เบาหวานชนิดที่ 2

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นความผิดปกติของเมแทบอลิซึมระยะยาวซึ่งมีลักษณะคือ ภาวะน้ำตาลสูงในเลือด การดื้ออินซูลิน และการขาดอินซูลินโดยสัมพัทธ์[6] อาการโดยทั่วไปได้แก่ กระหายน้ำเพิ่มขึ้น ปัสสาวะมากและน้ำหนักลดที่อธิบายสาเหตุไม่ได้[3] นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการหิวบ่อย รู้สึกเหนื่อย และปวดไม่หาย[3] อาการมักมาอย่างช้า ๆ[6] ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวจากภาวะน้ำตาลสูงในเลือดรวมถึงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคจอตาเหตุเบาหวานซึ่งอาจเป็นเหตุให้ตาบอด ไตวายและมีการไหลเวียนโลหิตในแขนขาน้อยซึ่งอาจทำให้ต้องตัดอวัยวะออก[1] อาจเกิดภาวะน้ำตาลสูงในเลือดและออสโมลาริตีสูง (hyperosmolar hyperglycemic state) ทว่า ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (ketoacidosis) พบไม่บ่อย[4][5]

เบาหวานชนิดที่ 2
ชื่ออื่นNoninsulin-dependent diabetes mellitus (NIDDM), adult-onset diabetes[1]
สัญลักษณ์วงกลมสีน้ำเงินซึ่งเป็นสากลสำหรับโรคเบาหวาน[2]
สาขาวิชาวิทยาต่อมไร้ท่อ
อาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก น้ำหนักลดที่อธิบายสาเหตุไม่ได้ หิวบ่อย[3]
ภาวะแทรกซ้อนภาวะน้ำตาลสูงในเลือดและออสโมลาริตีสูง ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคจอตาเหตุเบาหวาน ไตวาย การตัดอวัยวะออก[1][4][5]
การตั้งต้นวัยกลางคนหรือสูงอายุ[6]
ระยะดำเนินโรคระยะยาว[6]
สาเหตุโรคอ้วน การขาดการออกกำลังกาย พันธุกรรม[1][6]
วิธีวินิจฉัยการตรวจเลือด[3]
การป้องกันการรักษาน้ำหนักปกติ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม[1]
การรักษาการเปลี่ยนแปลงอาหาร เมตฟอร์มิน อินซูลิน การผ่าตัดโรคอ้วน[1][7][8][9]
พยากรณ์โรคการคาดหมายคงชีพสั้นลง 10 ปี[10]
ความชุก392 ล้านคน (พ.ศ. 2558)[11]

เบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่เกิดจากโรคอ้วนและการขาดการออกกำลังกาย[1] บางคนมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมมากกว่าคนทั่วไป[6] มีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 คิดเป็นประมาณ 90% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ส่วนอีก 10% ที่เหลือเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานแห่งครรภ์เป็นหลัก[1] ในเบาหวานชนิดที่ 1 มีระดับอินซูลินทั้งหมดลดลงเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด เนื่องจากการเสียเซลล์บีตาที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนเหตุภาวะภูมิต้านตนเอง[12][13] การวินิจฉัยโรคเบาหวานทำได้โดยการตรวจเลือดซึ่งมีหลายวิธี เช่น การตรวจระดับกลูโคสในพลาสมาขณะอดอาหาร (fasting plasma glucose) การทดสอบความทนกลูโคสทางปาก (oral glucose tolerance test) หรือการตรวจระดับฮีโมโกลบินไกลเคต (glycated hemoglobin, A1C)[3]

เบาหวานชนิดที่ 2 ป้องกันได้ส่วนหนึ่งโดยการรักษาน้ำหนักให้ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม การรักษามีการออกกำลังกายและเปลี่ยนแปลงอาหาร[1] หากระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดลงอย่างเพียงพอ โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ใช้ยาเมตฟอร์มิน (metformin)[7][14] หลายคนอาจลงเอยด้วยการฉีดอินซูลิน[9] ในผู้ที่ต้องใช้อินซูลิน แนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ทว่า อาจไม่จำเป็นในรายที่รับประทานยา[15] การผ่าตัดโรคอ้วน (bariatric surgery) มักทำให้โรคเบาหวานดีขึ้นในผู้ป่วยอ้วน[8][16]

อัตราเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นมากนับแต่ปี พ.ศ. 2503 ในทำนองเดียวกับโรคอ้วน[17] ในปี พ.ศ. 2558 มีประชากรประมาณ 392 ล้านคนได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อเทียบกับประมาณ 30 ล้านคนในปี พ.ศ. 2528[11][18] ตรงแบบโรคเริ่มในวัยกลางคนหรือสูงอายุ[6] แม้อัตราเบาหวานชนิดที่ 2 กำลังเพิ่มขึ้นในคนหนุ่มสาว[19][20] เบาหวานชนิดที่ 2 สัมพันธ์กับการคาดหมายคงชีพสั้นลงสิบปี[10]

สาเหตุ

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นผลจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ทั้งส่วนที่เป็นจากพันธุกรรม และส่วนที่เป็นจากวิถีชีวิต[21][22] ซึ่งบางปัจจัยก็สามารถควบคุมได้ เช่น อาหาร ความอ้วน บางปัจจัยก็ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุมาก เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชาย และพันธุกรรม[10] ภาวะโภชนาการของมารดาขณะตั้งครรภ์ก็อาจมีส่วน โดยอาจผ่านกลไกการเติมหมู่เมทิลให้กับดีเอ็นเอของทารกในครรภ์[23] แบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้บางชนิดถูกพบว่ามีความเชื่อมโยงกับเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ Prevotella copri และ Bacteroides vulgatus[24]

วิถีชีวิต

ปัจจัยจากวิถีชีวิตมีความสัมพันธ์กับการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างมาก โดยปัจจัยที่โดดเด่นที่สุดคือ โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกิน การขาดกิจกรรมทางกาย กินอาหารไม่เหมาะสม ความเครียด และการใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง[10][25]

พันธุกรรม

มียีนหลายยีนที่สัมพันธ์กับการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 โดยไม่ได้มียีนใดยีนหนึ่งที่ทำให้เป็นเบาหวาน แต่ความผิดปกติของยีนแต่ละตัวต่างเพิ่มโอกาสที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน 72% ที่มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม

โรคและยาต่าง ๆ

มียาและโรคบางอย่างที่เพิ่มโอกาสเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เช่น กลูโคคอร์ติคอยด์ ไทอะไซด์ เบตาบล็อกเกอร์ ยาต้านจิตเวชนอกแบบ และสแตติน คนที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานที่ชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น โรคอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับเบาหวานชนิดที่ 2 เช่น สภาพโตเกินไม่สมส่วน กลุ่มอาการคุชชิง ไทรอยด์ทำงานเกิน ฟีโอโครโมไซโตมา และมะเร็งบางชนิด เช่น กลูคากอโนมา เป็นต้น ผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะพร่องฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 โรคการกินผิดปกติบางโรคอาจมีผลต่อเบาหวานชนิดที่ 2 โดยบูลิเมียเพิ่มโอกาสเป็นเบาหวาน และอะนอเร็กเซียลดโอกาสเป็นเบาหวาน

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิตำราภาษาอังกฤษ มีคู่มือ ตำรา หรือวิธีการเกี่ยวกับ: เบาหวานชนิดที่ 2
วิกิวิทยาลัย
วิกิวิทยาลัยภาษาอังกฤษ มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ: เบาหวานชนิดที่ 2
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง