อะบูบักร์

เคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมท่านแรก และหนึ่งในสิบผู้ได้รับข่าวสวรรค์

อะบูบักร์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อุษมาน (อาหรับ: أَبُو بَكْرٍ عَبْدُ ٱللهِ بْنِ عُثْمَانَ; ป. ค.ศ. 573  – 23 สิงหาคม ค.ศ. 634)[หมายเหตุ 1] เป็นเศาะฮาบะฮ์และพ่อตาของศาสดามุฮัมมัดผ่านทางอาอิชะฮ์ ลูกสาวของเขา[1] แล้วเป็นเคาะลีฟะฮ์องค์แรกแห่งรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีนเช่นกัน

อะบูบักร์
أَبُو بَكْرٍ
อัศศิดดีก
อะตีก
อะบูบักร์ อัศศิดดีกในอักษรวิจิตรอิสลาม
เคาะลีฟะฮ์องค์แรกแห่งรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีน
เคาะลีฟะฮ์8 มิถุนายน ค.ศ. 632 – 23 สิงหาคม ค.ศ. 634
ก่อนหน้าก่อตั้งตำแหน่ง
ผู้สืบทอดอุมัร อิบน์ อัลค็อฏฏอบ
ประสูติ27 ตุลาคม ค.ศ. 573(573-10-27)
มักกะฮ์, ฮิญาซ, คาบสมุทรอาหรับ
สวรรคต23 สิงหาคม ค.ศ. 634(634-08-23) (60 ปี)
มะดีนะฮ์, ฮิญาซ, รัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีน
ฝังพระศพมัสยิดอันนะบะวี, มะดีนะฮ์
ภรรยา
  • กุตัยละฮ์[a]
  • อุมมุรูมาน
  • อัสมาอ์ บินต์ อุมัยส์
  • ฮะบีบะฮ์ บินต์ เคาะรีญะฮ์
พระราชบุตรลูกชาย
  • อับดุลลอฮ์
  • อับดุรเราะห์มาน
  • มุฮัมมัด
ลูกสาว
พระนามเต็ม
อะบูบักร์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อุษมาน อะบูกุฮาฟะฮ์
(อาหรับ: أَبُو بَكْرٍ عَبْدُ ٱللهِ بْنُ عُثْمَانَ أَبِي قُحَافَةَ)
พระราชบิดาอุษมาน อบูกุฮาฟะฮ์
พระราชมารดาซัลมา อุมมุลค็อยร์
พี่/น้องชาย
  • มุอ์ตัก[b]
  • อุตัยก์[c]
  • กุฮาฟะฮ์
พี่/น้องสาว
  • ฟัดเราะฮ์
  • เกาะรีบะฮ์
  • อุมมุอะมีร
เผ่ากุเรช (บนูตัยม์)
ศาสนาอิสลาม
อาชีพนักธุรกิจ
ผู้ว่านักเศรษฐศาสตร์

ตอนแรกเคยเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยและน่าเคารพ อะบูบักร์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนแรกที่เข้ารับอิสลาม และนำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนมุฮัมมัดอย่างกว้างขวาง เขาเป็นหนึ่งในมิตรสหายของมุฮัมมัดที่ใกล้ชิดท่านที่สุด[2] โดยร่วมกับท่านในการอพยพไปะดีนะฮ์ และมีส่วนร่วมทางทหารหลายครั้ง เช่น ยุทธการที่บะดัรและสงครามอุฮุด

หลังจากมุฮัมมัดเสียชีวิตใน ค.ศ. 632 อะบูบักร์ได้สืบทอดเป็นหัวหน้าของสังคมมุสลิมในฐานะเคาะลีฟะฮ์องค์แรก[3] แล้วเสียชีวิตจากการป่วย โดยครองราชย์ไป 2 ปี 2 เดือน และ 14 วัน

เชื้อสายและตำแหน่ง

รัฐเคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูนในรัชสมัยของอะบูบักร์

ชื่อเต็มของอะบูบักร์คือ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อุษมาน อิบน์ อะมีร อิบน์ อัมร์ อิบน์ กะอับ อิบน์ ซะอัด อิบน์ ตัยม์ อิบน์ มุรเราะฮ์ อิบน์ กะอับ อิบน์ ลุอัยย์ ฆอลิบ อิบน์ ฟิฮร์[4]

ในภาษาอาหรับ อับดุลลอฮ์ หมายถึง "ผู้รับใช้อัลลอฮ์" หนึ่งในชื่อช่วงแรกก่อนที่เขาจะเข้ารับอิสลามคือ อะตีก หมายถึง "ผู้ถูกช่วยเหลือ" มุฮัมมัดได้เปลี่ยนชื่อเมื่อท่านกล่าวว่าอะบูบักร์คือ "อะตีก"[5] มุฮัมมัดให้ฉายาเขาว่า อัศศิดดีก (ผู้พูดความจริง)[1] หลังจากเขาเชื่อว่าท่านในเหตุการณ์อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์ในขณะที่คนอื่นไม่เชื่อ และอะลียืนยันฉายานั้นหลายครั้ง[6] เขาถูกอิงในอัลกุรอานเป็น "คนที่สองจากเพื่อนร่วมคุกทั้งสอง" โดยมาจากเหตุการณ์ฮิจเราะห์ ที่มุฮัมมัดซ่อนตัวในถ้ำที่ญะบัลเษาร์จากกลุ่มของชาวมักกะฮ์ที่จะมาจับท่าน[7]

ช่วงต้น

อะบูบักร์เกิดในมักกะฮ์ประมาณ ค.ศ. 573 ในครอบครัวร่ำรวยแห่งเผ่าบนูตัยม์ของสมาพันธ์ชนเผ่ากุเรช[8] พ่อของเขาชื่อว่าอุษมาน มีฉายา (ละก็อบ) ว่า อบูกุฮาฟะฮ์ และแม่ของเขาชื่อว่าซัลมา บินต์ เศาะค็อร ผู้มีฉายาว่า อุมมุลค็อยร์[2]

เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่อยู่กับพวกเบดูอินโดยอยู่กับเผ่า อะฮ์ลุลบะอีร- ชาวอูฐ ในวัยเด็ก เขาเล่นกับลูกอูฐและแพะ ด้วยความรักของเขา ทำให้ได้ชื่อเล่น (กุนยะฮ์) ว่า "อะบูบักร์" พ่อของลูกอูฐ[9][10]

เหมือนกับลูก ๆ ของพ่อค้าชาวมักกะฮ์ที่ร่ำรวย อะบูบักร์สามารถเขียนและชื่นชอบกวี โดยเคยเข้าร่วมอุกาซประจำปี และมีส่วนร่วมในการประชุมเชิงกวี เขามีความจำดีและมีความรู้เกี่ยวกับลำดับวงศ์ตระกูลของเผ่า, เรื่องราว และการเมืองอาหรับ[11]

มีเรื่องราวว่า เมื่ออะบูบักร์ยังเด็ก พ่อของเขาพาเขาไปที่กะอ์บะฮ์ และบอกให้เขาสักการะรูปปั้น พ่อของเขาจากไป เพื่อไปทำธุระ และอะบูบักร์อยู่คนเดียวหน้ารูปปั้น อะบูบักร์กล่าวว่า "โอ้พระเจ้าของข้า ผมต้องการเสื้อสวย; โปรดประทานแก่ข้าด้วยเถิด" รูปปั้นไม่ตอบสนอง จากนั้นเขาเรียกอีกรูปปั้นหนึ่ง กล่าวว่า "โอ้พระเจ้า โปรดประทานอาหารแก่ข้าด้วย เพราะว่าผมหิวมาก" รูปปั้นยังคงไม่ตอบสนอง นั่นทำให้อะบูบักร์วัยหนุ่มทนไม่ไหว เขาได้ถือหิน และกล่าวแก่รูปปั้นว่า "นี่ผมจะขว้างหินแล้ว ถ้าเจ้าคือพระเจ้าจริง ๆ จงปกป้องตัวเจ้าเสีย" อะบูบักร์ขว้างหินใส่รูปปั้นแล้วออกจากกะอ์บะฮ์[12] ไม่สำคัญว่าจะเป็นอย่างไร ก็มีบันทึกว่าก่อนเข้ารับอิสลาม อะบูบักร์มีประสบการณ์เป็น ฮะนีฟ และไม่เคยสักการะรูปปั้นใด ๆ ทั้งสิ้น[13]

เข้ารับอิสลาม

หลังกลับมาจากการทำธุรกิจที่เยเมน มีเพื่อนบอกตอนที่เขาไม่อยู่ว่า มุฮัมมัดได้ประกาศตนเองเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์และก่อตั้งศาสนาใหม่ นักประวัติศาสตร์ อัฏเฏาะบะรี บันทึกในหนังสือ ตารีคุฏเฏาะบะรี ว่า รายงานจากมุฮัมมัด อิบน์ ซะอัด อิบน์ อบีวักกอส ว่า:

ผมถามพ่อผมว่า อะบูบักร์เป็นมุสลิมคนแรกไหม เขาตอบว่า 'ไม่ มีคนกว่า 50 คนที่เข้ารับอิสลามก่อนอะบูบักร์ แต่เขาเป็นมุสลิมที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรา และหลังจากชาย 45 คน และหญิง 2 คน อุมัร อิบน์ ค็อฏฏอบได้เข้ารับอิสลาม สำหรับผู้ที่สำคัญในด้านอิสลามและการศรัทธามากที่สุดคืออะลี อิบน์ อะบี ฏอลิบ'[14][15]

มุสลิมซุนนีกลุ่มอื่นและชีอะฮ์ทั้งหมดยืนยันว่า บุคคลที่สองที่ยอมรับมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์อย่างเปิดเผยคือ อะลี อิบน์ อบีฏอลิบ ส่วนคนแรกคือเคาะดีญะฮ์ ภรรยาของมุฮัมมัด[16] อิบน์ กะษีรกล่าวปฏิเสธในหนังสือ อัลบิดายะฮ์ วัลนิฮายะฮ์ ไว้ว่า หญิงคนแรกที่เข้ารับอิสลามคือเคาะดีญะฮ์ ซัยด์ อิบน์ ฮาริษะฮ์ เป็นทาสที่เป็นไทคนแรกที่เข้ารับอิสลาม อะลี อิบน์ อบีฏอลิบ เป็นเด็กคนแรกที่เข้ารับอิสลาม โดยยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในขณะที่อะบูบักร์ เป็นชายไทคนแรกที่เข้ารับอิสลาม[17]

ชีวิตภายหลังเข้ารับอิสลามในมักกะฮ์

กุตัยละฮ์ บินต์ อับดุลอุซซา ภรรยาของเขา ไม่เข้ารับอิสลาม และเขาได้หย่ากับเธอ ส่วนอุมมุรูมาน ภรรยาอีกคน เข้ารับอิสลาม ลูก ๆ ทุกคนเข้ารับอิสลาม ยกเว้นอับดุรเราะฮ์มาน คำพูดของเขาทำให้หลายคนเข้ารับอิสลาม และชักชวนเพื่อนที่ใกล้ชิดให้เข้ารับอิสลามด้วย[18][19] คนที่เข้ารับอิสลามโดยอะบูบักร์ ได้แก่:[20]

การยอมรับของอะบูบักร์เป็นก้าวสำคัญในภารกิจของมุฮัมมัด การค้าทาสเป็นเรื่องทั่วไปในมักกะฮ์ และทาสหลายคนเข้ารับอิสลาม เนื่องจากว่าทาสจะไม่ได้รับความคุ้มครองและมักถูกข่มเหง อะบูบักร์จึงรู้สึกเห็นอกเห็นใจแก่ทาส ดังนั้น เขาจึงซื้อ 8 คน (ชาย 4 และหญิง 4) ด้วยเงิน 40,000 ดินาร และปล่อยเป็นไท[21][22] ทาสส่วนใหญ่ที่อะบูบักร์ปล่อยให้เป็นไทอาจเป็นทั้งหญิงหรือชายแก่และอ่อนแอ[23]

ผู้ชายได้แก่

  • บิลาล อิบน์ เราะบาฮ์
  • อบูฟุกัยฮะฮ์
  • อัมมาร อิบน์ ยาซิร
  • อะมีร อิบน์ ฟุฮัยเราะฮ์

ผู้หญิงได้แก่:

  • ลุบัยนะฮ์
  • อันนะฮ์ดิยะฮ์
  • อุมมุอุบัยส์
  • ฮาริษะฮ์ อัลมุอัมมิล

การข่มเหงโดยชาวกุเรชใน ค.ศ. 613

สามปีหลังศาสนาอิสลามกำเนิด มุสลิมยังคงเก็บความศรัทธาเป็นความลับ ตามธรรมเนียมศาสนาอิสลาม ใน ค.ศ. 613 พระเจ้าสั่งให้มุฮัมมัดเรียกผู้เข้าให้เข้ารับอิสลามอย่างเปิดเผย ในตอนประกาศในที่สาธารณะครั้งแรกเพื่อเรียกผู้คนให้ความจงรักภักดีต่อมุฮัมมัดโดยอะบูบักร์[24] มีชายหนุ่มคนหนึ่งจากเผ่ากุเรชวิ่งมาหาอะบูบักร์แล้วชกใส่เขาจนหมดสติ[25] หลังจากเหตุการณ์นั้น ทำให้แม่ของอะบูบักร์เข้ารับอิสลาม

ปีสุดท้ายในมักกะฮ์

ใน ค.ศ. 620 อบูฏอลิบ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงและผู้ปกป้องของมุฮัมมัด และเคาะดีญะฮ์ ภรรยาของมุฮัมมัด เสียชีวิต อาอิชะฮ์ ลูกสาวของเขาได้หมั้นกับมุฮัมมัด อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดงานแต่งงานในภายหลัง อะบูบักร์เป็นคนแรกที่พิสูจน์อิสรออ์กับมิอ์รอจญ์ (การเดินทางในเวลากลางคืน) ของมุฮัมมัด[26]

อพยพไปยังมะดีนะฮ์

ใน ค.ศ. 622 มุฮัมมัดสั่งให้มุสลิมอพยพไปยังมะดีนะฮ์ และหลังจากหลบหนีจากการลอบสังหาร อะบูบักร์ร่วมเดินทางกับมุฮัมมัดไปยังมะดีนะฮ์ เนื่องจากอันตรายจากพวกกุเรช พวกเขาจึงไม่ใช้ถนน แต่เดินทางไปทางตรงกันข้าม โดยหลบซ่อนในถ้ำที่ญะบัลเษาร์ ซึ่งห่างจากมักกะฮ์ทางตอนใต้ไป 5 ไมล์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อบีบักร์ ลูกชายของอะบูบักร์ จะฟังแผนและบทสนทนาของพวกกุเรช และในเวลากลางคืน เขาจะนำข่าวมาให้ผู้ลี้ภัยในถ้ำ อัสมา บินต์ อบีบักร์ ลูกสาวของอะบูบักร์ นำกับอาหารมาให้พวกเขาทุกวัน[27] อามิร บริวารของอะบูบักร์ จะนำฝูงแพะมาปากถ้ำทุกคืน เพื่อให้พวกเขาดื่มนม พวกกุเรชส่งพรรคพวกไปทุกที่ โดยกลุ่มหนึ่งมาใกล้ปากถ้ำ แต่ไม่เห็นพวกเขา ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประทานอัลกุรอานโองการ 9:40

หลังอยู่ในถ้ำเป็นเวลาสามวันและสามคืน อะบูบักร์กับมุฮัมมัดเดินทางไปยังมะดีนะฮ์ โดยพักอาศัยชั่วคราวที่กุบาอ์

ชีวิตในมะดีนะฮ์

ในมะดีนะฮ์ ศาสดามุฮัมมัดตัดสินใจที่จะสร้างมัสยิด โดยอะบูบักร์เลือกและซื้อที่ดิน แล้วสร้างมัสยิดอันนะบะวี อะบูบักร์ ถูกจับคู่กับคอริญะฮ์ อิบน์ ซะอีด อันศอรี (ผู้มาจากมะดีนะฮ์) ในฐานะพี่น้องศาสนาเดียวกัน โดยทั้งคู่อาศัยที่ซุนฮ์ ชานเมืองมะดีนะฮ์ หลังจากครอบครัวอะบูบักร์มาที่มะดีนะฮ์ เขาจึงซื้อบ้านอีกหลังใกล้กับบ้านของมุฮัมมัด[28]

ในขณะที่สภาพภูมิอากาศของมักกะฮ์นั้นแล้ง สภาพภูมิอากาศของมะดีนะฮ์นั้นชื้น ทำให้ผู้อพยพส่วนใหญ่ป่วย รวมถึงอะบูบักร์ด้วย ที่มักกะฮ์ อะบูบักร์เคยเป็นพ่อค้าขายส่งผ้า และเขาเริ่มงานเดิมในมะดีนะฮ์ ต่อมากิจการของเขารุ่งเรือง ในช่วงต้น ค.ศ. 623 อาอิชะฮ์ ลูกสาวของอะบูบักร์ที่หมั้นกับมุฮัมมัด ได้แต่งงานแบบเรียบง่าย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอะบูบักร์กับมุฮัมมัดแข็งแรงขึ้น[29]

การทหารภายใต้คำสั่งของมุฮัมมัด

ยุทธการที่บะดัร

ใน ค.ศ. 624 อะบูบักร์มีส่วนร่วมในสงครามครั้งแรกระหว่างมุสลิมกับกุเรชแห่งมักกะฮ์ แต่ไม่ได้ต่อสู้ เพราะเขาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในการ์ดที่เต้นท์ของมุฮัมมัด ต่อมา อะลีกล่าวโดยนัยว่า ใครเป็นชายที่กล้าหาญที่สุด ทุกคนตอบว่าอะลี อะลีจึงตอบว่า:

ไม่ อะบูบักร์เป็นชายที่แข็งแกร่งที่สุด ในยุทธการที่บะดัร เราเตรียมพลับพลาแก่ท่านศาสดา แต่เมื่อเราถูกถามว่าใครจะเป็นคนเฝ้าดู ไม่มีใครเลยที่จะทำงานนี้นอกจากอะบูบักร์... ดังนั้น ท่านคือชายที่กล้าหาญที่สุด[30]

ยุทธการที่อุฮุด

ใน ค.ศ. 625 เขามีส่วนร่วมในยุทธการที่อุฮุด ซึ่งฝ่ายมุสลิมพ่ายแพ้และเขาได้รับบาดเจ็บ[31] ก่อนเริ่มสงคราม ลูกชายของเขา [อับดุรเราะฮ์มาน อิบน์ อบีบักร์]] ในตอนนั้นยังไม่เข้ารับอิสลาม และอยู่ฝ่ายกุเรช เดินมาข้างหน้าและท้าดวล อะบูบักร์รับคำท้า แต่ท่านศาสดามุฮัมมัดหยุดเขาไว้[32] จากนั้น อับดุรเราะฮ์มานเผชิญหน้ากับพ่อเขาและบอกว่า "นายเล็งผมเป็นเป้าหมาย แต่ผมหลีกหนีไปจากเจ้า และไม่ฆ่าเจ้า" อะบูบักร์จึงตอบว่า "อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าเล็งข้าเป็นเป้าหมาย ข้าจะไม่หนีไปจากเจ้า"[33]ในช่วงที่สองของสงคราม ทหารม้าของคอลิด อิบน์ อัลวะลีด โจมตีฝ่ายมุสลิมจากทางด้านหลัง ทำให้เปลี่ยนจากชัยชนะไปเป็นความพ่ายแพ้ของฝายมุสลิม[34][35] หลายคนหนีไปจากสนามรบ"[36]

ยุทธการสนามเพลาะ

ใน ค.ศ. 627 เขามีส่วนร่วมในยุทธการสนามเพลาะและการบุกรุกของบนูกุร็อยเซาะฮ์[29] ในยุทธการสนามเพลาะ มุฮัมมัดแบ่งสนามเพลาะเป็นส่วน ๆ และตั้งยามในแต่ละส่วน หนึ่งในนั้นอยู่ภายใต้คำสั่งของอะบูบักร์ ฝ่ายศัตรูพยายามจะข้ามสนามเพลาะ แต่ถูกขับไล่ไปทั้งหมด เพื่อรำลึกเหตุการณ์นี้ จึงมีการสร้าง 'มัสยิด อัศศิดดีก'[37] ใบริเวณที่อะบูบักร์ขับไล่ศัตรู[29]

ยุทธการที่ค็อยบัร

อะบูบักร์มีส่วนร่วมในยุทธการที่ค็อยบัร ตัวเมืองมีป้อม 8 แห่ง ป้อมที่แข็งแกร่งและป้องกันมากที่สุดมีชื่อว่า อัลเกาะมุส มุฮัมมัดส่งอะบูบักร์พร้อมกับกลุ่มนักรบไปยึดมัน แต่ทำไม่ได้ ท่านจึงส่งอุมัรกับกลุ่มนักรบ และอุมัรก็ยึดป้อมนั้นไม่ได้เช่นกัน[38][39][40][41] มุสลิมบางคนพยายามยึดป้อม แต่ไม่สำเร็จ[42] ท้ายที่สุด มุฮัมมัดจึงส่งอะลี และสามารถเอาชนะหัวหน้าศัตรูได้[40][43]

การทหารในช่วงสุดท้ายของมุฮัมมัด

ใน ค.ศ. 629 มุฮัมมัดส่งอัมร์ อิบน์ อัลอาสไปที่ซาอะตุลซัลละซัล ตามมาด้วยกำลังเสริมของอบูอุบัยดะฮ์ อิบน์ อัลญัรเราะฮ์ อะบูบักร์และอุมัรควบคุมทหารของญัรเราะฮ์ โจมตีและชนะเหนือฝ่ายศัตรู[44]

ยุทธการที่ฮุนัยน์กับฏออิฟ

ใน ค.ศ. 630 กองทัพมุสลิมถูกซุ่มโจมตีโดยพลธนูของชนเผ่าท้องถิ่นในหุบเขาฮุนัยน์ ประมาณ 11 ไมล์ทางตะวันออกเฉียงเหนือขของมักกะฮ์ ทำให้กองทัพมุสลิมระส่ำระส่าย อย่างไรก็ตาม มุฮัมมัด ยังคงอยู่นิ่ง พร้อมกับเศาะฮาบะฮ์ 9 คน รวมไปถึงอะบูบักร์ ภายใต้คำสั่งของมุฮัมมัด อับบาส อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ตะโกนเรียกมุสลิมให้รวมตัวกัน แล้วโจมตีศัตรู จนทำให้พวกเขาแพ้และหนีไปที่เอาตาส

มุฮัมมัดตั้งกองทหารที่ทางผ่านฮุนัยน์ และนำกองทัพหลักไปที่เอาตาส ในการเผชิญหน้ากันที่เอาตาส ชนเผ่าไม่สามารถสู้รบกับฝ่ายมุสลิมได้ จึงทำลายค่ายและหนีไปที่ฏออิฟ

มุฮัมมัดสั่งอะบูบักร์ให้ไปสู้รบที่ฏออิฟ ชนเผ่านั้นได้ปิดประตูในป้อมและไม่ยอมออกมาสู้กลางแปลง ทำให้ต้องล้อมเมืองเป็นเวลาสองสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณของความอ่อนแอ ตอนนั้น มุฮัมมัดดำรงตำแหน่งสภาแห่งสงคราม อะบูบักร์แนะนำว่าควรหยุดล้อมเมืองเสีย เผื่ออัลลอฮ์ทรงเตรียมการทำลายป้อมเอง โดยมีการยอมรับคำแนะนำนี้ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 630 จึงเลิกล้อมเมือง และกองทัพมุสลิมจึงเดินทางกลับมักกะฮ์ ไม่กี่วันต่อมา มาลิก อิบน์ เอาฟ์ ผู้บัญชาการ มาที่มักกะฮ์ และเข้ารับอิสลาม[45]

อะบูบักร์ในฐานะอะมีรุลฮัจญ์

ใน ค.ศ. 631 มุฮัมมัดได้ส่งคณะผู้แทน 300 คนจากมะดีนะฮ์ เพื่อทำพิธีฮัจญ์ตามแบบอิสลามและให้อบูบักร์เป็นผู้นำคณะผู้แทน ในวันที่อะบูบักร์กับกลุ่มของเขาออกไปทำฮัจญ์ มุฮัมมัดได้รับโองการใหม่: ซูเราะฮ์เตาะบะฮ์ บทที่ 9 ในอัลกุรอาน[46] กล่าวกันว่า เมื่อมีการประทานโองการ บางคนแนะนำมุฮัมมัดว่า ท่านควรส่งข่าวให้กับอะบูบักร์ มุฮัมมัดก่าวว่า มีแค่ชายในบ้านนี้เท่านั้นที่สามารถประกาศโองการได้[47] จุดประสงค์หลักของการประกาศคือ:

  1. จากนี้ไป ไม่อนุญาตผู้ไม่ใช่มุสลิมเข้าไปเยี่ยมชมกะอ์บะฮ์หรือทำพิธีแสวงบุญ
  2. ห้ามใครก็ตามแก้ผ้าเดินวนรอบกะอ์บะฮ์
  3. ไม่มีที่ยืนแก่พหุเทวนิยม โดยให้เวลาออกจากที่นี่เป็นเวลา 4 เดือน

การเดินทางของอะบูบักร์ อัศศิดดีก

อะบูบักร์นำทางแค่ครั้งเดียวในการเดินทางของอะบูบักร์ อัศศิดดีก[48] ซึ่งเกิดขึ้นที่นัจด์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 628 (เราะบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 7)[48] ทำให้หลายคนถูกฆ่าและจับเป็นเชลย[49] โดยมีการบันทึกในฮะดีษของ ซุนัน อบูดาวูด[50]

การเดินทางของอุซามะฮ์ อิบน์ ซัยด์

ใน ค.ศ. 632 มุฮัมมัดสั่งให้เดินทางไปซีเรียเพื่อล้างแค้นจากการพ่ายแพ้ของมุสลิมในยุทธการที่มุอ์ตะฮ์ ซึ่งนำโดยอุซามะฮ์ อิบน์ ซัยด์ บุตรของซัยด์ อิบน์ ฮาริษะฮ์ ผู้เป็นพ่อของเขาและบุตรบุญธรรมของมุฮัมมัด ถูกฆ่าในสงครามที่แล้ว[51] เนื่องจากอายุไม่ถึง 20 ปี ไม่มีประสบการณ์และไม่ได้ฝึกซ้อม ทำให้การจัดทหารมีปัญหา[52][53] แม้กระนั้น ก็ยังมีการเดินทางต่อ หลังจากได้ข่าวว่ามุฮัมมัดเสียชีวิต ทำให้กองทัพต้องกลับไปยังมะดีนะฮ์[52]

มุฮัมมัดเสียชีวิต

หลังจากมุฮัมมัดเสียชีวิต สังคมมุสลิมไม่ได้เตรียมรับการสูญเสียผู้นำและหลายคนรู้สึกช็อกอย่างมาก อุมัรประกาศว่า มุฮัมมัดแค่ไปปรึกษาอัลลอฮ์และจะกลับมาในเร็ววัน แล้วจะทำร้ายใครก็ตามที่กล่าวว่ามุฮัมมัดตายแล้ว[54] อะบูบักร์ ได้กลับมายังมะดีนะฮ์[55] แล้วเรียกให้อุมัรใจเย็นโดยการเผยร่างกายของมุฮัมมัด เพื่อให้เขาเชื่อว่าท่านเสียชีวิตแล้ว[56] เขาได้เรียกผู้คนมารวมตัวที่มัสยิด แล้วกล่าวว่า "ใครก็ตามที่สักการะมุฮัมมัด จงรู้เถิดว่าท่านเสียชีวิตแล้ว ถ้าใครสักการะอัลลอฮ์ พระองค์ทรงมีชีวิต เป็นอมตะ" จากนั้น เขาได้กล่าวโองการหนึ่งจากอัลกุรอานว่า: "และมุฮัมมัดนั้นหาใช่อื่นใดไม่นอกจากเป็นร่อซูลผู้หนึ่งเท่านั้น ซึ่งบรรดาร่อซูลก่อนจากเขาก็ได้ล่วงลับไปแล้ว..."[54][อัลกุรอาน 3:144]

ครองราชย์

หลังได้รับตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ อะบูบักร์ได้กล่าวคำปราศรัยไว้ว่า:

ประชาชนทั้งหลาย ฉันได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองของพวกท่าน ฉันก็มิได้ดีไปกว่าพวกท่าน ถ้าหากว่าฉันทำดี ท่านทั้งหลายจงให้การช่วยเหลือฉันเถิด ถ้าหากว่าฉันทำผิดพลาด ท่านทั้งหลายก็จงนำฉันสู่ทางที่เที่ยงตรงเถิด การพูดจริงเป็นความรับผิดชอบ การพูดเท็จเป็นการบิดพลิ้ว ผู้ที่อ่อนแอในพวกท่านคือผู้ที่แข็งแรงในสายตาฉัน จนกว่าฉันจะเอาสิทธิของเขากลับมาให้แก่เขา และผู้ที่แข็งแรง (ในพวกท่าน) คือผู้ที่อ่อนแอในสายตาของฉันจนกว่าจะเอาสิทธิ (ที่ถูกอธรรม) มาจากเขา –อินชาอัลลอฮ์ คนหนึ่งในพวกท่านอย่าทิ้งการญิฮาด เพราะว่าไม่มีกลุ่มชนใดละทิ้งการญิฮาด นอกจากอัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาตกต่ำ ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังฉัน ในเมื่อฉันเชื่อฟังอัลลอฮ์และเราะซูลของพระองค์ และถ้าหากฉันฝ่าฝืนอัลลอฮ์ ท่านทั้งหลายก็ไม่ต้องเชื่อฟังฉัน (อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์ 6:305, 306)

การปกครองของอะบูบักร์อยู่นานถึง 27 เดือน ในช่วงนั้น เขาได้ปราบกบฏทั่วคาบสมุทรอาหรับในสงครามริดดะฮ์ ในเดือนสุดท้ายของการปกครอง เขาส่งคอลิด อิบน์ อัลวะลีดไปพิชิตจักรวรรดิซาเซเนียนที่เมโสโปเตเมียและจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ซีเรีย ทำให้มีผลตามวิถีทางประวัติศาสตร์[57]

สงครามริดดะฮ์

รัฐเคาะลีฟะฮ์ในรัชสมัยของอะบูบักร์ในช่วงสูงสุดเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 634

หลังอะบูบักร์ครองราชย์ ก็เริ่มมีปัญหาขึ้น เผ่าอาหรับบางส่วนเริ่มก่อกบฎ ทำให้เกิดสงครามริดดะฮ์ ("สงครามการละทิ้งศาสนา")[58]

ขบวนต่อต้านมาในสองรูปแบบ รูปแบบหนึ่งได้ท้าทายอำนาจทางการเมืองเช่นเดียวกันกับด้านศาสนา นำโดยผู้นำทางการเมืองที่อ้างว่าเป็นศาสดาหลังจากมุฮัมมัดเสียชีวิต ได้แก่:[58]

  • บนูอะซัด อิบน์ คุซัยมะฮ์ นำโดยฏุลัยฮะฮ์
  • บนูฮะนีฟะฮ์ นำโดยมุซัยลิมะฮ์
  • บนูตัฆลิบกับบนตะมีม นำโดยซะญาฮ์
  • อัลอันซี นำโดยอัลอัสวัด อัลอันซี

ในประวัติศาสตร์อิสลามเรียกผู้นำเหล่านี้ว่า "ศาสดาจอมปลอม"[58]

รูปแบบที่สองมักเน้นในด้านการเมืองมากกว่า บางกลุ่มใช้รูปแบบภาษีกบฎในนัจด์ ส่วนอีกกลุ่มใช้โอกาสตอนมุฮัมมัดเสียชีวิตในการหยุดการเติบโตของรัฐอิสลามใหม่[58]

อะบูบักร์เข้าใจในสถานะการณ์นี้ จึงใช้กำลังทหารแบ่งไปหลายส่วน โดยกองทัพของคอลิด อิบน์ อัลวะลีดนำไปปราบกบฎที่นัจด์เช่นเดียวกับพวกมุซัยลิมะฮ์ ชุเราะฮ์บีล อิบน์ ฮะซะนะฮ์ กับอัลอะลาอ์ อิบน์ อัลฮัฎเราะมีถูกส่งไปที่บาห์เรน ในขณะที่อิกริมะฮ์ อิบน์ อบีญะฮัล, ฮุดัยฟะฮ์ อัลบาริกี และอัรฟะญะฮ์ อัลบาริกีถูกส่งไปที่โอมาน[59]

การเดินทางไปที่เปอร์เซียกับซีเรีย

เมื่ออาระเบียรวมกันเป็นหนึ่ง ทำให้อะบูบักร์ตัดสินใจว่าจะเริ่มโจมตีก่อน ทำให้ใน ค.ศ. 633 จึงส่งกองทัพขนาดเล็กไปที่อิรักและปาเลสไตน์ ยึดเมืองไว้บางส่วน แม้ว่าไบแซนไทน์และซาเซเนียนสามารถตอบโต้ได้ อะบูบักร์มีเหตุผลอย่างมั่นใจ; หลังสู้รบกันหลายศตวรรษ กองทัพสองจักรวรรดิเริ่มรู้สึกเหนื่อย ทำให้การส่งกองทัพใด ๆ มาที่อาระเบียจะทำให้พวกเขาอ่อนแอและมีจำนวนน้อยลง[60]

ถึงแม้ว่าอะบูบักร์ได้เริ่มความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการพิชิตจักรวรรดิซาเซเนียนและลิแวนต์ เขาไม่ได้เห็นการสู้รบด้วยตนเอง แต่ได้มอบภารกิจให้ผู้บังคับบัญชาแทน[60]

การรักษากุรอาน

กล่าวกันว่า หลังจากชัยชนะเหนือมุซัยลิมะฮ์ในยุทธการที่ยะมามะฮ์ ค.ศ. 632 อุมัรเห็นว่า มีมุสลิม 500 คนที่จำกุรอานถูกฆ่า เกรงว่ามันอาจจะสูญหายหรือถูกบิดเบือน อุมัรจึงร้องขอให้อะบูบักร์รวบรวมและรักษาคำภีร์เป็นเล่ม ตอนแรกท่านเคาะลีฟะฮ์ลังเล แล้วกล่าวว่า "จะให้เราทำในสิ่งที่ศาสนทูตของอัลลอฮ์ ขอให้พระองค์อัลลอฮ์ทรงอำนวยพรและทรงประทานความสันติแก่ท่าน ไม่ได้ทำ?" ต่อมาท่านอนุญาต และให้ซัยด์ อิบน์ ษาบิต ไปรวมรวมโองการจากทุกที่ ซึ่งรวมไปถึงจากกิ่งต้นปาล์ม หนังสัตว์, แผ่นหิน และ "จากใจของมนุษย์"[61][62] ฉบับสมบูรณ์ที่มี มุศฮัฟ ถูกนำเสนอแก่อะบูบักร์ แล้วยกให้อุมัร[63] เมื่ออุมัรเสียชีวิต มุศฮัฟ ถูกส่งให้ฮัฟเซาะฮ์ บินต์ อุมัร ลูกสาวของเขาที่เป็นภรรยาของมุฮัมมัด โดยเป็นต้นแบบของฉบับอุษมาน ซึ่งเป็นต้นฉบับของกุรอานในปัจจุบัน[64][หมายเหตุ 2]

เสียชีวิต

อะบูบักร์นอนเสียชีวิตข้างอะลี

ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 634 อะบูบักร์ล้มป่วยและรักษาไม่หาย เขามีไข้สูงและต้องนอนติดเตียง และเมื่ออาการแย่ลง เขาจึงเรียกอะลีให้ทำฆุสล์แก่เขา เพราะอะลีเคยทำกับมุฮัมมัดมาก่อน

อะบูบักร์รู้สึกว่า เขาควรให้ผู้สืบทอดต่อ เพื่อที่จะได้ไม่มีความระหองระแหงระหว่างมุสลิมหลังจากเสียชีวิต แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่าอะลีไม่ได้เป็นคนที่ถูกเลือก[66] หลังจากปรึกษาแล้ว เขายกตำแหน่งนี้ให้กับอุมัร ทำให้บางกลุ่มยินดี แต่บางส่วนไม่ชอบ เพราะอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของอุมัร

อุมัรเป็นผู้นำละหมาดศพและศพของอะบูบักร์ถูกฝังข้างสุสานของมุฮัมมัด[67]

ดูเพิ่ม

  • รายชื่อเศะฮาบะฮ์
  • มุอาซ อิบน์ ญะบัล

หมายเหตุ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่ม

ออนไลน์

  • Abū Bakr Muslim caliph, in Encyclopædia Britannica Online, by The Editors of Encyclopaedia Britannica, Yamini Chauhan, Aakanksha Gaur, Gloria Lotha, Noah Tesch and Amy Tikkanen

แหล่งข้อมูลอื่น

เสียงภาษาอูรดู

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง