ภาษาทาจิก

ทาจิก (ทาจิก: Забони тоҷикӣ, Zaboni tojikī, [z̪a̝ˈbɔ̝(ː)ni̞ t̞ʰɔ̝dʒiˈkʰiː])[2] มีอีกชื่อว่า ภาษาเปอร์เซียทาจิก (форси́и тоҷикӣ́, forsii tojikī, [fɔ̝rˈs̪iji̞ t̞ʰɔ̝dʒiˈkʰiː]) เป็นภาษาเปอร์เซียรูปแบบหนึ่งที่มีผู้พูดโดยชาวทาจิกในประเทศทาจิกิสถานและอุซเบกิสถาน มีความใกล้ชิดกับภาษาดารี นักวิชาการบางส่วนจัดให้ภาษาทาจิกเป็นภาษาย่อยของภาษาเปอร์เซียมากกว่าเป็นภาษาของตนเอง[3][4][5] ความนิยมของแนวคิดเรื่องภาษาทาจิกเป็นรูปแบบหนึ่งของภาษาเปอร์เซียมีมากจนกระทั่งในสมัยที่มีปัญญาชนชาวทาจิกพยายามจัดตั้งให้ภาษาทาจิกเป็นภาษาที่แยกจากภาษาเปอร์เซีย ซัดริดดีน อัยนี (Sadriddin Ayni) ปัญญาชนคนสำคัญ โต้แย้งกลับว่า ภาษาทาจิกไม่ใช่ "ภาษาย่อยที่ถูกทำให้เสื่อมลง" (bastardised dialect) ของภาษาเปอร์เซีย[6] ปัญหาที่ว่าภาษาทาจิกและเปอร์เซียเป็นภาษาย่อยสองภาษาของภาษาเดียวกันหรือเป็นสองภาษาที่ไม่ต่อเนื่องนั้น[7]มีความเป็นการเมืองอยู่ในนั้นด้วย[6]

ภาษาทาจิก
Тоҷикӣ (Tojikī)
"ตอจิกิ" ในอักษรซีริลลิกและอักษรเปอร์เซีย-อาหรับ (รูปแบบแนสแทอ์ลีก)
ประเทศที่มีการพูดประเทศทาจิกิสถานและอุซเบกิสถาน
ภูมิภาคเอเชียกลาง
ชาติพันธุ์ชาวทาจิก
จำนวนผู้พูด8.1 ล้านคน (6.4 ล้านคนในทาจิกิสถาน, 2012 UNSD)  (2012)[1]
ตระกูลภาษา
ภาษาถิ่น
Madaklashti
ระบบการเขียนอักษรซีริลลิก, อักษรละติน, อักษรเปอร์เซีย (อดีต), อักษรฮีบรู (โดยชาวยิวบูฆอรอ), อักษรเบรลล์ทาจิก
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการ ทาจิกิสถาน
ผู้วางระเบียบRudaki Institute of Language and Literature
รหัสภาษา
ISO 639-1tg
ISO 639-2tgk
ISO 639-3tgk
Linguasphere58-AAC-ci
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด

ภาษาทาจิกเป็นหนึ่งในสองภาษาราชการของประเทศทาจิกิสถาน ส่วนอีกภาษาหนึ่งคือภาษารัสเซีย[8][9] ซึ่งเป็นภาษาราชการระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษานี้มีความต่างจากภาษาเปอร์เซียที่ใช้พูดในอิหร่านและอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นผลมาจากการแบ่งแยกดินแดนทางการเมือง การแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์และการจัดมาตรฐานทางภาษา รวมทั้งอิทธิพลของภาษารัสเซียและภาษากลุ่มเตอร์กิกที่อยู่รอบ ๆ มาตรฐานของภาษานี้ยึดตามสำเนียงตะวันตกเฉียงเหนือของทาจิกิสถานซึ่งเป็นเมืองเก่าของซามาร์คันฑ์ และได้รับอิทธิพลจากภาษาอุซเบกด้วย ภาษาทาจิกมีหน่วยคำในคำศัพท์ การออกเสียงและไวยากรณ์ซึ่งไม่มีในภาษาเปอร์เซียที่พูดในที่อื่น ซึ่งน่าจะเป็นมาจากการที่ถูกแบ่งแยกโดยภูมิศาสตร์เขตเทือกเขาของเอเชียกลาง

การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์

เมืองที่สำคัญของผู้พูดภาษาทาจิกในประวัติศาสตร์คือซามาร์คันท์และบูคาราซึ่งในปัจจุบันอยู่ในอุซเบกิสถาน ในอุซเบกิสถานนั้น นอกจากจะมีผู้พูดภาษาทาจิกมากในบริเวณทั้งสองนี้แล้ว ยังมีในจังหวัดซูร์ซอนดาร์โยทางใต้และตามแนวชายแดนที่ติดกับทาจิกิสถาน

ในสมัยที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ชาวทาจิกไม่ได้รับการรับรองในอุซเบกิสถาน พวกเขาต้องเลือกระหว่างอยู่ในอุซเบกิสถานและลงทะเบียนเป็นชาวอุซเบก หรือเลือกเป็นชาวทาจิกและถูกย้ายไปอยู่ทาจิกิสถาน .[10] ในทาจิกิสถานนั้น ประชากร 80% พูดภาษาทาจิก ผู้พูดภาษาทาจิกในบาดักซานซึ่งมีภาษากลุ่มปาร์มีเป็นภาษาหลักจะพูดได้สองภาษา นอกจากนั้นยังพบมากทางภาคเหนือของของอัฟกานิสถานและในเมืองสำคัญเช่น คาบูล คุนดุชและเฮรัต ซึ่งภาษาทาจิกในอัฟกานิสถานเขียนด้วยอักษรอาหรับ-เปอร์เซีย และเรียกว่าภาษาดารีเปอร์เซีย นอกจากนี้มีผู้พูดภาษาทาจิกในรัสเซีย คาซัคสถานและที่อื่นๆ

ในประเทศจีน ภาษทาจิกไม่มีรูปเขียนอย่างเป็นทางการ ชาวจีนที่พูดภาษาทาจิกส่วนใหญ่ ที่จริงแล้วพูดภาษาซาริโกลี หรือซาริโคลี (Sariqul, Sariköli) ซึ่งแม้ว่าจะเรียกว่าภาษาทาจิก ก็ไม่ได้สัมพันธ์ใกล้เคียงกับ ภาษาทาจิก มากกว่าภาษากลุ่มปามีร์ (Pamir languages) และใช้ภาษาอุยกูร์ และภาษาจีนเพื่อติดต่อกับคนชนชาติอื่น ๆ ในพื้นที่

สำเนียง

สำเนียงของภาษาทาจิกแบ่งได้เป็น

  • สำเนียงเหนือ อยู่ทางใต้ของอุซเบกิสถานและคีร์กิซสถาน
  • สำเนียงกลาง อยู่ในอายนี มัสต์โย อิสซอร์ และบางส่วนของวาร์ซอบ
  • สำเนียงใต้ ได้แก่สำเนียงของบาดักซาน และอื่นๆ
  • สำเนียงตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่สำเนียงในปันจ์และดาร์วอซ

สำเนียงที่ใช้โดยชาวยิวบูคาเรียเรียกภาษาบูโครี จัดอยู่ในสำเนียงเหนือ มีศัพท์ภาษาฮีบรูปนเข้ามาและเคยเขียนด้วยอักษรฮีบรู ซึ่งถ้าตัดส่วนที่มาจากภาษาฮีบรูออกไป ผู้พูดภาษาบูโครีจะเข้าใจกันได้กับผู้พูดสำเนียงเหนืออื่นๆ

ไวยากรณ์

การเรียงลำดับในประโยคภาษาทาจิกเป็นประธาน-กรรม-กริยา[11].

นาม

ไม่มีเครื่องหมายแสดงเพศ แต่แสดงจำนวน การแสดงเพศมักเป็นการเปลี่ยนรูปคำ เช่น мурғ (murgh) 'นก' and хурус (khurus) 'นกตัวผู้'หรือการเติมตัวช่วย 'нар' (nar) สำหรับผู้ชายหรือ 'мода' (moda) สำหรับผู้หญิง ต่อท้ายคำนาม เช่น хари нар (xari nar) 'ลาตัวผู้' และ хари мода (xari moda) 'ลาตัวเมีย'

จำนวนมีเฉพาะเอกพจน์กับพหูพจน์ รูปพหูพจน์แสดงโดยปัจจัย –ҳо หรือ –он แต่คำยืมจากภาษาอาหรับจะใช้รูปแบบของภาษาอาหรับ ไม่มีคำนำหน้านามชี้เฉพาะ แต่มีคำนำหน้านามแบบไม่ชี้เฉพาะที่ตำแหน่งแรกก่อนคำนาม และต่อท้ายนามในรูปปัจจัย

คำศัพท์

ภาษาทาจิกมีลักษณะอนุรักษนิยมทางด้านคำศัพท์ คำศัพท์ใหม่ๆในภาษาทาจิกมาจากภาษารัสเซีย ซึ่งเป็นผลจากการที่ทาจิกิสถานเคยรวมอยู่ในสหภาพโซเวียตมาก่อน คำศัพท์บางส่วนมาจากภาษาอุซเบกที่อยู่ใกล้เคียงและภาษาอาหรับผ่านทางศาสนาอิสลาม ตั้งแต่พ.ศ. 2523 มีความพยายามแทนที่คำยืมด้วยคำดั้งเดิมในภาษา รวมทั้งสร้างคำใหม่จากคำดั้งเดิมนั้น

ระบบการเขียน

ตราแผ่นดินของสาธารณรัฐทาจิกใน ค.ศ. 1929 มีภาษาทาจิกที่เขียนด้วยอักษรเปอร์เซีย-อาหรับ: جمهوريت اجتماعی شوروى مختار تاجيكستان, อักษรปัจจุบัน: Ҷумҳурият Иҷтимоӣ Шӯравӣ Мухтор Тоҷикистон

ในประเทศทาจิกิสถานและประเทศอื่น ๆ ที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียต ภาษาทาจิกในปัจจุบันเขียนด้วยอักษรซีริลลิก โดยในอดีตเคยเขียนด้วยอักษรละตินใน ค.ศ. 1928 และอักษรอาหรับในช่วงก่อน ค.ศ. 1928 ในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทาจิกมีการแทนที่อักษรละตินด้วยอักษรซีริลลิกใน ค.ศ. 1939[12] ชุดตัวอักษรทาจิกประดิษฐ์อักษรเพิ่มเติมจากอักษรซีริลลิกอีกหกอักษร โดยใส่เครื่องหมายเสริมสัทอักษรกำกับอักษรเพิ่มเติมเหล่านี้ในอักขรวิธีทาจิก[13]

ประวัติ

ภาษาทาจิกสืบมาจากภาษาเปอร์เซีย[14] และมีลักษณะใกล้เคียงกันมากจนบางคนถือว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษาเปอร์เซีย ตามประวัติศาสตร์นั้นถือว่าเป็นภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของภาษาเปอร์เซียที่พูดโดยชนพื้นเมืองชาวทาจิกในเอเชียกลาง ครั้นเมื่อสหภาพโซเวียตบังคับให้ใช้อักษรละตินในปี พ.ศ. 2471 และอักษรซีริลลิกในเวลาต่อมา ภาษาทาจิกจึงถือเป็นอีกภาษาหนึ่งต่างหากในทาจิกิสถาน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง (ส่วนในอัฟกานิสถาน ชาวทาจิกยังคงใช้อักษรอาหรับต่อไป) ภาษามีความแตกต่างจากภาษาเปอร์เซียที่พูดในประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอิหร่านไปบ้าง เนื่องจากเขตแดนทางการเมืองและอิทธิพลของภาษารัสเซีย อย่างไรก็ดีเอกสารที่เขียนภาษาทาจิกเขียนสามารถอ่านเข้าใจโดยชาวอัฟกันหรืออิหร่านที่พูดภาษาเปอร์เซีย และในทางกลับกันด้วย นักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น โอมาร์ คัยยัม (Omar Khayyam) ฟีร์เดาซี (Firdausi) และอาลี ชีร์ นาไว (Ali Shir Navai) ยืนยันว่าทั้งสองภาษามีต้นกำเนิดร่วมกัน

ภาษาเปอร์เซียยุคใหม่พัฒนาขึ้นในทรานโซเซียนาและโคราซาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน ภาษาเหล่านี้เป็นลูกหลานของภาษาเปอร์เซียยุคกลาง และได้รับอิทธิพลจากภาษากลุ่มอิหร่านโบราณในเอเชียกลาง เช่น ภาษาซอกเดีย

หลังจากการรุกรานของชาวอาหรับเข้าสู่อิหร่านและเอเชียกลางในพุทธศตวรรษที่ 13 ภาษาอาหรับเข้ามาเป็นภาษาสำคัญในพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นยุคของราชวงศ์ซามานิดส์ ภาษาเปอร์เซียยุคใหม่ได้พัฒนาขึ้นมาในช่วงนี้และกลายเป็นภาษากลางแทนภาษาอาหรับ แต่อิทธิพลของภาษาอาหรับยังคงอยู่ เช่น อักษรอาหรับแบบเปอร์เซียและมีคำยืมจากภาษาอาหรับจำนวนมาก

ภาษาเปอร์เซียยุคใหม่กลายเป็นภาษากลางในเอเชียกลางหลายประเทศและเข้าไปแทนที่ภาษาอื่น เช่น ภาษาชะกะไต ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ภาษาทาจิกที่เป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาเปอร์เซียสมัยใหม่ ได้รับอิทธิพลจากภาษาเพื่อนบ้าน ได้แก่ภาษากลุ่มเตอร์กิก โดยเฉพาะภาษาอุซเบกมากขึ้น ภาษาอุซเบกเข้ามาแพร่กระจายในพื้นที่อุซเบกิสถานและบริเวณอื่นๆในเอเชียกลาง และเข้ามาแทนที่ภาษาทาจิก จนบางบริเวณ ไม่มีผู้พูดภาษาทาจิกเหลืออยู่อีกเลย

การเกิดสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทาจิก เมื่อ พ.ศ. 2472 ทำให้ภาษาทาจิกเป็นภาษาราชการของรัฐร่วมกับภาษารัสเซีย มีการอพยพผู้พูดภาษาทาจิกจากสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกมาสู่ทาจิกิสถาน หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2534 รัฐบาลทาจิกิสถานได้สนับสนุนให้ใช้ภาษาทาจิกมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

ข้อมูล

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง