เฟรเดอริก แซงเงอร์

เฟรเดอริก แซงเงอร์ OM CH CBE FRS FAA (อังกฤษ: Frederick Sanger; /ˈsæŋər/; 13 สิงหาคม ค.ศ. 1918 – 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013) เป็นนักชีวเคมีชาวอังกฤษผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีสองครั้งเป็นคนแรก (คนที่สองได้แก่คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส ในขณะที่อีกคนหนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบลสองครั้งในสาขาเดียวกันได้แก่จอห์น บาร์ดีนในสาขาฟิสิกส์)[4] และเป็นหนึ่งในห้าคนที่ได้รับรางวัลโนเบลสองครั้ง ใน ค.ศ. 1958 เขาได้รับรางวัลจากการวิเคราะห์หาโครงสร้างของโปรตีนหลายชนิด ที่สำคัญที่สุดได้แก่อินซูลิน และใน ค.ศ. 1980 เขาได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งร่วมกับวอลเทอร์ กิลเบิร์ตจากการคิดค้นวิธีการหาลำดับดีเอ็นเอ

เฟรเดอริก แซงเงอร์

OM CH CBE FRS FAA
เกิด13 สิงหาคม ค.ศ. 1918(1918-08-13)
เรนด์คัมบ์ กลอสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013(2013-11-19) (95 ปี)
เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร[1]
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (PhD)
มีชื่อเสียงจาก
  • การหาลำดับกรดอะมิโนในอินซูลิน
  • การหาลำดับดีเอ็นเอด้วยวิธีแซงเงอร์
  • สถาบันเวลล์คัมแซงเงอร์
รางวัล
  • Nobel Prize in Chemistry (1958)
  • Foreign Associate of the National Academy of Sciences (1967)
  • Royal Medal (1969)
  • Gairdner Foundation International Award (1971)
  • William Bate Hardy Prize (1976)
  • Copley Medal (1977)
  • Louisa Gross Horwitz Prize (1979)
  • Nobel Prize in Chemistry (1980)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาชีวเคมี
สถาบันที่ทำงาน
วิทยานิพนธ์The metabolism of the amino acid lysine in the animal body (1943)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกอัลแบร์ท น็อยเบอร์เกอร์[2]
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอก
  • จอร์จ บราวน์ลี[3]
  • เอลิซาเบธ แบล็กเบิร์น
  • รอดนีย์ พอร์เทอร์

ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา

เฟรเดอริก แซงเงอร์เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1918 ที่หมู่บ้านเรนด์คัมบ์ในเทศมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรคนที่สองของเฟรเดอริก แซงเงอร์ ผู้พ่อซึ่งเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและซิเซลี แซงเงอร์ (นามสกุลเดิม ครูว์ดสัน)[5] เขามีพี่น้องสามคน ได้แก่ทีโอดอร์ พี่ชายซึ่งแก่กว่าเขาหนึ่งปี ตัวเขาเอง และแมรี (เมย์) น้องสาวซึ่งอ่อนกว่าเขาห้าปี[6] พ่อของเขาเคยเป็นแพทย์มิชชันนารีของคริสตจักรนิกายแองกลิคันผู้ซึ่งเคยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศจีนแต่ต้องเดินทางกลับเนื่องจากปัญหาสุขภาพ โดยใน ค.ศ. 1916 เฟรเดอริกผู้พ่ออายุได้ 40 ปี สมรสกับซิเซลีซึ่งอ่อนกว่าสี่ปี หลังจากที่ทีโอดอร์และเฟรเดอริกผู้ลูกเกิดแล้ว เฟรเดอริกผู้พ่อได้เปลี่ยนไปนับถือนิกายเควกเกอร์และเลี้ยงดูลูกของเขาตามแบบฉบับเควกเกอร์ ในขณะที่ซิเซลีเป็นธิดาของคหบดีผู้ผลิตฝ้าย ครอบครัวของเธอนับถือนิกายเควกเกอร์เช่นกัน แต่ตัวเธอเองไม่ได้นับถือนิกายนี้[6]

เมื่อเฟรเดอริก แซงเงอร์ผู้ลูกอายุได้ห้าขวบ ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านแทนเวิร์ท-อิน-อาร์เดินในเทศมณฑลวอริกเชอร์ ครอบครัวแซงเงอร์ค่อนข้างมีฐานะและได้จ้างครูสอนพิเศษ (governess) มาสอนที่บ้าน ใน ค.ศ. 1927 เมื่อแซงเงอร์อายุได้เก้าขวบ พ่อแม่ของเขาได้ส่งเขาไปเรียนที่โรงเรียนดาวส์ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำในในเทศมณฑลเฮริฟอร์ดเชอร์ของนิกายเควกเกอร์ใกล้กับเมืองมัลเวิร์น (ซึ่งตั้งอยู่ในเทศมณฑลวุร์สเตอร์เชอร์) พี่ชายของเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนเดียวกันแต่อยู่ชั้นสูงกว่าหนึ่งปี ใน ค.ศ. 1932 เมื่อแซงเงอร์อายุได้ 14 ปี เขาถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนไบรอันสตันในเทศมณฑลดอร์เซต โรงเรียนนี้ใช้ระบบดอลตันซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่เปิดเสรีกว่า ซึ่งตัวแซงเงอร์เองก็ชอบระบบนี้ เขาชอบครูที่โรงเรียนและชอบวิชาสายวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ[6] แซงเงอร์สามารถจบการศึกษาได้ก่อนกำหนดหนึ่งปี ทำให้ในปีสุดท้ายแซงเงอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับครูสอนเคมี เจฟฟรีย์ ออร์ดิช ผู้ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และเคยเป็นนักวิจัยในห้องปฏิบัติการคาเวนดิช การทดลองร่วมกับครูออร์ดิชทำให้แซงเงอร์เปลี่ยนความสนใจจากการนั่งเรียนในหนังสือ และจุดประกายให้แซงเงอร์เลือกที่จะทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์[7] ใน ค.ศ. 1935 ก่อนที่แซงเงอร์จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปยังชูเลอชล็อสซาเลิมในเมืองซาเลิม รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ประเทศเยอรมนี โรงเรียนดังกล่าวมุ่งเน้นด้านกีฬามากกว่าวิชาการ ทำให้แซงเงอร์เข้าใจเนื้อหาในห้องเรียนดีกว่าเพื่อนนักเรียนคนอื่น เขาตกใจอย่างมากเมื่อพบว่าการเรียนในแต่ละวันที่ชูเลอชล็อสซาเลิมเริ่มต้นด้วยการอ่านเนื้อหาจากหนังสือไมน์คัมพฟ์ ตามด้วยการคารวะแบบนาซี[8]

แซงเงอร์เข้าเรียนที่ วิทยาลัยเซนต์จอนส์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใน ค.ศ. 1936 เพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิทยาลัยเดียวกับที่พ่อของเขาเข้าเรียน แซงเงอร์เลือกเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวเคมี และคณิตศาสตร์ในการเรียนแบบไทรพอส (Tripos) ส่วนที่หนึ่ง ซึ่งเขาประสบปัญหาในการเรียนวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ในชั้นปีที่สองเขาเปลี่ยนจากฟิสิกส์เป็นสรีรวิทยา เขาสำเร็จการศึกษาไทรพอสส่วนที่หนึ่งในเวลาสามปี ในส่วนที่สองเขาเรียนชีวเคมีและจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ภาควิชาชีวเคมีในขณะนั้นเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานนัก โดยผู้ก่อตั้งได้แก่เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์ และมีคณาจารย์คนสำคัญได้แก่มัลคอล์ม ดิกสัน, โจเซฟ นีดัม และเออร์เนสต์ บอลด์วิน[6] พ่อแม่ของเขาเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่วงสองปีแรกของเขาที่เคมบริดจ์ พ่อของเขาเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 60 ปีส่วนแม่เสียชีวิตเมื่ออายุ 58 ปี แซงเงอร์ในช่วงเรียนปริญญาตรีนั้นได้รับอิทธิพลจากพื้นฐานครอบครัวที่นับถือนิกายเควกเกอร์ ความคิดของเขาเป็นแบบสันตินิยม และเขาเป็นสมาชิกขององค์การพีซเพลดจ์ยูเนียน (Peace Pledge Union) เขาพบกับโจแอน โฮว์ ผู้ซึ่งสมรสกับเขาในเวลาต่อมาขณะร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เคมบริดจ์ต่อต้านสงคราม (Cambridge Scientists Anti-War Group) ในขณะนั้นเธอเรียนเศรษฐศาสตร์ที่วิทยาลัยนิวนัมในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ทั้งสองหมั้นกันขณะที่แซงเงอร์เรียนไทรพอสส่วนที่สองและสมรสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1940 หลังจากที่เขาจบการศึกษาปริญญาตรี หลังจบการศึกษามุมมองของแซงเงอร์เริ่มเปลี่ยนไปจากนิกายเควกเกอร์โดยเริ่มเบี่ยงเบนไปทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น สองสิ่งจากนิกายเควกเกอร์ที่เขายังคงยึดถือได้แก่ความจริงและการเคารพทุกชีวิต[9] แซงเงอร์ลงทะเบียนเป็นผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรมเพื่อขอปฏิเสธการเกณฑ์ทหารในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในระหว่างนั้นแซงเงอร์เข้าฝึกงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ศูนย์เควกเกอร์สไปซ์แลนส์ในเทศมณฑลเดวอน และเขาทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลเป็นเวลาสั้น ๆ[6]

แซงเงอร์เริ่มเรียนปริญญาเอกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940 โดยมีที่ปรึกษาได้แก่นอร์แมน พีรี หัวข้อวิจัยของแซงเงอร์ได้แก่การค้นหาโปรตีนที่รับประทานได้จากหญ้า อย่างไรก็ตาม เพียงหนึ่งเดือนเศษหลังจากนั้นพีรีย้ายออกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไปรับตำแหน่งอื่น ทำให้อัลแบร์ท น็อยเบอร์เกอร์เข้ารับเป็นที่ปรึกษาของแซงเงอร์แทน[6] แซงเงอร์เปลี่ยนหัวข้อวิจัยเป็นการศึกษากระบวนการเมแทบอลิซึมของกรดอะมิโนไลซีน[10] และปัญหาเกี่ยวกับไนโตรเจนในมันฝรั่ง[11] หัวเรื่องวิทยานิพนธ์ของเขาคือ "The metabolism of the amino acid lysine in the animal body" โดยมีกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ได้แก่ชาลส์ ฮาริงตันและอัลเบิร์ต ชิบนอลล์ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกใน ค.ศ. 1943[6]

ผลงานด้านวิทยาศาสตร์

ลำดับกรดอะมิโนในอินซูลินจากวัว

การหาลำดับกรดอะมิโนในอินซูลิน

น็อยเบอร์เกอร์ย้ายไปประจำที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ในกรุงลอนดอน แต่แซงเงอร์เลือกที่จะอยู่ที่เคมบริดจ์ต่อ ใน ค.ศ. 1943 แซงเงอร์เข้ากลุ่มวิจัยของชาลส์ ชิบนอลล์ นักเคมีโปรตีนผู้ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี[12] ชิบนอลล์ได้เริ่มงานบางส่วนในการหาลำดับกรดอะมิโนในอินซูลินจากวัว[13] และเสนอให้แซงเงอร์ดูหมู่อะมิโนในโปรตีน อินซูลินสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาในสหราชอาณาจักร และเป็นโปรตีนบริสุทธิ์ไม่กี่ชนิดที่สามารถหาซื้อได้ แซงเงอร์ออกทุนสำหรับวิจัยเองในช่วงแรกก่อนที่จะได้รับทุนสนับสนุนจากสภาการวิจัยทางการแพทย์จนถึง ค.ศ. 1944 และระหว่าง ค.ศ. 1944 และ 1951 เขาได้รับทุนจากกองทุนวิจัยทางการแพทย์อนุสรณ์ไบท์[5]

ความสำเร็จสำคัญประการแรกของแซงเงอร์ได้แก่การหาลำดับกรดอะมิโนทั้งหมดภายในสายพอลิเพปไทด์สองสายของอินซูลินจากวัว (เอและบี) โดยสายเอทำสำเร็จใน ค.ศ. 1952 ส่วนสายบีสำเร็จก่อนหน้านั้นหนึ่งปี[14][15] ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโครงสร้างของโปรตีนนั้นไม่เป็นระเบียบ อย่างไรก็ตาม แซงเงอร์พิสูจน์ว่ามีโครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมีที่ชัดเจน[6]

ในการหาลำดับกรดอะมิโน แซงเงอร์ใช้เทคนิคโครมาโทกราฟีแบบแบ่งส่วนซึ่งพัฒนาโดยริชาร์ด ลอว์เรนซ์ มิลลิงตัน ซินจ์และอาร์เชอร์ มาร์ติน แซงเงอร์ใช้ 1-ฟลูออโร-2,4-ไดไนโตรเบนซีน (ซึ่งต่อมาเรียกว่า "รีเอเจนต์ของแซงเงอร์" ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ "ฟลูออโรไดไนโตรเบนซีน" หรือเอฟดีเอ็นบี) ซึ่งใช้ได้ผลดีในการติดฉลากเอ็น-เทอร์มินัสของเพปไทด์[16] จากนั้นจึงไฮโดรไลส์บางส่วนเพื่อให้อินซูลินกลายเป็นเพปไทด์สายสั้น ๆ โดยใช้กรดไฮโดรคลอริกหรือเอนไซม์เช่นทริปซิน เพปไทด์ผสมที่ได้หลังจากนั้นถูกนำไปแยกในสองทิศทางบนกระดาษกรอง โดยครั้งแรกใช้อิเล็กโตรโฟรีซิสก่อนจะใช้โครมาโทกราฟีเพื่อแยกต่อในทิศทางตั้งฉากกับครั้งแรก สายเพปไทด์ต่างชนิดกันซึ่งถูกตรวจจับโดยใช้นินไฮดรินจะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณต่าง ๆ บนกระดาษ ทำให้เกิดเป็นรูปแบบที่แซงเงอร์เรียกว่า "ลายนิ้วมือ" สายเพปไทด์จากเอ็น-เทอร์มินัสซึ่งถูกติดฉลากโดยเอฟดีเอ็นบีจะปรากฏให้เห็นเป็นสีเหลือง และกรดอะมิโนที่เอ็น-เทอร์มินัสสามารถวิเคราะห์หาได้จากการไฮโดรไลซิสสายเพปไทด์ให้เป็นกรดอะมิโนทั้งหมดและดูว่ากรดอะมิโนใดที่กลายเป็นอนุพันธ์เอฟดีเอ็นบี[6]

แซงเงอร์ใช้กระบวนการดังกล่าวซ้ำ ๆ โดยเปลี่ยนวิธีการไฮโดรไลซิสบางส่วนในช่วงแรก ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวนี้สามารถนำไปประกอบกันเป็นสำดับกรดอะมิโนที่สมบูรณ์ได้ ในท้ายที่สุด เนื่องจากอินซูลินสายเอและสายบีจะไม่ออกฤทธิ์ในทางสรีรวิทยาถ้าไม่มีพันธะไดซัลไฟด์สามพันธะ (สองพันธะระหว่างสายเอและสายบี และอีกหนึ่งพันธะภายในสายเอ) แซงเงอร์และคณะสามารถสรุปโครงสร้างของอินซูลินอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1955[17][18] ข้อสรุปของแซงเงอร์ได้แก่สายพอลิเพปไทด์ทั้งสองสายของอินซูลินมีลำดับกรดอะมิโนที่ชัดเจนและแน่นอน และสามารถขยายต่อไปยังโปรตีนชนดอื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีครั้งแรกใน ค.ศ. 1958[19] การค้นพบนี้มีส่วนสำคัญให้ฟรานซิส คริกพัฒนาแนวคิดสำหรับโครงสร้างของดีเอ็นเอ[20]

การหาลำดับอาร์เอ็นเอ

แซงเงอร์เป็นสมาชิกของนักวิจัยภายนอกประจำสภาการวิจัยทางการแพทย์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1951[5] และต่อมาเมื่อสภาการวิจัยทางการแพทย์ได้สถาปนาห้องปฏิบัติการชีววิทยาโมเลกุลใน ค.ศ. 1962 แซงเงอร์ได้ย้ายห้องปฏิบัติการจากภาควิชาชีวเคมีไปยังชั้นบนสุดของอาคารห้องปฏิบัติการดังกล่าว และเขาขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเคมีโปรตีน[6] แต่ก่อนที่เขาจะย้ายไปนั้นเขาเริ่มสนใจความเป็นไปได้ในการหาลำดับอาร์เอ็นเอและเริ่มพัฒนาวิธีการแยกชิ้นส่วนของไรโบนิวคลีโอไทด์โดยใช้เอนไซม์นิวคลีเอส[20]

อุปสรรคสำคัญในการทำงานนี้มาจากการหาแหล่งอาร์เอ็นเอที่บริสุทธิ์พอที่จะวิเคราะห์ได้ ใน ค.ศ. 1964 แซงเงอร์และเชลด์ มาร์กเคอร์ค้นพบฟอร์มิลเมไทโอนีนทีอาร์เอ็นเอซึ่งเริ่มการสังเคราะห์โปรตีนในแบคทีเรีย[21] อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สามารถหาลำดับทีอาร์เอ็นเอได้สำเร็จไม่ใช่แซงเงอร์แต่เป็นรอเบิร์ต ดับเบิลยู. ฮอลลีย์และคณะจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลซึ่งเผยแพร่ลำดับของไรโบนิวคลีโอไทด์ 77 โมเลกุลที่ประกอบกันเป็นอะลานีนทีอาร์เอ็นเอจาก Saccharomyces cerevisiae ใน ค.ศ. 1965[22] ใน ค.ศ. 1967 กลุ่มวิจัยของแซงเงอร์สามารถวิเคราะห์หาลำดับนิวคลีโอไทด์ของ 5S ไรโบโซมอล อาร์เอ็นเอ จาก Escherichia coli ซึ่งมีนิวคลีโอไทด์จำนวน 120 โมเลกุล[23]

การหาลำดับดีเอ็นเอ

แซงเงอร์ได้เปลี่ยนไปวิจัยหาลำดับดีเอ็นเอซึ่งใช้เทคนิคที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เขาศึกษาวิธีการต่าง ๆ เพื่อใช้เอนไซม์ดีเอ็นเอพอลิเมอเรส I จากเชื้อ อี. โคไล เพื่อคัดลอกดีเอ็นเอสายเดี่ยว[24] ใน ค.ศ. 1975 แซงเงอร์ร่วมกับอลัน คูลสัน ได้ตีพิมพ์ผลงานหาลำดับดีเอ็นเอโดยใช้เอนไซม์ดีเอ็นเอพอลิเมอเรสและนิวคลีโอไทด์ที่ติดฉลากกัมมันตรังสี ซึ่งแซงเงอร์เรียกว่าเทคนิค "บวกและลบ"[25][26] กระบวนการดังกล่าวใช้สองวิธีที่เกี่ยวข้องกันเพื่อสังเคราะห์โอลิโกนิวคลีโอไทด์สายสั้นที่มีปลาย 3' ระบุชัดเจน ซึ่งสามารถนำไปแยกโดยวิธีอิเล็กโตรโฟรีซิสโดยใช้เจลพอลิอะคริลาไมด์ก่อนนำไปวิเคราะห์ด้วยการถ่ายภาพรังสีต่อไป กระบวนการดังกล่าวนี้สามารถหาลำดับนิวคลีโอไทด์ได้ถึง 80 นิวคลีโอไทด์ในครั้งเดียว และถือเป็นการปรับปรุงจากเดิมอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นวิธีที่ต้องทำงานอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม กลุ่มของแซงเงอร์สามารถหาลำดับในแบคเทอริโอเฟจΦX174 ซึ่งมีจำนวน 5,386 นิวคลีโอไทด์ได้เกือบทั้งหมด[27] ซึ่งเป็นการทำจีโนมดีเอ็นเอเป็นครั้งแรก พวกเขายังค้นพบว่าบริเวณในการสังเคราะห์โปรตีนสามารถซ้อนทับกันได้[3]

ใน ค.ศ. 1977 แซงเงอร์และคณะนำเสนอการใช้อนุพันธ์ไดดีออกซีในการหยุดการสังเคราะห์สายดีเอ็นเอซึ่งเรียกว่า "วิธีแซงเงอร์"[26][28] ซึ่งเป็นการค้นพบที่สำคัญและสามารถหาลำดับภายในสายดีเอ็นเอที่ยาวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีอีกครั้งใน ค.ศ. 1980 ร่วมกับวอลเทอร์ กิลเบิร์ตและพอล เบิร์ก[29] แซงเงอร์และคณะใช้วิธีการนี้ในการหาลำดับของดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียในมนุษย์ (16,569 คู่เบส)[30] และของแลมบ์ดาเฟจ (48,502 คู่เบส)[31] วิธีแซงเงอร์นี้ได้นำไปใช้ในการทำจีโนมมนุษย์[32]

นักศึกษาปริญญาเอก

ในช่วงที่แซงเงอร์เป็นนักวิจัยนั้น เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาปริญญาเอกมากกว่าสิบคน ซึ่งสองคนในนั้นได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา นักศึกษาคนแรกของเขาคือรอดนีย์ พอร์เทอร์ซึ่งเข้าร่วมกลุ่มวิจัยใน ค.ศ. 1947[3] พอร์เทอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ใน ค.ศ. 1972 ร่วมกับเจอรัลด์ เอเดิลมันจากผลงานการหาโครงสร้างทางเคมีของแอนติบอดี[33] เอลิซาเบธ แบล็กเบิร์นเป็นนักศึกษาปริญญาเอกในกลุ่มวิจัยของแซงเงอร์ระหว่าง ค.ศ. 1971 และ 1974[3][34] เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ใน ค.ศ. 2009 ร่วมกับแครอล ดับเบิลยู. ไกรเดอร์และแจ็ก ดับเบิลยู. ชุสตัก จากผลงานในการศึกษาเทโลเมียร์และเอนไซม์เทโลเมอเรส[35]

กฎของแซงเงอร์

กฎของแซงเงอร์มีใจความว่า

... anytime you get technical development that’s two to threefold or more efficient, accurate, cheaper, a whole range of experiments opens up.[36]

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า

... เมื่อใดก็ตามที่คุณพัฒนาเทคนิคที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม แม่นยำกว่าเดิม ถูกกว่าเดิมประมาณสองหรือสามเท่า ก็จะเปิดโอกาสให้มีการทดลองใหม่ ๆ หลายร้อยหลายพันอย่าง

กฎนี้ไม่ควรสับสนกับกฎของเทร์เรนซ์ แซงเงอร์ในวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งมีที่มาจากกฎของเอร์กกี โอยา นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวฟินแลนด์

รางวัลและการเชิดชูเกียรติ

แซงเงอร์เป็นเพียงหนึ่งในสองคนเท่านั้นที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีสองครั้ง (อีกคนได้แก่คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลสใน ค.ศ. 2001 และ 2022) และเป็นเพียงหนึ่งในห้าคนที่ได้รับรางวัลโนเบลสองครั้ง อีกสามคนที่เหลือได้แก่มารี กูว์รี (สาขาฟิสิกส์ใน ค.ศ. 1903 และสาขาเคมีใน ค.ศ. 1911) ไลนัส พอลิง (สาขาเคมีใน ค.ศ. 1954 และสาขาสันติภาพใน ค.ศ. 1962) และจอห์น บาร์ดีน (สาขาฟิสิกส์สองครั้งใน ค.ศ. 1956 และ ค.ศ. 1972)[4]

สถาบันเวลล์คัมแซงเงอร์ ตั้งชื่อตามแซงเงอร์เพื่อให้เกียรติแก่เขา[3]

ชีวิตส่วนตัว

การสมรสและครอบครัว

แซงเงอร์สมรสกับมาร์กาเรต โจแอน โฮว์ (คนละคนกับมาร์กาเรต แซงเงอร์ นักเคลื่อนไหวด้านการคุมกำเนิดในสหรัฐ) ใน ค.ศ. 1940 เธอเสียชีวิตใน ค.ศ. 2012 พวกเขามีบุตรด้วยกันสามคน ได้แก่รอบิน (เกิด ค.ศ. 1943) พีเทอร์ (เกิด ค.ศ. 1946) และแซลลี (เกิด ค.ศ. 1960)[5] แซงเงอร์กล่าวว่าภรรยาของเขา "มีส่วนสำคัญที่สุดในงานของเขาโดยการดูแลทุกคนในบ้านให้มีความสุข"[37]

ชีวิตหลังเกษียณ

สถาบันเวลล์คัมแซงเงอร์

แซงเงอร์เกษียณใน ค.ศ. 1983 ขณะที่เขาอายุได้ 65 ปี และย้ายไปอยู่บ้าน "ฟาร์เลส์" ในหมู่บ้านสวอฟฟัมบุลเบ็กชานเมืองเคมบริดจ์ในเทศมณฑลเคมบริดจ์เชอร์[3]

ใน ค.ศ. 1992 กองทุนเวลล์คัมและสภาการวิจัยทางการแพทย์ได้ก่อตั้งศูนย์แซงเงอร์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเวลล์คัมแซงเงอร์) ตามชื่อของเขา[38] ศูนย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาเขตจีโนมเวลล์คัมในหมู่บ้านฮิงซ์ตัน ใกล้กับบ้านของแซงเงอร์ จอห์น ซัลส์ตัน ผู้ก่อตั้งศูนย์แซงเงอร์และประธานศูนย์คนแรกได้ขออนุญาตใช้ชื่อแซงเงอร์เป็นชื่อศูนย์ แซงเงอร์ยินยอมแต่กำชับว่า "ทำให้ดี ๆ นะ"[38] แซงเงอร์เดินทางไปเปิดศูนย์ด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1993 ซึ่งในขณะนั้นศูนย์แซงเงอร์ยังมีนักวิจัยประจำไม่ถึง 50 คน แต่ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในโครงการจีโนมมนุษย์[38] และกลายมาเป็นสถาบันวิจัยด้านจีโนมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

แซงเงอร์กล่าวว่าเขาไม่พบหลักฐานใด ๆ ว่าพระเจ้ามีจริง เขาจึงกลายมาเป็นนักอไญยนิยม[39] ในบทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ ใน ค.ศ. 2000 แซงเงอร์กล่าวว่า "พ่อผมเป็นเควกเกอร์ที่เคร่ง และผมก็โตมาแบบเควกเกอร์ และสำหรับพวกเขา ความจริงคือสิ่งที่สำคัญมาก ผมเบี่ยงเบนไปจากความเชื่อเหล่านั้น แน่นอนว่าข้อหนึ่งก็คือค้นหาความจริง แต่การค้นหาความจริงก็ต้องมีหลักฐาน ต่อให้ผมอยากจะเชื่อในพระเจ้า ผมก็ทำได้ยากอยู่ดี ผมต้องการข้อพิสูจน์"[40]

เขาปฏิเสธบรรดาศักดิ์อัศวินเนื่องจากเขาไม่ต้องการถูกเรียกว่า "เซอร์" โดยกล่าวว่า "พอเป็นอัศวินแล้วคุณก็แตกต่างจากคนอื่นใช่ไหมล่ะ และผมก็ไม่อยากจะแตกต่างจากคนอื่น" ใน ค.ศ. 1986 เขายอมรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์คุณธรรมซึ่งมีสมาชิกได้เพียง 24 คนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น[37][39][40]

ใน ค.ศ. 2007 สมาคมชีวเคมีแห่งสหราชอาณาจักรได้รับทุนจากกองทุนเวลล์คัมเพื่อจัดเก็บรักษาสมุดบันทึก 35 เล่มของแซงเงอร์ที่จดบันทึกการวิจัยตั้งแต่ ค.ศ. 1944 จนถึง ค.ศ. 1983 นิตยสาร ไซเอินซ์ ซึ่งรายงานข่าวนี้ได้รายงานด้วยว่าแซงเงอร์ผู้ซึ่งเป็น "คนที่ปลีกตัวจากชื่อเสียงมากที่สุดเท่าที่คุณอยากจะพบ" ในขณะนั้นใช้ชีวิตทำสวนที่บ้านในเทศมณฑลเคมบริดจ์เชอร์[41]

แซงเงอร์เสียชีวิตขณะหลับที่โรงพยาบาลแอดเดินบรุกส์ในเคมบริดจ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013[37][42] ในบทความระลึกถึง แซงเงอร์บรรยายตัวเขาเองว่าเป็น "ชายคนหนึ่งที่ทำโน่นนี่เรื่อยเปื่อยในแล็บ"[43] และ "ไม่ค่อยเก่งในทางวิชาการ"[44]

ผลงานตีพิมพ์ที่สำคัญ

อ้างอิง

แหล่งอ้างอิงแทรกในบทความ

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง