ศาสนาฮินดู

ศาสนาพหุเทวนิยมเก่าแก่สำคัญของโลก
(เปลี่ยนทางจาก ฮินดู)

ศาสนาฮินดู หรือในเอกสารภาษาไทยนิยมใช้คำว่า ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาหนึ่งในกลุ่มศาสนาอินเดีย และเป็นธรรมะหรือแนวทางการใช้ชีวิตของผู้คน[note 1] ที่เป็นที่นับถืออย่างแพร่หลายในอนุทวีปอินเดียและบางส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบนเกาะบาหลี เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก[note 2] ศาสนิกชนและนักวิชาการบางกลุ่มเรียกศาสนาฮินดูว่าเป็น "สนาตนธรรม" หรือหนทางนิรันดร์ชั่วประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ[4][5] นักวิชาการมักมองศาสนาฮินดูว่าเป็นการผสมผสานของ[note 3] หรือสังเคราะห์มาจาก[6][note 4] วัฒนธรรม จารีต และประเพณีอันหลากหลายในอนุทวีปอินเดีย[7][note 5] ที่มีรากฐานหลากหลาย[8][note 6] และไม่มีศาสดาหรือผู้ริเริ่มตั้งศาสนา[9] แต่ผู้เผยแผ่คำภีร์พระเวท ยุคแรกเริ่มคือ ฤๅษีวยาส ท่านเปรียบเสมือนเป็นศาสดาคนหนึ่ง[10] "การสังเคราะห์ศาสนาฮินดู" (Hindu synthesis) นี้เริ่มมีขึ้นระหว่างราว 500 ปีก่อนคริสตกาล ถึงคริสต์ศักราช 300[11] ภายหลังการสิ้นสุดลงของยุคพระเวท (1500 ถึง 500 ก่อนคริสตกาล),[11][12] และเจริญรุ่งเรืองในอินเดียสมัยกลางไปพร้อมกับการเสื่อมของศาสนาพุทธในอนุทวีปอินเดีย[13]

ถึงแม้ว่าศาสนาฮินดูจะเต็มไปด้วยปรัชญาหลายแขนง แต่ก็สามารถเชื่อมโยงถึงกันผ่านแนวคิดที่มีร่วมกัน, พิธีกรรมที่คล้ายคลึงกัน, จักรวาลวิทยาฮินดู, คัมภีร์ฮินดู และ สถานที่แสวงบุญ ส่วนคัมภีร์ของศาสนาฮินดูนั้นจำแนกออกเป็น ศรุติ (จากการฟัง) และ สมรติ (จากการจำ) คัมภีร์เหล่านี้มีทั้งปรัชญาฮินดู, ประมวลเรื่องปรัมปราฮินดู, พระเวท, โยคะ, พิธีกรรม, อาคม และการสร้างโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น[14] คัมภีร์เล่มสำคัญได้แก่ พระเวท, อุปนิษัท, ภควัทคีตา, รามายณะ และ อาคม[15][16] ที่มา ผู้ประพันธ์ และความจริงนิรันดร์ในคัมภีร์เหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญ แต่ศาสนาฮินดูก็มีแนวคิดหลักสำคัญที่สนับสนุนการตั้งคำถามต่อที่มาและเนื้อความของคัมภีร์เพื่อให้เข้าใจสัจธรรมต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และสร้างประเพณีหรือแนวคิดต่อยอดในอนาคต[17]

สาระสำคัญในศาสนาฮินดูคือ "ปุรุษารถะ" ทั้งสี่ อันเป็นจุดมุ่งหมายอันสมควรในชีวิตของมุนษย์ ได้แก่ ธรรมะ (หน้าที่/จริยธรรม), อรรถะ (การเจริญเติบโต/หน้าที่การงาน), กามะ (ประสงค์/แรงจูงใจ) และ โมกษะ (การหลุดพ้น/การเป็นอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิด)[18][19] นอกจากนี้ แนวคิดสำคัญอื่น ๆ ที่พบในศาสนาฮินดูยังรวมถึง กรรม (การกระทำ/ผลของการกระทำ), สังสารวัฏ (วงจรเวียนว่ายตายเกิด) และ การปฏิบัติโยคะ (หนทางสู่โมกษะ) ที่มีอยู่หลากหลายปรัชญา[16][20] การปฏิบัติในศาสนาฮินดู มีทั้ง ปูชา (การบูชา), การสวดมนต์และร้องเพลงสวด, ชปะ, การปฏิบัติสมาธิ, สังสการ (พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน), เทศกาลประจำปีและการออกเดินทางแสวงบุญตามโอกาส ศาสนิกชนบางส่วนละทิ้งชีวิตทางโลกและการยึดติดกับวัตถุ เพื่ออกสู่สันยาสะ (ถือพรต/ออกบวช) เพื่อเข้าสู่โมกษะ[21] ศาสนาฮินดูยังเน้นย้ำถึงหน้าที่ตลอดกาล เช่น ความกตัญญู ซื่อสัตย์, ไม่ทำร้ายสัตว์และผู้คน (อหิงสา), การใจเย็น, ความอดทนอดกลั้น, การข่มใจตนเอง และความเมตตา[web 1][22] นิกายในศาสนาฮินดูหลักมี 4 นิกาย คือ ลัทธิไวษณพ, ลัทธิไศวะ, ลัทธิศักติ และลัทธิสมารตะ[23]

ศาสนาฮินดูถือเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 3 มีศาสนิกชนซึ่งเรียกว่า ชาวฮินดู อยู่ราว 1.15 พันล้านคน หรือ 15-16% ของประชากรโลก[web 2][24] ศาสนาฮินดูมีผู้นับถือมากที่สุดในอินเดีย, เนปาล และ มอริเชียส นอกจากนี้ยังเป็นศาสนาหลักในจังหวัดบาหลี อินโดนีเซียเช่นกัน[25] ชุมชนฮินดูขนาดใหญ่ยังพบได้ในแคริบเบียน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อเมริกาเหนือ, ยุโรป, แอฟริกา และประเทศอื่น ๆ[26][27]

ความเชื่อ

พระตรีมูรติจำหลัก ประกอบด้วย พระวิษณุ, พระศิวะ และ พระพรหม

สาระสำคัญในศาสนาฮินดูมันวนเวียนอยู่กับประเด็นของธรรมะ, สังสาระ, โมกษะ และการปฏิบัติโยคะ[20]

ปุรุษารถะ

ศาสนาฮินดูดั้งเดิมเชื่อว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตของมนุษย์มีอยู่สี่ประการ ได้แก่ ธรรมะ, อรรถะ, กามะ และ โมกษะ เป้าหมายทั้งสี่นี่เรียกรวมว่า "ปุรุษารถะ"[18][19]

ธรรมะ (ทางที่ถูกต้อง/จริยะ)

ธรรมะถือเป็นจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนที่สุดในศาสนาฮินดู[28] แนวคิดของธรรมะนั้นรวมถึงพฤติกรรมที่ถือว่าสอดคล้องไปกับรตะ หนทางที่ทำให้ทั้งชีวิตและจักรวาลคงอยู่ได้[29] และยังรวมถึงหน้าที่, สิทธิ, กฎระเบียบ, สัจธรรม และ "การใช้ชีวิตอย่างถูกทาง"[30] ธรรมะฮินดูประกอบด้วยหน้าที่ทางศาสนา, จริยธรรมและคุณธรรม และหน้าที่ของแต่ละบุคคล รวมถึงการปฏิบัติตนและนิสัยที่นำไปสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม[30] Van Buitenen ได้เคยกล่าวว่า[31] ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่มีอยู่จะต้องยอมรับและเคารพเพื่อยังผลให้เกิดการรักษาความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยในโลก เป็นการแสวงหาและการดำเนินการตามธรรมชาติและการเรียกหาที่แท้จริง อันมีบทบาทในการปรองดองโดยทั่วกัน[31] ส่วน Brihadaranyaka Upanishad ได้ระบุว่าธรรมะคือ

ไม่มีสิ่งใดเหนือยิ่งกว่าธรรมะ ผู้ที่อ่อนแอจะเอาชนะผู้ที่แข็งแกร่งกว่าได้ก็ด้วยธรรมะ ธรรมะนั้นคือความจริง (สัตยะ) อย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ใดพูดความจริง เป็นอันเรียกได้ว่าเขาผู้นั้น "ได้เปล่งวาจาของธรรมะ!" เพราะทั้งคู่ (ความจริง และ ธรรมะ) เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน

— Brihadaranyaka Upanishad, 1.4.xiv [32][33]

พระกฤษณะ ในมหาภารตะ ได้ทรงนิยามธรรมว่าเป็น การสนับสนุนความจริงทั้งในโลกนี้และโลกอื่น (Mbh 12.110.11) คำว่า "สนาตนะ" แปลว่า "นิรันดร์" ดังนั้น "สนาตนธรรม" จึงแปลว่า "ความจริงอันเป็นนิรันดร์" ไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีที่สิ้นสุด[34]

อรรถ

อรรถะ หรือ อารถะ คือ การแสวงหาความมั่งคั่งอย่างมีเป้าหมายและมีคุณธรรม เพื่อการดำรงชีวิต ภาระผูกพัน และความมั่งคั่งทางทรัพย์สิน อรรถะยังรวมถึงชีวิตทางการเมือง การทูต และการมีความเป็นอยู่ที่ดี แนวคิดนี้รวมถึง "วิถีชีวิตทุกมุมของชีวิต" กิจกรรมและทรัพยากรทั้งหมดที่ช่วยให้คนหนึ่งสามารถมีความมั่งคงทางอาชีพการงานและทางการเงิน[35] การแสวงหาอรรถะอย่างพอเหมาะพอควรถือเป็นเป้าหมายสำคัญของชีวิตมนุษย์ในศาสนาฮินดู[36][37]

กามะ

กาม แปลว่า ความปรารถนา, ความรัก, ชอบ, หลงใหล ทั้งมีและปราศจากความคิดเชิงชู้สาวและอารมณ์ทางเพศ และหมายถึงความสุข ความยินดี อันเกิดจากสัมผัสต่าง ๆ ของร่างกาย[38][39] ในศาสนาฮินดู กามะถือเป็นส่วนจำเป็นที่ช่วยให้ชีวิตคงอยู่ได้อย่างแข็งแรง ทั้งนี้ทั้งนั้นยังต้องอยู่ภายใต้การนำพาของธรรมะ, อรรถะ และโมกษะ[40]

โมกษะ

โมกษะ หรือ มุขติ ถือเป็นเป้าหมายสูงที่สุดในศาสนาฮินดู โมกษะอาจหมายถึงการหลุดพ้นจากความทุกข์ และจากสังสาระ (การเวียนว่ายตายเกิด)[41][42] ในนิกายอื่น ๆ ของศาสนาฮินดูเช่น Monistic ถือว่าโมกษะเป็นเป้าหมายที่เข้าถึงได้ในชาติปัจจุบัน เป็นสถานะของความสุขผ่านการรับรู้ตนเอง การเข้าใจธรรมชาติของจิตวิญญาณของเสรีภาพและ "ตระหนักว่าจักรวาลทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของตน"[43][44]

กรรม

โมกษะ

เป้าหมายสูงสุดของชีวิตเรียกว่า "โมกษะ", "นิรวานะ" หรือ "สมาธิ" เป็นที่เข้าใจกันอยู่หลายแบบ: การเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า, การเข้าสู่ความสัมพันธ์นิรันดร์กับพระเจ้า, การเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล, การละทิ้งความเห็นแก่ตัวจนสิ้น, การหลุดพ้นจากสังสาระ ซึ่งคือการไม่เกิดอีก การไม่ทุกข์อีก[45][46]

แนวคิดเรื่องพระเป็นเจ้า

มูรติของพระราม, พระลักษมณ์ และ พระสีดา ในขบวนแห่

ศาสนาฮินดูนั้นมีหลายความเชื่อ มีตั้งแต่ เอกเทวนิยม, พหุเทวนิยม, สรรพันตรเทวนิยม, สรรพเทวนิยม, ไปจนถึง อเทวนิยม[47][48][web 3]

นิกายหลัก

ศาสนาฮินดูไม่มีหลักคำสอนหลักกลาง ในขณะเดียวกันชาวฮินดูเองจำนวนมากก็ไม่ได้อ้างว่าเป็นของนิกายหรือประเพณีใด ๆ[49] อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษาเชิงวิชาการนิยมแบ่งออกเป็น 4 นิกายหลัก ได้แก่ ลัทธิไวษณพ, ลัทธิไศวะ, ลัทธิศักติ และ ลัทธิสมารตะ[50][51] นิกายต่าง ๆ นี้แตกต่างกันหลัก ๆ ที่เทพเจ้าองค์กลางที่บูชา, ธรรมเนียมและมุมมองต่อการหลุดพ้น[52] Julius J. Lipner ได้ระบุไว้ว่าการแบ่งนิกายของศาสนาฮินดูนั้นแตกต่างจากในศาสนาหลักอื่น ๆ ของโลก เพราะนิกายของศาสนาฮินดูนั้นคลุมเครือกับการฝึกฝนของบุคคลมากกว่า เป็นที่มาของคำว่า "Hindu polycentrism" (หลากหลายนิยมฮินดู, ฮินดูตามท้องถิ่น)[53]

ปัญจเทวะ คือเทพเจ้าทั้ง 5 ที่ได้รับการบูชาพร้อมกันในลัทธิสมารตะ

ลัทธิไวษณพ บูชาพระวิษณุ[54] และปางอวตารของพระองค์ โดยเฉพาะ พระกฤษณะ และ พระราม[55] ลักษณะของนิกายนี้โดยทั่วไป ไม่ใช่ลักษณะนักพรตติดอาราม แต่มุ่งเน้นไปที่กิจกรรมชุมชนและการปฏิบัติที่นับถือศรัทธา ความรักสนุกนี้มีที่มาจากการสื่อนัย ๆ ถึงลักษณะอัน "ขี้เล่น ร่าเริง และสนุกสนาน" ของพระกฤษณะรวมถึงอวตารองค์อื่น ๆ[52] พิธีกรรมและการปฏิบัติจึงมักเต็มไปด้วยการระบำในชุมชน, ขับร้องดนตรี ทั้ง กีรตัน (Kirtan) และ ภชัน (Bhajan) โดยเชื่อกันว่าเสียงและดนตรีเหล่านี้จะมีพลังในการช่วยทำสมาธิและมีพลังอำนาจเชิงความเชื่อ[56] การเฉลิมฉลองและพิธีกรรมในศาสนสถานของไวษณพมักมีความประณีต ละเอียดลออ[57] ส่วนรากฐานเชิงศาสนศาสตร์ของไวษณพนั้นมาจากภควัทคีตา, รามายณะ และปุราณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระวิษณุ[58]

ลัทธิไศวะ มุ่งเน้นที่พระศิวะ ศาสนิกชนไศวะมีแนวโน้มไปทางปัจเจกพรตนิยม (ascetic individualism) และแตกออกเป็นนิกายแยกย่อยได้อีก[52] แนวทางปฏิบัติของไศวะรวมถึงการศรัทธาแบบภักติ แต่ความเชื่อโน้มเอียงมาทางนิกายแบบ nondual, monistic อย่าง Advaita และ ราชโยคะ[50][56] ไศวะมีทั้งกลุ่มที่นิยมบูชาในศาสนสถาน บางส่วนก็มุ่งเน้นที่การปฏิบัติโยคะ ทั้งหมดเพื่อพยายามเข้าเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับพระศิวะทั้งสิ้น[59] ลักษณะขององค์อวตารนั้นไม่ค่อยพบ และไศวะบางกลุ่มมองพระเป็นเจ้าในลักษณะของครึ่งบุรุษ-ครึ่งสตรี (อรธนารีศวร) ไศวะนั้นมีความเกี่ยวพันกับศักติ โดยมักมองว่าองค์ศักติเป็น พระชายาของพระศิวะ[50] การเฉลิมฉลองประกอบด้วยเทศกาลต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมในศาสนพิธีและเดินทางไปแสวงบุญยังสถานที่แสวงบุญเช่น Kumbh Mela ร่วมกับไวษณพ[60] ลัทธิไศวะพบได้ทั่วไปในแถบหิมาลัย ตั้งแต่กัศมีร์จนถึงเนปาล และในอินเดียใต้[61]

ลัทธิศักติ บูชาเทวีหรือศักติเป็นพระมารดาของจักรวาล[52] พบมากเปนพิเศษในรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกของอินเดีย เช่น รัฐอัสสัม และเบงกอลตะวันตก เทวีที่บูชานั้นมีรูปลักษณ์ตั้งแต่พระแม่ปราวตี ซึ่งทรงอ่อนโยนไปจนถึงองค์ที่มีพระลักษณะดุดันเช่น พระแม่ทุรคา และ พระแม่กาลี ศาสนิกชนเชื่อว่าศักติเป็นพลังอำนาจที่คอยรองรับความเป็นบุรุษ ระเบียบการปฏิบัติของศักติเกี่ยวข้องกับแนวทางแบบตันตระ[62] การเฉลิมฉลองมีทั้งเทศกาล ซึ่งบางส่วนมีพิธีกรรมที่นำเทวรูปดินเหนียวแช่ลงให้ละลายไปในแม่น้ำ[63]

ลัทธิสมารตะ บูชาเทพเจ้าฮินดูองค์หลัก ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ พระศิวะ, พระวิษณุ, องค์ศักติ, พระคเนศ, พระสุริยะ และ พระการติเกยะ[64] ธรรมเนียมแบบสมารตะนั้นเกิดขึ้นราวหลังยุคคาสสิกของฮินดูตอนต้น ราวเริ่มต้นคริสตกาล หลังศาสนาฮินดูเริ่มรวมเข้ากับการปฏิบัติแบบพราหมณ์และความเชื่อพื้นเมือง[65][66]

ประวัติ

ศาสนาพราหมณ์มีวิธีวัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่การเริ่มตั้งถิ่นฐานของชาวอารยันเริ่มตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีป ต่อมาในสมัยหลังพุทธกาลศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ใหม่ ซึ่งมีหลักคำสอนที่ผิดแผกแตกต่างจากต้นกำเนิดเดิมของศาสนานี้ จึงนับว่าศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่มีอายุยาวนานที่สุดของโลกศาสนาหนึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นศาสนาที่แตกต่างจากศาสนาอื่นในโลกเพราะเป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดาผู้ก่อตั้ง เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อว่ามีเทพเจ้าผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ต่อมาชาวอารยันผู้ทำหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า ได้สอนหลักการเรื่องกำเนิดของสรรพสิ่งว่า เทพเจ้าหรือพระพรหม เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในลักษณะต่างๆ ต่อมาสรรพสิ่งที่พระพรหมสร้างก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเทพเจ้าองค์อื่นๆ ด้วย ทำให้มีเทพเจ้ามากมายและทำหน้าที่ต่างๆกันในที่สุด ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูจึงกลายมาเป็นศาสนาประเภทพหุเทวนิยมในปัจจุบันเนื่องจาก ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลาอันยาวนาน ทำให้แนวความคิดทางศาสนาแตกต่างกันออกไปมาก ดังนั้น การศึกษาประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยแบงออกเป็นยุคต่างๆ ยุคอริยกะหรืออารยัน ยุคพระเวท ยุคพราหมณะ ยุคฮินดูเก่า(ฮินดูแท้) และอุปนิษัท สมัยสูตร สมัยอวตาร สมัยเสื่อม สมัยฟื้นฟู และสมัยภักติ สรุปได้ว่า ศาสนาพราหมณ์เริ่มต้นจากลัทธิประจำเผ่าพัฒนามาเป็นศาสนาประจำเผ่าอารยัน ซึ่งอพยพมารบชนะชาวเผ่าพื้นเมืองที่เรียกว่า ทราวิฑ หรือมิลักขะได้ขับไล่พวกชนเผ่าเจ้าของดินแดนเดิมออกไปอยู่ทางใต้ของอินเดีย(รัฐทมิฬนาฑู)และบางส่วนหนีข้ามฝากไปยังศรีลังกา เกิดเป็นตำนานมหากาพย์สงครามระหว่าง 2 เผ่าพันธุ์ในเรื่อง รามายณะซึ่งแต่งโดยฤๅษีวาลมีกิ พระราม (ชาวอารยัน)หรืออริยกะ ได้ทำสงครามรบกับชนพื้นเมืองเดิม(มิลักขะ)ยักษ์หรือ (ทศกัณฐ์) แล้วตั้งถิ่นฐานที่อยู่ครอบครองลุ่มแม่น้ำสินธุและแม่น้ำคงคา ได้ผสมผสานความเชื่อของท้องถิ่นให้เข้ากับความเชื่อของตน ทำให้เกิดแนวความคิดเรื่องวรรณะ โดยมีความเชื่อที่ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างมนุษย์ในวรรณะต่างๆ จากอวัยวะแต่ละส่วนของพระองค์ เช่น พราหมณ์เกิดจากโอษฐ์ กษัตริย์เกิดจากอก แพศย์เกิดจากตัก และศูทรเกิดจากเท้า ชาวอินเดียจะยึดถือวรรณะกันมาก ถ้าใครแต่งงานข้ามวรรณะกันลูกก็จะกลายเป็นจัณฑาล ในยุคโบราณ เมื่อพวกอริยะชนะสงคราม จึงใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือในการแบ่งวรรณะเป็น 4 วรรณะ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง ต่อมาในยุคพระเวทเป็นยุคที่มีพัฒนาการการนับถือพระเจ้าให้มีระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งเกิดการรวบรวมบทสวดอ้อนวอนพระเจ้าต่างๆ เรียกว่าคัมภีร์พระเวท ในยุคพราหมณะเป็นยุคที่วรรณะพราหมณ์มีอำนาจสูงสุด เพราะเป็นผู้ผูกขาดการทำพิธีกรรมต่างๆมีการแต่งคัมภีร์พระเวทขึ้นอีกหนึ่งคัมภีร์คือ อาถรรพเวท และคัมภีร์อุปนิษัทซึ่งเป็นรากฐานของแนวคิดทางปรัชญามีความสุขุมลุ่มลึกยิ่งขึ้นมากกว่าเดิม เป็นยุคที่มีการแข่งขันกันระหว่างศาสนา คือเกิดศาสนาใหม่ คือ ศาสนาเชนและศาสนาพุทธ จนทำให้ศาสนาพราหมณ์ต้องปรับกระบวนการในการสอนศาสนาใหม่จนต้องเรียกตนเองใหม่ว่า ศาสนาฮินดู

คัมภีร์

คัมภีร์พระเวท เดิมมี 3 คัมภีร์ เรียกว่า "ไตรเวท" โดยประกอบไปด้วย

  1. ฤคเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทสวดสดุดีพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย บรรดาเทพเจ้าที่ปรากฏในฤคเวทสัมหิตามีจำนวน 33 องค์ ทั้ง 33 องค์ ได้จัดแบ่งตามลักษณะของที่อยู่เป็น 3 กลุ่ม คือ เทพเจ้าที่อยู่ในสวรรค์ เทพเจ้าที่อยู่ในอากาศ และเทพเจ้าที่อยู่ในโลกมนุษย์ มีจำนวนกลุ่มละ 11 องค์
  2. ยชุรเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยสูตรสำหรับใช้ในการประกอบยัญพิธียชุเวทสัมหิตา แบ่งออกเป็น 2 แขนง คือ
    1. ศุกลชุรเวท หรือ ยชุรเวทขาว ได้แก่ ยชุรเวทที่บรรจุมนต์ หรือคำสวดและสูตรที่ต้องสวด
    2. กฤษณยชุรเวท หรือ ยชุรเวทดำ ได้แก่ ยชุรเวทที่บรรจุมนต์และคำแนะนำเกี่ยวกับการประกอบยัญพิธีบวงสรวง ตลอดทั้งคำอธิบายในการประกอบพิธีอีกด้วย
  3. สามเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์อันเป็นบทสวดขับร้อง บทสวดในสามเวทสัมหิตามีจำนวน 1,549 บท ในจำนวนนี้มีเพียง 75 บท ที่มิได้ปรากฏในฤคเวท

ต่อมาได้เพิ่ม อรรถเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยมนต์หรือคาถาต่าง ๆ

หลักปฏิบัติ

อาศรม หรือ อาศรม 4 หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เฉพาะที่เป็นพราหมณ์วัยต่าง ๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ 100 ปี แบ่งช่วงของการไว้ชีวิตไว้ 4 ตอน ตอนละ 25 ปี ช่วงชีวิตแต่ละช่วงเรียกว่า อาศรม (วัย) อาศรมทั้ง 4 ช่วง มีดังนี้

  1. พรหมจรยอาศรม เริ่มตั้งแต่อายุ 8-15 ปี ผู้เข้าสู่อาศรมนี้เรียกว่า พรหมจารี
  2. คฤหัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 15-40 ปี
  3. วานปรัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี
  4. สันยัสตาศรม อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ปรารถนาความหลุดพ้น (โมกษะ) จะออกบวชเป็น "สันยาสี" เมื่อบวชแล้วจะสึกไม่ได้

จุดมุ่งหมายสูงสุด

โมกษะ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ถือว่าเป็นหลักความดีสูงสุด ดังคำสอนของศาสนาฮินดูสอนว่า "ผู้ใดรู้แจ้งในอาตมันของตนว่าเป็นหลักอาตมันของโลกพรหมแล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากสังสาระการเวียนว่าย ตาย เกิด และจะไม่ปฏิสนธิอีก"

ศาสนสถาน

เชิงอรรถ

อ้างอิง



อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "web" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="web"/> ที่สอดคล้องกัน

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง