โรคจิตเภท

โรคทางจิต

โรคจิตเภท[11](อังกฤษ: schizophrenia ออกเสียงว่า สคิดโซฟรีเนีย หรือ สคิดโซเฟรเนีย)เป็นความผิดปกติทางจิตที่มีอาการเป็นพฤติกรรมผิดปกติ พูดแปลก ๆ และรู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงได้น้อยลง[2]อาการอื่น ๆ รวมทั้งอาการหลงผิดคือเชื่อผิด ๆ ความผิดปกติทางความคิดคือคิดสับสนหรือไม่ชัดเจน ประสาทหลอนทางหูคือได้ยินเสียงพูดที่คนอื่นไม่ได้ยิน การลดมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การลดแสดงออกทางอารมณ์ และการไร้แรงจูงใจที่จะทำอะไรเอง[2][3]คนไข้บ่อยครั้งมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือติดสารเสพติด (SUD)[12]อาการปกติจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่ต้นวัยผู้ใหญ่และจะไม่หายในกรณีโดยมาก[3][6]

โรคจิตเภท
(Schizophrenia)
ผ้าที่ปักโดยคนไข้โรคจิตเภท แสดงการสัมพันธ์คำและแนวคิดต่าง ๆ อย่างไร้ความหมายที่เป็นอาการหนึ่งของโรค
การออกเสียง
สาขาวิชาจิตเวช
อาการเชื่อผิด ๆ คิดสับสน ได้ยินเสียงพูดที่คนอื่นไม่ได้ยิน[2][3]
ภาวะแทรกซ้อนฆ่าตัวตาย โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต (lifestyle diseases)[4]
การตั้งต้น16-30 ปี[3]
ระยะดำเนินโรคเรื้อรัง[3]
สาเหตุปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม[5]
ปัจจัยเสี่ยงประวัติในครอบครัว การใช้กัญชา ปัญหาเมื่ออยู่ในครรภ์ เติบโตขึ้นในเมือง พ่อที่มีอายุมากกว่า[5]
วิธีวินิจฉัยขึ้นกับพฤติกรรมที่สังเกตเห็น ประสบการณ์จากคนไข้เองและจากคนใกล้ตัว[6]
โรคอื่นที่คล้ายกันการใช้สารเสพติด, โรคฮันติงตัน, ความผิดปกติทางอารมณ์ (คือโรคอารมณ์สองขั้ว), โรคออทิซึม[7]
การรักษาการรับคำแนะนำปรึกษาจากแพทย์พยาบาล การฝึกงาน[2][5]
ยายารักษาโรคจิต (antipsychotic)[5]
พยากรณ์โรคการคาดหมายคงชีพจะน้อยลง 18-20 ปี[8][4]
ความชุก~0.5%[9]
การเสียชีวิต~17,000 (2015)[10]

เหตุของโรครวมปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและทางพันธุกรรม[5]ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมรวมการเติบโตขึ้นในเมือง การใช้กัญชาในช่วงวัยรุ่น การติดเชื้อบางอย่าง อายุของพ่อแม่ และการได้สารอาหารไม่เพียงพอเมื่ออยู่ในครรภ์[5][13]ปัจจัยทางพันธุกรรมรวมรูปแปรของยีนต่าง ๆ ทั้งแบบสามัญและไม่สามัญ[14]การวินิจฉัยโรคจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่สังเกตเห็น รายงานประสบการณ์จากตัวผู้ป่วยเองและจากคนที่คุ้นเคย[6]เมื่อจะวินิจฉัย แพทย์ต้องพิจารณาวัฒนธรรมของคนไข้ด้วย[6]จนถึงปี 2013 ยังไม่มีการตรวจสอบโรคที่เป็นปรวิสัย[6]โรคจิตเภทไม่ได้หมายถึงโรคที่ทำให้มีบุคลิกภาพเป็นหลายคน คือ dissociative identity disorder ซึ่งคนบางส่วนอาจสับสน[15]

วิธีรักษาหลักก็คือยารักษาโรคจิต (antipsychotic) พร้อมกับคำแนะนำปรึกษาจากแพทย์พยาบาล (counselling) การฝึกงาน และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม[2][5]ไม่ชัดเจนว่า ยารักษาโรคจิตตามแบบ (typical) หรือนอกแบบ (atypical) ดีกว่ากัน[16]ในคนไข้ที่ยารักษาโรคจิตอื่น ๆ ไม่ได้ผล อาจลองยา clozapine ดูได้[5]ในกรณีรุนแรงที่มีความเสี่ยงต่อตนเองหรือผู้อื่น การกักไว้ในสถานพยาบาลอาจจำเป็น แม้ปัจจุบันการอยู่ใน รพ. จะสั้นกว่าและไม่บ่อยครั้งเท่ากับในอดีต[17]

คนประมาณ 0.3-0.7% จะมีโรคจิตเภทในช่วงชีวิตของตน[9]ในปี 2013 มีกรณีคนไข้ประมาณ 23.6 ล้านรายทั่วโลก[18]ผู้ชายเป็นมากกว่าและโดยเฉลี่ยเริ่มเป็นเมื่ออายุน้อยกว่า[2]คนไข้ประมาณ 20% ฟื้นสภาพได้ดี โดยจำนวนน้อยจะหายโดยสิ้นเชิง[6]ประมาณ 50% จะพิการตลอดชีวิต[19]ปัญหาทางสังคม เช่น การว่างงานระยะยาว ความยากจน การไร้ที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องสามัญ[6][20]การคาดหมายคงชีพของคนไข้จะน้อยกว่าคนทั่วไป 10-25 ปี[8]ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพทางกายและอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น (ประมาณ 5%)[9][21]ในปี 2015 คนทั่วโลกประมาณ 17,000 คนเสียชีวิตเนื่องกับพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับหรือมีเหตุจากโรคจิตเภท[10]

อาการ

ใจความของโรคจิตเภทเป็นวิดีโอภาษาอังกฤษ (มีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ)

คนไข้โรคจิตเภทอาจมีอาการประสาทหลอน (โดยมากเป็นการได้ยินเสียงพูด) หลงผิด (บ่อยครั้งเป็นแบบแปลก ๆ [bizarre] หรือว่ามีคนตามรังควาน) และคิดกับพูดสับสนซึ่งอาจรวมการคิดไม่ปะติดปะต่อ พูดประโยคต่อ ๆ กันที่ความหมายไม่ค่อยเชื่อมกัน และพูดเข้าใจไม่ได้ (เรียกว่า word salad)การถอนตัวจากสังคม การใส่เสื้อผ้าที่ไม่เรียบร้อย การรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดี การไม่มีแรงจูงใจจะทำอะไร ๆ การตัดสินใจไม่ได้ เหล่านี้ล้วนสามัญในโรค[22]

ความบิดเบือนทางความรู้สึกเกี่ยวกับตน (self-disorder) เช่น ความรู้สึกว่าความคิดและความรู้สึกไม่ใช่ของตนเอง จนกระทั่งถึงความเชื่อว่า คนอื่นเอาความคิดมาใส่ในใจของตน (บางครั้งเรียกว่า passivity phenomena) ก็เป็นเรื่องสามัญด้วย[23]บ่อยครั้งสามารถสังเกตเห็นปัญหาทางอารมณ์ เช่น การไม่ตอบสนองต่ออะไร ๆ[24]ความพิการในเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social cognition)[A][25]เช่นเดียวกับอาการหวาดระแวง ก็สัมพันธ์กับโรคนี้ด้วย

ปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งการแยกตัวจากสังคม[B][27],ปัญหาทางความจำใช้งาน (working memory)[C]และความจำระยะยาว, ปัญหาความใส่ใจ, ปัญหาทาง executive functions และความล่าช้าในการแปลผลข้อมูล[9]ก็เกิดอย่างสามัญด้วยในรูปแบบย่อยของโรคที่มีน้อยอย่างหนึ่ง บุคคลอาจจะไม่พูดอะไร ๆ โดยมาก คงอยู่ในท่าทางที่เแปลกโดยไม่เคลื่อนไหว หรือมีความไม่สงบทางกายใจอย่างไร้จุดหมาย นี่ล้วนเป็นอาการของอาการเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonia)[30]คนไข้บ่อยครั้งรับรู้อารมณ์คนอื่นทางสีหน้าได้ยาก[31]ไม่ชัดเจนว่าอาการความคิดชะงัก (thought blocking) ที่บุคคลซึ่งกำลังพูดอยู่เงียบไปเป็นเวลา 2-3 วินาทีจนเป็นนาที ๆ เกิดในโรคนี้หรือไม่[32][33]

คนไข้ประมาณ 30-50% ไม่ยอมรับว่าตนเป็นโรคหรือยอมทำตามการรักษาของหมอ[34]การรักษาอาจทำให้เข้าใจตนเองได้ดีขึ้น[35]

คนไข้อาจมีอัตราเกิดกลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น (IBS) สูง แต่บ่อยครั้งก็จะไม่พูดถึงมันยกเว้นถามตรง ๆ[36]อาการดื่มน้ำมากเหตุจิต (psychogenic polydipsia) โดยไร้เหตุผลทางสรีรวิทยาเพื่อดื่มน้ำ ค่อนข้างสามัญในคนไข้[37]

การจำแนกอาการ

โรคจิตเภทมักบรรยายเป็นอาการเชิงบวก (positive symtoms) และอาการเชิงลบ/อาการบกพร่อง (negative symptoms)[38]อาการเชิงบวกก็คือที่คนโดยมากปกติไม่มี แต่มีในคนไข้ซึ่งอาจรวมอาการหลงผิด ความคิดและคำพูดสับสน และประสาทหลอนทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทั้งหมดปกติจัดว่าเป็นอาการโรคจิต[39]ประสาทหลอนปกติจะสัมพันธ์กับตีมของความหลงผิด[40]อาการเชิงบวกทั่วไปตอบสนองได้ดีต่อยารักษา[40]

อาการเชิงลบ/อาการบกพร่องก็คือความบกพร่องของการตอบสนองทางอารมณ์หรือของกระบวนการทางความคิดอื่น ๆ โดยคนไข้ตอบสนองต่อยารักษาได้แย่กว่า[22]อาการรวมทั้งการไร้การตอบสนองทางอารมณ์ ไม่พูด ไม่สามารถเกิดความยินดี ไร้ความต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น และไร้แรงจูงใจที่จะทำอะไรเองอาการบกพร่องดูเหมือนจะทำให้คุณภาพชีวิต, สมรรถภาพการดำเนินชีวิต และความเป็นภาระต่อคนอื่นแย่กว่าอาการเชิงบวก[19][41]คนไข้ที่มีอาการบกพร่องมากกว่าบ่อยครั้งมีประวัติการปรับตัวไม่ดีก่อนจะเกิดโรค และการตอบสนองต่อยารักษาบ่อยครั้งจะจำกัด[22][42]

งานวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) หลายงานได้วิเคราะห์อาการที่จัดเป็นอาการเชิงบวกและอาการเชิงลบเช่นนี้ แล้วพบว่า สามารถแบ่งอาการของโรคจิตเภทออกเป็น 5 มิติหรือ 5 กลุ่มอย่างคงเส้นคงวาแม้งานอาจจะใช้ชื่อต่าง ๆ กันคืออาการโรคจิต (psychotic symptoms) อาการบกพร่อง (negative symptoms) อาการสับสนวุ่นวาย (disorganization symptoms) ความซึมเศร้าและความวิตกกังวล (depression and anxiety) และอาการกายใจไม่สงบ (agitation) นักวิชาการเชื่อว่า ถ้ารวบรวบข้อมูลอาการของโรคและประวัติคนไข้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ก็จะสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้นในอนาคต[43]

การทำงานผิดปกติทางประชาน

ภาพ My Eyes at the Moment of the Apparitions (ตาของผมเมื่อปีศาจปรากฏ) โดยจิตรกรชาวเยอรมัน August Natterer ผู้มีโรคจิตเภท

ความบกพร่องของสมรรถภาพทางประชาน/ความคิด ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นอาการหลักอย่างหนึ่งของโรคจิตเภท[44][45][46]ระดับความบกพร่องทางประชานเป็นตัวพยากรณ์ว่าคนไข้จะดำเนินชีวิต ทำงาน และดำรงอยู่ในการรักษาของแพทย์ได้ดีขนาดไหน[47]การทำงานผิดปกติทางประชานและความรุนแรงของมันในคนไข้รายงานว่าเป็นตัวพยากรณ์การดำเนินชีวิตได้ดีกว่าอาการเชิงบวกและเชิงลบของโรค[44]ความบกพร่องทางประชานพบอยู่ในเรื่องต่าง ๆ มากมายรวมทั้ง ความจำใช้งาน[C] ความจำระยะยาว[48][49]ความจำเกี่ยวกับภาษา (verbal declarative memory)[50],การแปลผลความหมายของคำ (semantic processing)[D][51]ความจำอาศัยเหตุการณ์[47]ความใส่ใจ[19]และการเรียนรู้ (โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา)[48]

ความบกพร่องในเรื่องความจำทางภาษาชัดเจนที่สุดในคนไข้โรคจิตเภท ซึ่งแม้ความใส่ใจที่บกพร่องก็ไม่สามารถเป็นคำอธิบายได้และสัมพันธ์กับสมรรถภาพที่ลดลงของคนไข้ในการเข้ารหัสความหมายของภาษา ซึ่งอ้างว่าเป็นเหตุของความบกพร่องอีกอย่างหนึ่งในความจำระยะยาว[48]เมื่อได้รายการคำ คนปกติจำคำดี ๆ ได้บ่อยครั้งกว่า (ซึ่งเรียกว่า Pollyanna principle) แต่คนไข้โรคนี้มักจะจำคำทั้งหมดได้เท่า ๆ กันไม่ว่าจะมีความหมายดีหรือไม่ดี ซึ่งแสดงว่า ภาวะสิ้นยินดีก่อความบกพร่องต่อการเข้ารหัสความหมายของคำ[48]ความบกพร่องเช่นนี้จะพบในคนไข้ก่อนจะปรากฏโรคเป็นระยะหนึ่ง[44][46][52]ญาติใกล้ชิด[E]รวมทั้งพ่อแม่ลูกของคนไข้โรคจิตเภทและบุคคลเสี่ยงสูงอื่น ๆ ปรากฏว่ามีความบกพร่องทางประชาน/ความคิด โดยเฉพาะในเรื่องความจำใช้งาน[52]

งานทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับความบกพร่องทางประชานของคนไข้โรคนี้แสดงว่า ความบกพร่องอาจมีตั้งแต่ต้นวันรุ่น หรืออาจเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในวัยเด็ก[44]ความบกพร่องที่พบมักจะดำรงอยู่ในระดับเดียวกันในระยะยาวสำหรับคนไข้โดยมาก หรือมีวิถีการดำเนินที่ระบุได้โดยตัวแปรทางสิ่งแวดล้อม[44][48]แม้หลักฐานที่แสดงว่าความบกพร่องจะเสถียรตามเวลาจะน่าเชื่อถือและมีมาก[47][48]แต่งานวิจัยในประเด็นนี้โดยมากก็เพ่งความสนใจไปที่วิธีการปรับปรุงความใส่ใจและความจำใช้งาน[48][49]

ความพยายามปรับปรุงสมรรถภาพการเรียนรู้ของคนไข้โดยให้รางวัลมีค่าสูงหรือมีค่าน้อย และเมื่อสอนหรือไม่สอน พบว่า การเพิ่มรางวัลทำให้การเรียนรู้แย่ลง ในขณะที่การสอนทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งแสดงว่า วิธีการรักษาโรคบางรูปแบบอาจเพิ่มสมรรถภาพทางประชาน/ความคิด[48]เช่น การฝึกคนไข้ให้เปลี่ยนการคิด การใส่ใจ และพฤติกรรมทางภาษาโดยให้ออกเสียงงานที่ต้องทำ, การฝึกการแก้ปัญหา (cognitive rehearsal), การให้คำสอนแก่ตนเอง, การให้คำปลอบใจแก่ตนเองเพื่อรับมือกับความล้มเหลว, และการชมตนเองเมื่อประสบความสำเร็จ ช่วยให้ระลึกถึงความจำ (recall task) ได้ดีขึ้นอย่างสำคัญ[48]การฝึกเช่นนี้ ซึ่งเรียกว่า self-instructional (SI) training (การฝึกสอนตนเอง) มีประโยชน์ต่อปัญหาต่าง ๆ เช่น การพูดไร้ความหมายที่ลดลง และการระลึกถึงความจำได้ดีขึ้นเมื่อสับสนหรือวิตกกังวล[48]

การเริ่มต้น

ปลายวัยรุ่นและต้นวัยผู้ใหญ่เป็นช่วงที่โรคจิตเภทเริ่มต้นมากที่สุด[9]ซึ่งเป็นปีวิกฤติในเรื่องพัฒนาการทางสังคมและอาชีพ[53]ในชาย 40% และหญิง 23% ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ อาการเริ่มปรากฏก่อนถึงอายุ 19 ปี[54]อาการทั่วไปของโรคมักจะปรากฏระหว่างอายุ 16-30 ปี[3][6]ชายมักจะเริ่มเกิดโรคระหว่างอายุ 18-25 ปีและหญิง 25-35 ปี[55]เพื่อลดปัญหาทางพัฒนาการเนื่องกับโรคจิตเภท มีงานศึกษาที่ทำเป็นจำนวนมากเพื่อระบุและรักษาระยะอาการบอกเหตุ (prodrome)[F]ของโรคซึ่งได้ตรวจพบถึง 30 เดือนก่อนที่อาการจะเริ่ม[53]

ผู้ที่จะเกิดโรคจิตเภทในอนาคตอาจประสบกับอาการโรคจิตที่ชั่วคราวและจำกัด[58]และมีอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงในเรื่องการถอนตัวจากสังคม หงุดหงิด อารมณ์ละเหี่ย (dysphoria)[59]และความซุ่มซ่ามก่อนจะเกิดโรค[60]เด็กที่จะเกิดโรคจิตเภทอาจมีระดับเชาวน์ปัญญาที่ลดลง พัฒนาการทางการเคลื่อนไหวที่ช้าลง (คือ ถึงจุดสำคัญ ๆ ในชีวิตเช่นการเดินได้ช้าลง) ชอบเล่นคนเดียว กลัวการเข้าสังคม และเรียนหนังสือได้ไม่ดี[61][62][63]

เหตุ

ปัจจัยทางพันธุกรรมและทางสิ่งแวดล้อมรวมกันมีบทบาทให้เกิดโรค[9][15]คนที่มีประวัติครอบครัวว่าเป็นโรคจิตเภทและมีอาการโรคจิตแบบชั่วคราวมีโอกาส 20-40% ที่จะผ่านเกณฑ์วินิจฉัยว่ามีโรคจิตเภทในปีต่อมา[64]

พันธุกรรม

การสืบทอดทางพันธุกรรมของโรคประเมินว่าอยู่ที่ราว ๆ 80% ซึ่งหมายความว่า 80% ของความแตกต่างโอกาสการเกิดโรคในระหว่างบุคคลมาจากรรมพันธุ์[65][66]แต่ค่าประเมินก็ต่าง ๆ กันเพราะการแยกอิทธิพลทางพันธุกรรมกับทางสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยาก จนนักวิชาการบางพวกระบุว่าค่าประเมินนี่ไม่แม่นยำ[67][68]ปัจจัยเสี่ยงมากสุดของการเกิดโรคจิตเภทก็คือมีญาติใกล้ชิด (พ่อแม่และลูก) ที่เป็นโรคโดยความเสี่ยงอยู่ที่ 6.5%คู่แฝดเหมือนราว 40% ก็เป็นโรคตามคู่ด้วย[15]ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรค โอกาสเสี่ยงอยู่ที่ 13% และถ้าเป็นทั้งสองคน โอกาสเสี่ยงเกือบถึง 50%[65]ผลงานศึกษาทางพันธุกรรมของโรคโดยเลือกยีนแคนดิเดต (candidate gene) ทั่วไปไม่พบความสัมพันธ์ที่คงเส้นคงวา[69]และตำแหน่งยีน (genetic loci) ที่ระบุโดยงานศึกษาความสัมพันธ์ทั้งจีโนม (genome-wide association studies) ว่าสัมพันธ์กับโรคก็อธิบายความแตกต่างของโรคได้แค่เป็นเพียงส่วนน้อย[70]

ยีนจำนวนมากรู้ว่า มีบทบาทในโรค แต่ละอย่างมีผลเล็กน้อย สืบทอดและแสดงออกโดยยังไม่ชัดเจน[14][71]การรวมผลของยีนต่าง ๆ เป็นคะแนนความเสี่ยงที่เกิดจากยีนหลายยีน (polygenic risk score) สามารถอธิบายความแตกต่างความเสี่ยงการเกิดโรคได้อย่างน้อย 7%[72]กรณีราว ๆ 5% เข้าใจว่า มีเหตุเป็นบางส่วนจาก copy number variation (CNV)[G]ที่มีน้อยรวมทั้ง 22q11 (ที่ก่อกลุ่มอาการดิจอร์จ), 1q21 และ 16p11[74]CNV ที่มีน้อยเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคอาจถึง 20 เท่า และบ่อยครั้งเกิดพร้อมกับออทิซึมและความพิการทางเชาวน์ปัญญา[74]รูปแปรสามัญของยีนที่ก่อโรคจิตเภทสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับโรคอารมณ์สองขั้ว มีสหสัมพันธ์เชิงผกผันกับเชาวน์ปัญญา และไม่มีสหสัมพันธ์กับโรคภูมิคุ้มกัน[75]

คำถามว่า เมื่อคนไข้จริง ๆ มีลูกน้อยกว่า พันธุกรรมจะมีอิทธิพลโดยหลักต่อโรคจิตเภทได้อย่างไร เป็นปฏิทรรศน์อย่างหนึ่งเพราะคาดว่า รูปแปรของยีนที่เพิ่มความเสี่ยงโรคจะไม่ได้การคัดเลือกโดยธรรมชาติเพราะมีผลลบต่อความเหมาะสมทางการสืบพันธุ์ (reproductive fitness)มีคำตอบเป็นได้ที่ได้เสนอ รวมทั้งอัลลีลต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคให้ความได้เปรียบทางความเหมาะสมแก่บุคคลที่ไม่เป็นโรค[76][77]หลักฐานบางส่วนไม่สนับสนุนไอเดียนี้[68]นักวิชาการอื่น ๆ จึงได้เสนอว่า อัลลีลจำนวนมากที่แต่ละอย่างมีผลเล็กน้อยรวม ๆ กันสามารถยืนกรานอยู่ได้[78]

สิ่งแวดล้อม

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับการเกิดโรครวมทั้งสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัย การใช้ยารักษา/ยาเสพติด และตัวทำให้เครียดก่อนคลอด (prenatal stressor)[9]ความเครียดของแม่สัมพันธ์กับโอกาสเสี่ยงเป็นโรคในบุตรที่สูงขึ้น โดยอาจเกี่ยวกับไกลโคโปรตีนคือ reelin[H][84]ทั้งการขาดสารอาหารของแม่ เช่นที่พบในทุพภิกขภัยและโรคอ้วน ได้ระบุแล้วว่าอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้บุตรเกิดโรคทั้งความเครียดหรือการติดเชื้อของแม่ก็ได้แสดงแล้วว่า เปลี่ยนพัฒนาการทางประสาทของทารกผ่านโปรตีนที่ส่งเสริมให้อักเสบ (pro-inflammatory) เช่น IL-8 and TNF[85][86]

วิธีการเลี้ยงดูลูกดูเหมือนจะไม่มีผลสำคัญ แม้เด็กที่มีพ่อแม่ช่วยสนับสนุนจะได้ผลดีกว่าพ่อแม่ที่ช่างวิพากษ์วิจารณ์/ชอบจับผิด หรือดุ[15]ความบอบช้ำทางจิตใจในวัยเด็ก พ่อแม่เสียชีวิต ถูกเพื่อนรังแก หรือถูกทารุณกรรม ล้วนเพิ่มความเสี่ยงอาการโรคจิต[87][88]การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองในช่วงวัยเด็กหรือผู้ใหญ่พบอย่างคงเส้นคงวาว่า เพิ่มโอกาสเกิดโรคเป็นสองเท่า[9][15]แม้หลังจากลบอิทธิพลเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติด กลุ่มชาติพันธุ์ และขนาดของกลุ่มสังคม[89]ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญรวมทั้งการแยกตัวจากสังคม (social isolation)[B] และการย้ายถิ่นฐานโดยเกี่ยวกับความทุกข์ยากทางสังคม การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ครอบครัวมีปัญหา ไม่มีงาน ที่อยู่อาศัยไม่ดี[15][90]

มีสมมติฐานว่า สำหรับบางคน การเกิดโรคสัมพันธ์กับการทำงานผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่นที่พบในโรคแพ้กลูเตน (NCGS)[I]คือคนไข้กลุ่มย่อยส่วนหนึ่งที่ตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนคือกลูเตนต่างกับคนที่มีโรคซีลิแอ็ก มีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของการแพ้กลูเตนที่สูงขึ้น ตัวบ่งชี้เช่นสารภูมิต้านทานคือ anti-gliadin IgG หรือ anti-gliadin IgA[94]

การใช้สารเสพติด

คนไข้ประมาณครึ่งหนึ่งใช้ยาหรือแอลกฮอล์อย่างหนัก[95]รวมทั้งแอมเฟตามีน โคเคน และแอลกอฮอล์แม้จะน้อยกว่าบ้าง ซึ่งอาจมีผลเป็นอาการโรคจิตเหตุสารกระตุ้น (stimulant psychosis) หรืออาการโรคจิตเหตุแอลกอฮอล์ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคจิตเภทมาก[15][96]อนึ่ง คนไข้ใช้นิโคตินในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปมากแม้ทั่วไปจะไม่เชื่อว่าเป็นเหตุของโรค[97]

การติดเหล้าอย่างเรื้อรังบางครั้งเป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติที่มีโรคจิตที่สารเป็นตัวชักนำ (substance-induced psychotic disorder) ผ่านกลไก kindling คือเป็นภาวะทางประสาทที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการขาดเหล้าซ้ำ ๆ[98]การกินแอลกฮอล์ธรรมดา ๆ ไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคก่อนเวลา[99]

การใช้กัญชาอาจเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดโรคในบุคคลที่เสี่ยงอยู่แล้ว[13]ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอาจต้องอาศัยยีนบางอย่างในบุคคลนั้น ๆ[13]ในบุคคลที่เสี่ยงเกิดโรค การใช้กัญชาสัมพันธ์กับอัตราเกิดโรคที่สูงขึ้นเป็นสองเท่า[100]

คนไข้อาจใช้ยาเสพติดอื่น ๆ ด้วยเพื่อรับมือกับความซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความเบื่อ และความเหงา[95][101]

ปัจจัยทางพัฒนาการ

ในช่วงพัฒนาการของตัวอ่อน ปัจจัยเช่นการขาดออกซิเจน (hypoxia) การติดเชื้อ ความเครียด และทุพโภชนาการ อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคแก่ทารกในอนาคต[9]คนที่ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคมีโอกาสมากกว่าที่จะคลอดในฤดูหนาวหรือฤดูใบไม้ผลิ (อย่างน้อยก็ในซีกโลกเหนือ) ซึ่งอาจเป็นผลของการได้รับไวรัสในอัตราสูงขึ้นในครรภ์[15]ความเสี่ยงโรคเพราะไวรัสจะเพิ่มขึ้นราว 5-8%[102]การติดเชื้อเมื่ออยู่ในครรภ์หรือในช่วงใกล้ ๆ คลอดรวมทั้งโพรทิสต์ในเคลด Alveolata คือ Toxoplasma gondi (เป็นเหตุโรค toxoplasmosis[J]) และแบคทีเรีย Chlamydia (เป็นเหตุโรคหนองในเทียม) และการตรวจพบแอนติเจนในเลือดสำหรับจุลชีพก่อโรคบางชนิด ก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคที่สูงขึ้น[106]การติดเชื้อไวรัสในสมองในช่วงวัยเด็กยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงเกิดอาการโรคจิตเมื่อเป็นผู้ใหญ่ด้วย[107]

กลไก

แม้กลไกของโรคจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีความพยายามเชื่อมการทำงานของสมองที่เปลี่ยนไปกับโรค[9]ที่ใช้เป็นคำอธิบายอย่างสามัญที่สุดก็คือ สมมติฐานโดพามีน ซึ่งโทษอาการโรคจิตว่า เป็นการแปลผลเนื่องกับการส่งสัญญาณผิด ๆ ของเซลล์ประสาทโดพามีน (dopaminergic neuron)[9]กลไกที่เป็นไปได้อื่น ๆ รวมทั้งปัญหาการสื่อประสาทผ่านกลูตาเมตและปัญหาพัฒนาการทางประสาทมีสมมติฐานที่เชื่อมความผิดปกติทางชีววิทยาเหล่านี้กับอาการต่าง ๆ[108]

การส่งกระแสประสาทผิดปกติของระบบประสาทโดพามีนโทษว่ามีส่วนให้เกิดโรค เพราะยาที่ออกฤทธิ์ต่อหน่วยรับโดพามีน (ที่เซลล์ประสาท) มีผลดี และเพราะระดับโดพามีนจะสูงขึ้นในอาการโรคจิตปัจจุบัน[109][110]มีสมมติฐานว่าการส่งกระแสประสาทผิดปกติของระบบประสาทโดพามีนเป็นเหตุของอาการหลงผิด[111][112][113]การลดจำนวนหน่วยรับโดพามีนแบบ D1 ในสมองส่วน prefrontal cortex ก็อาจทำให้ความจำใช้งาน[C] บกพร่องด้วย[114][115][116][117]

หลักฐานจากงานศึกษาแนวต่าง ๆ แสดงว่า การลดจำนวนหน่วยรับ NMDA ในสมองมีบทบาทคืองานศึกษาได้แสดงว่าการแสดงออกของหน่วยรับ NMDA ที่ลดลง และยาสะกดหน่วยรับ (NMDA receptor blockers) ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคจิตเภทและเกิดความผิดปกติทางสรีรภาพที่สัมพันธ์กับโรค[118][119][120]งานศึกษาหลังคนไข้เสียชีวิตพบอย่างสม่ำเสมอว่า นอกเหนือจากการมีสัณฐานผิดปกติ เซลล์ประสาทส่วนย่อยในเซลล์ประสาทเหล่านั้นไม่แสดงออกเอนไซม์ glutamate decarboxylase (GAD67)[121]กลุ่มย่อยของอินเตอร์นิวรอนที่ผิดปกติในคนไข้มีหน้าที่ประสานการส่งกระแสประสาทของกลุ่มนิวรอนซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อใช้ความจำ และเห็นได้ทางสรีรวิทยาไฟฟ้าโดยเป็นคลื่นประสาทที่มีความถี่การแกว่งไกวแบบแกมมาที่ระหว่าง 30-80 เฮิรตซ์ทั้งความจำใช้งานและการแกว่งไกวแบบแกมมาจะผิดปกติในคนไข้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการทำงานผิดปกติของอินเตอร์นิวรอน[122][123][124][125]

หลักฐานแสดงว่าการเกิดโรคมีองค์เป็นพัฒนาการทางประสาทก่อนเกิดโรคมักจะมีความบกพร่องทางประชาน/ความคิด การเข้าสังคม และการเคลื่อนไหว[126]อนึ่ง ปัญหาก่อนคลอดรวมทั้งแม่ติดเชื้อ[127][128]ทุพโภชนาการของมารดา และภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ล้วนเพิ่มความเสี่ยงโรค[85]โรคปกติจะเกิดราว ๆ อายุ 18-25 ปีซึ่งเป็นวัยที่เกิดพัฒนาการทางประสาทบางระยะที่เชื่อมเกี่ยวกับโรค[129]

ความบกพร่องทาง executive function เช่น การวางแผน การห้ามใจตนเอง และความจำใช้งาน เป็นปัญหากระจายไปทั่วของคนไข้แม้หน้าที่เหล่านี้จะสามารถแยกจากกันได้ แต่การทำงานผิดปกติในโรคอาจสะท้อนถึงความบกพร่องอันเป็นมูลฐานทางการสร้างตัวแทนข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายไว้ในความจำใช้งาน แล้วใช้ข้อมูลนี้ในทางประชาน/ความคิดและทางพฤติกรรม[130][131]ความบกพร่องเช่นนี้เชื่อมกับภาพทางประสาทที่ผิดปกติและความผิดปกติทางประสาทพยาธิวิทยาหลายอย่างเช่น งานศึกษาที่สร้างภาพประสาทโดยกิจ (functional neuroimaging) รายงานว่า ประสิทธิภาพของการแปลผลทางประสาทได้ลดลง คือ ส่วนสมอง dorsolateral prefrontal cortex ต้องทำงานมากกว่าเพื่อให้ได้ผลเช่นเดียวกันในงานที่ต้องใช้ความจำใช้งานความผิดปกติเหล่านี้อาจเชื่อมกับสิ่งที่ค้นพบหลังคนไข้เสียชีวิตที่คงเส้นคงวาว่ามีนิวโรพิลที่น้อยลง คือมีหลักฐานว่าเซลล์ประสาทพีระมิดหนาแน่นน้อยลง และมีเดนดริติกสไปน์ที่หนาแน่นลดลงความผิดปกติระดับเซลล์และการทำงานของมันเหล่านี้อาจสะท้อนโดยงานศึกษาสร้างภาพโครงสร้างประสาท ที่พบปริมาตรเนื้อเทาที่ลดลงโดยสัมพันธ์กับความบกพร่องทางความจำใช้งาน[132]

อาการเชิงบวกและอาการบกพร่องได้เชื่อมกับเปลือกสมองที่หนาลดลงในสมองกลีบขมับส่วนบน (superior temporal lobe)[133]และใน orbitofrontal cortex ตามลำดับ[134]ภาวะสิ้นยินดี ซึ่งดั้งเดิมนิยามว่า เป็นสมรรถภาพรับประสบการณ์ที่ทำให้เกิดสุขได้น้อยลง บ่อยครั้งรายงานว่าเกิดกับคนไข้แต่ก็มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงว่า การตอบสนองต่อความสุขไม่เสียหายในคนไข้[135]และที่รายงานเป็นภาวะสิ้นยินดีความจริงเป็นการทำงานผิดปกติของกระบวนการเกี่ยวกับรางวัลอื่น ๆ[136]ทั่วไปแล้วกระบวนการพยากรณ์รางวัล (reward prediction) ที่เสียหายเชื่อว่า ก่อความบกพร่องในการสร้างความคิดและพฤติกรรมที่จำเป็นเพื่อให้ได้รางวัล แม้คนไข้จะมีการตอบสนองต่อความสุขที่เป็นปกติ[137]

แบบจำลองการทำงานของสมองแบบความน่าจะเป็นเบย์ได้ใช้เชื่อมความผิดปกติในการทำงานระดับเซลล์กับอาการของโรค[138][139]ทั้งประสาทหลอนและอาการหลงผิดเสนอว่า สะท้อนการเข้ารหัสความคาดหวังก่อน (prior expectation) ในระบบประสาทที่ไม่ดี ดังนั้น ทำให้ความคาดหวังมีอิทธิพลเกินต่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและการสร้างความเชื่อในแบบจำลองวงจรประสาทอันเป็นที่ยอมรับซึ่งอำนวยการเข้ารหัสการพยากรณ์รางวัล การทำงานของหน่วยรับ NMDA ที่น้อยเกินดังที่พบในโรค โดยทฤษฎีอาจมีผลเป็นอาการคลาสสิกของโรคจิตเภท เช่น อาการหลงผิดและประสาทหลอน[140][141]

วินิจฉัย

โรคจิตเภทจะวินิจฉัยตามเกณฑ์ของคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) ของสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) หรือ ICD-10 ขององค์การอนามัยโลกเกณฑ์เหล่านี้ใช้รายงานประสบการณ์จากคนไข้เองและรายงานพฤติกรรมผิดปกติที่คนอื่นรายงาน โดยแพทย์พยาบาลเป็นผู้ประเมินแต่อาการที่สัมพันธ์กับโรคนั้นก็เกิดเป็นสเปกตรัมคืออย่างต่อเนื่องในกลุ่มประชากรปกติ และดังนั้น จึงต้องถึงความรุนแรงและปัญหาในระดับหนึ่งก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรค[15]จนถึงปี 2013 ยังไม่มีการตรวจที่เป็นปรวิสัย (เพราะบุคคลต่าง ๆ รวมคนไข้เอง เป็นผู้รายงานอาการ จึงเป็นการตรวจที่เป็นอัตวิสัย)[6]

เกณฑ์

ในปี 2013 สมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) ตีพิมพ์ DSM ฉบับที่ 5 คือ DSM-5ในฉบับนี้เพื่อจะวินิจฉัยว่ามีโรคจิตเภท จะต้องผ่านเกณฑ์สองเกณฑ์ที่เกิดโดยมากในช่วงเวลาอย่างน้อย 1 เดือนและมีผลสำคัญต่อการดำเนินชีวิตทางสังคมและทางอาชีพอย่างสำคัญอย่างน้อย 6 เดือนคนไข้ต้องมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน หรือพูดสับสน เป็นอาการแรกอาการที่สองอาจเป็นอาการบกพร่อง (negative symptom) หรือพฤติกรรมที่วุ่นวายสับสนหรือมีอาการเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonia)[142]นิยามของโรคจิตเภทเท่ากับที่ระบุใน DSM-IV-TR ปี 2000 แต่ DSM-5 ก็มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างรวมทั้ง

  • การแจกแนกแบบย่อย (subtype) เช่น ยกเลิกแบบย่อย catatonic schizophrenia และโรคจิตเภทแบบระแวง (paranoid schizophrenia) ซึ่งมีอยู่ในฉบับก่อน ๆ โดยมากตามแบบฉบับ แต่ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีค่าอะไร[143]
  • อาการเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonia) ไม่จัดว่าสัมพันธ์กับโรคจิตเภทอย่างมีกำลัง[144]
  • เมื่อรายงานอาการของโรค แนะนำว่าให้จำแนกให้ดีระหว่างภาวะโรคปัจจุบันกับที่ผ่านมาในอดีต เพื่อให้สามารถระบุวิถีการดำเนินของโรคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น[143]
  • การให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อเกณฑ์วินิจฉัย Schneider's first-rank symptoms[K] ไม่แนะนำอีกต่อไป[143]
  • โรค schizoaffective disorder มีนิยามที่ดีขึ้นเพื่อแยกแยะกับโรคจิตเภทได้ชัดเจนขึ้น[143]
  • การประเมินที่ครอบคลุมโดเมน 8 โดเมนของจิตพยาธิวิทยา เช่น คนไข้ประสาทหลอนหรือมีอาการฟุ้งพล่าน (mania) หรือไม่ แนะนำให้ทำเพื่อช่วยการตัดสินใจในการตรวจรักษา[149]

เกณฑ์วินิจฉัย ICD-10 ปกติจะใช้ในประเทศยุโรปส่วนเกณฑ์ DSM ใช้ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ บางประเทศ และมักใช้โดยมากในงานวิจัยเกณฑ์ ICD-10 เน้นเกณฑ์ Schneider's first-rank symptoms[K] มากกว่าในภาคปฏิบัติ วิธีการจำแนกโรคทั้งสองเข้ากันได้ดีมาก[150]ข้อเสนอการปรับปรุง ICD-11 เสนอให้เพิ่ม self-disorder เป็นอาการ[23]

  • ถ้าปัญหามีมากกว่า 1 เดือนแต่ยังน้อยกว่า 6 เดือนแพทยจ์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรค schizophreniform disorder ก่อน
  • อาการโรคจิตที่มีน้อยกว่า 1 เดือนจะวินิจฉัยเป็น brief psychotic disorder และภาวะอีกหลายอย่างอาจจัดเป็น psychotic disorder not otherwise specified
  • ถ้ามีอาการของความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ค่อนข้างมากพร้อม ๆ กับอาการโรคจิต ก็จะวินิจฉัยเป็น schizoaffective disorder
  • ถ้าอาการโรคจิตเป็นผลทางสรีรวิทยาโดยตรงจากอาการทางแพทย์อื่น ๆ หรือจากสาร ก็จะวินิจฉัยเป็นอาการโรคจิตทุติยภูมิของโรคนั้น ๆ[142]

แพทย์จะไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ถ้ามีอาการ pervasive developmental disorder (ซึ่งรวมออทิซึมสเปกตรัมและกลุ่มอาการเรตต์) ยกเว้นถ้าอาการหลงผิดและประสาทหลอนที่เด่นก็มีด้วย[142]

แบบย่อย

ใน DSM-5 สมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) ได้ยกเลิกการจัดแบบย่อยของโรคจิตเภท[151]แบบย่อย ๆ ที่รวมอยู่ใน DSM-IV-TR คือ[152][153]

  • โรคจิตเภทแบบระแวง (paranoid schizophrenia): คนไข้มีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนทางหู แต่ไม่มีความผิดปกติทางความคิด พฤติกรรมวุ่นวายสับสน และการไม่แสดงออกทางอารมณ์ อาการหลงผิดเป็นแบบคนตามรังควานหรือคิดว่าตนเขื่อง นอกเหนือจากนี้ ตีมอื่น ๆ เช่น ความอิจฉาริษยา ความเคร่งศาสนา และการแสดงความทุกข์ทางใจออกเป็นโรคทางกาย (somatization) ก็อาจมี (DSM code 295.3/ICD code F20.0)
  • โรคจิตเภทแบบสับสน (disorganized schizophrenia): เรียกว่า hebephrenic schizophrenia ใน ICD เมื่อมีความผิดปกติทางความคิดและการไม่แสดงออกทางอารมณ์เป็นอาการร่วมกัน (DSM code 295.1/ICD code F20.1)
  • โรคจิตเภทแบบเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonic schizophrenia): คนไข้อาจอยู่เฉย ๆ หรือมีการเคลื่อนไหวที่ไม่สงบวุ่นวาย ไร้จุดหมาย อาการอาจรวมอาการเงียบงัน (stupor) และอาการจัดท่าทางได้เหมือนหุ่นขี้ผึ้ง (waxy flexibility) (DSM code 295.2/ICD code F20.2)
  • รูปแบบที่ไม่ได้จัด: มีอาการโรคจิตแต่ไม่ผ่านเกณฑ์แบบย่อย คือระแวง (paranoid), สับสน (disorganized) และเคลื่อนไหวน้อยหรือมากเกิน (catatonic) (DSM code 295.9/ICD code F20.3)
  • โรคจิตเภทแบบยังมีอยู่ (residual schizophrenia): มีอาการเชิงบวกในระดับน้อย ๆ เท่านั้น (DSM code 295.6/ICD code F20.5)

ICD-10 นิยามรูปแบบย่อยเพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้[152]

  • post-schizophrenic depression: คราวซึมเศร้าที่เกิดหลังจากป่วยเป็นโรคจิตเภท ที่อาการโรคจิตเภทระดับต่ำ ๆ ก็ยังอาจเหลืออยู่ (ICD code F20.4)
  • simple-type schizophrenia: อาการบกพร่อง (negative symptom) ที่เด่น ค่อยเป็นค่อยไป และแย่ลงเรื่อย ๆ โดยไม่มีประวัติอาการโรคจิต (ICD code F20.6)
  • โรคจิตเภทแบบอื่น ๆ ซึ่งรวม cenesthopathic schizophrenia และ schizophreniform disorder แบบ NOS (ICD code F20.8)[154]

การวินิจฉัยแยกโรค

อาการโรคจิตอาจมีในความผิดปกติทางจิตใจ (mental disorder) อื่น ๆ รวมทั้งโรคอารมณ์สองขั้ว (BD)[155],ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง[156],ความเป็นพิษจากยา และภาวะโรคจิตเหตุสารภายนอก (substance-induced psychosis)อาการหลงผิด (แบบไม่แปลก คือ non-bizarre) ยังมีด้วยในโรคหลงผิด (delusional disorder) และการถอนตัวจากสังคมในโรค social anxiety disorder, avoidant personality disorder และ schizotypal personality disorder (STPD)โดย STPD มีอาการคล้ายกันแต่รุนแรงน้อยกว่าโรคจิตเภท[6]โรคจิตเภทยังอาจเกิดพร้อมกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) บ่อยครั้งเกินกว่าที่จะอธิบายได้ว่าบังเอิญ แม้การแยกความหมกมุ่นของโรค OCD กับอาการหลงผิดของโรคจิตเภทอาจเป็นเรื่องยาก[157]บุคคลที่เลิกยาเบ็นโซไดอาเซพีนอาจมีอาการขาดยาที่รุนแรงและยาวนาน ซึ่งอาจคล้ายโรคจิตเภทและวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรค[158]

การตรวจหาโรคอื่น ๆ และโรคทางประสาทอาจจำเป็นเพื่อกันโรคอื่น ๆ ซึ่งก่ออาการคล้ายโรคจิต เช่น ความผิดปกติทางเมทาบอลิซึม, การติดเชื้อทั่วกาย (systemic infection), ซิฟิลิส, กลุ่มภาวะสมองเสื่อมเหตุเอดส์ (AIDS dementia complex), โรคลมชัก, limbic encephalitis และรอยโรคในสมองอนึ่ง โรคหลอดเลือดสมอง, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน, ภาวะขาดไทรอยด์, และภาวะสมองเสื่อมต่าง ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์, โรคฮันติงตัน, ภาวะสมองเสื่อมที่สมองกลีบหน้าและกลีบขมับ (FTD) และ Dementia with Lewy bodies ก็อาจสัมพันธ์กับอาการโรคจิตคล้ายโรคจิตเภทด้วย[159]อาจต้องกันอาการเพ้อออก ซึ่งต่างกันเพราะมีประสาทหลอนทางตา, เกิดอย่างฉับพลัน และระดับความรู้สึกตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งแสดงว่า เป็นโรคหรืออาการอื่น ๆการตรวจจะไม่ทำซ้ำถ้ากลับเป็นอีก ยกเว้นจะมีตัวบ่งชี้ทางการแพทย์โดยเฉพาะ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงของการกินยารักษาโรคจิตในเด็ก ประสาทหลอนต้องแยกจากจินตนาการวัยเด็กทั่ว ๆ ไป[6]

การป้องกัน

การป้องกันโรคจิตเภทเป็นเรื่องยากเพราะไม่มีตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ว่าจะเกิดโรคในอนาคต[160]มีหลักฐานเบื้องต้นบ้างว่า การป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ มีผลป้องกันโรคที่ดี[161]มีหลักฐานบ้างว่า การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ในบุคคลที่มีอาการโรคจิตคราวหนึ่งอาจให้ผลระยะสั้นที่ดี แต่มีประโยชน์น้อยหลังจาก 5 ปี[9]การป้องกันโรคในช่วงระยะอาการบอกเหตุ[F] มีประโยชน์ไม่ชัดเจน และดังนั้น จนถึงปี 2009 นี่จึงยังไม่แนะนำ[162]การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) อาจลดความเสี่ยงอาการโรคจิตสำหรับผู้เสี่ยงสูงหลังจากปีหนึ่ง[163]และแนะนำสำหรับคนไข้กลุ่มนี้โดยสำนักงาน NICE แห่งกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ[164]วิธีการป้องกันอีกอย่างก็คือหลีกเลี่ยงยาที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค รวมทั้งกัญชา โคเคน และแอมเฟตามีน[15]

การรักษา

การรักษาโรคจิตเภทโดยหลักก็คือการให้ยารักษาโรคจิต (antipsychotic) บ่อยครั้งบวกกับให้ความสนับสนุนช่วยเหลือทางจิตและสังคม[9]อาจต้องเข้าโรงพยาบาลสำหรับคราวที่มีอาการหนักไม่ว่าจะโดยยินยอมหรือไม่ยินยอมการอยู่ใน รพ. ในระยะยาวไม่ค่อยสามัญตั้งแต่การปฏิรูปให้คนไข้โรคจิตอยู่ใต้การดูแลของชุมชน (ในสังคมตะวันตก) ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 แม้ก็ยังมีอยู่[17]ในบางประเทศ หน่วยบริการชุมชนรวมทั้งศูนย์ที่คนไข้สามารถแวะมาหา ทีมแพทย์พยาบาลทางจิตในพื้นที่ซึ่งออกไปเยี่ยมคนไข้ ระบบช่วยหางานให้คนไข้[165]และกลุ่มสนับสนุนคนไข้เป็นเรื่องสามัญหลักฐานบางส่วนระบุว่า การออกกำลังกายเป็นปกติมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจของคนไข้โรคจิตเภท[166]จนถึงปี 2015 ยังไม่ชัดเจนว่าการรักษาด้วยการกระตุ้นประสาทผ่านกะโหลกด้วยสนามแม่เหล็ก (TMS) มีผลดีต่อคนไข้[167]

ยา

ริสเพอริโดน (ชื่อการค้า Risperdal) เป็นยารักษาโรคจิตนอกแบบ (atypical antipsychotic) ที่สามัญ

การรักษาโรคจิตเภททางจิตเวชอันดับแรกเป็นการให้ยารักษาโรคจิต (antipsychotic)[168]ซึ่งอาจลดอาการเชิงบวกได้ภายใน 7-14 วันแต่ก็ไม่สามารถปรับปรุงอาการเชิงลบและการทำงานผิดปกติทางประชาน/ความคิดได้อย่างสำคัญ[42][169]ในคนไข้ที่ได้ยา การกินยาต่อไปเรื่อย ๆ ลดความเสี่ยงการกลับเกิดโรคอีก[170][171]มีหลักฐานน้อยมากว่าผลเป็นอย่างไรเกิน 2-3 ปี[171]ยารักษาโรคจิตอาจก่อภาวะไวสูงต่อสารโดพามีน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการถ้าหยุดยา[172]

ยารักษาโรคจิตที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับประโยชน์ ความเสี่ยง และค่าใช้จ่าย[9]ยังไม่ชัดเจนว่า ถ้ารวมเป็นหมู่ ๆ ยาตามแบบ (typical) หรือยานอกแบบ (atypical) ดีกว่ากัน[16][173]ยา amisulpride, olanzapine, ริสเพอริโดน และ clozapine อาจมีผลดีกว่าแต่ก็สัมพันธ์กับผลข้างเคียงมากกว่า[174]ยารักษาโรคจิตตามแบบมีอัตราคนไข้เลิกกินยาและกลับเกิดอาการอีกเท่ากับยานอกแบบเมื่อใช้ในขนาดต่ำจนถึงปานกลาง[175]คนไข้ 40-50% ตอบสนองได้ดี, 30-40% ตอบสนองเป็นบางส่วน และ 20% ไม่ตอบสนองคืออาการไม่ดีขึ้นพอหลังจาก 6 สัปดาห์ที่ใช้ยารักษาโรคจิต 2-3 อย่าง[42]clozapine เป็นยารักษาที่มีประสิทธิผลสำหรับคนไข้ที่ตอบสนองต่อยาอื่น ๆ ได้ไม่ดี (ที่เรียกว่า treatment-resistant schizophrenia หรือ refractory schizophrenia)[176]แต่มีโอกาสให้ผลข้างเคียงที่รุนแรงคือ ภาวะแกรนูโลไซต์น้อย (agranulocytosis) คือจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลงโดยเกิดในอัตรา 4%[9][15][177]

คนไข้ที่กินยารักษาโรคจิตโดยมากมีผลข้างเคียงที่กินยาตามแบบ (typical antipsychotics) มักจะมีอาการ extrapyramidal ในอัตราที่สูงกว่า เทียบกับคนที่กินยานอกแบบ (atypical) ซึ่งสัมพันธ์กับน้ำหนักขึ้น โรคเบาหวาน และความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการแมแทบอลิซึมซึ่งเด่นที่สุดเมื่อกินยา olanzapine ในขณะที่ริสเพอริโดนและ quetiapine ก็สัมพันธ์กับน้ำหนักขึ้นด้วย[174]ริสเพอริโดนมีอัตราการเกิดอาการ extrapyramidal คล้ายกับยาตามแบบคือ haloperidol[174]

ไม่ชัดเจนว่า ยารักษาโรคจิตใหม่ ๆ ช่วยลดโอกาสเกิด neuroleptic malignant syndrome[L]หรือ อาการยืกยือเหตุยาซึ่งเกิดภายหลัง (tardive dyskinesia) ซึ่งเป็นโรคประสาท (neurological disorder) ที่รุนแรงหรือไม่[180]

สำหรับคนไข้ที่ไม่ยอมหรือไม่สามารถกินยาได้อย่างสม่ำเสมอ ยารักษาโรคจิตที่ออกฤทธิ์ในระยะยาว (แบบ depot) อาจใช้คุมโรคได้[181]ซึ่งลดความเสี่ยงการเกิดโรคอีกได้ดีกว่ายากิน[170]ดังนั้นเมื่อใช้พร้อมกับการรักษาทางจิตสังคมด้วย ก็อาจทำให้คนไข้อยู่กับการรักษาในการดูแลของแพทย์ได้ดีกว่า[181]สมาคมจิตเวชอเมริกันแนะนำให้พิจารณาเลิกยารักษาโรคจิตในคนไข้บางส่วนถ้าไม่มีอาการเกินกว่าปีหนึ่ง[171]

การรักษาทางจิตสังคม

การรักษาทางจิตสังคมบางอย่างอาจมีประโยชน์ในการรักษาโรคจิตเภทรวมทั้งครอบครัวบำบัด (family therapy)[182],assertive community treatment, การช่วยหางานให้คนไข้, cognitive remediation[183],การฝึกทักษะการทำงาน, การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจพอเป็นพิธี และการรักษาทางจิตสังคมสำหรับการใช้ยาเสพติดและการคุมน้ำหนัก[184]ครอบครัวบำบัดหรือการให้การศึกษาแก่ครอบครัว ซึ่งมุ่งสมาชิกทุกคนในครอบครัวคนไข้ อาจลดการเกิดโรคอีกและการเข้า รพ.[182]การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) มีหลักฐานน้อยว่ามีประสิทธิผลลดหรือป้องกันการเกิดโรคอีก[185][186]หลักฐานว่าการฝึกแบบ metacognitive training (MCT) มีประโยชน์ไม่ชัดเจน คืองานทบทวนวรรณกรรมบางส่วนพบประโยชน์ แต่ที่เหลือไม่พบ[187][188][189]การบำบัดด้วยศิลป์หรือละครไม่ได้วิจัยอย่างเพียงพอ[190][191]กลุ่มคนไข้สนับสนุน ที่บุคคลผู้เคยประสบความเจ็บป่วยทางจิตใจช่วยเหลือกันเอง ไม่พบว่ามีประโยชน์ที่ชัดเจนสำหรับโรคนี้[192]

พยากรณ์โรค

การสูญเสียปีสุขภาวะเพราะโรคจิตเภทต่อประชากร 100,000 คนในปี 2004

โรคก่อความเสียหายต่อทั้งชีวิตและต่อเศรษฐกิจอย่างสูง[9]คือลดการคาดหมายคงชีพของคนไข้ถึง 10-25 ปี[8]โดยหลักสัมพันธ์กับโรคอ้วน การกินอาหารที่ไม่ดี ชีวิตที่นั่งนอนมาก และการสูบบุหรี่ โดยอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจะมีบทบาทน้อยกว่า[9][8][193]ยารักษาโรคจิตยังอาจเพิ่มความเสี่ยงด้วย[8]การคาดหมายคงชีพตามที่ว่านี่ต่างกันมากขึ้นในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 กับ 1990[194]

โรคจิตเภทเป็นเหตุความพิการที่สำคัญ อาการโรคจิตที่กำลังเป็นไปจัดว่า เป็นภาวะทำให้พิการเป็นอันดับสามต่อจากอัมพาตแขนขาสองข้างและภาวะสมองเสื่อม ยิ่งกว่าอัมพาตครึ่งล่างและตาบอด[195]คนไข้ 3 ใน 4 มีปัญหาความพิการและการกลับเกิดโรคอีก[42]และคน 16.7 ล้านคนทั่วโลกจัดว่ามีความพิการเริ่มต้นจากปานกลางจนถึงหนักเพราะโรค[196]คนไข้บางส่วนกลับคืนดีได้ทั้งหมด และบางส่วนก็ใช้ชีวิตได้ดีในสังคม[197]คนไข้โดยมากใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสังคม[9]85% ไม่มีงานทำ[5]หลักฐานบางส่วนแสดงว่า คนไข้โรคจิตเภทแบบระแวง (paranoid schizophrenia) อาจมีโอกาสดีกว่าที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเองและทำอาชีพได้ดีกว่า[198]ในบรรดาบุคคลที่เกิดคราวแรกของอาการโรคจิต 42% จะได้ผลดีในระยะยาว, 35% ได้ผลปานกลาง และ 27% ได้ผลแย่[199]

ผลในประเทศกำลังพัฒนาดูเหมือนจะดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว[200]แต่ข้อสรุปเช่นนี้ก็มีข้อขัดแย้ง[201][202]

คนไข้มีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยซึ่งแม้เคยอ้างว่าอยู่ที่ 10% แต่งานศึกษาหลัง ๆ ประเมินอยู่ที่ 4.9% โดยเกิดบ่อยที่สุดหลังเกิดโรคหรือหลังเข้า รพ. เป็นครั้งแรก[21][203]คนไข้จำนวนหลายเท่ากว่านั้นคือ (20-40%) พยายามฆ่าตัวตายอย่างน้อยครั้งหนึ่ง[6][204]ปัจจัยเสี่ยงมีหลายอย่างรวมทั้งเพศชาย ความซึมเศร้า และระดับเชาวน์ปัญญาสูง[204]

ในงานศึกษาที่ทำทั่วโลก โรคจิตเภทสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่อย่างมีกำลัง[205][206]การสูบบุหรี่มีอัตราสูงมากในคนไข้ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท โดยประเมินการสูบบุหรี่เป็นปกติที่ระหว่าง 80-90% เทียบกับ 20% ของกลุ่มประชากรทั่วไป[206]คนสูบมักจะสูบจัด และสูบบุหรี่ตราที่มีนิโคตินมาก[207]นักวิชาการบางพวกจึงเสนอว่า เป็นความพยายามปรับปรุงอาการของตนเอง[208]ในบรรดาคนไข้ การใช้กัญชาก็สามัญด้วย[95]

วิทยาการระบาด

การเสียชีวิตต่อประชากรล้านคนเพราะโรคจิตเภทในปี 2012
  1-1
  2-2
  3-3
  4-6
  7-20

โรคจิตเภทมีผลต่อคน 0.3-0.7% ในช่วงชีวิตของตน ๆ[9]คือมีผลต่อคน 24 ล้านคนทั่วโลกจนถึงปี 2011[209]เกิดในชายเป็น 1.4 เท่าของหญิงและปกติเกิดเมื่อวัยเยาว์กว่า[15]อายุที่เกิดมากสุดของชายอยู่ที่ 25 ปีและของหญิง 27 ปี[210]การเกิดในวัยเด็กจะมีน้อยกว่า[211]และนัยเดียวกัน การเกิดในวัยกลางคนหรือวัยชรา[212]

แม้จะเชื่อกันแต่ก่อนว่า โรคเกิดในอัตราเท่า ๆ กันทั่วโลก แต่จริง ๆ การเกิดโรคก็ต่าง ๆ กัน[6][213]แม้ในประเทศเดียวกัน[214]และแม้แต่ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน[215]ความแปรผันประเมินว่าอาจถึง 5 เท่า[5]เป็นเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALY) 1% ทั่วโลก[15]และทำให้คนเสียชีวิต 20,000 คนในปี 2010[216]อัตราการเกิดโรคจะต่าง ๆ กันจนถึงสามเท่าขึ้นอยู่กับนิยามที่ใช้เพื่อนับ[9]ในปี 2000 องค์การอนามัยโลกพบว่า อัตราของคนไข้และการเกิดโรคใหม่ในแต่ละปีจะคล้าย ๆ กันทั่วโลก โดยมีความชุกตามอายุ (age-standardized) ต่อประชากร 100,000 คนเริ่มต้นจาก 343 คนในแอฟริกาจนถึง 544 คนในญี่ปุ่นและโอเชียเนียสำหรับชาย และจาก 378 คนในแอฟริกาจนถึง 527 คนในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้สำหรับหญิง[217]ผู้ใหญ่ราว ๆ 1.1% มีโรคนี้ในสหรัฐอเมริกา[218]

ประวัติ

จิตแพทย์ชาวสวิสอ็อยเกน บล็อยเลอร์ เป็นผู้บัญญัติคำว่า schizophrenia

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จิตแพทย์ชาวเยอรมันเคอร์ต ชไนเดอร์ (Kurt Schneider) ได้ทำรายการอาการโรคจิตที่เขาเชื่อว่าแยกโรคจิตเภทกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆซึ่งต่อมาเรียกว่า Schneider's first-rank symptomsรายการรวมทั้งอาการหลงผิดว่าถูกสิ่งภายนอกควบคุม ความเชื่อว่าความคิดถูกใส่เข้าในใจหรือถูกดึงออกจากใจ ความเชื่อว่าความคิดของตนถูกกระจายให้คนอื่นรู้ หรือประสาทหลอนได้ยินเสียงพูดที่วิพากษ์วิจารณ์ความคิดหรือพฤติกรรมของตนหรือเสียงพูดที่กำลังคุยกับคนที่ไม่มีอื่น ๆ[219]แม้รายการนี้จะมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อเกณฑ์วินิจฉัยปัจจุบัน ความจำเพาะของอาการในรายการนี้ปัจจุบันเป็นเรื่องไม่แน่นอนงานทบทวนงานศึกษาเรื่องการวินิจฉัยที่ทำระหว่างปี 1970-2005 พบว่า ไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธข้ออ้างของหมอชไนเดอร์ได้ แล้วจึงระบุว่า ควรเลิกเน้นรายการนี้ในระบบการวินิจฉัยฉบับต่อ ๆ ไป[220]แต่การไม่มีอาการเหล่านี้ก็อาจชี้ว่ามีโรคอื่น ๆ[23]

ประวัติของโรคค่อนข้างซับซ้อน จึงกล่าวเป็นเรื่องต่อกันเป็นเรื่องเดียวได้ยาก[221]อาการคล้ายกับโรคจิตเภทเชื่อว่ามีน้อยในประวัติก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 แม้รายงานเรื่องพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุผล เข้าใจได้ยาก ควบคุมไม่ได้ จะเป็นเรื่องสามัญรายงานคนไข้อย่างละเอียดในปี 1797 เกี่ยวกับคนไข้ชาวอังกฤษเจมส์ ทิลลี แมททิวส์ (James Tilly Matthews) และรายงานคนไข้ต่าง ๆ ของแพทย์ชาวฝรั่งเศส Philippe Pinel ที่ตีพิมพ์ในปี 1809 บ่อยครั้งจัดว่าเป็นรายงานโรคจิตเภทแรก ๆ ในวรรณกรรมทางการแพทย์และวรรณกรรมทางจิตเวช[222]

จิตแพทย์ชาวเยอรมันได้ใช้คำละตินว่า dementia praecox ในปี 1886 และแพทย์ชาวเช็กอาร์โนลด์ พิก (Arnold Pick) ในปี 1891 ก็ได้ใช้คำเดียวกันในรายงานผู้ป่วยสำหรับคนไข้โรคจิตเภทแบบสับสน (disorganized) คนหนึ่งในปี 1891จิตแพทย์ชาวเยอรมันเอมีล เครพอลีน (Emil Kraepelin) ได้ใช้คำนี้ในปี 1893 และต่อมาในปี 1899 ได้เสนอการจำแนกความผิดปกติทางจิตใจที่ต่างกันระหว่างคำว่า dementia praecox กับ mood disorder (ซึ่งเขาเรียกว่า manic depression โดยรวมทั้งโรคซึมเศร้าขั้วเดียวและโรคอารมณ์สองขั้ว)[223]หมอเครพอลีนเชื่อว่า โรค dementia praecox น่าจะมีเหตุจากกระบวนการของโรคที่คุกรุ่นอยู่ทั่วร่างกายเป็นระยะยาวซึ่งมีผลต่ออวัยวะมากมายและต่อระบบประสาทส่วนนอก แต่จะมีผลต่อสมองหลังวัยเจริญพันธุ์โดยเป็นระยะสุดท้าย[224]เขาได้ใช้คำว่า "praecox" (แปลว่า เกิดก่อน) เพื่อแยกโรคให้แตกต่างกับภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งปกติเกิดขึ้นทีหลังในชีวิต[225]

แพทย์ชาวฝรั่งเศส Bénédict Morel ได้ใช้คำว่า démence précoce ในปี 1852 จึงมีผู้อ้างว่า เป็นผู้ระบุโรคจิตเภทเป็นคนแรกแม้ก็ไม่ได้ใส่ใจว่า ไม่มีอะไรที่จะเชื่อมการใช้คำนี้กับกระบวนการสร้างแนวคิดของโรค dementia praecox ที่เป็นไปต่างหากในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[226]

โมเลกุลของยา chlorpromazine (ชื่อการค้า Thorazine) ซึ่งปฏิวัติการรักษาโรคจิตเภทในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950

คำว่า schizophrenia ซึ่งแปลอย่างคร่าว ๆ ได้ว่า "การแยกจิต" และมาจากรากศัพท์คำกรีกโบราณว่า schizein (σχίζειν แปลว่า "แยก") และ phrēn, phren- (φρήν, φρεν-, แปลว่า "จิต")[227]จิตแพทย์ชาวสวิสอ็อยเกน บล็อยเลอร์ได้บัญญัติขึ้นในปี 1908 เพื่อระบุการทำงานแยกจากกัน (คือไม่ประสานกัน) ระหว่างบุคลิกภาพ ความคิด ความจำ กับการรับรู้ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษตีความผลงานของหมอบล็อยเลอร์ว่า เขาอธิบายโรคว่ามีอาการ 4 อย่างหลัก ๆ ย่อได้เป็น A 4 ตัวคือ การไร้การแสดงออกทางอารมณ์ (flattened affect) ออทิซึม (autism) การสัมพันธ์แนวคิดอย่างบกพร่อง (impaired association of ideas) และการมีความรู้สึกทั้งดีและไม่ดีต่อเรื่องต่าง ๆ (ambivalence)[228][229]หมอบล็อยเลอร์ตระหนักว่า โรคไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อม เพราะคนไข้ของเขาบางส่วนดีขึ้นแทนที่จะแย่ลง และดังนั้น จึงได้เสนอการใช้คำนี้แทนต่อมาตอนกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 การพัฒนาและการนำยา chlorpromazine มาใช้ได้ปฏิวัติการรักษาโรคนี้[230]

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 เกณฑ์วินิจฉัยของโรคจิตเภทมีการโต้เถียงหลายประเด็น ซึ่งในที่สุดก่อเกณฑ์เชิงปฏิบัติการ (operational criteria) ตามที่ใช้ในปัจจุบันงานศึกษาการวินิจฉัยโรคของสหรัฐ-อังกฤษปี 1971 ได้ทำให้ชัดเจนว่า โรคนี้วินิจฉัยในอเมริกามากกว่าในยุโรป[231]ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะเกณฑ์วินิจฉัยที่ใช้ในสหรัฐ คือ DSM-II หลวมกว่าเกณฑ์วินิจฉัยที่ใช้ในยุโรปคือ ICD-9นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเดวิด โรเซ็นแฮน ได้พิมพ์งานศึกษาในวารสาร ไซเอินซ์ ในปี 1972 โดยมีชื่อเรื่องว่า "On being sane in insane places (เรื่องความเป็นคนปกติในที่ที่บ้า ๆ)" แล้วสรุปว่า เกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทในสหรัฐบ่อยครั้งเป็นอัตวิสัยและเชื่อถือไม่ได้[232]นี่เป็นปัจจัยที่ต่อมาทำให้แก้ไขไม่ใช่เพียงแต่เกณฑ์วินิจฉัยโรคจิตเภท แต่แก้ไขคู่มือ DSM ทั้งหมด จนได้ตีพิมพ์ DSM-III ในปี 1980[233]

คำภาษาอังกฤษว่า schizophrenia เข้าใจผิดอย่างสามัญว่า คนไข้มีบุคลิกภาพที่แตกออก (split personality) เหมือนกับหลายคนแม้คนไข้ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคอาจได้ยินเสียงของบุคคลต่าง ๆ โรคก็ไม่ทำให้คนไข้เปลี่ยนเป็นคนต่าง ๆ ผู้มีบุคลิกภาพต่าง ๆ กันความสับสนมาจากการตีความตรง ๆ ของคำว่า "schizophrenia" ซึ่งหมอบล็อยเลอร์ดั้งเดิมก็สัมพันธ์โรคกับการแตกตัวออกจากกัน และรวมโรคบุคลิกภาพแบบแตกแยกเป็นหมวดหมู่หนึ่งของโรคจิตเภท[234][235]อนึ่ง โรค dissociative identity disorder (คือมีบุคลิกภาพที่แตกเป็นบุคคลต่าง ๆ) ก็มักจะวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคจิตเภทเพราะเกณฑ์วินิจฉัยที่หลวมของ DSM-II[235][236]กวีชาวอังกฤษ (T.S. Eliot) ได้ใช้คำนี้ผิด ๆ โดยหมายถึง บุคลิกภาพที่แตกออก เป็นคนแรกตามที่รู้ในปี 1933[237]แม้นักวิชาการอื่น ๆ จะได้พบร่องรอยการใช้ผิด ๆ ก่อนหน้านั้น[238]จริง ๆ แล้ว คำนี้หมายถึง "การแยกการทำงานทางด้านต่าง ๆ ของจิตใจ" (คือทำงานไม่ประสานกัน) ซึ่งสะท้อนอาการของโรค[239]

สังคมและวัฒนธรรม

จอห์น แนช ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันและผู้ร่วมรับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี 1994 เป็นคนไข้โรคจิตเภท ประวัติชีวิตของเขาได้ทำเป็นภาพยนตร์ "ผู้ชายหลายมิติ" ในปี 2001 ที่ได้รางวัลออสการ์

ในปี 2002 คำที่หมายถึงโรคจิตเภทในญี่ปุ่นคือ ญี่ปุ่น: 精神分裂病โรมาจิseishin-bunretsu-byōทับศัพท์: "โรคจิตแยก" ได้เปลี่ยนเป็น ญี่ปุ่น: 統合失調症โรมาจิtōgō-shitchō-shōทับศัพท์: "โรคบูรณาการ/โรคประสานการทำงาน" (integration disorder) เพื่อลดความเป็นมลทินทางสังคมของโรค[240]ชื่อได้รับแรงบันดาลใจจากแบบจำลองทางชีวภาพ-จิต-สังคม (biopsychosocial model) ซึ่งระบุว่าผลของโรคมาจากปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยทางชีวภาพ (เช่น ยีน ปัจจัยทางชีวเคมีเป็นต้น) ปัจจัยทางจิต (เช่น อารมณ์ บุคลิกภาพ พฤติกรรมเป็นต้น) และปัจจัยทางสังคม (เช่น วัฒนธรรม ครอบครัว ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น)การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้เพิ่มอัตราที่แพทย์แจ้งคนไข้ว่ามีโรคเช่นนี้เพิ่มขึ้นจาก 37% เป็น 70% ภายในสามปี[241]ประเทศเกาหลีใต้ก็ได้ทำการเช่นเดียวกันในปี 2012[242]ศาสตราจารย์จิตเวชชาวดัตช์ผู้หนึ่ง (Jim van Os) ได้เสนอเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น "psychosis spectrum syndrome" (กลุ่มอาการสเปกตรัมโรคจิต)[243]

ในสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคจิตรวมทั้งค่าใช้จ่ายโดยตรง (คนไข้นอก คนไข้ใน ยา และการดูแลรักษาในระยะยาว) และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (การบังคับใช้กฎหมาย อัตราผลผลิตทางอาชีพที่ลดลง และการว่างงาน) ประเมินว่าถึง 62,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2002 (ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท)[244]ภาพยนตร์ ผู้ชายหลายมิติ และหนังสือ A Beautiful Mind ได้บันทึกเหตุการณ์ชีวิตของจอห์น แนช ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมรับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ และได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท

ความรุนแรง

คนไข้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ (mental illness) อย่างรุนแรงรวมทั้งโรคจิตเภทเสี่ยงเป็นเหยื่ออาชญากรรมทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรงในอัตราสูงกว่าอย่างสำคัญ[245]โรคจิตเภทได้สัมพันธ์กับพฤติกรรมรุนแรงในอัตราที่สูงกว่า แต่โดยมากดูเหมือนจะเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติด[246]อัตราการฆ่าคนที่เชื่อมกับอาการโรคจิตคล้ายกับที่เชื่อมกับการใช้ยาเสพติด โดยจะเป็นเส้นขนานกันกับอัตราทั่ว ๆ ไปในภูมิภาคนั้น ๆ[247]บทบาทของโรคจิตเภทต่อความรุนแรงที่เป็นอิสระจาการใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ยังไม่ยุติ แต่ประวัติบางอย่างของบุคคลหรือสภาวะทางจิตใจอาจเป็นปัจจัย[248]นักโทษเรือนจำเพราะฆาตกรรม 11% มีโรคจิตเภทและ 21% มีความผิดปกติทางอารมณ์[249]ส่วนงานอีกงานหนึ่งพบว่าคนไข้โรคจิตเภท 8-10% มีพฤติกรรมรุนแรงภายในปีที่ผ่านมาเทียบกับกลุ่มประชากรทั่วไปที่มีแค่ 2%[249]

สื่อที่ออกข่าวเรื่องพฤติกรรมรุนแรงของคนไข้โรคจิตเภทเสริมความรู้สึกของคนทั่วไปว่าโรคจิตเภทสัมพันธ์กับความรุนแรง[246]ในงานศึกษาปี 1999 ที่มีตัวอย่างมาก คนอเมริกัน 12.8% เชื่อว่าคนไข้โรคจิตเภทมีโอกาสมีพฤติกรรมรุนแรงกับผู้อื่นมาก และ 48.1% กล่าวว่า มีโอกาสบ้างคนเกินกว่า 74% กล่าว่าคนไข้โรคจิตเภทไม่ค่อยสามารถหรือไม่สามารถโดยประการทั้งปวงในการตัดสินใจเรื่องการรักษาของตนเอง และ 70.2% กล่าวอย่างเดียวกันในเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับการเงิน[250]งานวิเคราะห์อภิมานงานหนึ่งระบุว่า ความรู้สึกว่าคนไข้โรคจิตเภทมีพฤติกรรมรุนแรงได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวเทียบกับช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950[251]

ทิศทางงานวิจัย

โรคจิตเภทเชื่อว่าไม่เกิดในสัตว์นอกเหนือจากมนุษย์[252]แต่ก็อาจทำไพรเมตให้เป็นสัตว์แบบจำลองของโรคจิตเภทได้โดยใช้ยา[253]

งานวิจัยพบหลักฐานในเบื้องต้นว่า ยาปฏิชีวนะมิโนไซคลีนมีประโยชน์ในการรักษาโรคจิตเภท[254]การบำบัดแบบ nidotherapy คือความพยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของคนไข้โรคจิตเภทเพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต กำลังศึกษาอยู่แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานพอสรุปว่ามีประสิทธิผลหรือไม่[255]อาการบกพร่อง (negative symptoms) รักษาได้ยาก เพราะปกติจะไม่ดีขึ้นโดยใช้ยามีสารหลายอย่างที่ได้ทดลองว่ามีประโยชน์ในเรื่องนี้หรือไม่[256]มีการทดลองยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) อาศัยข้อตั้งว่า การอักเสบอาจมีบทบาทในการดำเนินของโรคจิตเภท[257]

เชิงอรรถ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง