การประท้วงในฮ่องกง พ.ศ. 2562–2563

การประท้วงต่อต้านร่างรัฐบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกง พ.ศ. 2562–2563 เป็นการเดินขบวนประท้วงในฮ่องกงและนครอื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อเรียกร้องให้มีการถอดถอน "ร่างรัฐบัญญัติกฎหมายผู้หนีคดีและความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) ค.ศ. 2019" (อังกฤษ: Fugitive Offenders and Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Legislation (Amendment) Bill 2019) ที่รัฐบาลฮ่องกงเสนอ เพราะเกรงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ฮ่องกงตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากกฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่ และจะทำให้ชาวฮ่องกงตกอยู่ใต้ระบบกฎหมายอื่นที่นอกเหนือไปจากของตน

การประท้วงในฮ่องกง พ.ศ. 2562–2563
ส่วนหนึ่งของ การพัฒนาประชาธิปไตยในฮ่องกง, ความขัดแย้งระหว่างฮ่องกง–จีนแผ่นดินใหญ่ และขบวนการประชาธิปไตยในประเทศจีน
ฉากการประท้วงหลายแห่งในฮ่องกง ตามเข็มนาฬิกาจากบน: ผู้ประท้วงในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562• การจุดไฟบนสิ่งกีดขวางบนถนนชั่วคราวในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2562 • กลุ่มผู้ประท้วงบนถนนในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562 • กลุ่มผู้ประท้วงแสดงความไว้อาลัยในการเสียชีวิตของ Chow Tsz-lok • ตำรวจใช้แก็สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 • ฮ่องกงเวย์แคมเปญในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2562 • ผู้ประท้วงในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562
วันที่15 มีนาคม พ.ศ. 2562[1]
  • การประท้วงเรื่มลดลงในช่วงต้น พ.ศ. 2563 เนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19[2][3][4]
  • รัฐบาลฮ่องกงประกาศว่าไม่มีการการประท้วงบนถนนส่วนใหญ่นับตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงมีผลใช้ในช่วงกลาง พ.ศ. 2563[5]
สถานที่ฮ่องกง
เมืองอื่น ๆ ทั่วโลก
สาเหตุ
เป้าหมายข้อเรียกร้อง 5 ประการ
  • ให้ถอนร่างรัฐบัญญัติทั้งหมด
  • ให้รัฐบาลเลิกระบุว่าการประท้วงในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เป็น "จลาจล"
  • ให้ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับและให้พ้นผิด
  • ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจ
  • ให้แคร์รี หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ลาออกและประชาชนมีสิทธิทั่วกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้บริหารสูงสุด
วิธีการหลายแบบ (ดู § ยุทธวิธี)
ผลการปราบปรามของรัฐบาล
  • ดำเนินการตามกฎหมายห้ามสวมหน้ากากและเรียกร้องให้ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562[11]
  • คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563
  • ถอดถอนผู้สมัครสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่สนับสนุนประชาธิปไตย 12 คนในการเลือกตั้งประจำปี 2563 ที่ถูกเลื่อน
  • การจับกุมผู้ประท้วงและฝ่ายนิติบัญญัติที่สนับสนุนประชาธิปไตยคนสำคัญ
  • มีการบังคับใช้คำสั่งของฝ่ายบริหารที่ 13936 ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563
  • สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเยอรมนียกเลิกสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง
  • ไต้หวันเรียกคืนรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปและคนอื่น ๆ จากฮ่องกง
  • ฮ่องกงตั้งประกาศจับผู้ประท้วงที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ 6 คน รวมถึงนาทาน หล่อ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างจีน–สหรัฐและจีน–สหราชอาณาจักรแย่ลง
  • การคว่ำบาตรและการลงโทษครั้งที่สองต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน
การยอมผ่อนปรน
  • หยุดร่างรัฐบัญญัติในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และถอดถอนอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562[12][13]
  • ตำรวจถอนการถือว่าการประท้วงในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เป็นการก่อจลาจลบางส่วน ยกเว้น 5 คน[14]
คู่ขัดแย้ง
ผู้ประท้วง:
(ไม่มีผู้นำเป็นศูนย์กลาง)
  • ค่านหนุนประชาธิปไตย
    • แนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมือง (CHRF)
  • กลุ่มท้องถิ่นนิยม
  • กลุ่มสนับสนุนเอกราช
  • สหภาพนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสาธารณะ
    • Hong Kong Higher Institutions International Affairs Delegation (HKIAD)
  • สหภาพแรงงานจากหลายที่
    • Hospital Authority Employees Alliance
  • Citizens Press Conference
  • Hong Kong Civil Assembly Team (HKCAT)
  • Spark Alliance
  • 612 Humanitarian Relief Fund
  • Protect the Children
  • กลุ่มศาสนาบางส่วน
เจ้าหน้าที่:
  • ฮ่องกง
  • รัฐบาล
  • ค่ายสนับสนุนปักกิ่ง
    • พันธมิตรพิทักษ์ฮ่องกง
    • พรรค Politihk Social Strategic[15]
    • แคมเปญปกป้องฮ่องกง

สนับสนุนโดย:
เสียชีวิต, บาดเจ็บ และถูกจับกุม
เสียชีวิต2
บาดเจ็บ
  • มากกว่า 2,600 คน (ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562)[24][a]
ถูกจับกุม10,250 คน (ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564)[26][b]
ถูกตั้งข้อหา2,500 คน (ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564)[26]

ประชาคมทางกฎหมายและประชาชนทั่วไปเริ่มประท้วงหลายรูปแบบในฮ่องกง ซึ่งรวมถึงการประท้วงครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ของแนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมือง (Civil Human Rights Front) ที่มีผู้มาสมทบถึง 1.03 ล้านคนตามการประเมินของแนวร่วมเอง และได้รับการนำเสนออย่างมากในสื่อมวลชน[29] ต่อมา ชาวฮ่องกงโพ้นทะเลและผู้คนในท้องถิ่นอื่นก็พากันประท้วงในพื้นที่ของตน

แม้มีการเดินขบวนอย่างกว้างขวาง รัฐบาลฮ่องกงยืนยันจะผ่านร่างกฎหมายนี้ให้ได้ โดยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้อย่างเร่งด่วน จะได้อุด "ช่องว่าง" ในกฎหมาย[30] เดิมกำหนดจะพิจารณาวาระที่สองในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 แต่เลื่อนออกไปก่อนเพราะการประท้วง[31] การประชุมที่กำหนดจะจัดในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ก็เลื่อนเช่นกัน[32]

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562 แคร์รี หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงแถลงว่า ได้ให้เลื่อนพิจารณาร่างกฎหมายนี้อย่างไม่มีกำหนด[33] แต่เน้นย้ำว่า เป็นเพียงเลื่อน ไม่ใช่ถอน[34] ทำให้มีผู้ฆ่าตัวตายประท้วงที่ลานไท่กู่ (Pacific Place) ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา[35] ครั้นวันรุ่งขึ้น มีการเดินขบวนใหญ่อีกครั้งเพื่อกดดันให้ถอนร่างกฎหมายและให้ผู้บริหารฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง[36][37]

การประท้วงดำเนินตลอดมาทั้งฤดูร้อน และมักทวีเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจ, ผู้ปฏิบัติการเชิงรุก, กลุ่มอั้งยี่ (triad) ที่หนุนจีนแผ่นดินใหญ่, และชาวบ้านในกว่า 20 ท้องที่ทั่วทั้งภูมิภาค[38] เมื่อการชุมนุมคืบหน้าไปนั้น นอกจากผู้ชุมนุมจะเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเรื่องที่ตำรวจใช้ความรุนแรง เรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมที่จับตัวไป และเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกถือว่าการประท้วงเป็นการก่อจลาจล เป็นต้นแล้ว[39] ผู้ชุมนุมยังเรียกร้องเพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้บริหารและคณะผู้บริหารได้โดยตรง ซึ่งเคยเป็นชนวนการประท้วงเมื่อ พ.ศ. 2557[40]

หลั่มชะลอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในวันที่ 15 มิถุนายน แต่ยังไม่ยอมให้สัญญาว่าจะถอนร่างฯ จนวันที่ 4 กันยายน[41] อย่างไรก็ดี เธอยังปฏิเสธยอมรับข้อเรียกร้องอีกสี่ข้อที่เหลือ กล่าวคือ ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนความรุนแรงของตำรวจ การปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม การเลิกระบุการประท้วงของทางการว่าเป็น "การจลาจล" และให้เธอลาออกจากตำแหน่งและให้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปสำหรับสภานิติบัญญัติและผู้บริหารสูงสุด[42]

วันที่ 1 ตุลาคม มีการเดินขบวนขนานใหญ่ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้ประท้วงนักศึกษาอายุ 18 ปีถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนจริง ผู้บริหารสูงสุดในสภาใช้ข้อบังคับระเบียบฉุกเฉินในวันที่ 4 ตุลาคมเพื่อใช้กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก[43]

ภูมิหลัง

ใน พ.ศ. 2530 กลุ่มพิเศษว่าด้วยกฎหมาย ในคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง (Special Group on Law of the Hong Kong Basic Law Consultative Committee) เสนอให้ใช้หลักดินแดน (territorial principle) ระงับข้อพิพาททางเขตอำนาจของฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อที่ใครก็ตามที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะอาศัยในฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ จะต้องถูกดำเนินคดี ณ ที่เกิดเหตุ[44] ต่อมาใน พ.ศ. 2541 หลี่ จู้หมิง (Martin Lee) นักกฎหมายสายประชาธิปไตยซึ่งอยู่ในกลุ่มพิเศษดังกล่าว แถลงในที่ประชุมสภานิติบัญญัติว่า รัฐบาลฮ่องกงควรตั้งมั่นในหลักดินแดน และต้องเริ่มจัดให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนโดยไม่ชักช้า[45]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 รัฐบาลฮ่องกงเสนอ "ร่างรัฐบัญญัติกฎหมายผู้หนีคดีและความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) ค.ศ. 2019" เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม "รัฐกำหนดผู้หนีคดี" (Fugitive Offenders Ordinance: Cap. 503) ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดให้มีการมอบตัวเป็นกรณีพิเศษ (special surrender arrangements) และแก้ไขเพิ่มเติม "รัฐกำหนดความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา" (Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Ordinance: Cap. 525) เพื่อที่ฮ่องกงจะสามารถจัดให้มีความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายกับสถานที่ใด ๆ ภายนอกฮ่องกง[46] การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ฮ่องกงสามารถขอให้ไต้หวันมอบตัวชายผู้ต้องสงสัยฆ่าคนในไต้หวัน แต่กลไกที่ร่างขึ้นมิใช่เพื่อกรณีไต้หวันเท่านั้น ยังสามารถใช้แก่จีนแผ่นดินใหญ่และมาเก๊าได้ด้วยซึ่งเป็นกรณีที่ยังไม่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายปัจจุบัน[47]

วัตถุประสงค์

เดิมทีผู้ประท้วงเรียกร้องให้ถอนร่างรัฐบัญญัติอย่างเดียว แต่เมื่อตำรวจเพิ่มกลวิธีตอบโต้ผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และมีประกาศเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ว่า เลื่อนพิจารณาร่างรัฐบัญญัติไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว วัตถุประสงค์ของผู้ประท้วงก็กลายเป็นการบรรลุข้อเรียกร้องห้าประการดังต่อไปนี้[48]

ข้อเรียกร้องเหตุผล
ถอนร่างรัฐบัญญัติออกจากกระบวนการนิติบัญญัติไปโดยสิ้นเชิงแม้มีประกาศว่าเลื่อนพิจารณาไม่มีกำหนด แต่จะกลับมาพิจารณาเมื่อใดก็ได้ และปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอน "รอจัดวาระสองใหม่" นอกจากนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติบางคน เช่น เจี่ยง ลี่-ยฺหวิน (Ann Chiang) ก็ระบุว่า เมื่อการประท้วงยุติแล้ว จะกลับมาดำเนินกระบวนการนิติบัญญัติใหม่
เลิกถือว่าการประท้วงเป็นการก่อจลาจลเดิมรัฐบาลใช้คำว่า "จลาจล" เรียกการประท้วงเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ภายหลัง แก้เป็นว่า มีผู้ประท้วงบางคนที่ก่อจลาจล แต่ผู้ประท้วงก็คัดค้านว่า ไม่เคยมีใครก่อจลาจลในวันนั้น
ปล่อยและเลิกเอาผิดผู้ประท้วงที่จับตัวไปผู้ประท้วงเห็นว่า การจับตัวผู้ประท้วงนั้นมีแรงจูงใจทางการเมือง โดยตั้งคำถามว่า การที่ตำรวจบุกเข้าโรงพยาบาลไปจับผู้ประท้วง โดยอาศัยข้อมูลลับทางการแพทย์ในการติดตามตัว ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ตั้งกรรมการอิสระมาสอบสวนการกระทำและการใช้กำลังของตำรวจในระหว่างการประท้วงกลุ่มพลเมืองเห็นว่า ไม่มีเหตุสมควรที่ตำรวจจะต้องใช้กำลังถึงขั้นที่ใช้ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะกับผู้ประท้วงที่ไม่ได้กระทำอะไรผิดเลย นอกจากนี้ มองว่า การที่ตำรวจสกัดและค้นตัวผู้สัญจรไปมาใกล้ที่ประท้วงโดยไม่มีเหตุควรสงสัยอันใดนั้น เป็นการใช้อำนาจมิชอบ[49] อนึ่ง ยังมองว่า การที่เจ้าหน้าที่บางยังไม่แสดงบัตรประจำตัวหรือเอกสารอนุญาต แม้มีระเบียบตำรวจให้ต้องทำเช่นนั้น ก็เป็นการฝ่าฝืนความรับผิดชอบ[50] ส่วนที่เรียกร้องให้ตั้งกรรมการอิสระ เพราะเห็นว่า กรรมการที่มีอยู่ไม่เป็นอิสระ หากแต่ทำงานตามที่ตำรวจประสาน
ให้แคร์รี หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ลาออก และให้ประชาชนมีสิทธิโดยทั่วกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้บริหารสูงสุด[51]ปัจจุบัน ผู้บริหารสูงสุดมาจากการสรรหาของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีกรรมการ 1,200 คน ส่วนสมาชิกสภานิติบัญญัติ 30 คนนั้นมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางกลุ่มที่เป็นตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ในวงการเศรษฐกิจเท่านั้น

ลำดับเหตุการณ์

การประท้วงในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562

แนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมืองจัดประท้วงครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยเริ่มเดินจากถนนหลูยา (Luard Road) ตรงสนามเด็กเล่นซิวตุ้น (Southorn Playground) ไปจบที่จัตุรัสพลเมือง (Civic Square) ผู้ประท้วงร้องว่า "ฮ่องกงจะกลายเป็นคุกมืดเพราะส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน" (with extradition to the mainland, Hong Kong becomes a dark prison) และ "หยุดกฎหมายชั่ว" (stop the evil law)

หลิน หรงจี (Lam Wing-kee) เจ้าของร้านหนังสือถงหลัววาน (Causeway Bay Books) ที่หายตัวไปใน พ.ศ. 2558 พร้อมกับเพื่อน ปรากฏว่า มาร่วมจัดประท้วงครั้งนี้พร้อมกับผู้สนับสนุนนิยมประชาธิปไตยคนอื่น ๆ ด้วย แต่หลังจากนั้นก็ออกจากฮ่องกง เพราะเกรงตนเองไม่ปลอดภัย[52]

แนวร่วมระบุว่า มีคนกว่า 12,000 คนมาร่วมเดินขบวน แต่ตำรวจฮ่องกงประเมินว่า มีเพียง 5,200 คน แนวร่วมระบุด้วยว่า จะประท้วงอีกถ้ารัฐบาลยังไม่ล้มเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้[53]

การประท้วงในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562 คนกว่า 130,000 คน (ตามที่ผู้จัดประท้วงระบุ ส่วนตำรวจประเมินว่า 22,800 คน) ร่วมเดินขบวนประท้วงร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง โดยเริ่มเดินจากร้านหนังสือถงหลัววานไปยังสภานิติบัญญัติเป็นระยะทาง 2.2 กิโลเมตร และกินเวลา 4 ชั่วโมง[54] เฉิน ฮ่าวหฺวัน (Figo Chan Ho-hang) รองผู้นำการประชุม (vice-convenor) ของแนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมือง กล่าวว่า จะยกระดับการประท้วงถ้ารัฐบาลยังไม่ถอนร่างกฎหมาย[54]

หนึ่งวันให้หลัง หลิน เจิ้ง เยฺว่เอ๋อ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แสดงความมั่นใจว่า ร่างกฎหมายนี้จะผ่านในที่สุด ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติต้องทำให้ได้ก่อนช่วงพักร้อน แม้ว่าชายผู้ต้องสงสัยฆ่าคนในไต้หวันจะถูกพิพากษาจำคุก 29 เดือนไปก่อนหน้าแล้ว ซึ่งทำให้ไม่มีเหตุผลรองรับความจำเป็นเร่งด่วนของร่างกฎหมายนี้อีกก็ตาม[55]

การประท้วงในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2562 มีการประท้วงชนิดที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง คือ นักกฎหมายชาวฮ่องกงกว่า 3,000 คน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสี่ของนักกฎหมายทั้งหมดในฮ่องกง พากันเดินขบวนต่อต้านร่างกฎหมายนี้ โดยสวมชุดดำ เดินจากศาลอุทธรณ์ไปยังศูนย์ราชการ แล้วหยุดยืนอยู่หน้าศูนย์ราชการ มองขึ้นไปข้างบน และยืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้สามนาที[56]

ผู้จัดการประท้วงครั้งนี้ คือ กัว หรงเคิง (Dennis Kwok) สมาชิกสภานิติบัญญัติแบบแบ่งเขต และนับเป็นครั้งที่ห้าที่นักกฎหมายประท้วงในฮ่องกง[57]

หลี่ เจียเชา (John Lee) เลขานุการฝ่ายความมั่นคง แสดงความเห็นว่า นักกฎหมายที่ประท้วงนั้นไม่เข้าใจร่างกฎหมายอย่างถ่องแท้[57]

การประท้วงในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การประท้วงเริ่มมีการจุดไฟเผาและปาระเบิดขวด มีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 46 รายที่ต้องนำส่งโรงพยาบาล[58]

ยุทธวิธีและวิธีการ

สถานีรถไฟใต้ดินใกล้กับสถานีตลาดไทโป หรือ "อุโมงค์เลนนอน"

การประท้วงในฮ่องกง พ.ศ. 2562 ส่วนใหญ่ได้รับอธิบายว่า "ไร้ผู้นำ"[59] ไม่มีกลุ่มหรือพรรคการเมืองใดอ้างว่าเป็นผู้นำขบวนการ ส่วนใหญ่รับบทบาทสนับสนุนมากกว่า เช่น ยื่นขอใช้สถานที่ (Letters of No Objection) จากตำรวจหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าพนักงานตำรวจ[60] ผู้ประท้วงโดยทั่วไปใช้ LIHKG ฟอรัมออนไลน์คล้ายกับเรดดิต และเทเลแกรม ซึ่งเป็นบริการส่งสารเข้ารหัสต้นจนจบคล้ายกับวอตส์แอพ เพื่อสื่อสารและระดมสมองหาความคิดสำหรับการประท้วงและตัดสินใจร่วมกัน[61]

ผู้ประท้วงใช้การนำความคิดไปปฏิบัติ (praxis) หลายอย่าง อย่างแรกคือ "เป็นน้ำ" ซึ่งถือกำเนิดจากปรัชญาของบรูซ ลี ผู้ประท้วงมักเคลื่อนที่เข้ามาแบบคล่องแคล่วว่องไวเพื่อให้ตำรวจรับมือได้ยากขึ้น[62] ผู้ประท้วงมักถอยออกไปเมื่อตำรวจมาถึง และจะไปปรากฏที่อื่น[63] ต่างจากการประท้วงครั้งก่อน ๆ การประท้วงในปี 2562 กระจายไปทั่วเกาะฮ่องกง เกาลูนและนิวเทอร์รีทอรีส์ทั้ง 20 ย่าน[64] นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังใช้วิธีกลุ่มดำ (black bloc) ซึ่งส่วนใหญ่สวมหน้ากากดำเพื่อปกปิดรูปพรรณของพวกตน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประท้วงยังใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อตอบโต้ตำรวจ โดยใช้ตัวชี้เลเซอร์เพื่อทำให้ตำรวจไขว้เขว พ่นสีใส่กล้องสอดแนม และกางร่มเพื่อพิทักษ์และปกปิดรูปพรรณของกลุ่ม[65]

มีผู้ประท้วงสองกลุ่มหลัก กล่าวคือ กลุ่ม "สันติ มีเหตุผลและปลอดความรุนแรง" (จีน: 和理非) และกลุ่ม "นักสู้" (จีน: 勇武)[66] "กลุ่มสันติ" เข้าร่วมการประกาศคำขวัญ และร้องเพลงอย่าง "เกียรติศักดิ์สู่ฮ่องกง" (Glory to Hong Kong) เป็นเพลงปลุกใจ บางส่วนอาสาเป็นพยาบาลสนาม[67] เริ่มการอดอาหารประท้วง[68] ก่อโซ่มนุษย์[57] เริ่มการรณรงค์คำร้องทุกข์[69] จัดระเบียบการนัดหยุดงานประท้วง ขัดขวางบริการขนส่งสาธารณะ[70] คว่ำบาตรร้านค้าและองค์การที่นิยมรัฐบาลจีน[71] สร้าสงงานดัดแปลงล้อเลียนตำรวจและรัฐบาล[72] และตั้งกำแพงเลนนอนในหลายเขตและย่านของฮ่องกง[73] อีกด้านหนึ่ง ผู้ประท้วงหัวรุนแรงมากกว่าเผชิญหน้ากับตำรวจ ปิดล้อมสถานีตำรวจ[74] ตั้งสิ่งกีดขวางถนน[75] บ้างก่อกวนโดยทำลายสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและร้านค้าที่นิยมรัฐบาลจีน[76][77] ทำลายสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของประเทศจีน[78] และลอบวางเพลิงโดยขว้างปาระเบิดน้ำมัน[79][80] ผู้ประท้วงบางส่วนยังขุดคุ้ยและรังควานไซเบอร์ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจและครอบครัวและอัปโหลดสารสนเทศส่วนบุคคลออนไลน์[81] กระนั้น แม้มีวิธีการต่างกัน แต่ทั้งสองกลุ่มมิได้ประณามหรือวิจารณ์กันและกัน หลักการคือ "ไม่แบ่งแยก" ซึ่งมุ่งสนับสนุนความเคารพความเห็นต่างของกันและกันในขบวนการประท้วงเดียวกัน[82]

เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงข้อเรียกร้อง ผู้ประท้วงบางส่วนยังระดมทุนเพื่อลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศรายใหญ่[83] และโบกธงชาติสหรัฐและยูเนียนแจ็กของบริเตนเป็นเครื่องหมายการสนับสนุนสหรัฐและสหราชอาณาจักรตามลำดับ ตลอดจนร้องเพลงชาติสหรัฐ[84] พวกเขายังจัดการแถลงข่าวเพื่อ "แพร่สัญญาณเสียงที่มีผู้แทนน้อย" และทัศนะของพวกตนต่อสาธารณะเพื่อตอบโต้การแถลงข่าวของตำรวจและรัฐบาล[85] ผู้ประท้วงยังพยายามแจ้งนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการประท้วงฮ่องกงโดยปักหลักชุมนุมที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง และใช้คุณลักษณะแอร์ดร็อปของเครื่องแอปเปิลเพื่อให้สารสนเทศต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อสาธารณะและนักท่องเที่ยวแผ่นดินใหญ่[86] มีการใช้กบเปเปอย่างกว้างขวางเป็นเครื่องหมายแห่งเสรีภาพและการขัดขืน[87] และการรณรงค์ #Eye4HK ซึ่งแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ประท้วงหญิงคนหนึ่งซึ่งมีรายงานว่าตาแตกเนื่องจากถูกตำรวจยิงกระสุนถั่วใส่ ทำให้ได้โมเมนตัมทั่วโลก[88]

การกล่าวหาความประพฤติมิชอบของตำรวจ

ภาพขณะยิงปืนฉีดน้ำ
ตำรวจฮ่องกงบุกสถานีพรินซ์เอ็ดเวิร์ดและทำร้ายพลเรือนในวันที่ 31 สิงหาคม 2562

ระหว่างการประท้วง ตำรวจฮ่องกงถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ สภาคำร้องทุกข์ตำรวจอิสระ (IPCC) เริ่มการสอบสวนความประพฤติมิชอบของตำรวจในการประท้วง[89] แม้ผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีคณะกรรมการสอบสวนที่เป็นอิสระแทน เพราะสมาชิก IPCC ส่วนใหญ่นิยมรัฐบาล[90] แคร์รี หลั่มปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้และอ้างว่าเธอจะไม่ "ทรยศ" ตำรวจ[89]

ตำรวจฮ่องกงถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วน เช่น ใช้กระสุนยางอย่างเป็นอันตรายโดยเล็งในแนวตั้ง โดยมีเป้าที่ศีรษะหรือลำตัวของผู้ประท้วง[91] การใช้กระสุนถุงถั่วมีรายงานว่าทำให้ตาของผู้ประท้วงหญิงคนหนึ่งแตก[92] และการใช้กระสุนลูกพริกไทยในสถานีไท่กู๋มีอธิบายว่าเป็น "การยิงแบบประหารชีวิต"[93] ตำรวจยืนยันว่าการใช้กระสุนลูกพริกไทยเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศและการบาดเจ็บของผู้ประท้วงหญิงมิได้เกิดจากตำรวจ การใช้แก๊สน้ำตาถูกวิจารณ์ว่าละเมิดแนวทางความปลอดภัยระหว่างประเทศ เพราะพบว่าตำรวจใช้เป็นอาวุธเพื่อโจมตี[94] ยิงเข้าไปในอาคาร[95] และใช้แก๊สน้ำตาหมดอายุซึ่งอาจปล่อยแก๊สพิษอย่างฟอสจีนและไซยาไนด์เมื่อสันดาป[96] การใช้ในพื้นที่อยู่อาศัยที่มีประชากรหนาแน่นยังทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากผู้ได้รับผลกระทบ[97] ผู้เห็นเหตุการณ์บางส่วนที่ติดอยู่ในการประท้วงถูกตำรวจทุบตีหรือเตะด้วย[98][99] และปฏิบัติการตำรวจหลายครั้ง ที่ STS ทำร้ายร่างกายผู้โดยสารบนรถไฟ ผู้ประท้วงและฝ่ายนิยมประชาธิปไตยมองว่าไม่คำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณะ[100][101] วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตำรวจยิงชายหนุ่มที่ถือท่อพีวีซีด้วยกระสุนจริงในระยะเกือบเผาขน[102] ผู้ประท้วงกล่าวหาตำรวจว่าพยายามฆ่าชายคนดังกล่าวเพราะยิงไปที่อกข้างซ้ายใกล้กับหัวใจ ฝ่ายตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยระบุว่าชีวิตของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวตกอยู่ในความเสี่ยง[103] ส่วนผู้ประท้วงเชื่อว่าการใช้กำลังของผู้ประท้วงไม่เป็นเหตุผลพอให้ต้องใช้กระสุนจริง[104]

การล้อมผู้ประท้วง[101] ปฏิบัติการในพื้นที่เอกชน[105] การวางกำลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ[106] การทำลายหลักฐานที่มีการตั้งข้อสงสัย[107][108] การปฏิเสธบริการปฐมพยาบาลแก่ผู้บาดเจ็บ[100] และวิธีการแสดงสัญญาณเตือนของตำรวจ[109] ล้วนเป็นที่ถกเถียงเช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่บางคนไม่สวมเครื่องแบบที่มีเลขระบุหรือไม่แสดงหมาย[110][111] ทำให้พลเมืองยื่นคำร้องทุกข์ได้ยาก ตำรวจยังถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ถูกจับแล้ว[112][113] และถูกวิจารณ์ว่าใช้ผู้ถูกจับคนหนึ่งเป็นโล่มนุษย์ด้วย[114] องค์การนิรโทษกรรมสากลแถลงว่าตำรวจใช้ "กำลังแก้แค้น" ต่อผู้ประท้วงและทำรุณและทรมานผู้ถูกกักขังบางส่วน[115][116] นอกจากนี้ ยังถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้ประท้วงหญิง[117] ผู้ถูกกักขังบางส่วนรายงานว่าตำรวจปฏิเสธไม่ให้ติดต่อทนายความด้วย[118]

มีการกล่าวหาตำรวจว่าแทรกแซงเสรีภาพสื่อและทำให้นักหนังสือพิมพ์ได้รับบาดเจ็บระหว่างการประท้วงหลายโอกาส ทำให้ตาขวาของนักหนังสือพิมพ์ชาวอินโดนีเซียรายหนึ่งบอดถาวร[119][120][121] ยังมีการกล่าวหาตำรวจแพร่บรรยากาศแห่งความกลัวด้วยการจับกุมในโรงพยาบาล[122] จับกุมบุคคลตามอำเภอใจ[123] และจับกุมนักเคลื่อนไหวและผู้ออกกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายคน[124] มองว่าการเพิกเฉยระหว่างการบุกอาคารสภานิติบัญญัติเป็นยุทธวิธีแบ่งแยก[125] การตอบสนองช้าต่อเหตุโจมตีที่หยุนหลองและนอร์ทพอยต์ก่อให้เกิดการกล่าวหาตำรวจว่าสมคบคิดสมาชิกอั้งยี่ ทนายความบางส่วนชี้ว่าการที่ตำรวจปฏิเสธช่วยผู้เสียหายโดยปิดประตูสถานีตำรวจในละแวกระหว่างการโจมตีที่หยุนหลองอาจเป็นความผิดฐานประพฤติมิชอบในสำนักงานราชการ[126][127] ตำรวจยังถูกกล่าวหาว่าใช้ "สองมาตรฐาน" โดยผ่อนปรนต่อผู้ประท้วงตอบโต้ที่ใช้ความรุนแรง[128] ตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้นทั้งหมด

มีการวิจารณ์ความประพฤติส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่บางนาย เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบบางส่วนใช้ภาษาหยาบคายเพื่อรังควานหรือทำให้ผู้ประท้วงและนักหนังสือพิมพ์อับอาย[129] มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่บางนายว่ายั่วยุผู้ประท้วง[130] และยิ้มขณะใช้กำลัง[131] สมาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยยังใช้คำว่า "แมลงสาบ" กับผู้ประท้วงกลุ่มหัวรุนแรง[132] เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งเรียกชายที่สวมเสื่อกั๊กสีเหลืองที่กำลังถูกเจ้าหน้าที่นายหนึ่งเตะว่า "วัตถุสีเหลือง" ทำให้ถูกวิจารณ์เป็นวงกว้าง[133]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง