ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946)

รัฐในยุโรปกลางระหว่าง ค.ศ. 1920 ถึง ค.ศ. 1946

ราชอาณาจักรฮังการี (ฮังการี: Magyar Királyság) เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐฮังการีระหว่าง ค.ศ. 1920 จนถึง ค.ศ. 1946 ราชอาณาจักรดำรงอยู่กระทั่งความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง และการประกาศสาธารณรัฐฮังการีที่ 2 แม้ว่าในช่วงเวลานี้ฮังการีจะปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย แต่กระนั้นก็ยังไม่มีพระมหากษัตริย์ มีเพียงผู้สำเร็จราชการ มิกโลช โฮร์ตี ซึ่งเป็นพลเรือเอกแห่งอดีตจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ที่ยังคงเป็นประมุขแห่งรัฐ หลังจากการปกครองแบบอนุรักษนิยมเป็นเวลานานตั้งแต่ ค.ศ. 1920 จนถึง ค.ศ. 1944 ประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำโดยนาซีเยอรมนีใน ค.ศ. 1944 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังปฏิบัติการทางทหารในเดือนมีนาคม ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการถูกแทนที่โดยผู้นำฟาสซิสต์ แฟแร็นตส์ ซาลอชี แห่งพรรคแอร์โรว์ครอสส์ในเดือนตุลาคม แต่ต่อมากองกำลังนาซีได้ถูกขับไล่ออกจากฮังการีโดยกองกำลังโซเวียต ทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต และมีการล้มเลิกระบอบราชาธิปไตยใน ค.ศ. 1946 ในทางประวัติศาสตร์แล้ว จะมีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างยุคสมัยอื่น ๆ ที่ใช้ชื่อราชอาณาจักรฮังการีเหมือนกัน ดังนั้นคำว่า ยุคผู้สำเร็จราชการ หรือ ยุคโฮร์ตี จึงมักถูกใช้อธิบายเพื่อบ่งบอกถึงช่วงเวลานี้[7]

ราชอาณาจักรฮังการี

Magyar Királyság  (ฮังการี)
1920–1946
คำขวัญRegnum Mariae Patrona Hungariae (ละติน)
("ราชอาณาจักรแห่งพระแม่มารีย์ ผู้อุปถัมภ์แห่งฮังการี")
เพลงชาติHimnusz
(ไทย: "เพลงสดุดี")
ราชอาณาจักรฮังการีใน ค.ศ. 1942
ราชอาณาจักรฮังการีใน ค.ศ. 1942
เขตการปกครองของฮังการี ค.ศ. 1942
เขตการปกครองของฮังการี ค.ศ. 1942
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
บูดาเปสต์
ภาษาราชการฮังการี
ภาษาพื้นเมืองรูซึน[1][2] (ในซับคาร์เพเทีย)
ภาษาทั่วไปโรมาเนีย • เยอรมัน • สโลวัก • โครเอเชีย • เซอร์เบีย • ยิดดิช • สโลวีเนีย • โรมานี[3]
กลุ่มชาติพันธุ์
(1941)[3]
รายการ
ศาสนา
(1941)[3]
รายการ
เดมะนิมชาวฮังการี
การปกครองรัฐผู้สำเร็จราชการภายใต้ลัทธิอำนาจนิยม
(1920-1944)
รัฐฮังการีนิยม รัฐพรรคการเมืองเดียวภายใต้ระบอบเผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ
(1944-1945)
คณะเปลี่ยนผ่านภายใต้รัฐบาลผสม
(1945-1946)
พระมหากษัตริย์ 
• 1920-1946
ว่าง[หมายเหตุ 1]
ประมุขแห่งรัฐ 
• 1920-1944
มิกโลช โฮร์ตี[หมายเหตุ 2]
• 1944-1945
แฟแร็นตส์ ซาลอชี[หมายเหตุ 3]
• 1945-1946
สภาแห่งชาติชั้นสูง[หมายเหตุ 4]
นายกรัฐมนตรี 
• 1920 (คนแรก)
กาโรย ฮูซาร์
• 1945-1946 (คนสุดท้าย)
โซลตาน ทิลดี
สภานิติบัญญัติสภานิติบัญญัติ
• สภาสูง
แฟลเชอฮาซ (Felsőház)
• สภาล่าง
เกปวีแชเลอฮาซ (Képviselőház)
ยุคประวัติศาสตร์ระหว่างสงคราม · สงครามโลกครั้งที่สอง
29 กุมภาพันธ์ 1920
4 มิถุนายน 1920
• วิกฤตอีสเตอร์
26 มีนาคม 1921
• การเดินขบวนในบูดาเปสต์
21 ตุลาคม 1921
2 พฤศจิกายน 1938
• บุกครองซับคาร์เพเทีย
14 มีนาคม 1939
30 สิงหาคม 1940
11 เมษายน 1941
27 มิถุนายน 1941
19 มีนาคม 1944
16 ตุลาคม 1944
1 กุมภาพันธ์ 1946
พื้นที่
1920[4]92,833 ตารางกิโลเมตร (35,843 ตารางไมล์)
1930[5]93,073 ตารางกิโลเมตร (35,936 ตารางไมล์)
1941[6]172,149 ตารางกิโลเมตร (66,467 ตารางไมล์)
ประชากร
• 1920[4]
7,980,143
• 1930[5]
8,688,319
• 1941[6]
14,669,100
สกุลเงินโกโรนอ
(1920-1927)
แป็งเกอ
(1927-1946)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (CEST)
[หมายเหตุ 5]
ขับรถด้านขวา (ตั้งแต่ ค.ศ. 1941)
ก่อนหน้า
ถัดไป
1920:
สาธารณรัฐฮังการี
1938:
เชโกสโลวาเกีย
1939:
คาร์เพเทีย-ยูเครน
สโลวาเกีย
1940:
โรมาเนีย
1941:
ยูโกสลาเวีย
1944:
รัฐฮังการี
1944:
รัฐฮังการี
1945:
เชโกสโลวาเกีย
โรมาเนีย
ยูโกสลาเวีย
สหภาพโซเวียต
1946:
สาธารณรัฐฮังการี
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ โครเอเชีย
 ฮังการี
 โรมาเนีย
 เซอร์เบีย
 สโลวาเกีย
 สโลวีเนีย
 ยูเครน

หลังจากความพ่ายแพ้ทางทหารของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 บรรดาพรรคอนุรักษนิยมต่างเห็นชอบให้มีการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยฮังการีขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่กองทัพและกลุ่มขวาจัดปฏิเสธการกลับมาของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค จึงมีการสถาปนาตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนขึ้นเป็นการชั่วคราวในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1920[8] ลักษณะการปกครองของผู้สำเร็จราชการโฮร์ตีนั้นเป็นแบบอนุรักษนิยม[9] ชาตินิยม และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง[10] ระบอบผู้สำเร็จราชการได้รับการสนับสนุนโดยพันธมิตรอนุรักษนิยมที่ไม่มั่นคงและฝ่ายขวาจัด[11] นโยบายระหว่างประเทศของฮังการีในช่วงเวลานี้มีลักษณะเฉพาะคือ การแก้ไขหรือการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วนของสนธิสัญญาสันติภาพ เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่แตกต่างจากในอดีตและเพื่อต่อต้านบอลเชวิค ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ ซึ่งต่อมาจะรวมทั้งการต่อต้านชาวยิว และการปฏิเสธการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย[12] ในเดือนพฤศจิกายน มีการลงนามในสนธิสัญญาทรียานง ซึ่งถูกกำหนดไว้โดยประเทศผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยภายในเนื้อหาของสนธิสัญญาระบุถึงการที่ฮังการีจะต้องสูญเสียดินแดนและประชากรจำนวนสองในสามให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน[13] ส่งผลให้การเมืองฮังการีในสมัยระหว่างสงครามถูกครอบงำจากการสูญเสียดินแดนตามสนธิสัญญานี้ ซึ่งทำให้ชาวฮังการีมากกว่าสามล้านคนอยู่นอกเขตแดนใหม่ของราชอาณาจักร[14] การแก้ไขพรมแดนไม่เพียงแต่จะเป็นการรวมอำนาจทางการเมืองของชาติเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดการปฏิรูปภายในด้วย[15] การสิ้นสุดสมัยแห่งความไม่มั่นคงหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลอิชต์วาน แบตแลน[16][17] ผู้ลงสมัครซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษนิยมและกลุ่มขวาจัด[18] การนำนโยบายทางต่างประเทศอันสงบมาใช้และการยุติความไม่มั่นคงภายใน ทำให้ประเทศฮังการีสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติได้ใน ค.ศ. 1922[19] จากเสถียรภาพทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้ฮังการีสามารถเจรจากับสถาบันการเงินของต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น[20] ด้วยการสนับสนุนของโฮร์ตี ทำให้แบตแลนสามารถควบคุมการเลือกตั้งและการครอบงำพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รัฐบาลของเขาสามารถอยู่ในอำนาจได้เป็นเวลาสิบปี โดยที่ไม่มีการต่อต้านใด ๆ เลย แรงสนับสนุนของรัฐบาลแบธแลนไม่ได้มาจากพรรคการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังมาจากนักบวช ชนชั้นนายทุน และเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในชนบทอีกด้วย[21] แม้ว่าประเทศจะมีลักษณะการปกครองในรูปแบบรัฐสภา แต่ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ยังคงเป็นระบอบเผด็จการอนุรักษนิยม[22] ฮังการีถูกครอบงำโดยชนชั้นสูงและข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิฐานจากชนชั้นสูง[23] หลังจากช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อันเนื่องมาจากการปฏิวัติใน ค.ศ. 1919 ชนชั้นสูงก็สามารถนำอำนาจกลับคืนมาได้อีกครั้ง และฟื้นฟูระบอบการเมืองและสภาพสังคมให้กลับไปเป็นแบบในช่วงก่อนสงครามโลก[23] กลุ่มแรงงานในเมืองและชาวนา ซึ่งเป็นจำนวนสองในสามของประชากรทั้งหมด ต่างไม่มีอิทธิพลในรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย[23] และการวางตัวเป็นกลางของพวกสังคมนิยม ทำให้ผู้คนในช่วงปลายทศวรรษถัดมา เริ่มมีแนวคิดหัวรุนแรงจนกลายเป็นฟาสซิสต์[24]

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมขนานใหญ่ ซึ่งทำให้รูปแบบทางการเมืองของรัฐบาลแบตแลนเกิดปัญหา[25] ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้สำเร็จราชการโฮร์ตีและนักการเมืองชั้นนำจึงตัดสินใจเข้าพบกับจูลอ เกิมเบิช ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มขวาจัดและเป็นบุคคลที่น่าจะทำให้มวลชนสงบลงได้มากที่สุด[26] เมื่อเกิมเบิชได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจึงค่อย ๆ วางผู้สนับสนุนของเขาไว้ในตำแหน่งสำคัญทั้งในส่วนของรัฐบาลและกองทัพ[27] หลังจากที่แบตแลนลาออกจากตำแหน่ง ระบอบผู้สำเร็จราชการเริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก ค.ศ. 1935 เป็นต้นไป[28] โฮร์ตีกลายเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมืองระดับชาติ ทั้งเพราะรัฐบาลที่เริ่มเสื่อมถอยมากขึ้น เนื่องจากความแตกแยกระหว่างพรรคอนุรักษนิยมกับกลุ่มขวาจัด และเพราะแรงสนับสนุนที่เขาได้รับจากกลุ่มฝ่ายขวาส่วนใหญ่ในประเทศ[29] โฮร์ตีจึงพยายามรักษาสมดุลระหว่างทั้งสองฝ่ายไว้[28] ในช่วงแปดปีของการปกครองโดยระบอบผู้สำเร็จราชการ อิทธิพลของเยอรมนีและความนิยมของจักรวรรดิไรช์เริ่มแพร่กระจายสู่ประชากรส่วนหนึ่ง ทำให้การเมืองภายในประเทศเริ่มเกิดความรุนแรง และได้โน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูรูปแบบอนุรักษนิยมให้เหมือนดังในช่วงทศวรรษ 1920[30] เยอรมนีสามารถบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ ดังนั้นโฮร์ตีจึงเล็งเห็นว่าเยอรมนีน่าจะสามารถสนับสนุนฮังการีให้บรรลุความปรารถนาในการแก้ไขดินแดนได้ แต่มันกลับพังทลายลง เมื่อฮังการีเริ่มกลายเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมนีทีละน้อย[30] รัฐบาลฮังการีประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะสกัดกั้นอิทธิพลของเยอรมนีและฝ่ายขวาของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปฏิเสธที่จะละทิ้งความทะเยอทะยานในการแก้ไขดินแดน ซึ่งความสำเร็จนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลเบอร์ลินด้วย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มขวาจัดในฮังการี[31]

แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างเยอรมนีและอิตาลี ส่งผลให้ประเทศสามารถกู้คืนดินแดนส่วนหนึ่งที่เสียไปให้แก่เชโกสโลวาเกียกลับมาได้ตามการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1938[32] ซี่งในช่วงเวลานี้เอง ที่เยอรมนีเริ่มมีบทบาทในการเมืองฮังการี[33] ความปรารถนาของประชาชนในการเปลี่ยนแปลง เจตคติเชิงปฏิกิริยาต่อรัฐบาลที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ความอ่อนแอลงของฝ่ายซ้าย และอำนาจของขบวนการฟาสซิสต์ในยุโรปนั้น เอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตขึ้นของกลุ่มฝ่ายขวาจัดที่คัดค้านการปฏิรูป[34] ในการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง ซึ่งมีผู้ตัดสินคืออิตาลีและเยอรมนีใน ค.ศ. 1940 ทำให้ฮังการีได้รับดินแดนทางตอนเหนือของทรานซิลเวเนียจากโรมาเนีย[35] ประเทศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองโดยอยู่ฝ่ายอักษะ ซึ่งหันไปต่อต้านยูโกสลาเวียและมีส่วนช่วยในการบุกครองสหภาพโซเวียตเมื่อปลายเดือนมิถุนายน และพันธมิตรตะวันตกในเดือนธันวาคม[28] อย่างไรก็ตาม เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มพ่ายแพ้แก่กองทัพโซเวียต ทำให้ฮังการีพยายามเปลี่ยนฝ่ายในช่วงปลายสงครามแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากความปรารถนาที่จะรักษาดินแดนที่เคยสูญเสียไปและระบบสังคมที่ล้าสมัย อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่เต็มใจที่จะต่อต้านสหภาพโซเวียต[36] เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนฝ่ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอิตาลี เยอรมนีจึงบุกครองประเทศโดยปราศจากการต่อต้านในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944[37] คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งดูแลโดยตัวแทนจากนาซีเยอรมนีได้ทำการปฏิรูปกองทัพและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการทำสงครามของเยอรมนีและยุติปัญหาชาวยิว[38] พวกนาซีได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล อันเป็นการสิ้นสุดลงของระบอบผู้สำเร็จราชการที่นำโดยโฮร์ตี และได้มอบอำนาจให้แก่ แฟแร็นตส์ ซาลอชี ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแอร์โรว์ครอสส์[39] แต่ท้ายที่สุดกองทัพโซเวียตก็สามารถขับไล่นาซีเยอรมนีออกจากดินแดนฮังการีได้เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1945[40] เป็นเหตุให้การผนวกดินแดนของฮังการีในการอนุญาโตตุลาการเวียนนาทั้งสองครั้งถูกประกาศว่าเป็นโมฆะภายหลังสงคราม[41]

ด้วยประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้การกระจายที่ดินยังคงไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก[42] โดยทั่วไปแล้ว ชาวนาฮังการีต้องอยู่อย่างยากจนข้นแค้น[42] การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศได้รับการสนับสนุนเพื่อพยายามลดจำนวนประชากรล้นเกินในชนบท แต่ก็ไม่เคยเติบโตมากพอที่จะลดจำนวนประชากรในภาคการเกษตรได้[43] ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจชองฮังการีอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม ราคาธัญพืชซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของฮังการีทรุดตัวลงในตลาดโลก[44] วิกฤตการณ์ร้ายแรงทางเศรษฐกิจส่งผลให้อิทธิพลของฟาสซิสต์อิตาลีและเยอรมนีเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่ค้าหลักของผลผลิตทางการเกษตรเพียงไม่กี่รายในประเทศ ซึ่งไม่ถูกครอบงำโดยตลาดต่างประเทศอีกต่อไป[45] ใน ค.ศ. 1938 เยอรมนีเริ่มควบคุมการนำเข้าและส่งออกของฮังการีถึง 50 % แล้ว[46] การค้าขายกับเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นและการเริ่มต้นนโยบายการเสริมกำลังอาวุธ ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 1930 ได้[39] อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นอยู่และการทำงานของคนงานในอุตสาหกรรมยังคงย่ำแย่ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธมีส่วนช่วยในการขจัดการว่างงานไปได้แทบทั้งหมด[47] สำหรับประชากรชาวยิวใน ค.ศ. 1930 ซึ่งคิดเป็น 5.1 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ[48] ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านอุตสากรรม พาณิชยกรรม และการเงินของประเทศ[49] ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 จนถึงต้นทศวรรษ 1940 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวยิว ซึ่งจำกัดสิทธิต่าง ๆ ของชาวยิวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มไม่มั่นคง[50] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวทั้งหมด 565,000 คน ถูกสังหารในดินแดนของฮังการี[51]

การเมือง

การฟื้นฟูราชาธิปไตย

ในข่วงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 กองทัพโรมาเนียได้บุกฝ่าแนวรบของกองทัพแดงฮังการี[52] รัฐบาลโซเวียตจึงมอบอำนาจให้กับรัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยมสายกลางใหม่ที่ไม่สามารถป้องกันการบุกครองของโรมาเนียได้[52] จากนั้นรัฐบาลใหม่ก็ถูกแทนที่โดยรัฐบาลอนุรักษนิยม ซึ่งได้รับการยอมรับจากโรมาเนีย[52][53] ฝ่ายกองทัพแห่งชาตินำโดยพลเรือเอก มิกโลช โฮร์ตี ได้รวบรวมกำลังพลจากเมืองแซแก็ด ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพฝรั่งเศส เคลื่อนพลเข้าสู่เมืองหลวงหลังจากที่กองทัพโรมาเนียถอนกำลังออกจากประเทศในช่วงต้นฤดูหนาว[52][54][55][56] ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และกลุ่มผู้นิยมระบอบราชาธิปไตยได้ก่อความน่าสะพรึงกลัวขาวขึ้นในภูมิภาคตะวันตกของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายฤดูร้อนหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี[55] เพื่อลบล้างมรดกจากยุคคอมมิวนิสต์ทั้งหมด[52][57][58] ด้วยเหตุนี้ การกดขี่ข่มเหงต่อสมาชิกของขบวนการฝ่ายซ้ายและชาวยิวจึงแพร่กระจายไปทั่วประเทศ[59][57][60][61][55][56][หมายเหตุ 1] กองกำลังกึ่งทหารใช้วิธีการกวาดล้างผู้ต่อต้านซึ่งไม่ต่างจากการก่ออาชญากรรม โดยมีการกรรโชก[8] การโจรกรรม การทรมาน และการฆาตกรรม ซึ่งพวกเขาได้อ้างถึงการกระทำว่าเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง[63] อำนาจยังคงอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายขวาจัด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มขุนนาง ข้าราชการ และทหาร[11][64] ชาวนาที่เอือมระอากับการกดขี่ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (ยกเว้นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม) ยอมรับการกลับมาของระบอบคณาธิปไตยเพื่อแลกกับการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย[65] อย่างไรก็ตาม กองกำลังกึ่งทหารเริ่มผ่อนคลายความรุนแรงลงเมื่อสิ้นสุดสมัยแห่งการปฏิวัติ[66] โดยทั่วไปแล้ว การเมืองของประเทศเริ่มเอนเอียงไปทางฝ่ายขวาในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังการล่มสลายของรัฐบาลปฏิวัติคอมมิวนิสต์[67]

พลเรือเอกมิกโลช โฮร์ตี เข้าสาบานตนรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งฮังการี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1920

ภายใต้แรงกดดันจากไตรภาคี[55] การเลือกตั้งครั้งใหม่ถูกจัดขึ้นพร้อมกับการสำรวจสำมะโนประชากร และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่สตรี[68][8] จากผลการเลือกตั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1920 ทำให้มีพรรคการเมืองฝ่ายขวาขนาดใหญ่เกิดขึ้น 2 พรรค[55] ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกภายในระหว่างฝ่ายขวาอนุรักษนิยมและฝ่ายมูลวิวัติ[68][69]

ใน ค.ศ. 1920 กฎหมายฉบับแรกได้ยกเลิกมาตรการทั้งหมดที่ตราขึ้นโดยรัฐบาลปฏิวัติของมิฮาย กาโรยี และเบ-ลอ กุน[70][69] ฝ่ายอนุรักษนิยมสนับสนุนการฟื้นฟูราชบัลลังก์ของพระเจ้าคาร์ลที่ 4 แห่งฮังการี ขณะที่กองทัพและกลุ่มมูลวิวัติฝ่ายขวาแม้จะสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่กระนั้นได้ปฏิเสธการกลับมาของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค จึงมีการตัดสินใจตั้งระบอบผู้สำเร็จราชการชั่วคราวซึ่งมีอำนาจมากขึ้นมาแทน[8][71][72][73][หมายเหตุ 2] ฝ่ายกองทัพและกองกำลังกึ่งทหารเข้ายึดอาคารรัฐสภาระหว่างการเลือกตั้ง[8] และแต่งตั้งมิกโลช โฮร์ตี ตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายกองทัพขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งฮังการี[69] ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม[73][71][74] นั่นจึงทำให้เขากลายเป็นประมุขแห่งรัฐฮังการีคนเดียวตลอดสมัยระหว่างสงคราม และดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944[71]

การต่อต้านการปฏิวัติ

ระหว่างที่โฮร์ตีดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ฝ่ายมูลวิวัติได้กำหนดนโนบายทางการเมืองของตนในรัฐสภาไว้หลายประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอนุมัติการปฏิรูปที่ดินบางส่วน การออกกฎหมายต่อต้านชาวยิว ซึ่งเป็นครั้งแรกในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลง[75] และการฟื้นฟูการลงโทษทางร่างกายสำหรับอาชญากรรมบางประเภท[76] ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมทางสังคมในยุคนั้น[77] การที่รัฐสภา​​ให้​สัตยาบัน​ในสนธิสัญญาทรียานงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน และลงนามในวันที่ 4 มิถุนายน[78][79][หมายเหตุ 3] ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกกำหนดไว้โดยประเทศผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะมีการปฏิเสธในบางหัวข้อที่กำหนด ทำให้ประเทศต้องสูญเสียดินแดนและประชากรประมาณสองในสามของราชอาณาจักรเดิม[79][13][81] ความพยายามของนายกรัฐมนตรีปาล แตแลกี (Pál Teleki) ที่จะจำกัดการสูญเสียเพื่อแลกกับผลประโยชน์แก่ฝรั่งเศสและการให้ความช่วยเหลือโปแลนด์ในสงครามโปแลนด์-โซเวียตประสบความล้มเหลว[81][82] ทั้งในรัฐบาลและรัฐสภาต่างถูกครอบงำโดยบุคคลที่มีประสบการณ์ทางการเมืองต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นชนชั้นนายทุนมากกว่าชนชั้นสูง และเป็นบุคคลผู้มีอายุน้อยกว่ากลุ่มผู้ปกครองในช่วงก่อนสงครามทั้งสิ้น แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปในช่วง ค.ศ. 1921 เมื่อรัฐบาลสายอนุรักษนิยมของอิชต์วาน แบตแลน (István Bethlen) ขึ้นสู่อำนาจ[83]

ภายหลังการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยของฮังการี ประเทศได้เข้าสู่ปีแห่งความวุ่นวายครั้งใหญ่[84][85] สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฮังการีร้ายแรงเป็นอย่างมาก[79] อดีตพระมหากษัตริย์แห่งฮังการี (พระเจ้าคาร์ลที่ 4) ทรงพยายามฟื้นฟูราชบัลลังก์ถึงสองครั้งใน ค.ศ. 1921 แต่ไม่สำเร็จ[84][86][87][73][หมายเหตุ 4] รัฐบาลซึ่งขาดอำนาจที่เข้มแข็งยังคงปล่อยให้ความน่าสะพรึงกลัวของกองกำลังกึ่งทหารที่ต่อต้านชาวยิว นักสังคมนิยม และปัญญาชนฝ่ายซ้ายดำเนินต่อไป[84] ผู้อพยพจำนวนมากจากดินแดนที่สูญเสียประมาณ 300,000 ถึง 400,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง[88][89] ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญสำหรับฮังการี[84] ดังนั้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 รัฐบาลจึงออกคำสั่งห้ามการเข้ามาของผู้อพยพรายใหม่จำนวนมหาศาล แต่ปัญหาก็ไม่ได้หยุดลง เนื่องจากมีการปล่อยให้ผู้อพยพเข้ามาหลายพันคนในแต่ละเดือน[90] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชนชั้นกลางผู้ยากไร้ ทหารปลดประจำการ และข้าราชการจากดินแดนที่สูญเสีย[89] กลุ่มคนเหล่านี้ให้การสนับสนุนฝ่ายฟาสซิสต์ ซึ่งพวกเขาปรารถนาที่จะนำรูปแบบการเมืองระบอบเผด็จการมาใช้ โดยพวกเขาหวังจะเจริญก้าวหน้าในระบอบนี้[91] ประเทศต้อนรับทหารผู้อพยพประมาณ 17,000 คน ขณะที่สนธิสัญญาสันติภาพจำกัดจำนวนทหารผู้อพยพเพียง 1,700 คน นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีอำนาจควบคุมกองทัพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[92] ความต้องการของผู้อพยพต่อการจ้างงานของรัฐและความเป็นไปไม่ได้ในการรับผู้อพยพเพิ่ม กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง[หมายเหตุ 5] ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจทั้งสำหรับรัฐและผู้อพยพ[93] การที่ประชากรชาวยิวมีความสำคัญยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของประเทศและความล้มเหลวของผู้อพยพในการแข่งขันกับชาวยิว ทำให้กระแสการต่อต้านชาวยิวปะทุขึ้นในหมู่ผู้อพยพและเกิดการเรียกร้องการจ้างงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง[94] สถานการณ์ความไม่มั่นคงภายในประเทศทำให้นักธุรกิจต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนในฮังการี แม้ตอนนี้รัฐบาลจะไม่ถูกคุกคามโดยขบวนการชาวนาแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลยังคงประสบความขัดแย้งกับคนงานที่ถูกกดขี่[61] และชนชั้นกลางที่เอือมระอากับการทดลองทางสังคมและกองกำลังกึ่งทหาร[84] การยุติความน่าสะพรึงกลัวทำให้รัฐบาลได้รับการยอมรับในระดับสากลและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอีกด้วย[61][85][หมายเหตุ 6]

ทศวรรษแห่งแบตแลน

อิชต์วาน แบตแลน (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. 1921–1931

การสิ้นสุดสมัยแห่งความไม่มั่นคงหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลอิชต์วาน แบตแลน[16][17] ผู้สมัครเลือกตั้งซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษนิยม (เนื่องจากเขาถูกมองว่าเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นสมาชิกจากตระกูลขุนนางชั้นสูงด้วย) ฝ่ายขวามูลวิวัติ (เนื่องจากแบตแลนมีแนวคิดแบบเทววิทยาปฏิรูปและเป็นหนึ่งในผู้อพยพจากดินแดนทรานซิลเวเนียที่สูญเสีย)[16] นักการเมืองผู้มีประสบการณ์[95] และนักปฏิบัตินิยม[96] ทำให้ในเวลาไม่นานแบตแลนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลเหนือกว่าโฮร์ตี[97][34] (แบตแลนเริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคอนุรักษนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ[98] แม้ว่าเขาจะมีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายขวามูลวิวัติก็ตาม)[99][18][100] ทัศนคติแบบอนุรักษนิยมเสรีของแบตแลนเป็นตัวกลางระหว่างทั้งสองฝ่ายที่สนับสนุนระบอบการปกครองแบบอนุรักษนิยมและฝ่ายขวามูลวิวัติ ซึ่งถือเป็นนโยบายภายในประเทศในช่วงระยะเวลาอันยาวนานของแบตแลนในฐานะนายกรัฐมนตรี[18] โดยพื้นฐานแล้ว รัฐบาลใหม่นี้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงปฏิกิริยา พร้อมทั้งฟื้นฟูระบบการเมืองและรูปแบบสังคมให้กลับไปเป็นดังช่วงก่อนสงครามโลก[61][98][16][101]

แบตแลนตัดสินใจระงับการก่อกวนของฝ่ายขวาจัดก่อน[19][102] โดยการติดสินบนบุคคลสำคัญบางคน ซึ่งเขาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล[18] กองกำลังกึ่งทหารได้รับมอบหมายให้กักขังคนงาน ชาวนา และข่มขู่ฝ่ายค้านทางการเมือง[99] โดยพวกเขาได้กระทำการจนเกินกว่าเหตุและกลายเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการปฏิวัติ[103] การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นไปอย่างเชื่องช้าและใช้เวลาดำเนินการเกือบสองปี ส่วนหนึ่งเพราะกองกำลังกึ่งทหารมีผู้สนับสนุนที่มีอำนาจทั้งในฝ่ายกองทัพและฝ่ายบริหารพลเรือน ซึ่งรวมถึงตัวของผู้สำเร็จราชการอย่างโฮร์ตีด้วย[8] (ซึ่งพวกเขาได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับอาชญากรรมทั้งหมดของกองกำลังกึ่งทหารในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1921)[104] ในช่วงกลางทศวรรษ 1920 กองกำลังกึ่งทหารในชนบทถูกรวมเข้ากับกองพลตระเวนภายใต้การควบคุมของกองทัพและถูกยุบตัวลงไปโดยส่วนใหญ่[105] ด้วยการควบคุมที่เพียงพอจากทางกองทัพและตำรวจ รัฐบาลจึงแสดงความมุ่งมั่นที่จะยุบเลิกกองกำลังกึ่งทหารทั้งหมดภายในสิ้นปี 1921[106][หมายเหตุ 7] เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ รัฐบาลจึงเพิ่มงบประมาณทางทหารโดยไม่สนใจถึงข้อจำกัดที่กำหนดโดยสนธิสัญญาสันติภาพ[108] เจ้าหน้าที่ทหารส่วนหนึ่งได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหารพลเรือน[103] เจ้าหน้าที่ลับทั่วไปถูกควบคุมโดยทหารผ่านศึกอนุรักษนิยมในสมัยจักรวรรดิมากกว่าผู้บัญชาการทหารที่ต่อต้านการปฏิวัติ[109] เมื่อ ค.ศ. 1922 รัฐบาลประสบความสำเร็จในการยุติความน่าสะพรึงกลัวของกองกำลังกึ่งทหารได้ในที่สุด[110][111] ด้วยนโยบายต่างประเทศที่สันติและการยุติความไม่มั่นคงภายใน แบตแลนจึงสามารถนำพาประเทศเข้าสู่สันนิบาตชาติได้ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1922[19][34][75][112] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายขวามูลวิวัติ ทำให้แบตแลนรับประกันชัยชนะในอดีตได้เป็นการชั่วคราว[113]

ด้วยรัฐเผชิญกับการล้มละลายอย่างถึงขีดสุด เนื่องจากรายได้ของประเทศไม่เพียงพอ แบตแลนจึงขายทองคำและทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศก้อนสุดท้าย เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับธุรกิจและครอบคลุมงบประมาณแผ่นดินระหว่าง ค.ศ. 1921 ถึง ค.ศ. 1923[20][หมายเหตุ 8] จากเสถียรภาพทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้ฮังการีสามารถเจรจากับสถาบันการเงินของต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น[20] การเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติทำให้ประเทศได้รับสินเชื่อการรักษาเสถียรภาพระหว่างประเทศจำนวน 250 ล้านโกโรนอใน ค.ศ. 1924[19][34][75][112] อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้เกิดแรงกดดันในการชำระหนี้เก่าและการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง โดยหนี้ภายนอกเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดชะงักในช่วงทศวรรษของแบตแลน ซึ่งอยู่ที่ 70 % ของจีดีพีใน ค.ศ. 1931[20] กลยุทธ์ของแบตแลนขึ้นอยู่กับการรักษาสินเชื่อระหว่างประเทศ ซึ่งเขาสามารถรักษาไว้ได้ตลอดทศวรรษ 1920[20][114] แม้ว่าผู้คนภายในประเทศหรือตัวของแบตแลนเองจะมีความเกลียดชังชาวยิว แต่เขาก็ยังแสวงหาความร่วมมือจากชนชั้นนายทุนชาวยิวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม[115] การปกครองในสมัยนี้ยังคงทัศนคติต่อต้านยิวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นชนชั้นสูงยิวที่ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาล[115]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง