เพลงชาติ

เพลงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศหรือรัฐเอกราช

เพลงชาติ (อังกฤษ: national anthem) หมายถึง บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้น เพื่อปลุกเร้าให้หวนระลึกถึงหรือสรรเสริญประวัติศาสตร์ชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ หรือการต่อสู้ของชนในชาติ โดยได้รับการยอมรับจากรัฐบาลของชาตินั้น ๆ อย่างเป็นทางการ หรือความตกลงใจร่วมกันของประชาชนในชาติว่า เพลงดังกล่าวเป็นเพลงประจำชาติของตน

ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ประกอบเพลงชาติ มักมีการใช้ภาพประกอบเพลงที่แสดงถึงความฮึกเหิมและปลุกใจให้รักชาติ (ตัวอย่างในที่นี้ เป็นภาพยนตร์เพลงชาติสหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2487)

ในหนังสือ "เพลงชาติ" โดย สุกรี เจริญสุข ได้กล่าวถึงความหมายของเพลงชาติไว้ 4 ประการ คือ

  1. เพลงชาติสามารถแสดงถึงความเป็นชาติของประชาชนในชาตินั้น ๆ ได้
  2. เพลงชาติสามารถแสดงถึงฐานะทางการเมืองว่า เป็นประเทศที่มีเอกราช ไม่ขึ้นแก่ใคร
  3. เพลงชาติเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายประจำชาติ
  4. เพลงชาติเป็นกลิ่นไอทางศิลปวัฒนธรรมของประชาชนในกลุ่มชนชาตินั้น ๆ [1]

การเกิดของเพลงชาติ

เพลงชาติมีที่มาได้ 3 ลักษณะ ดังนี้[1]

  1. เพลงชาติเกิดจากเพลงที่ประชาชนนิยม: เพลงชาติประเภทนี้เกิดจากเพลงที่คนนิยมร้องทั่วไปไปในทุกโอกาส เป็นเพลงที่ประชาชนมีความศรัทธานิยมชมชอบ เช่น เพลงก็อดเซฟเดอะควีน (God Save The Queen) ของสหราชอาณาจักร เพลง ลันด์เดอร์แบร์เกอ ลันด์อัมชโตรเมอ ของประเทศออสเตรีย เป็นต้น
  2. เพลงชาติเกิดจากความกดดันทางการเมือง : โดยเหตุที่เพลงเป็นเครื่องมือประกอบกิจกรรมทางการเมืองมาตลอด เพลงชาติประเภทนี้จึงเกิดขึ้นจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการปกครองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่น เพลงลามาร์แซแยส (ฝรั่งเศส: La Marseillaise) ของประเทศฝรั่งเศส เพลงชาติไทยของประเทศไทย ฯลฯ
  3. เพลงชาติที่เกิดขึ้นโดยลัทธิชาตินิยม : เพลงชาติประเภทนี้เริ่มเกิดขึ้นในยุคโรแมนติก โดยคีตกวีชาวรัสเซียชื่อ ไมเคิล อิแวนโนวิช กลินกา ได้ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับการต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออุปรากรเรื่อง "A Life for the Tsar"[a] เพื่อปลุกเร้าให้ชาวรัสเซียเกิดความรักชาติ บทเพลงเหล่านี้ได้กระตุ้นให้กลุ่มคนต่าง ๆ เกิดความคิดชาตินิยมที่จะใช้เพลงชาติเป็นเครื่องหมายแบ่งแยกดินแดน ศาสนา เชื้อชาติ และผลประโยชน์ออกจากกัน แนวคิดดังกล่าวนี้ได้แผ่ขยายไปยังยังกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และเกิดบทเพลงปลุกเร้าให้เกิดความรักชาติขึ้นจำนวนมากจากคีตกวีต่าง ๆ ทั้งนี้ งานเพลงหลายชิ้นไม่ได้เป็นเพลงชาติโดยตรง แต่ก็กระตุ้นให้เกิดความคิดรักชาติตามลัทธิชาตินิยม และทำให้กลุ่มนักการปกครองทั้งหลายสนใจที่จะมีเพลงประจำชาติเฉพาะขึ้นมา

การใช้

ก่อนการแข่งขันกีฬานานาชาติจะมีการบรรเลงเพลงชาติเสมอ โดยธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้เข้าชมกีฬาจะยืนตรง เพื่อแสดงความเคารพต่อเพลงชาติ (ในภาพ เป็นการเคารพเพลงชาติ ในการแข่งรถที่ทะเลสาบเจนีวา (Lake Geneva Raceway) ประเทศสหรัฐอเมริกา)
ในกรณีของประเทศไทย จะมีการบรรเลงเพลงชาติเป็นสัญญาณเทียบเวลาและสัญญาณการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในเวลา 8.00 น. และเชิญธงลงในเวลา 18.00 น. เป็นประจำทุกวัน (ในภาพ เป็นการเชิญธงชาติประจำวันในเวลาเย็น ที่กองบังคับการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กรุงเทพฯ)

เพลงชาติถูกนำไปใช้ในบริบทต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยมักมีการนำไปบรรเลงในวันหยุดและเทศกาลสำคัญของชาติ และมีความสัมพันธ์กับการจัดกิจกรรมกีฬาอย่างใกล้ชิด ในการแข่งขันกีฬาอย่างเช่นกีฬาโอลิมปิกนั้น จะมีการบรรเลงเพลงชาติเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ชนะเลิศและได้รับเหรียญทองในพิธีมอบเหรียญรางวัล และยังใช้บรรเลงก่อนเริ่มการแข่งขันกีฬาด้วย ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวนี้เริ่มมีขึ้นในการแข่งขันเบสบอลในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2[2] สำหรับในประเทศอื่น ๆ การใช้เพลงชาตินั้นขึ้นอยู่กับการยอมรับสถานะความเป็นรัฐชาติต่อประเทศนั้น ๆ ด้วย เช่น ในกรณีของไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) คณะกรรมการโอลิมปิกสากลไม่ได้ยอมรับว่าไต้หวันมีสถานะเป็นรัฐชาติที่มีเอกราชเป็นของตนเอง และต้องใช้ชื่อประเทศในแข่งขันกีฬาว่า "จีนไทเป" ไต้หวันจึงต้องใช้เพลงธงชาติ (จีนตัวย่อ: 国旗歌; จีนตัวเต็ม: 國旗歌; พินอิน: gúoqígē กั๋วฉีเกอ; อังกฤษ: National Banner Song) เป็นเพลงสำหรับไต้หวันในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น[b][3]

ในบางประเทศก็มีการบรรเลงและขับร้องเพลงชาติก่อนเข้าเรียน เพื่อเป็นเครื่องฝึกหัดให้เด็กเกิดความคิดรักชาติ หลายประเทศก็มีความนิยมในการบรรเลงเพลงชาติก่อนการเล่นหรือแสดงมหรสพต่าง ๆ อันรวมถึงการฉายภาพยนตร์[ต้องการอ้างอิง] สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์หลายแห่งก็ใช้เพลงชาติเป็นเครื่องบอกสัญญาณการเปิดและปิดสถานีในแต่ละวัน[ต้องการอ้างอิง] กรณีดังกล่าวนี้สำหรับประเทศไทย จะนิยมบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนการเริ่มมหรสพหรือการฉายภาพยนตร์ และเป็นสัญญาณบอกการเปิดหรือปิดสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ส่วนเพลงชาตินอกจากจะบรรเลงเพื่อการเคารพธงชาติในเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. แล้ว ยังใช้เป็นสัญญาณบอกการเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยด้วย[c]

เนื้อร้อง

โดยทั่วไปแล้ว เพลงชาติของเกือบทุกประเทศย่อมมีเนื้อร้องประกอบทำนองอยู่เสมอ ยกเว้นในบางประเทศที่ไม่มีการใช้เนื้อร้องฉบับราชการ เช่น บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา สเปน ซานมาริโน เป็นต้น[4] ในจำนวนของเพลงชาติที่มีเนื้อร้องประกอบนั้น มีอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งน้อยมากที่เป็นผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ดังนี้

เพลงประจำชาติ

สุกรี เจริญสุข ได้กล่าวถึงเพลงประจำชาติไว้ในหนังสือ "เพลงชาติ" ของตนว่า[1]

...ยังมีเพลงชาติอีกประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่แสดงถึงความเป็นชาติทางด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นเพลงประจำชาติ นิยมร้องในหมู่ประชาชนทั่วไปทุกโอกาส เป็นเพลงที่แสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติโดยอาศัยบันไดเสียง สำเนียงเพลง ทำนอง กระสวนจังหวะที่ใช้ และความหมายของเพลง ทั้งนี้เพลงประจำชาติดังกล่าวไม่ได้เป็นเพลงชาติของทางราชการแต่อย่างใด เช่น เพลงบุหรงกาก๊ะของมาเลเซีย เพลงอารีรังของเกาหลี เพลงซากุระของญี่ปุ่น เพลงโอซูซานาของอเมริกา เป็นต้น

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง