การปฏิวัติอียิปต์ พ.ศ. 2554

การปฏิวัติอียิปต์ พ.ศ. 2554 เกิดขึ้นหลังการลุกฮือของประชาชนซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 และจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ยังคงดำเนินต่อไป การลุกฮือส่วนใหญ่เป็นการรณรงค์การต่อต้านของพลเมือง (civil resistance) โดยปราศจากความรุนแรง ซึ่งมีลักษณะของชุดการเดินขบวน การเดินแถว พฤติกรรมการดื้อแพ่ง และการประท้วงของแรงงาน ผู้ประท้วงหลายล้านคนที่มีภูมิหลังทางสังคมเศรษฐกิจและศาสนาอันหลากหลายต่างเรียกร้องให้โค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีอียิปต์ ฮอสนี มุบารัก แม้จะมีลักษณะสงบโดยธรรมชาติ แต่ไม่แคล้วที่การปฏิวัติจะเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังความมั่นคงและผู้ประท้วง โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 846 คน และได้รับบาดเจ็บ 6,000 คน[1][2] การลุกฮือดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงไคโร, อเล็กซานเดรีย และนครอื่นในอียิปต์ หลังการปฏิวัติตูนิเซีย ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลของประธานาธิบดีตูนิเซียอันครองอำนาจมาอย่างยาวนานล้มลง เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หลังเผชิญกับการประท้วงและแรงกดดันหลายสัปดาห์ มุบารักได้ลาออกจากตำแหน่ง

การประท้วงในจัตุรัสทาห์รีร์ กรุงไคโร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การประท้วงดังกล่าวเป็นผลพวงส่วนหนึ่งมาจากขบวนการอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในแอฟริกาเหนือซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2553 ความเดือดร้อนของผู้ประท้วงอียิปต์มุ่งไปยังปัญหาด้านกฎหมายและการเมือง[3] รวมทั้งความรุนแรงของตำรวจ กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน การขาดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเสรีภาพในการแสดงออก คอร์รัปชันซึ่งควบคุมไม่อยู่ และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึงอัตราการว่างงานที่สูง ภาวะเงินเฟ้อราคาอาหาร และค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำ ความต้องการหลักจากผู้จัดการประท้วง คือ ยุติการปกครองของฮอสนี มุบารัก และยุติกฎหมายฉุกเฉิน ตลอดจนเสรีภาพ ความยุติธรรม รัฐบาลที่ไม่ใช่ทหารและตอบสนอง และการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของอียิปต์[4] การประท้วงโดยสหภาพแรงงานเพิ่มแรงกดดันต่อทางการอียิปต์[5]

เหตุประท้วงครั้งนี้ได้รับการอธิบายว่า "ไม่เคยปรากฏมาก่อน" ในอียิปต์[6] และเป็น "การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน" ของประเทศ[7] ระหว่างการประท้วงดังกล่าวได้มีผู้ชุมนุมที่จัตุรัสทาห์รีร์ในกรุงไคโรมากถึงสองล้านคน[8] นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ การจลาจลขนมปังในอียิปต์ พ.ศ. 2520[6]

ระหว่างการลุกฮือ เมืองหลวงไคโรถูกอธิบายว่าเป็น "เขตสงคราม"[9] และเมืองท่าสุเอซเป็นสถานที่เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวซึ่งผู้ประท้วงฝ่าฝืน ขณะที่ตำรวจและทหารไม่บังคับใช้ การปรากฏของตำรวจกองกำลังความมั่นคงกลางของอียิปต์ ซึ่งภักดีต่อมุบารัก ค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยทหารซึ่งจำกัดมาก เมื่อไม่มีตำรวจ จึงมีการปล้นสะดมโดยแก๊งซึ่งแหล่งข่าวฝ่ายต่อต้านว่า ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เพื่อรับมือ พลเรือนจึงจัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเพื่อปกป้องละแวกบ้านของตน[10][11][12][13][14]

การตอบสนองระหว่างประเทศต่อเหตุประท้วงดังกล่าวผสมกันทั้งสนับสนุนและคัดค้าน[15] แม้ส่วนใหญ่เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติด้วยสันติและมุ่งสู่การปฏิรูป รัฐบาลตะวันตกส่วนใหญ่แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ หลายรัฐบาลออกคำเตือนท่องเที่ยวและพยายามอพยพพลเมืองของตนออกจากประเทศ[16]

มุบารักยุบรัฐบาลและแต่งตั้งบุคลากรทหารและอดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการทั่วไปอียิปต์ (Egyptian General Intelligence Directorate) โอมาร์ สุไลมาน เป็นรองประธานาธิบดีในความพยายามปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย มุบารักขอรัฐมนตรีการบินและอดีตหัวหน้ากองทัพอากาศอียิปต์ อาเหม็ด ชาฟิก (Ahmed Shafik) ให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ โมฮัมเหม็ด เอลบาราเด (Mohamed Elbaradei) กลายมาเป็นบุคคลสำคัญของฝ่ายต่อต้าน โดยกลุ่มต่อต้านหลักทั้งหมดสนับสนุนบทบาทของเขาในฐานะผู้เจรจาสำหรับบางรูปแบบของรัฐบาลปรองดองถ่ายโอน[17] เพื่อรับมือกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น มุบารักจึงประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนกันยายน[18]

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ รองประธานาธิบดี โอมาร์ สุไลมาน ประกาศว่ามูบารักจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีและเปลี่ยนผ่านอำนาจให้แก่สภากองทัพสูงสุด[19] สุไลมานกล่าวว่ามูบารักจะถ่ายโอนอำนาจให้แก่กองบัญชาการทหารสูงสุด เจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่ามูบารักได้เดินทางออกจากกรุงไคโรแล้วและกำลังพำนักอยู่ในรีสอร์ตทะเลแดงในซาร์มอัลชีคที่ซึ่งเขามีภูมิลำเนาอยู่[20] วันที่ 24 พฤษภาคม มุบารักถูกสั่งให้เข้ารับการไต่สวนในข้อหาฆาตกรรมผู้ประท้วงโดยสงบโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งหากถูกตัดสินว่าผิดจริง อาจได้รับโทษประหารชีวิต[21]

รัฐบาลทหาร นำโดยประมุขแห่งรัฐโดยพฤตินัย โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี (Mohamed Hussein Tantawi) ประกาศเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ว่า จะมีการชะลอรัฐธรรมนูญ ยุบรัฐสภาทั้งสอง และทหารจะปกครองประเทศเป็นเวลาหกเดือนจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้า รวมถึงนายกรัฐมนตรี อาเหม็ด ชาฟิก จะทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่[22] ซาฟิกลาออกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม หนึ่งวันก่อนมีการประท้วงใหญ่เพื่อบีบให้เขาลงจากตำแหน่งตามที่วางแผนไว้ เอสซัม ชาราฟ (Essam Sharaf) อดีตรัฐมนตรีคมนาคม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน[23] แม้มุบารักจะลาออกไปแล้ว การประท้วงยังดำเนินต่อไปท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลทหารจะอยู่อีกนานเท่าใดในอียิปต์ บางคนเกรงว่าทหารจะปกครองประเทศต่อไปอย่างไม่มีกำหนด[24]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง