อัตติลา

อัตติลา หรือ อัตติลาชาวฮัน (อังกฤษ: Attila the Hun) (ค.ศ. 406 — ค.ศ. 453) เป็นประมุขแห่งชาวฮันผู้ครองจักรวรรดิฮัน (Hunnic Empire) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ทั้ง ชาวฮัน ชาวออสโตรกอท อลานส์ และเผ่าอนารยชนอื่นๆ ในดินแดนยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ระหว่าง ค.ศ. 434 จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 453 ที่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตลง ในรัชสมัยของพระองค์สามารถครอบครองดินแดนตั้งแต่ประเทศเยอรมนีไปจนถึงแม่น้ำยูรัล และจากแม่น้ำดานูบไปจนถึงทะเลบอลติก กินพื้นที่มากกว่า 4 ล้านตารางกิโลเมตร[1] นับเป็นการครอบครองดินแดนที่มากที่สุดอาณาจักรหนึ่งในยุคมืด

อัตติลา
Attila the Hun
ภาพจินตนาการเกี่ยวกับอัตติลา โดยเออแฌน เดอลาครัว
(1843–1847)
จักรพรรดิแห่งชาวฮัน
ครองราชย์ค.ศ. 434 - 453
พระราชสมภพค.ศ. 406
สวรรคตค.ศ. 453
ราชวงศ์Ellac

ในรัชสมัยการปกครองของอัตติลาทรงเป็นประมุขผู้สร้างความหวาดหวั่นและถือเป็นศัตรูที่อันตรายที่สุดแก่จักรวรรดิโรมันตะวันออกและจักรวรรดิโรมันตะวันตก พระองค์ทรงรุกรานคาบสมุทรบอลข่านถึงสองครั้ง แต่พระองค์ไม่สามารถรุกรานกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ และจากผลพวงของการพ่ายแพ้ในเปอร์เซีย ในปี ค.ศ. 441 พระองค์ได้ทำการรุกรานยังดินแดนจักรวรรดิโรมันตะวันออก (จักรวรรดิไบแซนไทน์) ซึ่งประสบผลสำเร็จในฝั่งตะวันตก พระองค์ยังทรงนำทัพเข้าไปยังดินแดนกอล (ประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) ไปจนถึงออร์เลอ็อง ก่อนที่พระองค์จะทรงพ่ายแพ้ในยุทธการที่ชาลง (Battle of Chalons)

พระองค์ได้รุกรานต่อไปยังประเทศอิตาลี ได้ทำลายเมืองทางเหนือจนพินาศ แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกรุงโรมได้ พระองค์ได้ทรงดำริที่จะรุกรานโรมันอีกครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากได้เสด็จสวรรคตลงในปี ค.ศ. 453 ภายหลังการสวรรคตของอัตติลา ได้ส่งผลให้ อาร์ดาริก ซึ่งเดิมเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของอัตติลา ได้ทำการแย่งชิงอำนาจกับพระโอรสของอัตติลาขึ้น ใน ยุทธการที่เนเดา (Battle of Nedao) ส่งผลให้อิทธิพลของจักรวรรดิฮันได้ค่อยๆยุติลงในดินแดนยุโรปตะวันออกชาวยุโรปตะวันตกมองพระองค์ ว่าป่าเถื่อน ทารุณและไร้ความปราณี แต่ในฮังการี, ตุรกี และประเทศในกลุ่มเตอร์กิกต่าง ๆ ในเอเชีย พระองค์ทรงได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษ นักประวัติศาสตร์และนักบันทึกเหตุการณ์บางท่านบรรยายพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และผู้ทรงคุณธรรม นอกจากนั้นแล้วอัตติลาก็ยังทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตำนานของชาวนอร์สเรื่อง Atlakviða, Volsunga saga และ Atlamál[2]

อัตติลาได้รับการบรรยายโดยนักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนสว่าทรงมี "พระวรการที่เตี้ย, พระอุระกว้างและพระเศียรใหญ่; พระเนตรเล็ก, พระมัสสุบางและประปรายด้วยสีเทา; พระนาสิกแบน และ พระฉวีคล้ำ แสดงถึงที่มาของพระองค์..."[3] นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นที่รู้จักในเรื่องของ "ดาบแห่งอัตติลา" ที่ได้รับการแต่งขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์โรมันนาม พริสคัส[4] (Priscus) อีกด้วย

เบื้องหลัง

ชาวฮันเป็นชนร่อนเร่สันนิษฐานว่าจะมาจากบริเวณที่ไกลออกไปทางแม่น้ำวอลกา ที่อพยพเข้ามาในยุโรปราวปี ค.ศ. 370 และมาก่อตั้งจักรวรรดิขนาดใหญ่ขึ้นในยุโรป ยุทธวิธีสำคัญในการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงของฮันคือความสามารถในการยิงธนูจากหลังม้าที่กำลังวิ่งอย่างรวดเร็วได้อย่างแม่นยำ ชนฮันอาจจะสืบเชื้อสายมาจากชาวซฺยงหนูที่มีถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีนก่อนหน้านั้น[5] และการอพยพเข้ามาในยุโรปอาจจะเป็นการขยายตัวครั้งแรกของกลุ่มชนเตอร์กิกเข้ามาใน ยูเรเชีย[6][7][8][9][10] ที่มาและภาษาของชนฮันเป็นหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ทฤษฎีปัจจุบันกล่าวว่าอย่างน้อยก็ผู้นำของชนฮันพูดภาษากลุ่มเตอร์กิก

กษัตริย์คู่

จักรวรรดิฮันมีอาณาบริเวณตั้งแต่ทุ่งหญ้าสเตปป์ในเอเชียกลางทางตะวันออกไปจนถึงเยอรมนีปัจจุบันทางตะวันตก และแม่น้ำดานูบทางตอนใต้ไปจนจรดทะเลบอลติกทางตอนเหนือ

การเสียชีวิตของขุนศึกรูจิลา (หรือ รูอา หรือ รูกา) ในปี ค.ศ. 434 ทำให้หลานสองคน อัตติลา และ เบลดา (หรือ Buda) บุตรชายของน้องชาย มุนด์ซุค (ฮังการี: Bendegúz, ตุรกี: Boncuk) มีอำนาจปกครองกลุ่มชนฮันทั้งหมด ในเวลาที่อัตติลาและเบลดาขึ้นครองราชย์ ชนฮันกำลังทำการเจรจาต่อรองกับราชทูตของจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 2แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ขอตัวคนทรยศ (อาจจะเป็นขุนนางที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของอัตติลาและเบลดา) ที่หลบหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารในบริเวณที่เป็นจักรวรรดิไบแซนไทน์ ปีต่อมาอัตติลาและเบลดาก็ไปพบกับคณะราชทูตที่มาร์กุส (ปัจจุบันโพซาเรอวัค) โดยทุกคนต่างก็ยังคงนั่งอยู่บนหลังม้าตามประเพณีของฮัน[11] การต่อรองประสบความสำเร็จโดยการลงนามในสนธิสัญญา: ฝ่ายไบแซนไทน์ไม่แต่จะตกลงคืนตัวผู้ลี้ภัยแต่ยังเพิ่มบรรณาการเป็นสองเท่าจากเดิมเป็นทอง 350 โรมันปอนด์ (ราว 115 กิโลกรัม), เปิดตลาดไบแซนไทน์แก่พ่อค้าฮัน, และจ่ายค่าไถ่เป็นจำนวน 8 เหรียญโซลิดุสสำหรับทหารแต่ละคนที่ถูกจับโดยชนฮัน ฝ่ายฮันเมื่อพอใจในข้อตกลงในสนธิสัญญาก็รื้อค่ายออกจากไบแซนไทน์กลับไปยังบ้านเมืองที่ไปตั้งอยู่ในทุ่งราบใหญ่ฮังการี เพื่ออาจจะไปรวมรวมตัวและเสริมสร้างความมั่นคงแก่จักรวรรดิ จักรพรรดิธีโอโดเซียสจึงทรงฉวยโอกาสในช่วงเดียวกันในการเสริมสร้างกำแพงเมืองคอนสแตนติโนเปิลให้แข็งแรงขึ้น, สร้างกำแพงทะเลป้องกันตัวเมืองคอนสแตนติโนเปิลขึ้นเป็นครั้งแรก และเสริมสร้างระบบการป้องกันตามชายแดนริมฝั่งแม่น้ำดานูบเพิ่มขึ้น

ชนฮันออกไปจากจักรวรรดิโรมันตะวันออกอยู่สองสามปี ขณะที่นำกองทัพไปรุกรานจักรวรรดิแซสซานิด ความพ่ายแพ้ในอาร์มีเนียต่อจักรวรรดิซาสซานิยะห์ทำให้ฮันต้องล้มเลิกแผนการรุกรานและหันกลับมาให้ความสนใจต่อยุโรปใหม่ ในปี ค.ศ. 440 กองทัพฮันจำนวนมหาศาลก็มาปรากฏตัวที่พรมแดนของจักรวรรดิโรมัน โจมตีพ่อค้าที่ตลาดบนฝั่งเหนือของแม่น้ำดานูบที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา จากนั้นก็ข้ามแม่น้ำดานูบทำลายเมืองต่าง ๆ ของอิลลิเรียและป้อมตามริมฝั่งแม่น้ำ ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์พริสคัสที่รวมทั้งวิมินาเซียมซึ่งเป็นเมืองเอกของบริเวณโมเซียในอิลลิเรีย การรุกรานเริ่มต้นขึ้นที่มาร์กุสเพราะเมื่อฝ่ายไบแซนไทน์กำลังเจรจาเกี่ยวกับการส่งตัวบิชอปที่ดูหมิ่น บิชอปก็หนีไปหาชนฮันและไปบอกความลับเกี่ยวกับเมืองให้กับชาวฮัน

ชนฮันในยุทธการกับชนอาลัน, โยฮันน์ เนโพมุค ไกเกอร์ ค.ศ. 1873

ขณะที่ฮันประสบกับความสำเร็จในการโจมตีระบบการป้องกันทางทหารตามริมฝั่งแม่น้ำดานูบ แวนดัลภายใต้การนำของเจนเซอริคยึดจังหวัดทางตะวันตกของจักรวรรดิโรมันในแอฟริกาและเมืองหลวงคาร์เธจ ในปี ค.ศ. 440 และชาห์ยัซเดอเกิร์ดที่ 2 แห่งเปอร์เซียแซสซานิดก็เข้ารุกรานอาร์มีเนียในปี ค.ศ. 441 เมื่อฮันทำลายระบบการป้องกันในคาบสมุทรบอลข่านได้แล้วก็เท่ากับเป็นการเปิดทางทางด้านอิลลิเรียเข้าไปทางคาบสมุทรบอลข่านไปโจมตีแวนดัลในแอฟริกา (ซึ่งเป็นมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดทางตะวันตกของจักรวรรดิโรมันและเป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของโรม) ฮันเริ่มทำการโจมตีในปี ค.ศ. 441 หลังจากปล้นทำลายมาร์กัสและวิมินาเซียมก็เข้ายึดซินจิดูนัม (ปัจจุบันเบลเกรด) และ เซอร์เมียมก่อนที่จะหยุดยั้งการโจมตีชั่วคราว ระหว่างนั้นจักรพรรดิธีโอโดเซียสก็เรียกกองทัพมาจากซิซิลีและมีพระบรมราชโองการให้ตีเหรียญกษาปณ์เพิ่มขึ้นเพื่อใช้สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินสงครามกับชนฮัน เมื่อเตรียมตัวแล้วพระองค์ก็มีพระราชดำริว่าคงจะเป็นการปลอดภัยพอที่จะปฏิเสธข้อเรียกร้องของกษัตริย์ฮัน

อัตติลาโต้ตอบด้วยการรณรงค์ทางทหาร ในปี ค.ศ. 443.[12] ในการโจมตีตามริมฝั่งแม่น้ำดานูบ ชนฮันก็ทำลายศูนย์กลางทางด้านการทหารที่ราเทียราและล้อมเมืองไนส์ซัส (นิสปัจจุบัน) ได้โดยใช้ไม้กระทุ้งกำแพง (Battering ram) และหอโจมตีเมือง เคลื่อนที่ (Siege tower) —ซึ่งเป็นอาวุธทางยุทธการใหม่ของชนฮัน—จากนั้นก็ไล่โจมตีเรื่อยไปทางแม่น้ำนิซาวา ยึดเมืองแซร์ดิคา (โซเฟียปัจจุบัน), ฟิลิปโพโพลิส (พลอฟดิฟ) และ อาร์คาดิโอโพลิส กองทัพฮันปะทะและทำลายกองทัพโรมันนอกเมืองคอนสแตนติโนเปิลแต่ถูกหยุดยั้งด้วยกำแพงซ้อนของกรุงคอนสแตนติโนเปิล กองทัพกองที่สองของโรมันพ่ายแพ้ไกล้กับคาลลิสโพลิส (กาลิโปลี) จักรพรรดิธีโอโดเซียสไม่ทรงมีทางเลือกนอกจากจะทรงยอมแพ้โดยการส่งอนาโทเลียสไปเจรจาสงบศึก ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทารุณยิ่งขึ้นกว่าฉบับเดิม ธีโอโดเซียสทรงตกลงส่งทองจำนวนกว่า 6,000 โรมันปอนด์ (ราว 2000 กิโลกรัม) เป็นค่าเสียหายที่ทรงละเมิดข้อตกลงระหว่างการรุกราน, ส่วนบรรณาการประจำปีขึ้นเป็นสามเท่าเป็นทอง 2,100 โรมันปอนด์ (ราว 700 กิโลกรัม) และค่าไถ่ขึ้นเป็นจำนวน 12 เหรียญโซลิดุสสำหรับทหารแต่ละคนที่ถูกจับโดยชนฮัน

เมื่อได้ตามข้อเรียกร้องแล้ว กษัตริย์ฮันก็ถอยทัพกลับไปในจักรวรรดิของตนเอง จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนส (หลังจากพริสคัส) ในช่วงที่สงบสุขหลังจากที่ฝ่ายฮันถอยจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ (อาจจะราว ค.ศ. 445) เบลดามาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการล่าสัตว์ อัตติลาจึงกลายเป็นผู้นำคนเดียวเท่านั้นของชนฮัน[13]

การปกครองโดยพระองค์เอง

ภาพ “งานเลี้ยงของอัตติลา” โดยจิตรกรฮังการีมอร์ ตัน ที่วาดจากชิ้นส่วนของงานของพริสคัส

ในปี ค.ศ. 447 อัตติลานำกองทัพลงทางใต้เข้าไปในจักรวรรดิโรมันตะวันออกผ่านทางโมเซีย ไปปะทะกับกองทัพโรมันภายใต้การนำของขุนพลกอธอาร์เนจิสคลุสในยุทธการที่อูทัส ฝ่ายโรมันได้รับความพ่ายแพ้ต่ออัตติลา กองทัพฮันที่ไม่มีผู้ใดต่อต้านก็ทำการโจมตีทำลายเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทรบอลข่านไปจนถึงเธอร์โมไพเล คอนสแตนติโนเปิลรอดมาได้โดยความช่วยเหลือของเฟลเวียสคอนสแตนตินัสผู้เป็นผู้จัดการสร้างกำแพงเมืองใหม่หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และในบางจุดก็สร้างเสริมแนวป้องกันใหม่หน้าแนวเดิมที่มีอยู่ หลักฐานของการรุกรานครั้งนี้ที่บันทึกโดยคัลลินิคัสยังคงมีเหลืออยู่ให้อ่านว่า:

อนารยชนฮันที่อยู่ในเธรซขยายตัวมีอำนาจมากขึ้นจนสามารถยึดเมืองต่าง ๆ กว่าร้อยเมือง และเกือบจะเสียเมืองคอนสแตนติโนเปิลจนประชากรต้องหนีออกจากเมือง … ในเมืองก็มีการเข่นฆ่าทำร้ายกันอย่างแพร่จนไม่อาจจะนับจำนวนได้ ที่น่าสลดใจคือเมื่อ[ฮัน]บุกเข้าไปในโบสถ์หรืออารามและเข่นฆ่านักบวชและสตรีไปเป็นจำนวนมากมาย[14]

ทางตะวันตก

ในปี ค.ศ. 450 อัตติลาก็ประกาศความตั้งใจที่โจมตีราชอาณาจักรตูลูสวิซิกอธผู้มีอำนาจ โดยหันไปทำสัญญาพันธมิตรทางทหารกับจักรพรรดิวาเล็นติเนียนที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก เดิมอัตติลามีความสัมพันธ์อันดีกับจักรวรรดิโรมันตะวันตกและประมุข “โดยพฤตินัย” ของจักรวรรดิ--เฟลเวียส เอเทียส ผู้ที่หนีไปลี้ภัยอยู่กับชาวฮันอยู่ระยะหนึ่งในปี ค.ศ. 433 และได้รับการช่วยเหลือทางการทหารจากอัตติลาในการต่อสู้กับกอธและบากอแด (Bagaudae) จนได้ตำแหน่งเกียรติยศ “Magister militum”(ผู้บัญชาการนายทหาร) ในตะวันตก นอกจากนั้นแล้วบรรณาการและการติดต่อทางการทูตโดยเจนเซอริคผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อก็อาจจะมีอิทธิพลในการตัดสินใจของอัตติลาด้วย

แต่ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 450 จัสตา กราตา โฮโนเรีย พระขนิษฐาของจักรพรรดิวาเล็นติเนียนผู้พยายามหนีจากการที่จะต้องสมรสกับสมาชิกวุฒิสภาโรมันก็ส่งสาส์นถึงอัตติลาพร้อมกับแหวนหมั้นเพื่อของร้องให้ช่วย โฮโนเรียอาจจะมิได้ตั้งใจที่เสนอการแต่งงาน แต่อัตติลาตีความหมายของการสื่อสารดังว่าและยอมตกลง โดยขอดินแดนครึ่งหนึ่งของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเป็นสินสอดทองหมั้น เมื่อจักรพรรดิวาเล็นติเนียนทราบแผน แทนที่จะทรงสั่งให้ฆ่าโฮโนเรีย พระองค์ก็ทรงสั่งเนรเทศตามคำร้องของของพระราชมารดากาลลา พลาซิเดีย และแล้วก็ทรงส่งพระราชสาส์นไปถึงอัตติลาปฏิเสธความถูกต้องของการขอแต่งงานของโฮโนเรียอย่างแข็งขัน แต่อัตติลาผู้ทรงตั้งใจมานานแล้วที่จะรุกรานโรมก็ทรงส่งราชทูตไปยังราเวนนาเพื่อไปประกาศความบริสุทธิ์ของโฮโนเรีย และยืนยันว่าการขอแต่งงานของโฮโนเรียเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และพระองค์จะทรงเดินทางมารับโฮโนเรียผู้ที่ทรงถือว่าเป็นของพระองค์อย่างถูกต้อง ในปี ค.ศ. 451 อัตติลาจึงใช้ข้ออ้างนี้เดินทางเข้ามารุกรานโรมในฐานะ “สามีผู้ถูกทรยศ” แต่โรมรอดตัวมาได้วยความช่วยเหลือของวิซิกอธ อัตติลาจึงไม่ได้ช่วยโฮโนเรีย และในที่สุดโฮโนเรียก็ถูกส่งตัวกลับโรม แต่จักรพรรดิวาเล็นติเนียนทรงพยายามเลี่ยงข้อครหาโดยมิได้ทรงสั่งให้ประหารชีวิต แต่ก็ไม่ทรงต้องการที่จะเนรเทศโฮโนเรียอีก ในที่สุดโฮโนเรียก็ต้องสมรสกับสมาชิกวุฒิสภาเฟลเวียส บัสซัส เฮอร์คิวลานัสผู้ที่พยายามหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่แรก

จัสตา กราตา โฮโนเรียสวมมงกุฎเป็นออกัสตัสโดยพระหัตถ์ของพระเจ้า
เส้นทางของกองทัพฮันที่เข้าไปรุกรากอล

หลังจากการเสียชีวิตของประมุขของแฟรงค์อัตติลาก็เข้าไปมีบทบาทในความขัดแย้งเกี่ยวกับผู้สืบครองดินแดน อัตติลาสนับสนุนบุตรชายคนโต ขณะที่เฟลเวียส เอเทียสสนับสนุนบุตรชายคนรอง[15] อัตติลารวบรวมบรรดาดินแดนประเทศราชที่บางส่วนรวมทั้ง—เกปิด, ออสโตรกอธ, รูจิอี, ซิริอิ, Heruls, ทูริงเกียน, อาลัน, ชาวเบอร์กันดีและเริ่มยกทัพไปทางตะวันตก ในปี ค.ศ. 451 ก็เดินทัพไปถึงเบจิคาที่นักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนสประมาณจำนวนที่อาจจะเกินเลยไปถึงครึ่งล้านคน นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไบแซนไทน์เจ.บี. เบอรีเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของอัตติลาในการเดินทัพไปทางตะวันตกก็เพื่อทำการขยายดินแดน – ซึ่งขณะนั้นก็เป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งที่สุดอยู่แล้วบนแผ่นดินใหญ่ยุโรป – เข้าไปในกอลไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก.[16]

เมื่อวันที่ 7 เมษายนอัตติลายึดเมืองเมท์ซได้ เมืองอื่น ๆ ที่ถูกโจมตีทราบได้จากวรรณกรรมนักบุญที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อสรรเสริญพระสังฆราชองค์ต่าง ๆ : นักบุญนิคาเซียสแห่งแรงส์ถูกสังหารหน้าแท่นบูชาในโบสถ์ที่แรงส์; นักบุญเซอร์วาเทียสกล่าวกันว่าช่วยเมืองทองเกอเรนให้รอนมาได้ด้วยการสวดมนต์ เช่นเดียวกับนักบุญเจอเนอวีฟที่ช่วยให้ปารีสรอดมาได้[17] ส่วนนักบุญลูปัสแห่งทรัวส์ก็ช่วยให้เมืองทรัวส์รอดมาได้โดยการพบปะกับอัตติลาโดยตรง[18]

เฟลเวียส เอเทียสหันไปเป็นปฏิปักษ์ต่ออัตติลาโดยรวบรวมกำลังจากกลุ่มชาวแฟรงก์, ชาวเบอร์กันดี และชาวเคลต์ การเคลื่อนไหวของจักรพรรดิอาวิตัส และการคืบเข้าไปทางตะวันตกของอัตติลาทำให้พระมหากษัตริย์วิซิกอธพระเจ้าธีโอดอริคที่ 1 หันไปเป็นพันธมิตรกับโรมัน กองทัพร่วมเดินทางไปถึงออร์เลอองส์ก่อนหน้างกองทัพของอัตติลา[19] ซึ่งทำให้มีโอกาสหยุดยั้งความคืบหน้าของอัตติลาได้ เฟลเวียส เอเทียสไล่ตามกองทัพของชาวฮันจนไปพบกันที่คาทาลอนัม (ปัจจุบันชาลง-อ็อง-ช็องปาญ) กองทัพของทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันในยุทธการชาลงส์ ที่ฝ่ายวิซิกอธ-โรมันได้รับชัยชนะแต่เป็นชัยชนะแบบที่เรียกว่า “ชัยชนะเพียร์ริค” (Pyrrhic victory) หรือชัยชนะที่ผู้มีชัยได้รับความเสียหายอย่างหนัก พระเจ้าธีโอดอริคที่ 1 สิ้นพระชนม์ในสนามรบและเฟลเวียส เอเทียสเองก็ไม่สามารถฉวยประโยชน์จากการได้รับชัยชนะ นักประวัติศาสตร์เอ็ดเวิร์ด กิบบอน และเอ็ดเวิร์ด ครีซีย์มีความเห็นว่าเอเทียสอาจจะพะวงถึงผลสะท้อนที่ได้รับจากชัยชนะอันท่วมท้นของวิซิกอธ พอกับความกลัวที่จะพ่ายแพ้ เฟลเวียส เอเทียสอาจจะพอใจกับผลของสงครามตรงที่ พระเจ้าธีโอดอริคที่ 1 สิ้นพระชนม์, อัตติลาต้องถอยทัพอย่างระส่ำระสาย และโรมันดูเหมือนเป็นผู้ได้รับชัยชนะ

การรุกรานอิตาลีและการสิ้นพระชนม์

การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาเลโอกับอัตติลา” โดยราฟาเอล

อัตติลากลับมาอ้างสิทธิในการแต่งงานกับจัสตา กราตา โฮโนเรียอีกครั้งในปี ค.ศ. 452 ในขณะเดียวกันก็เที่ยวรุกรานและทำลายเมืองต่าง ๆ ระมาตามทาง ที่เป็นผลให้ผู้คนอพยพหนีไปอยู่บนเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะในลากูนเวนิส เมืองที่กองทัพของอัตติลาทำลายและเผารวมทั้งอควิเลเอียที่ถูกทำลายจนสิ้นซาก ตำนานกล่าวว่าอัตติลาถึงกับสร้างป้อมบนเนินเหนือเมืองอควิเลเอียเพื่อนั่งดูเพลิงเผาเมืองที่ต่อมากลายเป็นเมืองอูดิเนซึ่งยังคงมีซากปราสาทที่กล่าวกันว่าสร้างโดยอัตติลาอยู่ เฟลเวียส เอเทียสผู้ไม่มีหนทางที่ปะทะกองทัพของอัตติลาโดยตรงได้พยายามก่อกวนเพื่อให้ความคืบหน้าช้าลง ในที่สุดอัตติลาก็หยุดทัพที่แม่น้ำโป เมื่อมาถึงช่วงนี้กองทัพของอัตติลาก็อาจจะประสบกับโรคภัยไข้เจ็บซึ่งทำให้ต้องหยุดการรุกราน

ฝ่ายจักรพรรดิวาเล็นติเนียนที่ 3 ก็ทูลขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 1 พร้อมด้วยกงสุลอาวิเอนัสและพรีเฟ็คท์ทริเจเทียสไปพบกับอัตติลาที่มินชิโอไม่ไกลจากมานตัว พระสันตะปาปาลีโอทรงได้รับสัญญาจากอัตติลาว่าจะถอยทัพจากอิตาลีและทำการเจรจาสันติภาพกับจักรพรรดิวาเล็นติเนียน[20] นักบุญพรอสเพอร์แห่งอาควิเทนบันทึกการพบปะครั้งนี้ที่น่าเชื่อถือได้ไว้อย่างสั้น ๆ แต่คำบรรยายโดยผู้ไม่ทราบนามต่อมา[21] เป็น “ตำนานที่ราฟาเอลนำไปวาด และอัลการ์ดีนำไปสลัก” (ดังที่เอ็ดเวิร์ด กิบบอนกล่าว) บันทึกว่าพระสันตะปาปาด้วยความช่วยเหลือโดยนักบุญปีเตอร์ และ นักบุญพอลแห่งทาซัสหว่านล้อมให้[อัตติลา]ถอยทัพออกจากเมือง และสัญญากับอัตติลาว่าถ้าถอยไปอย่างสงบสุขแล้ว ทายาทก็จะได้รับมงกุฎศักดิ์สิทธิ์แห่งฮังการี[22] พริสคัสบันทึกว่าการสิ้นพระชนม์ของอาลาริคไม่นานหลังจากเข้าตีเมืองและปล้นสดมทำลายกรุงโรมในปี ค.ศ. 410 อาจเป็นลางที่ทำให้อัตติลาต้องหยุดคิดอยู่บ้างก็เป็นได้

ภาพการพบปะระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 1 และอัตติลาจาก “บันทึกพงศาวดารภาพวิจิตรแห่งเวียนนา” (Vienna Illuminated Chronicle) ราว ค.ศ. 1360

หลังจากถอยทัพออกจากอิตาลีกลับไปยังพระราชวังทางอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำดานูบ อัตติลาก็วางแผนที่จะเข้าโจมตีคอนสแตนติโนเปิลอีกครั้งเพื่อไปทวงบรรณาการที่จักรพรรดิมาร์เชียนทรงสั่งให้ยุติ (จักรพรรดิมาร์เชียนผู้ครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิธีโอโดเซียสมีพระบรมราชโองการให้ยุติการส่งบรรณาการเมื่อปลายปี ค.ศ. 450 ขณะที่อัตติลาไปทำการรณรงค์ทางทหารอยู่ทางตะวันตก นอกจากนั้นการรุกรานในคาบสมุทรบอลข่านหลายครั้งของอัตติลาก็ทำให้ไม่เหลืออะไรให้ปล้นสดมอีกเท่าใดนัก) แต่อัตติลามาเสด็จสวรรคตเมื่อต้นปี ค.ศ. 453 เสียก่อน โดยทั่วไปแล้วจากพริสคัสกล่าวว่าในการเลี้ยงเพื่อเฉลิมฉลองการแต่งงานครั้งล่าสุดกับสตรีสาวสวยอิลดิโค (ถ้าเป็นชื่อที่ไม่ได้แผลงมาก็อาจจะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากกอธ) [23] อัตติลามีอาการตกเลือดกำเดาอย่างหนัก และสำลักจนสิ้นพระชนม์ อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าพระองค์ประชวรด้วยเลือดออกภายในหลังจากที่เสวยน้ำจัณฑ์ไปเป็นอันมาก ด้วยอาการที่เรียกว่า หลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร (esophageal varices) เมื่อหลอดเลือดขยายตัวในบริเวณตอนล่างของหลอดอาหารแตกที่ทำให้เสียชีวิตจากการเสียเลือด[24]

อีกทฤษฎีหนึ่งที่บันทึกราว 80 ปีหลังจากการเสด็จสวรรคตโดยนักบันทึกประวัติศาสตร์โรมันเคานท์มาร์เซลลินัสกล่าวว่า “อัตติลากษัตริย์ของชนฮันและผู้ทำลายเมืองต่าง ๆ ในยุโรป ทรงถูกแทงโดยมีดของพระมเหสี”[25]ตำนานโวลซุงกา” (Volsunga saga) และ “กวีนิพนธ์เอดดา” (Poetic Edda) ก็อ้างว่าพระเจ้าอัตลิ (อัตติลา) เสด็จสวรรคตด้วยน้ำมือของพระมเหสีโกดรุนเช่นกัน[26] แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ถือว่าสองเรื่องหลังนี้เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือมากไปกว่าคำบอกเล่า และเลือกที่จะเชื่อที่บันทึกของพริสคัส แต่เมื่อไม่นานมานี้บันทึกของพริสคัสก็ได้รับการวิจัยโดยไมเคิล เอ. แบ็บค็อค[27] จากรายละเอียดทางนิรุกติศาสตร์ แบ็บค็อคสรุปว่าบันทึกของพริสคัสว่าอัตติลาเสด็จสวรรคตโดยโรคธรรมชาติเป็นการ “อำพราง” และกล่าวว่าจักรพรรดิมาร์เชียนผู้ครองจักรวรรดิโรมันตะวันออกระหว่าง ค.ศ. 450 ถึง ค.ศ. 457 ที่เป็นแรงดันทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จสวรรคตของอัตติลา

จอร์ดาเนส กล่าวว่า: “ผู้ยิ่งใหญ่เหนือนักการสงครามทั้งปวงควรจะได้รับความโศรกเศร้าไม่ใช่โดยการตีอกชกหัวอย่างสตรี และการร้องไห้ แต่ด้วยเลือดเนื้อของลูกผู้ชาย” ทหารม้าของพระองค์ควบม้ารอบกระโจมไหมที่เป็นที่ตั้งพระศพของอัตติลาและขับเพลงอาลัย (Dirge) จากบันทึกของนักเขียนชาวโรมันคาสซิโอโดรัส และ จอร์ดาเนส: “Who can rate this as death, when none believes it calls for vengeance?”

หลังจากนั้นก็มีการฉลอง “สตราวา” (strava หรือ การไว้อาลัย) ตรงที่ฝังพระบรมศพโดยมีการเลี้ยงใหญ่ ตามตำนานแล้วกล่าวกันว่าอัตติลาได้รับการฝังในโลงซ้อนสามชั้นที่ทำด้วยทอง, เงิน และ เหล็ก พร้อมด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงได้มาจากการรุกราน ข้าราชบริพารทำการเบี่ยงส่วนหนึ่งของแม่น้ำ และฝังพระศพลงในก้นแม้น้ำ หลังจากนั้นก็ถูกสังหารเพื่อไม่ให้ผู้ใดทราบสถานที่ที่ฝังพระศพ

พระราชโอรสของอัตติลาเอลแล็ค (Ellac) ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทายาท, เดนจิซิค และ แอร์นัคห์ต่อสู้กันในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนระหว่างกันโดยเฉพาะการแบ่งรัฐประเทศราชต่าง ๆ ฉะนั้นจักรวรรดิจึงถูกแบ่งแยก ต่อสู้ระหว่างกัน และในที่สุดก็แตกสลายในปีต่อมาในยุทธการเนดาโอโดยออสโตรกอธ และเกปิดภายใต้การนำของอาร์ดาริค บันทึกของจอร์ดาเนสกล่าวว่าอาร์ดาริคผู้เป็นประมุขของอาณาจักรบริวารอันสำคัญของอัตติลาทรยศต่อพี่น้องเพราะมีความรู้สึกว่าชาติของตนถูกปฏิบัติเยี่ยงทาส

ลูกและญาติพี่น้องของอัตติลาหลายคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในนามและในกิจการที่กระทำ แต่ไม่นานเชื้อสายของอัตติลาก็หายไปโดยไม่อาจจะสืบย้อนหลังได้ แต่กระนั้นนักพงศาวลีวิทยา (Genealogist) ก็ยังพยายามที่จะปะติดปะต่อญาติวงศ์ของประมุขหลายคนในยุคกลาง แหล่งหนึ่งที่พอจะน่าเชื่อถืออ้างว่าข่านแห่งบัลแกเรียสืบเชื้อสายมาจากอัตติลา นอกจากนั้นก็มีการพยายามลำดับญาติวงศ์ของชาร์เลอมาญไปยังอัตติลาแต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นที่แน่นอน

รูปร่างหน้าตา

อัตติลาจากภาพประกอบในหนังสือ “กวีนิพนธ์เอดดา

ลักษณะรูปร่างหน้าตาของอัตติลาไม่มีหลักฐานจากผู้ที่ได้พบอัตติลาด้วยตนเองหลงเหลืออยู่ให้ทราบ แต่มีหลักฐานมือสองจากโดยนักประวัติศาสตร์จอร์ดาเนสผู้อ้างว่าพริสคัสบรรยายรูปลักษณะของอัตติลาว่า:

พระวรการที่เตี้ย, พระอุระกว้างและพระเศียรใหญ่; พระเนตรเล็ก, พระมัสสุบางและประปรายด้วยสีเทา; พระนาสิกแบน และ พระฉวีคล้ำ แสดงถึงที่มาของพระองค์..."[28]

อัตติลาได้รับการบรรยายในประวัติศาสตร์ตะวันตกว่าเป็น “Flagellum dei” (พระเจ้าแห่งความหายนะ) และพระนามกลายเป็นคำพ้องกับกับความทารุณโหดร้ายของอนารยชน ความเชื่อบางส่วนอาจจะมีรากฐานมาจากความสับสนระหว่างพระองค์กับขุนศึกจากทุ่งหญ้าสเตปป์ต่าง ๆ เช่นเจงกีส ข่าน และ ตีมูร์ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผู้มีสติปัญญา, กระหายเลือด, ทารุณ และชอบรุกรานและปล้นทำลาย แต่อันที่จริงแล้วพระราชบุคคลิกของพระองค์นั้นซับซ้อนกว่าที่ว่า ชนฮันในสมัยอัตติลาในช่วงนั้นมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมโรมันอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนใหญ่ทางโฟเดอราติ (Foederati) ซึ่งเป็นชนเจอร์มานิคตามพรมแดน เมื่อมาถึงสมัยจักรพรรดิธีโอโดเซียสในปี ค.ศ. 448 พริสคัสผู้เป็นราชทูตก็สามารถบ่งได้ว่าชนฮันพูดภาษาหลักอยู่สองภาษา--ภาษากอทิก และ ภาษาฮัน นอกจากนั้นพริสคัสก็ยังกล่าวถึงนักโทษจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ปรับตัวไปเป็นชนฮันและไม่แสดงความต้องการที่จะกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนอีก และคำบรรยายของความถ่อมพระองค์และการทรงไม่มีพิธีรีตองก็ดูจะกำกวมในเชิงชื่นชม

ที่มาของพระนามอัตติลาไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่นอน ทางด้านศัพทมูลวิทยามีการเสนอว่าหมายถึง “ผู้ปกครองเอกภพ” (universal ruler) ถ้ามาจากภาษาฮันซึ่งเป็นภาษาที่มีรากมาจากดานูบ-บัลแกเรีย[29] หรืออาจจะมาจากภาษากลุ่มเตอร์กิก “Atyl/Atal/Atil/Itil” ที่แปลว่าน้ำ หรือ แม่น้ำ (และเป็นชื่อโบราณของแม่น้ำวอลกา) โดยเพิ่มสร้อยคำวิเศษณ์ “-ly” (เปรียบเทียบกับตำแหน่งสำคัญของเตอร์กิกในยุคกลางว่า “atalyk” - “อาวุโสเช่นบิดา”) [30][31][32] นักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวโปแลนด์เรียกอัตติลาว่า “Aquila” ที่มาจากภาษาลาตินว่า “aqua” ที่แปลว่า “น้ำ” อีกทฤษฎีหนึ่งก็ว่าเป็นชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับคำภาษาฮังการีว่ “ítélet” ที่แปลว่า “การตัดสิน” หรือกอธอาจจะนำคำว่า “atta” ที่แปลว่า “พ่อ” ของภาษาเตอร์กิกโบราณมาใช้ และมาเพิ่มสร้อย “-ila” ต่อท้าย[33] การสะกดชื่อ “Attila” ก็มีด้วยกันหลายอย่างที่รวมทั้ง “Atli” หรือ “Atle” ในภาษานอร์ส, “Ætla” “Attle” หรือ “Atlee” ในภาษาอังกฤษ, “Attila/Atilla/Etele” ในภาษาฮังการี, “Etzel” ในภาษาเยอรมัน, หรือ “Attila”, “Atila” หรือ “Atilla” ในภาษาตุรกีปัจจุบัน

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลหลัก

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อัตติลา

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง