ยุคสามก๊ก

ยุคสมัยที่ประเทศจีนแตกออกเป็นสามอาณาจักร ได้แก่วุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก (ค.ศ. 220–280)

สามก๊ก (จีนตัวย่อ: 三国; จีนตัวเต็ม: 三國; พินอิน: Sān Guó; แปลว่า "สามรัฐ") ตั้งแต่ ค.ศ. 220-280 เป็นการแบ่งเป็นไตรภาคีของจีนระหว่างรัฐวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก[1] ยุคสามก๊กอยู่ถัดจากยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและต่อด้วยราชวงศ์จิ้นตะวันตก รัฐเอียนบนคาบสมุทรเหลียวตง (เลียวตั๋ง) ที่คงอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่าง ค.ศ. 237-238 บางครั้งถือว่าเป็น "ก๊กที่ 4"[2]

ยุคสามก๊ก
三國時代
ค.ศ. 220 – 280
ลำดับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก
สถานที่จีนแผ่นดินใหญ่ เอเชียตะวันออก
สามก๊ก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม三國
อักษรจีนตัวย่อ三国
ฮั่นยฺหวี่พินอินSānguó
ความหมายตามตัวอักษร"สามรัฐ"
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามTam Quốc
ฮ้าน-โนม三國
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
삼국
ฮันจา
三國
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต三国
คีวจิไต三國
ฮิรางานะさんごく
การถอดเสียง
โรมาจิSangoku
ยุคสามก๊ก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม三國時代
อักษรจีนตัวย่อ三国时代
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามTam Quốc thời đại
ฮ้าน-โนม三國時代
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
삼국 시대
ฮันจา
三國時代
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต三国時代
คีวจิไต三國時代
ฮิรางานะさんごくじだい
การถอดเสียง
โรมาจิSangokujidai

ในทางวิชาการ ยุคสามก๊กหมายถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อตั้งรัฐวุยก๊กในปี ค.ศ. 220 จนถึงการพิชิตง่อก๊กโดยราชวงศ์จิ้นตะวันตกในปี ค.ศ. 280 ส่วนแรกของยุคสามก๊กที่เป็นส่วนที่ "ไม่เป็นทางการ" เป็นช่วงระหว่าง ค.ศ. 184 ถึง ค.ศ. 220 มีลักษณะเป็นการสู้รบอย่างโกลาหลระหว่างขุนศึกในหลายส่วนของจีนในช่วงการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ส่วนกลางของยุคตั้งแต่ ค.ศ. 220-263 มีลักษณะเป็นการรบที่มีเสถียรภาพทางการทหารมากกว่าส่วนแรก ระหว่างรัฐที่เป็นข้าศึกคือวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก ส่วนหลังของยุคเริ่มต้นด้วยการพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 การโค่นล้มวุยก๊กโดยราชวงศ์จิ้นตะวันตกในปี ค.ศ. 266 และการพิชิตง่อก๊กโดยราชวงศ์จิ้นตะวันตกในปี ค.ศ. 280

ยุคสามก๊กเป็นยุคที่นองเลือดที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน[3] การสำรวจสำมะโนประชากรทั่งประเทศในปี ค.ศ. 280 หลังการรวบรวมสามก๊กเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของราชวงศ์จิ้นระบุมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2,459,840 ครัวเรือนและจำนวนประชากรทั้งหมด 16,163,863 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับจำนวน 10,677,960 ครัวเรือนและ 56,486,856 คนที่สำรวจเมื่อยุคราชวงศ์ฮั่น[4] แม้ว่าการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 280 อาจจะได้จำนวนที่ไม่เที่ยงตรงนักเนื่องจากปัจจัยหลายประการในเวลานั้น แต่ราชวงศ์จิ้นก็พยายามนับจำนวนและบันทึกประชากรให้ครบทุกคนเท่าที่จะทำได้[5]

เทคโนโลยีในยุคสามก๊กมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กประดิษฐ์โคยนตร์ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบต้น ๆ ของรถเข็นล้อเดียว[6] และพัฒนาหน้าไม้กล ม้ากิ้นวิศรกรเครื่องกลของวุยก๊กได้รับการยกย่องจากหลายคนว่าเทียบเท่ากับจาง เหิงซึ่งเป็นยอดวิศวกรเครื่องกลในยุคก่อนหน้า[7] ม้ากิ้นประดิษฐ์โรงละครหุ่นกระบอกกลที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำทูลเกล้าฯ ถวายจักรพรรดิโจยอย, เครื่องสูบน้ำสายโซ่เดือยสี่เหลี่ยมเพื่อการชลประทานของอุทยานในลกเอี๋ยง และการออกแบบอย่างชาญฉลาดของรถชี้ทิศใต้ซึ่งเป็นเข็มทิศบอกทิศทางที่ไม่ใช่พลังแม่เหล็กแต่ควบคุมโดยใช้เฟืองท้าย[8]

แม้ว่ายุคสามก๊กมีช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้น แต่ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ก็ได้รับการเพิ่มความน่าสนใจเกินจริง (romanticize) เป็นอย่างมากในวัฒนธรรมจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม [9] เรื่องราวในยุคสามก๊กมีชื่อเสียงจากความแพร่หลายของอุปรากร นิทานพื้นบ้าน นวนิยาย รวมไปถึงภาพยนตร์ สื่อโทรทัศน์ และวิดีโอเกมในยุคสมัยใหม่ ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสื่อเหล่านี้คือสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ผลงานของล่อกวนตง (หลัว กว้านจง) ในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งมีเนื้อเรื่องอิงจากเหตุการณ์ในยุคสามก๊ก[10] บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับยุคสามก๊กคือจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) ของตันซิ่ว (เฉิน โช่ว) พร้อมด้วยอรรถาธิบายประกอบที่เขียนเพิ่มเติมในภายหลังโดยเผย์ ซงจือ

คำในภาษาอังกฤษของ "สามก๊ก" คือ "Three Kingdoms" (สามราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่สอดคล้องนัก เนื่องจากแต่ละรัฐในยุคสามก๊กไม่ได้ปกครองโดยกษัตริย์ (king) หรืออ๋อง (หวาง) แต่ปกครองโดยจักรพรรดิ (emperor) หรือฮ่องเต้ (หฺวางตี้) ผู้อ้างอำนาจปกครองเหนือแผ่นดินจีนทั้งหมด[11] อย่างไรก็ตาม คำว่า "Three Kingdoms" ได้กลายเป็นมาตรฐานในนักจีนวิทยาที่พูดด้วยภาษาอังกฤษ

การกำหนดช่วงเวลา

ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาของยุคสามก๊กอย่างตายตัว ทรรศนะโดยมากใช้ช่วงปี ค.ศ. 220-280 เป็นหลัก โดยเริ่มต้นด้วยการสละราชบัลลังก์ของจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น และสิ้นสุดด้วยการรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวโดยจักรพรรดิลำดับแรกของราชวงศ์จิ้น หากกล่าวให้แน่นอนแล้ว สถานะที่แผ่นดินจีนเกิดเป็นสามก๊กหรือเป็นรัฐอิสระ 3 รัฐนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นอย่างแท้จริงจากการสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิของผู้ปกครองง่อก๊กในปี ค.ศ. 229 จนกระทั่งสิ้นสุดด้วยการล่มสลายของจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 263 การตีความช่วงเวลานอกเหนือจากพฤติการณ์ทางการเมืองผลักดันจุดเริ่มต้นของยุคให้ย้อนกลับไปในช่วงปีท้าย ๆ ของราชวงศ์ฮั่น เริ่มด้วยการเสื่อมถอยของราชวงศ์ฮั่น

นักประวัติศาสตร์จีนให้จุดเริ่มต้นอื่น ๆ หลายจุดสำหรับช่วงเวลาของยุคสามก๊ก ได้แก่ กบฏโพกผ้าเหลืองในปี ค.ศ. 184[12][13], หนึ่งปีภายหลังการก่อกบฏคือปี ค.ศ. 185[14], ตั๋งโต๊ะปลดหองจูเปียนและตั้งพระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นเสวยราชย์ในปี ค.ศ. 189[15][16], ตั๋งโต๊ะทิ้งนครลกเอี๋ยงและย้ายนครหลวงไปเตียงฮันในปี ค.ศ. 190[17] หรือโจโฉนำจักรพรรดิไว้ภายใต้การควบคุมของตนที่ฮูโต๋ในปี ค.ศ. 196[18][19][20][21][22]

เม่าจงกัง (เหมา จงกาง) ผู้เขียนคำวิจารณ์ของนวนิยายสามก๊ก ให้ความเห็นว่าประวัติศาสตร์ของสามก๊กควรเริ่มต้นด้วยการขึ้นสู่อำนาจของสิบเสียงสี (สิบขันที) คำวิจารณ์ของเม่าจงกังในตอนที่ 120 ของนวนิยายมีีความว่า:

สามก๊กก่อตัวขึ้นเมื่อราชวงศ์ฮั่นล่มสลาย ราชวงศ์เสื่อมถอยลงเมื่อขันทีข่มเหงองค์อธิปัตย์และขุนนางโค่นล้มราชสำนัก[23]

นอกจากนี้เม่าจงกังยังให้เหตุผลที่นวนิยายสามก๊กกำหนดจุดสิ้นสุดของยุคสามก๊กที่ปี ค.ศ. 280 อันเป็นปีที่ง่อก๊กล่มสลายว่า:

ในเมื่อนวนิยายมุ่งเน้นที่ฮั่น ก็อาจจะจบด้วยการล่มสลายของฮั่น แต่วุยโค่นล้มฮั่น การจบเรื่องราวก่อนที่ศัตรูของฮั่นจะประสบกับชะตากรรมของตนคือการปล่อยให้ผู้อ่านไม่พอใจ นวนิยายอาจจบที่การล่มสลายของวุย แต่พันธมิตรของฮั่นคือง่อ การจบเรื่องราวก่อนที่พันธมิตรของฮั่นจะล่มสลายคือการปล่อยให้ผู้อ่านรู้สึกค้างคา ดังนั้นเรื่องราวจึงต้องจบลงด้วยการล่มสลายของง่อ[23]

เนื่องจากช่วงเวลาที่ราชวงศ์จิ้นรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้ดำเนินไปเป็นเวลาอันสั้น ช่วงเวลาทั้งหมดตั้งแต่การล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นถึงการรวมแผ่นดินโดยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 220–589) บางครั้งจึงจัดรวมอยู่ในช่วงยุคเดียวกันเป็น "ยุคแห่งความแตกแยก" "ยุคเว่ย์ (วุยก๊ก) จิ้น ราชวงศ์เหนือ-ใต้" (หรือเพียง "ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้" โดด ๆ แม้ว่าโดนทั่วไปจะหมายถึงช่วง ค.ศ. 420-589 ระหว่างราชวงศ์จิ้นและสุย) หรือ "ยุคหกราชวงศ์"[23][24]

ประวัติศาสตร์

กบฏโพกผ้าเหลือง

แผนที่ของมณฑลในจีนก่อนหน้ายุคสามก๊ก
(ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่น ค.ศ. 189)
แผนที่แสดงกบฏโพกผ้าเหลืองในราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน

ตั๋งโต๊ะขึ้นสู่อำนาจ

จุดเกิดของยุคสามก๊กในประวัติศาสตร์จีน มีจุดเริ่มต้นในยุคสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งปกครองโดยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ภายหลังถูกตั๋งโต๊ะเข้ายึดครองอำนาจทั้งหมดไว้เป็นของตน สถาปนาตนเองเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ภายหลังตั๋งโต๊ะถูกลอบสังหาร ราชสำนักและราชวงศ์เกิดความวุ่นวาย

การล่มสลายของอำนาจส่วนกลาง

โจโฉฉวยโอกาสในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งและปั่นป่วนเข้ายึดครองอำนาจและบังคับควบคุมให้พระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่ภายใต้การปกครอง แต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราช มีอำนาจเด็ดขาดแก่เหล่าขุนศึก กองกำลังทหารและไพร่พล ครอบครองดินแดนทางเหนือส่วนหนึ่งไว้เป็นของตน

อ้วนเสี้ยวเป็นผู้มีอำนาจและกองกำลังทหารและไพร่พลเป็นจำนวนมาก ครอบครองพื้นที่บริเวณตอนกลางและตอนปลายของลุ่มแม่น้ำฮวงโห กองทัพอ้วนเสี้ยวจัดเป็นกองกำลังทหารที่มีอำนาจสูงสุดทางภาคเหนือเช่นเดียวกับกองทัพของโจโฉ ภายหลังโจโฉสามารถนำกำลังทหารเข้าโจมตีและเอาชนะอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จ จึงรวบรวมดินแดนทางเหนือทั้งหมดไว้เป็นของตน สำหรับดินแดนภาคใต้บริเวณตอนกลางลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเขตดินแดนปกครองของเล่าเปียวซึ่งปกครองดินแดนด้วยความสงบและมั่นคง และตอนปลายแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเขตแดนปกครองของซุนกวน[25]

ช่วงท้ายของราชวงศ์ฮั่น

แต่ในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก มีความยาวนานมากกว่าร้อยปี ในระหว่างช่วงเวลานี้เกิดศึกสงครามใหญ่เพื่อแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่นับร้อยครั้ง และศึกเล็กศึกน้อยอีกนับครั้งไม่ถ้วน เช่นศึกโจรโพกผ้าเหลือง, ศึกกัวต๋อ, ศึกทุ่งพกบ๋อง ฯลฯ สำหรับศึกสงครามในสามก๊กที่ถือเป็นศึกใหญ่ที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ได้แก่ศึกผาแดงหรือศึกเซ็กเพ็ก ในปี พ.ศ. 751 ซึ่งเป็นศึกสงครามระหว่างโจโฉ, เล่าปี่และซุนกวน โดยมีจุดเกิดของสงครามจากโจโฉ ที่ส่งกองกำลังทหารของตนลงใต้เพื่อโจมตีดินแดนของเล่าเปียว โดยใช้กองกำลังทหารเรือจิงโจวบุกประชิดเมืองซินเอี๋ยทั้งทางบกและทางน้ำ

ระหว่างที่โจโฉนำกองกำลังทหารเพื่อทำศึกสงคราม เล่าเปียวเกิดป่วยและเสียชีวิต เล่าจ๋องยอมจำนนและยกเมืองเกงจิ๋วแก่โจโฉ เล่าปี่ซึ่งอาศัยอยู่กับเล่าเปียวไม่ยอมจำนนต่อโจโฉ จึงแตกทัพจากเมืองซินเอี๋ยไปยังเมืองอ้วนเซีย ระหว่างทางอพยพเกิดศึกสะพานเตียงปันเกี้ยวซึ่งเป็นศึกใหญ่อีกศึกในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ขงเบ้งรับอาสาเป็นฑุตไปเจรจาขอเป็นพันธมิตรกับซุนกวนเพื่อร่วมกันต้านทัพของโจโฉ โดยเกลี้ยกล่อมซุนกวนและจิวยี่จนยอมเปิดศึกสงครามกับโจโฉ ไล่ต้อนเผากองทัพเรือของโจโฉจนวอดวาย ได้รับชัยชนะจากศึกเซ็กเพ็กอย่างงดงาม

การแยกออกเป็นสามก๊ก

รัฐทั้งสาม

แผนที่แสดงอาณาเขตของแต่ละก๊กในปี ค.ศ. 262 (Wei-วุย) (Wu-ง่อ) (Shu-จ๊ก)

ในการปกครองบ้านเมืองของจีน ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ขับไล่ชนเผ่านอกด่านออกไปจากภาคเหนือของประเทศได้ ด้านทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม ครั้นถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่าง ๆ พากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วแผ่นดิน ราษฎรได้รับความเดือนร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังจากที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และซุนกวนในการศึกที่ผาแดง เมื่อปี พ.ศ. 751

ภายหลังจากศึกเซ็กเพ็ก อำนาจความเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีนแบ่งเป็นสามฝ่ายอย่างชัดเจน ต่างครอบครองเขตแดน ความยิ่งใหญ่และความแข็งแกร่งของกองกำลังทหาร คานอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างโจโฉ ซุนกวนและเล่าปี่ ทำศึกสงครามและเป็นพันธมิตรร่วมกันมาตลอด โจโฉครอบครองดินแดนทางเหนือทั้งหมดเป็นแคว้นวุย ครองอำนาจบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห แคว้นวุยจัดเป็นแคว้นที่แข็งแกร่งที่สุด มีกองกำลังทหาร ขุนศึก ที่ปรึกษาเป็นกำลังจำนวนมาก โดยเฉพาะตระกูลสุมา ซึ่งภายหลังได้ทำการยึดครองอำนาจจากราชวงศ์วุยและสถาปนาราชวงศ์จิ้นแทน

ซุนกวนครอบครองดินแดนทางตะวันออกบริเวณทางใต้ทั้งหมดเป็นแคว้นง่อ ครองอำนาจบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง มีกองกำลังทหาร ขุนศึกและที่ปรึกษาจำนวนมากเช่นเดียวกับแคว้นวุย เช่นจิวยี่ เตียวเจียว กำเหลง ลิบอง ลกซุนและโลซก

เล่าปี่ ครองอำนาจดินแดนทางภาคตะวันตกในแถบชิงอี้โจวกับฮั่นจงเป็นแคว้นจ๊ก มีกองกำลังทหาร ขุนศึกและที่ปรึกษา เช่น กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตงและขงเบ้ง แคว้นจ๊กจัดเป็นแคว้นที่มีอายุน้อยที่สุดก่อนล่มสลายด้วยกองกำลังทหารของแคว้นวุย

วุยก๊ก

วุยหรือเฉาเว่ย์ (จีน: 曹魏) จัดเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่างปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 808 (ปี ค.ศ. 220-265) วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นราชวงศ์วุยโดยพระเจ้าโจผีและได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่[26]

  1. พระเจ้าโจผี ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 763 - 769
  2. พระเจ้าโจยอย ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 769 - 782
  3. พระเจ้าโจฮอง ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 782 - 797
  4. พระเจ้าโจมอ ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 797 - 803
  5. พระเจ้าโจฮวน ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 803 - 808

วุยก๊กถูกโจมตีและโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

จ๊กก๊ก

จ๊กหรือสู่ฮั่น (จีน: 蜀漢) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ. 764 - พ.ศ. 806 (ปี ค.ศ. 221-263) จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่[27]

  1. พระเจ้าเล่าปี่ ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 764 - 766
  2. พระเจ้าเล่าเสี้ยน ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 766 - 806

จ๊กก๊กมีอายุได้แค่เพียง 42 ปีก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวของพระเจ้าเล่าเสี้ยน

ง่อก๊ก

ง่อหรืออาณาจักรอู่ตะวันออก (จีน: 東吳) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวน ในระหว่างปี พ.ศ. 765 - พ.ศ. 823 (ปี ค.ศ. 222-280) ง่อก๊กครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งคือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 4 พระองค์ สถาปนาซุนเกี๋ยนผู้พ่อและซุนเซ็กผู้พี่เป็นจักรพรรดิย้อนหลัง 2 พระองค์ ได้แก่[28]

  1. พระเจ้าซุนกวน ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 765 - 795
  2. พระเจ้าซุนเหลียง ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 795 - 801
  3. พระเจ้าซุนฮิว ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 801 - 807
  4. พระเจ้าซุนโฮ ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 807 - 823

ง่อก๊กเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาอาณาจักรสามก๊กที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยนและราชวงศ์จิ้น


ความเสื่อมถอยและการสิ้นสุด

ภายหลังจากแผ่นดินจีนแตกแยกออกเป็นแคว้นใหญ่สามแคว้น ต่างครองอำนาจและความเป็นใหญ่ คานอำนาจซึ่งกันและกันรวมทั้งเกิดศึกสงครามแย่งชิงดินแดนบางส่วนของแคว้นจ๊ก การเป็นพันธมิตรระหว่างแคว้นง่อและแคว้นวุยจนเป็นเหตุให้แคว้นจ๊กเปิดศึกสงครามกับแคว้นง่อจนพ่ายแพ้ยับเยิน เป็นเหตุให้พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ ขงเบ้งจึงเป็นผู้รับสืบทอดเจตนารมณ์ในการรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งสืบต่อไป แคว้นจ๊กเปิดศึกสงครามกับแคว้นวุยนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่อาจยึดครองดินแดนทั้งสามให้เป็นหนึ่งได้สำเร็จจนเสียชีวิตในระหว่างศึกอู่จั้งหยวน และหลังจากขงเบ้งเสียชีวิต พระเจ้าเล่าเสี้ยนไม่สามารถปกครองแคว้นจ๊กได้ เป็นเหตุแคว้นจ๊กก๊กเกิดความอ่อนแอและล่มสลาย

แคว้นวุยซึ่งปกครองโดยโจโฉผลัดแผ่นดินใหม่โดยโจผีเป็นผู้ครองแคว้นสืบต่อไป โดยแย่งชิงอำนาจจากพระเจ้าเหี้ยนเต้และตั้งตนเป็นจักรพรรดิ สถาปนาราชวงศ์วุยแทนราชวงศ์ฮั่น ภายหลังถูกสุมาเอี๋ยนแย่งชิงราชบัลลังก์และสถาปนาราชวงศ์จิ้นแทน รวมทั้งนำกำลังทหารบุกโจมตีแคว้นง่อจนเป็นเหตุให้พระเจ้าซุนโฮยอมสวามิภักดิ์ และรวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกออกเป็นสามก๊กให้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่มเติม

  • Sima, Guang (1952). The Chronicle of the Three Kingdoms (220–265) Chapters 69–78 from the Tz*U Chih T'ung Chien. translated by Achilles Fang, Glen William Baxter and Bernard S. Solomon. Cambridge, MA: Harvard University Press.
  • Hill, John E. 2004. The Peoples of the West from the Weilue 魏略 by Yu Huan 魚豢: A Third Century Chinese Account Composed between 239 and 265. University of Washington, Draft annotated English translation.

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง