เอเซ็กชวล

เอเซ็กชวลลิตี (อังกฤษ: asexuality) หรือ เอเซ็กชวล (อังกฤษ: asexual) เป็นการขาดการดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น มีความสนใจหรือความต้องการกิจกรรมทางเพศต่ำหรือไม่มี[1][2][3] อาจถือว่าเป็นทั้งรสนิยมทางเพศหรือการขาดรสนิยมทางเพศ[4][5][6] นอกจากนี้ยังมีการจัดหมวดหมู่ของเอเซ็กชวลที่กว้างขึ้น รวมไปถึงสเปกตรัมโดยกว้าง ๆ ของอัตลักษณ์ย่อยของเอเซ็กชวล[7]

เอเซ็กชวล
A group of people holding an asexual pride banner
Manifestación WorldPride 2017 ที่กรุงมาดริด
นิยามการขาดการดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น มีความต้องการทางเพศหรือความสนใจในกิจกรรมทางเพศต่ำหรือไม่มี
ย่อace
หมวดหมู่ย่อย
ธง
ธงไพรด์ของเอเซ็กชวล
ธงไพรด์ของเอเซ็กชวล
ชื่อธงธงไพรด์ของเอเซ็กชวล
ความหมายสีดำคือเอเซ็กชวล สีเทาคือเกรย์เอเซ็กชวล สีขาวคืออัลโลเซ็กชวล สีม่วงคือชุมชน

เอเซ็กชวลแตกต่างจากการงดเว้นกิจกรรมทางเพศและแตกต่างจากการอยู่เป็นโสด[8][9] ซึ่งได้รับอิทธิพลโดยทั่วไปจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ตัวบุคคล สังคม และความเชื่อทางศาสนาของบุคคลนั้น ๆ[10] รสนิยมทางเพศแตกต่างจากพฤติกรรมทางเพศ ที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ "ถาวร"[11] บุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลบางคนมีกิจกรรมทางเพศ แม้ว่าจะขาดการดึงดูดทางเพศหรือความต้องการทางเพศด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ต้องการสร้างความสุขกับตนเองหรือคู่รัก หรือต้องการมีบุตร[8][12]

การยอมรับเอเซ็กชวลในฐานะรสนิยมทางเพศและในขอบเขตของการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่[2][12] เนื่องจากการวิจัยทั้งในมุมมองด้านสังคมวิทยาและจิตวิทยากำลังอยู่ในขั้นเริ่มพัฒนา[12] ขณะที่นักวิจัยบางคนยืนยันว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศ แต่ก็มีนักวิจัยคนอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วย[4][5] บุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลอาจมีอยู่ร้อยละ 1 ของประชากร[2]

ชุมชนเอเซ็กชวลหลายแห่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมเริ่มแพร่หลายในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ชุมชนที่มีจำนวนสมาชิกมากและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 2001 โดยเดวิด เจย์[4][13]

คำนิยาม อัตลักษณ์ และความสัมพันธ์

เนื่องจากมีความหลากหลายอย่างมีนัยสำคัญในหมู่ผู้ที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวล คำว่า "เอเซ็กชวล" จึงสามารถครอบคลุมคำนิยามโดยกว้าง ๆ[14] นักวิจัยโดยทั่วไปให้คำนิยามของ "เอเซ็กชวล" ว่าเป็นการขาดการดึงดูดทางเพศหรือขาดความสนใจในกิจกรรมทางเพศ[4][12][15] แม้ว่ามีคำนิยามอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไปจากนี้ คำว่า "เอเซ็กชวล" อาจใช้กล่าวถึงบุคคลที่มีพฤติกรรมทางเพศน้อยหรือไม่มีเลย หรือใช้กล่าวถึงเพิ่มเติมถึงการมีความต้องการทางเพศหรือการดึงดูดทางเพศต่ำหรือไม่มีโดยเฉพาะระหว่างคู่รักที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศ[12][16]

เอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์ก (เอเว็น) ซึ่งเป็นฟอรัมออนไลน์ที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นชุมชนออนไลน์ของเอเซ็กชวล ให้คำนิยามของ "เอเซ็กชวล" ว่า "ผู้ที่ไม่มีการประสบการณ์การดึงดูดทางเพศ" และยังเสริมว่าเอเซ็กชวล "โดยแก่นแท้" เป็น "เพียงคำทีผู้คนใช้เพื่อช่วยให้ค้นพบตัวเอง" และสนับสนุนให้ผู้คนใช้คำว่า เอเซ็กชวล เพื่อนิยามตนเอง "ตราบเท่าที่สมเหตุสมผลที่จะเรียกเช่นนั้น"[17] เอเซ็กชวลมักเรียกโดยย่อว่า เอซ (ace) เป็นคำย่อจากการออกเสียงว่า เอเซ็กชวล[18] และชุมชนของเอเซ็กชวลโดยรวมก็ถูกเรียกว่า ชุมชนเอซ (ace community)[19][20]

ความสัมพันธ์

แม้ว่าเอเซ็กชวลไม่มีการดึงดูดทางเพศ แต่เอเซ็กชวลบางคนอาจมีความสัมพันธ์ในเชิงโรแมนติกที่บริสุทธิ์ ในขณะที่บางคนอาจไม่มี[4][21] บางคนที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวลกล่าวว่าตนมีประสบการณ์ดึงดูดทางเพศ แม้ว่าจะไม่มีความต้องการที่จะมีกิจกรรมทางเพศ เอเซ็กชวลบางคนก็ขาดความต้องการที่จะมีกิจรรรมทางกายที่ไม่ใช่ทางเพศเช่นการกอดหรือการจับมือ ในขณะที่เอเซ็กชวลคนอื่น ๆ ก็อาจจะเลือกที่จะทำกิจกรรมดังกล่าว[8][9][12][14] คนที่เป็นเอเซ็กชวลอาจจะแสวงหาความสัมพันธ์ที่ไม่มีความโรแมนติกและไม่มีกิจกรรมทางเพศ เรียกว่าเป็น "ความสัมพันธ์แบบเควียร์เพลโตนิก"[18]

เอเซ็กชวลบางคนอาจจะมีกิจกรรมทางเพศเนื่องจากความอยากรู้อยากเห็น[12] บางคนอาจจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในรูปการปลดปล่อยเดี่ยว ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น[14][22][23] ความต้องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองและกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ มักถูกเรียกโดยเอเซ็กชวลว่าเป็น แรงขับดันทางเพศ (sex drive) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แยกต่างหากจากการดึงดูดทางเพศและการเป็นเอเซ็กชวล เอเซ็กชวลที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองโดยทั่วไปถือว่าเป็นการปล่อยสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ตามปกติ มากกว่าจะถือว่าเป็นสัญญาณของเรื่องเพศแอบแฝง และเอเซ็กชวลบางคนก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องน่าพึงพอใจ[12][24] ชายที่เป็นเอเซ็กชวลบางคนไม่สามารถทำให้เกิดการแข็งตัวขององคชาตและไม่สามารถสอดใส่ได้[25] เอเซ็กชวลแต่ละคนยังมีมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องกิจกรรมทางเพศ บางคนอาจมีกิจกรรมทางเพศเพื่อประโยชน์ของคู่รัก ในขณะที่คนอื่นอาจจะไม่ชอบแนวคิดนี้อย่างมาก แม้ว่าเอเซ็กชวลโดยทั่วไปจะไม่ได้ต่อต้านเรื่องเพศโดยภาพรวมก็ตาม[12][14][23]

หลายคนที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวลก็อาจจะเลือกรับอัตลักษณ์อื่น ซึ่งมักรวมถึงอัตลักษณ์ทางสถานะเพศและรสนิยมทางโรแมนติกประเภทต่าง ๆ ด้วย[26] เหล่านี้มักรวมเข้ากับอัตลักษณ์เอเซ็กชวลของบุคคล และเอเซ็กชวลอาจระบุตนว่าเป็นเฮเทโรเซ็กชวล เลสเบียน เกย์ หรือไบเซ็กชวลในแง่ความความโรแมนติกหรืออีกด้านหนึ่งของรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศนอกเหนือไปจากการระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวล[21] ในแง่ที่เป็นโรแมนติกของรสนิยมทางเพศก็อาจระบุได้ด้วยอัตลักษณ์โรแมนติกที่หลากหลาย เช่น ไบโรแมนติก เฮเทโรโรแมนติก โฮโมโรแมนติก หรือแพนโรแมนติก และผู้ที่ไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางโรแมนติกอาจระบุตนด้วยคำว่าเอโรแมนติก[14][21] การแยกจากกันระหว่างรสนิยมทางโรแมนติกและรสนิยมทางเพศนี้อธิบายได้โดยทั่วไปด้วยแบบจำลองการดึงดูดแบบแยกส่วน (split attraction model) ซึ่งระบุว่าความดึงดูดทางโรแมนติกและความดึงดูดทางเพศไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างเคร่งครัดสำหรับทุกผู้คน บุคคลผู้ที่เป็นทั้งเอโรแมนติกและเอเซ็กชวลบางครั้งจะรู้จักในคำเรียกว่า "เอโร-เอซ" ("aro-ace" หรือ "aroace")[27]

เกรย์เอเซ็กชวล

คำว่า "เกรย์เอเซ็กชวล" หมายถึงสเปกตรัมระหว่างเอเซ็กชวลและที่ไม่ใช่เอเซ็กชวล (มักระบุว่าว่าเป็นอัลโลเซ็กชวล)[28] บุคคลผู้ที่ระบุตนว่าเป็นเกรย์เอเซ็กชวลอาจมีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศเป็นครั้งคราว หรือเพียงมีประสบการณ์ดึงดูดทางเพศในฐานะองค์ประกอบรองเมื่อมีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงและแน่นแฟ้นกับคู่เป้าหมาย รู้จักในคำเรียกว่า เดมิเซ็กชวล[14][29]

งานวิจัย

ความแพร่หลาย

มาตราคินซีย์ของการตอบสนองทางเพศ บ่งบอกถึงระดับของรสนิยมทางเพศ มาตราดั้งเดิมมีการกำหนดให้ "เอ็กซ์" (X) บ่งบอกถึงการขาดพฤติกรรมทางเพศ[30]

นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลมีจำนวนน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรหรือน้อยกว่า[31] เอเซ็กชวลไม่ใช่เรื่องใหม่ในเพศวิถีของมนุษย์ แต่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในวจนิพนธ์ระดับสาธารณะ[32] เมื่อเทียบกับเพศวิถีอื่น ๆ แล้ว เอเซ็กชวลได้รับความสนใจน้อยจากชุมชนวิทยาศาสตร์ โดยมีข้อมูลเชิงปริมาณเกี่ยวกับความแพร่หลายของเอเซ็กชวลในจำนวนที่น้อย[33][34] เอส. อี. สมิท (S. E. Smith) แห่งหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนไม่แน่ใจว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลมีจำนวนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ แต่ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางเชื่อว่าพบเห็นได้มากขึ้น[32] อัลเฟรด คินซีย์ (Alfred Kinsey) จำแนกบุคคลตั้งแต่ระดับ 0 หรือ 6 ตามรสนิยมทางเพศของแต่ละบุคคลตั้งแต่เฮเทโรเซ็กชวล (ดึงดูดทางเพศต่อคนต่างเพศ) ถึงโฮโมเซ็กชวล (ดึงดูดทางเพศต่อคนเพศเดียวกัน) รู้จักในชื่อว่ามาตราคินซีย์ (Kinsey scale) เขายังรวมประเภทที่เรียกว่า "เอ็กซ์" (X) สำหรับบุคคลที่ "ไม่มีการสัมผัสหรือปฏิกิริยาทางสังคมและทางเพศ"[35][36] แม้ว่าในปัจจุบัน ลักษณะนี้จัดอยู่ในประเภทตัวแทนของเอเซ็กชวล[37] นักวิชาการจัสติน เจ. เลห์มิลเลอร์ (Justin J. Lehmiller) กล่าวว่า "ประเภทเอ็กซ์ของคินซีย์ให้ความสำคัญของการขาดพฤติกรรมทางเพศ ในขณะที่คำนิยามสมัยใหม่ของเอเซ็กชวลให้ความสำคัญกับการขาดการดึงดูดทางเพศ ด้วยเหตุนี้มาตราคินซีย์จึงอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการจำแนกประเภทของเอเซ็กชวลอย่างถูกต้อง"[30] คินซีย์ระบุว่าร้อยละ 1.5 ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่จัดอยู่ในประเภทเอ็กซ์[35][36] ในหนังสือเล่มที่สองของคินซีย์ที่ชื่อ เซ็กชวลบีเฮฟวิเออร์อินเดอะฮิวแมนฟีเมล (Sexual Behavior in the Human Female; แปลว่า พฤติกรรมทางเพศในมนุษย์เพศหญิง) ได้รายงานรายละเอียดของบุคคลจัดอยู่ในประเภทเอ็กซ์ว่า: ผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน = 14–19%, ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว = 1–3%, ผู้หญิงที่เคยแต่งงาน = 5–8%, ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงาน = 3–4%, ผู้ชายที่แต่งงานแล้ว = 0%, และผู้ชายที่เคยแต่งงาน = 1–2%[36]

ข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประชากรที่เป็นเอเซ็กชวลปรากฏในปี พ.ศ. 2537 เมื่อคณะนักวิจัยในสหราชอาณาจักรได้ทำการสำรวจประชากรชาวอังกฤษจำนวน 18,876 คน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการข้อมูลเกี่ยวกับเพศในช่วงการระบาดของโรคเอดส์ การสำรวจใช้คำถามเกี่ยวกับการดึงดูดทางเพศ ซึ่งร้อยละ 1.05 ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าตน "ไม่เคยรู้สึกดึงดูดทางเพศกับใครเลย"[38] การศึกษาปรากฏการณ์นี้ดำเนินต่อไปโดยแอนโทนี โบแกร์ต (Anthony Bogaert) นักวิจัยด้านเพศวิถีชาวแคนาดาในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งสำรวจประชากรเอเซ็กชวลในชุดการศึกษา งานวิจัยของโบแกร์ตระบุว่าร้อยละ 1 ของประชากรอังกฤษไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศ แต่เขาเชื่อว่าตัวเลขร้อยละ 1 นี้ไม่ได้สะท้อนถึงสัดส่วนประชากรที่อาจระบุได้ว่าเป็นเอเซ็กชวลที่อาจมีจำนวนมากกว่านี้ได้อย่างถูกต้อง สังเกตได้ว่าร้อยละ 30 ของผู้ที่ได้รับการติดต่อเพื่อขอสำรวจในครั้งแรกจะไม่เข้าร่วมในการสำรวจ เนื่องจากผู้ที่มีประสบการณ์ทางเพศน้อยมักจะปฏิเสธที่เข้าร่วมการศึกษาเกี่ยวกับเพศวิถี และผู้ที่เป็นเอเซ็กชวลมักมีประสบการณ์ทางเพศน้อยกว่าผู้ที่เป็นอัลโลเซ็กชวล (มีการดึงดูดทางเพศ) จึงมีแนวโน้มว่าผู้ที่เป็นเอเซ็กชวลจะมีตัวแทนประชากรน้อยเกินควรในหมู่ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม การศึกษาเดียวกันนี้พบว่าจำนวนผู้ที่เป็นโฮโมเซ็กชวลและไบเซ็กชวลมีจำนวนรวมกันประมาณร้อยละ 1.1 ของประชากร ซึ่งน้อยกว่าที่การศึกษาอื่น ๆ ระบุไว้อย่างมาก[15][39]

ในการศึกษาของไอค์เคน (Aicken) และคณะ ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2556 ให้ข้อมูลที่แตกต่างกับตัวเลขร้อยละ 1 ของโบแกร์ต ชี้ให้เห็นว่าจากข้อมูลนัตซัล-2 (Natsal-2) ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2544 ความแพร่หลายของเอเซ็กชวลในอังกฤษมีเพียงร้อยละ 4 ในช่วงอายุ 16-44 ปี[16][40] สัดส่วนนี้บ่งบอกว่าลดลงจากตัวเลขร้อยละ 0.9 ที่ระบุจากข้อมูตนัตซัล-1 (Natsal-1) ที่รวบรวมมาในช่วงอายุเดียวกันเมื่อสิบปีก่อน[40] การวิเคราะห์ในปี พ.ศ. 2558 โดยโบแกร์ตยังพบการลดลงที่คล้ายคลึงกันระหว่างข้อมูลนัตซัล-1 และนัตซัล-2[41] ไอค์เค็น, เมอร์เซอร์ (Mercer) และคาสเซล (Cassell) พบหลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของผู้ตอบแบบถามที่ไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มาจากอินเดียและปากีสถานมีแนวโน้มสูงที่จะรายงานว่าขาดการดึงดูดทางเพศ[40]

ในการสำรวจที่จัดทำโดยยูกัฟ (YouGov) ในปี พ.ศ. 2558 ผู้ใหญ่ชาวอังกฤษจำนวน 1,632 คนถูกถามให้ลองจำแนกตัวเองตามมาตราคินซีย์ ร้อยละ 1 ของผู้เข้าร่วมตอบว่า "ไม่มีเพศวิถี" รายละเอียดของผู้เข้าร่วมคือผู้ชายร้อยละ 0 และผู้หญิงร้อยละ 2 และเป็นร้อยละ 1 ในทุกช่วงอายุ[42]

รสนิยมทางเพศ สุขภาพจิต และสาเหตุ

มีการถกเถียงกันเป็นอย่างมากว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศหรือไม่[4][5] เอเซ็กชวลถูกเปรียบให้เทียบเท่ากับภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป (hypoactive sexual desire disorder, HSDD) ซึ่งมาจากการวินิจฉัยในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 4 (DSM-4) ซึ่งทั้งสองกรณีบ่งบอกถึงการขาดการดึงดูดทางเพศกับบุคคลใด ๆ ภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปถูกนำมาใช้อ้างถึงเพื่อระบุเอเซ็กชวลให้เป็นปัญหาทางการแพทย์ แต่เอเซ็กชวลโดยทั่วไปไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติหรือการทำหน้าที่ผิดปรกติ (เช่น การไม่บรรลุจุดสุดยอดทางเพศ, ภาวะสิ้นยินดี เป็นต้น) เนื่องจากไม่จำเป็นต้องระบุว่าบุคคลนั้นมีปัญหาทางการแพทย์หรือปัญหาที่เกี่ยวกับผู้อื่นทางสังคม[9][21][43] บุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลไม่เหมือนบุคคลที่มีภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป เพราะบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลโดยปกติไม่พบ "ความทุกข์ใจที่ชัดเจน" และ "ปัญหาระหว่างบุคคล" เกี่ยวกับความรู้สึกในเรื่องเพศวิถีหรือโดยทั่วไปขาดอารมณ์ทางเพศ เอเซ็กชวลคือเป็นการขาดหรือไม่มีการดึงดูดทางเพศเป็นลักษณะเฉพาะตลอดชีวิต[15][21] การศึกษาหนึ่งพบว่าเมื่อเทียบกับอาสามัครเป็นมีภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป บุคคลที่เป็นเป็นเอเซ็กชวลมีรายงานว่าระดับของความต้องการทางเพศ, ประสบการณ์ทางเพศ, ความทุกข์เกี่ยวกับเพศ และอาการซึมเศร้าในระดับต่ำ[44] นักวิจัยริชาดส์ (Richards) และบาร์เกอร์ (Barker) รายงานว่าเอเซ็กชวลไม่มีอัตราของภาวะการแสดงออกทางอารมณ์ช้า (alexithymia), ภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ไม่สมส่วน[21] อย่างไรก็ตาม บางบุคคลอาจระบุว่าเป็นเอเซ็กชวลแม้ว่าสภาวะที่ไม่ใช่เซ็กชวลจะอธิบายได้ด้วยความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อยหนึ่งอย่างก็ตาม[45]

ตั้งแต่มีการจำหน่ายของคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งแบ่งภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปออกเป็นการวินิจฉัยสำหรับภาวะความผิดปกติของการตื่นตัวทางเพศในเพศหญิง (female sexual arousal disorder) และภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปในเพศชาย (male hypoactive sexual desire disorder) ความผิดปกติทั้งสองอย่างนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นประเด็นปัญหาคล้ายคลึงกับภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไป (HSDD)[46] แม้ว่าคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 จะกล่าวถึงเอเซ็กชวลว่าเป็นเกณฑ์คัดออกจากความผิดปกติทั้งสองอย่างนี้ แตจำเป็นที่บุคคลต้องระบุตัวเองว่าเป็นเอเซ็กชวลเพื่อให้เข้าข่ายการวินิจฉัยแยกส่วนต่าง และข้อกำหนดนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกำหนดบังคับการวินิจฉัยให้บุคคลที่อาจจะเป็นเอเซ็กชวล แต่ยังไม่ระบุตนเองว่าเป็นเอเซ็กชวล[47] จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2564 ภาวะความต้องการทางเพศน้อยเกินไปยังคงถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายหญิงข้ามเพศ (ทรานเจนเดอร์)[48]

การศึกษาแรกที่ให้ข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับเอเซ็กชวลตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2526 โดยพอลลา นูเรียส (Paula Nurius) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรสนิยมทางเพศและสุขภาพจิต[49] อาสาสมัคร 689 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เรียนในชั้นเรียนวิชาจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา ได้รับการสำรวจหลายครั้งโดยรวมถึงการใช้มาตราวัดความอยู่ดี 4 ด้าน ผลการสำรวจพบว่าเอเซ็กชวลมีแนวโน้มที่จะมีความภูมิใจแห่งตน (self-esteem) ต่ำและมีแนวโน้มจะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าสมาชิกที่มีรสนิยมทางเพศอื่น ๆ ร้อยละ 25.88 ของเฮเทโรเซ็กชวล, ร้อยละ 26.54 ของไบเซ็กชวล (เรียกว่า "แอมไบเซ็กชวล"), ร้อยละ 29.88 ของโฮโมเซ็กชวล และร้อยละ 33.57 ของเอเซ็กชวลมีรายงานว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความภูมิใจแห่งตน และมีแนวโน้มคล้ายกันที่จะเป็นภาวะซึมเศร้า นูเรียสไม่เชื่อว่าผลการสำรวจนี้ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนด้วยเหตุผลหลายประการ[49][50]

ในการศึกษาปี พ.ศ. 2556 ยูล (Yule) และคณะ ตรวจสอบความแปรปรวนของสุขภาพจิตระหว่างชาวคอเคเซียนที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล, โฮโมเซ็กชวล, ไบเซ็กชวล และเอเซ็กชวล ผลการวิจัยรวมผู้เข้าร่วมชาย 203 คนและหญิง 603 คน ยูลและคณะพบว่าผู้เข้าร่วมชายที่เป็นเอเซ็กชวลมีแนวโน้มจะรายงานว่าความผิดปกติทางอารมณ์มากกว่าผู้ชายคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เข้าร่วมชายที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล กรณีเดียวกันนี้พบในผู้เข้าร่วมหญิงที่เป็นเอเซ็กชวลเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมหญิงที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ไม่ใช่เฮโทโรเซ็กชวลและไม่ใช่เอเซ็กชวลมีอัตราของความผิดปกติทางอารมณ์ที่สูงที่สุด ผู้ร่วมทั้งสองเพศที่เป็นเอเซ็กชวลมีแนวโน้มที่จะมีภาวะวิตกกังวลมากว่าผู้เข้าร่วมที่เป็นเฮเทโรเซ็กซลและที่ไม่เป็นเฮเทโรเซ็กชวลคนอื่น ๆ เนื่องจากผู้เข้าร่วมเป็นเอเซ็กชวลมีแนวโน้มที่จะมีรายงานว่ามีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายเมื่อเร็ว ๆ นี้ มากกว่าผู้เข้าร่วมที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวล ยูลและคณะตั้งสมมติฐานว่าความแตกต่างบางประการอาจเกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ[51]

ในเรื่องเกี่ยวกับประเภทของรสนิยมทางเพศ เอเซ็กชวลอาจถูกโต้แย้งว่าไม่ใช่ประเภทที่มีความสำคัญที่จะเพิ่มไปในความต่อเนื่องของรสนิยมทางเพศ แทนที่จะถูกโต้แย้งว่าเป็นการขาดรสนิยมทางเพศหรือเพศวิถี[5] ข้อโต้แย้งอื่น ๆ เสนอว่าเอเซ็กชวลเป็นการปฏิเสธเพศวิถีตามธรรมชาติของบุคคล และเป็นความผิดปกติที่เกิดจากความละอายในเรื่องเพศ, ความวิตกกังวล หรือการล่วงละเมิดทางเพศ บางครั้งมีการใช้ความเชื่อดังกล่าวนี้ในการอธิบายถึงเอเซ็กชวลที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือมีกิจกรรมทางเพศเป็นครั้งคราวเพื่อเอาใจคู่รัก[5][23][25] ในบริบททางการเมืองของเรื่องอัตลักษณ์รสนิยมทางเพศ เอเซ็กชวลอาจช่วยเติมเต็มหน้าที่ทางการเมืองของประเภทอัตลักษณ์รสนิยมทางเพศได้ในทางปฏิบัติ[28]

ความคิดเห็นที่ว่าเอเซ็กชวลเป็นความผิดปกติทางเพศเป็นที่ถกเถียงกันในชุมชนเอเซ็กชวล ผู้ที่ระบุตนว่าเป็นเอเซ็กชวลมักเห็นว่าควรจะถือว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศ[4] นักวิชาการที่โต้แย้งว่าเอเซ็กชวลเป็นรสนิยมทางเพศอาจชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่ของรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันออกไป[5][8][25] นักวิชาการเหล่านี้และบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลหลายคนเชื่อว่าการขาดการดึงดูดทางเพศก็ชัดเจนเพียงพอแล้วที่จะจัดให้เป็นประเภทหนึ่งของรสนิยมทางเพศ[52] นักวิจัยโต้แย้งว่าเอเซ็กชวลไม่ได้เลือกที่จะไม่มีการต้องการทางเพศ และโดยทั่วไปจะเริ่มค้นหาความแตกต่างในพฤติกรรมทางเพศในช่วงวัยรุ่น ด้วยเหตุที่ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเอเซ็กชวลเป็นมากกว่าทางเลือกทางพฤติกรรม และไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะรักษาได้เหมือนความผิดปกติ[25][53] นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่าการระบุตนว่าเอเซ็กชวลกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นหรือไม่[54]

การวิจัยเกี่ยวกับสมุฏฐานวิทยาของรสนิยมทางเพศเมื่อนำมาใช้กับเอเซ็กชวลก็มีปัญหาเกี่ยวกับคำนิยามของรสนิยมทางเพศที่ไม่ได้รับการนิยามอย่างสอดคล้องโดยนักวิจัยว่ารวมไปถึงเอเซ็กชวลด้วย[55] ในขณะที่ความเป็นเฮเทโรเซ็กชวล โฮโมเซ็กชวล และไบเซ็กชวลมักระบุได้ในช่วงปีแรก ๆ ของวัยก่อนวัยรุ่น (แม้จะไม่เสมอไป) ด้านความเป็นเอเซ็กชวลไม่ทราบแน่ชัดว่าระบุได้เมื่อใด "ไม่แน่ชัดว่าลักษณะเหล่านี้ [หมายถึง "การขาดความสินใจหรือความต้องการทางเพศ"] ถูกคิดว่าสิ่งที่เป็นตลอดชีพ หรืออาจจะได้รับมา"[12]

เกณฑ์หนึ่งที่มักใช้กำหนดรสนิยมทางเพศมักจะเสถียรขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ในการวิเคราะห์ในปี พ.ศ. 2559 ในวารสาร อาร์ไคฟ์ออฟเซ็กซ์บีเฮฟวิเออร์ (Archives of Sexual Behavior) บร็อตโต (Brotto) และคณะพบว่า "มีเพียงข้อมูลสนับสนุนที่อ่อน" สำหรับเกณฑ์นี้ที่พบในบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวล[56] การวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาระยะยาวระดับชาติเกี่ยวกับสุขภาพวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ (National Longitudinal Study of Adolescent to Adult Health) โดย สตีเวน เครนเนย์ (Stephen Cranney) พบว่าบุคคล 14 คน[a] ที่รายงานว่าไม่มีการดึงดูดทางเพศในการศึกษาระลอกที่ 3 (ซึ่งอาสาสมัครมีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 26 ปี) มีเพียง 3 คนที่ระบุเช่นเดิมในระลอกที่ 4 หลังจากนั้น 6 ปี[58] อย่างไรก็ตาม เครนนีย์สังเกตว่าการระบุอัตลักษณ์ของเอเซ็กชวลในระลอกที่ 3 ยังคงมีความสำคัญในฐานะตัวทำนายของการระบุอัตลักษณ์เอเซ็กชวลในระลอกถัดไป เครนนีระบุว่าการตีความข้อมูลนี้มีความซับซ้อนเนื่องจากไม่มี "มาตรฐานเชิงปริมาณใด ๆ ที่กำหนดว่าความต้องการทางเพศจะต้องคงอยู่นานแค่ไหนก่อนที่จะถือว่าเสถียรหรือมีมากเพียงพอที่จะถือว่าเป็นรสนิยม"[57]

กิจกรรมทางเพศและเพศวิถี

ขณะที่เอเซ็กชวลบางคนสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในรูปการปลดปล่อยเดี่ยวหรือมีเพศสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ของคู่รัก ส่วนเอเซ็กชวลคนอื่นไม่ทำเช่นนั้น (ดูด้านบน)[12][14][22] ฟิสเชอร์ (Fischer) และคณะรายงานว่า "นักวิชาการที่ศึกษาสรีรวิทยาเกี่ยวกับเอเซ็กชวลให้ความเห็นว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลสามารถกระตุ้นอวัยวะเพศให้ตื่นตัวได้ แต่อาจประสบความยากลำบากกับสิ่งที่เรียกว่าการตื่นตัวเชิงจิตวิสัย (subjective arousal)" หมายความว่า "ในขณะที่ร่างกายเกิดการตื่นตัวทางเพศ ในเชิงจิตวิสัยคือที่ระดับของจิตใจและอารมณ์แล้ว จะไม่รู้สึกถึงการตื่นตัวตามไปด้วย"[16]

สถาบันคินซีย์สนับสนุนการสำรวจขนาดเล็กอีกครั้งในหัวข้อนี้ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งพบว่าผู้ระบุตนเองว่าเป็นเอเซ็กชวล "รายงานว่ามีความต้องการทางเพศกับคู่นอนน้อยลง ความสามารถในการตื่นตัวทางเพศน้อยลง และการเร้าทางเพศน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ที่ไม่ใช่เอเซ็กชวลในเรื่องระดับความยับยั้งทางเพศหรือความต้องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง[12]

บทความปี พ.ศ. 2520 ชื่อเรื่องว่า เอเซ็กชวลแอนด์ออโตเอโรติกวีเมน: ทูอินวิซิเบิลกรุปส์ (Asexual and Autoerotic Women: Two Invisible Groups; แปลว่า "หญิงเอเซ็กชวลและออโตเอโรติก: สองกลุ่มที่ไม่ถูกมองเห็น") โดยไมรา ที. จอห์นสัน (Myra T. Johnson) เป็นบทความที่อุทิศให้ความเป็นเอเซ็กชวลในมนุษย์อย่างชัดเจน[59] จอห์นสันให้คำนิยามของเอเซ็กชวลเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง "ที่ดูเหมือนจะไม่ชอบการมีกิจกรรมทางเพศ ไม่ว่าสภาพทางร่างกายและจิตใจ ประวัติทางเพศที่แท้จริง และสถานภาพสมรสหรือแนวทางทางอุดมการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม" จอห์นสันเปรียบผู้หญิงที่เป็นออโตเอโรติก (พึงพอใจกับการหาความสุขทางเพศจากร่างกายตนเอง) กับผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวลว่า "ผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวล ... ไม่มีความต้องการทางเพศเลย [แต่] ผู้หญิงที่เป็นออโตเอโรติก ... ถือว่ามีความต้องการดังกล่าวแต่ชอบที่จะสนองความต้องการเพียงลำพัง" หลักฐานของจอห์นสันส่วนใหญ่เป็นจดหมายถึงบรรณาธิการซึ่งพบในนิตยสารผู้หญิงที่เขียนโดยผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวล/ออโตเอโรติก จอห์นสันกล่าวว่าพวกเธอเหล่านี้คือผู้ที่ไม่ถูกมองเห็น "ถูกกดขี่โดยฉันทามติว่าพวกเธอไม่มีอยู่จริง" และถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังโดยทั้งขบวนการปฏิวัติทางเพศและขบวนการสตรีนิยม จอห์นสันแย้งว่าสังคมเพิกเฉยหรือปฏิเสธการมีตัวตนของพวกเธอและยืนกรานว่าพวกเธอจะต้องเป็นพวกผู้ถือสันโดษด้วยเหตุผลทางศาสนา เป็นโรคประสาท หรือเป็นเอเซ็กชวลด้วยเหตุผลทางการเมือง[59][60]

ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2522 ในวารสารแอดวานซ์อินเดอะสทัดดีออฟอาฟเฟ็กต์ (Advances in the Study of Affect) ฉบับที่ 5 รวมถึงอีกบทความหนึ่งที่ใช้ข้อมูลเดียวกันและตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2523 ในวารสารเจอร์นัลออฟเพอร์ซันนาลิตีแอนด์โซเชียลไซโคโลจี (Journal of Personality and Social Psychology) ไมเคิล ดี. สตอมส์ (Michael D. Storms) แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสสรุปมโนทัศน์ใหม่ของตนเกี่ยวกับมาตราคินซีย์ โดยที่คินซีย์วัดรสนิยมทางเพศโดยพิจารณาจากพฤติกรรมทางเพศจริงร่วมกับจินตนาการและความต้องการทางเพศ สตอร์มใช้เฉพาะจินตนาการและความต้องการทางเพศ อย่างไรก็ตาม สตอร์มวางความต้องการทางเพศแบบต่างเพศและความต้องการทางเพศแบบร่วมเพศไว้บนแกนที่แยกกันแทนที่จะอยู่ที่ปลายสองด้านของมาตราเดี่ยว ซึ่งช่วยให้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างความเป็นไบเซ็กชวล (แสดงทั้งความต้องการทางเพศแบบต่างเพศและร่วมเพศในระดับที่เทียบได้กับเฮเทโรเซ็กชวลและโฮโมเซ็กชวลตามลำดับ) และความเป็นเอเซ็กชวล (แสดงระดับความต้องการทางเพศแบบต่างเพศเมื่อเทียบกับเฮเทโรเซ็กชวล และระดับความต้องการทางเพศแบบร่วมเพศเมื่อเทียบกับโฮโมเซ็กชวล เป็นระดับน้อยหรือไม่มีเลย) มาตรานี้มีการอธิบายถึงเอเซ็กชวลเป็นครั้งแรก[61] สตอมส์คาดการณ์ว่านักวิจัยจำนวนมากที่ดำเนินการตามมาตราของคินซีย์อาจจัดประเภทของเอเซ็กชวลผิดเป็นไบเซ็กชวล เพราะทั้งคู่ถูกกำหนดเพียงจากการขาดความพึงพอใจในเรื่องสภาวะเพศของคู่นอน[62][63]

ในการศึกษาในปี พ.ศ. 2526 โดยพอลลา นูเรียส ซึ่งรวมอาสาสมัคร 689 คน (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เรียนในชั้นเรียนวิชาจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา) มีการใช้มาตราวัดจินตนาการและมาตราวัดความต้องการทางเพศในสองมิติเพื่อวัดรสนิยมทางเพศ จากผลการศึกษา ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 สำหรับความต้องการทางเพศแบบต่างเพศ และจาก 0 ถึง 100 สำหรับความต้องการทางเพศแบบร่วมเพศ ผู้ตอบแบบสอบถามที่ได้คะแนนน้อยกว่า 10 ทั้งคู่จะถูกระบุว่าเป็น "เอเซ็กชวล" ซึ่งมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 5 ของผู้ชายและร้อยละ 10 ของผู้หญิง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเอเซ็กชวลรายงานถึงความถี่ของกิจกรรมทางเพศและความถี่ของความต้องการกิจกรรมทางเพศหลายหลายรูปแบบที่น้อยลงมาก ซึ่งรวมไปถึงการมีคู่นอนหลายคน กิจกรรมทางเพศทางทวารหนัก การมีเพศสัมพันธ์ในสถานที่ต่าง ๆ และกิจกรรมทางเพศด้วยตนเอ[49][50]

ชุมชน

ประวัติศาสตร์ของชุมชนเอเซ็กชวลยังไม่มีเอกสารในงานวิชาการในปัจจุบัน[64] แม้ว่าเว็บไซต์ส่วนตัวหลายแห่งสำหรับผู้อยู่ใต้คำนิยามของเอเซ็กชวลในภายหลังจะปรากฏออนไลน์ในช่วงทศวรรษ 1990[65] แต่นักวิชาการเชื่อว่าชุมชนของผู้ที่ระบุตัวเองว่าเป็นเอเซ็กชวลเริ่มต้นก่อตั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 โดยได้รับการส่งเสริมจากความนิยมของชุมชนออนไลน์[66] ชุมชนขนาดเล็กที่มีออนไลน์ ได้แก่ "Leather Spinsters", "Nonolibidoism Society" และ "Haven for the Human Amoeba" จากเอกสารโดย Volkmar Sigusch[65] ในปี พ.ศ. 2544 นักเคลื่อนไหวสิทธิเดวิด เจย์ก่อตั้งเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์ก (เอเว็น) โดยมีเป้าเหมายคือ "สร้างการยอมรับและการอภิปรายเกี่ยวกับเอเซ็กชวลในระดับสาธารณะ และส่งเสริมการเติบโตของสังคมเอเซ็กชวล"[4][13]

เอเซ็กชวลบางคนเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในชุมชนเอเซ็กชวลเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากพวกเขามักจะแสดงความรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้าง[26] ชุนชนอย่างเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังค้นหาคำตอบเมื่อยังสงสัยในรสนิยมทางเพศของตน อย่างการให้การสนับสนุนหากใครรู้สึกว่าการขาดการดึงดูดทางเพศของตนเป็นสาเหตุของโรค ชุมชนเอเซ็กชวลออนไลน์ยังสามารถทำหน้าที่ให้ข้อมูลคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องเอเซ็กชวล.[67] อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมในชุนชนออนไลน์ในหมู่คนที่เป็นเอเซ็กชวลมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน บางคนตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ของชุนชนออนไลน์ ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องพึ่งพาความสนับสนุนจากชุมชนออนไลน์อย่างมาก จากข้อมูลของเอลิซาเบท แอบบอตต์ (Elizabeth Abbott) เอเซ็กชวลมักมีตัวตนในสังคมอยู่เสมอ แม้ว่าบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลจะคงสถานะด้อยกว่าก็ตาม เธอกล่าวเพิ่มเติมว่าในขณะที่ความล้มเหลวของสมรสเท่าเทียมถูกเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นศีลสมรสในยุคกลาง และบางครั้งถูกใช้เป็นเหตุผลในการยกเลิกการสมรส แต่เอเซ็กชวลจะไม่เคยถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายต่างจากโฮโมเซ็กชวล อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการสื่อสารออนไลน์และเครือข่ายสังคมเมื่อไม่นานมานี้เอื้อต่อการเติบโตของชุมชนที่สร้างขึ้นจากอัตลักษณ์เอเซ็กชวล[68]

คำว่า squish เป็นคำที่ใช้โดยชุมชนเอเซ็กชวลเพื่อระบุถึงการหลงรักของผู้ที่ไม่ใช่เซ็กชวล (ผู้มีการดึงดูดทางเพศต่อเพศตรงข้าม)[18]

สัญลักษณ์

ธงไพรด์ของเอเซ็กชวลประกอบด้วยแถบแนวนอนสีสีคือสีดำ เทา ขาว และม่วง จากบนลงล่าง
แหวนสีดำอาจจะสวมที่นิ้วกลางของมือข้างขวาเพื่อแสดงตนว่าเป็นเอเซ็กชวล

ในปี พ.ศ. 2552 สมาชิกของเอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กเข้าร่วมในฐานะเอเซ็กชวลเป็นครั้งแรกในไพรด์พาเรดของอเมริกาที่ซานฟรานซิสโก[69] ในปี พ.ศ. 2553 หลังการถกเถียงเป็นระยะเวลาหนึ่งเกี่ยวกับการมีอยู่ของธงไพรด์เพื่อแสดงออกถึงเอเซ็กชวลรวมถึงระบบในการสร้างสรรค์ธงดังกล่าว ในที่สุดก็มีการประกาศธงไพรด์ของเอเซ็กชวลอย่างเป็นทางการ แบบสุดท้ายเป็นแบบที่ได้รับความนิยมและได้รับการให้คะแนนเสียงมากที่สุดจากการลงคะแนนเสียงแบบเปิดออนไลน์[70] สีของธงเป็นแถบแนวนอน 4 สีได้แก่สีดำ เทา ขาว และม่วง จากบนลงล่าง มีความหมายถึงเอเซ็กชวล เกรย์เอเซ็กชวล อัลโลเซ็กชวล และชุมชนตามลำดับ[71][72][73] ตั้งแต่นั้นมาจึงใช้ธงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนเอเซ็กชวลทั้งหมด[70] สมาชิกบางคนของชุมชนเอเซ็กชวลเลือกที่จะสวมแหวนสีดำเพิ่มเติมที่นิ้วกลางของมือข้างขวา รู้จักกันในชื่อว่า "แหวนเอซ" (ace ring) เพื่อใช้ระบุตัวตนว่าเป็นเอเซ็กชวล[74] เอเซ็กชวลบางคนใช้ไพ่เอซเพื่อใช้ระบุรสนิยมทางโรแมนติกของตน เช่น เอซโพดำหมายถึงเอโรแมนติก และเอซโพแดงหมายถึงไม่ได้เป็นเอโรแมนติก[18]

งานอีเวนต์

ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เอเซ็กชวลวิซิบิลิตีแอนด์เอดูเคชันเน็ตเวิร์กจัดงานประชุมเอเซ็กชวลนานาชาติครั้งที่สอง ในฐานะส่วนหนึ่งของงานอีเวนต์เวิลด์ไพรด์ในนครโทรอนโต งานประชุมครั้งแรกจัดขึ้นในงานเวิร์ลไพรด์ 2012 เมื่อปี พ.ศ. 2555 ในกรุงลอนดอน[75] ในงานประชุมครั้งที่สองมีผู้เข้าร่วมราว 250 คน เป็นการชุมนุมของเอเซ็กชวลที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน[76] การประชุมประกอบด้วยการนำเสนอ การอภิปราย และการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับเอเซ็กชวล ความสัมพันธ์แบบเอเซ็กชวล และอัตลักษณ์ร่วม

(Ace Week) หรือเดิมมีชื่อว่า (Asexual Awareness Week) จัดขึ้นตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เป็นช่วงเวลาแห่งการตระหนักรู้ (awareness period) ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและสร้างความความตระหนักรู้ถึงเอเซ็กชวล (รวมถึงเกรย์เอเซ็กชวล)[77][78] ก่อตั้งโดยซารา เบท บรูกส์ (Sara Beth Brooks) ในปี พ.ศ. 2553[79][80]

(International Asexuality Day; IAD) เป็นงานเฉลิมฉลองประจำปีของชุมชนเอเซ็กชวลซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6 เมษายน[81] วัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันนี้คือ "เพื่อให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยก้าวข้ามขอบเขตของกลุ่มผู้พูดภาษาอังกฤษและโลกตะวันตกไปไกลเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด"[82] คณะกรรมการระหว่างประเทศใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปีในการเตรียมงาน รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์[83] คณะกรรมการนี้กำหนดให้วันที่จัดงานเป็นวันที่ 6 เมษายนเพื่อหลีกเลี่ยงการไปชนกับวันสำคัญอื่น ๆ จำนวนมากทั่วโลกเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าวันงานอาจต้องมีการทบทวนและอาจเปลี่ยนแปลงในปีถัด ๆ ไป[82][84] วันเอเซ็กชวลนานาชาติครั้งแรกเฉลิมฉลองในปี พ.ศ. 2564 และมีองค์กรของเอเซ็กชวลจากอย่างน้อย 26 ประเทศเข้าร่วม[81][85][86] กิจกรรมต่าง ๆ ในงานได้แก่ การพบปะเสมือนจริง, โปรแกรมสนับสนุนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ และการแบ่งปันเรื่องราวโดยศิลปะรูปแบบต่าง ๆ[87]

ศาสนา

จากการศึกษาพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและเอเซ็กชวลอย่างนัยสำคัญทางสถิติ[88] เนื่องจากการเป็นเอเซ็กชวลมีอยู่ทั้งในบุคคลที่นับถือศาสนาและบุคคลที่ไม่นับถือศาสนาด้วยสัดส่วนใกล้เคียงกัน[88] การเป็นเอเซ็กชวลเป็นเรื่องที่ปกติมากในหมู่นักบวชที่ถือพรหมจรรย์ เนื่องจากผู้ที่ไม่เป็นเอเซ็กชวลมักถูกกีดกันโดยคำสาบานแห่งพรหมจรรย์[39] จากการศึกษาของไอค์เคนและอื่น ๆ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวมุสลิมตอบว่าตนไม่มีประสบการณ์การดึงดูดทางเพศรูปแบบใด ๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามชาวคริสต์ศาสนิกชน[88]

เนื่องจากการใช้คำว่า "เอเซ็กชวล" เพิ่งจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน ศาสนาส่วนใหญ่จึงไม่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้[89]

ในพระวรสารนักบุญมัทธิว 19:11-12 พระเยซูตรัสว่า "ไม่ใช่ทุกคนจะรับคำสอนนี้ได้ ยกเว้นคนที่พระเจ้าประทานให้เท่านั้น เพราะคนที่เป็นขันทีตั้งแต่เกิดก็มี คนที่มนุษย์ทำให้เป็นขันทีก็มี คนที่ทำตัวเองให้เป็นขันทีเพราะเห็นแก่แผ่นดินสวรรค์ก็มี ใครรับได้ก็ให้รับเอาเถิด"[90] อรรถกถาจารย์ของคัมภีร์ไบเบิลบางท่านตีความว่า "คนที่เป็นขันทีตั้งแต่เกิด" หมายความรวมถึงเอเซ็กชวลด้วย[90][91] ในขณะที่ศาสนาคริสต์ไม่ได้กล่าวถึงเอเซ็กชวลโดยตรง แต่ก็เคารพนับถือการถือพรหมจรรย์ เปาโลอัครทูตถูกเขียนระบุว่าเป็นผู้ถือพรหมจรรย์ ก็ได้รับการระบุโดยผู้เขียนบางคนว่าเป็นเอเซ็กชวล[92] เปาโลอัครทูตเขียนในพระธรรม 1 โครินธ์: 7:6–9 ว่า

ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้เป็นการอนุญาต ไม่ใช่สั่ง ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกคนเป็นเหมือนข้าพเจ้า แต่ว่าแต่ละคนก็ได้รับของประทานของตัวเองจากพระเจ้า คนหนึ่งได้รับอย่างนี้ และอีกคนหนึ่งได้รับอย่างนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกับพวกที่ไม่แต่งงานและพวกแม่ม่ายว่า การที่พวกเขาจะอยู่เหมือนข้าพเจ้าก็ดีแล้ว แต่ถ้าควบคุมตัวไม่อยู่ ก็จงแต่งงานเสียเถิด เพราะว่าแต่งงานเสียก็ดีกว่ามีใจเร่าร้อนด้วยกามราคะ

การเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองทางกฎหมาย

การเดินขบวนของเอเซ็กชวลในไพรด์พาเรดในกรุงลอนดอน

การศึกษาในปี พ.ศ. 2555 ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกรุปโพรเซสเซสแอดน์อินเทอร์กรุปรีเลชันส์ (Group Processes & Intergroup Relations) รายงานว่าเอเซ็กชวลถูกตีตราในทางลบในแง่ของอคติ การลดทอนความเป็นมนุษย์ และการเลือกปฏิบัติมากกว่าชนกลุ่มน้อยทางเพศอื่น ๆ อย่างเกย์ เลสเบียน และไบเซ็กชวล ทั้งบุคคลที่เป็นโฮโมเซ็กชวลและเฮเทโรเซ็กชวลไม่เพียงมองบุคคลที่เป็นเอเซ็กชวลอย่างเย็นชา แต่มองเหมือนเป็นสัตว์ที่ไม่ถูกควบคุม[93] อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่แสดงถึงการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงต่อชาวเอเซ็กชวลเพราะความเป็นเอเซ็กชวล[94] จูลี เด็กเกอร์ (Julie Decker) นักเคลื่อนไหว นักเขียน และบล็อกเกอร์ที่เป็นเอเซ็กชวลสังเกตเห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงต่อเอเซ็กชวลอย่างการข่มขืนเพื่อบำบัด มักทำให้ชุมชนเอเซ็กชวลกลายเป็นเหยื่อ[95] นักสังคมวิทยา มาร์ก คาร์ริกัน (Mark Carrigan) มองอย่างเป็นกลาง โต้แย้งว่าในขณะที่เอเซ็กชวลมักประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติ มันไม่ใช่เรื่องของการเกลียดชัง แต่ "เป็นเรื่องของการทำให้เป็นคนชายขอบมากกว่า เพราะผู้คนไม่เข้าใจเอเซ็กชวลอย่างแท้จริง"[96]

เอเซ็กชวลยังต้องเผชิญหน้ากับอคติจากชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[52][95] บุคคลที่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนนึกว่าใครก็ตามที่ไม่ใช่โฮโมเซ็กชวลหรือไบเซ็กชวลจะต้องเป็นสเตรตหรือเฮเทโรเซ็กชวล[52] และมักแยกเอเซ็กชวลออกจากนิยามของเควียร์ของพวกตน[52] แม้ว่ามีองค์กรที่มีชื่อเสียงหลายแห่งที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[52] แต่องค์กรเหล่านี้โดยทั่วไปก็ไม่ได้เข้าถึงเอเซ็กชวล[52] และไม่จัดหาสื่อห้องสมุดเกี่ยวเอเซ็กชวล[52] เมื่อนักเคลื่อนไหวสิทธิซารา เบท (Sara Beth) เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนว่าเอเซ็กชวลก็ได้รับการบอกจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนว่าเอเซ็กชวลเข้าใจผิดในการระบุอัตลักษณ์ของตนและเรียกร้องความสนใจที่ไม่สมควรได้รับในการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในสังคม[95] องค์กรกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ อย่างเดอะเทรเวอร์โพรเจก (The Trevor Project) และกองกำลังเฉพาะแอลจีบีทีคิวแห่งชาติ (National LGBTQ Task Force) รวมเอเซ็กชวลไว้ด้วยอย่างชัดเจนเพราะว่าเอเซ็กชวลไม่ใช่เฮเทโรเซ็กชวล จึงสามารถรวมอยู่ในคำนิยามของเควียร์ได้[97][98] ปัจจุบันบางองค์กรได้เพิ่มอักษร A ให้กับคำย่อของ LGBTQ เพื่อรวมเอเซ็กชวลเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในบางองค์กรเควียร์[99]

ในบางเขตอำนาจตามกฎหมาย เอเซ็กชวลได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ประเทศบราซิลมีคำสั่งห้ามการระบุว่าเอเซ็กชวลเป็นอาการป่วยหรือการพยายามบำบัดรสนิยมทางเพศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ผ่านประมวลกฎหมายจริยธรรมแห่งชาติ[100] รัฐนิวยอร์กในประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่าเอเซ็กชวลเป็นชนชั้นที่ได้รับการคุ้มครอง[101] อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วเอเซ็กชวลไม่เป็นที่สนใจในระดับสาธารณะหรือถูกรวมอยู่ในการพิจารณาครั้งสำคัญ จึงไม่เป็นประเด็นทางกฎหมายเท่ากับรสนิยมทางเพศอื่น ๆ[39]

ในสื่อ

เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ตั้งใจเสนอภาพเชอร์ล็อก โฮมส์ที่เป็นตัวละครของตนให้เป็นผู้ที่ในปัจจุบันจัดว่าเป็นเอเซ็กชวล[102]

การแสดงภาพเอเซ็กชวลในสื่อมีจำกัดและไม่ได้ค่อยมีการเปิดเผยหรือยืนยันโดยผู้สร้างหรือนักเขียน[103] ในผลงานที่สร้างขึ้นก่อนต้นศตวรรษที่ 21 ตัวละครมักถูกสันนิษฐานโดยอัตโนมัติว่าเป็นเซ็กชวล (ผู้ที่มีการดึงดูดทางเพศ)[104] และการมีอยู่ของเพศวิถีของตัวละครไม่เคยถูกตั้งคำถาม[104] เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์เสนอภาพเชอร์ล็อก โฮมส์ที่เป็นตัวละครของตนให้เป็นผู้ที่ในปัจจุบันจัดว่าเป็นเอเซ็กชวล[102] ด้วยความตั้งใจจะบรรยายลักษณะนิสัยของตัวละครว่าสิ่งที่เป็นแรงผลักดันมีเพียงสติปัญญา และมีภูมิคุ้มกันต่อความปรารถนาทางเนื้อหนังมังสา[102] จักเฮด โจนส์ ตัวละครของอาร์ชีคอมิกส์ก็มีแนวโน้มว่าจะถูกสร้างให้เป็นเอเซ็กชวลโดยผู้สร้างเพื่อให้เป็นขั้วตรงข้ามกับอาร์ชี แอนดรูว์ซึ่งเป็นเฮเทโรเซ็กชวล อย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี การแสดงภาพได้เปลี่ยนแปลง มีการทำซ้ำและรีบูตหลายชุดของซีรีส์ที่บอกโดยนัยว่าจักเฮดอาจเป็นเกย์หรืออาจเป็นเฮเทโรเซ็กชวล[102][105] ในปี พ.ศ. 2559 จักเฮดได้รับการยืนยันว่าเป็นเอเซ็กชวลในคอมิกของจักเฮดชุด นิวริเวอร์เดล[105] ผู้เขียนบทของรายการโทรทัศน์ ริเวอร์เดลในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งสร้างจากคอมิกของอาชี เลือกจะแสดงภาพของจักเฮดว่าเป็นเฮเทโรเซ็กชวล แม้ว่าจะได้รับการเรียกร้องจะแฟน ๆ รวมถึงโคล สเพราส์นักแสดงผู้รับบทจักเฮดให้คงความเป็นเอเซ็กชวลของจักเฮด และให้ชุมชนของเอเซ็กชวลร่วมแสดงตัวตนร่วมกับชุมชนเกย์และไบเซ็กชวล ซึ่งทั้งเกย์และไบเซ็กชวลมีการนำเสนอในรายการทั้งคู่[106] การตัดสินใจนี้จุดชนวนให้การการสนทนาวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับการลบเอเซ็กชวลในสื่อออกโดยเจตนารวมถึงผลที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชมอายุน้อย[107]

แอนโทนี โบแกร์ตจำแนกให้กิลลิกันซึ่งเป็นตัวละครในซีรีส์โทรทัศน์ในทศวรรษ 1960 เรือง กิลลิกันส์ไอส์แลนด์ (Gilligan's Island) ว่าเป็นเอเซ็กชวล[102] โบแกร์ตให้ความเห็นว่าผู้ผลิตของรายการน่าจะเสนอภาพให้กิลลิกันเป็นเอเซ็กชวลเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมรายการที่เป็นเด็กหนุ่มที่ยังไม่เข้าสู่วัยเริ่มเจริญพันธุ์และคาดว่ายังไม่มีความต้องการทางเพศ[102] ความเป็นเอเซ็กชวลของกิลลิกันยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตจงใจสร้างสถานการณ์ที่ตลกขบขันที่กิลลิกันปฏิเสธการเข้ามาตีสนิทกับหญิงที่มีเสน่ห์[102] ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ มักมีตัวละครหญิงที่มีเสน่ห์แต่ดูเหมือนจะเป็นเอเซ็กชวล ซึ่งถูกตัวละครเอกชายทำให้ "กลับใจ" เป็นเฮเทโรเซ็กชวลในตอนจบของรายการ[102] การแสดงภาพที่ไม่สมจริงเหล่านี้สะท้อนความเชื่อของชายที่เป็นเฮเทโรเซ็กชวลว่าผู้หญิงที่เป็นเอเซ็กชวลทุกคนแอบต้องการผู้ชาย[102]

เอเซ็กชวลในฐานะอัตลักษณ์ทางเพศแทนที่ในฐานะตัวตนทางชีววิทยากลายเป็นที่อภิปรายอย่างกว้างขวางในสื่อในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21[103] ซีรีส์ของเครือข่ายฟ็อกซ์เรื่อง หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย (House หรือ House, M.D.) นำเสนอคู่รัก "เอเซ็กชวล" ในตอน "ครึ่งที่ดีกว่า" (Better Half; พ.ศ. 2555) อย่างไรก็ตาม การนำเสนอนี้ถูกตั้งคำถามโดยสมาชิกของชุมชนเอเซ็กชวล เนื่องจากในตอนเผยว่าฝ่ายชายมีเนื้องอกต่อมของต่อมใต้สมองทำให้ความต้องการทางเพศลดลง และฝ่ายหญิงแสร้งทำเป็นเอเซ็กชวลเพื่อเอาใจเขา[108] นำไปสู่การโต้แย้งเกี่ยวกับนำเสนอนี้และมีคำร้องทางเชนจ์.โออาร์จีเพื่อให้เครือข่ายฟ็อกซ์พิจาณาใหม่เกี่ยวกับการนำเสนอตัวละครเอเซ็กชวลในอนาคต โดยกล่าวว่า "นำเสนอเอเซ็กชวลได้แย่มากที่ระบุว่าเป็นทั้งอาการป่วยทางการแพทย์และการหลอกลวง"[108] ตัวละครในบันเทิงคดีที่เป็นเอเซ็กชวลอื่น ๆ ได้แก่ สพันจ์บ็อบและแพทริคเพื่อนสนิท จาก สพันจ์บ็อบ สแควร์แพนส์[109][110][111] และท็อดด์ ชาเวส จากโบแจ๊ค ฮอร์สแมน (เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปเป็นอย่างดีจากชุมชนเอเซ็กชวลว่าเป็นการนำเสนอในเชิงบวก)[112]

ดูเพิ่ม

  • การขาดสังคมภาพ (asociality) – การขาดความสนใจในความสัมพันธ์ทางสังคมโดยทั่วไป
  • การต่อต้านเพศ (antisexualism) – ทัศนคติของบุคคลที่ต่อต้านเพศวิถี
  • รายนามบุคคลที่อยู่ในสเปกตรัมเอเซ็กชวล
  • รักบริสุทธิ์ (platonic love) – ความรักใครที่ไม่มีความโรแมนติกและไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง
  • สมรสไร้เพศ (sexless marriage) – การแต่งงานที่ไม่มีเพศสัมพันธ์หรือมีแต่น้อย
  • ภาวะเบื่อทางเพศ (sexual anorexia) – ภาวะที่สูญเสีย "ความอยาก" ปฏิสัมพันธ์ทางโรแมนติกและทางเพศ
  • สิ่งเร้าเหนือปรกติ (supernormal stimulus) – รูปแบบของสิ่งเร้าที่ไม่ใช่เรื่องเพศ ตรงกันข้ามกับความรู้สึกทางเพศ
  • ไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์เอเซ็กชวล

หมายเหตุ

อ้างอิง

อ่านเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลอื่น

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Human asexuality
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง