สงครามพระเจ้าอลองพญา

สงครามพระเจ้าอลองพญา เป็นชื่อเรียกความขัดแย้งทางทหารครั้งแรกระหว่างอาณาจักรโก้นบองแห่งพม่า กับอาณาจักรอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สงครามครั้งนี้เป็นการจุดชนวนการสงครามนานหลายศตวรรษระหว่างทั้งสองรัฐขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะกินเวลานานไปอีกหนึ่งศตวรรษข้างหน้า ฝ่ายพม่านั้นอยู่ที่ "ขอบแห่งชัยชนะ" แล้วเมื่อจำต้องถอนกำลังจากการล้อมอยุธยา เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาถูกระเบิดปืนใหญ่สิ้นพระชนม์[6] พระองค์สวรรคตและทำให้สงครามครั้งนี้ยุติลง

สงครามพระเจ้าอลองพญา

ยุทธศาสตร์การยกทัพพระเจ้าอลองพญา
วันที่ธันวาคม พ.ศ. 2302 - พฤษภาคม พ.ศ. 2303
สถานที่
ผลไม่มีบทสรุปแน่ชัด
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
พม่าแผ่อำนาจปกครองชายฝั่งตะนาวศรีลงไปจนถึงทวายและมะริด [1]
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง อาณาจักรโก้นบอง (พม่า) อาณาจักรอยุธยา (สยาม)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ราชวงศ์โก้นบอง พระเจ้าอลองพญา 
ราชวงศ์โก้นบอง เจ้าชายมังระ
ราชวงศ์โก้นบอง มังฆ้องนรธา
ราชวงศ์โก้นบอง แมงละนรธา
ราชวงศ์โก้นบอง แมงละราชา
พระเจ้าเอกทัศ
พระเจ้าอุทุมพร
เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ 
พระยารัตนาธิเบศร์
พระยายมราช
พระยาราชวังสัน
กำลัง

กำลังรุกราน:
40,000 นาย[2][3] (รวมทหารม้า 3,000 นาย)[4]
กองหลัง:

พลปืนคาบศิลา 6,000 นาย ทหารม้า 500 นาย[5]

ตะนาวศรีและอ่าวไทย:
ทหาร 27,000 นาย, ทหารม้า 1,300 นาย, ช้าง 200 เชือก[6]
สุพรรณบุรีและอยุธยา:

ทหาร 45,000 นาย, ทหารม้า 3,000 นาย, ช้าง 300 เชือก[6]

ความต้องการครอบครองชายฝั่งตะนาวศรีและการค้าขายในแถบนี้เป็นชนวนเหตุของสงคราม[7][8] และการให้การสนับสนุนของอยุธยาต่อกบฏมอญแห่งอดีตราชอาณาจักรหงสาวดีฟื้นฟู[6][9] ราชวงศ์โก้นบองที่เพิ่งจะสถาปนาขึ้นใหม่นั้นต้องการจะแผ่ขยายอำนาจเข้าควบคุมชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนอีกครั้ง (ปัจจุบันคือ รัฐมอญ) ซึ่งอยุธยาได้ให้การสนับสนุนแก่กบฏชาวมอญและจัดวางกำลังพลไว้ ฝ่ายอยุธยาปฏิเสธข้อเรียกร้องของพม่าที่จะส่งตัวผู้นำกบฏมอญหรือระงับการบุกรุกดินแดนซึ่งพม่ามองว่าเป็นดินแดนของตน[10]

สงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2302 เมื่อทหารพม่า 40,000 นาย ภายใต้การนำของพระเจ้าอลองพญา และพระราชบุตร เจ้าชายมังระ ยกพลรุกรานลงมาตามชายฝั่งตะนาวศรีจากเมาะตะมะ แผนยุทธการของพระองค์คือ เคลื่อนทัพหลบตำแหน่งที่มีการป้องกันอย่างแข็งแรงของอยุธยา ตามเส้นทางการรุกรานที่สั้นและเข้าถึงโดยตรงมากกว่า กองทัพรุกรานพิชิตการป้องกันของอยุธยาที่ค่อนข้างเบาบางตามแนวชายฝั่ง ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปจนถึงอ่าวไทย จากนั้นวกขึ้นเหนือไปยังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายอยุธยารู้สึกประหลาดใจกับการรุกรานดังกล่าว โดยรีบจัดทัพมาเผชิญกับพม่าทางใต้ของกรุง และจัดตั้งการป้องกันอย่างกล้าหาญระหว่างทางสู่กรุงศรีอยุธยา แต่กองทัพพม่าซึ่งกรำศึกกลับเอาชนะกองทัพฝ่ายป้องกันของอยุธยาซึ่งมีจำนวนเหนือกว่าได้ และเคลื่อนมาถึงชานกรุงเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2303 แต่เพียงห้าวันหลังจากการล้อมเริ่มต้นขึ้น พระมหากษัตริย์พม่ากลับทรงพระประชวรและมีการตัดสินใจยกทัพกลับ[6] ปฏิบัติการของทหารกองหลังอันมีประสิทธิภาพ ภายใต้การนำของแม่ทัพมังฆ้องนรธาทำให้การถอนกำลังเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย[11]

สงครามดังกล่าวไม่มีบทสรุปแน่ชัด ขณะที่พม่าสามารถแผ่อำนาจควบคุมเหนือชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนไปจนถึงทวาย แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดภัยคุกคามจากดินแดนรอบข้างได้ ซึ่งถือว่าไม่ค่อยสำคัญเท่าใดนัก ฝ่ายพม่าถูกบีบให้ตกลงกับกบฏชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการสนับสนุนจากอยุธยา เช่นเดียวกับในล้านนา ในอีกสี่ปีต่อมา พม่าจะยกทัพมารุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้ง และนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 ยุติประวัติศาสตร์นานสี่ศตวรรษของอยุธยา

ภูมิหลัง

สรุปความขัดแย้งระหว่างพม่ามอญและสยาม

พระเจ้าตะเบงชเวตี้กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูได้เข้าพิชิตยึดครองอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญในพม่าตอนล่างได้สำเร็จในพ.ศ. 2082 ต่อมาไม่นานชาวมอญได้เป็นกบฏจนพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองต้องทำการพิชิตชาวมอญอีกครั้งในพ.ศ. 2094 กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองหงสาวดีของชาวมอญ และมีความเคารพต่ออัตลักษณ์วัฒนธรรมมอญ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงกรีฑาทัพเข้าบุกยึดเมืองอังวะและพม่าตอนบนจากชาวไทใหญ่ได้สำเร็จในพ.ศ. 2098 รวบรวมอาณาจักรพม่าให้เป็นเอกภาพ ยึดล้านนาเชียงใหม่ในพ.ศ. 2101 ยึดเมืองมณีปุระในพ.ศ. 2103 และยึดเมืองทวายในพ.ศ. 2105 ปีต่อมาพ.ศ. 2106 สงครามช้างเผือก พระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพพม่าเข้าโจมตีหัวเมืองเหนือของสยาม พระมหาธรรมราชาแห่งพิษณุโลกหัวเมืองเหนือยินยอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าบุเรงนอง[12] และพระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2107 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกษัตริย์อยุธยาทรงยอมสงบศึกเป็นไมตรีต่อพระเจ้าบุเรงนอง[12] ต่อแต่มาไม่นานกรุงศรีอยุธยาเกิดความขัดแย้งกับหัวเมืองเหนือพิษณุโลก เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองส่งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง จนนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งในพ.ศ. 2112[12] อยุธยาตกเป็นประเทศราชของพม่า ในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองอาณาจักรพม่าเรืองอำนาจแผ่อิทธิพลและอาณาเขตไพศาล พระเจ้าบุเรงนองได้รับฉายาว่า"ผู้ชนะสิบทิศ" พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งให้พระโอรสคือเจ้าชายสาวัตถีนรธาเมงสอให้เป็นกษัตริย์เชียงใหม่มีอำนาจเหนือล้านนา

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในพ.ศ. 2124 พระโอรสพระมหาอุปราชขึ้นครองราชสมบัติพม่าต่อมาเป็นพระเจ้านันทบุเรง[12] จึงเข้าสู่ยุคเสื่อมอำนาจของอาณาจักรพม่าตองอู สมเด็จพระนเรศวรฯทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่าในพ.ศ. 2127[12] กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นอิสระจากอำนาจของพม่า พระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าส่งทัพพม่าเข้ามาปิดล้อมอยุธยาในพ.ศ. 2129 แต่ไม่สามารถพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ต้องถอยทัพกลับ[12] หลังจากนั้นทัพพม่าไม่รุกรานเข้ามาถึงชานกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี (จนกระทั่งสงครามพระเจ้าอลองพญา) พระเจ้านันทบุเรงส่งพระโอรสพระมหาอุปราชมังกยอชวายกทัพเข้ารุกรานสยามในพ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรฯทรงสามารถต้านทานและเอาชนะทัพพม่าได้ในการรบยุทธหัตถีพ.ศ. 2135 สังหารพระมหาอุปราชพม่าสิ้นพระชนม์ในที่รบ หลังจากสงครามยุทธหัตถีพม่าไม่เข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี (พงศาวดารพม่ากล่าวถึงการรุกรานสยามครั้งหนึ่งในสมัยของสมเด็จพระเพทราชาแต่ไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย) จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯทรงส่งทัพสยามเข้ายึดทวายและตะนาวศรีคืนจากพม่าในพ.ศ. 2136 และตีได้เมืองเมาะตะมะของชาวมอญในพ.ศ. 2137 พระเจ้าสาวัตถีนรธาเมงสอแห่งเชียงใหม่เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีชัยชนะต่อทัพพม่าผู้รุกราน ฝ่ายสยามกรุงศรีอยุธยากลับเป็นฝ่ายรุก สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้เมืองเมาะตะมะเป็นฐานในการโจมตีพม่า แต่ทว่ามอญเมืองเมาะตะมะได้เป็นกบฏต่อสยามในพ.ศ. 2142[12] สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จยกทัพปราบกบฏมอญที่เมาะตะมะ ในเวลาเดียวกันเจ้าเมืองตองอูร่วมมือกับอาณาจักรยะไข่เข้ายึดเมืองหงสาวดีได้สำเร็จ ปีต่อมาพ.ศ. 2143 สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพเข้าตีกรุงหงสาวดี ฝ่ายเมืองตองอูจึงนำพระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าไปไว้ที่เมืองตองอู ส่วนฝ่ายยะไข่นั้นเผาทำลายเมืองหงสาวดีลงแล้วกลับไป[12] สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จยกทัพติดตามไปจนถึงเมืองตองอู เข้าล้อมเมืองตองอู ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรทรงล้อมเมืองตองอูไม่สามารถตีหักเอาเมืองตองอูได้จึงเสด็จถอยทัพกลับ[12] ในปีเดียวกันนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงถูกนัตจินหน่องวางยาพิษปลงพระชนม์[12] สยามกรุงศรีอยุธยาจึงมีอำนาจปกครองทั้งล้านนาเมืองเมาะตะมะและทวายตะนาวศรีทั้งหมด

เมื่อสิ้นพระเจ้านันทบุเรงแล้ว อาณาจักรพม่าตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง มีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นสี่แห่งได้แก่อังวะแประตองอูและสีเรียม เจ้าชายนยองรามเจ้าเมืองอังวะยกทัพเข้าปราบปรามหัวเมืองไทใหญ่ในพ.ศ. 2146[12] สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยเมืองแสนหวีแต่ประชวรสวรรคตระหว่างเส้นทางเมื่อพ.ศ. 2148[12] เจ้าชายนยองรามแห่งอังวะก็ได้ประชวรสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้นเช่นกัน โอรสขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่พระนามว่าพระมหาธรรมราชาอะเนาะเพะลูน พระเจ้าอะเนาะเพะลูนเจ้าเมืองอังวะได้ปราบเมืองแปรตองอูและสีเรียม รวบรวมพม่าได้สำเร็จอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอะเนาะเพะลูนตั้งราชธานีที่เมืองหงสาวดีขึ้นอีกครั้งในพ.ศ. 2156 รวมทั้งยังเกลี้ยกล่อมเมืองเมาะตะมะให้เป็นของพม่าดังเดิม สามารถยึดเมืองทวายคืนได้[12]ในพ.ศ. 2157 และยึดเมืองเชียงใหม่และล้านนาคืนจากอยุธยาได้ในพ.ศ. 2158 หลังจากนั้นความขัดแย้งระหว่างพม่าและสยามเข้าสู่สภาวะคุมเชิงและสงบศึก ยุติลงที่พม่าปกครองล้านนาและทวายในขณะที่อยุธยาปกครองมะริดตะนาวศรี พระเจ้าตาลุนทรงย้ายราชธานีในพ.ศ. 2178 จากเมืองหงสาวดีในพม่าตอนล่างไปยังเมืองอังวะในพม่าตอนบน ทำให้ชาวมอญในพม่าตอนล่างเป็นอิสระและออกห่างจากการควบคุมของราชสำนักพม่าได้มากขึ้น

ในพ.ศ. 2204 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จักรพรรดิหย่งลี่แห่งราชวงศ์หมิงใต้เข้าลี้ภัยที่พม่าเมืองสะกาย เป็นเหตุให้จักรวรรดิจีนราชวงศ์ชิงส่งทัพเข้ารุกรานพม่าเพื่อตามตัวจักรพรรดิหย่งลี่ พระเจ้าเชียงใหม่มีความเกรงกลัวต่อทัพจีนจึงขอความช่วยเหลือจากราชสำนักอยุธยา ฝ่ายพม่าเกณฑ์ชาวมอญไปรบกับจีนแต่ชาวมอญไม่พอใจเกิดการกบฏของชาวมอญขึ้นที่เมาะตะมะ สมเด็จพระนารายณ์เสด็จกรีฑาทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2204 แต่เมืองเชียงใหม่หันกลับไปเข้ากับพม่าเนื่องจากพม่าสามารถต้านทานทัพจีนได้แล้ว พระเจ้าเบงตะเลกษัตริย์พม่าส่งทัพลงมาปราบกบฏชาวมอญแล้วล่วงเข้ารุกรานสยามทางด่านเจดีย์สามองค์ในพ.ศ. 2204 สมเด็จพระนารายณ์ฯจึงมีพระราชโองการให้พระยาสีหราชเดโช (ทิป) ยกทัพจากเชียงใหม่มาป้องกันทางกาญจนบุรี พระยาสีหราชเดโชตีทัพพม่าแตกพ่ายไปที่ไทรโยค[12] จากนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึงเสด็จยกทัพไปตีได้เมืองเชียงใหม่ในปลายปีพ.ศ. 2204 แล้วจึงส่งพระยาสีหราชเดโช (ทิป) และพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) นำทัพสยามเข้ารุกรานโจมตีเมืองทวายและเมาะตะมะของชาวมอญในพ.ศ. 2205 แต่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ยึดครองล้านนาเชียงใหม่และหัวเมืองมอญเป็นการถาวร เพียงแต่กวาดต้อนชาวเชียงใหม่และชาวมอญมาที่อยุธยาเท่านั้น หลังจากนั้นเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองมอญรวมทั้งทวายจึงกลับคืนแก่พม่า

ความเสื่อมและการล่มสลายของราชวงศ์ตองอู

ในพ.ศ. 2247 พระเจ้าจาไรรงบา (Charairongba) แห่งอาณาจักรคังเลปัก (Kangleipak) ได้ยกพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงชักปามาเคางัมบี (Chakpa Makhao Ngambi)[13] ให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสเน่ห์กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอู แต่ทว่าพระเจ้าสเน่ห์ได้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหญิงชักปามาเคางัมบี ไม่ได้ยกขึ้นเป็นพระมเหษีเอกตามที่ได้สัญญาไว้ ทำให้พระเจ้าจาไรรงบาแค้นเคืองตรอมพระทัยจนสิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2252 พระเจ้าจาไรรงบาได้สั่งเสียแก่พระโอรสพามเฮบา (Pamheiba) ว่าให้ทำการแก้แค้นแก่พม่าเมื่อมีโอกาส พามเฮบาขึ้นครองราชสมบัติต่อจากบิดาเป็นกษัตริย์แห่งคังเลปักพระองค์ต่อมา พระเจ้าพามเฮบาได้รับอิทธิพลจากกูรูชาวอินเดียชื่อว่าศานติทาส อธิการี (Shantidas Adhikari) ทำให้พระเจ้าพามเฮบาทรงรับเอาศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกายให้เป็นศาสนาประจำอาณาจักร เปลี่ยนชื่ออาณาจักรคังเลปักเป็นอาณาจักรมณีปุระ และแปลงพระนามเป็นภาษาเปอร์เซียพระนามว่าพระเจ้าการิบนิวาซ (Gharib Niwaz) ต่อมาในพ.ศ. 2259 กษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่คือพระเจ้าช้างเผือกตะนินกันเหว่ส่งทูตมาสู่ขอเจ้าหญิงมณีปุระเป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์พม่า พระเจ้าการิบนิวาซทรงจดจำคำสั่งเสียของพระบิดาได้มีความแค้นเคืองต่อพม่า จึงส่งกำลังไปทำร้ายและจับกุมคณะทูตพม่านั้น[13] กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามพม่า-มณีปุระ พระเจ้าการิบนิวาซแห่งมณีปุระยกทัพเข้าโจมตีสร้างความเสียหายแก่หัวเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ในลุ่มแม่น้ำชี่นดวี่นและแม่น้ำมู ได้แก่เมืองปิดู่ (Myedu) เมืองดีเปเยียง (Tabayin) เมืองมินกิน (Mingin) การรุกรานของมณีปุระทำให้พม่าเสื่อมอำนาจลง ในพ.ศ. 2270 เจ้าองค์คำแห่งเชียงใหม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของพม่าได้สำเร็จ ในพ.ศ. 2277 พระเจ้าการิบนิวาซยกทัพเข้ายึดรัฐไทใหญ่เมืองก้องซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า กูรูศานติทาสทูลกษัตริย์มณีปุระว่าแม่น้ำอิระวดีเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์หากได้สรงน้ำในแม่น้ำอิระวดีนั้นจะเป็นสิริมงคล ในพ.ศ. 2282 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิบดีกษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูพระองค์สุดท้าย พระเจ้าการิบนิวาซยกทัพมณีปุระเข้ามายึดและเผาทำลายเมืองสะกาย ซึ่งอยู่เพียงฝั่งตรงข้ามแม่น้ำอิระวดีจากกรุงอังวะไปเท่านั้น แต่พระเจ้าการิบนิวาซไม่ได้เข้าโจมตีเมืองอังวะ เพียงแต่ประกอบพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำอิระวดีตามคำแนะนำของกูรู ในปีต่อมาพ.ศ. 2283 ฝ่ายพม่าได้บรรลุข้อตกลงสงบศึกกับพระเจ้าการิบนิวาซ จนกษัตริย์มณีปุระถอยทัพกลับไปในที่สุด

หลังจากที่พม่าได้ย้ายราชธานีจากเมืองหงสาวดีของชาวมอญไปยังเมืองอังวะแล้ว ราชสำนักพม่าได้ส่งเมี้ยวหวุ่นหรือผู้ปกครองชาวพม่ามาปกครองชาวมอญที่เมืองหงสาวดีแทนที่ แต่ชาวมอญเป็นอิสระจากการควบคุมของพม่ามากขึ้น ในพ.ศ. 2280 มังสาอ่อง ขุนนางชาวพม่าได้มาเป็นเมี้ยวหวุ่นเจ้าเมืองหงสาวดี[14] มังสาอ่องทำการขูดรีดภาษีชาวมอญอย่างหนักสร้างความไม่พอใจแก่ชาวมอญ ในพ.ศ. 2283 เมื่อกรุงอังวะกำลังประสบภัยการรุกรานจากมณีปุระนั้น มองส่าอ่องเห็นเป็นโอกาสจึงกบฏขึ้นที่หงสาวดีประกาศตนเองเป็นเจ้าอิสระ "ธอระแซงมู"ขุนนางมอญไปกราบทูลพระเจ้าอังวะว่ามังสาอ่องเป็นกบฏ[14] พระเจ้าอังวะทรงส่งมังมหาราชาหรือมังรายจอข่อง[14] เป็นแม่ทัพพม่าลงมาปราบมังสาอ่อง จับตัวมังสาอ่องไปประหารชีวิต จากนั้นพระเจ้าอังวะทรงแต่งตั้ง"มองซวยเยนรธา"เป็นเจ้าเมืองหงสาวดีคนใหม่ แต่ทว่าชาวมอญได้ร่วมมือกับ"ชาวกวย" (ชาวไทใหญ่ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่พม่าตอนล่าง หรืออาจหมายถึงชาวกะเหรี่ยง) กบฏต่ออังวะในพ.ศ. 2283 โดยมีผู้นำคือพระภิกษุชาวกวยชื่อว่าสมิงทอ (พงศาวดารมอญระบุว่าสมิงทอเป็นชาวกวย แต่พงศาวดารพม่าระบุว่าสมิงทอเดิมเป็นโอรสของเจ้าพุกาม เจ้าชายพม่าซึ่งได้เคยกบฏแล้วหนีไป)[12] ธอระแซงมูสังหารมองซวยเยนรธาเจ้าเมืองหงสาวดีคนใหม่ ยกเมืองหงสาวดีให้แก่สมิงทอและยกย่องสมิงทอขึ้นเป็นกษัตริย์หงสาวดีพระเจ้าทอพุทธเกษ[14] ก่อตั้งฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญขึ้นใหม่ ในพม่าตอนล่าง สมิงทอแต่งตั้งให้ธอระแซงมูเป็นเสนาบดีดำรงตำแหน่งเป็นพญาทะละและสมรสกับบุตรสาวของพญาทะละเป็นพระมเหสี[14] จากนั้นสมิงทอจึงยกทัพมอญเข้าโจมตีเมืองแปร เจ้าเมืองเมาะตะและเจ้าเมืองทวายเกรงว่าชาวมอญจะเข้าโจมตี จึงหลบหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกษัตริย์อยุธยา[14] ฝ่ายกษัตริย์พม่าเมื่อทรงทราบว่าเจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายได้หลบหนีเข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา จึงแต่งทูตเดินทางมาถึงอยุธยาในพ.ศ. 2287 กราบทูลขอตัวเจ้าเมืองทั้งสองคืนแก่อังวะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงแต่งคณะทูตนำโดยพระยายมราชเป็นราชทูต พระธนบุรีเป็นอุปทูต[12] เป็นคณะทูตสยามนำตัวเจ้าเมืองทั้งสองไปถวายคืนแก่พระเจ้าอังวะ คณะทูตสยามได้แสดงท่าทีสนับสนุนพม่าและเป็นปฏิปักษ์ต่อมอญ[14] ทำให้สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีเกรงว่าจะถูกฝ่ายกรุงศรีอยุธยาตีกระหนาบจากด้านหลังจึงถอยทัพออกจากเมืองแปรในที่สุด พงศาวดารไทยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยาและพม่าในช่วงเวลานี้เป็นไปด้วยความไมตรี แต่เอกสารพม่าระบุว่าราชสำนักพม่าไม่ไว้วางใจคณะทูตสยาม และสงสัยว่าสยามอาจให้ความช่วยเหลือแก่มอญ

สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีนั้น เดิมมีพระมเหสีอยู่แล้วองค์หนึ่งคือนางคุ้งเป็นบุตรสาวของพญาทะละกรมช้าง (เดิมคือ"ธอระแซงมู") ในพ.ศ. 2287 สมิงทอได้สู่ขอพระธิดาจากเจ้าองค์คำแห่งเชียงใหม่มาเป็นพระมเหสีองค์ที่สอง[14] ชื่อว่า นางสอิ้งทิพ[12]หรือนางเทพวิลา สมิงทอโปรดปรานนางเทพวิลามเหสีเชียงใหม่มากกว่าทำให้พระมเหสีเดิมไม่พอพระทัย จึงนำความไปฟ้องต่อพญาทะละผู้เป็นบิดา พญาทะละจึงมีความไม่พอใจต่อสมิงทอ ในพ.ศ. 2289 เมื่อสมิงทอออกไปคล้องช้างอยู่นั้น พญาทะละเสนาบดีทำการยึดอำนาจที่กรุงหงสาวดี ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์หงสาวดีแทนที่สมิงทอ (เอกสารพม่าระบุว่าพญาทะละดั้งเดิมอาจเป็นหมอช้างชาวฉาน ชาวยวนล้านนา? จากเชียงใหม่ที่ได้อพยพมาอยู่หงสาวดี) พญาทะละแต่งตั้งให้น้องชายชื่อว่าธอลองเป็นอุปราช[14] จากนั้นในปีเดียวกันพญาทะละส่งให้อุปราชธอลองยกทัพขึ้นไปยึดเมืองแปรและตองอูของพม่าได้สำเร็จ[14] ฝ่ายสมิงทอหลบหนีไปเชียงใหม่ นำกำลังชาวกะเหรี่ยงมากอบกู้ราชสมบัติคืนจากพญาทะละในปีต่อมาพ.ศ. 2290 แต่ไม่สำเร็จ พ่ายแพ้ทำให้สมิงทอต้องหลบหนีมายังกรุงศรีอยุธยาขอพึ่งพระโพธิสมภารพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ[14] ต่อมาในพ.ศ. 2292 พระเจ้าการิบนิวาซกษัตริย์มณีปุระทรงสละราชสมบัติให้แก่พระโอรสคือพระเจ้าจิตไซ (Chitsai) จากนั้นพระเจ้าการิบนิวาซยกทัพเข้ามายังกรุงอังวะเพื่ออภิเษกพระนัดดาเจ้าหญิงมณีปุระถวายกษัตริย์พม่าเป็นบาทบริจาริกา[15] เมื่อสิ้นหนทาง พระมหาธรรมราชาฯพระเจ้าอังวะจึงทรงแต่งเครื่องบรรณาการไปมอบให้แก่ข้าหลวงมณฑลยูนนานในพ.ศ. 2293 ร้องขอทัพจีนมาช่วยเหลือ ทัพจีนราชวงศ์ชิงเข้ามาช่วยเหลือพม่าแต่เห็นว่าทัพพม่าขาดประสิทธิภาพจึงกลับไป พระเจ้าจิตไซกษัตริย์มณีปุระองค์ใหม่ทรงขับไล่พระบิดาคือพระเจ้าการิบนิวาซออกจากราชธานีกรุงอิมผาลในพ.ศ. 2293 จนพระเจ้าการิบนิวาซต้องเสด็จลี้ภัยมายังกรุงอังวะของพม่า[15] ในพ.ศ. 2294 ราชสำนักหงสาวดีทำสนธิสัญญากับผู้แทนฝรั่งเศส ชื่อว่าเดอบริวโน (Sieur de Bruno) ยินยอมให้ฝรั่งเศสจัดตั้งกองกำลังที่เมืองสิเรียม โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้ฝรั่งเศสส่งมอบอาวุธได้แก่ปืนใหญ่และปืนคาบศิลาให้แก่หงสาวดีเป็นการตอบแทน ฝ่ายมอญจึงมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าของพม่าอังวะ ขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังมีความขัดแย้งกัน อังกฤษจึงตอบโต้ด้วยการยกทัพเข้ายึดเมืองท่าเนกราย (Negrais) ใกล้กับเมืองสีเรียมในพ.ศ. 2296

ในพ.ศ. 2294 พญาทะละจัดทัพใหญ่ให้อุปราชคุมทัพเรือจำนวน 20,000 คน ให้ตาละปั้นคุมทัพหน้า 7,000 คน[14] ยกขึ้นไปตามลำน้ำอิระวดีเพื่อตีเมืองอังวะ ฝ่ายพม่าแม่ทัพมังมหาราชาตั้งรับมอญที่เมืองแปรแต่พ่ายแพ้ถอยไป ฝ่ายมอญสามารถยึดเมืองพุกามล่วงขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะในต้นปีพ.ศ. 2295 ฝ่ายพม่าพ่ายแพ้การรบหลายครั้งหมดสิ้นเสบียงอาหารและกำลังพล จนกระทั่งทัพชาวมอญและชาวกวย นำโดยอุปรายธอลองและแม่ทัพตาละปั้น สามารถเข้ายึดเมืองอังวะราชธานีพม่าได้ในที่สุด ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2295 พระมหาธรรมราชาธิบดี พระเจ้าอังวะกษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูพระองค์สุดท้าย ทรงยินยอมให้จับกุมแต่โดยดี อุปราชมอญมีคำสั่งให้เผาทำลายเมืองอังวะลง กวาดต้อนเชื้อพระวงศ์อังวะรวมทั้งชาวพม่าจำนวนกว่า 20,000 คน ลงไปไว้ที่หงสาวดี และมอบหมายให้ตาละปั้นเป็นผู้รักษาการที่อังวะ เนื่องจากฝ่ายมอญกังวลว่าหากสู้รบในพม่าตอนบนอยู่นานฝ่ายสยามกรุงศรีอยุธยาจะถือโอกาสยกมาโจมตีเมืองเมาะตะมะ ฝ่ายพระเจ้าการิบนิวาซอดีตกษัตริย์มณีปุระซึ่งได้ประทับอยู่ที่กรุงอังวะ เมื่อเสียกรุงอังวะแล้วพระเจ้าการิบนิวาซเสด็จกลับไปยังเมืองมณีปุระแต่พระโอรสคือพระเจ้าจิตไซเกรงว่าพระบิดาจะกลับมาทวงอำนาจคืน จึงส่งคนไปลอบสังหารปลงพระชนม์พระเจ้าการิบนิวาซเสียกลางทาง[15]

รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยามเมื่อพ.ศ. 2231 พระเพทราชาปราบดิภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยาก่อตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ในสมัยราชวงส์บ้านพลูหลวงเกิดกบฏขึ้นหลายครั้งได้แก่กบฏธรรมเถียรพ.ศ. 2232 กบฏนครราชสีมาพ.ศ. 2242 และกบฏนครศรีธรรมราชพ.ศ. 2243 ที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถปราบลงได้[16] กษัตริย์อยุธยาราชวงศ์บ้านพลูหลวงจึงมีนโยบายขยายอำนาจของราชสำนักส่วนกลางออกไปยังหัวเมือง[17] โดยการให้สมุหนายกควบคุมหัวเมืองฝ่ายเหนือ และให้สมุหกลาโหมควบคุมหัวเมืองฝ่ายใต้ แต่นโยบายนี้สุดท้ายแล้วทำให้ราชสำนักอยุธยาสูญเสียอำนาจในหัวเมือง[17] ราชสำนักอยุธยาไม่สามารถควบคุมกำลังพลในหัวเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีข้าศึกรุกรานราชสำนักอยุธยาจึงไม่สามารถเรียกเกณฑ์กำลังพลมาป้องกันพระนครได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับนโยบายลดอำนาจหัวเมืองทำให้หัวเมืองมีกำลังไม่เพียงพอไม่สามารถเป็นปราการหน้าด่านสำหรับพระนครได้ ยุทธวิถีการรับศึกพม่าจึงเป็นการตั้งรับศึกอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาแต่เพียงเท่านั้น ระบบการปกครองของอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น เป็นไปเพื่อการสร้างเสถียรภาพภายในและป้องกันการกบฏเป็นหลัก ไม่ได้เป็นไปเพื่อการตั้งรับการรุกรานจากภายนอก[17] ในขณะเดียวกันการค้าสำเภาระหว่างอยุธยากับจีนราชวงศ์ชิงรุ่งเรืองขึ้น เนื่องจากจีนประสบปัญหาขาดแคลนข้าวโดยเฉพาะในภาคใต้ของจีน ในเวลานั้นราชสำนักจีนมีนโยบายไห่จิ้น (海禁) คือห้ามค้าขายกับต่างประเทศโดยเด็ดขาด ราชสำนักอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระได้ทดลองนำข้าวขนส่งไปกับเรือบรรณาการไปขายที่เมืองกวางตุ้งในพ.ศ. 2265 พระจักรพรรดิคังซีมีพระราชานุญาตให้สยามเข้ามาขายข้าวเป็นกรณีพิเศษ ต่อมาในพ.ศ. 2270 พระจักรพรรดิยงเจิ้งทรงประกาศยกเลิกนโยบายไห่จิ้นทำให้ชาวจีนสามารถค้าขายต่างประเทศได้อย่างอิสระ สยามค้าขายข้ามกับจีนผ่านระบบบรรณาการรวมทั้งพ่อค้าจีนเอกชน สร้างรายได้ให้แก่ราชสำนักอยุธยาและไพร่ที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออก[18]

ในพ.ศ. 2273 มีผู้นำหนังสือสอนศาสนาของมิชชันนารีฝรั่งเศส ซึ่งแต่งขึ้นโดยสังฆราชลาโน ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเปรียบเทียบระหว่างศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ และแต่งโดยใช้ภาษาไทยและภาษาบาลีอักษรขอมไทย ถวายแด่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯเจ้าฟ้าพร เป็นเหตุให้ราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีความสงสัยว่ามิชชันนารีฝรั่งเศสแต่งหนังสือโจมตีพุทธศาสนา และพระเจ้าอยู่ท้ายสระมีพระราชโองการห้ามมิชชันนารีสอนศาสนาด้วยภาษาไทยหรือภาษาบาลีอักษรขอมไทย ห้ามมิให้มิชชันนารีสอนศาสนาแก่ชาวสยาม ชาวมอญ และชาวลาว (ล้านนา) ห้ามมิให้มิชชันนารีชักชวนให้ชาวไทยมอญลาวเข้ารีตเป็นคริสเตียน และห้ามมิให้มิชชันนารีติเตียนพระพุทธศาสนา[19] ทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้ทำศิลาประกาศพระราชโองการนี้ปักไว้ที่โบสถ์เซนต์โยเซฟในอยุธยา[19]

ในพ.ศ. 2276 ก่อนสวรรคตพระเจ้าท้ายสระทรงยกราชสมบัติให้แก่พระโอรสเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ แทนที่จะทรงมอบให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเจ้าฟ้าพรพระอนุชา ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในอยุธยาระหว่างเจ้าฟ้าพรและเจ้าฟ้าอภัยเจ้าปรเมศร์ ในชั้นแรกฝ่ายวังหน้าถูกทัพฝ่ายวังหลวงตีแตกถอยร่น จนกระทั่งขุนชำนาญชาญณรงค์ขุนนางวังหน้าได้ทูลอาสานำทัพออกไปรบกับฝ่ายวังหลวง สุดท้ายขุนขำนาญสามารถเอาชนะทัพฝ่ายวังหลวงได้ เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าปรเมศร์ถูกจับกุมและสำเร็จโทษประหารชีวิต เจ้าฟ้าพรทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงแต่งตั้งให้ขุนชำนาญผู้มีความดีความชอบให้เป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ที่ตำแหน่งพระคลังและเป็นเสนาบดีผู้มีอำนาจ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอยุธยาประสบปัญหาขาดแคลนกำลังพลเนื่องจากความเสื่อมของระบบการเกณฑ์ไพร่ ทรงตั้งกรมเจ้านายขึ้นหลายกรมเพื่อควบคุมกำลังพลของเจ้านายแต่ละพระองค์ เป็นการป้องกันการแย่งชิงราชสมบัติ เศรษฐกิจการส่งออกข้าวไปจีนที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นทำให้ไพร่มีรายได้มากขึ้นจากการค้าขายนำไปสู่กำเนิด"ไพร่มั่งมี"[18] หรือคหบดีชนชั้นกลางขึ้น ไพร่จึงหลีกเลี่ยงการเกณฑ์แรงงานออกไปทำผลผลิตค้าขายสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง บรรดาไพร่ไม่ต้องการเป็นไพร่หลวงเนื่องจากถูกใช้งานหนักจึงหลีกเลี่ยงไปเป็นไพร่สมตามกรมเจ้านายแทน ทำให้ระบบการควบคุมกำลังพลของอยุธยาเสื่อมถอยลง ในพ.ศ. 2285 พระยาราชภักดี (สว่าง) สมุหนายก ได้ออกเกลี้ยกล่อมบรรดาไพร่ที่หลบหนีตามแขวงเมืองต่างๆในภาคกลางตอนล่าง สามารถเกลี้ยกล่อมไพร่ให้กลับเข้ารับราชการได้เป็นจำนวนหลายหมื่นคน[20]

รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศตรงกับช่วงปลายสมัยราชวงศ์ตองอูของพม่า ในพ.ศ. 2285 เจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายหลบหนีกบฏมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารฯ เจ้าเมืองทั้งสองกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า "สมิงทอคนหนึ่งเป็นชาติถ่อย คบคิดกันกับพระยาทละกรมช้างกบฏต่อพระเจ้าอังวะ"[21] พ.ศ. 2287 พระมหาธรรมราชาธิบดีกษัตริย์พม่าพระเจ้าอังวะทรงส่งทูตพม่ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเพื่อกราบทูลขอตัวเจ้าเมืองพม่าทั้งสองนั้นกลับไป พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงแต่งคณะทูตมีพระยายมราชเป็นราชทูต พระธนบุรีเป็นอุปทูต[12] เดินทางนำเจ้าเมืองทั้งสองกลับไปพม่า ทูตสยามประกาศสนับสนุนฝ่ายพม่าและให้ทูตพม่าปล่อยข่าวออกไป ทำให้สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีซึ่งขณะนั้นกำลังโจมตีเมืองแปรอยู่ เกรงว่าจะถูกสยามโจมตีจากทางตะนาวศรีจึงถอยทัพออกจากเมืองแปร สมิงทอต้องการสานสัมพันธ์กับอยุธยาเพื่อรักษาชายแดนด้านตะนาวศรีให้ปลอดภัย[14] จึงส่งผู้แทนมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อทูลสู่ขอพระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปเป็นมเหสี ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศทรงพระพิโรธ "อ้ายสมิงธอนี้ มันเป็นชาติกวย เมื่อครั้งมันได้นั่งเมืองหงสาวดีนั้น มันจัดให้มาขอลูกสาวเราใจกำเริบมันไม่คิดถึงตัวมันว่าไม่ใช่เชื้อกษัตริย์"[21]

ต่อมาพ.ศ. 2289 สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีถูกพญาทะละเสนาบดียึดอำนาจ จนสุดท้ายสมิงทอจำต้องเดินทางลี้ภัยมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯทรงให้จำคุกสมิงทอด้วยข้อหาบังอาจมาทูลขอพระธิดา พระยาพระราม พระยากลางเมือง และพระยาน้อยวันดี แม่ทัพมอญผู้ภักดีต่อสมิงทอ ได้อพยพนำชาวมอญจำนวน 400 คน[14][20] เข้ามายังอยุธยา พระราชทานให้ชาวมอญอพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่โพธิ์สามต้น[20]ทางเหนือของอยุธยา ปีต่อมาพ.ศ. 2290 พญาทะละกษัตริย์หงสาวดีองค์ใหม่ส่งทูตมากรุงศรีอยุธยา ขอต้วสมิงทอคืนไม่ให้กรุงศรีอยุธยาเลี้ยงดูสมิงทอไว้ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเมตตาสมิงทอจึงตัดสินพระทัยให้จับสมิงทอใส่โซ่ตรวนลงเรือสำเภาจีนเนรเทศไปเมืองกวางตุ้ง โดยมีทูตมอญเป็นสักขีพยาน[14] พญาทะละกษัตริย์มอญไม่พอใจที่สยามไม่ยอมส่งมอบตัวสมิงทอให้แต่ไม่สามารถทำอย่างไรได้เนื่องจากต้องการรักษาสัมพันธ์กับสยาม[14] สุดท้ายแล้วสมิงทอหลบหนีออกจากเรือที่เมืองญวน สามารถเดินทางไปยังเมืองเชียงใหม่อยู่กับเจ้าองค์คำเจ้าเชียงใหม่ผู้เป็นพ่อตา ในพ.ศ. 2293 สมิงทอขอกำลังจากเจ้าเชียงใหม่ไปกอบกู้ราชสมบัติหงสาวดีคืนแต่เจ้าเชียงใหม่ไม่เห็นชอบด้วย[14] ในปีเดียวกันนั้น พระยาพระรามหัวหน้าชาวมอญที่โพธิ์สามต้น อาจได้ข่าวว่าสมิงทอมีความเคลื่อนไหว จึงนำปืนสยามพร้อมกำลังมอญบางส่วนลักลอบหลบหนีออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์เพื่อช่วยเหลือสมิงทอแต่ถูกจับได้ที่บางแก้วราชบุรี พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตพระยาพระรามพร้อมพรรคพวก[20]

กำเนิดราชวงศ์คองบอง

พระเจ้าอลองพญาทรงสร้างพระราชวังชเวโบขึ้นในพ.ศ. 2296 เป็นราชธานีที่หมู่บ้านมุกโซโบเดิม พระราชวังชเวโบปัจจุบันบูรณะสร้างขึ้นใหม่เมื่อพ.ศ. 2542

อองไจยะ (Aung Zeiya) หรือ อ่องชัย เกิดที่หมู่บ้านมุกโซโบในลุ่มแม่น้ำมู[22] ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอังวะ เมื่อพ.ศ. 2259 พงศาวดารพม่าระบุว่าอ่องชัยมาจากวงศ์ตระกูลเป็นขุนนางท้องถิ่นแต่หลักฐานอื่นระบุว่าเดิมเป็นนายพราน เมื่อเติบโตขึ้นอ่องชัยรับราชการเป็นนายบ้านมุกโซโบ เมื่ออุปราชธอลองนำทัพมอญเข้าล้อมกรุงอังวะในพ.ศ. 2295 นั้น อุปราชาหงสาวดีได้ประกาศให้ชาวพม่าในพม่าตอนบนทั้งปวงเข้ามาสวามิภักดิ์ถือน้ำ อ่องชัยซึ่งเป็นเจ้าภาษีได้ปกครองหมู่บ้านจำนวนสี่สิบหกหมู่บ้านในลุ่มแม่น้ำมู เป็นหนึ่งในขุนนางพม่าที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อมอญ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2295 หนึ่งเดือนก่อนเสียกรุงอังวะ[22] อ่องชัยได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอลองพญา แปลว่า พระโพธิสัตว์ เมื่อเสียกรุงอังวะให้แก่มอญในเดือนมีนาคม พระเจ้าอลองพญาทรงแปลงนามหมู่บ้านมุกโซโบเป็นเมืองรัตนสิงห์ (Yadana Theingka) หรือเมืองชเวโบ (Shwebo) หรือเมืองอยุชฌปุระรัตนสิงห์คองบองชเวปยีจี (Ayujjhapura Rattanasingha Konbaung Shwe Pyi Gyi)[23] ทรงให้สร้างป้อมตั้งค่ายขุดคูเมืองที่ชเวโบเตรียมรับศึกมอญ ฝ่ายอุปราชหงสาวดีเกรงว่ากรุงศรีอยุธยาจะตีกระหนาบหลังทางทวาย[24] หลังจากพิชิตพม่ากรุงอังวะได้สำเร็จแล้วจึงรีบนำทัพกลับลงไปหงสาวดี ตั้งให้ตาละปั้นเป็นผู้รักษาเมืองอังวะ ตาละปั้นส่งกองกำลังมอญมาสู้รบพระเจ้าอลองพญาแต่ไม่สำเร็จถูกตีแตกพ่าย ในเดือนมิถุนายน[24] ตาละปั้นแม่ทัพมอญยกทัพมาด้วยตนเองเข้าโจมตีเมืองรัตนสิงห์ชเวโบแต่พ่ายแพ้ พระเจ้าอลองพญาทรงปราบปรามชุมนุมต่างๆในพม่าตอนบนรวบรวมชาวพม่าให้เป็นเอกภาพในการกอบกู้บ้านเมืองจากมอญ ในปลายปีพ.ศ. 2296 พระเจ้าอลองพญาทรงให้มังระราชบุตร (ต่อมาคือพระเจ้ามังระ) ยกทัพพม่าเข้าโจมตีล้อมเมืองอังวะ จนสามารถยึดเมืองอังวะคืนจากมอญได้สำเร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2297 อุปราชมอญและแม่ทัพตาละปั้นยกจากหงสาวดียกขึ้นมาล้อมกรุงอังวะแต่ไม่สำเร็จ เจ้าชายมังระสามารถรักษาอังวะไว้ได้ ในเวลานั้นชาวพม่าที่เมืองแปรได้ลุกฮือขึ้นและขับไล่มอญออกจากเมือง ตาละปั้นยกเข้าล้อมเมืองแปร แต่พระเจ้าอลองพญาทรงตีทัพตาละปั้นขับไล่ออกไปจากแปรได้ในพ.ศ. 2298[24] ทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงมีอำนาจลงไปจรดถึงเมืองแปร

ราชสาส์นทองคำ ที่พระเจ้าอลองพญาทรงส่งถึงพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่ ในพ.ศ. 2299 ปัจจุบันอยู่ที่ห้องสมุดก็อทฟรีทวิลเฮ็ล์มไลบ์นิทซ์ (Gottfried Wilheim Leibniz Library) เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมันนี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลก (UNESCO Memory of the World) ในพ.ศ. 2558

พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพเข้ารุกรานยึดครองพม่าตอนล่างปากแม่น้ำอิระวดีอย่างรวดเร็ว ในพ.ศ. 2298 พระเจ้าอลองพญาทรงโจมตีเมืองตะโก้ง ในเวลานั้นชาวมอญได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสนำโดยนายบริวโนผู้แทนฝรั่งเศส ทัพฝ่ายมอญมีความได้เปรียบเนื่องจากมียุทโธปกรณ์ตะวันตกที่ทันสมัยได้รับจากฝรั่งเศส พระเจ้าอลองพญาทรงร้องขออาวุธปืนจากอังกฤษที่มีเนกราย[22] แต่ยังไม่ทันส่งมอบอาวุธพระเจ้าอลองพญาทรงยึดได้เมืองตะโก้งเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองร่างกุ้ง หลังจากนั้นพระเจ้าอลองพญาจึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองสิเรียมในเดือนพฤษภาคม เมืองสิเรียมของมอญเป็นเมืองที่มีป้อมปราการแข็งแรงและมีอาวุธทันสมัย เนื่องจากมีทั้งชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสตั้งสถานีการค้าอยู่ ฝ่ายอังกฤษซึ่งในขณะนั้นมีความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในสงครามเจ็ดปี จึงตัดสินใจให้การสนับสนุนแก่พระเจ้าอลองพญา แต่พระเจ้าอลองพญาทรงไม่ไว้วางพระทัยอังกฤษเนื่องจากทราบว่ามีเรือรบอังกฤษชื่อว่าอาร์โคต (Arcot) ได้ร่วมรบในฝ่ายมอญ[22]ที่สิเรียม ในปลายปีพ.ศ. 2298 พระเจ้าอลองพญาเกรงว่าจะถูกมณีปุระและไทใหญ่โจมตีด้านเหนือ จำต้องจัดทัพล้อมเมืองสิเรียมไว้แล้วเสด็จขึ้นไปเมืองอังวะ ส่งทัพพม่าเข้าปราบมณีปุระในพ.ศ. 2298 สร้างความเสียหายแก่มณีปุระ เหตุการณ์นี้ถูกขนานนามว่า "ความเสียหายครั้งที่หนึ่ง" (Koolthakahalba)[25] ของมณีปุระ เมื่อปราบมณีปุระแล้วพระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จกลับลงมาที่สิเรียมในต้นปีพ.ศ. 2299 การล้อมเมืองสิเรียมกินเวลากว่าสิบเอ็ดเดือน[14] นายบริวโนแม่ทัพฝรั่งเศสขอกำลังเสริมจากเมืองปอนดีเชอรี จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม กลางปีพ.ศ. 2299 พระเจ้าอลองพญาทรงเกรงว่ากำลังหนุนฝรั่งเศสจะมาถึง จึงจัดตั้ง"กองกำลังผู้กล้าแห่งสิเรียม" (Golden Company of Syriam)[26] ประกอบด้วยผู้กล้าจำนวน 93 คน สละชีพรับกระสุนปืนฝรั่งเศสเป็นทัพหน้าเพื่อเปิดทางให้แก่ทัพพม่า จนพระเจ้าอลองพญาทรงสามารถตีเมืองสิเรียมแตกได้ในที่สุด เมื่อเรือบรรทุกอาวุธฝรั่งเศสมาถึงเมืองสิเรียม สามวันหลังจากเสียเมือง พระเจ้าอลองพญาทรงบังคับให้นายบริวโนเขียนจดหมายให้นายเรือฝรั่งเศสนำเรือเข้ามา[24] แล้วฝ่ายพม่าได้เข้ายึดเรือฝรั่งเศสทั้งสองนั้น ได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ปืนใหญ่และปืนคาบศิลาที่ทันสมัยจำนวนมากมาไว้ในครอบครอง หลังจากนั้นพระเจ้าอลองพญาทรงประหารชีวิตนายบริวโนชาวฝรั่งเศสด้วยการย่างไฟ

การที่พระเจ้าอลองพญายึดเมืองสีเรียมได้เป็นการทำลายที่มั่นของฝรั่งเศสในการช่วยเหลือมอญหงสาวดี หลังจากพักค้างฤดูฝนพระเจ้าอลองพญาทรงยกทัพเข้าล้อมเมืองหงสาวดีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2299 ฝ่ายหงสาวดีพญาทะละกษัตริย์หงสาวดีและอนุชาคืออุปราชธอลองยินยอมเจรจาสงบศึกเป็นประเทศราชของพม่าแต่โดยดี พญาทะละส่งบุตรสาวของตน ซึ่งตาละปั้นหมายมั่นว่าจะแต่งงานด้วย ให้อุปราชนำไปถวายพระเจ้าอลองพญา พระเจ้าอลองพญาทรงคุมตัวอุปราชไว้ ทำให้แม่ทัพตาละปั้นไม่พอใจและไม่เห็นด้วยไม่ต้องการสงบศึกกับพม่า จึงออกโจมตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางเมืองสะโตงไปยังเชียงใหม่ พระเจ้าอลองพญาดำริว่าฝ่ายหงสาวดีหลงกลแล้วจึงตรัสว่าฝ่ายหงสาวดีสงบศึกแล้วแต่กลับเสียสัจจะส่งตาละปั้นออกมารบอีก จึงส่งทัพเข้าโจมตีเมืองหงสาวดีอีกครั้ง การล้อมเมืองหงสาวดีกินเวลาประมาณหกเดือน จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2300 ฝ่ายพม่าสามารถเข้ายึดเมืองหงสาวดีได้ พระเจ้าอลองพญาทรงช้างเสด็จเข้าเมืองหงสาวดีทางประตูเมืองยางทิศใต้ จับกุมพญาทะละกษัตริย์หงสาวดีได้ พระเจ้าอลองพญาพิโรธที่ฝ่ายมอญได้ปลงพระชนม์พระมหาธรรมราชาธิบดีอดีตกษัตริย์พม่า[14] (พงศาวดารมอญระบุว่าพระมหาธรรมราชาฯประชวรสิ้นพระชนม์ ส่วนหลักฐานพม่าระบุว่าพญาทะละมีคำสั่งให้ปลงพระชนม์) พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้เผาทำลายเมืองหงสาวดีที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองลงอย่างราบคาบ และให้ฆ่าพระสงฆ์มอญกว่าพันรูปเนื่องจากพิโรธว่าพระสงฆ์มอญทำมงคลตะกรุดประเจียดลงยันต์ให้แก่ทหารมอญถือว่าศีลขาดแล้ว[14] จากนั้นพระเจ้าอลองพญาทรงกวาดต้อนชาวมอญหงสาวดี พร้อมทั้งพญาทะละและอุปราชไปไว้ที่เมืองร่างกุ้ง นับจากนั้นเมืองร่างกุ้งจึงกลายเป็นศูนย์กลางของพม่าตอนล่างแทนที่เมืองหงสาวดี พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้อังกฤษเมืองเนกรายมาเข้าเฝ้าที่เมืองแปร โธมัส เลสเตอร์ (Thomas Lester) ผู้แทนอังกฤษจากเนกรายจึงเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญา[22] นายเลสเตอร์ต้องถอดรองเท้าคลานเข่าเข้าหากษัตริย์พม่า[22] นำไปสู่ข้อตกลงสนธิสัญญาอังกฤษ-พม่า พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญาทรงอนุญาตให้อังกฤษตั้งสถานีการค้าที่เนกรายและพะสิม โดยที่อังกฤษตอบแทนด้วยการส่งดินดำให้แก่ราชสำนักพม่าทุกปี[22]

ความขัดแย้งภายในอยุธยา

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่กรรมในพ.ศ. 2269 ทำให้เกิดสูญญากาศทางอำนาจภายในราชสำนักอยุธยา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ ทรงมีอำนาจขึ้น ทรงสามารถลงพระอาญาเฆี่ยนพระยากลาโหม (ปิ่น) จนเสียชีวิต กรมพระราชวังบวรฯทรงเผชิญกับการท้าทายอำนาจจากเจ้าสามกรม ประกอบด้วย กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯซึ่งประสูติแต่พระสนม ในพ.ศ. 2298 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแต่งตั้งเสนาบดีได้แก่;[20]

  • พระยาราชสุภาวดีบ้านประตูจีน เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาว่าที่สมุหนายก
  • พระยาธรรมไตรโลกบ้านคลองแกลบ เป็น เจ้าพระยามหาเสนาบดีสมุหกลาโหม
  • พระยาบำเรอภักดิ์ เป็น พระยารัตนาธิเบศร์ว่าที่กรมวัง

พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรฯประชวรเป็นพระโรคสำหรับบุรุษไม่ได้เข้าเฝ้าถึงสามปีเศษ เจ้าสามกรมแต่งตั้งข้าในกรมให้มียศเป็นขุนสูงเกินกว่าศักดิ์ กรมพระราชวังบวรฯมีพระบัณฑูรให้นำตัวข้าในกรมของเจ้าสามกรมมาลงพระอาญาโบยหลัง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2299 กรมพระราชวังบวรฯนำกำลังเข้าล้อมจับกุมกรมหมื่นสุนทรเทพ[27] กรมหมื่นสุนทรเทพหลบหนีไปได้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ ทูลฟ้อง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมาเข้าเฝ้า แต่กรมพระราชวังบวรกลับยกกองกำลังพร้อมอาวุธ ถือดาบพระแสงมาเข้าเฝ้า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธมีพระราชโองการให้กุมขังกรมพระราชวังบวรฯ โดยมีกรมหมื่นสุนทรเทพเป็นผู้ไต่สวน กรมหมื่นสุนทรเทพกราบทูลฯว่ากรมพระราชวังบวรฯเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาล พระชายาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ กรมพระราชวังบวรฯรับเป็นสัตย์ ว่าได้ลักลอบทำกุญแจเข้าเขตพระราชฐานฝ่ายในและเข้าห้องบรรทม ได้ลักลอบเข้าฝ่ายในและวางแผนก่อการกบฏ[27] พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯทรงลงพระราชอาญาให้เฆี่ยนกรมพระราชวังบวรฯ 230 ครั้ง เฆี่ยนไปได้ 180 ครั้ง กรมพระราชวังบวรฯจึงดับสูญสิ้นพระชนม์ จากนั้นตำแหน่งมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงว่างลง ในพ.ศ. 2300 กรมหมื่นเทพพิพิธปรึกษาด้วยเจ้าพระยาอภัยราชาสมุหนายก เจ้าพระยามหาเสนา พระยาพระคลัง กราบทูลฯขอพระราชทานยกให้เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ต่อมา กรมขุนพรพินิตทูลว่ามีพระเชษฐาเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีอยู่ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตรัสว่ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าให้เป็นพระมหาอุปราชบ้านเมืองจะวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิตมีสติปัญญา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโองการให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรีไปผนวชที่วัดละมุดปากจั่น เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตจึงอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ยังคงประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกระต่ายตามแต่เดิม[20]

ภาพกษัตริย์อยุธยา ซึ่งอาจคือพระเจ้าอุทุมพรหรือพระเจ้าเอกทัศน์ จากหนังสือพับของพม่าเรื่อง "นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท"

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตเมื่อแรม 5 คำ เดือน 6 จุลศักราช 1120 (26 เมษายน พ.ศ. 2301) กรมหมื่นเทพพิพิธอัญเชิญพระแสงดาบให้ชาวที่นำไปประดิษฐานไว้ที่พระตำหนักสวนกระต่ายอันเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรฯ ฝ่ายเจ้าสามกรมซึ่งกำลังซ่องสุมอยู่ที่ตำหนักศาลาลวดนั้น ได้เชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฝ่ายกรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งได้ผนวชอยู่ที่วัดละมุดปากจั่นนั้น ได้เสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา กรมขุนอนุรักษ์มนตรีมีคำสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธพระแสงในโรงแสงต้นไปไว้ที่พระตำหนักสวนกระต่ายทั้งหมด เพื่อเป็นการตอบโต้เจ้าสามกรม กรมพระราชวังบวรฯกรมขุนพรพินิต มีพระบัณฑูรให้ข้าทูลละอองฯทั้งปวงมาเข้าเฝ้าที่ตำหนักสวนกระต่าย ในเวลาเดียวกันนี้ เจ้าสามกรมส่งคนปีนกำแพงเข้าทลายประตูโรงแสงนอกยึดอาวุธปืนไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยากำลังจะเข้าสู่สงครามกลางเมือง พระราชาคณะจำนวนห้ารูป นำโดยพระเทพมุนีวัดกุฎีดาว ไปเกลี้ยกล่อมให้เจ้าสามกรมยอมรับอำนาจของกรมพระราชวังบวรฯ เจ้าสามกรมยอมเชื่อฟังคำของพระราชาคณะและเดินทางไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ แต่ทว่ากรมพระราชวังบวรฯทรงปรึกษากับกรมขุนอนุรักษ์มนตรี จับกุมตัวเจ้าสามกรมไปกุมขังไว้ แล้วลงพระอาญาสำเร็จโทษเจ้าสามกรมด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี[20]

กรมพระราชวังบวรฯกรมขุนพรพินิต เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าอุทุมพร เมื่อวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 (12 พฤษภาคม) แต่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งผนวชอยู่ในสมณเพศนั้น กลับไปประทับที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ไม่เสด็จกลับวัดละมุด พระเจ้าอุทุมพรอยู่ในราชสมบัติประมาณหนึ่งเดือน ทรงเผชิญกับการกดดันทางการเมืองจากพระเชษฐา จนทรงสละราชสมบัติในที่สุดเมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 (22 พฤษภาคม) ถวายราชสมบัติให้แก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเชษฐา กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเจ้าฟ้าเอกทัศน์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อข้างขึ้นเดือน 8 ฝ่ายพระเจ้าอุทุมพรเสด็จออกผนวชที่วัดประดู่ทรงธรรม ได้รับสมัญญานามว่า "ขุนหลวงหาวัด" กรมหมื่นเทพพิพิธออกบวชลี้ภัยทางการเมืองประทับอยู่ที่วัดกระโจม เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พี่ชายของเจ้าจอมเพ็งสองคนได้แก่ พระยาราชมนตรี (ปิ่น) และจมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) ขึ้นมามีอำนาจในราชสำนัก

พระยาราชมนตรีและจมื่นศรีสรรักษ์ถือตนว่ามีอำนาจหมื่นประมาทขุนนางเสนาบดีระดับสูง สร้างความไม่พอใจให้แก่ขุนนางกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในเดือนสิบสอง กลุ่มขุนนางประกอบด้วยเจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) สมุหนายก พระยายมราชเสนาบดีนครบาล พระยาเพชรบุรีเจ้าเมืองเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย และนายเพ็งจันทร์ วางแผนการกบฏล้มอำนาจพระเจ้าเอกทัศน์คืนราชสมบัติให้แก่พระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัด เจ้าพระยาอภัยราชานำคณะผู้ก่อการไปเข้าเฝ้ากรมหมื่นเทพพิพิธที่วัดกระโจม ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งยังคงจงรักภักดีต่อพระเจ้าอุทุมพร ยินยอมเป็นผู้นำในการกบฏครั้งนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธนำคณะผู้ก่อการไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอุทุมพรที่วัดประดู่ทรงธรรม พระเจ้าอุทุมพรไม่มีพระทัยปรารถนาจะครองราชสมบัติจึงตรัสตอบว่า "รูปเป็นสมณะ จะคิดอ่านการแผ่นดินนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงจะเหนเปนประการใดก็ตามแต่จะคิดกันเถีด"[20] ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเข้าใจว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงตอบตกลงแล้ว จึงดำเนินการตามแผนการ พระเจ้าอุทุมพรทรงไม่ไว้วางพระทัยกรมหมื่นเทพพิพิธ "คนเหล่านี้คิดขบถจะทำการใหญ่ ถ้าเขาทำการสำเรจ์จับพระเชษฐาได้แล้ว เขาก็จะมาจับเราเสียด้วยจะยกกรมหมื่นเทพพิพิธ ขึ้นครองราชสมบัดิ์ เราสองคนพี่น้องก็จะภากันตาย"[20] พระเจ้าอุทุมพรจึงตัดสินพระทัยนำความกบฏไปทูลพระเชษฐาพระเจ้าเอกทัศน์ พร้อมทั้งถวายพระพรขอไว้ชีวิตคณะผู้ก่อการกบฏครั้งนี้ พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้จับกุมคณะกบฏ เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี ถูกจับกุมและเฆี่ยน หมื่นทิพเสนาและนายเพ็งจันทร์หลบหนีไปได้ กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จหนีจากวัดกระโจมพร้อมทั้งบุตรธิดาไปทางตะวันตกแต่ทรงถูกจับกุมได้ที่พระแท่นดงรัง พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้เนรเทศฝากกรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งบุตรธิดาลงเรือกำปั่นฮอลันดาออกไปยังเมืองลังกา ในพ.ศ. 2301 นั้นเอง นอกจากนี้ พระเจ้าเอกทัศน์ยังหมายจะลงพระราชอาญาแก่พระยาพระคลังในฐานะรู้เห็นต่อการกบฏ พระยาพระคลังจึงถวายเงินให้แด่พระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าเอกทัศน์จึงปูนบำเหน็จพระยาพระคลังขึ้นเป็น"เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหนายก" เป็นสมุหนายกต่อจากเจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) ซึ่งถูกกุมขังอยู่

ตะนาวศรีจนถึง พ.ศ. 2301

"พงศาวดารทวาย" (Dawei Yazawin) บรรยายตำนานการสร้างเมืองทวายไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่บริเวณเมืองทวาย ผีนัตท้องถิ่นชื่อว่าทุรคาได้ถวายผลทุเรียนให้พระพุทธเจ้าเสวย พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธทำนายว่าจะเกิดเมืองขึ้นในที่แห่งนี้ ต่อมาท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์ ได้ส่งผีนัตสตรีมามีบุตรกับฤๅษีชื่อว่ากวีนันท์ เกิดเป็นเด็กชายขึ้นมา ต่อมาเด็กชายคนนี้จึงปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็น"พระเจ้าสามนตราชา"แห่งเมืองสาคร (Thagara) ในพ.ศ. 1249 ซึ่งเมืองสาครนี้คือเมืองทวายแห่งแรก อยู่ทางเหนือของเมืองทวายในปัจจุบันทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำทวาย ในขณะที่พงศาวดารมอญพม่าระบุว่า กษัตริย์พม่าเมืองพุกามชื่อว่าพระเจ้าอลังคจอสู เสด็จลงมาปราบเมืองมอญสะเทิมสุธรรมวดี แล้วเสด็จประพาสมายังบริเวณเมืองทวาย ทรงพบต้นทุเรียนขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงมีพระราชโองการให้สร้างเมืองทวายขึ้นเพื่อส่งส่วยทุเรียนให้แก่ราชสำนักพุกาม[14] นายฟรานซิส เมสัน (Francis Mason) มิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งได้เดินทางมายังเมืองทวายในพ.ศ. 2374 ซึ่งทวายอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษแล้วนั้น บันทึกตำนานการสร้างเมืองทวายไว้ว่าในปีพ.ศ. 1747 พระเจ้านรปติสิธูกษัตริย์พม่าพุกามเสด็จลงมาตั้งเมืองทวาย แล้วทรงให้ชาวพม่าอพยพเข้ามาอยู่เมืองทวาย เป็นเหตุให้ชาวทวายพูดภาษาตระกูลพม่า[28] "เมืองทวายซึ่งพระเจ้าอลังคจอสู่สร้างไว้ให้พวกพม่าอยู่นั้น คนทั้งหลายในเมืองนั้นจึงพูดเปนภาษาพม่า ครั้นนานมาภาษานั้นเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ว่าพม่าพอฟังได้"[14] จารึกในสมัยพุกามระบุว่า เมืองทวายเป็นเมืองสุดเขตแดนทางทิศใต้ของอาณาจักรพุกาม

ต่อมาเมืองทวายจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมอญหงสาวดีซึ่งปกครองพม่าตอนล่าง พงศาวดารมอญพม่าระบุว่า เจ้าเมืองทวายเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าฟ้ารั่ว[14] ซึ่งเป็นกษัตริย์มอญที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัย ในปีพ.ศ. 1933 เมืองทวายย้ายไปตั้งอยู่ที่เมืองเวยดี (Weidi)[29] ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองทวายในปัจจุบัน อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำทวาย และต่อมามีการตั้งเมืองโมกติ (Mokti) หรือเมืองมุตตสุขนครขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ต่อมาในพ.ศ. 2031 สมเด็จพระบรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาเสด็จยึดเมืองทวายได้ หลังจากนั้นเมืองทวายจึงอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ส่วนเมืองตะนาวศรีนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นอย่างน้อย ดังปรากฏในจารึกลานทองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองตะนาวศรีในพ.ศ. 2005[30] เมืองตะนาวศรีปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง มีราชทินนามว่า"ออกญาไชยาธิบดี" เมืองตะนาวศรีและเมืองทวายปรากฏเป็นเมืองเจ้าพระยามหานครในกฎมณเฑียรบาลที่เจ้าเมืองต้องเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา "พงศาวดารมะริด" (Myeik Yazawin) ระบุว่า ในพ.ศ. 2074 เจ้าเมืองตะนาวศรีชื่อว่า"พญาราม"ได้สร้างเมืองท่าขึ้นใหม่ชื่อเมืองมะริด เพื่อทดแทนเมืองท่าเดิมที่ตะกอนทับถมจนตื้นเขิน เมืองมะริดจึงถือกำเนิดอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองตะนาวศรี

ภาพกองกำลังของกรมการเมืองทวาย เข้าโจมตีเรือฝรั่งเศสในแม่น้ำทวายของเชอวาลิเยร์ เดอ โบเรอการ์ ที่ได้หลบหนีจากเมืองมะริดของสยามเพื่อเข้าลี้ภัยที่เมืองทวายในพ.ศ. 2231

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง จึงยึดเมืองทวายและตะนาวศรีไปได้ทั้งหมด[12] หลังจากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จยกทัพเข้าโจมตีเมืองตะนาวศรีและเมืองทวายคืนจากพม่าได้ในพ.ศ. 2136[12] ชายฝั่งตะนาวศรีสลับผลัดเปลี่ยนมือระหว่างพม่าและสยามหลายครั้ง ท้ายที่สุดพระเจ้าอโนะเพะลุนกษัตริย์พม่าได้เข้ายึดเมืองทวายในพ.ศ. 2157 นับจากนั้นมาเมืองทวายจึงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ในขณะที่เมืองมะริดและตะนาวศรีอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกรุงศรีอยุธยา สถานการณ์ในชายฝั่งตะนาวศรีคงที่อยู่ในลักษณะนี้เป็นระยะเวลาร้อยกว่าปี เมืองมะริดบนฝั่งทะเลอันดามันเป็นเมืองท่าหลักของอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งการค้ากับอินเดียและชาติตะวันตกที่สำคัญ[1] ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2224 ทรงแต่งตั้งให้นายริชาร์ด เบอร์นาบี (Richard Burnaby) ชาวอังกฤษ มาเป็นเจ้าเมืองมะริด นายเบอร์นาบีเจ้าเมืองมะริด และนายแซมมวล ไวท์ (Samuel White) ได้ทำการแก้แค้นส่วนตัวด้วยการต่อเรือขึ้นที่เมืองมะริดและยกกองเรือไปโจมตีเรือสินค้าของอังกฤษในอ่าวเบงกอล เป็นเหตุให้อังกฤษประกาศสงครามกับสยาม นำไปสู่สงครามอังกฤษ-สยามในพ.ศ. 2230 เรืออังกฤษเดินทางมายังเมืองมะริด เจ้าเมืองตะนาวศรียกทัพสยามเข้าสังหารชาวอังกฤษที่เมืองมะริดไปสิ้น รวมทั้งนายเบอร์นาบีเจ้าเมืองมะริดด้วย สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งนายทหารชาวฝรั่งเศสชื่อ เชอวาลิเยร์ เดอ โบเรอการ์ (Chevalier de Beauregard) ให้เป็นออกพระมะริดเจ้าเมืองมะริดคนใหม่ ต่อมาในพ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงอนุญาตให้ฝรั่งเศสนำกองกำลังมาประจำการที่เมืองมะริด แต่ไม่นานได้เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม ทัพสยามยกมาขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกไปจากเมืองมะริด นายเดอโบเรอการ์เจ้าเมืองมะริดหลบหนีทางเรือไปขอความช่วยเหลือจากเมืองทวาย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่ทว่านายเดอโบเรอการ์ถูกฝ่ายพม่าโจมตีและจับกุมตัวที่เมืองทวาย เคอโบเรอการ์ถูกทางการพม่าตัดสินให้ขายตัวลงเป็นทาส ถูกส่งไปที่เมืองหงสาวดีและเสียชีวิตต่อมาอีกไม่นาน

ในพ.ศ. 2283 เมื่อมอญเป็นกบฏต่อพม่าขึ้นที่หงสาวดี เจ้าเมืองเมาะตะมะชาวพม่าชื่อว่ามังนราจอสู มีความเกรงกลัวว่าชาวมอญในเมืองเมาะตะมะจะเป็นกบฏขึ้นบ้าง จึงตัดสินใจละทิ้งเมืองเมาะตะมะอพยพลี้ภัยมาอยู่ที่เมืองทวาย[14] ต่อมาสมิงทอพระเจ้าหงสาวดีมีคำสั่งให้มังนราจอสูไปสวามิภักดิ์ต่อมอญที่หงสาวดี มิฉะนั้นจะส่งกำลังไปโจมตี ชาวเมืองทวายเกรงกลัวทัพหงสาวดีจึงปรึกษากันว่าจะจับมังนราจอสูส่งให้หงสาวดี มังนราจอสูเจ้าเมืองเมาะตะมะพร้อมทั้งมังลักแวเจ้าเมืองทวายจึงตัดสินใจพาครอบครัวหลบหนีเข้ามาที่เมืองตะนาวศรีของสยาม[14] พระยาตะนาวเจ้าเมืองตะนาวศรีมีใบบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงมีพระราชโองการให้พระยาตะนาวส่งตัวเจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายมายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งมีราชโองการให้พระยาตะนาวยกทัพไปรักษาเมืองทวายไว้[14] เมืองทวายจึงตกเป็นของกรุงศรีอยุธยาในเวลาสั้นๆ ต่อมาพระมหาธรรมราชาธิบดีกษัตริย์พม่าพระเจ้าอังวะจึงแต่งตั้งเจ้าเมืองทวายคนใหม่ชื่อมังนายหลา เมื่อกรุงอังวะเสียให้แก่มอญในพ.ศ. 2295 เมืองทวายจึงถูกตัดขาดและแยกตัวโดดเดี่ยว เมืองเมาะตะมะและเมืองทวายนั้นเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่หงสาวดี "พงศาวดารทวาย"ระบุว่า ในพ.ศ. 2297 มังนายหลาเจ้าเมืองทวายได้ย้ายเมืองทวายมาตั้งเมืองทวายใหม่ในตำแหน่งปัจจุบัน[29] เจ้าเมืองทวายมีจดหมายถึงอังกฤษขอความช่วยเหลือในการป้องกันเมืองทวายจากชาวมอญ ต่อมาในพ.ศ. 2300 เมื่อพระเจ้าอลองพญาพิชิตเมืองหงสาวดีแล้ว เมืองเมาะตะมะจึงขึ้นแก่พระเจ้าอลองพญาแต่เมืองทวายยังคงเป็นอิสระ ในสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษและพระเจ้าอลองพญาในพ.ศ. 2300 มีข้อสัญญาระบุว่าอังกฤษจะงดไม่ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เจ้าเมืองทวาย แสดงว่าในปีพ.ศ. 2300 นั้น เมืองทวายยังคงเป็นอิสระอยู่

ในพ.ศ. 2292 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯมีพระราชโองการให้พระยาตะนาวเจ้าเมืองตะนาวศรีนำศิลาประกาศห้ามมิชชันนารีสอนศาสนา มาลงหลักปักไว้ที่โบสถ์คริสเตียนฝรั่งเศสที่เมืองมะริด[31] ต่อมาในพ.ศ. 2301 บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เมืองมะริดชื่อว่าฌัค อันดรีเออ (Jacques Andrieux) ได้ฟ้องร้องต่อทางกรุงศรีอยุธยาว่าเจ้าเมืองตะนาวศรียึดเรือสินค้าฝรั่งเศสที่เมืองมะริดอย่างไม่เป็นธรรม[32] ทางกรุงศรีอยุธยาจึงลงโทษปลดเจ้าเมืองตะนาวศรีจำคุกเฆี่ยน และตั้งให้ชาวจีนผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมืองตะนาวศรีคนต่อมา[32]

กบฏมอญต่อพม่า พ.ศ. 2301

ในปีพ.ศ. 2298 หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาทรงสามารถยึดเมืองร่างกุ้งจากมอญได้สำเร็จแล้ว จึงส่งทัพเข้าโจมตีเมืองสีเรียมของมอญ ซึ่งอยู่เพียงตรงข้ามฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งจากเมืองร่างกุ้งเท่านั้น ซึ่งมีทั้งชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ ชาวอังกฤษที่เมืองสีเรียมแสดงสัมพันธไมตรีต่อพระเจ้าอลองพญาด้วยการแล่นเรือรบของอังกฤษทั้งหมดที่เมืองสิเรียมไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาที่เมืองร่างกุ้ง เรือของอังกฤษลำหนึ่งชื่อว่าเรืออาร์โคต (Arcot) มีกัปตันเรือชื่อว่าโรเบิร์ต แจ็คสัน (Robert Jackson) มีความเห็นที่แตกต่างไปจากชาวอังกฤษอื่นๆ กัปตันแจ็คสันไม่ต้องการเข้าฝ่ายพระเจ้าอลองพญา กัปตันแจ็คสันไม่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาด้วยตนเองแต่ส่งผู้แทนชื่อว่าจอห์น ไวท์ฮิล (John Whitehill) ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาแทน พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้เรือรบอังกฤษส่งมอบอาวุธปืนทั้งหมดให้แก่ฝ่ายพม่าเพื่อใช้ในการรบกับมอญ กัปตันแจ็คสันไม่พอใจและไม่ยินยอมถวายอาวุธให้แก่พระเจ้าอลองพญา ต่อมาพระเจ้าอลองพญาจำต้องเสด็จขึ้นเหนือไปประทับที่เมืองอังวะเพื่อรบกับไทใหญ่และมณีปุระ ฝ่ายมอญและฝรั่งเศสที่เมืองสีเรียมฉวยโอกาสนี้ ยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองร่างกุ้ง ปรากฏว่าเรืออาร์โคตและกัปตันแจ็คสันเข้ากับฝ่ายมอญโจมตีฝ่ายพม่า สุดท้ายแล้วฝ่ายมอญและฝรั่งเศสต้องถอยทัพกลับไป เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จกลับมาที่เมืองร่างกุ้ง ทรงทราบว่าเรืออาร์โคตได้ทรยศไปเข้ากับฝ่ายมอญมาโจมตีฝ่ายพม่า ทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงพระพิโรธเรืออาร์โคตและนายไวท์ฮิล อันเป็นผู้แทนของกัปตันแจ็คสันที่ส่งไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญา[33]

พระเจ้าการิบนิวาซแห่งมณีปุระได้สละราชสมบัติให้แก่พระโอรสคือพระเจ้าจิตไซในพ.ศ. 2292 แต่พระเจ้าการิบนิวาซมีพระโอรสอีกองค์หนึ่งคือเจ้าชายศยามไซ ซึ่งเป็นพระโอรสที่โปรดปราน ทำให้พระเจ้าจิตไซกษัตริย์มณีปุระพระองค์ใหม่มีความอิจฉา พระเจ้าจิตไซจึงทรงขับไล่เนรเทศพระเจ้าการิบนิวาซพระบิดาให้ออกไปพ้นจากมณีปุระพร้อมทั้งเจ้าชายศยามไซ พระเจ้าการิบนิวาซและเจ้าชายศยามไซจึงเสด็จลี้ภัยมาอยู่ที่กรุงอังวะ เมื่อเมืองอังวะเสียให้แก่มอญในพ.ศ. 2295 พระเจ้าการิบนิวาซและเจ้าชายศยามไซจึงเสด็จกลับเมืองมณีปุระ ฝ่ายพระเจ้าจิตไซเกรงว่าพระบิดาจะกลับมายึดอำนาจและยกราชสมบัติให้แก่ศยามไซ จึงส่งคนไปทำการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าการิบนิวาซและเจ้าชายศยามไซเสียกลางทาง การที่พระเจ้าจิตไซทำการลอบปลงพระชนม์พระบิดาการิบนิวาซทำให้ชาวมณีปุระไม่พอใจ จนเจ้าชายภารัตไซ (Bharatsai) พระโอรสของพระเจ้าการิบนิวาซอีกองค์ ทำการล้มอำนาจพระเจ้าจิตไซและยึดราชสมบัติในพ.ศ. 2295 เป็นพระเจ้าภารัตไซ แต่ทว่าปีต่อมาพระเจ้าภารัตไซถูกยึดอำนาจ และยกให้เจ้าชายโกริศยาม (Gaurisiam) ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าชายศยามไซและเป็นนัดดาของพระเจ้าการิบนิวาซ เป็นกษัตริย์มณีปุระองค์ต่อมา เมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงสามารถพิชิตเมืองหงสาวดีได้ในพ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญาเสด็จกรีฑาทัพเข้ารุกรานมณีปุระในปลายปีพ.ศ. 2301 เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่พระเจ้าการิบนิวาซ และเพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในมณีปุระ อนุชาของพระเจ้าโกริศยาม คือ อุปราชภัคยจันทร์ (Bhagyachandra) ยกทัพมณีปุระออกมาตั้งรับทัพพม่าแต่ถูกพระเจ้าอลองพญาตีแตกพ่ายไป พระเจ้าโกริศยามพร้อมทั้งชาวเมืองมณีปุระ ต่างหลบหนีเข้าป่าไปหมดสิ้น เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จเข้าเมืองอิมผาลราชธานีมณีปุระ เมืองนั้นว่างเปล่าไร้ผู้คน[25]

ในระหว่างที่พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพไปตีเมืองมณีปุระอยู่นั้น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2301 ชาวมอญในพม่าตอนล่างเป็นกบฏต่อพม่าขึ้น ชาวมอญสามารถเข้ายึดเมืองหงสาวดีและเมืองร่างกุ้งได้ "เนเมียวนรธา"เจ้าเมืองหงสาวดีที่พระเจ้าอลองพญาทรงแต่งตั้งไว้ ต้องถอยออกจากเมืองหงสาวดี พระเจ้าอลองพญาประทับอยู่ในเมืองอิมผาลของมณีปุระได้เก้าวัน ก็ทรงทราบข่าวว่ามอญเป็นกบฏขึ้น จึงรีบเสด็จกลับยังพม่า แต่ในระหว่างนี้เนเมียวนรธาสามารถรวบรวมกำลังพม่าปราบกบฏมอญลงได้สำเร็จเสียก่อนแล้วสามารถยึดเมืองร่างกุ้งคืนได้ ชาวมอญกบฏหลบหนี้ลี้ภัยมายังเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าของสยาม พระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จกลับมาประทับที่เมืองชเวโบรัตนสิงห์ราชธานีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2302 ในขณะเดียวกันอังกฤษซึ่งตั้งสถานีการค้าอยู่ที่เมืองเนกรายนั้น กำลังทำสงครามเจ็ดปีกับฝรั่งเศส นายจอร์จ ปิโกต (George Pigot) เจ้าเมืองมัทราส หรือเมืองเจนาปัตนัม (Chenapatam) มีคำสั่งให้ถอนกำลังอังกฤษออกจากเมืองเนกรายเกือบทั้งหมดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2302 เพื่อโยกย้ายกำลังไปสู้รบกับฝรั่งเศสในอินเดีย

ในเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพพม่าและไทใหญ่จำนวนประมาณ 60,000 คน ลงมาเพื่อบำเพ็ญกุศลสร้างศาลาถวายแด่วัดเจดีย์ชเวดากองที่เมืองร่างกุ้ง ในเวลาเดียวกันนายจอห์น ไวท์ฮิล ล่องเรือมาค้าขายที่เมืองร่างกุ้ง นายไวท์ฮิลไม่ทราบว่าพระเจ้าอลองพญามีความพิโรธแก่ตน จากเหตุการณ์เรืออาร์โคตไปเข้ากับฝ่ายมอญเมื่อพ.ศ. 2298 เมื่อสี่ปีก่อนหน้า นายไวท์ฮิลเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาที่เมืองแปร นายไวท์ฮิลถูกฝ่ายพม่าจับกุมโบยตีและใส่โซ่ตรวน ไวท์ฮิลจำต้องกู้เงินจำนวนมากมาเพื่อไถ่ตนเองให้รอดพ้นจากพระราชอาญาของกษัตริย์พม่า ต่อมานายลาวีนชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอดีตลูกน้องของนายบริวโนที่ถูกประหารชีวิตไปนั้น ได้เพ็ดทูลต่อพระเจ้าอลองพญาว่าฝ่ายอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือและให้อาวุธแก่กบฏมอญ พระเจ้าอลองพญาจึงตั้งพระทัยที่จะกำจัดอังกฤษออกไปจากพม่าอย่างสิ้นเชิง ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2302 ชาวโปรตุเกสชื่อนายอันโตนิโอ ซึ่งพระเจ้าอลองพญาได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะสิม เดินทางมาถึงเมืองเนกราย เพื่อมอบราชสาสน์พม่าให้แก่อังกฤษ นายลาวีนฝรั่งเศสได้เชื้อเชิญนายเซาท์บี (Southby) ชาวอังกฤษเจ้าเมืองเนกราย มารับประทานอาหาร แล้วนายอันโตนิโอมีคำสั่งให้ทหารพม่าปิดประตูห้องอาหารรุมสังหารฆาตกรรมนายเซาท์บีรวมทั้งชาวอังกฤษอีกสิบคน และทหารอินเดียซีปอยอีกร้อยคนไปจนหมดสิ้น เหตุการณ์การสังหารชาวอังกฤษที่เมืองเนกรายในพ.ศ. 2303 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและอังกฤษยุติลงไปเป็นเวลาประมาณสี่สิบปี

สาเหตุของสงครามและการเตรียมทัพของพม่า

คติพระจักรพรรดิราช

เมื่อพระเจ้าอลองพญาปราบดาภิเษกประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์พม่านั้น ทรงประกาศพระองค์เองเป็นพระโพธิสัตว์ผู้มาช่วยเหลือปลดปล่อยราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ และเป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกค้ำชูฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระเจ้าอลองพญาทรงกำลังจัดทัพเข้าล้อมเมืองสิเรียมในพ.ศ. 2299 นั้น พระเจ้าอลองพญาทรงประกาศว่าพระองค์ได้รับมอบหมายจากท้าวสักกะเทวราช (Thagya) หรือพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา หรืออาจหมายถึงสากระแมง (Thagyamin, พม่า: သိကြားမင်း) ซึ่งเป็นเทพเจ้านัตสูงสุด ในการปราบยุคเข็ญบำรุงสุขให้แก่ราษฎร ทรงประกาศว่าพระอินทร์ได้มอบหอกวิเศษชื่อว่า"อรินทมะ" (Arindama)[23] ให้แก่พระองค์ พระเจ้าอลองพญาทรงประกาศ"สารจากท้าวสักกะ" (Thagya Shwe Pe Hlwa)[23] ไปยังชาวมอญหงสาวดี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2299 ใจความว่า เจ้าพม่าพระองค์ใหม่นี้มีบุญญาธิการมาก ตามพุทธทำนาย เจ้าพม่าพระองค์ใหม่นี้จะได้เป็นอธิราชเป็นใหญ่เหนือดินแดนทั้งมวล ได้แก่ จีน ชมพูทวีป ฉาน มอญ และกรุงศรีอยุธยา แสดงว่าพระเจ้าอลองพญาทรงมีคติเกี่ยวกับความเป็นพระจักรพรรดิราช (Chakravartin) และมีความตั้งพระทัยที่อาจจะเข้าพิชิตกรุงศรีอยุธยาในอนาคต และพระเจ้าอลองพญายังทรงประกาศว่าพระองค์นั้นเปรียบเสมือเป็นท้าวสักกะ คือเป็นองค์พุทธศาสนานูปถัมภก ชาวมอญหงสาวดีควรออกมาสวามิภักดิ์เสีย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของราษฎร ทรงเปรียบพระองค์เองเป็นครุฑและเปรียบกษัตริย์มอญเป็นนาค[23]

ในเอกสารที่ติดต่อกับอังกฤษ พระเจ้าอลองพญาพระยาทรงใช้พระนามว่า พระเจ้าอลองเมงตารา (Alaungmintaya) พระเจ้ากรุงสุนาปรันตะ (Thunaparanta) กรุงตามพะทีป กรุงกัมโพชา และเมืองอื่นๆ เป็นเจ้าบ่อเงินบ่อทองบ่อแก้ว เป็นพระเจ้าช้างเผือกเจ้าพระยาฉัททันต์ ผู้ครอบครองหอกอรินทมะ เป็นสุริยวงศ์ เป็นเจ้าขัณฑสีมากรุงรัตนปุระอังวะและกรุงอยุชฌปุระรัตนสิงห์[23]

พระเจ้าอลองพญาเสด็จเมืองร่างกุ้ง

หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาเสด็จกลับจากศึกมณีปุระมาที่กรุงรัตนสิงห์แล้ว พระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จลงมาพร้อมทั้งพระมเหสีและพระราชวงศ์ ลงมาบำเพ็ญกุศลสร้างศาลาถวายแด่เจดีย์ชเวดากองเมืองร่างกุ้ง แต่ในการเสด็จลงมาเมืองร่างกุ้งครั้งนี้ พระเจ้าอลองพญาให้จัดทัพขนาดมหึมาลงมาด้วย อาจเป็นเพราะว่าพระเจ้าอลองพญาทรงไม่ไว้วางพระทัยสถานการณ์ในพม่าตอนล่าง[34] เกรงว่าชาวมอญจะขบถขึ้นมาอีกครั้ง หรือพระเจ้าอลองพญาอาจจะทรงตั้งพระทัยยกทัพไปทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โจมตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้พระโอรสองค์คือ เจ้าชายศรีสุธรรมราชา (Thiri Thudamayaza) หรือเจ้าชายมังลอกอุปราช (Maung Hlauk) อายุ 24 ชันษา ให้อยู่รักษาเมืองชเวโบรัตนสิงห์ จากนั้นพระเจ้าอลองพญาจึงทรงเกณฑ์ไพร่พลพม่าจัดทัพยกลงมายังเมืองร่างกุ้ง;[34]

  • เจ้าชายศิริธรรมราชา (Thiri Damayaza) หรือเจ้าชายมังระ (Maung Ywa) ราชบุตรองค์รอง อายุ 23 ชันษา คุมทัพหน้าจำนวน 10,000 คน พร้อมเรืออีก 300 ลำ
  • พระเจ้าอลองพญาทรงคุมทัพหลวง จำนวน 24,000 คน เรืออีก 600 ลำ พร้อมทั้งพลปืนชาวฝรั่งโปรตุเกส
  • ทัพหลังประกอบด้วย;
    • เจ้าชายสะโดมังหลาจอ (Thado Minhla Kyaw) หรือเจ้าชายมังโป (Maung Po) ผู้ครองเมืองอาเมียง โอรสของพระเจ้าอลองพญา อายุ 16 ชันษา คุมทัพจำนวน 5,500 คน เรือ 100 ลำ
    • เจ้าชายสะโดเมงสอ (Thado Minsaw) หรือเจ้าชายมังเวง (Maung Waing) ผู้ครองเมืองปดุง โอรสของพระเจ้าอลองพญา อายุ 14 ชันษา ต่อมาคือพระเจ้าปดุง คุมทัพจำนวน 5,500 คน เรือ 100 ลำ

รวมทัพชาวพม่าจำนวนทั้งสิ้น 44,000 คน ประชุมทัพที่เมืองจอกมอง (Kyaukmyaung)[34] ริมแม่น้ำอิระวดีทางตะวันออกของเมืองชเวโบ นอกจากนี้ พระเจ้าอลองพญายังทรงให้เกณฑ์ทัพชาวไทใหญ่จากเมืองแสนหวี เมืองสองสบ (Hsawnghsup หรือ Thaungdut) เมืองกะเล เมืองยาง เมืองก้อง เมืองบ้านหม้อ เมืองมีต เมืองสีป้อ เมืองยองห้วย เมืองนาย เป็นทัพไทใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 25,000 คน ยกลงมาทางเมืองตองอูอีกทัพหนึ่ง[34] รวมกับทัพพม่าข้างต้น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 69,000 คน

หลังจากที่เสด็จออกจากเมืองรัตนสิงห์แล้วนั้น พระเจ้าอลองพญาพร้อมทั้งพระโอรส พระมเหสี และพระราชวงศ์ เสด็จยกทัพออกจากเมืองจอกมองที่ประชุมทัพเมื่อวันแรมสิบค่ำเดือนแปด[34] (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2302) พระเจ้าอลองพญาประทับที่เมืองร่างกุ้ง ทรงสร้างศาลาถวายแด่เจดีย์ชเวดากองและยังทรงปิดทองเจดีย์ใหม่ทั้งหมด ทรงประกอบพิธิบำเพ็ญกุศลที่เจดีย์ชเวดากองอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น พระนางยู่นซานพระมเหสีของพระเจ้าอลองพญายังเสด็จไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ชเวมอดอที่เมืองหงสาวดี และเจ้านายพม่าองค์อื่นได้เสด็จไปนมัสการเจดีย์ไจขอก (Kyaikkhauk) ที่เมืองสิเรียมด้วย[34]

อยุธยาช่วยเหลือมอญ

นับตั้งแต่ที่สมเด็จพระนเรศวรฯทรงประกาศอิสรภาพจากพม่าในพ.ศ. 2127 กรุงศรีอยุธยาได้เป็นที่พึ่งพักพิงหลบภัยให้แก่ชาวมอญจากพม่าตอนล่าง ซึ่งก่อกบฏต่อต้านการปกครองพม่าไม่สำเร็จถูกพม่าลงโทษ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรฯพระราชทานให้ชาวมอญอพยพ ซึ่งอพยพเข้ามายังสยามในหลายระลอกเป็นจำนวนหลายพันคน ในพ.ศ. 2127 พ.ศ. 2138 และพ.ศ. 2143[35] ให้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณโดยรอบกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาส่งเสริมและช่วยเหลือให้ชาวมอญกบฏขึ้นต่อพม่า เพื่อลดทอนอำนาจของพม่า ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อพม่าเกณฑ์ชาวมอญเมืองเมาะตะมะไปสู้รบกับจีนในพ.ศ. 2204 ชาวมอญไม่พอใจจึงก่อการกบฏขึ้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งทัพกรุงศรีอยุธยาไปตีเมืองเมาะตะมะได้ชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สามโคกปทุมธานี ปากเกร็ด และนนทบุรี[35] ชาวสยามและชาวมอญถึงแม้ว่าจะมีภาษาที่แตกต่างกันแต่มีวัฒนธรรมและศาสนาที่ใกล้เคียงกัน[35] ประกอบกับการแต่งงานกันระว่างชาวสยามและชาวมอญที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปชาวมอญเหล่านั้นจึงถูกหลอมรวมเข้ากับสังคมสยามในที่สุด ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ชาวมอญเริ่มอพยพเข้ามากรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในพ.ศ. 2289 เมื่อสมิงทอกษัตริย์หงสาวดีถูกโค่นล้มอำนาจ ทำให้ขุนนางมอญที่จงรักภักดีต่อสมิงทอได้แก่ พระยาพระราม พระยากลางเมือง พระยาน้อยวันดี อพยพพาชาวมอญในสังกัดเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระราชทานให้ชาวมอญกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานที่โพธิ์สามต้นทางเหนือของกรุงศรีอยุธยา[20][35]

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งคณะทูตไปยังกรุงอังวะในพ.ศ. 2287 เพื่อพระราชทานตัวเจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายคืนให้แก่กษัตริย์พม่า และอาจเพื่อสังเกตสถานการณ์สงครามระหว่างพม่าและมอญ หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงปล่อยตัวสมิงทอออกไปเมืองจีนในพ.ศ. 2290 ไม่ปรากฏว่าราชสำนักกรุงศรีอยุธยายังคงติดตามเหตุการณ์ในพม่าต่อไปหรือไม่ เมื่อกรุงหงสาวดีเสียให้แก่พระเจ้าอลองพญาในพ.ศ. 2300 ไม่ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาจะมีท่าทีประการใดหรือมีนโยบายต่อการเรืองอำนาจขึ้นของพระเจ้าอลองพญาอย่างไร ในพ.ศ. 2301 ชาวมอญเป็นกบฏขึ้นต่อพระเจ้าอลองพญา ฝ่ายพม่าปราบกบฏมอญลงได้สำเร็จ ทำให้มีชาวมอญจำนวนหนึ่งโดยสารเรือฝรั่งเศสเข้ามาลี้ภัยที่เมืองมะริดเมืองท่าของสยาม[12] เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพลงมาพม่าตอนล่างเพื่อบำเพ็ญกุศลที่เจดีย์ชเวดากองในช่วงกลางปีพ.ศ. 2302 ซึ่งเป็นการเสด็จหัวเมืองมอญครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการกบฏของมอญ ทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงทราบว่ามีกบฏมอญได้หลบหนีไปยังสยาม พระเจ้าอลองพญาทรงกังวลกับกบฏมอญที่หลั่งไหลเข้าไปสู่ดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาอย่างไม่ขาดสาย โดยทรงเชื่อว่าพวกมอญมักจะเตรียมวางแผนก่อกบฏและพยายามชิงเอาพม่าตอนล่างกลับคืนไปเป็นของตน[36] ความกังวลของพระองค์นั้นถูกพิสูจน์แล้วว่าสมเหตุสมผล มอญได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งในปี พ.ศ. 2301, 2305, 2317, 2326, 2335 และ 2367-69 ซึ่งการกบฏแต่ละครั้งที่ล้มเหลวนั้นจะตามมาด้วยการหลบหนีของมอญเข้าไปยังอาณาจักรของไทย[37]

เมื่อกบฏมอญถูกปราบลงในพ.ศ. 2301 มีชาวมอญบางกลุ่มได้โดยสารเรือสินค้าของฝรั่งเศส เพื่อหลบหนีไปยังเมืองปอนดีเชอร์รีของฝรั่งเศสในอินเดีย แต่คลื่นลมพัดจึงจำต้องมาขึ้นท่าที่เมืองมะริด[12] เมืองท่าของสยาม คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า เรือฝรั่งเศสลำนี้ถูกทางการเมืองมะริดจับกุมเนื่องจากทำผิดสัญญาการค้าบางประการ[21] เมืองมะริดมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้ริบสินค้าและจับกุมลูกเรือฝรั่งเศสลำนั้นไว้เนื่องจากทำผิดสัญญาการค้า บรรดาข้าราชการได้ทูลทัดทานว่าไม่สมควรที่จะกุมขังลูกเรือชาวพม่า (ชาวมอญ?) เหล่านั้นไว้ จะเสียทางพระราชไมตรี[21] แต่พระเจ้าเอกทัศน์ยังคงยืนยันตามพระราชโองการ ฝ่ายพระเจ้าอลองพญา ซึ่งกำลังบำเพ็ญกุศลอยู่ที่เมืองร่างกุ้งในกลางปีพ.ศ. 2302 นั้น ได้กิตติศัพท์ว่าฝ่ายเมืองมะริดกรุงศรีอยุธยาได้รับตัวกบฏมอญที่ลงเรือฝรั่งเศสหนีไปไว้ จึงทรงส่งข้าหลวงนำพระราชสาส์นถึงพระเจ้ากรุงทวารวดีศรีอยุธยาทางเมืองมะริด[23]ว่าเรือฝรั่งเศสลำนั้นเป็นเรือหลวงของพระเจ้าอลองพญา ขอให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือและลูกเรือเหล่านั้นกลับคืนให้แก่พระเจ้าอลองพญา มิฉะนั้นจะถือว่าผิดพระราชไมตรีจำต้องมีสงครามเกิดขึ้นแก่กัน พระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์สยามยังคงทรงยืนยันที่จะยึดเรือและคุมตัวลูกเรือเหล่านั้นไว้ ฝ่ายกรมการเมืองมะริดตอบว่าหากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่มีพระราชานุญาตก็ไม่สามารถส่งกลับคืนให้แก่ทางพม่าได้[23] ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงทราบข่าวว่ากองกำลังของสยามได้ตามขึ้นมายึดเรือหลวงเรือสินค้าของพระเจ้าอลองพญาถึงเมืองทวาย[34] เป็นเหตุให้พระเจ้าอลองพญาพิโรธและตัดสินพระทัยยกทัพเข้าโจมตีสยามกรุงศรีอยุธยา ท่าทีของกรุงศรีอยุธยาทำให้ฝ่ายพม่าตีความว่าสยามให้ความช่วยเหลือแก่มอญ แต่สยามกรุงศรีอยุธยาไม่เคยให้กองกำลังหรืออาวุธสนับสนุนแก่กบฏมอญในสมัยของพระเจ้าอลองพญา เพียงแต่ต้อนรับชาวมอญอพยพให้เข้ามาลี้ภัยเท่านั้น ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาอาจไม่ทราบและไม่เข้าใจว่าเหตุใดพระเจ้าอลองพญาจึงมีพระประสงค์ที่จะนำเรือคืนไป

ขณะที่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นโดยทั่วไปว่าการสนับสนุนของอยุธยาต่อกบฏมอญ และการปล้นสะดมข้ามพรมแดนของมอญนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของสงคราม แต่ยังไม่มีข้อสรุปถึงแรงจูงใจที่ลึกลับกว่านั้น นักประวัติศาสตร์พม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษบางคนลงความเห็นว่าสาเหตุที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และได้เสนอว่าสาเหตุหลักของสงคราม คือ ความปรารถนาของพระเจ้าอลองพญาที่จะฟื้นฟูจักรวรรดิของพระเจ้าบุเรงนองขึ้นอีกครั้ง ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมถึงอาณาจักรอยุธยาด้วย[38][39] เดวิด ไวอัท นักประวัติศาสตร์ไทย ยอมรับว่าพระเจ้าอลองพญาอาจทรงกลัวการสนับสนุนการฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีของอยุธยา แต่ได้เสริมว่าพระเจ้าอลองพญานั้นชัดเจนว่าออกจะเป็นชาวชนบทดิบซึ่งมีประสบการณ์ทางการทูตน้อยมาก จึงได้เพียงสานต่อสิ่งต่อพระองค์ได้ทรงแสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าพระองค์ทำได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือการนำกองทัพไปสู่สงคราม[40]

แต่นักประวัติศาสตร์พม่า หม่อง ทินอ่อง กล่าวว่าวิเคราะห์ของพวกเขานั้นบรรยายไม่หมดถึงความกังวลที่แท้จริงของพระเจ้าอลองพญาที่ว่าอำนาจของพระองค์นั้นเพิ่งจะเริ่มสถาปนาขึ้น และพระราชอำนาจในพม่าตอนล่างนั้นยังไม่มั่นคง และพระเจ้าอลองพญาไม่ทรงเคยรุกรานรัฐยะไข่ เนื่องจากชาวยะไข่ไม่เคยแสดงความเป็นปรปักษ์ และเมืองตานด่วยในรัฐยะไข่ตอนใต้ได้เคยถวายเครื่องราชบรรณาการในปี พ.ศ. 2298[10] ถั่น มินอู ยังได้ชี้ให้เห็นว่านโยบายที่มีมาอย่างยาวนานของอยุธยาในการรักษารัฐกันชนกับพม่าศัตรูเก่า ได้กินเวลามาจนถึงสมัยใหม่ซึ่งครอบครัวของชาวพม่าผู้ต่อต้านรัฐบาลได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกองทัพต่อต้านรัฐบาลยังสามารถซื้ออาวุธ เครื่องกระสุน และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย[41]

นักประวัติศาสตร์ตะวันตกในสมัยหลังได้ให้มุมมองที่ค่อนข้างเป็นกลางกว่า ดี.จี.อี. ฮอลล์ เขียนว่า การปล้นสะดมเป็นนิจโดยอยุธยาและกบฏมอญนั้นเพียงอย่างเดียวก็พอที่จะเป็นชนวนเหตุของสงครามได้ ถึงแม้เขาจะเสริมว่าสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไม่สามารถที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้[42] สไตน์แบร์กและคณะสรุปว่าชนวนเหตุของสงครามเป็นผลมาจากการกบฏท้องถิ่นในทวาย ซึ่งอยุธยาถูกคาดว่าเข้าไปมีส่วนพัวพัน[9] และล่าสุด เฮเลนส์ เจมส์ เขียนว่า พระเจ้าอลองพญาทรงต้องการที่จะยึดครองการค้าระหว่างคาบสมุทรของอยุธยา ขณะที่ยอมรับว่าเหตุจูงใจรองนั้นเป็นเพื่อหยุดยั้งการโจมตีของอยุธยา และการให้การสนับสนุนพวกมอญของอยุธยา[6]

การเตรียมการฝ่ายพม่า

เมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงตัดสินพระทัยที่จะยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยานั้น บรรดาข้าราชการและโหรหลวงต่างทูลทัดทานว่า ศึกโจมตีกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ ฤกษ์ยามไม่เป็นมงคล ศึกครั้งนี้จะต้องปราชัยและอาจทรงพระประชวรในศึกนี้ได้[34] แต่พระเจ้าอลองพญายังทรงยืนกรานที่จะยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้พระโอรสสององค์ได้แก่ เจ้าชายอาเมียงและเจ้าชายปดุง ซึ่งคุมทัพหลังอยู่นั้น ให้คุมทัพนำพระมเหสีและพระราชวงศ์เสด็จกลับไปยังเมืองรัตนสิงห์ชเวโบเสียก่อน[34] แล้วฝ่ายพม่าเองจึงได้เตรียมระดมพลกองทัพรุกราน โดยเริ่มจากการเฉลิมฉลองปีใหม่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2302 โดยรวบรวมทหารจากพม่าตอนบนทั้งหมด รวมทั้งจากรัฐฉานและมณีปุระที่อยู่ทางเหนือซึ่งเพิ่งจะถูกยึดครองไปเมื่อไม่นานมานี้ด้วย จนถึงปลายปี พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาทรงสามารถระดมพลได้มากถึง 40 กรมทหาร (ทหารราบ 40,000 นาย และทหารม้า 3,000 นาย) ที่ย่างกุ้ง ซึ่งจากทหารม้าทั้งหมด 3,000 นายนี้ เป็นทหารม้ามณีปุระเสีย 2,000 นาย ซึ่งเพิ่งจะถูกจัดเข้าสู่ราชการของพระเจ้าอลองพญาหลังจากมณีปุระถูกพม่ายึดครองเมื่อปี พ.ศ. 2301[6][43]

พระเจ้าอลองพญาทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เอง โดยมีพระราชบุตรองค์ที่สอง เจ้าชายมังระ เป็นรองแม่ทัพใหญ่ ส่วนเจ้าชายมังลอก พระราชบุตรองค์โต พระองค์ทรงให้บริหารประเทศต่อไป ส่วนพระราชโอรสที่เหลือนั้นนำทหารราวหนึ่งกองพันทั้งสองพระองค์[44] นอกจากนี้ที่ติดตามกองทัพไปด้วยนั้นยังมีแม่ทัพยอดฝีมือ ซึ่งรวมไปถึงมังฆ้องนรธา ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางทหารอย่างมาก บางคนในราชสำนักสนับสนุนให้เขาผู้นี้อยู่ข้างหลังและมังระนำปฏิบัติการแทน แต่พระเจ้าอลองพญาทรงปฏิเสธ[45]

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาซึ่งประทับอยู่ที่เมืองร่างกุ้งนั้น ทรงริเริ่มวางแผนในการยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งโจมตีล้านนาเมืองเชียงใหม่และลำพูน โดยให้แม่ทัพมังหลาราชา (Minhla Yaza) ยกทัพกองหน้าจำนวน 1,000 คน และให้ปะกันจี สิธูนรธา (Sithu Nawyatha Pakhan Gyi) และเสือหาญฟ้า (Tho Han Bwa) เจ้าฟ้าไทใหญ่เมืองยอ ยกทัพกองหน้าตามออกไปอีก 1,000 คน[23] ล่วงหน้าจากเมืองร่างกุ้งออกไปเมืองเมาะตะมะก่อนในเดือนพฤศจิกายน ส่วนพระเจ้าอลองพญาจะเสด็จยกทัพหลวงออกไปในเดือนธันวาคม ในระหว่างที่เตรียมทัพเพื่อโจมตีกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น พระเจ้าอลองพญาได้ส่งนายอันโตนิโอชาวโปรตุเกส ผู้เป็นที่พระยาพะสิม ให้นำกองกำลังพม่าไปทำการสังหารหมู่ชาวอังกฤษที่เมืองเนกรายในเดือนตุลาคม ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2302[23] พระเจ้าอลองพญามีประกาศพระราชโองการสอนสั่งให้นายทหารพม่าทั้งมวลใช้ปืนคาบศิลาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการไปยังท้าวไชยเชษฐ์ (Daw Zweyaset) ขุนนางชาวมอญซึ่งพระเจ้าอลองพญาได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ในตำแหน่งพญาทะละ (Binnya Dala) ตั้งแต่ที่ได้เมืองเมาะตะมะในพ.ศ. 2300 นั้น ให้เตรียมทัพมอญเมืองเมาะตะมะและเก็บสะสมเสบียงไว้เตรียมการสำหรับการศึกกรุงศรีอยุธยา[23] ฝ่ายพม่าได้รวบรวมกองทัพเรือที่มีเรือกว่า 300 ลำ เพื่อขนส่งทหารบางส่วนไปยังชายฝั่งตะนาวศรีโดยตรง[43] และเนื่องจากพระเจ้าอลองพญาได้ทรงยุติความสัมพันธ์กับอังกฤษไปในเหตุการณ์เมืองเนกราย พระเจ้าอลองพญามีพระประสงค์ที่จะซื้อปืนคาบศิลาจากฝรั่งเศส จึงมีราชสาสน์ออกมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2302[23] ไปยังโธมัส อาร์เธอร์ (Thomas Arthur) เจ้าเมืองปอนดิเชอรีของฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสกลับมาค้าขายที่พม่าตามเดิมฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่ทว่าในขณะนั้นนายโธมัสและเมืองปอนดิเชอรีกำลังทำสงครามกับอังกฤษอย่างแข็งขันจึงยังไม่ตอบรับราชสาสน์ของพระเจ้าอลองพญา

พม่าพิชิตทวายมะริดตะนาวศรี

พม่าพิชิตทวาย

พระเจ้าอลองพญาพร้อมทั้งเจ้าชายมังระราชบุตร เสด็จยกทัพหลวงออกจากเมืองร่างกุ้ง ในวันขึ้นสามค่ำเดือนยี่[34] (21 ธันวาคม พ.ศ. 2302) พงศาวดารไทยระบุว่า ทัพของพระเจ้าอลองพญาครั้งนี้มีจำนวนประมาณ 30,000 คนเศษ[20] พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกพยุหยาตราทัพเรือหลวงจากเมืองย่างกุ้งทางแม่น้ำพะโคจนถึงเมืองหงสาวดี แล้วเสด็จทางสถลมารคไปยังเมืองเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะตะมะ พระเจ้าอลองพญาทรงสงสัยว่าท้าวไชยเชษฐ์หรือพญาทะละเจ้าเมืองเมาะตะมะนั้น ได้วางแผนสมคบคิดกับตาละปั้น อดีตแม่ทัพมอญหงสาวดี ในการลุกฮือเพื่อปลดปล่อยชาวมอญจากการปกครองของพม่า[34] ตาละปั้นแม่ทัพหงสาวดีนั้น หลังจากที่ฝ่าวงล้อมพม่าออกมาจากเมืองหงสาวดีเมื่อพ.ศ. 2300 ได้เดินทางหลบหนีไปยังเมืองเชียงใหม่ จากนั้นตาละปั้นจึงเดินทางกลับมาซ่องสุมผู้คนที่หมู่บ้านคอกุน (Kawgun)[23] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า "บ้านสันทะกาน" ซึ่งอยู่เหนือเมืองเมาะตะมะไปทางแม่น้ำสาละวิน เขตเมืองพะอันในรัฐกะเหรี่ยงปัจจุบัน พระเจ้าอลองพญาลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตท้าวไชยเชษฐ์เจ้าเมืองเมาะตะมะ แล้วพระเจ้าอลองพญาจึงทรงแต่งตั้งขุนนางชาวมอญอีกคนหนึ่งชื่อว่าท้าวตลุด (Daw Talut) เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะคนใหม่[34]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2303 ทัพหลวงของพม่าประชุมกันอยู่ที่พรมแดนในเมาะตะมะ แทนที่จะใช้เส้นทางปกติจากเมาะตะมะไปยังด่านเจดีย์สามองค์ พม่าเลือกที่จะรุกรานลงไปทางใต้ เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาทรงต้องปราบปรามหัวเมืองทวายที่เป็นอิสระอยู่เสียก่อน โดยเจ้าชายมังระทรงนำทัพหน้าไป ซึ่งประกอบด้วยทหาร 6 กรม (ทหาร 5,000 นาย และม้า 500 ตัว) ไปยังทวาย[44] เจ้าชายมังระทรงให้มังหลาราชา สิธูนรธา และเจ้าฟ้าเสือหาญฟ้าเมืองยอ ยกทัพหน้า 2,000 คน เข้าโจมตีเมืองทวาย เมืองทวายซึ่งเป็นนครรัฐอิสระมาตั้งแต่พ.ศ. 2295 เป็นเวลาเจ็ดปี จึงเสียให้แก่พระเจ้าอลองพญาในที่สุด ในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2302 ทวายถูกยึดครองโดยง่ายดาย และเจ้าเมืองทวายได้ถูกประหารชีวิต[6] มีชาวทวายได้หลบหนีลี้ภัยไปยังเมืองมะริดของสยาม พระเจ้าอลองพญาซึ่งประทับอยู่ที่เมาะตะมะ ทรงทราบว่า ได้เมืองทวายแล้ว ในที่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2303[23]

พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้สร้างถนนทางเสด็จจากเมืองเมาะตะมะไปยังเมืองทวาย แล้วพระเจ้าอลองพญาจึงย้ายมาประทับที่เมืองทวาย มีพระราชโองการให้หยุดประชุมทัพที่เมืองทวาย เพื่อรอกองกำลังเสริมและเสบียงเพิ่มเติมจากร่างกุ้งและเมาะตะมะให้มาถึงอย่างทันท่วงที และมีพระราชโองการแต่งตั้งให้มังหลาราชา พงศาวดารไทยเรียกว่า แมงละราชา ให้เป็นแม่ทัพใหญ่กองหน้าแต่ผู้เดียว[23] และให้เกณฑ์ชาวเมืองทวายเข้าทัพด้วย

การเตรียมทัพของฝ่ายสยาม

ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงส่งข้าหลวงพม่าสองคนเป็นผู้นำราชสาส์นของพระเจ้าอลองพญามามอบให้แก่กรมการเมืองมะริดใจความว่า;[23]

  • เมื่อครั้งที่พระเจ้าอลองเมงตาราเสด็จออกทำศึกมณีปุระนั้น พวกตะเลงได้เป็นขบถขึ้นที่เมืองร่างกุ้ง มีฝรั่งฝรังคีบางผู้ได้ขโมยเรือหลวงจากเมืองร่างกุ้งแล้วแล่นมาที่เมืองมะริดตะนาวศรี เมื่อพระเจ้าอลองเมงตาราร้องขอให้กรมการเมืองมะริดคืนเรือนั้นให้แก่พระเจ้าอลองเมงตารา กรมการเมืองมะริดกลับตอบว่าจะต้องมีพระราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสียก่อน เพราะฉะนั้น ขอให้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจงอย่ายึดทรัพย์สมบัติของกษัตริย์พระองค์อื่นไว้ จงยินยอมมอบเรือหลวงของพระเจ้าอลองเมงตาราคืนให้โดยทันที
  • เมื่อข้าขัณฑสีมาได้หลบหนีไปต่างเมือง เป็นธรรมเนียมว่าพระเจ้ากรุงกษัตริย์แห่งเมืองนั้น จักต้องส่งข้าขัณฑสีมาเหล่านั้นคืนให้แก่เจ้าขัณฑสีมาเดิม หากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่ทรงคืนชาวพม่าชาวมอญและชาวทวายที่เมืองมะริดตะนาวศรีคืนให้แก่พระเจ้าอลองเมงตาราโดยเร็ว ก็จงยกทัพออกมาสัประยุทธตามราชประเพณี

ฝ่ายสยามกรมการเมืองมะริดนั้นนิ่งเฉย ไม่มีท่าทีตอบโต้คำร้องขอของพระเจ้าอลองพญาแต่ประการใด พระเจ้าอลองพญามีพระราชสาส์นมาถึงกรมการเมืองมะริดอีกครั้งในวันที่ 19 มกราคม ว่าให้ส่งตัวชาวทวายคืนให้แก่พระเจ้าอลองพญา ทางเมืองมะริดตะนาวศรียังคงนิ่งเฉยเช่นเดิม ส่วนกรมการเมืองตะนาวศรีมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา แจ้งว่าเจ้าพม่าชื่อว่า"มังลอง" ยกทัพพม่ามาจำนวนประมาณ 30,000 คน ยกมาตีได้เมืองทวายแล้ว กำลังจะยกลงมาโจมตีเมืองมะริด[20] ม้าเร็วมากราบทูลว่า พม่ายกมาทั้งทางมะริด (ด่านสิงขร) ทางท่ากระดาน (เจดีย์สามองค์) และทางเชียงใหม่ ทั้งที่ในความจริงพม่ายกมาทางเมื่องมะริดทางเดียว พระเจ้าเอกทัศน์ทรงตกพระทัย มิได้มีพระวิจารณญาณจึงมีพระราชโองการให้จัดทัพออกไปรับทัพพม่าทั้งสามทาง;

  • พระยาอภัยราชา (คนใหม่) พระยาราชสงคราม ยกทัพ 8,000 คน ไปตั้งรับพม่าจากเชียงใหม่
  • พระยาอภัยมนตรี ยกทัพจำนวน 10,000 คน ไปตั้งรับพม่าทางท่ากระดานด่านเจดีย์สามองค์
  • เจ้าพระยาพระคลัง[21]ผู้ว่าที่สมุหนายก พร้อมทั้งพระยาสีหราชเดโช และพระยาราชวังสัน ยกทัพ 14,000 คน ไปตั้งรับพม่าทางแก่งตุ่มด่านสิงขร
  • เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ยกทัพ 14,000 คน ตั้งรอรับทัพพม่าที่ราชบุรี[21]

ต่อมาเมื่อพระเจ้าเอกทัศน์ทรงทราบว่า พม่ายกมาทางเมืองมะริดด่านสิงขรมากที่สุด จึงมีพระราชโองการให้จัดเกณฑ์ทัพเสริมเข้าตั้งรับการรุกรานของพม่าจากทางด่านสิงขร;

  • กองทัพที่ 1: ขณะนั้นพระยายมราชเป็นโทษจำคุกอยู่จากเหตุการณ์กบฏของกรมหมื่นเทพพิพิธในพ.ศ. 2301 พระเจ้าเอกทัศน์จึงทรงแต่งตั้งให้พระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง ขึ้นเป็นพระยายมราชเสนาบดีนครบาลคนใหม่ ทรงให้พระยายมราชคนใหม่เป็นแม่ทัพ นำทัพจำนวน 3,000 คนเศษ
    • พระยาเพชรบุรีเจ้าเมืองเพชรบุรีเป็นโทษจากเหตุการณ์กบฏกรมหมื่นเทพพิพิธ พระเจ้าเอกทัศน์ทรงให้พระยาเพชรบุรีคนใหม่ คือ พระยาเพชรบุรี (เรือง) เป็นทัพหน้าของพระยายมราช
    • พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตรทัพ พระสมุทรสงครามเป็นเกียกกายทัพ พระธนบุรีและพระนนทบุรีเป็นทัพหลัง
  • กองทัพที่ 2: พระยารัตนาธิเบศร์ ผู้ว่าที่ธรรมาธิกรณ์กรมวัง เป็นแม่ทัพอีกทัพหนึ่งคุมกำลังพล 2,000 คนเศษ
    • พระยาสีหราชเดโช และพระยาราชวังสัน เป็นทัพหน้า
    • ท้าวพระยากรมอาสาหกเหล่า เป็นเกียกกายทัพและเป็นทัพหลัง
    • ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ อาสานำกำลังไพร่ 400 คนเศษ เป็นกองอาตมาท เข้าร่วมกับกองของพระยารัตนาธิเบศร์

พม่าพิชิตมะริดและตะนาวศรี

หลังจากที่ทัพพม่ามาประชุมกันที่เมืองทวายพร้อมสรรพแล้วนั้น พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้เจ้าชายมังระราชบุตร ยกทัพพน้าจำนวน 5,000 คน พร้อมทั้งมังฆ้องนรธายกทัพจำนวน 3,000 คน เป็นทัพหนุน เข้าโจมตีและล้อมเมืองมะริด ฝ่ายกรมการเมืองมะริดมีกำลังน้อย สู้รบกับพม่าอยู่เป็นเวลาถึงสิบห้าวัน[21]แต่ไม่สามารถต้านทานทัพพม่าได้ แม่ทัพพม่าแมงละราชาจึงสามารถตีหักเอาเมืองมะริดได้สำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2303 และทัพพม่าใช้เวลาเดินทัพเพียงสองวันถึงเมืองตะนาวศรี เข้ายึดเมืองตะนาวศรีได้อีกเมืองหนึ่ง ราษฎรกรมการเมืองมะริดตะนาวศรีแตกหนีเข้ามา[20]ทางด่านสิงขร หลังจากสงครามเริ่มต้นขึ้นเพียงสองอาทิตย์เท่านั้น พม่าสามารถยึดครองทั้งมะริดและเมืองทวาย และสามารถควบคุมชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดได้สำเร็จ[44]

การรบที่แก่งตุ่ม

พระเจ้าอลองพญาประกาศสงคราม

เมือสามารถพิชิตทวายมะริดตะนาวศรีได้ทั้งหมดแล้ว พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองทวายนั้น มีหมายรับสั่งถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา คือ พระเจ้าเอกทัศน์ ใจความว่า;[23]

สารถึงพระเจ้ากรุงทวารวดี ด้วยเหตุที่พระเจ้าอลองเมงตาราเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลที่เขาสิงห์โคตย์ (Thein Gottaya) พระเจ้าอลองเมงตาราทรงตรวจตราท่าเรือลูกค้าวาณิชย์ตามแต่ปกติวิสัย มีผู้กราบทูลว่าเรือหลวงลำหนึ่งมีผู้ลักไปไว้ที่เมืองมะริด พระเจ้าอลองเมงตาราทรงส่งข้าหลวงไปทวงเรือหลวงที่ถูกลักไปนั้น แต่กรมการเมืองมะริดนั้นเบียดบังไว้ด้วยอ้างว่า ต้องมีพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงทวารวดีเสียก่อน จึงจะถวายเรือหลวงลำนั้นคืนให้แก่พระเจ้าอลองพญาเมงตาราได้ บัดนั้นเมืองทวายเป็นกบฏ พระเจ้าอลองเมงตาราทรงปราบกบฎและลงพระราชอาญาแก่พระยาทวายจนถึงสิ้นชีวิต ชาวทวายข้าขัณฑสีมาคร้ามแก่พระเดชานุภาพแตกหนีไปเมืองมะริดตะนาวศรี พระเจ้าอลองเมงตารามีพระราชสาสน์ให้กรมการเมืองมะริดยกข้าขัณฑสีมาทวายคืนแก่พระเจ้าอลองเมงตารา แต่กรมการเมืองมะริดกลับนิ่งเสีย พระเจ้าอลองเมงตาราจึงเสด็จพยุหยาตราถึงเมืองมะริดเมืองตะนาว ไม่พบเรือหลวงที่ลักไปนั้น พระเจ้าอลองเมงตาราจึงเสด็จติดตามเรือหลวงไปทางกรุงทวารวดี ขอพระเจ้ากรุงทวารวดีจงมาเข้าเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าอลองเมงตาราที่ทางก่อนถึงกรุงทวารวดี

ต่อมาไม่นานพระเจ้าอลองพญาทรงล่วงรู้ความขัดแย้งทางการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยา จึงมีหมายรับสั่งถึงพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาออกมาอีกว่า;[23]

พระเจ้ากรุงทวารวดีมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม กระทำมิชอบเป็นหลายประการต่อทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเสนาบดีทั้งปวง พระเจ้าอลองพญาเมงตารา ผู้เป็นเอกองค์โพธิสัตว์หาผู้ใดเทียมในชมพูทวีป ตั้งพระทัยสอนสั่งราชธรรมให้แก่พระเจ้ากรุงทวารวดี ขอพระเจ้ากรุงทวารวดีจงเสด็จมาถวายบังคมประทับแทบพระบาทองค์เอกโพธิสัตว์พระองค์นี้ จักได้เรียนราชธรรมต่อไป

การรบที่แก่งตุ่ม

ทัพสยามกรุงศรีอยุธยายกมาไม่ทันช่วยเมืองมะริดตะนาวศรี ซึ่งเสียให่แก่พม่าแล้ว ทัพสยามจึงตั้งรับทัพพม่า

  • พระยายมราช ตั้งทัพที่แก่งตุ่ม ปลายน้ำตะนาวศรี[12] บริเวณด่านสิงขรในเขตแดนประเทศพม่าในปัจจุบัน
  • พระยารัตนาธิเบศร์ ตั้งทัพที่กุยบุรี

เมื่อทรงทราบว่าเมืองมะริดตะนาวศรีแตกเสียให้แก่พม่าแล้วนั้น พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้เจ้าเมืองหัวเมืองทั้งปวง นำกำลังหัวเมืองเข้ามาป้องกันกรุงศรีอยุธยา ทำให้บรรดาหัวเมืองขาดกำลังที่จะป้องกันตนเองจากการรุกรานของพม่า และยังมีพระราชโองการให้ราษฎรในหัวเมืองหลบหนีเข้าป่าอย่าให้ฝ่ายพม่าจับตัวได้[20] พระเจ้าอลองพญาเสด็จจากเมืองทวายมาถึงเมืองตะนาวศรี แล้วจึงมีพระราชโองการให้ทัพหน้านำโดยมังฆ้องนรธายกทัพหน้า จำนวน 20,000 คน[20] โดยมีแมงละราชาเป็นปลัดทัพ ยกเข้ามาทางด่านสิงขร ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 พบกับทัพของพระยายมราชที่แก่งตุ่ม นำไปสู่การรบที่แก่งตุ่ม ทัพของพระยายมราชมีกำลังเพียง 15,000 คน[20] พระยายมราชส่งพระยาสีหราชเดโชและพระยาราชวังสันเป็นทัพหน้า เข้าต้านทัพพม่า แต่ทัพฝ่ายสยามถูกฝ่ายพม่าตีแตกพ่าย ฝ่ายพม่านำโดยมังฆ้องนรธาได้รับชัยชนะ พระยายมราชจึงตัดสินใจแตกทัพถอยหนีกลับไปทางด่านสิงขร เปิดทางให้ทัพพม่าสามารถยกทัพเข้าสู่ฝั่งอ่าวสยามได้ในที่สุด

สงครามในอ่าวไทย

การรบที่หว้าขาว

หลังจากความชัยชนะของทัพพม่า นำโดยมังฆ้องนรธา หรือทัพสยามกรุงศรีอยุธยานำโดยพระยายมราช ในการรบที่แก่งตุ่ม ทัพสยามแตกพ่ายพระยายมราชจำต้องถอยร่นกลับมา เป็นเหตุให้ทัพพม่าสามารถเดินทางผ่านด่านสิงขรเข้ามายังชายฝั่งอ่าวสยามได้ในที่สุด ฝ่ายพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่กุยบุรี เห็นความทัพพม่าผ่านด่านสิงขรเข้ามา จงมีคำสั่งให้ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญซึ่งอาสาเข้าร่วมรบในครั้งนี้ คุมไพร่จำนวน 500 คน ออกไปตั้งรับทัพพม่า ที่ตำบลหว้าขาว (ตำบลบ่อนอก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์) เป็นชายหาดริมทะเล นำไปสู่การรบที่หว้าขาว ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 ทัพพม่ายกมาถึงในตอนเช้า ขุนรองปลัดชูนำไพร่ห้าร้อนคนเข้าต่อสู้กับพม่า รบันถึงขั้นตะลุมบอน ขุนรองปลัดชูถือดาบสองมือเข้าสู้กับพม่า รบตั้งแต่เวลาเช้าถึงเที่ยง แต่ทว่าฝ่ายขุนรองปลัดชูมีกำลังน้อยกว่าจึงพ่ายแพ้ ขุนรองปลัดชูล้มลงถูกพม่าจับกุมตัวได้ พม่านำช้างออกมาเหยียบทหารสยาม ทหารสยามหลบหนีออกสู่ทะเล จมน้ำทะเลไปเป็นจำนวนมาก เหลือรอดเพียงจำนวนน้อยกลับมารายงานพระยารัตนาธิเบศร์ พระยารัตนาธิเบศร์และพระยายมราชเห็นว่าสู้พม่าไม่ได้ จึงถอยทัพทั้งหวนกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา กราบทูลพระเจ้าเอกทัศน์ว่าพม่ายกมามากเหลือกำลังจึงพ่ายแพ้[20]

พม่ายึดเมืองกุยบุรีและเพชรบุรี

หลังจากที่ฝ่ายพม่าได้รับชัยชนะที่หว้าขาว และทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้ถอยร่นกลับไปแล้ว ทัพพม่าจึงสามารถรุกหน้าเข้าพิชิตยึดหัวเมืองริมทะเลอ่าวไทย ได้แก่ เมืองกุยบุรี เมืองปรานบุรี และเมืองเพชรบุรีได้อย่างรวดเร็ว โดยมีแมงละราชาเป็นแม่ทัพหน้า ซึ่งเมืองเหล่านี้ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนยอมแก่พม่าแต่โดยดี กองทัพพม่าใช้เวลาเดินทางริมอ่าวไทยหลายวัน เห็นชายหาดอยู่ทางขวาและภูเขาอยู่ทางซ้ายโดยตลอด พระเจ้าอลองพญาทรงประสบกับปัญหาแม่ทัพนายกองเมื่อเห็นว่าทัพฝ่ายสยามขาดประสิทธิภาพ จึงแก่งแย่งกันเป็นทัพแนวหน้าเพื่อให้ได้ความดีความชอบ[23] พระเจ้าอลองพญาต้องทรงมีหมายรับสั่งหลายครั้งเพื่อควบคุมบรรดาแม่ทัพนายกองแนวหน้าให้อยู่ในระเบียบ ไม่ให้ล้ำหน้าจนเกินไปมิฉะนั้นหากถูกทัพสยามโจมตีจะขาดจากการสนับนุนของทัพหลวง เมื่อทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญากำลังโจมตีเมืองกุยบุรีอยู่นั้น มีทัพหน้าของพม่าบางส่วนยกเลยขึ้นไปถึงเมืองเพชรบุรีแล้ว เมืองกุยบุรีเสียให้แก่พม่าในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2303[23] พระเจ้าอลองพญาทรงมีหมายรับสั่งให้แมงละราชายกติดตามทัพสยามที่ล่าถอยในระยะที่สามารถพุ่งหอกได้ถึง[23]

พม่าสามารถยึดเมืองเพชรบุรีได้โดยปราศจากการต่อสู้ในประมาณวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2303[23] หลังจากนั้นสามวันพระเจ้าอลองพญาทรงมีประกาศหมายรับสั่งเป็นพระราชสาสน์ถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา โดยฝากให้แก่สามเณรเมืองเพชรบุรีใส่ชะลอมนำไปถวายแด่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ที่กรุงศรีอยุธยาใจความว่า;[23]

พระเจ้าอลองเมงตาราเอกกษัตริย์ราชาธิราช ผู้ถือหอกวิเศษอรินทม ผู้เป็นพระเจ้าช้างเผือก เป็นเอกองค์ศาสนูปถัมภก ผู้ลงพระราชอาญาแก่ปัจจามิตรทั้งปวง เป็นสุริยวงศ์ มีขัณฑสีมากอปรด้วยกรุงสุนาปรันตะ กรุงตามพะทีป กรุงกัมโพชา กรุงรามัญ กรุงมณีปุระ กรุงสารเขตต์ และกรุงอื่นๆ มีพระราชโองการถึงพระเจ้ากรุงทวารวดี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และไพร่ฟ้าข้าขัณฑสีมาทั้งปวง ด้วยพระเดชานุภาพของพระเจ้าอลองเมงตารานั้นเป็นไปตามด้วยพระพุทธทำนาย หากผู้ใดหมายจะรักษาชีวิตทรัพย์สินศฤงคารไว้มิให้สูญสิ้นไปตามกรรม จงออกมาถวายบังคมต่อพระเจ้าอลองเมงตารา

พระเจ้าอลองพญาประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรี มีชาวเมืองเพชรบุรีกลุ่มหนึ่งเข้าปล้นเสบียงอาหารที่พม่าได้ยึดไว้ เป็นเหตุให้พระเจ้าอลองพญามีหมายรับสั่งตักเตือนชาวเมืองเพชรบุรี ว่าหากมีชาวเมืองเพชรบุรีเข้าปล้นเสบียงอาหารของพม่าอีก จะลงพระราชอาญาแก่ชาวเมืองเพชรบุรีจนสิ้นชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้น[23]

การรบที่ราชบุรี

ทัพพม่าพักที่เมืองเพชรบุรีเป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นจึงยกทัพต่อไปยังเมืองราชบุรี พระเจ้าอลองพญาทรงตั้งทัพที่ตำบลบ้านหม้อ[34] (อำเภอโพธาราม) เป็นเวลาหนึ่งคืน แล้วจึงยกเข้าตีเมืองราชบุรีสามารถยึดเมืองราชบุรีได้สำเร็จในวันเดียวกัน หลังจากนั้นพม่าตั้งทัพที่บ้านหลวง แล้วเดินทัพไปทางเมืองสมุทรสงครามออกทางปากน้ำแม่กลอง ทัพหน้าของพม่านำโดยมังฆ้องนรธา ได้พบกับทัพกรุงศรีอยุธยานำโดยพระยาราชวังสัน จำนวน 20,000 คน[34] พงศาวดารพม่าระบุว่าในระยะแรกทัพพม่าของมังฆ้องนรธาเสียทีต่อทัพฝ่ายสยาม ทหารพม่าล้มตายจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อเจ้าชายมังระราชบุตรได้ยกทัพหลวงมาช่วยหนุน ช่วยเหลือมังฆ้องนรธา จนฝ่ายพม่ามีชัยชนะในที่สุด พระยาราชวังสันแม่ทัพสยามขี่ม้าหลบหนีไป เจ้าชายมังระศิริธรรมราชาจับเชลยชาวสยามได้ 2,000 คน ปืน 1,000 กระบอก และปืนใหญ่ขนาดเล็กอีก 180 กระบอก[34]

หลังจากที่ฝ่ายพม่ามีชัยชนะเหนือฝ่ายสยามที่ราชบุรีแล้ว ทัพฝ่ายพม่าจึงยกทัพเข้ายึดเมืองสุพรรณบุรีได้สำเร็จอีกเมืองหนึ่ง

การรบที่ตาลาน

พระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นบัญชาการ

เมื่อทัพพม่าของพระเจ้าอลองพญามาตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาแล้ว บรรดาขุนนางข้าราชการอาณาประชาราษฎร์ เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในภาวะวิกฤต จึงพากันไปอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดประดู่นั้น ให้ออกจากผนวชมาช่วยป้องกันพระนคร พระเจ้าอุทุมพรจึงทรงออกจากผนวชมาช่วยพระเชษฐาพระเจ้าเอกทัศน์ในการป้องกันการรุกรานของพม่า แต่ในขณะเดียวกันพระเจ้าอุทุมพรก็ทรงฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองของพระองค์ขึ้นมาใหม่ พระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้ปลดปล่อยขุนนางฝ่ายของพระองค์ ซึ่งถูกจำคุกไปจากเหตุการณ์กบฏเมื่อพ.ศ. 2301 ได้แก่ เจ้าพระยาอภัยราชาอดีตสมุหนายก พระยายมราชเสนาบดีนครบาลคนเก่า พระยาเพชรบุรีเจ้าเมืองเพชรบุรีคนเก่า ให้พ้นโทษออกจากคุกมาช่วยราชการคงที่ฐานาศักดิ์ตามเดิม[20]

ในด้านการป้องกันพระนคร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้;

  • กวาดต้อนไพร่ราษฏรบริเวณโดยรอบเกาะเมือง พร้อมทั้งเสบียงอาหาร ให้เข้ามาอยู่ภายในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยา
  • นำขอนไม้สักมาผูกไว้ที่ตามใบเสมาปักเป็นเขื่อน ขวางกั้นประตูบกประตูน้ำของกรุงศรีอยุธยาป้องกันไม่ให้พม่าสามารถเข้ามาได้
  • นำปืนขึ้นเชิงเทินบนกำแพงโดยรอบพระนคร เกณณ์ทหารขึ้นรักษาที่หน้าเชิงเทิน

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มีพระราชโองการให้จัดทัพออกไปป้องกันทัพพม่า ที่ยกมาจากสุพรรณบุรีที่ชานกรุงศรีอยุธยา จำนวน 20,000 คนเศษ (พงศาวดารพม่าระบุว่ามี 30,000 คน) เป็นจำนวนทั้งสิ้นห้ากอง นำโดยเจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ รวมทั้งพระยารัตนาธิเบศร์ พระยายมราชคนเก่า พระยาราชวังสัน พระยาสีหราชเดโช ยกออกไปตั้งที่แม่น้ำน้อย หรือลำน้ำเอกราช หรือลำน้ำปากไห่ตาลาน[12] (อำเภอผักไห่) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้จับกุมขุนนางฝ่ายของพระเจ้าเอกทัศน์ ได้แก่ พระยาราชมนตรี (ปิ่น) และจมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) ทรงให้มีกระทู้ถามว่า พระยาราชมนตรีและจมื่นศรีสรรักษ์กระทำคบชู้ด้วยฝ่ายใน[20] พิจารณาความรับเป็นสัตย์แล้ว พระเจ้าอุทุมพรจึงทรงพระราชอาญาให้เฆี่ยนคนละห้าสิบครั้งแล้วจำคุกไว้ อยู่ได้สามวันพระยาราชมนตรี (ปิ่น) ทนพิษบาดแผลไม่ได้จึงเสียชีวิต ทรงให้นำศพของพระยาราชมนตรีไปเสียบประจานไว้ที่ที่ประตูไชย ในขณะที่จมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) นั้นรอดชีวิต นอกจากนี้ เจ้าพระยาพระคลังผู้ว่าที่สมุหนายกก็ได้ถูกจับกุมกุมขังไว้เช่นกัน

การรบที่ตาลาน

ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 ทัพหน้าของพระเจ้าอลองพญา นำโดยเจ้าชายมังระสิริธรรมราชา และมังฆ้องนรธา ยกจากเมืองสุพรรณบุรีมายังกรุงศรีอยุธยา พบกับค่ายขนาดน้อยใหญ่ต่างๆของฝ่ายสยามที่แม่น้ำน้อย เจ้าชายมังระต้องการที่จะโจมตีทัพของฝ่ายสยามโดยทันทีอย่างรวดเร็ว แต่มังฆ้องนรธาได้ทัดทานไว้ ให้เหตุผลว่ากำลังฝ่ายสยามนั้นมีจำนวนที่มาก และมีกำลังในกรุงศรีอยุธยาที่พร้อมจะออกมาหนุน สมควรที่รอให้ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญามาถึงเสียก่อน จึงทำการเข้าโจมตี มิฉะนั้นถ้าเสียทีจะไม่มีกองกำลังช่วยเหลือ พระเจ้าอลองพญามีหมายรับสั่งมายังทัพหน้า มีพระราชโองการให้ทัพหน้ายับยั้งอย่าเพิ่งเข้าโจมตีทัพสยาม จนกว่าพระเจ้าอลองพญาจะเสด็จยกทัพหลวงมาถึง[34]

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายมังระมีความเร่งรีบต้องการที่จะเข้าโจมตีทัพสยามโดยเร็ว เมื่อเจ้าชายมังระได้ยินเสียงกลองเสียงโห่ของทัพหลวงพระเจ้าอลองพญา แลเห็นธงต่างๆมาแต่ไกล เจ้าชายมังระจึงมีคำสั่งให้ทัพหน้าของพม่าเข้าโจมตีฝ่ายสยามโดยทันที โดยที่ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญายังไม่ทันที่จะมาถึง เจ้าชายมังระให้แบ่งกองกำลังออกเป็นสามสายเพื่อข้ามแม่น้ำน้อย;

  • มังฆ้องนรธาเป็นปีกขวา
  • แมงละนรธา (Minhla Nawrata) เป็นปีกซ้าย
  • แมงละสิริ (Minhla Thiri)[34] ภายหลังคือมังมหานรธา เป็นกองกลาง

ทัพหน้าของพม่ายกข้ามแม่น้ำน้อยเข้าโจมตีฝ่ายสยาม แต่ทว่าในขณะที่ทัพพม่ากำลังข้ามแม่น้ำอยู่นั้น เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบมีคำสั่งให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ระดมยิงใส่ทัพพม่าที่กำลังข้ามแม่น้ำ ทำให้ฝ่ายพม่าล้มตายจำนวนมาก ทัพหน้าของพม่าเกือบที่จะพ่ายแพ้ แต่ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญามาถึงได้ทันเวลาพอดี หนุนทัพของพม่าให้ข้ามแม่น้ำน้อยได้สำเร็จ

เมื่อทัพฝ่ายพม่าสามารถข้ามแม่น้ำน้อยได้สำเร็จแล้ว จึงเข้าโจมตีค่ายของฝ่ายสยาม เมื่อถูกฝ่ายพม่าโจมตีโดยตรง ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงพ่ายแพ้แตกถอยหนี พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายพม่าสามารถจับกุมแม่ทัพสยามได้ทั้งห้าคน ยกเว้นเจ้าพระยากลาโหมซึ่งหลบหนีไปและพม่าต้องส่งกองกำลังติดตาม;

  • พงศาวดารไทยระบุว่า เจ้าพระยากลาโหมขี่ช้างหนีพม่า มาจนถึงทุ่งวัดนนทรี ฝ่ายพม่ายกทัพติดตามมาได้ พุ่งหอกถูกเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่อสัญกรรมตกจากหลังช้าง
  • พงศาวดารพม่าระบุว่า เจ้าพระยากลาโหมลงจากหลังช้าง ควบม้าหลบหนีไป (แล้วจึงถึงแก่อสัญกรรมต่อมา)

พงศาวดารไทยไม่ได้ระบุว่าแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าจับกุมได้แต่อย่างใด พระยายมราช (คนเก่า) ได้รับบาดเจ็บถูกหอดซัดหลายตำแหน่ง กลับมาพักรักษาตัวที่กรุงศรีอยุธยา ได้ประมาณเก้าวันสิบวันจึงถึงแก่กรรม ฝ่ายแม่ทัพคนอื่นๆได้แก่ พระยารัตนาธิเบศร์ พระยาราชวังสัน พระยาสีหราชเดโช ขี่ม้ากลับมายังกรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศร์ทูลต่อพระเจ้าอุทุมพรฟ้องว่า พระยาราชวังสันนั้นเป็นกบฏ เป็นพรรคพวกของพระยาราชมนตรี (ปิ่น) เนื่องจากกองของพระยาราชวังสันได้ยิงปืนแย้งเข้ามาโดนค่ายของพระยารัตนาธิเบศร์ แล้วพระยาราชวังสันจึงหลบหนีไป ทำให้พระยารัตนาธิเบศร์ต้องเสียทีพ่ายแพ้ให้แก่พม่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงมีพระราชโองการให้จับกุมตัวพระยาราชวังสัน ลงพระราชอาญาเฆี่ยนห้าสิบครั้งแล้วจำคุก พระยาราชวังสันทนพิษบาดแผลไม่ได้เสียชีวิตในอีกเจ็ดวันแปดวันต่อมา นำศพของพระยาราชวังสันไปเสียบประจานไว้ที่ประตูไชยอีกเช่นกัน[20]

การล้อมกรุงศรีอยุธยา

การรบที่โพธิ์สามต้น

หลังจากได้รับชัยชนะที่แม่น้ำตาลานแล้ว พระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จยกทัพพม่ามาตั้งที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ในอำเภอบางบาล ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนห้า[34] (27 มีนาคม พ.ศ. 2303) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบประมาณสองร้อยปี ที่ทัพพม่าสามารถยกมาถึงชานกรุงศรีอยุธยาได้ ครั้งก่อนหน้านี้คือในพ.ศ. 2129 เมื่อพระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นทัพพม่ายกลงมาจากทางหัวเมืองเหนือ ทางเมืองกำแพงเพชรเมืองนครสวรรค์ แล้วเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2130 ตั้งค่ายอยู่ที่ชานกรุงทางทิศเหนือและทิศตะวันออก พระเจ้านันทบุเรงทรงล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้เป็นเวลาสี่เดือน ไม่สามารถตียึดกรุงศรีอยุธยาได้ จึงถอยทัพกลับไป[12]

พระเจ้าอลองพญาทรงส่งทัพหน้านำโดยมังฆ้องนรธาหรือแมงละแมงข่อง ยกทัพหน้าของพม่ามาตั้งที่โพธิ์สามต้น ทางทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นชุมชนชาวมอญอพยพที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้พระราชทานให้แก่ชาวมอญในพ.ศ. 2289 หลางอภัยพิพัฒน์ ผู้นำชาวจีนนายก่ายทูลอาสาออกรบพม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพออกรับพม่า;[20]

  • หลวงอภัยพิพัฒน์ ผู้นำชาวจีนนายก่าย นำชาวจีนอาสา 2,000 คน ออกไปตั้งรบกับพม่าที่โพธิ์สามต้น
  • จมื่นทิพเสนา นำกองกำลังชาสยามจำนวน 1,000 คน ออกไปสนับสนุนกองอาสาจีน ของหลวงอภัยพิพัฒน์ จมื่นทิพเสนาตั้งอยู่ที่ทุ่งวัดทะเลหญ้า (วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร) เลยออกไปจากเพนียดก่อนถึงโพธิ์สามต้น

หลวงอภัยพิพัฒน์นำกองกำลังจีนอาสาออกไปตั้งที่โพธิ์สามต้น แต่ยังไม่ทันที่กองอาสาจีนจะตั้งค่ายลง มังฆ้องนรธาแม่ทัพพม่าเห็นฝ่ายสยามกำลังลงมือตั้งค่าย จึงยกกำลังข้ามแม่น้ำโพธิ์สามต้นเข้าโจมตีกองอาสาจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้กองอาสาจีนของหลวงอภัยพิพัฒน์แตกพ่าย ชาวจีนหนีลงไปทั้งทางบกทางน้ำ พม่าไล่ติดตามทั้งยิงปืนทั้งพุ่งหอก ถูกทหารอาสาจีนเสียชีวิตจำนวนมาก กองสนับสนุนของจมื่นทิพเสนาก็ไม่ได้ช่วยเหลือ ถอยหนีกลับมาอีกเช่นกัน ความพ่ายแพ้ของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาที่โพธิ์สามต้นนี้ เป็นเหตุให้ทัพหน้าของพม่าสามารถยกลงมาตั้งค่ายได้ถึงเพนียด ฝ่ายพม่าตั้งค่ายที่เพนียด วัดเจดีย์แดง วันสามวิหาร ริมกำแพงด้านทิศเหนือ ทำบันไดไว้จำนวนมากเพื่่อเตรียมพาดกำแพงกรุงศรีอยุธยาเข้าโจมตีเมือง[20]

เจรจาสงบศึก

พระเจ้าอลองพญามีหมายรับสั่งแก่ชาวกรุงศรีอยุธยาใจความว่า;[34]

เนื่องด้วยเหตุว่าพระบรมพุทธศาสนาในกรุงทวารวดีนั้นมิได้วัฒนารุ่งเรืองถึงแก่กาลเสื่อมถอย พระเจ้าอลองเมงตาราเอกโพธิสัตตราชา มีพระทัยปรารถนาเสด็จมาเพื่อยกยออุปถัมภ์พระศาสนา แต่พระเจ้ากรุงทวารวดีนั้นมิได้ออกมาถวายบังคม มิได้ถวายราชบุตรราชโอรส มิได้ถวายช้างม้า แลมิได้ออกมากระทำรณยุทธตามราชประเพณี แม้นว่าพระเจ้าอลองเมงตารา ผู้มีพระทัยปรารถนาในพระโสดาปัตติผลเป็นปัจฉิม ได้มีพระมหากรุณาให้ปล่อยตัวท้าวพระยาขุนนางเมืองสุพรรณบุรี มิได้ลงพระราชอาญาแต่ประการใด

ฝ่ายราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้รับราชสาสน์ของพระเจ้าอลองพญาแล้ว จึงมีพระราชสาสน์ออกไปตอบโต้ว่า;

ในภัทรกัปป์นั้นมีองค์พระโพธิสัตว์พุทธเจ้าจักอุบัติขึ้นเพียงห้าพระองค์ ซึ่งสี่องค์กอปรด้วย พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า แลพระสมณโคดม ล้วนแต่ได้อุบัติขึ้นแลเสด็จถึงนิพพานแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น ยังคงแต่โพธิสัตว์เมตไตรยะ ยังมิได้อุบัติขึ้นในมนุสสภพ ยังประทับเสวยกุศลผลบุญอยู่ในดุสิตสวรรค์ แล้วพระเจ้ากรุงอังวะ เป็นพระโพธิสัตว์พระองค์ใด? ที่อุบัติขึ้นในภัทรกัปป์ ด้วยเหตุว่ามิเคยมีพระโพธิ์สัตว์พระองค์ที่หกอุบัติขึ้นมาแต่กาลก่อน

เจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) สมุหนายก ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์และพระอนุชาพระเจ้าอุทุมพรว่า ขณะนี้ฤดูฝนกำลังจะมาถึง ท้องทุ่งโดยรอบพระนครจะกลายเป็นพื้นที่น้ำขัง บรรดาช้างม้าและทหารของพม่าจะตั้งอยู่ไม่ได้ต้องขึ้นที่สูง เป็นเหตุให้ทัพพม่าจะต้องล่าถอย และฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะถือโอกาสนี้ ยกตามตีทัพพม่าทางด้านหลัง ขณะนี้จวนจะถึงเวลาที่พม่าจะต้องถอยทัพกลับอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งกองกำลังออกไปต่อกรกับพม่า ให้เสียกำลังไพร่พลโดยเปล่า เนื่องจากฝ่ายพม่าตั้งมั่นแข็งแรงไม่สามารถขับไล่ออกไปได้ จนกว่าเมื่อฤดูฝนมาถึงแล้วฝ่ายพม่าก็จะกลับไปเอง สมควรตั้งมั่นอยู่ในพระนครเพื่่อรอเวลาให้ฤดูฝนมาถึง พระเจ้าอุทุมพรทรงเห็นด้วยกับแผนของเจ้าพระยาอภัยราชา มีพระราชโองการไปยังหัวเมืองโดยรอบ ให้ตั้งมั่นอยู่ในเมืองปิดประตูเมืองให้แน่นหนา รอจนกว่าเมื่อฤดูฝนมาถึงแล้วทัพพม่าจะต้องถอยกลับไปเอง[34]

ราชสำนักอยุธยาประวิงเวลาด้วยการส่งขุนนางสยามสามคน ออกไปเจรจาความเมืองสงบศึกกับพม่า ในประมาณวันที่ 6 เมษายน เพื่อถ่วงเวลาให้ฤดูฝนมาถึง ทูตสยามสามคนนำราชสาสน์จากกรุงศรีอยุธยาไปพบกับมังฆ้องนรธาที่ค่ายเพนียด มังฆ้องนรธาส่งตัวทูตสยามให้แก่เจ้าชายมังระราชบุตรสิริธรรมราชา ทูตสยามว่ากล่าวแก่เจ้าชายมังระว่า ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะยินยอมส่งช้างม้าให้แก่ฝ่ายพม่าเป็นเครื่องบรรณาการ แต่เจ้าชายมังระไม่ยินยอมให้ทูตสยามเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ด้วยเหตุผลพระเจ้าอลองพญานั้นได้มีพระราชโองการออกมาแล้วว่า พระเจ้าอลองพญาเสด็จมาเพื่อฟื้นฟูบำรุงพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาต้องเสด็จออกมาถวายบังคมด้วยพระองค์เอง[34] เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล ทูตสยามจึงเดินทางกลับ

พม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา

เมื่อฝ่ายกรุงศรีอยุธยาตั้งมั่นอยู่ในพระนครไม่ออกมาสู้รบ ทำให้ฝ่ายพม่าเหลือเพียงกลยุทธการโจมตีกรุงศรีอยุธยาโดยตรง มังฆ้องนรธานำทัพหน้าของพม่าเข้าประชิคกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยาทางเพนียดทางทิศเหนือ ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2303[32] วันต่อมาวันที่ 9 เมษายน เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในกรุงศรีอยุธยาสามจุด ทำให้พระเจ้ากรุงสยามไม่ไว้วางพระทัยผู้ใดเลย เนื่องจากเกรงว่าจะมีไส้ศึกภายในให้ความร่วมมือกับพม่า พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้นำตัวเจ้าพระยาพระคลังผู้ว่าที่สมุหนายกไปกุมขังไว้[32]

เมื่อทัพหน้าของพม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทางทิศเหนือ ราชสำนักอยุธยาจึงจำต้องอพยพขนย้ายเรือพระราชพิธี เรือพระทื่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งไชย เรืองพระที่นั่งศรี เรือพระที่นั่งกราบ เรือดั้ง เรือกัน เรือศีรษะสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง รวมทั้งเรือกำปั่นหลวง ไปจอดไว้ที่ท้ายคู นอกกำแพงเมืองทางคูทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้รอดพ้นจากการโจมตีของพม่า บรรดาราษฎร พ่อค้าลูกค้าชาวต่างประเทศ ก็ไปอาศัยอยู่ที่ท้ายคูเช่นกัน ด้วยเป็นที่ซึ่งปลอดภัยจากการโจมตีของพม่า นอกจากนี้ ทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติ ได้แก่ บ้านโปรตุเกส และสถานีการค้าของฮอลันดาอีกด้วย ในวันที่ 11 เมษายน[32] ฝ่ายพม่าได้จุดไฟเผาบ้านเรือนโดยรอบพระนครนอกกำแพงเมืองทั้งหมด

ในวันแรมแปดค่ำ เดือนห้า (บันทึกมิชชันนารีฝรั่งเศสระบุว่า เป็นวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2303)[32] ปรากฏว่ามีกองกำลังของพม่าจำนวน 2,000 คน เข้าโจมตีท้ายคู สังหารบรรดาราษฏรครอบครัวชาวกรุงศรีอยุธยา เสียชีวิตจำนวนมากมีศพอยู่เป็นกองๆ เรือจอดอย่างแออัดทำให้ไม่สามารถหลบหนีได้ พม่าเข้าสังหารผู้คนบนเรือรวมทั้งพ่อค้าวาณิชย์ชาวต่างชาติ พม่าเผาเรือกำปั่นหลวงและเรือพระราชพิธีน้อยใหญ่ไปหมดสิ้น ซากศพของผู้เสียชีวิตกองอัดกันเต็มคูเมืองลอยเต็มแม่น้ำจนไม่สามารถใช้สอยได้ นอกจากนี้ ราษฎรที่ท้ายคูยังถูกพม่าจับเป็นไปอีกจำนวนมาก[20] พม่ายึดเรือแล้วนำกำลังเข้าโจมตีปล้มสะดมสถานีการค้าของฮอลันดา เผาเรือสินค้าของชาวจีนและฮอลันดาไปจำนวนมาก นายนิโคลาส บัง (Nicolaas Bang) หัวหน้าสถานีการค้าของฮอลันดา ถูกพม่าทำร้ายได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการจมน้ำขณะกำลังหลบหนีจากพม่า พร้อมทั้งภรรยาชาวสยาม[27]

วันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า (14 เมษายน พ.ศ. 2303) พม่านำปืนใหญ่มาตั้งที่วัดราชพลี และวัดกษัตราวาส (วัดกษัตราธิราช) ทางนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ระดมยิงเข้าใส่กรุงศรีอยุธยา ถูกบ้านเรือนและผู้คนล้มตาย สมเด็จพระอนุชาธิราชพระเจ้าอุทุมพรจึงทรงช้างต้น ชื่อว่าพลายแสนพลพ่าย เสด็จเลียบพระนครตรวจตรา ทรงกำชับตรวจขันเจ้าหน้าที่ทั้งปวงให้คอยตั้งรับพม่า และมีพระราชโองการให้ยิงปืนใหญ่ตอบโต้พม่าจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์ จากป้อมท้ายกบและป้อมมหาไชย ทำให้พม่าที่วัดราชพลีและวัดกษัตราวาสต้องล่าถอยกลับไปทางวัดภูเขาทอง[20]

อีกสองวันต่อมาในวันขึ้นสองค่ำ เดือนหก (16 เมษายน พ.ศ. 2303) พม่านำปืนใหญ่มาอีกครั้งมาตั้งที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม และวัดท่าช้าง (วัดหัสดาวาส) นอกกำแพงด้านเหนือ ระดมยิงในกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ทั้งกลางวันกลางคืน ถูกยอดปราสาทของพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์หักลง[20]

พม่าถอยทัพ

พระเจ้าอลองพญาประชวร

พระเจ้าอลองพญาประชวรในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2303 พงศาวดารไทยระบุว่า พม่าถอยทัพกลับออกไป (จากค่ายบริเวณกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ) ในวันขึ้นสองค่ำเดือนหก[20] (16 เมษายน พ.ศ. 2303) มิชชันนารีฝรั่งเศสระบุว่า พม่าถอยทัพออกไปอย่างเร่งรีบ ในกลางคืนของวันที่ 16 เมษายน[32] พงศาวดารบางฉบับระบุว่า ทางราชสำนักอยุธยาได้ข่าวว่า พระเจ้าอลองพญาต้องปืนใหญ่ระเบิดใส่ ทำได้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในวันที่ 16 เมษายน นั้น ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายพม่าตั้งปืนใหญ่ที่วัดหน้าพระเมรุฯ ยิงปืนใหญ่ใส่พระนครถูกยอดปราสาทพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์นั้นเอง ในขณะที่พงศาวดารไทยบางฉบับระบุว่า พระเจ้าอลองพญาประชวร ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุว่า ในการยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ ในดินแดนของสยามมียุงและแมลงจำนวนมากทำให้ทหารพม่าได้รับความเจ็บป่วยหลายประการ และระบุว่าพระเจ้าอลองพญาประชวรด้วยโรคบิด สิบวันหลังจากที่ทูตสยามได้เดินทางมาเจรจาพยายามที่จะขอสงบศึก

เมื่อพระเจ้าอลองพญาประชวร จึงมีพระราชโองการให้แม่ทัพนายกองพม่าทั้งปวงมาเข้าเฝ้าที่ค่ายหลวง บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอยุธยา พระเจ้าอลองพญาปรารภว่า สถานการณ์สงครามในกรุงศรีอยุธยายังคงติดพัน ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไม่ส่งทัพออกมาสู้รบ เน้นป้องกันตนเองอยู่ในกำแพงเมือง กรุงศรีอยุธยาส่งทูตออกมาเจรจาว่ากล่าว ว่าจะยอมส่งบรรณาการให้แก่พระเจ้าอลองพญา แต่จนถึงบัดนี้กรุงศรีอยุธยายังไม่สวามิภักดิ์และยังไม่ส่งบรรณาการมาแต่อย่างใด และในขณะนี้ฤดูฝนกำลังมาถึงแล้ว ฝ่ายพม่าจะต้องตัดสินใจว่าจะกระทำอย่างไรต่อไป เจ้าชายมังระศิริธรรมราชาราชบุตร ทูลข้อเท็จจริงให้แก่พระเจ้าอลองพญาผู้เป็นบิดาว่า การที่กรุงศรีอยุธยาส่งทูตออกมาเจรจาขอยอมสงบศึกสวามิภักดิ์นั้น เป็นไปเพียงเพื่อประวิงเวลาให้ฤดูฝนมาถึงเท่านั้นเอง เมื่อฤดูฝนมาถึงแล้ว ชานกรุงศรีอยุธยาจะมีน้ำท่วงขังไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้ เจ้าชายมังระทูลขอให้พระเจ้าอลองพญาทรงถอยทัพกลับจากกรุงศรีอยุธยาก่อนในครั้งนี้ เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาประชวร หากเมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วจึงกรีฑาทัพมากรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง มังฆ้องนรธาเห็นด้วยกับเจ้าชายมังระ ว่าควรที่จะถอยทัพกลับไปก่อน เนื่องจากกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นราชธานีที่มีป้อมปราการมั่งคงแข็งแรง มีคูเมืองคูคลองต่างๆล้อมรอบ กรุงศรีอยุธยายังมีปืนใหญ่น้อยมีฝรั่งโปรตุเกสเป็นพลปืน และกรุงศรีอยุธยายังไม่เคยถูกทำลายล้างลงอย่างสิ้นเชิงมาก่อน พระราชวงศ์อยุธยาประทับอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์มีเสบียงอาหารยุทโธปกรณ์ช้างม้ากำลังไพร่พลพร้อมสรรพ์ กรุงศรีอยุธยาแม้ว่าจะยิ่งใหญ่เกรียงไกรสักเพียงใด ก็ไม่อาจสู้ต้านทานพระเดชานุภาพของพระเจ้าอลองพญาได้ สุดท้ายแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็จะต้องเสียให้แก่พม่าในที่สุดเมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ แต่ในขณะนี้พระเจ้าอลองพญากำลังประชวร สมควรเสด็จยกทัพกลับก่อน เนื่องจากโหรหลวงได้ทักท้วงมาก่อนหน้านี้ว่าพระเจ้าอลองพญาอาจต้องประชวรในศึกครั้งนี้ เมื่อพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว มาตีกรุงศรีอยุธยาย่อมได้ดั่งพระประสงค์[34]

นอกจากนี้ มังฆ้องนรธายังกราบทูลแก่พระเจ้าอลองพญา ถึงปัจจัยที่ทำให้การพิชิตกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ไม่สำเร็จ;

  • พระเจ้าอลองพญาเริ่มเสด็จกรีฑาทัพมายังกรุงศรีอยุธยาช้าเกินไป ทำให้ไม่ทันพิชิตกรุงศรีอยุธยาก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง อีกทั้งยังเดินทัพเส้นทางทวายมะริดตะนาวศรี อ้อมเข้ามาทางด่านสิงขรทำให้ต้องใช้เวลาในการปราบปราบหัวเมืองรายทาง นับตั้งแต่เมืองมะริดตะนาวศรี เมืองกุยบุรีปรานบุรีเพชรบุรี จนถึงเมืองราชบุรีสุพรรณบุรี พระเจ้าอลองพญาเสด็จจากเมืองร่างกุ้งในเดือนยี่ กว่าจะถึงชานกรุงศรีอยุธยาก็ถึงเดือนห้า สมควรต้องรีบยกทัพออกจากพม่ามาเข้ายึดหัวเมืองรายทางที่สำคัญของสยามให้ได้เสียตั้งแต่ภายในเดือนอ้ายหรือเดือนยี่
  • เส้นทางในการเดินทัพ ครั้งนี้พระเจ้าอลองพญาทรงจำต้องเสด็จเดินทางนำทัพทางเมืองทวาย เพื่อปราบเจ้าเมืองทวายลงเสียก่อน จึงเดินทัพต่อมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรีเข้าทางด่านสิงขร ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมและใช้เวลา ในการโจมตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหน้า มังฆ้องนรธาทูลเสนอให้ฝ่ายพม่ายกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาในสามเส้นทางได้แก่ ทางเมืองระแหง ทางเมืองตาก และทางเมืองตะนาวศรี

พม่าถอยทัพ

เมื่อพม่าถอนกองกำลังออกจากค่ายที่บริเวณทางด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยาแล้ว พม่าไม่ได้โจมตีกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าอลองพญาทรงยินยอมให้พม่าถอยทัพกลับตามคำกราบทูลของเจ้าชายมังระพระโอรสและมังฆ้องนรธาแม่ทัพใหญ่กองหน้า มีพระราชโองการให้มังฆ้องนรธาอยู่ระวังรักษาเป็นกองหลัง ในระหว่างที่พระเจ้าอลองพญาทรงถอยทัพกลับ ไม่ให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเข้าโจมตีทางด้านหลังได้ พระราชทานกองกำลังพม่าจำนวน 6,000 คน และทหารม้ากระแซมณีปุระจำนวน 500 คน ไว้เป็นกองหลังให้แก่มังฆ้องนรธา พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพกลับในวันรุ่งขึ้นคือวันพฤหัสขึ้นสามค่ำเดือนหก (17 เมษายน พ.ศ. 2303) เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จออกจากบ้านกุ่มบ้านกระเดื่องแล้วเป็นเวลาหนึ่งวัน แมงละนรธาแม่ทัพพม่าอีกคนหนึ่ง จึงยกทัพจำนวน 3,000 คน ติดตามพระเจ้าอลองพญาไป เพื่อเป็นทัพเชื่อมกลางระหว่างทัพหลวงพระเจ้าอลองพญากับทัพหลังของมังฆ้องนรธา หากมังฆ้องนรธาถูกฝ่ายสยามโจมตีทัพของแมละนรธาจะสามารถช่วยเหลือมังฆ้องนรธาได้[34]

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่าพระเจ้าอลองพญาและฝ่ายพม่าได้ยกทัพกลับไปแล้วนั้น พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาส่งคนออกมาสืบข่าวว่าเหตุใดพระเจ้าอลองพญาจึงตัดสินพระทัยเสด็จยังทัพกลับ แม้ว่าฝ่ายพม่ากำลังมีชัยในการต่อสู้ แต่ฝ่ายสยามไม่ได้ข้อมูลกลับไป พบแต่เพียงพม่าพม่าเหลือกองกำลังไว้ส่วนหนึ่งที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (คนใหม่) และพระยาสีหราชเดโช[20] ยกทัพติดตามพระเจ้าอลองพญาไป ในวันที่ 20 เมษายน[32] เพื่ออาศัยโอกาสโจมตีทัพพม่าจากทางด้านหลัง ทัพของพระยายมราชและพระยาสีหราชเดโช พบกับกองหลังของมังฆ้องนรธาที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง พระยายมราชนำกำลังฝ่ายสยามเข้าล้อมมังฆ้องนรธาไว้อย่างหนาแน่น แม่ทัพนายกองของมังฆ้องนรธาร้องขอให้มังฆ้องนรธาถอยทัพออกจากบ้านกุ่ม เนื่องจากทัพฝ่ายสยามมีจำนวนที่มากกว่า แต่มังฆ้องนรธายังคงยืนยันที่จะยืนหยัดต่อสู้ เนื่องจากว่าหากกองหลังถอยทัพออกไปในตอนนี้ ทัพฝ่ายสยามอาจติดตามไปจนถึงทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญาได้ นำไปสู่การรบที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง มังฆ้องนรธาใช้วิธีฝ่าวงล้อมของสยามออกพร้อมกันทั้งสี่ด้าน ให้กองกำลังจำนวนกองละ 1,500 คน เข้าโจมตีวงล้อมของสยาม ทางทิศใต้ ทิศเหนือ ทิศตะวันตก และมังฆ้องนรธานำทัพด้วยตนเองเจ้าโจมตีทางทิศตะวันออก ผลคือฝ่ายพม่าสามารถทำลายวงล้อมของทัพพระยายมราชได้สำเร็จ สังหารฝ่ายกรุงศรีอยุธยาล้มตายจำนวนมาก พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายพม่าสามารถตัดศีรษะแม่ทัพสยามคนหนึ่ง ซึ่งมียศสูงได้กั้นสัปทน ฝ่ายแมงละนรธาที่ยกทัพตามหลังพระเจ้าอลองพญานั้น เมื่อได้ยินเสียงปืนจึงรีบยกกลับลงมาช่วยมังฆ้องนรธา แต่มาไม่ทันมังฆ้องนรธาได้ตีฝ่ายสยามแตกพ่ายไปแล้ว มังฆ้องนรธามีคำสั่งให้แมงละนรธาให้ยกทัพติดตามคอยระวังหลังให้แก่พระเจ้าอลองพญาให้ดี ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับกองหลังของมังฆ้องนรธา[34]

หลังจากที่ได้รับชัยชนะสามารถทำลายวงล้อมของฝ่ายสยามได้แล้ว มังฆ้องนรธาอยู่ระวังรักษากองหลังที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่องอยู่อีกเป็นเวลาห้าวัน จนแน่ใจแล้วว่าฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะไม่พยายามยกทัพมาโจมตีทางด้านหลังอีก จึงถอนทัพออกจากบ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ยกทัพตามพระเจ้าอลองพญาไปในที่สุด มังฆ้องนรธาได้ฝังปืนใหญ่จำนวนสี่กระบอกไว้ที่บ้านกุ่ม ต่อมาพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้ข้าหลวงออกไปค้นค่ายพม่าที่บางกุ่มหรือบ้านกุ่ม ค้นพบปืนใหญ่พม่าสี่กระบอก สำหรับขนาดกระสุนปืนใหญ่สามถึงสี่นิ้ว[20] ได้ขุดขึ้นแล้วขนย้ายเข้ามาในพระนครฯ

พระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์

เจ้าชายมังระราชบุตรนำพระเจ้าอลองพญาหามแคร่เสด็จกลับทางด่านแม่ละเมาเมืองตาก ระหว่างทางตียึดได้เมืองกำแพงเพชรอีกเมืองหนึ่ง[32] เมื่อถึงเมืองระแหงแล้วจึงเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันตก ผ่านเมืองเมียวดี มุ่งหน้าไปยังเมืองเมาะตะมะ พระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ในวันอาทิตย์แรมสิบสองค่ำเดือนหก[34] (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2303) พงศาวดารไทยเรียกว่าตำบลกะเมาะกะโลก ปัจจุบันเรียกว่าหมู่บ้านกินวรา (Kinwya) เมืองบีลิน (Bilin Township) เขตสะเทิม (Thaton District) ครึ่งทางระหว่างเมืองเมียวดีกับเมืองเมาะตะมะ ในรัฐมอญในปัจจุบัน พระเจ้าอลองพญาอยู่ในราชสมบัติได้แปดปี สิริพระชนมายุ 45 ชันษา การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองพญาถูกปกปิดเป็นความลับ มีเพียงเจ้าชายมังระพระโอรสและข้าราชบริพารใกล้ชิดเท่านั้นที่ล่วงรู้ เจ้าชายมังระส่งม้าเร็วไปแจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองพญาให้แก่พระเชษฐาคือเจ้าชายมังลอกศิริสุธรรมราชา ซึ่งสำเร็จราชการในเมืองรัตนสิงห์ราชธานีตั้งแต่ที่พระเจ้าอลองพญาเสด็จลงมาเมืองร่างกุ้งกลางปีพ.ศ. 2302 เจ้าชายมังระอัญเชิญพระศพของพระเจ้าอลองพญาขึ้นแคร่หามต่อไป เสมือนว่าพระเจ้าอลองพญายังมีพระชนม์ชีพอยู่ยังมีหมายรับสั่งราชโองการออกมาอย่างต่อเนื่อง

ภาพของสุสานของพระเจ้าอลองพญา ที่เมืองชเวโบ จากหนังสือ The Silken East ของวินเซนต์ คลาเรนซ์ สก็อต โอคอนเนอร์ (Vincent Clarence Scott O'Connor) พิมพ์เมื่อพ.ศ. 2447
สุสานของพระเจ้าอลองพญาในปัจจุบัน แท่นหินอ่อนสร้างครอบทับในพ.ศ. 2441

เจ้าชายมังระอัญเชิญพระศพของพระเจ้าอลองพญาลงเรือหลวง ล่องไปจนถึงเมืองหงสาวดีและเมืองร่างกุ้ง เจ้าชายมังระเปิดเผยประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองพญาให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปได้รับรู้ที่เมืองร่างกุ้ง จากนั้นจึงอัญเชิญพระศพลงเรือหลวงล่องขึ้นไปตามแม่น้ำอิระวดี[34] เจ้าชายมังลอกพร้อมทั้งพระนางยู่นซานพระมเหสีของพระเจ้าอลองพญา พร้อมทั้งพระวงศานุวงศ์ขุนนางข้าราชการพม่า เสด็จออกจากราชธานีรัตนสิงห์มารับพระศพของพระเจ้าอลองพญา ที่ท่าเรือเมืองจอกมอง (Kyaukmyaung) ทางเหนือของเมืองอังวะ เจ้าชายมังลอกอุปราชอัญเชิญพระศพเข้าสู่เมืองราชธานีชเวโบผ่านทางประตูหลายสา (Hlaingtha) พระศพของพระเจ้าอลองพญาได้รับการฝังไว้ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระราชวังเมืองชเวโบ อันเป็นที่ตั้งดั้งเดิมของหมู่บ้านมุกโซโบ หมู่บ้านบ้านเกิดของพระเจ้าอลองพญา ต่อในสมัยการปกครองของอังกฤษ ในพ.ศ. 2441 มีการสร้างปราสาทพร้อมแท่นหินอ่อนครอบทับสุสานของพระเจ้าอลองพญา

ผลที่ตามมา

หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าอลองพญา พระมหากษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่ พระเจ้ามังลอก ทรงต้องเผชิญกับการกบฏหลายครั้ง รวมทั้งการกบฏของแม่ทัพมังฆ้องนรธาด้วย และสงครามไม่สามารถดำเนินตอ่ไปได้

สงครามครั้งนี้ไม่มีบทสรุปชัดเจน พม่าบรรลุวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อยุธยายังคงเป็นขวากหนามต่อเสถียรภาพต่อภูมิภาคที่อยู่รอบข้างของพม่า อีกหลายปีให้หลังอยุธยายังคงให้การสนับสนุนต่อกบฏมอญทางตอนใต้ ซึ่งก่อการกบฏครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2305 เช่นเดียวกับกบฏในล้านนาทางตอนเหนือ (พ.ศ. 2304-06) ดินแดนที่เหลือซึ่งพม่าได้รับมาจากสงครามนั้นคือชายฝั่งตะนาวศรีตอนบน ซึ่งที่ผ่านมาเคยเพียงแต่อ้างสิทธิ์แต่ในนามเท่านั้น (อยุธยายึดชายฝั่งตอนล่างขึ้นไปถึงมะริดในปี พ.ศ. 2304)[1] ถึงแม้ว่ากองทัพอยุธยาจะไม่ได้บุกรุกพรมแดนอย่างเปิดเผยอีกต่อไป แต่กบฏมอญยังคงปฏิบัติการจากดินแดนของอยุธยา ในปี พ.ศ. 2307 เจ้าเมืองทวายชาวมอญ ผู้ซึ่งได้รับการทรงแต่งตั้งจากพระเจ้าอลองพญาเพียงสี่ปีก่อนหน้านี้เท่านั้น ได้ก่อการกบฏจนกระทั่งถูกปราบปรามในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน ความไม่มีเสถียรภาพในล้านนาเกิดขึ้นอีกครั้งไม่นานหลังจากกองทัพพม่าออกจากพื้นที่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2307 บีบให้กองทัพต้องกลับมาประจำอีกครั้งหนึ่งในเดียวกัน[46] ด้วยบทสรุปที่ไม่แน่ชัดของสงครามจะนำไปสู่สงครามครั้งถัดไปในปี พ.ศ. 2308

การวิเคราะห์

ความสำเร็จของพม่าในการรุกรานไปจนถึงกรุงศรีอยุธยานั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ในการหลีกเลี่ยงการป้องกันของอยุธยาที่ตั้งไว้ตามเส้นทางรุกรานเดิม[42] แต่ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักสำหรับความสำเร็จครั้งนี้ ขณะที่พม่าตัดสินใจถูกในตอนแรกที่โจมตีชายฝั่งตะนาวศรีที่มีการป้องกันเบาบาง (ทหารเพียง 7,000 นาย) แต่เมื่อข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย กลับต้องเผชิญกับการต้านทานอันแข็งขันของอยุธยา ซึ่งถึงแม้ว่าในตอนแรกอยุธยาจะรู้สึกประหลาดใจกับเส้นทางการโจมตีของพม่า การณ์กลับกลายเป็นว่าอยุธยาสามารถปรับตัวได้ และย้ายกองทัพลงมาทางใต้ ในความเป็นจริงแล้วการสู้รบตามอ่าวไทยนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย พงศาวดารพม่ารายงานว่าพม่าได้รับความสูญเสียอย่างหนักเพียงแค่ต้องฝ่าออกจากคอคอดแคบ ๆ แห่งนั้น ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าอยุธยาสูญเสียกำลังพลและเครื่องกระสุนมากกว่า

สำหรับเหตุผลที่เป็นไปได้มากกว่าสำหรับความสำเร็จของพม่านั้น อาจเป็นเพราะว่าพม่าซึ่งรบพุ่งในสงครามสืบราชบัลลังก์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2283 จึงมีความกรำศึกกว่ามาก ผู้นำการทหารของพม่า "สร้างทหารขึ้นมาด้วยตัวเอง"[47] ซึ่งทั้งหมดนั้นมีประสบการณ์ทางทหารเพียงพอเรียบร้อยแล้ว ส่วนในอีกด้านหนึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้นำทางทหารของอยุธยาหรือทหารมีประสบการณ์ทางทหารมากน้อยเพียงใด เนื่องจากอยุธยาสงบมาเป็นเวลานานแล้ว พระมหากษัตริย์อยุธยาถึงกับต้องทรงขอให้พระอนุชาลาผนวชมาบัญชาการรบ การขาดประสบการณ์ทางทหารในหมู่แม่ทัพอยุธยาระดับสูง อาจอธิบายได้ว่าทำไมอยุธยาจึงแพ้ต่อกองทัพพม่าที่มีขนาดเล็กกว่า และมีกำลังพลไม่เต็มที่ที่สุพรรณบุรีและนอกกรุงศรีอยุธยา ในทำนองเดียวกันหากขาดการนำที่ดีการใช้ทหารรับจ้างต่างชาติจะไม่ปรากฏความแตกต่างใด ๆ ในสงครามนี้เลย (พม่าได้เผาเรือที่มีลูกเรือเป็นทหารรับจ้างต่างชาติ)[48] ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าภาวะผู้นำนั้นมีความสำคัญเมื่อทหารส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นทหารเกณฑ์[49]

เชิงอรรถ

อ้างอิง

  • Baker, Chris, Christopher John Baker, Pasuk Phongpaichit (2009). A history of Thailand (2 ed.). Cambridge University Press. ISBN 0521767687, 9780521767682. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • James, Helen (2004). "Burma-Siam Wars and Tenasserim". ใน Keat Gin Ooi (บ.ก.). Southeast Asia: a historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor, Volume 2. ABC-CLIO. ISBN 1576077705.
  • James, Helen (2000). "The Fall of Ayutthaya: A Reassessment". Journal of Burma Studies. 5: 75–108.
  • Kyaw Thet (1962). History of Union of Burma (ภาษาพม่า). Yangon: Yangon University Press.
  • Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps--Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6, 0-374-16342-1. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Steinberg, David Joel (1987). David Joel Steinberg (บ.ก.). In Search of South-East Asia. Honolulu: University of Hawaii Press.
  • Wyatt, David K. (2003). History of Thailand (2 ed.). Yale University Press. ISBN 0300084757, 9780300084757. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง