ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่น

ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: テレビドラマโรมาจิTerebi Dorama) ในประเทศญี่ปุ่นมักเรียก โดรามะ (ญี่ปุ่น: ドラマโรมาจิDorama) หรือที่นิยมเรียกในประเทศไทยว่า ซีรีส์ญี่ปุ่น คือละครโทรทัศน์ในภาษาญี่ปุ่นหรือผลิตในประเทศญี่ปุ่นที่ออกอากาศอย่างเป็นประจำทางสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ เช่น เอ็นเอชเค ทีวีอาซาฮิ นิปปอนทีวี ทีบีเอสทีวี และ ฟูจิทีวี เป็นต้น[1][2] ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะผลิตไม่เกิน 15 ตอนและจะมีเพียงแค่ 1 ฤดูกาล[3] บางเรื่องอาจมีการนำมังงะหรือนวนิยายมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ อีกทั้งเนื้อเรื่องจะให้ความสำคัญไปทางการแก้ปัญหาในที่ทำงาน ครอบครัว โรงเรียน หรือความรักของตัวละครหลักเป็นสำคัญ[4] ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่มีแก่นเรื่องเป็นรักสามเส้ามักจะมีผู้ชมหลักเป็นแม่บ้านหรือหากมีตัวละครเป็นคนหนุ่มสาวก็จะมีผู้ชมหลักเป็นคนหนุ่มสาว แต่ในทางกลับกันตัวละครหลักที่เป็นม้ายหรือถูกหย่าจะพบเห็นได้ยาก[2]

ประวัติ

ฮารูเบะ อิมะ ผู้ประพันธ์บทละครโทรทัศน์เรื่องแรกในญี่ปุ่น ยูเงมาเอะ

ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นเรื่องแรกที่มีการบันทึกไว้คือ ยูเงมาเอะ (ญี่ปุ่น: 夕餉前โรมาจิYūgemae) ของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคที่ออกอากาศในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1940 มีความยาวเพียงประมาณ 12 นาทีเนื่องด้วยกล้องบันทึกภาพที่มีความไวแสงต่ำมากทำให้นักแสดงต้องถ่ายทำภายใต้ความร้อนจากแสงไฟจำนวนมาก ประกอบกับห้วงเวลาการออกอากาศที่จำกัด ณ ขณะนั้น ทำให้มีความยาวที่สั้น[5] ประพันธ์บทโดยฮารูเบะ อิมะ เป็นเรื่องราวง่าย ๆ ของลูกชายและลูกสาวทั้งสองที่กำลังเฝ้ารอแม่ของพวกเขากลับมารับประทานอาหารเย็นด้วยกัน[4][6] หลังการออกอากาศจบลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสาร มาซาโนริ คัตสึ ได้โทรศัพท์ไปยังห้องส่งของสถานีโทรทัศน์เพื่อสั่งให้ออกอากาศซ้ำอีกครั้ง กล่าวกันว่ายูเงมาเอะเป็นต้นแบบของละครโทรทัศน์ครอบครัวสมัยใหม่ในปัจจุบัน[5]

ในปี 1961 สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคได้ริเริ่มการออกอากาศละครโทรทัศน์ในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 8:00 น. ถึง 8:15 น. ของวันจันทร์จนถึงวันศุกร์ตลอดทั้งปีและมีนักแสดงนำเป็นผู้หญิง[7] โดยรูปแบบของละครโทรทัศน์และการออกอากาศดังกล่าวถูกเรียกว่า อาซาโดระ[8][9] ในช่วงต้นของการผลิตละครโทรทัศน์รูปแบบดังกล่าว ผู้ผลิตได้นำนวนิยายโดยนักเขียนชื่อดังมาถ่ายทำ[10] เช่น อากัตสึกิ (ญี่ปุ่น: あかつきโรมาจิAkatsuki) ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายโดย ซาเนอัตสึ มูชาโนโกจิ ออกอากาศในปี 1963 เป็นเรื่องราวของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่ผันตัวเป็นจิตรกร[11] หรือนวนิยายของยาซูนาริ คาวาบาตะ ที่ถูกดัดแปลงเป็นอาซาโดระและออกอากาศในปี 1965 เรื่อง ทามายูระ (ญี่ปุ่น: たまゆらโรมาจิTamayura)[12] ทั้งนี้ อาซาโดระในปี 1983 สงครามชีวิตโอชิน (ญี่ปุ่น: おしんโรมาจิOshin) เป็นละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่สามารถทำเรตติงเฉลี่ยได้สูงถึง 62.9%[a] ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์วงการละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นและในบรรดาอาซาโดระทั้งหมด[13][14][15] สงครามชีวิตโอชิน ถูกซื้อลิขสิทธิ์และออกอากาศในต่างประเทศอีก 60 ประเทศและเกิดคำศัพท์ที่ใช้เรียกอาซาโดระนี้ใหม่ขึ้นมาคือ "โอซินโดรม" หรือ "โอชินโดรม" ส่วนในประเทศไทย บีบีซีรายงานว่าประชุมคณะรัฐมนตรีถูกเลื่อนออกไปเพื่อไม่ให้ชนกับห้วงเวลาออกอากาศของสงครามชีวิตโอชิน และยอดขายหนังสือพิมพ์ไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเริ่มมีการเขียนเรื่องย่อของแต่ละตอนรายสัปดาห์[16] นอกจากนี้ยังมีผู้ชมบางส่วนที่ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำของอาซาโดระนั้น ๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นก็ได้มีการจัดจำหน่ายของฝากที่เกี่ยวข้องกับละครโทรทัศน์ จึงถือได้ว่าอาซาโดระเป็นตัวกระตุ้นการท่องเที่ยวส่วนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน[10]

ในปี 1963 นั้นการถ่ายทำละครโทรทัศน์เป็นไปได้ยากเนื่องจากข้อตกลงห้าบริษัท [en] (ญี่ปุ่น: 五社協定โรมาจิGosha Kyōtei) ที่ห้ามบริษัทผู้ผลิตละครโทรทัศน์ว่าจ้างนักแสดงของบริษัททั้ง 5 ไปทำการแสดงให้ แต่ก็สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนั้นได้จนเกิดรูปแบบละครโทรทัศน์แนวย้อนยุค[b] ใหม่ที่เรียกละครไทกะ (ญี่ปุ่น: 大河ドラマโรมาจิTaiga Dorama) ริเริ่มโดยสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค โดยละครไทกะนั้นจะออกอากาศตลอดทั้งปีจึงมีผลต่อเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก[18] โดยนักแสดงที่ได้รับบทบาทในละครไทกะมักจะเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง แต่ในปัจจุบันมีบางส่วนให้ความเห็นว่าผู้ผลิตมักเลือกนักแสดงที่เป็นที่นิยมเสียมากกว่าเพื่อเรียกเรตติง[19] นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เรตติงของละครไทกะที่ในอดีตสามารถทำได้มากกว่า 20% ได้ค่อย ๆ เริ่มทดถอยลงอย่างต่อเนื่อง[20]

ละครสมัยนิยม

มิตะ แม่บ้านพันธุ์แปลก
ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นในปี 2012 ทำเรตติงตอนสุดท้ายได้ 40.0%
เฉือนคมนายธนาคาร
ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นในปี 2013 ทำเรตติงตอนสุดท้ายได้ 42.2%

ในช่วงปี 1990 ซึ่งตรงกับเศรษฐกิจฟองสบู่ ได้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาในแวดวงละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นคือ "ละครสมัยนิยม" (ญี่ปุ่น: トレンディドラマ; อังกฤษ: Trendy Drama) ที่นักประพันธ์บทละครโทรทัศน์หันมาเริ่มเขียนเนื้อเรื่องในอาชีพการงานที่มีความตึงเครียดหรือเรื่องราวใกล้ตัวของผู้ชมมากกว่าการยังคงเขียนบทละครโทรทัศน์แนวความรัก (ญี่ปุ่น: 恋愛ゲโรมาจิRe'nai) และเลือกนักแสดงที่เป็นไอดอลหรือกำลังได้รับความนิยมอยู่มานำแสดง[21] ซึ่งผลตอบรับที่ได้กลับดีกว่าที่ผู้ผลิตคาดหวังไว้เนื่องจากผู้ชมรู้สึกเหมือนว่าตนเองกำลังประสบพบเจอกับสภาพแวดล้อมเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถรับแรงบันดาลใจในการทำงานหรือใช้ชีวิตต่อไปได้อีกด้วย เช่น กู๊ดลัก!! (ญี่ปุ่น: グッドラック!!; อังกฤษ: Good Luck!!) ที่เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักบินของสายการบินแห่งหนึ่ง โดยในตอนแรกของการออกอากาศสามารถทำเรตติงได้ถึง 31.6% ซึ่งเป็นการการันตีถึงความนิยมของละครโทรทัศน์เรื่องนี้[22] อีกทั้งหลังการออกอากาศจบลง ก็มีผู้ชมส่วนหนึ่งที่เริ่มสนใจและสมัครเข้าทำงานในอาชีพธุรกิจการบินมากยิ่งขึ้น มิตะ แม่บ้านพันธุ์แปลก (ญี่ปุ่น: 家政婦のミタโรมาจิKaseifu no Mita) ที่มีตัวละครหลักเป็นแม่บ้านชื่อมิตะ ผู้มีอดีตอันโหดร้ายและขมขื่น ซึ่งผู้ประพันธ์บทละครโทรทัศน์ตั้งใจที่จะให้เธอมีเรื่องราวเช่นนั้นเพื่อให้กำลังใจผู้ชมชาวญี่ปุ่นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ปี 2011[23] หรือ อดีตนายธนาคารในละครโทรทัศน์เรื่องเฉือนคมนายธนาคาร (ญี่ปุ่น: 半沢直樹โรมาจิHanzawa Naoki) ที่สามารถเข้าถึงมนุษย์เงินเดือนได้มากเพราะมีการสื่อให้เห็นถึงความอยุติธรรมในองค์กรที่พนักงานบริษัทไม่สามารถพูดออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา[24][25]

ในช่วงปลายปี 2020 หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ทีวีอาซาฮิได้เข้าไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับจีเอ็มเอ็ม ทีวีของประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมสื่อความบันเทิงและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ[26] จึงเริ่มมีกระแสละครโทรทัศน์ที่มีแก่นเรื่องเป็นความรักของตัวละครชายและชายด้วยกันที่มักเรียกในประเทศญี่ปุ่นว่า บีแอลโดรามะ (ญี่ปุ่น: BLドラマ; Boy's Love Drama) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาถึงของละครโทรทัศน์ไทยที่สามารถเรียกความสนใจผู้ชมชาวญี่ปุ่นได้ในเรื่อง เพราะเราคู่กัน (อังกฤษ: 2gether) จึงเกิดความนิยมละครโทรทัศน์ในลักษณะเดียวกันต่อ ๆ กันไป เช่น ยางลบสื่อรัก (ญี่ปุ่น: 消えた初恋โรมาจิKieta Hatsukoi; อังกฤษ: My Love Mix-Up!) ของสถานีโทรทัศน์ทีวีอาซาฮิ ที่มีความแตกต่างจากละครโทรทัศน์ความรักของตัวละครชายและชายเรื่องก่อน ๆ เช่น รักใหม่... หัวใจจะวาย[c] (ญี่ปุ่น: おっさんずラブโรมาจิOssan Zurabu; อังกฤษ: Ossan's Love) หรือ เชอร์รีเมจิก ถ้า 30 ยังซิง! จะมีพลังวิเศษ (ญี่ปุ่น: チェリまほโรมาจิCherimaho; อังกฤษ: Cherry Magic!) ที่จะแสดงให้เห็นถึงความรักในที่ทำงาน ขณะที่ วุ่นหนัก รักสามคน จะเป็นความรักในโรงเรียน[27] นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้ชมชาวญี่ปุ่นบางส่วนหันมาสนใจในการเรียนภาษาไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง[28] ในปี 2021 สถานีโทรทัศน์นิปปอนทีวี ได้ร่วมมือกับเน็ตฟลิกซ์ในการเผยแพร่ผลงานผลิตละครโทรทัศน์สู่ผู้ชมทั่วเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคหลักที่นิปปอนทีวีให้ความสนใจขยายฐานผู้ชม[29][30]

รูปแบบ

ประเภท

ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่:[31]

  • เร็นโซกุโดรามะ (ญี่ปุ่น: 連続ドラマโรมาจิRenzoku Dorama; ละครตอนต่อเนื่อง) มีมากกว่า 1 ตอน ความยาวประมาณ 45–50 นาที ในตอนแรกหรือตอนสุดท้ายอาจมีการขยายเวลาเป็น 1 ชั่วโมง
  • ทัมปัตสึ (ญี่ปุ่น: 単発โรมาจิTanpatsu; ละครตอนเดียว) มีเนื้อเรื่องที่จบภายในตอนเดียว มีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง หรืออาจจะเป็นเนื้อเรื่องส่วนต่อขยายของเร็นโซกุโดรามะก็ได้
  • อาซาโดระ (ญี่ปุ่น: 朝ドラโรมาจิAsadora; ละครช่วงเช้า) ออกอากาศในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 8:00 น. ถึง 8:15 น. ของวันจันทร์จนถึงวันศุกร์ตลอดทั้งปีและมีนักแสดงนำเป็นผู้หญิง
  • ไทกะโดรามะ (ญี่ปุ่น: 大河ドラマโรมาจิTaiga Dorama; ละครแม่น้ำใหญ่) ละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคที่ออกอากาศตลอดทั้งปีตั้งแต่เดือนมกราคม

แก่นเรื่องและเนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางของการใช้ชีวิตของตัวละคร เช่น ชีวิตในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรือชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาซาโดระที่จะเน้นไปทางการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างสงบสุข และมีตัวละครอื่น ๆ เข้ามาสบทบในชีวิตของตัวละครหลัก[9] หรือตั้งแต่ปี 1990 ที่บทละครโทรทัศน์เริ่มมีการเขียนให้ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นและให้ความสำคัญกับชีวิตประจำวันของผู้ชม เช่น การข่มเหงรังแกในสถานที่ทำงาน หรือในภาษาญี่ปุ่นที่เรียกอย่างสั้นว่า พาวาฮาระ (ญี่ปุ่น: パワハラโรมาจิPawahara; มาจากคำภาษาอังกฤษ, Power Harrasment) ที่มักพบได้บ่อย เช่น เฉือนคมนายธนาคาร[24] หมอซ่าส์พันธุ์เอ็กซ์ (อังกฤษ: Doctor X)[32][33] หรือ ทนายซ่าท้าคดีโหด (อังกฤษ: Legal V) เป็นต้น[34][35]

การออกอากาศ

ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นจะออกอากาศในแต่ละปีโดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงตาม 4 ฤดูกาลของประเทศญี่ปุ่น[2] เป็นระยะเวลา 3 เดือนได้แก่ ละครฤดูหนาว (ญี่ปุ่น: 冬ドラマโรมาจิFuyu Dorama) ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงมีนาคม[36] ละครฤดูใบไม้ผลิ (ญี่ปุ่น: 春ドラマโรมาจิHarudorama) ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน[37] ละครฤดูร้อน (ญี่ปุ่น: 夏ドラマโรมาจิNatsu Dorama) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงกันยายน[38] และละครฤดูใบไม้ร่วง (ญี่ปุ่น: 秋ドラマโรมาจิAki Dorama) ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม[39]

ช่วงเวลายอดนิยมของการชมโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. จนถึง 22:00 น. โดยประมาณ[40]

เพลงประกอบละครโทรทัศน์

การนำเพลงของศิลปินหรือนักร้องมาเป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์ (ญี่ปุ่น: 主題歌) นั้นพบเห็นได้มากในละครโทรทัศน์ญี่ปุ่น[2] และหลายเพลงก็ได้รับความนิยมหลังการออกอากาศจบลง เช่น โคย (ญี่ปุ่น: โรมาจิKoi) โดยเก็น โฮชิโนะ ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่องฉันแต่งงานเป็นอาชีพ (ญี่ปุ่น: 逃げるは恥だが役に立つ; อังกฤษ: We Married as a Job!) ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนเกิดเป็นกระแส โคยแดนซ์ (ญี่ปุ่น: 恋ダンス) ท่าเต้นเอกลักษณ์ประจำเพลงโคย[41] หรือเพลงไอไตโย (ญี่ปุ่น: 会いたいよโรมาจิAitaiyo) โดยโชตะ เท็ตสึกะ[d] ที่เป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่องถึงตาเธอฆ่า (ญี่ปุ่น: あなたの番ですโรมาจิAnata no Ban Desu) สามารถไต่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งในไอทูนส์ได้หลังจากการปล่อยอัลบั้มเพียงไม่กี่ชั่วโมง[42]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง