เสือลายเมฆ

เสือลายเมฆ (อังกฤษ: Clouded leopard; ชื่อวิทยาศาสตร์: Neofelis nebulosa) เสือใหญ่ประเภทหนึ่ง อยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae)

เสือลายเมฆ
เสือลายเมฆที่สวนสัตว์แนชวิลล์
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มั่นคง  (IUCN 3.1)[2]
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน:ยูแคริโอตา
อาณาจักร:สัตว์
ไฟลัม:สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น:สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อันดับ:อันดับสัตว์กินเนื้อ
อันดับย่อย:เฟลิฟอเมีย
วงศ์:เสือและแมว
สกุล:สกุลเสือลายเมฆ
(Griffith, 1821)
สปีชีส์:Neofelis nebulosa[1]
ชื่อทวินาม
Neofelis nebulosa[1]
(Griffith, 1821)
ที่อยู่อาศัยของเสือลายเมฆใน ค.ศ. 2016[2]

ศัพทมูลวิทยา

โดยที่ชื่อวิทยาศาสตร์ คำว่า Neofelis มาจากภาษากรีก คำว่า νεο- หมายถึง "ใหม่" และคำศัพท์ละติน feles หมายถึง "แมว" รวมกันแล้วหมายถึง "แมวใหม่"[3][4]

ลักษณะ

เสือลายเมฆเป็นเสือขนาดเล็ก รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายเสือดาวแต่เล็กกว่า รูปร่างเตี้ยป้อม ลำตัวมีสีพื้นน้ำตาลอมเทาจนถึงน้ำตาลเหลือง ช่วงล่างและขาด้านในสีขาวหรือสีครีม มีลายสีน้ำตาลเข้มเป็นดวงเหมือนก้อนเมฆขนาดใหญ่ทั่วตัว ตั้งแต่หัว ขา และหาง ดวงบางดวงอาจมีจุดดำอยู่ภายในดวงด้วย แต่ละดวงมีส่วนที่ค่อนไปทางท้ายลำตัวคล้ำกว่า ดวงบริเวณหัวและขาจะมีขนาดเล็กและอาจเป็นเพียงจุดทึบตัน ที่หลัง แก้ม และคอเป็นเส้นสีดำ หูสั้นกลม หลังหูสีดำและมีจุดสีขาวอมน้ำตาลกลางหลังหู ขาค่อนข้างสั้น ขาหลังยาวกว่าขาหน้าอย่างเห็นได้ชัด อุ้งตีนกว้าง

หางยาวมากและฟู มีลายเป็นปล้อง ปลายหางสีดำหรือสีเทา หางยาวเกือบ 90 เซนติเมตร ยกเว้นเสือลายเมฆพันธุ์ฟอร์โมซัน (F.n. brachyurus) มีหางสั้นเป็นพิเศษเพียง 55-60 เซนติเมตร แต่ความยาวของหางไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกชนิดพันธุ์ได้

เขี้ยวยาว 3.8-4.5 เซนติเมตร นับว่ายาวที่สุดในจำนวนเสือทั้งหมดในโลก ด้านหลังเขี้ยวคมมาก ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 10-20 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 750-1,100 มิลลิเมตร แม้จะมีขนาดเล็กกว่าเสือชนิดอื่น ๆ แต่เสือลายเมฆมีสัดส่วนของกะโหลกคล้ายกับเสือชนิดอื่น ๆ จัดเป็นเสือที่มีขนาดเล็กที่สุด

เสือลายเมฆไม่เพียงลวดลายที่โดดเด่นต่างจากเสือชนิดอื่นเท่านั้น โครงสร้างภายในและลักษณะทางพันธุกรรมก็ต่างจากเสือชนิดอื่น กะโหลกต่างจากเสือชนิดอื่นอย่างเด่นชัด จึงจัดอยู่ในสกุลแยกจากเสือชนิดอื่นคือ Neofelis

อุปนิสัย

ปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับอุปนิสัยของเสือลายเมฆไม่มากนัก เนื่องจากมีจำนวนน้อยในธรรมชาติ ประกอบกับอุปนิสัยที่ลึกลับ และอาศัยบนต้นไม้ในป่าทึบ ทำให้ศึกษาได้ยาก ข้อมูลในด้านนี้มักได้มาจากการสอบถามชาวบ้านและจากการสังเกตในกรงเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่

เสือลายเมฆชอบอาศัยและพักผ่อนบนต้นไม้ เป็นนักปีนชั้นเยี่ยม มีข้อตีนที่พลิกหมุนได้แบบเดียวกับมาร์เกย์ จึงสามารถห้อยโหนกิ่งไม้ด้วยขาหลังเพียงอย่างเดียวแล้วปล่อยให้หัวห้อยลงมาได้ สามารถไต่กิ่งไม้แบบห้อยตัวอยู่ใต้กิ่งไม้ที่เอนเกือบขนานกับพื้นได้ เปรียบเทียบฝีมือการปีนป่ายกับเสือดาวแล้วเสือลายเมฆจะเก่งกว่า แม้เสือดาวจะปีนต้นไม้เก่ง แต่ก็ไม่ถนัดในการจับเหยื่อบนต้นไม้ แต่เสือลายเมฆเคยมีรายงานว่าไล่จับลิงบนต้นไม้ได้ อย่างไรก็ตามเสือลายเมฆล่าเหยื่อบนพื้นดินมากเท่า ๆ กับบนต้นไม้

สัตว์ที่เสือลายเมฆชอบล่าได้แก่ ลิง หมูป่า กวางขนาดเล็ก ชะมด เม่น กระรอก นก ปลา แพะ สัตว์เลี้อยคลาน ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในประเทศไทยก็เคยมีรายงานว่าเสือลายเมฆจับลิงกังและชะนีกิน

การกระจายพันธุ์และพฤติกรรม

มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่เนปาล, สิกขิม, ภาคเหนือของอินเดีย, ภาคใต้ของจีน, ไต้หวัน, ตะวันตกของพม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, เกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา มีพฤติกรรมมักอาศัยและหากินตามลำพัง หากินบนต้นไม้มากกว่าตามพื้น แต่ก็ลงมาบนพื้นดินบ้างเป็นบางครั้ง มักหากินในเวลากลางคืน เหยื่อได้แก่ นก, ลิง และงูบางชนิด โดยก่อนกินเหยื่อจะเลียขนของเหยื่ออกเสียก่อนเพื่อทำความสะอาด บางครั้งจะกลับมากินเหยื่อที่เหลือทิ้งไว้จนหมด ใช้เวลาตั้งท้อง 90 - 95 วันออกลูกครั้งละ 2 - 4 ตัว โดยลูกเสือแรกเกิดมีน้ำหนักตัวประมาณ 150 - 180 กรัม แต่พฤติกรรมในสถานที่เลี้ยง การผสมพันธุ์เป็นไปได้ยาก เนื่องจากเสือลายเมฆตัวผู้จะทำร้ายตัวเมียจนถึงตายได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ตอบสนองต่อความเครียดได้ง่าย ในปี ค.ศ. 2002 จึงมีโครงการโดยความร่วมมือของหลายประเทศและสถาบันสมิธโซเนียนผสมพันธุ์เสือลายเมฆขึ้นด้วยวิธีการผสมเทียม จนกระทั่งได้ลูกเสือลายเมฆด้วยวิธีนี้มาแล้ว 58 ตัว (ข้อมูลจนถึงปี ค.ศ. 2015) และเสือลายเมฆกลุ่มนี้ได้กลายเป็นต้นพันธุ์ให้แก่สวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเพาะขยายพันธุ์ต่อแล้วถึง 16 ตัว สำหรับในประเทศไทยประสบความสำเร็จในกลางปี ค.ศ. 2015 ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นลูกเสือลายเมฆ 2 ตัว[5] [6]

ทางฝั่งใต้แม่น้ำแยงซีเกียง เคยพบในตีนเขาหิมาลัยที่ระดับความสูงถึง 1,450 เมตร คาดว่าเสือลายเมฆอาจอยู่ได้ที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตร

สถานะ

เสือลายเมฆ นับเป็นเสือชนิดที่มีลวดลายสวยงาม จึงตกเป็นที่ต้องการของมนุษย์เสมอ ๆ ทั้งล่าเพื่อเอาหนัง และนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งพฤติกรรมเมื่อเป็นสัตว์เลี้ยงโดยมนุษย์แล้ว ปรากฏว่าเสือลายเมฆมีพฤติกรรมที่ไม่ดุและค่อนข้างเชื่องมากกว่าเสือหรือแมวป่าชนิดอื่น ๆ สถานะปัจจุบันตามกฎหมายไทย เสือลายเมฆจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 และสถานะในไซเตสจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I)[7]

ชีววิทยา

แม้ว่าสัตว์ที่อาศัยในป่าเขตร้อนอย่างเสือลายเมฆมักไม่มีฤดูกาลผสมพันธุ์ที่แน่นอน แต่พบว่าเสือลายเมฆในแหล่งเพาะเลี้ยงออกลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงสิงหาคม เสือลายเมฆสาวมีระยะเวลาเป็นสัดครั้งละ 6 วันและเกิดขึ้นทุก ๆ 30 วันในฤดูผสมพันธุ์ เชื่อว่าเสือลายเมฆออกลูกในโพรงไม้ที่อยู่เหนือระดับพื้นดิน แต่ก็เคยมีผู้พบเห็นเสือลายเมฆออกลูกในรังที่อยู่ในระดับพื้นดินท่ามกลางพุ่มไม้ทึบเหมือนกัน แม่เสือตั้งท้อง 86-93 วัน ลูกครอกหนึ่งมีประมาณ 1-5 ตัว ส่วนใหญ่มักมี 2 ตัว ลูกเสือแรกเกิดมีน้ำหนัก 140-170 กรัม ลืมตาเมื่ออายุ 10-12 วัน และเริ่มเดินได้เมื่ออายุ 19-20 วัน เมื่ออายุได้ 10 สัปดาห์ก็เริ่มกินเนื้อได้ หย่านมเมื่ออายุ 5 เดือน เสือหนุ่มสาวจะมีสีสันเหมือนเสือเต็มวัยเมื่ออายุได้ 6 เดือน และเมื่ออายุ 10 เดือนก็จะออกเรือนหากินเองได้ เสือลายเมฆเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 24-36 เดือน และจะให้กำเนิดลูกได้จนถึงอายุ 12-15 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย 11 ปี แต่ตัวที่อายุมากที่สุดในกรงเลี้ยงมีอายุ 17 ปี

เสือลายเมฆเป็นเสือที่เพาะพันธุ์ได้ยากมากเนื่องจากตัวผู้ชอบฆ่าตัวเมีย เสือลายเมฆในแหล่งเพาะเลี้ยงเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เกิดในกรงเลี้ยง การผสมเทียมและการถ่ายเทตัวอ่อน (embryo transfer) ประสบผลสำเร็จพอสมควรในเสือและแมวป่าหลายชนิด เมื่อไม่นานมานี้มีทฤษฎีจากนักเพาะเลี้ยงชาวอังกฤษบอกว่า เสือลายเมฆตัวเมียเป็นสัดครั้งเดียวในรอบปี และจะยอมผสมพันธุ์กับตัวผู้ที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานานเท่านั้น

บางทีแหล่งเพาะเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการเพาะพันธุ์เสือลายเมฆอาจเป็นสวนสัตว์พาต้าของประเทศไทยก็ได้ (ปานเทพ) สวนสัตว์พาต้าเป็นสวนสัตว์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และสามารถส่งเสือลายเมฆให้แก่สวนสัตว์อื่น ๆ ทั่วโลก

ชนิดย่อย

เสือลายเมฆ อาจแบ่งออกได้เป็นชนิดย่อยได้ 3 ชนิด คือ[8]

  • N. n. nebulosa (Griffith, 1821) — พบในตอนใต้ของจีนจนถึงภาคตะวันออกของพม่า
  • N. n. macrosceloides (Hodgson, 1853) — พบในเนปาลจนถึงพม่า
  • N. n. brachyura (Swinhoe, 1862) — พบเฉพาะเกาะไต้หวันเท่านั้น ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้วในยุคทศวรรษที่ 90[2] โดยมีข้อมูลยืนยันครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1989 โดยพบเป็นหนังของตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยในบริเวณอุทยานแห่งชาติทาโรโค [9][10]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง