อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (อังกฤษ: United Nations Convention on the Law Of the Sea; ย่อ: UNCLOS) เป็นความตกลงระหว่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมสหประชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่สาม (UNCLOS III) ซึ่งกินเวลาระหว่างปี 2516 ถึง 2525 กฎหมายทะเลนิยามสิทธิและความรับผิดชอบของชาติในเรื่องการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรของโลก การวางแนวปฏิบัติสำหรับธุรกิจ สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อนุสัญญาฯ เข้าแทนที่อนุสัญญาทะเลหลวง ค.ศ. 1958 (1958 Convention on the High Seas) จำนวนสี่ฉบับ UNCLOS มีผลใช้บังคับในปี 2537 หลังกายอานาเป็นประเทศที่ 60 ที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าว ณ เดือนมิถุนายน 2559 มี 167 ประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ แต่ยังไม่ประจักษ์ชัดว่าอนุสัญญาฯ นี้ประมวลกฎหมายระหว่างประเทศจารีตประเพณีไว้มากเพียงใด

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
วันลงนาม10 ธันวาคม 2525
ที่ลงนามมอนเตโกเบย์ ประเทศจาไมกา
วันมีผล16 พฤศจิกายน 2537[1]
เงื่อนไขมีภาคีให้สัตยาบันครบ 60 ภาคี
ผู้ลงนาม157[2]
ภาคี168[2][3]
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ
ภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและสเปน

องค์การที่มีบทบาทในการนำอนุสัญญาฯ ไปปฏิบัติ ได้แก่ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษ เช่นเดียวกับหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฯ เช่น คณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ และองค์การพื้นทะเลระหว่างประเทศ (ISA)

ประวัติ

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ครั้งที่ 3 ได้มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ในเดือนธันวาคม 2516 การประชุมเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2525 ณ กรุงมอนเตโกเบย์ ประเทศจาไมกา โดยประเทศต่าง ๆ สามารถเริ่มลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ได้ตั้งแต่บัดนั้น ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 หลังจากที่รัฐภาคีที่ 60 ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ

UNCLOS III

ไดอะแกรมแสดงอาณาเขตทางทะเลที่กำหนดตาม UNICLOS III

มีการหยิบยกปัญหาข้ออ้างน่านน้ำอาณาเขตที่มีหลากหลายในสหประชาชาติในปี 2510 และในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลในนิวยอร์ก ที่ประชุมได้ใช้กระบวนการหามติเอกฉันท์มากกว่าเสียงข้างมากเพื่อลดโอกาสที่กลุ่มชาติหนึ่งครอบงำการเจรจา ทำให้การประชุมกินเวลายืดเยื้อจนถึงปี 2525

อนุสัญญาฯ ริเริ่มบทบัญญัติจำนวนหนึ่ง ประเด็นที่สำคัญที่สุดได้แก่การตั้งขีดจำกัด การเดินเรือ สถานภาพกลุ่มเกาะและระบอบเดินเรือผ่าน (transit regime) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ เขตอำนาจไหล่ทวีป การทำเหมืองพื้นทะเลลึก ระบอบการแสวงประโยชน์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการระงับข้อพิพาท

อนุสัญญาฯ กำหนดขีดจำกัดของพื้นที่ต่าง ๆ โดยวัดจากเส้นฐานที่นิยามว่าเป็นเส้นน้ำลง ยกเว้นเมื่อแนวชายฝั่งมีลักษณะเว้าแหว่งมาก มีเกาะเป็นหย่อมหรือไม่เสถียรอย่างสูง อาจใช้เส้นฐานตรงได้ พื้นที่เหล่านี้ประกอบด้วย:

น่านน้ำภายใน
ครอบคลุมน่านน้ำและทางน้ำที่อยู่ชิดเข้ามาฝั่งในแผ่นดินเมื่อเทียบจากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีอิสระในการออกกฎหมาย วางระเบียบการใช้และใช้ทรัพยากรได้ทั้งหมด เรือต่างชาติไม่มีสิทธิผ่านในน่านน้ำภายใน ส่วนเรือในทะเลหลวงยังคงมีเขตอำนาจภายใต้กฎหมายภายในของรัฐที่เรือนั้นชักธง
น่านน้ำอาณาเขต
วัดออกไป 12 ไมล์ทะเล (22 กิโลเมตร) จากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีอิสระในการออกกฎหมาย วางระเบียบการใช้และใช้ทรัพยากรได้ทั้งหมด เรือได้รับสิทธิในการเดินเรือผ่านโดยสุจริต (innocent passage) ในน่านน้ำอาณาเขต โดยช่องแคบทางยุทธศาสตร์ต้องอนุญาตให้เรือรบผ่านได้ชั่วคราว (transit passage) คำว่า "การเดินเรือผ่านโดยสุจริต" นี้นิยามว่าเป็นการแล่นผ่านในลักษณะไม่ชักช้าและต่อเนื่อง และต้องไม่รบกวนสันติภาพ ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง ส่วนเรือดำน้ำและพาหนะอื่นใต้น้ำต้องเดินบนผิวน้ำพร้อมทั้งชักธงของตน รัฐชายฝั่งสามารถระงับสิทธิการแล่นเรือผ่านโดยสุจริตได้ชั่วคราวหากมีความสำคัญต่อการพิทักษ์ความมั่นคง
น่านน้ำกลุ่มเกาะ
อนุสัญญาฯ มีบทนิยามการวาดเขตแดนของรัฐกลุ่มเกาะ โดยวาดเส้นฐานระหว่างจุดนอกสุดของเกาะของเกาะที่อยู่รอบนอกสุด หากว่าจุดเหล่านี้อยู่ใกล้กันพอสมควร น่านน้ำทั้งหมดภายในเส้นนี้เรียกว่า "น่านน้ำกลุ่มเกาะ" รัฐชายฝั่งและเรือที่แล่นผ่านมีสิทธิเช่นเดียวกับน่านน้ำอาณาเขต ยกเว้นสิทธิการประมงแต่โบราณของรัฐที่อยู่ประชิดกัน
เขตต่อเนื่อง
วัดจากขีดจำกัดเส้นฐานทะเลอาณาเขตถัดไปอีก 12 ไมล์ทะเล รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย หมายถึง มีอิสระในการบังคับใช้กฎหมายในสี่เรื่อง (ศุลกากร ภาษีอากร การเข้าเมืองและมลภาวะ) ถ้าการละเมิดกฎหมายนั้นเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นในอาณาเขตหรือน่านน้ำอาณาเขตของรัฐชายฝั่ง ทำให้บริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีการไล่ตามติดพัน (hot pursuit)
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ
วัดจากเส้นฐานออกไป 200 ไมล์ทะเล (370 กิโลเมตร) จากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีสิทธิแสวงประโยชน์แต่ผู้เดียวในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ส่วนต่างชาติมีเสรีภาพในการเดินเรือและเดินอากาศยาน โดยขึ้นอยู่กับระเบียบของรัฐชายฝั่ง นอกจากนี้ รัฐต่างชาติยังอาจวางท่อและสายใต้น้ำได้
ไหล่ทวีป
นิยามว่าเป็นแผ่นดินตามธรรมชาติที่ยื่นออกไปเป็นขอบนอกของทวีป (แต่ไม่เกิน 100 ไมล์ทะเลจากจุดความลึก 2,500 เมตร) หรือระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานของรัฐชายฝั่ง แล้วแต่ว่าอย่างใดมากกว่า รัฐชายฝั่งมีสิทธิขุดเจาะแร่ธาตุและสิ่งไม่มีชีวิตในดินชั้นล่างของไหล่ทวีปที่อยู่ในเขตของตนแต่ผู้เดียว รัฐชายฝั่งยังมีสิทธิขาดเหนือทรัพยากรมีชีวิตอื่นที่ "ติด" อยู่กับไหล่ทวีป แต่ไม่รวมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำที่พ้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะไป

บริเวณนอกเหนือจากนี้ล้วนเป็น "ทะเลหลวง" หรือน่านน้ำสากล[4][5]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง