รพินทรนาถ ฐากุร

กวีและนักปรัชญาชาวเบงกอล

รพินทรนาถ ฐากุร (เบงกอล: রবীন্দ্রনাথ ঠাকুর, อักษรโรมัน: Robindronath Ţhakur; 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484) มีสมัญญานามว่า "คุรุเทพ" เป็นนักปรัชญาพรหโมสมาช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกอล เขาเริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี[1] ครั้นอายุได้ 16 ปี ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานกวีนิพนธ์ภายใต้นามปากกา ภาณุสิงโห และเริ่มเขียนเรื่องสั้นกับบทละครในปี พ.ศ. 2420 ในช่วงปลายของชีวิต รพินทรนาถต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอังกฤษอย่างเปิดเผย และร่วมเคลื่อนไหวการประกาศเอกราชของประเทศอินเดีย ผลงานของเขาที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากงานกวีนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง ยังมีสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยวิศวภารตี

รพินทรนาถ ฐากุร
ฐากุร ภาพถ่าย ป. 1925
ฐากุร ภาพถ่าย ป. 1925
ชื่อท้องถิ่น
রবীন্দ্রনাথ ঠাকুর
เกิดโรบินดโรนาถ ตากุร (Robindronath Thakur;ชื่อตามภาษาท้องถิ่น)
07 พฤษภาคม ค.ศ. 1861(1861-05-07) (วันที่ 25 เดือนวิศาข ปี 1268 ตามปฏิทินเบงกอล)
กัลกัตตา รัฐเบงกอล บริติชราช (ปัจจุบัน โกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย)
เสียชีวิต7 สิงหาคม ค.ศ. 1941(1941-08-07) (80 ปี)
กัลกัตตา รัฐเบงกอล บริติชราช (ปัจจุบัน โกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย)
ที่ฝังศพไม่มี (อัฐินำลอยอังคารในแม่น้ำคงคา)
นามปากกากวีคุรุ কবিগুরু, วิศวกวี বিশ্বকবি, ภานุสิงห์/ภาณุสิงโห ভানুসিংহ
อาชีพ
  • กวี
  • นักเขียนนิยาย
  • นักประพันธ์
  • ศิลปิน
  • นักปรัชญา
  • นักปฏิรูปสังคม
  • นักการศึกษา
  • นักภาษาศาสตร์
  • นักไวยากรณ์
ภาษา
สัญชาติบริติชอินเดีย
ช่วงเวลายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเบงกอล
แนวร่วมในทางวรรณคดีคอนเท็กซ์ชวลมอเดิร์นนิสม์
ผลงานที่สำคัญ
รางวัลสำคัญรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
1913
คู่สมรสมรินาลินี เทวี
(สมรส 1883; 1902)
บุตร5 รวม รตินทรนาถ ฐากุร
ญาติตระกูลฐากุร

ลายมือชื่อ

รพินทรนาถเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง ละครเพลง และเรียงความมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง และเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล[2]

ชีวิตเมื่อเยาว์วัยและการศึกษา

รพินทรนาถ ฐากุร เกิดที่คฤหาสน์โชราสังโก นครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย[3] ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลฐากุร ซึ่งเป็นตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดตระกูลหนึ่งในแคว้นเบงกอล และไม่ได้มั่งคั่งแต่เพียงทรัพย์สมบัติเท่านั้น หากยังเพียบพร้อมไปด้วยสติปัญญาอีกด้วย กล่าวคือ ผู้สืบสกุลฐากุรหลายคน ได้บำเพ็ญกรณียกิจนานาประการ โดยเฉพาะกิจการด้านวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นตระกูลที่ดื่มด่ำในวัฒนธรรมอินเดีย มีความเลื่อมใสต่อลัทธิที่ภักดีต่อพระวิษณุเจ้าเป็นพิเศษ

รพินทรนาถ กับ มฤณาลิณีเทวี

รพินทรนาถเป็นบุตรคนที่ 14 ในจำนวน 15 คนของ มหาฤๅษีเทเพนทรนาถ ฐากุร ซึ่งให้ความสนใจต่อการศึกษาของบุตรคนเล็กมาก เมื่อรพินทรนาถอายุได้ 11 ปี หลังจากประกอบพิธีสวมด้ายมงคลยัชโญปวีตตามแบบศาสนาพราหมณ์ให้แล้ว ท่านบิดาก็พาบุตรคนเล็กเดินธุดงค์ไปยังเมืองอมฤตสาร์ และเทือกเขาหิมาลัยเป็นเวลาหลายเดือน กล่าวได้ว่าทัศนะทางด้านศาสนาของรพินทรนาถนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากบิดามากทีเดียว รวมทั้งนิสัยที่ชอบเดินทาง นอกจากท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ท่านยังได้ไปบรรยายที่สหรัฐอเมริกา 5 ครั้ง ยุโรป 5 ครั้ง ญี่ปุ่น 3 ครั้ง และที่จีน อเมริกาใต้ สหภาพโซเวียต และเอเชียอาคเนย์แห่งละครั้ง

ความสามารถในเชิงการเขียนของท่านเกิดขึ้นเมื่ออายุ 14 ปี รพินทรนาถเขียนเพลงปลุกใจ พาดพิงถึงงานมหกรรมเดลฮีเดอร์บาร์ โดยดำริของลอร์ด ลิททัน ด้วยท่าทีเย้ยหยัน เพราะเป็นความสนุกสนานท่ามกลางภาวะขาดแคลนของประเทศในขณะนั้น ความโด่งดังของรพินทรนาถทำให้ได้รับสมญานามว่า "เกอเธ่แห่งอินเดีย"

ปี พ.ศ. 2421 รพินทรนาถเข้าศึกษาที่โรงเรียนไบรตัน ประเทศอังกฤษ ด้วยความตั้งใจจะเป็นเนติบัณฑิต[4] ต่อมาจึงได้เข้าเรียนกฎหมายที่ University College London แต่เรียนไม่จบและกลับมายังเบงกอลในปี พ.ศ. 2423 วันที่ 9 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น รพินทรนาถสมรสกับ มฤณาลิณี เทวี (พ.ศ. 2416 – พ.ศ. 2443) มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 5 คน เป็นบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 3 คน (ภายหลังเสียชีวิตไป 2 คน)[5] รพินทรนาถพาครอบครัวไปตั้งรกรากในเขตที่ดินมรดกของตระกูลที่ Shilaidaha ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบังกลาเทศ มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าพออยู่ได้อย่างสบาย ช่วงนี้ท่านตั้งอกตั้งใจรังสรรค์งานออกมาชิ้นแล้วชิ้นเล่า ทั้งบทละครที่ท่านร่วมแสดง หรือแม้กระทั่งบทกวีที่ใช้กล่อมเด็ก ผลงานประมาณครึ่งหนึ่งของ Galpaguchchha ท่านก็ได้เขียนขึ้นในช่วงเวลานี้ ภรรยาของท่านได้ถึงแก่กรรมก่อนหลังจากใช้ชีวิตร่วมกันได้ 19 ปี

ชีวิตในบั้นปลาย

รพินทรนาถ (ซ้าย) พบกับมหาตมะคานธี ที่ศานตินิเกตัน

ในช่วงปลายของชีวิตเมื่ออายุ 70 ปี รพินทรนาถได้เริ่มเขียนภาพ ภายในเวลา 10 ปีท่านเขียนได้ถึง 3,000 ภาพ และได้นำผลงานเหล่านี้ไปแสดงตามที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย รวมทั้งที่ปารีสด้วย

ในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิต รพินทรนาถยังคงดำเนินกิจกรรมทางสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง ท่านได้เรียบเรียงงานเขียนต่าง ๆ ออกมาได้เป็นหนังสือ 15 เล่ม ในจำนวนนี้รวมถึงงานเขียน Punashcha (2475) Shes Saptak (2478) และ Patraput (2479) ท่านยังทดลองสร้างผลงานแนวใหม่ ๆ เช่นบทเพลงร้อยแก้ว และละครเต้นรำ เขียนนวนิยายเพิ่มอีกหลายเรื่องเช่น Dui Bon (2476) Malancha (2477) และ Char Adhyay (2477)[6] นอกจากนี้ รพินทรนาถยังให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ ซึ่งศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏแทรกอยู่ในบรรดางานกวีนิพนธ์ของท่านด้วย แสดงให้เห็นถึงความเคารพนบน้อมต่อธรรมชาติ

ฐากุรได้กลับมาถึงแก่กรรมที่คฤหาสน์หลังเดิมที่ตนเคยพำนักในวัยเยาว์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 รวมอายุ 80 ปี 3 เดือน[3]

ผลงาน

ปกหน้าของหนังสือ คีตาญชลี พ.ศ. 2456

ผลงานของท่านนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากบทร้อยกรองกับบทละครซึ่งมีอยู่ถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบรรทัด ยังมีวรรณกรรมประเภท นวนิยาย เรื่องสั้น อัตชีวประวัติ บทวิจารณ์ และบทความ นานาชนิด

ปี พ.ศ. 2455 รพินทรนาถได้แปลบทกวีนิพนธ์ที่เขียนอุทิศให้แก่ภรรยาและบุตร 3 ใน 5 คนที่เสียชีวิตไปเป็นภาษาอังกฤษ แล้วรวบรวมนำมาพิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อว่า 'คีตาญชลี' อีก 1 ปีถัดมาขณะที่อายุได้ 52 ปี ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดนได้ประกาศจากกรุงสต็อกโฮล์ม ว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี คือ รพินทรนาถ ฐากุร จากบทประพันธ์คีตาญชลี ท่านเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ผลงานของรพินทรนาถ อันเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป อาทิ คีตาญชลี บทกวีจันทร์เสี้ยว บทละครเรื่องจิตรา เพลงชาติอินเดีย เรื่องสั้นราชากับรานี เรื่องสั้นนายไปรษณีย์ พระกรรณะกับนางกุนตี ฯลฯ

นอกจากนี้ท่านยังได้ตั้งโรงเรียนศานตินิเกตัน ซึ่งหมายถึงสถานที่แห่งความสงบ โดยสอนแบบครูสัมพันธ์กับศิษย์เหมือนพ่อกับลูก อีก 21 ปีต่อมา จึงได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อว่า 'วิศวภารตี' หมายถึง สถานอันเป็นที่พักพิงแห่งโลก[7]

แนวคิดทางการเมือง

รพินทรนาถไม่เห็นด้วยกับจักรวรรดินิยมอังกฤษ เขาให้การสนับสนุนต่อแนวคิดกู้ชาติอินเดีย แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่เอ่ยออกมาโดยตรงและค่อนข้างระมัดระวังตัว การแสดงออกของเขาเริ่มด้วยการบอกว่า จักรวรรดิอังกฤษไม่ได้เป็นผู้ชั่วร้าย เพียงแต่เป็น "โรคเรื้อรังทางการเมืองต่อสังคมของเรา" เขากระตุ้นเตือนชาวอินเดียให้รับรู้ว่า "ไม่ควรมีคำถามกับการปฏิวัติอย่างมืดบอด แต่ควรมีการศึกษาที่มีเป้าหมาย"[8][9]

ดูเพิ่ม

  • รพินทรชยันตี
  • รพินทรนาถในภาพยนตร์

อ้างอิง

บรรณานุกรม

ปฐมภูมิ

สรรนิพนธ์

  • Tagore, Rabindranath (1984), Some Songs and Poems from Rabindranath Tagore, East-West Publications, ISBN 978-0-85692-055-4.
  • Tagore, Rabindranath (1961), Chakravarty, A. (บ.ก.), A Tagore Reader, Beacon Press (ตีพิมพ์ 1 June 1961), ISBN 978-0-8070-5971-5.
  • Tagore, Rabindranath (1997), Dutta, K.; Robinson, A. (บ.ก.), Selected Letters of Rabindranath Tagore, Cambridge University Press (ตีพิมพ์ 28 June 1997), ISBN 978-0-521-59018-1.

ทุติยภูมิ

บทความ

หนังสือ

  • Datta, P. K. (2002), Rabindranath Tagore's The Home and the World: A Critical Companion (1st ed.), Permanent Black (ตีพิมพ์ 1 December 2002), ISBN 978-81-7824-046-6.
  • Dutta, K.; Robinson, A. (1995), Rabindranath Tagore: The Myriad-Minded Man, Saint Martin's Press (ตีพิมพ์ December 1995), ISBN 978-0-312-14030-4.
  • คีตาญชลี. สังเขปชีวิตและงานของรพินทรนาถ ฐากุร. แปลโดย กรุณา กุศลาสัย; เรืองอุไร กุศลาสัย. แม่คำผาง. 2012. ISBN 9789749747186.
  • บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย เล่ม 2 ภาค 5–6. แปลโดย จำนงค์ ทองประเสริฐ (2 ed.). กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน. 1998. ISBN 9748123146.

หนังสืออ่านประกอบ

  • สาวิตรี เจริญพงศ์. (2557), สัมพันธ์สยามในนามภารต: บทบาทของรพินทรนาถ ฐากูร, สวามีสัตยานันทปุรี, และสุภาส จันทร โบส ในสายสัมพันธ์ไทย-อินเดีย, กรุงเทพฯ: โครงการภารตประทีป ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9786165517867.

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Rabindranath Tagore


🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง