ดานีอิล เมดเวเดฟ

นักเทนนิสชาวรัสเซีย

ดานีอิล เซียร์เกเยวิช เมดเวเดฟ (รัสเซีย: Дании́л Серге́евич Медве́дев, อักษรโรมัน: Daniíl Sergéyevich Medvédev;[3] เกิด: 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996) เป็นนักเทนนิสอาชีพชายชาวรัสเซีย มือวางอันดับ 4 ของโลกคนปัจจุบัน เขาชนะเลิศการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวของเอทีพี ทัวร์ 20 รายการ รวมถึงการชนะเลิศรายการแกรนด์สแลม 1 สมัยในยูเอสโอเพน 2021 และเคยชนะเลิศรายการเอทีพี ไฟนอล[a] ซึ่งเขาเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเลิศรายการดังกล่าวโดยเอาชนะมือวางอันดับ 1–3 ของโลกครบทุกคน เมดเวเดฟเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 6 ครั้ง และชนะเลิศเอทีพี มาสเตอร์ 1000 อีก 6 สมัย โดยเขาเป็นผู้เล่นคนที่ 6 ที่คว้าแชมป์รายการมาสเตอร์ 1000 ได้ใน 6 เมืองที่แตกต่างกัน ในปัจจุบันเขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เก่งที่สุดในการเล่นบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต)[4]

ดานีอิล เมดเวเดฟ
เมดเวเดฟในการแข่งขันที่มงเต-การ์โล ค.ศ. 2023
ชื่อเต็มดานีอิล เซียร์เกเยวิช เมดเวเดฟ
ชื่อจริงДании́л Серге́евич Медве́дев
ประเทศ (กีฬา)ธงของประเทศรัสเซีย รัสเซีย
ถิ่นพำนักมงเต-การ์โล ประเทศโมนาโก
วันเกิด (1996-02-11) 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 (28 ปี)[1]
มอสโก ประเทศรัสเซีย
ส่วนสูง1.98 m (6 ft 6 in)
เทิร์นโปร2014
การเล่นมือขวา (แบ็กแฮนด์สองมือ)
ผู้ฝึกสอนกิลเลส เซอวารา
เงินรางวัลUS$38,148,405 [2]
  •  8th all-time leader in earnings
เดี่ยว
สถิติอาชีพ339–137 (71.2%)
รายการอาชีพที่ชนะ20
อันดับสูงสุดNo. 1 (28 กุมภาพันธ์ 2022)
อันดับปัจจุบันNo. 3 (11 กันยายน 2023)
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว
ออสเตรเลียนโอเพนรองชนะเลิศ (2021, 2022, 2024)
เฟรนช์โอเพนรอบก่อนรองชนะเลิศ (2021)
วิมเบิลดันรอบรองชนะเลิศ (2021)
ยูเอสโอเพนชนะเลิศ (2021)
การแข่งขันอื่น ๆ
Tour Finalsชนะเลิศ (2020)
Olympic Gamesรอบก่อนรองชนะเลิศ (2020)
คู่
สถิติอาชีพ13–20 (39.4%)
รายการอาชีพที่ชนะ0
อันดับสูงสุดNo. 170 (19 สิงหาคม 2019)
อันดับปัจจุบันNo. 280 (20 ธันวาคม 2021)
ผลแกรนด์สแลมคู่
เฟรนช์โอเพนรอบแรก (2017)
ยูเอสโอเพนรอบสอง (2017)
การแข่งขันคู่อื่น ๆ
Olympic Gamesรอบแรก (2020)
การแข่งขันแบบทีม
Davis Cupชนะเลิศ (2021)
อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 29 มกราคม 2024

เมดเวเดฟลงแข่งขันในระดับ เอทีพี ทัวร์ ครั้งแรกในการแข่งขันประเภทคู่ใน เครมลิน คัพ ที่รัสเซียใน ค.ศ. 2015 และชนะเลิศการแข่งขันชายเดี่ยวครั้งแรกใน ริโคห์ โอเพน ที่เนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 2016 ก่อนจะลงเล่นในระดับแกรนด์สแลมครั้งแรกในวิมเบิลดัน ค.ศ. 2017 ซึ่งเขาสร้างชื่อได้ด้วยการเอาชนะผู้เล่นมือวางอันดับ 3 ของโลกในขณะนั้นอย่าง สตาน วาวรีงกา ต่อมาใน ค.ศ. 2019 เขาขึ้นสู่มือวาง 10 อันดับแรกของโลกและเข้าชิงชนะเลิศ 6 รายการติดต่อกัน รวมถึงเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน ก่อนจะชนะเลิศการแข่งขันรายการใหญ่ครั้งแรกใน เอทีพี ไฟนอล ค.ศ. 2020 ตามด้วยแชมป์ยูเอสโอเพนใน ค.ศ. 2021 ซึ่งเขาเอาชนะมือวางอันดับ 1 ของโลกอย่าง นอวาก จอกอวิช[5] เมดเวเดฟขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ส่งผลให้เขาเป็นผู้เล่นคนแรกในรอบ 18 ปี ที่ไม่ใช่ผู้เล่นในกลุ่ม "Big 4"[b] (โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, ราฟาเอล นาดัล, จอกอวิช และ แอนดี มาร์รี) ที่ได้เป็นมือวางอันดับ 1 และเป็นผู้เล่นชายชาวรัสเซียคนที่สามในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นมือวางอันดับ 1[6] จุดเด่นของเขาคือการเล่นเกมรับบริเวณท้ายคอร์ตอย่างเหนียวแน่นซึ่งเป็นการกดดันให้คู่ต่อสู้ตีพลาดเอง[7] และยังเคลื่อนที่ได้อย่างว่องไว รวมทั้งรับเก่งในการรับลูกเสริ์ฟและการอ่านทางบอลคู่แข่ง[8]

ชีวิตส่วนตัว

ดานีอิล เซียร์เกเยวิช เมดเวเดฟ เกิดที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย บิดาของเขา (เซียร์เก เมดเวเดฟ) เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ และยังประกอบธุรกิจส่วนตัวในการออกแบบวัสดุก่อสร้าง[9] และมารดาของเขาชื่อว่า โอลกา เมดเวเดฟ เมดเวเดฟยังมีพี่สาวอีกสองคนคือ จูเลีย และ เอเลนา จุดเริ่มต้นในการเล่นเทนนิสของเมดเวเดฟนั้นเกิดขึ้นเมื่อตอนเขาอายุ 6 ปี โดยมารดาของเขาสังเกตเห็นป้ายโฆษณาฝึกสอนเทนนิส ซึ่งติดประกาศอยู่ในสระว่ายน้ำที่เมดเวเดฟกำลังเรียนว่ายน้ำอยู่ และบิดาของเขาก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ผู้ฝึกสอนเทนนิสคนแรกของเขาคือ เอคาเทรินา ครูชโควา[10] ในวัยเด็กเขายังชื่นชอบการเล่นฮาร์ปซิคอร์ด และเปียโน[11][12]

เมดเวเดฟสำเร็จการศึกษาสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์จากโรงเรียนมัธยม ก่อนจะลงทะเบียนในสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมอสโก (Moscow State Institute of International Relations) แต่ได้ลาออกเพื่อหันมาจริงจังในการเล่นเทนนิสอาชีพ[13] เขายังได้รับประกาศนียบัตรในฐานะผู้ฝึกสอนเทนนิสจาก มหาวิทยาลัยพลศึกษาและการท่องเที่ยวแห่งรัสเซีย[14] ต่อมา ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนเทนนิสที่นั่น[15] และทั้งบิดาและมารดาของเขาได้ตัดสินใจใช้ชีวิตหลังเกษียณที่นั่นอย่างถาวร[16] และจากการมีโอกาสได้ใช้ชีวิตและเดินทางในหลายประเทศตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว นอกเหนือจากภาษาแม่ของเขาอย่างภาษารัสเซีย

ปัจจุบันเมดเวเดฟแต่งงานแล้ว[17] ภรรยาของเขาคือ ดาเรีย ซึ่งเป็นอดีตนักเทนนิสระดับเยาวชน และใน ค.ศ. 2019 เขากล่าวว่าการแต่งงานช่วยพัฒนาฟอร์มการเล่นของเขาอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวว่า "ก่อนที่ผมจะแต่งงาน ผมยังเป็นผู้เล่นอันดับ 65 ของโลก แต่ในช่วงเวลาเพียง 10 เดือนหลังจากแต่งงาน ผมชนะการแข่งขันรายการใหญ่ถึงสองรายการ เราทั้งสองได้ร่วมกันสร้างชีวิตใหม่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผมได้รับเงินมาแล้วมากมาย และภรรยาของผมช่วยให้ผมได้รับมากยิ่งขึ้น"[18] เมดเวเดฟยังกล่าวหลังจบยูเอสโอเพน 2021 ว่า "วันนี้เป็นวันครบรอบแต่งงานของผม และผมไม่มีเวลาจะหาของขวัญให้เธอ ผมจึงต้องคว้าแชมป์ในวันนี้เพื่อเป็นของขวัญ"[19]

เมดเวเดฟถูกจัดอยู่ในประเภทบุคคลที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้เขาไม่ต้องรับราชการทหาร เนื่องจากเขาเกิดมาโดยคลอดก่อนกำหนด และเช่นเดียวกับนักเทนนินชาวรัสเซียคนอื่น ๆ เมดเวเดฟเคยมีความคิดที่จะเปลี่ยนสัญชาติเพื่อไปเล่นให้กับประเทศคาซัคสถาน เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเทนนิสรัสเซียเซียเท่าที่ควร[20][21]

ผู้เล่นเยาวชน

เมดเวเดฟลงแข่งขันในรายการระดับเยาวชน (จูเนียร์) ครั้งแรกใน ค.ศ. 2009 ในวัย 13 ปี โดยลงแข่งขันรายการระดับล่าง (เกรด 4) ที่ประเทศเอสโตเนีย และเขาคว้าแชมป์ระดับเยาวชนได้ตั้งแต่การแข่งขันรายการที่ 3 เขาประสบความสำเร็จในระดับเยวชนต่อเนื่องโดยคว้าแชมป์ได้ถึง 6 รายการระหว่าง ค.ศ. 2012–13 และได้ลงแข่งขันระดับแกรนด์สแลมเยาวชนครั้งแรกในรายการวิมเบิลดัน 2013 ซึ่งเข้าถึงรอบที่สอง ตามด้วยการเข้ารอบสามในยูเอสโอเพน เมดเวเดฟทำอันดับในระดับเยาวชนสูงสุดคืออันดับ 8 ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนเยาวชน 2014 เขามีสถิติการแข่งขันในฐานะนักเทนนิสเยาวชนคือ ชนะ 109 นัด และแพ้เพียง 43 นัด เขายังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในการแข่งขันกับนักเทนนิสชื่อดังในปัจจุบัน อย่าง อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ

ผู้เล่นอาชีพ

2015–16: ช่วงแรก

เมดเวเดฟในการแข่งขันที่ นิส ประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาเริ่มเล่นอาชีพ

เมดเวเดฟเริ่มต้นอาชีพโดยลงแข่งขันประเภทคู่ในรายการ เครมลิน คัพ จับคู่กับเพื่อนร่วมชาติอย่าง อัสลัน คารัตเซฟ และตกรอบที่สอง ก่อนจะลงแข่งขันในประเภทชายเดี่ยวในระดับเอทีพี ทัวร์ ครั้งแรก ที่นิส ประเทศฝรั่งเศสใน ค.ศ. 2016 และแพ้ กุยโด เปลลา 1–2 เซต สามสัปดาห์ต่อมา เขาคว้าชัยชนะในการแข่งขันทางการได้เป็นครั้งแรกในรายการ ริโคห์ โอเพน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เอาชนะ โอราซิโอ เซบายอส แต่เขาถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันในรายการต่อมาที่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เนื่องจากใช้วาจาดูหมิ่นผู้ตัดสิน[22][23]

2017: เข้าชิงชนะเลิศรายการแรก

ในเดือนมกราคม เมดเวเดฟเข้าชิงชนะเลิศในการแข่งขันทางการครั้งแรก เมื่อเขาแพ้ต่อ โรแบร์โต เบาติสตา อากุส จากสเปนในการแข่งขัน เจนไน โอเพน ที่อินเดีย ส่งผลให้เขาทำอันดับขึ้นมาจากอันดับ 99 มาอยู่ในอันดับ 65 ในขณะนั้น และยังคงทำผลงานได้ดีโดยเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายอีกสองรายการถัดมาที่ โอเพน ซุด เดอ ฟรองซ์ ที่มงเปอลีเย และ โอเพน 13 ที่มาร์แซย์ แพ้นักเทนนิสเจ้าถิ่นไปทั้งสองรายการ (โจ-วิลฟรีด ซองกา และ ลูกา พูยล์ ตามลำดับ) และยังเข้ารอบ 8 คนสุดท้าย ริโคห์ โอเพน โดยเอาชนะผู้เล่นมือวางอันดับ 6 ของรายการอย่าง โรบิน ฮาส ได้ก่อนจะแพ้ อิโว คาร์โลวิช และเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายในการแข่งขันเอทีพี 500 เป็นครั้งแรกในรายการ ควีนส์ คลับ แชมเปียนชิพส์ กรุงลอนดอน แต่แพ้ผู้เล่นชื่อดังอย่าง กริกอร์ ดิมิตรอฟ ตามด้วยการเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ อีสต์บอร์น อินเตอร์เนชันแนล และแพ้ นอวาก จอกอวิช

เมดเวเดฟลงเล่นในระดับแกรนด์สแลมครั้งแรกในรายการวิมเบิลดัน และเอาชนะมือวางอันดับ 3 ของโลกอย่าง สตาน วาวรีงกา ได้ในรอบแรก 3–1 เซต ถือเป็นชัยชนะที่สำคัญที่สุดที่เขาทำได้ตั้งแต่เล่นอาชีพ[24] แต่เขาเข้าไปแพ้ รูเบน เบเมลม็องส์ ในรอบที่สอง[25] และเขาถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 14,500 ดอลลาร์สหรัฐ จากการใช้วาจาดูหมิ่นผู้ตัดสิน และขว้างเหรียญใส่บริเวณใต้เก้าอี้ผู้ตัดสิน[26]

2018: แชมป์รายการแรก

เมดเวเดฟใน ค.ศ. 2018

เมดเวเดฟลงแข่งขัน ซิดนีย์อินเตอร์แนชันแนล ที่ออสเตรเลีย และคว้าแชมป์ระดับทางการได้เป็นรายการแรกในชีวิต เอาชนะ นักเทนนิสเจ้าถิ่นอย่าง อเล็กซ์ เด มินออร์ ซึ่งเป็นนัดชิงชนะเลิศในการแข่งขันเอทีพีที่ประกอบไปด้วยคู่ชิงชนะเลิศที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่ ราฟาเอล นาดัล (20 ปี) เอาชนะ นอวาก จอกอวิช (19 ปี) ในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียน เวลส์ สหรัฐ ใน ค.ศ. 2007 และเป็นคู่ชิงชนะเลิศที่อายุน้อยที่สุดของรายการนับตั้งแต่ ค.ศ. 1989[27] และเขาคว้าแชมป์รายการที่สองในอาชีพในการแข่งขัน วินสตัน-ซาเล็ม โอเพน ที่สหรัฐ เอาชนะ สตีฟ จอห์นสัน ตามด้วยแชมป์รายการที่สามที่กรุงโตเกียว ซึ่งถือเป็นแชมป์ระดับเอทีพี 500 ถ้วยแรกในอาชีพของเขา และเอาชนะผู้เล่นชื่อดังเจ้าถิ่นซึ่งเป็นมือวางอันดับ 3 อย่าง เค นิชิโคริ ทำให้เขาขยับขึ้นไปสู่อันดับ 22 ของโลก และเป็นมือวางอันดับ 1 ในบรรดานักเทนนิสรัสเซียในขณะนั้น และยังเป็นการคว้าแชมป์สามรายการโดยที่เอาชนะผู้เล่นเจ้าถิ่นได้ทั้งสามรายการ เมดเวเดฟยังเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เครมลิน คัพ ก่อนจะแพ้เพื่อนร่วมชาติอย่าง คาเรน คาชานอฟ ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันครั้งนั้น หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เขาเข้ารอบรองชนะเลิศ สวิส อินดอร์ โอเพน ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะแพ้ยอดผู้เล่นอย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ แต่อันดับโลกของเขายังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นสู่อันดับ 16

เขาปิดฤดูกาลด้วยการเป็นผู้เล่นที่คว้าชัยชนะบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นสนามคอนกรีต) มากที่สุดในฤดูกาล 2018 จำนวน 38 นัด มากกว่าผู้เล่นคนอื่น รวมทั้งเป็นหนึ่งในสี่ผู้เล่นที่คว้าแชมป์รายการแข่งขันบนฮาร์ดคอร์ตได้มากที่สุดประจำฤดูกาลที่ 3 รายการ เท่ากับเฟเดอเรอร์, จอกอวิช และคาชานอฟ[28]

2019: เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม, แชมป์มาสเตอร์ 2 รายการ และเข้าชิงชนะเลิศ 6 รายการติดต่อกัน

เมดเวเดฟยังรักษาผลงานได้ดีต่อเนื่อง เขาเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศที่ บริสเบน อินเตอร์เนชันแนล โดยเอาชนะผู้เล่นชื่อดังอย่าง แอนดี มาร์รี, มิลอช ราวนิช และโจ-วิลฟรีด ซองกา ได้ แต่ไปแพ้ เค นิชิโคริ ในรอบชิงชนะเลิศ[29] และเขาลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนในฐานะมือวางอันดับ 16 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาได้รับการจัดอันดับเป็นผู้เล่นมือวางในรายการแกรนด์สแลม ก่อนจะแพ้แชมป์ในครั้งนั้นอย่างจอกอวิชไป 1–3 เซต[30] แต่ยังคว้าแชมป์รายการที่ 4 ในอาชีพได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ในการแข่งขัน โซเฟีย โอเพน ที่โซเฟีย เอาชนะ มาร์ตอน ฟูโชวิช สองเซตรวด[31] แต่ไปตกรอบรองชนะเลิศที่รอตเทอร์ดาม แพ้นักเทนนิสจากฝรั่งเศส กาแอล มงฟิล์ส

เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน เมดเวเดฟลงแข่งขันรายการระดับ มาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โล ก่อนหน้านั้นเขาคว้าชัยชนะได้เพียง 2 จาก 13 นัดแรกในการแข่งขันบนคอร์ตดินในอาชีพ ทว่าเขาทำผลงานได้ดีขึ้น โดยเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ (8 คนสุดท้าย) รายการมาสเตอร์ได้เป็นครั้งแรกที่นี่ รวมถึงการเอาชนะคู่ปรับอย่าง สเตฟาโนส ซิตซีปัส ชาวกรีกในรอบที่ 3[32] และยังเอาชนะมือวางอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งก็คือ นอวาก จอกอวิช ในรอบต่อมา เป็นครั้งแรกในอาชีพที่เขาชนะผู้เล่นอันดับหนึ่งของโลกได้ แต่เขาก็ต้องยุติเส้นทางไว้ที่รอบรองชนะเลิศโดยแพ้ ดูซาน ลายอวิช[33] และเข้าชิงชนะเลิศรายการคอร์ตดินได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันที่บาร์เซโลนา และจากการที่เขาเอาชนะ เค นิชิโคริได้ ทำให้เขาเอาชนะผู้เล่น 10 อันดับแรกของโลกได้สามครั้งติดต่อกันเป็นครั้งแรก[34] แต่เขาแพ้ ด็อมมินิค ทีม ผู้เล่นชื่อดังชาวออสเตรีย ในรอบชิงชนะเลิศ[35] ก่อนที่ผลงานของเขาจะตกลง โดยแพ้การแข่งขัน 5 รายการรวด รวมถึงการตกรอบแรกแกรนด์สแลม เฟรนช์โอเพน แต่กลับมาคืนฟอร์มเก่งได้ในการแข่งขันคอร์ตหญ้าที่ ควีนส์ คลับ แชมเปียนชิพส์ โดยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ และขึ้นสู่มือวาง 10 อันแรกของโลกเป็นครั้งแรกหลังจากผ่านเข้ารอบที่สามในวิมเบิลดัน

เมดเวเดฟทำผลงานได้ดีที่สุดในอาชีพในขณะนั้น เมื่อเข้าสู่การแข่งขันรายการฮาร์ดคอร์ตหลายรายการที่สหรัฐและแคนาดา โดยเข้าชิงชนะเลิศได้ 4 รายการต่อเนื่อง (วอชิงตัน ดี.ซี., มอนทรีออล, ซินซินแนติ และแกรนด์สแลมยูเอสโอเพนที่นิวยอร์ก) ถือเป็นผู้เล่นคนที่สามในประวัติศาสตร์ที่ทำได้ (ต่อจากสองนักเทนนิสตำนาน อิวาน เลนเดิล และ อานเดร แอกัสซี) เขาแพ้ นิค เคียร์อีออส ในรอบชิงที่วอชิงตัน ตามด้วยการแพ้ ราฟาเอล นาดัล ในรอบชิงที่มอนทรีออล ซึ่งเป็นการเข้าชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ครั้งแรก โดยสามารถเอาชนะผู้เล่นที่อันดับดีกว่าเขาอย่าง ด็อมมินิค ทีม ได้ในรายการนั้น และคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการแรกในอาชีพได้ที่ซินซินแนติ รัฐโอไฮโอ เอาชนะจอกอวิชได้เป็นครั้งที่สอง และเอาชนะ ดาวิด กอฟแฟง ในรอบชิงชนะเลิศ[36]

เมดเวเดฟลงแข่งขันยูเอสโพนในฐานะมือวางอันดับ 5 และได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้เล่นที่ขึ้นมาท้าชิงความสำเร็จจาก เฟเดอเรอร์, นาดัล และจอกอวิชได้อย่างเต็มตัว[37] เขาเอาชนะ อูโก เดยิเอน ในรอบที่สอง 3–1 เซต[38] ตามด้วยการชนะ เฟลิเซียโน โลเปซ ในรอบที่สาม ซึ่งเขาถูกปรับเงินจำนวน 9,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการมีปากเสียงกับผู้ตัดสิน และกระทบกระทั่งกับผู้ชมในสนาม โดยเขาได้แสดงท่าทีเยาะเย้ยกลุ่มคนดูที่โห่ใส่เขา[39][40] ในรอบที่ 4 เขาเอาชนะ ด็อมมินิค เคิพเฟอร์ ตามด้วยการชนะ สตาน วาวรีงกา ในรอบก่อนรองชนะเลิศ 3–1 เซต เป็นผู้เล่นชายชาวรัสเซียคนแรกในรอบกว่า 9 ปีที่เข้ารอบรองชนะเลิศระดับแกรนด์สแลม ต่อจาก มิคาอิล ยูชนี ใน ค.ศ. 2010 (ซึ่งยูชนีก็เอาชนะวาวรีงกาในรอบเดียวกันของรายการนี้เช่นกัน)[41] และจากชัยชนะดังกล่าวทำให้เมดเวเดฟได้สิทธิ์ลงแข่งขันรายการ เอทีพี ไฟนอล เป็นครั้งแรกในปีนี้[42] เขาเอาชนะ กริกอร์ ดีมีตรอฟ ในรอบรองชนะเลิศสามเซตรวด ผ่านเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรก แต่แพ้นาดัลไปอย่างสนุก 2–3 เซต (5–7, 3–6, 7–5, 6–4, 4–6)[43]

ต่อมาในการแข่งขัน เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก โอเพน เมดเวเดฟเป็นผู้เล่นรัสเซียคนแรกในรอบ 15 ปีที่คว้าแชมป์ได้ เขาเอาชนะ บอร์นา โชริช ในรอบชิงชนะเลิศ[44][45] ตามด้วยการคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการที่สองที่เซี่ยงไฮ้ เอาชนะ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบชิงชนะเลิศ[46] ทำสถิติเป็นผู้เล่นคนที่ 7 นับตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ที่เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวของ เอทีพี ได้อย่างน้อย 9 ครั้งภายในฤดูกาลเดียว[47][48] เขาถอนตัวจากการแข่งขันที่มอสโก และเวียนนา[49][50] และปิดท้ายฤดูกาลด้วยการตกรอบแบ่งกลุ่ม เอทีพี ไฟนอล ที่ลอนดอน โดยแพ้รวดทั้งสามนัดที่พบกับนาดัล, ซเฟเร็ฟ และซิตซีปัส

2020: แชมป์ เอทีพี ไฟนอล และแชมป์มาสเตอร์ 1000 ใบที่ 3

เมดเวเดฟในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน ค.ศ. 2020

เมดเวเดฟนำทีมชาติรัสเซียลงแข่งขัน เอทีพี คัพ ซึ่งจัดการแข่งขันขึ้นเป็นปีแรก และผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะแพ้ทีมเซอร์เบีย ซึ่งเมดเวเดฟแพ้จอกอวิชในการแข่งขันประเภทเดี่ยว[51] ตามด้วยการตกรอบที่ 4 ในออสเตรเลียนโอเพน โดยแพ้ สตาน วาวรีงกา 2–3 เซต และตกรอบแรกในการแข่งขันที่ รอตเทอร์ดาม และ มาร์แซย์

ภายหลังจากการแข่งขันทุกรายการหยุดพักไป 6 เดือนจากการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนา เมดเวเดฟไม่สามารถป้องกันแชมป์มาสเตอร์ที่ซินซินแนติได้ โดยแพ้ โรแบร์โต เบาติสตา อากุต ในรอบ 8 คนสุดท้าย และตกรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพนโดยแพ้ ด็อมมินิค ทีม แม้ก่อนหน้านั้นเขาจะชนะคู่แข่งโดยไม่เสียเซตเลยตลอดการแข่งขัน[52] และเขาตกรอบแรกเฟรนช์โอเพนเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และไม่สามารถคว้าแชมป์ที่ เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก และเวียนนาได้ ก่อนจะกลับมาคืนฟอร์มด้วยการคว้าแชมป์มาสเตอร์ที่ปารีส[53][54] และคว้าแชมป์ เอทีพี ไฟนอล รายการสุดท้ายของปีได้เป็นครั้งแรก โดยไม่แพ้ใครเลยตลอดการแข่งขันทั้ง 5 นัด และเอาชนะผู้เล่นอย่าง ซเฟเร็ฟ และ จอกอวิชได้ ปิดท้ายด้วยการชนะ ด็อมมินิค ทีม ในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 เซต ถือเป็นผู้เล่นคนเดียวในประวัติศาสตร์รายการที่คว้าแชมป์ได้โดยเอาชนะผู้เล่นอันดับ 1–3 ของโลกได้ครบทุกคน[55][56]

2021: ฤดูกาลที่ดีที่สุด

เมดเวเดฟพาทีมรัสเซียคว้าแชมป์ เอทีพี คัพ สมัยแรก โดยเขาเอาชนะในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวได้ทั้ง 4 นัด รวมถึงเอาชนะ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ และ ผู้เล่นชื่อดังของอิตาลีอย่าง มัตเตโอ แบร์เรตตีนี ทำสถิติชนะรวด 14 นัดติดต่อกันรวมทุกรายการ[57] ตามด้วยการเข้ารอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมเป็นครั้งที่สอง แต่แพ้ จอกอวิช ในออสเตรเลียนโอเพนขาดลอยสามเซต[58] ก่อนจะแก้ตัวได้ด้วยแชมป์ที่มาร์แซย์[59] และขึ้นสู่มือวางอันดับ 2 ของโลก ถือเป็นผู้เล่นคนแรกที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Big 4 ที่ขึ้นสู่อันดับสองสำเร็จ นับจาก เลย์ตัน ฮิววิตต์ ทำได้ใน ค.ศ. 2005[60] ก่อนจะต้องถอนตัวจากรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ มงเต-การ์โล เนื่องจากติดไวรัสโคโรนา[61] และเขาทำผลงานในแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนได้ดีขึ้นในปีนี้ ผ่านเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายก่อนจะแพ้ซิตซีปัส และถือเป็นครั้งแรกที่เขาสามารถผ่านรอบแรกในรายการนี้ได้

เมดเวเดฟคว้าแชมป์คอร์ตหญ้ารายการแรกได้ที่ มาจอร์กา แต่เขาตกรอบ 4 ในวิมเบิลดัน โดยแพ้ ฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์ จากโปแลนด์ ซึ่งต้องเลื่อนการแข่งขันในเซตตัดสินไปแข่งขันในวันรุ่งขึ้นเนื่องจากฝนตก[62] เขาลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่โตเกียวทั้งในประเภทเดี่ยวและคู่ จับคู่กับ อัสลัน คารัตเซฟ แต่ตกรอบแรก และตกรอบ 8 คนสุดท้ายในประเภทชายเดี่ยว[63] ก่อนจะกลับมาคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่แคนาดา เอาชนะ ไรล์ลี โอเพลกา[64] แต่เขาตกรอบรองชนะเลิศที่ซินซินแนติ แพ้เพื่อนร่วมชาติอย่าง อันเดรย์ รูเบลฟ โดยเขามีอาการบาดเจ็บที่ข้อมือซ้าย[65]

เมดเวเดฟคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการแรกในอาชีพ โดยเอาชนะมือวางอันดับหนึ่งของโลกอย่างจอกอวิชในยูเอสโอเพนสามเซตรวด (6–4, 6–4, 6–4) เขาเป็นหนึ่งในสองผู้เล่น (ร่วมกับ สตาน วาวรีงกา) ที่ขัดขวางจอกอวิชในการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการภายในฤดูกาลเดียวกันได้ (วาวรีงกา เอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศเฟรนช์โอเพน 2015) ต่อมา เขาลงแข่งขันรายการ เลเวอร์ คัพ[c] ในนามทีมรวมดาราของทวีปยุโรป และทีมยุโรปสามารถป้องกันแชมป์ได้ เอาชนะทีมรวมดาราโลกขาดลอยด้วยผลคะแนน 14–1 แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จในรายการมาสเตอร์ 1000 สองรายการถัดมาที่อินเดียน เวลส์ (แพ้ กริกอร์ ดิมิตรอฟ ในรอบ 4)[66] และปารีส (แพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศ)[67]

เขาลงแข่งขัน เอทีพี ไฟนอล ในฐานะแชมป์เก่า แต่ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ แพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบชิงชนะเลิศ สองเซตรวด (4–6, 4–6) แม้จะเอาชนะได้ 4 นัดรวด (3 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม และ 1 นัดในรอบรองชนะเลิศ)[68] ก่อนจะปิดท้ายฤดูกาลด้วยการพาทีมรัสเซียลงแข่งขันรายการ เดวิส คัพ[d] และรัสเซียสามารถคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 3 โดยเมดเวเดฟเอาชนะในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวได้ทั้ง 5 นัด[69]

2022: รองแชมป์แกรนด์สแลมครั้งที่สาม และขึ้นสู่มือวางอันดับ 1

เมดเวเดฟลงแข่งขัน เอทีพี คัพ ในเดือนมกราคม[70] แต่ทีมรัสเซียไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยแพ้แคนาดาในรอบรองชนะเลิศ 1–2 คู่ แม้เมดเวเดฟจะเอาชนะในประเภทชายเดี่ยวได้[71] ต่อมา เขาลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน และผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศเป็นปีที่สองติดต่อกัน แต่แพ้นาดัลไป 2–3 เซต ทั้งที่เอาชนะไปได้ก่อนในสองเซตแรก (6–2, 7–6(7–5), 4–6, 4–6, 5–7) เขาขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ภายหลังจากจอกอวิชตกรอบในการแข่งขันที่ดูไบ ส่งผลให้เมดเวเดฟเป็นผู้เล่นคนแรกในรอบ 18 ปีที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้เล่น Big 4 ที่ได้เป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก และถือเป็นผู้เล่นชายชาวรัสเซียคนแรกในรอบกว่า 20 ปีต่อจาก มารัต ซาฟิน ที่เป็นมือวางอันดับ 1 แม้ว่าเขาจะตกรอบรองชนะเลิศที่อากาปุลโก เม็กซิโก โดยแพ้นาดัลไปอีกครั้ง[72]

อย่างไรก็ตาม เขาก็ครองตำแหน่งอันดับ 1 ได้เพียงสามสัปดาห์ ก่อนจะเสียตำแหน่งกลับไปให้แก่จอกอวิชอีกครั้งในปลายเดือนมีนาคม ภายหลังจากตกรอบที่สามในรายการมาสเตอร์ที่อินเดียนเวลส์ โดยแพ้ กาแอล มงฟิล์ส[73] ตามด้วยการตกรอบก่อนรองชนะเลิศมาสเตอร์ทีไมแอมี โดยแพ้แชมป์เก่าอย่าง ฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์ สองเซตรวด[74] ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน เมดเวเดฟต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการไส้เลื่อน[75] และในวันที่ 20 เมษายน ฝ่ายจัดการแข่งขันวิมเบิล ประเทศอังกฤษ ได้ออกประกาศแบนผู้เล่นจากรัสเซียและเบลารุส สืบเนื่องจากเหตุการณ์การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้เมดเวเดฟจะหมดสิทธิ์ลงแข่งขันในปีนี้[76]

เมดเวเดฟกลับมาลงแข่งขันรายการเอทีพี 250 คอร์ตดินที่กรุงเจนีวาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม[77] แต่ก็ตกรอบแรกโดยแพ้ รีชาร์ กัสกุแอ[78] ตามด้วยลงแข่งขันแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน และตกรอบที่ 4 โดยแพ้ มาริน ซิลิช สามเซตรวด[79] แต่เขาก็กลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ได้อีกครั้งในวันที่ 13 มิถุนายน หลังจากที่จอกอวิชไม่สามารถป้องกันแชมป์เฟรนช์โอเพนไว้ได้ ต่อมาเข้าสู่การแข่งขันคอร์ตหญ้า เขาลงแข่งขันรายการเอทีพี 250 ที่เซร์โทเคนบอส เนเธอร์แลนด์ และผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศโดยไม่เสียเซตตลอดการแข่งขัน แต่ไปแพ้มือวางอันดับ 205 อย่าง ทิม ฟัน ไรโทเฟิน นักเทนนิสเจ้าถิ่นอย่างเหนือความคาดหมาย[80] ตามด้วยการลงแข่งขันรายการเอทีพี 500 ที่ฮัลเล เยอรมนี ซึ่งเขาผ่านเข้าชิงชนะเลิศโดยไม่เสียเซตอีกเช่นกัน[81] แต่ก็แพ้ ฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์ สองเซตรวด[82] และตกรอบก่อนรองชนะเลิศที่มาจอร์กา โดยแพ้ โรแบร์โต เบาติสตา อากุส

เมดเวเดฟเริ่มต้นการแข่งขันในฮาร์ดคอร์ตช่วงท้ายฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์เอทีพี 250 ที่เม็กซิโก[83] และหลังจากการชนะในรอบแรก ส่งผลให้เขาทำสถิติชนะครบ 250 นัดในอาชีพ ถือเป็นผู้เล่นคนที่สองที่เกิดหลังปี 1994 ที่ทำสถิตินี้ได้[84] ก่อนจะคว้าแชมป์ได้ในที่สุด ต่อมา เขาตกรอบแรกรายการมาสเตอร์ 1000 ที่มอนทรีออล โดยแพ้ นิค คิริออส ตามด้วยการลงแข่งมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ และแพ้ซิตซีปัส 1–2 เซต และตกรอบที่ 4 ในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพนโดยแพ้คิริออสไปอีกครั้ง ส่งผลให้เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 หลังจบการแข่งขัน โดยเขาตกไปอยู่อันดับ 4 จากการจัดอันดับในวันที่ 12 กันยายน เขาลงแข่งขันรายการต่อมาคือ เอทีพี 250 ที่เมืองแม็ส ประเทศฝรั่งเศส และตกรอบแรกโดยแพ้สตาน วารีงกา 1–2 เซต[85] ต่อมาในเดือนตุลาคม เขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศเอทีพี 500 ที่อัสตานา ก่อนจะขอยอมแพ้จากอาการบาดเจ็บหลังจบเซตที่สองในระหว่างแข่งขันกับจอกอวิช[86] แต่เขาก็กลับมาคว้าแชมป์ใบที่ 15 ในอาชีพจากการชนะ เดนิส ชาโปวาลอฟ ในรายการเอทีพี 500 ที่เวียนนา[87] ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน เขาลงแข่งขันมาสเตอร์ที่ปารีส แต่ตกรอบแรกโดยแพ้ อเล็กซ์ เด มินออร์ 1–2 เซต[88] ปิดท้ายในรายการสุดท้ายที่ เอทีพี ไฟนอล เมืองตูริน โดยทำผลงานย่ำแย่จากการแพ้รวดสามนัดในรอบแบ่งกลุ่ม[89] เขาจบฤดูกาลด้วยการตกไปอยู่อันดับ 7 ของโลก

2023: แชมป์ 5 รายการ

เมดเวเดฟลงแข่งขันรายการแรกของปีในรายการเอทีพี 250 ที่แอดิเลด เขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศและแพ้จอกอวิชสองเซตรวด[90] ตามด้วยรายการแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนซึ่งเขาตกรอบที่สามอย่างเหนือความคาดหมายจากการแพ้เซบาสเตียน คอร์ดา นักเทนนิสอเมริกัน ส่งผลให้เขาหลุดจาก 10 อันดับแรกของโลก ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ เมดเวเดฟลงแข่งที่รอตเทอร์ดามในรายการเอทีพี 500 และคว้าแชมป์แรกของฤดูกาลด้วยการเอาชนะยานนิค ซินเนอร์ 2–1 เซต[91] และกลับสู่มือวาง 10 อันดับแรกของโลก ตามด้วยแชมป์รายการที่ 2 ที่โดฮา โดยเอาชนะแอนดี มาร์รี ในรอบชิงชนะเลิศ

เมดเวเดฟยังคงเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมต่อเนื่อง เขาคว้าแชมป์รายการที่สามในรายการที่ดูไบ เอาชนะเพื่อนร่วมชาติอย่าง อังเดรย์ รูเบลฟ[92] คว้าแชมป์เอทีพีรายการที่ 18 ในอาชีพ โดยเขายังทำสถิติที่น่าสนใจคือ 18 รายการที่เขาคว้าแชมป์ได้ตั้งแต่เริ่มเล่นอาชีพ มาจากการชนะการแข่งขันที่แตกต่างกันใน 18 เมือง[93] เขายังชนะเลิศการแข่งขันโดยไม่เสียเซตเลยตลอดทั้งรายการ และยังเอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศ ถือเป็นการหยุดสถิติชนะติดต่อกัน 20 นัดทุกรายการของจอกอวิชอีกด้วย จากผลงานที่ดีขึ้น ส่งผลให้เขาขึ้นสู่อันดับ 6 ของโลกในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2023 ต่อมา เมดเวเดฟลงแข่งขันในสองรายการสำคัญที่สหรัฐ คือ รายการมาสเตอร์ 1000 เขาเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศที่อินเดียน เวลส์ แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะแพ้การ์โลส อัลการัซ ดาวรุ่งชื่อดังจากสเปนสองเซตรวด[94] แต่เขาคว้าแชมป์รายการที่ 19 ได้ที่ไมแอมี โดยเอาชนะซินเนอร์ในรอบชิงชนะเลิศไปอีกครั้ง ถือเป็นแชมป์รายการที่ 19 ใน 19 เมืองที่แตกต่างกัน และเขายังกลับขึ้นสู่ 5 อันดับแรกของโลกในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2023[95]

เริ่มต้นในฤดูกาลคอร์ตดิน เมดเวเดฟลงแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่มงเต-การ์โล แต่เขาตกรอบ 8 คนสุดท้ายโดยแพ้ฮอลเกอร์ รูเนอ ดาวรุ่งชื่อดังจากเดนมาร์ก ยุติการเข้าชิงชนะเลิศห้ารายการติดต่อกันที่เขาทำได้ก่อนหน้านี้ ต่อมา เขาคว้าชัยชนะครบ 300 นัดในอาชีพ ในมาสเตอร์ที่กรุงมาดริด[96] แต่ก็ต้องตกรอบที่สามโดยแพ้เพื่อนร่วมชาติอย่างอัสลัน คารัตเซฟ ก่อนที่เขาจะเข้ารอบรองชนะเลิศรายการมาสเตอร์คอร์ตดินได้เป็นครั้งที่สองในอาชีพที่กรุงโรม และเอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่างซิทซีปัสในรอบรองชนะเลิศ ตามด้วยการแก้มือเอาชนะรูเนอในรอบชิงชนะเลิศ ทำสถิติต่อเนื่องในการคว้าแชมป์ 20 รายการจาก 20 เมืองที่แตกต่างกัน และกลับขึ้นสู่อันดับสองของโลกในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2023[97] อย่างไรก็ตาม เขาล้มเหลวในแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนอีกครั้ง โดยตกรอบแรกจากการแพ้นักเทนนิสบราซิลอย่าง เตียโก เซย์โบธ ไวลด์

เมดเวเดฟลงแข่งขันรายการคอร์ตหญ้าในแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน ณ กรุงลอนดอน และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศเป็นครั้งแรก ก่อนจะแพ้อัลการัซสามเซตรวด ตามด้วยการลงแข่งขันช่วงท้ายฤดูกาลในฮาร์ดคอร์ตที่แคนาดาและสหรัฐ เริ่มต้นด้วยรายการมาสเตอร์ 1000 ที่รัฐออนแทรีโอ แพ้ อเล็กซ์ เด มินออร์ จากออสเตรเลีย ตามด้วยการแพ้อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ในรอบที่ 4 รายการมาสเตอร์ที่ซินซินแนติ รัฐโอไฮโอ[98] เขาลงแข่งขันแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีในยูเอสโอเพนที่นิวยอร์กในฐานะมือวางอันดับสาม เอาชนะอัลการัซไปได้อย่างสนุกในรอบรองชนะเลิศ 3–1 เซต ผ่านเข้าชิงชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งที่ห้าแต่แพ้จอกอวิชสามเซตรวด โดยถือเป็นการพบกันอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศรายการนี้ เมดเวเดฟถือเป็นผู้เล่นคนที่สามในฤดูกาลนี้ที่ทำคะแนนสะสมเข้าไปเล่นรายการใหญ่อย่างเอทีพี ไฟนอล ในเดือนพฤศจิกายนที่ตูรินได้[99] เมดเวเดฟลงแข่งขันที่จีนสองรายการ เริ่มด้วยการเข้าชิงชนะเลิศไชนา โอเพน ที่ปักกิ่งแต่แพ้ซินเนอร์ในการเล่นไทเบรกทั้งสองเซต ตามด้วยการตกรอบที่สามรายการมาสเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้โดยแพ้คอร์ดาสองเซตรวด ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันที่จีน เขาเดินทางไปแข่งรายการเอทีพี 500 ที่กรุงเวียนนา และเข้าชิงชนะเลิศได้แต่แพ้ซินเนอร์สองเซตรวด ตามด้วยการตกรอบรายการมาสเตอรที่ปารีสโดยแพ้ดิมิตรอฟ 1–2 เซต เขาลงแข่งขันรายการสุดท้ายในเอทีพี ไฟนอล ที่ตูรินเดือนพฤศจิกายน และตกรอบรองชนะเลิศโดยแพ้ซินเนอร์ 1–2 เซต[100]

2024: รองแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนครั้งที่สาม

เมดเวเดฟลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน เขาเอาชนะเอมิล รูซูวูโอรีจากฟินแลนด์ในรอบที่สอง ซึ่งต้องแข่งกันถึงเซตตัดสินโดยการแข่งขันจบลงในเวลา 3 นาฬิกา 39 นาที ถือเป็นนัดที่แข่งจบช้าที่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์การแข่งขัน[101] ตามด้วยการเอาชนะเฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม และ นูโน บอร์เคส และตามด้วยการเอาชนะฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์ และ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ซึ่งต้องลงแข่งจนถึงเซตตัดสินในเซตที่ห้าทั้งสองนัด เขาเข้าชิงชนะเลิศรายการนี้เป็นครั้งที่สามไปพบกับจานนิค ซินเนอร์ แต่แพ้ไปในการแข่งขันห้าเซตแม้จะชนะไปก่อนในสองเซตแรก (6–3, 6–3, 4–6, 4–6, 3–6) คว้ารองแชมป์เป็นครั้งที่สาม โดยนี่ถือเป็นครั้งที่สองที่เขาแพ้ในรอบชิงชนะเลิศรายการนี้หลังจากขึ้นนำไปก่อน 2–0 เซต ครั้งแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2022 ซึ่งเขาแพ้นาดัล[102] เขากลายเป็นผู้เล่นคนเดียวในยุคโอเพนที่แพ้ในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมสองครั้ง หลังจากเอาชนะไปได้ก่อนในสองเซตแรก หลังจบการแข่งขัน เมดเวเดฟลงแข่งขันห้าเซตมากถึงสี่ครั้งในรายการนี้ และสร้างสถิติใหม่อีกสองรายการได้แก่ เป็นผู้เล่นที่ใช้เวลาแข่งขันในรายการแกรนด์สแลมมากที่สุดจำนวน 24 ชั่วโมง และ 17 นาที และลงแข่งขันด้วยจำนวนเซตที่มากที่สุดในแกรนด์สแลม 31 เซต[103]

เมดเวเดฟกลับมาลงแข่งขันที่ดูไบ และตกรอบรองชนะเลิศโดยแพ้ อูโก อัมแบร์ จากฝรั่งเศส และเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ที่อินเดียนเวลส์ แคลิฟอร์เนีย แต่แพ้แชมป์เก่าอย่างอัลการัซสองเซต ตามด้วยการตกรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ที่ไมแอมี ด้วยการแพ้แชมป์ในครั้งนี้อย่างซินเนอร์ (1–6, 2–6) เขาลงแข่งขันคอร์ตดินรายการแรกในมาสเตอร์ที่มงเต-การ์โลเดือนเมษายน

สถิติอาชีพ

แกรนด์สแลม

ชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 6 ครั้ง (แชมป์ 1 สมัย, รองชนะเลิศ 5 สมัย)

ผลลัพธ์ปีรายการพื้นสนามคู่แข่งผลการแข่งขัน
รองชนะเลิศ2019ยูเอสโอเพนคอนกรีต ราฟาเอล นาดัล5–7, 3–6, 7–5, 6–4, 4–6
รองชนะเลิศ2021ออสเตรเลียนโอเพนคอนกรีต นอวาก จอกอวิช5–7, 2–6, 2–6
ชนะเลิศ2021ยูเอสโอเพนคอนกรีต นอวาก จอกอวิช6–4, 6–4, 6–4
รองชนะเลิศ2022ออสเตรเลียนโอเพนคอนกรีต ราฟาเอล นาดัล6–2, 7–6(7–5), 4–6, 4–6, 5–7
รองชนะเลิศ2023ยูเอสโอเพนคอนกรีต นอวาก จอกอวิช3–6, 6–7(5–7), 3–6
รองชนะเลิศ2024ออสเตรเลียนโอเพนคอนกรีต จานนิค ซินเนอร์6–3, 6–3, 4–6, 4–6, 3–6

เอทีพี ไฟนอล

ชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 2 ครั้ง (แชมป์ 1 สมัย, รองแชมป์ 1 สมัย)

ผลลัพธ์ปีรายการพื้นสนามคู่แข่งผลการแข่งขัน
ชนะเลิศ2020เอทีพี ไฟนอล ลอนดอนคอนกรีต (ในร่ม) ด็อมมินิค ทีม4–6, 7–6(7–2), 6–4
รองชนะเลิศ2021เอทีพี ไฟนอล ตูรินคอนกรีต (ในร่ม) อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ4–6, 4–6

ประเภททีม

ผลลัพธ์ปีรายการทีมสมาชิกทีมคู่แข่งสมาชิกคู่แข่งพื้นสนามผลการแข่งขัน
ชนะเลิศ2021เอทีพี คัพ  รัสเซียอันเดรย์ รูเบลฟ
อัสลัน คารัตเซฟ
เยฟเกนี ดอนสกอย
 อิตาลีมัตเตโอ แบร์เรตตีนี
ฟาบิโอ ฟอญินี
ซีโมเน โบเลลลี
อันเดรอา วาวัสโซรี
คอนกรีต2–0
ชนะเลิศ2021เลเวอร์ คัพ Team Europeสเตฟานอส ซิตซิปาส
อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ
อันเดรย์ รูเบลฟ
มัตเตโอ แบร์เรตตีนี
คาสเปอร์ รุด
Team Worldเฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม
เดนิส เชโปวาลอฟ
ดีเอโก ชวาร์ตซ์มัน
ไรล์ลี โอเพลกา
จอห์น อิสเนอร์
นิค เคียร์อีออส
คอนกรีต (ในร่ม)14–1
ชนะเลิศ2021เดวิส คัพรัสเซียอันเดรย์ รูเบลฟ
อัสลัน คารัตเซฟ
คาเรน คาชานอฟ
เยฟเกนี ดอนสกอย
 โครเอเชียมาริน ซิลิช
Nino Serdarušić
Borna Gojo
นิโคลา เมคติช
มาเต พาวิช
คอนกรีต (ในร่ม)2–0

เชิงอรรถ

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง