พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Louis XVIII de France; หลุยส์ดีซุยต์เดอฟร็องส์; หลุยส์ สตานิสลาส กซาวีเย, 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 - 16 กันยายน ค.ศ. 1824) ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักว่า "ผู้เป็นที่ปรารถนา" (le Désiré)[1] เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงผู้ครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1814 จนถึง ค.ศ. 1824 เว้นว่างช่วงปี ค.ศ. 1815 ที่เรียก สมัยร้อยวัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงใช้เวลา 23 ปีเสด็จลี้ภัยตั้งแต่ ค.ศ. 1791 ถึง ค.ศ. 1814 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสและจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 และอีกครั้งใน ค.ศ. 1815 ในช่วงสมัยร้อยวัน ซึ่งจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เสด็จกลับจากเกาะเอลบา

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18
เคานต์แห่งพรอว็องส์
พระบรมสาทิสลักษณ์โดย โรแบร์ เลเฟพร์ ราว ค.ศ. 1822
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่ 111 เมษายน 1814 – 20 มีนาคม 1815
ก่อนหน้านโปเลียน (จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1)
ถัดไปนโปเลียน (สมัยร้อยวัน)
ครั้งที่ 27 กรกฎาคม 1815 – 16 กันยายน 1824
ก่อนหน้านโปเลียน (สมัยร้อยวัน)
ถัดไปชาร์ลที่ 10
พระราชสมภพ17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755(1755-11-17)
พระราชวังแวร์ซาย, ฝรั่งเศส
สวรรคต16 กันยายน ค.ศ. 1824(1824-09-16) (68 ปี)
พระราชวังลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส
ฝังพระศพมหาวิหารแซ็ง-เดอนี, ฝรั่งเศส
คู่อภิเษกมารี-โฌเซฟีนแห่งซาวอย
พระนามเต็ม
หลุยส์ สตานีลาส กซาวีเย
ราชวงศ์บูร์บง
พระราชบิดาเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดามาเรีย โฌเซฟา แห่งซัคเซิน
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

จนทรงสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงถืออิสริยยศเคานต์แห่งพรอว็องส์ในฐานะพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1792 สภากงว็องซียงแห่งชาติเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และถอดถอนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งต่อมาทรงถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยตีน[2] เมื่อยุวกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส พระโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สวรรคตในที่คุมขังในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1795 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระนัดดาในฐานะพระมหากษัตริย์ในพระนาม[3]

ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสและสมัยนโปเลียน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงลี้ภัยไปยังปรัสเซีย, สหราชอาณาจักรและรัสเซีย[4] เมื่อสุดท้ายพันธมิตรที่หกปราบนโปเลียนได้ใน ค.ศ. 1814 พระองค์ทรงอยู่ในฐานะที่กษัตริย์นิยมฝรั่งเศสถือว่าชอบธรรม จักรพรรดินโปเลียนทรงหนีจากการเนรเทศในเกาะเอลบาและฟื้นฟูจักรวรรดิฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จลี้ภัยและพันธมิตรที่เจ็ดประกาศสงครามต่อจักรวรรดิฝรั่งเศส พิชิตนโปเลียน และฟื้นฟูพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 สู่ราชบัลลังก์

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นพระมหากษัตริย์เกือบทศวรรษ ระบอบการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ไม่เหมือนกับระบอบเก่าซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ลดลงอย่างมากโดยกฎบัตร ค.ศ. 1814 รัฐธรรมนูญใหม่ของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ไม่มีพระราชบุตร ดังนั้นเมื่อพระองค์สวรรคต ราชบัลลังก์จึงส่งผ่านไปยังชาร์ล ดยุกแห่งอาตัวส์ พระอนุชา[5] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์สุดท้ายที่เสด็จสวรรคตขณะทรงราชย์

วัยเยาว์

เคานต์แห่งพรอว็องส์กับเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ ดยุกแห่งแบร์รี พระเชษฐา (ต่อมาคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16) วาดใน ค.ศ. 1757 โดย ฟร็องซัว-ฮูแบร์ ดรัวอีส

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส ซาเวียร์ พระอิสริยยศ "เคานต์แห่งพรอว็องส์" แต่ประสูติ ประสูติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 ที่พระราชวังแวร์ซาย เป็นพระโอรสในหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศสและเจ้าหญิงมารี-โฌเซฟีนแห่งซาวอย พระชายา พระองค์เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ผู้ทรงราชย์อยู่ขณะนั้น ในฐานะเป็นพระโอรสในโดแฟ็ง พระองค์เป็นฟิลส์เดอฟร็องส์ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเข้าพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนเป็นเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส ซาเวียร์ หกเดือนหลังประสูติตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์บูร์บง ที่ไม่มีพระนามจนเข้าพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน ด้วยพิธีนี้พระองค์ยังทรงเป็นอัศวินแห่งภาคีแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงได้พระนาม หลุยส์ เพราะเป็นพระนามปกติของเจ้าชายฝรั่งเศส พระนาม สตานิสลาส ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าสตานิสลอว์ที่ 1 แห่งโปแลนด์ พระปัยกา และพระนาม ซาเวียร์ ได้รับเลือกเพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญฟรันซิสโก คาเบียร์ ผู้ซึ่งพระราชวงศ์ทางฝ่ายพระมารดาทรงยึดเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์[6]

ในช่วงประสูติ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงอยู่ลำดับที่สี่ในการสืบราชสันตติวงศ์ฝรั่งเศส ต่อจากพระบิดาและพระเชษฐาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายหลุยส์ โจเซฟ ซาเวียร์ ดยุกแห่งเบอร์กันดีและเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ ดยุกแห่งแบร์รี พระเชษฐาองค์โตสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1761 เจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์กลายเป็นรัชทายาทจากการสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรของโดแฟ็ง พระบิดาในปีค.ศ. 1965 การสิ้นพระชนม์ของทั้งสองพระองค์ทำให้เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสอยู่ที่สองในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ ในขณะที่เจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ทรงได้พระอิสริยยศโดแฟ็ง[7]

พระบรมสาทิสลักษณ์เคานต์แห่งพรอว็องส์เมื่อทรงพระเยาว์

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงได้รับความสะดวกสบายภายใต้พระอภิบาล มาดาม เดอ มาร์ซอง พระอภิบาลในพระโอรสธิดาแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นที่โปรดในบรรดาพี่น้องของพระองค์[8] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงถูกนำออกจากพระอภิบาลเมื่อมีพระชนมายุ 7 พรรษา ซึ่งอยู่ในวัยที่ได้รับการศึกษาสำหรับราชนิกุลและชนชั้นขุนนางที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อองตวน เดอ กูวเลน เดอ สเตอร์ เดอ คุสซาด ดยุกแห่งลาวอกูยง พระสหายในพระบิดาของพระองค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองของเจ้าชาย

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นเด็กฉลาด ทรงเป็นเลิศในเรื่องคลาสสิก พระองค์ทรงได้รับการศึกษาแบบเดียวกับพระเชษฐา เจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ แม้ที่จริงแล้วเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ทรงเป็นรัชทายาทแต่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสหาได้เป็น[8] การศึกษาของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสค่อนข้างมีสภาพเกี่ยวข้องกับศาสนา พระอาจารย์หลายคนของพระองค์เป็นนักบวช ลาวอกูยงฝึกฝนเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสและพี่น้องตามวิถีซึ่งเขาคิดว่าเจ้าชายควร "รู้วิธีถอนตัว ให้โปรดการงาน" และ "รู้วิธีให้เหตุผลอย่างถูกต้อง"

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1771 การศึกษาของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสจบลงเป็นทางการและทรงสามารถจัดตั้งครัวเรือนของพระองค์เองอย่างเป็นอิสระ[9] ซึ่งทำให้คนร่วมสมัยประหลาดใจเรื่องความฟุ่มเฟือย ใน ค.ศ. 1773 ทรงมีข้าราชบริพารถึง 390 คน[10] ในเดือนเดียวกับตั้งครัวเรือนของพระองค์ เจ้าชายหลุยส์ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศหลายยศจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระอัยกา ได้แก่ ดยุกแห่งอองชู, เคานต์แห่งเมน, เคานต์แห่งเปอร์เช, เคานต์แห่งซีโนเชส์[11] ในระหว่างช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม เคานต์แห่งพรอว็องส์

ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1773 พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานแห่งภาคีแห่งแซงต์ลาซารัส

เสกสมรส

หลุยส์ เคานต์แห่งพรอว็องส์

ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1771 เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสเสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย จูเซปปินาแห่งซาวอย เจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน (เป็นพระนามที่รู้จักกันในฝรั่งเศส) เป็นพระราชธิดาในวิกเตอร์ อมาเดอุส ดยุกแห่งซาวอย (ต่อมาคือ พระเจ้าวิกเตอร์ อมาเดอุสที่ 3 แห่งซาร์ดิเนีย) กับเจ้าหญิงมาเรีย อันโตเนีย เฟอร์ดินันดาแห่งสเปน พระชายา

มีงานเต้นรำหรูหราหลังพิธีเสกสมรสในวันที่ 20 พฤษภาคม[12] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงรังเกียจพระชายา เนื่องจากทรงเห็นว่าพระนางอัปลักษณ์ น่าเบื่อหน่ายและละเลยประเพณีราชสำนักแวร์ซาย ชีวิตสมรสยังคงไม่สมบูรณ์หลายปี นักชีวประวัติไม่เห็นด้วยกับเหตุผลนี้ ทฤษฎีซึ่งเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดคือ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงถูกกล่าวว่าทรงไร้สมรรถภาพทางเพศ (ตามการศึกษาของแอนโทเนีย ฟราเซอร์) หรือเหตุที่ไม่เต็มพระทัยในการบรรทมกับพระชายาเนื่องจากพระนางสุขอนามัยไม่ดี พระนางไม่ทรงเคยแปรงพระทนต์ ดึงพระขนง หรือใช้น้ำหอม[13] ในช่วงที่เสกสมรส เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงพระเจริญมากและทรงดำเนินเตาะแตะแทนดำเนินปกติ พระองค์ไม่ทรงเคยออกกำลังกายและยังเสวยมาก[14]

แม้ข้อเท็จจริงว่าเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสไม่ทรงหลงใหลในพระชายา แต่พระองค์ทรงโอ้อวดว่ายังคงรักษาความสัมพันธ์สมรสอย่างเหนียวแน่น แต่การประกาศนั้นเกิดเมื่อหมู่ข้าราชบริพารที่แวร์ซายลดความนับถือ นอกจากนี้ยังทรงประกาศว่าพระชายาทรงพระครรภ์เพียงเพื่อทำร้ายความรู้สึกเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์และอาร์กดัชเชสมารี อ็องตัวแน็ตแห่งออสเตรีย พระชายา ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ในชีวิตสมรส[15] โดแฟ็งและเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงมีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นและมักทรงทะเลาะกัน[16] เช่นเดียวกับชายาของทั้งคู่[17] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทำให้พระชายาทรงพระครรภ์ใน ค.ศ. 1774 หลังทรงเอาชนะความเกลียดชังพระชายาได้ แต่สุดท้ายทรงแท้ง[18] การตั้งพระครรภ์ครั้งที่สองเกิดใน ค.ศ. 1781 ซึ่งทรงแท้งเช่นเดียวกัน และการเสกสมรสครั้งนี้ยังไร้ทายาท[6][19]

ในราชสำนักของพระเชษฐา

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส เคานต์แห่งพรอว็องส์ ในช่วงรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส

ในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1774 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงพระประชวรด้วยโรคฝีดาษและสิ้นพระชนม์ในหลายวันต่อมา วันที่ 10 พฤษภาคม[20] ดอแฟ็ง หลุยส์ ออกุสต์ ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระอัยกาในฐานะ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16[21] ในฐานะที่เป็นพระอนุชาองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงได้รับพระยศเป็นมองซิเออร์ (Monsieur) พระองค์ทรงปรารถนามีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมาก พระองค์พยายามขอพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมสภาของพระมหากษัตริย์ในปีค.ศ. 1774 แต่ล้มเหลว เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงถูกปล่อยไว้ในสภาวะถูกลืมเลือนทางการเมืองที่พระองค์ทรงเรียกว่า "เป็นช่องว่าง 12 ปีในชีวิตทางการเมืองของข้าพเจ้า"[22] พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระราชทานรายได้จากดัชชีแห่งอาล็องซงแก่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1774 การพระราชทานดัชชีนี้ให้เพื่อเสริมเกียรติภูมิเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส แต่ที่ดินดังกล่าวมีรายได้เพียง 300,000 ลีฟเรอ (livre) ต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่เคยสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 14 มาก[11]

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสเสด็จทั่วฝรั่งเศสมากกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ ที่แทบไม่เคยเสด็จจากแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ ใน ค.ศ. 1774 พระองค์เสด็จกับคลอทิลด์ไปแชมเบรีเพื่อพบกับเจ้าบ่าวของพระนางคือ ชาร์ลส์ เอ็มมานูเอล เจ้าชายแห่งพีดมอนต์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ซาร์ดิเนีย ใน ค.ศ. 1775 พระองค์เสด็จเยือนลียงพร้อมกับพระปิตุจฉาที่ยังไม่ได้เสกสมรสของพระองค์คือ เจ้าหญิงอาเดลาอีดและเจ้าหญิงวิกตัวร์ในขณะไปผ่อนคลายอิริยาบถในโรงอาบน้ำที่วีชี[10] การเสด็จพระราชดำเนินภูมิภาคสี่หนของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสมีก่อนปีค.ศ. 1791 รวมระยะเวลาสามเดือน[23]

ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 นายแพทย์ลาซอน แพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตยืนยันว่าพระนางทรงพระครรภ์[24] ในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1778 สมเด็จพระราชินีมีพระประสูติกาลพระราชธิดา ทรงพระนาม เจ้าหญิงมารี-เตแรซ ชาร์ล็อตแห่งฝรั่งเศสและทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นเกียรติ มาดามรัวยาล การประสูติของพระราชธิดาได้คลายความกังวลพระทัยของเคานต์แห่งพรอว็องส์ ผู้ซึ่งยังอยู่ในสถานะรัชทายาทในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพราะกฎหมายแซลิกตัดสิทธิหญิงในการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[25][26] แต่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นรัชทายาทอยู่อีกไม่นานนัก ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1781 สมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตมีพระประสูติกาลพระราชโอรสคือ ดอแฟ็ง หลุยส์ โจเซฟ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสและพระอนุชาคือ เคานต์แห่งอาตัวส์ เป็นพระบิดาอุปถัมภ์ในฐานะตัวแทนของจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาในสมเด็จพระราชินี[27] เมื่อสมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตมีพระประสูติกาลพระราชโอรสองค์ที่สองคือ เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1785 ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสก็เลื่อนอีก[28]

เจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน เคานต์เตสแห่งพรอว็องส์ พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส วาดโดยฌอง-แบ็ฟติสต์-อังเดร เกาติเยร์ ดี อโกที ในปีค.ศ. 1775

ใน ค.ศ. 1780 อานน์ นอมปาร์ เดอ เคามองต์ เคานต์เตสแห่งบัลบี เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงตกหลุมรักนางสนองพระโอษฐ์คนใหม่ของพระชายาและตั้งเธอให้เป็นพระสนม[29] ส่งผลให้ความรักที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วของทั้งสองหมดลงโดยสิ้นเชิง[30] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสได้ตั้งศาลาสำหรับพระสนมบนที่ดินซึ่งจะเป็นที่รู้จักในนามว่า Parc Balbi ที่แวร์ซาย[31]

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงใช้พระชนม์ชีพอย่างเงียบ ๆ และกิจวัตรประจำ ทรงไม่มีกิจนับแต่พระองค์ทรงประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเองใน ค.ศ. 1774 พระองค์มักประทับในห้องสมุดขนาดใหญ่ของพระองค์ที่มีหนังสือกว่า 11,000 เล่มที่พลับพลาของบัลบี พระองค์ทรงอ่านหนังสือหลายชั่วโมงของเช้าทุกวัน[32] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1780 พระองค์ยังทรงเป็นหนี้รวมฃมากถึงสิบล้านลีฟเรอ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระเชษฐาทรงจ่ายให้[33]

เจ้าชายหลุยส์ทรงร่วมทุนในเครื่องถ้วยเปลือกไข่ลายหนักซึ่งถูกเรียกว่า "ปอร์ชเลนเดอเมอซีเยอ" (Porcelaine de Monsieur) ในภาพตัวอย่างมาจากค.ศ. 1780

มีการประชุมสภาชนชั้นสูง (สมาชิกประกอบด้วยแมจิสเทรต, นายกเทศมนตรี, ขุนนางและนักบวช) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787 เพื่อให้สัตยาบันการปฏิรูปด้านการคลังตามข้อเสนอของเสนาบดีการคลัง ชาร์ล อเล็กซองดร์ เดอ คาโลน เหตุการณ์นี้ให้เคานต์แห่งพรอว็องส์ ผู้ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปมูลวิวัติของคาโลน มีโอกาสที่รอคอยมานานในการสถาปนาพระองค์เองในการเมือง[34] การปฏิรูปนี้เสนอภาษีทรัพย์สินใหม่[35] และสภาส่วนภูมิภาคที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ซึ่งจะมีสิทธิมีเสียงในการเก็บภาษีอากรท้องถิ่น[36] ญัตติของคาโลนถูกบุคคลสำคัญปฏิเสธโดยสิ้นเชิงและเป็นผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงปลดเขา อาร์กบิชอปแห่งตูลูซ เอเตียง ชาร์ล เดอ โลมีนี เดอ เบรียง สืบกระทรวงของคาโลน เบรียงพยายามกอบกู้การปฏิรูปของคาโลน แต่ที่สุดก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้บุคคลสำคัญอนุมัติการปฏิรูป พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงผิดหวังและทรงยุบสภา[37]

จากนั้น การปฏิรูปของเบรียงถูกส่งให้ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสด้วยหวังว่าการปฏิรูปจะได้รับอนุมัติ (ปาร์เลเมนต์รับผิดชอบต่อการให้สัตยาบันพระราชกฤษฎีกา แต่ละแคว้นมีปาร์เลเมนต์ของตนเอง แต่ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสสำคัญที่สุด) ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสปฏิเสธยอมรับข้อเสนอของเบรียงและประกาศว่า การเก็บภาษีอากรใหม่ใด ๆ จะต้องได้รับอนุมัติจากสภาฐานันดร (รัฐสภาในนามของฝรั่งเศส) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และเบรียงวางพระองค์เป็นปรปักษ์กับการปฏิเสธนี้ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องทรงนำ "ลีเดอจัสติส" (Lit de justice) มาใช้ ซึ่งจดทะเบียนพระราชกฤษฎีกาในปาร์เลเมนต์แห่งปารีสโดยอัตโนมัติ เพื่อให้สัตยาบันการปฏิรูปที่ต้องการ วันที่ 8 พฤษภาคม สมาชิกชนชั้นสูงของปาร์เลเมนต์แห่งปารีสสองคนถูกจับกุม เกิดการจลาจลในแคว้นเบรอตาญ แคว้นพรอว็องส์ แคว้นบูร์กอญและแคว้นเบอาร์นเป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมพวกเขา ขุนนางและแมจิสเทรตท้องถิ่นวางแผนการความไม่สงบดังกล่าว ซึ่งล่อลวงประชาชนให้ต่อต้านลีเดอจัสติส ซึ่งค่อนข้างไม่เป็นที่โปรดปรานของขุนนางและแมจิสเทรตท้องถิ่น นักบวชก็เข้าร่วมอุดมการณ์ภูมิภาคและประณามการปฏิรูปภาษีของเบรียงเช่นกัน เบรียงยอมแพ้ในเดือนกรกฎาคมและตกลงเรียกประชุมสภาฐานันดรใน ค.ศ. 1789 เขาลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม และแทนที่ด้วยเสนาบดีการคลังชาวสวิส ฌาคส์ เน็คเกร์[38]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1788 มีการประชุมสภาชนชั้นสูงครั้งที่สองโดยเน็คเกร์ เพื่อพิจารณาการประชุมสภาฐานันดรในลำดับต่อไป[39] ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสได้แนะนำว่าฐานันดรควรจะเป็นเช่นเดิมนับตั้งแต่การประชุมครั้งสุดท้ายในปีค.ศ. 1614 (ซึ่งหมายความว่าพระและขุนนางสามารถมีผู้แทนมากกว่าฐานันดรที่สาม) [40]ชนชั้นสูงปฏิเสธข้อเสนอ "ผู้แทนร่วม" เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นชนชั้นสูงเพียงพระองค์เดียวที่ลงคะแนนเสียงให้เพิ่มจำนวนผู้แทนฐานันดรที่สาม[41] เน็คเกร์เพิกเฉยการตัดสินของชนชั้นสูงและเชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะมีพระบรมราชานุญาตให้เพิ่มผู้แทนเป็นการพิเศษ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ทรงทำอย่างที่คาดไว้ในวันที่ 27 ธันวาคม[42]

การเกิดขึ้นอย่างรุนแรงของการปฏิวัติฝรั่งเศส

การประชุมสภาฐานันดรได้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 ในการให้สัตยาบันที่จะปฏิรูปทางการคลัง[43] เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงมีจุดยืนอย่างหนักแน่นในการต่อต้านฐานันดรที่สามและข้อเรียกร้องในการปฏิรูปภาษี ในวันที่ 17 มิถุนายน ฐานันดรที่สามได้ประกาศตนเองเป็น สมัชชาแห่งชาติ เป็นสภาที่ไม่ใช่สำหระบฐานันดรแต่สำหรับประชาชน

เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ดำเนินการต่อต้านการประกาศตนครั้งนี้อย่างแข็งขัน ในขณะที่เสนาบดีที่มีชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ ฌาคส์ เน็คเกร์ ได้มีความตั้งใจที่จะประนีประนอมกับสภาใหม่ที่ถูกประกาศขึ้นนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงลังเลพระทัยอย่างที่เป็นมา ในวันที่ 9 กรกฎาคม สมัชชาได้ประกาศตั้งตนเองเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ในวันที่ 11 กรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงปลดเน็คเกร์ออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วกรุงปารีส ในวันที่ 12 กรกฎาคม ได้มีการใช้ดาบเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่สวนตุยเลอรีส์โดยกองทหารของชาร์ล เออแฌน เจ้าชายแห่งล็องแบ็สก์ได้จุดชนวนทำให้เกิดเหตุการณ์การทลายคุกบัสตีย์ในสองวันถัดมา[44][45]

ในวันที่ 16 กรกฎาคม เคานต์แห่งอาตัวส์เสด็จออกจากฝรั่งเศสพร้อมพระชายาและพระโอรส รวมทั้งข้าราชบริพารมากมาย[46] เคานต์แห่งอาตัวส์และครอบครัวเสด็จไปพำนักที่ตูริน เมืองหลวงของพระสัสสุระ ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย และพำนักด้วยกันกับครอบครัวของเจ้าชายแห่งกงเด[47]

เคานต์แห่งพรอว็องส์ตัดสินพระทัยที่จะยังประทับอยู่ที่แวร์ซาย[48] เมื่อพระราชวงศ์วางแผนที่จะหลบหนีออกจากแวร์ซายไปยังแม็ส เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงแนะนำไม่ให้พระมหากษัตริย์เสด็จไป ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำตามคำแนะนำ[49]

พระราชวงศ์ถูกบังคับให้เสด็จออกจากแวร์ซายเมื่อเกิดเหตุการณ์การเดินขบวนของสตรีไปยังแวร์ซายในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789[50] พระราชวงศ์กลับมาประทับที่ปารีสอีกครั้ง ซึ่งเคานต์แห่งพรอว็องส์และพระชายาได้เข้าประทับในพระราชวังลุกซ็องบูร์ ในขณะที่พระราชวงศ์ที่เหลือประทับที่พระราชวังตุยเลอรีส์[51] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1791 สมัชชาแห่งชาติได้ผ่านกฎหมายจัดตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแก่หลุยส์ ชาร์ลในกรณีที่พระราชบิดาสวรรคต ในการที่ทรงครองราชย์เมื่อขณะทรงพระเยาว์ กฎหมายนี้ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการจากพระญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดหลุยส์ ชาร์ลที่สุดในฝรั่งเศส (ในขณะนั้นคือเคานต์แห่งพรอว็องส์) และคนต่อมาคือหลุยส์ ฟิลิปที่ 2 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (ข้ามเคานต์แห่งอาตัวส์) ถ้าหากดยุกแห่งออร์เลอ็องไม่สามารถปฏิบัติราชกิจได้ คณะผู้สำเร็จราชการจะมาจากการเลือกตั้ง[52]

เคานต์แห่งพรอว็องส์และพระชายาเสด็จหนีไปยังเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียร่วมกับพระราชวงศ์ แต่พระราชวงศ์ได้ล้มเหลวในเหตุการณ์การเสด็จสู่วาแรนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1791[53]

ลี้ภัย

ช่วงแรก

เมื่อเคานต์แห่งพรอว็องส์เสด็จถึงกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ พระองค์ได้ประกาศตนเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งฝรั่งเศสโดยพฤตินัย พระองค์ใช้ประโยชน์จากเอกสารที่พระองค์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเขียนไว้[54] ก่อนที่จะล้มเหลวในเหตุการณ์การเสด็จสู่วาแรน เอกสารนี้ได้แต่งตั้งให้พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระเชษฐาสวรรคตหรือไม่สามารถประกอบราชกิจในฐานะกษัตริย์ได้ พระองค์ทรงร่วมกับเจ้าชายองค์อื่น ๆ ที่เสด็จลี้ภัยที่โคเบลซ์เวลาไม่นานหลังจากที่พระองค์ทรงลี้ภัย ซึ่งรวมทั้งเคานต์แห่งอาตัวส์และเจ้าชายแห่งกงเดได้ประกาศเจตจำนงค์ที่จะบุกฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกคุกคามด้วยการกระทำของพระอนุชาอย่างมาก เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงส่งผู้แทนไปยังราชสำนักต่าง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงิน ทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงได้รับปราสาทสำหรับลี้ภัยในรัฐผู้คัดเลือกเทรียร์ ซึ่งเจ้าชายคลีเมนซ์ เวนสเลาสแห่งแซกโซนี ผู้เป็นพระมาตุลา ทรงเป็นอาร์กบิชอปผู้คัดเลือกในขณะนั้น กิจกรรมของคณะผู้พลัดถิ่นก็ได้ผลเมื่อพระประมุขแห่งปรัสเซียและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้มารวมตัวกันที่เดรสเดิน ได้มีการออกประกาศแห่งพิลล์นิตซ์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1791 ซึ่งกระตุ้นให้ยุโรปเข้าไปแทรกแซงฝรั่งเศสถ้าหากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชวงศ์ถูกคุกคาม การสนับสนุนในประกาศนี้ของเคานต์แห่งพรอว็องส์ไม่ได้รับการตอบรับในทางที่ดีนักในฝรั่งเศสทั้งจากประชาชนธรรมดาหรือแม้กระทั่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เอง[55]

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1792 สภานิติบัญญัติได้ประกาศว่าผู้พลัดถิ่นทุกคนเป็นผู้ทรยศฝรั่งเศส ทรัพย์สินและตำแหน่งของบุคคลเหล่านี้จะถูกยึด[56] สถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสถูกยกเลิกโดยสภากงว็องซียงแห่งชาติในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1792[57]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกตัดสินประหารชีวิตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1793 ทำให้เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล พระโอรสกลายเป็นพระมหากษัตริย์เพียงในนาม เหล่าเจ้าชายผู้พลัดถิ่นได้ประกาศให้เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลทรงเป็น "พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส" ในช่วงนี้เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่งตั้งพระองค์เองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระราชนัดดา ซึ่งทรงพระเยาว์เกินไปในฐานะประมุขแห่งราชวงศ์บูร์บง[58]

หลุยส์ ชาร์ลสวรรคตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1795 พระเชษฐภคินีพระองค์เดียวที่ยังทรงพระชนม์อยู่คือ เจ้าหญิงมารี-เตแรซ ซึ่งไม่ถูกพิจารณาในฐานะผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์เพราะความยึดมั่นในกฎหมายแซลิกตามโบราณราชประเพณีฝรั่งเศส ดังนั้นในวันที่ 16 มิถุนายน เหล่าเจ้าชายผู้พลัดถิ่นได้ประกาศให้เคานต์แห่งพรอว็องส์เป็น "พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส" พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงได้รับการยอมรับหลังจากการประกาศนั้น[59] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงร่างแถลงการณ์ตอบสนองต่อการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แถลงการณ์นี้รู้จักกันในชื่อ "การประกาศแห่งเวโรนา" ซึ่งเป็นความพยายามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระองค์ต่อประชาชนชาวฝรั่งเศส การประกาศแห่งเวโรนาได้เรียกร้องให้ฝรั่งเศสกลับเข้าสู่ร่มเงาของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ "ซึ่งเป็นเวลากว่าสิบสี่ศตวรรษที่รุ่งโรจน์ของฝรั่งเศส"[17]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเจรจาให้ปล่อยเจ้าหญิงมารี-เตแรซออกจากที่คุมขังในปารีสในปีค.ศ. 1795 พระองค์ปรารถนาให้เจ้าหญิงเสกสมรสกับพระญาติของพระนางคือ หลุยส์ อ็องตวน ดยุกแห่งอ็องกูแลม พระโอรสในเคานต์แห่งอาตัวส์ พระเจ้าหลุยส์ทรงกล่าวเท็จต่อพระราชนัดดาโดยทรงบอกพระนางว่าความปรารถนาสุดท้ายของพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระนางคือ การให้พระนางเสกสมรสกับหลุยส์ อ็องตวน และเจ้าหญิงทรงตอบรับที่จะปฏิบัติตามความปรารถนาของพระปิตุลา[60]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงถูกบังคับให้เสด็จออกจากเวโรนาเมื่อนโปเลียน โบนาปาร์ตเข้ารุกรานสาธารณรัฐเวนิสในปีค.ศ. 1796[61]

ค.ศ. 1796 - 1807

พระราชวังเยลกาวา ที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ตั้งแต่ค.ศ. 1798 ถึงค.ศ. 1801 และตั้งแต่ค.ศ. 1804 ถึงค.ศ. 1807

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงพยายามเข้าแย่งชิงสิทธิในการดูแลพระราชนัดดา เจ้าหญิงมารี-เตแรซ นับตั้งแต่ที่พระนางทรงถูกปล่อยพระองค์ออกมาจากเทมเปิลทาวเวอร์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1795 พระเจ้าหลุยส์ทรงประสบความสำเร็จเมื่อจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตกลงที่จะสละสิทธิในการดูแลในปีค.ศ. 1796 เจ้าหญิงประทับอยู่ในเวียนนาพร้อมกับพระญาติราชวงศ์ฮับส์บูร์กนับตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1796[61] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงย้ายไปประทับที่บลานเคนบูร์กในดัชชีเบราน์ชไวก์หลังจากที่ที่เสด็จออกมาจากเวโรนา พระองค์ประทับในอพาร์ทเมนต์เล็ก ๆ ขนาดสองห้องนอนบนร้านค้า[62] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงถูกบังคับให้เสด็จออกจากบลานเคนบูร์กเมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซียสวรรคต ในช่วงเวลานี้เจ้าหญิงมารี-เตแรซทรงตัดสินพระทัยที่จะรอเพียงชั่วครู่ก่อนที่จะไปประทับกับพระปิตุลา[63]

ในปีค.ศ. 1798 พระเจ้าซาร์พอลที่ 1แห่งจักรวรรดิรัสเซียได้เสนอให้พระเจ้าหลุยส์สามารถประทับที่พระราชวังเยลกาวาในคลาวแลนด์ (ปัจจุบันคือลัตเวีย) พระเจ้าซาร์พอลที่ 1 ทรงรับรองความปลอดภัยของพระเจ้าหลุยส์และทรงมอบพระราชทรัพย์ช่วยเหลืออย่างพระทัยกว้าง[62] แต่ในภายหลังพระเจ้าซาร์ก็ทรงยกเลิกการมอบพระราชทรัพย์ส่วนนี้ให้[64] เจ้าหญิงมารี-เตแรซเสด็จมาประทับร่วมกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ในที่สุดที่เยลกาวาในปีค.ศ. 1799[65] ในฤดูหนาว ปีค.ศ. 1798 - 1799 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้พระราชนิพนธ์พระประวัติของพระนางมารี อ็องตัวแน็ตในชื่อว่า Réflexions Historiques sur Marie Antoinette พระองค์พยายามสร้างราชสำนักแวร์ซายที่เยลกาวา ที่ซึ่งมีข้าราชบริพารเก่าแก่ร่วมอาศัยอยู่ด้วย มีการรื้อฟื้นประเพณีราชสำนักขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้งพิธี lever และ coucher (ประเพณีที่มาพร้อมกับการตื่นบรรทมและการเข้าบรรทมตามลำดับ) [66]

เจ้าหญิงมารี-เตแรซเสกสมรสกับหลุยส์ อ็องตวน พระญาติ ในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1799 ที่พระราชวังเยลกาวา พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มีพระบัญชาให้พระมเหสีเข้าร่วมพิธีเสกสมรสในคลาวแลนด์โดยไม่มีพระสหายสนิทอย่างยาวนานของพระนาง (และเล่าลือกันว่าเป็นคู่รักของพระนาง) คือ มาร์เกอริต เดอ โกบิยง สมเด็จพระราชินีมารี โฌเซฟีนประทับแยกกับพระสวามีที่ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงให้โลกได้เห็นครอบครัวราชวงศ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน สมเด็จพระราชินีทรงปฏิเสธที่จะเสด็จไปโดยทิ้งพระสหายของพระนางไว้เบื้องหลังโดยทรงเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดผลที่ไม่น่าพอใจหากจะกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในพิธีเสกสมรส[67] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงทราบดีว่าหลุยส์ อ็องตวน พระนัดดาไม่ทรงเข้ากันได้กับเจ้าหญิงมารี-เตแรซ อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงผลักดันให้เกิดการเสกสมรสขึ้น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขและไม่มีทายาทร่วมกัน[68]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงพยายามริเริ่มติดต่อกันทางจดหมายกับนโปเลียน โบนาปาร์ต (ในช่วงนี้เขาเป็น กงสุลฝรั่งเศสคนที่หนึ่ง) ในปีค.ศ. 1800 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงกระตุ้นให้โบนาปาร์ตฟื้นฟูราชบัลลังก์บูร์บงแก่พระองค์ แต่จักรพรรดิในอนาคตก็ไม่สนใจคำขอของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 และยังคงรวบอำนาจของเขาในฐานะประมุขของฝรั่งเศสต่อไป[69]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงสนับสนุนให้เจ้าหญิงพระนัดดาทรงนิพนธ์บันทึกความทรงจำของพระนาง เพื่อที่พระองค์จะใช้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อสำหรับราชวงศ์บูร์บง ในปีค.ศ. 1796 และค.ศ. 1803 พระเจ้าหลุยส์ยังทรงใช้บันทึกประจำวันของผู้ดูแลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ครั้งสุดท้ายในทางเดียวกันด้วย[66] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1801 พระเจ้าซาร์พอลตรัสกับพระเจ้าหลุยส์ว่าพระองค์คงอยู่ในรัสเซียไม่ได้อีกต่อไป ราชสำนักเยลกาวามีทุนทรัพย์น้อยมากซึ่งจะต้องมีการประมูลขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อที่จะมีเงินทุนในการเดินทางออกจากรัสเซีย แม้กระทั่งเจ้าหญิงมารี-เตแรซยังทรงขายสร้อยพระศอเพชรที่จักรพรรดิพอลประทานให้เป็นของกำนัลวันเสกสมรสของพระนาง[64]

เจ้าหญิงมารี-เตแรซทรงชักจูงให้สมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งปรัสเซียมีพระอนุญาตให้พระราชวงศ์ของพระนางลี้ภัยในดินแดนปรัสเซีย สมเด็จพระราชินีหลุยส์ทรงยินยอมแต่เชื้อพระวงศ์บูร์บงต้องใช้นามแฝง โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงใช้พระยศ "กงเดเดอไอเล" (Comte d'Isle; ซึ่งเป็นยศที่ตั้งตามทรัพย์สินของพระองค์ในล็องก์ด็อก) และบางครั้งทรงใช้พระยศ "กงเดเดอลีล" (Comte de Lille) [70] พระองค์และพระราชวงศ์ได้ประทับอยู่ในวอร์ซอ ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นปรัสเซียใต้ ณ พระราชวังลาเซียนกีตั้งแต่ปีค.ศ. 1801 ถึงค.ศ. 1804 หลังจากเดินทางมาจากเยลกาวาอย่างยากลำบาก[71] ตามบันทึกของวีรีเดียนนา ฟิสเซโรวา ซึ่งมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยนั้น เจ้าหน้าที่ของปรัสเซียซึ่งต้องการถวายพระเกียรติหลังจากที่เสด็จมาถึง ได้จัดให้มีการแสดงดนตรี โดยต้องการจะบรรเลงเพลงชาติและเพลงปลุกใจในความรักชาติ ได้เลือกเพลงลามาร์แซแยซซึ่งเป็นเพลงประจำสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 เพื่อพาดพิงถึงทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 โดยตรง แต่ในภายหลังพวกเขาก็ขออภัยโทษในความผิดพลาดครั้งนี้[70]

พระราชวังลาเซียนกี ที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ตั้งแต่ค.ศ. 1801 ถึงค.ศ. 1804

เวลาไม่นานหลังจากที่เสด็จมาถึง พระราชวงศ์ก็ได้รับข่าวการสวรรคตของพระเจ้าซาร์พอลที่ 1 พระเจ้าหลุยส์ทรงหวังว่าผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าซาร์พอล คือ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 จะยกเลิกการเนรเทศราชวงศ์บูร์บงที่พระราชบิดาของพระองค์ได้กระทำไว้ (ในภายหลังพระองค์ทรงยกเลิกจริง) พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงตั้งพระทัยที่จะออกเดินทางไปยังราชอาณาจักรเนเปิลส์ เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงขอให้พระเจ้าหลุยส์ส่งพระราชโอรสของพระองค์ หลุยส์ อ็องตวนและเจ้าหญิงมารี-เตแรซ พระสุนิสา มาพบพระองค์ที่เอดินบะระ แต่ในช่วงนี้ก็ไม่ได้เสด็จไป เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงได้รับพระราชทานทรัพย์จากพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรและทรงส่งทรัพย์บางส่วนไปให้พระเจ้าหลุยส์ ราชสำนักพลัดถิ่นของพระเจ้าหลุยส์ได้ถูกสอดแนมโดยเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส[72] ราชสำนักพลัดถิ่นได้รับการสนับสนุนทางการเงินส่วนใหญ่จากดอกเบี้ยจากหนี้ที่จักรพรรดิฟรานซิสที่ 2 ทรงติดค้างต่อพระนางมารี อ็องตัวแน็ต พระปิตุจฉาของพระองค์ ซึ่งได้ถูกเอาออกไปจากฝรั่งเศสและมีการตัดค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ[73]

ในปีค.ศ. 1803 นโปเลียนพยายามบังคับให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 สละสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส แต่พระเจ้าหลุยส์ปฏิเสธ[74] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1804 นโปเลียน โบนาปาร์ตสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 และพระนัดดาเดินทางไปยังสวีเดนในเดือนกรกฎาคมเพื่อทำการประชุมเชื้อพระวงศ์บูร์บง ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เคานต์แห่งอาตัวส์และดยุกแห่งอ็องกูแลมออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินใจของนโปเลียนในการสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ[75] กษัตริย์ปรัสเซียทรงออกแถลงการณ์ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จออกไปจากแผ่นดินปรัสเซียซึ่งก็คือต้องเสด็จออกจากวอร์ซอ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงเชิญให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จมาประทับที่เยลกาวาดังเดิม พระเจ้าหลุยส์ต้องทรงดำรงพระชนม์ชีพในเงื่อนไขที่ใจกว้างน้อยกว่าในสมัยของพระเจ้าซาร์พอลที่ 1 ที่ทรงมีความสุข และพระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังอังกฤษโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้[76]

เมื่อเวลาผ่านไป พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงตระหนักว่าฝรั่งเศสไม่ยอมรับในความพยายามกลับไปสู่ระบอบเก่า หรือ อองเซียงเรฌีม ดังนั้นพระองค์จึงทรงสร้างนโยบายอีกครั้งในปีค.ศ. 1805 ด้วยมุมมองในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์โดยมีคำประกาศซึ่งมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าแผนการครั้งก่อนหน้าของพระองค์ ซึ่งเป็นการปฏิเสธคำประกาศแห่งเวโรนา โดยสัญญาว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยังคงรักษาระบบการบริหารและตุลาการแบบจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มีการลดภาษี การกำจัดเรือนจำทางการเมือง และรับประกันว่าจะนิรโทษกรรมทุกคนที่ไม่ได้ต่อต้านการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง การแสดงความคิดเห็นต่อประกาศนี้มีจำนวนมากรวมทั้ง เคานต์แห่งอวาเรย์ ผู้ช่วยเหลือพระเจ้าหลุยส์ขณะลี้ภัยที่ทรงสนิทที่สุด[77]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงถูกบังคับให้เสด็จออกจากเยลกาวาอีกครั้งเมื่อพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซียตรัสกับพระองค์ว่าไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของพระองค์บนภาคพื้นทวีปยุโรปได้ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1807 พระเจ้าหลุยส์ทรงขึ้นเรือฟริเกตของสวีเดนไปยังสต็อกโฮล์ม โดยเสด็จไปกับดยุกแห่งอ็องกูแลม เพียงพระองค์เดียว พระเจ้าหลุยส์ไม่ประทับอยู่ที่สวีเดนนานนัก พระองค์เสด็จถึงเกรทยาร์เมานท์ นอร์ฟอล์ก อังกฤษ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1807 พระองค์ประทับที่กอสฟิลด์ฮอล โดยทรงเช่าจากมาควิสแห่งบักกิงแฮม[78]

อังกฤษ

บ้านฮาร์ทเวล บักกิงแฮมเชอร์ ราชสำนักพลัดถิ่นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ประทับที่นี่ตั้งแต่ค.ศ. 1808 จนกระทั่งการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

พระเจ้าหลุยส์ทรงพาพระมเหสี สมเด็จพระราชินีมารี โฌเซฟีนมาจากยุโรปภาคพื้นทวีปในปีค.ศ. 1808 พระเจ้าหลุยส์ประทับที่กอสฟิลด์ฮอลไม่นานนัก พระองค์ได้ย้ายไปประทับที่บ้านฮาร์ทเวลในบักกิงแฮมเชอร์ ซึ่งมีข้าราชบริพารมากกว่าร้อยคนอาศัยร่วมด้วย[79] พระองค์ทรงจ่ายค่าเช่าจำนวน 500 ปอนด์ทุกปีแก่เจ้าของบ้านคือ เซอร์จอร์จ ลี เจ้าชายแห่งเวลส์ (อนาคตคือ พระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร) ทรงเห็นพระทัยแก่เชื้อพระวงศ์บูร์บงที่ลี้ภัยมาก ในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ พระองค์ได้มอบสิทธิให้ที่ลี้ภัยถาวรและทรงมอบเบี้ยค่าใช้จ่ายประจำอย่างเต็มที่[80]

เคานต์แห่งอาตัวส์ไม่ได้ทรงร่วมราชสำนักพลัดถิ่นที่ฮาร์ทเวล ทรงเลือกที่จะใช้พระชนม์ชีพเรียบง่ายในลอนดอน พระสหายของพระเจ้าหลุยส์ เคานต์แห่งอวาเรย์ ได้ออกจากฮาร์ทเวลไปยังมาเดราในปีค.ศ. 1809 และถึงแก่กรรมที่นั่นในปีค.ศ. 1811 ผู้ที่มาแทนอวาเรย์คือ กงเดเดอบลากาส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเมืองของพระองค์ สมเด็จพระราชินีมารี โฌเซฟีนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1810[81] ในฤดูหนาวเดียวกัน พระเจ้าหลุยส์ทรงทรมานจากโรคเกาต์อย่างมากซึ่งเป็นอาการประชวรที่เกิดขึ้นเมื่อประทับที่ฮาร์ทเวลและพระองค์ต้องประทับบนรถเข็น[82]

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้เข้ารุกรานรัสเซียในปีค.ศ. 1812 สงครามครั้งนี้ได้เป็นตัวพิสูจน์ถึงจุดเปลี่ยนในโชคชะตาของพระองค์ เนื่องจากการรุกรานที่ล้มเหลวอย่างน่าทุกข์ใจและจักรพรรดินโปเลียนจำต้องถอนทัพกลับในสภาพยับเยิน

ในปีค.ศ. 1813 พระเจ้าหลุยส์ทรงออกประกาศที่ฮาร์ทเวล "คำประกาศแห่งฮาร์ทเวล"มีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า "คำประกาศในปีค.ศ. 1805" โดยทรงยืนยันว่าทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่แก่นโปเลียนหรือสาธารณรัฐจะไม่ต้องรับผลจากการปฏิบัติหน้าที่ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ถือครอง Biens nationaux (ที่ดินที่ยึดมาจากขุนนางและพระในช่วงการปฏิวัติ) ที่จะได้รับการชดเชยในสิ่งที่สูญเสียไป[83]

กองทัพพันธมิตรได้เข้าสู่กรุงปารีสในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1814[84] ถึงแม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ไม่ทรงสามารถพระดำเนินได้ แต่พระองค์ก็ส่งเคานต์แห่งอาตัวส์ไปยังฝรั่งเศสในเดือนมกราคม ค.ศ. 1814 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มีพระราชหัตถเลขาแต่งตั้งเคานต์แห่งอาตัวส์เป็นนายพลแห่งราชอาณาจักรในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สละราชบัลลังก์ในวันที่ 11 เมษายน ห้าวันถัดมา วุฒิสภาฝรั่งเศสได้ทูลเชิญพระราชวงศ์บูร์บงเสด็จกลับคืนสู่ราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[85]

การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

การฟื้นฟูครั้งที่หนึ่ง

ภาพอุปมานิทัศน์การกลับมาของราชวงศ์บูร์บงในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1814 : พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงยกฝรั่งเศสขึ้นมาจากซากปรักหักพัง วาดโดย หลุยส์-ฟิลิปป์ เครปิน

เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงปกครองในฐานะนายพลแห่งราชอาณาจักรจนกระทั่งพระเชษฐาเสด็จถึงปารีสในวันที่ 3 พฤษภาคม เมื่อเสด็จกลับ พระมหากษัตริย์ทรงแสดงพระองค์ต่อข้าราชบริพารโดยทรงจัดขบวนเสด็จผ่านเมือง พระองค์ประทับที่พระราชวังตุยเลอรีส์ในวันเดียวกัน ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม พระราชนัดดาทรงหมดสติเมื่อทอดพระเนตรเห็นตุยเลอรีส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระนางประทับในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส[86]

วุฒิสภาของนโปเลียนได้เชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 คืนสู่ราชบัลลังก์ด้วยเงื่อนไขว่าพระองค์จะต้องยอมรับรัฐธรรมนูญที่นำมาซึ่งการรับรองสาธารณรัฐและจักรวรรดิ ยอมรับการเลือกตั้งในระบบสองสภาทุกปี และยอมรับในธงไตรรงค์ของระบอบการปกครองดังกล่าว[87] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงต่อต้านรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาและทรงระบุว่าพระองค์ทรง "กำลังยุบวุฒิสภาปัจจุบันในอาชญากรรมทั้งหมดที่ก่อขึ้นโดยโบนาปาร์ตและทรงทำตามเสียงเรียกร้องของชาวฝรั่งเศส" รัฐธรรมนุญฉบับวุฒิสภาถูกเผาในโรงละครโดยกลุ่มกษัตริย์นิยมบอร์โดซ์ และสภาเทศบาลแห่งลียงได้ลงคะแนนในสุนทรพจน์ที่สบประมาทวุฒิสภา[88]

มหาอำนาจผู้ยึดครองปารีสได้เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ[89] พระเจ้าหลุยส์ทรงตอบสนองด้วยกฎบัตรปีค.ศ. 1814 ซึ่งมีบทบัญญัติที่แสดงถึงความก้าวหน้าจำนวนมาก เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา, ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร[90]และสภาขุนนาง[91], สื่อพึงพอใจในเสรีภาพ และบทบัญญัติ Biens nationaux[92]ที่จะยังคงอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเจ้าของปัจจุบัน[93] รัฐธรรมนูญมี 76 มาตรา การจัดเก็บภาษีต้องมีการลงมติโดยสภา ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกจะเป็นศาสนาประจำชาติฝรั่งเศส การที่จะมีสิทธิเป็นสมาชิกสภาผู้แทน คนหนึ่ง ๆ ต้องจ่ายเงินจำนวน 1,000 ฟรังก์ต่อปีเป็นภาษี และต้องมีอายุครบ 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งขุนนางเข้าไปยังสภาขุนนางตามพื้นฐานการสืบสายโลหิตหรือดำรงอยู่ตลอดชีพตามดุลยพินิจของพระองค์ ผู้แทนจะมีการเลือกตั้งทุก ๆ 5 ปี และหนึ่งในห้าจะมีการเลือกตั้งทุกปี[94] มีพลเมือง 90,000 คนมีสิทธิลงคะแนนเสียง[95]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ลงพระนามในสนธิสัญญาปารีสในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1814 สนธิสัญญาได้ให้พรมแดนฝรั่งเศสอยู่ตามปีค.ศ. 1792 ซึ่งมีพรมแดนขยายไปทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์ ประเทศไม่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามและการยึดครองของพันธมิตรที่หกจะถอนตัวทันทีจากแผ่นดินฝรั่งเศส ข้อตกลงที่ใจกว้างนี้จะถูกย้อนกลับมาใช้ในสนธิสัญญาปารีสครั้งต่อไปหลังสมัยร้อยวัน (นโปเลียนกลับคืนสู่ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1815) [96]

ในเวลาไม่นานนัก พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงกลับไปคำนึงถึงหนึ่งในสิ่งที่พระองค์สัญญาไว้มากมาย พระองค์และผู้ดูแลการคลังคือ บารอนหลุยส์ได้ถูกวิเคราะห์ว่าพยายามไม่ให้การคลังขาดดุล (ซึ่งมีหนี้สินจำนวน 75 ล้านฟรังก์ที่สืบต่อมาจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) และมีการใช้มารตรการทางการคลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มั่นพระทัยว่าชาวฝรั่งเศสไม่พอใจในการเก็บภาษียาสูบ ไวน์และเกลือ และภาษีในสินค้าเหล่านี้จะถูกยกเลิกเมื่อพระองค์ทรงได้รับการฟื้นฟูราชบัลลังก์ แต่พระองค์ไม่ประสบความสำเร็จในการยกเลิกภาษีนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการจลาจลในบอร์โดซ์ ค่าใช้จ่ายของกองทัพถูกตัดในงบประมาณประจำปีค.ศ. 1815 ในปีค.ศ. 1814 ค่าใช้จ่ายของกองทัพได้คิดเป็น 55% ของค่าใช้จ่ายรัฐบาล[97]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มีพระบรมราชานุญาตให้เคานต์แห่งอาตัวส์และพระนัดดาของพระองค์ คือ ดยุกแห่งอองกูแลมและแบร์รี เข้าร่วมประชุมสภาขุนนางในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1814 เมื่อมีการก่อตั้งสภาขึ้น สภามีผู้นำอย่างไม่เป็นทางการคือ เจ้าชายตาแลร็อง[98] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงมีความสนพระทัยอย่างยิ่งในพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้ใจของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (ที่มีการวาดแผนที่ยุโรปใหม่หลังการสิ้นสุดนโปเลียน) ตาแลร็องเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงตกพระทัยในความตั้งใจของปรัสเซียที่จะผนวกราชอาณาจักรแซกโซนี ที่พระองค์สนพระทัยเนื่องจากพระมารดาของพระองค์ทรงเป็นเจ้าหญิงแซกโซนี และพระองค์ก็ทรงหวั่นเกรงอิทธิพลของปรัสเซียที่พยายามยึดครองเยอรมนี พระองค์ทรงหวังให้ดัชชีปาร์มาฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงสายปาร์มา และต้องไม่ฟื้นฟูสิทธิของจักรพรรดินีมารี หลุยส์แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตัวเลือกได้รับการแนะนำจากพันธมิตร[99] พระเจ้าหลุยส์ทรงประท้วงการเพิกเฉยของพันธมิตรต่อเนเปิลส์ ที่ซึ่งผู้ช่วงชิงราชบัลลังก์อย่าง ฌออากีม มูว์รา ฝ่ายนโปเลียนได้ช่วงชิงราชบัลลังก์บูร์บงสายเนเปิลส์

ในนามของพันธมิตร ออสเตรียตกลงที่จะทรงกองทัพไปยังเนเปิลส์และถอดถอนพระเจ้าฌออากีม มูว์ราออกจากราชบัลลังก์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 เมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดว่ากษัตริย์มูว์ราทรงพยายามให้ความช่วยเหลืออดีตจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามอย่างชัดเจนตามสนธิสัญญา ในความเป็นจริงกษัตริย์มูว์ราไม่เคยทรงเขียนถึงนโปเลียน แต่พระเจ้าหลุยส์มีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงสายเนเปิลส์ด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทรงปลอมแปลงจดหมายและทรงให้เงินทุนสนับสนุนการเดินทัพของออสเตรียจำนวน 25 ล้านฟรังก์[100]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูราชบัลลังก์เนเปิลส์แก่ราชวงศ์บูร์บงในทันที ปาร์มาถูกมอบให้กับจักรพรรดินีมารี หลุยส์ตลอดพระชนม์ชีพ และราชวงศ์บูร์บงสายปาร์มาจะได้รับดัชชีลุกกาจนกระทั่งการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดินีมารี หลุยส์

สมัยร้อยวัน

ยุทธการที่วอเตอร์ลูนำไปสู่จุดจบของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตในการพยายามกลับมาฝรั่งเศส และเป็นการรับประกันการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 นโปเลียน โบนาปาร์ตหลบหนีออกจากที่คุมขังที่เกาะเอลบาและขึ้นชายฝั่งฝรั่งเศส นโปเลียนมาถึงพร้อมกับทหารจำนวน 1,000 นายใกล้เมืองกานในวันที่ 1 มีนาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงกังวลในการมาถึงของนโปเลียน เนื่องจากกำลังทหารเหล่านั้นมีน้อยเกินกว่าจะเอาชนะพระองค์ได้ง่าย ๆ แต่มีปัญหาสำคัญสำหรับราชวงศ์บูร์บง พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงล้มเหลวในการล้างแนวคิดโบนาปาร์ตนิยมในหมู่ทหาร สิ่งนี้นำไปสู่การเอาใจออกห่างของกองทัพบูร์บงไปเข้ากับกองทัพฝ่ายโบนาปาร์ต นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงเข้าร่วมกองทัพในการต่อสู้กับนโปเลียนจากทางภาคใต้ของฝรั่งเศสเนื่องจากทรงพระประชวรด้วยโรคเกาต์[101] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม นายพลซูลต์ ได้ส่งหลุยส์ ฟีลิป ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (ต่อมาคือ พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1), เคานทฺ์แห่งอาตัวส์และนายพลแม็กโดนัลด์ไปจับกุมนโปเลียน[102]

การประมาณค่าของนโปเลียนต่ำเกินไปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้นำมาซึ่งหายนะ ในวันที่ 19 มีนาคม กองทัพที่ประจำการนอกกรุงปารีสได้แปรพักตร์ไปเข้ากับโบนาปาร์ต ปล่อยให้เมืองหลวงเสี่ยงต่อการถูกโจมตี[103] ในวันเดียวกัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงหลบหนีออกจากเมืองหลวงพร้อมองครักษ์จำนวนเล็กน้อย พระเจ้าหลุยส์ตัดสินพระทัยไปยังลีล จากนั้นทรงข้ามพรมแดนเข้าไปในสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และประทับที่เกนต์[104] ผู้นำคนอื่น ๆ ที่เด่นชัดที่สุดคือ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียทรงถกเถียงในเรื่องชัยชนะครั้งที่สองของจักรวรรดิฝรั่งเศส โดยทรงประกาศว่าดยุกแห่งออร์เลอองควรจะเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระเจ้าหลุยส์ที่ 18[105]

อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินโปเลียนปกครองฝรั่งเศสไม่นานนัก เนื่องจากความพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อกองทัพภายใต้การนำของดยุกแห่งเวลลิงตันและจอมพลบลือเชอร์ในยุทธการที่วอเตอร์ลูในวันที่ 18 มิถุนายน ฝ่ายพันธมิตรได้มีฉันทามติให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กลับคืนสู่ราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[106]

ค.ศ. 1815 - 1824

ภาพ Old Bumblehead the 18th trying on the Napoleon Boots – or, Preparing for the Spanish Campaign, โดย จอร์จ ครูค์ชังค์ ล้อเลียน เหตุการณ์การแทรกแซงสเปนของฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จกลับฝรั่งเศสทันทีหลังการพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียนเพื่อให้แน่พระทัยว่าการฟื้นฟูราชบัลลังก์ครั้งที่สองของพระองค์นั้นอยู่ใน "รถไฟสัมภาระของศัตรู" ซึ่งก็คือ ทหารของเวลลิงตัน[107] ดยุกแห่งเวลลิงตันได้ใช้ตัวพระเจ้าหลุยส์ในฐานะใบเบิกทางไปยังกรุงปารีส ซึ่งผู้คนได้ตั้งป้อมปราการที่ปฏิเสธจะยอมจำนนต่อพันธมิตร แต่ยินยอมจำนนต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขา พระเจ้าหลุยส์เสด็จถึงคองเบรในวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งพระองค์ทรงออกประกาศคองเบร โดยระบุว่าคนทุกคนที่ทำงานรับใช้จักรพรรดิในสมัยร้อยวันจะไม่ถูกประหัตประหาร ยกเว้น "ผู้ยุยงปลุกปั่น" นอกจากนั้นยังเป็นการยอมรับว่ารัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 อาจจะทำผิดพลาดในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่หนึ่ง[108] ในวันที่ 29 มิถุนายน ผู้แทน 5 คนจากสภาผู้แทนและสภาขุนนางได้เข้าพบเวลลิงตันโดยพูดคุยเกี่ยวกับการแต่งตั้งเจ้าชายต่างชาติให้ขึ้นครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศส เวลลิงตันปฏิเสธคำร้องของพวกเขาและประกาศทันทีว่า "[พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็น] ทางเลือกที่ดีที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของฝรั่งเศส"[109] เวลลิงตันสั่งให้สภาสนับสนุนพระเจ้าหลุยส์[110] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จเข้ากรุงปารีสในวันที่ 8 กรกฎาคม ด้วยการต้อนรับที่อึกทึก สวนพระราชวังตุยเลอรีส์เนืองแน่นไปด้วยผู้คน ตามคำบอกเล่าของดยุกแห่งเวลลิงตันที่ว่า มีเสียงไชโยโห่ร้องของฝูงชนดังไปทั่วซึ่งทำให้ในตอนเย็นเขาไม่สามารถพูดคุยกับกษัตริย์ได้เลย[111]

บทบาททางการเมืองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 นับตั้งแต่สมัยร้อยวันได้ลดลงอย่างมากด้วยความสมัครใจของพระองค์เอง พระองค์ทรงสละราชกิจส่วนมากให้แก่สภาของพระองค์ พระองค์และคณะรัฐมนตรีได้ริเริ่มปฏิรูปในฤดูร้อนปีค.ศ. 1815 ในสภาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีกลุ่มของรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการที่ให้คำปรึกษาพระมหากษัตริย์ ได้ถูกยุบและแทนที่ด้วยองคมนตรีสภาที่เรียกว่า "Ministère de Roi" ดยุกแห่งอาตัวส์ ดยุกแห่งอ็องกูแลม และดยุกแห่งแบร์รีได้ถูกปลดออกจากคณะ "ministère" ชุดใหม่ และตาแลร็องได้รับการแต่งตั้งเป็น Président du Conseil คนแรก ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีแห่งฝรั่งเศส[112] ในวันที่ 14 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีได้ยุบกรมกองทัพที่ดูเหมือนว่าจะเป็น "กบฏ" ตำแหน่งขุนนางที่สืบตามสายโลหิตได้ถูกจัดตั้งขึ้นอีกครั้งตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์โดยคณะรัฐมนตรี[113]

ในเดือนสิงหาคม มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนซึ่งกลับส่งผลที่ไม่เอื้ออำนวยต่อตาแลร็อง คณะรัฐมนตรีหวังให้เกิดผู้แทนราฎรสายกลาง แต่ผลการเลือกตั้งได้เอื้ออำนวยให้แก่พวกคลั่งเจ้า (Ultra-Royalist) เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า "Chambre introuvable" ดัชเชสแห่งอ็องกูแลมและเคานต์แห่งอาตัวส์ทรงกดดันให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงปลดคณะรัฐมนตรีที่หัวโบราณหรือล้าสมัย ตาแลร็องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 20 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงแต่งตั้งดยุกแห่งรีเชอลีเยอเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รีเชอลีเยอถูกเลือกเนื่องจากเขาได้รับการยอมรับจากพระราชวงศ์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายปฏิกิริยา หรือ ฝ่ายขวา[114]

ความรู้สึกต่อต้านนโปเลียนมีอย่างมากในบริเวณภาคใต้ของฝรั่งเศสและนี่เป็นสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดในฐานะ ความน่าสะพรึงกลัวขาว ซึ่งเป็นการกวาดล้างข้าราชการคนสำคัญที่รับราชการในสมัยนโปเลียนและมีการดำเนินการประหารชีวิตบุคคลเหล่านี้ ชาวฝรั่งเศสปฏิบัติการกวาดล้างอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้กับเจ้าหน้าที่ทางการเหล่านี้ กีโยม มารี อานน์ บรูเน (นายพลสมัยนโปเลียน) ถูกลอบสังหารอย่างทารุณและศพของเขาถูกโยนลงไปในแม่น้ำโรน[115] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเสียพระทัยต่อการกระทำนอกกฎหมายดังกล่าว แต่พระองค์ก็ยังทรงสนับสนุนให้ดำเนินคดีต่อนายพลเหล่านี้ที่คอยช่วยเหลือนโปเลียนในสมัยร้อยวันต่อไป[116][117] รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ตัดสินประหารชีวิต มีแชล แน นายพลของนโปเลียนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1815 ด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นทุรยศ พระสหายของพระองค์คือ ชาร์ล ฟร็องซัวส์ มาควิส เดอ บอนเนและดยุกแห่งลาชาร์เตร ได้แนะนำให้พระองค์ลงโทษเขาในฐานะ "กบฏ"

พระเจ้าหลุยส์ทรงลังเลที่จะดำเนินการนองเลือด และสิ่งนี้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรฝ่ายขวาไม่พอใจพระองค์อย่างมาก ซึ่งรู้สึกว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงดำเนินการประหารชีวิตมากพอ[118] รัฐบาลได้ประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ "กบฏ" ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1816 แต่คดีที่มีการดำเนินการไต่สวนแล้วกำหนดให้ดำเนินการจนครบกำหนดเวลา ในประกาศเดียวกันยังห้ามสมาชิกราชวงศ์โบนาปาร์ตในการถือครองทรัพย์สินหรือเสด็จกลับมายังฝรั่งเศส[119] เป็นที่คาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 50,000 - 80,000 คนถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลในระหว่างเหตุการณ์ความน่าสะพรึงกลัวขาวครั้งที่สอง[120]

พระบรมวงศานุวงศ์ จากซ้ายไปขวา: ชาร์ล ดยุกแห่งอาตัวส์, พระเจ้าหลุยส์ที่ 18, มารี แคโรไลน์ ดัชเชสแห่งแบร์รี, มารี เตแรซ ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม, หลุยส์ อ็องตวน ดยุกแห่งอ็องกูแลม และชาร์ล เฟอร์ดินานด์ ดยุกแห่งแบร์รี

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1815 รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งเป็นจุดจบสมัยร้อยวันของจักรพรรดินโปเลียนอย่างเป็นทางการ สนธิสัญญาก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ได้รับความชื่นชอบในฝรั่งเศส แต่สนธิสัญญานี้ได้สร้างความตึงเครียด โดยพรมแดนของฝรั่งเศสได้ลดลงมาอยู่ในเขตแดนที่ระบุไว้ในค.ศ. 1790 ฝรั่งเศสต้องจ่ายเงินสำหรับกองทัพที่เข้าไปครอบครองดินแดนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ในจำนวนเงิน 150 ล้านฟรังก์ต่อปี ฝรั่งเศสยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศพันธมิตรจำนวน 700 ล้านฟรังก์[121]

ในปีค.ศ. 1818 สภาได้ผ่านกฎหมายทหารโดยเพิ่มจำนวนทหารในกองทัพมากกว่า 100,000 นาย ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ดยุกแห่งรีเชอลีเยอประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้มหาอำนาจถอนกองทัพออกไปในช่วงต้นเพื่อแลกกับเงินจำนวนมากกว่า 200 ล้านฟรังก์[122]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเลือกรัฐมนตรีสายกลางจำนวนมาก ในฐานะที่พระองค์ทรงอยากเอาใจประชาชน สิ่งนี้ได้สร้างความตกตะลึงอย่างมากแก่พระอนุชาของพระองค์ เคานต์แห่งอาตัวส์ ซึ่งทรงเป็นกลุ่มคลั่งเจ้า[123] พระเจ้าหลุยส์ทรงหวั่นพระทัยถึงในวันที่เสด็จสวรรคต ทรงเชื่อว่า เคานต์แห่งอาตัวส์ พระอนุชาซึ่งเป็นรัชทายาทของพระองค์ จะทรงยุบรัฐบาลสายกลางเพื่อนำไปสู่ระบอบเผด็จการของพวกคลั่งเจ้า ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี[124]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่โปรดเจ้าชายสืบสายพระโลหิต เจ้าชายหลุยส์ ฟิลิปป์ ดยุกแห่งออร์เลออง และมักจะทรงหาโอกาสดูถูกเจ้าชายโดยตลอด[125] ทรงปฏิเสธพระอิสริยยศ "รอยัลไฮเนส" ของเจ้าชาย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่พอพระทัยบทบาทของพระบิดาในดยุกที่ทรงลงคะแนนเสียงให้ประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ดยุกแห่งแบร์รี พระนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ถูกลอบปลงพระชนม์ที่โรงละครโอเปราปารีสในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1820 พระราชวงศ์โศกเศร้าเสียพระทัยอย่างมาก[126] และพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงละทิ้งกฎโบราณราชประเพณีโดยทรงร่วมพระพิธีฝังพระศพพระนัดดา ซึ่งในขณะที่ก่อนหน้านี้พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสไม่สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตใด ๆ ได้[127] การสิ้นพระชนม์ของดยุกแห่งแบร์รีทำให้ราชตระกูลออร์เลอองมีแนวโน้มที่จะสืบราชบัลลังก์มากขึ้น

ที่ประดิษฐานพระบรมศพพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี กรุงปารีส

ดยุกแห่งแบร์รีเป็นพระราชวงศ์เพียงองค์เดียวที่ทรงสามารถให้กำเนิดพระบุตรได้ พระชายาของพระองค์ได้ตั้งพระนามโอรสที่ประสูติในเดือนกันยายน หลังจากที่บิดาสิ้นพระชนม์ว่า อ็องรี ดยุกแห่งบอร์โดซ์[126] มีพระนามลำลองว่า "ดิเยอดองเน" (Dieudonné; พระเจ้าประทาน) โดยพระราชวงศ์บูร์บงเพราะพระองค์ถูกคิดว่าจะเป็นผู้สร้างความปลอดภัยแก่ราชวงศ์ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์บูร์บงก็ยังคงเป็นที่คลางแคลง รัฐสภาได้เสนอให้แก้กฎหมายแซลิกเพื่อให้ดัชเชสแห่งอ็องกูแลมทรงขึ้นสืบราชบัลลังก์[128] ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1820 รัฐสภาได้ยอมรับกฎหมายเพิ่มจำนวนผู้แทนราษฎรจาก 258 ที่นั่งเป็น 430 ที่นั่ง สมาชิกสภาพิเศษจะได้รับเลือกจากย่านที่มั่งคั่งที่สุดในแต่ละจังหวัด บุคคลเหล่านี้จะมีคะแนนเสียงคนละสองคะแนน[129] ในช่วงเวลาเดียวกันในฐานะที่เป็น "กฎหมายสองคะแนนเสียง" พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงรับการเข้าเฝ้าทุกวันพุธจากสุภาพสตรีที่มีชื่อว่า โซอี ทาลอง และมีรับสั่งไม่ให้ใครรบกวนขณะที่ทรงอยู่กับเธอ มีข่าวลือว่าพระองค์ทรงสูบยานัตถุ์ผ่านทางหน้าอกของเธอ[130] ซึ่งทำให้เธอได้รับฉายาว่า "tabatière" (กล่องยานัตถ์) [131] ในปีค.ศ. 1823 ฝรั่งเศสลงมือแทรกแซงทางการทหารในเหตุการณ์การแทรกแซงสเปนของฝรั่งเศส ซึ่งเกิดการกบฏต่อต้านพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปน ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการปราบปรามกบฏ[132]โดยการนำของดยุกแห่งอ็องกูแลม[133]

สวรรคต

พระพลานามัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรุดลงในฤดูใบไม้ผลิ ปีค.ศ. 1824 พระองค์ทรงทุกข์ทรมานจากโรคอ้วน, โรคเกาต์และเนื้อตายเน่า ทั้งเปียกและแห้ง ในพระเพลา (ขา) และกระดูกสันหลัง พระเจ้าหลุยส์เสด็จสวรรคตในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1824 โดยทรงแวดล้อมด้วยเหล่าพระราชวงศ์และข้าราชการบางคน ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อคือ พระอนุชาของพระองค์ เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงครองราชย์ในฐานะ พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส[134]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์สุดท้าย และเป็นเพียงพระองค์เดียวหลังจากค.ศ. 1774 ที่เสด็จสวรรคตขณะที่ทรงครองราชย์ พระบรมศพของพระองค์ถูกฝังที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี ซึ่งเป็นสุสานของเหล่าพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส

พระราชตระกูล

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
16. เจ้าชายหลุยส์ เลอกร็องโดฟิน
 
 
 
 
 
 
 
8. หลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ดยุกแห่งเบอร์กันดี
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
17. ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย
 
 
 
 
 
 
 
4. พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
18. พระเจ้าวิตโตรีโอ อาเมเดโอที่ 2 แห่งซาร์ดิเนีย
 
 
 
 
 
 
 
9. เจ้าหญิงมารี อาเดลาอีดแห่งซาวอย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
19. เจ้าหญิงอานน์ มารีแห่งออร์เลออง
 
 
 
 
 
 
 
2. หลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
20. ราฟาล เลชชินสกี
 
 
 
 
 
 
 
10. พระเจ้าสตานิสลอว์ที่ 1 แห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
21. แอนนา จาโบลโนว์สกา
 
 
 
 
 
 
 
5. เจ้าหญิงมารี เลชชินสกาแห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
22. ยาน คาโรล โอปาลินสกี
 
 
 
 
 
 
 
11. แคทเทอรีน โอปาลินสกา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
23. โซเฟีย ซาร์นโกสกา
 
 
 
 
 
 
 
1. พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
24. จอห์น จอร์จที่ 3 อิเล็กเตอร์แห่งแซ็กโซนี
 
 
 
 
 
 
 
12. พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
25. เจ้าหญิงแอนน์ โซฟีแห่งเดนมาร์ก
 
 
 
 
 
 
 
6. พระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
26. คริสเตียน เอิร์นส์ มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบรอยท์
 
 
 
 
 
 
 
13. คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
27. โซฟี หลุยส์แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
 
 
 
 
 
 
 
3. เจ้าหญิงมาเรีย โจเซฟาแห่งแซกโซนี
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
28. จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
 
 
 
 
 
 
 
14. จักรพรรดิโยเซฟที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
29. เอเลโอโนเรอ-มักดาเลเนอแห่งนอยบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
7. อาร์คดัชเชสมาเรีย โจเซฟาแห่งออสเตรีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
30. โยฮัน ฟรีดิช ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-ลือเนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
15. วิลเฮลมีน อามาเลียแห่งเบราน์ชไวก์-ลือเนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
31. เจ้าหญิงเบเนติกตา เฮนเรียตตาแห่งพาลาทิเนต
 
 
 
 
 
 

ในนิยาย

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ปรากฏตัวช่วงสั้น ๆ ในนิยาย ชีวิตพลิกผันของเคานต์แห่งมองเต กรีสโต ของอเล็กซองดร์ ดูมาส์

เคานต์แห่งพรอว็องส์ในวัยหนุ่ม รับบทโดยเซบาสเตียน อาร์เมสโต ในไม่กี่ฉากของภาพยนตร์ในปีค.ศ. 2006 เรื่องมารี อองตัวเน็ต โลกหลงของคนเหงา (Marie Antoinette) เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติที่เขียนบทและกำกับโดยโซเฟีย คอปโปลา ซึ่งมีฐานมาจากหนังสือ Marie Antoinette: The Journey ของเลดี แอนโทเนีย ฟราเซอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างข้อผิดพลาดครั้งใหญ่โดยกล่าวว่าพระองค์เป็นพระบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 19 หรือ ดยุกแห่งอ็องกูแลม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นพระโอรสในพระเจ้าชาร์ลที่ 10 พระอนุชาของพระองค์

ในภาพยนตร์ปีค.ศ. 1970 เรื่องวอเตอร์ลู พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 รับบทโดยออร์สัน เวลส์

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูล

  • Artz, Frederick Binkerd (1931). France Under the Bourbon Restoration, 1814-1830. Harvard University Press.
  • Artz, Frederick B. (1938). Reaction and Revolution 1814-1830. Harper & Row.
  • Frederking, Bettina. "‘Il ne faut pas être le roi de deux peuples’: strategies of national reconciliation in Restoration France." French History 22.4 (2008): 446-468. in English
  • Holroyd, Richard. "The Bourbon Army, 1815-1830." Historical Journal 14, no. 3 (1971): 529-52. online.
  • Mansel, Philip. "From Exile to the Throne: The Europeanization of Louis XVIII." in Philip Mansel and Torsten Riotte, eds. Monarchy and Exile (Palgrave Macmillan, London, 2011). 181-213.
  • Weiner, Margery. The French Exiles, 1789-1815 (Morrow, 1961).
  • Wolf, John B. France 1814-1919: the Rise of a Liberal Democratic Society (1940) pp 1-58.

อ้างอิง


ก่อนหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศสถัดไป
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ในฐานะจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส

พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่หนึ่ง

(11 เมษายน ค.ศ. 1814 – 20 มีนาคม ค.ศ. 1815)
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ในฐานะจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ในฐานะจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส

พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่สอง

(7 กรกฎาคม ค.ศ. 1815 – 16 กันยายน ค.ศ. 1824)
พระเจ้าชาร์ลที่ 10
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ผู้ปกครองร่วมแห่งอันดอร์รา
(7 กรกฎาคม ค.ศ. 1815 – 16 กันยายน ค.ศ. 1824)
พระเจ้าชาร์ลที่ 10
ว่าง
ลำดับก่อนหน้า
ฟิลิป

ดยุกแห่งอ็องฌู
(ค.ศ. 1771 – ค.ศ. 1790)
ว่าง
ลำดับถัดไป
ฌาคส์
พระเจ้าหลุยส์ที่ 17
ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่หนึ่ง
เหตุจากการปฏิวัติฝรั่งเศส

(8 มิถุนายน ค.ศ. 1795 – 11 เมษายน ค.ศ. 1814)
เป็นพระมหากษัตริย์
การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่หนึ่ง
สูญเสียอิสริยยศ
การกลับมาของนโปเลียน

ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่สอง
เหตุจากสมัยร้อยวัน

(20 มีนาคม – 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1815)
กลับคืนอิสริยยศ
การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่สอง
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง