ซอฟต์พาวเวอร์

ในฐานะคำศัพท์การเมือง (โดยเฉพาะในการเมืองระหว่างประเทศ) ซอฟต์พาวเวอร์ (อังกฤษ: soft power) หรือ มานานุภาพ[a] หมายถึง ความสามารถในการดึงดูดหรือสร้างการมีส่วนร่วมโดยปราศจากการข่มขู่หรือบีบบังคับใด ๆ (ในที่นี้ตรงข้ามกับ "ฮาร์ดพาวเวอร์") ผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรม การเสริมสร้างค่านิยมทางการเมือง[1] หรือนโยบายการต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีอิทธิพลเหนือความคิดของประชาชนและสังคมภายในประเทศอื่น[2] โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เคยอธิบายถึงความหมายของคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ไว้ในปี ค.ศ. 2012 ว่าเป็น "การโฆษณาชวนเชื่อที่ดีที่สุดที่ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ" และได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า "ความน่าเชื่อถือนับเป็นทรัพยากรที่หายากที่สุดแล้ว" สำหรับโลกในยุคสารสนเทศ[3]

คำศัพท์นี้กลายเป็นคำศัพท์ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วผ่านหนังสือของ โจเซฟ ไนย์ ชื่อว่า "Bound to Lead: The Changing Nature of American Power" ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1990[4]

ในหนังสือเล่มนี้เขาได้ระบุเอาไว้ว่า: "เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถทำให้ประเทศอื่นทำตามในสิ่งที่ตนต้องการได้ อำนาจร่วมที่เกิดขึ้นผ่านรูปแบบวิธีการดังกล่าวก็จะถูกเรียกว่า 'ซอฟต์พาวเวอร์' ที่ตรงกันข้ามกับ 'ฮาร์ดพาวเวอร์' ซึ่งเป็นอำนาจที่มีความรุนแรงและอยู่ในลักษณะของการออกคำสั่งให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ตนต้องการ"[4] ในเวลาต่อมาเขาก็ได้พัฒนาแนวคิดนี้เพิ่มเติมไว้ในปี ค.ศ. 2004 ผ่านงานเขียนของตนที่ชื่อว่า "Soft Power: The Means to Success in World Politics"[5]

คำอธิบาย

หนังสือของ โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) ใน ค.ศ. 2004 ที่อธิบายถึงแนวคิดเรื่อง "ซอฟต์พาวเวอร์"

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซ์ฟอร์ดได้บัญญัติความหมายของคำว่า "Soft power" (แปลว่า "อำนาจ (ของประเทศ รัฐ พันธมิตร ฯลฯ) ที่เกิดจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มากกว่าการใช้อำนาจบีบบังคับหรือความเข้มแข็งทางการทหาร") ไว้ใน ค.ศ. 1985[6] โจเซฟ ไนย์ ทำให้แนวคิดเรื่อง "ซอฟต์พาวเวอร์" กลายเป็นที่แพร่หลายในช่วงปลายคริสตทศวรรษที่ 1980[7] ในมุมมองของไนย์ "อำนาจ" คือ ความสามารถในการโน้มน้าวพฤติกรรมของผู้อื่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการนั้นมีหลากหลายวิธี: การคุกคาม การโน้มน้าว หรือบีบบังคับผู้อื่น; เราสามารถดึงดูดเป้าหมายได้ด้วยการจ่ายเงิน สร้างแรงจูงใจ และสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเป้าหมายนั้น ๆ ได้ ในที่นี้ซอฟต์พาวเวอร์จะต้องเป็นการทำให้เป้าหมายทำตามในสิ่งที่ตนต้องการได้ผ่านบทบาทของการร่วมมือกันมากกว่าที่จะเป็นการใช้อำนาจบีบบังคับแต่เพียงเท่านั้น[4]

ซอฟต์พาวเวอร์ถูกจัดให้เป็นขั้วตรงข้ามกับ "ฮาร์ดพาวเวอร์" ซึ่งเป็นการใช้อำนาจผ่านการบีบบังคับ ซอฟต์พาวเวอร์มิได้เป็นแค่เครื่องมือที่สามารถดำเนินการได้แต่เพียงในนามของรัฐเท่านั้น ตัวแสดงที่มีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศก็สามารถดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น NGOs หรือ สถาบันระหว่างประเทศ[5] นอกจากนี้ซอฟต์พาวเวอร์ยังถูกวินิจฉัยว่าเป็น "อำนาจหน้าที่สอง"[8] ซึ่งยินยอมให้ตัวแสดงหนึ่งสามารถตอบสนองต่อผลลัพธ์ที่ตนต้องการได้โดยทางอ้อม[9][10] ไนย์ระบุว่าซอฟต์พาวเวอร์จะต้องประกอบไปด้วยแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่สุด 3 ประการดังนี้ ได้แก่ "วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ (เอกลักษณ์ประจำชาติ) ค่านิยมทางการเมือง (ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ) และนโยบายต่างประเทศ (ที่คงไว้ซึ่งความชอบธรรมทางการเมือง)"[11]

“การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการเมืองระดับโลกได้นั้น ก็เพราะประเทศอื่นชื่นชมในคุณค่าของตน เลียนแบบตัวอย่าง ปรารถนาถึงความเจริญรุ่งเรืองและความเปิดกว้างจนถึงขั้นต้องเอาไปปฏิบัติตาม ในแง่นี้การกำหนดวาระการประชุมก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจในการเมืองระดับโลก และไม่เพียงแต่จะบังคับให้พวกเขายินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านการรุกรานโดยกองกำลังทหารหรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแต่เพียงเท่านั้น อำนาจอันอ่อนโยนเช่นนี้สามารถทำให้ผู้อื่นยอมทำตามต่อผลลัพธ์ที่คุณต้องการได้ผ่านการร่วมมือซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะบีบบังคับพวกเขา”[5]

แหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของซอฟต์พาวเวอร์ คือ การสร้างแรงดึงดูดซึ่งจะนำไปสู่ความยินยอม[5] ไนย์ยืนยันว่า "การดึงดูดผู้คนย่อมมีประสิทธิผลมากกว่าการบังคับขู่เข็ญเสมอ ในที่นี้หมายถึงคุณค่าอย่างประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเป็นปัจเจกบุคคล ที่ต่างก็เป็นสิ่งที่เย้ายวนใจอย่าหาใครเปรียบ"[12] แอนเจโล โคเดวิลลา (Angelo Codevilla) ตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะที่สำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งมักจะถูกมองข้ามก็คือ ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่สามารถถูกดึงดูดหรือปฏิเสธได้ด้วยวัตถุ ชุดความคิด ภาพลักษณ์ หรือโอกาสที่มีปัจจัยแตกต่างกัน[13] กล่าวคือซอฟต์พาวเวอร์จะมีอุปสรรคก็ต่อเมื่อนโยบาย วัฒนธรรม หรือค่านิยมนั้น ๆ กำลังผลักไสผู้อื่นออกไปแทนที่จะเป็นการเข้าหา

ในหนังสือของไนย์มีมุมมองต่อซอฟต์พาวเวอร์ว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายยุทธศาสตร์ได้ยากกว่าการดำเนินนโยบายแบบใช้ความรุนแรงก็ด้วยเหตุผลสองประการดังนี้: ทรัพยากรที่สำคัญจำนวนมากมิได้ตกอยู่ในการดูแลของรัฐบาล และซอฟต์พาวเวอร์เองก็มีแนวโน้มที่จะ "ดำเนินการโดยกำหนดสภาพแวดล้อมสำหรับนโยบายในทางอ้อม และบางครั้งก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ"[12][14] ในหนังสือเล่มนี้ไนย์ได้แบ่งหมวดหมู่ของซอฟต์พาวเวอร์ไว้แบบกว้าง ๆ ทั้งหมด 3 แบบดังนี้ ได้แก่:

  1. วัฒนธรรม (culture): หากวัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่งมีความสอดคล้องกับค่านิยมและผลประโยชน์ของประเทศอื่น โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้นตามมา ช่องทางที่จะส่งผลให้วัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่งกลายเป็นที่แพร่หลายในประเทศอื่น ๆ นั้นมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการค้า การทูต การแลกเปลี่ยน และการสื่อสาร[2]
  2. ค่านิยมทางการเมือง (political values): หากประเทศดังกล่าวมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่น ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางกลับกันหากค่านิยมของประเทศดังกล่าวขัดแย้งกับค่านิยมของประเทศอื่นอย่างชัดเจน ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศนั้นก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาในคริสตทศวรรษที่ 1950 ที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิว ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐอเมริกาที่มีอิทธิพลต่อทวีปแอฟริกานั้นมีน้อย เป็นต้น[1]
  3. นโยบายต่างประเทศ (foreign policies): เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่มีลักษณะเป็นแบบก้าวร้าว หน้าไหว้หลังหลอก และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่น โอกาสที่ซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดขึ้นก็จะมีน้อยตามมา เช่นในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เข้ารุกรานอิรักเมื่อ ค.ศ. 2003 โดยมิได้ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่น ๆ เป็นต้น แต่ถ้าหากประเทศดังกล่าวมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ดำรงไว้ซึ่งกฎหมาย สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ก็จะมีมากขึ้นตามมา[11]

ใน The Future of Power (2011) ไนย์ได้เน้นย้ำให้เห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์นั้นเป็นแนวคิดเชิงพรรณนามากกว่าที่จะเป็นแนวคิดเชิงบรรทัดฐาน[15] เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วซอฟต์พาวเวอร์ก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจุดประสงค์ที่ฉ้อฉลได้เหมือนกัน “ทั้ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โจเซฟ สตาลิน และ เหมา เจ๋อตง ต่างก็มีอำนาจบารมีมากมายในสายตาของสาวกของตน แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดี การบิดเบือนชุดความคิดไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรมเหนือไปกว่าการบีบบังคับเพื่อให้เชื่อตามอยู่เสมอไป” ไนย์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมไว้อีกว่า ซอฟต์พาวเวอร์นั้นมิใช่สิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดแบบสัจนิยมในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “ซอฟต์พาวเวอร์มิใช่รูปแบบหนึ่งของแนวคิดแบบอุดมคตินิยมหรือเสรีนิยม มันเป็นเพียงแค่รูปแบบวิธีหนึ่งของการใช้อำนาจ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ”[16]

ข้อจำกัดของแนวคิด

ซอฟต์พาวเวอร์มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ในบทนำของหนังสือชื่อ Colossus โดย นีล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) ซึ่งเป็นนักทฤษฎีสัจนิยมใหม่ รวมถึงงานเขียนของนักทฤษฎีสายเหตุผลนิยมและเหตุผลนิยมใหม่หลาย ๆ คน (ยกเว้น สตีเฟน วอลต์) ที่ได้ปฏิเสธถึงข้อดีของซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนักแน่น เนื่องจากนักทฤษฎีสายนี้มีมุมมองว่าตัวแสดงในการเมืองระหว่างประเทศตอบสนองต่อแรงจูงใจเพียงแค่สองประเภทเท่านั้น ได้แก่: "แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ" กับ "การใช้อำนาจบีบบังคับ"

ตามทฤษฎี อาจเป็นการยากที่จะแบ่งแยก "ซอฟต์พาวเวอร์" กับ “ฮาร์ดพาวเวอร์” ออกจากกันอย่างชัดเจน เช่นในกรณีที่ แจนิส ไบแอลลี แมทเทิร์น (Janice Bially Mattern) ได้แสดงความเห็นต่อคำพูด “คุณจะอยู่กับเราหรือจะอยู่กับพวกผู้ก่อการร้าย” ของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ไว้ว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการใช้ “ฮาร์ดพาวเวอร์” แม้ว่าจะเป็นการแสดงออกที่มิได้มีการใช้อำนาจทางการทหารหรือในทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันให้รัฐอื่น ๆ ยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรก็ตาม แต่การแสดงออกดังกล่าวก็ถูกแทนที่ด้วยอำนาจที่แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของตน ภายใต้บริบทของชาติมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว กล่าวคือท่าทีของสหรัฐอเมริกาคือการใช้อำนาจเพื่อข่มขู่ให้กลุ่มชาติพันธมิตรต้องยอมรับต่อนโยบายของตน หากไม่ก็เสี่ยงที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นปฏิปักษ์จนสูญเสียภาพลักษณ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เช่นนั้นแล้วซอฟต์พาวเวอร์จึงมิได้เป็นอำนาจที่อ่อนโยนอย่างที่คิด[17]

นอกจากนี้ยังมีบทความล่าสุดที่กล่าวถึงการละเลยการคุ้มครองของแนวคิดดังกล่าว ตั้งแต่ทฤษฎีของไนย์ซึ่ง “มุ่งเน้นไปที่วิธีในการโน้มน้าวให้ชาติอื่นยอมทำตามคำสั่งของตนเป็นหลัก” นักวิจัยบางคนได้เพิ่มเติมเอาไว้ว่าประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจไปในทางบวกอย่างประเทศจีนกำลังแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ ในการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ[18]

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันอีกว่าเราควรให้ความสนใจต่อการทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีใช้ซอฟต์พาวเวอร์ว่าสามารถส่งผลกระทบในทางตรงกันข้ามต่อตัวแสดงนั้น ๆ ได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วผลลัพธ์ดังกล่าวจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจหรือภาพลักษณ์ของชาตินั้น ๆ ได้ด้วยเช่นไร ผลลัพธ์ดังกล่าวเรียกว่า ‘การลดอำนาจของตนลง’[19]

การชี้วัด

ความสำเร็จของซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของตัวแสดงในชุมชนระหว่างประเทศ ตลอดจนการไหลของสารนิเทศระหว่างตัวแสดง ดังนั้นซอฟต์พาวเวอร์จึงมักสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโลกาภิวัฒน์และทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมใหม่ มักชี้กันว่าวัฒนธรรมสมัยนิยมและสื่อมวลชนเป็นบ่อเกิดของซอฟต์พาวเวอร์[20] เช่นเดียวกับการแพร่หลายของภาษาประจำชาติหรือชุดโครงสร้างบรรทัดฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ข่าวต่างประเทศพบว่ามีความสำคัญในการก่อกำเนิดภาพลักษณ์และชื่อเสียงของต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐมีความโดดเด่นในข่าวต่างประเทศมีการเชื่อมโยงกับซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐด้วย[21]

การประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก ค.ศ. 2023[22]ดัชนีซอฟต์พาวเวอร์ในระดับโลก ค.ศ. 2023 โดย ISSF[23]ผลสำรวจซอฟต์พาวเวอร์ ค.ศ. 2022 โดย Monocle[24][25]รายงานซอฟต์พาวเวอร์ ค.ศ. 2019 โดย Portland[26]
อันดับประเทศ
1  สหรัฐ
2  สหราชอาณาจักร
3  เยอรมนี
4  ญี่ปุ่น
5  จีน
6  ฝรั่งเศส
7  แคนาดา
8  สวิตเซอร์แลนด์
9  อิตาลี
10  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อันดับประเทศ
1  สหรัฐ
2  ฝรั่งเศส
3  สหราชอาณาจักร
4  ญี่ปุ่น
5  เยอรมนี
6  สวิตเซอร์แลนด์
7  เกาหลีใต้
8  สเปน
9  แคนาดา
10  จีน
อันดับประเทศ
1  สหรัฐ
2  เดนมาร์ก
3  ฝรั่งเศส
4  เกาหลีใต้
5  สวิตเซอร์แลนด์
6  ญี่ปุ่น
7  เยอรมนี
8  สหราชอาณาจักร
9  อิตาลี
10  ยูเครน
อันดับประเทศ
1  ฝรั่งเศส
2  สหราชอาณาจักร
3  เยอรมนี
4  สวีเดน
5  สหรัฐ
6  สวิตเซอร์แลนด์
7  แคนาดา
8  ญี่ปุ่น
9  ออสเตรเลีย
10  เนเธอร์แลนด์

ตัวอย่าง

ประเทศเกาหลี

บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ: "...เห็นได้ชัดเลยว่าผู้คนทั่วโลกกำลังถูกห้อมล้อมไปด้วยวัฒนธรรมเกาหลี -- กระแสเกาหลี"[27]
จากกระแสเพลง "คังนัมสไตล์" ของ ไซ (Psy) เมื่อเร็ว ๆ นี้
จะด้วยกระแสเกาหลีหรือเคป็อปก็ดี เราต่างก็เห็นพ้องกันว่า
วัฒนธรรมเกาหลีกำลังสร้างจุดมุ่งหมายที่สำคัญให้กับโลก
พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ[28]

"ฮัลลยู" (เกาหลี한류; ฮันจา韓流) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กระแสเกาหลี" (Korean Wave) เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีใต้ตั้งแต่ปลายคริสตทศวรรษที่ 1990 จากรายงานของเดอะวอชิงตันโพสต์ การแพร่กระจายของอุตสาหกรรมบันเทิงจากเกาหลีใต้ทำให้ยอดขายสินค้าและบริการอื่น ๆ ภายในประเทศได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น อาหาร แฟชัน หรือภาษาเกาหลี เป็นต้น[29] นอกจากปริมาณการส่งออกของเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นแล้ว กระแสเกาหลียังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินนโยบายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์โดยรัฐบาลเกาหลี ประสงค์ก็เพื่อลดความรู้สึกต่อต้านเกาหลีทั้งภายในและระหว่างประเทศลง[30] รวมถึงยังช่วยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสังคมทั่วโลก[31]

จากผลสำรวจการจัดอันดับในแต่ละประเทศที่เผยแพร่โดย บีบีซี ในปี ค.ศ. 2012  ได้เผยให้เห็นถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ซึ่งเปลี่ยนไปในทุก ๆ ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจสถิติครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 ว่าประชาชนในหลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และอินเดีย มีมุมมองต่อภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีใต้ที่เปลี่ยนไปจากเชิงลบเล็กน้อยมาเป็นเชิงบวกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรายงานยังได้ระบุอีกว่าประเพณีและวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับเกาหลีใต้[32] ซึ่งปัจจัยข้างต้นก็ยังส่งผลต่อมูลค่ารวมการส่งออกทางวัฒนธรรมภายในประเทศเมื่อ ค.ศ. 2011 ที่เติบโตขึ้นเป็น 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกเช่นกัน[33][34]

กระแสเกาหลีมีจุดเริ่มต้นมาจากซีรีส์เกาหลีที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปออกอากาศทางโทรทัศน์ทั่วเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนได้รับความนิยมในระดับภูมิภาค และก็ค่อย ๆ ได้รับการต่อยอดจนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกในช่วงที่มิวสิกวิดีโอเคป็อป (K-pop) ได้รับความนิยมบนยูทูบ[35][36] โดยมี บีทีเอส (BTS) เป็นวงดนตรีเคป็อปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด สามารถทำรายได้จากยูทูบรวมกันได้มากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกาหลีใต้อย่างมหาศาล[37] การแพร่กระจายของกระแสเกาหลีไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกในปัจจุบัน สามารถพบเห็นได้ชัดเจนที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และกลุ่มผู้อพยพในโลกตะวันตก โดยมีกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น[38][39][40]

ตะวันออกกลาง

กลุ่มประเทศตะวันออกกลางหลาย ๆ ประเทศมีการดำเนินนโนยายซอฟต์พาวเวอร์ทั้งในระดับภูมิภาคเดียวกันและในภูมิภาคอื่น ตัวอย่างก็เช่น ประเทศกาตาร์ ที่ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของตนด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการใช้สื่อโทรทัศน์อย่างสำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์ รวมถึงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันกีฬาระดับโลก ก็เพื่อเสริมสร้างอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตน[41] แม้แต่มหาอำนาจภายนอกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็ยังเข้ามาดำเนินกิจการแข่งขันทางด้านยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เพื่อขยายอิทธิพลของตนในภูมิภาคตะวันออกกลาง[42][43] การแข่งขันนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมักเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์อยู่เสมอ เช่น การแข่งขันนโยบายระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลเพื่อเสริมสร้างอิทธิพลของตนในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ[44] หรือความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน เป็นต้น[45]

ประเทศไทย

สหราชอาณาจักร

การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักรยึดถือองค์ประกอบที่สำคัญของซอฟต์พาวเวอร์มานับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 1814–1914 ผ่านนโยบายอย่าง สันติภาพบริติช (Pax Britannica)[46][47][48]

อิทธิพลของอังกฤษที่มีต่ออดีตอาณานิคมหลายแห่งสามารถพบเห็นได้ผ่านระบบกฎหมายและการเมืองของประเทศนั้น ๆ รวมถึงวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักรก็ยังได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของภาษา วรรณกรรม ดนตรี และ กีฬา[49] ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่แพร่หลายที่สุดในกลุ่มภาษาเจอร์แมนิก เป็นหนึ่งในภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุด และมีผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับสามของโลก อีกทั้งยังเป็นภาษาราชการร่วมขององค์กรทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคอื่น ๆ อีกมากมาย ตัวอย่างก็เช่น องค์กรสหประชาชาติ สหภาพยุโรป นอกจากนี้ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่แพร่หลายทั้งในทางการทูต วิทยาศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การบิน อุตสาหกรรมบันเทิง และอินเทอร์เน็ตอีกด้วย[50]

ประเทศอิตาลี

ประเทศอิตาลีเป็นประเทศที่มีจุดขายทางวัฒนธรรมซึ่งได้รับความนิยมหลากหลายด้าน ได้แก่ ศิลปะ ดนตรี แฟชั่น การออกแบบ และอาหาร ประเทศอิตาลีเป็นแหล่งกำเนิดของศิลปะการแสดงแบบโอเปร่า[51] และภาษาอิตาลีเองก็เป็นภาษาของโอเปร่าที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน ศิลปะการแสดงของอิตาลีได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนหลากหลายมานานนับหลายศตวรรษ การแสดงแบบด้นสดที่เรียกว่า กอมเมเดีย เดลลาร์เต (Commedia dell'arte) เกิดขึ้นในอิตาลีช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 16[52] ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังฝรั่งเศสและรัสเซีย โดยที่ยังมีการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงบัลเลต์ก็เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงที่มีต้นกำเนิดมาจากอิตาลีอีกเช่นกัน ประเทศอิตาลีมีหัวเมืองสำคัญที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่ง: กรุงโรมซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลีในปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน และเป็นที่พำนักของพระสันตะปาปาแห่งคริสตจักรคาทอลิก ทำให้กรุงโรมได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน "แหล่งกำเนิดของอารยธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมคริสเตียน"[53][54][55] ฟลอเรนซ์เป็นเมืองศูนย์กลางของศิลปวิทยาการที่รุ่งเรืองที่สุดในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา[56] ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจากความเป็นสมัยกลางไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ หัวเมืองที่สำคัญอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ได้แก่ ตูรินซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มิลานเป็นหนึ่งในเมืองหลวงแฟชั่นหรือที่เรียกกันว่า "Big Four" เวนิสเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของประวัติศาสตร์การเดินเรือและการวางโครงสร้างระบบคลองในเมืองที่มีความสลับซับซ้อน ด้วยเอกลักษณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้เมืองเวนิสสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคาร์นิวัลเวนิสและเวนิสเบียนนาเล ประเทศอิตาลีได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นประเทศที่มีแหล่งมรดกโลกมากที่สุดในโลก (เป็นจำนวน 59 แห่ง) จนถึงปัจจุบัน[57] ใน ค.ศ. 2019 ประเทศอิตาลีมีเครือข่ายทางการทูตที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับเก้าของโลก และมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับห้าของโลก

ดูเพิ่ม

  • การทูตเชิงวิทยาศาสตร์
  • การแสดงอำนาจ
  • ความเป็นเจ้าด้านวัฒนธรรม
  • ชาร์ปพาวเวอร์
  • ทฤษฎีสันติภาพประชาธิปไตย
  • เน็ตพอลิติก
  • ประเทศอำนาจปานกลาง
  • สมาร์ตพาวเวอร์
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
  • อำนาจ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ)
  • อำนาจ (สังคมและการเมือง)
  • อำนาจที่ห้า
  • อิทธิพลทางสังคม
  • ฮาสบารา

หมายเหตุ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่ม

  • Chitty, Naren, Lilian Ji, and Gary Rawnsley, eds. (2023). The Routledge Handbook of Soft Power 2nd Edition, NY: Routledge.
  • Fraser, Matthew (2005). Weapons of Mass Distraction: Soft Power and American Empire, St. Martin's Press. Analysis is focused on the pop culture aspect of soft power, such as movies, television, pop music, Disneyland, and American fast-food brands including Coca-Cola and McDonald's.
  • Gallarotti, Giulio (2010). Cosmopolitan Power in International Relations: A Synthesis of Realism, Neoliberalism, and Constructivism, NY: Cambridge University Press. How hard and soft power can be combined to optimize national power.
  • Kurlantzick, Joshua (2007). Charm Offensive: How China's Soft Power Is Transforming the World, Yale University Press. Analysis of China's use of soft power to gain influence in the world's political arena.
  • Lukes, Steven (2007). "Power and the Battle For Hearts and Minds: On the Bluntness of Soft Power", in Berenskoetter, Felix and M.J. Williams, eds. (2007), Power in World Politics, Routledge.
  • Manners, Ian (2002). "Normative Power Europe: A Contradiction in Terms?" (PDF). JCMS: Journal of Common Market Studies. 40 (2): 235–258. doi:10.1111/1468-5965.00353. S2CID 145569196.
  • Mattern, Janice Bially (2006). "Why Soft Power Isn't So Soft", in Berenskoetter & Williams (see under "Lukes")
  • McCormick, John (2007). The European Superpower, Palgrave Macmillan. Argues that the European Union has used soft power effectively to emerge as an alternative and as a competitor to the heavy reliance of the US on hard power.
  • Nye, Joseph (2007). "Notes For a Soft Power Research Agenda", in Berenskoetter & Williams (see under "Lukes")
  • Nye, Joseph (2008). The Powers to Lead, NY Oxford University Press.
  • Nye, Joseph (2021) "Soft power: the evolution of a concept." Journal of Political Power
  • Onuf, Nicholas (2017). "The Power of Metaphor/the Metaphor of Power", in The Journal of International Communication, 23,1.
  • Ohnesorge, Hendrik W. (2020). Soft Power: The Forces of Attraction in International Relations, Springer International.
  • Parmar, Inderjeet and Michael Cox, eds. (2010). Soft Power and US Foreign Policy: Theoretical, Historical and Contemporary Perspectives, Routledge.
  • Surowiec, Pawel, and Philip Long. "Hybridity and Soft Power Statecraft: The 'GREAT' Campaign." Diplomacy & Statecraft 31:1 (2020): 1-28. doi:10.1080/09592296.2020.1721092. O’Loughlin, Ben (22 October 2020). "H-Diplo Article Review 989". เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ Apr 22, 2023.
  • Young Nam Cho and Jong Ho Jeong, "China's Soft Power", Asia Survey 48, 3, pp. 453–72.

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง