข้าพเจ้า ...พวกข้าพเจ้าชาวชอคทอว์พอใจที่จะทนทุกข์และดำรงตนเป็นอิสระ มากกว่าที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลอันทำให้หมดความนับถือตนเองของกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่รับฟังเสียงของพวกข้าพเจ้า - จอร์จ ดับเบิลยู. ฮาร์คินส์, จอร์จ ดับเบิลยู. ฮาร์คินส์ถึงชาวอเมริกัน[5]

รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของสหรัฐอเมริกาหลุยส์ แคสส์แต่งตั้งให้จอร์จ เกนส์เป็นผู้บริหารการโยกย้าย เกนส์แบ่งการโยกย้ายออเป็นสามช่วงๆ แรกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1831 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1833 การย้ายกลุ่มแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 โดยผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานกลุ่มต่างๆ เดินทางมาพบกันที่เมมฟิสและวิคส์เบิร์ก ฤดูหนาวอันทารุณทำให้ผู้อพยพต้องเผชิญกับน้ำท่วม, แผ่นน้ำแข็ง และหิมะ การโยกย้ายเริ่มด้วยการใช้เกวียน เมื่อมาประสบกับน้ำท่วมก็ทำให้ใช้เกวียนเป็นไปไม่ได้ เมื่ออาหารเริ่มร่อยหรอลงชาวเมืองเมมฟิสและวิคส์เบิร์กก็เริ่มมีความกังวล การขนย้ายจึงเปลี่ยนไปเป็นการใช้เรือไอน้ำห้าลำ เพื่อนำผู้ถูกย้ายไปยังที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อยู่ริมน้ำ กลุ่มจากเมมฟิสเดินทางขึ้นไปยังอาร์คันซอ ราว 97 กิโลเมตรยังอาร์คันซอโพสต์ เมื่อไปถึงอุณภูมิก็ลดต่ำลงกว่าศูนย์องศาเป็นเวลาเกือบหนึ่งอาทิตย์แม้น้ำก็กลายเป็นน้ำแข็งซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ทันที ขณะเดียวกันอาหารก็ร่อยหรอลงทุกขณะ จนต้องมีการปันส่วนแต่ละส่วนก็ประกอบด้วยข้าวโพดต้ม, หัวเทอร์นิพหนึ่งหัว และน้ำร้อนสองถ้วยต่อวัน รัฐบาลส่งเกวียนสี่สิบเล่มไปยังอาร์คันซอโพสต์เพื่อขนย้ายผู้อพยพต่อไปยังลิตเติล ร็อค เมื่อไปถึงหัวหน้าของชอคทอว์ก็กล่าวต่อผู้สัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์อาร์คันซอกาเซ็ตต์ว่าการโยกย้ายเป็น “เส้นทางแห่งน้ำตาและความตาย” (trail of tears and death)[6] ส่วนกลุ่มที่มาพบกันที่วิคส์เบิร์กถูกนำทางโดยผู้นำทางผู้ไม่มีความสามารถที่เดินทางหายกันไปในบริเวณหนองน้ำของทะเลสาบโพรวิเดนซ์

อเล็กซิส เดอ โทเคอวิลล์นักปรัชญาการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

อเล็กซิส เดอ โทเคอวิลล์นักปรัชญาการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เห็นเหตุการณ์การโยกย้ายชาติชอคทอว์ขณะที่อยู่ที่เมมฟิสในปี ค.ศ. 1831 บันทึกไว้ว่า:

ภาพของการโยกย้ายเต็มไปด้วยบรรยากาศของการทำลายและความเสื่อมโทรม ซึ่งขัดกับความรู้สึกว่าควรจะเป็นการร่ำลาอันหวนกลับมามิได้; ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ไม่สามารถดูได้โดยปราศจากความรู้สึกที่รันทด ชาวอินเดียนดูสงบ แต่เงียบขรึมและเศร้าสร้อย ชาวอินเดียนคนหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ตอบคำถามถึงสาเหตุที่ชอคทอว์ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน “เพื่อความเป็นอิสระ” เป็นคำตอบที่ไม่ต้องมีคำตอบอื่นใดมากไปกว่านั้น เราเป็นพยาน เรา...เป็นพยานในการขับไล่...ชาวอเมริกันอินเดียนผู้มีศักดิ์ศรีและมีอารยธรรมอันยืนนาน - อเล็กซิส เดอ โทเคอวิลล์, Democracy in America[7]

ชอคทอว์เกือบ 17,000 คนย้ายไปยังเขตสงวนอินเดียนและต่อมาโอคลาโฮมา[8] ผู้ที่ถูกโยกย้ายระหว่าง 2,500-6,000 คนเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง แต่หลังจากการอพยพครั้งแรกก็ยังมีชาวชอคทอว์อีกราว 5,000-6,000 คนที่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ในมิสซิสซิปปีในปี ค.ศ. 1831[9][10] แต่ชอคทอว์ผู้ที่ยังอยู่ในมิสซิสซิปปีก็ต้องประสบกับปัญหาทางกฎหมาย, การถูกข่มเหงน้ำใจ และ การรังควาน “รั้วและบ้านช่องของเราถูกรื้อถูกเผา, วัวถูกเอามาเลี้ยงในทุ่งของเรา และเราเองก็ถูกกลั่นแกล้ง, จับใส่โซ่ตรวน และทำร้าย จนกระทั่งคนดีๆ ของเราเสียชีวิตไปกันหลายคน”[10] ชอคทอว์ในมิสซิสซิปปีต่อมาก่อตั้งตัวเป็นกลุ่มชอคทอว์อินเดียนแห่งมิสซิสซิปปี (Mississippi Band of Choctaw Indians) และกลุ่มที่ถูกย้ายออกไปจากมิสซิสซิปปีเรียกตนเองว่าชาติชอคทอว์แห่งโอคลาโฮมา (Choctaw Nation of Oklahoma)

การต่อต้านการโยกย้ายของเซมินโอเล

นักรบเซมินโอเล Tuko-see-mathla, ค.ศ. 1834

สหรัฐอเมริกาซื้อฟลอริดาจากสเปนตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแอดัมส์-โอนิสและเป็นเจ้าของในปี ค.ศ. 1821 ในปี ค.ศ. 1832 เซมินโอเลก็ถูกเรียกมาประชุมที่เพนส์แลนดิง (Payne's Landing) บนฝั่งแม่น้ำโอคลาวาฮา (Ocklawaha River) ข้อตกลงในสนธิสัญญาระบุให้เซมินโอเลย้ายถิ่นฐานไปทางตะวันตกในเขตสงวนที่เป็นของเผ่ามัสคีกี (ครีค) และไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของเผ่านั้น แต่มัสคีกี (ครีค) ถือว่าชาวอินเดียนเซมินโอเลผู้ที่เดิมมีรากฐานมาจากชาวอินเดียนครีคด้วยกันเอง เป็นผู้ทรยศ (deserter) เพราะการที่เซมินโอเลแยกตัวไปเป็นอิสระจากมัสคีกี (ครีค) ก่อนหน้านั้น ชาวอินเดียนเซมินโอเลเองก็ไม่อยากจะย้ายไปทางตะวันตกเพราะเชื่อว่าถ้าไปแล้วก็คงจะต้องพบกับความตายที่จะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของกลุ่มมัสคีกี (ครีค) กลุ่มหลัก คณะหัวหน้าเผ่าเจ็ดคนของเซมินโอเลผู้มีหน้าที่เดินทางไปสำรวจเขตสงวนไม่ได้ออกจากฟลอริดาจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1832 หลังจากไปดูลาดเลาอยู่เป็นเวลาหลายเดือน และไปทำการพบปะกับชาวครีคอินเดียนผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นแล้ว หัวหน้าเผ่าเจ็ดคนของชาวอินเดียนเซมินโอเลก็ลงนามในข้อตกลงยอมรับดินแดนใหม่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1833 แต่เมื่อกลับมาถึงฟลอริดาหัวหน้าส่วนใหญ่ก็ประกาศไม่ยอมรับข้อตกลง โดยอ้างว่าไม่ได้ลงนามหรือถูกบังคับให้ลงนาม นอกจากนั้นก็ยังกล่าวว่าตนเองไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนทุกเผ่าทุกกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตสงวน แต่เซมินโอเลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านในบริเวณแม่น้ำอพาลาชิโคลาเป็นกลุ่มที่ง่ายต่อการหว่านล้อมให้โยกย้ายกว่าในบริเวณอื่น และทำการโยกย้ายไปในปี ค.ศ. 1834[11] เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1835 กลุ่มเซมินโอเลและทาสที่หนีมารุมโจมตีกองทหารสหรัฐที่เดินทางมาเพื่อทำการโยกย้าย ในจำนวนทหาร 110 นายมีเพียงสามนายเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเริ่มต้นสงครามเซมินโอเลครั้งที่สอง

เมื่อทราบว่าเซมินโอเลทำการต่อต้านการบังคับโยกย้าย ทางฟลอริดาก็เริ่มเตรียมตัวเข้าสงคราม กองทหารเซนต์ออกัสตินส่งเรื่องไปยังรัฐบาลกลางเพื่อขอยืมปืนคาบศิลา 500 กระบอกจากกระทรวงการสงครามแห่งสหรัฐอเมริกา และรวบรวมกองทหารอาสาสมัครได้ 500 คนภายใต้การนำของนายพลริชาร์ด เค. คอลล์ ทางฝ่ายอินเดียนก็เข้าโจมตีฟาร์ม และ เขตผู้ตั้งถิ่นฐานต่างๆ จนผู้คนต้องหนีเข้าไปอยู่ในค่าย, ตามเมืองใหญ่ หรือออกจากดินแดนฟลอริดาไปเลย นักรบฝ่ายอินเดียนนำโดย Osceola ยึดรถไฟเสบียงโดยการสังหารยามไปแปดคนและทำให้บาดเจ็บอีกหกคน แต่ฝ่ายกองทหารอาสาสมัครยึดคืนได้ภายในสองสามวันต่อมา ไร่อ้อยตามฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ลงมาจากเซนต์ออกัสตินถูกทำลาย และทาสจากไร่ก็หนีไปรวมตัวกับฝ่ายอินเดียน[12]

ผู้นำในการสงครามของฝ่ายอินเดียนเช่น Halleck Tustenuggee, จัมเพอร์ และ แบล็คเซมินโอเล เอบราฮัม และ จอห์น ฮอร์สก็ดำเนินการต่อต้านกองทัพสหรัฐต่อไป สงครามยุติลงในปี ค.ศ. 1842 หลังจากการต่อสู้กันอยู่สิบปี รัฐบาลสหรัฐประมาณว่าใช้เงินไปถึง $20,000,000 ในการทำสงครามครั้งนี้ซึ่งเป็นจำนวนเงินอันมหาศาลในสมัยนั้น ชาวอินเดียนถูกบังคับให้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นของครีคทางตะวันตกของมิสซิสซิปปี บางกลุ่มก็ถอยไปอยู่ในบริเวณเอเวอร์เกลดส์ (Everglades) ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐก็ยุติความพยายามที่จะปราบปรามชาวอินเดียนเซมินโอเลในบริเวณเอเวอร์เกลดส์ แต่ประชากรเซมินโอเลเองก็เหลืออยู่เพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยคน[13]

ความไม่พึงพอใจในการโยกย้ายของครีค

วิลเลียม แม็คคินทอช, ค.ศ. 1838

หลังจากสงครามในปี ค.ศ. 1812 ผู้นำของมัสคีกี (ครีค) เช่นวิลเลียม แม็คคินทอชก็ลงนามในสนธิสัญญายกดินแดนให้แก่จอร์เจียเพิ่มขึ้น การลงนามในสนธิสัญญาฟอร์ทแจ็คสัน ในปี ค.ศ. 1814 เป็นการยุติสงครามของชาติครีคและอินเดียนชาติอื่นทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา[14] ผู้นำของครีคที่เป็นมิตรดีต่อสหรัฐเช่นเซลอคทา และ บิ๊กวอร์ริเออร์ก็ทำการเจรจากับชาร์พไนฟ์ (สมญาที่ชาวอเมริกันอินเดียนเรียกประธานาธิบดีแอนดรู แจ็คสัน) และย้ำว่าพวกตนนั้นเป็นผู้รักมีสันติ แต่กระนั้นแจ็คสันก็ย้อนกลับไปว่าชาวอินเดียนก็มิได้ “เชือดคอเทคุมเซห์” เมื่อมีโอกาสฉะนั้นจึงสมควรแล้วที่จะต้องเสียดินแดนครีคให้แก่สหรัฐ นอกจากนั้นแล้วประธานาธิบดีแจ็คสันก็ยังละเลยข้อตกลงที่เก้าที่ระบุว่าจะฟื้นฟูอธิปไตยของชาติและชาวอินเดียน

แจ็คสันเปิดสมัยการประชุมสันติภาพช่วงแรก และแสดงความขอบใจอย่างเสียไม่ได้ต่อความช่วยเหลือของมัสคีกี (ครีค) จากนั้นก็หันไปยังเรดสติคส์และตักเตือนที่ไปเชื่อฟังคำแนะนำของสภาที่มีความประสงค์ร้าย แจ็คสันกล่าวว่าเพื่อเป็นการลงโทษ ชาติครีคทั้งหมดก็จะต้องจ่ายค่าเสียหาย[ให้แก่สหรัฐอเมริกา] แจ็คสันเรียกร้องให้สิ่งทดแทนจาก[มัสคีกี (ครีค)]ที่เป็นค่าเท่ากับที่รัฐบาลเสียไปกับการทำสงคราม ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับที่ดินจำนวน 23,000,000 เอเคอร์ (93,000 ตารางกิโลเมตร) - โรเบิร์ต วี. เรมินี, Andrew Jackson[14]

โอโพธเลยาโฮลา

ต่อมาสหพันธ์ครีคจึงออกกฎหมายว่าห้ามการยกที่ดิน และถือว่าเป็นอาชญากรรมที่มีโทษถึงตาย แต่กระนั้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1825 แม็คคินทอชและหัวหน้าเผ่าอื่นๆ ก็ไปลงนามในสนธิสัญญาอินเดียนสปริงส์ที่ยกดินแดนเกือบทั้งหมดที่เหลืออยู่ของครีคให้กับรัฐจอร์เจีย[15] หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาอนุมัติสนธิสัญญา แม็คคินทอชก็ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1825 โดยครีคที่นำโดยเมนาวา

สภาครีคแห่งชาติที่นำโดยโอโพธเลยาโฮลา (Opothleyahola) ประท้วงว่าสนธิสัญญาอินเดียนสปริงส์เป็นสนธิสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประธานาธิบดีจอห์น ควินซี แอดัมส์มีความเห็นอกเห็นใจ และในที่สุดสนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับการประกาศให้เป็นโมฆะ และมีการทำการตกลงกันใหม่ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาวอชิงตัน (ค.ศ. 1826)[16] นักประวัติศาสตร์อาร์. ดักกลาส เฮิร์ทบันทึกว่า: "ชาวครีคประสบกับความสำเร็จที่ไม่มีชาติอินเดียนอื่นใดเคยประสบมาก่อน — ในการสามารถทำให้สนธิสัญญาเป็นโมฆะได้"[17] แต่ผู้ว่ารัฐการของรัฐจอร์เจียก็มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาฉบับใหม่ และเริ่มดำเนินการโยกย้ายชาวอินเดียนตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาฉบับเดิม ในระยะแรกประธานาธิบดีจอห์น ควินซี แอดัมส์ก็พยายามเข้าแทรกแซงด้วยการส่งกองทหารจากรัฐบาลกลาง กองทหารก็ไปปะทะกับทหารอาสาสมัครของจอร์เจีย ประธานาธิบดีแอดัมส์จึงเรียกทหารกลับเพราะความเกรงเหตุกาณ์จะบานปลายไปเป็นสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีจอห์น ควินซีให้คำอธิบายต่อผู้ใกล้ชิดว่า “ชาวอินเดียนไม่ควรค่าต่อการเข้าสงคราม”

แม้ว่าชาวครีคอินเดียนจะถูกบังคับให้ย้ายออกจากจอร์เจีย พร้อมด้วยชาวครีคใต้ (Lower Creeks) ไปยังเขตสงวนอินเดียน แต่ก็ยังคงมีชาวครีคเหนือ (Upper Creeks) อีกราว 20,000 คนที่ยังคงอยู่ในแอละแบมา ทางฝ่ายรัฐบาลก็พยายามทุกวิถีทางที่จะยกเลิกรัฐบาลเผ่าของชาวอินเดียนและใช้กฎหมายของรัฐในการปกครองชาวครีค โอโพธเลยาโฮลาพยายามร้องของให้ประธานาธิบดีแจ็คสันช่วยพิทักษ์จากการกระทำของแอละแบมา แทนที่จะให้ความช่วยเหลือ ก็กลับทำการลงนามกันสนธิสัญญาฉบับใหม่สนธิสัญญาคูสเซตา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1832 ที่แบ่งดินแดนของครีคออกเป็นผืนย่อยลงไปอีก[18] ผลของสนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ชาวครีคมีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งคือขายที่ดินและรับเงินไปทำการโยกย้ายไปทางตะวันตก หรือยังคงตั้งหลักแหล่งอยู่ในแอละแบมาแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ ผู้เก็งกำไรที่ดินต่างก็เข้ามาหลอกลวงซื้อที่ดินจากชาวครีคกันขนานใหญ่ จนกระทั่งเกิดมีการปะทะกันและนำไปสู่ความขัดแย้งทำนองที่เรียกว่า “สงครามครีค ค.ศ. 1836” รัฐมนตรีกระทรวงสงครามหลุยส์ คาสส์ส่งนายพลวินฟิลด์ สกอตต์เพื่อทำการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยการบังคับโยกย้ายชาวครีคไปยังเขตสงวนอินเดียนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี

การโยกย้ายโดยการแลกเปลี่ยนกับเงินของชิคาซอว์

ชาวชิคาซอว์ไม่เหมือนกับชาวอินเดียนกลุ่มอื่นๆ ตรงที่เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนในการโยกย้ายถิ่นฐานไปยังดินแดนทางตะวันออกของมิสซิสซิปปี ในปี ค.ศ. 1836 ชิคาซอว์ทำการตกลงซื้อที่ดินของชอคทอว์ที่ถูกโยกย้ายออกไปหลังจากการเจรจาต่อรองอันลำบากยากเข็ญอยู่ห้าปี ชิคาซอว์จ่ายเงินจำนวน $530,000 สำหรับที่ดินทางตะวันตกสุดของชอคทอว์ ชิคาซอว์กลุ่มแรกทำการโยกย้ายในปี ค.ศ. 1837 โดยการนำของจอห์น เอ็ม. มิลลาร์ด โดยไปรวมตัวกันที่เมมฟิส, เทนเนสซีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1837 ขบวนผู้โยกย้ายนำข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างที่ติดตัวไปได้ที่รวมทั้งสมบัติต่างๆ, สัตว์เลี้ยง และทาส เมื่อข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีแล้วขบวนก็เดินตามเส้นทางที่ชอคทอว์ใช้ก่อนหน้านั้น เมื่อไปถึงเขตสงวนแล้วชิคาซอว์ก็รวมตัวกับชาติชอคทอว์ แต่หลังจากความขาดความไม่ไว้วางใจกันอยู่หลายสิบปีชาวชิคาซอว์ก็แยกตัวออกไปเป็นชาติอิสระขึ้นอีกครั้ง

การบังคับโยกย้ายชาวเชอโรคี

จอห์น รอสส์หัวหน้าคนสำคัญของเชอโรคี ราวปลายคริสต์ทศวรรษ 1800

ในปี ค.ศ. 1838 ชาติเชอโรคีก็ถูกบังคับให้โยกย้ายจากดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐไปยังเขตสงวนที่ในปัจจุบันคือโอคลาโฮมาทางตะวันตกของสหรัฐที่เป็นผลให้มีชาวเชอโรคีเสียชีวิตไปเป็นจำนวน 4,000 คน[19] ในภาษาเชอโรคีการเดินทางครั้งนี้เรียกว่า “Nunna daul Isunyi” หรือ “ทางน้ำตา” (ทางที่ทำให้ผู้เดินต้องร้องไห้) ทางน้ำตาของเชอโรคีเป็นผลของข้อตกลงในสนธิสัญญานิวอีโคตา (Treaty of New Echota) ซึ่งเป็นข้อตกลงภายใต้รัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian Removal Act) ของปี ค.ศ. 1830 สาระสำคัญของรัฐบัญญัติฉบับนี้คือการแลกเปลี่ยนดินแดนของชาวอเมริกันอินเดียนทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกากับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี แต่เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยผู้นำชาวอเมริกันอินเดียนที่ได้รับการเลือกตั้งมา หรือโดยชาวเชอโรคีส่วนใหญ่

ความตึงเครียดระหว่างจอร์เจียและกลุ่มชาติเชอโรคีกลายเป็นวิกฤติการณ์เมื่อมีการพบทองใกล้ Dahlonega ในจอร์เจียในปี ค.ศ. 1829 ที่เป็นผลทำให้เกิดเหตุการณ์การตื่นทองที่จอร์เจีย (Georgia Gold Rush) ซึ่งเป็นการตื่นทองครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่เก็งว่าจะขุดทองได้ต่างก็รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของเชอโรคีและสร้างความกดดันต่อรัฐบาลจอร์เจียให้ดำเนินการตาม “ข้อตกลง ค.ศ. 1802” (Compact of 1802) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีทอมัส เจฟเฟอร์สันกับรัฐจอร์เจีย ที่มีสาระสำคัญในการกำจัดกลุ่มชาติเชอโรคีออกจากจอร์เจีย

เมื่อรัฐจอร์เจียพยายามขยายอำนาจทางกฎหมายเข้าไปในดินแดนของเชอโรคีในปี ค.ศ. 1830 ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องขึ้นถึงศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) ในคดี “ชาติเชอโรคี v. จอร์เจีย” (Cherokee Nation v. Georgia) ศาลจอห์น มาร์แชลตัดสินว่าเชอโรคีมิใช่ชาติอธิปไตยและชาติเอกราช จึงไม่ยอมฟังกรณีที่ว่านี้ แต่ในคดี “วูสเตอร์ v. รัฐจอร์เจีย” (Worcester v. State of Georgia) ในปี ค.ศ. 1832 ศาลตัดสินว่ารัฐจอร์เจียไม่มีสิทธิที่จะใช้กฎหมายของรัฐในดินแดนของเชอโรคี เพราะรัฐบาลกลางเท่านั้น — ไม่ใช่รัฐบาลรัฐ — ที่จะมีสิทธิและอำนาจเกี่ยวกับกิจการที่เกี่ยวกับอินเดียน

จอห์น มาร์แชลให้คำตัดสินแล้ว; ก็ให้[มาร์แชล]บังคับใช้ไป! ... จุดไฟใต้[เชอโรคี]เข้าหน่อย พอร้อนเข้าพวกนี้ก็จะไปกันเองแหละ - แอนดรูว์ แจ็คสัน, ค.ศ. 1832, The Trail of Tears Across Missouri[20]

แจ็คสันอาจจะไม่ได้พูดประโยคนี้โดยตรง แต่ก็เป็นผู้ที่ดำเนินตามนโยบายดังกล่าวอย่างแน่วแน่ และไม่มีความตั้งใจแต่อย่างใดที่จะใช้อำนาจของรัฐบาลกลางในการพิทักษ์กลุ่มชนเผ่าเชอโรคีจากการกระทำของรัฐจอร์เจีย เพราะขณะนั้นแจ็คสันเองก็มีเรื่องพัวพันอยู่แล้วกับกรณีพิพาทระหว่างสิทธิการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของรัฐบาลกลางและสิทธิของรัฐ ที่มาเป็นที่รู้จักกันว่า “วิกฤติการณ์โมฆะ” (nullification crisis) นอกจากนั้นแล้วรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียนของปี ค.ศ. 1830 ก็ยังมอบอำนาจให้แจ็คสันในการเจรจาต่อรองในกรณีที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอินเดียน และการแลกเปลี่ยนดินแดนของอินเดียนทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกากับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี แจ็คสันใช้กรณีพิพาทกับจอร์เจียในการสร้างความกดดันต่อกลุ่มชาวเชอโรคีให้ยอมลงนามตกลงการโยกย้าย[21]

ภาพเหมือนของมาชา พาสคาลสตรีสาวชาวอินเดียน ปลายคริสต์ทศวรรษ 1800

แต่กระนั้นสนธิสัญญาที่ผ่านโดยรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาเพียงเสียงเดียวก็ได้รับการลงนามเป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีแจ็คสัน และมีผลบังคับใช้โดยประธานาธิบดีคนต่อมามาร์ติน แวน บิวเรน แวน บิวเรนอนุมัติกองทหารจำนวน 7,000 คนที่ประกอบด้วยทหารประจำการ, ทหารอาสาสมัคร และทหารรับจ้างภายใต้การนำของนายพลวินฟิลด์ สกอตต์แก่ จอร์เจีย, เทนเนสซี, นอร์ทแคโรไลนา และ แอละแบมา ในการทำการต้อนชาวเชอโรคีจำนวน 13,000 คนเข้าไปในค่ายกักกัน ของกระทรวงอินเดียนแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ไกลจากคลีฟแลนด์ ก่อนจะส่งตัวไปทางตะวันตก การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของชาวอินเดียนเกิดจากโรคติดต่อ, ความอดอยาก และ สภาวะอากาศอันหนาวเย็นภาพในค่าย บ้านเรือนที่เป็นของชาวอินเดียนถูกเผาถูกทำลาย, ทรัพย์สมบัติถูกบ่อนทำลายหรือปล้น ดินแดนที่เป็นฟาร์มที่เป็นของบรรพบุรุษมาเป็นชั่วคนก็ถูกแจกจ่ายให้กับผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวที่เข้ามาใหม่โดยการออกลอตเตอรี หลังจากการกวาดต้อนครั้งแรกแล้ว กองทัพสหรัฐก็ดำเนินการควบคุมการบังคับโยกย้ายไปจนกระทั่งชาวอินเดียนไปถึงที่หมายที่ระบุใว้ตามสนธิสัญญา[22]

พลทหารจอห์น จี. เบอร์เน็ตต์ต่อมาบรรยายเหตุการณ์ว่า

ชนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปจะอ่านและคงจะประณามพฤติกรรมดังกล่าว กระผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชนรุ่นหลังจะมีความเข้าใจว่าพลทหารเช่นกระผมและชาวเชอโรคีสี่คนที่ถูกบังคับโดยนายพลสกอตต์ให้ยิงหัวหน้าเผ่าและลูกๆ ของเขานั้น จำต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พวกกระผมไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ในกรณีที่ว่านี้[23] กระผมเองก็ได้ทำการต่อสู้ในสงครามระหว่างรัฐมาก่อน และได้เห็นผู้คนที่ถูกยิงถูกสังหารมาเป็นอันมากแล้ว แต่การบังคับโยกย้ายชาวเชอโรคีเป็นการกระทำอันทารุณที่สุดเท่าที่กระผมเองได้ประสบมา - นายทหารจอร์เจียผู้ร่วมในการบังคับโยกย้าย,[24]

ระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1838 ชาวเชอโรคีก็เริ่มเดินทางพันไมล์ด้วยเครื่องนุ่งห่มที่บางไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศอันหนาวเย็น โดยปราศจากรองเท้าหรือม็อคเคซิน การเดินทางโยกย้ายเริ่มขึ้นจากเรดเคลย์ในเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงทางตะวันออกสุดของชาติเชอโรคี ชาวเชอโรคีได้รับผ้าห่มจากโรงพยาบาลในเทนเนสซีที่ก่อนหน้านั้นเกิดการระบาดของโรคฝีดาษ ชาวอินเดียนจึงติดเชื้อโรคตามไปด้วย ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปในเมืองหรือหมู่บ้านตลอดทางที่เดินทางผ่าน และทำให้การเดินทางที่ไกลไปกว่าที่จำเป็นเพราะต้องเดินอ้อมเมืองไปแทนที่จะลัดตรงได้[25]

หลังจากที่ข้ามเทนเนสซีและเคนทักกี แล้วก็มาถึงกอลคอนดาในอิลลินอยส์เมื่อราววันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1838 ชาวอินเดียนแต่ละคนโดนเรียกเก็บค่าข้ามท่าโดย “เรือเบอร์รี” เป็นจำนวนหนึ่งเหรียญสหรัฐขณะที่ตามปกติแล้วราคาเพียงสิบสองเซ็นต์ และไม่ได้รับการอนุญาตให้ข้ามจนกระทั่งลูกค้าอื่นข้ามกันไปหมดแล้ว ชาวอินเดียนจึงต้องไปหลบกันอยู่ภายใต้ “แมนเทิลร็อค” ทางด้านเคนทักกีจนกระทั่ง “เบอร์รีไม่มีอะไรที่จะทำดีไปกว่านั้นแล้ว” จึงได้หันมาพาข้าม ชาวอินเดียนหลายคนเสียชีวิตไปกับการคอยเรือข้ามฟากที่ “แมนเทิลร็อค” และอีกหลายคนถูกสังหารโดยผู้คนในท้องถิ่น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็เมื่อฆาตกรหันไปยื่นเรื่องฟ้องรัฐบาลสหรัฐที่ศาลที่เมืองเวียนนาในรัฐอิลลินอยส์ เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าฝังอินเดียนที่ถูกฆาตกรรมหัวละ $35[25]

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม มาร์ติน เดวิส Commissary Agent สำหรับ Moses Daniel's detachment บันทึกว่า:

ปีนี้เป็นปีที่อากาศในอิลลินอยส์หนาวที่สุดตั้งแต่ได้ประสบมา ลำธารต่างก็กลายเป็นน้ำแข็งหนาถึงแปดถึงสิบสองนิ้ว เราจำต้องเจาะน้ำแข็งเพื่อที่หาน้ำสำหรับเราเองและสัตว์ดื่ม หิมะก็ตกทุกสองหรือสามวันอย่างช้าที่สุด ขณะนี้เราตั้งแค้มพ์ที่หนองน้ำมิสซิสซิปปีสี่ไมล์จากแม่น้ำ และดูท่าไม่มีท่าทางที่จะข้ามไปได้ เพราะน้ำแข็งขนาดและชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมากลอยลงมาตามกระแสน้ำจากทางเหนือทุกวัน เดือนที่แล้วเราเดินทางได้เพียง 65 ไมล์ รวมทั้งเวลาที่ใช้ ณ ที่นี้ด้วยซึ่งก็เป็นเวลาสามอาทิตย์ ขณะนี้เราจึงยังไม่ทราบว่าจะข้ามแม่น้ำได้หรือไม่....[26]

ลิเลียน โกรสส์ สตรีสาวเลือดผสมเชอโรคี ราว ค.ศ. 1906

ชาวเชอโรคีที่ถูกไล่ที่แรกเริ่มก็ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทาห์เลควาห์ในโอคลาโฮมา ความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่มีสาเหตุมาจากสนธิสัญญานิวอีโคตา และเส้นทางน้ำตาเป็นผลทำให้มีผู้นำของชาวอินเดียนที่ไปลงนามถูกลอบสังหารไปหลายคนที่รวมทั้งเมเจอร์ริดจ์, จอห์น ริดจ์ และ อีไลอัส บูดิโนต์ มีแต่แสตนด์ เวทีคนเดียวเท่านั้นที่รอดมาได้ ประชากรชาติเชอโรคีในที่สุดก็ฟื้นตัวจากเหตุการณ์ร้ายดังกล่าว และกลายมาเป็นชาวอเมริกันอินเดียนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา[27]

ในกรณีของการบังคับย้าย ก็มีข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นกับเชอโรคีราวหนึ่งร้อยคนที่หลบหนีจากทหารอเมริกัน และไปหากินในจอร์เจียและรัฐอื่นๆ ชาวเชอโรคีผู้อาศัยอยู่บนที่ดินที่เป็นของตนเอง (ไม่ใช่ที่ดินที่เป็นเจ้าของร่วมกันโดยหมู่ชน) ไม่อยู่ในข่ายของการถูกโยกย้าย ใน นอร์ทแคโรไลนาเชอโรคีราว 400 คนที่เรียกว่าเชอโรคี Oconaluftee ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกรตสโมคีเมาเทนที่เป็นของคนผิวขาวชื่อวิลเลียม ฮอลแลนด์ ทอมัส (ผู้ที่เชอโรคีเลี้ยงเป็นลูกมาตั้งแต่เด็ก) ก็ไม่อยู่ในข่ายของการถูกโยกย้าย นอกจากนั้นก็ยังมีเชอโรคีอีกราว 200 คนจากบริเวณนันทาฮาลาที่ได้รับการอนุญาตให้อยู่หลังจากที่ได้ช่วยกองทัพสหรัฐในการล่าตัวศาสดาซาลี (Tsali) ชาวเชอโรคีในนอร์ทแคโรไลนากลายมาเป็นกลุ่มชาติเชอโรคีตะวันออก (Eastern Band of Cherokee Indians)

อ้างอิง

บรรณานุกรม

เอกสาร

ภาพยนตร์สารคดี

  • The Trail of Tears: Cherokee Legacy (2006) -directed by Chip Richie; narated by James Earl Jones

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง