โรคระบบหัวใจหลอดเลือด

โรคหัวใจร่วมหลอดเลือด[1]หรือ โรคหัวใจและหลอดเลือด[2](อังกฤษ: Cardiovascular disease ตัวย่อ CVD)เป็นกลุ่มโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือด[3]คือเป็นโรคที่มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด[4]รวมทั้งกลุ่มโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery disease) เช่น อาการปวดเค้นหัวใจ (angina) และกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (myocardial infarction)[3]ตลอดจนโรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจเหตุความดันสูง (hypertensive heart disease), โรคหัวใจเหตุไข้รูมาติก (rheumatic heart disease), โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathy), ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (heart arrhythmia), โรคหัวใจแต่กำเนิด (congenital heart disease), โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease), หัวใจอักเสบ (carditis), ท่อเลือดแดงโป่งพอง (aortic aneurysm), โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral artery disease) และภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ (venous thrombosis)[3][5]

โรคหัวใจร่วมหลอดเลือด
(Cardiovascular disease)
ภาพถ่ายจุลทรรศน์ของหัวใจที่มีภาวะเกิดพังผืด (เหลือง) และโรคแอมีลอยด์ (น้ำตาล) แต้มสีด้วย Movat's stain
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10I51.6
ICD-9429.2
DiseasesDB28808
MeSHD002318

กลไกของโรคจะขึ้นอยู่กับเหตุ โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย จะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งอาจมีเหตุจากความดันสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย โรคอ้วน คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ทานอาหารไม่ถูกต้อง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิน เป็นต้นการเสียชีวิตเพราะ CVD เกิดจากความดันสูง 13%, การสูบบุหรี่ 9%, โรคเบาหวาน 6%, การไม่ออกกำลังกาย 6% และโรคอ้วน 5%โรคหัวใจเหตุไข้รูมาติกอาจเนื่องกับคอหอยอักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสที่ไม่รักษา[3]

กรณี 90% ของโรคประเมินว่าป้องกันได้[6]หลอดเลือดแดงแข็งสามารถป้องกันโดยลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ทานอาหารให้ถูกสุขภาพ ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์[3]การรักษาความดันสูงและโรคเบาหวานก็มีประโยชน์ด้วย[3]การรักษาคอหอยอักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสด้วยยาปฏิชีวนะสามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจเหตุไข้รูมาติก[7]การทานยาแอสไพรินเพื่อป้องกันล่วงหน้ามีประโยชน์ไม่ชัดเจนสำหรับผู้มีสุขภาพดี[8][9]และคณะทำงานป้องกันเฉพาะกิจของสหรัฐ (USPSTF) ก็แนะนำไม่ให้ทำสำหรับหญิงอายุน้อยกว่า 55 ปี และสำหรับชายอายุน้อยกว่า 45 ปีแต่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุกว่านั้นเป็นบางพวก[10]การรักษาโรคจะทำให้ได้ผลดีกว่าไม่รักษา[3]

โรคเป็นเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ในโลก[3]โดยรวมภูมิประเทศทุกแห่งยกเว้นแอฟริกา[3]ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17.3 ล้านคน (31.5%) ในปี 2013 เพิ่มจาก 12.3 ล้านคน (25.8%) ในปี 1990[5]การเสียชีวิตเพราะโรคมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาโดยมากในขณะที่ได้ลดลงในประเทศพัฒนาแล้วตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970[4][11]โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองเป็นเหตุในกรณี 80% ของโรคกลุ่มนี้ในชาย และ 75% ในหญิง[3]โรคโดยมากมีผลต่อผู้สูงอายุในสหรัฐ ประชากร 11% อายุระหว่าง 20–40 ปีมีโรค, 37% ระหว่าง 40–60 ปีมีโรค, 71% ระหว่าง 60–80 ปีมีโรค และ 85% ของผู้มีอายุมากกว่า 80 ปีมีโรค[12]อายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตเนื่องกับโรคอยู่ราว ๆ 80 ปี ในประเทศพัฒนาแล้วและ 68 ปีในประเทศกำลังพัฒนา[4]โรคปกติจะเริ่ม 7–10 ปีในชายก่อนหญิง[13]

ประเภท

มีโรคกลุ่มนี้หลายชนิดที่เกี่ยวกับหลอดเลือดโดยเรียกในภาษาอังกฤษว่า vascular disease (โรคหลอดเลือด) รวมทั้ง

มีโรคกลุ่มนี้หลายชนิดที่เกี่ยวกับหัวใจ รวมทั้ง

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคหัวใจเหตุความดันสูง
  • ภาวะหัวใจวาย
  • โรคหัวใจเนื่องกับปอด (pulmonary heart disease) คือหัวใจห้องล่างด้านขวาล้มเหลวเนื่องกับระบบหายใจ
  • ภาวะหัวใจเสียจังหวะ
  • โรคหัวใจอักเสบ (inflammatory heart disease)
    • เยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis) คือเยื่อชั้นในของหัวใจหรือเยื่อบุหัวใจ (endocardium) อักเสบ เกิดที่ลิ้นหัวใจอย่างสามัญที่สุด
    • ภาวะหัวใจโตเหตุอักเสบ (inflammatory cardiomegaly)
    • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • โรคลิ้นหัวใจ
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด - เป็นสภาวะวิรูปของโครงสร้างหัวใจตั้งแต่กำเนิด
  • โรคหัวใจเหตุไข้รูมาติก คือกล้ามเนื้อและลิ้นหัวใจเสียหายเหตุไข้รูมาติกเพราะติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pyogenes

ปัจจัยเสี่ยง

โรคหัวใจมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างรวมทั้งอายุ เพศ การใช้ยาสูบ การขาดออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์มากเกิน อาหารที่ไม่ถูกสุขภาพ โรคอ้วน ประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง (เพราะโรคเบาหวาน) คอเลสเตอรอลในเลือดสูง (ภาวะสารไขมันสูงในเลือด) ปัจจัยทางจิตและสังคม ความยากจน การด้อยการศึกษา และมลพิษทางอากาศ[14][15][16][17][18]แม้ปัจจัยเสี่ยงแต่ละอย่างจะมีอิทธิพลในระดับต่าง ๆ กันต่อชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แต่อิทธิพลโดยรวมของปัจจัยเหล่านี้ก็คงเส้นคงวามาก[19]และแม้ปัจจัยบางอย่าง เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัวจะเปลี่ยนไม่ได้แต่ปัจจัยสำคัญหลายอย่างก็เปลี่ยนได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยา และการป้องกันโรคต่าง ๆ รวมทั้งความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน

อายุ

หัวใจของหญิงสูงอายุที่มีแคลเซียมเกาะและมีภาวะหัวใจโต

อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อโรคหัวใจ อัตราเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าในทศวรรษแต่ละทศวรรษที่อายุเพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปี[20]ไขมันอาจเริ่มพอกหัวใจตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น[21]ผู้เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจประมาณ 82% มีอายุอย่างน้อย 65 ปี[22]ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองก็เพิ่มเป็นทวีคูณทุก ๆ 10 ปีหลังจากอายุถึง 55 ปี[23]

มีคำอธิบายหลายอย่างว่า ทำไมอายุจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างหนึ่งก็คือเป็นเพราะระดับคอเลสเตอรอลในเลือด[24]ในกลุ่มประชากรโดยมาก ระดับจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นในชาย นี่จะถึงระดับคงที่ระหว่างอายุ 45-50 ปีในหญิง ระดับจะสูงขึ้นจนถึงอายุ 60-65 ปี[24]อายุยังสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดทั้งโดยกลศาสตร์และโดยโครงสร้าง ซึ่งทำให้เสียความยืดหยุ่น แล้วอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ[25]

เพศ

ชายเสี่ยงโรคหัวใจสูงกว่าหญิงก่อนวัยหมดระดู[20][26]แต่หลังวัยหมดระดูแล้ว นักวิชาการบางพวกอ้างว่า ความเสี่ยงของหญิงก็จะคล้ายกับชาย[26]แม้ข้อมูลเร็ว ๆ นี้ขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติจะแย้งทฤษฎีนี้[20]อย่างไรก็ดี ถ้าหญิงมีโรคเบาหวาน โอกาสการเกิดโรคหัวใจก็จะมากกว่าชายที่มีโรคเบาหวาน[27]

โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจในชายวัยกลางคนสามัญเป็น 2-5 เท่าเทียบกับหญิง[24]ตามงานศึกษาขององค์การอนามัยโลกปี 1999 อัตราการตายเพราะโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจต่างกันระหว่างเพศเพราะเหตุจากเพศ 40%[28]ส่วนงานศึกษาอีกงานหนึ่งปีเดียวกันพบว่า เพศเป็นตัวอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศถึงครึ่งหนึ่ง[24]

ทฤษฎีอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศอย่างหนึ่งก็คือความแตกต่างของฮอร์โมน[24]หญิงมีเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหลักซึ่งอาจมีฤทธิ์ป้องกันโรคผ่านเมแทบอลิซึมของกลูโคสและผ่านระบบธำรงดุล และอาจมีฤทธิ์ปรับปรุงการทำงานของเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรง (endothelial cell) โดยตรง[24]การผลิตเอสโตรเจนจะลดลงหลังหมดระดู นี่อาจเปลี่ยนเมแทบอลิซึมของลิพิดให้กลายเป็นลิพิดแบบทำให้หลอดเลือดแดงแข็งโดยลดคอเลสเตอรอลแบบ HDL (high-density lipoprotein), เพิ่มแบบ LDL (low-density lipoprotein) และเพิ่มคอเลสเตอรอลโดยรวม[24]น้ำหนักร่างกาย ความสูง การแจกแจงไขมันไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย อัตราการเต้นหัวใจ ปริมาณเลือดที่หัวใจบีบออกแต่ละครั้ง (stroke volume) และความหยุ่นของเส้นเลือด (arterial compliance)[A]ต่างกันระหว่างชายกับหญิงอย่างสังเกตได้[25]แต่ในผู้ชรามาก หญิงจะมีความแตกต่างของความเร็วการวิ่งของเลือดระหว่างเมื่อหัวใจบีบตัวกับเมื่อหัวใจขยายตัว (pulsatility) มากกว่า และหลอดเลือดแดงจะแข็งกว่า[25]แต่ก็อาจเป็นเพราะร่างกายและหลอดเลือดมีขนาดเล็กกว่า[25]

ยาสูบ

การสูบบุหรี่เป็นการเสพยาสูบรูปแบบหลัก[3]อันตรายต่อสุขภาพไม่ใช่มาจากการเสพยาสูบโดยตรงเท่านั้น แต่มาจากการได้ควันบุหรี่ด้วย[3]10% ของกรณีโรคนี้มาจากการสูบบุหรี่[3]แต่บุคคลที่เลิกสูบบุหรี่ก่อนอายุ 30 ปีก็เสี่ยงตายเนื่องกับบุหรี่เกือบเท่ากับคนที่ไม่ได้สูบ[29]

การไม่ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายไม่เพียงพอ (คือออกกำลังปานกลางน้อยกว่า 5 ครั้งต่ออาทิตย์ครั้งละ 30 นาที หรือออกกำลังอย่างหนักน้อยกว่า 3 ครั้งต่ออาทิตย์ครั้งละ 20 นาที) ปัจจุบันเป็นปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ทั่วโลก[3]ในปี 2008 ผู้มีอายุ 15 ปี 31.3% หรือเกินกว่านั้น (28.2% ของชาย และ 34.4% ของหญิง) ออกกำลังกายไม่เพียงพอ[3]ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและโรคเบาหวานจะลดลงเกือบ 1/3 สำหรับผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายปานกลาง 150 นาทีต่ออาทิตย์[30]อนึ่ง การออกกำลังกายยังช่วยลดน้ำหนัก ควบคุมกลูโคสในเลือด ความดันโลหิต ไขมันในเลือด และการตอบสนองต่ออินซูลินผลเหล่านี้อาจอธิบายประโยชน์ต่อหัวใจได้เป็นบางส่วน[3]

อาหารและแอลกอฮอล์

การรับประทานอาหารมีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และเกลือมาก การรับประทานผักผลไม้และปลาน้อย สัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ แม้จะสัมพันธ์โดยเป็นเหตุหรือไม่ก็ยังไม่ชัดเจนองค์การอนามัยโลกโทษการตาย 1.7 ล้านรายทั่วโลกเนื่องกับการรับประทานผักผลไม้น้อย[3]

ปริมาณเกลือที่รับประทานเป็นตัวกำหนดความดันโลหิตและความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ[3]การรับประทานอาหารมีพลังงานสูง เช่น อาหารพร้อมบริโภคและมีไขมันและน้ำตาลสูง สนับสนุนให้เกิดโรคอ้วนและอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด[3]การรับประทานอาหารมีไขมันทรานสน์สูงมีผลลบต่อไขมันและสารบ่งชี้การอักเสบในเลือด[31]จึงสนับสนุนให้เลิกบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์[32]

มีหลักฐานว่า การรับประทานน้ำตาลปริมาณมากสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่สูงกว่าและการมีไขมันรูปแบบที่ไม่ดีในเลือด[33]อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานอีกด้วย[15]การรับประทานเนื้อแปรรูปจำนวนมากสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น โดยอาจเป็นเพราะบริโภคเกลือเพิ่ม[34]

การดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างซับซ้อน และอาจขึ้นกับปริมาณที่ดื่มการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคโดยตรง[3]แต่การดื่มปริมาณน้อยโดยไม่มีข้อยกเว้น อาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคที่ลดลง[35]อย่างไรก็ดี เมื่อดูกลุ่มประชากรทั้งหมด การดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับความเสี่ยงทางสุขภาพหลายอย่าง จึงทำให้ประโยชน์ที่อาจได้ไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น[3][36]

ฐานะทางสังคม-เศรษฐกิจ

โรคหลอดเลือดและหัวใจมีผลต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูง[37]แต่ข้อมูลรูปแบบทางสังคมของโรคก็มีน้อยในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางทำให้รู้รายละเอียดน้อย[37] ส่วนในประเทศมีรายได้สูง การมีรายได้ต่ำและการด้อยการศึกษาสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้นอย่างคงเส้นคงวา[38]

นโยบายที่เพิ่มความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม-เศรษฐกิจสัมพันธ์กับความแตกต่างการมีโรคเนื่องกับสภาวะทางสังคม-เศรษฐกิจที่มากกว่า[37] โดยอาจสัมพันธ์แบบเป็นเหตุปัจจัยทางจิต-สังคม ทางสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ การเข้าถึงแพทย์พยาบาลได้ และคุณภาพของการรักษา ล้วนแต่เพิ่มความแตกต่างทางสังคม-เศรษฐกิจของโรคนี้[39]คณะกรรมการเกี่ยวกับตัวกำหนดสุขภาพทางสังคม (Commission on Social Determinants of Health) ขององค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การกระจายอำนาจ ความมั่งคั่ง การศึกษา ที่อยู่อาศัย ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม อาหาร และสาธารณสุขที่เท่าเทียมกันและดีกว่า จำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในทั้งเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคที่ไม่ติดต่ออื่น ๆ[40]

มลพิษทางอากาศ

มีการศึกษาว่า การได้รับอนุภาคแขวนลอยในอากาศ (particulates) มีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ปัจจุบัน อนุภาคแขวนลอยในอากาศขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ

การได้รับอนุภาคแขวนลอยในอากาศที่ความเข้มข้น 10 ไมโครกรัม/เมตร3 (μg/m3) ในระยะยาว จะเพิ่มความเสี่ยงตายเนื่องจากโรค 8–18%[41]โดยความเสี่ยงสัมพัทธ์ (RR) ต่อโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจของหญิงอยู่ที่ 1.42 เทียบกับชายที่ 0.90[41]ทั่ว ๆ ไปแล้ว การได้รับอนุภาคแขวนลอยในอากาศในระยะยาวจะเพิ่มอัตราหลอดเลือดแดงแข็งและอักเสบถ้าได้รับอนุภาคขนาด PM2.5 เป็นระยะสั้น (2 ชม.) ความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 25 μg/m3 จะเพิ่มความเสี่ยงตายเพราะโรค 48%[42]อนึ่ง หลังจากได้รับอนุภาค 5 วัน ความดันช่วงหัวใจบีบตัว (systolic) และช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic) จะเพิ่ม 2.8 มิลลิเมตรปรอท และ 2.7 มิลลิเมตรปรอท ตามลำดับสำหรับอนุภาคทุก ๆ 10.5 μg/m3 ที่ได้รับ[42]

งานวิจัยอื่น ๆ ชี้ว่าอนุภาคแขวนลอยในอากาศ PM2.5 เป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นมีจังหวะผิดปกติ ลดการเปลี่ยนแปร (variability) ของอัตราการเต้นหัวใจ (คือลด vagal tone) และเด่นสุดคือเป็นเหตุให้หัวใจวาย[42][43]อนุภาคแขวนลอยในอากาศ PM2.5 ยังสัมพันธ์กับการหนาขึ้นของหลอดเลือดแดงแครอทิด (carotid artery) และความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดอย่างฉับพลัน (acute myocardial infarction) ที่สูงขึ้น[42][43]

การประเมินความเสี่ยง

โรคหัวใจร่วมหลอดเลือดที่มีอยู่แล้ว หรือเหตุการณ์ปัญหาทางหัวใจที่ได้มีแล้ว เช่น อาการหัวใจล้มหรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นตัวพยากรณ์เหตุการณ์ปัญหาทางหัวใจในอนาคตได้ดีที่สุด[44]อายุ เพศ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิต ลิพิดในเลือด และโรคเบาหวานก็เป็นตัวพยากรณ์ที่สำคัญสำหรับผู้ที่ไม่ปรากฏว่ามีโรคหัวใจและหลอดเลือด[45]ตัวแปรเหล่านี้ และบางครั้งรวมตัวแปรอื่น ๆ สามารถผสมเป็นคะแนนประกอบเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตของบุคคล[44]วิธีนับคะแนนเช่นนี้ก็มีมากแม้สมรรถภาพของวิธีแต่ละอย่างก็ยังมีข้อโต้แย้ง[46]

ยังมีวิธีการตรวจวินิจฉัยและสารบ่งชี้ทางชีวภาพอื่น ๆ ที่ได้ศึกษา แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนพอเพื่อให้ใช้เป็นปกติรวมทั้งประวัติครอบครัว, แคลเซียมพอกหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ, high sensitivity C-reactive protein, อัตราส่วนความดันโลหิตที่ข้อเท้าเทียบกับความดันโลหิตที่ต้นแขน (ankle brachial index), ความเข้มข้นของหมู่ย่อยและอนุภาคของไลโพโปรตีน, lipoprotein(a), apolipoproteins A-I และ B, fibrinogen, การตรวจนับเม็ดเลือดขาว, homocysteine, N-terminal pro B-type natriuretic peptide (NT-proBNP) สารบ่งชี้การทำงานของไต[47][48]พื้นที่ทั้งหมดของหลอดเลือดแดงแครอทิดที่เป็นคราบตระกัน (อังกฤษ: plaque)[49]

พยาธิสรีรวิทยา

ภาพ DDC-SEM แสดงการพอกตัวของแคลเซียมที่หลอดเลือดและหัวใจ อนุภาคกลม ๆ สีส้มที่หนาแน่นกว่า คือ calcium phosphate ส่วนอนุภาคสีเขียวและหนาแน่นน้อยกว่าก็คือสารเคลือบเซลล์ (ECM)[50]

งานศึกษากับกลุ่มประชากรแสดงว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นโรคตั้งต้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด เริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็กงานศึกษาตัวกำหนดทางพยาธิชีววิทยาของโรคหลอดเลือดแดงแข็งตีบในเยาวชน คือ Pathobiological Determinants of Atherosclerosis in Youth Study แสดงว่ารอยโรคที่เนื้อเยื่อชั้นใน (intima) จะปรากฏที่เส้นเลือดใหญ่ซึ่งนำเลือดออกจากหัวใจด้านซ้าย (เอออร์ตา) ทั้งหมดและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจด้านขวาเกินครึ่งในเด็กอายุ 7-9 ปี[51]นี่เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะคน 1/3 เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่มาจากโรคหลอดเลือดแดงแข็งเพื่อหยุดกระแสเช่นนี้ จะต้องเพิ่มการศึกษาและการสำนึกว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสุขภาพมากที่สุด และเพิ่มการป้องกันหรือลดการเกิดโรค

โรคอ้วนหรือโรคเบาหวานบ่อยครั้งสัมพันธ์กับโรคนี้[52]และโรคไตเรื้อรังและคอเลสเตอรอลเกินในเลือดก็เช่นกัน[53]จริง ๆ แล้ว โรคหัวใจร่วมหลอดเลือดก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายต่อชีวิตมากที่สุดสำหรับคนไข้โรคเบาหวาน เพราะมีโอกาสตายเพราะโรคกลุ่มนี้ 2-4 เท่ามากกว่าคนไม่เป็นโรคเบาหวาน[54][55][56]

การตรวจคัดโรค

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อตรวจคัดโรค ไม่ว่าจะเมื่ออยู่เฉย ๆ หรือออกกำลังกาย ไม่แนะนำในบุคคลที่ไม่มีอาการและเสี่ยงน้อย[57]รวมทั้งคนอายุน้อยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง[58]ส่วนผู้ที่เสี่ยงยิ่งกว่านั้น หลักฐานว่าการตรวจคัดโรคด้วย ECG มีประโยชน์ก็ยังไม่ชัดเจน[57]อนึ่ง การบันทึกภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง, MPI และ cardiac stress test ก็ไม่แนะนำด้วยเหมือนกันสำหรับผู้ที่เสี่ยงน้อยและไม่มีอาการ[59]

สารบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) อาจช่วยแสดงปัจจัยเสี่ยงต่อหลอดเลือดและหัวใจเพื่อให้พยากรณ์โรคในอนาคตได้ดีขึ้นแต่ประโยชน์เมื่อใช้รักษาก็ยังไม่ชัดเจน[60][61]

การป้องกัน

ปัจจุบัน วิธีการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้ง

  • รับประทานอาหารไขมันต่ำ มีใยอาหารสูง รวมทั้งข้าวกล้อง/ธัญพืช ผักและผลไม้[62][63] การรับประทานเช่นนี้ 5 ส่วนต่อวันจะลดความเสี่ยงประมาณ 25% โดยส่วนหนึ่งของผักจะมีน้ำหนัก 77 กรัม และของผลไม้หนัก 80 กรัม[64]
  • เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่[62]
  • จำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ให้น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำ[62] คือการดื่มแฮลกฮอล์ 1-2 ที่เกือบทุกวันอาจลดความเสี่ยงประมาณ 30%[26][65] โดยแอลกอฮอล์ที่หนึ่งจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ปกติ (5% แอลกอฮอล์) 341 มล. (ขวดหนึ่ง), ไวน์ (12% แอลกอฮอล์) 142 มล. (ประมาณ 3/5 แก้ว) และเครื่องดื่ม 40% แอลกอฮอล์ 43 มล. (ประมาณ 1/5 แก้ว)[66] แต่การดื่มเกินขนาดก็จะเพิ่มความเสี่ยงโรคนี้[67] และหมอก็ไม่แนะนำให้เริ่มดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพโดยทั่วไป[68]
  • ลดความดันโลหิตถ้าความดันสูง
  • ลดคอเลสเตอรอลแบบ LDL[69][70]
  • ลดไขมันในร่างกายถ้าน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน[71]
  • ออกกำลังกายหนักปานกลางเพิ่มเป็น 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 5 ครั้ง (หรือคูณ 3 ถ้าออกกำลังกายในท่านอน)[62]
  • ลดทานน้ำตาล
  • ลดความเครียด[72] วิธีนี้อาจยากเพราะไม่ชัดเจนว่า อะไรป้องกันปัจจัยเช่นนี้[73] การขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ (myocardial ischemia) เหตุความเครียด สัมพันธ์กับปัญหาทางหัวใจมากขึ้นสำหรับบุคคลที่มีโรคหัวใจมาก่อน[74] ความเครียดทางอารมณ์หรือทางร่างกายอาจนำไปสู่การทำงานผิดปกติของหัวใจรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Takotsubo syndrome[B][77] แต่ความเครียดก็เป็นเพียงปัจจัยรองของความดันโลหิตสูง[78] การบำบัดโดยการผ่อนคลายแบบเฉพาะ ๆ ยังมีประโยชน์ที่ไม่ชัดเจน[79][80]

สำหรับผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความดันสูง เป็นโรคเบาหวาน มีลิพิดในเลือดสูง หรือเป็นโรคหัวใจ การให้คำแนะนำทั่วไปเพื่อให้ปรับปรุงอาหารและออกกำลังกาย จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสำคัญ ดังนั้นจึงไม่แนะนำ[81]ไม่ชัดเจนว่า การรักษาโรคฟันคือโรคปริทันต์อักเสบ (periodontitis) มีผลต่อความเสี่ยงโรคนี้[82]จนถึงปี 2014 การออกกำลังกายยังไม่ได้ศึกษาพอในผู้เสี่ยงโรคหัวใจสูง[83]

อาหาร

อาหารที่มีผักและผลไม้สูงจะลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และความตาย[64]หลักฐานแสดงว่า อาหารแบบของคนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาจช่วยในเรื่องโรคนี้[84]มีหลักฐานว่า อาหารเมดิเตอร์เรเนียนอาจมีประสิทธิผลกว่าอาหารไขมันต่ำเพื่อเปลี่ยนปัจจัยความเสี่ยงโรคในระยะยาว (คือ มีระดับคอเลสเตอรอลและความดันเลือดที่ต่ำกว่า)[85]ส่วนอาหารแบบแดช (DASH diet) ที่มากไปด้วยถั่ว ปลา ผลไม้ และผัก และมีของหวาน ๆ เนื้อแดง และไขมันต่ำ พบว่า ลดความดันโลหิต[86],ลดคอเลสเตอรอลแบบ LDL พร้อมคอเลสเตอรอลทั้งหมด[87]และปรับปรุงกลุ่มอาการทางเมแทบอลิซึม (metabolic syndrome)[88]แต่จะมีประโยชน์นอกการทดลองทางคลินิกหรือไม่ก็ยังไม่ชัดเจน[89]ส่วนการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงปรากฏว่าลดความเสี่ยงโรคนี้[90]

ไขมันที่ทานรวมทั้งหมดดูเหมือนจะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ[91][92]แต่อาหารที่มีไขมันทรานส์มากดูเหมือนจะเพิ่มอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด[92][93]

แนวทางการรับประทานอาหารต่าง ๆ ทั่วโลกแนะนำให้ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว[94]แต่ก็มีข้อโต้เถียงเรื่องผลของไขมันอิ่มตัวต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในวรรณกรรมการแพทย์[93][95]งานทบทวนวรรณกรรมปี 2014 และ 2015 ไม่พบหลักฐานว่ามีผลลบ[93][95]ส่วนงานทบทวรรณกรรมแบบคอเคลนปี 2012 พบหลักฐานที่แสดงนัยว่า การเปลี่ยนไขมันอิ่มตัวในอาหารไปเป็นไขมันไม่อิ่มตัวมีประโยชน์เล็กน้อย[96]แต่งานวิเคราะห์อภิมานปี 2013 ก็สรุปว่า การแทนด้วยไขมันไม่อิ่มตัวในกลุ่มกรดไขมันโอเมกา-6 คือ linoleic acid อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด[94]การเปลี่ยนไขมันอิ่มตัวไปเป็นคาร์โบไฮเดรตไม่ลดความเสี่ยงหรืออาจเพิ่มความเสี่ยง[97][98]การเปลี่ยนเป็นไขมันไม่อิ่มตัวแบบมีพันธะคู่หลายคู่ (PUFA) มีประโยชน์สูงสุด[92][99]แต่การรับประทานอาหารเสริมคือกรดไขมันโอเมกา-3 (ซึ่งก็เป็น PUFA เหมือนกัน) ดูเหมือนจะไม่มีผล[100]

การรับประทานอาหารมีเกลือน้อยมีผลไม่ชัดเจนงานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเคลนสรุปว่า ผู้มีความดันสูงหรือความดันกึ่งสูงได้ประโยชน์น้อย ถ้าได้โดยประการทั้งปวง[101]อนึ่ง งานทบทวนวรรณกรรมแสดงว่า อาหารที่มีเกลือน้อยอาจมีโทษต่อผู้มีหัวใจวาย (congestive heart failure)[101]แต่งานก็ถูกวิจารณ์โดยเฉพาะว่า ไม่ยกเว้นการทดลองงานหนึ่งในเรื่องหัวใจล้มเหลวที่คนไข้มีระดับเกลือและน้ำต่ำเหตุยาขับปัสสาวะ[102]เพราะเมื่อยกเว้นงานนี้ งานทดลองที่เหลือแสดงแนวโน้มว่ามีประโยชน์[102][103]

ส่วนงานทบทวนเรื่องอาหารเค็มอีกงานหนึ่งสรุปว่า มีหลักฐานดีว่า อาหารมีเกลือสูงเพิ่มความดันโลหิตและทำให้โรคความดันสูงแย่ลง และเพิ่มปัญหาหัวใจและหลอดเลือดโดยปัญหาหลังเกิดก็เพราะความดันโลหิตสูงขึ้น และน่าจะเกิดผ่านกลไกอื่น ๆ อีกด้วย[104][105]มีหลักฐานในระดับปานกลาง (moderate) ว่า การบริโภคเกลือมากเพิ่มอัตราการตายเหตุหัวใจและหลอดเลือดและมีหลักฐานบ้างว่า เพิ่มอัตราการตายทั่วไป (overall mortality) เพิ่มอัตราโรคหลอดเลือดสมอง และทำให้หัวใจห้องล่างด้านซ้ายโต (left ventricular hypertrophy)[104]

ยา

แอสไพรินพบว่า ผู้ที่เสี่ยงโรคหัวใจต่ำได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยในเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เพราะความเสี่ยงเลือดออกหนักเกือบจะเท่าประโยชน์ที่ได้[106]จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้สำหรับคนที่เสี่ยงน้อยมาก[107]

ยาลดไขมันคือ statins มีประสิทธิผลป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ให้แย่ลงสำหรับผู้มีประวัติของโรค[108]แต่เพราะชายมีอัตราปัญหาหัวใจสูงกว่า การลดปัญหาในชายจึงเห็นได้ง่ายกว่าในหญิง[108]สำหรับบุคคลที่ไม่มีโรคแต่มีปัจจัยเสี่ยง ยาดูเหมือนจะมีประโยชน์ลดความเสี่ยงตายและโรคหัวใจ[109]แนวทางการรักษาของสหรัฐฉบับหนึ่งแนะนำให้ใช้ยาสำหรับผู้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับ 12% หรือยิ่งกว่านั้นภายใน 10 ปีข้างหน้า[110]ช่วงเวลารับประทานยาเพื่อให้เกิดผลป้องกันความตายดูเหมือนจะนาน คือเป็นปี ซึ่งเกิดช้ากว่าผลลดลิพิดของยา[111]ยาไนอาซิน, fibrates และ CETP Inhibitors (เช่น Torcetrapib) แม้จะเพิ่มคอเลสเตอรอลแบบ HDL แต่ก็ไม่มีผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับผู้ที่ทานยา statins อยู่[112]

สำหรับคนไข้ความดันสูงในหลอดเลือดปอด (pulmonary hypertension) เหตุโรคหัวใจข้างซ้าย หรือเหตุภาวะเลือดขาดออกซิเจนเนื่องกับปอด (hypoxemic lung diseases) การใช้ยาออกฤทธิ์ต่อหลอดเลือด (vasoactive) อาจมีโทษพร้อมกับมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควร[113]

อาหารเสริม

แม้อาหารที่ถูกสุขภาพจะมีประโยชน์ แต่โดยทั่วไปแล้วผลของอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเช่นวิตามิน (วิตามินอี วิตามินซี เป็นต้น) ก็ไม่พบว่าป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและบางกรณีอาจกลับมีโทษ[114][115]อนึ่ง อาหารเสริมพวกแร่ธาตุก็ไม่พบว่ามีประโยชน์เช่นกัน[116]

รูปแบบหนึ่งของวิตามินบี3คือไนอาซิน อาจเป็นข้อยกเว้นเพราะลดความเสี่ยงปัญหาหลอดเลือดหัวใจสำหรับบุคคลที่เสี่ยงสูง[117][118]อาหารเสริมคือ แมกนีเซียม จะลดความดันโลหิตโดยขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้[119]แนะนำให้รักษาด้วยแมกนีเซียมสำหรับคนไข้ภาวะหัวใจห้องล่างเสียจังหวะ (ventricular arrhythmia) ที่สัมพันธ์กับภาวะ torsades de pointes และมีอาการเป็นคลื่นหัวใจช่วง QT interval ยาวผิดปกติ (long QT syndrome) ตลอดจนคนไข้ที่หัวใจเสียจังหวะเนื่องจากพิษจากยาดิช็อกซิน[120]

ไม่มีหลักฐานสนับสนุนให้ใช้กรดไขมันโอเมกา-3[121]

การรักษา

โรคหัวใจร่วมหลอดเลือดรักษาได้ โดยเบื้องต้นก็คือให้เปลี่ยนอาหารและพฤติกรรม[3] (ดูที่หัวข้อ การป้องกัน)

ความระบาด

จำนวนปีที่เสียไปเนื่องจากสุขภาพไม่ดี ความพิการ หรือความตายก่อนวัย (DALY) ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2004[122]
  น้อยกว่า 70
  70-140
  140-210
  210-280
  280-350
  350-420
  420-490
  490-560
  560-630
  630-700
  700-770
  มากกว่า 770

โรคหัวใจและหลอดเลือดทำให้เสียชีวิตในอันดับต้น ๆ ในปี 2008 การเสียชีวิต 30% ทั่วโลกเกิดจากโรคโดยมีมากกว่าในประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง เพราะ 80% ของการเสียชีวิตทั่วโลกเกิดในประเทศเหล่านี้ประเมินว่าในปี 2030 จะมีคนเสียชีวิต 23 ล้านคนเพราะโรคต่อปี

ทวีปเอเชียใต้มีภาระโรคหัวใจและหลอดเลือด 60% แม้จะมีประชากรเพียงแค่ 20% ในโลกซึ่งอาจเป็นเพราะแนวโน้มทางกรรมพันธุ์และปัญหาสิ่งแวดล้อม[123]

ในประเทศไทย โรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่ม ในปีพ.ศ. 2556 มีผู้เสียชีวิต 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน อัตราการป่วยต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 2555 เท่ากับ 427 คน เพิ่มจากปี 2547 ซึ่งมีอัตราการป่วยเท่ากับ 185 คน[124]

งานวิจัย

นักวิทยาการระบาดชาวสก็อต (เจอร์รี มอร์ริส) ได้เริ่มศึกษาโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นงานแรกในปี 1949 โดยใช้ข้อมูลอาชีวอนามัยและตีพิมพ์ผลงานในปี 1958[125]เหตุ การป้องกัน และการรักษารูปแบบต่าง ๆ ของโรคก็ยังเป็นประเด็นงานวิจัยทางชีวเวชในปัจจุบัน โดยมีงานวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์เป็นร้อย ๆ งานในแต่ละสัปดาห์

งานปี 2009 งานหนึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการอักเสบอ่อน ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคหลอดเลือดแดงแข็งกับโรค และวิธีการรักษาที่เป็นไปได้คนไข้ที่เสี่ยงโรคพบว่า มีสารส่อความอักเสบที่สามัญในเลือดคือ C-reactive protein สูงขึ้น[126]อนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของโรคและความตายก็คือ โปรตีน osteoprotegerin ซึ่งเป็นตัวควบคุมแฟ็กเตอร์การถอดรหัสที่สำคัญอย่างหนึ่ง (NF-κB) เมื่อเกิดการอักเสบ[127][128]

ประเด็นที่กำลังศึกษาอย่างหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อ Chlamydophila pneumoniae (เหตุสำคัญอย่างหนึ่งของ ปอดบวม) กับโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจโดยพบแล้วว่า เป็นไปได้น้อยลงเพราะไม่ดีขึ้นหลังรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ[129]

งานวิจัยหลายงานได้ตรวจสอบประโยชน์ของเมลาโทนินเพื่อป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเมลาโทนินเป็นสารคัดหลั่งของต่อมไพเนียลที่พบว่า ช่วยลดคอเลสเตอรอลโดยรวม ลดคอเลสเตอรอลแบบ VLDL และแบบ LDL ในเลือดของหนูเมื่อใช้ในขนาดตามหลักเภสัชวิทยา (pharmacological dose) ก็พบว่าลดความดันเลือดด้วยดังนั้น มันจึงอาจช่วยรักษาความดันโลหิตสูงอย่างไรก็ดี ยังต้องมีงานวิจัยในเรื่องผลข้างเคียง ขนาดดีที่สุดเพื่อรักษา เป็นต้นก่อนจะอนุมัติให้ใช้ในการแพทย์[130]

เชิงอรรถ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น


🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง