ชาวไทยในกัมพูชา

(เปลี่ยนทางจาก ไทยเกาะกง)

ชาวไทยในกัมพูชา คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวไทยสยามในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา โดยมากอาศัยอยู่ในจังหวัดเกาะกง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ติดชายแดนประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2551[1] พวกเขายังคงอัตลักษณ์ด้านประเพณี ภาษา และวัฒนธรรมอย่างไทย และถูกเรียกว่า "ไทยเกาะกง/สยามเกาะกง" (เขมร: សៀមកោះកុង, ออกเสียง "เซียมเกาะฮ์กง") ในอดีตพวกเขาถูกกดขี่ทางวัฒนธรรม ปัจจุบันพวกเขาได้รับสัญชาติเขมรตามกฎหมาย แต่ก็มีบุคคลเชื้อสายไทยบางส่วนลี้ภัยเป็นผู้พลัดถิ่นในไทย[3][4]

ชาวไทยในกัมพูชา
ประชากรทั้งหมด
ชาวไทยในเกาะกง 48,340 คน (พ.ศ. 2551)[1]
บุคคลสัญชาติไทยในกัมพูชา 9,043 คน (พ.ศ. 2564)[2]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 กัมพูชา34,930 (พ.ศ. 2551)[1][หมายเหตุ ก]
 ไทย13,410 (พ.ศ. 2551)[1]
ภาษา
ไทย (ตราด · ไทเบิ้ง· เขมร
ศาสนา
พุทธนิกายเถรวาท
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทยสยาม · ไทยเชื้อสายจีน · กัมพูชาเชื้อสายจีน

ประวัติ

ภาพกองรบของ "เสียมกุก"[5] บนผนังระเบียงปราสาทนครวัด ช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 12

ชาวไทยหรือชาวสยามอพยพเข้าสู่เขตอิทธิพลของเขมรช้านาน มีหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึง "เสียม" ในศิลาจารึกอังกอร์โบเร็ย จารึกใน พ.ศ. 1154 เขียนไว้ว่า กุ สฺยำ ("นาง [ทาส] เสียม")[6] ส่วนในบันทึกของโจว ต้ากวาน ทูตจีนผู้เดินทางไปเมืองพระนคร ได้บันทึกถึงการดำรงอยู่ของชาวสยามว่าเป็นคนละกลุ่มกับชาวเขมร ชาวเขมรซื้อหม่อนและหนอนไหมจากชาวสยาม เพราะชาวสยามรู้จักการทอเครื่องนุ่งห่ม ชาวเขมรจึงต้องจ้างชาวสยามซ่อมแซมเสื้อผ้าให้[7] และยังพบภาพสลักกองทหาร "เสียมกุก" บนผนังระเบียงปราสาทนครวัด โดยมีจารึก เนะ สฺยำ กุกฺ ("นี่ เสียมกุก")[8] และ อฺนก ราชการฺยฺย ภาค ปมญฺ เชฺง ฌาล ด นำ สฺยำ กุก ("ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฌาล ซึ่งนำชาวเสียมกุก")[9] แต่จารึกดังกล่าวถูกมือดีลบออกไปแล้ว[10] ใน เขมรแบ่งเป็นสี่ภาค พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ว่า ชาวไทยและชาวเขมรอาศัยอยู่ปะปนกันมาแต่ยุคโบราณ โดยเฉพาะบ้านเมืองในแถบทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน ทรงยกตัวอย่างนามเมืองเสียมราฐ ที่ว่าแปลว่าเมืองคนไทยทำปลาแห้ง ซึ่งตั้งอยู่รอบนอกเมืองพระนคร[11] ในหนังสือ ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (2490) ระบุว่า ชนชาติขอมปะปนกับคนไทยมากขึ้น "...มีภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนตะวันออกแห่งอ่าวสยาม คือทางลุ่มแม่น้ำโขงทางตอนใต้ ซึ่งบัดนี้ได้มาปะปนกับไทยมากขึ้น ส่วนที่อยู่ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้จนกลายเป็นเขมรหรือจามไป"[12]

ปรากฏการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ระหว่างสยามกับเขมรสู่ดินแดนตนเองอยู่เนือง ๆ[13] ในรัชสมัยพระรามาธิบดี (คำขัด) ซึ่งตรงกับช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ยกทัพไปตีเมืองจันทบูรและบางคาง ก่อนกวาดต้อนคนกลับกรุงจตุมุข (ปัจจุบันคือบริเวณแถบบาสาณ อุดง ละแวก ศรีสันทร และพนมเปญ)[14] และทรงยกทัพมาพร้อมกับเจ้าพญาแก้วฟ้า กวาดต้อนราษฎรปลายแดนอยุธยาไปอีก[15] รัชสมัยเจ้าพญายาต ทรงยกทัพไปตีเมืองจันทบูร[15] รัชสมัยพระบรมราชาที่ 4 (นักพระสัตถา) โปรดให้พระทศราชาและพระสุรินทราชายกทัพกวาดต้อนคนไทยบริเวณชายแดนภาคตะวันออกใน พ.ศ. 2125[16] ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า ใน พ.ศ. 2164 ระบุว่าเจ้าฝ่ายหน้าของสยามยกทัพไปภูเขาจังกางเพื่อตีเขมร แต่สมเด็จพระไชยเชษฐา กษัตริย์เขมร เคลื่อนพลไปตีทัพสยามแตก เจ้าฝ่ายหน้าหลบหนีไปได้ ส่วนไพร่พลถูกจับเป็นเชลย เชลยสยามเหล่านี้ถูกเรียกว่า "ไทยจังกาง"[17] ใน พ.ศ. 2173 รัชสมัยพระศรีธรรมราชา พระราชสมภาร ทรงแต่งทัพไปกวาดต้อนชาวนครราชสีมากลับกัมพูชา[16][18] นอกจากนี้ยังมีหญิงสยามเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาของเจ้านายเขมรจำนวนหนึ่ง[19][20] หนึ่งในนั้นคือธิดาเจ้าเมืองบางคาง มารดาของเจ้าพระยาญาติ[21]

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของชาวไทยคืออีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการเสื่อมสลายของเมืองพระนครในหลายด้านที่ค่อย ๆ แผ่อิทธิพลเข้ามาอย่างช้า ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ทั้งด้านศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งไม่สนับสนุนการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ โดยในเวลานั้นชาวเขมรชนชั้นไพร่และทาสที่ถูกกดขี่ ล้วนเบื่อหน่ายการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาแก่ชนชั้นปกครอง เมื่ออยุธยายกทัพไปตีเมืองนครธม เหล่าไพร่ทาสจึงพร้อมใจกันหลบหนีไม่เข้าร่วมสงคราม ทำให้เมืองนครธมล่มสลาย[22] และกัมพูชาย้ายศูนย์กลางการปกครองลงทางตอนใต้ด้วยมุ่งหวังการค้ากับจีนอย่างเต็มใจ[23] กัมพูชาเปลี่ยนสถานะจากจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยไปในที่สุด[22]

ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีคลื่นผู้อพยพชาวสยามลี้ภัยมายังเมืองเขมรและพุทไธมาศจำนวนมาก[24] ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพเข้ามาไปยังเมืองพุทไธมาศและเมืองเขมรเมื่อ พ.ศ. 2314 เพื่อกำจัดเจ้านาย ขุนนาง และข้าหลวงจากอยุธยาที่ลี้ภัยเหล่านี้ให้สิ้นซาก ดังปรากฏใน จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรี เนื้อหาระบุว่า "...มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์รามขึ้นไปราชาภิเษก ณ กรุงกัมพูชาธิบดี…ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุงฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น..."[25][26]

ครั้นในยุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์ มีการไปมาหาสู่ระหว่างเขตแดนของชาวไทยและเขมร ในช่วง พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา มีกลุ่มชาวไทยอพยพลงไปตั้งชุมชนและสร้างเมืองขึ้นในเขตขอมแปรพักตร์ ได้แก่ เมืองมงคลบุรี เมืองศรีโสภณ เมืองวัฒนานคร เมืองอรัญประเทศ เมืองพระตะบอง และเมืองเสียมราฐ ซึ่งชาวไทยกลุ่มนี้ยังได้สร้างป้อมและกำแพงเมืองไว้อย่างมั่นคง[11] อีกทั้งยังมีคณะละครชาวสยามข้ามไปทำการแสดงยังฝั่งเขมร ตัวละครทั้งชายและหญิงผู้มีฝีมือหลายคนเข้ารับราชการในราชสำนักของเขมร บางคนก็เข้าไปเป็นครูละคร[27][28] ใน จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ถึงมองซิเออร์เดคูร์วีแยร์ ระบุว่าช่วง พ.ศ. 2328–2329 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สยามทำสงครามแพ้กัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ทำให้มีคนไทยจำนวน 500 คน และคนเข้ารีตอีก 16 คน ตกค้างอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงในแดนของกัมพูชา ครั้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ก็มีทหารสยามหนีทัพจากเขมรหนีกลับเข้ามากรุงเทพมหานคร[29] อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวไทยจำนวนไม่น้อยเข้าไปในกัมพูชาด้วยความสมัครใจ เช่นไปเป็นเจ้าพนักงาน และหลายคนเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกากษัตริย์เขมร[30][31] ในราชสำนักสยามและราชสำนักเขมร มีการเกี่ยวดองทางเครือญาติด้วยการเสกสมรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชสำนักฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารซึ่งทรงคุ้นเคยกับชีวิตในราชสำนักสยามมาโดยตลอด ก็มีสตรีสยามหรือหญิงลูกครึ่งสยามถวายงานอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คุณพระนางสุชาติบุปผา พระชนนีของพระองค์เจ้าดวงจักร[32] บาทบริจาริกาชาวสยามเหล่านี้ มีทั้งหญิงสามัญและเจ้านายจากราชวงศ์จักรี เช่น หม่อมราชวงศ์ตาด ปาลกะวงศ์ ภรรยาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร[33] หม่อมเจ้าพัชนี (ไม่ทราบราชสกุลเดิม) และหม่อมเจ้าปุก อิศรศักดิ์ เป็นพระเทพีของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเช่นกัน[34] การส่งอิทธิพลของราชสำนักรัตนโกสินทร์ในด้านต่าง ๆ ทำให้ชนชั้นสูงของกัมพูชาเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นสยาม (Siamization)[35][36]

นอกจากกลุ่มนางละครชาวสยามที่เข้าไปยังแดนกัมพูชา ก็คือกองทหารสยามที่แตกทัพในสงครามอานามสยามยุทธ พวกเขาอาศัยปะปนอยู่กับชาวเขมรกรอมแถบปากแม่น้ำโขง ประกอบอาชีพกสิกรรม ปัจจุบันอยู่ในเมืองสักซ้า (หรือกระมวนสอ) ประเทศเวียดนาม โดยยังหลงเหลือนามภูมิ คือ บ้านซแรเซียมจะส์ (ស្រែសៀមចាស់, "นาสยามเก่า") บ้านซแรเซียม-ทเม็ย (ស្រែសៀថ្មី, "นาสยามใหม่") และบ้านเซียมจอด (សៀមចត, "สยามจอด [เรือ]")[6] และยังมีกลุ่มพระภิกษุสงฆ์จากสยามเข้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธ และจำพรรษาในกัมพูชา ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[37] เพื่อแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของสยาม[35] และภาวะทันสมัย ถือเป็นความก้าวหน้าและพัฒนาเชิงกายภาพของพระศาสนา[38]

การแบ่งกลุ่ม

จังหวัดเกาะกง

นอกจากชาวไทยยุคเก่าที่อพยพเข้าไปกัมพูชา ยังมีชาวไทยพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อนมาช้านานในเขตจังหวัดเกาะกง เดิมเป็นเมืองปัจจันตคิรีเขตรขึ้นกับกรุงสยาม มีรากเหง้าเดียวกันกับคนเชื้อสายไทยในจังหวัดตราด พวกเขามีบรรพบุรุษมาจากบ้านลาดพลี เมืองราชบุรี มีมุขปาฐะอธิบายไว้ว่าอพยพหนีสงครามกับพม่า แต่ไม่แจ้งชัดว่าในยุคกรุงศรีอยุธยาหรือธนบุรี เข้าสู่เมืองตราดหลายร้อยครัวและกระจายตัวออกไปตั้งถิ่นฐาน[39] ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามคลองและลุ่มแม่น้ำ เช่น ลุ่มแม่น้ำเกาะปอ, แม่น้ำครางครืน, แม่น้ำตาไต, แม่น้ำบางกระสอบ, แม่น้ำตะปังรุง, แม่น้ำคลองพิพาท, อ่าวเกาะกะปิ, คลองแพรกกษัตริย์, อ่าวยายแสน, อ่าวพลีมาศ, อาหนี และอาจเลยไปถึงนาเกลือ[40] และทั้งหมดล้วนมีเชื้อสายจีนประสมอยู่ด้วย[1]

ทว่าหลังรัฐบาลสยามยอมยกเมืองตราดและปัจจันตคิรีเขตรแก่ฝรั่งเศสตามพิธีสารลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2447 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี ต่อมามีการทำหนังสือลงนามระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 โดยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณแก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย กับเมืองตราด แต่ฝรั่งเศสไม่ได้ยกเมืองปัจจันตคิรีเขตรคืนมาด้วย ชาวไทยที่ตกค้างในนั้นจึงเปลี่ยนสภาพเป็นคนพลัดถิ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[1] ก่อน พ.ศ. 2514 มีชาวไทยที่อาศัยในเกาะกงราว 40,000 คน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเขมรแดง ชาวไทยในเกาะกงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว บ้างก็โยกย้ายไปฝั่งไทย บ้างก็ถูกเขมรแดงสังหาร ทำให้ พ.ศ. 2528 เหลือชาวไทยในเกาะกงอยู่ราว 8,000 คน[41] สมัยนโรดม สีหนุเป็นกษัตริย์-รัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นเคยห้ามคนเกาะกงพูดภาษาไทย หากฝ่าฝืนจะถูกตำรวจจับ และบางรายโชคร้ายก็จะถูกฆ่า โดยในสมัยนั้นนายพลลอน นอลที่ทำงานใกล้ชิดกับสีหนุขณะนั้นเคยพูดไว้ว่า "คนไทเกาะกง แม้ว่าจะตายไปสักห้าพันคน ก็ไม่ทำให้แผ่นดินเขมรเอียง"[42] จากการกดขี่ดังกล่าว ชาวไทยในเกาะกงจึงอพยพเข้าสู่ประเทศไทยถึงสี่ระลอก ได้แก่ ระลอกที่หนึ่ง (พ.ศ. 2502–2512) ตรงกับยุคนโรดม สีหนุ ระลอกที่สอง (พ.ศ. 2513–2518) ตรงกับยุคลอน นอล ระลอกที่สาม (พ.ศ. 2518–2520) ในช่วงที่เวียดนามยึดครองกัมพูชา และระลอกที่สี่ (พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา) ถือว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง[1] ปัจจุบันชาวไทยในเกาะกงล้วนมีเครือญาติอยู่ในประเทศไทย นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในประเทศไทย และมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย[43] และมีชาวไทยเกาะกงจำนวนไม่น้อยที่ยังตกค้างอยู่ประเทศไทยไม่อพยพกลับกัมพูชา จำนวนมากถึง 13,410 คน ใน พ.ศ. 2551[1]

ชาวไทยจากเกาะกงหลายคนมีบทบาททางการเมืองของกัมพูชา เช่น ใส่ ภู่ทอง จา เรียง (หรือ จำเรียง ศิริวงษ์) และเตีย บัญ (หรือ สังวาลย์ หินกลิ้ง) เพราะชาวไทยในเกาะกงตระหนักถึงความเป็นอื่นในกัมพูชา จึงรวมเป็นกลุ่มคณะอิสระ และพลพรรคไทยเกาะกง ด้วยมุ่งหวังความปลอดภัยและอำนาจอิสระในการปกครองตนเองของคนไทย[44] หลังสิ้นสุดยุคเขมรแดงใน พ.ศ. 2522 รัฐบาลกลางกัมพูชาประกาศยอมรับชาวไทยในเกาะกงเป็นชนชาติส่วนน้อย เป็นประชาชนกัมพูชาโดยนิตินัยเสมอภาคเท่าเทียมกับชาวเขมร มีอิสรภาพปกครองตนเอง มีสิทธิในการกำหนดนโยบายในการบริหารท้องถิ่นโดยยึดขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นหลัก[45] ในรัฐบาลฮุน เซน มีชาวไทยขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ยุทธ ภู่ทอง, บุญเลิศ พราหมณ์เกษร, รุ่ง พราหมณ์เกษร และมิถุนา ภู่ทอง[46] ทั้งนี้ชาวไทยเกาะกงที่เป็นชนชั้นปกครองนี้ ล้วนเป็นเครือญาติกันผ่านการสมรส[47]

จังหวัดพระตะบองและบันทายมีชัย

ส่วนกลุ่มชาวไทยและไทยโคราชที่อาศัยในจังหวัดบันทายมีชัยและพระตะบอง กลุ่มชาวไทยที่พูดภาษาไทยกลางมีประวัติการอยู่อาศัยมานานจากการที่เขมรตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24–25 เพราะช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีเจ้านายเขมรเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยามหลายครั้งก่อนกลับไปเสวยราชย์กรุงกัมพูชา พวกเขาก็ได้นำประเพณีในราชสำนักสยามกลับไปราชสำนักเขมรด้วย มีการส่งพระสงฆ์เขมรมาบวชเรียนในสยาม เพื่อสั่งสอนศาสนา รวมทั้งนำรูปแบบศิลปกรรมกลับไปใช้ โดยมีพระสงฆ์ชาวสยามเข้าไปเผยแผ่ศาสนาและจำพรรษาในกัมพูชาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังพบพุทธศาสนสถานมีก่อสร้างสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยตามแบบพระราชนิยมอยู่ดาษดา[37]

มีชาวไทยหลายคนเคยมีถิ่นพำนักในพระตะบอง เช่น สกุลอภัยวงศ์ หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) และจิตร ภูมิศักดิ์ ปัจจุบันคนไทยกลุ่มนี้กลมกลืนไปกับชาวเขมรเสียมาก ผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไปยังสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี[48] แต่ผู้สืบเชื้อสายสกุลอภัยวงศ์ที่อาศัยในพระตะบอง พวกเขาเลือกที่จะไม่ใช้นามสกุลอภัยวงศ์แบบไทย เพราะเกรงผลกระทบทางการเมือง ด้วยฝ่ายกัมพูชามองว่าการกระทำของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นการทรยศ ทั้ง ๆ ที่ตระกูลนี้ก็มีบรรพชนเป็นเขมร[49] ส่วนชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชาวไทยโคราช เริ่มอพยพสู่กัมพูชาทั้งก่อนและหลัง พ.ศ. 2484 ในช่วงที่ประเทศไทยได้ดินแดนจังหวัดพระตะบองและพิบูลสงครามคืนจากฝรั่งเศสในรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ครั้นไทยพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ได้คืนดินแดนเขมรส่วนในแก่ฝรั่งเศส ชาวไทยเหล่านี้จึงแปรสภาพเป็นคนพลัดถิ่น ปัจจุบันพวกเขาสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวเขมร ลาว และกุลา อัตลักษณ์ที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียวคือการใช้ภาษาไทย ก็พบผู้ใช้น้อยลงทุกขณะ[50]

วัฒนธรรม

ภาษา

ปืนใหญ่สองกระบอกด้านหน้าศาลากลางเมืองพระตะบองหลังเก่า ยังหลงเหลือจารึกอักษรไทยให้เห็น

ในอดีตสยามมีอิทธิพลเหนือกัมพูชามายาวนาน ในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารจะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่ถัดมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ตรัสภาษาไทยได้ แต่พูดภาษาเขมรเป็นหลัก และชนชั้นผู้ดีเก่าในพนมเปญโดยมากพูดไทยได้คล่อง หรืออย่างต่ำก็ฟังไทยพอเข้าใจ แต่หลังกัมพูชาตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส คนชั้นหลังพูดภาษาฝรั่งเศส และใช้ภาษาไทยลดลง[51] การนับเลขเขมรตั้งแต่จำนวน 30 เป็นต้นไปก็ยืมมาจากการนับเลขของภาษาไทยทั้งหมด[52] คำราชาศัพท์เขมรในปัจจุบันมีการรับคำไทยเข้าไปใช้[53] เช่น ขึมขาต (เข็มขัด), จุตหมาย (จดหมาย), พระสุภาก (สไบห่ม มาจากคำว่า "สะพัก"), ทด (ดู มาจากคำว่า "ทอด"), พระทีนัง (พระที่นั่ง), ทรงเตีน (ตื่น) และยาง (เดิน มาจากคำว่า "ย่าง") เป็นต้น[54] ทั้งยังมีร่องรอยอักษรไทยตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ภาพจิตรกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ ที่วัดบูร์ จังหวัดเสียมราฐ ที่มีการเขียนอักษรไทยกำกับภาพหลายแห่ง รวมทั้งได้สอดแทรกตราแผ่นดินสยาม และเครื่องแต่งกายแบบสยามไว้อย่างครบถ้วน[55] และพบอักษรไทยเขียนคำว่า พระตะบอง ที่เรือนของหลวงเสน่หาพิมล ข้าราชการของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ในเมืองพระตะบอง[56]

ชาวไทยในกัมพูชาในปัจจุบันสามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและเขมร แบ่งเป็นชาวไทยในจังหวัดบันทายมีชัยและพระตะบองมีผู้พูดทั้งภาษาไทยถิ่นกลางและกลุ่มภาษาไทยโคราช[57] แต่ลูกหลานบางส่วนเริ่มไม่ใช้ภาษาไทยแล้ว เพราะต้องใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารเป็นหลัก[50] และพบว่าน้อยคนที่จะใช้ภาษาไทยได้[49] ขณะที่ชาวไทยในเกาะกงพูดภาษาไทยถิ่นกลางสำเนียงแบบเดียวกับจังหวัดตราด[58] และยังสื่อสารด้วยภาษาไทยเป็นหลัก[1] แต่เดิมเกาะกงในปี พ.ศ. 2506 เคยออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย[59] โดยจะปรับเป็นคำละ 25 เรียล ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยอยู่ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่พบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ค่าปรับการพูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียล หากไม่ปฏิบัติจะถูกแขวนป้ายประจาน ในหนังสือ รัฐบาลทมิฬ และ ปัตจันตคีรีเขตร์ เมืองแห่งความหลัง กล่าวถึงนางหล็อง หญิงไทยบ้านบางกระสอบ ทะเลาะกับสามีชื่อนายเห่ง นางหล็องหลุดปากด่าสามีเป็นภาษาไทย จนเรื่องไปถึงคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงให้ลงโทษนางหล็องด้วยการใช้แรงงานหนัก นางหล็องไม่ยอมรับจึงดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย สร้างความสะเทือนใจแก่ชาวไทยในเกาะกงที่ไม่สามารถใช้ภาษาบรรพบุรุษของตนได้[60] แต่ทุกวันนี้ภาษาไทยมีความสำคัญมาก ชาวกัมพูชาไม่ว่าไทยหรือเขมรนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในไทยเพื่อประโยชน์ด้านภาษา หลายคนต้องไปเรียนร่วมชั้นเรียนกับนักเรียนไทยรุ่นน้อง เมื่อใช้ภาษาไทยได้คล่องแคล่วแล้วก็จะลาออกกลางคันกลับไปทำงานที่กัมพูชา[61]

ศาสนา

ชาวเขมรรับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากสยาม หลังอิทธิพลของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายานเสื่อมลงไป[62] ในระยะหลังมีกลุ่มพระภิกษุสงฆ์จากสยามเข้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธ และจำพรรษาในกัมพูชา ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[37] นับเป็นกลไกทางอิทธิพลจากราชสำนักสยามที่เรียกว่าการทำให้เป็นสยาม (Siamization)[35] และในรัชสมัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ซึ่งเป็นพระราชโอรสบุญธรรมของพระมหากษัตริย์สยาม ทรงมองว่า การปฏิรูปศาสนาพุทธในสยามถือเป็นความก้าวหน้าและพัฒนาเชิงกายภาพของพระศาสนา นับว่าเป็นภาวะทันสมัย (Modernization) ที่ทรงปรารถนาให้เกิดขึ้นในกัมพูชา[38] แต่การเข้ามาของธรรมยุติกนิกายเผยแผ่แก่ชาวเขมร ทำให้คณะสงฆ์เขมรแตกออกเป็นสองกลุ่ม คือ คณะมหานิกาย และธรรมยุต เช่นเดียวกับสยาม คณะมหานิกายกลับมีบทบาทโดดเด่นกว่า ส่วนคณะธรรมยุตก็มีบทบาทในการต่อต้านฝรั่งเศสร่วมกับชาวเขมร[63] แต่คณะธรรมยุตก็ไม่ได้นำความทันสมัยสู่สังคมเขมร อย่างที่เคยเกิดขึ้นในสยาม[64]

ขณะชาวไทยในเกาะกงหรือในขณะนั้นคือเมืองปัจจันตคิรีเขตรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเช่นกัน แต่ก็มีอิทธิพลจากศาสนาชาวบ้านหรือเคยมีความเชื่อแปลก ๆ ด้วย เพราะช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนักบวชอลัชชีเชื้อสายญวนคนหนึ่ง ชื่อ องค์โด้ มาตั้งสำนักอยู่ริมแม่น้ำเกาะปอ (ปัจจุบันคือบ้านเสาธง จังหวัดเกาะกง) ซึ่งอ้างต้วว่ามีวิชาอาคม และประกอบพิธีกรรมแปลก ๆ เช่น เปลือยกายและแสดงตนว่าเป็นพระยาควายทรพี คลานสี่เท้า ไปดมก้น และขี่หลังแม่ชีสาว ๆ ในสำนักที่เปลือยกายเช่นกัน ภายหลังรัฐบาลสยามได้ส่งทหารไปจับตัวลูกศิษย์องค์โด้ แต่องค์โด้หลบหนีหายไป ลัทธิประหลาดนี้ก็สาบสูญไปด้วย หลงเหลือเพียงภูมินามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวองค์โด้ในจังหวัดเกาะกง[65] ทุกวันนี้ชาวไทยในจังหวัดเกาะกงยังคงสวดมนต์ด้วยบาลีสำเนียงไทยและภาษาไทยอย่างเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ในรัฐบาลนโรดม สีหนุ เคยบังคับให้พระภิกษุไทยสวดมนต์ด้วยสำเนียงเขมรและใช้ภาษาเขมร สร้างความอึดอัดใจแก่ชาวไทยเกาะกงมาก[1] นอกจากนี้พวกเขาให้ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติ และยังบูชาเจ้าแม่ทับทิมตามคติจีน เพราะพวกเขามีเชื้อสายจีนมาประสม[1]

นอกจากกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธแล้ว ยังมีกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ในกัมพูชาอีกจำนวนหนึ่ง เดิมชาวไทยเข้ารีตกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเขตแดนของเวียดนาม แต่ถูกกองทัพเขมรเกณฑ์มาไว้ในฝั่งกัมพูชา ต่อมามองซิเออร์ ปีแยร์ ลังเกอนัว ได้พาคนเข้ารีตจำนวน 450 คน และทาสชาวเขมรเข้ารีตอีก 100 คน เข้ามายังกรุงเทพมหานครในช่วง พ.ศ. 2328–2329 เหลือคนไทยเข้ารีตตกค้างอยู่ในเมืองเขมรอีก 270 คน[29]

นาฏกรรม

เนียงเซดาและกรงเรียบ ถ่ายที่พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล พนมเปญ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

อาณาจักรอยุธยาตอนต้นได้รับอิทธิพลการแสดงประเภทคำพากย์จากเขมรสมัยพระนครและหลังพระนคร[66] สังเกตได้จากรูปลักษณ์และการแต่งกายของโขน ซึ่งใกล้เคียงกับรูปแกะสลักในปราสาทขอมโบราณ[67] แต่เมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาตอนปลาย วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงพัฒนาการด้านการแต่งกายของตนเอง[68][28] เพราะการแสดงประเภทละคร ได้แก่ ละครนอก และละครใน กลายเป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของราชสำนักอยุธยา ซึ่งมีได้แต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ก่อนตกทอดสู่ราชสำนักยุครัตนโกสินทร์ ความนิยมต่อละครในราชสำนักรัตนโกสินทร์คงจะส่งอิทธิพลต่อเจ้านาย และเชื้อพระวงศ์เขมรที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์สยามในยุคนั้นไม่น้อย[66]

ในยุครัตนโกสินทร์ มีคณะละครไทยไปจัดการแสดงที่กัมพูชา ในรัชสมัยสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีได้ครูละครผู้ชายจากกรุงเทพฯ ไปเป็นละครนอก[27] ต่อมามีคณะละครผู้หญิงชาวสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปเมืองเขมรช่วงที่รบกับญวน และได้กลายเป็นครูละครหญิงของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[27] ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงหานางละครสยามจากกรุงเทพฯ ไปชุบเลี้ยง โดยมากได้นางละครจากเจ้านายวังหน้าไปเป็นครูละครในเมืองเขมรหลายคน[69] ได้แก่ ครูละครคณะเจ้าคุณจอมมารดาเอม ละครพระองค์เจ้าดวงประภา และละครพระองค์เจ้าสิงหนาท มาฝึกหัดในราชสำนักเขมร[70] การแสดงในช่วงนั้นนิยมแสดงเป็นภาษาไทยเพียงอย่างเดียว[27] ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ทรงนำคณะละครนอกและละครในมาเล่นประสมโรง และเล่นเป็นภาษาไทยและเขมร[27] ฮิเดโอะ ซาซางาวะ จากสถาบันวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยโซเฟีย ระบุว่าการแสดงละโคนโขลของกัมพูชา รับอิทธิพลการแสดงโขนของไทยเป็นต้นแบบ[71][72]

ตัวละครชาวสยามมีชื่อเสียงหลายคน บางคนเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกากษัตริย์กัมพูชา เช่น หม่อมเหลียง และนักนางมะปรางหวาน ในสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร นักนางมะเฟือง และนักหนูน้ำ ในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์[30] และแพน เรืองนนท์ ในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์[31] นอกจากนี้ สตรีสยามบางคนที่มีความสามารถด้านการแสดงเป็นทุนเดิม ได้เป็นนักแสดงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น แม่เมือน[73] เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนกัมพูชาราว พ.ศ. 2467 ทรงพบหญิงไทยจากกรุงเทพฯ ที่เข้าไปรับราชการเป็นครูละครหรือเจ้าพนักงานในราชสำนักกัมพูชามาเข้าเฝ้า บางคนออกจากไทยมาทำงานในกัมพูชานานกว่าสี่สิบปี[74]

ด้วยความที่ศิลปะการแสดงมีอิทธิพลจากสยามอย่างสูง พระนางกุสุมะ นารีรัตน์ สิรีวัฒนา ทรงอุปถัมภ์คณะละครหลวงในราชสำนักเขมร[75] พระนางกุสุมะพยายามสร้างอัตลักษณ์ทางนาฏศิลป์เขมรคือระบำอัปสรา โดยมีการดัดแปลงชุดตามอย่างภาพเทวดาและอัปสรในนครวัด เพื่อปลดเปลื้องอิทธิพลนาฏศิลป์ไทยออก[76] สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี เจ้านายฝ่ายใน และนางละครกัมพูชา ทรงสัมภาษณ์กับ Khmer Dance Project ไว้ว่า "...ตั้งแต่ยุคนักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดม และกษัตริย์สีสุวัตถิ์ อิทธิพลจากไทยมีสูงมาก เพราะเราขาดแคลนครู ครูจากไทยเดินทางมาถึงราชสำนักเขมร บางทีครูเขมรก็ไปที่ราชสำนักไทย นี่เป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างราชสำนักไทยและราชสำนักเขมร..." และทรงตรัสอีกว่า "...มันคือการผสมผสานที่แท้จริง..."[77] กระนั้นท่ารำ และเพลงในระบำอัปสรา ก็ยังเป็นโครงสร้างท่ารำแบบไทย ไม่ได้นำมาจากภาพจำหลักในปราสาทขอม ที่นางอัปสรจะแอ่นตัวสูง วงสูง หรือยกขาสูง แต่กลับมีการจีบ วง เหลี่ยมเท้า และกระดกเท้าแบบรำไทย เพลงที่ใช้ก็มีลักษณะเดียวกับเพลงไทย คือ เพลงสมอ เพลงสีนวล เพลงจีนหน้าเรือ และเพลงเชิด[78] อย่างไรก็ตามการแต่งกายของนางละครเขมรยังเห็นอิทธิพลของสยามให้เห็นอยู่ จากการศึกษาของสุรัตน์ จงดา (2564) พบว่า การแต่งกายของนาฏศิลป์เขมรในปัจจุบัน รับอิทธิพลจากละครวังหน้าของสยาม ได้แก่ มงกุฎสตรีที่มีกระบังหน้า และเกี้ยวยอดแบบหุ่นวังหน้า เจียระบาดของตัวยักษ์แบบหุ่นวังหน้า รวมทั้งการทัดอุบะแบบวังหน้า ยังคงได้รับการสืบทอดอยู่ในนาฏศิลป์เขมรจนถึงปัจจุบัน[79]

ด้วยวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันระหว่างสองชาติ คือ ไทยและกัมพูชา มักถูกใช้เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมกัมพูชา สร้างความเกลียดชังแก่ไทย ด้วยกล่าวหาว่าคนไทยเป็นชาติขี้ขโมย ผู้ฉกฉวยวัฒนธรรมกัมพูชา โดยเฉพาะเมื่อกัมพูชามีการหาเสียงเลือกตั้ง กระแสนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อย ๆ[77]

วรรณกรรม

หลังการรับครูละคร และตัวละครชาวสยามเข้าไปในราชสำนักเขมร ในยุคแรกเริ่มนั้นจะใช้บทละครที่ได้รับมาจากราชสำนักรัตนโกสินทร์ที่มีภาษาไทยเป็นหลัก ก่อนแปลเป็นบทละครภาษาเขมรในชั้นหลัง เพื่อใช้ในการแสดงละครในโดยเฉพาะ โดยเฉพาะเรื่อง รามเกียรติ์ และ อิเหนา[80] ศานติ ภักดีคำ ราชบัณฑิต ระบุว่า เมื่อนำ เรียมเกรติ์ ภาค 2 ซึ่งเป็นรามายณะฉบับเขมร มาเปรียบเทียบกับรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบว่า เรียมเกรติ์ ภาค 2 ของกัมพูชา มีเนื้อหาคล้ายกับรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรงกันแบบบทต่อบท จนกล่าวได้ว่า เรียมเกรติ์ของเขมร เป็นการแปลรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ไปเป็นภาษาเขมรอย่างชัดเจน[81] สาวรส เพา (2525) อ้างว่า เรียมเกรติ์ ภาค 2 ได้รับอิทธิพลมาจากอุตตรกาณฑ์ในมหากาพย์ รามายณะ ที่แต่งโดยฤๅษีวาลมีกิ ส่วนศานติ ภักดีคำ อธิบายว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าเขมรสมัยหลังพระนครไม่น่าจะได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสันสกฤตโดยตรงอีก แต่อาจจะได้รับผ่านแหล่งอื่นมากกว่า เพราะเรียมเกรติ์ของกัมพูชานั้น ญุก แถม นักวรรณคดีชาวเขมร สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ จนถึงสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[82] ส่วน อิเหนาคำเขมร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ อิเหนา ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบว่า มีเนื้อความตรงกันทุกบท และตรงกันบทต่อบท แม้จะมีคำที่ใช้ต่างกันอยู่บ้าง[83]

นอกจากนี้ยังมีการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาเขมรอีก โดยเฉพาะผลงานของสุนทรภู่ ได้แก่ พระอภัยมณี ไม่ปรากฏผู้แปล ลักษณวงศ์ แปลโดยออกญาปราชญาธิบดี (แยม) และ จันทโครพ แปลโดยสอาต[84] สุนทรภู่เองก็ได้รับความนิยมในเขมรมาก พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงตั้งราชทินนามแก่ขุนนางชื่อมุก ซึ่งชำนาญด้านวรรณกรรมว่า ออกญาสันธรโวหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สันธรมุก แบบเดียวกับ สุนทรภู่[85] นอกจากนี้งานประพันธ์ของสุนทรภู่ยังส่งอิทธิพลการใช้สัมผัสนอก สัมผัสใน เพื่อเพิ่มความไพเราะอันเป็นคุณสมบัติเด่นของสุนทรภู่ลงในการแต่งคำประพันธ์เขมร ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวรรณกรรมเขมร[86]

ส่วนวรรณกรรมไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาเขมรอีกเรื่องคือ สุภาษิตสอนหญิง แปลโดยออกญาสุตตันตปรีชา (อินท์) เพราะมีเนื้อหาคล้ายกันหลายประการ[87] และ กากีคำกลอน แปลโดยสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี แต่ลาง หาบอาน นักวิชาการชาวกัมพูชาอ้างว่าพระองค์ไม่ได้คัดลอกเนื้อหามาทั้งหมด รวมถึงวรรณกรรมที่แปลจากไทยเรื่องอื่น ๆ ด้วย[88]

ชาวไทยในเกาะกงมีวรรณกรรมของตนเอง คือ พลเมืองเกาะกง ประพันธ์แบบร่าย และอีกเรื่องคือ ปัจจันตนคโรปมคาถา เป็นพระธรรมเทศนา ทั้งสองเรื่องเป็นการสร้างจิตสำนึกแก่ชาวไทยเกาะกงที่แปรสถานภาพเป็นประชากรของอีกประเทศหนึ่ง และเตือนตนให้รู้สำนึกถึงความเป็นคนไทยผ่านวรรณกรรมทางศาสนาพุทธ[1]

สถาปัตยกรรม

วัดด็อมเร็ยซอ หรือวัดช้างเผือก เมืองพระตะบอง

สถาปัตยกรรมไทยส่งอิทธิพลต่อการสร้างศาสนสถานของชาวเขมร ซึ่งได้มาจากการรับอิทธิพลจากราชสำนักสยามโดยตรง กับการรับผ่านพระภิกษุสงฆ์ที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในกัมพูชา โดยรับรสนิยมการก่อสร้างแบบสยามเข้ามา ดังจะพบสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากสยามปรากฏในเห็นอยู่ดาษดื่น[37] และเกิดการผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมโดยหยิบยืมจากลักษณะนิยมของสถาปัตยกรรมสยาม กับศิลปกรรมสกุลช่างท้องถิ่น จากพลวัตทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม[89] ดังกรณี วัดด็อมเร็ยซอ (หรือวัดช้างเผือก) จังหวัดพระตะบอง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร[90] และจำหลักภาพรามเกียรติ์ด้วยศิลานูนต่ำแบบเดียวกันกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร[91] ภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดบูร์ จังหวัดเสียมราฐ ที่นอกจากจะมีการเขียนอักษรไทยกำกับภาพหลายแห่งแล้ว ยังได้สอดแทรกตราแผ่นดินสยาม และเครื่องแต่งกายแบบสยามไว้อย่างครบถ้วน[55] โดยการแทรกตราแผ่นดินสยาม เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ชาวเขมรอยู่ภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์สยาม[92] นอกจากนี้สถาปัตยกรรมไทยยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล และวัดพระแก้วมรกต ในกรุงพนมเปญ[93][94][95] โดยเฉพาะจิตรกรรมเรื่องเรียมเกรติ์ที่พระระเบียงวัดพระแก้วมรกต ซึ่งถอดแบบมาจากภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์จากพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร[96]

เศรษฐกิจ

สื่อบันเทิง

ไทยมีการลงทุนด้านสื่อบันเทิงในประเทศกัมพูชาจำนวนมาก ตั้งแต่ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ และเพลง โดยกัมพูชาได้นำสื่อบันเทิงของไทยไปเผยแพร่ ทำซ้ำ และดัดแปลง ทั้งถูกลิขสิทธิ์และละเมิดลิขสิทธิ์[97] โดยชาวเขมรจะนิยมละครโทรทัศน์แบบย้อนยุคมียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่นิยมละครที่แย่งชิงสามีภรรยา หรือละครจักร ๆ วงศ์ ๆ แบบไทย[98] กรณีที่มีชื่อเสียงที่สุดคือละครโทรทัศน์เรื่อง ดาวพระศุกร์ (2537) มีสุวนันท์ คงยิ่ง เป็นนักแสดงนำ ซึ่งชาวเขมรชื่นชอบมาก ทว่าเวลาต่อมามีหนังสือพิมพ์กัมพูชารายหนึ่ง รายงานข่าวว่าสุวนันท์พูดว่า "กัมพูชาขโมยหรือช่วงชิงปราสาทหินนครวัดไปจากประเทศไทย และเธอปฏิเสธที่จะเดินทางไปเยือนกัมพูชา จนกว่ากัมพูชาจะมอบนครวัดคืนให้ประเทศไทย" จากนั้น ฮุน เซนมีคำสั่งให้ระงับการฉายละคร ลูกไม้ไกลต้น (2543) ซึ่งสุวนันท์แสดงนำทันที โดยกล่าวว่า "นางเอกสาวชาวไทยอย่าได้สำคัญตนผิดไป เพราะเธอไม่มีค่าเท่ากับต้นหญ้าที่ขึ้นอยู่รอบนครวัดด้วยซ้ำ" พร้อมทั้งตำหนิชาวเขมรที่แขวนรูปนักแสดงไทยแทนที่จะแขวนพระฉายาลักษณ์กษัตริย์กัมพูชา[99] ความไม่พอใจยิ่งทวีขึ้นจนก่อให้เกิดเหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546 มีการเผาทำลายสถานทูตไทยในพนมเปญ รวมทั้งปล้นชิงทรัพย์สินของชาวไทยในกัมพูชา[97][99] และปัจจุบันนี้ละครโทรทัศน์ไทยถูกจำกัดไม่ให้ฉายในช่องหลัก ตามคำสั่งของรัฐบาลกัมพูชา[100]

ชาวไทยเกาะกงที่มีชื่อเสียง

สมเด็จพิชัยเสนา (เตีย บัญ) ทหารและนักการเมืองกัมพูชาเชื้อสายไทยจากเกาะกง
  • กอย ลวน หรือ ล้วน อัมพร – ผู้ว่าราชการจังหวัดกำปอต ปี พ.ศ. 2522
  • พลเอก แกว ตำ หรือ แก้ว ต่ำ – จเรทหาร
  • จา เรียง หรือ จำเรียง ศิริวงษ์ – อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา
  • พลตรี เตีย เซ็ยฮา – ผู้ว่าราชการจังหวัดเสียมราฐ
  • พลเอก เตีย บัญ หรือ สังวาลย์ หินกลิ้ง – รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[101] และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเสียมราฐ สังกัดพรรคประชาชนกัมพูชา[102]
  • พลเรือเอก เตีย วิญ – ผู้บัญชาการกองทัพเรือกัมพูชา
  • พลตำรวจเอก ทอง จ้อน หรือ จ้อน อินทสุวรรณ – รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  • บุน เลิต หรือ บุญเลิศ พราหมณ์เกษร – อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง
  • พลเอก พร นารา – เจ้ากรมทหารสื่อสาร
  • ไพฑูรย์ พราหมณ์เกษร – รองผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง
  • มิถุนา ภู่ทอง – ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง
  • ยุทธ ภู่ทอง – อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดไพรแวง และเกาะกง
  • รุ่ง พราหมณ์เกษร – อดีตสมาชิกสภาแห่งชาติ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง
  • ลี ยงพัด หรือ พัด สุภาภา – นักธุรกิจชาวไทยเกาะกง[103]
  • ใส่ ภู่ทอง – อดีตสมาชิกกรรมการกลาง และกรมการเมืองพรรคประชาชนปฏิวัติ, รองประธานสภาแห่งรัฐ (เทียบเท่าประมุขแห่งรัฐในขณะนั้นคือเฮง สัมริน)

หมายเหตุ

หมายเหตุ ก เป็นจำนวนผู้มีเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกงเท่านั้น มิได้นับรวมบุคคลผู้มีเชื้อสายไทยในภูมิภาคอื่น เช่น พนมเปญ พระตะบอง และบันทายมีชัย ที่มีชุมชนไทยอาศัยอยู่[57]

อ้างอิง

เชิงอรรถ
บรรณานุกรม
  • จิตร ภูมิศักดิ์ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556. 440 หน้า. ISBN 978-974-9747-21-6.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยานิราศนครวัด. พระนคร : บรรณาคาร, 2515. 244 หน้า.
  • เติม สิงหัษฐิต. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง. พระนคร : คลังวิทยา, 2490. 618 หน้า.
  • ธิบดี บัวคำศรี. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. 188 หน้า. ISBN 978-974-7727-58-6.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2551. 208 หน้า. ISBN 978-974-05-7842-0.
  • ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 360 หน้า. ISBN 978-974-02-1728-2.
  • ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 224 หน้า. ISBN 978-974-02-1147-1.
  • ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2511. 348 หน้า. .


🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง