ไทยเชื้อสายจีน

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนในประเทศไทย

ชาวไทยเชื้อสายจีน คือ ชาวจีนที่เกิดในประเทศไทยและเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือชาวจีนโพ้นทะเล คนไทยเชื้อสายจีน มีประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย คิดเป็น 11–14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ณ ปี 2563[2][1][3] ประเทศไทยมีชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลใหญ่สุดในโลกที่อยู่นอกประเทศจีน[4] ธีระพันธ์อ้างว่ามีประชากรไทยที่มีเชื้อสายจีนประมาณร้อยละ 40[1]

ชาวไทยเชื้อสายจีน
華裔泰國人
วัดมังกรกมลาวาส กรุงเทพมหานคร
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย
ภาษา
ภาษาไทย
ดั้งเดิม: ภาษาหมิ่น (แต้จิ๋ว, ไหหลำ, ฮกเกี้ยน, ฮกจิว), ภาษาแคะ, ภาษากวางตุ้ง และ ภาษาจีน (ฮ่อ)
ศาสนา
ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท;
ส่วนน้อยนับถือ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน , ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื๊อศาสนาอิสลาม (ชาวหุย) และศาสนาคริสต์

ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนมากบรรพบุรษจะมาจากซัวเถา ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน พูดภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นภาษากลุ่มหมิ่นหนาน รองลงมาคือมาจาก แคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ

ไทยเชื้อสายจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนชั้นกลางที่ก่อตั้งขึ้นอย่างมั่นคงและมีตัวแทนอยู่ในทุกระดับของสังคมไทย[5][6][7]:3, 43[8][9] มีบทบาทนำในภาคธุรกิจของประเทศและครอบงำเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน[10]:22[7]:179[11][12] นอกจากนี้ ไทยเชื้อสายจีนมีอยู่ในเวทีการเมืองของประเทศจำนวนมาก และอดีตนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ล้วนมีบรรพบุรุษจีนอย่างน้อยหนึ่งคน นอกจากนี้ยังจัดเป็นกลุ่มอภิชนทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง[13][14]

อัตลักษณ์

สำหรับผู้สืบสันดานของผู้เข้าเมืองชาวจีนรุ่นที่สองและสาม เป็นทางเลือกส่วนบุคคลว่าจะระบุตัวเองว่าเป็นชาติพันธุ์จีนหรือไม่[15] กระนั้น ไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ระบุว่าตนเป็นคนไทยอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากได้บูรณาการใกล้ชิดและผสมกลืนเข้าสู่สังคมไทยได้สำเร็จ[16][17] จี. วิลเลียม สกินเนอร์เชื่อว่าที่การผสมกลมกลืนสำเร็จนั้นเป็นนโยบายของผู้ปกครองไทยที่ยอมให้วาณิชชาวจีนรับราชการเป็นขุนนาง[18]:240–1 ปัจจุบันไทยเชื้อสายจีนยังมีบทบาทสำคัญในขบวนการนิยมเจ้า/ชาตินิยม เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย,[19] และไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานครที่เป็นกลุ่มหลักของ กปปส.[20]

ปัจจุบันไทยเชื้อสายจีนจะพูดภาษาไทยผสมภาษาหมิ่นใต้ในการติดต่อกันเอง โดยเฉพาะชาวแต้จิ๋วที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนมาก และก็จะใช้ภาษาไทยติดต่อกับสังคมภายนอกได้ดีขึ้น แต่ลูกหลานจีนในปัจจุบันมีน้อยมากที่ยังพูดภาษาของบรรพบุรุษได้ เนื่องจากอยู่กับสังคมภายนอกและที่บ้านเองก็พูดภาษาหมิ่นใต้กับตนน้อยลง ยังคงเหลือแต่ผู้อาวุโสในครอบครัวเท่านั้นที่ยังพูดภาษาเหล่านี้กับลูกหลาน[ต้องการอ้างอิง] ปัจจุบันประเพณีและค่านิยมบางอย่างที่ยังคงปฏิบัติตาม ครอบครัวลูกหลานจีนก็ยังยึดถือปฏิบัติอยู่ เช่น การไหว้เจ้าในโอกาสต่างๆ ซึ่งถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคเหนือเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนกลุ่มเดียวที่ใช้ภาษาจีน พบได้ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธกับคริสต์และมีบางส่วนนับถืออิสลาม

มีหนังสือพิมพ์ภาษาหมิ่นใต้ในประเทศไทยอยู่ 6 ฉบับ ส่วนมากผู้อ่านจะเป็นผู้ที่อพยพมา ผู้เฒ่าผู้แก่ ลูกหลานคนจีน และ ผู้ที่เรียนภาษาจีนจะอ่าน

มีโรงเรียนจีนหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น โรงเรียนเผยอิงซึ่งตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือ โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงในจังหวัดเชียงใหม่[21] และ โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกของไทย[22]

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นแรกที่เข้ามาในไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน และศาสนาเต๋า ครั้นในเวลาต่อมาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้กลายเป็นหนึ่งในศาสนาบนความเชื่อคนชนเชื้อสายจีนในไทยจากการจากการหลอมรวมทางวัฒนธรรม โดยมากชาวไทยเชื้อสายจีนจะประกอบพิธีกรรมดั้งเดิมแบบความเชื่อของจีนและเถรวาทไทยไปด้วยกัน[23] งานเทศกาลของจีนที่สำคัญอย่าง ตรุษจีน, วันไหว้พระจันทร์ หรือวันเชงเม้ง ก็ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และหัวเมืองอื่น ๆ ที่มีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ตั้งอยู่[24]

อย่างไรก็ตามชาวไทยเชื้อสายจีนจึงไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้าตามประเพณี และเข้าวัดไทยเหมือนชาวไทยทั่วไป ส่วนเรื่องงานศพ ชาวไทยเชื้อสายจีนยึดถือแบบจีนดั้งเดิม เช่น การทำกงเต๊กและฝังศพน้อยลงเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และนิยมการเผาศพแบบไทยมากขึ้น

ขณะเดียวกันมีชาวจีนฮ่อบางส่วนในภาคเหนือที่นับถือศาสนาอิสลามตามบรรพบุรุษอยู่แล้ว พวกเขามีการรวมกลุ่มที่หนาแน่นกว่าชาวจีนฮ่อที่ไม่ใช่มุสลิม ในจังหวัดเชียงใหม่มีมัสยิดของชาวจีนมากถึงเจ็ดแห่ง[25] หนึ่งในมัสยิดที่สำคัญของจีนฮ่อคือมัสยิดบ้านฮ่อ นอกจากชาวจีนฮ่อแล้วก็มีชาวจีนกลุ่มอื่นที่นับถือศาสนาอิสลาม อาทิ ชาวไทยเชื้อสายจีนบ้านกรือเซะในจังหวัดปัตตานี ซึ่งใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร[26][27] โดยมุสลิมเชื้อสายจีนที่บ้านกรือเซะนั้น บางส่วนนับถือเจ้าแม่ลิ้มกอเนียวด้วย บ้างก็ขอพรบ้างก็บนบาน เมื่อมีงานมงคลก็ต้องมีการเซ่นสรวงเจ้าแม่ด้วยเชื่อว่าหากไม่กระทำเช่นนั้นก็จะเกิดเภทภัย ในวันฮารีรายอก็จะมีการเซ่นสรวงเจ้าแม่ และเมื่อพิธีแห่เจ้าแม่เดือนสาม ชาวมุสลิมเชื้อสายจีนก็จะไปชมขบวนเพื่อระลึกถึงท่าน[28]

วัฒนธรรมชาวจีนโพ้นทะเลในไทยนั้นจะต่างกับชาวจีนโพ้นทะเลในสิงคโปร์และมาเลเซียบางส่วน ซึ่งจะหันไปนับถือศาสนาคริสต์ และพูดภาษาจีนกลาง ชาวไทยเชื้อสายจีนบางส่วนกลับไม่ยึดติดกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนมากนักและนิยมวัฒธรรมที่กลมกลืนไปกับคนไทย

กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน

ประเทศไทยมีประชากรคนไทยเชื้อสายจีนประมาณ 8 ล้านคน ส่วนมากจะเป็นเชื้อสายแต้จิ๋วประมาณร้อยละ 56 รองลงมา ได้แก่ แคะ ร้อยละ 16, ไหหลำ ร้อยละ 11, กวางตุ้ง ร้อยละ 7, ฮกเกี้ยน ร้อยละ 7, และอื่น ๆ ร้อยละ 12

แต้จิ๋ว

แต้จิ๋ว (潮州 ; Teochew ; ภาษาจีนกลาง: Cháozhōu) เป็นกลุ่มชาวจีนที่มากที่สุด กล่าวกันว่า" ที่ไหนมีศาลเจ้า (老爺宮) ที่นั่นจะพบคนจีน เพื่อพบปะกันและเป็นที่พึ่งทางใจเมื่อยามห่างไกลแผ่นดินเกิด ชาวจีนจะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามพื้นที่รอบ ๆ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลองและตามภาคกลาง ได้มาที่แผ่นดินสยาม (暹羅) ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยมาจาก มณฑลฝูเจี้ยน (福建省) และ มณฑลกวางตุ้ง (廣東省) ส่วนมากจะทำการค้าทางด้าน การเงิน ร้านขายข้าว และ ยา มีบางส่วนที่ทำงานให้กับภาครัฐ ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (鄭皇, แต้อ้วง พระองค์แซ่แต้) พ่อค้าจีนแต้จิ๋วจำนวนมากได้รับสิทธิพิเศษ ชาวจีนกลุ่มนี้จึงเรียกว่า จีนหลวง (Royal Chinese) สาเหตุเนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อสายแต้จิ๋วเช่นกัน ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์การอพยพของชาวแต้จิ๋วจึงมีมากขึ้น และในประเทศไทยเองก็มีคนแต้จิ๋วเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันจะมีมากในทุกภาคของประเทศไทยแต่ที่มีชาวแต้จิ๋วมากที่สุดคือกรุงเทพฯ

ภาคกลางตอนล่าง เช่น นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตอนบน เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย

ภาคตะวันออก เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี (เมืองเก่าของพระเจ้าตากสินมหาราช) ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี (ชาวแต้จิ๋วมาเริ่มตั้งต้นถิ่นฐานที่นี่มากที่สุดเพราะเป็นพื้นที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเป็นป่าแต่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำเพื่อเพาะปลูกและที่ปลูกมากที่สุดคือ "ต้นไผ่" เพราะไผ่ขายเพื่อทำเรือแพออกไปค้าขายได้ แล้วกระจายไปในจังหวัดใกล้เคียงในเวลาต่อมา ในรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวแต้จิ๋วข้ามาอาศัยแผ่นดินสยามมากที่สุด)

ภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน (ส่วนพะเยาจะมีจีนแคะจำนวนมาก)

ส่วนในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นชาวแต้จิ๋วในทุกจังหวัดเช่น นครราชสีมา (โคราช) ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ส่วนพื้นที่ริมโขงเช่น หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร จะปะปนไปด้วยชาวแต้จิ๋ว แคะ และเวียดนาม (ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า)

ส่วนทางภาคใต้จะกระจายในฝั่งอ่าวไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งพระองค์ยกทัพทางเรือไปปราบกบฎที่ภาคใต้ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช (ต้นกำเนิดราชสกุล ณ นคร) พัทลุง (ต้นกำเนิดราชสกุล ณ พัทลุง) ทุกจังหวัดเช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในฝั่งอันดามันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นจีนฮกเกี้ยนหรือฝูเจี้ยน (福建) ซึ่งดั้งเดิมเดินทางมาจากมลายูแล้วมาขึ้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น ภูเก็ต พังงา สตูล ตรัง ระนอง และนอกจากนั้นเป็นจีนแคะ (客人) เป็นต้น

แคะ

แคะ (客家; Hakka; ภาษาจีนกลาง: kèjiā) เป็นกลุ่มชาวจีนอพยพที่มาจากมณฑลกวางตุ้ง เป็นส่วนมาก จะอพยพมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 และตั้งถิ่นฐานทีแถบจังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ส่วนมากจะชำนาญทางด้านหนังสัตว์ เหมือง และเกษตรกรรม นอกจากนี้ ชาวจีนแคะยังเป็นเจ้าของธนาคารอีกหลายแห่ง อาทิ ธนาคารกสิกรไทย

ไหหลำ

ไหหลำ (海南 ; ภาษาจีนกลาง: Hǎinán) เป็นชาวจีนที่อพยพมาจากเกาะไหหลำของจีน ชาวไหหลำจะมีเป็นจำนวนมากที่เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังปรากฏได้เห็นจากศาลเจ้าจีนหลายแห่งบนเกาะสมุย และ เกาะพะงัน มีหลักฐานการอพยพตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวจีนสามารถกลมกลืนกับชาวไทยได้ดี โดยส่วนมากมาจากตำบลบุ่นเชียว ชาวจีนกลุ่มนี้จะชำนาญทางด้านร้านอาหาร และโรงงาน และยังมีการอพยพไปอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ เช่น ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และขึ้นเหนือไปทำป่าไม้สักที่จังหวัดลำปาง

ฮกเกี้ยน

ฮกเกี้ยน (福建; Hokkien; ภาษาจีนกลาง: Fújiàn) คาดกันว่าชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพมาประเทศไทยเป็นชนเผ่าจีนกลุ่มแรก ๆ จีนฮกเกี้ยนเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนจีนกลุ่มอื่นและเป็นชนเผ่าจีนอาสาช่วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกอบกู้เอกราชด้วย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ท่านถือกำเนิดในชุมชนจีนฮกเกี้ยนบริเวณวัดสุวรรณดาราราม ฝั่งตะวันออกของคลองนายก่าย กรุงศรีอยุธยา มารดาของท่านชื่อดาวเรืองหรือหยก เป็นธิดาที่เกิดในสกุลคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยน ฮกเกี้ยนจะเชี่ยวชาญทางด้านการค้าขายทางเรือหรือรับราชการ และชาวจีนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต มีจำนวนมากในพังงา ตรัง ระนอง สตูล ชุมพร สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดทั่ว ๆ ไป

กวางตุ้ง

กวางตุ้ง (จีนตัวเต็ม : 廣東話; จีนตัวย่อ : 广东话; พินอิน : GuangDōngHuà; จีนกวางตุ้ง : 粵語;) เป็นกลุ่มชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง ชาวจีนกวางตุ้งมักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครแถว ถนนสาทร บางรัก ในตรอกซุง ตรอกไก่ การประกอบอาชีพด้านอาหารถือเป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่งของชาวจีนกวางตุ้ง ส่วนมากเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารและภัตตาคาร ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวกรุงเทพฯ เช่น อาหารประเภท ติ่มซำ โจ๊กบะหมี่กวางตุ้ง และยังเป็นผู้นำเครื่องปรุงต่างๆ เข้ามาให้คนไทยรู้จัก เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว และซอสหอยนางรม ส่วนชาวจีนกวางตุ้งที่อพยพมายังภาคใต้ของไทย มักอาศัยอยู่ในจังหวัดตรัง จนทำให้เกิดอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดตรังมากมาย เช่น หมูย่างเมืองตรัง เกาหยุก และติ่มซำแบบตรัง ที่มีเอกลักษณ์คือกินกับซอสที่เรียกว่า กำเจือง และชาวจีนกลุ่มนี้ยังพบมากในจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

กวางสี

กวางไสหรือกวางสี (จีน: 廣西 ; ภาษากวางตุ้ง: gwong2-sai1) เป็นกลุ่มชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางสี ส่วนใหญ่มาจากอำเภอหยง (容縣) และแถบอำเภอใกล้เคียง ช่วงแรกอพยพมาอยู่แถบประเทศมาเลเซียก่อนแล้วค่อย ๆ เดินเท้าอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย อาศัยอยู่มากในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พูดภาษาจีนกวางตุ้ง (ภาษาจีน:粵語) สำเนียง Gōulòu (ภาษาจีน:勾漏方言) เป็นภาษาหลัก ชาวจีนกวางไสเป็นเกษตรกร ทำสวนยางพารากันเป็นส่วนมาก ไม่สันทัดเรื่องการค้าขาย จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก

แต่ยังมีของที่พอเป็นที่รู้จัก ก็คือ ไก่กวางไสหรือไก่เบตง เป็นไก่พันธุ์เนื้อพื้นเมืองที่นำพันธุ์มาจากประเทศจีน มีลักษณะพิเศษกว่าไก่ชนิดอื่น ๆ ,เคาหยก (扣肉) หมูสามชั้นต้มสุก ทอดส่วนที่เป็นหนังและนำไปหมักด้วยเต้าหู้ยี้ เหล้าจีน น้ำขิง กระเทียมเล็กน้อย แล้วนำมานึ่งเผือก กินคู่กับผักดอง

ฮ่อ

ฮ่อ เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางประเทศพม่าและประเทศลาว ชาวจีนฮ่อส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางภาคเหนือทั้งในเมืองและบนภูเขา หนึ่งในกลุ่มชนที่สำคัญคือชาวจีนหุย (回族 ; ภาษาจีนกลาง: Huízú) ซึ่งเป็นชาวจีนที่มีลักษณะเหมือนชาวจีนฮั่นทุกอย่างเพียงแต่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวฮ่อในประเทศไทย 1 ใน 3 นับถือศาสนาอิสลาม นอกนั้นนับถือบรรพบุรุษ คนกลุ่มนี้มีมากในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน

เปอรานากัน

เปอรานากัน (มลายู: Peranakan) หรือ บาบ๋า-ย่าหยา (Baba-Nyonya; จีน: 峇峇娘惹; ฮกเกี้ยน: Bā-bā Niû-liá) เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีเชื้อสายมลายูแต่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากในอดีตชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มฮกเกี้ยนเดินทางเข้ามาค้าขายในบริเวณดินแดนคาบสมุทรมลายู และตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสมรสกับชาวมลายูท้องถิ่น[29] และภรรยาชาวมลายูจะเป็นผู้ดูแลกิจการการค้าที่นี่

สำหรับสายเลือดใหม่ของชายชาวจีนกับหญิงมลายู หากเป็นชายจะได้รับการเรียกขานว่า บาบ๋าหรือบ้าบ๋า (Baba) ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า ย่าหยาหรือโญญา (Nyonya) และเมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมของบรรพบุรุษมาผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมใหม่ เมื่อพวกเขาอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ก็ได้นำวัฒนธรรมของตนกระจายไปด้วย วัฒนธรรมใหม่นี้จึงถูกเรียกรวม ๆ ว่า จีนช่องแคบ (อังกฤษ: Straits Chinese; จีน: 土生華人) โดยในประเทศไทยคนกลุ่มนี้จะอยู่ในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดตรัง และจังหวัดพังงา ซึ่งมีบรรพบุรุษอพยพมาจากปีนังและมะละกา คนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มเปอรานากันในประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสิงคโปร์[30][31][32]

พื้นที่

จังหวัดภูเก็ต

ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทยมาตั้งแต่ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ เพราะเกาะน้อยห้าร้อยตารางกิโลเมตรแห่งนี้มีการทำเหมืองเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งพัฒนาการการทำเหมืองหาบในช่วงเวลาดังกล่าวต้องใช้แรงงานกุลีจีนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการอพยพของชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามายังภูเก็ต จนเกิดการผสมทางวัฒนธรรมเรียกว่า ภูเก็ตฮกเกี้ยน หรือ บาบ๋าภูเก็ต

ประวัติ

ประวัติศาสตร์ของการที่ชาวจีนอพยพมาประเทศไทย ต้องย้อนกลับไปหลายร้อยปี

สมัยสุโขทัย

ชาวจีนเริ่มเดินเรือสำเภามาค้าขายในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่ก่อนสมัยอาณาจักรสุโขทัย แต่หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อชาวจีนมาสอนการทำเครื่องถ้วยชาม โดยเฉพาะเครื่องสังคโลก

สมัยอยุธยา

ชาวจีนได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่มาก โดยส่วนมากจะมาจากตอนใต้ของประเทศจีน เพื่อมาตั้งรกรากและทำการค้า

สมัยธนบุรี

เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 จนถึงปี พ.ศ. 2312 จักรวรรดิจีนได้ถูกรุกรานโดยพม่าที่กำลังขยายแสนยานุภาพ จักรพรรดิจีนในสมัยนั้นได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามพม่าถึง 4 ครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ฝ่ายจีนก็ได้เบนความสนใจมาที่กองทัพพม่าในอาณาจักรอยุธยา ซึ่งกำลังถูกพม่ายึดครอง ขุนพลไทยนาม "สิน" ซึ่งมีบิดาเป็นคนจีน และมารดานาม นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวสยาม ได้ใช้สถานการณ์ที่ได้เปรียบนี้ทำให้สามารถกอบกู้เอกราชให้สยามได้สำเร็จ ขุนพลท่านนั้นต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แห่งกรุงธนบุรี หรือที่ชาวจีนขนามนามว่า แต้อ๊วง ด้วยความที่ว่าบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นคนจีน

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ชาวจีนแต้จิ๋วได้เข้ามาทำการค้า และอพยพมายังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากรชาวจีนโพ้นทะเลในไทย เพิ่มขึ้นจาก 230,000 คนใน พ.ศ. 2368 เป็น 792,000 คนใน พ.ศ. 2453 และใน พ.ศ. 2475 ประชากรไทยถึง 12.2% เป็นชาวจีนโพ้นทะเล

สมัยรัตนโกสินทร์

การอพยพของชาวจีนยุคแรก ส่วนมากเป็นผู้ชาย เมื่อเข้ามาตั้งรกรากแล้วก็จะแต่งงานกับผู้หญิงไทย และกลายเป็นค่านิยมในสมัยนั้น ลูกหลานจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาตินี้เรียกว่า "ลูกจีน" แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กระแสการอพยพเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงจีนอพยพเข้ามาในสยามมากขึ้น จึงทำให้การแต่งงานข้ามเชื้อชาติลดลง

การคอรัปชั่น ในรัฐบาลราชวงศ์ชิง และการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศจีน ประกอบกับการเก็บภาษีที่เอาเปรียบ ทำให้ชายชาวจีนจำนวนมากมุ่งสู่สยามเพื่อหางานและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในประเทศจีน ขณะนั้นชาวจีนจำนวนมากต้องจำยอมขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีเพาะปลูกของทางการ

ในรัชสมัยปลายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ประเทศไทยต้องระวังผลกระทบจากการที่ฝรั่งเศสได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และอังกฤษได้มลายูเป็นอาณานิคม ในขณะเดียวกัน ชาวจีนจากมณฑลยูนนานก็เริ่มไหลเข้าสู่ประเทศไทย กลุ่มชาวไทยชาตินิยมจากทุกระดับจึงได้เกิดความคิดต่อต้านชาวจีนขึ้น หลายร้อยปีก่อนหน้านี้ ชาวจีนกุมเศรษฐกิจการค้าส่วนใหญ่ไว้ และยังได้รับอำนาจผูกขาดการค้าและรวมถึงการเป็นนายอากรเก็บภาษีซึ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย ในขณะนั้นอิทธิพลทางการค้าของชาติตะวันตกก็สูงขึ้น ทำให้พ่อค้าขาวจีนหันไปขายฝิ่นและเป็นนายอากรมากขึ้น นอกจากนี้ เจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวคนกลางชาวจีนยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสยามในปีซึ่งกินเวลาเกือบ 10 ปี หลังปี พ.ศ. 2448 ด้วย

การให้สินบนขุนนาง กลุ่มอันธพาลอั้งยี่ และการเก็บภาษีอย่างกดขี่ ทั้งหมดนี้จุดประกายให้คนไทยเกลียดชังคนจีนมากขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการอพยพเข้าประเทศไทยก็มากขึ้น ในพ.ศ. 2453 เกือบร้อยละ 10 ของประชากรไทยเป็นชาวจีน ซึ่งผู้อพยพใหม่เหล่านี้มากันทั้งครอบครัวและปฏิเสธที่จะอยู่ในชุมชนและสังคมเดียวกับคนไทย ซึ่งต่างกับผู้อพยพยุคแรกที่มักแต่งงานกับคนไทย ดร.ซุน ยัตเซ็น ผู้นำการปฏิวัติประเทศจีน ได้เผยแพร่ความคิดให้ชาวจีนในประเทศไทยมีความคิดชาตินิยมจีนให้มากขึ้นเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ชุมชนชาวจีนจะสนับสนุนการตั้งโรงเรียนเพื่อลูกหลานจีนโดยเฉพาะโดยไม่เรียนรวมกับเด็กไทย ในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงให้ชาวต่างชาติในประเทศไทยจดทะเบียนเป็นคนต่างด้าว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเลือกว่าจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์หรือจะยอมเป็นคนต่างด้าว

ชาวไทยเชื้อสายจีนจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารซึ่งเริ่มในประมาณพ.ศ. 2475 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกาศอาชีพสงวนของคนไทยเท่านั้น เช่น การปลูกข้าว ยาสูบ อีกทั้งประกาศอัตราภาษีและกฎการควบคุมธุรกิจของชาวจีนใหม่ด้วย ซึ่งในช่วงนี้รัฐบาลได้มีนโยบายรัฐนิยม ทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้รับผลกระทบอย่างมากในเรื่องของการดูถูกและเหยียดเชื้อชาติ เช่น การไม่ส่งเสริมให้พูดภาษาจีน อันเป็นภาษาต่างด้าว ในที่สาธารณะ ทำให้ก่อนและหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน มีการทะเลาะวิวาทแบบยกพวกเข้าตีกันหลายต่อหลายครั้งระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีน หรือคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเยาวราช ซึ่งเรียกกันว่า "เลี๊ยะพ่ะ" ซึ่งความขัดแย้งอันนี้ได้ลุกลามบานปลายจนจะกลายเป็นปัญหาเชื้อชาติ แต่ได้ยุติลงเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ได้เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนราษฎรที่เยาวราช ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนเสด็จสวรรคตไม่นาน [33] [34]

และหลังจากที่จอมพล ป. หวนสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2491 ทางรัฐบาลจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนได้จับตาดูทีท่าของจอมพล ป. แต่ในรัฐบาลชุดหลังนี้ ได้มีการสานสัมพันธ์กับทางการจีนอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการส่งผู้แทนของรัฐบาลดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนอย่างลับ ๆ[35]

ในขณะที่มีการปลุกระดมชาตินิยมจีนและไทยขึ้นพร้อมกัน ในปี พ.ศ. 2513 ลูกหลานจีนที่เกิดในไทยมากกว่าร้อยละ 90 ถือสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ และเมื่อมีการเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการแล้วในปี พ.ศ. 2518 ชาวจีนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ก็มีสิทธิที่จะเลือกที่จะถือสัญชาติไทยได้ แต่หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไม่นาน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ก็มีนโยบายในแบบอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นผลมาจากความหวาดกลัวในการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ชาวไทยเชื้อสายจีนได้รับการเหยียดหยามอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2522 นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎหมายให้ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เกิดในประเทศไทย จะมีสิทธิเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อได้ไปลงทะเบียนก่อนและต้องมีการศึกษาขั้นต่ำมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) ซึ่งต่อมากฎหมายฉบับนี้ก็ได้รับการยกเลิกในที่สุด[36]

การครอบงำเศรษฐกิจ

ประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเศรษฐกิจแบบเกษตรที่มีรัฐวิสาหกิจแซมอยู่ ชาวจีนเป็นแรงกระตุ้นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจการค้าแบบเน้นการส่งออกทั่วโลก[37]:261 แม้มีนโยบายเน้นการยืนยันสิทธิประโยชน์ของทางการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเพื่อส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของไทยพื้นเมือง อีกหลายทศวรรษต่อมา นโยบายแบบเน้นสากลและเน้นตลาดทุนนิยมทำให้เกิดภาคการผลิตขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจแบบลูกเสือ[7]:35 บริษัทการผลิตและนำเข้า-ส่งอออกเกือบทั้งหมดมีชาวจีนควบคุมอยู่[7]:35[38] และถึงแม้มีจำนวนน้อย แต่ชาวจีนควบคุมแทบทุกสายธุรกิจ ตั้งแต่การค้าปลีกขนาดเล็กจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ครอบงำการส่งออกข้าว ดีบุก ยางและไม้ และการค้าส่งและปลีกเกือบทั้งหมดของประเทศ[39] ร้อยละ 70 ของร้านค้าปลีกและร้อยละ 80–90 ของโรงสีข้าวในประเทศยังถูกชาติพันธุ์จีนควบคุม[7]:179[40]:55 การสำรวจกลุ่มธุรกิจที่ทรงอำนาจมากที่สุดของไทยจำนวน 70 กลุ่ม พบว่า 67 กลุ่มมีไทยเชื้อสายจีนเป็นเจ้าของ[7]

สมาคมกงสีไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานครมีความโดดเด่นขึ้นทั่วกรุง โดยกงสีเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินรายใหญ่[41]:193 ชาวจีนควบคุมกว่าร้อยละ 80 ของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[42][43] ที่ดินที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ทั้งหมดในภาคกลางของประเทศมีไทยเชื้อสายจีนเป็นเจ้าของ[7]:182 ตระกูลชาติพันธุ์จีนห้าสิบตระกูลควบคุมภาคธุรกิจทั้งหมดของประเทศเทียบเท่ากับมูค่าตลาดรวมร้อยละ 81–90 ของเศรษฐกิจ[44][45][46]:10[47][48][11]:15 บุคคลรวยที่สุดกว่าร้อยละ 80 ของบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศ 40 คนเป็นไทยเชื้อสายจีน[49] ผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีนมีอิทธิพลในอสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม การธนาคารและการเงิน และอตุสาหกรรมค้าส่ง[41]:193[50] ในคริสต์ทศวรรษ 1990 บริษัทใหญ่สุดในประเทศ 9 ใน 10 บริษัทมีชาวจีนเป็นผู้ควบคุม และในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เศรษฐีพันล้านห้าคนในประเทศ ทั้งหมดเป็นไทยเชื้อสายจีน[51][10]:22[52]

เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ชาติพันธุ์จีนเป็นเจ้าของธุรกิจและผู้จัดการธุรกิจอาวุโสร้อยละ 70 ของกรุงเทพมหานคร และกล่าวกันว่าหุ้นในบริษัทไทยร้อยละ 90 มีไทยเชื้อสายจีนเป็นเจ้าของ[6][53][41] นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของทุนอุตสาหกรรมและพาณิย์ร้อยละ 90 ของประเทศ[54]:73 บริษัทครอบครัวพบมากในภาคธุรกิจไทย[55] ชาติพันธุ์จีนควบคุมภาคการผลิตร้อยละ 90 และภาคบริการอย่างน้อยร้อยละ 50 ของประเทศ[56][11]:33[54][56] Henry Yeung นักวิชาการชาวสิงคโปร์ ระบุว่าในปี 2537 ในบรรดาบริษัทมหาชนใหญ่สุดในทวีปเอเชีย 500 บริษัทที่ชาวจีนโพ้นทะเลควบคุม พบว่ามี 39 บริษัทอยู่ในประเทศไทย โดยมีมูลค่าตลาด 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินทรัพย์รวม 94,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[55] ธนาคารเอกชนใหญ่สุดในประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีมีชาติพันธุ์จีนเป็นเจ้าของ[51][11][41]:193[10]:22[57][58][41] ธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายไผ่[59]

หลังการปฏิรูปเชิงโครงสร้างหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ช่วยแก้ไขการผูกขาดของอภิชนธุรกิจชาติพันธุ์จีน[60] แต่ถึงกระนั้น ยังมีประมาณว่าไทยเชื้อสายจีนเป็นเจ้าของสินทรัพย์การธนาคารร้อยละ 65 การค้าในประเทศร้อยละ 60 และการลงทุนท้องถิ่นในภาคพาณิชย์ร้อยละ 90 การลงทุนในท้องถิ่นในภาคการผลิตร้อยละ 90 และการลงทุนท้องถิ่นในภาคการธนาคารและบริการการเงินทั้งหมดร้อยละ 50[56][61][62]

คริสต์ศตวรรษที่ 21

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ไทยเชื้อสายจีนครอบงำการพาณิชย์ของไทยในทุกระดับ[63][7]:127, 179 การมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของกลุ่มมีบทบาทสำคัญในการรักษาชีวิตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ[40]:47-48 และจัดเป็นอภิชนของไทย[7]:179 นโยบายการพัฒนาของรัฐบาลไทยเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับชาติพันธุ์จีน ชุมชนธุรกิจไทย-จีนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ครอบงำประเทศ โดยควบคุมภาคธุรกิจสำคัญทั่วประเทศ ภาคธุรกิจไทยสมัยใหม่ต้องอาศัยผู้ประกอบการและนักลงทุนเชื้อสายจีนที่ควบคุมธนาคารและกลุ่มบริษัทใหญ่แทบทั้งหมดของประเทศ[41]:193[54]:72 และการสนับสนุนภาคธุรกิจได้รับการส่งเสริมจากนักการเมืองที่มีเชื้อสายจีน[38][57][7]:179 และเกิดเป็นชนชั้นทางสังคมที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ[7]:179-183[38][64][65][66][37]:261

ธุรกิจไทย-จีนเป็นนักลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่รายใหญ่สุดในบรรดาชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก[7] ไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากส่งบุตรหลานไปยังโรงเรียนสอนภาษาจีน เดินทางเยือน ลงทุนในประเทศจีน รวมทั้งใช้แซ่จีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่สุดในจีน[7]:41, 179[40]:55[67]

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ นักประวัติศาสตร์ ระบุว่า อภิชนไทยรั้งอำนาจได้โดยการใช้ยุทธศาสตร์สองส่วน ประกอบด้วยการรักษาฐานทางเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนของอภิชนธุรกิจไทย-จีน และการถือข้างมหาอำนาจของโลกในขณะนั้น[68]

บุคคลที่มีชื่อเสียง

พระมหากษัตริย์

นายกรัฐมนตรี

นักธุรกิจ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

อ่านเพิ่ม

  • Chansiri, Disaphol (2008). "The Chinese Émigrés of Thailand in the Twentieth Century". Cambria Press. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  • Chantavanich, Supang (1997). Leo Suryadinata (บ.ก.). From Siamese-Chinese to Chinese-Thai: Political Conditions and Identity Shifts among the Chinese in Thailand. Ethnic Chinese as Southeast Asians. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies. pp. 232–259.
  • Tong Chee Kiong; Chan Kwok Bun (eds.) (2001). Alternate Identities: The Chinese of Contemporary Thailand. Times Academic Press. ISBN 981-210-142-X. {{cite book}}: |author2= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  • Skinner, G. William. Leadership and Power in the Chinese Community in Thailand. Ithaca (Cornell University Press), 1958.
  • Sng, Jeffery; Bisalputra, Pimpraphai (2015). A History of the Thai-Chinese. Editions Didier Millet. ISBN 978-981-4385-77-0.
  • Wongsurawat, Wasana (October 2019). The Crown and the Capitalists; The Ethnic Chinese and the Founding of the Thai Nation. Critical Dialogues in Southeast Asian Studies (Paper ed.). Seattle: University of Washington Press. ISBN 9780295746241. สืบค้นเมื่อ 30 April 2020.
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง