โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า (อังกฤษ: major depressive disorder ตัวย่อ MDD)ทางการเเพทย์เเผนจีนคือ 抑郁症 เป็นความผิดปกติทางจิตซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์ซึมเศร้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ในแทบทุกสถานการณ์[1] มักเกิดร่วมกับการขาดความภูมิใจแห่งตน การเสียความสนใจในกิจกรรมที่ปกติทำให้เพลิดเพลินใจ อาการไร้เรี่ยวแรง และอาการปวดซึ่งไม่มีสาเหตุชัดเจน[1] ผู้ป่วยอาจมีอาการหลงผิดหรือมีอาการประสาทหลอน[1] ผู้ป่วยบางรายมีช่วงเวลาที่มีอารมณ์ซึมเศร้าห่างกันเป็นปี ๆ ส่วนบางรายอาจมีอาการตลอดเวลา[9] โรคซึมเศร้าสามารถส่งผลกระทบในแง่ลบให้แก่ผู้ป่วยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ชีวิตส่วนตัว ชีวิตในที่ทำงานหรือโรงเรียน ตลอดจนการหลับ อุปนิสัยการกิน และสุขภาพโดยทั่วไป[1][9] ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผู้ใหญ่ประมาณ 2–7% เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย[2] และประมาณ 60% ของผู้ฆ่าตัวตายกลุ่มนี้มีโรคซึมเศร้าร่วมกับความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดอื่น[10]

โรคซึมเศร้า
(major depressive disorder)
ชื่ออื่นClinical depression, major depression, unipolar depression, unipolar disorder, recurrent depression
Sorrowing Old Man (At Eternity's Gate)
โดยฟินเซนต์ ฟัน โคค (1890)
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์, จิตวิทยาคลินิก
อาการLow mood, low self-esteem, loss of interest in normally enjoyable activities, low energy, pain without a clear cause[1]
ภาวะแทรกซ้อนทำร้ายตนเอง, การฆ่าตัวตาย[2]
การตั้งต้นอายุ 20 ปี[3][4]
ระยะดำเนินโรคมากกว่า 2 สัปดาห์[1]
สาเหตุสิ่งแวดล้อม (ประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้าย, เหตุการณ์ในชีวิตที่ตึงเครียด) ปัจจัยทางพันธุกรรมและจิตวิทยา[5]
ปัจจัยเสี่ยงประวัติครอบครัว, การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต, ยาบางชนิด, chronic health problems, substance use disorder[1][5]
โรคอื่นที่คล้ายกันโรคอารมณ์สองขั้ว, โรคซนสมาธิสั้น, ความเศร้า[6]
การรักษาจิตบำบัด, ยาแก้ซึมเศร้า, การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า, เครื่องกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกด้วยสนามแม่เหล็ก, การออกกำลังกาย[1][7]
ยายาแก้ซึมเศร้า
ความชุก163 ล้าน (2017)[8]

คำว่า ความซึมเศร้า สามารถใช้ได้หลายทาง คือ มักใช้เพื่อหมายถึงกลุ่มอาการนี้ แต่อาจหมายถึงความผิดปกติทางจิตอื่นหรือหมายถึงเพียงภาวะซึมเศร้าก็ได้ โรคซึมเศร้าเป็นภาวะทำให้พิการ (disabling) ซึ่งมีผลเสียต่อครอบครัว งานหรือชีวิตโรงเรียน นิสัยการหลับและกิน และสุขภาพโดยรวมของบุคคล ในสหรัฐอเมริกา ราว 3.4% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตาย และมากถึง 60% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นมีภาวะซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางอารมณ์อย่างอื่น[11]ในประเทศไทย โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางจิตที่พบมากที่สุด (3.7% ที่เข้าถึงบริการ)เป็นโรคที่สร้างภาระโรค (DALY) สูงสุด 10 อันดับแรกโดยเป็นอันดับ 1 ในหญิง และอันดับ 4 ในชาย[12]

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าอาศัยประสบการณ์ที่รายงานของบุคคลและการทดสอบสภาพจิต ไม่มีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการสำหรับโรคซึมเศร้า ทว่า แพทย์อาจส่งตรวจเพื่อแยกภาวะทางกายซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการคล้ายกันออก ควรแยกโรคซึมเศร้าจากความเศร้าซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตและไม่รุนแรงเท่า มีการตั้งชื่อ อธิบาย และจัดกลุ่มอาการซึมเศร้าว่าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตปี 2523 ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน คณะทำงานบริการป้องกันสหรัฐ (USPSTF) แนะนำให้คัดกรองโรคซึมเศร้าในบุคคลอายุมากกว่า 12 ปี[13] แต่บทปฏิทัศน์คอเครนก่อนหน้านี้ไม่พบหลักฐานเพียงพอสำหรับการคัดกรองโรค

โดยทั่วไป โรคซึมเศร้ารักษาได้ด้วยจิตบำบัดและยาแก้ซึมเศร้า ดูเหมือนยาจะมีประสิทธิภาพ แต่ฤทธิ์อาจสำคัญเฉพาะในผู้ที่ซึมเศร้ารุนแรงมาก ๆ เท่านั้น ไม่ชัดเจนว่ายาส่งผลต่อความเสี่ยงการฆ่าตัวตายหรือไม่ ชนิดของจิตบำบัดที่ใช้มีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) และการบำบัดระหว่างบุคคล หากมาตรการอื่นไม่เป็นผล อาจทดลองให้การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) อาจจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยที่มีควมเสี่ยงทำร้ายตนเองเข้าโรงพยาบาลแม้บางทีอาจขัดต่อความประสงค์ของบุคคล

ความเข้าใจถึงธรรมชาติและสาเหตุของความซึมเศร้าได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์และยังมีประเด็นมากมายที่ยังต้องวิจัยเหตุที่เสนอรวมทั้งเป็นปัญหาทางจิต ทางจิต-สังคม ทางกรรมพันธุ์ ทางวิวัฒนาการ และปัจจัยอื่น ๆ ทางชีวภาพการใช้สารเสพติดเป็นเวลานานอาจเป็นเหตุหรือทำอาการเศร้าซึมให้แย่ลงการบำบัดทางจิตอาศัยทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคลิกภาพ การสื่อสารระหว่างบุคคล และการเรียนรู้ทฤษฎีทางชีววิทยามักจะพุ่งความสนใจไปที่สารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีน คือ เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติในสมองและช่วยการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท

อาการ

กลวิธีพิมพ์หินรูปหญิงที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อ ค.ศ. 1892

โรคซึมเศร้า[14]มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อความสัมพันธ์กับครอบครัวและในระหว่างบุคคล ชีวิตการทำงานหรือในโรงเรียน นิสัยการนอนและการกิน และสุขภาพโดยรวมอื่น ๆ[15] ผลเสียต่อการทำหน้าที่และความเป็นอยู่ที่ดีเทียบได้กับโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน[16]

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปกติจะมีอารมณ์เศร้าเกี่ยวกับทุกด้านของชีวิต และไม่สามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมเดิมที่เคยชอบ ผู้ป่วยอาจหมกมุ่นครุ่นคิดถึงความคิดและความรู้สึกว่าตนไร้ค่า ความรู้สึกผิดหรือเสียใจอย่างไม่เหมาะสม ไร้ที่พึ่ง สิ้นหวัง และเกลียดตนเอง[17] ในกรณีที่รุนแรง คนซึมเศร้าอาจมีอาการโรคจิต (psychosis) ได้แก่ ความหลงผิด หรือที่พบน้อยกว่าคือ ประสาทหลอน[18] อาการอื่นมีทั้งสมาธิและความจำไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเหงาหงอย (melancholic) หรือมีลักษณะโรคจิต[19] การปลีกตัวจากสถานการณ์หรือกิจกรรมทางสังคม ความต้องการทางเพศที่ลดลง ความขัดเคืองง่าย[20] และความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย การนอนไม่หลับเป็นเรื่องสามัญในคนไข้ซึ่งปกติเป็นแบบนอนตื่นเช้ามากแล้วนอนต่อไม่ได้[21]แม้ว่าการนอนมากเกินไป (Hypersomnia) ก็พบได้[21] ยาแก้ซึมเศร้าบางอย่างอาจทำให้นอนไม่หลับเพราะมีฤทธิ์กระตุ้น[22]

ผู้ซึมเศร้าอาจรายงานอาการทางกายหลายอย่างรวมทั้งล้า ปวดศีรษะ และปัญหาการย่อยอาหาร ซึ่งเกณฑ์โรคซึมเศร้าขององค์การอนามัยโลก อาการทางกายเป็นปัญหานำมาที่พบมากที่สุดในประเทศที่กำลังพัฒนา[23] มักมีความอยากอาหารตามด้วยน้ำหนักลด แม้จะมีที่ความอยากอาหารและน้ำหนักเพิ่มขึ้นบ้าง[17] ครอบครัวและเพื่อนอาจสังเกตว่า ผู้ป่วยมีกายใจไม่สงบหรือง่วงงุนผิดปกติ[21] ส่วนผู้สูงอายุอาจมีอาการของการรู้อื่นที่เริ่มต้นไม่นานนี้ เช่น ขี้ลืม[19] และการเคลื่อนไหวช้าลงที่เห็นชัดขึ้น[24]โรคซึมเศร้าบ่อยครั้งเกิดร่วมกับโรคทางกายที่สามัญกับผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคพาร์คินสัน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง[25]

เด็กที่ซึมเศร้ามักแสดงอารมณ์หงุดหงิดไม่ใช่อารมณ์ซึมเศร้า[17] และแสดงอาการต่าง ๆ ขึ้นกับอยู่กับอายุและสถานการณ์[26] โดยมากจะไม่สนใจเรียนและมีสมรรถภาพทางวิชาการด้อยลง และอาจจะมีอาการติดคน เรียกร้อง ต้องพึ่งคนอื่น หรือขาดความมั่นใจ[21] อาจวินิจฉัยโรคได้ช้าหรือพลาดเมื่อตีความอาการว่าเป็นสภาพอารมณ์ปกติ[17]

ภาวะร่วม

บ่อยครั้งโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ การสำรวจโรคร่วมแห่งชาติ (National Comorbidity Survey) ปี 2532–2534 ของสหรัฐ รายงานว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าครึ่งหนึ่งมีความวิตกกังวลตลอดชีวิตและโรคที่เกี่ยวข้องกันคือ โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)[27] และอาการวิตกกังวลอาจมีผลสำคัญต่อวิถีการดำเนินของโรคซึมเศร้า คือ ทำให้ฟื้นตัวได้ช้าลง เสี่ยงต่อการกำเริบมากขึ้น และเกิดความพิการและอัตราพยายามฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น[28] มีความเสียงการติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด[29] และผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) ประมาณหนึ่งในสามจะมีโรคซึมเศร้าเกิดร่วมด้วย[30]โรคซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกับโรคสมาธิสั้น อาจทำให้วินิจฉัยและบำบัดโรคทั้งสองยากขึ้น[31]ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) และโรคซึมเศร้ามักจะเกิดร่วมกัน[15] โรคซึมเศร้ายังมักเกิดร่วมกับโรคบุคลิกภาพ

บ่อยครั้งโรคซึมเศร้าและความเจ็บปวดเกิดร่วมกัน อาการเจ็บปวดตั้งแต่หนึ่งอย่างขึ้นไปพบใน 65% ของผู้ป่วยซึมเศร้า และผู้ป่วยระหว่าง 5–85% ที่กำลังเจ็บปวดจะมีโรคซึมเศร้าขึ้นอยู่สถานการณ์คือ มีความชุกในระดับต่ำกว่าในเวชปฏิบัติทั่วไป และสูงกว่าในคลินิกพิเศษ การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าบางครั้งล่าช้าหรือพลาด และผลสามารถเลวลงได้หากสังเกตโรคซึมเศร้าได้แต่เข้าใจผิดถนัด[32]

โรคซึมเศร้ายังสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่สูงขึ้น 1.5–2 เท่า โดยเป็นอิสระต่อปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ และสัมพันธ์โดยตรงหรือโดยอ้อมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่และโรคอ้วนผู้ซึมเศร้ามีโอกาสปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อบำบัดหรือป้องกันโรคหัวใจน้อยกว่า ยิ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ มากขึ้น[33] นอกจากนั้นแล้ว หทัยแพทย์อาจไม่สามารถพบโรคซึมเศร้าพื้นเดิมที่ทำให้ปัญหาโรคหัวใจที่ตนกำลังบริบาลอยู่ยุ่งยากขึ้น[34]

เหตุ

แบบจำลองทางสังคม-จิตใจ-ชีวภาพ (biopsychosocial) เสนอว่าปัจจัยทางสังคม ทางจิตใจ และทางชีวภาพล้วนแต่มีบทบาทให้เกิดความซึมเศร้า[35]ส่วนแบบจำลอง diathesis-stress (ความเสี่ยงโรค-ความเครียด) กำหนดว่าความซึมเศร้าจะปรากฏเมื่อความเสี่ยง/ความอ่อนแอ คือ diathesis ถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์เครียดในชีวิต ความเสี่ยงที่มีอาจจะเป็นทางกรรมพันธุ์[36][37]ซึ่งแสดงนัยว่ามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบชีวภาพและการเลี้ยงดู (nature and nurture) เป็นผลจากทัศนคติเกี่ยวกับโลกที่เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก[38]โรคอาจจะเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายในสมองน้อยดังที่พบใน cerebellar cognitive affective syndrome[39][40][41]

แบบจำลองเชิงปฏิสัมพันธ์เหล่านี้มีหลักฐานสนับสนุนยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยในประเทศนิวซีแลนด์ได้ทำงานศึกษาตามรุ่นตามแผนในประเด็นว่า ความซึมเศร้าปรากฏในกลุ่มบุคคลที่ตอนแรกเป็นปกติได้อย่างไรแล้วสรุปว่า ความแตกต่างกันของยีน serotonin transporter (5-HTT) มีผลต่อคนที่ประสบกับเหตุการณ์เครียดว่าจะประสบกับความซึมเศร้าหรือไม่โดยเฉพาะก็คือ ความซึมเศร้าอาจจะติดตามเหตุการณ์เช่นนั้น แต่ดูเหมือนจะมีโอกาสสูงกว่าในบุคคลที่มีอัลลีลสั้น ๆ 1-2 แบบของยีน 5-HTT[36]นอกจากนั้นแล้ว งานศึกษาประเทศสวีเดนได้ประเมินการสืบทอดกรรมพันธุ์ของความซึมเศร้า ซึ่งก็คือระดับความแตกต่างการเกิดขึ้นของความซึมเศร้าที่สัมพันธ์กับความแตกต่างทางกรรมพันธุ์ ว่าอยู่ประมาณ 40% สำหรับหญิงและ 30% ในชาย[42]นักจิตวิทยาวิวัฒนาการได้เสนอว่า มูลฐานทางกรรมพันธุ์ของโรคซึมเศร้าเกี่ยวเนื่องอย่างลึกซึ้งกับการปรับตัวที่คัดเลือกโดยธรรมชาตินักวิจัยได้พบว่า ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากสาร (Substance induced mood disorder) ที่คล้ายกับ MDD มีเหตุมาจากการเสพยาเสพติดระยะยาว หรือเกิดจากการขาด (withdrawal) ยาระงับประสาทหรือยานอนหลับบางประเภท[43][44]

ทางชีวภาพ

สมมติฐานโมโนอะมีน

ภาพของไซแนปส์เคมีระหว่างเซลล์ประสาทสองเซลล์ ยาแก้ซึมเศร้าโดยมากมีอิทธิพลต่อความสมดุลของสารสื่อประสาท 3 อย่าง คือ เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน ยาแก้ซึมเศร้าบางตัวออกฤทธิ์ต่อหน่วยรับสารสื่อประสาท (neurotransmitter receptor) โดยตรง

ยาแก้ซึมเศร้าโดยมากเพิ่มระดับสารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีน (monoamine) อย่างน้อยชนิดหนึ่ง คือ เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน โดยเพิ่มในช่องไซแนปส์ที่อยู่ระหว่างเซลล์ประสาทในสมองแต่ก็มียาบางอย่างที่มีผลต่อตัวรับโมโนอะมีน (monoamine receptor) โดยตรง

มีสมมติฐานว่า เซโรโทนินควบคุมระบบสารสื่อประสาทอื่น ๆ ดังนั้น ระดับที่ลดลงของเซโรโทนินอาจมีผลให้ระบบเหล่านั้นทำงานอย่างผิดปกติหรืออย่างผิดพลาด[45]ตามสมมติฐานนี้ (เรียกว่า permissive hypothesis) ความซึมเศร้าเกิดขึ้นเมื่อระดับต่ำของเซโรโทนินโปรโหมตนอร์เอพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทอีกอย่างหนึ่งให้มีระดับต่ำลง[46]มียาแก้ซึมเศร้าที่เพิ่มระดับของนอร์เอพิเนฟรินโดยตรง เทียบกับอย่างอื่นอีกที่เพิ่มระดับโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีนอย่างที่สาม

สังเกตการณ์เหล่านี้รวม ๆ กันแล้วทำให้เกิดสมมติฐานโรคซึมเศร้าที่เรียกว่า สมมติฐานโมโนอะมีน (monoamine hypothesis)ซึ่งแบบปัจจุบันสันนิษฐานว่า การขาดสารสื่อประสาทบางอย่างเป็นเหตุของลักษณะต่าง ๆ ของความซึมเศร้า คือ "นอร์เอพิเนฟรินอาจสัมพันธ์กับความตื่นตัวและความกระปรี้กระเปร่า รวมทั้งความวิตกกังวล ความใส่ใจ และความสนใจในชีวิตเซโรโทนินอาจสัมพันธ์กับความวิตกกังวล ความหมกมุ่น และการควบคุมใจไม่ได้ (compulsion)และโดพามีนอาจสัมพันธ์กับความใส่ใจ แรงจูงใจ ความรื่นเริงใจ และความพอใจ รวมทั้งความสนใจในชีวิต"[47]ผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้แนะนำให้ใช้ยาแก้ซึมเศร้าที่มีฤทธิ์ต่อระบบที่แสดงอาการมากที่สุดคือ คนไข้ที่วิตกกังวลและขัดเคือง ควรใช้ยาแบบ Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) หรือ norepinephrine reuptake inhibitor และคนไข้ที่ไม่กระปรี้กระเปร่าหรือไม่ยินดีพอใจในชีวิต ควรจะได้ยาที่เพิ่มนอร์เอพิเนฟรินหรือโดพามีน[47]

นอกจากข้อสังเกตทางคลินิกว่า ยาที่เพิ่มระดับโมโนอะมีนสามารถแก้ความซึมเศร้า ความก้าวหน้าของการศึกษาทางกรรมพันธุ์แสดงว่า ความแตกต่างของลักษณะทางพันธุกรรม (phenotypic variation) ในระบบสมองที่ใช้โมโนอะมีน อาจมีส่วนบ้างเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อความซึมเศร้าและถึงจะพบผลดังที่กล่าวมานี้ เหตุของความซึมเศร้าก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการขาดโมโนอะมีนเพียงเท่านั้น[48]ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยได้ส่องให้เห็นถึงข้อจำกัดของสมมติฐานโมโนอะมีน และความไม่สมบูรณ์ในการอธิบายประเด็นต่าง ๆ ของสมมติฐานได้กลายเป็นเรื่องที่เด่นชัดในวงจิตแพทย์[49]ข้อโต้แย้งอย่างหนึ่งก็คือ การปรับอารมณ์ของยา Monoamine oxidase inhibitor และ SSRI ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ๆ กว่าจะเริ่มได้ผล แม้ว่าการเพิ่มระดับโมโนอะมีนจะปรากฏตั้งแต่ชั่วโมงแรก ๆ ที่เริ่มยาข้อโต้แย้งอีกอย่างหนึ่งอาศัยการทดลองยาที่ลดโมโนอะมีนคือ แม้ว่าการลดระดับโมโนอะมีนในระบบประสาทอาจจะทำอารมณ์ของคนไข้ที่ไม่ได้ทานยาให้ซึมเศร้าลงนิดหน่อย แต่ว่ากลับไม่มีผลอะไรต่อคนปกติ[48]นอกจากนั้นแล้ว สมมติฐานโมโนอะมีนซึ่งจำกัดอยู่แล้ว ยังอธิบายอย่างง่าย ๆ เกินต่อสาธารณชนทั่วไปโดยเป็นวิธีการตลาด ที่เรียกอาการว่า เป็นการขาดความสมดุลทางเคมี (ในสมอง)[50]

ในปี 2546 มีทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของยีน-สิ่งแวดล้อม (GxE) ที่อธิบายว่า ทำไมความเครียดในชีวิตจึงเป็นตัวพยากรณ์อาการซึมเศร้าในบางคน แต่ไม่ใช่ทุกคน คือขึ้นอยู่กับความแตกต่างของอัลลีลใน serotonin-transporter-linked polymorphic region (5-HTTLPR)[36]แต่ว่างานวิเคราะห์อภิมานปี 2552 กลับแสดงว่า แม้ว่าเหตุการณ์เครียดในชีวิตจะสัมพันธ์กับความซึมเศร้า แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่ามีความสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรม 5-HTTLPR[51]และก็มีงานวิเคราะห์อภิมานปี 2552 อีกงานหนึ่งที่เห็นด้วยกับข้อสรุปหลัง[52]ส่วนงานทบทวนวรรณกรรมปี 2553 ในเรื่องนี้พบความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบระหว่างวิธีที่ใช้วัดความทุกข์ยากทางสิ่งแวดล้อม (environmental adversity) กับผลของงานศึกษาต่าง ๆ และพบด้วยว่า งานวิเคราะห์อภิมานปี 2552 ทั้งสองงานเอนเอียงอย่างสำคัญต่องานศึกษาที่แสดงผลลบ ซึ่งใช้วิธีการวัดความทุกข์ยากโดยการแจ้งเอง (self-report)[53]

สมมติฐานอื่น ๆ

การสร้างภาพสมองคนไข้ซึมเศร้าด้วย MRI พบโครงสร้างทางสมองที่แตกต่างจากบุคคลปกติงานวิเคราะห์อภิมานในงานศึกษาที่สร้างภาพสมองรายงานว่า เทียบกับกลุ่มควบคุม คนไข้ซึมเศร้ามีปริมาตรของโพรงสมองข้าง (lateral ventricles) และต่อมหมวกไตที่สูงกว่า และมีปริมาตรของ basal ganglia, ทาลามัส, ฮิปโปแคมปัส, และสมองกลีบหน้า (รวมทั้งส่วน orbitofrontal cortex และ gyrus rectus) ที่น้อยกว่า[54][55]ยังพบเขต Hyperintensities (เขตภาพที่มีสีเข้มกว่า) ในเนื้อขาวของสมอง ในคนไข้ที่เกิดโรคเมื่ออายุมากกว่าอีกด้วย ซึ่งทำให้เกิดทฤษฎี vascular depression (คือการไหลเวียนของเลือดที่ลดลงทำให้ซึมเศร้า)[56]

ความซึมเศร้าอาจสัมพันธ์กับกระบวนการกำเนิดของเซลล์ประสาท (neurogenesis) ของฮิปโปแคมปัส[57]ซึ่งเป็นศูนย์ทางอารมณ์และความจำการเสียเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสบางครั้งพบในคนไข้ซึมเศร้า และมีสหสัมพันธ์กับความจำที่แย่ลงและอารมณ์ซึมเศร้ายาอาจจะเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมอง และกระตุ้นการเกิดของเซลล์ประสาทและดังนั้นจะเพิ่มมวลรวมของฮิปโปแคมปัสซึ่งอาจจะช่วยฟื้นสภาพอารมณ์และความทรงจำ[58][59]ความสัมพันธ์ที่คล้าย ๆ กันก็พบด้วยระหว่างความซึมเศร้ากับบริเวณหนึ่งของ anterior cingulate cortex ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมที่ประกอบด้วยอารมณ์ (emotional behavior)[60]โปรตีน neurotrophin ประเภทหนึ่งที่มีส่วนในกำเนิดของเซลล์ประสาทก็คือ brain-derived neurotrophic factor (BDNF)ระดับ BDNF ในน้ำเลือดของคนไข้ซึมเศร้าลดลงอย่างรุนแรง (ถึง 3 เท่า) เทียบกับปกติยาแก้ซึมเศร้าจะเพิ่มระดับ BDNF ในเลือดและแม้ว่า ระดับที่ลดลงของ BDNF ก็พบในโรคอื่น ๆ เหมือนกัน แต่ก็มีหลักฐานที่แสดงว่า BDNF เป็นเหตุส่วนหนึ่งของความซึมเศร้าและมีส่วนในกลไกการทำงานของยาแก้ซึมเศร้า[61]

มีหลักฐานบ้างว่าโรคซึมเศร้าอาจมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากระบบแกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล (hypothalamic-pituitary-adrenal axis หรือ HPA axis) ที่ทำงานเกินไป โดยมีผลคล้ายกับการตอบสนองทางประสาท-ต่อมไร้ท่อต่อความเครียดงานศึกษาได้พบระดับฮอร์โมน cortisol ที่สูงขึ้นและต่อมใต้สมองกับต่อมหมวกไตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งแสดงว่า ปัญหาในระบบต่อมไร้ท่ออาจมีบทบาทในโรคจิตเวชบางอย่างรวมทั้ง MDDและการปล่อย corticotropin-releasing hormone มากเกิดไปจากไฮโปทาลามัสเชื่อว่าเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการนี้ และเป็นเหตุของอาการทางการรู้คิดและความตื่นตัว[62]

นอกจากนั้นแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโทรเจน มีหลักฐานว่าเป็นเหตุของความผิดปกติเกี่ยวกับความซึมเศร้าเพราะว่าหญิงมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นหลังจากถึงวัยเจริญพันธุ์ ระหว่างตั้งครรภ์ก่อนคลอด และมีอัตราโรคที่ลดลงเมื่อถึงวัยทอง (menopause)[63]แต่ว่านัยตรงกันข้ามกัน คือ ในช่วงก่อนระดูหรือหลังคลอดที่มีระดับเอสโทรเจนต่ำ ก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน[63]นอกจากนั้นแล้ว การขาดยา (withdrawal) ความผันผัว หรือระยะที่มีระดับเอสโทรเจนต่ำยังสัมพันธ์กับอารมณ์เศร้าอย่างสำคัญการสร้างความเสถียรหรือความคืนสภาพของระดับเอสโทรเจนสามารถรักษาความซึมเศร้าหลังคลอด ระหว่างวัยทอง และหลังวัยทองได้[64][65]

งานวิจัยอื่นได้สำรวจบทบาทที่เป็นไปได้ของโมเลกุลที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ คือ cytokineเพราะว่า อาการของโรคแทบจะเหมือนกับพฤติกรรมเมื่อป่วย (sickness behavior) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อระบบภูมิคุ้มกันกำลังสู้กับการติดเชื้อซึ่งแสดงความเป็นไปได้ว่า ความซึมเศร้าอาจจะมาจากพฤติกรรมเมื่อป่วยที่เป็นการปรับตัวผิด (maladaptive)โดยเป็นผลจากความหมุนเวียนของ cytokine ที่ผิดปกติ[66]งานวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับวรรณกรรมทางคลินิกแสดงบทบาทของ cytokine ที่สนับสนุนให้เกิดการอักเสบ (pro-inflammatory) โดยแสดงว่า มี cytokine ประเภท Interleukin 6 และ TNF-α ในเลือดคนไข้ซึมเศร้าในระดับที่สูงกว่ากลุ่มควบคุม[67]ความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันเช่นนี้อาจทำให้ผลิต prostaglandin E₂ (ซึ่งทำให้เกิดไข้) มากเกินไป และการแสดงออกของยีน COX-2 (ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ) มากเกินไปความผิดปกติในการทำงานของเอนไซม์ indoleamine 2,3-dioxygenase และในเมแทบอลิซึมของทริปโตเฟน-kynurenine อาจทำให้เกิดเมแทบอลิซึมของทริปโตเฟน-kynurenine มากเกินไป ซึ่งก่อสารพิษต่อระบบประสาท (neurotoxin) คือ quinolinic acid ซึ่งช่วยให้เกิดโรคซึมเศร้าและการออกฤทธิ์ของ NMDA ที่นำไปสู่การสื่อสัญญาณประสาทแบบ glutamatergic มากเกินไป ก็อาจมีบทบาทด้วยเหมือนกัน[68]ปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นรวมทั้งอาหารที่ไม่สมบูรณ์ การสูบบุหรี่ และโรคอ้วน ล้วนสัมพันธ์กับความซึมเศร้า[69]

ทางจิตวิทยา

ลักษณะ (aspects) และพัฒนาการต่าง ๆ ทางบุคลิกภาพดูเหมือนจะเป็นส่วนสำคัญของการเกิดขึ้นและความยืนกรานของความซึมเศร้า[70]โดยมีอารมณ์เชิงลบเป็นตัวนำโรคที่สามัญ[71]แม้ว่า คราวแสดงออกของความซึมเศร้าอาจจะมีสหสัมพันธ์ในระดับสูงกับเหตุการณ์ร้ายในชีวิต แต่ว่า วิธีการรับมือปัญหาของบุคคลอาจจะสัมพันธ์กับการฟื้นสภาพจากเหตุการณ์นั้นได้[72]นอกจากนั้นแล้ว ความภูมิใจในตนที่ต่ำ (self-esteem) และความคิดโทษตัวเองหรือบิดเบือนจากความจริง ก็สัมพันธ์กับความซึมเศร้าด้วย ความซึมเศร้ามีโอกาสน้อยกว่าที่จะเกิด และถ้าเกิดก็ฟื้นเร็วกว่า ในกลุ่มบุคคลที่เชื่อมั่นในศาสนา[73][74][75]บางครั้งก็ไม่ชัดเจนว่าปัจจัยอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผลของความซึมเศร้า แต่ว่า คนไข้ที่สามารถพิจารณาและต่อต้านรูปแบบความคิดเชิงลบ บ่อยครั้งจะมีอารมณ์ที่ดีขึ้นและภูมิใจในตนเองมากขึ้น[76]

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ศ. ดร. อารอน ที. เบ็ก ได้ต่อเติมผลงานของนักจิตวิทยาก่อน ๆ โดยพัฒนาแบบจำลองทางการรู้คิดของความซึมเศร้า (cognitive model of depression)เขาเสนอว่า มีตัวการ 3 อย่างที่เป็นมูลฐานของความซึมเศร้า คือ (1) ความคิดเชิงลบ (Beck's cognitive triad) ที่เป็นความคิดผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับโลก และเกี่ยวกับอนาคตของตน(2) รูปแบบที่เกิดซ้ำ ๆ ของความคิดที่ก่อความซึมเศร้า (schemas)(3) และความคิดที่บิดเบือนจากความจริง (distorted information processing)[77]และจากหลักเหล่านี้ เขาได้พัฒนาเทคนิคการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CBT) ขึ้น[78]

หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับความคิดผิดพลาดยังมาจากงานวิจัยด้านอื่น ๆ อีกด้วย รวมทั้งในเรื่องการประมวลความใส่ใจ (attention processing) การประมวลรางวัล (reward) และการประมวลการลงโทษ (punishment)[79][80]ตามนักจิตวิทยาชาวอเมริกันศาสตราจารย์มาร์ติน เซลิกแมน ความซึมเศร้าในมนุษย์เหมือนกับความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ (learned helplessness) ในสัตว์ทดลอง ที่ดำรงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีทั้ง ๆ ที่สามารถหนีได้ เพราะว่าได้เคยเรียนรู้มาก่อนว่าไม่สามารถทำอะไรได้[81]

ส่วนทฤษฎีความรัก (Attachment theory) ที่พัฒนาโดยจิตแพทย์ชาวอังกฤษ นพ. จอห์น โบล์บี ในคริสต์ทศวรรษ 1960 พยากรณ์ความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่กับคุณภาพความรักที่ได้เมื่อเป็นเด็กทารกจากผู้ใหญ่ที่ให้ความดูแลโดยเฉพาะก็คือ เชื่อว่า"ประสบการณ์การสูญเสีย การแยกจาก หรือการไม่ยอมรับจากพ่อแม่หรือคนที่ให้ความดูแล (ที่สื่อความว่า เด็กเป็นสิ่งที่รักไม่ได้) อาจจะนำไปสู่แบบจำลองความรู้สึกภายในใจที่ไม่ปลอดภัย ... การคิดถึงตนเองภายในใจว่าเป็นคนที่รักไม่ได้และถึงคนที่ควรจะรักว่า ไม่ให้ความรัก หรือว่าเชื่อถือไม่ได้ ก็จะเข้ากับแนวคิด Beck's cognitive triad เป็นบางส่วน"[82]แม้ว่าจะมีงานศึกษาต่าง ๆ ที่ได้ยืนยันหลักพื้นฐานของทฤษฎีนี้ แต่ว่า ผลงานวิจัยก็ยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความรักในวัยเด็กที่แจ้งเองกับความซึมเศร้าที่สังเกตได้ในภายหลัง[82]

คนซึมเศร้ามักจะโทษตัวเองสำหรับเหตุการณ์ร้าย ๆ[83]และดังที่แสดงในงานศึกษาปี 2536 เกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นที่เข้าโรงพยาบาลเหตุความซึมเศร้าที่แจ้งเอง คนที่โทษตัวเองในเหตุการณ์ร้าย ๆ อาจจะไม่ให้เครดิตตัวเองสำหรับเหตุการณ์ที่ดี ๆ[84]แนวโน้มเช่นนี้เป็นลักษณะของการให้เหตุผลต่อพฤติกรรมหรือต่อเหตุการณ์แบบซึมเศร้า (depressive attribution) หรือลักษณะของสไตล์การอธิบายโลกในแง่ร้าย[83]ตามนักจิตวิทยาชาวแคนาดา ดร. อัลเบิร์ต แบนดัวรา คนซึมเศร้าเชื่อในทางลบเกี่ยวกับตนเอง อาศัยประสบการณ์ความล้มเหลว การสังเกตเห็นความล้มเหลวของบุคคลในสังคม การขาดแรงจูงใจทางสังคมว่าตนสามารถที่จะสำเร็จได้ และสภาวะทางกายและทางอารมณ์รวมทั้งความเครียดซึ่งอาจมีผลเป็นแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (self-concept) ในเชิงลบ และความไม่เชื่อมั่นในตนเอง (self-efficacy)ซึ่งก็คือ ไม่เชื่อว่าตนสามารถมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์หรือสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้[85][86]

งานศึกษาในหญิงซึมเศร้าแสดงว่า ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การมีลูกตาย การไม่มีคนที่ไว้วางใจ ความรับผิดชอบต่อเด็กเล็ก ๆ หลายคนที่บ้าน การไม่มีงานทำ สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับความเครียดอื่น ๆ ในชีวิตและเพิ่มความเสี่ยงต่อความซึมเศร้า[87]สำหรับผู้สูงวัย ปัจจัยเสี่ยงบ่อยครั้งเป็นปัญหาทางสุขภาพ การเปลี่ยนความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตหรือลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยอาจเปลี่ยนเป็นคนให้ความดูแล หรือคนจำเป็นต้องได้รับความดูแล การเสียชีวิตของคู่ชีวิต หรือความเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์กับเพื่อนสูงอายุไม่ว่าจะโดยจำนวนหรือโดยคุณภาพ เพราะว่าเพื่อนก็ประสบความเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุสุขภาพเช่นกัน[88]

ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของความซึมเศร้าได้ข้อมูลจากจิตวิทยาเชิงจิตวิเคราะห์ (psychoanalytic) และเชิงมนุษยนิยม (humanistic)จากมุมมองเชิงจิตวิเคราะห์แบบดั้งเดิมของจิตแพทย์ชาวออสเตรียซิกมุนด์ ฟรอยด์ ความซึมเศร้าหรือที่เขาเรียกว่า melancholiaอาจจะสัมพันธ์กับความสูญเสียอะไรเกี่ยวกับคนอื่น (interpersonal loss)[89][90]และกับประสบการณ์เบื้องต้นของชีวิต[91]ส่วน Existential therapy ได้เชื่อมความซึมเศร้ากับความปราศจากความหมายในชีวิตในปัจจุบัน[92]และทัศนวิสัยในอนาคต[93][94]

ทางสังคม

ความยากจนและการหลีกจากสังคม (social isolation) สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตที่สูงขึ้นโดยทั่วไป[70]การกระทำทารุณต่อเด็ก (ไม่ว่าจะทางกาย ทางใจ ทางเพศ หรือแม้แต่การละเลย) ก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นภายหลังในชีวิตด้วย[95]ความสัมพันธ์เช่นนี้ดูจะเป็นจริง เพราะว่า ในช่วงพัฒนาการ เด็กต้องเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าสังคมและการทารุณเด็กโดยผู้ใหญ่ที่ให้ความดูแลจะบิดเบือนบุคลิกภาพที่กำลังพัฒนา และจะทำให้เสี่ยงมากขึ้นต่อความซึมเศร้า และสภาวะทางใจและอารมณ์อื่น ๆ ที่ก่อความพิการปัญหาครอบครัว เช่น ความซึมเศร้าของพ่อแม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของแม่) การทะเลาะกันของพ่อแม่หรือการหย่าร้าง การเสียชีวิตของพ่อแม่ หรือปัญหาการเลี้ยงดูเด็กอื่น ๆ ต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยง[70]ในวัยผู้ใหญ่ เหตุการณ์เครียดในชีวิตสัมพันธ์กับการเริ่มอาการซึมเศร้าอย่างสำคัญ[96]ในบริบทเช่นนี้ เหตุการณ์ชีวิตที่เชื่อมกับความไม่ยอมรับทางสังคมดูเหมือนจะสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อความซึมเศร้า[97][98]หลักฐานว่า คราวแรกของอาการซึมเศร้ามีโอกาสจะเกิดตามเหตุการณ์เครียดในชีวิต มากกว่าคราวที่เกิดซ้ำ ๆ เข้ากับสมมติฐานว่า บุคคลอาจจะไวต่อความเครียดเพิ่มขึ้น (sensitization) เมื่อเกิดความซึมเศร้าแบบซ้ำ ๆ[99][100]

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์เครียดในชีวิตกับการมีบุคคลที่คอยช่วยเหลือ (social support) เป็นเรื่องที่ยังไม่ยุติคือ การขาดความช่วยเหลือทางสังคมอาจจะเพิ่มโอกาสที่ความเครียดในชีวิตจะนำไปสู่ความซึมเศร้า หรือว่า อาจจะเป็นรูปแบบของความทุกข์ที่นำไปสู่ความซึมเศร้าโดยตรง[101]มีหลักฐานว่าปัญหาสังคมใกล้ ๆ บ้าน เช่น อาชญากรรมหรือยาเสพติด เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง และการอยู่ในบริเวณที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ดีกว่า ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่า เป็นปัจจัยป้องกันอย่างหนึ่ง[102]ปัญหาที่ทำงาน โดยเฉพาะงานที่หนักมีหน้าที่มากแต่ว่าไม่เปิดโอกาสให้ตัดสินใจเอง สัมพันธ์กับความซึมเศร้า แม้ว่า ความหลากหลายและปัจจัยกวน (confounding factor) ทำให้ยากที่จะยืนยันว่าเป็นความสัมพันธ์แบบเหตุ[103]

ความซึมเศร้าอาจจะมีเหตุจากความเดียดฉันท์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มสังคมที่เกี่ยวกับตนเองซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับความเป็นสมาชิกของคนบางกลุ่ม (เช่น ฉันเป็นเกย์ ไม่ดี) หรือไม่ (เช่น ฉันไม่ดี)ถ้าบุคคลเดียดฉันท์ต่อกลุ่มที่สังคม/คนอื่นประณาม แล้วต่อมากลายเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น อาจจะเกิดความเดียดฉันท์ต่อตนเองแล้วเกิดความซึมเศร้ายกตัวอย่างเช่น เด็กชายในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะเติบโตขึ้นแล้วเรียนรู้ทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มสังคมว่า ชายที่เป็นเกย์ไม่มีศีลธรรมเมื่อเขาโตขึ้นแล้วรู้ตัวว่าตนเป็นเกย์ เขาอาจจะรู้สึกเดียดฉันท์ต่อตนเองแล้วเกิดความซึมเศร้าบุคคลอาจจะเดียดฉันท์ตนเองเพราะประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็กเช่นถูกทารุณกรรมทางวาจาหรือทางกาย[104]

ทางวิวัฒนาการ

จากมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการ มีสมมติฐานว่า โรคซึมเศร้าเพิ่มความเหมาะสมทางการสืบพันธุ์ (reproductive fitness) ของบุคคลในบางกรณีแนวคิดทางวิวัฒนาการเกี่ยวกับความซึมเศร้าและจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการสมมุติกลไกโดยเฉพาะที่ความซึมเศร้าอาจรวมเข้าในกรรมพันธุ์ของมนุษย์ ซึ่งสามารถอธิบายอัตราการสืบทอดพันธุ์ (heritability) และความชุกของความซึมเศร้าในระดับสูง โดยเสนอว่า องค์ประกอบบางอย่างของความซึมเศร้าเป็นการปรับตัว (adaptation)[105]เช่น พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรัก (attachment) และสถานะทางสังคม (social rank)[106]คือ พฤติกรรมในปัจจุบันสามารถอธิบายว่าเป็นการปรับตัวเพื่อควบคุมสัมพันธภาพหรือทรัพยากร แม้ว่าผลอาจจะเป็นการปรับตัวผิด (maladaptive) ในโลกปัจจุบัน[107]

ส่วนจากอีกมุมมองหนึ่ง ผู้บำบัดแบบให้คำปรึกษาอาจจะไม่เห็นความซึมเศร้าว่าเป็นความเจ็บป่วยทางชีวภาพ-เคมี แต่เป็น "ชุดโปรแกรมทางอารมณ์ที่มีวิวัฒนาการในระดับสปีชีส์ที่ออกฤทธิ์ในเชิงลบมากเกินไปโดยมากเมื่อรับรู้ว่า ตนเองมีความหมาย/มีประโยชน์น้อยลงอย่างมาก ซึ่งบางครั้งเชื่อมกับความรู้สึกผิด ความอับอาย หรือความรู้สึกว่าไม่ได้ความยอมรับ"[108]ชุดโปรแกรมนี้อาจจะปรากฏในนักล่า-เก็บของป่าวัยชราในอดีต ที่มีความสำคัญน้อยลงเพราะสมรรถภาพที่ลดลง โดยอาจจะปรากฏเป็นสมาชิกที่ต่าง/แยกห่างจากบุคคลอื่นในสังคมปัจจุบันความรู้สึกว่าตนไม่มีประโยชน์เช่นนี้โดยทฤษฎีสามารถกระตุ้นความสนับสนุนจากญาติและเพื่อนฝูงนอกจากนั้นแล้ว โดยคล้ายกับการที่ความเจ็บปวดทางกายได้วิวัฒนาการเป็นตัวขัดขวางการกระทำที่อาจทำให้บาดเจ็บหนักขึ้น ความเจ็บปวดทางใจอาจจะวิวัฒนาการขึ้นเพื่อป้องกันการตอบสนองแบบไม่คิดหรือแบบปรับตัวผิดต่อสถานการณ์ที่ก่อความเครียด[109]

การติดสารเสพติด

การใช้สารเสพติดโดยเฉพาะเหล้า ยานอนหลับ และกัญชา อยู่ในอัตราที่สูงมากในกลุ่มประชากรที่มีปัญหาทางจิตเวชความซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ สามารถมีเหตุจากการเสพสารเสพติดการวินิจฉัยแบบ differential หรือแบบ dual diagnosis ว่าความเจ็บป่วยทางจิตเกี่ยวข้องกับสาร หรือเกิดขึ้นกับการใช้สารหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญเมื่อประเมินคนไข้ทางจิตเวช[110]ตามคู่มือวินิจฉัย DSM-IV การวินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ไม่ควรทำถ้าเชื่อว่า เหตุมาจาก "ผลทางสรีรภาพโดยตรงของสาร"ดังนั้น เมื่ออาการคล้ายกับ MDD เชื่อว่ามีเหตุโดยตรงจากการเสพสารเสพติดหรือแม้แต่อาการไม่พึงประสงค์จากยา ควรจะเรียกอาการนั้นว่า "substance-induced mood disturbance" (ความปั่นป่วนทางอารมณ์ที่สารทำให้เกิด)การติดเหล้าหรือการเสพเหล้ามากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความซึมเศร้าอย่างสำคัญ[111][112]

โดยมีฤทธิ์เหมือนกับแอลกอฮอล์ ยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน เป็นยาระงับระบบประสาทกลางซึ่งมักจะใช้บำบัดการนอนไม่หลับ ความวิตกกังวล และกล้ามเนื้อกระตุกและเหมือนกับแอลกอฮอล์เช่นกัน ยาประเภทนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งอาจมีเหตุส่วนหนึ่งจากผลที่ไม่พึงประสงค์หรือพิษจากยาระงับประสาท-นอนหลับ (รวมทั้งแอลกอฮอล์) ต่อระบบเคมีประสาท[112]เช่นระดับที่ลดลงของเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟริน[44]หรือการทำงานของวิถีประสาทที่ทำให้เกิดการอักเสบผ่านระบบภูมิคุ้มกัน (immune mediated inflammatory pathway) ในสมอง[113]การใช้ยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีนในระยะยาวสามารถเป็นเหตุหรือทำให้ความซึมเศร้าแย่ลง[114]

ความซึมเศร้าอาจจะเป็นส่วนของ protracted withdrawal syndrome (ปัญหาคงยืนที่เกิดขึ้นหลังจากขาดสารหรือยา)[115][116]คนประมาณ 1/4 ที่กำลังฟื้นสภาพจากการติดเหล้าประสบกับความวิตกกังวลและความซึมเศร้า ซึ่งอาจจะเป็นนานถึง 2 ปี[117]การติดเมแทมเฟตามีนก็สัมพันธ์กับความซึมเศร้าอย่างสามัญด้วย[118]

การวินิจฉัย

การประเมินทางคลินิก

ทั้งแพทย์ทั่วไป จิตแพทย์ และนักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกที่สมควรสามารถวินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้[15]ผู้ประเมินจะบันทึกเหตุการณ์ในชีวิต ประวัติชีวิต อาการปัจจุบัน และประวัติครอบครัวของคนไข้จุดมุ่งหมายทางคลินิกกว้าง ๆ ก็คือ เพื่อหาปัจจัยทางชีวภาพ ทางจิตใจ และทางสังคมที่อาจมีผลต่ออารมณ์ของคนไข้ผู้ประเมินอาจจะถามถึงวิธีการควบคุมอารมณ์ของคนไข้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่ดีหรือไม่ เช่น การเสพเหล้าหรือยาเสพติดการประเมินอาจรวมการตรวจสภาวะจิตใจ ซึ่งประเมินอารมณ์และสิ่งที่คิดในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องความสิ้นหวังหรือการมองในแง่ร้าย การทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย และการปราศจากความคิดหรือแผนในทางบวก[15]แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว สถานพยาบาลทางจิตเวชโดยเฉพาะจะไม่ค่อยมีในเขตชนบท และดังนั้น ทั้งการวินิจฉัยและการบริหารโรคจึงตกเป็นภาระของแพทย์ปฐมภูมิ[119]ซึ่งยิ่งเป็นปัญหาในประเทศกำลังพัฒนา[120]

การตรวจสถานะะทางจิตใจอาจจะวัดโดยใช้ Hamilton Rating Scale for Depression[121]หรือ Beck Depression Inventory[122]หรือ Suicide Behaviors Questionnaire-Revised[123]คะแนนที่ได้ยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นความซึมเศร้าตามมาตรฐานของ DSM หรือ ICD แต่เป็นตัวชี้ความรุนแรงของอาการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น บุคคลที่คะแนนสูงกว่าเกณฑ์สามารถตรวจสอบเพิ่มขึ้นว่ามีโรคซึมเศร้าหรือไม่[124]และมีวิธีการวัดหลายอย่างที่ใช้เพื่อจุดหมายนี้โดยเฉพาะ[124]

แพทย์ปฐมภูมิหรือผู้ที่ไม่ใช่จิตแพทย์มีปัญหามากกว่าในเรื่องการวินิจฉัยและการรักษาโรคแบบน้อยเกินไป เทียบกับจิตแพทย์ โดยส่วนหนึ่งก็เพราะอาการทางกายต่าง ๆ ที่บ่อยครั้งประกอบกับความซึมเศร้า นอกเหนือไปจากเพราะเหตุอื่น ๆ เช่น ความต่าง ๆ ของคนไข้ ของคนให้การรักษา และอุปสรรคเป็นระบบอื่น ๆ งานทบทวนวรรณกรรมหนึ่งพบว่า แพทย์ที่ไม่ใช่จิตแพทย์พลาดการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องในกรณี 2/3 แม้ว่าอัตราที่พบจะดีขึ้นในงานศึกษาต่อ ๆ มา[125]

ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า โดยทั่วไปแพทย์อาจจะตรวจแล้วเลือกวิธีการตรวจสอบเพื่อกันโรคที่อาจเป็นเหตุของอาการอย่างอื่น ๆ รวมทั้งการการรวัด Thyroid-stimulating hormone และ thyroxine เพื่อกันว่าเป็นโรคไทรอยด์การวัดอิเล็กโทรไลต์และแคลเซียมในเลือดเพื่อกันว่าเป็นความผิดปกติทางเมแทบอลิซึม (Metabolic disorder)และการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (CBC) รวมทั้งอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) เพื่อกันว่าเป็นการติดเชื้อทั้งระบบ (systemic infection) หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ[126]

ปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาหรือแอลกอฮอล์อย่างผิด ๆ ก็จะต้องกันออกด้วยเหมือนกันอาจจะต้องประเมินระดับฮอร์โมนเพศชายเพื่อกันโรค hypogonadism (การทำหน้าที่น้อยของอัณฑะ) ซึ่งเป็นเหตุซึมเศร้าในชาย[127]บ่อยครั้งแพทย์จะวัดระดับวิตามินดี เพราะว่า ระดับวิตามินที่ต่ำสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อความซึมเศร้าที่สูงขึ้น[128]

ปัญหาทางการรู้คิดก็ปรากฏด้วยในคนซึมเศร้าสูงอายุ แต่ว่าอาจจะเป็นตัวชี้ภาวะสมองเสื่อมบางอย่างเช่นโรคอัลไซเมอร์[129][130]การตรวจสอบการรู้คิด (Cognitive testing) หรือการสร้างภาพสมองอาจช่วยแยกแยะโรคซึมเศร้าจากภาวะสมองเสื่อม[131]การถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT scan) สามารถกันโรคสมองในบุคคลที่มีอาการของโรคจิต ที่เกิดโรคอย่างรวดเร็ว (rapid-onset) หรือที่มีอาการผิดธรรมดาอย่างอื่น[132]โดยทั่วไปแล้ว การตรวจสอบเช่นนี้จะไม่ทำซ้ำในคราวแสดงออกครั้งต่อ ๆ ไปนอกจากจะมีอาการอย่างอื่น

ยังไม่มีการตรวจสอบทางชีววิทยาที่สามารถยืนยันโรคซึมเศร้า[133]แม้ว่าจะได้สืบหาตัวชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) เพื่อหาวิธีวินิจฉัยโรคที่เป็นกลาง (คือวัดได้อย่างเป็นปรวิสัย)มีตัวชี้ทางชีวภาพบางอย่างที่เป็นไปได้ รวมทั้ง Brain-Derived Neurotrophic Factor และเทคนิคทาง fMRI ต่าง ๆ งานศึกษาหนึ่งได้พัฒนาแผนภูมิทางเลือกตัดสินใจ (decision tree) ที่แปลความหมายของรูป fMRI ที่ถ่ายในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบุคคลที่ทดลองด้วย ผู้เขียนงานศึกษาได้ถึงระดับความไว (sensitivity) ที่ 80% และความจำเพาะ (specificity) ที่ 87% ซึ่งเท่ากับค่าทำนายผลลบ (negative predictive value) ที่ 98% และค่าทำนายผลบวกที่ 32%แต่ว่า ต้องมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะใช้วิธีการทดสอบเหล่านี้ในการรักษาจริง ๆ[134]

เกณฑ์ของ DSM-IV-TR และ ICD-10

เกณฑ์ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในการวินิจฉัยสภาวะซึมเศร้าอยู่ในหนังสือคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-IV-TR) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน และบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD-10) ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งใช้คำว่า depressive episode สำหรับอาการที่ออกคราวเดียว และ recurrent depressive disorder สำหรับอาการที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ[135]เกณฑ์แบบหลังมักจะใช้ในประเทศยุโรป ในขณะที่แบบแรกมักจะใช้ในสหรัฐอเมริกาและประเทศนอกยุโรปอื่น ๆ[136]และผู้เขียนคู่มือทั้งสองคณะได้พยายามทำเกณฑ์ให้เข้ากัน[137]

คู่มือทั้งสองล้วนแต่กำหนดอาการหลัก ๆ ของความซึมเศร้า[138]ICD-10 กำหนดอาการ 3 อย่างทั่วไปของความซึมเศร้ารวมทั้งอารมณ์เศร้า (depressed mood) ภาวะสิ้นยินดี และการหมดแรง (reduced energy) ซึ่งควรจะมีอย่างน้อย 2 อย่างเพื่อจะวินิจฉัยว่าเป็นอาการซึมเศร้า[139][140]ส่วนตาม DSM-IV-TR มีอาการซึมเศร้าหลัก 2 อย่างคืออารมณ์เศร้า และภาวะสิ้นยินดี และจะต้องมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจะวินิจฉัยว่าเป็น คราวซึมเศร้า (major depressive episode)[141]

โรคซึมเศร้า คือ Major depressive disorder (MDD) กำหนดว่าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ใน DSM-IV-TR[142]การวินิจฉัยขึ้นอยู่กับการมีคราวแสดงออกของโรค (major depressive episode) ครั้งหนึ่งหรือซ้ำ ๆ[17]แต่มีตัวบ่งลักษณะอื่น ๆ ที่ใช้กำหนดทั้งการแสดงออก (episode) และวิถีการดำเนินของโรคและจะวินิจฉัยเป็น Depressive Disorder Not Otherwise Specified ถ้าอาการแสดงออกไม่ผ่านเกณฑ์ของ major depressive episodeส่วน ICD-10 ไม่ได้ใช้คำว่า major depressive disorder แต่กำหนดเกณฑ์ที่คล้ายกันมากในการวินิจฉัย depressive episode โดยแบ่งระดับเป็นอ่อน (mild) ปานกลาง (moderate) หรือรุนแรง (severe)คำว่า recurrent (กลับเป็นซ้ำ) ใช้เติมได้ถ้ามีการแสดงออกหลายคราวโดยไม่มีอาการฟุ้งพล่าน (mania)[135]

คราวแสดงออกของโรค

คราวซึมเศร้า (major depressive episode) กำหนดโดยการมีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างรุนแรงที่คงยืนอย่างน้อย 2 อาทิตย์[17]คราวแสดงออกอาจจะเกิดขึ้นโดยลำพังหรือเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และจัดว่า อ่อน (mild) คือมีออาการที่เกินเกณฑ์กำหนด ปานกลาง (moderate) หรือรุนแรง (severe) คือมีผลชัดต่อกิจกรรมทางสังคมหรือการงานส่วนคราวแสดงออกที่มีอาการโรคจิต ที่เรียกโดยสามัญว่า โรคซึมเศร้าแบบจิตหลอน (psychotic depression) จัดว่าเป็นแบบรุนแรงโดยอัตโนมัติถ้าคนไข้มีอาการฟุ้งพล่าน (mania) หรือมีอารมณ์ครึกครื้นอย่างเด่นชัด (hypomania) จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)[143]ความซึมเศร้าที่ไม่มีอาการฟุ้งพล่านบางครั้งกำหนดว่า unipolar (ขั้วเดียว) เพราะว่าอารมณ์อยู่ที่เพียงขั้วเดียวคือเศร้า[144]

DSM-IV-TR ยกเว้นกรณีที่เป็นผลของการเสียชีวิตของญาติและเพื่อนสนิท แม้ว่าจะเป็นไปได้ที่ความเสียใจจะกลายเป็นคราวแสดงออกของความซึมเศร้าถ้าอารมณ์คงยืน และลักษณะต่าง ๆ ที่กำหนดคราวซึมเศร้าเกิดขึ้น[145]เกณฑ์นี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่พิจารณาบริบทเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวและเรื่องทางสังคมอื่น ๆ ที่โรคเกิดขึ้น[146]นอกจากนั้นแล้ว งานศึกษาบางงานไม่พบหลักฐานเชิงประสบการณ์ที่สนับสนุนขีดกำหนดของ DSM-IV ซึ่งแสดงว่า เป็นเพียงแค่ธรรมเนียมการวินิจฉัยที่กำหนดขีดอาการซึมเศร้าที่มีลำดับ มีความรุนแรง และระยะต่าง ๆ[147]ยังมีวินิจฉัยที่สัมพันธ์กันอย่างอื่น ๆ อีกด้วยรวมทั้ง dysthymia ซึ่งเป็นปัญหาทางอารมณ์ที่เรื้อรังแต่อ่อนกว่า[148]recurrent brief depression ซึ่งเป็นคราวซึมเศร้าเกิดซ้ำ ๆ แต่สั้นกว่า[149][150]minor depressive disorder ที่มีอาการบางอย่างเท่านั้น[151]และ adjustment disorder with depressed mood (ความผิดปกติในการปรับตัวพร้อมกับอารมณ์เศร้า) ซึ่งเป็นอารมณ์เศร้าอันเป็นปฏิกิริยาทางใจต่อเหตุการณ์หรือตัวก่อความเครียดอย่างใดอย่างหนึ่งที่กำหนดได้[152]

แบบย่อย

DSM-IV-TR รับรองแบบย่อย 5 อย่างของ MDD ซึ่งเรียกว่า specifiers นอกเหนือไปจากการกำหนดระยะ ความรุนแรง และการมีอาการโรคจิตหรือไม่ คือ

  • Melancholic depression กำหนดโดยการสูญเสียความสุขในกิจกรรมเกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด (anhedonia) คือไม่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าที่น่าชอบใจ เป็นความซึมเศร้าที่รุนแรงกว่าความเศร้าโศกทั่วไป โดยมีอาการที่แย่ลงในช่วงเช้า ๆ การตื่นเช้า การเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าลง น้ำหนักลดอย่างผิดปกติ (โดยไม่ควรสับสนกับโรคเบื่ออาหารสาเหตุทางจิตใจ [anorexia nervosa]) หรือความรู้สึกผิดที่ไม่สมเหตุผล[153]
  • Atypical depression กำหนดโดยการมีปฏิกิริยาแบบอารมณ์ดี (paradoxical anhedonia) และการมีอารมณ์ดี น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ หรือความอยากอาหารเพิ่มขึ้น (โดยรับประทานเพื่อให้สบายใจ) การนอนมากเกินไปหรือรู้สึกง่วงนอนมาก (hypersomnia) แขนขาหนัก และความพิการทางสังคมในระดับสำคัญเนื่องจากความอ่อนไหวต่อการไม่ยอมรับทางสังคม[154]
  • Catatonic depression เป็นแบบที่มีน้อยและรุนแรงซึ่งการเคลื่อนไหวเกิดความปั่นป่วน คนไข้อาจจะไม่พูดและอาจจะงง และอาจจะไม่เคลื่อนไหวหรือแสดงการเคลื่อนไหวที่ไม่มีจุดหมายหรือแปลก ๆ แต่อาการเช่นนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในโรคจิตเภท หรือในคราวแสดงออกของความฟุ้งพล่าน หรืออาจมีเหตุมาจาก neuroleptic malignant syndrome (กลุ่มอาการร้ายจากยารักษาโรคจิต)[155]
  • ความซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) หรือ ความผิดปกติทางใจและทางพฤติกรรมโดยสัมพันธ์กับระยะหลังคลอด ที่ไม่สามารถกำหนดให้อยู่ในหมวดอื่นได้[135] หมายถึงความซึมเศร้าที่รุนแรง คงยืน และบางครั้งทำให้เกิดความพิการ ที่ประสบโดยหญิงหลังจากคลอด โดยคุณแม่ใหม่มีอัตราที่ 10-15% DSM-IV บังคับว่า เพื่อที่จะกำหนดว่าเป็นความซึมเศร้าหลังคลอด อาการต้องเริ่มภายใน 1 เดือนหลังจากคลอด เป็นอาการที่สามารถคงยืนได้ถึง 3 เดือน[156]
  • ความผิดปกติทางอารมณ์เป็นฤดู (Seasonal affective disorder หรือ SAD) เป็นรูปแบบความซึมเศร้าที่แสดงออกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว และหายไปในฤดูใบไม้ผลิ จะใช้วินิจฉัยนี้ถ้ามีคราวแสดงออกของโรคอย่างน้อย 2 คราวในฤดูหนาวและไม่มีคราวแสดงออกในฤดูอื่น ๆ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี[157]

การตรวจคัดโรค

ในปี 2559 หน่วยงานเพื่อการป้องกันทางสุขภาพของสหรัฐอเมริกา USPSTF แนะนำให้ตรวจคัดโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ เพราะมีหลักฐานว่า สามารถเพิ่มอัตราการตรวจจับโรคและถ้าได้การรักษาที่สมควร ผลที่ได้จะดีกว่า[13]และยังแนะนำให้ตรวจคัดโรคในเด็กวัย 12-18 ปีอีกด้วย[158]แต่ว่า งานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเครนปี 2548 พบว่า การตรวจคัดโรคไม่ได้ปรับปรุงอัตราการตรวจจับโรค การบำบัดรักษา หรือผลที่ได้[159]

โรคที่เป็นไปได้อย่างอื่น

เพื่อที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แพทย์จะต้องพิจารณาโรคที่มีอาการคล้ายกันอย่างอื่นรวมทั้ง dysthymia, ความผิดปกติในการปรับตัวพร้อมกับอารมณ์เศร้า, และโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder)dysthymia เป็นความปั่นป่วนทางอารมณ์ที่เรื้อรังแต่รุนแรงน้อยกว่าที่คนไข้แจ้งว่ามีอารมณ์เศร้าเกือบทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีอาการจะไม่รุนแรงเท่า MDD แม้ว่าคนไข้ dysthymia จะเสี่ยงต่อคราวแสดงออกของ MDD โดยเป็นโรคที่สอง (ที่บางครั้งเรียกว่า double depression )[148]

ความผิดปกติในการปรับตัวพร้อมกับอารมณ์เศร้า (adjustment disorder with depressed mood) เป็นความปั่นป่วนทางอารมณ์ที่ปรากฏเป็นปฏิกิริยาทางใจต่อเหตุการณ์หรือตัวก่อความเครียดเฉพาะที่กำหนดได้ ที่อาการทางอารมณ์และทางพฤติกรรมที่เป็นผลอยู่ในระดับสำคัญแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ว่าเป็นคราวแสดงออกของโรคซึมเศร้า[152]

ส่วนโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) หรือรู้จักอีกอย่างว่า manic-depressive disorder เป็นโรคที่ระยะความซึมเศร้าจะสลับกับระยะความฟุ้งพล่าน (mania) หรือระยะฟุ้งพล่านย่อย (hypomania)แม้ว่าปัจจุบันโรคซึมเศร้าจะจัดว่าเป็นโรคต่างหาก แต่ก็มีการคัดค้านว่า บุคคลที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะประสบกับความฟุ้งพล่านย่อย ซึ่งแสดงว่าอาจเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่สืบเนื่องกัน[160]

โรคอื่น ๆ จะต้องกันออกก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็น MDDซึ่งรวมทั้งความซึมเศร้าที่มาจากโรคทางกาย การใช้ยา และการเสพสารเสพติดความซึมเศร้าที่เกิดจากโรคทางกายจะวินิจฉัยว่า ความผิดปกติทางอารมณ์เนื่องจากสุขภาพทั่วไป (Mood disorder due to a general medical condition)ซึ่งเป็นภาวะที่กำหนดได้อาศัยประวัติคนไข้ ผลแล็บ และการตรวจร่างกายเมื่อความซึมเศร้าเกิดจากการใช้ยา การเสพสารเสพติด หรือการได้รับพิษ ก็จะวินิจฉัยว่าเป็น ความซึมเศร้าที่เกิดจากสาร/ยา (Substance/Medication-induced depressive disorder) หรือที่เรียกว่า Substance-induced mood disorder ใน DSM-IV-TR[9]

การป้องกัน

ความพยายามป้องกันอาจมีผลลดอัตราความซึมเศร้าได้ในระหว่าง 22-38%[161]การรับประทานปลาเป็นจำนวนมากอาจจะลดความเสี่ยงด้วย[162]

การแทรกแซงทางพฤติกรรม เช่น interpersonal therapy หรือการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) ได้ผลในการป้องกันการเกิดโรคอีก[161][163][164]เพราะว่าการแทรกแซงเช่นนี้ดูเหมือนจะมีผลมากที่สุดเมื่อทำตัวต่อตัวหรือกับกลุ่มเล็ก ๆ จึงมีการเสนอว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเข้าถึงบุคคลกลุ่มใหญ่ ๆ ก็โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต[165]

แต่ว่า งานวิเคราะห์อภิมานก่อนหน้านี้พบว่า โปรแกรมป้องกันที่ช่วยเพิ่มทักษะมีผลดีกว่าโปรแกรมทางพฤติกรรมโดยทั่วไป และพบว่า โปรแกรมทางพฤติกรรมไม่ได้ผลโดยเฉพาะต่อคนสูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะที่โปรแกรมสนับสนุนทางสังคมได้ผลดีนอกจากนั้นแล้ว โปรแกรมที่ช่วยป้องกันความซึมเศร้าดีที่สุดต้องอาศัยการพบกับผู้รักษาพยาบาลอย่างน้อย 8 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลา 60-90 นาที เป็นโปรแกรมที่ออกแบบดีมีคุณภาพสูง รายงานอัตราการลดจำนวนของผู้ร่วมการทดลอง (attrition rate) และมีวิธีการแทรกแซงที่กำหนดอย่างชัดเจน[166]

กระทรวงสาธารณสุขของประเทศเนเธอร์แลนด์ให้บริการแทรกแซงเพื่อป้องกัน เช่น คอร์สที่เรียกว่า "Coping with Depression (การรับมือกับความซึมเศร้า)" (ตัวย่อย CWD) สำหรับบุคคลที่ซึมเศร้าระดับยังไม่ถึงเกณฑ์ (sub-threshold)เป็นคอร์สที่อ้างว่า สำเร็จประโยชน์มากที่สุดในการให้การศึกษาเกี่ยวกับจิตใจเพื่อป้องกันและรักษาโรคซึมเศร้า (ทั้งเพราะว่าสามารถปรับใช้กับกลุ่มต่าง ๆ และเพราะว่าได้ผลดี) โดยลดความเสี่ยงประมาณ 38% สำหรับโรคซึมเศร้า และเป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผลเทียบกับจิตบำบัดประเภทอื่น ๆ[163][167]

การบริหาร

ในประเทศไทย แนวทางการปฏิบัติทางคลินิกของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ใช้การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า หรือการแทรกแซงทางจิตโดยเฉพาะการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) หรือทั้งสองอย่าง แม้ว่า CBT จะยังไม่ค่อยได้ใช้เพราะยังมีบุคลากรน้อยที่ได้รับการฝึก ยาสามัญที่มีใช้ในประเทศก็คือฟลูอ๊อกซิติน และ sertaline[12]

วิธีบำบัด 3 อย่างที่สามัญที่สุดต่อโรคซึมเศร้าในประเทศตะวันตกก็คือจิตบำบัด การให้ยา และการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy)จิตบำบัดเป็นวิธีรักษาที่เลือกมากที่สุด (เหนือยา) สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแนวทางรักษาประจำชาติของสหราชอาณาจักร (NICE) ปี 2004 แสดงว่า ไม่ควรใช้ยาในการรักษาความซึมเศร้าแบบอ่อนเป็นลำดับแรก เพราะว่า อัตราความเสี่ยง-ประโยชน์ที่ได้ไม่ดีและแนะนำให้พิจารณาใช้ยาแก้ซึมเศร้าบวกกับการแทรกแซงทางจิต-สังคมในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

  • คนที่มีประวัติความซึมเศร้าปานกลางหรือรุนแรง
  • คนซึมเศร้าขั้นอ่อนแต่เป็นระยะเวลายาวนาน
  • เป็นวิธีการรักษาลำดับสองสำหรับความซึมเศร้าขั้นอ่อนที่ยังคงยืนแม้ได้ใช้วิธีแทรกแซงแบบอื่น ๆ แล้ว
  • เป็นการรักษาลำดับแรกสำหรับความซึมเศร้าปานกลางหรือรุนแรง

คู่มือให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ยาแก้ซึมเศร้าควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดขึ้นอีกของโรค และคนไข้รับยาประเภท SSRI ได้ดีกว่าประเภท tricyclic antidepressant[168]

แนวทางการรักษาของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันแนะนำว่า การรักษาลำดับแรกควรเลือกทำเฉพาะบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งความรุนแรงของอาการ โรคที่เป็นร่วมกัน ประวัติการรักษา และความชอบใจของคนไข้ทางเลือกรวมทั้งการรักษาด้วยยา, จิตบำบัด, การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT), การกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลก (transcranial magnetic stimulation), และการรักษาด้วยแสงยาแก้ซึมเศร้าแนะนำว่าเป็นทางเลือกในการรักษาลำดับแรกสำหรับคนไข้แบบอ่อน ปานกลาง และรุนแรง และควรจะให้แก่คนไข้ขั้นรุนแรงทุกคนยกเว้นถ้าจะรักษาด้วย ECT[169]

ทางเลือกในการรักษามีน้อยกว่าในประเทศกำลังพัฒนา ที่การเข้าถึงผู้รักษาพยาบาลทางจิต การเข้าถึงยา และการเข้าถึงจิตบำบัด บ่อยครั้งเป็นเรื่องยากการพัฒนาการบริการสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่แทบไม่มีเลยในหลายประเทศมีการมองว่า ความซึมเศร้าเป็นโรคของโลกพัฒนาแล้วแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ยืนยันตรงกันข้าม และมองอีกด้วยว่า ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตโดยตัวมันเอง[170]งานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเครนปี 2557 ไม่พบว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะกำหนดประสิทธิผลของการรักษาทางจิตเทียบกับการรักษาด้วยยาในเด็ก[171]

จิตบำบัด

ผู้รักษาพยาบาลสามารถให้การรักษาแบบจิตบำบัดโดยเป็นบุคคล เป็นกลุ่ม หรือเป็นครอบครัวงานทบทวนวรรณกรรมปี 2558 พบว่า การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) ดูจะมีผลใกล้เคียงกับการให้ยา[172]ส่วนงานปริทัศน์เป็นระบบปี 2555 พบว่า จิตบำบัดดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ไม่ดีกว่าการรักษาแบบอื่น ๆ[173]สำหรับความซึมเศร้าที่ซับซ้อนหรือเรื้อรัง สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาบวกกับจิตบำบัด[174][175]ส่วนงานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเครนปี 2557 พบว่า การแทรกแซงที่กำหนดโดยงานอาชีพ บวกการแทรกแซงทางคลินิก ช่วยลดวันขาดงานสำหรับคนที่มีโรคซึมเศร้า[176]จิตบำบัดมีหลักฐานว่ามีผลดีในผู้สูงอายุ[177][178]จิตบำบัดที่ทำสำเร็จปรากฏว่าช่วยลดการเกิดขึ้นอีกของความซึมเศร้าแม้หลังจากหยุดบำบัดแล้ว หรือว่าทดแทนด้วยการบำบัดแบบย้ำ (booster session)

การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม

การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) ปัจจุบันมีหลักฐานงานวิจัยมากที่สุดในการบำบัดความซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น และ CBT กับ interpersonal psychotherapy (IPT) เป็นการบำบัดทีใช้มากที่สุดสำหรับวัยรุ่น[179]NICE ชี้ว่า สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยาควรจะให้บวกกับจิตบำบัด เช่น CBT, Interpersonal psychotherapy, หรือ family therapy เท่านั้น[180]มีหลักฐานว่า CBT ลดจำนวนวันขาดงานสำหรับคนที่มีโรคซึมเศร้า ถ้าใช้ร่วมกับการรักษาพยาบาลขั้นปฐมภูมิ[176]

งานวิจัยเริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1990 แสดงว่า CBT สามารถมีผลเท่าหรือดีกว่ายาแก้ซึมเศร้าในคนไข้ปานกลางหรือรุนแรง[181][182]CBT อาจได้ผลในวัยรุ่นที่มีโรคซึมเศร้า[183]แม้ว่า ผลต่อคราวแสดงออกขั้นรุนแรงจะยังไม่ชัดเจน[184]มีตัวแปรหลายตัวที่พยากรณ์ประสิทธิผลของ CBT ในเด็กวัยรุ่น รวมทั้ง ความคิดมีเหตุผลในระดับที่สูงกว่า ความสิ้นหวังที่น้อยกว่า ความคิดเชิงลบที่น้อยกว่า และความบิดเบือนทางความคิดที่น้อยกว่า[185]CBT ได้ผลดีเป็นพิเศษในการป้องกันการกำเริบ[186][187]

แบบต่าง ๆ

มีการใช้ CBT ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อบำบัดความซึมเศร้า ที่เด่นที่สุดก็คือ rational emotive behavior therapy[188]และ การบำบัดความคิดอาศัยสติ (mindfulness-based cognitive therapy)[189]โปรแกรมลดความเครียดอาศัยสติก็สามารถลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย[190][191]โปรแกรมที่อาศัยสติดูเหมือนจะเป็นการแทรกแซงที่มีอนาคตดีในกลุ่มผู้เยาว์[192]

จิตวิเคราะห์

จิตวิเคราะห์เป็นสำนักจิตวิทยาที่ตั้งขึ้นโดยจิตแพทย์ซิกมุนด์ ฟรอยด์ซึ่งเน้นการแก้ความขัดแย้งใต้จิตสำนึก[193]มีการใช้เทคนิคจิตวิเคราะห์เพื่อบำบัดคนไข้ที่มีโรคซึมเศร้า[194]วิธีแบบผสมผสาน (eclectic) แบบหนึ่งที่เรียกว่า psychodynamic psychotherapy มีมูลฐานบางส่วนจากจิตวิเคราะห์โดยเน้นเรื่องความสัมพันธ์ในสังคมและระหว่างบุคคลมากขึ้น[195]ในงานวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับการทดลองที่มีกลุ่มควบคุม 3 งานที่ใช้ Short Psychodynamic Supportive Psychotherapy วิธีนี้พบว่ามีผลเท่ากับใช้ยาในโรคซึมเศร้าระดับอ่อนจนถึงปานกลาง[196]

ยาแก้ซึมเศร้า

ยายี่ห้อ Zoloft (sertraline) ใช้โดยหลักเพื่อบำบัดโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยนอกที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นยาแก้ซึมเศร้าที่หมอสั่งจ่ายมากที่สุดในปี 2007 ในตลาดปลีกของสหรัฐอเมริกา โดยสั่งถึง 29,652,000 ชุด[197]

งานที่ตรวจดูประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าในบุคคลที่เกิดโรคแบบฉับพลันขั้นอ่อนถึงปานกลางพบผลที่ไม่ชัดเจนมีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าที่สนับสนุนการใช้ยาเพื่อบำบัดความซึมเศร้าที่เรื้อรัง (dysthymia) หรืออยู่ในขั้นรุนแรง

แม้ว่าจะพบประโยชน์ในระดับต่ำ แต่ก็มีนักวิจัยที่อ้างในปี 2545 ว่า อาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับการทดลองมากกว่าผลที่แท้จริงของยา[198]ในงานที่พิมพ์ปี 2551 มีนักวิจัยคนหนึ่งจากงานในปี 2545 ที่สรุปว่า ผลโดยทั่วไปของยาแก้ซึมเศร้ารุ่นใหม่ไม่ถึงเกณฑ์นัยสำคัญทางคลินิก[199]งานวิเคราะห์อภิมานในปี 2553 ก็พบผลเช่นเดียวกัน[200]

แต่ว่าก็มีงานวิจัยที่จัดทำโดย NICE ที่สรุปว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า SSRI มีประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกในการลดระดับความซึมเศร้าถึง 50% ในคนไข้ระดับปานกลางและรุนแรง และก็ยังมีหลักฐานคล้าย ๆ กันสำหรับคนไข้ระดับอ่อนด้วย[201]โดยคล้ายกัน มีงานปริทัศน์เป็นระบบแบบคอเครนที่ตรวจดูการทดลองทางคลินิกของยาสามัญแก้ซึมเศร้า amitriptyline ที่สรุปว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีประสิทธิผลดีกว่ายาหลอก[202]

ในปี 2557 องค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) พิมพ์งานปริทัศน์เป็นระบบของงานทดลองยาแก้ซึมเศร้าที่ทานเพื่อดำรงสภาพ (maintenance) ที่ส่งให้แก่องค์การระหว่างปี 2528-2555ผู้เขียนสรุปว่า ยาลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอีก (relapse) ในระดับ 52% เทียบกับยาหลอก และผลที่ได้นี้เป็นเพราะความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในคนไข้กลุ่มยาหลอก (กลุ่มควบคุม) ไม่ใช่จากการขาดยา (drug withdrawal)[200]

เพื่อที่จะให้ยาที่มีประสิทธิผลมากที่สุดโดยมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด อาจจะต้องปรับขนาดยา และถ้าจำเป็น ลองใช้ยารวมโดยเป็นยาชนิดต่าง ๆ อัตราการตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าที่ให้เป็นยาแรกอยู่ที่ 50-75%และอาจใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 อาทิตย์จากที่เริ่มให้ยาจนกว่าอาการจะทุเลา[203]หมอมักจะให้ยาต่อไปเป็นเวลา 16-20 อาทิตย์หลังจากทุเลา เพื่อที่จะลดโอกาสการเกิดขึ้นอีกของโรค[203]และการให้ยาต่อก็แนะนำจนกระทั่งแม้ถึงปีด้วย[204]คนไข้ที่มีโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรังอาจจะต้องทานยาตลอดชีวิตเพื่อไม่ให้โรคเกิดขึ้นอีก[15]

Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) เป็นยาหลักที่หมอสั่ง เพราะว่ามีผลข้างเคียงที่เบา และเป็นพิษน้อยกว่าเมื่อทานยาเกินเทียบกับยาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ[205]คนที่ไม่ตอบสนองต่อยา SSRI อย่างหนึ่งสามารถเปลี่ยนยา ซึ่งมีผลดีขึ้นในกรณีเกือบ 50%[206]ทางเลือกอีกอย่างก็คือเปลี่ยนไปใช้หรือเพิ่มยาแก้ซึมเศร้านอกแบบคือ bupropion[207]อีกอย่างหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ต่างกัน คือ Venlafaxine อาจมีประสิทธิผลที่ดีกว่า SSRI พอประมาณ[208]แต่ว่า เป็นยาที่ไม่แนะนำให้ใช้เป็นลำดับแรกในสหราชอาณาจักรเพราะว่ามีหลักฐานแสดงว่า ความเสี่ยงอาจจะไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้[209]และไม่แนะนำโดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น[210][211]

สำหรับโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ฟลูอ๊อกซิตินเป็นยาที่แนะนำ[210]แต่เป็นยาที่ดูเหมือนจะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยในเด็ก[212]แต่นี่เทียบกับยาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ ที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีผล[213]นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีหลักฐานไม่เพียงพออีกด้วยที่จะกำหนดประสิทธิผลในคนไข้ที่มีภาวะสมองเสื่อม (dementia) ด้วย[214]ยาแก้ซึมเศร้าชนิดใดก็ได้สามารถเป็นเหตุให้มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำ (ภาวะมีโซเดียมในเลือดน้อยเกิน)[215]แต่มีรายงานภาวะนี้เพราะเหตุยา SSRI มากกว่าอย่างอื่น[205]ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ SSRI จะเป็นเหตุหรือทำให้การนอนไม่หลับแย่ลง ถ้าเป็นเช่นนั้น ยาแก้ซึมเศร้าที่ช่วยให้นอนหลับคือ mirtazapine อาจจะใช้ได้[216][217]

Irreversible monoamine oxidase inhibitor เป็นประเภทของยาที่เก่าแก่กว่า แม้ว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์กับอาหารและยาประเภทอื่นที่อาจทำให้ถึงเสียชีวิตยังมีการใช้อยู่แม้น้อยมาก แม้ว่าจะมียาอื่นที่ใหม่กว่าและมีผลเสียน้อยกว่าที่เป็นยาประเภทเดียวกัน[218]ส่วนยาประเภท reversible monoamine oxidase inhibitor เช่น moclobemide มีลักษณะความปลอดภัยที่ไม่เหมือนกัน โดยมีโอกาสเสี่ยงเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์กับอาหารน้อยมาก และจึงต้องจำกัดอาหารน้อยกว่า[219]

สำหรับเด็ก วัยรุ่น และอาจผู้ใหญ่ในระหว่าง 18-24 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงในการคิดและพฤติกรรมเรื่องฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ถ้าใช้ยา SSRI[220][221]สำหรับผู้ใหญ่ ไม่ชัดเจนว่า SSRI มีผลต่อความเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่ งานทบทวนวรรณกรรมงานหนึ่งไม่พบหลักฐานอะไร[222]อีกงานหนึ่งพบความเสี่ยงที่สูงขึ้น[223]และอีกงานหนึ่งไม่พบความเสี่ยงในบุคคลอายุระหว่าง 25-65 ปี และความเสี่ยงที่ลดลงในผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี[224]องค์การอาหารและยาสหรัฐบังคับให้บริษัทยาติดป้ายเตือนในปี 2550 สำหรับยาแก้ซึมเศร้ารวมทั้ง SSRI ว่าเพิ่มโอกาสเสี่ยงการฆ่าตัวตายสำหรับคนไข้อายุต่ำกว่า 24 ปี[225]กระทรวงสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นก็ทำเช่นกัน[226]

วันที่ 22 กันยายน 2023 US FDA ได้อนุมัติยาต้านซึมเศร้าชนิดใหม่ชื่อ Exxua (Gepirone Hydrochloride) ของบริษัท Fabre-Kramer Pharmaceuticals ตัวยามีประสิทธิภาพในการเข้าไปปรับปรุงการทำงานของตัวรับสารเซโรโทนิน 1A ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมอารมณ์ โดยจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานให้สามารถรับสารชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการรักษาอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นโดยตรง และยังมีผลกระตุ้นการหลั่งโดปามีนที่หากมีน้อยเกินไปอาจนำไปสู่อาการเครียดและวิตกกังวล ยาใหม่ดังกล่าวมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยเมื่อเทียบกับยาต้านซึมเศร้าชนิดอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย สมรรถภาพทางเพศ หรือผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด ผลข้างเคียงที่พบมีเพียงอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้ในช่วงสั้นๆ คาดว่ายาจะค่อยๆ มีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาหลังจาก US FDA อนุมัติแล้วระยะหนึ่ง[227] [228]

ยาพ่นจมูก

วันที่ 5 มีนาคม 2019 US FDA อนุมัติยาพ่นจมูก Spravato (Esketamine) สำหรับผู้เป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา[229] โดย Esketamine (S-ketamine) เป็น S-enantiomer ของ ketamine (racemic form) ออกฤทธิ์เป็น non-selective, non-competitive N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonist แต่ละขวดมี esketamine hydrochloride 32.3 มิลลิกรัม (เท่ากับ esketamine 28 มิลลิกรัม) พ่นได้ 2 ครั้ง ยาพ่นจมูกนี้ใช้ร่วมกับยาต้านซึมเศร้าชนิดรับประทาน โดยในช่วงแรกตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-4 (induction phase) ใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยวันแรกใช้ขนาด 56 มิลลิกรัม ต่อมาใช้ขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม (ขึ้นกับอาการโรคซึมเศร้าและอาการไม่พึงประสงค์ของยา) ช่วงต่อมา (maintenance phase) ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5-8 ใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม จากนั้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 9 เป็นต้นไป อาจใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือใช้ทุก 2 สัปดาห์ ในขนาด 56 หรือ 84 มิลลิกรัม ซึ่งความถี่ในการใช้ยาและขนาดยาปรับตามเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยให้มีความถี่น้อยครั้งที่สุดที่เพียงพอเพื่อการควบคุมอาการของโรคได้[230]

ยาอื่น ๆ

มีหลักฐานบ้างว่า อาหารเสริมเป็นน้ำมันปลาที่มีอัตรากรดไขมันโอเมกา-3 EPA:DHA (คือ eicosapentaenoic acid ต่อ docosahexaenoic acid) ในระดับที่สูงกว่าอาจมีผลดีต่อโรคซึมเศร้า[231]แต่งานวิเคราะห์อภิมานอีกงานหนึ่งสรุปว่า ผลบวกที่พบอาจมาจากความเอนเอียงในการตีพิมพ์ (publication bias)[232]มีหลักฐานในขั้นเบื้องต้นว่า COX-2 inhibitors อาจมีผลดีต่อโรค[68]ส่วนยา Lithium ดูเหมือนจะมีผลลดความเสี่ยงการฆ่าตัวตายสำหรับบุคคลที่มีโรคอารมณ์สองขั้วและโรคซึมเศร้า จนถึงเกือบระดับเดียวกับกลุ่มประชากรทั่วไป[233]แต่ว่า พิสัยขนาดช่วงที่ยามีประสิทธิผลและปลอดภัยแคบมาก ดังนั้น จะต้องดูแลระมัดระวังเป็นอย่างดี[234]ฮอร์โมนไทรอยด์ขนาดน้อยสามารถให้เพิ่มกับยาแก้ซึมเศร้าเพื่อบำบัดอาการซึมเศร้าที่คงยืนในบุคคลที่ได้ทดลองใช้ยามาหลายรูปแบบแล้ว[235]

การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า

การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) เป็นการรักษามาตรฐานที่แพทย์ใช้ไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เกิดการชักในสมองคนไข้เพื่อบรรเทาอาการป่วยทางจิต[236]: 1880 เป็นการรักษาที่ต้องได้รับการยินยอมจากคนไข้[237]โดยเป็นวิธีการรักษาลำดับสุดท้ายสำหรับโรคซึมเศร้า[238]

การใช้ ECT รอบหนึ่งจะได้ผลสำหรับคน 50% ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรคแบบขั้วเดียวหรือสองขั้ว (bipolar)[239]การรักษาติดตามยังเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจดี แต่ว่า ในบุคคลที่ได้ผล ครึ่งหนึ่งจะเกิดโรคอีกภายใน 12 เดือน[240]

นอกจากผลต่อสมอง ความเสี่ยงทั่วไปทางกายอย่างอื่นของ ECT คล้ายกับการให้ยาสลบ (general anesthesia) แบบระยะสั้น[241]: 259 ผลที่ไม่ต้องการหลังจากการรักษาที่สามัญที่สุดคือความงงและการเสียความจำ[238][242]ECT พิจารณาว่าเป็นการรักษาที่อันตรายน้อยที่สุดสำหรับหญิงมีครรภ์ที่ซึมเศร้าอย่างรุนแรง[243]

รอบหนึ่งของ ECT จะมีการรักษาหลายครั้ง ปกติ 2-3 ครั้งต่ออาทิตย์จนกระทั่งคนไข้ไม่มีอาการในช่วงการรักษา คนไข้จะได้รับยาชาพร้อมกับยาคลายกล้ามเนื้อ[244]ECT สามารถต่าง ๆ กันได้โดยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ที่ที่แนบอิเล็กโทรด ความถี่ในการรักษา และคลื่นไฟฟ้าที่ใช้องค์ประกอบเหล่านี้มีผลอย่างสำคัญทั้งในผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการและการบรรเทาของโรคและหลังจากการรักษา ก็จะยังให้ยาต่อไป และคนไข้บางคนจะได้การรักษาแบบ ECT เพื่อดำรงสภาพ (maintenance)[238]

ECT ดูเหมือนจะมีผลในระยะสั้นผ่านกระบวนการกันชักในสมองกลีบหน้า และในระยะยาวผ่านกระบวนการ neurotrophic (การรอดชีวิต การพัฒนา และการทำงานของเซลล์ประสาท) โดยหลักใน medial temporal lobe[245]

การกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลกซ้ำ ๆ (TMS)

การกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลก (Transcranial magnetic stimulation ตัวย่อ TMS) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า deep transcranial magnetic stimulation (DTMS) เป็นวิธีที่ไม่ต้องอาศัยการเจาะการผ่า (noninvasive) เพื่อกระตุ้นเขตเล็ก ๆ ในสมอง[246]องค์การอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ใช้ TMS เพื่อบำบัดโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาวิธีอื่น (treatment-resistant major depressive disorder ตัวย่อ trMDD) ในปี 2551[247]และก็มีหลักฐานเริ่มตั้งแต่ปี 2557 ที่สนับสนุนการรักษาเช่นนี้[248]สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน[249],Canadian Network for Mood and Anxiety Disorders (เครือข่ายความผิดปกติทางอารมณ์และความวิตกกังวลคะเนเดียน)[250],และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์[251]ได้รับรอง rTMS เพื่อใช้กับ trMDD แล้ว

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง TMS และ DTMS พบว่า DTMS มีผลดีเหนือกว่า คือ (1) DTMS ​ใช้เวลารักษาสั้นเพียง 20 นาที ขณะที่ TMS ใช้เวลา 37 นาที (2) DTMS กระตุ้นได้ลึกกว่า TMS โดยการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างสมองส่วนลึกมีการเชื่อมต่อกับ reward system มากขึ้น ดังนั้นถ้าการกระตุ้นสามารถลงได้ยิ่งลึกก็จะยิ่งให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงกว่า [252] (3) DTMS กระตุ้นได้กว้างกว่า TMS ซึ่งบางกรณี TMS จะพลาดตำแหน่งเป้าหมายในการรักษา ทำให้รักษาไม่ตรงจุด[253]

DTMS ในประเทศไทย (2566) มีบริการในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน[254] ได้แก่

  1. Manarom Hospital
  2. Somdet Chao Phraya Hospital
  3. Srinagarind Hospital, Khon Kaen University
  4. Praram 9 Hospital
  5. ศิริราช [1] (TMS)
  6. สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ [2] (TMS)
  7. ศรีธัญญา [3] (TMS)
  8. รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ [4] (TMS)
  9. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ [5] (TMS)
  10. รพ.สวนปรุง (TMS) [6] เก็บถาวร 2023-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์[7] (TMS)
  12. เครือ รพ. กรุงเทพ [8] [9][10]( TMS)
  13. รพ.โอเวอร์บรุ๊ค[11] (TMS)
  14. รพ.เวชธานี [12] (TMS)
  15. รพ. นครธน (TMS)[13]
  16. รพ.รามคำแหง (TMS) [14] เก็บถาวร 2023-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

วิธีอื่น ๆ

การบำบัดด้วยแสงสว่าง (light therapy) ช่วยลดความรุนแรงของอาการซึมเศร้า ของคนไข้ทั้งแบบ seasonal affective disorder (ความผิดปกติทางอารมณ์เป็นฤดู) และไม่ใช่ โดยมีผลคล้ายกับของยาแก้ซึมเศร้าธรรมดาสำหรับความซึมเศร้าที่ไม่ได้เป็นไปตามฤดู การบำบัดด้วยแสงเพิ่มขึ้นจากการรักษาด้วยยาตามมาตรฐานไม่มีผล[255]แต่ถ้าใช้การรักษาด้วยแสงโดยมากบวกกับยาแก้ซึมเศร้าหรือการบำบัดด้วยการให้ตื่น (wake therapy) จะมีผลในระดับปานกลาง โดยมีผลดีกว่าการบำบัดควบคุมใน 3 กรณี คือ ในงานศึกษาที่มีคุณภาพสูง ในงานศึกษาที่ให้การรักษาด้วยแสงในตอนเช้า และในบุคคลที่ตอบสนองต่อการงดนอนแบบทั้งคืนหรือค่อนคืน[256]งานวิเคราะห์ที่อ้างทั้งสอง[255][256]ให้ข้อสังเกตถึงคุณภาพที่ไม่ดี ระยะการทดลองที่สั้น และขนาดตัวอย่างที่มีน้อยของงานศึกษาโดยมากที่งานทั้งสองทบทวน

มีหลักฐานน้อยส่วนหนึ่งที่แสดงว่า การเว้นการนอนสักคืนหนึ่งอาจจะช่วย[257]การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่แนะนำเพื่อช่วยบริหารความซึมเศร้าแบบอ่อนด้วย[258]และมีผลปานกลางต่ออาการซึมเศร้า[7]ซึ่งก็เท่ากับการใช้ยาหรือจิตบำบัดในบุคคลส่วนมาก[7]ในคนสูงอายุ การออกกำลังกายดูจะลดระดับความซึมเศร้า[259]ส่วนในงานศึกษาไม่สุ่มที่ไม่มีการอำพรางแบบสังเกตการณ์พบว่า การหยุดสูบบุหรี่มีผลต่อความซึมเศร้าเท่ากับหรือมากกว่าการให้ยา[260]ส่วนการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) และโปรแกรมทางอาชีพอื่น ๆ (รวมทั้งการเปลี่ยนกิจกรรมในงานและการให้ความช่วยเหลือ) พบว่ามีประสิทธิผลในการลดวันขาดงานของผู้ทำงานที่มีโรคซึมเศร้า[261]

การพยากรณ์โรค

โรคซึมเศร้าบ่อยครั้งจะหายเองไม่ว่ารักษาหรือไม่คนไข้นอกที่ยังรอหมออยู่จะลดอาการ 10-15% ภายใน 2-3 เดือน โดยมีประมาณ 20% ที่ไม่ผ่านเกณฑ์โรคซึมเศร้าอีกต่อไป[262]ระยะเวลามัธยฐานของคราวแสดงออกอยู่ที่ประมาณ 23 อาทิตย์ โดยมีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดในช่วง 3 เดือนแรก[263]

งานวิจัยพบว่า 80% ของบุคคลที่เกิดคราวแสดงออกของโรคเป็นครั้งแรกจะประสบกับคราวแสดงออกอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต[264]โดยมีคราวแสดงออกเฉลี่ยตลอดชีวิตที่ 4 ครั้ง[265]งานศึกษากลุ่มประชากรทั่วไปงานอื่น ๆ แสดงว่า ประมาณครึ่งหนึ่งที่มีคราวแสดงออกจะฟื้นตัว (ไม่ว่าจะได้การรักษาหรือไม่) และไม่เป็นอีก ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะมีคราวแสดงออกอย่างน้อยอีก 1 ครั้ง และ 15% ในครึ่งหนึ่งนั้นจะมีคราวแสดงออกซ้ำ ๆ[266]งานศึกษาที่ได้คนไข้ในโรงพยาบาล (inpatient) แสดงการฟื้นตัวที่น้อยกว่าและการเกิดซ้ำที่สูงกว่า ในขณะที่งานศึกษาในคนไข้นอก (outpatient) แสดงว่า เกือบทั้งหมดฟื้นสภาพ โดยมีระยะคราวแสดงออกของโรคเฉลี่ยที่ 11 เดือน90% ของคนที่เป็นแบบรุนแรงหรือประกอบกับโรคจิต (psychotic) ผู้โดยมากจะผ่านเกณฑ์ว่ามีความผิดปกติทางจิต (mental disorder) อื่น ๆ อีกด้วย จะประสบอาการซ้ำ ๆ[267][268]

การเกิดซ้ำมีโอกาสสูงขึ้นถ้าอาการไม่หายทั้งหมดหลังจากรักษาแนวทางการรักษาปัจจุบันแนะนำให้ให้ยาแก้ซึมเศร้าต่อ 4-6 เดือนหลังจากบรรเทาเพื่อป้องกันการเกิดโรคอีก (relapse)หลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT) แสดงว่า การให้ยาต่อไปหลังจากฟื้นสภาพสามารถลดโอกาสเกิดโรคอีกถึง 70% (41% เกิดโรคอีกถ้าใช้ยาหลอก เทียบกับ 18% ถ้าใช้ยาแก้ซึมเศร้า)ผลป้องกันอาจจะดำรงอยู่นานอย่างน้อย 36 เดือนที่ใช้ยาเพื่อดำรงสภาพ[269]

บุคคลที่ประสบกับคราวแสดงออกของโรคแบบซ้ำ ๆ จำเป็นต้องรักษาต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการซึมเศร้าที่รุนแรงขึ้นแบบระยะยาวในบางกรณี อาจจะต้องทานยาเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือตลอดชีวิต[270]

ผลที่แย่สัมพันธ์กับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง, อาการรุนแรงเบื้องต้นที่ประกอบด้วยวิกลจริต (psychosis), อายุน้อยเมื่อเกิดโรค, มีประวัติมาก่อน, ยังไม่หายดีหลังการรักษา 1 ปี, มีโรคทางกายหรือทางใจที่รุนแรงอยู่แล้ว, และปัญหาในครอบครัว[271]

คนซึมเศร้ามีการคาดหมายคงชีพ (life expectancy) ที่ต่ำกว่าคนอื่น ๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย[272]แต่ว่า พวกเขาก็ยังมีอัตราการตาย (mortality rate) ที่สูงกว่าเพราะเหตุอื่น ๆ อีกด้วย[273]เพราะเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ มากขึ้น เช่น โรคหัวใจ[274]คนอาจถึง 60% ที่ฆ่าตัวตายมีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า และความเสี่ยงจะสูงเป็นพิเศษถ้าบุคคลนั้นรู้สึกหมดหวังอย่างรุนแรง หรือมีทั้งโรคซึมเศร้าและความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD)[11]ความเสี่ยงตลอดชีพของการฆ่าตัวตายในบุคคลที่ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 3.4% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของตัวเลขที่ห่างกันมาก 2 ตัวคือ 7% สำหรับชายและ 1% สำหรับหญิง[275](แม้ว่าหญิงจะพยายามฆ่าตัวตายบ่อยครั้งมากกว่าชาย)[276]แต่ว่า ค่าประเมินนี้ก็ยังน้อยกว่าค่าที่เคยยอมรับกันมาก่อนในอดีตที่ 15% ซึ่งเป็นค่าที่อนุมานจากงานศึกษาคนไข้ในโรงพยาบาล[277]

ความซึมเศร้าบ่อยครั้งสัมพันธ์กับความว่างงานและความยากจน[278]โรคเป็นภาระโรค (disease burden คือ ผลของปัญหาสุขภาพที่วัดโดยค่าใช้จ่าย อัตราการตาย ความเจ็บป่วย และอื่น ๆ ) ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือและในประเทศที่มีรายได้สูงอื่น ๆ และเป็นเหตุอันดับ 4 ทั่วโลกองค์การอนามัยโลกพยากรณ์ว่า จะเป็นภาระโรคอันดับ 2 ทั่วโลกต่อจากเอชไอวีในปี 2573[279]ในประเทศไทย เป็นโรคที่สร้างภาระโรค (DALY) ในระดับท๊อป 10 โดยเป็นอันดับ 1 ในหญิง และอันดับ 4 ในชาย[12]ความล่าช้าหรือการไม่สรรหาการรักษาหลังจากการเกิดโรคอีก หรือถ้าไม่ให้การรักษา เป็นอุปสรรคสำคัญในการลดความพิการที่เกิดจากโรค[280]

วิทยาการระบาด

จำนวนปีที่เสียไปเนื่องจากสุขภาพไม่ดี ความพิการ หรือความตายก่อนวัย (Disability-adjusted life year) สำหรับโรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว (unipolar) ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2547[281] ในประเทศไทย เป็นโรคที่มี DALY ในระดับท๊อป 10 โดยเป็นอันดับ 1 ในหญิง และอันดับ 4 ในชาย[12]
  ไม่มีข้อมูล
  <700
  700-775
  775-850
  850-925
  925-1000
  1000-1075
  1075-1150
  1150-1225
  1225-1300
  1300-1375
  1375-1450
  >1450

โรคซึมเศร้าเป็นเหตุความเจ็บป่วยที่สำคัญอย่างหนึ่งในโลก[282]เชื่อว่า มีคน 298 ล้านคนที่มีโรคโดยปี 2553 (เป็น 4.3% ของประชากรโลก)[283]ในประเทศไทย โรคเป็นความผิดปกติทางจิตที่สามัญที่สุด (3.2%) ตามงานสำรวจสุขภาพจิตไทยปี 2546[12]ความชุกตลอดชีพต่างกันมากในที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ 3% ในประเทศญี่ปุ่นจนกระทั่งถึง 17% ในสหรัฐอเมริกา[284]ในประเทศโดยมาก อัตราโรคซึมเศร้าตลอดชีวิตอยู่ที่ 8-12%[284]ในทวีปอเมริกาเหนือ ความน่าจะเป็นของการมีโรคภายในหนึ่งปีอยู่ที่ 3-5% สำหรับชาย และ 8-10% สำหรับหญิง[285][286]งานศึกษากลุ่มประชากรพบอย่างสม่ำเสมอว่า โรคเกิดขึ้นในหญิง 2 เท่ามากกว่าชาย แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่าเพราะอะไร หรือว่ามีปัจจัยอะไรอื่นที่เป็นเหตุความแตกต่างนี้หรือไม่[287]ในเด็ก การเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามพัฒนาการของวัยเจริญพันธุ์ไม่ใช่ตามอายุ และจะถึงอัตราระดับผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 15-18 ปี และดูเหมือนจะสัมพันธ์กับปัจจัยทางจิต-สังคมมากกว่าปัจจัยทางฮอร์โมน[287]

คนมีโอกาสที่จะประสบกับคราวซึมเศร้าในระหว่างอายุ 30-40 ปีมากที่สุด และมีช่วงการเกิดสูงสุดแต่ต่ำลงมาในช่วงอายุ 50-60 ปี[288]ความเสี่ยงต่อโรคสูงขึ้นเมื่อมีปัญหาทางประสาทอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์คินสัน หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และปีแรกหลังจากคลอดบุตร[289]ความเสี่ยงโรคสัมพันธ์กับตัวก่อความเครียดทางสิ่งแวดล้อมที่คนทั้งกลุ่มเผชิญด้วย เช่น ผู้ต่อสู้ในสงครามหรือแพทย์ฝึกหัด[290]โรคสามัญกว่าด้วยหลังเกิดความเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจและสัมพันธ์กับเมื่อฟื้นตัวได้ไม่ดีมากกว่าเมื่อฟื้นตัวดีกว่า[274][291]งานศึกษาแสดงผลที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความชุกของโรคในคนชรา แต่ข้อมูลโดยมาแสดงว่าระดับลดลงในคนวัยนี้[292]โรคสามัญในเขตเมืองมากกว่าเขตชนบท และมีในกลุ่มที่มีปัญหาทางสังคม-เศรษฐกิจมากกว่า เช่น ในคนจรจัด[293]

ประวัติ

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้ามีย้อนหลังไปจนถึงยุคฮิปพอคราทีส

แพทย์กรีกโบราณฮิปพอคราทีสกล่าวถึงอาการของโรค melancholia ว่าเป็นโรคที่มีอาการทางกายและใจโดยเฉพาะ โดยกำหนดว่า "ความหวาดกลัวและความหมดหวังเสียใจ ถ้าเป็นเวลาระยะยาว" ทั้งหมดว่าเป็นอาการของโรค[294]เป็นแนวคิดที่คล้ายกันแต่กว้างกว่าโรคซึมเศร้าในปัจจุบันความเด่นอยู่ที่การรวมกลุ่มของอาการเศร้า ความหดหู่ใจ และความท้อแท้ใจ และบ่อยครั้ง ความหวาดกลัว ความโกรธ ความหลงผิด และความหมกมุ่นก็รวมเข้าด้วย[91]

ส่วนคำภาษาอังกฤษว่า depression มาจากคำกริยาภาษาละตินว่า "deprimere" ซึ่งแปลว่า "กดลง"[295]ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา คำว่า "to depress" จึงหมายถึงหักหรือลดกำลังใจนักเขียนชาวอังกฤษ (Richard Baker) ใช้คำนี้ในปี ค.ศ. 1665 เพื่อกล่าวถึงคนที่มีกำลังใจตก และนักเขียนซามูเอล จอห์นสันก็ใช้คำนี้ในแนวเดียวกันในปี 1753[296]นอกจากนี้ คำนี้ยังใช้ในการแพทย์โดยหมายถึง "แอ่ง, รอยบุ๋ม, การทำหน้าที่ลดลง"[297]และในเศรษฐศาสตร์หมายถึง "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ"[298]จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศส (Louis Delasiauve) ใช้คำหมายถึงอาการทางจิตเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1856 และโดยคริสต์ทศวรรษ 1860 ก็เริ่มปรากฏในพจนานุกรมแพทย์โดยหมายถึงการทำหน้าที่ที่ลดลงทางสรีรภาพ หรือการทำหน้าที่ที่ลดลงทางอารมณ์ในเชิงอุปลักษณ์[299]ตั้งแต่สมัยของอาริสโตเติล อาการ melancholia สัมพันธ์กับชายที่มีการศึกษาหรือว่าฉลาดในด้านวิชาการ ซึ่งจัดเป็นอันตรายของความช่างคิดและความคิดสร้างสรรค์ส่วนแนวคิดใหม่ในเรื่องนี้ทิ้งความสัมพันธ์เช่นนั้น และตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาการนี้สัมพันธ์กับหญิงมากกว่า[91]

ภาพล้อของชายที่ใกล้จะเกิดความซึมเศร้า

แม้ว่าคำว่า melancholia จะยังเป็นคำวินิจฉัยหลัก แต่คำว่า depression ก็เริ่มนิยมใช้ในตำราแพทย์และกลายเป็นไวพจน์โดยสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19จิตแพทย์ชาวเยอรมัน (Emil Kraepelin 1856-1926) อาจเป็นบุคคลแรกที่ใช้คำนี้โดยกว้าง ๆ คือใช้คำว่า "depressive states" โดยหมายถึงรูปแบบต่าง ๆ ของ melancholia[300]

ส่วน นพ. ซิกมุนด์ ฟรอยด์เปรียบเทียบภาวะของ melancholia เหมือนกับความเศร้าโศกเกี่ยวกับคนรักที่เสียชีวิตไปในเอกสารปี 1917 Mourning and Melancholia ซึ่งเขาตั้งทฤษฎีว่า การสูญเสียที่ปรากฏเป็นปรวิสัย เช่นการเสียความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเพราะเหตุแห่งความตายหรือเหตุแยกจากคนรัก มีผลเป็นความสูญเสียทางอัตวิสัย (คือทางใจ) ด้วยคนซึมเศร้าได้สำคัญตัวเองเป็นวัตถุที่รักผ่านกระบวนการจิตใต้สำนึกแบบหลงตัวเอง (unconscious narcissistic process) ที่เรียกว่า libidinal cathexis of the ego และการสูญเสียเช่นนั้นมีผลเป็นความซึมเศร้าอย่างรุนแรงที่ดิ่งลึกยิ่งกว่าความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนรัก เพราะว่า ไม่เพียงแต่ดูโลกภายนอกเป็นเชิงลบเท่านั้น แม้แต่ตัวเองก็เสียหายไปด้วย[89] ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองที่ลดลงปรากฏเป็นความเชื่อที่โทษตัวเอง เป็นความไม่ดี/ไม่เก่ง และเป็นคนไม่มีค่า[90] นพ.ฟรอยด์ยังเน้นประสบการณ์ต้น ๆ ชีวิตว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง[91]

ส่วนจิตแพทย์อเมริกัน (Adolf Meyer) เป็นคนเสนอโครงสร้างที่รวมปัจจัยทางสังคมและชีวภาพที่เน้น "ปฏิกิริยา" ของบุคคลในบริบทของชีวิต และอ้างว่า ควรใช้คำว่า depression แทนคำว่า melancholia[301]หนังสือคู่มือรุ่นแรกของ DSM (DSM-I, 1952) มีคำว่า depressive reaction และ DSM-II (1968) ใช้คำว่า depressive neurosis โดยนิยามว่าเป็น ปฏิกิริยาเกินควรต่อความขัดแย้งภายในหรือเหตุการณ์ที่กำหนดได้และยังรวมชนิดความซึมเศร้า "manic-depressive psychosis" ภายใต้หัวข้อ "Major affective disorder"[302]

ในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 20 นักวิจัยมีสมมติฐานว่า ความซึมเศร้ามีเหตุมาจากความไม่สมดุลทางเคมีเกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อาศัยสังเกตการณ์ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เกี่ยวกับผลของยา reserpine และ isoniazid ในการเปลี่ยนระดับสารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีน โดยมีผลต่ออาการซึมเศร้า[303]จิตแพทย์ชาวเยอรมัน (Karl Kleist) ได้บัญญัติคำเติมว่า "unipolar" รวมทั้งคำที่เกี่ยวข้องกันคือ "bipolar"[304]

ต่อมาในกลางคริสต์ทศวรรษ 1970 กลุ่มแพทย์ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งได้เสนอใช้คำว่า Major depressive disorder โดยเป็นส่วนของเกณฑ์วินิจฉัยที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบของอาการต่าง ๆ (โดยเรียกว่า "Research Diagnostic Criteria")[305]และรวมเข้าใน DSM-III ในปี 1980[306]เพื่อที่จะให้สอดคล้องกัน ICD-10 ได้ใช้เกณฑ์เดียวกัน โดยเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย คือ กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยของ DSM ว่าเป็น mild depressive episode (คราวแสดงออกความซึมเศร้าแบบอ่อน) แล้วเพิ่มระดับที่รุนแรงขึ้น คือ "moderate" (ปานกลาง) และ "severe" (รุนแรง)[138][306]แต่ว่า แนวคิดโบราณของคำว่า melancholia ก็ยังอยู่รอดต่อไปโดยเป็นแบบย่อย melancholic

นิยามใหม่ของ depression กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะมีหลักฐานและมุมมองที่ต่างกันไปบ้างโดยมีหลักฐานที่ยังยืนยันว่า คำว่า melancholia อาจจะดีกว่า[307][308]มีข้อคัดค้านบ้างเกี่ยวกับการขยายขอบเขตเกณฑ์วินิจฉัย ที่สัมพันธ์กับการพัฒนากับการวางตลาดยาแก้ซึมเศร้า และกับแบบจำลองทางชีวภาพที่เสนอตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950<[309]

สังคมและวัฒนธรรม

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 16 คือ อับราฮัม ลินคอล์น เกิดภาวะ melancholy ซึ่งปัจจุบันอาจจะเรียกว่าโรคซึมเศร้า[310]

ความคิดของคนในเรื่องความซึมเศร้าต่างกันมาก ทั้งภายในและภายนอกวัฒนธรรมเดียวกันผู้วิจารณ์คนหนึ่งกล่าวว่า "เนื่องจากไม่มีความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ประเด็นอภิปรายเกี่ยวกับความซึมเศร้าจึงกลายเป็นเรื่องภาษาคำที่เราใช้เรียก ไม่ว่าจะเป็น 'โรค' 'ความผิดปกติ' 'สภาวะจิต' มีผลต่อวิธีการที่เรามอง วินิจฉัย และรักษามัน"[311]มีความเห็นระหว่างวัฒนธรรมที่ต่าง ๆ กันว่า ความซึมเศร้าแค่ไหนจึงควรพิจารณาว่าเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลจากมืออาชีพหรือว่าเป็นแค่ตัวชี้อะไรอย่างอื่นเช่น ความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาสังคมหรือปัญหาทางศีลธรรม เป็นผลของความไม่สมดุลทางร่างกาย หรือว่าเป็นตัวสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลในความเข้าใจเรื่องความทุกข์ที่อาจจะเสริมความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้และเสริมความยากลำบากทางอารมณ์[312][313]

การวินิจฉัยโรคนี้สามัญน้อยกว่าในบางประเทศ เช่น ในประเทศจีนโดยอ้างว่า คนจีนตามวัฒนธรรมจะปฏิเสธว่ามีความซึมเศร้าหรือจะแสดงอาการเป็นโรคทางกาย (Somatization) แม้ว่าตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 การปฏิเสธในเรื่องนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้วอย่างสำคัญ[314]หรือโดยอีกนัยหนึ่ง อาจจะเป็นได้ว่าวัฒนธรรมตะวันตกเปลี่ยนแนวคิดและยกสถานะการแสดงความทุกข์บางอย่างของมนุษย์ให้เป็นโรคศาสตรายจารย์ชาวออเสตรเลียคนหนึ่ง (Gordon Parker) และนักวิชาการอื่น ๆ ได้อ้างว่า แนวคิดชาวตะวันตกเกี่ยวกับความซึมเศร้าเปลี่ยนความเศร้าหรือความทุกข์ธรรมดา ให้กลายเป็นเรื่องทางการแพทย์[315][316]และโดยนัยเดียวกัน จิตแพทย์ชาวฮังการี-อเมริกัน (Thomas Szasz) และนักวิชาการอื่น ๆ ก็อ้างว่า ความซึมเศร้าเป็นโรคโดยอุปลักษณ์ที่ไม่ควรพิจารณาว่าเป็นโรคจริง ๆ[317]นอกจากนั้นก็ยังมีความเป็นห่วงว่า DSM และจิตเวชแบบ descriptive ที่ใช้คู่มือนี้ มักจะทำสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่นความซึมเศร้า ให้เป็นสิ่งที่มีตัวตน ซึ่งความจริงอาจเป็นเรื่องที่สังคมบัญญัติขึ้นเพียงเท่านั้น[318]นักจิตวิทยาแบบ Archetypal ชาวอเมริกันคนหนึ่ง (James Hillman) เขียนไว้ว่า ความซึมเศร้าอาจจะดีต่อวิญญาณ (soul) เพราะว่า "มันนำมาซึ่งที่หลบซ่อน ข้อจำกัด จุดสนใจ ความสำคัญ น้ำหนัก และการทำอะไรไม่ได้ที่ให้เกิดความถ่อมตน"[319]และอ้างว่า การพยายาบำบัดกำจัดความซึมเศร้าเป็นแนวคิดเดียวกับการคืนพระชนม์ของพระเยซู แต่มีผลที่ไม่ต้องการคือการทำสภาพวิญญาณของบุคคลให้กลายเป็นปีศาจ/ผู้ร้าย

บุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์บ่อยครั้งไม่ค่อยอยากจะพูดถึงหรือหาวิธีรักษาโรคซึมเศร้าเพราะมองว่าเป็นมลทินทางสังคม หรือไม่รู้ว่าเป็นโรคและสามารถรักษาได้อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ตีความจดหมาย บทความ งานศิลป์ ข้อเขียนต่าง ๆ จากเพื่อน ๆ หรือครอบครัวของบุคคลเหล่านั้น ทำให้อนุมานได้ว่า บุคคลเหล่านั้นมีความซึมเศร้าในรูปแบบบางอย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น[320]

มีการถกกันมานานแล้ว่า ความผิดปกติทางประสาทและทางอารมณ์บางอย่างอาจมีส่วนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยอาริสโตเติล[321][322]วรรณกรรมอังกฤษให้ตัวอย่างหลายอย่างที่ผู้เขียนพินิจพิจารณาถึงความซึมเศร้าของตน[323]นักเขียนซามูเอล จอห์นสันใช้คำว่า "the black dog" (หมาดำ) ในคริสต์ทศวรรษ 1780[324]ซึ่งต่อมาอดีตนายกรัฐมนตรีเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลทำให้เป็นคำที่นิยม[324]

มลทินทางสังคมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องทั่วไป การได้ติดต่อกับบริการทางสุขภาพจิตช่วยลดความรู้สึกเช่นนี้เพียงแค่เล็กน้อยความเห็นของมวลชนเกี่ยวกับวิธีรักษาต่างอย่างยิ่งจากมืออาชีพในการรักษาพยาบาลคือ สาธารณชนเชื่อว่าการรักษาทางเลือกได้ผลดีกว่าการให้ยา ซึ่งถูกมองในแง่ลบ[325]ในสหราชอาณาจักร ราชวิทยาลัยจิตแพทย์และราชวิทยาลัยแพทย์ทั่วไปได้รณรงค์ (Defeat Depression) เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้การศึกษาแก่สาธารณชนและลดมลทินทางสังคมในระหว่างปี 1992-1996[326]แต่งานศึกษาที่ทำภายหลังพบทัศนคติที่เปลี่ยนไปในทางบวกเพียงแค่เล็กน้อยเกี่ยวกับความซึมเศร้าและการรักษา[327]

งานวิจัยบางอย่าง

มีงานทดลองที่กำลังตรวจสอบผลของโบทูลินั่ม ท็อกซินต่อความซึมเศร้าไอเดียก็คือการใช้ท็อกซินทำให้บุคคลขมวดคิ้วน้อยลง เพื่อหยุดการป้อนกลับทางอารมณ์จากใบหน้า (ที่ใบหน้าที่ไม่ส่อความสุขทำให้เกิดความไม่เป็นสุข)[328]แต่งานปี 2558 พบว่า ผลบวกที่ได้บางส่วนมาจากผลยาหลอก (placebo effect)[329]

ในคนชรา

ความซึมเศร้าสามัญเป็นพิเศษสำหรับบุคคลอายุมากกว่า 65 ปี และจะเกิดถี่เพิ่มขึ้นตามอายุจากจุดนี้[330]นอกจากนั้นแล้ว ความเสี่ยงต่อความซึมเศร้าเพิ่มทั้งตามอายุและตามความอ่อนแอ/ความบอบบางของบุคคล[330]ความซึมเศร้าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลลบต่อคุณภาพชีวิตทั้งในผู้ใหญ่และคนชรา[330]ทั้งอาการและการบำบัดรักษาสำหรับคนชราต่างจากคนกลุ่มอื่น ๆ[330]

เหมือนกับโรคหลายอย่างอื่น ๆ เป็นเรื่องธรรมดาในผู้สูงวัย ที่อาการซึมเศร้าจะไม่ปรากฏแบบคลาสสิก[330]ทั้งการวินิจฉัยและการรักษายากยิ่งขึ้นเพราะว่าคนสูงวัยมักจะทานยาเพื่อโรคอื่น ๆ และมักจะมีโรคที่เป็นไปด้วยกัน[330]การรักษาแตกต่างก็เพราะว่า งานศึกษาแสดงว่า ยาประเภท SSRI มีผลน้อยกว่า และบางครั้งไม่เพียงพอที่จะช่วยคนชรา ในขณะที่ยาอื่นที่มีผลชัดเจนกว่ามีผลข้างเคียงแบบไม่พึงประสงค์ที่คนชรารับไม่ได้[330]เช่น Duloxetine เป็นยาแบบ SNRI (Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor) ที่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิผลต่อความซึมเศร้าที่เกิดซ้ำ ๆ ในคนชรา แต่มีผลที่ไม่ต้องการคืออาการเวียนศีรษะ ปากแห้ง ท้องร่วง และท้องผูก[330]

การบำบัดโดยให้แก้ปัญหา (Problem solving therapy) เป็นจิตบำบัดวิธีเดียวโดยปี 2558 ที่แสดงหลักฐานว่ามีผล และเทียบได้ว่าเป็น CBT ในรูปแบบที่ง่ายกว่า[330]แต่ว่า คนชรามักไม่ได้การรักษาทางจิต และหลักฐานว่าวิธีการอื่น ๆ ได้ผลก็ไม่สมบูรณ์[330]มีการใช้การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) รักษาคนชรา แต่งานศึกษาเสนอว่า มีผลแต่น้อยกว่าผู้ใหญ่กลุ่มอื่น[330]

ความเสี่ยงในการบำบัดความซึมเศร้าเทียบกับประโยชน์ที่ได้ในคนชราไม่ชัดเจน[330]ในขณะที่ยังรอหลักฐานว่าการบำบัดวิธีเช่นไรจะดีที่สุด เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามผลการรักษา และพิจารณาเปลี่ยนวิธีถ้าวิธีเก่าไม่ได้ผล[330]

เชิงอรรถและอ้างอิง

งานอ้างอิงอื่น ๆ

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง