รอบประจำเดือน

รอบประจำเดือน เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติสม่ำเสมอที่เกิดขึ้นในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (โดยเฉพาะมดลูกและรังไข่) ซึ่งทำให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้[1][2] รอบประจำเดือนมีความจำเป็นต่อการผลิตเซลล์ไข่ และเตรียมมดลูกสำหรับการตั้งครรภ์[1] รอบประจำเดือนเกิดขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นและลดลงของเอสโตรเจน วงจรนี้ส่งผลให้ความหนาของเยื่อบุมดลูกและการเจริญเติบโตของไข่ ไข่จะถูกปล่อยออกจากรังไข่ประมาณวันที่ 14 ในรอบ; เยื่อบุผิวที่หนาขึ้นของมดลูกให้สารอาหารแก่ตัวเอ็มบริโอหลังฝังตัว หากไม่เกิดการตั้งครรภ์ เยื่อบุจะถูกปล่อยออกมาเกิดเป็นประจำเดือน หรือ "รอบเดือน"[3]

ภาพแสดงความก้าวหน้าของรอบประจำเดือนและฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

หญิงถึง 80% รายงานว่ามีอาการในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน[4] อาการที่พบบ่อย ได้แก่ สิว เจ็บเต้านม ท้องอืด รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิดและพื้นอารมณ์แปรปรวน[5] อาการเหล่านี้รบกวนชีวิตปกติและจัดเป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในหญิง 20 ถึง 30% และใน 3 ถึง 8% เป็นอาการที่รุนแรง[4]

รอบแรกมักเริ่มระหว่างอายุ 12 ถึง 15 ปี เรียก การเริ่มแรกมีระดู (menarche)[6] แต่อาจพบได้เร็วสุดอายุ 8 ปี ซึ่งยังถือว่าปกติอยู่[3] อายุเฉลี่ยของรอบแรกในหญิงประเทศกำลังพัฒนาพบช้ากว่าในหญิงประเทศพัฒนาแล้ว ระยะเวลาตรงแบบระหว่างวันแรกของรอบแรกจนถึงวันแรกของรอบถัดไป คือ 21 ถึง 45 วันในหญิงสาว และ 21 ถึง 35 วันในผู้ใหญ่ (เฉลี่ย 28 วัน[3][7][8]) ประจำเดือนหยุดเกิดขึ้นหลังวัยหมดระดู ซึ่งปกติเกิดระหว่างอายุ 45 และ 55 ปี[9] ปกติเลือดออกประมาณ 3 ถึง 7 วัน[3]

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นตัวกำหนดรอบประจำเดือน[3] การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์[10] รอบหนึ่งแบ่งออกเป็นสามระยะตามเหตุการณ์ในรังไข่ (รอบรังไข่) หรือในมดลูก (รอบมดลูก)[1] รอบรังไข่ประกอบด้วยระยะถุงน้อย (follicular), การตกไข่ และระยะลูเทียม (luteal) ขณะที่รอบมดลูกแบ่งออกเป็นระยะมีประจำเดือน ระยะเพิ่มจำนวน (proliferative) และระยะหลั่ง (secretory)

การขับเลือดประจำเดือนหยุดเมื่อปริมาณเอสโตรเจนค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในระยะถุงน้อย และเยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้น ถุงน้อยในรังไข่เริ่มเติบโตภายใต้อิทธิพลของอันตรกิริยาระหว่างฮอร์โมนหลายชนิด และหลังผ่านไปหลายวัน ถุงน้อยจะเด่น (dominant) ขึ้นมาหนึ่งหรือสองถุง ส่วนถุงน้อยที่เหลือฝ่อลงและตายไป ประมาณกลางรอบ 24–36 ชั่วโมงหลังจากการเพิ่มขึ้นกระทันหันของฮอร์โมนลูทีไนซิง (luteinizing hormone, "ทำให้เหลือง") ถุงน้อยเด่นจะปล่อยเซลล์ไข่ออกมา เรียกเหตุการณ์นี้ว่า การตกไข่ หลังการตกไข่ เซลล์ไข่อยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหากไม่มีการปฏิสนธิ ส่วนถุงน้อยเด่นที่เหลืออยู่ในรังไข่จะกลายเป็นคอร์ปัสลูเทียม (corpus luteum, "กายเหลือง") ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตโปรเจสเตอโรนปริมาณมาก ภายใต้อิทธิพลของโปรเจสเตอโรน เยื่อบุมดลูกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมรับการฝังตัวของเอ็มบริโอที่อาจเกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดการตั้งครรภ์ หากการฝังไม่เกิดขึ้นภายในประมาณสองสัปดาห์ คอร์ปัสลูเทียมจะม้วนเข้า ทำให้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว การลดลงของฮอร์โมนทำให้มดลูกสลัดเยื่อบุทิ้ง เป็นกระบวนการที่เรียก การมีประจำเดือน การมีประจำเดือนยังเกิดขึ้นในไพรเมตที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ด้วย คือ ลิงไม่มีหางและลิง[11]

การเริ่มต้นและความถี่

แผนภาพแสดงการสร้างเยื่อบุมดลูกและการสลายระหว่างรอบประจำเดือน

อายุเฉลี่ยของการเริ่มแรกมีระดู คือ 12–15 ปี[6][12] ทั้งนี้บางทีเด็กอายุตั้งแต่ 8 ปีเริ่มมีประจำเดือนแล้ว และยังถือว่าปกติอยู่[3] คาบแรกนี้มักจะเกิดในหญิงประเทศกำลังพัฒนาช้ากว่าในหญิงประเทศพัฒนาแล้ว[8]

อายุเฉลี่ยของการเริ่มแรกมีระดู ได้แก่ ประมาณ 12.5 ปีในสหรัฐ[13] 12.7 ปีในแคนาดา[14] 12.9 ปีในสหราชอาณาจักร[15] และ 13.1 ปีในไอซ์แลนด์[16] ปัจจัยต่าง ๆ เช่น พันธุศาสตร์ อาหารและสุขภาพโดยรวมอาจมีผลต่อเวลาดังกล่าว[17]

การหยุดรอบประจำเดือน ณ จุดสิ้นสุดของวัยเจริญพันธุ์ของหญิง เรียก วัยหมดระดู อายุเฉลี่ยของวัยหมดระดูในหญิงคือ 52 ปี และปกติพบระหว่าง 45 และ 55 ปี วัยหมดระดูก่อนอายุ 45 ถือว่า "ก่อนกำหนด" ในประเทศอุตสาหกรรม[18] อายุของวัยหมดระดูเป็นผลมาจากปัจจัยทางวัฒนธรรมและชีวภาพเช่นเดียวกับอายุของการเริ่มแรกมีระดู[19] อย่างไรก็ตาม ความเจ็บป่วย การผ่าตัดบางอย่าง หรือการรักษาทางการแพทย์อาจทำให้วัยหมดประจำเดือนเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติได้[20]

ความยาวของรอบประจำเดือนหญิงนั้นแปรผันได้บ้าง คือ บางรอบสั้นบางรอบยาว หญิงที่มีความแตกต่างระหว่างรอบสั้นที่สุดและยาวที่สุดไม่เกิน 8 วันถือว่ามีรอบประจำเดือนสม่ำเสมอ ทั้งนี้ปกติหญิงมีความแปรผันของความยาวรอบหนึ่งไม่เกิน 4 วัน ความแปรผันของความยาวระหว่าง 8 ถึง 20 วันถือว่ามีรอบไม่สม่ำเสมอปานกลาง ส่วนความแตกต่างเกิน 21 วันถือว่าไม่สม่ำเสมออย่างยิ่ง[21]

รอบประจำเดือนเฉลี่ยกินเวลา 28 วัน หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปีมีความแปรปรวนของความยาวรอบประจำเดือนสูงสุด และอายุ 25 ถึง 39 ปีต่ำสุดหรือสม่ำเสมอที่สุด[7] ต่อจากนั้นความแปรปรวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสำหรับหญิงอายุ 40 ถึง 44 ปี[7]

ระยะลูเทียม (หลังตกไข่) ของรอบประจำเดือนนั้นมีความยาวเกือบเท่ากันในบุคคลส่วนใหญ่ (เฉลี่ย 14.13 วัน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.41 วัน)[22] ขณะที่ระยะถุงน้อยมีแนวโน้มแปรปรวนมากกว่า (การแจกแจงล็อกปกติ 95% ของบุคคลมีระยะถุงน้อยอยู่ระหว่าง 10.3 ถึง 16.3 วัน)[23] ระยะถุงน้อยยังดูเหมือนสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญตามอายุ (ค่าเฉลี่ยเรขาคณิต 14.2 วันในหญิงอายุ 18–24 ปีเทียบกับ 10.4 วันในหญิงอายุ 40–44 ปี)[23]

ผลกระทบต่อสุขภาพ

กายภาพ

หญิงบางส่วนที่มีอาการทางระบบประสาทมีอาการกำเริบเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกับรอบประจำเดือนแต่ละรอบ ตัวอย่างเช่น ทราบกันว่าการลดระดับเอสโตรเจนเป็นปัจจัยกระตุ้นของไมเกรน[24] โดยเฉพาะเมื่อหญิงที่ป่วยเป็นไมเกรนนั้นกำลังรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ด้วย หญิงหลายคนที่เป็นโรคลมชักมีอาการชักมากขึ้นในแบบรูปที่เชื่อมโยงกับรอบประจำเดือน เรียกว่า "โรคลมชักที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน" (catamenial epilepsy)[25] ทั้งนี้ดูเหมือนโรคลมชักที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนมีหลายแบบรูป (เช่น โรคลมชักที่สอดคล้องกับเวลามีประจำเดือน หรือสอดคล้องกับเวลาตกไข่) และยังไม่มีการศึกษาความถี่ของอาการชักแน่ชัด การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งพบว่า เมื่อใช้บทนิยามจำเพาะหนึ่งมาอธิบาย หญิงที่มีโรคลมชักชนิดจำกัดเฉพาะส่วนที่ดื้อยากันชัก (intractable partial epilepsy) ประมาณหนึ่งในสามเป็นโรคลมชักที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน[25][26][27] มีการเสนอว่าผลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ลดลงและเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวกระตุ้นอาการชัก[28] เมื่อไม่นานมานี้ การศึกษาแสดงว่าเอสโตรเจนขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการชักหรือทำให้อาการทรุดลง ในขณะที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขนาดสูงสามารถออกฤทธิ์คล้ายยากันชัก[29] การศึกษาโดยวารสารการแพทย์พบว่าหญิงขณะที่มีประจำเดือนนั้นมีโอกาสพยายามฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มควบคุม 1.68 เท่า[30]

มีการใช้หนูเป็นระบบทดลองเพื่อตรวจสอบกลไกที่เป็นไปได้ ในการใช้ระดับสเตอรอยด์เพศอาจควบคุมการทำหน้าที่ของระบบประสาท ระหว่างส่วนหนึ่งของรอบเป็นสัด (estrous) ของหนูเมื่อโปรเจสเตอโรนมีระดับสูงสุด ตัวรับกาบาของเซลล์ประสาท ชนิดย่อยเดลตา มีระดับสูงสุดด้วย เนื่องจากตัวรับกากบาเหล่านี้เป็นชนิดยับยั้ง เซลล์ประสาทที่มีตัวรับเดลตามากกว่าจะมีโอกาสปล่อยสัญญาณน้อยกว่าเซลล์ที่มีน้อยกว่า ระหว่างส่วนของรอบเป็นสัดของหนูที่ระดับเอสโตรเจนสูงกว่าโปรเจสเตอโรน ระดับของตัวรับเดลตาลดลง เพิ่มกัมมันตภาพของเซลล์ประสาท จึงเพิ่มความวิตกกังวลและความไวรับต่อการชัก[31]

ระดับเอสโตรเจนอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของต่อมไทรอยด์[32] ตัวอย่างเช่นในระยะลูเทียม (เมื่อระดับเอสโตรเจนต่ำ) การไหลเวียนของเลือดในต่อมไทรอยด์มีความเร็วต่ำกว่าในระยะถุงน้อย (เอสโตรเจนสูง)[33]

ในหมู่หญิงที่อยู่ด้วยกันใกล้ชิด ครั้งหนึ่งเคยคิดกันว่าการเริ่มต้นมีประจำเดือนจะเกิดพร้อม ๆ กัน ปรากฏการณ์นี้มีการอธิบายครั้งแรกในปี 2514 และมีคำอธิบายที่เป็นไปได้ว่าเป็นฤทธิ์ของฟีโรโมนในปี 2541[34] การวิจัยในครั้งหลังตั้งคำถามถึงสมมติฐานดังกล่าว[35]

การวิจัยชี้ว่าหญิงมีความน่าจะเกิดการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าในระยะก่อนตกไข่สูงกว่าระยะหลังตกไข่หลังมีนัยสำคัญ[36]

ภาวะเจริญพันธุ์

หน้าต่างเจริญพันธุ์ โอกาสของการปฏิสนธิจากการร่วมเพศตามวันที่ของรอบประจำเดือนโดยสัมพัทธ์กับวันที่ตกไข่[37]

ช่วงที่มีภาวะเจริญพันธู์สูงสุด (หรือเวลาที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุดจากการมีเพศสัมพันธ์) กินเวลาตั้งแต่ประมาณ 6 วันก่อนการตกไข่ จนถึง 2 วันหลังการตกไข่ (ประมาณ 8 วัน)[37] ในรอบ 28 วันที่มีระยะลูเทียม 14 วันจะตรงกับประมาณสัปดาห์ที่ 2 จนถึงต้นสัปดาห์ที่ 3 มีการพัฒนาหลายวิธีขึ้นเพื่อช่วยให้หญิงกะประมาณวันที่ค่อนข้างเจริญพันธุ์และค่อนข้างไม่เจริญพันธุ์ในรอบเดือน เรียกว่า การนับระยะปลอดภัย (fertility awareness)

มีวิธีทดสอบภาวะเจริญพันธุ์หลายชนิด รวมถึงชุดตรวจปัสสาวะที่ตรวจจับฮอร์โมนในปัสสาวะ อุณหภูมิกายขณะพัก ผลการทดสอบปัสสาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงของเมือกปากมดลูก วิธีการนับระยะปลอดภัยซึ่งอาศัยบันทึกความยาวรอบประจำเดือนอย่างเดียว เรียก วิธีที่อาศัยปฏิทิน (calender-based method)[38][39] วิธีการที่ต้องมีการสังเกตอาการแสดงของภาวะเจริญพันธุ์หลักอย่างน้อยหนึ่งอย่างจากสามอย่าง (อุณหภูมิกายขณะพัก, มูกปากมดลูกและตำแหน่งปากมดลูก)[40] เรียก วิธีที่อาศัยอาการ (symptoms-based method)[38][39] วิธีการที่อาศัยฮอร์โมน เรียก วิธีฮอร์โมน (hormonal method) การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในรอบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น เช่น อุณหภูมิหรือความหนืดของสารคัดหลั่งปากมดลูก วิธีการฮอร์โมนส่วนใหญ่ใช้การตรวจ LH, FSH หรือเอสโตรเจน การทดสอบ LH สามารถใช้ตรวจหาจุดสูงสุดของ LH หรือการเพิ่มกระทันหันของ LH ที่เกิดขึ้น 24 หรือ 36 ชั่วโมงก่อนไข่ตก การทดสอบเหล่านี้เรียก ชุดอุปกรณ์ทำนายการตกไข่ (ovulation predictor kits, OPKs)[41] การทดสอบ FSH ในปัสสาวะสามารถใช้เพื่อตรวจหาปริมาณ FSH ที่ลดลงหรือจุดสูงสุดหรือการเพิ่มขึ้นกระทันหันเมื่อ FSH เริ่มลดลงประมาณ 6 วันก่อนตกไข่ แล้วกลับเพิ่มขึ้นกระทันหันและสูงสุดในเวลาใกล้เคียงกับ LH ทั้งระดับ FSH และ LH โดยสหสัมพันธ์บางทีเป็นตัวชี้วัดการเจริญพันธุ์หรือวัยหมดประจำเดือนด้วย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่แปลผลอุณหภูมิกายขณะพัก ผลลัพธ์การทดสอบปัสสาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอื่น เรียก เครื่องเฝ้าสังเกตภาวะเจริญพันธุ์ (fertility monitors)

ภาวะเจริญพันธุ์ของหญิงยังขึ้นอยู่กับอายุด้วย[42] เมื่อไข่สำรองทั้งหมดของหญิงเกิดขึ้นในทารกในครรภ์[43] ซึ่งกำหนดให้ตกไข่อีกหลายสิบปีต่อมา มีการเสนอว่าช่วงชีวิตยืนยาวนี้อาจทำให้มีโครมาตินของไข่ไวรับต่อปัญหาการแบ่งตัว การเสื่อมสลาย และการกลายพันธุ์มากกว่าโครมาตินของอสุจิ ซึ่งผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเจริญพันธุ์ของชาย แต่แม้มีสมมติฐานนี้ ก็มีการสังเกตพบผลกระทบของอายุบิดาที่คล้ายกันกับอายุมารดาด้วย

จากการวัดหญิงที่ได้รับการปฏิสนธินอกร่างกาย รอบประจำเดือนที่ยาวนานมีความสัมพันธ์กับอัตราการตั้งครรภ์และการคลอดที่สูงขึ้น แม้ปรับอายุแล้ว[44] ประมาณว่าอัตราคลอดหลังจากผสมเทียมในหญิงที่มีความยาวรอบประจำเดือนยาวกว่า 34 วันมีสูงกว่าหญิงที่มีความยาวรอบประจำเดือนน้อยกว่า 26 วันเกือบสองเท่า ความยาวรอบประจำเดือนที่ยาวขึ้นนั้นยังสัมพันธ์กับการตอบสนองของรังไข่ต่อการกระตุ้นด้วยโกนาโดโทรฟินและคุณภาพของเอ็มบริโอดีขึ้น[44]

ตะคริว

หญิงจำนวนมากประสบกับตะคริวที่เจ็บปวด หรือเรียก อาการปวดระดู ระหว่างการมีประจำเดือน[45] ในหญิงอายุน้อย อาการปวดระดูมักเกิดโดยไม่มีโรคพื้นเดิม แต่ในหญิงสูงอายุขึ้น อาจมีโรคซ่อนอยู่เช่นเนื้องอกมดลูกหรือเยื่อบุมดลูกต่างที่[46] พบบ่อยขึ้นในหญิงที่มีประจำเดือนมาก ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ การเริ่มแรกมีระดูก่อนอายุ 12 ปี และผู้มีน้ำหนักกายน้อย[47] และพบน้อยลงในผู้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีลูกเร็ว[47] การรักษาเบื้องต้นมีแผ่นร้อน[46] ยาที่ช่วยได้มียาแก้อักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์อย่างไอบูโพรเฟน ยาเม็ดคุมกำเนิด และห่วงอนามัยคุมกำเนิดที่มีโปรเจสโตเจน[47]

พื้นอารมณ์และพฤติกรรม

ระยะต่าง ๆ ของรอบประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับพื้นอารมณ์ของหญิง ในบางกรณีฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาระหว่างรอบประจำเดือนอาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงด้วย การเปลี่ยนแปลงทางพื้นอารมณ์มีได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงรุนแรง[48] ระยะของรอบประจำเดือนและฮอร์โมนรังไข่อาจทำให้หญิงมีความร่วมรู้สึกเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติในระยะต่าง ๆ ของรอบประจำเดือนได้รับการศึกษาร่วมกับคะแนนทดสอบ เมื่อทำแบบฝึกหัดความร่วมรู้สึก หญิงที่อยู่ในระยะถุงน้อยของรอบเดือนมีคะแนนสูงกว่าหญิงที่อยู่ในระยะกลางลูเทียม พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับโปรเจสเตอโรนกับความสามารถในการรับรู้อารมณ์อย่างแม่นยำ ผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ในหญิงที่มีระดับโปรเจสเตอโรนต่ำจะทำได้ดีกว่าสูง หญิงที่อยู่ในระยะถุงน้อยมีความแม่นยำในการรับรู้อารมณ์ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับหญิงในระยะกลางลูเทียม พบว่าหญิงมีปฏิกิริยามากขึ้นต่อสิ่งเร้าด้านลบเมื่ออยู่ในระยะกลางลูเทียมเมื่อเทียบกับระยะถุงน้อย ซึ่งบ่งชี้ว่ามีปฏิกิริยามากขึ้นต่อความเครียดทางสังคมในระยะกลางลูเทียม[49]

มีการตรวจสอบการตอบสนองต่อความกลัวในหญิงระหว่างสองจุดในรอบประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงสุดในระยะก่อนตกไข่ หญิงนั้นบอกการแสดงออกซึ่งความกลัวได้ดีกว่าหญิงที่กำลังมีประจำเดือนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นระยะที่ระดับเอสโตรเจนต่ำสุด หญิงบอกใบหน้าเป็นสุขได้ดีเท่า ๆ กัน แสดงให้เห็นว่าการตอบสนองความกลัวเป็นการตอบสนองที่ทรงพลังกว่า กล่าวโดยสรุป ระยะของรอบประจพเดือนและระดับเอสโตรเจนมีสหสัมพันธ์กับการประมวลผลความกลัวในสมองของหญิง[50]

อย่างไรก็ดี การพิจารณาพื้นอารมณ์รายวันของหญิงโดยวัดระดับฮอร์โมนรังไข่นั้นมีความสัมพันธ์ไม่ค่อยมาก เมื่อเทียบกับระดับความเครียดหรือสุขภาพทางกายแล้ว ฮอร์โมนรังไข่มีผลกระทบต่อพื้นอารมณ์โดยรวมน้อยกว่า[51] ซึ่งบ่งชี้ว่าแม้การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนรังไข่อาจมีอิทธิพลต่อพื้นอารมณ์ แต่ระดับวันต่อวันแล้วไม่ได้มีอิทธิพลมากกว่าสิ่งกระตุ้นความเครียดอย่างอื่น

ความรู้สึกและพฤติกรรมทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างรอบประจำเดือน ก่อนและระหว่างการตกไข่ เอสโตรเจนและแอนโดรเจนระดับสูงส่งผลให้หญิงมีความสนใจในกิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น[52] แต่หญิงสามารถแสดงความสนใจในกิจกรรมทางเพศได้ในทุกวันของรอบประจำเดือนไม่ว่าอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ ซึ่งต่างกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น[53]

ทางเลือกคู่

พฤติกรรมที่มีต่อคู่มีเพศสัมพันธ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างรอบประจำเดือนระยะต่าง ๆ[54][55][56] เมื่อใกล้การตกไข่ หญิงอาจมีความดึงดูดทางกายภาพและสนใจเข้าร่วมสังสรรค์กับชายมากขึ้น[57] ในระยะเจริญพันธุ์ของรอบ ดูเหมือนหญิงนิยมชายที่มีความสมชาย (masculine) มากขึ้น[58] ความเข้มข้นของความหึงหวง (mate guarding) แตกต่างกันในระยะต่าง ๆ ของรอบ โดยหญิงในระยะเจริญพันธุ์มีความหึงหวงเพิ่มขึ้น[56][59][60]

ระหว่างระยะเจริญพันธุ์ หญิงบางส่วนอาจรู้สึกความดึงดูดเพิ่มขึ้น มีความเพ้อฝันและความสนใจทางเพศในคู่ชายอื่น (extra pair men) เพิ่มขึ้นและคู่หลักลดลง[57][56][61] หญิงบางคนอาจจีบชายอื่นที่ไม่ใช่คู่ และแสดงความนิยมการร่วมเพศกับชายอื่นที่ไม่ใช่คู่ตน[57][61]

เสียง

ความนิยมจากระดับเสียงเปลี่ยนแปลงได้ตามรอบ เมื่อเสาะหาคู่ร่วมเพศระยะสั้น หญิงอาจนิยมชายระดับเสียงต่ำหรือทุ้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างระยะเจริญพันธุ์[61] ในระยะถุงน้อยตอนปลาย ปกติหญิงแสดงความชอบคู่ที่มีเสียงสมชายและลึก (masculine, deep voice)[62] มีการวิจัยศึกษาความดึงดูดของเสียงหญิงตลอดรอบประจำเดือน[63] ระหว่างระยะที่เจริญพันธุ์สูงสุดของรอบประจำเดือน มีหลักฐานจำนวนหนึ่งพบว่าเสียงหญิงนั้นได้รับการจัดอันดับว่ามีความดึงดูดมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ไม่พบผลนี้ในหญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด[63]

กลิ่น

มีการสันนิษฐานว่าความชอบของหญิงต่อกลิ่นกายของชายเปลี่ยนไปตามรอบประจำเดือน[64] หญิงในระยะเจริญพันธุ์ของรอบเดือนจัดให้ชายที่มีคะแนนความเป็นใหญ่ (dominance) สูงกว่า มีความเร้าทางเพศ (sexy) มากกว่า นอกจากนี้ระหว่างระยะที่เจริญพันธุ์สูงสุด หญิงยังนิยมกลิ่นของชายที่สมมาตร[56] ไม่พบผลนี้ในหญิงที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด[65] นอกจากนี้ระหว่างปลายระยะถุงน้อยและตกไข่ หญิงนิยมกลิ่นของชายที่สมชาย หญิงนิยมกลิ่นของแอนโดสเตอโรน (ตัวควบคุมระดับเทสโทสเทอโรน) อย่างมากในช่วงที่ภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดในรอบประจำเดือน ยิ่งไปกว่านั้น หญิงอาจแสดงออกถึงความนิยมในกลิ่นที่ระบุถึงเสถียรภาพของการเจริญเติบโตด้วย[61]

เมื่อพิจารณากลิ่นของหญิงตลอดรอบประจำเดือน มีหลักฐานบางชนิดพบว่าชายใช้สิ่งบอกใบ้ทางกลิ่นเพื่อทราบว่าหญิงใดกำลังตกไข่ ชายจัดให้หญิงที่กำลังตกไข่มีความดึงดูดมากกว่าโดยอาศัยกลิ่นหญิง ชายมีความนิยมกลิ่นของหญิงเจริญพันธุ์มากกว่า[64]

ข้อค้นพบบทบาทของกลิ่นและการสื่อสารทางเคมีต่อพฤติกรรมของมนุษย์ยังเป็นที่ถกเถียงกัน แม้การศึกษาหลายครั้งรายงานบทบาทนี้ แต่ผลมักเล็กน้อยและอาศัยขนาดกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กทำให้มีโอกาสทดลองได้ผลซ้ำน้อย[66] มีความกังขาจากเหตุการขาดหลักฐานที่ใช้การสอบปริมาณสารชีวภาพ (bioassay) สำหรับข้ออ้างว่าโมเลกุลสเตียรอยด์ของการศึกษาทั้ง 4 ครั้งมักยกมาระบุว่ามีบทบาทและอาจมีความลำเอียงในการเลือกจัดพิมพ์การศึกษา[67]

ร่างกาย

ความนิยมสำหรับเครื่องหน้าในคู่ยังเปลี่ยนแปลงในรอบเดือนเช่นกัน ไม่พบความแตกต่างในความนิยมสำหรับคู่ร่วมเพศระยะยาวระหว่างรอบประจำเดือน แต่ในผู้ที่เสาะหาความสัมพันธ์ระยะสั้นมีโอกาสเลือกคู่ที่มีเครื่องหน้าสมชายมากกว่าปกติ[57][62] ซึ่งพบเป็นพิเศษในกรณีที่มีระยะความเสี่ยงการปฏิสนธิสูง และเมื่อระดับเทสโทสเตอโรนในน้ำลายสูง[68] อย่างไรก็ตามเมื่อหญิงอยู่ในระยะลูเทียม (ไม่เจริญพันธุ์) มักนิยมชายและหญิงที่มีใบหน้าออกไปทางหญิง (feminine) มากกว่า[62] นอกจากนี้ยังแสดงความนิยมสำหรับหน้าที่ละม้ายตนและสุขภาพพอ ๆ กันระหว่างระยะลูเทียม[69] ความนิยมเรื่องสุขภาพที่ปรากฏนั้นพบว่าเข้มที่สุดเมื่อระดับโปรเจสเตอโรนสูง[69] นอกจากนี้ในระยะเจริญพันธุ์ของหญิง หญิงหลายคนชอบชายที่มีสีผิวคล้ำขึ้น[61] การวิจัยเกี่ยวกับความสมมาตรของใบหน้าไม่ไปในทิศทางเดียวกัน[70]

ความนิยมรูปลักษณ์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างระยะเจริญพันธุ์ของคาบ หญิงที่เสาะหาคู่ระยะสั้นมีความชอบชายที่สูงกว่าและสมชายกว่า หญิงยังแสดงความนิยมชายที่มีร่างกายสมชายเมื่อภาวะเจริญพันธุ์สูงสุด[68] พบผลลัพธ์ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับความนิยมความสมมาตรของร่างกายในระยะต่าง ๆ ของคาบ[61]

บุคลิกภาพ

ในคู่ระยะสั้น ระหว่างระยะเจริญพันธุ์ หญิงอาจแสดงออกว่ารู้สึกดึงดูดกับชายที่เหนือกว่าซึ่งมีสถานภาพทางสังคม สำหรับคู่ระยะยาว ไม่มีการเปลี่ยนความชอบลักษณะบุคลิกภาพ (trait) ตลอดรอบประจำเดือน[61]

พฤติกรรมการกิน

พบว่าหญิงมีนิสัยการกินต่างกันในขั้นต่าง ๆ ของรอบประจำเดือน โดยมีการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นในระยะลูเทียมเมื่อเทียบกับระยะถุงน้อย[71][72] คิดเป็นประมาณ 10%[72]

การศึกษาหลายชิ้นแสดงว่าระหว่างระยะลูเทียม หญิงบริโภคคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันเพิ่มขึ้น และการใช้พลังงาน 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.5–11.5%[73] การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในระยะลูเทียมอาจสัมพันธ์กับความชอบอาหารหวานและไขมันสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากในระยะดังกล่าวมีความต้องการมาเมแทบอลิซึมสูงขึ้น[74] โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงมีแนวโน้มแสดงความอยากช็อกโกแลต และมากขึ้นไปอีกในระยะลูเทียม[73]

หญิงที่มีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) รายงานการเปลี่ยนแปลงความอยากอาหารในรอบประจำเดือนมากกว่าผู้ไม่มีอาการของ PMS ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้มีอาการมีความไวกับการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนมากกว่า[72] ในหญิงที่มีภาวะ PMS การรับประทานอาหารในระยะลูเทียมจะสูงกว่าระยะถุงน้อย[75] อาการอื่นที่ยังไม่ได้กล่างถึงของ PMS รวมถึง การเปลี่ยนแปลงพื้นอารมณ์ และอาการทางกายก็เกิดระหว่างระยะลูเทียมเช่นกัน ไม่พบว่าผู้ที่มีและไม่มีอาการ PMS นิยมอาหารต่างชนิดกัน[71]

มีการใช้ระดับฮอร์โมนแต่ละชนิดในรังไข่ในระยะต่าง ๆ ของรอบอธิบายพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงนี้ มีผู้แสดงว่าโปรเจสเตอโรนส่งเสริมการสะสมไขมัน ทำให้เกิดการบริโภคอาหารที่มีไขมันมากขึ้นในระยะลูเทียมซึ่งมีระดับโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระดับเอสโตรเจนสูง โดปามีนจะแปลงเป็นนอร์อะดรีนาลีนได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอร์อะดรีนาลีนนี้เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการกิน ฉะนั้นจึงลดความอยากอาหาร[72] ในมนุษย์พบว่าฮอร์โมนรังไข่เหล่านี้ในรอบประจพเดือนมีอิทธิพลต่อการกินไม่หยุด (binge eating)[76]

มีการตั้งทฤษฎีว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดน่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการกินเพราะลดหรือกำจัดความแปรปรวนของระดับฮอร์โมน[71] นอกจากนี้ก็มีความคิดว่าสารสื่อประสาทเซโรโทนินมีบทบาทในการรับประทานอาหาร เซโรโทนินเป็นตัวการสำหรับการยับยั้งการกินและควบคุมขนาดมื้ออาหาร ฯลฯ[77] และมีการปรับระดับส่วนหนึ่งโดยฮอร์โมนรังไข่[78]

สำหรับปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อความเสี่ยงของการรับประทานอาหารต่อกระบวนการของประจำเดือน ได้แก่ อายุน้อย น้ำหนักน้อย และอาหารเอง โดยรอบไม่ตกไข่เกิดจากการจำกัดอาหาร ตลอดจนการออกกำลังกายปริมาณมาก[72] และข้อสุดท้ายรอบประจำเดือนจะเกิดผลกระทบจากอาหารมังสวิรัตมากกว่าอาหารที่มิใช่มังสวิรัต[79]

สารเสพติด

การศึกษาผลของการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อรอบประจำเดือนนั้นไม่มีผลลัพธ์ไปในทางเดียวกัน[80] อย่างไรก็ดีหลักฐานบางส่วนเสนอว่าหญิงบริโภคแอลกอฮอลมากขึ้นระว่างระยะลูเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้นั้นดื่มจัดหรือมีประวัติติดสุราในครอบครัวอยู่แล้ว[74]

ระดับของการติดสารเสพติดเพิ่มขึ้นตาม PMS ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดสารเสพติดอย่างนิโคติน ยาสูบ และโคเคน ทฤษฎีเหตุผลเบื้องหลังหนึ่งเสนอว่าการติดสารเสพติดระดับสูงการเสียการควบคุมตัวเองอันเกิดจากความต้องการทางเมแทบอลิซึมที่สูงขึ้นระหว่างระยะลูเทียม[74]

ความผิดปกติของประจำเดือน

การตกไข่น้อย (oligoovulation) หมายถึง การตกไข่ไม่บ่อยหรือไม่สม่ำเสมอ[81] ส่วนถ้าไม่ตกไข่เลย เรียก ภาวะไม่ตกไข่ (anovulation) ทั้งนี้ การขับประจำเดือนยังเกิดได้ตามปกติแม้ไข่ไม่ตก ซึ่งรอบนั้นเรียก รอบไม่ตกไข่ (anovulatory cycle) ในบางรอบ การเจริญของถุงน้อยอาจเริ่มต้นแต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ กระนั้นยังมีการผลิตเอสโตรเจนและกระตุ้นการหนาตัวของมดลูก ประจำเดือนชนิดไข่ไม่ตกเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนามากที่เกิดจากการได้รับเอสโตรเจนอย่างต่อเนื่องยาวนานเรียกว่า การตกเลือดแบบเล็ดลอดจากเอสโตรเจน (estrogen breakthrough bleeding) เลือดประจำเดือนแบบไม่มีไข่ตกเกิดจากระดับเอสโตรเจนที่ลดฮวบกระทันหัน เรียก การตกเลือดจากการขาด (withdrawal bleeding)[82] รอบเดือนที่ไข่ไม่ตกปกติเกิดก่อนวัยหมดระดู และในหญิงที่มีภาวะกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำจำนวนมาก (polycystic ovarian syndrome)[83]

การตกเลือดน้อยมาก (น้อยกว่า 10 มล.) เรียก อาการระดูน้อยเกิน (hypomenorrhea) รอบเดือนสม่ำเสมอที่มีช่วงห่างไม่เกิน 21 วัน เรียก อาการระดูถี่เกิน (polymenorrhea) ประจำเดือนที่มาถี่แต่รอบไม่สม่ำเสมอ เรียก มดลูกตกเลือด (metrorhagia) การตกเลือดหนักกระทันหันหรือปริมาณมากกว่า 80 มล. เรียกว่า ระดูมาก (menorrhagia)[84] ประจำเดือนหนักที่เกิดถี่และไม่สม่ำเสมอ เรียก อาการระดูมากเกินและมดลูกตกเลือด (menometrorrhagia) รอบที่มีช่วงห่างเกิน 35 วันเรียก ภาวะประจำเดือนมาน้อย (oligomenorrhea)[85] ภาวะขาดระดู (amenorrhea) หมายถึง ประจำเดือนขาดไปสาม[84] ถึงหกเดือนขึ้นไป[85] (โดยที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์) ระหว่างวัยเจริญพันธุ์ของหญิง ขณะมีประจำเดือนอาจทำให้เกิดอาการปวดได้ เรียก อาการปวดระดู (dysmenorrhea)

รอบและระยะ

โอกาสการปฏิสนธิตามวันในรอบประจำเดือนโดยเทียบกับวันตกไข่[86]
แผนภาพลำดับการควบคุมฮอร์โมนของรอบประจำเดือน

รอบประจำเดือนสามารถอธิบายได้ด้วยรอบรังไข่หรือมดลูก รอบรังไข่อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในถุงน้อยของรังไข่ ในขณะที่รอบมดลูกอธิบายการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุมดลูก รอบทั้งสองแบ่งได้เป็นสามระยะ รอบรังไข่ประกอบด้วยระยะถุงน้อย การตกไข่และระยะลูเทียม ขณะที่รอบมดลูกประกอบด้วยประจำเดือน ระยะเพิ่มจำนวน และระยะหลั่ง[1]

รอบรังไข่

ระยะถุงน้อย

ระยะถุงน้อยเป็นส่วนแรกของรอบรังไข่ ในระยะนี้ ถุงน้อยรังไข่จะเจริญเต็มที่และพร้อมปล่อยไข่[1] ครึ่งหลังของระยะนี้ซ้อนทับกับระยะเพิ่มจำนวนของรอบมดลูก

ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนกระตุ้นถุงน้อย (follicle stimulating hormone, FSH) ที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันแรก ๆ ของรอบ จะมีถุงน้อยรังไข่จำนวนหนึ่งถูกกระตุ้น ถุงน้อยเหล่านี้ซึ่งมีมาตั้งแต่เกิด และมีการเจริญในช่วงอื่นของปีในกระบวนการสร้างถุงน้อย (folliculogenesis) และแต่ละถุงแย่งกันเจริญ ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนหลายชนิด ถุงน้อยเหล่านี้จะหยุดเจริญและฝ่อไป ยกเว้นถุงเดียวที่จะเป็นถุงน้อยเด่น (dominant follicle) ในรังไข่และจะเจริญต่อจนเต็มที่ ถุงน้อยที่เจริญเต็มที่ เรียก ถุงน้อยตติยภูมิหรือกราเฟียน (tertiary หรือ Graafian follicle) ภายในบรรจุไข่ (ovum)[87]

การตกไข่

รังไข่ขณะที่กำลังปล่อยไข่

การตกไข่เป็นระยะที่สองของรอบรังไข่ โดยไข่ที่เจริญเต็มที่จะถูกปล่อยออกจากถุงน้อยรังไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ (oviduct)[88] ระหว่างระยะถุงน้อย เอสตราไดออล (estradiol) ยับยั้งการปล่อยฮอร์โมนลูทีไนซิง (lutienizing hormone, LH) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า เมื่อไข่เจริญเกือบเต็มที่ ระดับของเอสตราไดออลจะถึงขีดแบ่งซึ่งผลนี้จะกลายเป็นย้อนกลับ และเอสโตรเจนจะกระตุ้นการผลิต LH ปริมาณมากแทน กระบวนการนี้ที่เรียก การเพิ่มกระทันหันของ LH (LH surge) เริ่มต้นประมาณวันที่ 12 ของรอบเฉลี่ย และอาจเกินเวลา 48 ชั่วโมง[89]

ยังไม่เข้าใจกลไกแน่ชัดของการตอบสนองตรงกันข้ามของระดับ LH ต่อเอสตราไดออล[90] มีการแสดงว่าการเพิ่มกระทันหันของฮอร์โมนปล่อยโกนาโดโทรปิน (gonadotropin-releasing hormone, GnRH) ในสัตว์เกิดขึ้นก่อนการเพิ่มกระทันหันของ LH เสนอว่าฤทธิ์หลักของเอสโตรเจนอยู่ที่ไฮโปทาลามัส ซึ่งควบคุมการหลั่ง GnRH[90] โดยในไฮโปทาลามัสมีตัวรับเอสโตเจนต่างกันสองชนิด ได้แก่ ตัวรับเอสโตรเจนแอลฟาซึ่งเป็นตัวการของวงวนเอสตราไดออล-LH และตัวรับเอสโตรเจนบีตา ซึ่งเป็นตัวการของความสัมพันธ์เอสตราไดออล-LH เชิงบวก[91] อย่างไรก็ดีในมนุษย์มีการแสดงว่าเอสตราไดออลระดับสูงสามารถกระตุ้นให้ LH เพิ่มขึ้นได้ 32 เท่า แม้ระดับของ GnRH และความถี่ของพัลส์คงที่[90] ซึ่งเสนอว่าเอสโตรเจนออกฤทธิ์โดยตรงต่อต่อมใต้สมองในการกระตุ้นการเพิ่มกระทันหันของ LH

การปล่อย LH ทำให้ไข่เจริญเต็มที่และทำให้ผนังของถุงน้อยในรังไข่อ่อนแอลง ทำให้ถุงน้อยที่เจริญเต็มที่ปลดปล่อยเซลล์ไข่ทุติยภูมิ[87] ถ้าไข่มีการปฏิสนธิกับอสุจิ เซลล์ไข่ทุติยภูมิจะเจริญต่อเป็นโอโอติด (ootid) แล้วต่อไปเป็นไข่ที่เจริญเต็มที่ ถ้าไข่นั้นไม่เกิดการปฏิสนธิ เซลล์ไข่ทุติยภูมิจะสลายไป ไข่เจริญเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2 มิลลิเมตร[92]

การตกไข่นั้นจะมาจากรังไข่ฝั่งซ้ายหรือขวาเป็นแบบสุ่มเป็นหลัก และไม่มีกระบวนการประสานงานระหว่างสองข้าง[93] ในบางรอบรังไข่สองข้างปล่อยไข่มาพร้อมกัน หากไข่ทั้งสองได้รับการปฏิสนธิจะเกิดแฝดต่างไข่ (แฝดไม่แท้)[94]

หลังปล่อยออกจากรังไข่ ไข่จะถูกชายครุย (fimbria) โบกพัดเข้าสู่ท่อนำไข่ (fallopian tube) ทั้งนี้ชายครุยเป็นขอบของเนื้อเยื่อ ณ ปลายของท่อนำไข่แต่ละข้าง หลังผ่านไปวันหนึ่ง ไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิจะสลายไปในท่อนำไข่[87]

ปกติการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิเกิดในกระเปาะท่อนำไข่ (ampulla) ซึ่งเป็นส่วนที่กว้างที่สุดของท่อนำไข่ ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเริ่มกระบวนการเกิดเอ็มบริโอ (embryogenesis) หรือการเจริญทันที เอ็มบริโอที่กำลังเจริญนั้นใช้เวลาสามวันไปถึงมดลูก และอีกสามวันฝังตัวเข้าสู่เยื่อบุมดลูก[87] ปกติเอ็มบริโอเข้าสู่ระยะบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ในเวลาที่ฝังตัว

ในหญิงบางส่วน การตกไข่จะมีอาการปวดเป็นลักษณะเฉพาะซึ่งเรียก มิตดทิลชเมิร์ซ (mittelschmerz, ภาษาเยอรมันหมายถึง "การปวดตรงกลาง")[95] การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอย่างฉับพลันในขณะที่ตกไข่นั้น บางทีอาจทำให้เกิดการตกเลือดกลางรอบเดือนอย่างอ่อน ๆ ได้[96]

ระยะลูเทียม

ระยะลูเทียมเป็นระยะสุดท้ายของรอบรังไข่ และตรงกับระยะหลั่งของรอบมดลูก ระหว่างระยะลูเทียม ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง FSH และ LH ทำให้ส่วนที่เหลือของถุงน้อยเด่นเปลี่ยนสภาพเป็นคอร์ปัสลูเทียม (corpus luteum) ซึ่งผลิตโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในต่อมหมวกไตเริ่มกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนที่ผลิตโดยคอรปัสลูเทียมยังยังยับยั้งการผลิต FSH และ LH ที่คอร์ปัสลูเทียมที่จำเป็นต้องใช้คงสภาพตัวเอง ดังนั้นระดับของ FSH และ LH จึงลดลงอย่างรวดเร็ว และคอร์ปัสลูเทียมจะฝ่อลง[87] ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนที่ลดลงทำให้เกิดการมีประจำเดือนและการเริ่มต้นรอบถัดไป นับแต่การตกไข่จนถึงการถอนโปรเจสเตอโรนทำให้เริ่มการมีประจำเดือน กระบวนการดังกล่าวกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ซึ่งถือว่าปกติ สำหรับหญิงแต่ละคน ระยะถุงน้อยมักมีความยาวต่างกันในแต่ละรอบ แต่ระยะลูเทียมจะค่อนข้างคงที่[97]

ทั้งนี้หากไข่ได้รับการปฏิสนธิ คอร์ปัสลูเทียมจะยังคงอยู่ ซินไซทิโอโทรโฟบลาสต์ (syncytiotrophoblast) ซึ่งเป็นชั้นนอกของบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ที่ภายในบรรจุเอ็มบริโอ และชั้นนอกของรกในเวลาต่อมา ผลิตฮอร์โมนโกนาโดโทรปินเยื่อหุ้มทารกมนุษย์ (human chorionic gonadotropin, hCG) ซึ่งคล้ายกับ LH และทำหน้าที่คงสภาพคอร์ปัสลูเทียม จากนั้นคอร์ปัสลูเทียมจะหลั่งโปรเจสเตอโดรนต่อไปเพื่อรักษาการตั้งครรภ์ใหม่ การตรวจการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ก็อาศัยดู hCG นี้เอง[87]

รอบมดลูก

รอบมดลูกมีสามระยะ ได้แก่ ประจำเดือน, ระยะเพิ่มจำนวน และระยะหลั่ง[98]

ประจำเดือน

ประจำเดือน (หรือเรียกเมนส์, ระดู, คาบ) เป็นระยะแรกของรอบมดลูก การตกเลือดประจำเดือนปกติเป็นสัญญาณว่าหญิงยังไม่ตั้งครรภ์ (แต่ก็ไม่เสมอไป มีบางปัจจัยที่เป็นเหตุให้ตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ได้ บางปัจจัยเกิดจำเพาะในการตั้งครรภ์ช่วงต้น และอาจทำให้ตกเลือดหนักได้)[99][100][101]

ระดับของเอสตราไดออล (เอสโตรเจนหลัก) โปรเจสเตอโดรน ฮอร์โมนลูทีไนซิง และฮอร์โมนกระตุ้นถุงน้อย (FSH) ระหว่างรอบประจำเดือน โดยคิดความแปรผันระหว่างรอบและในหญิงแต่ละคนแล้ว (คลิกเพื่อดูภาพขยาย)

อาการระดูปกติเป็นรอบสม่ำเสมอที่ปกติกินเวลา 3 ถึง 5 วัน แต่พบได้ตั้งแต่ 2 ถึง 7 วันไม่ถือว่าผิดปกติ[95][102] ปริมาณเลือดออกเฉลี่ยในการมีประจำเดือนรอบหนึ่งอยู่ที่ 35 มล. โดยปริมาณระหว่าง 10–80 มล. ถือว่าปกติ[103] หญิงที่มีระดูมากจะมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กมากกว่าคนทั่วไป[104] เอนไซม์ชื่อ พลาสมิน ยับยั้งการจับลิ่มของเลือดในเลือดประจำเดือน[105]

พบตะคริวเจ็บในท้อง หลังและต้นขาส่วนบนได้บ่อยในวันแรก ๆ ของการมีประจำเดือน อาการปวดมดลูกมากระหว่างมีประจำเดือน เรียก อาการปวดประจำเดือน และพบได้มากที่สุดในวัยรุ่นและหญิงผู้ใหญ่อายุน้อย (มีผลต่อหญิงวัยรุ่นประมาณ 67.2%)[106] เมื่อเริ่มมีประจำเดือน อากาารของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) จะค่อย ๆ ลดลง[95] เช่น เจ็บเต้านมและความกระสับกระส่าย ผลิตภัณฑ์ถูกหลักอนามัย ได้แก่ ผ้าอนามัยและผ้าอ้อม (tampon) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับใช้ระหว่างมีประจำเดือน

ระยะเพิ่มจำนวน

ระยะเพิ่มจำนวนเป็นระยะที่สองของรอบมดลูก เมื่อเอสโตรเจนทำให้เยื่อบุมดลูกเติบโตหรือเพิ่มจำนวนระหว่างช่วงนี้[87] เมื่อโตเต็มที่ ถุงน้อยรังไข่จะหลั่งเอสตราไดออลและเอสโตรเจนปริมาณเพิ่มขึ้น เอสโตรเจนทั้งสองรูปจะเริ่มการก่อตัวของเยื่อบุมดลูกชั้นใหม่ ซึ่งในทางมิญชวิทยา (histology) ระบุว่าเป็น เยื่อบุมดลูกแบบเพิ่มจำนวน (proliferative endometrium) เอสโตรเจนยังกระตุ้นคริปต์ (crypt) ในปากมดลูกให้หลั่งเมือกปากมดลูก ซึ่งทำให้มีสารคัดหลั่งของช่องคลอด ไม่ว่าหญิงนั้นเกิดความรู้สึกทางเพศหรือไม่ และหญิงที่กำลังนับวันปลอดภัยสามารถใช้เมือกดังกล่าวบอกได้[107]

ระยะหลั่ง

ระยะหลั่งเป็นระยะสุดท้ายของรอบมดลูก และตรงกับระยะลูเทียมของรอบรังไข่ ระหว่างระยะหลั่ง คอร์ปัสลูเทียมผลิตโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำให้เยื่อบุมดลูกพร้อมรับการฝังตัวของบลาสโตซิสต์ และรองรับการตั้งครรภ์ระยะแรก โดยการเพิ่มเลือดไหลเวียนและสารคัดหลั่งของมดลูก และลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบในมดลูก[108] นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงทำให้เพิ่มอุณหภูมิกายขณะพักของหญิง[109]

การยับยั้งการตกไข่

การคุมกำเนิด

ซองยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เม็ดยาสีขาวเป็นยาหลอก ส่วนใหญ่มีไว้ให้กินยาต่อไปเรื่อย ๆ กันลืม

การคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนออกฤทธิ์ยับยั้งรอบประจำเดือน ผลป้อนกลับเชิงลบของโปรเจสโตเจนลดความถี่พัลส์ของการปล่อยฮอร์โมนปล่อยโกนาโดโทรปิน (GnRH) จากไฮโปทาลามัส ซึ่งลดการปล่อยฮอร์โมนกระตุ้นถุงน้อย (FSH) และฮอร์โมนลูทีไนซิง (LH) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ระดับ FSH ที่ลดลงยับยั้งการเจริญของถุงน้อย และป้องกันการเพิ่มปริมาณเอสตราไดออล ผลป้อนกลับเชิงลบของโปรเจสโตเจนและการขาดผลป้อนกลับเชิงบวกต่อการหลั่ง LH ของเอสโตรเจนป้องกันการเพิ่มปริมาณกระทันหันของ LH ในกลางรอบ การยับยั้งการเจริญของถุงน้อยและการขาดการเพิ่มปริมาณกระทันหันของ LH นี้เองที่ป้องกันการตกไข่[110][111][112]

ระดับของการยับยั้งการตกไข่ในการคุมกำเนิดชนิดโปรเจสโตเจนอย่างเดียวขึ้นอยู่กับกัมมันตภาพและขนาดของโปรเจสโตเจน การคุมกำเนิดชนิดโปรเจสโตเจนอย่างเดียวขนาดต่ำ อันประกอบด้วยยาเม็ดเฉพาะโปรเจสโตเจน ยาคุมชนิดฝังใต้ผิวหนังยี่ห้อนอร์แพลนต์และจาเดล และระบบสอดในมดลูก มีเรนา (Mirena) ยับยั้งการตกไข่ในรอบประจำเดือนประมาณ 50% และส่วนใหญ่อาศัยฤทธิ์อย่างอื่นมากกว่า เช่น ทำให้เมือกปากมดลูกหนาขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด[113] การคุมกำเนิดชนิกโปรเจสโตเจนอย่างเดียวขนาดกลาง ได้แก่ ยาเม็ดเฉพาะโปรเจสโตเจนยี่ห้อเซราเซต (Cerazette) และยาฝังใต้ผิวหนัง เน็กซ์พลานอน (Nexplanon) ยังปล่อยให้ถุงน้อยเจริญได้บ้าง แต่ยับยั้งการตกไข่ได้สม่ำเสมอในรอบประจำเดือน 97–99% โดยมีการเปลี่ยนแปลงต่อเมือกปากมดลูกแบบเดียวกับโปรเจสโตเจนขนาดต่ำมาก การคุมกำเนิดเฉพาะโปรเจสโตเจนขนาดสูง ยาฉีดยี่ห้อเดโป-โพรเวราและนอริสเตอแรต (์Noristerat) ยับยั้งการเจริญของถุงน้อยและการตกไข่อย่างสิ้นเชิง[113]

การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนผสมมีทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ผลป้อนกลับเชิงลบของเอสโตรเจนต่อต่อมใต้สมองส่วนหน้าลดการหลั่ง FSH อย่างมาก ทำให้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนรวมมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการยับยั้งการเจริญของถุงน้อยและป้องกันการตกไข่ เอสโตรเจนยังลดอุบัติการณ์ของการตกเลือดแบบเล็ดลอด (breakthrough bleeding) ที่ไม่สม่ำเสมอ[110][111][112] การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมหลายชนิด ซึ่งประกอบด้วยยาเม็ด นูวาริง (NuvaRing) และแผ่นแปะคุมกำเนิด ปกติใช้เพื่อทำให้เกิดการตกเลือดจากการขาดอยู่แล้ว ในรอบปกติ ประจำเดือนเกิดเมื่อระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลงอย่างรวดเร็ว[109] การหยุดใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมชั่วคราว (สัปดาห์ที่ใช้ยาหลอก ไม่ใช้แผ่นแปะหรือห่วงเป็นเวลา 1 สัปดาห์) มีฤทธิ์เหมือนกับการปล่อยให้เยื่อบุมดลูกหลุดลอกตัว หากไม่ประสงค์ให้ตกเลือดจากการขาด อาจใช้ฮอร์โมนรวมอย่างต่อเนื่องก็ได้ แต่จะมีความเสี่ยงของการตกเลือดแบบเล็ดลอดสูงขึ้น

การให้นมบุตร

การให้นมบุตรทำให้เกิดผลป้อนกลับเชิงลบต่อการหลั่งแบบพัลส์ของฮอร์โมนหลั่งโกนาโดโทรปิน (GnRH) และฮอร์โมนลูทีไนซิง (LH) ขึ้นอยู่กับความเข้มของผลป้อนกลับเชิงลบ หญิงให้นมบุตรอาจมีการเจริญของถุงน้อยถูกยับยั้งโดยสิ้นเชิง แต่ไม่มีการตกไข่ หรือรอบประจำเดือนปกติอาจดำเนินต่อไปได้[114] การระงับการตกไข่มีโอกาสสำเร็จสูงขึ้นตามความบ่อยของการดูดหัวนมของทารก[115] การผลิตโปรแลคตินที่เกิดขึ้นจากการดูดหัวนมดังกล่าวมีความสำคัญต่อการคงภาวะขาดระดูเนื่องจากการหลั่งน้ำนม[116] โดยเฉลี่ยหญิงที่ให้นมบุตรอย่างเดียวโดยที่ทารกดูดนมบ่อยครั้งจะกลับมามีประจำเดือนประมาณ 14.5 เดือนหลังคลอด มีการตอบสนองหลากหลายในหญิงที่ให้นมบุตรแต่ละคน อย่างไรก็ดี บางคนก็กลับมามีประจำเดือนภายใน 2 เดือน แต่บางคนก็ขาดประจำเดือนได้ถึง 42 เดือนหลังคลอด[117]

การรักษาอย่างอื่น

การชักนำการตกไข่และการกระตุ้นมากเกินของรังไข่แบบมีการควบคุม (controlled ovarian hyperstimulation) เป็นเทคนิคที่ใช้ในการช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับยาช่วยเจริญพันธุ์ เพื่อรักษาการตกไข่ และ/หรือ ผลิตถุงน้อยรังไข่หลายถุง

สามารถชะลอประจำเดือนได้โดยใช้โปรเจสเตอโรนหรือโปรเจสติน สำหรับวัตถุประสงค์นี้ การรับประทานโปรเจสเตอโรนหรือโปรเจสตินทางปากระหว่างวันที่ 20 ของรอบพบว่าชะลอประจำเดือนได้อย่างน้อย 20 วันและประจำเดือนจะเริ่มหลังหยุดใช้ยานี้ 2–3 วัน[118]

สังคมและวัฒนธรรม

ผลิตภัณฑ์อนามัยประจำเดือน

ผ้าอนามัย

มีผลิตภัณฑ์อนามัยประจำเดือนหลายชนิดสำหรับจัดการกับประจำเดือน[119] ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อหลีกก่อให้เกิดความเสียหายต่อเสื้อผ้า โดยทั่วไปใช้ในประเทศตะวันตก และพบน้อยกว่าในประเทศด้อยพัฒนาบางส่วนของโลก ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช่น ผ้าอนามัยและผ้าอ้อม (ใช้แล้วทิ้ง) แผ่นรองประจำเดือนผ้า และถ้วยอนามัย (ซึ่งใช้ซ้ำได้) อาจใช้ผลิตภัณฑ์ทำมือดัดแปลงได้ด้วย เช่น ฝ้าย ผ้า กระดาษชำระ

ในปีหลัง ๆ ปัญหาการเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รู้กันกว้างขวางยิ่งขึ้น และเป็นหัวใจของการอภิปรายว่าจะยกเลิกภาษีส่วนเกินของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หรือแจกให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ในปี 2561 ประเทศสกอตแลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่แจกผ้าอนามัยในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[120]

การแยกสันโดษระหว่างมีประจำเดือน

กาารให้การศึกษาเพิ่มความตระหนักแก่หญิงและเด็กหญิงเพื่อแก้ไขหรือลดธรรมเนียมฉาวปฑีในประเทศเนปาล

ในบางวัฒนธรรม หญิงถูกบังคับให้แยกเดี่ยวระหว่างมีประจำเดือน เพราะถูกมองว่าสกปรก อันตรายหรือนำพาโชคร้ายแก่ผู้พบ มีการปฏิบัติอยู่ในบางส่วนของเอเชียใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเนปาล ฉาวปฑี (chhaupadi) เป็นการปฏิบัติทางสังคมที่เกิดในส่วนตะวันตกของประเทศเนปาลสำหรับหญิงฮินดู ซึ่งขัดขวางหญิงมิให้ดำเนินกิจวัตรประจำวันระหว่างมีประจำเดือน หญิงถือว่าไม่บริสุทธิ์ระหว่างช่วงนี้ และถูกกีดกันออกนอกบ้าน และให้อยู่ในเพิงสัตว์ แม้ศาลสูงสุดเนปาลวินิจฉัยให้มิชอบด้วยกฎหมายแล้วในปี 2548 แต่ประเพณียังคงเปลี่ยนแปลงได้ช้า[121][122] หญิงและเด็กหญิงในวัฒนธรรมที่ยังถือปฏิบัติการแยกสันโดษนี้มักถูกจำกัดให้อยู่ในกระท่อมประจำเดือน ซึ่งเป็นสถานที่แยกสันโดษที่ใช้ในวัฒนธรรมที่มีข้อห้ามประจำเดือนที่เข้มงวด ในช่วงหลัง ๆ ประเพณีนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักเพราะมีผู้เสียชีวิต เนปาลกำหนดให้ประเพณีดังกล่าวเป็นความผิดอาญาในปี 2560 หลังมีรายงานผู้เสียชีวิตเนื่องจากถูกบังคับให้แยกสันโดษเป็นเวลานาน แต่การปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินต่อ[120]

ศัพทมูลวิทยา

คำว่า "menstruation" ในทางศัพทมูลวิทยา มีความสัมพันธ์กับ "ดวงจันทร์" คำว่า "menstruation" และ "menses" นั้นมาจากคำภาษาละติน mensis (เดือน) ซึ่งมาจากภาษากรีก mene (ดวงจันทร์) และรากของคำภาษาอังกฤษ month และ moon[123]

ดวงจันทร์

แม้ว่าความยาวเฉลี่ยของรอบประจำเดือนมนุษย์จะคล้ายคลึงกับดิถี แต่ในมนุษย์สมัยใหม่ทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์กัน[124] เชื่อว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเรื่องบังเอิญ[125][126] การรับแสงไม่ปรากฏว่ามีผลต่อรอบประจำเดือนในมนุษย์ การวิเคราะห์อภิมานของการศึกษาปี 2539 ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างรอบประจำเดือนของมนุษย์กับดิถี[127] เช่นเดียวกับข้อมูลที่วิเคราะห์จากแอพติดตามรอบชื่อ "คลู" ที่หญิง 1.5 ล้านคนเป็นผู้ให้ข้อมูล จำนวน 7.5 ล้านรอบประจำเดือน อย่างไรก็ดี พบว่าดิถีและรอบประจำเดือนเฉลี่ยยาวแทบเท่ากัน[128]

งาน

ในหลายประเทศ สภานิติบัญญัติและบริษัทอนุญาตให้ลาพักระหว่างมีประจำเดือนอย่างเป็นทางการ โดยพบทั้งมีรายได้และไม่มีรายได้ มักพบในทวีปเอเชียเป็นหลัก ประเทศที่มีนโยบายดังกล่าว ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้[129] การปฏิบัติดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในวัฒนธรรมตะวันตกเนื่องจากมีความกังวลว่าจะยิ่งส่งเสริมการรับรู้ว่าหญิงอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ[129] รวมทั้งกังวลว่าไม่ยุติธรรมกับชายด้วย[130][131]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Menstrual cycle

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง