มหาสงครามเหนือ

มหาสงครามเหนือ (อังกฤษ: Great Northern War; รัสเซีย: Северная война; สวีเดน: stora nordiska kriget) เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1700 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 10 กันยายน ปี ค.ศ. 1721 รวมระยะเวลาทั้งหมดเป็น 21 ปี นำโดยจักรวรรดิรัสเซียแห่งฝ่ายพันธมิตรเข้าปะทะกับจักรวรรดิสวีเดนในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปเหนือ ก่อนจะนำมาด้วยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรและการก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของรัสเซียเหนือคาบสมุทรบอลติก รวมถึงการเข้ามามีอิทธิพลในยุโรปของรัสเซียจวบจนปัจจุบัน ส่วนสวีเดนต้องตกอยู่ใต้ "ยุคแห่งเสรีภาพ" อันมีระบบรัฐสภาปกครองประเทศอันเนื่องมาจากการสวรรคตของพระเจ้าคาร์ลที่ 12[3][4]นำไปสู่ยุคราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนถึง 54 ปี[4]

มหาสงครามเหนือ
ส่วนหนึ่งของ สงครามรัสเซีย-สวีเดน สงครามรัสเซีย-โปแลนด์ สงครามรัสเซีย-เดนมาร์ก สงครามรัสเซีย-ตุรกี

ตามเข็มนาฬิกาจากภาพบน: ยุทธการโพลทาวา ยุทธการกันกุท ยุทธการนาร์วา ยุทธการเลสนายา ยุทธการกาเดอบุช และยุทธการสตอร์คีโร
วันที่22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1700 — 10 กันยายน ค.ศ. 1721
สถานที่
ผลฝ่ายสวีเดนพ่ายแพ้และถูกชิงดินแดนไป ส่วนฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะ
จักรวรรดิรัสเซียก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งยุโรปและทำให้อำนาจของจักรวรรดิสวีเดนและเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียลดลง
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
รัสเซียได้ดินแดนเอสโตเนีย อินเกรีย และลิโวเนียของสวีเดน รวมถึงดินแดนเคกซ์โฮล์มและไวเบิร์กอีกด้วย ปรัสเซียได้บางส่วนของพอเมอเรเนีย ฮาโนเวอร์ได้รเบรเมิน-แวร์เดิน ส่วนโฮลล์ชไตน์-ก็อธธอร์ปเสียอาณาจักรดยุคแห่งชเลสวิชให้กับราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
รัสเซีย จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย
รัสเซีย อเล็กซานเดอร์ เมนชิคอฟ
รัสเซีย บอริส เชร์เมเทฟ
เดนมาร์ก เฟรเดอริคที่ 4
เดนมาร์ก คริสเตียน เรเวนโลว
เดนมาร์ก ทอร์เดนสโจลด์
ฟรีดริช ออกัสตัสที่ 1/2
ราชอาณาจักรปรัสเซีย ฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1
อีวาน มาเซปปา
อีวาน สโครพาดสกี
จอร์จที่ 1
ดมีตรี คานเตเมียร์
กำลัง
ไม่ทราบจำนวนรวมแน่ชัด
สวีเดน 177,000—393,400—135,000 นาย
2ออตโตมัน 100,000-200,000 นาย
คอสแซค 8,000-40,000
โปแลนด์ 16,000 นาย
โจรสลัด 1,400 คน [ต้องการอ้างอิง]
ทหารทั้งหมดอย่างน้อย 310,000 นาย
รัสเซีย 170,000 นาย
เดนมาร์ก/นอร์เวย์ 40,000 นาย
โปแลนด์/แซ็กซอน+100,000 นาย
เยอรมัน ปรัสเซีย และฮาโนเวอร์ไม่ทราบจำนวน
ความสูญเสีย
ทหารสวีเดนราว 25,000 นายเสียชีวิตในสนามรบ, 175,000 นายเสียชีวิตจากความอดอยาก, โรคระบาด, ความทุรกันดาร และอื่นๆ[1]

ทหารรัสเซียอย่างน้อย 75,000 นาย ทหารโปแลนด์/แซ็กซอน 14,000-20,000 นาย และทหารเดนมาร์กอีก 8000 ในยุทธการใหญ่และ 60000 กว่าคนตลอดเวลาที่เข้าร่วมสงคราม[2]


นอกจากนั้นทหารรัสเซียกว่า 30000 คนเสียชีวิตในสนามรบ ส่วนอีก 9000 คนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในที่สุด

1ทหารขั้นต้น ค.ศ. 1700 ค.ศ. 1707 ตามลำดับ


2เข้าร่วมต่อสู้ในยุทธการเดียว, ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวตลอดสงคราม

สงครามนี้นำด้วยกองทหารสองเหล่าทัพ โดยมีฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้เปิดฉากต่อสู้ก่อน นำโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ และพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งแซกซ์-โปแลนด์-ลิทัวเนีย ซึ่งต่อมาได้ถอนกำลังออกในปี ค.ศ. 1700 และปี ค.ศ. 1706 ตามลำดับ แต่ในปี ค.ศ. 1709ก็ได้นำกองทัพเข้ามาสมทบต่อจนสิ้นสงคราม นอกจากนี้ยังมี พระเจ้าจอร์จที่ 1นำทัพจากฮาโนเวอร์เข้ามาร่วมสงครามในปี ค.ศ. 1714 และได้นำทัพจากบริเตนใหญ่เข้ามาสมทบภายหลังในปี ค.ศ. 1717 รวมทั้งพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1 แห่งบรานเดนบูร์ก-ปรัสเซียที่นำกองทัพเข้ามาสมทบในปี ค.ศ. 1715 อีกด้วย ส่วนทางด้านฝ่ายสวีเดนนั้นนำด้วยพระเจ้าคาร์ลที่ 12 โดยมีกองทัพแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป รวมทั้งทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียที่นำโดยกษัตริย์สตานิสลอว เลซซิงสกีในปี ค.ศ. 1704 ถึงปี ค.ศ. 1710 และกองทัพคอสแซคภายใต้การนำทัพของอีวาน มาเซปปา รองผู้บัญชาการทัพสูงสุดแห่งชนชาติยูเครน รวมถึงสุลต่านอาห์เมดที่นำทัพออตโตมันร่วมสงครามกับฝ่ายสวีเดนแล้วมุ่งหน้าปะทะกับกองทัพรัสเซียเป็นหลักอีกด้วย

สงครามเปิดฉากด้วยการที่กองทัพพันธมิตรแห่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ แซกโซนี โปแลนด์-ลิทัวเนีย และรัสเซียกรีฑาทัพเข้าโจมตีฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป ลิโวเนีย และอินเกรียอันเป็นดินแดนของจักรวรรดิสวีเดนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าคาร์ลที่ 12ที่ในสมัยนั้นยังทรงพระเยาว์ จึงขาดความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างมาก ฝ่ายสวีเดนจึงได้แต่ตั้งหน้ารับการโจมตีของฝ่ายพันธมิตรอยู่ท่าเดียว จนกระทั่งยุทธการนั้นจบลงด้วยสนธิสัญญาสงบศึกแห่งทราเวนดอล นับตั้งแต่นั้นมหาสงครามเหนือก็ได้เริ่มขึ้น และกลายเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์ยุโรปเลยทีเดียว

หลังจากระยะสงครามที่ยืดเยื้อมาถึง 21 ปีแล้ว จักรวรรดิสวีเดนได้เริ่มทำสนธิสัญญาสต็อกโฮล์มเพื่อสงบศึกกับฮาโนเวอร์และปรัสเซียในปี ค.ศ. 1719 ต่อมาในปี ค.ศ. 1720 ได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกเฟรเดริกส์เบิร์กกับฝั่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ แต่ก็ยังยืนกรานที่จะเปิดสงครามกับรัสเซียต่อไป จนกระทั่งปี ค.ศ. 1721 สวีเดนแพ้สงครามในที่สุด จนสวีเดนต้องทำสนธิสัญญาสงบศึกนีสตาดกับรัสเซีย โดยสนธิสัญญาทั้งสามฉบับสวีเดนต้องเสียสินทรัพย์และดินแดนเป็นจำนวนไม่น้อยเป็นค่าปฏิกรรมสงครามเลยทีเดียว ท้ายที่สุดแล้วสวีเดนจึงต้องสูญเสียอำนาจในการปกครองดินแดนหลายๆ ส่วน นอกจากนั้นยังโดนลดอำนาจในคาบสมุทรบอลติกลงและยังต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองเพราะสิ้นราชวงศ์ในสงคราม[4]อีกด้วย ส่วนรัสเซียนั้นหลังจบสงครามก็ได้เริ่มต้นยุคแห่งการแผ่ขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ก่อนที่จะหยุดลงในสองศตวรรษหลังจากนั้นเอง แต่อิทธิพลของรัสเซียที่มีต่อยุโรปและต่อประชาคมโลกยังคงมีอยู่ แม้จะน้อยลงบ้างก็ตาม

สาเหตุ

พรมแดนของจักรวรรดิสวีเดนในสมัยนั้น

ปี ค.ศ. 1560 ถึงปี ค.ศ. 1658 จักรวรรดิสวีเดนแผ่ขยายอาณาเขตของตนเข้าไปในคาบสมุทรบอลติกอันประกอบไปด้วยเอสโตเนีย ลิโวเนีย อินเกรีย และคาเรเลีย รวมถึงช่วงสงครามสามสิบปี สวีเดนยังได้ครอบครองดินแดนพอเมอเรเนีย วิสมาร์ วาร์เดน และแคว้นดยุคเบรเมน อันเป็นดินแดนของบรานเดนบูร์ก-ปรัสเซียในขณะนั้น และในปี ค.ศ. 1645ถึงปี ค.ศ. 1658 ยังแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในเขตประเทศเดนมาร์ก-นอร์เวย์แล้วชิงเอาเขตโอเรซุนด์มาอีกด้วย

สาเหตุทีสวีเดนในสมัยนั้นสามารถพิชิตดินแดนต่างๆ ได้อย่างง่ายดายถึงแม้ขนาดกองทัพจะเล็กกว่ากองทัพอื่นมากก็เนื่องมาจากความแข็งแกร่งของกองทัพสวีเดนที่ผ่านการฝึกฝนและประสบการณ์หลายๆ ด้านมาแล้ว รวมถึงความทันสมัยของทหารและพลเรือนสวีเดนในศตวรรษที่ 17อีกด้วย อันเนื่องมาจาก ณ ยุคสมัยนั้น สวีเดนภายใต้การปกครองของพระเจ้าคาร์ลที่ 12และราชวงศ์ ทรงควบคุมการใช้ทรัพยากรทั้งในเมืองหลวงและทั่วทั้งจักรวรรดิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะสมรภูมิไหน กองทัพสวีเดนก็สามารถทำการพิชิตและเจาะทะลวงไปได้อย่างง่ายดาย ด้วยปืนคาบศิลาขนาดเล็กๆ กว่ากองทัพทั่วไปประกอบกับประสบการณ์การใช้อาวุธอย่างชำนาญและการเดินทัพของตัวกองทัพด้วยแล้ว ก็ทำให้สวีเดนสามารถเอาชนะกองทัพต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม สวีเดนก็ยังคงมีจุดอ่อนอย่างใหญ่หลวงที่เป็นอุปสรรคต่อกองทัพ คือการที่ราชวงศ์ไม่สามารถบำรุงรักษาและพัฒนากองทัพของตนเองเป็นเวลานานได้ จึงประกาศออกไปว่า ในการสงคราม หากกองทัพสามารถหาสินทรัพย์มาบำรุงรักษากองทัพจากการปล้นสะดมและการเก็บส่วยจากดินแดนในครอบครองได้ตามใจชอบ หากแต่ค่าใช้จ่ายในการสงครามนั้นก็ยังสูงเกินกว่าค่าภาษีรวมกับเงินหลวงของดินแดนในแต่ละพื้นที่ แม้แต่เงินในคลังหลวงสวีเดนยังไม่พอใช้ในสงครามและการกระจายทรัพยากรให้กับกำลังพลได้ นี่จึงกลายเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งที่ยาวนานบานปลายตามมา

ทางด้านจักรวรรดิรัสเซียในสมัยนั้นถูกผูกมัดด้วยสนธิสัญญาสโตลโบโวในปี ค.ศ. 1617 โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการเสียดินแดนให้กับสวีเดนและสิทธิขาดของสวีเดนในรัฐบอลติกเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับดินแดนบริเวณคาบสมุทรบอลติกได้ จนกระทั่งสถานการณ์เกิดพลิกผันขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อพระราชอำนาจของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งจักรวรรดิรัสเซียเริ่มแผ่ขยายและขึ้นมามีอิทธิพลขึ้นกับยุโรปในสมัยนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ในดินแดนบอลติกในสมัยนั้น จนกระทั่ง รัฐบุรุษโยฮันน์ พาทคัลได้ทำสัญญาลับเพรียโบชอนสกี[5][6](อังกฤษ: Treaty of Preobrazhenskoye) ขึ้นในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1699 ในเขตพระราชฐานแห่งพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เมืองเพรียโบชอนสกีอันเป็นเขตหนึ่งของกรุงมอสโก และในที่ประชุมแห่งกรุงราวา อันมีพระเจ้าฟรีดริช ออกัสตัสที่ 2แห่งแซกซ์-โปแลนด์-ลิทัวเนียเป็นองค์ประชุมอีกด้วย โดยตามสนธิสัญญานับเป็นการรวมทัพของราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์ จักรวรรดิรัสเซีย เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย และรัฐผู้คัดเลือกแซกโซนีเพื่อตั้งตนต่อสู้กับฝ่ายจักรวรรดิสวีเดนในนามกองทัพพันธมิตร ก่อนที่กองกำลังผสมทั้งสามจะกรีฑาทัพเข้าเปิดสงครามในปี ค.ศ. 1700 นั้นเอง

กองกำลัง

ฝ่ายสวีเดน

ปี ค.ศ. 1697 พระเจ้าคาร์ลที่ 12ในพระชนมายุเพียง 14 พรรษาทรงเข้าพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปต่อจากพระเจ้าชาลส์ที่ 11 ซึ่งเสด็จสวรรคตในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1697 โดยพระองค์ยังเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนยุคแห่งเสรีภาพอีกด้วย พระเจ้าคาร์ลที่ 12ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะนำจักรวรรดิสวีเดนออกจากภาวะสงครามในขณะนั้นและจดจ่ออยู่กับการปฏิรูปด้านต่างๆแทน รวมถึงยังพัฒนาส่วนราชวงศ์และกองทัพให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่น่ายกย่องและเคารพนับถือพระองค์หนึ่งเลยทีเดียว พระองค์ไม่โปรดที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความหรูหราฟู่ฟ่า เสวยพระสุรา หรือใช้ภาษาฝรั่งเศสแทนภาษาของประเทศ แต่พระองค์ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตบนหลังม้าเข้าต่อสู้กับศัตรูโดยไม่ปรารถนาสังคมชั้นสูง พระองค์มุ่งเป้าหมายไปที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราชเพื่อขับพระองค์ออกจากบัลลังก์ฐานที่ทำลายข้อตกลงในสนธิสัญญาสโตลโบโว โดยมีคาร์ล กุสตาฟ เรห์นสเคียลด์ แมกนัส สเตนบก และอดัม ลุดวิก เลเวนฮาปท์ พระสหายคนสนิทเป็นผู้บัญชาการศึกเคียงพระองค์ นอกจากนั้นทัพที่เข้าร่วมยังมีฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป นำโดยชาลส์ เฟรเดอริก ดยุคแห่งฮ็อลชไตน์อันดำรงศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 หนึ่งในรัชทายาทผู้มีสิทธิเรียกร้องราชบัลลังก์ แต่สิทธินั้นกลับไปตกอยู่ที่อัลริค เอเลโอเนราแทน นอกจากนั้นยังมีเจ้าหญิงเฮดวิก โซเฟีย พระราชธิดาในพระเจ้าชาลส์ที่ 11 เป็นผู้นำดัชชี่แห่งฮ็อลชไตน์อีกด้วย

ฝ่ายสวีเดนยังมีอดีตศัตรูอย่างคอสแซคซาโพโรเซียนที่นำโดยอีวาน มาเซปปา ในตอนแรกคอสแซคอยู่ฝั่งพันธมิตร แต่ในปี ค.ศ. 1708 กลับเปลี่ยนข้างมาอยู่ฝั่งสวีเดนในภายหลังแทน

ฝ่ายพันธมิตร

ปี ค.ศ. 1682 พระเจ้าปีเตอร์มหาราชขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าฟีโอดอร์ที่ 3 แต่ก็ยังไม่ได้เป็นผู้ปกครองที่แท้จริงจนกระทั่งปี ค.ศ. 1689 พระองค์ปฏิรูปจักรวรรดิรัสเซียในหลายๆ ด้าน ให้กลายเป็นจักรวรรดิที่เรืองอำนาจทั้งด้านการค้าและด้านกองทัพไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ นั่นทำให้รัสเซียในรัชสมัยของพระองค์แพร่ขยายอำนาจออกไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นคาบสมุทรบอลติก ทะเลดำ หรือประเทศบริเวณทะเลแคสเปียน จักรวรรดิรัสเซียภายใต้การนำของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชพร้อมด้วยอเล็กซานเดอร์ ดานิโลวิช เมนชิคอฟและอดัม ลุดวิก เลเวนฮาปท์ก็สามารถบุกเข้าไปยึดครองมาได้ นั่นทำให้รัสเซียอันเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามมีจุดมุ่งหมายที่ใหญ่ที่สุดได้กลายเป็นประเทศผู้นำฝ่ายพันธมิตรในสมัยนั้น

ขณะเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่งแห่งโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีซึ่งดำรงค์ศักดิ์เป็นประยูรญาติห่างๆ ของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์[7] ได้เข้าประชุมร่วมกับพระเจ้าปีเตอร์มหาราชถึงแผนการที่จะรวมกองทัพพันธมิตรเข้าต่อสู้กับฝ่ายสวีเดนที่กรุงปราวา เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1698 โดยในขณะนั้นพระองค์ไม่อาจรู้เลยว่าในภายภาคหน้าอีกเพียงแค่สองปี สงครามจะนำความปราชัยและความอดสูมาให้โปแลนด์-ลิทัวเนียมากแค่ไหนเลยทีเดียว

และในปี ค.ศ. 1699 พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 4[7] ยังได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าคริสเตียนที่ 5 แห่งเดนมาร์ก และยังคงตั้งตนเป็นศัตรูกับจักรวรรดิสวีเดนสืบต่อจากพระปณิธาณของพระราชบิดาต่อไปอีกด้วย พระองค์จึงได้นำทัพเข้าร่วมกับสงครามในครั้งนั้นจนกระทั่งประสบกับความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิสวีเดนในปี ค.ศ. 1700 พระองค์จึงถอนตัวออกจากสงครามโดยที่ไม่สามารถกอบกู้ดินแดนของเดนมาร์กกลับมาจากสวีเดนได้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1709 พระองค์ได้นำกองทัพเดนมาร์กเข้าร่วมสงครามและยืดเยื้อไปจนถึงปี ค.ศ. 1720 จักรวรรดิสวีเดนจึงทำสนธิสัญญาเฟรเดอริกสเบิร์ก (อังกฤษ: Treaty of Frederiksborg) เพื่อสงบศึกกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์ พระองค์จึงได้ดินแดนส่วนของเดนมาร์กกลับมาในที่สุด

กองทัพพันธมิตรยังมีพระเจ้าฟรีดิช วิลเฮล์มที่ 1 อันทรงพระสมญานามว่า "กษัตริย์ทหาร" นำกองทัพเข้าร่วมในฐานะกษัตริย์แห่งปรัสเซียและอิเลคเตอร์แห่งบรานเดนบูร์ก และพระเจ้าจอร์จที่ 1ซึ่งนำกองทัพของพระองค์เข้าร่วมในฐานะราชอาณาจักรฮาโนเวอร์ ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์อีกด้วย

กำลังทัพ

ปี ค.ศ. 1700 พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทรงมีกองกำลังทหารไว้ในครอบครองถึง 77,000 นาย และในปี ค.ศ. 1707 ยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 120,000 นายอีกด้วย โดยเมื่อรวมกับกองทัพประเทศอื่นแล้ว ทัพสวีเดนจึงมีกองกำลังมากถึง 393,400 นายเลยทีเดียว

ทว่าในด้านของรัสเซียนั้น แม้จะพร้อมที่จะรวมทัพใหญ่เข้าสู้ได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าสู้พร้อมๆ กันได้ทั้งหมด อีกทั้งยังต้องกระจายกำลังทหารเข้าปกป้องเขตประเทศต่างๆ อีกด้วย ในที่สุดพระเจ้าปีเตอร์มหาราชจึงตัดสินใจรวบรวมกำลังและปลุกใจทหารเข้าสู้กับทัพสวีเดนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 170,000 นาย โดยมีนายทหารจากเดนมาร์กร่วม 40,000 นาย โปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีมากกว่า 100,000 นาย และยังมีทหารไม่ทราบจำนวนจากปรัสเซียและฮาโนเวอร์อีกด้วย

ค.ศ. 1700

การปิดล้อมแห่งทิวนิ่ง

ผังป้อมทิวนิ่ง

ปี ค.ศ. 1700 เดนมาร์ก-นอร์เวย์ โปแลนด์-ลิทัวเนีย-แซกโซนี และรัสเซียเปิดฉากสงครามด้วยการกรีฑาทัพเข้าล้อมป้อมทิวนิ่ง โดยทั้งสามกองกำลังเข้าตีป้อมทางหน้าทั้งสามด้าน ส่วนกองทัพเดนมาร์ก-นอร์เวย์เข้าโจมตีฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป[8]และทัพราชวงศ์ของจักรวรรดิสวีเดน[9] และนำไปสู่การวางทัพล้อมป้อมทิวนิ่งในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1700[8] จนกระทั่งถูกทัพเรือสวีเดนเข้าตลบหลังกะทันหันด้วยการเปลี่ยนรูปแบบทัพไปโจมตีด้านหน้าจากกรุงโคเปนเฮเกน ทำให้พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 4 ต้องถูกถอนกำลังออกจากสงครามด้วยสนธิสัญญาสันติภาพทราเวนดอล (อังกฤษ: Treaty of Travendal ; สวีเดน: Travendahlischer Friede)ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1700[10] โดยมีเนื้อหาดังนี้

  • เดนมาร์กจะต้องยอมรับในเอกราชของฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป
  • สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ปกับเดนมาร์กต้องทำให้ดินแดนทับซ้อนรวมถึงฮ็อลชไตน์เองเป็นอิสระจากเดนมาร์ก
  • เดนมาร์กจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงิน 260,000 ริกสดาลเลอร์ให้แก่ฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป
  • เดนมาร์กต้องให้คำสัตย์สาบานว่าจะไม่ตั้งตนเป็นศัตรูของจักรวรรดิสวีเดนและฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป
  • เดนมาร์กมีสิทธิตั้งกองกำลังป้องกันตนเองได้ แต่กำลังทหารต้องไม่เกิน 6,000 นาย
  • เดนมาร์กต้องถอนกำลังออกจากกลิยุคสแตตต์ให้หมดสิ้น
  • สังฆมณฑลลิวเบกจะต้องสถาปนาและยอมรับราชวงศ์โฮลสไตน์-ก็อธธอร์ปอย่างแท้จริง
  • เดนมาร์กจะต้องส่งกำลังเสริมไปช่วยสวีเดนในยุทธการนาร์วา

ด้วยเหตุนี้กองทัพเดนมาร์กจึงต้องถอนตัวออกจากสงครามไปถึง 8 ปี จนกระทั่งปี ค.ศ. 1709 การพ่ายแพ้ของจักรวรรดิสวีเดนในยุทธการโปลตาวามาเยือน[11] ทำให้สัญญาเสื่อมสภาพลง เดนมาร์ก-นอร์เวย์จึงกรีฑาทัพเข้าร่วมสงครามในนามฝ่ายพันธมิตรอีกครั้ง

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 กรีฑาทัพขึ้นเทียบฝั่งฮัมเลเบก

การเทียบท่าแห่งฮัมเลเบก

การเทียบท่าแห่งฮัมเลเบก (อังกฤษ: Landing on Humlebæk) เกิดจากการนำทัพราชนาวีสวีเดนเข้าเทียบฝั่งเดนมาร์กโดยพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1700 ถือเป็นการโต้กลับครั้งแรกของฝ่ายสวีเดน ในเวลานั้นแม้จะมีเพียงสวีเดนแค่ฝ่ายเดียว แต่ยุทธการการบุกเข้าโจมตีโดยกะทันหันก็ทำให้เดนมาร์กคาดไม่ถึงเช่นกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เดนมาร์กพ่ายแพ้สวีเดนในยุทธการทิวนิ่งไปในที่สุด

ก่อนหน้าที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12จะกรีฑาทัพเข้าบุกตำบลฮัมเลเบกของเดนมาร์ก พระองค์ได้ตระเตรียมการไว้ก่อน โดยรวบรวมกำลังพลแนวหน้าไว้ถึง 16,000 นายที่ดินแดนสแกเนีย และกองหลังอีก 10,000 นายที่พรมแดนของนอร์เวย์ แล้วเคลื่อนทัพจากเมืองคาร์ลสโครนามายังช่องแคบโอเรซุนด์ด้วยกองเรือรบ 38 ลำ ระหว่างนั้นกองทัพสวีเดนยังพบกับอุปสรรคสำคัญ นั่นคือกองเรือเดนมาร์ก 40 ลำที่แล่นขวางเอาไว้ แต่ที่สุดแล้วก็ได้รับการช่วยเหลือจากกองเรือบริติช-ดัตช์ ทำให้กองเรือสวีเดนสามารถเคลื่อนทัพต่อไปได้จนถึงตำบลฮัมเลเบกในที่สุด

การเทียบท่าเข้าบุกยังชายฝั่งฮัมเลเบกนับเป็นการตัดสินพระทัยของพระเจ้าคาร์ลที่ 12ที่นำพาชัยชนะมาให้สวีเดนได้ไม่น้อย หากเพราะเดนมาร์กไม่ทันได้ตั้งตัวอะไรเลย จึงเป็นเวลาที่เหมาะแก่การบุกเข้าโจมตีอย่างยิ่ง และถึงฝั่งเดนมาร์กจะมีกำลังพลมากถึง 5,000 คนอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็มีเพียงแค่ทหาร 350 นายและชาวนา 350 คนที่วางกำลังป้องกันชายฝั่งเท่านั้น ขณะที่ทางสวีเดนได้แบ่งทัพไว้สองกอง โดยให้ทหารจำนวน 2,500 นายจาก 4,700 นายเข้าบุกเป็นแนวหน้า ถึงแม้เดนมาร์กจะส่งกองกำลังทหารม้าเข้าปิดล้อมไว้ แต่ก็ยังเสียเปรียบสวีเดนที่อยู่ในน้ำอยู่ดี สงครามครั้งนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ที่ทรงร่วมรบกับทัพหน้าของพระองค์อย่างไม่หวั่นเกรงทั้งบนบกและในน้ำอีกด้วย

ท้ายที่สุด ด้วยกำลังเสริมของสวีเดนที่บุกประชิดเข้ามาทางกรุงโคเปนเฮเกนเรื่อยๆ จนมีกำลังทหารทั้งหมด 10,000 นาย ประกอบกับทัพของเดนมาร์กที่เอาแต่ถอยหลังกลับเมืองหลวง ทำให้เดนมาร์กต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกทราเวนดอลตามที่กล่าวมาอย่างไม่มีทางเลือกในที่สุด

ชัยชนะแห่งกองทัพสวีเดน

ยุทธการนาร์วา

หลังจากเดนมาร์กพ่ายแพ้ต่อสวีเดนในการเทียบท่าแห่งฮัมเลเบก สวีเดนที่กำลังฮึกเหิมก็ได้เบนความสนใจไปที่จักรวรรดิรัสเซียอันได้ชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อตนเองทันที นั่นทำให้พระเจ้าคาร์ลที่ 12ยาตราทัพภาคสนามเข้าบุกรัสเซียในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1700[12]เมืองนาร์วา โดยมีจุดประสงค์ที่จะดันกองทัพรัสเซียกลับไปยังเขตแดนรัสเซียให้ได้ตามประสงค์

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 พร้อมด้วยคาร์ล กุสตาฟ เรห์นสเคียลด์ และออตโต เวลลิงก์ สองแม่ทัพใหญ่จัดกำลังทหารโดยให้ 8,000 นายเข้าปะทะในยุทธการนาร์วา แล้วอีก 2,500 นายรักษาดินแดนอยู่ที่ตัวเมืองสวีเดน ในขณะที่ฝั่งจักรวรรดิรัสเซียมีกองกำลังทหารถึง 30,000-35,000 นาย[13] นำโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราชและแม่ทัพอีกหกนาย ทั้งสองเข้าปะทะกันในวันพายุหิมะรุนแรง และทางลมยังจะดูเป็นใจให้สวีเดนอีกด้วย กระนั้นแล้วพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ก็ยังทรงเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของชาวรัสเซียแม้จะมองไม่เห็นในสภาพอากาศแบบนี้ จึงสั่งการให้แบ่งทัพออกเป็นสองปีก เข้าล้อมทัพรัสเซีย แล้วใช้ทัพหลักที่สามเข้าปะทะจนต้อนให้ทัพรัสเซียเข้าไปอยู่ที่สะพานข้ามแม่น้ำนาโรวาได้สำเร็จ ด้วยกลยุทธ์ของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทำให้ครั้งนั้นสะพานข้ามแม่น้ำนาโรวาถล่มลงมา ส่งผลให้ทหารรัสเซียตกลงไปตายถึง 6,000-18,000 คน[14][15]เลยทีเดียว

ไม่เพียงแค่นั้น ทางด้านทหารรัสเซียที่ยอมจำนนให้กับทัพสวีเดนยังได้แอบลำเลียงอาวุธสำคัญไปมอบให้กับทัพสวีเดนอีกด้วย พระเจ้าปีเตอร์มหาราชรู้แก่พระทัยดีว่าถ้าหากยังดันทุรังสู้ต่อจะเป็นเช่นไรจึงถอยทัพกลับ[16] ชัยชนะครั้งนี้พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทรงมั่นพระทัยเป็นอย่างมากว่าหลังจากนี้รัสเซียจะไม่สามารถกลับมารุกรานสวีเดนได้อีกและประเมินรัสเซียต่ำลงไปมากจนถึงยุทธการโปลตาวา ในขณะที่พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 กลับเก็บความพ่ายแพ้นี้รวมถึงในวันข้างหน้าไว้เป็นบทเรียนสำคัญและเก็บกลยุทธ์ทุกอย่างที่สวีเดนมีไปพัฒนากองทัพรัสเซียให้เต็มประสิทธิภาพ

ค.ศ. 1701

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ในศึกข้ามฟากแห่งดิวน่า

ศึกข้ามฟากแห่งดิวน่า

หลังจากที่สวีเดนมีชัยเหนือรัสเซียในยุทธการนาร์วามาได้ประมาณสิบเดือนกว่า สมเด็จพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีก็ได้กรีฑาทัพเข้าร่วมเป็นกองกำลังผสมกับกองทัพรัสเซียในเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1701 ณ ริมแม่น้ำเดากาวา กรุงริกาและลิโวเนีย เพื่อเข้าปะทะกับกองทัพสวีเดน โดยครั้งนั้นมีทหารรัสเซียถึง 10,000 นาย และทหารแซกซอนร่วมด้วยอีก 9,000 นาย รวมยอดทั้งหมดของกองกำลังพันธมิตรเป็น 19,000 นาย[17] ส่วนกองกำลังสวีเดนมีเพียง 7,000 นาย[17] แต่มีกองราชนาวีสมทบมาด้วย

การปะทะระลอกแรก กองทัพสวีเดนระดมยิงปืนใหญ่จากฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเดากาวาใส่ค่ายกองทัพฝ่ายพันธมิตรอย่างไม่ทันให้ได้ตั้งตัว ทันทีที่ควันปืนเริ่มสลายออกไป กองทัพแซกซอนก็เริ่มรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเปิดกำลังเข้าจู่โจมกองทัพสวีเดนกลับทันที ในขณะที่กองทัพสวีเดนภายใต้พระบัญชาแห่งพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ก็ยังคงเดินหน้าเข้าปะทะอย่างไม่หวั่นเกรงและไม่มีใครถอยกลับ หลังจากการปะทะระลอกแรกผ่านไปชั่วครู่ กองทัพสวีเดนก็เข้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามเป็นระลอกที่สองอีกครั้ง กระทั่ง 2 ชั่วโมงผ่านไป กองทัพสวีเดนก็สามารถเอาชนะกองทัพพันธมิตรและข้ามแม่น้ำเดากาวาไปได้สำเร็จ

กลวิธีการศึกของสวีเดนในครั้งนี้สามารถเอาชนะฝ่ายเจ้าบ้านอย่างโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้อย่างง่ายดายก็เพราะมีการติดตั้งปืนใหญ่บนเรือเล็กๆ ได้ ทำให้ฝ่ายสวีเดนสามารถระดมยิงปืนใหญ่และปล่อยระเบิดควันลวงสายตาได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีการวางกลยุทธ์ล่วงหน้าอีกด้วย

บอริส เปโตรวิช เชรเมเทฟ

ยุทธการเราเกจ์

หลังจากที่สวีเดนข้ามแม่น้ำเดากาวาไปได้แล้วสองเดือน บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียก็ได้ยาตราทัพสามเหล่าจากราพินนา เนียว-คาซาริทส์ และเราเกจ์ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1701 เพื่อเข้าปะทะกันอีกครั้งที่เราเกจ์และลิโวเนียตะวันออกในดินแดนเอสโตเนียปัจจุบัน ถึงรัสเซียจะกรีฑาทัพมาเป็นจำนวน 7,000 นายที่มากกว่าสวีเดนที่มีเพียง 2,000 แต่ผลของสงครามครั้งนี้ยังคงเป็นเช่นเดิม รัสเซียต้องปราชัยให้กับสวีเดนเหมือนอย่างทุกครั้ง สงครามครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงระดับประสิทธิภาพของสองกองทัพ โดยรัสเซียต้องสูญเสียทหารไปมากถึง 2,000 กว่าคน ในขณะที่สวีเดนสูญเสียทหารไปไม่ถึงร้อยคนเท่านั้น

ค.ศ. 1702

สมรภูมิรบแห่งเออร์ราสต์เฟอร์

ยุทธการเออร์ราสต์เฟอร์

ไม่นานนัก หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือนกว่า บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียก็ได้นำทัพกลับมาโจมตีสวีเดนในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1702 ณ สมรภูมิเออร์ราสต์เฟอร์ ดินแดนสวีดิชลิโวเนีย ยุทธการครั้งนี้กองทัพรัสเซียยังคงยกพลมาถึง 12,000 นาย ขณะที่สวีเดนยังคงยกทัพมาน้อยนิดเพียงแค่ 2,200 นายเท่านั้น การศึกครั้งนี้กองทัพรัสเซียประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายด้วยการสังหารกองทัพสวีเดนลงถึง 750 นาย จับนายทหารอีก 350 คนไปเป็นเชลยสงครามและยังได้ยุทโธปกรณ์สงครามของสวีเดนมาครองถึง 4 กระบอก ถึงแม้กองทัพรัสเซียจะสูญเสียกองทหารไปมากถึง 3,000 กว่าคนก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นชัยชนะครั้งแรกของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของกองทัพรัสเซียไปในภายภาคหน้าอีกเช่นกัน

ยุทธการฮัมเมลชอฟ

ครึ่งปีผ่านมาหลังจากยุทธการเออร์ราสต์เฟอร์ผ่านไป กองทัพรัสเซียด้วยกำลังทหาร 24,000 นาย[18]ได้ยกทัพมาที่กรุงตาร์ตู ดินแดนสวีดิชลิโวเนีย เพื่อเข้าโจมตีกองทัพสวีเดนที่มีกำลังรบเพียง 5,700 นาย[18] สงครามครั้งนั้นยังคงนำด้วยสองแม่ทัพอันเป็นศัตรูเก่ามาหลายยุทธการ นั่นคือบอริส เชรเมเทฟ แห่งรัสเซีย และวิลเฮล์ม อันตง วอน ชลิพเพนบาร์ชแห่งสวีเดน โดยทั้งสองกองทัพได้เข้าปะทะกันที่สมรภูมิใกล้เมืองฮัมเมลชอฟ ในตอนแรกกองทหารสวีเดนสามารถเอาชนะรัสเซียแล้วชิงเอาปืนใหญ่มาได้ 5-6 กระบอก แต่ในเวลาต่อมา เมื่อกองทัพหลวงแห่งรัสเซียเดินทางมาถึง กองทัพสวีเดนก็เปิดศึกด้วยการเข้าโจมตีทันที หากแต่กองทหารราบรัสเซียได้กระจายทัพเข้าล้อมกองทัพสวีเดนไว้แล้วจึงเริ่มโจมตีกลับทันที ด้วยแสนยานุภาพทางการทหารที่สำนักพระราชวังรัสเซียภายใต้การบัญชาของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ได้ทำการฝึกฝนทหารรัสเซียเป็นอย่างดี จึงทำให้สงครามครั้งนี้รัสเซียมีชัยเหนือสวีเดนได้อย่างสวยงาม โดยสามารถสังหารทหารฝ่ายตรงข้ามได้ถึง 1,000-2,000 นาย เกณฑ์ไปเป็นเชลยสงครามได้ถึง 238 คน และยังยึดปืนใหญ่กลับมาไว้ในครอบครองได้ถึง 15 กระบอก ในขณะที่ทหารฝ่ายของตนบาดเจ็บสาหัสและล้มตายเพียงแค่ 1,000 นายจากทั้งหมด 24,000 นายเท่านั้น ชัยชนะครั้งที่สองของรัสเซียครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันถึงแสนยานุภาพทางการทหารที่พัฒนาขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดของรัสเซียเป็นอย่างดี

สมรภูมิแห่งคลิสโซว์

ยุทธการคลิสโซว์

สืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทรงสืบรู้มาทีหลังว่าพระเจ้าออกัสตัสที่ 2โปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีทรงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการรวมตัวของระหว่างกองกำลังสามเหล่าทัพ คือกองทัพรัสเซียของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช กองทัพเดนมาร์ก-นอร์เวย์ของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 4 และกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีของตัวพระองค์เอง[8] หลังจากที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12ทรงมีชัยเหนือกองทัพรัสเซียในยุทธการนาร์วาแล้ว[19] พระองค์ก็ได้ผลักกองกำลังโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีให้กลับไปยังเขตของตนได้สำเร็จ และอีกสองปีให้หลัง พระองค์ยังติดตามพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ไปในโปแลนด์-ลิทัวเนียต่ออีกด้วย[20]

ณ ดินแดนคลิสโซว์ ตอนใต้ของเมืองเคียลเซอ เวลา 11 นาฬิกา วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1702 พระเจ้าคาร์ลที่ 12[21] พร้อมด้วยทหารราบ 8,000 นาย ทหารม้า 4,000 นาย และปืนครก 4 กระบอก[21] ได้ยาตราศึกเข้าปะทะกับกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีของพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ที่มีกองทหารราบ 7,500 นาย ทหารม้าแซกซอน 9,000 นาย ทหารม้าโปแลนด์ 6,000 นาย และปืนครกยาว 46 กระบอก[21] รวมแล้วฝั่งสวีเดนมีกำลังรบ 12,000 นาย ในขณะที่ฝั่งโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีมีกำลังรบมากถึง 22,500 นาย นับว่ามากกว่าฝั่งสวีเดนเกือบ 2 เท่าทีเดียว

พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ได้แบ่งทัพออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนซ้ายอันเป็นของชาวแซกซอนจะนำโดยโยฮันน์ แมธเธียส วอน ชูเลนเบิร์ก ทัพกลางอันเป็นกำลังผสมนำโดยตัวพระองค์เอง ปีกขวาฝ่ายทหารม้านำโดยจาคอบ เฮนริช วอน เฟลมมิง และปีกขวาฝ่ายทหารราบชาวโปลิชนำโดยฮีโรนิม ออกัสติน ลูโบเมิร์สกี[21] แล้วเข้าโอบกองทัพสวีเดน แต่แล้วกองทัพสวีเดนก็ใช้กลศึกพลิกกลับมาใช้ปีกกองทัพที่กระจายตัวอยู่ด้านนอกโอบเข้าอีกเป็นชั้นที่สอง ทำให้กองทัพชาวโปแลนด์ปีกขวาและทัพแซกซอนปีกซ้ายพ่ายแพ้อย่างยับเยิน[21] ทำให้ลูโบเมิร์สกีต้องตัดสินใจถอยทัพหนี เปิดโอกาสให้ทัพแซกซอนอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วและทำให้พระเจ้าคาร์ลที่ 12 สามารถเข้าบุกตีค่ายทหารของฝ่ายโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้โดยง่ายภายในครึ่งชั่วโมง ทำให้พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ต้องถอยทัพหนีลงหนองน้ำไปในที่สุด[21]

ชัยชนะครั้งนี้แม้สวีเดนจะได้ยุทโธปกรณ์สงคราม เสบียงและสัมภาระของทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียมาครอง แต่ก็ต้องแลกด้วยการสูญเสียพี่เขยอย่างดยุคเฟรเดอริคที่ 4 แห่งโฮลสไตน์-ก็อธธอร์ปของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 จากการถูกพระแสงปืนใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามเข้าจนสิ้นพระชนม์ในที่สุด ขณะที่อีกด้านนั้นทัพแซกซอนก็ยังคงรอดมาได้ด้วยการนำทัพของแม่ทัพชูเลนเบิร์กแห่งแซกซอนโดยสวัสดิภาพ ยุทธการครั้งนี้กองทัพสวีเดนสามารถสังหารทหารกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้มากถึง 2,000 นาย จับไปเป็นเชลยสงครามได้มากถึง 1,000 นาย[21] ขณะที่สวีเดนมีทหารที่บาดเจ็บสาหัส 900 นายและล้มตายเพียงแค่ 300 นายเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1702 กองทัพสวีเดนภายใต้พระบัญชาแห่งพระเจ้าคาร์ลที่ 12 จึงได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองคราคอว์ในดินแดนของโปแลนด์-ลิทัวเนีย กองทัพฝ่ายเจ้าบ้านจึงต้องย้ายทัพไปยังเมืองซานโดเมียร์ซเพื่อตั้งรับขึ้นอีกครั้ง

พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ท่ามกลางกองทัพรัสเซียในการปิดล้อมเนอเตเบิร์ก

การปิดล้อมแห่งเนอเตเบิร์ก

การปิดล้อมแห่งเนอเตเบิร์กเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1702[22] โดยเป็นศึกที่กองทัพรัสเซียอันประกอบด้วยทหารราบกว่า 35,000 นาย นำโดยพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 และบอริส เชรเมเทฟ เข้าล้อมป้อมเนอเตเบิร์กของกองทัพสวีเดนที่มีกองทหารเพียงแค่ 389 นายเท่านั้น โดยแต่เดิม บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียได้ตั้งค่ายอยู่ริมแม่น้ำเนวาอยู่ก่อนแล้วด้วยกำลังพลถึง 12,000 แล้วกองทัพของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 จึงได้ตามมาสมทบในอีกสิบวันให้หลังจนครบ 35,000 คน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1702 กองทัพรัสเซียภายใต้คำสั่งของบอริส เชรเมเทฟจึงออกเดินหน้ามุ่งไปยังป้อมเนอเตเบิร์ก[23]แล้วเริ่มเปิดศึกต่อฝ่ายสวีเดนทันที โดยทางกองทัพรัสเซียใช้กลยุทธ์การระเบิดป้อมเข้าสู้ แม้สุดท้ายแล้วกลยุทธ์จะล้มเหลวเพราะปืนใหญ่ระเบิดออกก็ตาม แต่ด้วยการปิดล้อมและการต่อสู้ติดต่อกันมาหลายวันทำให้ทหารสวีเดนต้องบาดเจ็บสาหัส อดอาหาร ติดเชื้อ และตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายสวีเดนต้องยอมจำนนต่อกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1702 ในที่สุด [24]

หลังสงครามครั้งนี้ จักรวรรดิรัสเซียก็ได้ป้อมเนอเตเบิร์กและดินแดนรอบป้อมมาครองในที่สุด รวมถึงยังได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระเจ้าปีเตอร์มหาราชว่า "ป้อมชลิสเซลเบิร์ก"[23] อันมีความหมายว่า "กุญแจแห่งดินแดน" และใช้ป้อมเป็นที่ตั้งมั่นเพื่อเข้ายึดดินแดนทางตะวันตกอีกด้วย โดยขณะนั้นพระองค์ไม่ทรงทราบเลยว่าต่อไปในภายภาคหน้า ป้อมนี้จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการรวบรวมดินแดนรอบแม่น้ำเนวา แต่ต้องแลกกับการที่ต้องเสียเวลาในการบูรณะซ่อมแซมป้อมที่โดนระเบิดของฝ่ายตัวเองถึง 16,554 ลูก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ป้อมบูรณะเสร็จอย่างรวดเร็ว พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ยังได้เสด็จมาฉลองชัยชนะที่ป้อมพร้อมกับแต่งตั้งอเล็กซานเดอร์ เมนชิคอฟ ขึ้นเป็นแม่ทัพประจำป้อมอีกด้วย[22]

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Sweden and the Baltic, 1523 – 1721, by Andrina Stiles, Hodder & Stoughton, 1992 ISBN 0-340-54644-1
  • The Struggle for Supremacy in the Baltic: 1600-1725 by Jill Lisk; Funk & Wagnalls, New York, 1967
  • The Northern Wars, 1558-1721 by Robert I. Frost; Longman, Harlow, England; 2000 ISBN 0-582-06429-5
  • Norges festninger by Guthorm Kavli; Universitetsforlaget; 1987; ISBN 82-00-18430-7
  • Admiral Thunderbolt by Hans Christian Adamson, Chilton Company, 1958
  • East Norway and its Frontier by Frank Noel Stagg, George Allen & Unwin, Ltd. 1956
  •  บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติChisholm, Hugh, บ.ก. (1911). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. {{cite encyclopedia}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง