สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

อดีตพระมหากษัตริย์กรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[6] หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[เชิงอรรถ 1] (จีน: 鄭昭; พินอิน: Zhèng Zhāo; แต้จิ๋ว: Dênchao; 17 เมษายน พ.ศ. 2277 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325) มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของราชอาณาจักรธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา[1]
ครองราชย์6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325
(14 ปี 151 วัน)
ราชาภิเษก28 ธันวาคม พ.ศ. 2311
กรุงธนบุรี อาณาจักรธนบุรี
ก่อนหน้าสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (อาณาจักรอยุธยา)
ถัดไปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (อาณาจักรรัตนโกสินทร์)
พระมหาอุปราชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์
สมุหกลาโหมพระยามหาเสนา
สมุหนายก
พระราชสมภพ23 มีนาคม พ.ศ. 2277[2][3]
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สวรรคต6 เมษายน พ.ศ. 2325 (48 พรรษา)
พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี อาณาจักรธนบุรี
ฝังพระบรมศพวัดอินทารามวรวิหาร
พระมเหสีกรมหลวงบาทบริจา
กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
พระราชบุตร30 พระองค์
วัดประจำรัชกาล
วัดอินทารามวรวิหาร[4]
ราชวงศ์ธนบุรี
พระราชบิดาหยง แซ่แต้ (鄭鏞)[5]
พระราชมารดากรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญ
  • รวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง
  • สถาปนาบางกอกเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่แทนที่อยุธยา
  • ศึกอะแซหวุ่นกี้

เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีกเจ็ดเดือนถัดมา[1] โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์[9] พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีและเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์มีประดิษฐานมากที่สุด

พระราชประวัติ

พระราชสมภพและปฐมวัย

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้ (鄭鏞)[5] (นิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง (海豐) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)[5] เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา[10] ครั้นเมื่อถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน (信) เกิดแต่นาง นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย ต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็นกรมพระเทพามาตย์[11] สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[12]

จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [暹羅國; ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [鄭昭; สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." [13]

สำหรับการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะทรงเคยบวชเรียนมาระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละครและอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาในภาษาไทยและภาษาบาลีครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว[14] ส่วน อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก[15] เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ตรัสได้ 4 ภาษา คือ ภาษาไทย จีน ญวน และภาษาลาว[14]

เชื้อสายจีน

ประตูทางเข้าสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างยิ่งโดยเฉพาะจากคนไทยเชื้อสายจีน มีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง (鄭王公) หมายถึง กษัตริย์ชาวแต้จิ๋วที่ได้รับการเคารพบูชา[16] (แซ่แต้ของพระองค์พ้องกับคำว่าแต้จิ๋ว 潮州)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชื่อเรียกขานกันในหมู่ชาวจีนว่า เตียซินตัด หรือ เตียซินตาด (爹信達) แปลว่า พ่อสินเจ้าเมืองตาก และยังมีชื่อที่ปรากฏว่า เจิ้งกั๋วอิง (鄭國英) แปลว่า วีรบุรุษของประเทศนามเจิ้ง ตามหลักฐานจีน ก่อนเสด็จรับราชการเคยทรงประกอบอาชีพค้าขายต่อจากพระราชบิดา และยังมีหลักฐานที่ส่อว่าเคยทรงเป็นพ่อค้าเกวียน มีรับสั่งได้คล่องแคล่ว ทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน[17]

อย่างไรก็ตาม ต้วนลี่เซิงได้พบสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (เฉาโจว) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน รวมทั้งศาลประจำตระกูลซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2464 มีข้อสันนิษฐานน่าจะเป็นผู้สืบราชสกุลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งไปฝังแทนพระบรมศพตามธรรมเนียมจีน สิ่งนี้อาจเป็นหลักฐานว่า สายวงศ์พระราชบิดาอยู่ที่ตำบลนั้นซึ่งเป็นถิ่นที่แห้งแล้งทำให้อพยพมาอยู่พระนครศรีอยุธยา[18]

อาชีพค้าขาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า[19] ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ[20] การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง[21] การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน[22]

ข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตากโดยติดต่อผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยเสียชีวิต จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก[23] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากก่อนทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง[24] เมื่อ พ.ศ. 2307 เกิดเหตุการณ์พม่ายกกองทัพมายึดหัวเมืองแถบภาคใต้ของไทยปัจจุบันโดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ปรากฏว่าพม่ายึดได้โดยง่าย จึงยึดเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพซึ่งมีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนกองทัพพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร[25]

ต่อมา พ.ศ. 2308 พม่ายกกองทัพผ่านเมืองตากอีกครั้ง พระยาตากมีความเห็นว่าสู้ไม่ไหวจึงส่งกองกำลังมาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยาไว้[26] และยังปรากฏในพงศาวดารว่า พระยาตากมีความชอบนำทหาร 500 นายมาช่วยป้องกันพระนคร จึงได้รับพระราชทานของบำเหน็จความดีความชอบ[27] ในระหว่างการปิดล้อมนั้นก็ได้ปรากฏฝีมือเป็นนายทัพเข้มแข็ง ปฏิบัติงานตามคำสั่งของราชการ ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ[28]

สร้างกลุ่มชุมนุม

เส้นทางเดินทัพของเจ้าตากครั้งกอบกู้เอกราช
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี

ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตกล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนา ทรัพย์สิน วัวควายถูกยึดไว้หมด[29] จนกลางดึกของคืนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกประมาณ 3 เดือน กองทัพพม่ายิงถล่มกรุงศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือน วัด และวัง ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะบ้านเรือนของราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง[30] พระยาพิพัทธโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลังเขียนจดหมายถึงสภาบริหารสูงสุด (Supreme Government) ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) ที่เมืองปัตตาเวีย ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2312 กล่าวว่า พระเจ้าตากเสด็จไปยังเมืองจันทบูรตามพระราชโองการของพระเจ้าเอกทัศน์ ไม่ได้เสด็จ “หนี” ออกจากกรุง[31] กลางวันของวันที่ 3 มกราคมนั้นพระยาตากรวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย[เชิงอรรถ 2] เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อน กองกำลังพระยาตากเริ่มออกเดินทางจากวัดพิชัยมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมาแล้วต่อรบกันจนพม่าพ่ายกลับไป ก่อนเดินทางมาถึงบ้านข่าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน[32] ต่อมา เช้าวันที่ 4 มกราคม กองกำลังพระยาตากเดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพธิ์สังหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้สู้รบกันจนพม่าพ่ายกลับไป มาถึงบ้านพรานนกช่วงเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง 2,000 นาย ฝ่ายพระยาตากจึงทรงม้ากับทหารอีก 4 ม้าออกรับศึก สามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง เหล่าทหารม้าจึงถือเอาวันที่ 4 มกราคมเป็นวันทหารม้าของไทย[33]

วันที่ 3 ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้างเข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อพระยาตาก ทั้งยังถวายช้างพลาย 5 ช้าง ช้างพัง 1 ช้าง แล้วอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่นไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม 3 ครั้งก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงปะทะกับไพร่พลชาวบ้านกงซึ่งมีกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่กองกำลังพระยาตากเป็นฝ่ายชนะและสามารถยึดช้างได้เพิ่มอีก 7 ช้าง เงินทอง และเสบียงอาหารอีกมาก ต่อมาวันที่ 8 มกราคม (วันที่ 6) เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ชุ้มแล้วหยุดพัก 2 วันก่อนเดินทัพต่อไปถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายกแล้วหยุดพักอีก 1 คืน ต่อมาพระยาตากนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี) และต้องหยุดรอนายทหาร 3 นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชาที่ตามกองกำลังพระยาตากมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้นเกิดปะทะกับทัพบกและทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม้น้ำโจ้โล้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ประชุมพงศวดารบันทึกไว้ว่า "พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ"[34] พระยาตากจึงสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ และเรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว 240 เมตรจึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น ทหารพม่าทั้ง 4 แนวแตกพ่ายไป "จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง"[35] จากแนวปะทะและการติดตามฆ่าพม่ามาทางปากน้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินทัพตามชายป่าดงมาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี "จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ" (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี)[34]

ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) นายชุมนุมที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระยาตาก แต่เพียงแสดงแสนยานุภาพ "เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ" นายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไปพัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ[36] ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น หลังจากพระยาตากยึดเมืองระยองได้ ขณะพักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล[37] อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ข่าวแพร่กระจายออกไป พระยาตากจึงได้ประกาศพระองค์ขึ้นเป็น "เจ้า" ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัยได้ 23 วัน[38] พระองค์มีพระราชปณิธานโดยพระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตเลขาบันทึกว่า[39]

พระยากำแพงเพชรจึงปรึกษากับนายทหารและรี้พลทั้งปวงว่า กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย

การประกาศตั้งตัวขึ้นในครั้งนี้มีศักดิ์เทียบเท่าพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองได้เช่นกันว่า พระเจ้าตากประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว[40] พระเจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบุรีซึ่งก่อนเข้าตีเมืองได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด โดยมีเป้าหมายให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบุรี แต่ถ้าตีเมืองไม่สำเร็จก็ให้อดตายกันทั้งหมดที่นี่[41]

กองทัพพระเจ้าตากสามารถตีได้เมืองจันทบุรีได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นจึงยกกองทัพลงไปยังเมืองตราด ทรงใช้เวลาในการเดินทัพ 7 วัน 7 คืนก็มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบุรีและเมืองตราดยังไม่ถูกทหารพม่ายึดครอง[42] และขณะนั้นมีเรือสำเภาจีนจอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ พระเจ้าตากมีรับสั่งให้นายเรือพวกนั้นมาเฝ้า แต่กลับขัดขืนและระดมยิงปืนใส่ พระเจ้าตากทรงทราบก็ให้นำเรือที่คุมเรือรบไปล้อมเรือสำเภาจีนไว้ แล้วบังคับให้พวกคนจีนสมัครเข้ามาเป็นพรรคพวก แต่พวกคนจีนไม่ฟังกลับระดมยิงปืนใส่กองทัพพระเจ้าตาก รบกันอยู่ครึ่งวันกองทัพพระเจ้าตากสามารถยึดเรือสำเภาจีนได้ทั้งหมด ได้ทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าตากสามารถจัดการเมืองตราดเสร็จแล้วจึงยกทัพกลับเมืองจันทบุรี

พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน 5,000 นายแล้วยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรี ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดเมืองธนบุรีคืนจากพม่าได้ และจับนายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้นประหารชีวิต[43][44] ต่อจากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครองได้เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนหลังจากเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา[45]

ปราบดาภิเษก

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ณ พระราชวังกรุงธนบุรี

ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และการเมืองเป็นสำคัญ[46] ทำให้เจ้าตากมา "ยับยั้ง" อยู่ ณ เมืองธนบุรี ซึ่งมีลักษณะเป็นราชธานีไม่ถาวร[47] ก่อนหน้านั้น เมืองธนบุรีถูกทิ้งร้าง มีต้นไม้ขึ้นและซากศพทิ้งอย่างเกลื่อนกลาด ทำให้ต้องมีการเกณฑ์แรงงานจัดการพื้นที่ขึ้นมาใหม่[48] เจ้าตากยังมีรับสั่งให้คนไปอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยตอนปลายอยุธยาจากเมืองลพบุรีมายังเมืองธนบุรี และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศตามโบราณราชประเพณี[49][50]

หลังจากที่อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" แต่เอกสารราชการสมัยกรุงธนบุรียังคงเรียกนามเมืองหลวงตามเดิมว่า "กรุงพระมหานครศรีอยุธยา" เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า จดหมายเหตุโหรระบุว่าเป็นวันอังคาร แรมสี่ค่ำ จุลศักราช 1129 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311[เชิงอรรถ 3] เมื่อพระชนพรรษา 34 พรรษา ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีผู้ที่คิดรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใหม่มาเข้าด้วยกับชุมนุมของพระองค์เป็นจำนวนมาก ทำให้สถานะการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์เด่นชัดยิ่งขึ้น[51] อีกทั้งพระองค์ยังทรงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อแสดงถึงสิทธิธรรม[51] การเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานียังถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงครามกับพม่าด้วย[52]

หลังจากทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงที่ใช้เป็นสถานที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ[53]

หลังการเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2311 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉินเหม่ยเซิน พ่อค้าเดินเรือจีน นำพระราชสาส์นไปถวายต่อจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชสำนักชิง ใจความสำคัญว่าด้วยพระราชประสงค์ฟื้นฟูสัมพันธไมตรี การค้าขายกับจีน และขอพระราชทานตราตั้งเพื่อรับรองสถานภาพพระมหากษัตริย์ แต่ราชสำนักชิงปฏิเสธในปีแรกเพราะมองว่าพระองค์มิใช่ผู้สืบราชสันตติวงศ์เจ้านายกรุงเก่า และเจ้านายกรุงเก่ายังมีพระขนม์ชีพอยู่ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ (พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จไปก่อตั้งชุมนุมเจ้าพิมาย ส่วนเจ้าจุ้ย (พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัยและพระราชนัดดาในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9) และเจ้าศรีสังข์ (พระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์และพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จลี้ภัยสงครามไปอยู่กับพระยาราชาเศรษฐี ญวน (ม่อซื่อหลิน) ที่เมืองพุทไธมาศ อีกทั้งในระยะนั้นจีนได้รับรายงานที่ไม่เป็นความจริงจากม่อซื่อหลิน ทำให้เอกสารราชสำนักชิงจึงไม่เรียกขานพระนามอย่างพระมหากษัตริย์ แต่เรียกขานเพียง กันเอินซื่อ (เจ้าเมืองตาก) เท่านั้น[54]

ปราบชุมนุม

ภาพจิตรกรรมการรบที่บางแก้ว

จากผลของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทำให้อาณาจักรอยุธยาไม่อาจกลับมาตั้งใหม่เป็นอาณาจักรของคนไทยได้อีก ทั้งยังเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิตตามมา ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า มีการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน แต่สำคัญคือเพื่อเอาชีวิตรอด นอกจากนี้กลุ่มการเมืองหรือ "ชุมนุม" ขนาดใหญ่ ๆ นั้นยังแตกออกเป็น 4-6 ชุมนุมใหญ่ แต่ไม่มีก๊กใดเลยที่คิดจะกอบกู้เอกราชหรือฟื้นฟูชาติกลับคืนมาดังเดิม

เมื่อพระเจ้ามังระทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง จึงได้มีพระราชโองการให้เจ้าเมืองทวายยกทัพมาปราบปราม กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี พระราชพงศาวดารบันทึกว่ามีกองกำลัง 2,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำกองทัพออกตีพม่าจนแตกพ่าย กิตติศัพท์ที่ทรงรบชนะทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น[55]

พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเริ่มจากยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกเป็นชุมนุมแรก แต่พระองค์ต้องกระสุนปืนจึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร ชุมนุมพิษณุโลกนี้ภายหลังอ่อนแอลงจนกระทั่งถูกชุมนุมเจ้าพระฝางผนวกไป หลังหายจากพระอาการประชวรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้เวลาปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นต่อไป โดยเริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธทรงถูกปราบปรามและสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ. 2311[56] ตามด้วยชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งพระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้า[57] เจ้านครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้หนีต่อลงไปยังหัวเมืองทางใต้ พระยาปัตตานีกลัวก็จับตัวมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางในหัวเมืองฝ่ายเหนือ สามารถยึดได้เมืองพิษณุโลกและชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี รบกันได้เพียง 3 วัน เจ้าพระฝางก็แตกหนี เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบ และทรงปราบกองทัพของม่อซื่อหลินที่เมืองพุทไธมาศสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2314 รัฐบาลจีนเริ่มยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ[58] โดยทางราชสำนักชิงเห็นว่ากรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นปึกแผ่น พระบรมวงศานุวงศ์ครั้งกรุงเก่าหมดหนทางกลับมาสืบราชสันตติวงศ์ อีกทั้งมีนโยบายจับกุมเชลยศึกที่หลบหนีเข้ามาไทยส่งกลับไปให้รัฐบาลจีนเป็นระยะๆ จักรพรรดิเฉียนหลงจึงทรงเปลี่ยนท่าทีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2315 เป็นต้นมา เอกสารราชการของราชสำนักชิงเปลี่ยนการเรียกขานพระนามจาก กันเอินซื่อ หรือ พระยาสิน เป็น เจิ้งเจา (กษัตริย์เจิ้ง)[54]

สงครามกับเขมร

เมื่อปี พ.ศ. 2312 เจ้านายเขมรได้เกิดวิวาทกัน กล่าวคือ นักองตนไปขอกองทัพญวณมาตีเขมร และนักองนนท์สู้มิได้ก็พาครอบครัวหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์กับพระยาอนุชิตราชา (ทองด้วง) ยกทัพไปตีเขมรได้เมืองเสียมราฐแล้วพักรอฤดูฝนอยู่ พอดีได้ข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชแล้วสิ้นพระชนม์ลง การตีเขมรครั้งนั้นจึงยังไม่สำเร็จ

เมื่อชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตก อภัยคามณี โป่มะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่พม่าตั้ง เห็นสบโอกาสแผ่อาณาเขต จึงยกทัพลงมาล้อมสวรรคโลกไว้เมื่อ พ.ศ. 2313 แม่ทัพกรุงธนบุรีรักษาเมืองไว้มั่นคง ครั้นกองทัพกรุงธนบุรีที่ยกมาช่วยเหลือ พอถึงก็เข้าตีกระหนาบพ่ายกลับไป ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นสบโอกาสก็ยกทัพขึ้นไปจะตีเอาเมืองเชียงใหม่บ้าง แต่ล้อมได้เพียง 9 วันก็ต้องยกกองทัพถอยกลับลงมา

ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ฉวยโอกาสยกทัพมาตีเมืองตราดและจันทบุรี แต่ถูกตีแตกกลับไป พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ขัดเคือง หลังจากพักรี้พลพอสมควรแล้วก็ทรงเตรียมทัพไปตีกัมพูชา สามารถบุกไปถึงกรุงพุทไธมาศ (ราชธานีกรุงกัมพูชาในช่วงเวลานั้น) สมเด็จพระนารายณ์ราชาเห็นว่าสู้ไม่ได้ก็หนีไปพึ่งญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้พระรามราชาเป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชาต่อไป แล้วเลิกทัพกลับเมื่อ พ.ศ. 2314 แต่ต่อมาญวนเกิดกบฏไตเซิน สมเด็จพระนารายณ์ราชาขาดกำลังสนับสนุน ก็กลับมาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ก็ทรงให้เป็นมหาอุปโยราช มีฐานะรองจากพระรามราชา

นักองตนซึ่งครองเขมรอยู่ได้ข่าวพม่ายกมาตีไทยเมื่อ พ.ศ. 2314 จึงถือโอกาสยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีและตราด สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีเขมร กองทัพไทยตีได้เมืองโพธิสัตว์ พระตะบอง บริบูรณ์ กำพงโสม และเมืองพุทไธมาศ นักองตนพ่ายแพ้หนีไปอยู่กับญวณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองนนท์ครองเขมรสืบไป

หลังจากกองทัพไทยกลับจากเขมรเมื่อ พ.ศ. 2323 แล้ว นักองตนก็ยกทัพมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพุทไธมาศ ส่วนนักองนนท์เกรงกลัวญวณจึงคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกำปอด ต่อมาองไกเซนเป็นกบฏยึดญวณไว้ได้ นักองตนสิ้นที่พึ่ง จึงขอประนีประนอมยอมให้นักองนนท์ครองกรุงกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระรามราชา (นักองนนท์) เป็นเจ้ากรุงกัมพูชา พระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองตน) เป็นมหาอุปโยราช และนักองธรรมเป็นมหาอุปราช ต่อมานักองธรรมถูกลอบสังหารและนักองตนก็เป็นโรคจนเสียชีวิต เป็นที่สงสัยว่าถูกวางยาพิษ ฟ้าทะละหะเข้าใจว่าพระรามราชาแกล้งฆ่าคนทั้งสอง จึงพร้อมด้วยข้าราชการรวมกันจับพระรามราชาถ่วงน้ำเสีย แล้วยกนักองเองราชบุตรขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา มีฟ้าทะละหะเป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาฟ้าทะละหะได้เอาใจออกห่างไทยไปฝักใฝ่ญวณ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเขมร ตีได้หลายหัวเมืองแล้ว พอจะตีเข้าเมืองหลวงก็พอดีเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีจำเป็นต้องยกทัพกลับ[49]

สงครามกับพม่า

ใน พ.ศ. 2314 นั้นเกิดเหตุวิวาทในหมู่เจ้าเมืองแคว้นกรุงศรีสัตนาคนหุต ฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็ขอกำลังพม่ามาช่วย พอปราบปรามสำเร็จแล้ว แม่ทัพพม่าก็ยกทัพมาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อกองทัพยกผ่านเมืองน่านก็แบ่งกำลังให้นายทัพหน้าตีเมืองบางส่วนของธนบุรี ลึกเข้าไปถึงเมืองพิชัยเมื่อปลาย พ.ศ. 2315 เจ้าเมืองพิชัยป้องกันเมืองไว้มั่นคงแล้วก็ขอกำลังพิษณุโลกไปช่วย พอมาถึงก็ออกตีกระหนาบ กองทัพพม่าเป็นฝ่ายแตกกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2316 ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน และพม่ายกเข้ามาตีเมืองพิชัยอีกครั้งหนึ่ง แม่ทัพกรุงธนบุรีตั้งซุ่มสกัดข้าศึกตรงบริเวณชัยภูมิ พอมาถึงก็ตีทัพพม่าแตกกลับไป

พม่ากับมอญเกิดรบกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง ได้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเข้ามาสวามิภักดิ์ เมื่อยกไปถึงเชียงใหม่แล้วก็ตั้งค่ายล้อมไว้ เมื่อทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเดิมตั้งคอยรับชาวมอญที่เมืองตากมาถึงเชียงใหม่แล้ว กองทัพธนบุรีก็ระดมตีค่ายพม่าเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2317 จนโปมะยุง่วนต้องทิ้งเมืองหนี ทำให้เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่านและเมืองแพร่ปลอดจากพม่าตั้งนั้บแต่นั้น หลังจากทำสัญญาสันติภาพกับจีนในปีเดียวกันนั้นแล้ว พระเจ้ามังระก็ทรงส่งทหารมาอีก 5,000 นาย แต่ถูกล้อมที่เมืองบางแก้ว ราชบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริให้ตั้งล้อมไว้เฉย ๆ ไม่ให้เข้าตี และรอจนพม่าเป็นฝ่ายอดอาหารยอมจำนนเอง หลังจากล้อมอยู่นาน 47 วัน พม่าก็ยอมจำนน โดยพระองค์ทรงหวังว่าจะเป็นการปลุกขวัญคนไทยให้หายกลัวพม่า

พ.ศ. 2318 แม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ของพม่ายกทัพมาตีหัวเมืองเหนือ เป็นสงครามอะแซหวุ่นกี้ที่มีขนาดใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้เชี่ยวชาญศึก ส่วนฝ่ายไทยนั้นมีเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในการครั้งนี้พม่ายกพลมา 30,000 คนเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกอีก 5,000 คนล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ 10,000 คน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปช่วย ต่อมาอะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับไปเอง เนื่องจากพระเจ้ามังระสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกจับ[49]

พ.ศ. 2319 พระเจ้าจิงกูจาโปรดให้เกณฑ์ทัพพม่า 6,000 คนยกมาตีเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการพิจารณาเห็นว่านครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายพอป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนพลเรือนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง 15 ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่[49]

สงครามกับลาว

แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ในขณะที่ไทยติดศึกพม่าที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2319 นั้น มีเหตุเกิดขึ้นทางนครราชสีมา คือ เจ้าเมืองนางรอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นต่อนครราชสีมา มีข้อพิพาทกับพระยานครราชสีมา แล้วเอาเมืองไปขึ้นต่อเจ้าโอ เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งตั้งตนเป็นอิสระอยู่ พระยานครราชสีมามีใบ้บอกเข้ามายังกรุงธนบุรี ต่อมาเดือนมีนาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปปราบ เมื่อปราบได้ให้ประหารเจ้าเมืองนางรองเสีย เจ้าพระยาจักรีปราบได้สำเร็จ พอปราบเสร็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่าเจ้าโอกับเจ้าอินอุปราช เมืองนครจำปาศักดิ์เตรียมพล 10,000 นายจะมาตีนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมทัพไปสมทบอีก 1 ทัพและให้ปราบจำปาศักดิ์เสีย ทัพไทยตีจำปาศักดิ์แตกและจับตัวเจ้าโอกับเจ้าอินได้ที่เมืองสีทันดร และยังตีได้เมืองอัตตะปือด้วยพร้อมกันนั้น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ออกเกลี้ยกล่อมเมืองเขมรป่าดง ระหว่างจำปาศักดิ์กับนครราชสีมาเป็นพวกได้อีก 3 เมือง คือ สุรินทร์ สังขะ และขุขันธ์ ทั้ง 3 เมืองยอมเข้าเป็นเขตเมืองไทย เสร็จศึกครั้งนี้เจ้าพระยาจักรีได้เลื่อนเป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ" มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม[49]

พระวอ เสนาบดีแห่งเมืองเวียงจันทน์ ก่อกบฏเมื่อ พ.ศ. 2321 แต่สู้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ได้ ก็พาสมัครพรรคพวกหนีมาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี) และขอขึ้นต่อไทย ต่อมาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพมาตีตำบลดอนมดแดงและสังหารพระวอ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขัดเคืองมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์กองทัพไทยได้แสดงความสามารถตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และหัวเมืองลาวทั้งหลายได้พากันมาขึ้นต่อไทย ในการนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางลงมายังกรุงธนบุรีด้วย การศึกสงครามดังกล่าวนี้ส่งผลให้ราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี มีดังนี้ ทิศเหนือตลอดอาณาจักรล้านนาเดิม ทิศใต้ได้ดินแดนตรังกานูและไทรบุรี ทิศตะวันออกได้ดินแดนกัมพูชาจรดอาณาเขตญวนใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดเวียงจันทน์ หัวเมืองพาน และหลวงพระบาง หัวพันห้าทั้งหก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ตลอดเมืองพุทไธมาศ จรดมะริดและตะนาวศรี ทิศตะวันตกจรดดินแดนเมาะตะมะ ได้เมืองมะริดและตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย[59]

ด้านการปกครอง

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายสูญหายไปมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสืบเสาะ ค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ 1 ใน 10 และโปรดฯ ให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และเป็นการแก้ไขเพื่อราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรดฯ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิ์ขาด และยังห้ามนายตรานายบ่อนออกเงินทดลองให้ผู้เล่น เกาะกุมผูกมัดจำจองเร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรก็เกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง โดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้ เช่น มองเซนเยอร์ เลอบอง ได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า[60]

บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อน ๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะมีรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปกครองบ้านเมืองคล้ายคลึงกับพระราโชบายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ แบบพ่อปกครองลูก ไม่ถือพระองค์ มักปรากฏพระวรกายให้พสกนิกรเห็น และมักถามสารทุกข์สุขดิบของพนกนิกรทั่วไป ทรงหาวิธีให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหากินโดยปกติสุข ใครดีก็ยกย่องสรรเสริญ ผู้ใดทำไม่พอพระทัย ก็ดุด่าว่ากล่าวดังพ่อสอนลูก อาจารย์สอนศิษย์ ซึ่งสมกับโคลงยอพระเกียรติของนายสวนมหาดเล็กที่ว่า[61]

พระเดียวบุญลาภเลี้ยงประชากร
เป็นบิตุรมาดรทั่วหล้า
เป็นเจ้าและครูสอนสั่งโลก
เป็นสุขทุขถ้วนหน้านิกรทั้งชายหญิง

กฎหมายที่ใช้ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้กรมวังหรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้น ๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ[62] ฝ่ายรับฟ้อง มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณาเรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด และฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่าง ๆ จำนวน 12 คน โดยเรียกว่า "ลูกขุน ณ ศาลหลวง" ต่อมาได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้ไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษ

อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ศาลทหารเป็นส่วนใหญ่ โดยในการตัดสินคดีทุกครั้ง แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจากขั้นต่ำสุดก่อน ซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหนัก โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน[62]

พระองค์ออกพระราชกำหนดสักเลก พ.ศ. 2316 เพื่อสะดวกในการควบคุมกำลังคน การขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยในลาวและเขมรเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมั่นคง และการเตรียมการให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปปกครองเขมรในฐานะเมืองประเทศราช [63] แต่ได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ ส่วนหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นทางผ่านของทัพพม่าก็โปรดให้แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไปปกครอง เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาไปครองเมืองสวรรคโลก

ด้านเศรษฐกิจ

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองมีผลกระทบให้เกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย[64] นอกจากนี้เศรษฐกิจยังเสียหายอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปล้นสะดม และเมืองท่าที่สำคัญตกเป็นของพม่าอย่างเด็ดขาดถึงสองเมือง ได้แก่ มะริดและตะนาวศรี และยังเสียปืนใหญ่และปืนคาบศิลารวมหลายหมื่นกระบอกด้วย[65]

เพื่อหาทรัพย์มาใช้จ่าย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกประเพณีงดเก็บส่วยอากร 3 ปีเมื่อเข้ารัชกาลใหม่ อันเป็นประเพณีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[66] ทรงแจกจ่ายข้าวของเงินทองอันได้มาสี่ครั้ง ได้แก่ เมื่อครั้งตีค่ายชาวบ้านกง ครั้งตีเมืองจันทบุรี ครั้งปล้นเรือสำเภาพ่อค้าจีนที่ตราด และครั้งตีเมืองนครศรีธรรมราช สามารถช่วยราษฎรได้หลายหมื่นคน[66] บรรดาข้าราชการทหารพลเรือนได้รับแจกข้าวสารหนึ่งถังกิน 20 วัน และโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อข้าวสารบรรทุกมาขายจากพุทไธมาศ ถังละ 3–5 บาท เมื่อราษฎรทั้งหลายทราบก็ได้อพยพจากบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามายังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก[52] ต่อมาทรงให้ข้าราชการทั้งหลายทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล ราคาข้าวเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อ พ.ศ. 2311 ต่อมาราคาข้าวได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อปลาย พ.ศ. 2312 เนื่องจากมีหนูระบาด[67] เมื่อหนูหายไปแล้ว ราคาข้าวก็กลับลดลงอีก

พระองค์ทรงวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวในกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2314 โดยทรงให้ปรับพื้นที่สวนป่านอกกำแพงพระนครให้เสมอกันไว้ทำนา ครั้นบ้านเมืองสงบก็ทรงให้แม่ทัพคุมกองทัพมาทำนา ซึ่งทำให้กรุงธนบุรีกลายสภาพเป็นแหล่งทำนาแห่งใหม่ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย[67] พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปหลายสาย ทางตะวันออกถึงจีน ทางตะวันตกถึงอนุทวีปอินเดีย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขาย ทั้งทรงพยายามผูกไมตรีกับจีนเพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงของชาติและประโยชน์ในด้านการค้า[68][69][70]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระตุ้นให้ชาวจีนเข้ามาตั้งรกร้างในธนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมืองแต้จิ๋ว[71] ซึ่งบางส่วนมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา[72] ทรงพยายามเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน พ.ศ. 2313 ขณะที่จีนกำลังทำสงครามกับพม่าที่ยูนนาน ชาวพม่าหนีเข้ามาพึ่งสยามทางภาคเหนือของไทย ถึงแม้ว่าในเวลานั้นราชสำนักชิงยังไม่ได้รับรองรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ก็ได้ติดต่อสยามให้จับกุมข้าศึกเหล่านั้นส่งไปให้จีนด้วย พอดีกับที่ทรงกรีฑาทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ จึงได้จับเชลยชายหญิงส่งไปถวายจักรพรรดิเฉียนหลง 12 คน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314 จักรพรรดิเฉียนมีรับสั่งให้เปลี่ยนนโยบายต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงส่งคนจีน หยุนหนานที่หลบหนีไปต่างประเทศทางทะเลและเชลยศึกพม่าไปให้จีนเป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2315 เป็นต้นมา ราชสำนักชิงได้รับรองสถานภาพพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2315[54]

รัฐบาลจีนโดยราชสำนักชิงแสดงมิตรไมตรีต่อรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ขายยุทธปัจจัยได้ ซึ่งกฎหมายของราชสำนักชิงห้ามไม่ให้ค้าขายสินค้าเหล่านี้ การซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ทรงส่งเฉินว่านเซิ่ง พ่อค้าชาวจีนไปซื้อกำมะถันจำนวน 50 หาบและกระทะเหล็กจำนวน 500 ใบ เมื่อ พ.ศ. 2318 และครั้งที่ 2 ทรงส่งโม่กว่างอี้ พ่อค้าชาวจีนอีกคนหนึ่งไปซื้อกำมะถันอีก 100 หาบ เมื่อ พ.ศ. 2320 จักรพรรดิเฉียนหลงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งและกวางสีว่า หากรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะซื้อดินประสิวหรือสินค้าจำเป็นอื่นๆ เพิ่มเติมก็ให้จัดหาให้ตามพระราชประสงค์[54] ต่อมาปี พ.ศ. 2324 ทรงแต่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่จักรพรรดิเฉียนหลงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนอย่างเป็นทางการ คณะทูตที่เดินทางไปเมืองปักกิ่งประกอบด้วย พระยาสุนทรอภัย ราชทูต หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ และหมื่นพิพิธวาจา ปันสื่อ พระนามพระเจ้าตากสินในพระราชสาส์นใช้ว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา" และเรียกจักรพรรดิเฉียนหลงว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้ง" จักรพรรรดิเฉียนหลงทรงต้อนรับคณะทูตไทยเป็นอย่างดี พระราชทานเลี้ยงโต๊ะที่พระตำหนักซัมเกาสุ่นฉาง[73]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมรพระราชดำริว่า การมีเส้นทางคมนาคมที่ดีเป็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้น ในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่า ๆ ในเขตธนบุรีซึ่งมีอยู่หลายสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เช่น คลองท่าขาม จากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น[74]

ด้านสังคม ศาสนา และการศึกษา

วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือนอก หรือวัดบางยี่เรือใต้) พระอารามหลวง วัดประจำรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีหลังตั้งกรุง ครั้งที่ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวหมอง ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะจากในกรุงไปสั่งสอน ทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น[75] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ยังเหลืออยู่หลังจากเสียกรุง เพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. 2312 ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชบรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในปีถัดมาในคราวที่เสด็จฯ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาด้วย ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา[75]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ พ.ศ. 2316 โดยถือเป็นต้นฉบับกฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกของไทย[76] และทรงนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย[77]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอินทารามวรวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร วัดราชคฤห์วรวิหาร วัดเสาธงหิน เป็นต้น[75]

ภายหลังจากรบชนะที่เมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระบางกลับมายังกรุงธนบุรี โดยให้จัดเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารคจำนวน 246 ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม[49][75]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่าง ๆ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอหนังสือขึ้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ซึ่งคงเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้แสวงหาและรวบรวมตำราต่างๆ ที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตกไว้ที่พระอารามหลวงหรือหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับเพื่อใช้ศึกษาเล่าเรียน[78]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์วัดซางตาครู้ส[79]

ด้านศิลปกรรม

ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อปี พ.ศ. 2312 ทรงนำตัวละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชเข้ามาเป็นครูฝึกหัดร่วมกับพวกละครที่ทรงรวบรวมได้จากที่อื่น แล้วจัดตั้งเป็นละครหลวงของกรุงธนบุรี โดยยึดแบบฉบับการฝึกละครของกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้คณะละครหลวงได้นำไปฝึกหัดออกแสดงด้วย[80] ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่เพื่อสร้างบรรยากาศให้รื่นเริงครึกครื้นเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนทั่วไปเปิดการฝึกสอนและออกโรงเล่นได้อิสระ เครื่องแต่งกายไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้น เครื่องทรงก็แต่งกันได้ตามลักษณะเรื่อง ส่งผลให้ศิลปะการละครของไทยซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมากตอนปลายอยุธยากลับฟื้นตัวขึ้นใหม่

โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "สมุดภาพไตรภูมิ" ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2319 ซึ่งนับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของไทย เมื่อคลี่ออกจะมีความยาวถึง 34.72 เมตร เขียนด้วยสีลงในสมุดทั้ง 2 ด้าน โดยฝีมือช่างเขียน 4 คน ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ[81] และอีกฉบับเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ซื้อไปจากประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436[82]

มีพระราชดำริว่าช่างไทยสมัยธนบุรีมีเหลืออยู่น้อยมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและฟื้นฟูการช่างสิบหมู่ขึ้นใหม่ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด บ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงคราม สิ่งของที่เป็นฝีมือช่างชั้นดีประณีตงดงามในสมัยกรุงธนบุรีจึงหาได้ยาก แต่ที่มีให้เห็นอยู่บ้าง ได้แก่ พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทาราม พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารเล็กหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ตู้ลายรดน้ำที่มีศักราชแจ้งชัดว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุดแห่งชาติ และท้องพระโรงพระราชวังเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ[83]

ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1132 ตรงกับปี พ.ศ. 2313 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลของพระองค์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ 4 เล่มสมุดไทย คือ เล่ม 1 ตอน พระมงกุฎ เล่ม 2 ตอน หนุมานเกี้ยววารินจนท้าวมาลีวราชมา เล่ม 3 ตอน ท้าวมาลีวราชพิพากษา และเล่ม 4 ตอน ทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ[80]

สวรรคต

พระสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หน้าพระอุโบสถหลังเดิม วัดอินทารามวรวิหาร ภายหลังมีผู้ขนานพระสถูปนี้ว่า "พระเจดีย์กู้ชาติ" ร่วมกับพระสถูปอีกองค์หนึ่งที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมอัฐิของกรมหลวงบาทบริจา พระอัครมเหสีของพระองค์

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2325 ขณะนั้นกรุงธนบุรีมีอายุได้ 15 ปี พระยาสรรค์กับพวกได้ก่อกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นไปทำศึกกับเขมรจึงกลับมายังกรุงธนบุรี เห็นว่าความไม่สงบของบ้านเมืองเกิดจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร[84]ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วฝังพระบรมศพที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทารามวรวิหาร) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325[2] เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา สิริรวมครองราชย์ได้ 15 ปี และถือเป็นจุดสิ้นสุดของกรุงธนบุรี จากนั้นจึงได้สืบสวนความผิดของผู้ก่อกบฏ แล้วตัดสินให้นำพระยาสรรค์กับพวกไปประหารชีวิตในเวลาต่อมา[85]

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแนวคิดดังกล่าวแล้ว ยังมีแนวคิดอื่น เช่น ที่เสนอว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทำรัฐประหาร และแนวคิดที่ว่าพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์และลาผนวชไปยังนครศรีธรรมราช เป็นต้น[86]

พระราชสันตติวงศ์

พระบรมราชานุสรณ์

รัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"[87] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีที่สุด และมีศาลเทพารักษ์และพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายแด่พระองค์มากกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด[88]

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเช่นกัน[89] อนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นรูปพระองค์กำพระแสงดาบในพระหัตถ์ขวา วัดความสูงจากตีนม้าทรงถึงยอดพระมาลาได้ประมาณ 9 เมตร ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตเสริมขนาด 8.90 × 1.80 × 3.90 เมตร

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกธนบัตรชุดที่ 12 เรียก ธนบัตรชุดมหาราช โดยพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสวนสาธารณะทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี ปรากฏอยู่หลังธนบัตรมูลค่า 20 บาทที่ออกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524[90]

สกุล ณ นคร สืบเชื้อสายชายสายตรงจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[91]

สุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งอยู่ในอำเภอเฉิงไห่ มณฑลกวางตุ้งในประเทศจีนใน พ.ศ. 2464 เชื่อกันว่าผู้สืบเชื้อสายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งฉลองพระองค์นี้ให้ไปฝังตามธรรมเนียมจีน ซึ่งสนับสนุนการอ้างว่าที่แห่งนี้เป็นบ้านเกิดของพระบรมราชชนก[92]

นอกจากนี้ กองทัพเรือยังตั้งชื่อเรือหลวง ตากสิน ซึ่งเป็นรุ่นดัดแปลงของเรือฟริเกตไทป์ 53 ที่ผลิตในจีน เป็นการถวายพระเกียรติ และยังได้รับการถวายพระราชสมัญญานามเป็นพระบิดาแห่งทหารม้าไทย[93]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แก่

เชิงอรรถ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Anthony Webster. Gentleman Capitalists: British Imperialism in Southeast Asia 1770-1890. I.B. Tauris. ISBN 1-86064-171-7.
  • Bertil Lintner. Blood Brothers: The Criminal Underworld of Asia. Macmillan Publishers. ISBN 1-4039-6154-9.
  • Carl Parkes. Moon Handbooks: Southeast Asia 4 Ed. Avalon Travel Publishing. ISBN 1-56691-337-3.
  • Chris Baker, Pasuk Phongpaichit. A History of Thailand. Cambridge University Press. ISBN 0-521-81615-7.
  • Chula Chakrabongse, Prince. Lords of Life : A History of the Kings of Thailand. Alvin Redman Limited.
  • David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press. ISBN 0-300-03582-9.; Siamese/Thai history and culture-Part 4 เก็บถาวร 2007-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Donald K. Swearer (2004). Becoming the Buddha: The Ritual of Image. Princeton University Press. ISBN 0-691-11435-8.
  • Editors of Time Out. Time Out Bangkok: And Beach Escapes. Time Out. ISBN 1-84670-021-3. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  • Gary G. Hamilton (2006). Commerce and Capitalism in Chinese Societies. Routledge. ISBN 0-415-15704-8.
  • Paul M. Handley. The King Never Smiles. London : Country Life. ISBN 0-300-10682-3.
  • Prida Sichalalai. (1982, December). "The last year of King Taksin the Great". Arts & Culture Magazine, (3, 2).
  • Rong Syamananda (1990). A History of Thailand. Chulalongkorn University. ISBN 974-07-6413-4.
  • Thomas J. Barnes. Tay Son: Rebellion in 18th Century Vietnam. Xlibris Corporation. ISBN 0-7388-1818-6.
  • W.A.R. Wood (1924). A History of Siam. Chiengmai.
  • William B. Dickinson (1966). Editorial Research Reports on World Affairs. Congressional Quarterly.
  • กรมตำรา กระทรวงธรรมการ (2472). พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘-๑๑๔๔. กรมตำรา กระทรวงธรรมการ.
  • กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ (2555). กรุงธนบุรี ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตรโกสินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • คณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดจันทบุรี (2524). พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. อมรินทร์การพิมพ์. (จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ จังหวัดจันทบุรี วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา)
  • จรรยา ประชิตโรมรัน (2548). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9745835927.
  • ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244.
  • ณัฏฐ์พร บุนนาค (2545). สถานะทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2310-2497. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9741718632.
  • แดน บีช บรัดเลย์ (2551). พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล. มติชน. ISBN 9789740201779.
  • ทศยศ กระหม่อมแก้ว (2555). พระเจ้าตาก สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร. กรีนปัญญาญาณ จำกัด. ISBN 9786165260305.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. ศิลปวัฒนธรรม40201779.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. มติชน. ISBN 9789740201779.
  • นายต่อ : แปล ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ : บทนำเสนอ ; สุจิตต์ วงษ์เทศ : บรรณาธิการ (2545). มหาราชวงษ์พงศวดารพม่า. มติชน. ISBN 9743225951.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • เปลื้อง ณ นคร (2517). ประวัติวรรณคดีไทยสำหรับนักศึกษา. ไทยวัฒนาพานิช.
  • พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร (2544). สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก. นานมีบุ๊คส์. ISBN 9744723319.
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. ISBN 9786167308258.
  • วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ (2546). บรรพบุรุษไทย : สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9741323948.
  • ส.พลายน้อย (2550). พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งชาติไทย. พิมพ์คำ. ISBN 9789747507201.
  • สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2463). ไทยรบพม่า. มติชน. ISBN 9789740201779.

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถัดไป
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)
กรุงศรีอยุธยา

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์ธนบุรี)

(6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
(ราชวงศ์จักรี)
กรุงรัตนโกสินทร์
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง