ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย

กฎหมายไทย

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" กฎหมายไทยสมัยใหม่บรรจุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2453), มีการเพิ่มให้การ "ดูหมิ่น" เป็นความผิด และเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และมีการเพิ่มโทษครั้งล่าสุดในปี 2519 มีสื่ออธิบายว่าเป็น "กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่รุนแรงที่สุดในโลก"[1] และ "อาจเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาที่เข้มงวดที่สุดไม่ว่าที่ใด"[2] นักสังคมศาสตร์ ไมเคิล คอนนอส์เขียนว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว "เป็นผลประโยชน์ของราชสำนักเสมอมา"[3]: 134 

คำสั่งของนายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2504 ให้นำ ครอง จันดาวงศ์ กับทองพันธุ์ สุทธิมาศ ไปประหารชีวิตในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยไม่มีการพิจารณาคดี

ในประมวลกฎหมายไม่มีนิยามว่าพฤติการณ์แบบใดเข้าข่าย "ดูหมิ่น" บ้าง มีการตีความอย่างกว้างขวางซึ่งสะท้อนสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ในสมัยศักดินาหรือสมบูรณาญาสิทธิราช ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังตีความว่า กฎหมายห้ามครอบคลุมถึงการวิจารณ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์[4] มีข้อโต้แย้งว่า ความผิดต่อองคมนตรีเข้าข่ายความผิดนี้หรือไม่ อนึ่ง ในปี 2556 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ด้วย[5] แม้ว่า "พยายาม" กระทำความผิด เสียดสีสัตว์ทรงเลี้ยง หรือไม่ติเตียนเมื่อพบเห็นผู้กระทำผิดก็ถูกดำเนินคดีด้วย

ผู้ใดจะฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ได้ ทั้งนี้พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ไม่เคยฟ้องร้องเป็นการส่วนพระองค์ ตำรวจต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการทุกคดี รายละเอียดของข้อหาแทบไม่มีเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ต้องหามักเผชิญอุปสรรคตลอดคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอประกันตัวชั่วคราว มีการกักขังก่อนพิจารณาคดีในศาลหลายเดือน คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการกักขังโดยพลการตัดสินในปี 2555 ว่าการกักขังก่อนดำเนินคดีละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ศาลไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยอย่างในคดีอาญาทั่วไป การรับสารภาพแล้วขอพระราชทานอภัยโทษถูกมองว่าเป็นวิธีการเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด

มีการตีความ "ดูหมิ่น" กว้างขวางมากขึ้นนับแต่พุทธทศวรรษ 2520 คณะรัฐประหารมักอ้างกรณีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อรัฐประหาร หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีการพิจารณาความผิดดังกล่าวมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังรัฐประหารปี 2557 มีการเปลี่ยนให้ศาลทหารพิจารณาคดีดังกล่าว และในปี 2558 ลงโทษจำคุกจำเลยคนหนึ่ง 60 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเพราะยอมรับสารภาพ นับเป็นโทษสูงสุดที่เคยมีมา อีกทั้งมีการพิจารณาคดีลับด้วย กฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "โหดร้ายป่าเถื่อน"[6] บ่อนทำลายกฎหมายไทย ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์[7] บางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์พระองค์ได้และไม่เคยตรัสให้เอาผู้วิจารณ์เข้าคุก[8] ในช่วงปี 2561–2563 ไม่มีคดีใหม่เท่าที่ทราบ แต่ทางการใช้วิธีฟ้องร้องโดยอาศัยกฎหมายอื่นแทน เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหมายปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง ตลอดจนใช้วิธีการคุกคามอย่างอื่น จนเริ่มกลับมาใช้หลังเริ่มมีการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

ขอบเขต

"ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีที่จะอ้างว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้"[9]: 20  —  คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ 28–29/2555
การเปรียบเทียบกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[10]: 115 
ประเทศโทษจำคุกสูงสุด (ปี)
 เนเธอร์แลนด์0.3[11]
 เดนมาร์ก1
 สเปน2
 โมร็อกโก3
 นอร์เวย์5
 สวีเดน6
 ไทย15

กฎหมายนี้แตกต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่า "การดูหมิ่น" ก็เป็นความผิดด้วย การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2500 และหลังจากนั้นมีการตีความคำว่า "ดูหมิ่น" ว่าหมายถึงการแสดงความไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน การตีความอย่างกว้างนี้ก่อให้เกิดข้อพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน ผู้พิพากษาและนักวิชาการกฎหมายดูเหมือนยึดถือว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมในทางใด ๆ ตั้งแต่ปี 2519 มีการตีความรวมถึงการวิจารณ์พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โครงการหลวง สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี และอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโทษจากสูงสุด 7 ปี มาเป็นโทษ 3 ถึง 15 ปีอย่างในปัจจุบัน[12] ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยไม่ว่าจะกระทำภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรไทยก็ต้องรับโทษในราชอาณาจักร เพราะเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7) ตัวอย่างเช่น กรณีคนไทยที่กระทำผิดในสหรัฐจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทย[13]

มีข้อโต้แย้งกรณีการวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรีในพระองค์ ว่าถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหรือไม่[14] พลตำรวจโท ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ปฏิเสธแจ้งข้อกล่าวหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยแก่นักเคลื่อนไหวที่เข้าชื่อเพื่อถอนประธานองคมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โดยอ้างว่า กฎหมายดังกล่าวใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น[15] สองวันให้หลัง เขาถูกพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลดขั้น[16] นอกจากนี้ การเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเองก็ส่งผลให้ถูกแจ้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยด้วย[17]

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปี 2556 ว่ากฎหมายนี้ใช้กับอดีตพระมหากษัตริย์ด้วย ในปีเดียวกัน มีบุคคลถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดฐาน "เตรียมการและพยายาม" กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ กล่าวคือ เขาเก็บภาพที่อาจหมิ่นประมาทพระบรมวงศานุวงศ์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ยังไม่ได้โพสต์อินเทอร์เน็ต ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าการเตรียมการกระทำความผิดเป็นความผิดอาญา[18]

ในปี 2556 ศาลสั่งลงโทษนักกิจกรรมและนักร้องคนหนึ่ง ซึ่งนอกจากลงโทษจำคุกแล้ว ยังถูกสั่งให้แต่งเพลงเพื่อส่งเสริม "ความปรองดองของชาติ" หลังพ้นโทษด้วย[19] ทั้งที่อยู่นอกเหนือจากโทษทางอาญา

เนื่องจากสภาพอันไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ ทำให้จำเลยมักไม่แย้งเนื้อหาของข้อความ และมักรับสารภาพ สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การตรวจพิจารณาตนเองและศาลเตี้ย[9]: 43–4  เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว แม้สวีเดนมีโทษจำคุกฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์สูงสุดถึง 6 ปีแต่ก็มิได้เป็นประเด็นสาธารณะมากนัก เพราะแทบไม่เคยถูกใช้เลย[10]: 119 

การดำเนินคดี

ผู้ใดจะฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใครก็ได้ และตำรวจต้องสอบสวนอย่างเป็นทางการทุกคดี ตัวอย่างเช่นในปี 2555 ยุทธภูมิ มาตรนอก ถูกพี่ชายร่วมสายโลหิตฟ้องฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว กรณีนี้ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือสาหรับความขัดแย้งในครอบครัว อันแสดงให้เห็นว่ามีการนำกฎหมายใช้ไปในทางที่ผิดได้ง่าย ตำรวจ อัยการและศาลมักกริ่งเกรงว่า ตนจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี หากไม่ดำเนินคดี[20] มีหลายกรณีที่มีการกลั่นแกล้งออนไลน์โดยการตั้งบัญชีปลอมทำให้เข้าใจผิดว่าบุคคลที่ถูกปลอมนั้นเป็นผู้โพสต์ข้อความที่มีความผิด[21] ทั้งนี้ ไม่เคยปรากฏว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นผู้ฟ้องร้องด้วยพระองค์เอง

หลังรัฐประหารปี 2501,[22] รัฐประหารปี 2519[23] และรัฐประหารปี 2557 มีการโอนคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ในปี 2558 มีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ต้องหาจากบ้านพัก[24] สำหรับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จะมีผลทำให้มีการตีความถอยกลับคืออาจมีการฟ้องคดีซ้ำได้แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดและยังไม่พ้นโทษ, คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระมเหสี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกรัชกาล และต้องระวางความตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายทหารต่างกรรมกัน และห้ามอุทธรณ์ฎีกาในเวลาไม่ปกติ (เช่น กฎอัยการศึก)[23]

การดำเนินคดีในความผิดนี้มักควบคู่ไปกับมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ว่าด้วยการนำข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์[25] รายละเอียดของคดีมักไม่ค่อยเปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนหนึ่งเพราะสื่อเกรงว่าข้อความที่นำเสนออาจเข้าข่ายความผิดนี้เสียเอง

ผู้ถูกตั้งข้อหานี้มักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำหลายเดือนก่อนมีการไต่สวนในศาล[20] มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า กระบวนการขอให้ปล่อยชั่วคราวตลอดจนการพิจารณาเฉพาะในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะพบอุปสรรคมากมาย[26] เช่น กรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่ถูกปฏิเสธการขอประกันตัว 8 ครั้ง ระหว่างถูกคุมขังนาน 20 เดือนก่อนการพิจารณาคดี คณะทำงานเรื่องการคุมขังโดยพลการแห่งสหประชาชาติระบุเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ว่า การคุมขังก่อนมีการพิจารณาคดีเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[20][a] สิทธิดังกล่าวยังอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ด้วย[29] เหตุผลของศาลที่มักใช้ห้ามประกันตัวคือ เป็นคดีมีอัตราโทษสูงและเกรงหลบหนี[29] สาวตรี สุขศรี ระบุว่า "กระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคดี 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ บังคับให้จนมุม บังคับให้เลือกระหว่างสารภาพหรือจะสู้คดี" และ "การแสดงอคติบางอย่างของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอุดมการณ์เบื้องหลังความไม่แน่ไม่นอนในการตีความกฎหมาย เหล่านี้มันบีบให้รับสารภาพ"[29]

มีผู้ต้องขังเสียชีวิตในการคุมขัง ทั้งแขวนคอตัวเอง และอีกคนผลชันสูตรพลิกศพแจ้งว่าติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น สุริยัน สุจริตพลวงศ์ (หมอหยอง)[30] ผู้ต้องขังในคดีนี้มักพบเห็นว่าเดินเท้าเปล่าและมีโซ่ล่ามข้อเท้าเมื่อนำตัวมาศาล[31] โดยปกติเวลาฟ้องคดีจะต้องนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลด้วย แต่หากผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในเรือนจำ อาจไม่ต้องนำตัวมาก็ได้ (เช่น ใช้การประชุมทางไกล) และศาลมาสามารถเบิกตัวมาสอบถามคำให้การได้ในภายหลัง[32]

การรับสารภาพว่ากระทำความผิดถูกมองว่าเป็นวิธีการเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษหากบุคคลได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน[33] คอลัมนิสต์บางกอกโพสต์คนหนึ่งเขียนว่า ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้นั้นเป็นเพราะทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางและพระทัยตัดสินอย่างยุติธรรม[34]

แนวทางคำพิพากษา

ในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อาจอาจมีการรบกวนความเป็นอิสระของผู้พิพากษา คดีมักไปไม่ถึงศาลสูงจึงไม่ค่อยมีตัวอย่างคำพิพากษา จำเลยมักเลือกใช้วิธีรับสารภาพแล้วขอรับพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้การรับสารภาพดังกล่าวยังเป็นการตัดตอนการเปิดเผยพยานหลักฐาน คำพิพากษาของศาลที่กลับไปกลับมาทำให้คดียืดเยื้อออกไปอีก[35] ปัจจุบันศาลพลเรือนมักลงโทษจำเลยกรรมละ 5 ปี ส่วนศาลทหารมักลงโทษจำเลยกระทงละ 10 ปี[36]

ในคดีสวรรคต ร. 8 ศาลไม่ได้วิเคราะห์จากการกระทำความผิดของจำเลย แต่พิเคราะห์จากปัจจัยแวดล้อมเช่นคำพูดเป็นลางว่าจำเลยมีเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้ายในการพิพากษาลงโทษประหารชีวิต

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเห็นว่าการพิเคราะห์ของศาลไม่ได้ดูความจริงของข้อความที่พิจารณาจนมีประโยค "ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น" โดยยกตัวอย่างกรณีที่เอกชัย หงส์กังวานถูกตัดสินว่าผิดฐานเผยแพร่ซีดีที่บรรจุสารคดีของสำนักข่าวต่างประเทศ โดยว่า สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวสารจากประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ มีมุมมองเชิงลึก และเป็นกลาง และไม่ได้ตั้งใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ศาลเห็นว่าจะพิจารณาในลักษณะนี้ไม่ได้ "ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น" ด้วย[37] ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายหมิ่นประมาท

ในบทความ อากงปลงไม่ตก สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ว่า "...ตามฟ้อง จำเลยอายุหกสิบเอ็ดปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใด...มิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด สำหรับบุคคลที่เจนโลกโชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติ และองค์พระประมุขอันเป็นที่เคารพสักการะ...ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก..."[38] เขาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ศาลอาญามิได้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่อำพลว่า "…ถ้าคดีใดอัยการโจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์จนให้ศาลเห็นและเชื่อได้ว่า จำเลยมีเจตนาชั่วร้าย...จำเลยในคดีนั้นก็สมควรที่จะได้รับโทษานุโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี..."[38] และเห็นว่า พฤติกรรมที่เชื่อว่าเป็นของอำพลตามคำฟ้องนั้นร้ายแรงเสมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจนำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงได้[38]

ปีเตอร์ เลย์แลนด์ ศาสตราจารย์ประจำสำนักตะวันออกและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน อธิบายว่า

"มัน [การกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์] อาจกระทำโดยไม่มีเจตนาทางอาญาใด ๆ ก็ได้ ไม่มีความจำเป็นสำหรับพนักงานอัยการที่จะต้องใช้หลักฐานโน้มน้าวเกี่ยวกับการมองเห็นผลล่วงหน้าในฝ่ายของจำเลยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของถ้อยแถลงหรือความประพฤติ [...] ตำรวจ พนักงานอัยการและผู้พิพากษาไม่เพียงแต่กระทำในพระปรมาภิไธยเท่านั้น แต่ยังมีความคาดหมายว่าความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขาจะสะท้อนในผลลัพธ์ที่ยืนยันถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ โดยจ่ายด้วย[ศักดิ์ศรี]ของจำเลย"[10]: 130 

อย่างไรก็ดี ฐนาพงษ์ ทอนฮามแก้ว พนักงานอัยการ ระบุว่า แม้ในคำพิพากษาฎีกาไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล แต่ศาลก็พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยเป็นสำคัญด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีที่ไม่ได้รับโทษ เช่น ใช้ไม้ตีพระฉายาลักษณ์ เนื่องจากโมโหเพราะขโมยของไม่ได้, เดินผ่านพระฉายาลักษณ์ที่วางกับพื้น, คว่ำพระฉายาลักษณ์ไว้รอแขวนและเรียกพระฉายาลักษณ์ว่า "ไอ้นี่" ตามภาษาถิ่น, การขว้างหนังสือถวายฎีกาใส่รถยนต์พระที่นั่ง เพราะไม่สามารถถวายต่อพระองค์ได้ เป็นต้น[39]: 210  แต่ถึงแม้ว่าเป็นการกล่าวเปรียบเทียบ กล่าวเลื่อนลอยหรือไม่ยืนยันข้อเท็จจริง หากศาลพิเคราะห์แล้วว่ามีเจตนาก็ได้รับโทษ[39]: 211 

ตัวอย่างคดีและบรรทัดฐาน

วันที่เกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาการกระทำที่ถูกกล่าวหา
ตุลาคม 2549รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์วันที่ 3 ตุลาคม ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากคำให้สัมภาษณ์ที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ที่ระบุว่า "นายกฯ ที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อน"[40]

ประเด็น: ดูหมิ่นพระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

7 มิถุนายน 2551ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
(ดา ตอร์ปิโด)
ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดหลายครั้ง 6 วาระ พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี รวม 6 วาระ เป็น 18 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีลับขัดหรือแย้งสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่ ซึ่งจำเลยเคยยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์อนุญาตตามตำร้อง และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 29 และ 40 (2) ศาลอาญาจึงนัดพิพากษาคดีใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว พิพากษาจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาในวันที่ 12 มิถุนายน 2556 ตามศาลชั้นต้น[41]
31 สิงหาคม 2551แฮร์รี นิโคเลดส์ถูกตั้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์จากข้อความละเมิดในหนังสือ Verisimilitude ที่พิมพ์เอง หนังสือดังกล่าวขายได้ 7 เล่ม และกล่าวถึง "ความพัวพันและการคบชู้โรแมนติก" ของพระบรมวงศานุวงศ์[42] หลังยอมรับสารภาพ เขาถูกพิพากษาจำคุกสามปี[43] แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังรับโทษไปแล้วหนึ่งเดือน ถูกปล่อยตัวและเนรเทศ[44][45]

ประเด็น: กระทำความผิดนอกประเทศ

24 พฤษภาคม 2553อำพล ตั้งนพกุลส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือถึงเลขานุการนายกรัฐมนตรี 4 ข้อความ ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า "ข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง" พิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) และ (3) เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายสี่กรรม ลงโทษจำคุกกระทงละห้าปี รวมเป็นจำคุกยี่สิบปี[46][47]

ประเด็น: ศาลไม่พิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้ลงมือ แต่ลงโทษจากเจตนาของจำเลย

20 กรกฎาคม 2553สนธิ ลิ้มทองกุลนำคำพูดของดารณี ชาญเชิงศิลปกุลมาเผยแพร่ซ้ำ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยมองเจตนาว่ามิได้เจตนากระทำความผิด แต่เป็นการให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดีกับดารณีในความผิดดังกล่าว[48]

ประเด็น: กฎหมายไม่มีการห้ามฟ้องซ้ำคดีอาญา (double jeopardy)

4 กันยายน 2556พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็งโพสต์รูปภาพและข้อความประกอบลงบนเฟซบุ๊กจำนวน 6 ข้อความ สื่อทั้งหมดยังอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 อันเป็นช่วงที่คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยต้องพิจารณาที่ศาลทหาร วันที่ 8 สิงหาคม 2558 ศาลทหารพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำนวน 6 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวม 60 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี[49]

ประเด็น: โทษหนักที่สุดที่เคยมีมา

6 ธันวาคม 2558ฐนกร ศิริไพบูลย์ถูกอัยการตั้งข้อหาว่าโพสต์ผังราชภักดิ์ โพสต์ภาพ 3 ภาพบนเฟซบุ๊กซึ่งมีเนื้อหา "เสียดสี" คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง[50]

ประเด็น: ดูหมิ่นกษัตริย์ในเชิงสัญลักษณ์

รายละเอียดบางพฤติการณ์

ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี

ในปี 2521 มีบุคคลถูกจำคุกในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดในสถานที่สาธารณะ ร่วมกับพูดว่า "เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง"[51] ในปี 2551 มีบุคคลไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอภาพยนตร์ พอเพลงจบก็ตะโกนถ้อยคำหยาบคายออกมา แล้วถูกพิพากษาจำคุก[52] แต่หากไม่มีคำพูดหรือแสดงท่าทางหยาบคาย อัยการไม่ส่งฟ้อง[51]

ในเดือนกันยายน 2550 โชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อนไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพนตร์ สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การไม่ยืนแสดงความเคารพระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี แม้จะเป็นกิริยาที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ แต่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการรณรงค์ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงและการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง เนื่องจากโชติศักดิ์และเพื่อนถูกขว้างปาสิ่งของใส่เมื่อไม่ยืน นำไปสู่การกิจกรรมรวมคนไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพนตร์ด้วย[53] มีเจ้าหน้าที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟ (SF Cinema) ชี้แจงว่าไม่มีการบังคับให้ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์กรุ๊ป (Major Group) ว่าให้ลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะยืนออกมารอด้านนอกก่อน[53]

ในปี 2562 เกิดแฮชแท็ก #แบนเมเจอร์ และ #เมเจอร์โป๊ะแตก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์หลังเมเจอร์กรุ๊ปให้ผู้ที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีออกจากโรงภาพยนตร์[54]

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต

พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2548 ณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ โฆษณาโดยการกระจายเสียงข้อความซึ่ง "มีความหมายเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต เปรียบเทียบว่า ยุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระ มีการปกครองที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ ๔ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ"[55] ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๗๘/๒๕๕๖ ผู้พิพากษาวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า "การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว"[55] ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือ นายใน สมัยรัชกาลที่ 6 กล่าวว่าเมื่อได้ยินคำพิพากษาคดีนี้แล้วรู้สึกสั่นคลอนและตกใจ เพราะทราบมาว่าทีแรกมีผู้พยายามฟ้องด้วยมาตรา 112 กับตน แต่ทนายความให้เลิกความพยายามไปเพราะน่าจะไม่เข้าข่าย[56] วรเจตน์เขียนว่า คำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อหลักกฎหมายอาญา "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" และข้อห้ามใช้กฎหมายโดยเทียบเคียง[56]

ในปี 2560 เกิดคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 (ขณะนั้นอยู่ในรัชกาลที่ 10 แล้ว) สุดท้ายศาลไม่ได้ลงโทษในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษข้อหาอื่นทั้งหมด ได้แก่ อั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์ รวมจำคุกจำเลยตั้งแต่ 3 ปี ถึง 4 ปี 6 เดือน[57] ในอดีต เมื่อปี 2503 นายสุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ทั้งคู่เป็นสามีภรรยา และตั้งชื่อสุนัขด้วยพระนามราชินีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถูกจับกุมในช่วงรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ ศาลฎีกาให้จำคุกนายสุวัฒน์ 5 ปี ยกฟ้องนางเพ็ญศรี (คำพิพากษาศาลฎีกา 1643/2503)[58]

การรู้เห็นแชตโดยไม่ติเตียน

กรณีฟ้องคดีเพราะไม่ห้ามปรามแชตหมิ่นฯ ทำให้เกิดมีม "กดโกรธ"

วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 พัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกออกหมายจับในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เจ้าหน้าที่ว่ามีหลักฐานเป็นข้อความสนทนาผ่านโปรแกรมแชตเฟซบุ๊กกับแนวร่วมพลเมืองโต้กลับอีกคนหนึ่ง ชื่อ บุรินทร์ อินติน ซึ่งแม้หนึ่งนุชมิได้ตอบโต้ใด ๆ แต่ ทนายจำเลยอ้างว่า ตำรวจชี้แจงว่า การไม่ห้ามปรามหรือว่ากล่าวเข้าข่ายรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งถือเป็นความผิดด้วย[59] อัยการทหารสั่งฟ้องคดีในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ในคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 พัฒน์นรีร่วมกับบุรินทร์ พิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกันผ่านเฟซบุ๊ก โดยข้อความที่อัยการเห็นว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มาจากบุรินทร์ฝ่ายเดียว แต่อัยการระบุในคำฟ้องว่า การกระทำของพัฒน์นรีและบุรินทร์เป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทขณะนั้นเสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง[60] จากคดีนี้ทำให้เกิดมีมอินเทอร์เน็ตขึ้น เช่น "กดโกรธ", "แสร้งไม่เก็ต"[61] หรือ "ติเตียน"

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการ

กำเนิด : "หมิ่นประมาท" และ "อาฆาตมาดร้าย"

ในสมัยศักดินา กฎหมายคุ้มครอง "การละเมิด" หลายอย่าง ซึ่งรวมความผิดต่อข้าราชบริพาร สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และการกระทำความผิดในพระราชวัง ทั้งนี้อาจพิจารณาว่าอาชญากรรมแม้เชิงสัญลักษณ์ก็กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางสังคมในสมัยศักดินาอย่างใหญ่หลวง[9]: 23–25  เดิมอยู่ในกฎหมายตราสามดวง, พระราชกำหนดลักษณหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤๅเขียนถ้อยคำอันเป็นเท็จออกโฆษนาการ ร.ศ. 118[39]: 211  และพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2470[22]

กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในกฎหมายหมิ่นประมาทสมัยใหม่ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (ปี 2453) มาตรา 97 ซึ่งมุ่งพิทักษ์ชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ ในตอนแรกความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ถือเป็นความผิดต่อรัฐด้วย ในประมวลกฎหมายอาญาสมัยใหม่ฉบับแรกของสยามในปี 2461 แยกแยะระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐ มีการกำหนดโทษสำหรับผู้แสดงเจตนาร้ายหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี มกุฎราชกุมาร และผู้สำเร็จราชการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตราอื่น ๆ มีทั้งคุ้มครองเจตนาร้ายหรือการหมิ่นประมาทเจ้านายทุกรัชกาล ห้ามการสร้างความไม่จงรักภักดี หรือห้ามชักจูงให้ประชาชนละเมิดพระบรมราชโองการ[62]: 3–4  ครั้นเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์แพร่หลาย มีการเพิ่มโทษในปี 2471 ให้การสนับสนุนหรือสอนลัทธิหรือระบบการเมืองหรือเศรษฐกิจ โดยมีเจตนาให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังเป็นความผิด[62]: 4 

หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ตัวกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งนี้เพราะคณะราษฎรประนีประนอมกับพระมหากษัตริย์ และมีการเพิ่มสถานะล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ลงในรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นทุกฉบับด้วย อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายในสมัยนั้นมีข้อยกเว้นสำหรับการแสดงออกโดยสุจริต และความเห็นเชิงวิจารณ์และไม่มีอคติต่อการกระทำของรัฐบาลและเชิงปกครอง[62]: 4  การอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นยังคงเสรี สังเกตจากการอภิปรายหัวข้อยืนยันว่าจะมีระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชอำนาจของกษัตริย์หรือไม่ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2492 และกรณี หยุด แสงอุทัย นักวิชาการกล่าวบรรยายออกอากาศวิทยุว่า พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสพาดพิงปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ[9]: 30 

การแก้ไขกฎหมาย พ.ศ. 2500 : "ดูหมิ่น"

"... จำเลยทราบเรื่องราวมาในลักษณะที่เป็นข่าวเล่าต่อๆ กันมา อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้ และแม้จะเป็นความจริงก็ไม่พึงนำมากล่าวต่อสาธารณชน เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้กระทำได้และที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นี้ เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะของประชาชน อยู่ในฐานะละเมิดมิได้ ย่อมอยู่เหนือการติชมใดๆ ทั้งสิ้น"[9]: 38–9  —  คำพิพากษาของศาลในปี 2526
คำสั่งจากคณะรัฐประหารให้เหตุผลในการเพิ่มโทษจากจำคุกสูงสุด 7 ปี เป็นจำคุกต่ำสุด 3 ปี และสูงสุด 15 ปี

วันที่ 1 มกราคม 2500 "ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499" มีผลใช้บังคับ[62]: 18  ใจความแก้ไขกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ให้ครอบคลุม "การดูหมิ่น" ด้วย เพิ่มเติมจากการหมิ่นระมาทและการแสดงเจตนาร้าย นับเป็นการขยายขอบเขตการตีความอย่างกว้างขวาง[62]: 6  ย้ายบทบัญญัติดังกล่าวไปอยู่ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายฉบับใหม่ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงให้ความผิดต่อพระมหากษัตริย์เป็นความผิดต่อความมั่นคงของชาติด้วย[3]: 133  ตัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่อาจดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ได้หากเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ[62]: 6 

กระนั้นคำวินิจฉัยของศาลในระยะแรกหลังเปลี่ยนแปลงยังนำบริบทมาพิจารณาด้วย มิใช่พิจารณาจากตัวข้อความอย่างเดียว ในเดือนธันวาคม 2500 ศาลพินิจว่าคดีที่ส่งศักดิ์ สายปัญญา ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยนั้นไม่เป็นความผิด เพราะอยู่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งย่อมมีการกล่าวหาทำลายกัน[9]: 32–3 

หลังวันที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาและรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519เพียงสองอาทิตย์ คณะรัฐประหารให้เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายนั้นว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น จึงแก้ไขกฎหมายให้มีโทษสูงขึ้น โดยเพิ่มจากจำคุกสูงสุด 7 ปี เป็นจำคุกต่ำสุด 3 ปี และสูงสุด 15 ปี และขยายขอบเขตของความผิด "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"[63] ธานินทร์ กรัยวิเชียรยังตีความว่า กฎหมายห้ามครอบคลุมถึงการวิจารณ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์[4] ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศเดียวที่เพิ่มโทษของความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยกเว้นเพียงจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[10]: 115–116 

ประมาณพุทธทศวรรษ 2520 เมื่อฐานพระราชอำนาจได้เติบโตขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางในเมือง มีการสร้างความสัมพันธ์แบบญาติและความใกล้ชิดระหว่างพลเมืองกับพระมหากษิตริย์ ("พ่อ") ตลอดจนสถานะอันล่วงละเมิดมิได้สมัยใหม่[9]: 37–8  นับแต่นั้น คำวินิจฉัยของศาลและการตีความของนักวิชาการกฎหมายได้เปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมืองมาเป็นพระมหากษัตริย์ไม่สามารถถูกวิจารณ์ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ[9]: 38–9  ในพุทธทศวรรษ 2530 ยังมีนักวิชาการเริ่มตีความว่าประชาชนและพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกันอีกด้วย[9]: 36 

สังเกตว่าได้เกิดปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป หรือแม้แต่ในคำพิพากษาของศาล มักใช้ถ้อยคำในการกล่าวถึงการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ที่ไม่ได้เป็นการกระทำที่ระบุไว้ในกฎหมาย (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย) เช่น ล่วงเกิน, จาบจ้วง, ลบหลู่, อาจเอื้อม, ก้าวล่วง, ย่ำยี, ลามปาม, ขาดความเคารพสักการะ, มิบังควร, ไม่เทิดทูน, หมิ่นเหม่, กระทบกระทั่ง, ไม่เหมาะสม เป็นต้น[9]: 38  ตัวอย่างที่ศาลพิเคราะห์ว่า "ดูหมิ่น" เช่น คำปราศรัยหาเสียงของวีระ มุสิกพงศ์ ในปี 2531 ตอนหนึ่งว่า "ถ้าผมเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้ว ตื่นอีกที่ก็บ่ายสามโมง" ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการ "กล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท" หรือกรณีบุคคลใช้ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านมาเช็ดโต๊ะในปี 2519[3]: 134 

ในยุควิกฤตการเมือง

คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ปี 2550–60[64]
ปีจำนวนคดี
255036
255155
2552104
255365
255437
255525
255657
255799
2558116
2559101
2560 (9 เดือน)45

ตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2548 ระบบศาลไทยมีคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเพียงสี่หรือห้าคดีต่อปี ทว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2549 ถึงพฤษภาคม 2554 มีการพิจารณากว่า 400 คดี หรือประเมินว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,500[65] ผู้สังเกตการณ์ให้เหตุผลถึงการเพิ่มขึ้นดังกล่าวว่า เกิดจากการแยกเป็นสองขั้วเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 และความละเอียดอ่อนต่อพระพลานามัยที่เสื่อมลงของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระชราภาพ[65] ทั้งนี้แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 พาดพิงถึงผู้ที่พระองค์ทรงขอมิให้มองข้ามธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ก็ตาม[66]

ช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ นักการเมืองพรรคไทยรักไทยและพรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนขบวนการต่อต้านรัฐบาล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่างฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยใส่กัน[10]: 124  ในรัฐประหารปี 2549 คณะรัฐประหารอ้างเหตุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นสาเหตุหนึ่ง[12][67][68][69] หลังจากนั้น มีคำสั่งปิดสถานีวิทยุหลายสิบแห่งด้วยข้อหาดังกล่าว[70]

แผ่นป้ายในกรุงเทพมหานครแจ้งว่าให้งด "ถูกใจ" หรือ "แบ่งปัน" ภาพหรือเนื้อหาในสื่อสังคมเพื่อ "ร่วมกันปกป้องสถาบัน[พระมหากษัตริย์]"

ก่อนหน้ารัฐประหารปี 2549 จำเลยของคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงและบุคคลนอกรัฐธรรมนูญ แต่หลังปี 2550 มีบุคคลทั่วไปถูกฟ้องร้องด้วยเป็นจำนวนมาก[10]: 124  นอกจากนี้ก่อนหน้าปี 2550 ไม่มีจำเลยคนใดได้รับโทษจำคุกเกิน 10 ปี และยิ่งเวลาผ่านไป โทษยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ๆ[9]: 40–1  แนวทางการพิจารณาคดีมาตรา 112 ในระยะหลังชัดเจนว่าใช้อุดมการณ์นิยมเจ้าและชาตินิยมเข้ามาตีความมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น พรรณนาความประวัติศาสตร์ชาติไทย อ้างอิงพระราชกรณียกิจ เชื่อมโยงเข้ากับความเป็นไทย และความรู้สึกของประชาชนภายในชาติ[9]: 42 

มีนักวิชาการถูกสอบสวน จำคุกหรือถูกบังคับให้ลี้ภัยจากความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ในปี 2550 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ต้องหาหลังออกข้อสอบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่ และสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถปฏิรูปให้เข้ากับระบบประชาธิปไตยได้หรือไม่[71] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ ถูกจับหลังเสนอแผนแปดข้อว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[72][73] รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ลี้ภัยหลังหนังสือ A Coup for the Rich ของเขาตั้งคำถามถึงบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในรัฐประหารเมื่อปี 2549[74] ในเดือนมีนาคม 2554 มีการตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมุ่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง ถูกทำร้ายร่างกายกลางวันแสก ๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[75]

รายงานประจำปี 2557 ของฮิวแมนไรท์วอตช์ ว่า แม้การจับกุมและพิพากษาลงโทษฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยจะลดลงมากในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ยังมีการใช้กฎหมายดังกล่าวร่วมกับพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ผู้ถูกตั้งข้อหานี้มักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำหลายเดือนก่อนมีการไต่สวนในชั้นศาล และคำพิพากษาส่วนใหญ่เป็นการลงโทษอย่างรุนแรง[20] ยิ่งลักษณ์ว่ารัฐบาลตนจะไม่ปฏิรูปกฎหมายนี้[76]

หลังรัฐประหารปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้อำนาจศาลทหารดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[77] ศาลทหารลงโทษหนักกว่าศาลพลเรือนอยู่เป็นนิจ ในเดือนสิงหาคม 2558 ศาลทหารลงโทษจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็งสำหรับการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 กระทง รวม 60 ปี ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเพราะจำเลยรับสารภาพ นับเป็นโทษจำคุกยาวนานที่สุดสำหรับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[78][79] ทั้งนี้รัฐบาลทหารไม่ประสบความสำเร็จในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวจากต่างประเทศเลย[80] ไอลอว์ องค์การไม่แสวงผลกำไร รายงานว่ามีการกักขังบุคคลเป็นเวลาสูงสุด 7 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา มีการใช้การพิจารณาคดีลับ มีการยึดอุปกรณ์สือ่สารส่วนบุคคลเพื่อหาหลักฐานด้วย[81]

ในปี 2558 หนังสือพิมพ์ ประชาไท สรุปการกระทำที่มีความผิดในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เช่น การวาดกราฟิตีในห้องน้ำ ส่งท่าทางภาษามือ ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ฉีกทำลายหรือเหยียบย่ำพระบรมฉายาลักษณ์[82] มีนางพยาบาลที่แต่งชุดดำในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรถูกฟ้องคดีด้วย[83]

รัชกาลที่ 10 : แนวโน้มใหม่

"...อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว..."[84][85]

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เตือนการเคลื่อนไหวละเมิดสถาบันเบื้องสูง

ไม่นานหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ถูกดำเนินคดีฐานแบ่งปันพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซีไทย เขาเป็นคนเดียวที่ถูกจับ ทั้งที่มีคนแบ่งปันบทความดังกล่าวกว่า 2,600 คนและสำนักข่าวไม่ถูกดำเนินคดี[86] ในเดือนพฤษภาคม 2560 รัฐบาลแถลงว่าแค่การเข้าชมเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ถือว่าละเมิดกฎหมายแล้ว[87]

ในปี 2560 มีคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเด็กอายุ 14 ปีถูกดำเนินคดีด้วย นับเป็นการดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยครั้งแรกต่อผู้เยาว์[88] คดีที่ประเวศ ประภานุกูล ทนายความ ตกเป็นจำเลยเพราะข้อความในเฟซบุ๊ก เขาต่อสู้คดีโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม เพราะเห็นว่าศาลกระทำการในพระปรมาภิไธยและขาดความเป็นกลาง[88] สุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกฟ้องคดีเนื่องจากตั้งคำถามถึงข้อเท็จจริงของยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช[88] และมีหลายกรณีที่ทางการไม่ได้ดำเนินคดี แต่ใช้มาตรการกดดันอย่างอื่นแทน เช่น ควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน, ให้ลงนามเอกสารรับเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง, ถูกตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสาร, ถูกให้กดยกเลิกการติดตาม (Unfollow) เพจต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือถูกให้พูดต่อหน้ากล้องวีดีโอเพื่อแสดงความจงรักภักดี[88]

ตั้งแต่ปี 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์การช่วยเหลือด้านกฎหมาย ระบุว่าไม่มีคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใหม่เท่าที่ทราบ คำสั่งอัยการสูงสุดลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ออกแนวปฏิบัติใหม่สำหรับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้บัดนี้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว และในเดือนมิถุนายน 2561 มีการออกระเบียบใหม่ให้อัยการใช้ดุลยพินิจไม่สั่งดำเนินคดีสำหรับกรณีที่จะไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ[57] เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ศาลยกฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่จำเลยรับสารภาพแล้ว และผู้ต้องขังได้รับการประกันตัวในบางคดี[57] อย่างไรก็ดี พบว่าทางการนิยมฟ้องตามกฎหมายอื่นแทน เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหมายปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง[57] เช่น จากโพสต์ #ขบวนเสด็จ ที่พูดถึงการปิดถนนให้ขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ผ่านในปี 2562 ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์[89]

ไม่นานหลังรัฐบาลประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้กระทำผิดระหว่างการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 ศาลพิพากษาจำคุกหญิงคนหนึ่ง 43 ปีจากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก[90] ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำผู้ประท้วง[91] อีกทั้งมีข่าวลือบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าประธานศาลฎีการับว่ามีคนนอกแทรกแซงการห้ามประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎร[92]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ธนลภย์ ผลัญชัย นักเรียนหญิงสมาชิกกลุ่มนักเรียนล้มฯ อายุ 14 ปี[93][94] ได้รับหมายเรียกในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[95]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ) ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งให้พรรคก้าวไกลซึ่งได้หาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เลิกการกระทำดังกล่าว โดยให้อัยการสูงสุดดำเนินการภายใน 15 วัน เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 49 โดยยึดคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่วินิจฉัยว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง[96] เป็นแนวบรรทัดฐานในการดำเนินการกับพรรคก้าวไกล[97] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว ธีรยุทธจึงยื่นซ้ำต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน[98] สิบวันต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดก่อน[99] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ จึงรับคำร้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม หรือเพียงหนึ่งวันก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก[100] และส่งผลให้ สส. และ สว. จำนวนมาก ใช้เหตุผลนี้ในการไม่สนับสนุนให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี[101]

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำทั้งหมดข้างต้นตามวรรค 2 ในทันที[102]

มาตรการ

การควบคุมไซเบอร์

สำนักงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศมี "วอร์รูม" เพื่อเฝ้าติดตามหน้าที่มีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการใช้เว็บครอว์เลอร์เพื่อค้นหาอินเทอร์เน็ต เมื่อพบภาพหรือภาษาที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท สำนักงานฯ จะขอคำสั่งศาลเพื่อสกัดกั้นเว็บไซต์ ในเดือนตุลาคม 2551 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกาศแผนใช้งบประมาณ 100–500 ล้านบาทสร้างเกตเวย์เพื่อสกัดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว[103] ในปี 2551 มีการสกัดกั้นเว็บไซต์กว่า 4,800 หน้า[104] จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60,000 เว็บไซต์ในเดือนธันวาคม 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 หน้าในปี 2554[105]

ในปี 2550 รัฐบาลไทยสั่งปิดการเข้าถึงยูทูบเพราะปล่อยให้มีคลิปวิดีโอดูหมิ่นพระมหากษัตริย์[106][107] เว็บไซต์ของฟ้าเดียวกันถูกปิดเพราะปล่อยให้มีความเห็นเชิงดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[108]

ในเดือนตุลาคม 2559 รัฐบาลตั้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) มีหน้าที่ติตดามสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยและการเผยแพร่ข่าวสารที่ส่งผลต่อความมั่นคง และในกองทัพบกได้เปลี่ยนจาก "ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร" เป็น "ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก" มีหน้าที่ติดตามการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ส่วนศูนย์ประสานการปฏิบัติของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้ดูแลเว็บไซต์หมิ่นพระมหากษัตริย์ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และโครงการพระราชดำริ[21] ในปี 2559 เฟซบุ๊กบล็อกผู้ใช้ในประเทศไทยมิให้เข้าถึงเพจที่เสียดสีพระราชวงศ์โดยอ้างกฎหมายนี้ ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลทหารสามารถได้ปูมแชตส่วนตัวของผู้ใช้ได้[109] ในปี 2560 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกคำสั่งห้ามติดต่อกับบุคคลออนไลน์ รวมถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์[88]

การตรวจพิจารณา

มีสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ถูกห้ามขายหรือตรวจพิจารณาเนื่องจากเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เช่น วารสาร ดิอีโคโนมิสต์ ในปี 2545,[110] นิตยสาร ฟ้าเดียวกัน,[111] หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ในปี 2558,[112] วารสาร มารี แคลร์ ในปี 2559[113][114]

การตีสนิททางสื่อสังคม

พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็งที่ถูกพิพากษาจำคุกเมื่อปี 2558 เล่าว่า บุคคลที่เขาติดต่อด้วยทางเฟซบุ๊กน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ปลอมตัวมาทำความรู้จักเขา เขาและบุคคลดังกล่าวพูดคุยกันทางเฟซบุ๊กราว 4-5 เดือนจนมีการนัดหมายเพื่อไปเที่ยวบ้านบุคคลดังกล่าวที่จังหวัดตาก มีการติดต่อกันตลอดทางว่าเขาเดินทางถึงไหน รวมถึงการเปลี่ยนรถที่ท่ารถ จ.พิษณุโลกด้วย เขายังระบุว่าด้วยว่าภายหลังถูกจับกุมแล้วนำมาสอบสวนในค่ายทหาร หนึ่งในเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทักเขาว่า จำข้อความสุดท้ายที่ส่งให้กันไม่ได้หรือ[115]

การใช้จิตเวชศาสตร์โดยมิชอบทางการเมือง

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ทิวากร วิถีตน ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์รูปตนเองสวมเสื้อ "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" ถูกตำรวจบังคับควบคุมตัว และถูกรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ในจังหวัดขอนแก่น[116] ทิวากรให้สัมภาษณ์ว่า ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมืองในการทำให้ผู้คนเข้าใจว่าผมบ้า ผมไม่โกรธใครหากมีคำวินิจฉัยว่าผมบ้า เพราะผมเข้าใจว่าพวกเขาต้องทำตามคำสั่งเช่นกัน[117] เขาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านในวันที่ 23 กรกฎาคม

บริบทและผลกระทบทางสังคม

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงได้รับการยกย่องแบบสมมติเทพ[118]

กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มีความสอดคล้องกับพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตีความว่าการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ก็เปรียบเสมือนดูหมิ่นประชาชนอันเป็นที่มาของพระราชอำนาจด้วย[9]: 26–7 

สถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น มาจากข้อกำหนดโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมือง และละเว้นนการกระทำใด ๆ ทางการเมืองโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (The King Can Do No Wrong. The King Can Do Nothing.)[9]: 33  อย่างไรก็ดี หลังการฟื้นฟูพระราชอำนาจและบทบาทในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงมีภาพลักษณ์เป็น "กษัตริย์ประชาธิปไตย" ผู้รักษาและค้ำประกันชาติและประชาธิปไตย มีการตีความ "เหนือการเมือง" ใหม่ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐบาลและระบบรัฐสภา ทำให้พระราชกรณียกิจไม่ถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมือง[9]: 34  จนเมื่อสถานะและพระราชอำนาจได้รับการเสริมสร้างอย่างมั่นคง ในพุทธทศวรรษ 2540 ก็มีนักกฎหมายตีความว่า พระมหากษัตริย์รงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองทั้งปวง และทรงอยู่เหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์ในทุกกรณี"[9]: 38  ในปัจจุบันมีผู้เห็นแย้งอยู่บ้าง เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ระบุว่า "ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้" หมายถึงว่าผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ไม่ใช่การห้ามวิจารณ์พระมหากษัตริย์ ด้านจรัล โฆษณานันท์ มองว่า เป็นมาตรากฎหมายห้ามการละเมิดทางรัฐธรรมนูญ เช่น แก้ไขกฎหมายเพื่อเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือในทางกฎหมายอาญา[9]: 44 

เดวิด สเตร็กฟัส (David Streckfuss) นักวิชาการเรื่องความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ออกความเห็นว่าความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นปัจจัยนิยามอย่างหนึ่งของ "สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่" (neo-absolutism) ในประเทศไทย[10]: 110  โดยกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่านั้นใช้เพื่อคุ้มครองระบบอำนาจ[10]: 113  สื่อมวลชนกระแสหลักของไทยสนับสนุนการใช้กฎหมายดังกล่าว และเลี่ยงไม่รายงานข่าวเกี่ยวกับกฎหมายนี้เสีย นอกจากนี้ยังละเว้นไม่กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง[10]: 117  ในช่วงสงครามเย็น ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และลัทธิคอมมิวนิสต์เคยเป็นบทนิยามของคนทรยศอย่างสูงสุด แต่หลังจากลัทธิคอมมิวนิสต์เสื่อมลง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้เริ่มใช้นิยามคนทรยศประเภทใหม่อย่างเดียว[10]: 127 

ไมเคิล คอนนอส์ ศาสตราจารย์วิชาสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะคู่คือเป็นตัวการของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง และเป็นจิตวิญญาณของชาติที่มีความเหลื่อมล้ำเห็นได้ชัดระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ฉะนั้นจึงต้องมีภาพลักษณ์ที่ได้รับการควบคุม จากบทบาทที่มีการควบคุม การบังคับให้แสดงความเคารพต่อสถาบัน และแรงกดดันของการคล้อยตามทางสังคมทำให้คนจำนวนมากรู้สึกขมขื่นแต่มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่กล้าแสดงออก อภิชนของไทยกลัวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกล้อเลียนเหมือนกับพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรหากเปิดกว้างให้ทบทวน[3]: 133–4 

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นอาวุธทางการเมืองที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย และมีการกล่าวหาเพิ่มขึ้นมากในช่วงกลียุคทางการเมือง[62]: 2  กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่ากฎหมายนี้ใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการพูด[119] นักรัฐศาสตร์ ใจ อึ๊งภากรณ์ หมายเหตุว่า "กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มิได้ออกแบบมาเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ในอดีต กฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อปกป้องรัฐบาล ปกป้องรัฐประหาร ภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนอภิชนอนุรักษนิยมนอกกำแพงพระราชวัง"[120] ซึ่งเป็นทัศนะเดียวกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์[7] อย่างไรก็ดี คอนนอส์แย้งว่าถึงแม้ผู้ใดจะใช้เป็นอาวุธทางการเมืองก็ตาม แต่ก็ยังเป็นผลประโยชน์ของราชสำนักอยู่เป็นอาจิณ[3]: 134 

นูเดลแมน (2561) เขียนว่า กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยไม่ใช่ฉันทามติของสังคม แต่เป็นผลของระบอบเผด็จการที่คิดคำนวณขึ้นมา[121]: 24  ทำให้เกิดข่าวลือใต้ดินที่พิสูจน์ไม่ได้ส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ และแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องแต่งจากกันได้ยาก[121]: 25  รวมถึงอาจกระพือทัศนะสาธารณรัฐนิยม[121]: 25 

ปฏิกิริยา

สนับสนุน

ศาสตราจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นักวิชาการกฎหมาย สนับสนุนกฎหมายนี้ โดยยกว่าประเทศต่าง ๆ จำกัดเสรีภาพในการพูดตามพฤติการณ์วัฒนธรรมและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว[10]: 129  แต่เสนอให้แก้ไขให้อัยการสูงสุดมีสิทธิ์ขาดในสืบสวนและสั่งฟ้องแต่ผู้เดียว จะอุทธรณ์คำสั่งหรือจะเอาผิดอัยการสูงสุดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิได้[122] ฐนาพงษ์ (2554) เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวหาได้เป็นบทบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีขอบเขตชัดเจน หรือโดยเด็ดขาด มิได้ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีความเหมาะสมเนื่องจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทยแล้ว[39]: 217  มีเพียงเสนอแนะเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ควรใช้หลักเจตนาประเภทย่อมเล็งเห็นผลมาปรับใช้เพิ่มเติมเท่านั้น[39]: 220  เช่นเดียวกับน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการ ที่เห็นว่าเป็นเพียงกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อระบอบประชาธิปไตย เขาว่าไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีผู้ใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหว และเสนอให้ป้องกันการแอบอ้างเท่านั้น[123]

มีข้าราชการไทยกล่าวว่ากฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไม่ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไป มีผู้ใช้สิทธิของตนเผยแพร่ข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือสารสนเทศที่บิดเบียนเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกเกลียดชัง ทั้งนี้ผู้ต้องหาในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม มีโอกาสต่อสู้คดีและความช่วยเหลือจากทนายความ และมีสิทธิอุทธรณ์[124]

ในเดือนพฤษภาคม 2559 พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ต่างประเทศไม่เข้าใจว่าเหตุใดประเทศไทยจึงต้องมีกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะประเทศเหล่านั้นไม่ "ศิวิไลซ์" และมีวัฒนธรรมสูงส่งเหมือนเรา[125]

ผู้พิพากษาในคดี ทอม ดันดี กล่าวว่า พร้อมจะสั่งลงโทษรุนแรงกว่านั้น (7 ปี 6 เดือน) แต่ได้รับคำแนะนำให้สั่งลงโทษเบาลงจากรองประธานศาล[126]

คัดค้าน

"แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน"[8]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, 4 ธันวาคม 2548

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ยกตัวอย่างจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีซึ่งจับคนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากที่สุด แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ของเยอรมนีก็สิ้นไปในรัชกาลของพระองค์นั่นเอง สุลักษณ์ว่าเขาเสียใจที่ไม่มีปัญญาชนเห็นโทษของกฎหมายนี้ และเป็นเพียง "ปศุสัตว์เชื่อง ๆ"[7]

องค์การนิรโทษกรรมสากลมองว่า ทุกคนที่ถูกจำคุกด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นนักโทษการเมือง[127]

ในเว็บไซต์เอเชียนคอร์เรสปอนเดนท์ ให้ความเห็นว่า การใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์กำลังบ่อนทำลายระบบตุลาการและกฎหมายไทยอย่างร้ายแรง[128]

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะนิวซีแลนด์เฮรัลด์ วันที่ 12 มกราคม 2558 ว่า "การวิจารณ์พระบรมวงศานุวงศ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยแน่นอน การห้ามนั้นดูเหมือนมาจากยุคกลาง อันที่จริง การแนะว่า พระบรมวงศานุวงศ์ควรได้รับความคุ้มกันจากการวิจารณ์จะเป็นการเหยียบย่ำหลักการซึ่งเป็นมูลฐานของประชาธิปไตยสมบูรณ์ใด ๆ แต่คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของประเทศไทยเพิ่มการฟ้องคดีอาญาความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องสงสัยว่า คณะทหารฯ จะอ้างว่าเป็นการสนองต่อชาวไทยส่วนใหญ่ซึ่งยังเคารพราชวงศ์ ทว่า ส่วนใหญ่มันชี้ไปยังพันธะซึ่งมาจากการสนับสนุนของพระมหากษัตริย์"[129]

การเรียกร้องให้ปฏิรูป

โดยที่ปรากฏเป็นทั่วไปว่าการฟ้องร้องบุคคลตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ใครก็ได้สามารถฟ้องร้องบุคคลใดก็ตามที่ตนเองคิดว่าน่าจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้และพนักงานสืบสวนมีอำนาจในการวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนสั่งฟ้อง จึงได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายเสียใหม่

  • จดหมายเปิดผนึกถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามโดยนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงทั่วโลก[130] มีข้อเรียกร้องสามข้อ คือ
    1. ให้หยุดการใช้มาตรการที่กดขี่ข่มเหงการแสดงความคิดเห็นของบุคคลโดยสงบเพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
    2. ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด และปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ในเวทีสากล
    3. ให้พิจารณาถอนการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน ปลดปล่อยนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม

กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งมีสมาชิก เช่น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปิยบุตร แสงกนกกุลด้วย โดยมุ่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เขาเสนอให้ลดโทษจำคุกสูงสุดเหลือไม่เกิน 3 ปี ให้มีพฤติการณ์สำหรับอภัยโทษหรือไม่เป็นความผิด และให้เฉพาะสำนักราชเลขาธิการมีอำนาจฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[75] สาวตรี สุขศรี สมาชิกอีกคนหนึ่ง มองว่า "การนินทากาเลมันมีมาตลอดอยู่แล้ว พอมีสื่อที่คนซึ่งเห็นต่างจากคนส่วนใหญ่มาเจอกันได้ มันเลยมีการพูดเรื่องนี้ขึ้นมา บางเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตอาจจะผิด หากเลยกรอบของกฎหมาย แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่คนที่เซ็นซิทีฟ เพราะสังคมไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน อะไรที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคุมไว้ก่อน" และเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อล้มขบวนการอ้างเจ้า[131]

การเรียกร้องให้ยกเลิก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว[132] การเรียกร้องมีขึ้นเนื่องจากผู้เข้าร่วมเสาวนาอ้างว่ามีผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนมาก ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการเปิดตัวกลุ่มกิจกรรม “มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้” โดยมีกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จิตรา คชเดช ผู้ถูกเลิกจ้างจากความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย เป็นแกนนำ[133]

หลังการถูกบังคับให้สูญหายซึ่งวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ต้องหาคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ในเดือนมิถุนายน 2563 แฮชแท็ก #ยกเลิก112 ได้ติดอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ โดยมีรีทวีตกว่า 500,000 ครั้ง เพราะเชื่อว่าข้อกล่าวหานี้เป็นเหตุจูงใจ[134]

ในงานดนตรี "6 ตุลาหวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป" เมื่อปี 2565 เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันเมื่อผู้ร่วมการแสดงบางส่วนไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในงาน โดยผู้เข้าชมไม่พอใจนักกิจกรรมเนื่องจากผู้จัดแจ้งว่าจะหยุดงานจนกว่านักกิจกรรมจะยุติการเรียกร้องภายในงาน[135]

เชิงอรรถ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง