ประเทศโมนาโก

ราชรัฐโมนาโก (ฝรั่งเศส: Principauté de Monaco) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โมนาโก (ฝรั่งเศส: Monaco [mɔnako] มอนาโก) เป็นนครรัฐในยุโรปตะวันตก ตั้งอยู่บริเวณเฟรนช์ริวีเอราทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นประเทศเอกราชที่เล็กที่สุดเป็นอันดับสองของโลก[11] มีขนาดเพียง 2.02 ตารางกิโลเมตรแต่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก[12] ราว 19,009 คนต่อตารางกิโลเมตรในปี ค.ศ. 2018[13]

ราชรัฐโมนาโก

Principauté de Monaco (ฝรั่งเศส)
Principatu de Mùnegu (ลีกูเรีย)
คำขวัญDeo Juvante  (ละติน)
("ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า")
เพลงชาติอีมน์มอเนกัสก์
("เพลงสดุดีโมนาโก")
ที่ตั้งของ ประเทศโมนาโก  (เขียว) ในทวีปยุโรป  (เขียวและเทาเข้ม)
ที่ตั้งของ ประเทศโมนาโก  (เขียว)

ในทวีปยุโรป  (เขียวและเทาเข้ม)

เมืองหลวงโมนาโก (นครรัฐ)
43°44′N 7°25′E / 43.733°N 7.417°E / 43.733; 7.417
เมืองใหญ่สุดมงเต-การ์โล
ภาษาราชการฝรั่งเศส[1]
ภาษากลาง
กลุ่มชาติพันธุ์
ศาสนา
86.0% คริสต์
—80.9% โรมันคาทอลิก (ศาสนาประจำชาติ)[2]
—5.1% นิกายอื่น ๆ
11.7% ไม่มีศาสนา
1.7% ยูดาห์
0.6% อื่น ๆ[3]
การปกครองรัฐเดี่ยว ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
เจ้าชายอาลแบร์ที่ 2
ปีแยร์ ดาร์ตู
สภานิติบัญญัติสภาแห่งชาติ
เป็นเอกราช
8 มกราคม ค.ศ. 1297
17 พฤษภาคม ค.ศ. 1814
• จากการครอบครองของสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก
17 มิถุนายน ค.ศ. 1814
• สนธิสัญญาฝรั่งเศส-โมนาโก
2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861
• รัฐธรรมนูญ
5 มกราคม ค.ศ. 1911
พื้นที่
• รวม
2.02 ตารางกิโลเมตร (0.78 ตารางไมล์) (อันดับที่ 193)
น้อย[4]
ประชากร
• 2019 ประมาณ
Steady 38,300[5] (อันดับที่ 190)
• สำมะโนประชากร 2016
37,308[6]
18,713 ต่อตารางกิโลเมตร (48,466.4 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 1)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2015 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 7.672 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ค.ศ. 2015)[7] (อันดับที่ 158)
เพิ่มขึ้น 115,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ค.ศ. 2015)[7] (อันดับที่ 3)
จีดีพี (ราคาตลาด) 2018[b] (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 7.185 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 145)
เพิ่มขึ้น 185,741 ดอลลาร์สหรัฐ[9] (อันดับที่ 1)
สกุลเงินยูโร (€) (EUR)
เขตเวลาUTC+1 (เวลายุโรปกลาง)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (เวลาออมแสงยุโรปกลาง)
ขับรถด้านขวา[10]
รหัสโทรศัพท์+377
โดเมนบนสุด.mc
  1. ^ หน่วยงานราชการตั้งอยู่ในมอนาโก-วีล
  2. ^ ไม่รวมจีดีพีต่อหัวของแรงงานที่ไม่ได้พักประจำจากฝรั่งเศสและอิตาลี

แขวงที่มีประชากรมากที่สุดคือมงเต-การ์โล โมนาโกเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่าครองชีพแพงและประชากรร่ำรวยที่สุดในโลก ประชากรราว 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเป็นมหาเศรษฐีหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐจากการสำรวจเมื่อ ค.ศ. 2014

โมนาโกปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 แห่งราชวงศ์กรีมัลดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศสและเป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ ยังมีคนพูดภาษาถิ่นโมนาโก ภาษาอิตาลี และภาษาอังกฤษกันทั่วไป

โมนาโกได้รับการรับรองเอกราชอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-โมนาโก ค.ศ. 1861 เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1993 แม้โมนาโกจะเป็นประเทศเอกราช แต่การป้องกันประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของฝรั่งเศสโดยโมนาโกมีกองกำลังป้องกันตัวเองเพียง 2 กองทัพเท่านั้น

เศรษฐกิจของโมนาโกรุ่งเรืองอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงหลังคริสต์ศตวรษที่ 19 หลังจากการเปิดบ่อนคาสิโนแห่งแรกในมงเต-การ์โล และมีการสร้างทางรถไฟเชื่อมกับกรุงปารีส[14] อากาศที่อบอุ่น ทิวทัศน์ที่สวยงาม และแหล่งบันเทิงสำหรับนักพนันได้ถึงดูดเม็ดเงินมหาศาลจากนักท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ

ปัจจุบันโมนาโกกลายเป็นศูนย์กลางด้านธนาคารและหันมาเน้นการดำเนินเศรษฐกิจภาคบริการและอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ไม่สร้างมลภาวะ และมีมูลค่าเพิ่มสูง โมนาโกมีชื่อเสียงจากการเป็นดินแดนภาษีต่ำ ไม่เก็บภาษีรายได้ มีภาษีธุรกิจที่ต่ำ และยังเป็นหนึ่งในสถานที่จัดแข่งขันรถสูตรหนึ่ง เป็นบ้านเกิดของชาร์ล เลอแคร์ นักแข่งของทีมสกูเดเรียแฟร์รารี นอกจากนี้ สโมสรฟุตบอลอาแอ็ส มอนาโกที่แข่งขันอยู่ในลีกเอิงฝรั่งเศสก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ครองแชมป์ลีกสูงสุดได้หลายครั้ง

โมนาโกไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ แต่ปรับใช้นโยบายของสหภาพยุโรปบางประการเช่นเรื่องศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมือง โมนาโกใช้เงินสกุลยูโร เข้าร่วมสภายุโรปเมื่อปี ค.ศ. 2004 และเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส

ประวัติศาสตร์

ชื่อของโมนาโกปรากฏขึ้นตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาลในชื่อ โมโนอิกอส (Monoikos) มาจากการประสบคำว่า โมนอส (monos) ที่หมายถึง โดดเดี่ยว[15] และ โออิกอส (oikos) ซึ่งหมายถึงบ้าน[16] รวมแล้ว มีความหมายถึง บ้านโดดเดี่ยว น่าจะสื่อถึงวิธีการอยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองในสมัยนั้นที่อาศัยอยู่เป็นบ้านโดดเดี่ยวแยกกันกับเพื่อนบ้าน

ยุคกลาง

โมนาโก เป็นอาณานิคมหนึ่งของสาธารณรัฐเจนัวเมื่อ ค.ศ. 1215 ต่อมาในปี ค.ศ. 1297 ฟร็องซัว กรีมัลดี เจ้าที่ดินในจากเจนัวยุคศักดินาบุกเข้ายึดป้อมปราการโมนาโกบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยการปลอมตัวเป็นบาทหลวง แล้วนำกองกำลังขนาดย่อมเข้าไปในดินแดนแห่งนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการครอบครองอาณาจักรโมนาโกของตระกูลกรีมัลดีตั้งแต่นั้นมา

ตระกูลกรีมัลดีครองโมนาโกอยู่ได้เพียงสี่ปี ก็ถูกขับกองทัพเจนัวออกจากดินแดนนั้นไป ชาร์ลส์ กรีมัลดี หวนกลับมาครอบครองดินแดนโมนาโกได้อีกในปี ค.ศ. 1331 แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นลอร์ดแห่งโมนาโกและขยายดินแดนออกไปยังเมืองม็องตงและโรเกอบรูน และสร้างโมนาโกจนยิ่งใหญ่ กลายเป็นเมืองท่าสำคัญ สำหรับการค้าและฐานทัพเรือสำคัญของยุโรป

หลังจากนั้นได้มีการสืบทอดตำแหน่งลอร์ดแห่งโมนาโกเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1489 พระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งฝรั่งเศส และดุ๊กแห่งซาวอยจึงได้ทรงรับรองความเป็นเอกราชของโมนาโก ต่อมาในปี ค.ศ. 1512 พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศสก็ทรงรับรองการเป็นพันธมิตรถาวรระหว่างโมนาโกกับฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงยุคการปกครองของลอร์ดออกุสติน โมนาโกกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากขุนนางในราชสำนักฝรั่งเศส ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จนกระทั่งจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีพระบัญชาให้โมนาโกอยู่ภายใต้อารักขาของสเปนการปกครองโดยลอร์ดแห่งโมนาโกดำเนินเรื่อยมา จนถึงช่วงศตวรรษที่ 15 เมื่อจอห์น กรีมัลดี ลอร์ดแห่งโมนาโกได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสืบสันตติวงศ์ขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการสืบราชสมบัติของโมนาโก

เจ้าผู้ครองนครยุคแรกนั้น ยังใช้ฐานันดรศักดิ์ว่า ลอร์ด มาจนถึงกระทั่งปี ค.ศ. 1612 ลอร์ดโอโนเร่ที่ 2 แห่งกรีมัลดี ลอร์ดแห่งโมนาโกจึงได้เปลี่ยนชื่อฐานันดรศักดิ์เป็น เจ้าชาย แห่งโมนาโก[17] เพื่อให้มีวินัยถึงการเป็นรัฐและอิสรภาพ ซึ่งได้รับการยอมรับจากฝรั่งเศสและสเปน เนื่องจากขณะนั้นโมนาโกยังอยู่ในอารักขาของสเปน

เจ้าชายโอโนเร่ที่ 2 กรีมัลดี ยังดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับประเทศฝรั่งเศส จนพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 หลุยส์ อิบโปลิบเตแห่งฝรั่งเศส ยอมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือและป้องกันการรุกรานจากฝรั่งเศส ถือเป็นการยืนยันและยอมรับความเป็นเอกราชของโมนาโก ไม่ขึ้นตรงต่อฝรั่งเศสอีกต่อไป แต่สเปนยังไม่ยินยอม เป็นเหตุให้เจ้าชายพระองค์นี้ ทรงประกาศสงครามกับสเปนและได้รับชัยชนะเป็นอิสระจากสเปน ในปี ค.ศ. 1641

อย่างไรก็ตามการสืบสันตติวงศ์นี้ ขาดช่วงลงเมื่อเจ้าชายอังตวนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1731 โดยไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดาเท่านั้น แต่พระธิดาองค์โต หลุยส์ อิบโปลิบเต ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ ยากส์ ฟร็องซัวร์ เลโอเนอร์ เดอ มาติยง ทายาทตระกูลขุนนางแห่งแคว้นนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1715 ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งโมนาโก ทรงพระนามว่า เจ้าชาย ยากส์ที่ 1

คริสต์ศตวรรษที่ 19

กองทัพปฏิวัติของฝรั่งเศสเข้ายึดโมนาโกเมื่อปี ค.ศ. 1793 ตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสจนถึงปี ค.ศ. 1814 เมื่อจักรพรรดินโปเลียนแพ้สงคราม ราชวงศ์กรีมัลดีกลับคืนสู่ราชบัลลังก์[18][19] มติจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนากำหนดให้โมนาโกอยู่ภายใต้การอารักขาของราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย[20] ในช่วงนี้ ชาวเมืองม็องตงและโรเกอบรูน-กัป-มาร์แต็งที่อยู่ภายใต้ตระกูลกรีมัลดีมานาน 500 ปีไม่พอใจที่ถูกเก็บภาษีอย่างหนัก จึงได้ประกาศอิสรภาพจากโมนาโก หวังจะรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของซาร์ดิเนีย แต่ฝรั่งเศสไม่เห็นด้วย

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1860 ซาร์ดิเนียถูกบีบให้คืนโมนาโก เคาน์ตีนิสที่อยู่รอบโมนาโก (และดัชชีซาวอย) ให้กับฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาตูริน[21] โมนาโกจึงอยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง ฝรั่งเศสเข้ายึดครองม็องตงและโรเกอบรูน-กัป-มาร์แต็งแลกกับการไม่ต้องจ่ายค่าปรับนับสี่ล้านฟรังก์[22] เหตุการณ์นี้นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-โมนาโก เมื่อปี ค.ศ. 1861 รับรองเอกราชของโมนาโกอย่างเป็นทางการ ดินแดนที่เสียไปนี้คิดเป็นร้อยละ 95 ของอาณาเขตเดิม ทำให้โมนาโกสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล เจ้าชายชาร์ลที่ 3 แห่งโมนาโกและพระมารดาจึงได้ตั้งบ่อนคาสิโนขึ้น[23] โดยใช้ชื่อว่า มงเต-การ์โล (Monte Carlo) มีความหมายว่า ภูเขาชาร์ลส์ ซึ่งมาจากพระนามของเจ้าชายนั่นเอง[24] ธุรกิจคาสิโนประสบความสำเร็จอย่างมาก กลายเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินจากมหาเศรษฐีที่หวังจะมาใช้เงินและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่[25] ความสำเร็จนี้ทำให้โมนาโกยกเลิกการเก็บภาษีจากประชาชนนปี ค.ศ. 1869[26]

คริสต์ศตวรรษที่ 20

การสมรสระหว่างเจ้าชายแรนีเยที่ 3 กับเกรซ เคลลี กลายเป็นข่าวที่ทำให้ราชรัฐโมนาโกได้รับความสนใจทั่วโลก

ราชวงศ์กรีมัลดีปกครองโมนาโกในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึง ค.ศ. 1910 จึงเกิดการปฏิวัติโมนาโกขึ้น มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในปีต่อมาและได้จำกัดอำนาจการบริหารของราชวงศ์ลง ต่อมาในปี ค.ศ. 1918 มีการลงนามในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-โมนาโกขึ้นอีกครั้งระบุให้ฝรั่งเศสให้ความคุ้มครองทางทหารแก่โมนาโก ท่าทีระหว่างประเทศของโมนาโกขึ้นกับผลประโยชน์ทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม โมนาโกถูกกองทัพอิตาลีเข้ายึดครองในสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อด้วยการยึดครองของพรรคนาซีเยอรมนี และได้รับอิสรภาพในเวลาต่อมา

ปี ค.ศ. 1949 เจ้าชายเรนิเยที่ 3 ขึ้นครองราชย์ต่อจากเจ้าชายหลุยส์ที่ 2 ทรงเป็นประมุขแห่งโมนาโกที่ทำให้ราชวงศ์โมนาโกกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก เพราะการเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับดาราภาพยนตร์สาวชาวอเมริกัน เกรซ เคลลี เมื่อปี ค.ศ. 1956[27]

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1962 โมนาโกยกเลิกโทษประหารชีวิต ให้สิทธิสตรีในการเลือกตั้ง และก่อตั้งศาลสูสุดแห่งโมนาโกเพื่อรับรองเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน โมนาโกเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1993 โดยมีสิทธิออกเสียงเต็ม[28][29]

คริสต์ศตวรรษที่ 21

โมนาโก ในปี ค.ศ. 2016

สนธิสัญญาฉบับใหม่ระหว่างฝรั่งเศสกับโมนาโกที่ลงนามเมื่อ ค.ศ. 2002 ระบุว่า หากราชวงศ์กรีมัลดีไม่มีทายาทสืบราชสันตติวงศ์ ราชรัฐจะยังคงเป็นอิสระแทนที่จะรวมกับฝรั่งเศส แต่การป้องกันประเทศยังเป็นหน้าที่รับผิดชอบของฝรั่งเศสอยู่[30][31]

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2005 เจ้าชายเรนิเยที่ 3 ทรงมีพระชนมายุมากเกินกว่าจะบริหารราชการแผ่นดินได้ จึงทรงสละราชสมบัติให้กับเจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 พระราชโอรสพระองค์เดียว[32] หกวันต่อมา เจ้าชายเรนิเยที่ 3 เสด็จสวรรคตหลังครองราชบังลังก์นานถึง 56 ปี ทรงเป็นประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของโมนาโก เจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าชายแห่งราชรัฐโมนาโก โดยมีการสวมมงกุฎอย่างเป็นทางการวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 หลังพ้นช่วงไว้ทุกข์[33]

ในปี ค.ศ. 2015 โมนาโกมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการขยายดินแดนด้วยการระบายน้ำทะเลออก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบ้านและพื้นที่สีเขียวในบางพื้นที่ วางงบประมาณไว้ 1 พันล้านยูโรและตั้งเป้าจะสร้างอพาร์ทเมนต์ สวนสาธารณะ ร้านค้า และสำนักงานในพื้นที่ 6 เฮกเตอร์ใกล้กับแขวงลาร์วอโต[34]

การเมืองการปกครอง

การเมืองการปกครอง

ปีแยร์ ดาร์ตู
(มนตรีแห่งรัฐ)
ตั้งแต่ปี 2020

โมนาโกปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 มีเจ้าผู้ครองเป็นประมุขแห่งรัฐ (พระองค์ปัจจุบันคือ เจ้าชายอาลแบร์ที่ 2) หัวหน้ารัฐบาลของโมนาโกคือมนตรีแห่งรัฐ (Ministre d'Etat) แต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครอง เป็นผู้นำของคณะที่ปรึกษารัฐบาล

คณะที่ปรึกษารัฐบาล ประกอบด้วย ที่ปรึกษารัฐบาล 5 คน ดูแล 5 กรม (Département) ได้แก่

  • กรมมหาดไทย (Département de l'Intérieur)
  • กรมการคลังและเศรษฐกิจ (Département des Finances et de l'Economie)
  • กรมการสังคมและสาธารณสุข (Département des Affaires Sociales et de la Santé)
  • กรมการพัสดุ สิ่งแวดล้อม และผังเมือง (Département de l'Equipement, de l'Environnement et de l'Urbanisme)
  • กรมการต่างประเทศ (Département des Relations Extérieures)

อำนาจนิติบัญญัติของราชรัฐ อยู่ที่พระประมุขและคณะกรรมการแห่งชาติ (Conseil National) กรมการตุลาการ (Direction des Services Judiciaires) มีลักษณะใกล้เคียงกับกระทรวงยุติธรรม ดูแลกิจการศาล โดยเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยตัดสินคดีในพระนามของประมุข[35]

เขตการปกครอง

ความมั่นคง

การป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของฝรั่งเศส โมนาโกไม่มีกองทัพเรือหรือกองทัพอากาศ แต่มีจำนวนตำรวจต่อประชากรหรือต่อพื้นที่มากที่สุดในโลก (ตำรวจ 515 นายต่อประชากรทั้งหมดประมาณ 36,000 คน)[36] กองตำรวจยังมีหน่วยพิเศษไว้ลาดตระเวนทางน้ำอีกด้วย[37]

กองทัพบกของโมนาโกมีขนาดเล็ก มีทั้งหมดสองกอง กองหนึ่งมีหน้าที่ถวายความปลอดภัยต่อเจ้าชายและพระราชวังโมนาโก-วิลล์ เรียกว่า บรรษัทกองไรเฟิลในพระองค์ (Compagnie des Carabiniers du Prince)[38] นอกจากนี้ยังมีกองทหารติดอาวุธขนาดเล็ก (Sapeurs-Pompiers) รักษาความมั่นคงสำหรับพลเรือน

ภูมิศาสตร์

ภาพถ่ายทางดาวเทียมของโมนาโก แสดงพรมแดนที่ติดกับฝรั่งเศส

โมนาโกเป็นรัฐเอกราช ประกอบไปด้วย 5 กาติเยร์ (quartiers) และ 10 แขวง (ward)[39] ตั้งอยู่ในบริเวณเฟรนช์ริวีเอราทางยุโรปตะวันตก มีชายแดนติดกับฝรั่งเศสทั้งสามด้วย และอีกด้านหนึ่งติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จุดกึ่งกลางประเทศอยู่ห่างจากชายแดนอิตาลี 16 กิโลเมตร และห่างจากเมืองนิสของฝรั่งเศส 13 กิโลเมตร

โมนาโกมีพื้นที่ 2.02 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่อาศัย 38,400 คน[29] ทำให้เป็นประเทศที่เล็กเป็นอันดับสองของโลกและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก พรมแดนประเทศทางบกยาวเพียง 5.47 กิโลเมตร[40] และพรมแดนทางชายฝั่งยาว 3.83 กิโลเมตร มีน่านน้ำกว้างออกไปในทะเลอีก 22 กิโลเมตร

จุดที่สูงสุดของประเทศคือ เชอแมงเดอเรวัวร์ส ในแขวงเลอเรวัวร์ส สูงจากระดับน้ำทะเล 164.4 เมตร ส่วนจุดที่ต่ำที่สุดของประเทศคือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน[41]

ภาพถ่ายพาโนรามา ของลากงดามีนและมงเต-การ์โล

สถาปัตยกรรม

ในบรรดาสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบของโมนาโก สถาปัตยกรรมที่เด่นชัดคือแบบเบลล์เอป็อกที่ได้รับความนิยมช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในแขวงมงเต-การ์โล กาสิโนและโรงโอเปราแห่งมงเต-การ์โลเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของศิลปะประเภทนี้ สร้างขึ้นโดยชาร์ล กานิเยร์และฌูลส์ ดูตรู มีการตกแต่งหอคอย ระเบียง ยอดแหลมของอาคาร เซรามิกหลากสี และรูปปั้นประดับเสา สิ่งประดับต่าง ๆ ผสมเข้ากันอย่างลงตัว สร้างความประทับใจ ความรู้สึกหรูหรา โอ่โถง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโมนาโก[42] ศิลปะแบบฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนเข้ามามีอิทธิพลกับการสร้างคฤหาสน์และอพาร์ทเมนต์ ในรัชสมัยของเจ้าชายเรนิเยที่ 3 มีกฎหมายห้ามสร้างอาคารสูงภายในราชรัฐ แต่ในรัชสมัยต่อมาของเจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 มีการยกเลิกกฎนี้[43] ผลที่เกิดขึ้นคือมีการรื้อถอนมรดกทางสถาปัตยกรรมมากมายเพื่อสร้างตึกสูง[44] ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้

เศรษฐกิจ

ฟงวีแยย์กับท่าเรือแห่งใหม่

โมนาโกมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว  153,177 ดอลลาร์สหรัฐสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก[45] อัตราการว่างงานมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์[46] แรงงาน 48,000 ชีวิตเดินทางข้ามมาจากฝรั่งเศสและอิตาลีทุก ๆ วัน[47] โมนาโกเป็นประเทศที่มีอัตราความยากจนต่ำที่สุดในโลก[48] มีจำนวนมหาเศรษฐีเงินล้านและระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหัวประชากรสูงที่สุดในโลก[49] มีตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 2012 ที่ดินมีราคาถึง 58,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร[50][51][52]

แหล่งรายได้สำคัญของโมนาโกคือการท่องเที่ยว ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดิมพันในกาสิโนและพักผ่อนในสภาพอากาศที่อุ่นสบายเป็นจำนวนมาก[53][54] นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางธนาคารที่ใหญ่ มีเงินหมุนเวียนถึง 100 พันล้านยูโร[55] ธนาคารในโมนาโกเน้นการให้บริการลูกค้ารายใหญ่และบริการจัดการทรัพย์สินและความมั่งคั่ง[56] ราชรัฐยังหวังจะขยายภาคเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ไม่สร้างมลพิษ และมีมูลค่าสูง เช่นอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง[57]

รัฐบาลยังคงผูกขาดการค้าในหลายภาคส่วน เช่น บุหรี่และไปรษณีย์ เครือข่ายโทรคมนาคมเคยเป็นของรัฐแต่ปัจจุบันรัฐถือครองหุ้นส่วนเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัท Cable & Wireless Communications 49 เปอร์เซ็นต์ และธนาคาร Compagnie Monégasque de Banque อีก 6 เปอร์เซ็นต์ ยังคงเป็นเครือข่ายเดียวที่ให้บริการในประเทศ

มาตรฐานการครองชีพของโมนาโกนับว่าสูงเทียบเท่ากับเมืองใหญ่ของฝรั่งเศส[58] ปัจจุบันโมนาโกไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่มีระบบศุลกากรร่วมกับฝรั่งเศส ใช้เงินสกุลยูโรเช่นเดียวกับฝรั่งเศส

ประชากรศาสตร์

ประชากรโมนาโกแบ่งตามสัญชาติ

  โมนาโก (21.6%)
  อิตาลี (18.7%)
  สวิส (2.5%)
  อื่น ๆ (14.8%)

ประชากร

ประเทศโมนาโกมีจำนวนประชากรประมาณ 38,400 คนในปี ค.ศ. 2015 และองค์การสหประชาชาติประเมินว่ามีประชากร 36,297 คน ณ วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2023[59][60]ประชากรของโมนาโกไม่ปกติตรงที่ชาวโมนาโกพื้นเมืองเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศของตน โดยประชากรส่วนใหญ่คือชาวฝรั่งเศสร้อยละ 28.4 รองลงมาคือโมนาโกร้อยละ 21.6 อิตาลีร้อยละ 18.7 อังกฤษร้อยละ 7.5 เบลเยียมร้อนละ 2.8 เยอรมันร้อยละ 2.5 สวิสร้อยละ 2.5 และอเมริกันร้อยละ 1.2[61] จากการค้นคว้าในปี 2019 พบว่ามีเศรษฐีมากถึง 12,248 คนในประเทศโมนาโก คิดเป็นร้อยละ 31 ของประชากรทั้งหมด

พลเมืองของโมนาโก ไม่ว่าจะเกิดในประเทศหรือโดยสัญชาติ จะถูกเรียกว่า Monégasque และประชากรโมนาโกมีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกประมาณ 90 ปี[62][63]

ภาษา

ป้ายตามถนนที่มีการพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสและโมนาโกในแขวงมอนาโก-วีล

ภาษาหลักและภาษาราชการของโมนาโกคือภาษาฝรั่งเศส ในขณะที่ภาษาอิตาลีมีการใช้พูดโดยชุมชนขนาดใหญ่ของชาวอิตาลี ภาษาถิ่นโมนาโกซึ่งเป็นภาษาพื้นถิ่นทางประวัติศาสตร์แต่กลับเป็นภาษาที่มีการใช้กันน้อยกว่าภาษาฝรั่งเศสและอิตาลีและไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาราชการ อย่างไรก็ตาม ป้ายบางป้ายปรากฏทั้งภาษาฝรั่งเศสและโมนาโก และมีการสอนภาษานี้ในโรงเรียนรวมถึงภาษาอังกฤษ

ภาษาอิตาลีเคยเป็นภาษาราชการของประเทศโมนาโกจนกระทั่งในปี 1860 มีการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการแทน[64] เนื่องจากมีการผนวกเทศมณฑลนีซที่อยู่โดยรอบของประเทศโมนาโกเข้ากับฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาตูริน (ค.ศ. 1870)[64]

ราชวงศ์กรีมัลดีและเจ้าผู้ครองโมนาโกมีเชื้อสายลีกูเรีย ดังนั้นภาษาประจำชาติดั้งเดิมของโมนาโกคือภาษาถิ่นโมนาโก แต่ในปัจจุบันมีการพูดโดยประชากรส่วนน้อยเท่านั้น และเป็นภาษาที่สองทั่วไปของชาวพื้นเมืองจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในแขวงมอนาโก-วีลป้ายตามถนนยังคงพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสและโมนาโก[65][66]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

รัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป
การท่องเที่ยว
อื่น ๆ
  • Order of the doctors of Monaco (ในภาษาฝรั่งเศส)
  • Monacolife.net English news portal
  • The Monaco Times – a regular feature in The Riviera Times is the English language newspaper for the French – Italian Riviera and the Principality of Monaco provides monthly local news and information about the business, art and culture, people and lifestyle, events and also the real estate market.
  • Monaco-IQ Monaco information and news aggregator

43°44′N 7°25′E / 43.733°N 7.417°E / 43.733; 7.417

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง