เกียงอุย

เกียงอุย (ค.ศ. 202 – 3 มีนาคม ค.ศ. 264)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เจียง เหวย์ (จีน: 姜維; พินอิน: Jiāng Wéi) ชื่อรอง ปั๋วเยฺว (จีน: 伯約; พินอิน: Bóyuē) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน[3] เกียงอุยเกิดในอำเภอเอ๊กก๋วน เมืองเทียนซุย (ปัจจุบันคืออำเภอกานกู่ มณฑลกานซู่) และเริ่มรับราชการในฐานะนายทหารในเมืองเทียนซุยซึ่งอยู่ในอาณาเขตของวุยก๊ก ในปี ค.ศ. 228 จ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กเปิดการบุกวุยก๊ก เกียงอุยไม่เป็นที่ไว้วางใจของม้าจุ้นเจ้าเมืองเทียนซุยในขณะนั้น เกียงอุยจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยด้วยจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กยกย่องเกียงอุยอย่างสูงและตั้งให้เป็นขุนพลของจ๊กก๊ก หลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงในปี ค.ศ. 234 เกียงอุยยังคงทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในสมัยที่เจียวอ้วนและบิฮุยเป็นผู้สำเร็จการ ในที่สุดก็ขึ้นมามียศทางทหารสูงสุดเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) หลังบิฮุยเสียชีวิตในปี ค.ศ. 253 ระหว่าง ค.ศ. 240 ถึง ค.ศ. 262 เกียงอุยยังคงสานต่อภารกิจของจูกัดเหลียงในการศึกกับวุยก๊ก โดยนำทัพบุกในการทัพอีก 11 ครั้ง แต่การทัพของเกียงอุยมีข้อจำกัดทั้งในแง่จำนวนทหารและระยะเวลาเนื่องจากทรัพยากรของจ๊กก๊กที่มีจำกัดและเสบียงอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาการเมืองภายใน ในปี ค.ศ. 263 เมื่อวุยก๊กเปิดฉากการบุกจ๊กก๊กครั้งใหญ่ เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กไปต้านข้าศึกที่ท่าจง อิมเป๋ง และเกียมโก๊ะ ตัวเกียงอุยป้องกันเกียมโก๊ะจากการโจมตีของจงโฮย ขณะที่เกียงอุยตั้งมั่นสกัดกองกำลังหลักของวุยก๊กที่นำโดยจงโฮย แม่ทัพของวุยก๊กอีกคนชื่อเตงงายก็ใช้ทางลัดผ่านอิมเป๋งบุกไปถึงเซงโต๋โดยฝ่ายจ๊กก๊กไม่คาดคิด เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กยอมจำนนต่อเตงงายโดยไม่ต่อต้านและมีรับสั่งให้เกียงอุยยอมจำนนต่อจงโฮย เหตุการณ์นี้ถือเป็นการสิ้นสุดของจ๊กก๊ก ในปีถัดมา เกียงอุยยุยงจงโฮยให้ก่อกบฏในเซงโต๋ต่อต้านสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการของวุยก๊ก และหวังจะใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มอำนาจทางการทหารและกอบกู้จ๊กก๊ก แต่นายทหารของจงโฮยบางส่วนไม่เต็มใจที่จะร่วมการก่อกบฏและเริ่มก่อการกำเริบสังหารเกียงอุยและจงโฮย

เกียงอุย (เจียง เหวย์)
姜維
ภาพวาดเกียงอุยสมัยราชวงศ์ชิง
มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 258 (258) – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 263 (263)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 256 (256) – ค.ศ. 256 (256)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าบิฮุย
ขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 256 (256) – ค.ศ. 258 (258)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 247 (247) – ค.ศ. 256 (256)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ผู้จัดการกิจการของสำนักราชเลขาธิการ
(錄尚書事 ช่างลูชูชื่อ)
(ดำรงตำแหน่งร่วมกับบิฮุยตั้งแต่ปี ค.ศ. 247 ถึง ค.ศ. 253)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 247 (247) – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 263 (263)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว
(涼州刺史 เหลียงโจวชื่อฉื่อ)
(แต่ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 243 (243) – ค.ศ. 247 (247)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
มหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก
(鎮西大將軍 เจิ้นซีต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 243 (243) – ค.ศ. 247 (247)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลผู้ช่วยเหลือราชวงศ์ฮั่น
(輔漢將軍 ฝู่ฮั่นเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. 243 (243)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลโจมตีภาคตะวันตก
(征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ขุนพลผู้ส่งเสริมความชอบธรรม
(奉義將軍 เฟิ่งอี้เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 228 (228) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด202[a]
อำเภอกานกู่ มณฑลกานซู่
เสียชีวิต3 มีนาคม พ.ศ. 264 (62 ปี)[a]
นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
บุพการี
  • เจียง จฺย่ง (บิดา)
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองปั๋วเยฺว (伯約)
บรรดาศักดิ์ผิงเซียงโหว
(平襄侯)

ภูมิหลังครอบครัว

เกียงอุยเป็นชาวอำเภอเอ๊กก๋วน (冀縣/兾縣 จี้เซี่ยน) เมืองเทียนซุย (天水郡 เทียนฉุ่ยจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอกานกู่ มณฑลกานซู่[4] บิดาของเกียงอุยเสียชีวิตตั้งแต่เกียงอุยยังเด็ก[5] เกียงอุยจึงอาศัยอยู่กับมารดาและมีชื่อเสียงว่าสนใจในงานของของเต้เหี้ยนบัณฑิตลัทธิขงจื๊อ[6][3]

ในฟู่จื่อบันทึกว่าเกียงอุยเป็นผู้แสวงชื่อเสียงที่มีความทะเยอทะยานสูง และยังแอบตั้งกองทหารรักษาการณ์ส่วนตัว[7]

การรับราชการช่วงต้นในวุยก๊ก

เกียงอุยเริ่มรับราชการในเมืองเทียนซุยที่เป็นบ้านเกิดและอยู่ในอาณาเขตของวุยก๊กในยุคสามก๊ก เกียงอุยเริ่มราชการในฐานะเสมียนทำหน้าที่บันทึก และภายหลังได้กลายเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในที่ว่าการเมืองเทียนซุย[8] หลังจากราชสำนักวุยก๊กพิจารณาว่าบิดาของเกียงอุยเสียชีวิตในหน้าที่ราชการ จึงตั้งให้เกียงอุยเป็นจงหลาง (中郎) และอนุญาตให้เกียงอุยมีส่วนร่วมในกิจการทางทหารของเมืองเทียนซุย[5]

แปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก

บันทึกในจดหมายเหตุสามก๊ก

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กได้เปิดการทัพบุกวุยก๊กครั้งแรก จูกัดเหลียงเข้ายึดเขากิสาน (祁山 ฉีซาน; พื้นที่ภูเขาโดยรอบบริเวณที่เป็นอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และส่งกองกำลังไปตั้งมั่นที่นั่น เมืองสามเมืองภายใต้การปกครองของวุยก๊ก ได้แก่ ลำอั๋น (南安 หนานอาน; อยู่บริเวณอำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เทียนซุย และฮันเต๋ง (安定 อานติ้ง; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอเจิ้น-ยฺเหวียน มณฑลกานซู่) แปรพักตร์ไปเข้าด้วยฝ่ายจ๊กก๊ก[9]

ชีวประวัติเกียงอุยในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าเวลานั้นเกียงอุยกับเพื่อนร่วมราชการได้แก่เลี้ยงซี (梁緒 เหลียง ซฺวี่) อินเชียง (尹賞 อิ๋น ฉ่าง) และเลี้ยงเขียน (梁虔 เหลียง เฉียน)[b] กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางตรวจราชการกับม้าจุ้น (馬遵 หม่า จุน) เจ้าเมืองเทียนซุย เมื่อม้าจุ้นทราบข่าวการบุกของจ๊กก๊กและได้ยินว่าหลายอำเภอในเมืองเทียนซุยแปรพักตร์ไปเข้าด้วยข้าศึก ม้าจุ้นจึงระแวงว่าเกียงอุยและคนอื่น ๆ กำลังเดินทางเพื่อไปสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊กด้วย ม้าจุ้นจึงหนีไปในเวลากลางคืนและไปหลบภัยอยู่ที่อำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในเขตนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่)[11]

เมื่อเกียงอุยและเพื่อนร่วมราชการรู้ว่าม้าจุ้นละทิ้งพวกตนและหนีไปเพียงลำพัง จึงพยายามไล่ตามม้าจุ้นไปแต่ไม่ทัน พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในอำเภอเซียงเท้งเมื่อทั้งหมดเดินทางมาถึง เกียงอุยจึงนำทั้งหมดไปยังอำเภอเอ๊กก๋วน (冀縣/兾縣 จี้เซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอกานกู่ มณฑลกานซู่) ที่เป็นอำเภอบ้านเกิด แต่ขุนนางผู้รักษาอำเภอเอ๊กก๋วนก็ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้ามาเช่นกัน เกียงอุยและเพื่อนร่วมราชการเห็นว่าพวกตนไม่มีทางเลือกอื่น จึงเข้าไปสวามิภักดิ์แปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก[12]

บันทึกในเว่ย์เลฺว่

ในเว่ย์เลฺว่บันทึกเรื่องการแปรพักตร์ของเกียงอุยจากวุยก๊กไปจ๊กก๊กที่แตกต่างออกไป

ในช่วงเวลาที่จ๊กก๊กยกทัพบุก ม้าจุ้นและผู้ใต้บังคับบัญชา (รวมถึงเกียงอุย) กำลังอยู่ระหว่างเดินทางตรวจราชการกับกุยห้วยขุนพลวุยก๊กในเวลาที่ได้รับข่าวว่าจูกัดเหลียงและทัพจ๊กก๊กเข้ายึดเขากิสาน กุยห้วยบอกม้าจุ้นว่า "เป็นเจตนาไม่ดีเลย!" แล้วต้องการรีบถอยร่นไปอำเภอเซียงเท้งทางตะวันออกของเมืองเทียนซุย แม้ว่าที่ว่าการเมืองจะอยู่ที่อำเภอเอ๊กก๋วนทางตะวันตกก็ตาม ม้าจุ้นเองก็ไม่ต้องการกลับไปอำเภอเอ๊กก๋วนเพราะเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบในอำเภอเอ๊กก๋วนเนื่องจากการบุกของจ๊กก๊ก ม้าจุ้นจึงตัดสินใจติดตามกุยห้วยย้ายไปอำเภอเซียงเท้งแทน[13]

เกียงอุยขอร้องให้ม้าจุ้นกลับไปอำเภอเอ๊กก๋วน ม้าจุ้นบอกเกียงอุยและคนอื่น ๆ ว่า "หากพวกท่านกลับไป พวกท่านจะกลายเป็นศัตรูของข้า" เกียงอุยเพิกเฉยต่อม้าจุ้นเพราะกำลังกังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวในอำเภอเอ๊กก๋วน เกียงอุยจึงตีจากม้าจุ้นกลับมาอำเภอเอ๊กก๋วน พร้อมด้วยเพื่อนร่วมราชการชื่อ ช่างกวาน จื่อซิว (上官子脩) และคนอื่น ๆ[14]

เมื่อเกียงอุยกลับไปถึงอำเภอเอ๊กก๋วน ผู้คนได้ต้อนรับการกลับมาของเกียงอุยและคะยั้นคะยอให้เกียงอุยไปพบกับจูกัดเหลียง เกียงอุยและช่างกวาง จื่อซิวจึงยอมทำตามคำของผู้คนเดินทางไปพบกับจูกัดเหลียง จูกัดเหลียงยินดีที่ได้พบกับทั้งสอง ยังไม่ทันที่เกียงอุยจะกลับไปรับครอบครัว (ได้แก่มารดา ภรรยา และบุตร) ในเอ๊กก๋วน เวลานั้นทัพวุยก๊กภายใต้การนำของเตียวคับและปีเอียวเอาชนะทัพหน้าของจ๊กก๊กได้ในยุทธการที่เกเต๋งแล้ว เกียงอุยจึงไม่สามารถกลับไปเอ๊กก๋วนได้ ไม่มีทางเลือกอื่น จึงตัดสินใจแปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊กและติดตามจูกัดเหลียง หลังจากทัพวุยก๊กยึดอำเภอเอ๊กก๋วนคืนมาได้ ได้จับคนในครอบครัวของเกียงอุยมาขังไว้แต่ไม่นำไปประหารชีวิต เพราะรู้อยู่ว่าเกียงอุยไม่ได้ตั้งใจที่จะแปรพักตร์เข้าด้วยข้าศึกตั้งแต่แรก สมาชิกในครอบครัวของเกียงอุยจึงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในคุก[15]

ในสมัยที่จูกัดเหลียงเป็นผู้สำเร็จราชการ

หลังกลับมาถึงเมืองฮันต๋ง จูกัดเหลียงแต่งตั้งให้เกียงอุยเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยดูแลเสบียงอาหาร (倉曹掾 ชางเฉาเยฺวี่ยน) ภายหลังเกียงอุยได้รับยศเป็นขุนพลผู้ส่งเสริมความชอบธรรม (奉義將軍 เฟิ่งอี้เจียงจฺวิน) และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นตางหยางถิงโหว (當陽亭侯)[1]

ต่อมาเกียงอุยได้เลื่อนขึ้นเป็นขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับทัพกลาง (中監軍 จงเจียนจฺวิน)[16]

ในสมัยที่เจียวอ้วนเป็นผู้สำเร็จราชการ

ภายหลังการเสียชีวิตจองจูกัดเหลียงในยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้างในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 234[17] เกียงอุยกลับไปเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับทัพซ้าย (右監軍 โย่วเจียงจวิน) และมียศเป็นขุนพลผู้ช่วยเหลือราชวงศ์ฮั่น (輔漢將軍 ฝู่ฮั่นเจียงจฺวิน) เกียงอุยได้รับมอบหมายให้บัญชาการกองทหารติดอาวุธของเซงโต๋ และได้เลื่อบรรดาศักดิ์จากโหวระดับหมู่บ้านเป็นโหวระดับอำเภอคือ "ผิวเซียงโหว" (平襄侯)[18]

ในปี ค.ศ. 238 เกียงอุยติดตามเจียวอ้วนผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กไปยังเมืองฮันต๋งใกล้กับชายแดนวุยก๊ก-จ๊กก๊ก หลังเจียวอ้วนได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) ในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ค.ศ. 239[17] ได้แต่งตั้งให้เกียงอุยเป็นนายกองพัน (司馬 ซือหม่า) ในสังกัดของตน และยังมอบหมายให้เกียงอุยคุมกองกำลังแยกในการบุกเข้าอาณาเขตของวุยก๊ก[19]

การบุกขึ้นเหนือครั้งแรก

ในปี ค.ศ. 240 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีเมืองหลงเส (隴西 หล่งซี) ในอาณาเขตของวุยก๊ก แต่ถูกกองกำลังของวุยก๊กภายใต้การบังคับบัญชาของกุยห้วยขับไล่กลับไป[20]

สามปีต่อมา เกียงอุยได้เลื่อนขึ้นขั้นเป็นมหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西大將軍 เจิ้นซีต้าเจียงจฺวิน) และได้รับการตั้งแต่เป็นข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว (涼州刺史 เหลียงโจวชื่อฉื่อ) แต่ในนาม[21]

ในสมัยที่บิฮุยเป็นผู้สำเร็จราชการ

เกียงอุย

ภายหลังการเสียชีวิตของเจียวอ้วนในปี ค.ศ. 246 บิฮุยขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการของจ๊กก๊ก[22]

หนึ่งปีต่อมา เกียงอุยได้รับการเลื่อนยศเป็นขุนพลพิทักษ์ (衞將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) และยังได้แบ่งอำนาจกับบิฮุยในการร่วมกันดำรงตำแหน่งผู้จัดการกิจการของสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ช่างลูชูชื่อ)[23]

ในปีเดียวกัน เกียงอุยปราบกบฏในอำเภอผิงคาง (平康縣 ผิงคางเซี่ยน; อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอซงผาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน[24]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สอง

ในปี ค.ศ. 247 ชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) เริ่มก่อกบฏต่อต้านวุยก๊กในสี่เมืองของมณฑลเองจิ๋วและเลียงจิ๋ว และร้องขอการสนับสนุนจากจ๊กก๊ก[25] ไป๋หู่เหวิน (白虎文) และจื้ออู๋ไต้ (治無戴) กษัตริย์ชนเผ่าสองคนในมณฑลเลียงจิ๋วร่วมก่อกบฏต่อต้านวุยก๊ก เมื่อเกียงอุยนำทัพวุยก๊กเข้ามณฑลเลียงจิ๋วเพื่อสนับสนุนกบฏชนเผ่าเกี๋ยง ไป๋หู่เหวินและจื้ออู๋ไต้ก็นำกองกำลังมาร่วมด้วย[26]

ราชสำนักวุยก๊กตอบโต้ด้วยการส่งแฮหัวป๋าและกุยห้วยให้นำกองกำลังไปปราบกบฏและขับไล่กองทัพจ๊กก๊กที่รุกราน เกียงอุยโจมตีที่มั่นของแฮหัวป๋าทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) แต่ก็ต้องถอยทัพกลับจ๊กก๊กเมื่อกำลังเสริมของวุยก๊กนำโดยกุยห้วยยกมาถึง[27][28]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สาม

ในปี ค.ศ. 248 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กจากฉืออิ๋ง (石營; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอซีเหอ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ไปยังเฉียงชฺวาน (彊川; อยู่ทางตะวันตกของอำเภอหลินถาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อสมทบกับจื้ออู๋ไต้ (治無戴) กษัตริย์คนเผ่าซึ่งเพิ่งพ่ายแพ้ต่อกุยห้วยขุนพลวุยก๊กที่อำเภอหลงอี๋ (龍夷縣 หลงอี๋เซี่ยน; ทางตะวันตกของอำเภอหฺวาง-ยฺเหวียน มณฑลชิงไห่)[29] เกียงอุยมอบหมายเลียวฮัวผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่ป้องกันป้อมปราการที่เขาเฉิงจ้งชาน (成重山; ตั้งอยู่ทางตะวันตกของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[30]

กุยห้วยแบ่งทัพออกเป็นสองกองกำลังโดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกียงอุยไปสมรบและรวมกองกำลังกับจื้ออู๋ไต้ กุยห้วยนำกองกำลังหนึ่งเข้าโจมตีเลียวฮัวที่เขาเฉิงจ้งชานเพื่อบีบให้เกียงอุยต้องถอยกลับมาช่วยเลียวฮัว ในเวลาเดียวกันกุยห้วยสั่งให้แฮหัวป๋าผู้ใต้บังคับบัญชาให้โจมตีเกียงอุยและผลักดันให้กลับไปยังท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่) แผนของกุยห้วยประสบความสำเร็จเพราะเกียงอุยถอยกลับไปช่วยเลียวฮัวหลังรู้ว่าเขาเฉิงจ้งชานถูกโจมตี ผลก็คือเกียงอุยล้มเหลวในการสมทบกับจื้ออู๋ไต้ ในที่สุดจึงต้องถอยทัพกลับจ๊กก๊ก[31]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สี่

ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 249 หลังจากเกียงอุยได้รับอาญาสิทธิ์จากเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊ก[32] เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีมณฑลเองจิ๋วที่อยู่ในอาณาเขตของวุยก๊ก และได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าเกี๋ยง เกียงอุยให้สร้างป้อมปราการสองแห่งที่เขาก๊กสัน (麴山 ชฺวีชาน; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอหมิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[26]

กุยห้วยขุนพลวุยก๊กตอบโต้การบุกของจ๊กก๊กด้วยการมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้แก่ ต้านท่าย ชิจิด และเตงงายเข้าล้อมป้อมปราการทั้งสองแห่งและตัดเส้นทางลำเลียงเสบียง[26]

เมื่อเกียงอุยนำกองกำลังจากเขางิวเทาสัน (牛頭山 หนิวโถวชาน; อยู่ทางตะวันตกของเขตเจาฮฺว่า นครกว่าง-ยฺเหวียน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เพื่อไปเสริมกำลังที่ป้อมปราการทั้งสองแห่ง ต้านท่ายจึงนำทัพวุยก๊กเข้าสกัดทาง ในเวลาเดียวกันต้านท่ายก็ขอความช่วยเหลือจากกุยห้วยให้นำกองกำลังข้ามแม่น้ำเจ้าซุยเข้าโจมตีฐานกำลังของเกียงอุยที่เขางิวเทาสัน เกียงอุยหวาดกลัวจึงถอนกำลังทั้งหมดถอยและทิ้งป้อมปราการทั้งสองไป[33][26]

สามวันหลังจากการล่าถอยของเกียงอุย เกียงอุยส่งเลียวฮัวนำกองกำลังขนาดเล็กไปเบี่ยงเบนความสนใจของเตงงายที่ไป๋ฉุ่ย (白水; ปัจจุบันคืออำเภอชิงชฺวาน มณฑลเสฉวน) ระหว่างที่เกียงอุยทำทัพหลักเข้าโจมตีเถาเฉิง (洮城; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหมิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เตงงายมองอุบายของเกียงอุยออกจึงส่งกำลังไปที่เถาเฉิงในทันที เกียงอุยยึดเถาเฉิงไม่สำเร็จเพราะเตงงายได้เสริมการป้องกันไว้แล้ว เกียงอุยจึงนำกำลังทั้งหมดถอยกลับจ๊กก๊ก[34]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่ห้า

ในปี ค.ศ. 250 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กโจมตีเมืองเสเป๋ง (西平郡 ซีผิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครซีหนิง มณฑลชิงไห่) เกียงอุยถอยทัพหลังจากยึดเมืองเสเป๋งไม่สำเร็จ[35][26]

บิฮุยไม่เห็นด้วยกับท่าทีกระหายสงครามของเกียงอุย

เกียงอุยเชื่อว่าตนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของชนเผ่าเกี๋ยงและชนเผ่าที่ไม่ใช่ชาวฮั่นอื่น ๆ ทางภาคตะวันตกของจีน และมีความเชื่อมั่นอย่างสูงในทักษะการเป็นผู้นำทางการทหารของตน เกียงอุยมักโอ้อวดอยู่บ่อยครั้งว่าตนสามารถพิชิตดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองของวุยก๊ก (ในมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ได้อย่างง่ายดายหากตนได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าเกี๋ยงและชนเผ่าที่ไม่ใช่ชาวฮั่นอื่น ๆ ที่อาศัยในบริเวณนั้น[36]

แต่บิฮุยไม่เห็นด้วยกับท่าทีกระหายสงครามและการทำศึกที่แข็งกร้าวต่อวุยก๊กของเกียงอุย จึงพยายามที่จะควบคุมเกียงอุยโดยจำกัดจำนวนกำลังทหารที่เกียงอุยจะนำเข้ายุทธการในแต่ละครั้งไม่เกิน 10,000 นาย[37]

ฮั่นจิ้นชุนชิว (漢晉春秋) บันทึกว่าครั้งหนึ่งบิฮุยพูดกับเกียงอุยว่า "เราไม่ได้เก่งกาจอย่างท่านอัครมหาเสนาบดี (จูกัดเหลียง) ถ้าแม้แต่ท่านอัครมหาเสนาบดียังไม่สามารถทำให้แผ่นดินกลับมาสงบได้ แล้วอะไรที่ทำให้ท่านคิดว่าเราจะทำได้หรือ จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะปกป้องรัฐ ปกครองราษฎรอย่างดี เคารพและคุ้มครองมรดก และส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง โปรดหยุดนึกฝันว่าท่านจะได้ชัยชนะในบัดดล หากท่านพลาดพลั้ง เสียใจไปก็สายเกินแก้"[38]

บิฮุยถูกลอบสังหาร

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 บิฮุยถูกลอบสังหารระหว่างงานเลี้ยงในวันแรกของเทศกาลปีใหม่[39] มือสังหารคือกัว ซิว (郭脩) เป็นพลเมืองของวุยก๊กที่ถูกจับโดยเกียงอุยระหว่างยุทธการ หลังจากกัว ซิวยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊กอย่างไม่เต็มใจ ก็พยายามจะลอบปลงพระชนม์เล่าเสี้ยนแต่เข้าใกล้พระองค์ไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนเป้าเหมายเป็นบิฮุยและทำได้สำเร็จ[40] การเสียชีวิตของบิฮุยทำให้เกียงอุยมีอำนาจปกครองกองทัพจ๊กก๊กได้มากขึ้นและทำสงครามกับวุยก๊กต่อไป[41]

การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย

รูปปั้นของเกียงอุยในศาลจูกัดเหลียงที่นครเฉิงตู รูปปั้นสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1672

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่หก

ในฤดูร้อน ค.ศ. 253 เกียงอุยนำกองกำลังจ๊กก๊กหลายหมื่นนายจากฉืออิ๋ง (石營; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอซีเหอ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เข้าล้อมเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) สุมาสูผู้สำเร็จราชการของวุยก๊กโต้ตอบการบุกของจ๊กก๊กด้วยการมอบหมายให้ขุนพลกุยห้วยและต้านท่ายนำทัพวุยก๊กมาตั้งมั่นในภูมิภาคกวนต๋งเพื่อโจมตีทัพจ๊กก๊กและสลายวงล้อมที่เต๊กโตเสีย ต้านท้ายโจมตีทัพจ๊กก๊กแตกพ่ายที่ลั่วเหมิน (洛門; อยู่ในอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในที่สุดเกียงอุยจึงถอยทัพทั้งหมดกลับไปจ๊กก๊กเมื่อเสบียงอาหารหมด[42][41]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่เจ็ด

ในฤดูร้อน ค.ศ. 254 หลังราชสำนักจ๊กก๊กให้อำนาจแก่เกียงอุยในการดูแลกิจการทางทหารทั้งภายในและภายนอก เกียงอุยจึงนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีเมืองหลงเสที่อยู่ในอาณาเขตของวุยก๊กอีกครั้ง หลี เจี่ยน (李簡) ขุนนนางของวุยก๊กที่รักษาเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ยอมสวามิภักดิ์ต่อเกียงอุย เกียงอุยจึงรุกต่อไปเข้าโจมตีอำเภอเซียงอู่ (襄武縣 เซียงอู่เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเข้ารบกับชิจิดขุนพลวุยก๊ก ชิจิดพ่ายแพ้และถูกสังหาร แต่ทัพจ๊กก๊กก็สูยเสียขุนพลเตียวหงีไปในการรบ ทัพจ๊กก๊กที่ได้ชัยชนะเข้ายึดสามอำเภอคือเต๊กโตเสีย เหอกวาน (河關; ในบริเวณใกล้เคียงกับนครติ้งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และหลิมเอีย (臨洮 หลินเถา) และกวาดต้อนราษฎรผู้อาศัยในสามอำเภอให้ย้ายมาอยู่ภายในอาณาเขตของจ๊กก๊ก[43][44][41]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่แปด

ในปี ค.ศ. 255 เกียงอุยยกทัพไปทำศึกกับวุยก๊กอีกครั้งแม้ว่าเตียวเอ๊กขุนพลจ๊กก๊กจะคัดค้านอย่างหนัก โดยเกียงอุยนำเตียวเอ๊กไปเป็นรองแม่ทัพด้วย ในขณะที่ทัพใหญ่ของจ๊กก๊กเตรียมเข้าโจมตีเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) อองเก๋งเจ้ามณฑลเองจิ๋วของวุยก๊กก็ขอความช่วยเหลือจากต้านท่ายขุนพลวุยก๊ก [45][41]

อองเก๋งพ่ายแพ้ยับเยินต่อทัพจ๊กก๊กที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) อองเก๋งและคนที่เหลือจึงล่าถอยไปยังเต๊กโตเสียและหลบภัยอยู่ในป้อมปราการ เกียงอุยต้องการฉวยโอกาสที่กำลังได้เปรียบนี้เข้ารุกล้อมเต๊กโตเสีย เตียวเอ๊กเสนอให้เกียงอุยหยุดรุดหน้าเพราะเสี่ยงที่จะสูญเสียทุกอย่างที่ได้มาจนถึงตอนนี้ เกียงอุยเพิกเฉยต่อคำของเตียวเอ๊กและสั่งกองทัพให้เข้าล้อมเต๊กโตเสีย[46][41]

ในขณะเดียวกัน ต้านท่าย เตงงาย สุมาหู และนายทหารวุยก๊กคนอื่น ๆ ได้นำกำลังเสริมไปยังเต๊กโตเสียเพื่อช่วยอองเก๋ง ต้านท่ายนำกำลังไปยังเนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเต๊กโตเสีย และจุดไฟขึ้นพร้อมกับตีกลองศึกเสียงดังเพื่อทำให้ทัพวุยก๊กในเต๊กโตเสียรู้ว่ากำลังเสริมกำลังมาถึง เป็นผลทำให้ทัพวุยก๊กในเต๊กโตเสียมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทัพจ๊กก๊กต้องประหลาดใจ ในเวลาเดียวกันต้านท้ายยังให้แพร่ข่าวลือว่าพวกตนวางแผนจะตัดเส้นทางถอยของทัพจ๊กก๊ก เกียงอุยได้ยินข่าวลือดังนั้นก็รู้สึกกลัว ดังนั้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 255 เกียงอุยจึงถอนทัพจ๊กก๊กทั้งหมดไปยังจงถี (鐘堤; อยู่ทางใต้ของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[47][41]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่เก้า

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 256 เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กเลื่อนขั้นให้เกียงอุยมีตำแหน่งมหาขุนพลหรือไต้จงกุ๋น (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)[48] ในฤดูใบไม้ร่วง เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กจากจงถี (鐘堤; อยู่ทางใต้ของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อจะเข้ายึดเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) แต่ไม่สำเร็จ เพราะเตงงายขุนพลวุยก๊กคาดการณ์การโจมตีของทัพจ๊กก๊กและมาจัดวางกำลังป้องกันอย่างแน่นหนาไว้ก่อนแล้ว เกียงอุยจึงเข้าโจมตีเตงงายที่เขาบูเสียงสัน (武城山 อู่เฉิงชาน; อยู่ในเขตเฉินชาง นครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) แต่ถูกตีโต้จนต้องถอยร่น ภายหลังเกียงอุยนำกองกำลังข้ามแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) เพื่อเปิดการโจมตีประสานที่อำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; อยู่ในนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) พร้อมกับอีกกองกำลังของจ๊กก๊กที่นำโดยเอาเจ้ แต่เอาเจ้ยกกำลังไปไม่ทันกาล เกียงอุยจึงถูกเตงงายโจมตี กองทัพของเกียงอุยได้รับความเสียหายอย่างมาก[49][50]

เนื่องจากการยกทัพบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยส่งผลกระทบต่อราษฎรและทรัพยากรของจ๊กก๊กอย่างมหาศาล ผู้คนจึงเริ่มไม่พอใจเกียงอุยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องความกระหายสงครามของเกียงอุย เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของราษฎร เกียงอุยจึงเขียนฎีกาถึงราชสำนักจ๊กก๊กเพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่จากความล้มเหลวในการยกทัพบุกขึ้นเหนือครั้งที่เก้าและทูลขอให้ลดตำแหน่งตนเพื่อเป็นการลงโทษ เล่าเสี้ยนอนุมัติคำทูลขอของเกียงอุย ลดยศเกียงอุยเป็นขุนพลทัพหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) แต่ยังคงให้เกียงอุยเป็นรักษาการมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)[51][50]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สิบ

ในปี ค.ศ. 257 เมื่อจูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) เกียงอุยตัดสินใจใช้ประโยชน์จากสถานการณ์เพื่อทำการบุกวุยก๊กอีกครั้ง เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีกองทหารรักษาการณ์ของวุยก๊กใกล้กับเตียงเสีย (長城 ฉางเฉิง) หรือกำแพงเมืองจีนซึ่งมีเสบียงเพียงพอแต่ด้อยการป้องกัน กองกำลังวุยก๊กที่ประจำการอยู่ที่นั่นเริ่มตื่นตระหนกเมื่อได้ยินว่าทัพจ๊กก๊กยกมาใกล้[52]

ขุนพลวุยก๊กสุมาปองและเตงงายนำกองกำลังแยกไปยังเตียงเสียเพื่อป้องกันการบุกของจ๊กก๊ก เกียงอุยจึงถอยไปยังหมางฉุ่ย (芒水; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอโจวจื้อ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และตั้งค่ายขึ้นโดยหันหลังอิงภูเขา เมื่อทัพวุยก๊กยกกำลังมาล้อม เกียงอุยพยายามท้าให้ทัพวุยก๊กเข้าโจมตีค่ายของตน แต่สุมาปองและเตงงายสั่งกำลังพลให้เพิกเฉยต่อข้าศึกและงดการโจมตี[53][50]

ในปี ค.ศ. 258 หลังจากเกียงอุยได้รับข่าวว่าทัพวุยก๊กปราบกบฏจูกัดเอี๋ยนได้สำเร็จ เกียงอุยจึงนำกำลังถอยกลับไปเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กให้เกียงอุยคืนกลับสู่ตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)[54][50]

ในช่วงเวลานั้น หลังจากที่ผ่านยุทธการกับวุยก๊กมาหลายปี ผู้คนในจ๊กก๊กก็เบื่อหน่ายกับการอดทนต่อค่าใช้จ่ายและผลกระทบของสงครามที่มากขึ้น เจียวจิ๋วขุนนางจ๊กก๊กก็เขียน "โฉ่วกั๋วลุ่น" (仇國論; "วิจารณ์เรื่องรัฐอริ") งานเขียนเสียดสีที่วิพากย์วิจารณ์เรื่องความกระหายสงครามของเกียงอุย[50]

การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สิบเอ็ด

ในฤดูหนาว ค.ศ. 262 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กเข้ายึดอำเภอเตียวเจี๋ยง (洮陽縣 เถาหยางเซี่ยน; อยู่ในอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และโจมตีทัพวุยก๊กที่นำโดยเตงงายที่อำเภอโหวเหอ (侯和縣 โหวเหอเซี่ยน) แต่พ่ายแพ้ในยุทธการ เกียงอุยถอยทัพไปยังท่าจง (沓中; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และตั้งกองกำลังรักษาการณ์อยู่ทีนั่น[55][56][57]

ฮุยโฮขึ้นมามีอำนาจ

เกียงอุยรู้ดีว่าภูมิหลังของตนในฐานะผู้แปรพักตร์จากวุยก๊กทำให้ต้องพิสูจน์ความภักดีที่มีต่อจ๊กก๊ก จึงกระตือรือร้นที่จะได้รับเกียรติยศจากการทำศึก แต่แม้เกียงอุยจะได้นำทัพในการรบกับวุยก๊ก 11 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จที่สำคัญใด ๆ ในระหว่างที่เกียงอุยอยู่ห่างออกไปในแนวหน้า ฮุยโฮขันทีในพระราชวังซึ่งจักรพรรดิเล่าเสี้ยนทรงโปรดได้ค่อย ๆ ขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักจ๊กก๊กและครอบงำบทบาทสำคัญทางการเมือง ฮุยโฮสนิทใกล้ชิดกับเงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) ขุนพลจ๊กก๊ก และเห็นว่าเคยแทนทีเกียงอุยด้วยเงียมอูในตำแหน่งมหาขุนพล[58] เกียงอุยสงสัยมานานแล้วว่าฮุยโฮมีท่าทีต่อต้านตน เกียงอุยจึงยังคงอยู่ที่ท่าจง (沓中; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และไม่กลับไปที่เซงโต๋หลังการยกทัพบุกเหนือครั้งที่สิบเอ็ด[59]

พงศาวดารหฺวาหยางบันทึกว่าเกียงอุยเกลียดฮุยโฮในเรื่องการเข้ากุมอำนาจ ครั้งหนึ่่งเกียงอุยทูลแนะนำเล่าเสี้ยนให้ประหารชีวิตฮุยโฮเสีย แต่เล่าเสี้ยนปฏิเสธและตรัสว่า "ฮุยโฮเป็นเพียงข้ารับใช้ที่ทำธุระให้เรา ในอดีตเรารู้สึกรำคาญความเกลียดชังล้ำลึกของตั๋งอุ๋นที่มีต่อฮุยโฮ เหตุใดท่านต้องเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของตนเองด้วยเล่า" ในไม่ช้าเกียงอุยจึงตระหนักได้ว่าตนทำพลาดที่ทูลแนะนำเล่าเสี้ยนให้ประหารชีวิตฮุยโฮ เพราะฮุยโฮมีอิทธิพลอย่างมากในราชสำนักจ๊กก๊ก เกียงอุยจึงหาข้ออ้างจากไปอย่างรวดเร็ว ภายหลังเล่าเสี้ยนจึงบอกฮุยโฮให้ไปพบเกียงอุยเพื่อขอขมา เกียงอุยสามารถโน้มน้าวฮุยโฮให้ปล่อยตนให้คงอยู่ที่ท่าจงเพื่อดูแลการผลิตทางการเกษตร แต่เจตนาที่แท้จริงของเกียงอุยคือเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับฮุยโฮในเซงโต๋[60]

การล่มสลายของจ๊กก๊ก

การทูลเตือนในช่วงต้นของเกียงอุย

ในปี ค.ศ. 263 เกียงอุยเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยนทูลว่า:

"กระหม่อมได้ยินว่าจงโฮยกำลังระดมพลในกวนต๋ง ดูเหมือนว่ากำลังเตรียมการบุกเรา กระหม่อมเห็นว่าควรส่งเตียวเอ๊กและเลียวฮัวให้นำทัพของเราไปรักษาด่านแฮเบงก๋วนและสะพานอิมเป๋งเกี๋ยวเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน"[61]

ฮุยโฮเชื่อคำทำนายของหมอดูว่าวุยก๊ํกจะไม่บุกจ๊กก๊ก จึงทูลแนะนำเล่าเสี้ยนให้เพิกเฉยต่อฎีกาของเกียงอุย และไม่ยกเรื่องนี้ไปอภิปรายในราชสำนัก[62]

จากท่าจงมาอิมเป๋ง

ราวเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ค.ศ. 263[57] สุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊กมอบหมายให้จงโฮย เตงงาย และจูกัดสูนำทัพวุยก๊กบุกจ๊กก๊กจากสามทิศทาง เมื่อจงโฮยยกมาถึงหุบเขาลั่วกู่ (駱谷; อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโจวจื้อ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และเตงงายโจมตีท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่) ราชสำนักจ๊กก๊กจึงให้เลียวฮัวนำกำลังเสริมไปสนับสนุนเกียงอุยที่ท่าจง ในเวลาเดียวกันให้เตียวเอ๊ก ตังควด และนายทหารจ๊กก๊กคนอื่น ๆ นำกองกำลังไปรักษาด่านแฮเบงก๋วน (陽安關 หยางอานกวาน; อยู่ในอำเภอหนิงเฉียง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และช่วยเหลือกองกำลังของจ๊กก๊กรอบนอก[63]

เมื่อกำลังเสริมของจ๊กก๊กไปถึงอิมเป๋ง (陰平 อินผิง; ปัจจุบันคืออำเภอเหวิน มณฑลกานซู่) ก็ได้ยินว่าจูกัดสูกำลังโจมตีเจี้ยนเวย์ (建威; อยู่ทางตะวันออกเฉียงของเขตอู่ตู นครหล่งหนาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) จึงหยุดพลอยู่ที่อิมเป๋ง[64] หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน เตงงายเอาชนะเกียงอุยและยึดท่าจงได้ เกียงอุยจึงล่าถอยไปยังอิมเป๋ง[65]

ในเวลาเดียวกัน จงโฮยเข้าปิดล้อมอำเภอฮันเสีย (漢城 ฮั่นเฉิง; ปัจจุบันคืออำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี) และก๊กเสีย (樂城 เล่อเฉิง; ปัจจุบันคืออำเภอเฉิงกู้ มณฑลฉ่านซี) และส่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปโจมตีด่านแฮเบงก๋วน เจียวสี (蔣舒 เจี่ยง ชู) นายทหารจ๊กก๊กเปิดประตูด่านและยอมจำนนต่อทัพวุยก๊ก ส่วนปอเฉียมนายทหารจ๊กก๊กอีกคนเสียชีวิตขณะพยายามป้องกันด่าน หลังจงโฮยยึดอำเภอก๊กเสียไม่สำเร็จจึงปล่อยอำเภอก๊กเสียไปและเคลื่อนทัพไปยังด่านแฮเบงก๋วนหลังทราบข่าวว่าผู้ใต้บังคับบัญชายึดด่านแฮเบงก๋วนได้แล้ว[66]

ป้องกันเกียมโก๊ะ

เมื่อเตียวเอ๊กและตังควดไปถึงอำเภอเซียวเส (漢壽縣 ฮั่นโช่วเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เกียงอุยและเลียวฮัวจึงตัดสินใจทิ้งที่มั่นที่อิมเป๋งและไปสมทบกับเตียวเอ๊กและตังควดที่ด่านเกียมโก๊ะ (劍閣 เจี้ยนเก๋อ) อันเป็นด่านภูเขาเพื่อต้านทานการโจมตีของจงโฮย[67]

ครั้งหนึ่งจงโฮยเขียนจดหมายถึงเกียงอุยว่า "ท่านมีทักษะทั้งด้านการพลเรือนและการทหาร มีความเฉียบแหลมด้านกลวิธี และเกียรติคุณของท่านเป็นที่เลื่องลือไปทั่วภูมิภาคปา-จ๊กและส่วนที่เหลือในแผ่นดิน ผู้คนทั้งทั้งไกลใกล้ต่างนิยมชมชอบท่าน ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทบทวนถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ก็หวังว่าเราจะได้ร่วมรับใช้ราชวงศ์เดียวกัน ความสัมพันธ์ของเราก็เปรียบเหมือนมิตรภาพระหว่างจื่อจ๋า (子札) และ จื๋อฉ่าน (子產)"[68]

เกียงอุยไม่ได้เขียนจดหมายตอบจงโฮย แล้วสั่งให้ทหารขึ้นเสริมการป้องกันที่ด่านเกียมโก๊ะ หลังจงโฮยฝ่าด่านไม่สำเร็จและเสบียงอาหารเหลือน้อย จึงคิดจะถอนกำลังล่าถอย[69]

จ๊กก๊กยอมจำนน

ในขณะเดียวกัน เตงงายนำกองกำลังใช้เส้นทางลัดจากอิมเป๋งผ่านภูมิประเทศภูเขาและไปโผล่ที่กิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) และเอาชนะกองกำลังป้องกันของฝ่ายจ๊กก๊กที่นำโดยจูกัดเจี๋ยม หลังเตงงานยึดได้กิมก๊กก็รุดหน้าเข้าใกล้นครเซงโต๋ ราชธานีของจ๊กก๊ก ในปลายเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 263[57] เล่าเสี้ยนตัดสินพระทัยยอมจำนนต่อเตงงาย นำไปสู้การสิ้นสุดของรัฐจ๊กก๊ก[70]

ขณะเมื่อเกียงอุยเพิ่งได้ข่าวว่ากิมก๊กถูกตีแตก ก็ยังได้รับข่าวสารที่สับสนปนเปเกี่ยวกับสถานการณ์ในนครเซงโต๋ บ้างก็ว่าเล่าเสี้ยนต้องการอยู่ป้องกันเมือง บ้างก็อ้างว่าเล่าเสี้ยนกำลังจะทิ้งเซงโต๋หนีลงใต้ไปยังเมืองเกียมเหลง (建寧郡 เจี้ยนหนิงจฺวิ้น; ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจวในปัจจุบัน) เกียงอุยจึงเตรียมจะทิ้งด่านเกียมโก๊ะเพื่อนำกำลังไปยังอำเภอชี (郪縣 ชีเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอซานไถ มณฑลเสฉวน) ซึ่งอยู่ใกล้นครเซงโต๋เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง[71]

ไม่นานหลังจากนั้น เกียงอุยและทหารก็ได้รับคำสั่งจากนครเซงโต๋ให้วางอาวุธและยอมจำนนต่อจงโฮยที่อำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน) ทหารจ๊กก๊กหลายคนรู้สึกตกใจและโกรธมากที่รู้ว่าจักรพรรดิเล่าเสี้ยนยอมจำนน พวกเขาชักกระบี่ฟันกับหินเพื่อระบายความคับข้องใจ[72] ในที่สุดเมื่อจงโฮยพบกับเกียงอุย จงโฮยถามว่า "เหตุใดท่านถึงมาช้า" เกียงอุยตอบด้วยสีหน้าจริงจังแต่มีน้ำตาไหลอาบแก้มว่า "การพบกันของเราวันนี้ต่างหากที่มาเร็วเกินไป" จงโฮยประทับใจกับคำตอบของเกียงอุยอย่างมาก[73]

พยายามกอบกู้จ๊กก๊ก

ยุยงจงโฮยให้ก่อกบฏต่อวุยก๊ก

จงโฮยปฏิบัติต่อเกียงอุยอย่างดีและคืนตราประจำตำแหน่งและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น ๆ ให้กับเกียงอุย ทั้งคู่นั่งบนรถม้าคันเดียวกันและนั่งรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกัน จงโฮยยังพูดกับหัวหน้าเลขานุการเตาอี้ว่า "คนที่มีชื่อเสียงจากที่ราบภาคกลางอย่างกงซิว[c] (公休) และไท่ชู[d] (泰初) ไม่อาจเทียบได้กับปั๋วเยฺว[e]"[74]

เกียงอุยรู้สึกได้ว่าจงโฮยมีความคิดจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก จึงพยายายามใช้โอกาสนี้ในการก่อการกำเริบและฟื้นฟูจ๊กก๊ก[75] เกียงอุยบอกกับจงโฮยว่า:

"ข้าพเจ้าได้ยินว่าท่านมีความละเอียดรอบคอบอย่างมากในการวางแผนตั้งแต่ท่านมีส่วนร่วมในการปราบกบฏที่ห้วยหลำ (淮南 หฺวายหนาน) ท่านไม่เคยคาดการณ์ผิดพลาดมาก่อน เป็นด้วยความช่วยเหลือของท่าน สุมาเจียวจึงได้เป็นจิ้นกง (晉公) และได้อำนาจควบคุมราชสำนักวุย บัดนี้ท่านพิชิตจ๊กได้ ชื่อเสียงของท่านก็เลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน ผู้คนต่างสรรเสริญท่าน สุมาเจียวจะไม่รู้สึกวิตกว่าเกียรติคุณของท่านจะโดดเด่นกว่าเขาหรอกหรือ ท่านยินดีจะอยู่อย่างสันโดษไปตลอดชีวิตที่เหลือเพื่อหลีกเลี่ยงการนำภัยพิบัติมาสู่ตัวท่านหรือไม่ ในอดีต ฮั่นสิน (韓信 หาน ซิ่น) ไม่ได้ทรยศต่อราชวงศ์ฮั่นแต่จักรพรรดิก็ยังสงสัยในความภักดี บุนจง (文種 เหวิน จ้ง) ไม่ใส่ใจคำแนะนำของฮวมเล้ (范蠡 ฟ่าน หลี่) ที่ให้ลาออก จึงจบลงด้วยการถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย พวกเขาเป็นผู้ปกครองที่หัวอ่อนกับขุนนางที่โง่เขลาหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ พวกเขาถูกบังคับให้ต้องทำเพราะอำนาจการเมือง บัดนี้ท่านทำความชอบครั้งใหญ่และได้รับเกียรติคุณตลอดกาลไปแล้ว เหตุใดท่านจึงไม่ตามรอยฮวมเล้ ลาออกเพื่อรักษาชีวิตไว้เล่า ท่านสามาารถปีนขึ้นยอดเขางูปิสัน (峨嵋山 เอ๋อเหมย์ชาน) หรือไม่ก็ท่องเที่ยวไปทั่วแผ่นดินแบบชื่อซงจื่อ (赤松子)"[76]

จงโฮยตอบว่า "ที่ท่านพูดมาเป็นเรื่องห่างไกลเกินนัก ข้าพเจ้าไม่อาจทำได้ นอกจากนี้่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ตอนนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น"[77]

เกียงอุยจึงพูดว่า:

"ข้าพเจ้าเพียงแต่เสนอทางเลือกลาออกให้ท่าน ข้าพเจ้าเห็นว่าด้วยสติปัญญาของท่านแล้ว ท่านสามารถคิดหาทางเลือกอื่นและดำเนินการได้ ท่านไม่จำเป็นต้องให้คนชราเช่นข้าพเจ้าพูดเยิ่นเย้อหรอก"[78]

เกียงอุยและจงโฮยยิิ่งสนิทกันมากขึ้นหลังจากนั้น[79]

เสียชีวิต

จากนั้นจงโฮยจึงใส่ร้ายเตงงายขุนพลวุยก๊กด้วยกันในข้อหาวางแผนก่อกบฏและจับกุมเตงงายส่งกลับไปลกเอี๋ยงราชธานีของวุยก๊กในฐานะนักโทษ[f] เมื่อเตงงายไปแล้ว จงโฮยจึงเข้ายึดนครเซงโต๋และอาณาเขตของจ๊กก๊กเดิม ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 264 จงโฮยเริ่มก่อกบฏต่อต้านสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการของวุยก๊ก และประกาศตนเป็นเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州牧 อี้โจวมู่)[80][57]

จงโฮยต้องการมอบหมายให้เกียงอุยบัญชาการกองกำลัง 50,000 นายและให้นำทัพหน้าเข้าโจมตีนครลกเอี๋ยง[81] แต่เมื่อเวลาประมาณเที่ยงของวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 264 นายทหารของวุยก๊กบางคนที่ไม่เต็มใจจะเข้าร่วมการก่อกบฏของจงโฮยได้เริ่มก่อการกำเริบต่อต้านจงโฮย เวลานั้นเกียงอุยกำลังรวบรวมชุดเกราะและอาวุธจากจงโฮย ขณะนั้นพวกเขาก็ได้ยินเสียงโห่ร้องและได้รับข่าวว่าเกิดเพลิงไหม้ ต่อมาไม่นานก็มีรายงานว่าทหารจำนวนมากมารวมตัวที่หน้าประตูเมือง จงโฮยประหลาดใจจึงถามเกียงอุยว่า "คนพวกนั้นก่อปัญหาขึ้นแล้ว เราควรทำอย่างไรดี" เกียงอุยตอบว่า "ฆ่าพวกเขาซะ"[82]

จงโฮยจึงสั่งทหารให้ไปสังหารนายทหารที่ปฏิเสธที่จะเข้าการก่อกบฏ ไม่นานหลังจากนั้นมีรายงานว่าผู้คนใช้บันไดปีนขึ้นกำแพงเมืองและจุดไฟเผาบ้านเรือน ความโกลาหลเกิดขึ้นและมีลูกเกาทัณฑ์ยิงว่อนทุกทิศทาง นายทหารที่ก่อการกำเริบได้รวมกลุ่มกับผู้ที่เข้าร่วมใหม่และเข้าโจมตีจงโฮยและเกียงอุย จงโฮยและเกียงอุยต่อสู้กับทหารที่ก่อการกำเริบและสังหารได้ประมาณห้าหรือหกคน แต่ในที่สุดทั้งจงโฮยและเกียงอุยก็ถูกล้อมและถูกสังหาร[83] ทหารยังสังหารภรรยาและบุตรของเกียงอุยด้วย[84] ชื่อ-ยฺหวี่ (世語) บันทึกว่าทหารสังหารเกียงอุยและผ่าร่างของเกียงอุยออก ก็เห็นถุงน้ำดีของเกียงอุยมีขนาดใหญ่หนึ่งโต่ว (斗)[85]

บันทึกจากพงศาวดารหฺวาหยาง

พงศาวดารหฺวาหยางบันทึกว่าเกียงอุยเพียงแสร้งทำเป็นร่วมมือกับจงโฮย ในตอนแรกเกียงอุยยุยงจงโฮยให้ประหารชีวิตนายทหารของวุยก๊กที่ไม่เต็มใจเข้าร่วมการก่อกบฏ จากนั้นเกียงอุยจึงก็จะหาโอกาสเพื่อลอบสังหารจงโฮยแล้วนำพลเมืองจ๊กก๊กสังหารทหารวุยก๊กทั้งหมดเพื่อฟื้นฟูจ๊กก๊ก[86] เกียงอุยยังได้เขียนหนังสือลับทูลเล่าเสี้ยนว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าฝ่าบาทจะทรงอดทนต่อความอัปยศได้ชั่วคราวในไม่ก่ี่วันข้างหน้า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังวางแผนจะพลิกสถานการณ์และฟื้นฟูรัฐของเราเฉกเช่นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่เปลี่ยนความมืดให้เป็นความสว่าง"[87]

ครอบครัวและทายาท

บิดาของเกียงอุยชื่อเจียง จฺย่ง (姜冏) รับราชการทหารในเมืองเทียนซุยและเสียชีวิตระหว่างการปราบกบฏชนเผ่าเกี๋ยงและชนเผ่าที่ไม่ใช่ชาวฮั่นอื่น ๆ[5]

แม้ว่าชีวประวัติของเกียงอุยในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) บันทึกว่าเกียงอุยขาดการติดต่อกับมารดาหลังจากแปรพักตร์ไปเข้าร่วมด้วยจ๊กก๊ก[88] ส่วนในจ๋าจี้ (雜記) บันทึกว่าภายหลังเกียงอุยได้รับจดหมายจากมารดาที่ขอให้เกียงอุยกลับไปบ้าน[89] เกียงอุยจึงเขียนจดหมายตอบไปว่า

"ที่ดินหนึ่งหมู่ (畝; หน่วยพื้นที่) ไม่อาจเทียบได้กับที่นาที่อุดมสมบูรณ์ร้อยฉิ่ง (頃; หน่วยพื้นที่) เมื่อความทะเยอทะยานของผู้ใดอยู่ห่างไกลออกไป คนผู้นั้นก็จะไม่ต้องการจะกลับไปบ้าน"[90]

หนังสือพงศาวลีชื่อ ต้าถังชื่อซิวเลี่ยชานซื่อเยฺว่เทียนฉุ่ยจฺวิ้นเจียงซิ่งกู๋ผูจ่งชื่อซี่ (大唐敕修烈山四岳天水郡姜姓古譜總世系) จากยุคราชวงศ์ถัง บันทึกว่าภรรยาของเกียงอุยคือสตรีแซ่หลิ่ว (柳氏 หลิ่วชื่อ)

ขุนพลราชวงศ์ถัง เจียง เป่าอี้ (姜寶誼) และอัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์ถัง เจียง เค่อ (姜恪) เป็นผู้สืบเชื้อสายของเกียงอุยตามที่ระบุในทำเนียบพงศาวลีของอัครมหาเสนาบดีในจดหมายเหตุราชวงศ์ถังใหม่[91]

คำวิจารณ์

ในนิยายสามก๊ก

รูปปั้นเกียงอุยในศาลอู่โหว (ทุ่งราบอู่จ้าง)

เกียงอุยเป็นตัวละครสำคัญในเนื้่อเรื่องช่วงหลังของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์และบุคคลในประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและยุคสามก๊กของจีน ในนวนิยาย เกียงอุยมีฐานะเป็นผู้สืบทอดภารกิจของจูกัดเหลียงในการเป็นผู้นำของทัพจ๊กก๊กในการรบกับวุยก๊ก โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นตะวันออกที่ล่มสลายไป

เกียงอุยปรากฏครั้งแรกในตอนที่ 92 และตอนที่ 93[g] ในฐานะนายทหารที่รับราชการในเมืองเทียนซุยในช่วงที่จูกัดเหลียงยกทัพบุกเหนือครั้งแรก เมื่อจูกัดเหลียงพยายามจะลวงม้าจุ้นเจ้าเมืองเทียนซุยให้นำกองกำลังออกจากเมืองเทียนซุยไปช่วยแฮหัวหลิมขุนพลวุยก๊กที่เมืองลำอั๋น เกียงอุยมองอุบายของจูกัดเหลียงออกจึงแนะนำม้าจุ้นให้คงอยู่ในเมืองเทียนซุยและวางแผนดักข้าศึก เมื่อเตียวจูล่งขุนพลจ๊กก๊กปรากฏตัวขึ้นหวังจะยึดเมืองเทียนซุยก็ตกอยู่ในกลลวงของเกียงอุยและได้รบตัวต่อตัวกับเกียงอุยเป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนที่กองกำลังเสริมของจ๊กก๊กจะมาถึงและช่วยเตียวจูล่งไว้ได้ เตียวจูล่งบอกจูกัดเหลียงว่ารู้สึกประหลาดใจที่เมืองเทียนซุยมีผู้มากความสามารถอย่างเกียงอุย เมื่อเกียงอุยตีโต้การโจมตีของจ๊กก๊กได้อีกครั้ง จูกัดเหลียงก็ยิ่งประทับใจและต้องการจะให้เกียงอุยมาเข้าร่วมด้วยจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงจึงลวงม้าจุ้นให้เข้าใจว่าเกียงอุยแปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊กแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เกียงอุยกลับไปวุยก๊กได้ จากนั้นวางกลดักจับเกียงอุย เมื่อเกิยงอุยจนมุมก็พยายามจะฆ่าตัวตาย แต่จูกัดเหลียงห้ามไว้และเกลี้ยกล่อมให้เกียงอุยยอมสวามิภักดิ์เข้าด้วยกับจ๊กก๊กได้สำเร็จ[93][92]

เกียงอุยติดตามจูกัดเหลียงในการยกทัพบุกขึ้นเหนือในครั้งถัด ๆ มา ในตอนที่ 107 ถึงตอนที่ 115[h] ได้เล่าถึงการบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยและเรียกว่าเป็น "การทัพบุกที่ราบภาคกลางเก้าครั้ง"[96][94][95] ในขณะที่ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ การทัพมีทั้งหมด 11 ครั้งแทนที่จะเป็น 9 ครั้ง ในตอนที่ 119[i] เกียงอุยยุยงจงโฮยให้ก่อกบฏต่อวุยก๊ก แต่การก่อกบฏไม่สำเร็จเพราะนายทหารของวุยก๊กบางคนเริ่มก่อการกำเริบต่อจงโฮย เมื่อเกียงอุยถูกข้าศึกต้อนจนมุม เกียงอุยก็ถอนหายใจพูดว่า "เป็นลิขิตฟ้าโดยแท้ที่แผนการของข้าไม่สำเร็จ" จากนั้นจึงเชือดคอฆ่าตัวตาย[98][97]

บทกวีจากนวนิยายที่แต่งให้เป็นเกียรติแก่เกียงอุยมีความว่า:

天水誇英俊,涼州產異才。เทียนซุยนำมาซึ่งวีรชน; เลียงจิ๋วให้กำเนิดผู้มากความสามารถ
系從尚父出,術奉武侯來。สืบเชื้อสายจากช่างฟู่[j]; สืบทักษะจากอู่โหว[k]
大膽應無懼,雄心誓不回。กล้าหาญไม่หวั่นเกรง; จิตใจมั่นคงเสียสละ
成都身死日,漢將有餘哀。วันที่สิ้นชีพในเซงโต๋; ขุนพลฮั่นยังอาดูร[98]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

เกียงอุยปรากฏในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์และวอริเออร์โอโรจิที่ผลิตโดยบริษัทโคเอเทคโม ในเกมเกียงอุยมีบทบาทเป็นนักรบหนุ่มผู้อุทิศตนให้จูกัดเหลียงผู้เป็นอาจารย์อย่างสุดใจ เกียงอุยยังปรากฏในซีรีส์วิดีโอโรแมนซ์ออฟเดอะทรีคิงดัมส์ของโคเอเทคโม

อนุสรณ์

พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์เกียงอุย (姜維紀念館 เจียง เหวย์จิ้นล่างกว่าน) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1999 ใกล้กับบ้านเกิดของเกียงอุยทางตะวันออกของอำเภอกานกู่ นครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ พิพิธภัณฑ์ครอบคลุมพื้นที่ 360 ตารางเมตร สร้างโดยระดมทุนจากคนท้องถิ่น สิ่งจัดแสดงหลักในพิพิธภัณฑ์ได้แก่ รูปปั้นสูงสี่เมตรของเกียงอุยในโถงใหญ่ และศิลาจารึกที่จารึกคำว่า "บ้านเกิดของเกียงอุย" เป็นอักษรวิจิตรที่เขียนโดยนายพลหยาง เฉิงอู่ (楊成武)[99]

หอคอยผิงเซียง (平襄楼 ผิงเซียงโหลว) ในอำเภอหลูชาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน เป็นอาคารสูง 24 เมตรที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเกียงอุย ชื่อของหอคอยมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ของเกียงอุยคือผิงเซียงโหว (平襄侯) หอคอยสร้างขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่ง ได้รับการบูรณะในปี ค.ศ. 1445 ในยุคราชวงศ์หมิง และได้รับการกำหนดให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองในระดับชาติโดยหน่วยงานมรดกทางวัฒนธรรมแห่งรัฐของประเทศจีนในปี ค.ศ. 2006[100]

มีโบราณสถานจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเกียงอุยที่ด่านเจี้ยนเหมินในอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ได้แก่ บ่อน้ำเกียงอุย (姜維井 เจียง เหวย์จิ่ง) ถ้ำเกียงอุย (姜維洞 เจียง เหวย์ต้ง) ป้อมเกียงอุย (姜維城 เจียง เหวย์เฉิง) ศาลเกียงอุย (姜維廟 เจียง เหวย์เมี่ยว) สะพานท่านเกียง (姜公橋 เจียงกงเฉียว) คลังอาวุธเกียงอุย (姜維軍械 เจียง เหวย์จฺวินเซี่ย) และสุสานเกียงอุย (姜維墓 เจียง เหวย์มู่) กวีเช่นลู่ โหยว (陸游), จั่ว มู่ (左牧), หลี่ เถียว-ยฺเหวียน (李調元) และจฺวาง เสฺวเหอ (莊學和) เคยเขียนบทกวีที่ด่านเจี้ยนเหมินเพื่อสรรเสริญเกียงอุย[101]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง