แนวเทียบ

แนวเทียบ (อังกฤษ: Analogy) เป็นกระบวนการคิดซึ่งเป็นการถ่ายโอนสารสนเทศหรือความหมายจากกรณีหนึ่ง (มโนทัศน์ต้นทาง) ไปสู่อีกกรณีหนึ่ง (มโนทัศน์ปลายทาง) การแสดงออกทางภาษาที่สอดคล้องกับกระบวนการดังกล่าวก็เช่นอุปมา หรืออุปลักษณ์ แนวเทียบในนิยามที่แคบลงคือการอนุมานหรือการให้เหตุผล (logical argument) จากกรณีเฉพาะกรณีหนึ่งไปหากรณีเฉพาะอีกกรณีหนึ่ง ต่างจากการนิรนัย การอุปนัย และการจารนัย ซึ่งข้อสรุปหรือข้อตั้งอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งเป็นกรณีทั่วไป คำว่าแนวเทียบยังสามารถหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ต้นทางกับปลายทางในรูปแบบของความคล้ายกัน (similarity (philosophy)) อย่างเช่นโครงสร้างกำเนิดต่างกันหรือความคล้ายโดยมีต้นกำเนิดต่างกันในวิชาชีววิทยา ต่อไปนี้เป็นการแสดงตัวอย่างความสัมพันธ์แบบแนวเทียบอย่างคร่าว ๆ:

แบบจำลองอะตอมของรัทเทอร์ฟอร์ด (ถูกปรับแต่งโดยนิลส์ โปร์) เป็นการเทียบอะตอมกับระบบสุริยะ
A คล้ายกับ B
B มีคุณสมบัติ C
ดังนั้น A ก็มีคุณสมบัติ C

แนวเทียบเป็นแนวคิดที่ใกล้เคียงกับการสัมพันธ์ การเปรียบเทียบ ความสมนัย โฮโมโลยีทางคณิตศาสตร์ (homology (mathematics)) และชีววิทยา (homology (biology)) สาทิสสัณฐาน (homomorphism) สมสัณฐาน (isomorphism) ความเป็นประติมา (iconicity) อุปลักษณ์ ความคล้ายคลึง และความเหมือน

แนวเทียบเป็นหัวข้อที่มีการศึกษาและถกเถียงถึงมาตั้งแต่ยุคสมัยคลาสสิกโดยนักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักเทววิทยา และนักกฎหมาย ในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ความสนใจในแนวเทียบถูกรื้อฟื้นขึ้นมาโดยเฉพาะในสาขาวิชาประชานศาสตร์

ความหมายของคำว่ามโนทัศน์ "ต้นทาง" และ "ปลายทาง"

คำว่า "ต้นทาง" และ "ปลายทาง" มีความหมายอยู่สองแบบขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่พูดถึง:

  • ความหมายเชิงตรรกะ วัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์พูดถึง ลูกศร การส่ง (map (mathematics)) สาทิสสัณฐาน หรือ สัณฐาน ซึ่งเริ่มจาก โดเมน ที่ซับซ้อน หรือมโนทัศน์ต้นทาง และจบที่ โคโดเมน ซึ่งปกติจะซับซ้อนน้อยกว่า หรือมโนทัศน์ปลายทาง/เป้าหมาย โดยคำเหล่านี้ใช้ในความหมายของทฤษฎีประเภท (category theory)
  • ความหมายในจิตวิทยาปริชาน (cognitive psychology) ทฤษฎีวรรณคดี (literary theory) และวิชาเฉพาะทางในสาขาปรัชญาซึ่งอยู่นอกวิชาตรรกศาสตร์ หมายถึงการถ่ายโยงจากประสบการณ์ที่คุ้นเคยกว่า หรือมโนทัศน์ต้นทาง ไปยังประสบการณ์ซึ่งประสบปัญหา หรือมโนทัศน์ปลายทาง/เป้าหมาย

ตัวแบบและทฤษฎี

อัตลักษณ์ของความสัมพันธ์

คำว่า αναλογια ในภาษากรีกซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า Analogy (แนวเทียบ) ในภาษาอังกฤษ แต่แรกนั้นหมายถึงสัดส่วน (proportionality (mathematics)) ในความหมายแบบคณิตศาสตร์ จากนั้นมาคำว่าแนวเทียบหมายถึงอัตลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างคู่อันดับคู่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเกี่ยวกับคณิตศาสตร์หรือไม่ หนังสือ Critique of Judgment ของคานต์ได้ยึดในความหมายนี้ คานต์อ้างว่ามีความสัมพันธ์ที่เหมือนกันอยู่ระหว่างวัตถุที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงสองอัน

แนวเทียบในความหมายนี้ถูกนำมาใช้ในการสอบเอสเอทีในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี "คำถามแนวเทียบ" ในรูป "A is to B as C is to what?" ตัวอย่างเช่น "Hand is to palm as foot is to ____?" (มือเป็นกับฝ่ามือ แบบที่เท้าเป็นกับ ____?) คำถามเหล่านี้ถูกถามในรูปแบบแอริสตอเติลคือ HAND : PALM : : FOOT : ____ ในขณะที่ผู้ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นจะสามารถให้คำตอบได้อย่างทันที (นั่นคือ sole หรือฝ่าเท้า) แต่หากต้องระบุและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคู่เช่น Hand และ Palm หรือ Foot และ Sole ก็จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า เพราะความสัมพันธ์นั้นไม่ปรากฏชัดในความหมายตามพจนานุกรม (lexical definition) ของคำว่า Palm หรือ Sole โดยคำแรกนั้นมีนิยามว่า พื้นผิวฝั่งด้านในของมือ และคำที่สองมีนิยามว่า พื้นผิวฝั่งด้านใต้ของเท้า แนวเทียบและการทำให้เป็นนามธรรมนั้นเป็นกระบวนการทางประชานที่ต่างกัน โดยแนวเทียบเป็นกระบวนการที่ง่ายกว่า แนวเทียบไม่ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติทั้งหมดของมือและเท้า แต่เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างมือและฝ่าของมือ และระหว่างเท้าและฝ่าของเท้า[1] แม้มือและเท้าจะแตกต่างกันในหลายแง่มุม แนวเทียบสนใจที่ความเหมือนกันนั่นคือทั้งสองมีพื้นผิวฝั่งด้านในเหมือนกัน คอมพิวเตอร์สามารถใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อตอบคำถามแนวเทียบแบบเลือกตอบจากข้อสอบเอสเอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับมนุษย์ ขั้นตอนวิธีนี้วัดความคล้ายกันของความสัมพันธ์ระหว่างคำแต่ละคู่ (นั่นคือ ความคล้ายระหว่างคู่ HAND:PALM และคู่ FOOT:SOLE) ผ่านการวิเคราะห์ข้อความจำนวนมาก โดยจะเลือกคำตอบที่มีความสัมพันธ์ที่คล้ายกันมากที่สุด[2]

ภาวะนามธรรมที่มีร่วมกัน

ในบางวัฒนธรรม ดวงอาทิตย์เป็นมโนทัศน์ต้นทางของแนวเทียบของพระเจ้า

นักปราชญ์ชาวกรีกอย่างเพลโตและแอริสตอเติลให้ความหมายของแนวเทียบที่กว้างกว่า พวกเขามองว่าแนวเทียบเป็นการมีภาวะนามธรรมร่วมกัน[3] วัตถุซึ่งเป็นแนวเทียบกันไม่ได้มีเพียงความสัมพันธ์ที่คล้ายกันเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นมโนทัศน์ รูปแบบ ความสม่ำเสมอ คุณลักษณะ ผลกระทบ หรือปรัชญาที่มีร่วมกันด้วย พวกเขายอมรับว่าสามารถใช้การเปรียบเทียบ อุปลักษณ์ และอุปมานิทัศน์ในการให้เหตุผลได้ และบางครั้งก็เรียกสิ่งเหล่าว่า แนวเทียบ แนวเทียบทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านั้นเข้าใจได้ง่ายขึ้น และทำให้ทุกคนกล้าที่จะใช้มัน

ในยุคกลางมีการสร้างทฤษฎีและการนำแนวเทียบมาใช้งานมากขึ้น นักกฎหมายชาวโรมได้นำการให้เหตุผลแบบแนวเทียบและคำว่า อะนะโลกิ้อา (ἀναλογῐ́ᾱ) จากภาษากรีกมาใช้ นักกฎหมายยุคกลางแยกแยะระหว่าง อะนะลอเกีย เลกิส (analogia legis) และ อะนะลอเกีย ยูริส (analogia iuris) (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) ในตรรกศาสตร์อิสลาม การให้เหตุผลแบบแนวเทียบถูกนำมาใช้ในกระบวนการกิยาส (qiyas) ในกฎหมายชะรีอะฮ์และนิติศาสตร์ฟีกฮ์ (fiqh) ในเทววิทยาคริสเตียน การให้เหตุผลแบบแนวเทียบถูกนำมาใช้อธิบายคุณลักษณะของพระเจ้า ทอมัส อไควนัส แยกคำออกเป็นสามชนิดคือคำเอกัตถะ หรือไม่กำกวม (Univocal) ยุคลัตถะ หรือกำกวม (Equivocal) และสมานัตถะ หรือเป็นแนวเทียบ (Analogous) โดยคำสมานัตถะหมายถึงคำอย่างเช่นคำว่า "วัว" ในประโยค "วันนี้มีวัวขายในตลาดเยอะแยะ" ซึ่งอาจมีความหมายที่ต่างกันแต่เกี่ยวข้องกัน โดยอาจหมายถึงวัวตัวเป็น ๆ หรือเนื้อวัว[4] (ซึ่งในปัจจุบันจะใช้การแบ่งชนิดเป็นคำพ้องรูปพ้องเสียง (homonymy) และคำหลายความหมาย (polysemy) แทน) โธมัส กาเยตาน (Thomas Cajetan) ได้เขียนบทความที่ทรงอิทธิพลซึ่งพูดถึงแนวเทียบ[5] ในทุกกรณีที่กล่าวมา แนวเทียบถูกใช้ในความหมายอย่างกว้างแบบเพลโตและแอริสตอเติล

หนังสือ Portraying Analogy พ.ศ. 2525 ของ เจมส์ ฟรานซิส รอสส์ (James Francis Ross) ซึ่งเป็นการพิจารณาหัวข้อของแนวเทียบเป็นครั้งแรกที่มีความสำคัญหลังจากบทความ De Nominum Analogia ของกาเยตาน ได้แสดงให้เห็นว่าแนวเทียบเป็นลักษณะเฉพาะสากลที่มีอยู่ในโครงสร้างของภาษาธรรมชาติ โดยมีคุณลักษณะที่ระบุได้และคล้ายกฎเกณฑ์แบบหนึ่งซึ่งอธิบายว่าความหมายของคำต่าง ๆ ในประโยคนั้นเกี่ยวข้องพึ่งพากันอย่างไร

กรณีเฉพาะของการอุปนัย

ในทางตรงกันข้าม อิบน์ ตัยมิยะฮ์ (Ibn Taymiyya)[6][7][8] ฟรานซิส เบคอน และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ในภายหลัง อ้างว่าแนวเทียบเป็นแค่กรณีเฉพาะของการอุปนัย[3] ในมุมมองนี้ แนวเทียบเป็นการอนุมานแบบอุปนัยจากคุณสมบัติที่มีร่วมกัน ไปหาคุณสมบัติอีกประการซึ่งอาจจะมีร่วมกัน ซึ่งคุณสมบัตินี้ต้องมาจากมโนทัศน์ต้นทางเท่านั้น ในรูปแบบดังต่อไปนี้:

ข้อตั้ง
a มีคุณสมบัติ C, D, E, F, G
b มีคุณสมบัติ C, D, E, F
ข้อสรุป
b อาจมีคุณสมบัติ G.

มุมองนี้ไม่ยอมรับว่าแนวเทียบเป็นวิธีการอนุมานหรือวิธีการคิดเป็นของตัวเอง และลดทอนมันเหลือเป็นเพียงการอุปนัยรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การมีการให้เหตุผลแบบแนวเทียบเป็นการให้เหตุผลของตัวเองยังคงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และมนุษยศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) ทำให้การลดทอนนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจในทางปรัชญา มากไปกว่านั้น การอุปนัยมีข้อสรุปเป็นกรณีทั่วไป แต่แนวเทียบมีข้อสรุปเป็นกรณีเฉพาะ

โครงสร้างที่มีร่วมกัน

ในการศึกษาปลาซีลาแคนท์ มีการใช้แนวเทียบจากปลาชนิดอื่น ๆ จำนวนมาก[3]

นักประชานศาสตร์ร่วมสมัยใช้นิยามของแนวเทียบแบบกว้างซึ่งใกล้เคียงกับความหมายแบบเพลโตและแอริสตอเติล แต่ถูกตีกรอบด้วยทฤษฎี structure mapping (การส่งโครงสร้าง) ของเกนต์เนอร์ (Dedre Gentner) หากอิงตามมุมมองนี้ แนวเทียบคือการส่งหรือการจับคู่ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ของมโนทัศน์ต้นทางและปลายทาง แต่ไม่ใช่ระหว่างวัตถุสองสิ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ และระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ ทฤษฎีนี้ถูกนำมาใช้และได้รับการยืนยันปริมาณหนึ่งในสาขาจิตวิทยา และประสบความสำเร็จพอสมควรในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) งานศึกษาบางงานขยายแนวทางนี้ไปใช้กับหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงเช่นเรื่องอุปลักษณ์และความคล้าย แนวคิดของการส่งระหว่างมโนทัศน์ต้นทางกับปลายทางแบบเดียวกันนี้ถูกใช้โดยนักทฤษฎีมโนอุปลักษณ์และการหลอมรวมมโนทัศน์ (conceptual blending)[9].

คีธ โฮลีโอก (Keith Holyoak) และ พอล ธาการ์ด (Paul Thagard) ได้พัฒนาทฤษฎี multiconstraint (หลากเงื่อนไขบังคับ) ขึ้นมาภายในทฤษฎี structure mapping พวกเขากล่าวป้องว่า "ความสอดคล้อง" (Coherence theories of truth) ของแนวเทียบอันหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับความสอดคล้องกันในแง่ของโครงสร้าง ความคล้ายกันทางความหมาย (semantic similarity) และจุดประสงค์ของมัน ความสอดคล้องกันเชิงโครงสร้างนั้นสูงที่สุดเมื่อแนวเทียบนั้นเป็นสมสัณฐาน (isomorphism) แต่ความสอดคล้องกันในระดับที่ต่ำลงมาก็ยังถือว่ายอมรับได้ ความคล้ายกันหมายความว่าการส่งจะต้องเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบและความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของมโนทัศน์ต้นทางและปลายทางที่คล้ายกันไม่ว่าอยู่ในภาวะนามธรรมระดับไหนก็ตาม ความคล้ายกันมีระดับสูงที่สุดเมื่อมีความสัมพันธ์แบบเดียวกันและองค์ประกอบที่ถูกเชื่อมโยงกันซึ่งมีคุณลักษณะที่เหมือนกันหลายประการ สุดท้ายในส่วนของจุดประสงค์ จุดประสงค์คือความสามารถที่แนวเทียบอันหนึ่งจะช่วยในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในมือ ทฤษฎี multiconstraint พบเจอกับปัญหาได้เมื่อเผชิญกับมโนทัศน์ต้นทางที่หลากหลาย แต่เป็นอุปสรรคที่สามารถก้าวข้ามได้[10][3] ต่อมาฮัมเมิลและโฮลีโอกสร้างแบบจำลองทฤษฎี multiconstraint ไว้เป็นโครงข่ายประสาท[11] ปัญหาหนึ่งของทฤษฎี multiconstraint เกิดขึ้นจากมโนทัศน์ของความคล้าย ซึ่งในแง่นี้ไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนออกจากแนวเทียบเสียเอง การนำไปประยุกต์ใช้ในคอมพิวเตอร์จึงทำให้จะต้องมีคุณลักษณะหรือความสัมพันธ์อันใดก็ตามซึ่งจำเป็นต้องเหมือนกันในภาวะนามธรรมระดับหนึ่ง แบบจำลองจึงถูกขยายต่อใน พ.ศ. 2551 ให้เรียนความสัมพันธ์จากตัวอย่างซึ่งไม่ถูกจัดโครงสร้าง[12]

ใน พ.ศ. 2531 มาร์ก คีน (Mark Keane) และ ไมก์ เบรย์ชอว์ (Mike Brayshaw) ได้พัฒนา Incremental Analogy Machine (เครื่องทำแนวเทียบแบบส่วนเพิ่ม) ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไขบังคับของหน่วยความจำใช้งาน รวมถึงเงื่อนไขบังคับทางโครงสร้าง ทางความหมาย และทางปฏิบัติ เพื่อเลือกเซตย่อยของมโนทัศน์ต้นทางและส่งจากต้นทางไปยังปลายทางอย่างเป็นลำดับ[13][14] หลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าลำดับการนำเสนอของข้อมูลส่งผลต่อประสิทธิภาพในการส่งเชิงแนวเทียบของมนุษย์[15]

ชาลเมอร์สและคณะอ้างว่าไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการรับรู้ขั้นสูงกับการคิดแบบแนวเทียบ และสรุปว่าแนวเทียบนั้นจริง ๆ แล้วเป็นการรับรู้ขั้นสูง และแนวเทียบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากการรับรู้ขั้นสูง แต่ยังเกิดขึ้นก่อนและในเวลาเดียวกันด้วย โดยการรับรู้ขั้นสูงคือกระบวนการแทนความรู้ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจชุดข้อมูลที่ซับซ้อนในระดับนามธรรมและแนวคิด โดยการคัดเลือกเอาข้อมูลที่สำคัญจากสิ่งเร้าต่าง ๆ การรับรู้จำเป็นต่อแนวเทียบ แต่แนวเทียบก็จำเป็นต่อการรับรู้ขั้นสูงด้วย[16] ในขณะที่ฟอร์บัสและคณะกล่าวว่าข้อสรุปของพวกเขานั้นเป็นแค่คำอุปมาและคลุมเครือเกินกว่าที่จะเป็นประโยชน์ในทางเทคนิค[17] มอร์ริสันและดีทริชอ้างว่ามุมมองทั้งสองที่กล่าวมานั้นไม่ใช่มุมมองที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่เป็นมุมมองของแต่ละแง่มุมของแนวเทียบ[18]

แนวเทียบกับความซับซ้อน

อ็องตวน กอร์นุแอฌอล[19] ได้เสนอว่าแนวเทียบอยู่บนหลักของความเรียบง่ายและความซับซ้อนในการคำนวณ

การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบคือการหาฟังก์ชัน f จากคู่ของ (x,f(x)) การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบตามตัวแบบมาตรฐานประกอบด้วย "วัตถุ" สองอย่าง คือ ต้นทาง และ ปลายทาง ปลายทางนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์และจำเป็นต้องใช้ต้นทางเพื่อสามารถอธิบายได้อย่างสมบูณณ์ โดยปลายทางประกอบด้วยส่วนที่มีอยู่คือ St และส่วนที่ขาดหายคือ Rt สมมุติว่าเราสามารถแยกสถานการณ์หนึ่งของต้นทางคือ Ss ซึ่งสอดคล้องกับของปลายทางคือ St กับผลลัพธ์ของต้นทางคือ Rs ซึ่งสอดคล้องกับของปลายทางคือ Rt ได้ เราต้องการหา Bt ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง St และ Rt ด้วย Bs ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง Ss และ Rs

หากรู้ทั้งต้นทางและปลายทางอย่างสมบูรณ์:

หลักการของความยาวการพรรณนาสั้นสุด (minimum description length) ได้รับการนำเสนอโดยริสซาเนน (Jorma Rissanen)[20] วอลเลซ (Chris Wallace (computer scientist)) และโบลตัน[21] โดยใช้ความซับซ้อนแบบคอลโมโกรอฟ (Kolmogorov complexity) หรือ K(x) ซึ่งมีนิยามเป็นคำอธิบายหรือพรรณนาของ x ที่มีขนาดเล็กที่สุด กับแนวทางการอุปนัยของโซโลโมนอฟฟ์ (Ray Solomonoff) หลักการนี้หมายถึงการทำให้ความซับซ้อนในการผลิตปลายทางจากต้นทางหรือ K(target | Source) มีขนาดเล็กที่สุด

ให้ Ms และ Mt เป็นทฤษฎีที่รู้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นโครงสร้างทางมโนทัศน์ที่อธิบายต้นทางและปลายทาง แนวเทียบระหว่างกรณีต้นทางและปลายทางที่ดีที่สุดจึงเป็นแนวเทียบที่ทำให้:

K(Ms) + K(Ss|Ms) + K(Bs|Ms) + K(Mt|Ms) + K(St|Mt) + K(Bt|Mt)       (1).

น้อยที่สุด

หากไม่รู้ปลายทางเลย:

ตัวแบบและคำอธิบายทั้งหมด Ms, Mt, Bs, Ss, และ St ที่ทำให้:

K(Ms) + K(Ss|Ms) + K(Bs|Ms) + K(Mt|Ms) + K(St|Mt)       (2)

น้อยที่สุด ก็เป็นตัวแบบและคำอธิบายที่จะทำให้ได้ความสัมพันธ์ Bt และจึงเป็น Rt ที่น่าพึงพอใจที่สุดสำหรับนิพจน์ (1)

สมมุติฐานเชิงแนวเทียบซึ่งหาแนวเทียบระหว่างกรณีต้นทางกับกรณีปลายทางจึงมีสองส่วนคือ:

  • แนวเทียบใช้ หลักของความเรียบง่าย เหมือนการอุปนัย แนวเทียบระหว่างทั้งสองกรณีที่ดีที่สุดคือแนวเทียบที่ทำให้ปริมาณสารสนเทศที่ต้องใช้เพื่อหาต้นทางจากปลายทางนั้นน้อยที่สุด (1) โดยตัวชี้วัดที่พื้นฐานที่สุดของมันคือทฤษฎีความซับซ้อนในการคำนวณ
  • เวลาหาหรือทำให้กรณีปลายทางสมบูรณ์ด้วยกรณีต้นทาง ตัวแปรที่จะทำให้ (2) น้อยที่สุดนั้นให้สมมุติว่าทำให้ (1) น้อยที่สุดด้วย และจึงให้คำตอบที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำทางประชาน อาจลดปริมาณของสารสนเทศที่ต้องใช้ในการตีความต้นทางและปลายทาง โดยไม่รวมราคาของการผลิตข้อมูลซ้ำ เขาอาจเลือกใช้นิพจน์ดังต่อไปนี้แทน (2)

K(Ms) + K(Bs|Ms) + K(Mt|Ms)

จิตวิทยาของแนวเทียบ

ทฤษฎี structure mapping

Structure mapping หรือการส่งโครงสร้าง ซึ่งถูกนำเสนอในเบื้องต้นโดย เดดรี เกนต์เนอร์ (Dedre Gentner) เป็นทฤษฎีในจิตวิทยาซึ่งอธิบายกระบวนการทางจิตที่ใช้ในการให้เหตุผลโดยและการเรียนรู้จากแนวเทียบ[9] ทฤษฎีนี้มุ่งอธิบายโดยเฉพาะ ว่าเหตุใดความรู้ที่เป็นที่รู้จักหรือความรู้เกี่ยวกับขอบเขตพื้นฐานนั้นจึงสามารถนำมาใช้ให้ข้อมูลต่อความเข้าใจของบุคคลหนึ่งในมโนทัศน์ที่ไม่คุ้นเคยหรือในขอบเขตเป้าหมายหรือปลายทางได้[22] หากอิงตามทฤษฎีนี้ บุคคลมองว่าความรู้ในขอบเขตหนึ่งของตัวเองเป็นโครงสร้างที่เชื่อมโยงระหว่างกัน[23] หรือพูดอีกแบบคือ ขอบเขตหนึ่งถูกมองว่าประกอบไปด้วยวัตถุ คุณสมบัติของวัตถุ และความสัมพันธ์ซึ่งแสดงถึงวิธีการที่วัตถุต่าง ๆ และคุณสมบัติของพวกมันปฏิสัมพันธ์กัน[24] กระบวนการแนวเทียบนั้นจึงเป็นการรู้จำโครงสร้างที่คล้ายกันระหว่างสองขอบเขต โดยอนุมานเพิ่มเติมความคล้ายกันภายในโครงสร้างผ่านการส่งความสัมพันธ์เพิ่มเติมระหว่างขอบเขตต้นทางและขอบเขตปลายทาง แล้วตรวจสอบการอนุมานเหล่านี้กับความรู้เกี่ยวกับขอบเขตปลายทางที่มีอยู่แล้ว[22][24] โดยทั่วไป ผู้คนนิยมแนวเทียบซึ่งมีความสมนัยหรือสอดคล้องกันในระดับสูงระหว่างระบบสองระบบ (นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างขอบเขตนั้นสอดคล้องกัน ไม่เพียงแค่วัตถุระหว่างขอบเขตนั้นสอดคล้องกันเท่านั้น) เมื่อพยายามอนุมานจากระบบเหล่านั้น นี่เป็นหลักการที่ชื่อว่าหลักการความเป็นระบบ (systematicity principle)

ตัวอย่างที่ถูกนำมาใช้แสดงทฤษฎี structure mapping ใช้ขอบเขตของน้ำไหล และไฟฟ้า[25] ในระบบของน้ำที่ไหลไปมา น้ำไหลไปตามท่อ และอัตราการไหลถูกกำหนดโดยความดันของระบบ ความสัมพันธ์นี้เป็นแนวเทียบกับการไหลของไฟฟ้าภายในวงจรไฟฟ้า ในวงจรหนึ่ง ไฟฟ้าเคลื่อนไปตามสายไฟและกระแสไฟฟ้า หรือก็คืออัตราการไหลของไฟฟ้า ซึ่งถูกกำหนดโดยแรงดันไฟฟ้า หรือความดันของไฟฟ้า ด้วยความคล้ายกันในโครงสร้าง หรือการวางแนวโครงสร้าง ระหว่างขอบเขตทั้งสอง ทฤษฎีการส่งโครงสร้างจะคาดว่าความสัมพันธ์จากขอบเขตหนึ่งในนี้จะถูกอนุมานไปหาอีกขอบเขตผ่านแนวเทียบ[24]

การวางแนวโครงสร้าง

การวางแนวโครงสร้างเป็นกระบวนการหนึ่งในทฤษฎี structure mapping[23] เวลาวางแนวระหว่างสองขอบเขตซึ่งถูกนำมาเปรียบเทียบ บุคคลหนึ่งจะพยายามระบุความคล้ายคลึงร่วมกันระหว่างทั้งสองระบบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในขณะเดียวกันก็จะคงความสอดคล้องกันหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างสมาชิกต่าง ๆ (นั่นคือ วัตถุ คุณสมบัติ และความสัมพันธ์)[23] ในตัวอย่างแนวเทียบระหว่างน้ำไหลและไฟฟ้า การเทียบท่อน้ำกับสายไฟแสดงถึงความสอดคล้องกันแบบหนึ่งต่อหนึ่งและไม่สอดคล้องกับสมาชิกอื่น ๆ ในแผงวงจร มากไปกว่านั้น การวางแนวโครงสร้างยังมีคุณสมบัติเป็นการเชื่อมต่อแบบขนาน นั่นหมายความว่า เมื่อมีการสอดคล้องกันแบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในทั้งสองระบบ (เช่นอัตราไหลของน้ำเพิ่มขึ้นเมื่อความดันเพิ่มขึ้น คล้ายกับเวลาที่กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเมื่อแรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้น) วัตถุและคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องย่อมสอดคล้องกันด้วย (นั่นคือ อัตราไหลของน้ำสอดคล้องกับกระแสไฟฟ้า และความดันของน้ำสอดคล้องกับแรงดันไฟฟ้า)[25]

การอนุมานโดยใช้แนวเทียบ

การอนุมานโดยใช้แนวเทียบเป็นกระบวนการที่สองในทฤษฎี structure mapping และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อจากการวางแนวโครงสร้างระหว่างสองขอบเขตที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ[24] ในกระบวนการนี้ บุคคลจะทำการอนุมานเกี่ยวกับขอบเขตเป้าหมายโดยใช้สารสนเทศจากขอบเขตพื้นฐานกับขอบเขตปลายทางนั้น[22] ตัวอย่างดังต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นถึงกระบวนการดังกล่าว[25] โดย 1 แสดงถึงข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตพื้นฐาน 2 แสดงถึงความสอดคล้องกันระหว่างขอบเขตพื้นฐานและปลายทาง และ 3 แสดงถึงการอนุมานเกี่ยวกับขอบเขตปลายทาง:

  1. ในระบบท่อน้ำ ท่อเล็กทำให้อัตราไหลของน้ำลดลง
  2. ท่อขนาดเล็กสอดคล้องกับตัวต้านทานในวงจรไฟฟ้า และน้ำสอดคล้องกับไฟฟ้า
  3. ในวงจรไฟฟ้า ตัวต้านทานทำให้อัตราไหลของไฟฟ้าลดลง

การประเมินผล

การประเมินผลเป็นกระบวนการที่สามในทฤษฎี structure mapping และเกิดขึ้นหลังการวางแนวโครงสร้างและการอนุมานเกี่ยวกับขอบเขตปลายทางสำเร็จ ระหว่างการประเมินผล บุคคลจะตัดสินว่าแนวเทียบที่ได้มานั้นเกี่ยวข้องและเป็นไปได้ไหม[24] กระบวนการนี้ถูกบรรยายว่าเป็นการแก้ปัญหาของการเลือกในแนวเทียบ[26] หรือการอธิบายว่าบุคคลหนึ่งเลือกการอนุมานมาใช้ส่งระหว่างขอบเขตพื้นฐานและปลายทางอย่างไร เพราะแนวเทียบจะไร้ประโยชน์หากจะอนุมานทุกอย่างที่อนุมานได้ เวลาประเมินแนวเทียบอันหนึ่ง บุคคลมักตัดสินมันด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้:  

  • ความถูกต้องเท็จจริง - เวลาประเมินการอนุมานหนึ่งว่าถูกหรือผิด บุคคลจะเปรียบเทียบการอนุมานนี้กับความรู้ที่มีอยู่แล้วของเขาเพื่อหาว่าการอนุมานนี้จริงหรือเท็จ[22] ในเหคุที่ไม่สามารถหาความถูกต้องได้ บุคคลอาจพิจารณาที่การนำมาใช้ได้ของการอนุมาน หรือความเรียบง่ายของการดัดแปลงความรู้เมื่อเคลื่อนย้ายมันจากขอบเขตพื้นฐานมาขอบเขตปลายทาง[24]
  • เป้าหมาย ความเกี่ยวข้อง - เวลาประเมินแนวเทียบ เป็นสิ่งสำคัญที่การอนุมานจะให้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตรงหน้า ตัวอย่างเช่น เวลาพยายามแก้ไขปัญหาหนึ่ง การอนุมานดังกล่าวนั้นทำให้เราเข้าใจและทำให้เราเข้าใกล้คำตอบขึ้นหรือไม่[22] หรือสร้างความรู้ใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์หรือไม่[26]

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ

ภาษา

ภาษาสามารถอำนวยการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบได้โดยการใช้ป้ายแสดงความสัมพันธ์เพื่อทดแทนความโปร่งใสในระดับต่ำ[27] ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ อาจมีปัญหาในการระบุโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกล่องแต่ละชุด (เช่น ชุดที่หนึ่ง: กล่องขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ชุดที่สอง: กล่องขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ) เด็กมักเชื่อมโยงกล่องขนาดกลางในชุดที่หนึ่ง (ซึ่งเป็นขนาดกลางในชุดนี้) กับกล่องขนาดกลางในชุดที่สอง (ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กที่สุดในชุดนี้) และไม่สามารถรับรู้ได้ว่าพวกเขาควรเชื่อมโยงกล่องที่เล็กที่สุดในชุดที่หนึ่งกับกล่องที่เล็กที่สุดในชุดที่สอง หลังจากติดป้ายแสดงความสัมพันธ์แล้ว เช่น 'baby' 'mommy' และ 'daddy' (พ่อ แม่ ลูก) ความสามารถของเด็กในการระบุความสัมพันธ์นี้ดีขึ้นกว่าเดิม[28]

เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ว่า ในขณะที่ภาษาอาจช่วยในการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ มันไม่ใช่สิ่งจำเป็น งานวิจัยได้พบว่าลิงที่มีความสามารถทางภาษาที่จำกัดสามารถให้เหตุผลได้โดยใช้ความสัมพันธ์ แต่นี่เกิดขึ้นเมื่อต้นทางและปลายทางนั้นวางแนวตรงกันในระดับสูงเท่านั้น[29]

ความโปร่งใส

ความคล้ายกันระหว่างวัตถุซึ่งถูกเชื่อมโยงกันส่งผลต่อการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ เมื่อความสอดคล้องเชิงวัตถุระหว่างระบบต้นทางกับปลายทางนั้นมีความคล้ายกันสูง นี่เรียกว่าการมีความโปร่งใสสูง ซึ่งช่วยในกระบวนการแนวเทียบ[24] ความโปร่งใสสูงเป็นประโยชน์ต่อการใช้แนวเทียบเพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหา[22] ตัวอย่างเช่น หากนักเรียนคนหนึ่งถูกถามให้คำนวณหาว่านักกอล์ฟแต่ละคนจะต้องใช้ลูกกอล์ฟกี่ลูกในการแข่งขันครั้งหนึ่ง เขาจะสามารถนำคำตอบนี้ไปประยุกต์ใช้กับปัญหาในอนาคตได้เมื่อวัตถุนั้นคล้ายกันมาก (เช่น การให้เหตุผลว่านักเทนนิสแต่ละคนจะต้องใช้ลูกเทนนิสกี่ลูก)[22]

ความสามารถในการประมวล

เพื่อที่จะกระทำกระบวนการทางแนวเทียบ บุคคลจะต้องใช้เวลาเพื่อทำงานผ่านกระบวนการวางแนว การอนุมาน และการประเมินผล หากมีเวลาไม่เพียงพอเพื่อทำการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบ บุคคลนั้นมีโอกาสที่จะสนใจในความสอดคล้องเชิงวัตถุระดับล่างระหว่างทั้งสองระบบ แทนที่จะระบุความสัมพันธ์ระดับสูงแบบแนวเทียบที่น่าจะให้ข้อมูลมากกว่า[24] ผลลัพธ์เดียวกันก็อาจเกิดขึ้นหากความจำเพื่อใช้งานของบุคคลหนึ่งมีภาระการใช้งานทางประชานสูงในขณะนั้น (เช่น บุคคลกำลังพยายามให้เหตุผลด้วยแนวเทียบในขณะเดียวกันที่กำลังจำคำศัพท์คำหนึ่งเก็บไว้ในหัว)[24]

พัฒนาการของความสามารถใช้แนวเทียบ

งานวิจัยยังได้พบว่าเด็กมีความสามารถใช้การเปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้แบบแผนที่เป็นนามธรรมได้ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีการกระตุ้นจากผู้อื่น[28] คำกล่าวอ้างดังกล่าวได้ถูกทดลอง โดยนักวิจัยได้สอนให้เด็กอายุ 3 ถึง 4 ขวบรู้ถึงความสัมพันธ์อย่างง่ายผ่านการแสดงรูปให้ดูเป็นชุด ๆ แต่ละภาพมีสัตว์สามตัวชนิดเดียวกันและติดป้ายชื่อว่า "toma" ให้เด็ก เด็กบางคนถูกบอกให้เปรียบเทียบระหว่าง 'toma' แต่ละฝูง ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่ได้บอก หลังจากได้เห็นรูปภาพแล้ว เด็ก ๆ ก็ถูกทดสอบว่าได้เรียบรู้แบบแผนนามธรรมหรือไม่ (ว่า 'toma' หมายถึงกลุ่มของสัตว์ชนิดเดียวกันสามตัว) เด็กได้ดูรูปอีกสองรูปแล้วถูกถามว่า "อันไหนคือ 'toma'" ภาพแรกเป็นคู่จับเชิงสัมพันธ์และแสดงภาพของสัตว์ชนิดเดียวกันสามตัวซึ่งพวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน ในขณะที่ภาพที่สองเป็นคู่จับเชิงวัตถุและแสดงภาพของสัตว์คนละชนิดกันสามตัวชนิดที่เด็กได้เห็นไปก่อนแล้วในขั้นตอนการเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์นี้ เด็กที่ถูกบอกว่าให้เปรียบเทียบระหว่าง toma ระหว่างเรียนรู้มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ถึงแบบแผนและเลือกคู่จับที่เป็นเชิงสัมพันธ์ในขั้นตอนการทดสอบ[27]

เด็กไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นเสมอไปเพื่อเปรียบเทียบและเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์แบบนามธรรม สุดท้ายอย่างไรเด็กก็จะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาจะเริ่มสนใจที่ระบุโครงสร้างความสัมพันธ์ที่คล้ายกันระหว่างบริบทที่แตกต่างกันมากกว่าแค่ระบุวัตถุที่จับคู่กัน[28] การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งสำคัญในพัฒนาการทางประชานของเด็ก เพราะหากเด็กยังมุ่งสนใจในวัตถุแต่ละอัน ก็จะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้แบบแผนแบบนามธรรมและการให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบนั้นถดถอย[28] แต่นักวิจัยบางคนเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพันธ์อันนี้ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยการเติบโตของความสามารถทางประชานพื้นฐานของเด็ก (เช่นความจำเพื่อใช้งานและการยั้งคิดไตร่ตรอง) แต่กลับถูกขับเคลื่อนโดยความรู้เชิงสัมพันธ์ของเด็กเอง เช่นการมีป้ายชื่อสำหรับวัตถุซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ นั้นชัดเจนขึ้น[28] อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะกำหนดได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพันธ์นี้เกิดจากการเติบโตของความสามารถทางประชาน หรือการมีความรู้เชิงสัมพันธ์เพิ่มขึ้น[24]

มากไปกว่านั้น งานวิจัยได้ระบุปัจจัยหลายส่วนซึ่งอาจเพิ่มโอกาสที่เด็กจะทำการเปรียบเทียบและเรียนรู้ความสัมพันธ์แบบนามธรรมโดยไม่จำเป็นมีการส่งเสริม[27] การเปรียบเทียบมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าเมื่อวัตถุที่ถูกนำมาเปรียบเทียบนั้นมีความใกล้กันเชิงปริภูมิกาล[27] มีความคล้ายกันสูง (แต่ไม่มากสะจนกลายเป็นวัตถุที่จับคู่กัน ซึ่งจะขัดขวางกระบวนการระบุความสัมพันธ์)[24] หรือมีป้ายชื่อร่วมกัน[28]

การประยุกต์ใช้และชนิด

แนวเทียบเป็นสิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหา (problem solving) การตัดสินใจ (decision making) การให้เหตุผล (argumentation) การรับรู้(Perception) การวางนัยทั่วไป การจำ การสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ (Invention)การคาดการณ์ (Prediction)ความรู้สึก(Feeling) การอธิบาย (explanation) การวางกรอบความคิด (conceptualization) และการสื่อสาร(Communication) มันเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของภารกิจพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การระบุสถานที่ วัตถุ และผู้คน เช่น การรับรู้ใบหน้า (face perception) และการรู้จำใบหน้า มีข้อคิดเห็นหนึ่งกล่าวว่าแนวเทียบเป็นส่วนสำคัญของประชาน[30]

แนวเทียบซึ่งแสดงออกเป็นภาษาประกอบด้วยการยกตัวอย่าง การเปรียบเทียบ (Comparison (grammar)) อุปมา อุปลักษณ์ อุปมานิทัศน์ และการเล่านิทานคติสอนใจ แต่ไม่รวมถึงนามนัย (metonymy) ข้อความ (message) ที่มีวลีเช่น "และอื่น ๆ" "เป็นต้น" "อย่างกับว่า/ดังว่า" "อย่าง/ดัง/เหมือน" "ฯลฯ" ฯลฯ เป็นข้อความที่ผู้รับสารต้องใช้ความเข้าใจแบบแนวเทียบ แนวเทียบไม่ได้สำคัญเฉพาะในปรัชญาภาษาสามัญ (ordinary language philosophy) และสามัญสำนึกเท่านั้น (เช่นสุภาษิต (proverb) และสำนวน (idiom) ก็เป็นตัวอย่างของการใช้แนวเทียบแบบนี้) แต่ยังเป็นสิ่งที่สำคัญในวิชาวิทยาศาสตร์ ปรัชญา กฎหมาย และมนุษยศาสตร์ด้วย ในสาขาวิชาภาษาศาสตร์ปริชาน (cognitive linguistics) แนวคิดมโนอุปลักษณ์ (conceptual metaphor) อาจเป็นอย่างเดียวกันกับแนวเทียบ แนวเทียบยังเป็นฐานของการให้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบ รวมไปถึงการทดลองต่าง ๆ ซึ่งผลของการทดลองถูกนำไปใช้กับวัตถุซึ่งไม่ได้รับการทดลอง (เช่น การทดลองกับหนูแล้วเอาผลการทดลองไปใช้กับมนุษย์)

ตรรกศาสตร์

นักตรรกวิทยากระทำการวิเคราะห์วิธีการใช้การให้เหตุผลโดยใช้แนวเทียบในการอ้างเหตุผลจากแนวเทียบ (Argument from analogy)

แนวเทียบสามารถกล่าวออกมาได้โดยใช้วลี เป็นอะไรกับ และ อย่างที่/แบบที่ เมื่อแสดงถึงความสัมพันธ์แบบแนวเทียบระหว่างนิพจน์สองอัน ตัวอย่างเช่น "รอยยิ้มเป็นอะไรกับปาก อย่างที่กระพิบตาเป็นอะไรกับตา" ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เราสามารถเขียนอย่างเป็นรูปนัยได้ด้วยเครื่องหมายทวิภาคเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์แบบนี้ โดยใช้ทวิภาคอันเดียวเพื่อแสดงถึงอัตราส่วน และใช้ทวิภาคสองอันเพื่อแสดงถึงสมการ[31]

ในการสอบ เครื่องหมายทวิภาคซึ่งแสดงถึงอัตราส่วนและสมการถูกยืมมาใช้ และตัวอย่างดังกล่าวสามารถเขียนเป็น "รอยยิ้ม : ปาก :: กระพิบตา : ตา" และอ่านออกเสียงในแบบเดิม[31][32]

ภาษาศาสตร์

แนวเทียบยังสามารถเป็นกระบวนการทางภาษาศาสตร์ที่เรียกว่า การปรับระดับเชิงสัณฐาน (Morphological leveling) ซึ่งคือกระบวนการที่คำ ๆ หนึ่งซึ่งถูกมองว่าเป็นคำอปกติ ถูกทำใหม่ให้อยู่ในรูปของคำที่มีอยู่แพร่หลายกว่าซึ่งถูกควบคุมโดยกฎบางอย่าง[33] ตัวอย่างเช่นคำกริยาในภาษาอังกฤษคำว่า help ที่แต่ก่อนมีรูปอดีตกาล (preterite) เป็น holp และรูปกริยาย่อย (participle) อดีตกาลเป็น holpen รูปของคำที่เลิกใช้แล้วเหล่านี้ถูกแทนที่โดยคำว่า helped ด้วยแนวเทียบ (หรือคือการขยายการใช้งานของกฎที่มีผลิตภาพ (productive (linguistics)) ว่าด้วยคำกริยาตามด้วย ed)[34] แต่ทว่ารูปอปกติในบางครั้งก็ถูกสร้างขึ้นโดยแนวเทียบผ่านกระบวนการที่คล้ายกันเรียกว่าการขยายออก ตัวอย่างหนึ่งเช่นรูปกาลอดีต (past tense) ของคำว่า dive ในภาษาอังกฤษอเมริกันว่า dove ซึ่งเกิดขึ้นโดยแนวเทียบกับคำศัพท์อย่างคำว่า drive ซึ่งมีรูปกาลอดีตว่า drove.[35]

คำสร้างใหม่ยังสามารถถูกสร้างขึ้นผ่านแนวเทียบได้ผ่านคำที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นคำว่า ซอฟต์แวร์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยแนวเทียบกับ ฮาร์ดแวร์ คำสร้างใหม่โดยแนวเทียมอื่น ๆ อาทิ เฟิร์มแวร์ และ เวเพอร์เวฟ ก็มีตามมา[36] อีกคำหนึ่งในภาษาอังกฤษเช่นคำว่า underwhelm ซึ่งเกิดขึ้นโดยแนวเทียบกับคำว่า overwhelm[37]

แนวเทียบมักถูกเสนอเป็นกลไกทางเลือกแทนกฎแบบเพิ่มพูนเพื่อใช้อธิบายการก่อรูปที่มีผลิตภาพของโครงสร้างต่าง ๆ เช่นคำ ในขณะที่คนอื่น ๆ อ้างว่าทั้งสองเป็นกลไกเดียวกัน โดยกฎต่าง ๆ เป็นแนวเทียบที่ได้ฝังตัวลงไปในระบบภาษาศาสตร์จนกลายเป็นส่วนมาตรฐานแล้ว ในขณะที่แนวเทียบในกรณีที่เห็นได้ชัดนั้นเพียงแค่ (ยัง) ไม่ได้กระทำเช่นนั้น[38]

แนวเทียบยังเป็นคำที่ถูกใช้โดยสำนักคิดกลุ่มนักไวยากรณ์รุ่นใหม่ (Neogrammarian) เป็นคำพูดกว้าง ๆ เพื่อหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานใด ๆ ในภาษาหนึ่งซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเสียง (sound change) หรือด้วยการยืมคำมา[39]

วิทยาศาสตร์

เหนืออื่นใดแนวเทียบถูกใช้เป็นวิธีการนึกคิดมโนคติและสมมติฐานใหม่ ๆ ซึ่งเป็นบทบาทแบบศึกษาสำนึกของการให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบ[40][41]

การอ้างเหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบยังสามารถทำงานแบบทดสอบได้ โดยมีหน้าที่เป็นวิธีการพิสูจน์ความถูกต้องของทฤษฎีหรือสมมติฐานหนึ่ง ทว่าการประยุกต์ใช้การให้เหตุผลด้วยแนวเทียบในวิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่ยังเป็นที่ถกเถียงกัน มูลค่าของแนวเทียบในการพิสูจน์นั้นมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสตร์ชนิดที่ไม่สามารถพิสูจน์ทางตรรกะหรือเชิงประจักษ์ได้ อาทิเทววิทยา ปรัชญา หรือจักรวาลวิทยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริเวณของจักรวาลที่อยู่เหนือการสังเกตการณ์เชิงประจักษ์ใด และซึ่งความรู้เกี่ยวกับมันใด ๆ ได้มาจากจินตนาการของมนุษย์[41]

แนวเทียบสามารถถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็นภาพและสอนนักเรียน โดยช่วยให้เข้าใจแนวคิดต่าง ๆ หรือความสัมพันธ์ระหว่างหรือภายในบางสิ่งหรือปรากฏการณ์ที่ยากที่จะเข้าใจ ไม่คุ้นเคย หรือไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ นักเรียนสามารถเปรียบเทียบกับสิ่งหรือปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่นักเรียนอาจคุ้นเคยกว่าเพื่อเห็นความคล้ายคลึงกัน[41] แนวเทียบอาจช่วยในการสร้างหรืออธิบายทฤษฎีหนึ่งโดยทางการทำงานของอีกทฤษฎีหนึ่ง ดังนั้นมันสามารถถูกใช้ในวิทยาศาสตร์ประยุกต์และทฤษฎีในรูปของตัวแบบหรือการจำลองซึ่งสามารถถือได้ว่าเป็นแนวเทียบที่ชัดเจน แนวเทียบที่อ่อนกว่ามากจะช่วยในการทำความเข้าและอธิบายพฤติกรรมของระบบที่คล้ายกัน ตัวอย่างเช่นแนวเทียบที่มักถูกใช้ในหนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์คือการเปรียบเทียบวงจรไฟฟ้ากับระบบไฮดรอลิกส์[42] อีกตัวอย่างเช่นหูแอนะล็อก (analog ear) ซึ่งเป็นตัวแบบของหูจากแอนะล็อก (Analogue electronics) ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิก และเชิงกล

คณิตศาสตร์

แนวเทียบบางชนิดมีรูปทางคณิตศาสตร์ที่แน่นอนผ่านแนวคิดสมสัณฐาน ในรายละเอียดนี่หมายถึง หากมีโครงสร้างทางคณิตศาสตร์สองอย่างซึ่งเป็นชนิดเดียวกัน แนวเทียบระหว่างทั้งสองอาจคิดได้ว่าเป็นฟังก์ชันหนึ่งต่อหนึ่งทั่วถึงระหว่างทั้งสองซึ่งจะอนุรักษ์โครงสร้างที่สำคัญไว้บางส่วนหรือทั้งหมด ตัวอย่างเช่น และ สมสัณฐานกันในฐานะปริภูมิเวกเตอร์ แต่จำนวนเชิงซ้อน มีโครงสร้างมากกว่าที่ มี เพราะ เป็นทั้งฟีลด์และปริภูมิเวกเตอร์ (vector space)

ทฤษฎีประเภท (category theory) นำแนวคิดของแนวเทียบทางคณิตศาสตร์ไปอีขั้นด้วยแนวคิดฟังก์เตอร์ (functor) สมมติมีประเภทสองประเภทคือ C และ D ฟังก์เตอร์ f จาก C ไปหา D สามารถมองได้ว่าเป็นแนวเทียบระหว่าง C กับ D เพราะ f จะต้องส่งวัตถุของ C ไปหาวัตถุของ D และลูกศรของ C ไปหาลูกศรของ D ในแบบที่อนุรักษ์โครงสร้างเชิงประกอบของทั้งสองประเภท นี่คล้ายกับทฤษฎีการส่งโครงสร้างของแนวเทียบของเดดรี เกนต์เนอร์ ตรงที่เป็นการจัดรูปของมโนคติแนวเทียบให้เป็นฟังก์ชันซึ่งสนองเงื่อนไขบางประการ

ปัญญาประดิษฐ์

สตีเวน ฟิลลิปส์ และวิลเลียม เอช. วิลสัน[43][44] ได้ใช้ทฤษฎีประเภทเพื่อแสดงให้เห็นโดยทางคณิตศาสตร์ว่าการให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบในจิตมนุษย์ ซึ่งเป็นอิสระจากการอนุมานปลอมซึ่งระบาดไปทั่วตัวแบบปัญญาประดิษญ์แบบธรรมดา (ที่เรียกว่า ความเป็นระบบ) นั้นเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติได้อย่างไร ผ่านการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกศรภายในซึ่งเก็บโครงสร้างภายในของประเภท แทนที่จะใช้เพียงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ (ที่เรียกว่า "สถานะตัวแทน") ดังนั้น จิตอาจใช้แนวเทียบระหว่างขอบเขตซึ่งมีโครงสร้างภายในที่สอดคล้องตามการแปลงโดยธรรมชาติ (natural transformation) และปฏิเสธพวกที่ไม่เป็นตามนั้น

กายวิภาคศาสตร์

ในกายวิภาคศาสตร์ โครงสร้างทางกายวิภาคสองอย่างถูกถือว่าเป็น อะนาโลกัส เมื่อมีบทบาท (role) ที่คล้ายกันแต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางวิวัฒนาการ ตัวอย่างเช่นขาของสัตว์มีกระดูกสันหลังกับขาของแมลง โครงสร้างกำเนิดต่างกันเกิดจากวิวัฒนาการเบนเข้า และเป็นตรงกันข้ามกับโครงสร้างต้นกำเนิดเดียวกัน

วิศวกรรม

ต้นแบบ (prototype) ทางกายภาพมักถูกสร้างขึ้นเพื่อจำลองและแทนวัตถุทางกายภาพอื่น ๆ ตัวอย่างเช่นอุโมงค์ลมซึ่งถูกใช้เพื่อทดสอบตัวแบบจำลองของปีกของอากาศยาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวเทียบของปีกและอากาศยานขนาดจริง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือโมนิแอก (MONIAC) ซึ่งเป็ฯคอมพิวเตอร์แอนะล็อก (analog computer) ที่ใช้การไหลของน้ำในท่อของมันเป็นแนวเทียบของการไหลของเงินตราในเศรษฐกิจ

ไซเบอร์เนติกส์

ที่ใดที่มีการพึ่งพากัน และมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้มีส่วนร่วมทางกายภาพหรือทางชีวภาพคู่หนึ่งหรือมากกว่า ก็จะมีการสื่อสารระหว่างกัน และความเค้นที่ถูกผลิตออกมาจะอธิบายตัวแบบภายในข้างในผู้มีส่วนร่วม ทฤษฎีการสนทนา (Conversation theory) ของกอร์ดอน แพสก์ (Gordon Pask) กล่าวว่าคู่ของตัวแบบหรือแนวคิดภายในต่าง ๆ ของผู้มีส่วนร่วมคู่ใดก็ตามจะมีแนวเทียบที่แสดงถึงความคล้ายและความแตกต่างระหว่างกัน

ประวัติศาสตร์

ในประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เปรียบเทียบมักเอาแนวคิดเกี่ยวกับแนวเทียบและการให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบมาใช้ วิธีการเชิงคำนวณแบบใหม่ที่ทำงานบนแฟ้มเก็บเอกสารขนาดใหญ่ช่วยให้สามารถค้นหาตัวตนที่เป็นแนวเทียบกันจากในอดีตสำหรับข้อคำถามของผู้ใช้งาน (เช่น เมียนมา - พม่า) [45] และสำหรับคำอธิบายของพวกมัน[46] ได้โดยอัตโนมัติ

ประเด็นเชิงบรรทัดฐาน

ศีลธรรม

การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบมีบทบาทสำคัญในศีลธรรม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศีลธรรมควรที่จะไม่ลำเอียงและยุติธรรม หากในสถานการณ์ A การกระทำอย่างหนึ่งนั้นผิด และสถานการณ์ B นั้นเป็นแนวเทียบกับ A ในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้อง อย่างนั้นแล้วการกระทำนั้นก็ควรผิดด้วยในสถานการณ์ B จริยธรรมเฉพาะ (Moral particularism) ยอมรับวิธีการให้เหตุผลเชิงจริยธรรม (Moral reasoning) โดยอาศัยแนวเทียบ และปฏิเสธการนิรนัยและอุปนัย เพราะอย่างแรกเท่านั้นที่ใช้การได้โดยไม่ต้องมีหลักการทางจริยธรรม

กฎหมาย

ในทางกฎหมาย แนวเทียบถูกใช้เป็นหลักเพื่อตัดสินในประเด็นที่ไม่มีอำนาจอยู่ก่อน การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบในกฎหมายบัญญัติกับในกฎหมายจากคำพิพากษานั้นมีความแตกต่างอยู่

กฎหมายบัญญัติ

ในกฎหมายบัญญัติ (statutory law) แนวเทียบถูกใช้เพื่อเติมเต็มข้อความที่ขาดไป (Non liquet) ช่องว่าง หรือช่องโหว่[47]

ประการแรก ข่องว่างนั้นเกิดขึ้นเมื่อประเด็นทางกฎหมายหรือคดีหนึ่งนั้นไม่ได้มีกล่าวถึงอยู่ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน อย่างนั้นแล้วอาจพยายามที่จะระบุหาบทบัญญัติบทหนึ่งที่ครอบคลุมกรณีต่าง ๆ ที่คล้ายกันกับกรณีตรงหน้า และนำบทบัญญัตินั้นมาใช้กับกรณีนี้โดยอาศัยแนวเทียบ ช่องว่างเช่นนี้ ในประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร เรียกว่าช่องว่าง แอ็กสตรา เลแก็ง (extra legem ภาษาละตินว่า นอกกฎหมาย) ในขณะที่แนวเทียบที่อุดช่องว่างนี้เรียกว่าแนวเทียบ แอ็กสตรา เลแก็ง และคดีที่อยู่ในมือเรียกว่าคดีที่ไม่มีบทบัญญัติ (unprovided case)[48]

ประการที่สอง ช่องว่างนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีบทบัญญัติอยู่ซึ่งใช้ได้กับคดีตรงหน้า แต่บทบัญญัตินี้จะทำให้คดีนี้มีผลออกมาแบบที่ไม่ต้องการ อย่างนั้นแล้ว ด้วยแนวเทียบจากบทบัญญัติอื่นในกฎหมายที่ครอบคลุมคดีที่คล้ายกับคดีตรงหน้า คดีนี้จะถูกตัดสินด้วยบทบัญญัติอันนี้แทนที่จะใช้บทบัญญัติอันก่อนหน้าที่นำมาใช้ได้โดยตรง ช่องว่างเช่นนี้เรียกว่าช่องว่าง กอนตรา เลแก็ง (contra legem ภาษาละตินว่า ทวนหรือต่อต้านกฎหมาย) ในขณะที่แนวเทียบที่อุดช่องว่างนี้เรียกว่าแนวเทียบ กอนตรา เลแก็ง[49]

ประการที่สาม ช่องว่างนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีบทบัญญัติในกฎหมายซึ่งกำหนดคดีตรงหน้าอยู่ แต่บทบัญญัตินี้กลับคลุมเครือหรือกำกวม ในพฤติการณ์เช่นนี้ เพื่อตัดสินคดีตรงหน้า อาจสามารถพยายามที่จะสืบหาความหมายของบทบัญญัติด้วยความช่วยเหลือของบทบัญญัติในกฎหมายซึ่งกล่าวถึงคดีที่คล้ายกับคดีตรงหน้าหรือคดีอื่น ๆ ซึ่งถูกกำหนดโดยบทบัญญัติที่คลุมเครือและกำกวม ช่องว่างเช่นนี้เรียกว่าช่องว่าง อินตรา เลแก็ง (intra legem ภาษาละตินว่า ในกฎหมาย) ในขณะที่แนวเทียบที่อุดช่องว่างนี้เรียกว่าแนวเทียบ อินตรา เลแก็ง[50]

ความคล้ายกันในแบบที่แนวเทียบทางกฎหมายบัญญัติพึ่งพานั้นอาจเกิดขึ้นได้จากความคล้ายกันของข้อเท็จจริงดิบของคดีที่ถูกนำมาเปรียบเทียบอยู่[51] ของจุดประสงค์ของบทบัญญัติในกฎหมาย (ที่เรียกกันว่าเหตุผลในการตรากฎหมายหรือ ratio legis ซึ่งโดยทั่วไปก็คือความต้องการของสภานิติบัญญัติ) ซึ่งถูกนำมาใช้ผ่านแนวเทียบ หรือของแหล่งอื่น ๆ [52]

แนวเทียบทางกฎหมายบัญญัติยังสามารถอยู่บนฐานของบทบัญญัติจำนวนมากกว่าหนึ่ง หรือแม้แต่บนฐานของเจตนารมณ์ของกฎหมาย และในกรณีหลังจะเรียกว่า อะนะลอเกีย ยูริส (จากกฎหมายโดยทั่วไป) ซึ่งตรงข้ามกับ อะนะลอเกีย เลกิส (จากบทบัญญัติที่เจาะจงหนึ่งบทหรือมากกว่า)[53]

กฎหมายจากคำพิพากษา

ประการแรก ในกฎหมายจากคำพิพากษา (case law) แนวเทียบสามารถทำได้จากคดีบรรทัดฐาน (precedent) หรือคดีที่ถูกตัดสินไปแล้วในอดีต ผู้พิพากษษที่กำลังตัดสินคดีตรงหน้าอาจพบว่าข้อเท็จจริงของคดีดังกล่าวนั้นคล้ายกับข้อเท็จจริงของคดีบรรทัดฐานคดีใดคดีหนึ่ง ถึงขนาดที่ว่าผลลัพธ์ของคดีเหล่านี้มีเหตุผลเพียงพอที่จะออกมาคล้ายกันหรือเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว การใช้งานแนวเทียบในแบบนี้ในกฎหมายจากคำพิพากษามีความเหมาะสมกับคดีที่เรียกว่าคดีความประทับใจครั้งแรก (case of first impression) หรือก็คือคดีที่ยังไม่ถูกควบคุมโดยบรรทัดฐานผูกพันของศาลอันใด (ไม่ได้อยู่ในครอบคลุมของเหตุผลในการวินิจฉัย (ratio decidendi) ของบรรทัดฐานดังเช่นนั้น)

ประการที่สอง ในกฎหมายจากคำพิพากษา การให้เหตุผลโดยอาศัยแนว(ไม่)เทียบจะถูกใช้อย่างเหลือเฟือ เมื่อผู้พิพากษาทำการชี้ข้อแตกต่าง (distinguishing) จากคดีบรรทัดฐาน นั่นก็คือการแยกแยะความแตกต่างระหว่างคดีตรงหน้ากับคดีบรรทัดฐาน แล้วผู้พิพากษาจึงตัดสินไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานเดิมแม้ว่าจะมีเหตุผลในการวินิจฉัยที่ครอบคลุมถึงคดีที่พิจารณาอยู่

แนวเทียบยังถูกใช้ในบริเวณอื่น ๆ ของกฎหมายจากคำพิพากษา ประการหนึ่งเช่นการพึ่งพาการให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบในขณะที่กำลังแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างบรรทัดฐานสองกรณีหรือมากกว่า ซึ่งล้วนครอบคลุมการใช้งานกับคดีที่พิจารณาอยู่แต่กลับบังคับให้เกิดผลลัพธ์ทางกฎหมายของคดีออกมาไม่เหมือนกัน แนวเทียบยังมีส่วนในการสืบหาเนื้อหาของเหตุผลในการวินิจฉัย การตัดสินด้วยบรรทัดฐานที่พ้นสมัย หรือการอ้างอิงบรรทัดฐานจากเขตอำนาจศาลอื่น และยังปรากฏอยู่ในการศึกษากฎหมายอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในสหรัฐ (สิ่งที่เรียกว่า "วิธีกรณีศึกษา" (Case method))[54]

ข้อจำกัด

ในประเด็นทางกฎหมาย บางครั้งก็มีการห้ามใช้แนวเทียบ (ไม่ว่าจะถูกห้ามโดยตัวกฎหมายเอง หรือโดยความตกลงร่วมกันระหว่างผู้พิพากษากับนักวิชาการ) ตัวอย่างที่พบเจอได้บ่อยที่สุดเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง และกฎหมายภาษี (tax law)

แนวเทียบไม่ควรถูกใช้ในประเด็นทางอาญาหากผลลัพธ์จะออกมาไม่เป็นที่พอใจต่อผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย ข้อห้ามนี้มีจุดมั่นอยู่บนหลักการว่า "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" (nullum crimen, nulla poena sine lege) ซึ่งเป็นหลักที่เข้าใจว่าอาชญากรรม (โทษ) นั้นไม่เกิดขึ้นเว้นแต่ว่าจะมีระบุไว้ในตัวบทบัญญัติของกฎหมายอย่างชัดเจน หรือมีอยู่ในบรรทัดฐานของศาลที่ดำรงอยู่ก่อนแล้ว

แนวเทียบควรถูกนำมาใช้อย่างระมัดระวังในขอบเขตของกฎหมายภาษี ณ ที่นี้หลักการว่า "ไม่มีภาษีถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" (nullum tributum sine lege) ให้เหตุผลว่าควรห้ามโดยทั่วไปไม่ให้ใช้แนวเทียบเพื่อนำไปสู่การเพิ่มการเก็บภาษี หรือนำไปสู่ผลลัพธ์อื่น ๆ ซึ่งด้วยเหตุผลอื่นใดจะเสื่อมเสียต่อผลประโยชน์ของผู้เสียภาษี

การขยายความบทบัญญัติต่าง ๆ ในกฎหมายปกครองโดยอาศัยแนวเทียบที่จะเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชนและสิทธิของพลเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดหมู่ของสิทธิที่เรียกว่า "สิทธิปัจเจก" หรือ "สิทธิขั้นพื้นฐาน") ถูกถือเป็นกฎว่าเป็นสิ่งต้องห้าม โดยทั่วไปแล้วแนวเทียบก็ไม่ควรถูกใช้ทำให้ภาระและความรับผิดชอบของพลเมืองเพิ่มขึ้นหรือเป็นการกลั่นแกล้ง

ข้อจำกัดอื่น ๆ ในการใช้งานแนวเทียบในกฎหมายยังรวมถึง

  • การขยายความบทบัญญัติโดยอาศัยแนวเทียบซึ่งประกอบด้วยการยกเว้นจากบทบัญญัติและข้อบังคับที่ทั่วไปมากกว่า (ข้อยกเว้นนี้มาจากคติบทละตินซึ่งเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะในระบบกฎหมายภาคพื้นทวีประบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรว่า "ข้อยกเว้นจะไม่มากเกินไป" (exceptiones non sunt excedente) "ข้อยกเว้นจะถูกใช้งานโดยเคร่งครัด" (exceptio est strictissimae applicationis) และ "ที่ไม่เคยมีมาก่อนจะไม่ถูกขยายความ" (singularia non sunt extendenda))
  • การใช้การอ้างเหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบกับบทบัญญัติซึ่งมีการแจงนับไว้ (รายการหรือรายชื่อ)
  • การขยายความบทบัญญัติโดยอาศัยแนวเทียบซึ่งให้ความรู้สึกว่าผู้บัญญัติกฎหมายมีความตั้งใจที่จะควบคุมบางประเด็นโดยเฉพาะ (อย่างถี่ถ้วน) (ซึ่งลักษณะนี้จะถูกบอกโดยนัยโดยเฉพาะด้วยการใช้คำของบทบัญญัตินั้นซึ่งมีตัวบ่งชี้ อาทิ "เท่านั้น" "โดยเฉพาะ" "โดยลำพัง" "ตลอด" "เสมอ") หรือซึ่งมีความหมายที่แน่นอนและไม่ซับซ้อน

ในกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายเอกชน มีการยึดเป็นกฎว่าแนวเทียบนั้นได้รับการอนุญาตหรือแม้แต่คำสั่งให้มีการใช้โดยกฎหมาย แต่ในกฎหมายแขนงนี้ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่จำกัดขอบเขตการใช้งานของการให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบที่เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่นการห้ามใช้แนวเทียบเมื่อเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับขีดจำกัดด้านเวลา หรือการห้ามพึ่งพาการอ้างเหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบโดยทั่วไปที่จะนำไปสู่การขยายความบทบัญญัติเหล่านั้นซึ่งวาดถึงภาระหน้าที่บางประการหรือซึ่งเป็นคำสั่ง (อาณัติ) บางอย่าง ตัวอย่างอื่น ๆ นั้นเกี่ยวกับการใช้งานแนวเทียบในกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน โดยเฉพาะเวลาที่จะบัญญัติสิทธิในทรัพย์สินใหม่ ๆ จากมัน หรือเมื่อจะขยายความบทบัญญัติเหล่านี้ซึ่งใช้คำศัพท์ที่ไม่กำกวมและเรียบง่ายชัดเจน[55]

การสอน

นิยามของแนวเทียบในวาทศาสตร์คือการเปรียบเทียบระหว่างคำศัพท์ แต่แนวเทียบยังถูกใช้ในการสอนด้วย แนวเทียบที่ถูกใช้ในการสอนคือการเปรียบเทียบระหว่างหัวข้อที่นักเรียนคุ้นเคยอยู่แล้วกับหัวข้อใหม่ที่กำลังนำเสนอ เพื่อให้นักเรียนเข้าในหัวข้อนั้นได้ดีกว่า และเชื่อมโยงกลับเข้ากับความรู้ที่มีอยู่ก่อน ชอว์น เอ็ม. กลินน์ (Shawn M. Glynn) ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้พัฒนาทฤษฎีการสอนโดยอาศัยแนวเทียบ และขั้นตอนการอธิบายกระบวนการสอนด้วยวิธีนี้ ขั้นตอนสำหรับการสอนด้วยแนวเทียบมีดังนี้ อันดับแรกคือการนำเสนอหัวข้อใหม่ที่กำลังจะถูกสอน และให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหัวข้อนั้น อันดับสองคือการทบทวนแนวคิดที่นักเรียนรู้อยู่แล้วเพื่อรับประกันว่าพวกเขามีความรู้ที่เหมาะสมเพื่อประเมินความคล้ายกันระหว่างทั้งสองแนวคิด อันดับสามคือการค้นหาลักษณะที่เกี่ยวข้องภายในแนวเทียบของทั้งสองแนวคิด อันดับสี่คือการค้นหาความคล้ายกันระหว่างทั้งสองแนวคิดเพื่อให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบและเปรียบต่างระหว่างทั้งสองเพื่อทำความเข้าใจ อันดับห้าเป็นการชี้ให้เห็นว่าแนวเทียบนั้นจะใช้ไม่ได้ระหว่างทั้งสองแนวคิดที่จุดไหน และสุดท้ายอันดับที่หกเป็นการหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวเทียบและการเปรียบเทียบเนื้อหาใหม่กับเนื้อหาที่เรียนไปแล้ว โดยปกติแล้ววิธีนี้จะถูกใช้เพื่อเรียนหัวข้อในวิชาวิทยาศาสตร์[56]

ใน ค.ศ. 1989 เคร์รี รูฟ (Kerry Ruef) ซึ่งเป็นครูคนหนึ่ง ได้เริ่มโครงการใหม่ ซึ่งเธอตั้งชื่อว่าโครงการไพรเวตอายส์ (Private Eye Project) โดยเป็นวิธีการสอนซึ่งใช้แนวเทียบในห้องเรียนเพื่ออธิบายหัวข้อได้ดีขึ้น เธอได้มีความคิดที่จะใช้แนวเทียบเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเพราะครั้งหนึ่งเธอกำลังสังเกตวัตถุต่าง ๆ แล้วบอกว่า "ในหัวไม่มีอะไรเลยว่าวัตถุพวกนี้ทำให้นึกถึงอะไร" นี่ทำให้เธอสอนด้วยคำถามว่า "[หัวข้อหรือวิชาหนึ่ง]ทำให้คุณนึกถึงอะไร" แนวคิดในการเปรียบเทียบหัวข้อและแนวคิดต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาโครงการวิธีการสอนแบบโครงการไพรเวตอายส์ของเธอ[57] นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมการสอนซึ่งถือกำเนิดขึ้น ซึ่งใช้แนวเทียบแบบเห็นภาพสำหรับการสอนและงานวิจัยแบบสหวิทยาการ ตัวอย่างเช่นระหว่างวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์[58]

ศาสนา

โรมันคาทอลิก

สังคายนาลาเตรันครั้งที่สี่ (Fourth Council of the Lateran) ค.ศ. 1215 กล่าวว่า เพราะระหว่างผู้สร้างสรรค์กับสิ่งสร้างสรรค์ ไม่สามารถมีความคล้ายคลึงที่สังเกตซึ่งมากเสียจนความไม่คล้ายกันที่มากกว่าระหว่างทั้งสองนั้นมองไม่เห็น[59]

หัวข้อนี้ในเทววิทยาเรียกว่า อะนะลอเกีย แอนติส (analogia entis) ผลพวงของทฤษฎีนี้คือการที่ข้อความที่เป็นจริงทั้งหมดซึ่งกล่าวถึงพระเป็นเจ้านั้นจะเป็นเชิงแนวเทียบหรือเป็นประมาณการ และจะไม่แสดงถึงความเท็จใด ๆ[60] ข้อความที่เป็นจริงและเป็นเชิงแนวเทียบเหล่านั้นเช่น พระเจ้าทรงเป็น..., พระเจ้าทรงเป็นความรัก, พระเจ้า [...] ทรงเป็นเพลิงที่เผาผลาญ, พระยาห์เวห์สถิตใกล้ทุกคนที่ร้องทูลพระองค์ หรือตรีเอกภาพของพระเจ้า โดยที่ เป็น, รัก, ไฟ, ใกล้, และเลขสามนั้นจะต้องถือว่าเป็นแนวเทียบที่ทำให้มนุษย์สามารถรับรู้สิ่งที่อยู่เหนือจากภาษาเชิงบวกหรือเชิงลบ (Apophatic theology)

ชีวิตประจำวัน

แนวเทียบสามารถถูกใช้เพื่อหาคำตอบสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ หากบางสิ่งใช้ได้กับอย่างหนึ่ง ก็อาจใช้ได้กับอีกอย่างหนึ่งเช่นกันซึ่งมีความกล้ายกัน แนวเทียบช่วยในการตัดสินใจเลือกและการคาดการณ์ และรวมไปถึงความคิดเห็นและการประเมินต่าง ๆ ที่ผู้คนถูกบังคับให้ทำในชีวิตประจำวัน[41]

ดูเพิ่ม

  • การใช้คำสื่อแทนโดยนัย (Hypocatastasis)
  • การทดสอบเป็ด
  • การสร้างความเข้าใจ (Sensemaking)
  • การหลอมรวมมโนทัศน์
  • การให้เหตุผลด้วยฐานกรณี / แคซิวอิสตรี
  • การให้เหตุผลโดยสามัญสำนึก (Commonsense reasoning)
  • การอุทธรณ์จากความขัดกัน (Argumentum e contrario)
  • การอุทธรณ์ยิ่งกว่านั้น (Argumentum a fortiori)
  • ฉันรู้เมื่อฉันเห็น (I know it when I see it)
  • นิทานคติสอนใจ
  • สถิติศาสตร์แบบรู้เอง (Intuitive statistics)
  • อุปมาเทียม
  • อุปลักษณ์

อ้างอิง

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: แนวเทียบ
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง