ทรานซอกเซียนา

ภูมิภาคในประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลาง

ทรานซอกเซียนา (อังกฤษ: Transoxiana) หรือ ทรานซอกเซเนีย (Transoxania) เป็นภูมิภาคและอารยธรรมในเอเชียกลาง ตั้งอยู่บริเวณตะวันออกของอุซเบกิสถาน ตะวันตกของทาจิกิสถาน ทางใต้ของคาซัคสถาน บางส่วนของเติร์กเมนิสถานและทางใต้ของคีร์กีซสถาน ทรานซอกเซียนาในทางภูมิศาสตร์คือภูมิภาคระหว่างแม่น้ำอามูดาร์ยาที่อยู่ทางใต้กับแม่น้ำซีร์ดาร์ยาที่อยู่ทางเหนือ[1] ทรานซอกเซียนาเป็นภาษาละติน หมายถึง ดินแดนที่อยู่พ้นแม่น้ำออกซุส[1] (ชื่อละตินของแม่น้ำอามูดาร์ยา)

บริเวณลุ่มแม่น้ำออกซุสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 แสดงภาพทรานซอกเซียนาและเมืองต่าง ๆ
ภูมิภาคทรานซอกเซียนา เกรตเตอร์โฆรอซอนและฆวอแรซม์ในเอเชียกลาง

ทรานซอกเซียนาสามารถแบ่งออกเป็นสี่ภูมิภาคย่อยตามภูมิศาสตร์ การเมืองและสังคม ได้แก่ โตคาริสถานบริเวณแม่น้ำออกซุสตอนบน ล้อมรอบด้วยเทือกเขาฮิซาร์ทางเหนือและเทือกเขาฮินดูกูชทางตะวันออกและใต้ ซอกเดียหรือซอกเดียนาบริเวณแม่น้ำออกซุสตอนกลางและรอบ ๆ แม่น้ำซาราฟชอน ฆวอแรซม์หรือคอรัสเมียบริเวณแม่น้ำออกซุสตอนล่างก่อนไหลลงทะเลอารัล และดินแดนเหนือเทือกเขาฮิซาร์ รอบ ๆ แม่น้ำจาซาร์ตีส (แม่น้ำซีร์ดาร์ยาปัจจุบัน) รวมถึงเฌตืยซูว์และหุบเขาฟาร์ฆอนา[2]

ในอดีตทรานซอกเซียนารู้จักในภาษาเปอร์เซียว่า แฟรอรูด (Farā-rūd, เปอร์เซีย: فرارود – 'พ้นแม่น้ำ [อามู]') ฟารอรึด (Faro-rüd, ทาจิก: Фарорӯд) และวาราซรึด (Varaz-rüd, ทาจิก: Варазрӯд) กลุ่มชนอิหร่านโบราณเคยเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า ทูรอน (Turan, เปอร์เซีย: فرارود) ซึ่งเป็นชื่อที่พบใน ชอฮ์นอเม มหากาพย์ประจำชนชาติเปอร์เซีย[3] ด้านจีนเรียกภูมิภาคนี้ว่า เหอจง (จีน: 河中地区) ขณะที่ภาษาอาหรับเรียกทรานซอกเซียนาว่า มาฮ์วะรออ์อันนัฮร (อาหรับ: ما وراء النهر) ซึ่งคำนี้ผ่านเข้าสู่วรรณกรรมเปอร์เซียและคงอยู่จนถึงช่วงหลังมองโกล[4]

ทรานซอกเซียนาเคยเป็นเซทระพี (จังหวัด) หนึ่งของจักรวรรดิอะคีเมนิดในชื่อซอกเดีย อันเป็นคำที่โลกเปอร์เซียยุคคลาสสิคใช้เพื่อแยกกับตัวจักรวรรดิเปอร์เซียเอง โดยเฉพาะจังหวัดโฆรอซอนทางตะวันออกเฉียงเหนือ[5] แม้ว่า "โฆรอซอน" จะเป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิซาเซเนียน[6] แต่นักประวัติศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับมีแนวโน้มจะใช้คำว่า "โฆรอซอน" เพื่อหมายความถึงดินแดนที่กว้างกว่านั้น ซึ่งอาจรวมถึงทรานซอกเซียนาด้วย[7][8] ทั้งนี้บริเวณที่เรียกว่า ฆวอแรซม์ ซอกเดียนา ชากานิยันและฆุตตัลตั้งอยู่ทางใต้ของทรานซอกเซียนา ขณะที่ชอช ออสรุชานาและฟาร์ฆอนาตั้งอยู่ทางเหนือ[9]

ประวัติศาสตร์

ชื่อ "ทรานซอกเซียนา" เข้าสู่โลกตะวันตกหลังอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกครองภูมิภาคนี้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ต่อมาผู้สืบทอดของอเล็กซานเดอร์ก่อตั้งอาณาจักรกรีก-แบกเตรียซึ่งเผยแพร่วัฒนธรรมกรีกในทรานซอกเซียนาต่อไปอีกกว่าสองร้อยปี ถึงกระนั้นนครไอฮานจูมซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของอัฟกานิสถานยังคงเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่พบวัฒนธรรมสมัยเฮลเลนิสต์[10] หลังจากนั้นจักรวรรดิพาร์เธีย จักรวรรดิกุษาณะและจักรวรรดิซาเซเนียนเข้ามาปกครอง ทรานซอกเซียนาในสมัยซาเซเนียนมักถูกเรียกว่า ซอกเดีย ซึ่งเป็นชื่อที่ซาเซเนียนรับมาจากจักรวรรดิอะคีเมนิด และใช้เพื่อแยกกับแบกเตรียที่อยู่ใกล้เคียง ทรานซอกเซียนาเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่มั่งคั่งจากเส้นทางสายไหมในช่วงที่ซาเซเนียนปกครอง ก่อนจะเสียให้แก่พวกเฮฟทาไลต์เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 และกลับมาอยู่ใต้อำนาจซาเซเนียนอีกครั้งในปี ค.ศ. 565

ศาสนาหลักดั้งเดิมของทรานซอกเซียนาคือศาสนาโซโรอัสเตอร์[9] ก่อนจะกลายเป็นศาสนาอิสลามเมื่อรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูนเอาชนะจักรวรรดิซาเซเนียนในปี ค.ศ. 651 ตามด้วยรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์และอับบาซียะฮ์พิชิตทรานซอกเซียนาระหว่าง ค.ศ. 673–751 ผู้คนในทรานซอกเซียนาพูดภาษาซอกเดีย อันเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาอิหร่านและอาศัยอยู่ในนครรัฐที่กระจัดกระจายในสมัยอิสลามช่วงแรก[11]

ในปี ค.ศ. 1219 เจงกิส ข่าน ผู้สถาปนาจักรวรรดิมองโกลรุกรานทรานซอกเซียนาระหว่างการศึกกับจักรวรรดิฆวอแรซม์ หลังจากนั้นพระองค์มอบดินแดนเอเชียกลางตะวันตกที่พิชิตได้ให้แก่ชากาทาย ข่าน โอรสองค์ที่สองซึ่งสถาปนาจักรวรรดิข่านชากาทายในปี ค.ศ. 1225 นับตั้งแต่ ค.ศ. 1363 จักรวรรดิข่านชากาทายค่อย ๆ สูญเสียทรานซอกเซียนาให้แก่จักรวรรดิเตมือร์[12]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง