เบร็กซิต

(เปลี่ยนทางจาก Brexit)

เบร็กซิต (อังกฤษ: Brexit) หมายถึง การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร โดยเกิดหลังการลงประชามติวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ซึ่งผู้ออกเสียงลงคะแนนร้อยละ 51.9 ออกเสียงสนับสนุนการถอนตัว รัฐบาลใช้ข้อ 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป เป็นการเริ่มกระบวนการสองปีซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดด้วยการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรในวันที่ 29 มีนาคม 2019 เส้นตายนั้นมีการต่อเวลาเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2019[1]

การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร
  สหราชอาณาจักร
  สหภาพยุโรป (27 ชาติสมาชิก)

นักกังขาคติยุโรป (Eurosceptic) ซึ่งมีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา สนับสนุนการถอนตัว ส่วนผู้นิยมยุโรป หรือนักสหภาพยุโรป ซึ่งมีทั้งสองฝ่ายของสเปกตรัมการเมืองเช่นกัน สนับสนุนให้เป็นสมาชิกต่อ สหราชอาณาจักรเข้าร่วมประชาคมยุโรป (EC) ในปี 1973 ภายใต้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเอ็ดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath) โดยมีการลงประชามติในปี 1975 สนับสนุนให้คงเป็นสมาชิกต่อ ในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 ฝ่ายซ้ายทางการเมืองเป็นผู้สนับสนุนหลักของการถอนตัวออกจากประชาคมยุโรป โดยคำแถลงนโยบายทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 1983 ของพรรคแรงงานสนับสนุนให้ถอนตัวอย่างสมบูรณ์ ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ฝ่ายขวาเริ่มต่อต้านการพัฒนา EC เป็นสหภาพที่เป็นการเมืองเพิ่มขึ้น โดยมาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งแม้เป็นผู้สนับสนุนหลักของตลาดเดียวยุโรป เริ่มสองจิตสองใจต่อยุโรปเพิ่มขึ้น นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 การคัดค้านบูรณาการยุโรปมาจากฝ่ายขวาเป็นหลัก และการแตกแยกภายในพรรคอนุรักษนิยมนำไปสู่การกบฏในเรื่องสนธิสัญญามาสทริชท์ในปี 1992

พรรคเอกราชยูเค (UKIP) ที่เพิ่งตั้งใหม่เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของการลงประชามติว่าด้วยการดำรงสมาชิกภาพขององค์การที่ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป และความนิยมในพรรคที่เพิ่มขึ้นในต้นคริสต์ทศวรรษ 2010 ทำให้ UKIP เป็นพรรคการเมืองสหราชอาณาจักรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปปี 2014 นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยม เดวิด แคเมอรอน ให้คำมั่นระหว่างการรณรงค์การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรปี 2015 ว่าจะจัดการลงประชามติใหม่ ซึ่งเขาจัดให้มีขึ้นในปี 2016 หลังแรงกดดันจากปีกกังขาคติยุโรปในพรรคของเขา แคเมอรอนผู้รณรงค์อยู่ฝ่ายให้อยู่ต่อ ลาออกหลังผลประชามติ เทรีซา เมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลแคเมอรอน สืบตำแหน่ง เธอจัดการเลือกตั้งทั่วไปกะทันหันไม่ถึงปีให้หลัง ซึ่งเธอเสียฝ่ายข้างมากโดยรวม รัฐบาลเสียงข้างน้อยของเมย์มีพรรคสหภาพประชาธิปไตยสนับสนุนในการออกเสียงสำคัญ

วันที่ 29 มีนาคม 2017 รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้ข้อ 50 ของสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ตามเวลาสหราชอาณาจักร เมื่อระยะเวลาเจรจาความตกลงถอนตัวหมดลงเว้นแต่มีการตกลงขยายเวลา เมย์ประกาศเจตนาของรัฐบาลว่าจะไม่แสวงสมาชิกภาพถาวรของตลาดเดียวยุโรปหรือสหภาพศุลกากรอียูหลังออกจากสหภาพยุโรป และให้คำมั่นว่าจะบอกเลิกพระราชบัญญัติประชาคมยุโรปปี 1972 และรับกฎหมายสหภาพยุโรปที่มีอยู่เป็นกฎหมายในประเทศของสหราชอาณาจักร มีการตั้งกระทรวงใหม่คือ กระทรวงการออกจากสหภาพยุโรป ในเดือนกรกฎาคม 2016 การเจรจากับสหภาพยุโรปเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2017 โดยมุ่งให้ความตกลงถอนตัวเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนตุลาคม 2018 ในเดือนมิถุนายน 2018 สองฝ่ายจัดพิมพ์รายงานความคืบหน้าร่วมที่วางเค้าโครงความตกลงในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งพิกัดศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่มและยูราตอม ในเดือนกรกฎาคม 2018 คณะรัฐมนตรีบริเตนตกลงรับแผนเชกเกอส์ (Chequers plan) ซึ่งเป็นเค้าโครงข้อเสนอของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2018 มีการจัดพิมพ์ความตกลงถอนตัวฉบับร่างและปฏิญญาการเมืองฉบับเค้าโครง ซึ่งตกลงกันระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ในวันที่ 15 มกราคม 2019 สภาสามัญชนออกเสียง 432 ต่อ 202 คัดค้านข้อเสนอนี้ นับเป็นความปราชัยในรัฐสภาครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร

มีความเห็นพ้องอย่างกว้างขวางในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่าเบร็กซิตน่าจะลดรายได้จริงต่อหัวของสหราชอาณาจักรในระยะกลางและระยะยาว และว่าการลงประชามติเบร็กซิตก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การศึกษาต่อผลลัพธ์นับแต่การลงประชามติแสดงว่าครัวเรือนสหราชอาณาจักรโดยเฉลี่ยเสียรายได้ 404 ปอนด์ต่อปีอันเนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และจีดีพีของประเทศลดลงระหว่างร้อยละ 2 ถึง 2.5 เบร็กซิตน่าจะลดการเข้าเมืองจากประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) และสร้างอุปสรรคต่ออุดมศึกษาและการวิจัยทางวิชาการของสหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ขนาดของ "ร่างกฎหมายหย่าร้าง" การรับความตกลงการค้าอียูที่มีอยู่ของสหราชอาณาจักร และความสัมพันธ์กับไอร์แลนด์และรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นยังไม่แน่นอน ผลกระทบที่แน่ชัดต่อสหราชอาณาจักรขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการจะเป็นเบร็กซิต "แข็ง" หรือ "อ่อน" บทวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักรพบว่าเบร็กซิตทุกรูปแบบจะไม่ส่งเสริมภาวะทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร โดยสิ่งพิมพ์เผยแพร่ของกระทรวงการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2018 ว่าด้วยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของข้อเสนอเชกเกอส์คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเลวลงร้อยละ 3.9 ในเวลา 15 ปีเมื่อเทียบกับการอยู่ในอียู

เบื้องหลัง

การลงประชามติ ค.ศ. 1975

ใน ค.ศ. 1975 สหราชอาณาจักรได้มีการลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรควรอยู่ในประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อหรือไม่ ในครั้งนั้นทุกพรรคการเมืองต่างสนับสนุนการอยู่ต่อ อย่างไรก็ตาม ก็มีความขัดแย้งบางส่วนในพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เมื่อที่ประชุมพรรคในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1975 มีมติ 2 ต่อ 1 ว่าควรออกจากประชาคม คณะรัฐมนตรีจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายสนับสนุนยุโรปและฝ่ายต่อต้านยุโรป รัฐมนตรี 7 คนจาก 23 คนคัดค้านการดำรงสมาชิกภาพในประชาคม[2]

ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1975 ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนได้ลงคะแนนโดยมีหัวข้อการประชามติว่า "ท่านคิดว่าสหราชอาณาจักรควรอยู่ในประชาคมยุโรป (ตลาดร่วม) หรือไม่?"[3] ซึ่งได้รับเสียงข้างมากว่า "เห็นควร" ท้ายที่สุด สหราชอาณาจักรยังคงเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อไป[4]

เห็นควร(%)ไม่เห็นควร(%)ผู้มาใช้สิทธิ์ (%)
17,378,58167.28,470,07332.864.5

การลงประชามติ ค.ศ. 2016

ใน ค.ศ. 2013 นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ได้ปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้มีการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป แต่แคเมอรอนก็แนะนำว่าการลงประชามติอาจจะมีขึ้นได้ในอนาคตหากประชาชนต้องการ[5][6] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2013 นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนประกาศว่า รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมอาจจะจัดให้มีการลงประชามติว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2017 บนเงื่อนไขว่าหากเขายังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต่อในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2015[7]

พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2015 ไม่นานหลังจากนั้น รัฐสภาก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการลงประชามติ แม้ว่านายกรัฐมนตรีแคเมอรอนจะอยากให้สหราชอาณาจักรยังอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปก็ตาม[8] แต่แคเมอรอนก็ได้ประกาศให้อิสระแก่รัฐมนตรีและส.ส.ของพรรคอนุรักษนิยมในการตัดสินใจตามวิจารณญาณของแต่ละคน[9] และเขายังได้อนุญาตให้รัฐมนตรีสามารถจัดกิจกรรมสนับสนุนหรือคัดค้านการออกจากสหภาพยุโรปตามอัธยาศัย[10] ตามถ้อยปราศรัยต่อสภาล่างในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนประกาศให้การลงประชามติมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 และประกาศกรอบระยะเวลาขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะทำต่อหากการประชามติมีผลว่าให้ออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดสองปีเป็นระยะเวลาในการเจรจาต่อรองและข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป

การลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 มีหัวข้อว่า "สหราชอาณาจักรควรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือถอนตัวจากสหภาพยุโรป?" ซึ่งได้รับเสียงข้างมากว่า "ถอนตัว"


การลงประชามติสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ค.ศ. 2016
ผลระดับชาติ
ทางเลือกเสียง%
ออกจากสหภาพยุโรป17,410,74251.89%
เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อ16,141,24148.11%
คะแนนที่สมบูรณ์33,551,98399.92%
คะแนนที่ไม่สมบูรณ์หรือว่าง25,3590.08%
คะแนนทั้งหมด33,577,342100.00%
ผู้ออกเสียงที่ลงทะเบียนและผู้ออกมาใช้สิทธิ46,500,00172.21%
ประชากรที่มีอายุถึงขั้นออกเสียงและผู้มาใช้สิทธิ51,356,76865.38%
ที่มา: คณะกรรมการการเลือกตั้ง
แถบผลคะแนนจากการลงประชามติ
ออก:
51.9 (17,410,742)
อยู่ต่อ:
48.1 (16,141,241)
ผลลัพธ์แบ่งตามประเทศ/ภูมิภาคของอังกฤษ (ซ้าย) และแบ่งตามเขตสภาและเขตเลือกตั้งรัฐสภาสหราชอาณาจักร (ขวา)
  ออก
  อยู่ต่อ

หลังการประกาศผล

นายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน ประกาศลาออกหลังผลประชามติให้ "ถอนตัว"

เช้าวันรุ่งขึ้นหลังประกาศผล นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ได้กล่าวแถลงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีผู้นำคนใหม่ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายในการออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ได้ออกมากล่าวว่าเป็นวันที่แสนเศร้าของประเทศชาติ

การเจรจากับสหภาพยุโรปจะเริ่มขึ้นภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผมคิดว่ามันถูกแล้วที่นายกคนใหม่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ข้อ 50 แล้วก็เริ่มขั้นตอนตามระเบียบและกฎหมายในการออกจากอียู [11]

— นายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน 24 มิ.ย. 2016

ยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังประกาศผล ค่าเงินปอนด์เทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 11% ส่วนเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 3.3%[12] ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงอย่างหนักโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์โตเกียว

ลำดับเหตุการณ์

ต่อไปนี้เป็นลำดับเหตุการณ์หลักเกี่ยวกับเบร็กซิต[13]

ค.ศ. 2016

  • 23 มิถุนายน: ผลการลงประชามติว่าด้วยการออกจากสหภาพยุโรปปรากฏว่า ผู้ออกเสียง 51.9% ออกเสียงให้ออก
  • 24 มิถุนายน: เดวิด แคเมอรอนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • 13 กรกฎาคม: เทรีซา เมย์ตอบรับคำเชิญของสมเด็จพระราชินีให้ตั้งรัฐบาล เดวิด เดวิสได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงออกจากสหภาพยุโรปเพื่อควบคุมดูแลการเจรจาการออก
  • 27 กรกฎาคม: คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอชื่อไมเคิล บาร์เนียร์ นักการเมืองฝรั่งเศส เป็นหัวหน้านักเจรจายุโรปสำหรับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร
  • 7 ธันวาคม: สภาสามัญชนสหราชอาณาจักรออกเสียง 461 ต่อ 89 เห็นชอบแผนของเทรีซา เมย์ให้ใช้ข้อ 50 เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2017

ค.ศ. 2017

  • 24 มกราคม: ศาลสูงสุดสหราชอาณาจักรวินิจฉัยในคดีมิลเลอร์ว่ารัฐสภาต้องผ่านกฎหมายเพื่อให้อำนาจการใช้ข้อ 50
  • 26 มกราคม: รัฐบาลสหราชอาณาจักรเสนอร่างกฎหมายในรัฐสภาเพื่อให้อำนาจเทรีซา เมย์ให้เริ่มกระบวนการเบร็กซิตโดยการใช้ข้อ 50 เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานสั่งให้ ส.ส. พรรคออกเสียงสนับสนุน
  • 16 มีนาคม: ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับพระบรมราชานุญาต (เป็น "พระราชบัญญํติสหภาพยุโรป (การแจ้งความถอนตัว) ค.ศ. 2017")
  • 29 มีนาคม: มีการมอบจดหมายจากเทรีซา เมย์ต่อประธานสภายุโรป ดอนัลต์ ตุสก์ให้ใช้ข้อ 50 เริ่มกระบวนการสองปีซึ่งสหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2019
  • 18 เมษายน: เทรีซา เมย์ประกาศกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2020
  • 8 มิถุนายน: มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พรรคอนุรักษนิยมยังเป็นพรรคเดี่ยวใหญ่สุดในสภาสามัญชนแต่เสียฝ่ายข้างมาก ทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลฝ่ายข้างน้อยโดยร่วมรัฐบาลกับพรรคเดโมแครติกยูเนียนนิสต์ (DUP) แห่งไอร์แลนด์เหนือ
  • 19 มิถุนายน: เริ่มการเจรจาเบร็กซิต

ค.ศ. 2018

  • 6 กรกฎาคม: มีการสรุปเอกสารขาวของสหราชอาณาจักรว่าด้วยความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป
  • 8 กรกฎาคม: เดวิสลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการออกจากสหภาพยุโรป วันรุ่งขึ้นโดมินิก ราบได้รับแต่งตั้งให้สืบตำแหน่ง
  • 21 กันยายน: สหภาพยุโรปปฏิเสธเอกสารขาวของสหราชอาณาจักร
  • 14 พฤศจิกายน: มีการเผยแพร่ความตกลงการถอนตัวเบร็กซิต
  • 15 พฤศจิกายน: ราบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการออกจากสหภาพยุโรป วันรุ่งขึ้นสตีเฟน บาร์เคลย์ได้รับแต่งตั้งให้สืบตำแหน่ง
  • 25 พฤศจิกายน: รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น 27 ประเทศรับรองความตกลงการถอนตัวฯ

ค.ศ. 2019

  • 15 มกราคม: มีการจัดการออกเสียงมีความหมายครั้งแรกต่อความตกลงการถอนตัวในสภาสามัญชนสหราชอาณาจักร รัฐบาลแพ้ 432 ต่อ 202 เสียง
  • 12 มีนาคม: การออกเสียงมีความหมายครั้งที่สองเรื่องความตกลงการถอนตัว รัฐบาลแพ้อีกครั้ง 391 ต่อ 242 เสียง
  • 14 มีนาคม: ญัตติรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่าน 412 ต่อ 202 เสียงให้ขยายระยะข้อ 50
  • 20 มีนาคม: เทรีซา เมย์ขอให้สหภาพยุโรปขยายเวลาข้อ 50 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2019
  • 21 มีนาคม: คณะมนตรียุโรปเสนอให้ขยายเวลาข้อ 50 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 หากความตกลงการถอนตัวผ่านก่อนวันที่ 29 มีนาคม 2019 แต่หากไม่ผ่าน สหราชอาณาจักรจะมีเวลาจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2019 ในการหาหนทางไปต่อ มีการตกลงการขยายเวลาอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น
  • 29 มีนาคม: การสิ้นสุดดั้งเดิมของระยะเวลาข้อ 50 และวันตามกำหนดเดิมสำหรับเบร็กซิต การออกเสียงครั้งที่สามต่อความตกลงการถอนตัวแยกจากปฏิญญาการเมือง รัฐบาลแพ้อีกครั้ง 344 ต่อ 286 เสียง
  • 5 เมษายน: เทรีซา เมย์ขอให้สหภาพยุโรปขยายระยะเวลาข้อ 50 เป็นครั้งที่สองจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2019
  • 10 เมษายน: คณะมนตรียุโรปให้ขยายเวลาข้อ 50 อีกจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2019 หรือวันแรกของเดือนหลังจากความตกลงถอนตัวผ่าน ขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์ใดเกิดก่อน อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรต้องจัดการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนพฤษภาคม 2019 มิฉะนั้นจะต้องออกในวันที่ 1 มิถุนายน 2019
  • 24 พฤษภาคม: เทรีซา เมย์ประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม มีผลวันที่ 7 มิถุนายน เนื่องจากไม่สามารถผ่านแผนเบร็กซิตของตนผ่านรัฐสภาและการออกเสียงไม่ไว้วางใจหลายครั้ง โดยจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างมีการเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่
  • 18 กรกฎาคม: สำนักงานความรับผิดชอบงบประมาณประเมินว่าเบร็กซิตแบบไม่มีความตกลงจะทำให้บริเตนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเศรษฐกิจจะหดตัว 2%[14]
  • 18 กรกฎาคม: ส.ส. อนุมัติการแก้ไขกฎหมายซึ่งยับยั้งการชะลอรัฐสภาระหว่างวันที่ 9 ตุลาคมถึง 18 ธันวาคม ยกเว้นมีการตั้งฝ่ายบริหารไอร์แลนด์เหนือ โดยมีคะแนนเสียงข้างมาก 41 เสียง[15]
  • 24 กรกฎาคม: บอริส จอห์นสันตอบรับคำเชิญของสมเด็จพระราชินีให้ตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

กระบวนการข้อ 50

การใช้

ข้อ 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรปควบคุมการถอนตัวจากสหภาพยุโรป ภายใต้กระบวนวิธีการใช้ข้อ 50 กำหนดให้สมาชิกแจ้งสภายุโรป ซึ่งกำหนดให้สหภาพยุโรป "เจรจาและบรรลุความตกลงกับรัฐ[ที่จะถอนตัว] วางข้อตกลงสำหรับการถอนตัว พิจารณากรอบสำหรับความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหภาพ[ยุโรป]" ระยะเจรจาจำกัดไว้สองปีเว้นแต่มีการขยายเวลา ซึ่งสนธิสัญญาต่าง ๆ จะเลิกใช้บังคับ มีการอภิปรายว่าการเจรจาคู่ขนานเงื่อนไขการถอนตัวและความสัมพันธ์ในอนาคตภายใต้ข้อ 50 เหมาะสมหรือไม่ หรือบริเตนไม่มีสิทธิเจรจาการค้าในอนาคตกับอียู27 เพราะมีการให้เหตุผลว่าอำนาจนี้สงวนไว้สำหรับอียูตราบเท่าที่สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิก[16]

แม้พระราชบัญญัติการลงประชามติ ค.ศ. 2015 ไม่แสดงการกำหนดให้ต้องใช้ข้อ 50[17] แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรแถลงว่า รัฐบาลคาดหมายว่าคะแนนเสียงถอนตัวจะต้องมีการถอนตัวจากสหภาพฯ ตามมา[18][19] ให้หลังผลการลงประชามติ แคเมอรอนลาถอนตัวและระบุว่าจะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะใช้ข้อ 50[20][21]

ศาลสูงสุดวินิจฉัยในคดีมิลเลอร์ในเดือนมกราคม 2017 ว่ารัฐบาลต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาในการใช้ข้อ 50[22][23] วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2017 สภาสามัญชนถอนตัวเสียงท่วมท้นเห็นชอบร่างกฎหมายของรัฐบาลที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแจ้งความจำนงถอนตัวภายใต้ข้อ 50[24] และร่างกฎหมายผ่านเป็นกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ (การแจ้งความถอนตัว) สหภาพยุโรป ค.ศ. 2017 จากนั้นเทรีซา เมย์ลงนามจดหมายใช้ข้อ 50 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2017 ซึ่งทิม บาร์โรว์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำสหภาพยุโรป ยื่นแก่ดอนัลต์ ตุสก์ ประธานสภายุโรป เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2017[25][26][27] ความว่า:

เรียนท่านประธานทุสก์ เมื่อ 23 มิถุนายนปีที่แล้ว ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรได้ลงมติให้ออกจากสหภาพยุโรป ตามที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้วนั้น การตัดสินใจครั้งนั้นหาใช่เป็นการปฏิเสธไมตรีที่เราแบ่งปันระหว่างกันในหมู่มิตรประเทศยุโรป หาใช่ทั้งเป็นการพยายามทำให้สหภาพยุโรปหรือรัฐสมาชิกที่เหลืออยู่เกิดความเสียหายใดๆ ในทางตรงข้าม สหราชอาณาจักรต้องการให้สหภาพยุโรปเจริญก้าวหน้าและคงอยู่ต่อไป ถึงกระนั้น มหาชนได้มีมติให้พื้นฟูอำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระอย่างที่พวกเราต่างเห็นเป็นประจักษ์ เราจึงจะออกจากสหภาพยุโรป แต่เราจะไม่ออกจากยุโรป [...][28]

— นายกรัฐมนตรี เทรีซา เมย์ 29 มี.ค. 2017

มีการแย้งว่ารัฐบาลบริติชสามารถหยุดกระบวนการถอนตัวตามข้อ 50 ได้ฝ่ายเดียวหรือไม่ ซึ่งเป็นความเห็นที่ผู้ประพันธ์ข้อ 50 ลอร์ดเคอร์ ก็แสดงความเห็นด้วย[29] คณะกรรมาธิการเบร็กซิตของรัฐสภายุโรประบุว่า การเพิกถอนฝ่ายเดียวไม่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นภัยคุกคามทางศีลธรรมอย่างสำคัญ ซึ่งรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอาจละเมิดเพื่อใช้แบล็กเมล์สหภาพฯ[30]

คำถามเรื่องสามารถย้อนการแจ้งความภายใต้ข้อ 50 ได้หรือไม่นั้นเป็นคดีความ ซึ่งนักการเมืองชาวสกอตแลนด์หลายพรรคและโครงการกูดลอว์มอบคดีให้ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECJ)[31] รัฐบาลสหราชอาณาจักรมุ่งขัดขวางการมอบคดีดังกล่าว ซึ่งไปสิ้นสุดที่ศาลสูงสุดสหราชอาณาจักร แต่สุดท้ายความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผล[32] วันที่ 10 ธันวาคม 2018 ECJ วินิจฉัยว่าประเทศหนึ่งสามารถยกเลิกการถอนจากอียูฝ่ายเดียวได้โดยเพียงแจ้งความเท่านั้น โดยที่ประเทศนั้นกระทำก่อนวันถอนตัวจริง โดยไม่มีเงื่อนไขและโดยสุจริตใจ[33] อย่างไรก็ดี รัฐบาลตอบสนองทันควันว่าไม่มีความตั้งใจใช้สิทธินั้น[33]

ภาคีสองฝ่ายของการเจรจาการถอนตัวถูกผูกมัดตามข้อ 50 (3) ของสนธิสัญญาฯ ซึ่งระบุชัดเจนว่าสนธิสัญญาอียูจะเลิกใช้บังคับ "ตั้งแต่วันที่ความตกลงการถอนตัวมีผลใช้บังคับ หรือหากตกลงไม่ได้ สองปีหลัง" การแจ้งความถอนตัว ยกเว้นสภายุโรปและสหราชอาณาจักรตกลงขยายระยะเวลาสองปี[34]

พระราชบัญญัติ (การถอนตัว) สหภาพยุโรป ค.ศ. 2018 (ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายอุปกรณ์สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2019) ในส่วน 20 (1) นิยามว่า "วันถอนตัว" คือ 23.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2019[35] เดิมนิยาม "วันถอนตัว" ไว้ว่าเป็นเวลา 23.00 น. ของวันที่ 29 มีนาคม 2019 GMT[36][37][34][38][39]

ความตกลงการถอนตัวและปฏิญญาการเมือง

การเตรียมเจรจา

คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่าจะไม่เริ่มการเจรจาใด ๆ ก่อนสหราชอาณาจักรใช้ข้อ 50 อย่างเป็นทางการ[40] ในเดือนตุลาคม 2016 ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยุงเคอร์ ระบุว่าสหภาพยุโรปจะไม่เจรจาในทางที่ให้บริเตนต้องจัดการลงประชามติเป็นครั้งที่สอง[41] วันที่ 28 มิถุนายน 2016 นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล และประธานสภายุโรป ดอนัลต์ ตุสก์ ในวันต่อมา ระบุว่าสหราชอาณาจักรยังสามารถอยู่ในตลาดเดี่ยวยุโรป (ESM) เพียงแค่สหราชอาณาจักรยอมรับเสรีภาพการเคลื่อนไหวสี่ประการ ได้แก่ เสรีภาพสำหรับสินค้า ทุน บริการและแรงงาน[42] ในเดือนตุลาคม นายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์เน้นว่าการยุติเขตอำนาจของกฎหมายอียูและการเคลื่อนไหวเสรีจากทวีปยุโรปเป็นลำดับความสำคัญของสหราชอาณาจักร โดยบริษัทอียูมีเสรีภาพเต็มที่ในการค้าในสหราชอาณาจักรและ ESM[43][44]

ในเดือนพฤศจิกายน 2016 เมย์เสนอให้บริเตนและรัฐสมาชิกอียูอื่นรับประกันสองฝ่ายซึ่งสิทธิอยู่อาศัยของพลเมืองอียูที่ไม่ใช่บริติช 3.3 ล้านคนในสหราชอาณาจักรและพลเมืองบริติช 1.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป เพื่อแยกชะตากรรมของพลเมืองเหล่านี้ไม่ให้มีการต่อรองระหว่างการเจรจาเบร็กซิต[45] แม้รัฐอียูส่วนใหญ่เห็นชอบในทีแรก แต่ประธานสภายุโรป ตุสก์ ร่วมกับรัฐสมาชิกเยอรมนีขัดขวางข้อเสนอดังกล่าว[46]

ในเดือนมกราคม 2017 นายกรัฐมนตรีเมย์นำเสนอวัตถุประสงค์การเจรจา 12 ข้อและยืนยันว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรจะไม่แสวงสมาชิกภาพตลาดเดี่ยวถาวร[47] เธอยังเรียกร้องให้ยุติเขตอำนาจของศาลยุติธรรมยุโรป ความตกลงศุลกากรใหม่ที่ไม่รวมพิกัดศุลกากรภายนอกร่วมและนโยบายพาณิชย์ร่วมของอียู การยุติเสรีภาพการเดินทางของประชาชน ความร่วมมือด้านอาชญากรรมและการก่อการร้าย การร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเข้าร่วมกับรัฐบาลที่โอนอำนาจของส่วนกลางให้ท้องถิ่น การธำรงพื้นที่เดินทางร่วมกับไอร์แลนด์ และการสงวนสิทธิแรงงานที่มีอยู่เดิม[48] หัวหน้านักเจรจาของรัฐสภายุโรป กีย์ เวอร์ฮอฟสตาดท์ (Guy Verhofstadt) ตอบว่าจะไม่มี "การเลือกเชอร์รี" โดยสหราชอาณาจักรในการเจรจา[49]

การเจรจารอบแรก (ปี 2017)

ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสำหรับการเจรจาเริ่มในวันที่ 29 มีนาคม 2017 เมื่อสหราชอาณาจักรมอบจดหมายแจ้งความการถอนตัวอย่างเป็นทางการ ด้านแมร์เคิลยืนยันว่าอียูจะไม่อภิปรายความร่วมมือโดยไม่ชำระสะสางเงื่อนไขการออกจากอียูเสียก่อน

นักเจรจาสหราชอาณาจักรและอียูตกลงว่าการเจรจาขั้นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิการอยู่อาศัยเป็นพิเศษ จะเริ่มในเดือนมิถุนายน 2017 (หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาฝรั่งเศสทันที) และการเจรจาสมบูรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตกลงการค้า จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2017 (ทันทีหลังการเลือกตั้งสหพันธรัฐเยอรมัน ค.ศ. 2017)[50][51][52]

วันที่ 29 เมษายน 2017 ทันทีหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก หัวหน้ารัฐบาลรัฐสมาชิกที่เหลือ 27 ประเทศตกลงแนวทางการเจรจาที่ตุสก์เตรียม[53] แนวทางดังกล่าวยึดมุมมองว่าข้อ 50 อนุญาตการเจรจาสองระยะ ซึ่งสหราชอาณาจักรตกลงข้อผูกมัดทางการเงินและประโยชน์ตลอดชีวิตของพลเมืองอียูในบริเตนก่อน แล้วการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตจึงจะเริ่มได้[54] ในระยะแรก รัฐสมาชิกจะเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรจ่าย "ใบแจ้งหนี้หย่าร้าง" ซึ่งทีแรกประมาณว่ามีมูลค่า 52,000 ล้านปอนด์[55] และหลังมีข้อเรียกร้องทางการเงินเพิ่มจากเยอรมนี ฝรั่งเศสและโปแลนด์ มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 92,000 ล้านปอนด์[56] รายงานของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปของสภาขุนนางบริเตน ซึ่งจัดพิมพ์ในวันที่ 4 มีนาคม 2017 แถลงว่าหากมีไม่มีข้อตกลงหลังเบร็กซิตเมื่อสิ้นสุดระยะเจรจา สหราชอาณาจักรอาจถอนตัวได้โดยไม่ต้องชำระเงิน[57]

วันที่ 22 พฤษภาคม 2017 สภายุโรปให้อำนาจนักเจรจาเริ่มการเจรรจาเบร็กซิตและสภาฯ รับคำสั่งการเจรจา[58] การเจรจาวันแรกเกิดขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งเดวิสและไมเคิล บาร์เนียร์ ตกลงให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิการอยู่อาศัยก่อน ส่วนเดวิสยอมรับว่าการอภิปรายเรื่องชายแดนไอร์แลนด์เหนือจะต้องรอความตกลงการค้าในอนาคต[59] วันที่ 22 มิถุนายน 2017 นายกรัฐมนตรีเมย์รับประกันว่าพลเมืองอียูที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างชอบด้วยกฎหมายทุกคนจะไม่ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ และยื่นขอเสนอให้พลเมืองอียูที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรเกินห้าปีจนถึงเส้นตายที่ยังไม่ระบุระหว่างเดือนมีนาคม 2017 ถึงมีนาคม 2019 มีสิทธิเช่นเดียวกับพลเมืองสหราชอาณาจักร บนเงื่อนไขว่าอียูให้ข้อเสนอเดียวกันแก่พลเมืองบริติชที่อาศัยอยู่ในอียูอย่างชอบด้วยกฎหมาย[60] อย่างไรก็ดี นักเจรจาอียูไม่ยอมให้[61] ซึ่งปฏิเสธการเร่งความตกลงว่าด้วยผู้อาศัยนอกประเทศเมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน 2017[62] และนักเจรจาหวังว่าศาลยุโรปจะยังคงมีเขตอำนาจในสหราชอาณาจักรในประเด็นเกี่ยวกับพลเมืองอียู ตามเป้าหมายการเจรจาซึ่งจัดพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2017[63][64]

การเจรจารอบสองเริ่มในกลางเดือนกรกฎาคม 2017 มีความคืบหน้าในปัญหาชายแดนไอร์แลนด์เหนือ นักเจรจาสหราชอาณาจักรขอให้แจกแจงข้อเรียกร้อง "ใบแจ้งนี้หย่าร้าง" โดยละเอียด และนักเจรจาอียูวิจารณ์ข้อเสนอสิทธิพลเมืองของสหราชอาณาจักร[65] เดวิด เดวิสไม่ผูกมัดกับการชำระเงินสุทธิของสหราชอาณาจักรแก่อียูในเรื่องใบแจ้งหนี้หย่าร้างที่มีคำร้อง ส่วนไมเคิล บาร์เนียร์ไม่ประนีประนอมข้อเรียกร้องของเขาให้ศาลยุติธรรมยุโรปยังคงมีเขตอำนาจเหนือสิทธิของพลเมืองอียูที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิต[66] โดยปฏิเสธข้อเสนอให้มีองค์กรระหว่างประเทศใหม่ซึ่งมีผู้พิพากษาสหราชอาณาจักรและอียู[67]

วันที่ 16 สิงหาคม 2017 รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดเผยเอกสารกลุ่มแรก ๆ ซึ่งระบุรายละเอียดของความทะเยอทะยานของบริเตนหลังเบร็กซิต โดยอภิปรายข้อตกลงการค้าและศุลกากร[68] วันที่ 23 สิงหาคม เทรีซา เมย์ประกาศว่าบริเตนจะออกจากเขตอำนาจโดยตรงของศาลยุติธรรมอียูเมื่อระยะเวลาเปลี่ยนผ่านตามแผนสิ้นสุด แต่ทั้งศาลบริติชและศาลยุติธรรมอียูจะยังมองคำวินิจฉัยของอีกฝ่ายหลังจากนั้นเช่นกัน[69] เอกสารจุดยืนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรฉบับหนึ่งซึ่งจัดพิมพ์ในเดือนสิงหาคมเรียกร้องไม่ให้มีการจำกัดสินค้าที่มีอยู่ในตลาดสหราชอาณาจักรและอียูเพิ่มเติม[70]

การเจรจารอบสามเริ่มเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2017 มีความขัดแย้งกันในเรื่องการระงับข้อพิพาททางการเงิน หนังสือพิมพ์ ไอริชไทมส์ อธิบายว่านักเจรจาบริติชเรียกกรอบการเงินประจำหลายปี (MFF หรือ Maff) เจ็ดปีสำหรับช่วงปี 2014–2020 ที่รัฐสมาชิกและรัฐสภายุโรปเห็นพ้องว่าเป็น "เครื่องมือวางแผน" สำหรับช่วงเวลาถัดไปมิใช่ข้อผูกมัดทางการเงินที่มีผลผูกพันตามกฎหมายต่อรัฐสมาชิก กรณีของบริเตนคือ MFF ตั้งเพดานงบประมาณภายใต้หลายหัวเรื่องและต่อมามีการทบทวนมูลวิวัติระหว่างกระบวนการงบประมาณประจำปีซึ่งจะเป็นข้อผูกมัดตามกฎหมายจริงต่อแต่ละรัฐ ซึ่งขัดต่อระเบียบวิธีของคณะกรรมาธิการอียูสำหรับการคำนวณใบแจ้งหนี้เบร็กซิตของสหราชอาณาจักรที่รวมการหาร MFF ออกเป็นสัดส่วนตามที่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐเคยตกลงกันไว้[71] ส่วนในปัญหาชายแดนไอร์แลนด์มีความคืบหน้าโดยฝ่ายบริติชรับประกันการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของพลเมืองอียูภายใต้พื้นที่เดินทางร่วมอันประกอบด้วยไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร[72]

วันที่ 5 กันยายน 2017 เดวิสกล่าวว่า มีความคืบหน้ารูปธรรมในช่วงฤดูร้อนในด้านอย่างการคุ้มครองสิทธิของชาวบริติชผู้อาศัยอยู่นอกประเทศในอียูในการเข้าถึงสาธารณสุขและด้านอนาคตของชายแดนไอร์แลนด์ ขณะที่ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันมากในเรื่อง "ใบแจ้งหนี้หย่าร้าง"[73] วันที่ 9 กันยายน คณะกรรมาธิการอียูจัดพิมพ์เอกสารเจรจาหลายฉบับ รวมทั้งฉบับหนึ่งที่อียูประกาศว่าเป็นความรับผิดชอบของสหราชอาณาจักรที่จะเสนอทางออกสำหรับชายแดนไอร์แลนด์หลังเบร็กซิต เอกสารดังกล่าวคาดการณ์ทางออก "เอกลักษณ์" ซึ่งจะได้รับอนุญาตที่นี่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ทางออกไอร์แลนด์ที่พิเศษดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นแผ่นแบบสำหรับความสัมพันธ์หลังเบร็กซิตกับรัฐสมาชิกอียูอื่น[74]

วันที่ 22 กันยายน 2017 เมย์ประกาศรายละเอียดข้อเสนอเบร็กซิตเพิ่มเติม[75][76] โดยนอกจากเสนอเงิน 20,000 ล้านยูโรในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสองปีและการยอมรับผู้เข้าเมืองชาวยุโรปต่อไปแล้ว[77] ยังเสนอ "ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงแบบใหม่" กับอียู และยังคงมีส่วนร่วมต่อไปในโครงการที่ถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เช่น โครงการวิทยาศาสตร์และความมั่นคง[76][75] เธอยังยืนยันว่าสหราชอาณาจักรจะไม่ขวางทางข้อเสนอสำหรับบูรณาการอียูเพิ่มของยุงเคอร์[76][75] บาร์เนียร์ต้อนรับข้อเสนอของเมย์ว่า "สร้างสรรค์" แต่ "ต้องแปลเป็นจุดยืนการเจรจาเพื่อให้เป็นความก้าวหน้าที่มีความหมาย" ด้วย[78]

การเจรจารอบสี่เริ่มในวันที่ 25 กันยายน โดยบาร์เนียร์ประกาศ่ว่าเขาไม่มีอาณัติจากอียู27 ให้อภิปรายข้อตกลงการเปลี่ยนผ่านที่เมย์เสนอ เดวิสย้ำว่าสหราชอาณาจักรสามารถปฏิบัติตามข้อผูกมัดที่ให้ระหว่างเป็นสมาชิกอียูเฉพาะในบริบทข้อตกลง "ความเป็นหุ้นส่วนพิเศษ" ในอนาคตกับอียูเท่านั้น[79] ผู้เจรจาของอียูระบุว่าต้องบรรลุความตกลงระหว่างบริเตนกับอียูภายในเดือนตุลาคม 2018 เพื่อให้มีเวลาสำหรับรัฐสภาของชาติต่าง ๆ เห็นชอบกับเบร็กซิต[78]

การเจรจาระยะที่สอง (ปี 2018)

ในเดือนธันวาคม 2017 ผู้นำอียูประกาศความตกลงเริ่มการเจรจาระยะใหม่ โดยเริ่มเจรจาเรื่องระยะเปลี่ยนผ่านหลังเดือนมีนาคม 2019 ในต้นปี 2018 และการเจรจาความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–อียูในอนาคต ร่วมทั้งด้นการค้าและความมั่นคงจะเริ่มในเดือนมีนาคม[80]

วันที่ 19 มิถุนายน 2018 สหราชอาณาจักรและอียูจัดพิมพ์แถลงการณ์ร่วมที่ระบุเค้าโครงความตกลงในระดับนักเจรจา ไมเคิล บาร์เนียร์ยกย่อง "การอุทิศตนและการผูกมัด" ของทีมเจรจาสองฝ่าย และว่ามีความคืบหน้าในด้านศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และความตกลงนิวเคลียร์ยุโรป ยูราตอม[81][82]

วันที่ 12 กรกฎาคม 2018 เมย์และคณะรัฐมนตรีบริเตนบางส่วนจัดพิมพ์ข้อเสนอความตกลงความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู ที่สื่อบริติชหลายสำนักเรียก แผนเชกเกอส์ ซึ่งมีการสรุปในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม รัฐมนตรีเบร็กซิต เดวิส ลาออกโดยให้เหตุผลว่ามาจากความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม[83] ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอริส จอห์นสัน ลาออกตามในวันรุ่งขึ้น[84]

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2018 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีบริติชเห็นชอบร่างความตกลงการถอนตัว[85][86] วันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีเบร็กซิต โดมินิก ราบ, สมาชิกคณะรัฐมนตรี เอสเทอร์ แม็กเวย์ และรัฐมนตรีด้อยอาวุโสหลายคนลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเอกสาร[87]

วันที่ 19 ธันวาคม 2018 คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศแผนการปฏิบัติสำรอง "ไม่มีข้อตกลง" ในบางภาคส่วน ที่เกี่ยวกับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร "ในเวลา 100 วัน"[88]

หลังการออกเสียงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2018 สมาชิกรัฐสภาวินิจฉัยว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรละเมิดเอกสิทธิ์ของรัฐสภาฐานไม่ยอมให้คำแนะนำทางกฎหมายสมบูรณ์ที่เคยได้รับต่อผลของเงื่อนไขการถอนตัวที่มีการเสนอแก่รัฐสภา[89] ประเด็นสำคัญในคำแนะนำครอบคลุมผลทางกฎหมายของความตกลง "แผนรับมือ" (backstop) ที่ว่าด้วยไอร์แลนด์เหนือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรส่วนที่เหลือ ในด้านที่เกี่ยวข้องกับชายแดนศุลกากรระหว่างอียูและสหราชอาณาจักร และการแสดงเจตนาเป็นนัยต่อความตกลงวันศุกร์ประเสริฐ ซึ่งนำไปสู่การยุติเดอะทรับเบิลส์ในไอร์แลนด์เหนือ และโดยเจาะจงว่าสหราชอาณาจักรจะแน่ใจว่าสามารถออกจากอียูในสำนึกเชิงปฏิบัติหรือไม่ ภายใต้ข้อเสนอร่างนั้น

วันรุ่งขึ้น มีการจัดพิมพ์คำแนะนำ คำถามคือ "อะไรเป็นผลกระทบทางกฎหมายของการที่สหราชอาณาจักรตกลงพิธีสารการถอนตัวต่อไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือโดยเฉพาะผลที่สอดคล้องกับข้อ 5 และ 184 ของความตกลงการถอนตัวหลัก" โดยคำแนะนำมีว่า

พิธีสารผูกมัดสหราชอาณาจักรและอียู [ย่อหน้า 3] และคาดหมายว่าจะบรรลุทางออกปัญหาชายแดนและศุลกากรในอนาคตขั้นสุดท้าย [ย่อหน้า 5, 12, 13] แต่ "ตั้งใจให้พิธีสารฯ ยังอยู่แม้เมื่อชัดเจนว่าการเจรจาล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด" [ย่อหน้า 16] และ "โดยสรุป แบบร่างปัจจับนของพิธีสารฯ ... ไม่มีกลไกที่น่าจะทำให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพศุลกากรทั่วสหราชอาณาจักรโดยปราศจากความตกลงตามมาอย่างชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งยังเป็นจริงอยู่แม้ภาคียังเจรจาอยู่อีกหลายปีต่อมา และแม้แต่ภาคีเชื่อว่าการเจรจาล้มเหลวอย่างชัดเจนแล้ว และไม่มีแผนความตกลงความสัมพันธ์ในอนาคต" [ย่อหน้า 30][89]

วันที่ 10 ธันวาคม 2018 นายกรัฐมนตรีบริติชเลื่อนการออกเสียงข้อตกลงเบร็กซิตของตนในสภาสามัญชน เมื่อเผชิญกับเค้าลางความปราชัยในสภาสามัญชน[90] ตัวเลือกนี้ทำให้เมย์มีเวลาต่อรองกับ ส.ส. แถวหลังพรรคอนุรักษนิยมและอียู แม้อียูเคยปัดการอภิปรายเพิ่มเติมไปแล้ว กลุ่มวิจัยยุโรป ส่วนหนึ่งของพรรคอนุรักษนิยมที่สนับสนุนเบร็กซิต "แข็ง" คัดค้านสนธิสัญญาความตกลงการถอนตัวที่เสนอของนายกรัฐมนตรี สมาชิกคัดค้านการใส่แผนรับมือไอร์แลนด์ในความตกลงฯ สมาชิกกลุ่มยังคัดค้านการชำระสะสางทางการเงิน 39,000 ล้านปอนด์กับสหภาพยุโรป และว่าความตกลงนี้จะส่งผลให้สหราชอาณาจักรยังคงปฏิบัติตามระเบียบของอียูในพื้นที่นโยบายหลัก และยังคงเขตอำนาจของศาลยุติธรรมยุโรปเหนือการตีความความตกลงและกฎหมายยุโรปจะยังใช้ได้ในสหราชอาณาจักร[91]

ความตกลงการถอนตัวและการขยายเวลา (ปี 2019)

วันที่ 15 มกราคม 2019 สภาสามัญชนออกเสียง 432 ต่อ 202 คัดค้านความตกลงการถอนตัว นับเป็นการแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภาครั้งใหญ่สุดของรัฐบาลสหราชอาณาจักร[92][93][94] ไม่นานจากนั้น ฝ่ายค้านยื่นมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล,[95] ซึ่งถูกปฏิเสธด้วยเสียง 325 ต่อ 306 เสียง[96]

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2019 รัฐบาลแพ้เสียงเห็นชอบข้อตกลงอีกครั้งด้วยคะแนน 391 ต่อ 242[97]

วันที่ 20 มีนาคม 2019 นายกรัฐมนตรี เทรีซา เมย์ เขียนจดหมายถึงประธานสภายุโรป ดอนัลด์ ตุสก์ ขอให้เลื่อนเบร็กซิตเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2019[98] วันที่ 21 มีนาคม เมย์ให้เหตุลต่อการประชุมสุดยอดที่ประชุมยุโรปในบรัสเซลส์ หลังเมย์ออกจากที่ประชุม ผู้นำอียูที่เหลืออภิปรายจนสุดท้ายปฏิเสธวันที่ 30 มิถุนายน และเสนอตัวเลือกระหว่างวันที่เบร็กซิตสองวันแทน วันที่ 22 มีนาคม 2019 มีการตกลงตัวเลือกการขยายเวลาระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและที่ประชุมยุโรป[35] ทางเลือกแรกคือ หาก ส.ส. ปฏิเสธความตกลงของเมย์สัปดาห์หน้า เบร็กซิตจะมีกำหนดวันที่ 12 เมษายน 2019 ไม่ว่าจะมีความตกลงหรือไม่ หรืออีกทางหนึ่ง สามารถขอการขยายเวลาและการผูกมัดให้เข้าร่วมการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป ค.ศ. 2019 ทางเลือกที่สองมีว่าหาก ส.ส. เห็นชอบความตกลงของเมย์ เบร็กซิตจะมีกำหนดวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 วันที่หลังนี้เป็นวันก่อนการเริ่มการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป[99] หลังรัฐบาลดูเหมือนไม่มีหลักประกัน ความกังวลเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการเปลี่ยนแปลงที่มีการเสนอ (เนื่องจากมีวันที่ออกที่เป็นไปได้สองวัน) เมื่อวันก่อน[100][101] วันที่ 27 มีนาคม 2019 ทั้งสภาขุนนางและสภาสามัญชนเห็นชอบกฎหมายอุปกรณ์เปลี่ยนวันที่ออกเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 หากมีการเห็นชอบความตกลงการถอนตัว หรือวันที่ 12 เมษายน 2019 หากไม่มีการเห็นชอบ[102][103] มีการลงนามการแก้ไขกฎหมายเป็นกฎหมายเมื่อวันรุ่งขึ้น[35]

มีการนำความตกลงการถอนตัวกลับเข้าสภาสามัญชนโดยไม่มีความเข้าใจแนบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม[104] ญัตติสนับสนุนความตกลงการถอนตัวของรัฐบาลแพ้ 344 ต่อ 286 เสียง[105]

หลังรัฐสภาสหราชอาณาจักรไม่เห็นชอบความตกลงการถอนตัวภายในวันที่ 29 มีนาคม สหราชอาณาจักรมีกำหนดออกจากอียูตามกฎหมายในวันที่ 12 เมษายน ในวันที่ 10 เมษายน 2019 การเจรจารอบดึกในบรัสเซลส์มีผลให้ขยายเวลาอีกครั้งเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2019 โดยเทรีซา เมย์ขอให้ขยายเวลาอีกครั้งจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขของการขยายเวลารอบใหม่นี้ หากความตกลงการถอนตัวผ่านก่อนเดือนตุลาคม เบร็กซิตจะเกิดขึ้นในวันแรกของเดือนถัดไป อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรมีข้อผูกพันให้จัดการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนตุลาคม หรือออกจากอียูในวันที่ 1 มิถุนายนโดยไม่มีข้อตกลง[106][107]

อ้างอิง

บทอ่านเพิ่ม

  • Ansorg, N. & Haastrup, T.: "Brexit Beyond the UK's Borders: What It Means for Africa", GIGA Focus Afrika No. 03/2016
  • Clarke, Harold D.; Goodwin, Matthew; Whiteley, Paul (2017). Brexit: Why Britain Voted to Leave the European Union. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-1316605042.
  • Culkin, Nigel; Simmons, Richard (2018). Tales of Brexits Past and Present: Understanding the Choices, Threats and Opportunities In Our Separation from the EU. Bingley: Emerald Publishing. ISBN 978-1787694385.
  • Evans, Geoffrey; Menon, Anand (2017). Brexit and British Politics. Cambridge: Polity Press. ISBN 978-1509523863.
  • Hobolt, Sara B. (7 September 2016). "The Brexit vote: a divided nation, a divided continent". Journal of European Public Policy. 23 (9): 1259–1277. doi:10.1080/13501763.2016.1225785. ISSN 1350-1763.
  • Oliver, Tim (2018). Understanding Brexit: A concise introduction. Bristol: Policy Press. ISBN 978-1447346395.
  • O'Rourke, Kevin (2019). A Short History of Brexit: From Brentry to Backstop. London: Pelican. ISBN 978-0241398272.
  • O'Toole, Fintan (2018). Heroic Failure: Brexit and the Politics of Pain. London: Apollo. ISBN 978-1789540987.
  • Outhwaite, William (ed.), Brexit: Sociological Responses (London: Anthem Press, 2017). ISBN 978-1783086443
  • Peers, Steve (2016). The Brexit: The Legal Framework for Withdrawal from the EU or Renegotiation of EU Membership. Oxford: Hart Publishing. ISBN 978-1-84946-874-9. OCLC 917161408.
  • Rogers, Ivan (2019). 9 Lessons in Brexit. London: Short Books. ISBN 978-1780723990.

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง