ข้อมูลผิดเกี่ยวกับโควิด-19

ข้อมูลเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการระบาดทั่วของโควิด-19

หลังมีการระบาดทั่วของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ก็ได้เกิดทฤษฎีสมคบคิด ข้อมูลผิด ๆ และข่าวปลอมเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด การแพร่กระจาย การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา และประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับโรคที่ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วทางสื่อสังคม ระบบส่งข้อความ[1]และสื่อมวลชนมีกระทั่งนักข่าวที่ถูกจับฐานเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการระบาดทั่วอนึ่ง คนดัง นักการเมือง และผู้นำทางสังคมอื่น ๆ ก็ช่วยกันกระจายข้อมูลด้วยสำหรับสื่อภาษาอังกฤษ งานศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลพบว่า ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ น่าจะเป็นตัวขับข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการระบาดทั่วที่แรงสุด[2]

มีการหลอกลวงขายผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจโรค ป้องกันโรค และรักษาโรค "แบบมหัศจรรย์"[3]มีกลุ่มศาสนาหลายกลุ่มที่อ้างว่า ความเชื่อในศาสนานั้น ๆ จะป้องกันผู้เชื่อจากไวรัสได้[4]มีคนบางส่วนที่อ้างว่าไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพที่หลุดโดยอุบัติเหตุหรือโดยตั้งใจจากแล็บ เป็นอุบายควบคุมจำนวนประชากร เป็นจารกรรมหรือเป็นผลข้างเคียงของเครือข่ายมือถือแบบ 5 จี[5]

องค์การอนามัยโลกได้แถลง "การระบาดทั่วของข้อมูลผิด" (infodemic) เกี่ยวกับไวรัส ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพของชาวโลก[6] แล้วจึงประกาศการร่วมมือกับมูลนิธิวิกิมีเดียโดยอนุญาตให้ใช้อินโฟกราฟิกและสื่ออื่น ๆ ขององค์การเพื่อสู้กับข้อมูลผิด [7]

ชนิด แหล่งกำเนิด และผลกระทบ

ในวันที่ 30 มกราคม 2020 สำนักข่าวอังกฤษบีบีซีรายงานทฤษฎีสมคบคิดและคำแนะนำทางสุขภาพซึ่งไม่ดีเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆตัวอย่างเด่นในเวลานั้นรวมคำแนะนำทางสุขภาพผิด ๆ ที่แชร์ไปตามสื่อสังคมและระบบส่งข้อความ บวกกับทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ เช่นโรคเกิดจากซุปค้างคาว (จีน) และเกิดจากแผนการแพร่โรคระบาดที่อาศัยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยโรคติดต่อในสัตว์แห่งสหราชอาณาจักรคือ Pirbright Institute[8][9]ต่อมาในวันที่ 31 หนังสือพิมพ์อังกฤษเดอะการ์เดียนระบุตัวอย่างข้อมูลผิด ๆ 7 อย่าง เพิ่มทฤษฎีสมคบคิดว่าโรคเป็นอาวุธชีวภาพและโรคสัมพันธ์กับเทคโนโลยี 5 จีและเพิ่มคำแนะนำทางสุขภาพที่ผิดอื่น ๆ[10]

เพื่อเร่งแชร์ข้อมูลงานวิจัย นักวิจัยจำนวนมากจึงเริ่มใช้เว็บไซต์ที่พิมพ์ผลงานวิจัยก่อนตีพิมพ์รวมทั้ง arXiv bioRxiv medRxiv และ SSRNงานวิจัยสามารถโหลดขึ้นไปยังเซิร์ฟเวอร์โดยไม่มีการตรวจสอบโดยผู้รู้เสมอกันหรือผ่านกระบวนการทางบรรณาธิการอื่น ๆ เพื่อรับรองคุณภาพ งานวิจัยบางงานจึงมีส่วนกระจายทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ กรณีเด่นที่สุดก็คือเอกสารที่โหลดขึ้น bioRxiv อ้างว่าไวรัสโควิด-19 มีลำดับยีนจากไวรัสเอชไอวีหลังจากมีการคัดค้าน งานจึงถูกเพิกถอน[11][12][13]เอกสารแบบก่อนตีพิมพ์เกี่ยวกับโควิด-19 เช่นนี้ได้แชร์กันอย่างกว้างขวางออนไลน์โดยมีข้อมูลที่แสดงว่าสื่อใช้เอกสารในเรื่องนี้เกือบเป็น 10 เท่าเทียบกับเรื่องอื่น ๆ[14]

ตามงานศึกษาของสถาบันศึกษาวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ข้อมูลผิด ๆ เรื่องโควิด-19 โดยมากเป็น "การแปรรูปในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่และบ่อยครั้งเป็นเรื่องจริง จะถูกปั่น บิดเบือน เปลี่ยนบริบท หรือเปลี่ยนใหม่"โดยมีข้อมูลน้อยกว่าที่กุขึ้นแบบโคมลอยงานศึกษาบางส่วนพบว่า ข้อมูลผิด ๆ จากผู้นำในสังคมรวมทั้งนักการเมือง คนดัง และคนสำคัญอื่น ๆ แม้จะเป็นส่วนน้อยแต่ก็ได้การเผยแพร่เป็นส่วนมากไปตามสื่อสังคมตามการจัดหมวดหมู่ของสถาบัน หมวดที่มีข้อมูลผิด ๆ มากสุด (ร้อยละ 39) เป็นข้ออ้างผิด ๆ หรือให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการกระทำหรือนโยบายเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งรัฐบาลและองค์กรสากลเช่น องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ[15]

การทดลองตามธรรมชาติ คือรูปแบบการทดลองที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครออกแบบหรือเข้าไปจัดการ ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรนากับการติดโรคและการตายที่เพิ่มขึ้นมีตัวอย่างเป็นข่าวทางทีวีคล้ายกันสองข่าวที่รายงานในเครือข่ายโทรทัศน์เดียวกันข่าวหนึ่งรายงานผลของโรคที่หนักกว่าโดยทำก่อนข่าวต่อมาอีกเดือนหนึ่งพบว่า บุคคลและกลุ่มคนที่ดูข่าวหลังแล้วรายงานผลติดโรคและตายในอัตราสูงกว่า[16]

ข้อมูลผิด ๆ ถูกใช้โดยนักการเมือง กลุ่มสนับสนุน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศต่าง ๆ ในทางการเมือง คือเพื่อบอกปัดหน้าที่รับผิดชอบ โทษประเทศอื่น ๆ และเพื่อไม่ให้การตัดสินใจก่อนหน้านี้ของตนถูกวิพากษ์วิจารณ์แต่บางครั้งก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย[17][18][19]ประเทศจำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่า กระจายข้อมูลผิด ๆ ในสื่อสังคมของประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างความตื่นตระหนก ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ บ่อนทำลายการอภิปรายทางประชาธิปไตย หรือเพื่อโปรโมตรูปแบบรัฐบาลของตน[20][21][22][23]

งานศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลซึ่งตรวจบทความภาษาอังกฤษ 38 ล้านบททั่วโลกพบว่า ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จที่แรงสุด[2]

แหล่งกำเนิด

จากแล็บจีน

ในการระบาดทั่วระยะแรก ๆ เกิดทฤษฎีสมคบคิดหนึ่งว่าสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นในจีนได้สร้างไวรัสขึ้นผ่านพันธุวิศวกรรมต้นกำเนิดแหล่งหนึ่งของทฤษฎีนี้เป็นอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยจารกรรมของอิสราเอล (Dany Shoham) ผู้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อนุรักษนิยมอเมริกันเดอะวอชิงตันไทมส์เกี่ยวกับแล็บนี้[24][25]ภายหลังนักการเมืองอเมริกันจึงเริ่มกระจายข้อมูลผิดนี้ รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา Tom Cotton, ประธานาธิบดีทรัมป์และเลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไมก์ พอมเพโอ[25]ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งในแล็บคือ Li-Meng Yan ผู้หนีจากประเทศจีนแล้วสนับสนุนแนวคิดนี้แต่เจ้าหน้าที่จำนวนมากก็ได้ออกมาหักล้างทฤษฎีสมคบคิดนี้ รวมทั้งนักชีววิทยาชาวอเมริกัน Richard H. Ebright ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ Anthony Fauci นักวิทยาศาสตร์คนดังต่าง ๆ และชุมชนหน่วยจารกรรมสหรัฐ[25]แม้ทฤษฎีนี้จะกระจายไปทั่วในสื่อสังคม แต่การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ต่อมาก็ได้แสดงว่า ไวรัสมีแหล่งกำเนิดจากค้างคาว[26]

เป็นจารกรรมจีนที่ทำในแล็บแคนาดา

มีคนอ้างว่า นักวิทยาศาสตร์จีนได้ขโมยไวรัสโคโรนามาจากแล็บวิจัยไวรัสในแคนาดาแต่กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) และสำนักงานสาธารณสุขแคนาดากล่าวว่านี่ไม่มีมูลฐานความจริง[27]เรื่องนี้ดูจะกลายมาจาก[28]ข่าวในเดือนกรกฎาคม 2019[29]ซึ่งระบุว่า นักวิจัยจีนถูกระงับไม่ให้เข้าไปยังแล็บจุลชีววิทยาแห่งชาติแคนาดาในเมืองวินนิเพ็ก ซึ่งเป็นแล็บไวรัสวิทยาระดับ 4 หลังจากนักวิจัยจีนถูกตำรวจแห่งชาติ (Royal Canadian Mounted Police) สอบสวนแต่เจ้าหน้าที่แคนาดาก็ระบุว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารบุคลากรโดยไม่มีความเสี่ยงต่อประชาชน[29]

เพราะสำนักข่าวแห่งชาติแคนาดาซีบีซี (Canadian Broadcasting Corporation) รายงานข่าวตามที่ว่าปลายเดือนมกราคม 2020 สำนักข่าวจึงระบุว่ารายงานของสำนักข่าวไม่เคยอ้างว่า นักวิทยาศาสตร์สองคนที่ว่าเป็นจารบุคคลหรือว่าพวกเขานำไวรัสโคโรนาใด ๆ ไปยังแล็บที่อู่ฮั่น[28]แม้จะมีตัวอย่างจุลชีพก่อโรคที่ส่งจากแล็บในวินนิเพ็กไปยังนครปักกิ่งในวันที่ 31 มีนาคม 2019 แต่ก็ไม่ใช่ตัวอย่างไวรัสโคโรนา สำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติแคนาดากล่าวว่า การส่งตัวอย่างเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลกลางทุกอย่าง และก็ไม่เคยมีการระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกสอบสวนได้ส่งตัวอย่างที่ว่าอย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกสอบสวนก็ไม่ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหน[27][30][31]

ในปลายเดือนมกราคม ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสงครามชีวภาพในสถาบันแบบ Think tank ของอิสราเอล (Begin-Sadat Center for Strategic Studies) เมื่อกล่าวถึงการแถลงการณ์ของเนโท ก็ได้ระบุความสงสัยทางจารกรรมว่าเป็นเหตุผลให้ไล่นักวิทยาศาสตร์ที่ว่าออกจากแล็บ แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าไวรัสโคโรนาถูกขโมยจากแล็บแคนาดาหรือเป็นผลของการวิจัยอาวุธชีวภาพเพื่อการทหารในประเทศจีน[32]

เป็นอาวุธชีวภาพของสหรัฐ

ตามหนังสือพิมพ์ The Economist ในลอนดอน มีทฤษฎีสมคบคิดมากมายในเน็ตของจีนว่า ซีไอเอสร้างโควิด-19 ขึ้นเพื่อทำลายจีน[33]ตามการสืบสวนของสำนักข่าวออนไลน์ ProPublica ทฤษฎีสมคมคิดและข้อมูลผิด ๆ เช่นนี้กระจายไปตามคำสั่งของสำนักข่าวของรัฐบาลจีน คือ China News Service[34]โดยหนังสือพิมพ์รัฐบาลจีนคือ Global Times และสำนักข่าวรัฐบาลจีน Xinhua News Agency ก็กระจายข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวแหล่งกำเนิดโรคโควิด-19 เช่นกัน[35]แต่สำนักข่าวอเมริกัน NBC News ก็ให้ข้อสังเกตว่ามีความพยายามหักล้างทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับสหรัฐที่ได้โพสต์ออนไลน์ เช่น เมื่อเสิร์ชคำว่า "Coronavirus is from the U.S." โดยมากก็จะได้บทความที่อธิบายว่าทำไมข้ออ้างเช่นนี้ไม่สมเหตุผล[36][A]

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวหาว่า รัสเซียได้รณรงค์สร้างข้อมูลผิด ๆ โดยใช้บัญชีสื่อสังคมเป็นพัน ๆ บัญชีของทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมเพื่อสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดอันไม่มีมูลซึ่งอ้างว่า ไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพของซีไอเอและสหรัฐกำลังทำสงครามทางเศรษฐกิจกับจีนด้วยไวรัส[49][50][51][B]

รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอิหร่าน (Reza Malekzadeh) ปฏิเสธทฤษฎีการก่อการร้ายทางชีวภาพ

ตามสถาบันวิจัยสื่อตะวันออกกลาง (Middle East Media Research Institute) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรในกรุงวอชิงตันดีซี มีนักข่าวภาษาอาหรับจำนวนมากที่ได้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดว่าไวรัสโควิด-19 ซาร์ส และไข้หวัดใหญ่ในสุกร ได้สร้างขึ้นแล้วกระจายอย่างตั้งใจเพื่อขายวัคซีนต่อต้านไวรัสนั้น ๆ โดยเป็น "ส่วนของสงครามทางเศรษฐกิจและทางจิตวิทยาที่สหรัฐทำต่อจีนโดยมุ่งทำให้จีนอ่อนแอและแสดงว่าเป็นประเทศล้าหลังและเป็นแหล่งเกิดโรค"[57]

ทฤษฎีเดียวกันก็รายงานในอิหร่านโดยเป็นส่วนของการโฆษณาชวนเชื่อของประเทศว่าไวรัสมีจุปประสงค์เพื่อ "ทำลายวัฒนธรรมและเกียรติยศของประเทศ"[58]แต่รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอิหร่านก็ปฏิเสธข้ออ้างว่าไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพ โดยชี้ในเดือนมีนาคม 2020 ว่า สหรัฐจะเสียหายอย่างมากจากโรคเขากล่าวว่า อิหร่านเป็นหนักก็เพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เพราะการไม่ระงับสายการบินได้แพร่เชื้อไวรัส และเพราะผู้ติดโรคต้น ๆ วินิจฉัยผิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่[59]

ทฤษฎีนี้ก็กระจายไปในประเทศฟิลิปปินส์และเวเนซุเอลาด้วย

เกิดจากคนยิว

ในโลกมุสลิม

เครือข่ายข่าวของรัฐบาลอิหร่านคือ Press TV อ้างว่า พวกคนยิวได้พัฒนาสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาที่ร้ายแรงกว่าเพื่อใช้กับอิหร่าน[60]เช่นเดียวกัน สื่ออาหรับอื่น ๆ ก็ได้กล่าวหาอิสราเอลและสหรัฐว่า พัฒนาแล้วกระจายโควิด-19 ไข้หวัดนก และซาร์ส[61]ส่วนผู้ใช้เครือข่ายสังคมให้ทฤษฎีอื่น ๆ รวมทั้งอ้างว่า คนยิวได้สร้างโควิด-19 เพื่อล้มตลาดหลักทรัพย์โลกเพื่อทำกำไรโดยใช้ข้อมูลล่วงหน้า[62]มีแม้กระทั่งแขกผู้รับเชิญในรายการทีวีตุรกีซึ่งระบุทฤษฎีที่ดุเดือดยิ่งกว่านั้น คือคนยิวได้สร้างโควิด-19 ไข้หวัดนก ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก เพื่อ "เปลี่ยนโลก ยึดประเทศ และตอนประชากรโลก"[63]

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในอิสราเอลได้ก่อปฏิกิริยาเชิงลบในอิหร่านอายะตุลลอฮ์ Naser Makarem Shirazi แห่งอิหร่านปฏิเสธข่าวว่า เขาได้ตัดสินว่าวัคซีนที่คนยิวทำจะจัดเป็นฮาลาล[64]โดยมีนักข่าวของ Press TV ได้ส่งข้อความทวิตเตอร์ว่า "ผมยอมเสี่ยงกับไวรัสดีกว่าใช้วัคซีนอิสราเอล"[65]ส่วนนักข่าวตุรกีคนหนึ่งอ้างว่า วัคซีนเช่นนั้นสามารถใช้เป็นอุบายทำหมันคนเป็นจำนวนมาก[66]

ในสหรัฐ

การประกาศเตือนของเอฟบีไอเกี่ยวกับการคุกคามของพวกขวาจัดที่ตั้งใจกระจายไวรัสโคโรนาไปยังคนกลุ่มจำเพาะ ๆ ได้กล่าวถึงการโทษคนยิวและผู้นำคนยิวว่า เป็นเหตุให้เกิดการระบาดทั่วและให้ต้องปิดรัฐต่าง [67]

องค์การนอกภาครัฐ Anti-Defamation League (ADL) ตีพิมพ์ข่าวและบล็อกเกี่ยวกับการต่อต้านคนยิวออนไลน์[68]รวมทั้งทฤษฎีสมบคบคิดและข้อมูลผิด ๆ เรื่องแหล่งกำเนิดของโควิด-19 การกระจายโรค การสร้างและการได้กำไรจากวัคซีนในบรรดาเรื่องต่าง ๆ แล้วเชื่อมมันกับเรื่องเท็จต่อต้านคนยิวที่ทำกันมาแล้วเป็นศตวรรษ ๆ โดยเฉพาะในช่วงกาฬโรคระบาด[69][70][71]ADL ยังโทษแพลตฟอร์มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก เพราะช่วยให้ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้กระจายไปเหมือนกับไวรัสโดยไม่ยอมตั้งนโยบายที่บังคับให้ลบข้อมูลเช่นนี้ออก ไม่บังคับใช้นโยบายการกลั่นกรองเนื้อความที่ก่อความเกลียดชังตามที่มีอยู่แล้ว และการล้มเหลวไม่สามารถจำกัดการขยายและกระจายเนื้อความเช่นนี้[72]

โทษคนมุสลิม

ในประเทศอินเดีย มีการโทษคนมุสลิมว่าเป็นผู้กระจายโรคหลังจากเกิดกรณีโรคในการประชุมทางศาสนาของกลุ่ม Tablighi Jamaat[73]มีรายงานถึงการด่าคนมุสลิมในสื่อสังคมและการทำร้ายคนมุสลิมในอินเดีย[74]มีข้ออ้างว่าคนมุสลิมกำลังขายอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสโครโรนา และมัสยิดในเมืองปัฏนากำลังให้ที่หลบซ่อนแก่คนจากอิตาลีและอิหร่าน[75]ซึ่งล้วนแสดงแล้วว่าเป็นเท็จ[76]

ในสหราชอาณาจักร มีรายงานเกี่ยวกับกลุ่มขวาจัดที่โทษคนมุสลิมในการระบาดของไวรัสโคโรนา แล้วอ้างผิด ๆ ว่า มัสยิดก็ฝืนเปิดอยู่แม้หลังรัฐบาลได้ประกาศงดการชุมนุมคนแบบมีจำนวนมากทั่วประเทศ[77]ในสหรัฐ องค์การนอกภาครัฐ Anti-Defamation League (ADL) รายงานว่า มีความเดียดฉันท์ต่อต้านคนมุสลิมที่เนื่องกับไวรัสโคโรนา[78]

เป็นแผนจำกัดจำนวนประชากร

ตามสำนักข่าวบีบีซี มีสมาชิกยูทูบ (Jordan Sather) ที่ได้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดว่ามีการต่อต้านประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ (QAnon conspiracy theory) และสนับสนุนขบวนต่อต้านวัคซีน ได้อ้างอย่างผิด ๆ ว่า โรคระบาดเป็นแผนคุมจำนวนประชากรโดยสถาบันวิจัยทางชีวภาพแห่งสหราชอาณาจักรคือ Pirbright Institute ร่วมกับบิล เกตส์[8][79][80]

นักพยากรณ์อากาศชาวอังกฤษคนดังคนหนึ่ง (Piers Corbyn) ได้ระบุไวรัสโคโรนาว่าเป็น "ปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อล้มเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่" และกล่าวว่า "วัคซีนจะทำให้ถึงตาย"เป็นบุคคลที่แพทย์ออกทีวีคนดังอีกคนหนึ่ง (Hilary Jones) ได้เรียกเมื่อให้สัมภาษณ์ร่วมกับนักพยากรณ์อากาศในรายการทีวียามเช้าว่า เป็นบุคคลอันตราย[81]

เครือข่ายมือถือ 5 จี

เสาอากาศ 5 จีบางครั้งถูกเผาเพราะโทษกันอย่างผิด ๆ ว่าเป็นเหตุของโควิด-19
ช่างของบริษัทรักษาสายโทรศัพท์ในสหราชอาณาจักรร้องขอความเห็นใจจากกลุ่มต่อต้าน 5 จีในเฟซบุ๊กว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครือข่ายมือถือ และการถูกแกล้งทำให้ตนทำงานคือดำรงรักษาสายโทรศัพท์และบรอดแบนด์ไม่ได้

ในเดือนกุมภาพันธ์ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นักทฤษฎีสมคบคิดในสื่อสังคมได้อ้างว่า ไวรัสโคโรนาสัมพันธ์กับเครือข่ายมือถือ 5 จี คืออ้างว่า การระบาดโรคในอู่ฮั่นและที่เรือสำราญ Diamond Princess เกิดจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของเทคโนโลยีไร้สายและของเครือข่ายมือถือ 5 จีและว่า เหตุการณ์ระบาดทั่วเป็นเรื่องกุเพื่ออำพรางความเจ็บป่วยที่มีเหตุจากระบบ 5 จี[82]

ในเดือนมีนาคม 2020 หมอทางเลือกอเมริกันผู้หนึ่ง (Thomas Cowan) ที่เคยฝึกเป็นแพทย์ปัจจุบันและปัจจุบันต้องทำงานแบบถูกคุมความประพฤติโดยคณะกรรมการแพทย์ของแคลิฟอร์เนียระบุว่า โควิด-19 เกิดจากระบบ 5 จีโดยอ้างหลักฐานว่า ประเทศในแอฟริกาไม่มีการระบาดทั่วอย่างสำคัญและแอฟริกาก็ไม่มีระบบ 5 จี[83][84]เขายังอ้างผิด ๆ ด้วยว่า ไวรัสเป็นของเสียจากเซลล์ที่กลายเป็นพิษเพราะสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และการระบาดทั่วของโรคไวรัสต่าง ๆ ตามประวัติศาสตร์เกิดพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยีวิทยุ[84]ต่อมาวิดีโอของหมอคนนี้ได้กระจายไปทั่วโดยได้รับการส่งต่อจากคนดัง ๆ รวมทั้งนักแสดงวูดดี แฮร์เรลสัน, นักแสดงจอห์น คูแซก และนักร้องเคอรี ฮิลสัน[85]

ทฤษฎีนี้ยังอาจถูกเผยแพร่โดยการรณรงค์สร้างข้อมูลเท็จแบบประสาน คล้ายกับที่องค์กรโน้มน้าวความคิดเห็นของรัสเซียคือ Internet Research Agency ได้ทำ[86]ต่อมาสำนักข่าวและองค์กรอื่น ๆ จึงได้หักล้างและติเตียนทฤษฎีนี้รวมทั้งรอยเตอร์ส[87]ยูเอสเอทูเดย์[88],องค์กรเช็คและแก้ความจริงของประเทศอังกฤษคือ Full Fact[89]และผู้อำนวยการของสมาคมสาธารณสุขอเมริกัน (American Public Health Association)[83][90]

ยังมีนักทฤษฎีสมคบคิดอีกคน (Mark Steele) ที่อ้างความรู้โดยตรงว่า ระบบ 5 จีสามารถสร้างอาการเหมือนกับที่ไวรัสก่อ[91]อดีตพยาบาลอีกผู้หนึ่งที่ถูกเลิกใบอนุญาตโดยคณะกรรมการแพทย์ทั่วไปอังกฤษ ก็ได้มาเป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดนี้อีกคนหนึ่ง โดยกล่าวมาเรื่อย ๆ ว่า อาการเช่นนี้เหมือนกับที่เกิดเมื่อถูกกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า[92]

ศาสตราจารย์ผู้อำนวยการของสถาบันให้บริการทางสาธารณสุของอังกฤษคือ NHS England จัดทฤษฎีที่สัมพันธ์เครือข่ายมือถือ 5 จีกับโควิด-19 ว่าเป็น "ข่าวปลอมชนิดแย่สุด"[93]เพราะไวรัสไม่สามารถแพร่ไปตามคลื่นวิทยุ และโควิด-19 ก็ได้กระจายและยังคงกระจายไปในประเทศที่ไม่มีเครือข่าย 5 จี[94]

มีไฟไหม้เสาร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัยถึง 20 กรณีในอังกฤษในช่วงสุดสัปดาห์เทศกาลอีสเตอร์ปี 2020[93]รวมทั้งในเมืองดาเก็นแฮมที่จับผู้ต้องสงสัยวางเพลิงได้ 3 คน ในเมืองฮัดเดอส์ฟีลด์ที่ไฟไหม้เสาโทรศัพท์ซึ่งหน่วยฉุกเฉินใช้ และในนครเบอร์มิงแฮมที่ไฟไหม้เสาโทรศัพท์ซึ่งให้บริการแก่โรงพยาบาลไนติงเกลของ NHS[93]ช่างโทรคมนาคมบางส่วนรายงานว่าถูกคุกคามด้วยความรุนแรงรวมทั้งจะแทงให้ถึงตาย โดยบุคคลที่เชื่อว่าตนทำงานกับเครื่อข่าย 5 จี[95]ในวันที่ 12 เมษายน 2020 มีการโทรเรียกตำรวจแห่งชาติและหน่วยดับเพลิงไปยังเสา 5 จีที่ถูกไฟไหม้ในประเทศไอร์แลนด์[96]ซึ่งตำรวจจัดว่าเป็นคดีวางเพลิง[96]จนกระทั่งรัฐมนตรีอังกฤษออกมากล่าวว่า ทฤษฎีว่าไวรัสโควิด-19 กำลังกระจายไปทางการสื่อสารไร้สายแบบ 5 จี เป็นเรื่อง "เหลวไลทั้งเพ และเหลวไหลอย่างเป็นอันตรายด้วย"[97]

จนถึงวันที่ 30 มีนาคม มีการวางเพลิง 29 ครั้งที่เสาโทรศัพท์มือถือในประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งกรณีที่มีข้อความเขียนไว้ว่า "Fuck 5G" ด้วย[98][99]มีเหตุการณ์ในประเทศไอร์แลนด์และไซปรัสด้วย[100]เฟซบุ๊กได้ลบบทความที่สนับสนุนให้ทำลายอุปกรณ์ 5 จี[101]ช่างที่ทำงานกับบริษัทลูกของบริติชเทเลคอมโพสต์ขอร้องในกลุ่มเฟซบุ๊กต่อต้าน 5 จีว่าอย่าทำการใด ๆ ต่อช่างเพราะไม่ได้เกี่ยวกับเครือข่ายมือถือ[102]กลุ่มสนับสนุนทางอุตสาหกรรม (Mobile UK) กล่าวว่า การกระทำเยี่ยงนี้มีผลต่อการดำรงรักษาเครือข่ายที่รับรองให้ทำงานจากบ้านและให้บริการแก่ผู้บริโภคที่อ่อนแอ แก่บริการฉุกเฉิน และแก่ รพ.[102]

มีวิดีโอที่ส่งต่ออย่างกว้างขวางซึ่งแสดงหญิงที่กล่าวหาพนักงานของบริษัทบรอดแบนด์ (Community Fibre) ว่าติดตั้งระบบ 5 จีโดยเป็นส่วนของแผนการฆ่าประชาชน[102]ในบรรดาบุคคลที่เชื่อว่าเครือข่าย 5 จีเป็นเหตุต่ออาการโควิด-19 ร้อยละ 60 ระบุว่า ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโดยมากมาจากยูทูบ[103]ในเดือนเมษายน 2020 ยูทูบประกาศว่าจะลดสื่อที่สัมพันธ์ระบบ 5 จีกับไวรัสโคโรนา[104]แต่วิดีโอทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับระบบ 5 จีโดยไม่กล่าวถึงไวรัสโคโรนาก็จะไม่ลบออก แม้ยังอาจจัดว่าเฉียดเส้นและดังนั้น ก็จะลบออกจากผลเสิร์ชแล้วทำให้เสียรายได้[104]นักทฤษฎีสมคบคิดผู้หนึ่ง (David Icke) ได้กระจายข้ออ้างที่ถูกดิสเครดิตแล้วไปตามวิดีโอ (ต่อมาถูกลบออก) ในยูทูบ, ใน Vimeo และในการสัมภาษณ์ทางช่องทีวีของรัฐ London Live ต่อมาจึงมีการเรียกร้ององค์กรผู้ควบคุมการดำเนินการ (คือ Ofcom) ให้เข้าไปจัดการ[105][106]ยูทูบใช้เวลาโดยเฉลี่ย 41 วันเพื่อลบวิดีโอเท็จเกี่ยวกับโควิดในช่วงครึ่งปีแรกของ 2020[107]

การรายงานการป่วยและการตายผิด 

ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างว่านับคนตายเกินจริง

ในเดือนสิงหาคม 2020 ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ทวีตว่า จำนวนคนตายเนื่องกับโควิด-19 ที่รายงานในสหรัฐ จริง ๆ ร้อยละ 6 เท่านั้นเกิดจากโรค แต่ก็นับเอาแต่มรณบัตรที่ระบุโควิด-19 เท่านั้นว่าเป็นเหตุต่อมาในเดือนตุลาคม หัวหน้านักสถิติอัตราการตายที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) จึงกล่าวว่า มรณบัตรเหล่านั้นไม่ได้ระบุลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดที่นำไปสู่ความตาย ดังนั้น จึงไม่สมบูรณ์แต่ซีดีซีประมวลข้อมูลการตายอาศัยการสอดส่องกรณีคนไข้ (case surveillance) บันทึกการตาย (vital record) และการตายเพิ่มผิดปกติ (mortality displacement)[108]ส่วนเว็บไซต์ FactCheck.org รายงานว่า แม้มรณบัตรเพียงร้อยละ 6 จะระบุโควิด-19 ว่าเป็นเหตุอย่างเดียวของการตาย โดยที่เหลือร้อยละ 94 มีภาวะอื่น ๆ ที่เป็นเหตุสนับสนุนให้ตาย แต่โควิด-19 ก็ระบุว่าเป็นเหตุการตายของมรณบัตรถึงร้อยละ 92 เพราะมันอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ รวมทั้งปอดบวมและกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน[109]ในกลางเดือนตุลาคม 2020 จำนวนคนตายเพราะโควิด-19 ในสหรัฐรายงานอยู่ที่ 218,511 ราย (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ), 219,681 ราย (มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์) และ 219,541 ราย (หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์)

ข้อมูลไม่ดี

ในสหรัฐ การรับมือกับการระบาดทั่วมีอุปสรรคเนื่องกับเทคโนโลยีที่ล้าสมัย (รวมทั้งเครื่องโทรสารและรูปแบบข้อมูลที่ส่งแลกเปลี่ยนกันไม่ได้)[110]การส่งและการบริหารข้อมูลที่ไม่ดี (หรือแม้แต่ไม่ได้ข้อมูลเลย) การไร้มาตรฐาน และการไร้ความเป็นผู้นำจากรัฐบาลกลาง[111]กฎหมายภาวะส่วนตัวยังเป็นปัญหาจนกระทั่งถึงขั้นว่า เป็นตัวยับยั้งการติดตามค้นหาคนที่มาสัมผัสกับผู้ป่วย[112]และข้อมูลที่จำเป็นบางครั้งกลับบิดเบือนอย่างจงใจในบางที่ เช่น ในรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐ[113]

จำนวนการตายที่ระบุว่าเป็นข่าวรั่ว

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ สำนักข่าว Taiwan News ตีพิมพ์บทความที่อ้างว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตจีน Tencent อาจพลาดทำข่าวรั่วแล้วแสดงอัตราการตายและการติดโรคจริง ๆ ในจีนคือสำนักข่าวระบุว่า ระบบ Tencent Epidemic Situation Tracker ได้แสดงกรณีติดโรคและจำนวนคนตายเป็นหลายเท่าของจำนวนทางการ โดยอ้างโพสต์เฟซบุ๊กของเจ้าของร้านขายเครื่องดื่มในไต้หวันและคนไต้หวันนิรนามอีกคนหนึ่ง[114]สำนักข่าวอื่น ๆ ก็ได้อ้างอิงบทความนี้จนกระจายไปอย่างกว้างขวางในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และ 4chan การกระจายข่าวได้จุดชนวนทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่ระบุว่า รูปตัวอย่างแสดงจำนวนการตายจริง ๆ ซึ่งต่างกับที่ระบุโดยทางการ[115]รองศาสตราจารย์แผนกสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์อธิบายว่า ตัวเลขจจากข่าวที่ "รั่ว" มาเช่นนี้ไม่สมเหตุผลและไม่สมกับความจริง เพราะโรคมีอัตราความตายทซึ่งต่ำกว่าที่ข่าวระบุมากส่วนโฆษกของ Tencent ตอบโดยอ้างว่า รูปนั้นสร้างขึ้น และมันประกอบด้วย "ข้อมูลผิด ๆ ที่เราไม่เคยตีพิมพ์"[116]

ต่อมาผู้เขียนข่าวเบื้องต้นก็ได้ให้สัมภาษณ์ทางทีวีแล้วยืนยันความเป็นจริงและความควรเป็นข่าวของข้อมูลรั่วเช่นนี้[115]

การเผาศพหมู่ในอู่ฮั่น

ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2020 มีรายงานในทวิตเตอร์ว่า มี "ข้อมูล" ที่แสดงว่ามีการปล่อยสารกำมะถันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเหนือเมืองอู่ฮั่นแล้วอ้างต่อไปว่า มีเหตุจากการเผาคนติดไวรัสโครนาที่เสียชีวิตโดยเผาเป็นหมู่ซึ่งสำนักข่าวอื่น ๆ นำไปเผยแพร่ รวมทั้งสำนักข่าวอังกฤษแนวตื่นเต้น Daily Express, Daily Mail และสำนักข่าวไต้หวัน Taiwan News[117][115] เว็บไซต์ตรวจความจริง Snopes ต่อมาหักล้างข้อมูลผิด ๆ นี้ โดยชี้ว่าแผนที่ซึ่งใช้ในข้ออ้างไม่ใช่ค่าระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เหนือเมืองอู่ฮั่นในเวลาจริงเป็นเพียงแต่แบบจำลองที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นอาศัยข้อมูลตามประวัติและตามที่พยากรณ์[118]

ข้อมูลผิด ๆ เพื่อโจมตีไต้หวัน

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2020 สำนักข่าวรัฐบาลไต้หวันคือ Central News Agency รายงานว่า มีข้อมูลผิด ๆ เป็นจำนวนมากที่ปรากฏในเฟซบุ๊กซึ่งอ้างว่า การระบาดทั่วของโควิด-19 ในไต้หวันควบคุมไม่ได้ ว่ารัฐบาลได้ปกปิดการติดโรค และประธานาธิบดีไต้หวันไช่ อิงเหวินได้ติดโรคองค์กรตรวจสอบความจริงในไต้หวันเสนอว่า ข้อมูลผิด ๆ ในเฟซบุ๊กคล้ายกับที่พบในจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะใช้อักษรจีนตัวย่อและศัพท์ภาษาจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งองค์กรเตือนว่า จุดประสงค์ก็เพื่อโจมตีรัฐบาลไต้หวัน[119][120][121]

ในเดือนมีนาคม 2020 สำนักงานสืบสวนของกระทรวงยุติธรรมไต้หวันเตือนว่า จีนกำลังพยายามตัดทอนความเชื่อใจในข่าวจริงโดยวาดภาพรายงานของรัฐบาลไต้หวันว่าเป็นข่าวปลอมเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงได้รับคำสั่งให้ใช้ทุกวิถีทางเพื่อตรวจว่าบทความเหล่านี้สัมพันธ์กับคำสั่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนหรือไม่แต่สำนักงานไต้หวันของจีนแผ่นดินใหญ่ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่าเป็นการโกหก และว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ากำลัง "กระตุ้นให้เกลียดกัน" ระหว่างจีนทั้งสองฝ่าย[122]แต่ตามหนังสือพิมพ์อเมริกันเดอะวอชิงตันโพสต์ จีนก็ได้รณรงค์ทำข้อมูลเท็จเพื่อโจมตีไต้หวันเป็นทศวรรษ ๆ แล้ว[123]

ส่วนผู้อำนวยการด้านวิจัยที่สถาบันเพื่ออนาคตอันเป็นสถาบัน think tank ได้วิเคราะห์โพสต์เหล่านั้นแล้วสรุปว่า โดยมากมาจากผู้ใช้ธรรมดา ๆ ในจีน ไม่ใช่มาจากรัฐแต่เขาก็วิจารณ์รัฐบาลจีนในฐานะอนุญาตให้ข้อมูลผิด ๆ เหล่านั้นกระจายออกนอกประเทศ (ผ่านการตรวจพิจารณาของ Great Firewall) ซึ่งเขาจัดว่า "มุ่งร้าย"[124]ตามสำนักข่าว Taiwan News ข้อมูลผิด ๆ ถึง 1/4 เชื่อว่ามาจากจีน[125]

ในวันที่ 27 มีนาคม 2020 องค์กรไม่หวังผลกำไรที่รัฐบาลสหรัฐจัดตั้งในไต้หวันคือ American Institute in Taiwan ประกาศว่าจะร่วมมือกับศูนย์เช็คความจริงของไต้หวันเพื่อแก้ปัญหาข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับโควิด-19[126]

การใช้แผนที่ผิด 

ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ แผนที่ซึ่งเก่าแก่เป็นทศวรรษและแสดงการระบาดของไวรัสที่เป็นไปได้ของโปรเจ็กต์ World Population Project ถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ โดยสำนักข่าวออสเตรเลีย (รวมหนังสือพิมพ์แนวตื่นเต้นอังกฤษ คือ The Sun, Daily Mail และ Metro)[127]ซึ่งอ้างว่าเป็นแผนที่ระบุการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนาในปี 2020 แล้วต่อมาก็กระจายไปตามสื่อสังคมของสำนักข่าวเหล่านั้น ๆ แม้สำนักข่าวบางส่วนภายหลังจะลบแผนที่ออก บีบีซีก็รายงานว่ายังมีบางส่วนที่ยังคงแผนที่ไว้[127]

นางพยาบาลนักเปิดเผย

วันที่ 24 มกราคม 2020 มีวิดีโอเกี่ยวกับบุคคลที่ดูเหมือนกับพยาบาลจีนในมณฑลหูเป่ย์ที่กระจายไปทางออนไลน์[128]ซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในอู่ฮั่นอันร้ายแรงกว่าที่รัฐบาลรายงานคืออ้างว่าคนเกิน 90,000 คนได้ติดเชื้อไวรัสในจีน ว่าไวรัสอาจติดต่อจากคน ๆ เดียวไปยัง 14 คน (R0=14) และว่าไวรัสกำลังกลายพันธุ์เป็นรอบที่สอง[129]มีคนดูวิดีโอเป็นล้าน ๆ ครั้งในสื่อสังคมต่าง ๆ และกล่าวถึงในรายงานออนไลน์ต่าง ๆ มากมาย

บีบีซีระบุว่า ผิดจากคำบรรยายภาษาอังกฤษที่มีในวิดีโอรุ่นหนึ่ง หญิงผู้นี้ไม่ได้อ้างว่าเป็นพยาบาลหรือหมอ และเครื่องแบบและหน้ากากของเธอก็ไม่เหมือนกับของบุคลากรทางแพทย์ในมณฑลหูเป่ย์[8]ข้ออ้างเกี่ยวกับ R0=14 ก็ไม่เข้ากับการประเมินของผู้เชี่ยวชาญซึ่งให้ค่าประเมินระหว่าง 1.4-2.5 ในตอนนั้น[130]และการอ้างการติดเชื้อถึง 90,000 รายก็ไม่มีข้อพิสูจน์อะไร[8][129]

การลดใช้โทรศัพท์มือถือ

มีการระงับใช้โทรศัพท์มือถือถึง 21 ล้านรายสำหรับบริษัทโทรศัพท์มือถือใหญ่สุด 3 รายในจีน ซึ่งใช้เป็นหลักฐานผิด ๆ ว่าเกิดคนตายเป็นล้าน ๆ เพราะไวรัสโคโรนาในจีน[131]เพราะการะงับเกิดเนื่องกับเศรษฐกิจที่แย่ลงและการลดการติดต่อทางสังคมในช่วงการระบาดทั่ว[131]

Casedemic

ผู้ปฏิเสธโควิด-19 ได้ใช้คำว่า "casedemic" (แทน pandemic) โดยเป็นทฤษฎีสมคบคิดหนึ่งที่ว่า โควิด-19 ไม่เป็นอันตรายและจำนวนโรคซึ่งรายงานเป็นเพียงผลของการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นแนวคิดนี้ดึงดูดใจนักปฏิบัติการต่อต้านวัคซีนเป็นพิเศษ ผู้ใช้แนวคิดเพื่ออ้างว่า ปฏิบัติการทางสาธารณสุขโดยเฉพาะวัคซีน ไม่จำเป็นเพื่อแก้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการระบาดทั่วจอมปลอม[132][133][134][135]

วิศวกรชื่อว่า Ivor Cummins ดูเหมือนจะเป็นคนบัญญัติคำนี้ขึ้นในเดือนสิงหาคม 2020 เป็นบุคคลนิยมในหมู่ผู้ปฏิเสธโควิด-19[132]ผู้สนับสนุนการแพทย์ทางเลือกคนหนึ่ง (Joseph Mercola) ได้นำคำนี้ไปใช้ เมื่อพูดเกินจริงถึงผลบวกเทียมที่ได้ในการตรวจโรคด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) เพื่อสร้างเรื่องเท็จว่า การตรวจเช่นนี้ไม่สมเหตุผลจริง ๆ แล้ว ปัญหาของ PCR เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่ก็ทำการเพื่อชดใช้ผลบวกเทียมแล้วคำปฏิเสธโควิดเช่นนี้ยังละเลยการกระจายโรคแบบไร้อาการ จำนวนกรณีที่อาจไม่ได้ตรวจในช่วงเบื้องต้นของการระบาดทั่ว เทียบกับปัจจุบันที่ได้เพิ่มการตรวจและเพิ่มความรู้หลังจากช่วงนั้น และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตรวจด้วย PCR[132]

การกระจายโรค

จากมนุษย์สู่มนุษย์

วันที่ 3 มกราคม 2020 คณะกรรมการสาธารณสุขอู่ฮั่นได้แถลงการณ์ถึงอาการปอดบวมเหตุไวรัสชนิดใหม่แต่กล่าวว่าโรคไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง[136]

ภูมิคุ้มกันหมู่ในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ปี 2019

วันที่ 31 มีนาคม 2020 นักอนุรักษนิยมชาวอเมริกันคนหนึ่ง (Victor Davis Hanson) ได้เผยแพร่ทฤษฎีว่า โควิด-19 อาจมีอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ฤดูใบไม้ตกของปี 2019 จึงทำให้เกิดระดับภูมิคุ้มกันหมู่ และสามารถอธิบายความแตกต่างของอัตราการติดเชื้อในเมืองต่าง ๆ เช่น นครนิวยอร์กเทียบกับลอสแอนเจลิส[137]ต่อมาจึงมีการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะลอสแอนเจลิสไทมส์อีกว่า มีหลักฐานที่แสดงว่า ไวรสัอาจมีอยู่ในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019[138]แต่การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมและทางสารภูมิต้านทานก็หักล้างแนวคิดว่าไวรัสมีอยู่ในสหรัฐก่อนเดือนมกราคม 2020[139][140][141][142]

คนไข้แรก

ในเดือนมีนาคม นักทฤษฎีสมคบคิดได้เริ่มข่าวลือเท็จว่า ทหารกองหนุนสหรัฐคนหนึ่ง (Maatje Benassi) เป็นคนไข้แรกของการระบาดทั่ว เพราะเธอได้ร่วมงานเกมโลกทหาร 2019 (2019 Military World Games) ก่อนที่โรคจะเริ่มระบาด แม้ว่าเธอจริง ๆ ไม่เคยตรวจพบไวรัสนักทฤษฎีสมคบคิดยังเชื่อมครอบครัวของเธอกับดีเจอิตาลีคนดัง Benny Benassi ทั้ง ๆ ที่ดีเจก็ไม่มีความสัมพันธ์กับเธอและก็ไม่เคยติดไวรัสด้วย[143]

ภูมิต้านทาน/ความอ่อนแอเพราะชาติพันธุ์

มีการอ้างว่าคนชาติพันธุ์บางชาติอ่อนแอหรือแข็งแรงต่อโควิด-19 ยิ่งกว่าแต่โควิด-19 ก็เป็นโรคสัตว์ที่ติดต่อมายังมนุษย์โรคใหม่ ดังนั้น จึงไม่มีกลุ่มมนุษย์ใด ๆ ที่อาจเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนกลุ่มอื่นได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีรายงานที่กระจายไปอย่างรวดเร็วผ่านเฟซบุ๊กว่า นักศึกษาแคเมอรูนในจีนหายจากโรคอย่างสิ้นเชิงเพราะมีเชื้อสายแอฟริกาแต่แม้นักศึกษาคนหนึ่งจะรักษาหาย แต่สื่ออื่น ๆ ก็ระบุว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า คนแอฟริกาทนต่อไวรัสยิ่งกว่า และการกล่าวเช่นนี้เป็นข้อมูลเท็จ[144]เลขาธิการกระทรวงสาธารณสุขเคนยาปฏิเสธตรง ๆ ข่าวลือที่ว่า "คนผิวดำจะไม่ติดไวรัสโคโรนา" แล้วประกาศกรณีแรกของเคนยาในวันที่ 13 มีนาคม[145]ข่าวลือนี้โทษว่าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาติดโรคและตายในอัตราสูงกว่า[146][147]

ยังมีการอ้างถึง "ภูมิคุ้มกันของคนอินเดีย" ต่อโควิด-19 อาศัยความเป็นอยู่ของคนอินเดีย (เช่น เป็นคนกินเจ)ซึ่งศาสตราจารย์ที่กลุ่มมหาวิทยาลัยการแพทย์อินเดียคือ All India Institute of Medical Sciences (AIIMS) กล่าวว่า "เหลวไหลโดยสิ้นเชิง"เขากล่าวว่า ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไวรัส-19 เพราะเป็นเชื้อใหม่ มันยังไม่ชัดเจนแม้กระทั่งว่าคนที่หายป่วยจากโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันที่คงยืน เพราะนี่เกิดกับไวรัสบางอย่าง ไม่เกิดกับบางอย่าง[148]

ผู้นำสูงสุดอิหร่านแอลี ฆอเมเนอีอ้างว่า สหรัฐได้ดัดแปลงไวรัสทางพันธุกรรมโดยเฉพาะ ๆ เพื่อใชักับคนอิหร่าน แล้วใช้ข้ออ้างเท็จนี้อธิบายว่าทำไมโควิด-19 จึงมีผลหนักต่ออิหร่านแต่ก็ไม่ได้ให้หลักฐานอะไร [149][150]

นักวิจัยชาวจอร์แดนกลุ่มหนึ่งตีพิมพ์รายงานที่อ้างว่า คนอาหรับอ่อนแอต่อโควิด-19 น้อยกว่าเพราะมีการแปรผันทางพันธุกรรมอย่างหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงต่อคนตะวันออกกลาง[151]

การโทษคนพวกอื่นโดยชาติพันธุ์และศาสนา

มีคนถูกทำร้ายเพราะความเกลียดกลัวต่างชาติเนื่องกับโควิด-19 โดยคนร้ายโทษเหยื่ออาศัยความต่างกันทางชาติพันธุ์ว่า แพร่โควิดคนที่ดูเหมือนคนจีนอาจถูกทำร้ายทางกายและทางวาจาเนื่องกับโควิดในประเทศต่าง ๆ โดยบุคคลที่กล่าวหาคนจีนว่าแพร่ไวรัส[152][153][154]ในประเทศจีนเองก็มีการเลือกปฏิบัติ (เช่น การขับไล่และการไม่ให้บริการในร้านค้า) ต่อคนที่มาจากใกล้ ๆ อู่ฮั่น (ที่การระบาดทั่วได้เริ่ม) และต่อคนที่มองว่าไม่ใช่คนจีน (โดยเฉพาะคนแอฟริกา) เพราะรัฐบาลจีนได้โทษกรณีที่ยังเพิ่มขึ้นเนื่องกับการนำไวรัสเข้ามาใหม่จากต่างประเทศ (ทั้ง ๆ ที่ร้อยละ 90 ของกรณีเกิดใหม่เป็นคนถือหนังสือเดินทางจีน)โดยประเทศใกล้เคียงก็เลือกปฏิบัติต่อคนตะวันตกด้วย[155][156][157]

คนยังโทษคนกลุ่มอื่น ๆ ตามการแบ่งพวกทางสังคมที่มีอยู่แล้ว โดยบางครั้งอ้างกรณีโควิด-19 ของกลุ่มนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในอินเดีย มีคนโทษ หลีกเลี่ยง และเลือกปฏิบัติต่อคนมุสลิมอย่างกว้างขวาง (รวมการทำร้ายอย่างรุนแรง) โดยใช้ข้ออ้างซึ่งไร้มูลฐานว่า คนมุสลิมจงใจแพร่โควิด-19 และงานประชุมมุสลิมหนึ่งที่เกิดการติดต่อของโรคได้รับความสนใจจากประชาชนยิ่งกว่างานคล้าย ๆ ที่จัดโดยคนกลุ่มอื่นหรือโดยรัฐบาล[158]กลุ่มคนที่ถือคนขาวว่าดีสุดก็ได้โทษคนไม่ใช่คนขาวกลุ่มอื่น ๆ และสนับสนุนให้จงใจแพร่โรคแก่คนกลุ่มน้อยที่ตนไม่ชอบ เช่น คนยิว[159][160]

การกินซุปค้างคาว

สื่อข่าวบางแห่งรวมทั้งหนังสือพิมพ์แนวตื่นเต้นอังกฤษ Daily Mail และทีวีข่าวประจำชาติของรัสเซีย RT บวกกับบุคคลต่าง ๆ ได้ส่งต่อวิดีโอที่แสดงหญิงจีนกินค้างคาว แล้วบอกอย่างเป็นเท็จว่า ได้ถ่ายในอู่ฮั่นและเชื่อมมันกับโรคระบาด[161][162]แต่วิดีโอนี้เป็นคลิปที่ไม่เกี่ยวกันของนักเดินทางแล้วบล็อกวิดีโอชาวจีนผู้หนึ่ง (Wang Mengyun) ที่ได้กินซุปค้างคาวในประเทศเกาะคือ ปาเลา ในปี 2016[161][162][163][164]เธอยังได้โพสต์คำขอโทษในแพลตฟอร์ม Weibo[163][164]แล้วเล่าว่าเธอถูกทารุณกรรมและถูกขู่ทำร้าย[163]และระบุว่าเธอเพียงแต่ต้องการโชว์อาหารปาเลา[163][164]

การกระจายข้อมูลผิดเกี่ยวกับการกินคางค้าวจัดว่าเป็นความรู้สึกกลัวคนต่างชาติและเชื้อชาตินิยมโดยต่อต้านคนเอเชีย[165][166][167]นี้เทียบกับความจริงที่นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงแล้วว่า ไวรัสเกิดในค้างคาว แล้วกระจายไปยังสัตว์ถูกเบียนในระหว่างก่อนที่จะมาติดมนุษย์[165][168]

การชุมนุมใหญ่

นักการเมืองประชานิยมแนวอนุรักษ์นิยมเกาหลีใต้ผู้หนึ่ง (Jun Kwang-hun) ได้บอกผู้คล้อยตามว่า ไม่มีความเสี่ยงในการชุมนุมขนาดใหญ่เพราะไม่สามารถติดไวรัสกลางแจ้งโดยผู้ติดตามจำนวนมากก็เป็นผู้สูงวัย[169]

ช่วงชีวิตของไวรัส

มีข้อมูลผิดที่กระจายไปว่า ไวรัสโควิด-19 มีช่วงชีวิตเพียง 12 ชม. และการอยู่บ้านเป็นเวลา 14 ชม. ในเคอร์ฟิวชานาตา (เคอร์ฟิวประชาชน) ของอินเดียก็จะทำลายโซ่การติดต่อ[170]โดยอีกข้อความหนึ่งอ้างว่า การอยู่เคอร์ฟิวชานาตาจะลดกรณีโควิดได้ร้อยละ 40[170]

ยุง

มีการอ้างว่า ยุงแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาแต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าจริงเพราะไวรัสโคโรนาแพร่เชื้อผ่านละอองน้ำลายและน้ำมูก[94]

เรื่องต่าง 

มีประกาศปลอมเรียกคืนสินค้าของบริษัทคอสต์โคที่กระจายไปยังสื่อสังคมและอ้างว่า กระดาษทิชชูยี่ห้อที่บริษัทเองจัดขายปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 เพราะผลิตในจีนแต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าไวรัสสามารถรอดชีวิตบนผิววัสดุเป็นระยะเวลานาน (เช่น เมื่อขนส่งสินค้า) และบริษัทก็ไม่ได้เรียกคืนสินค้านั้นจริง [171][172][173]

มีประกาศปลอมที่อ้างว่ามาจากกระทรวงสุขภาพออสเตรเลียและระบุว่า ไวรัสโคโรนาสามารถกระจายไปตามปั๊มน้ำมัน ทุกคนจึงควรใส่ถุงมือเมื่อปั๊มน้ำมันใส่รถของตน [174]

มีการอ้างว่า การใส่รองเท้าในบ้านเป็นเหตุผลให้ไวรัสโคโรนากระจายตัวในอิตาลี[175]

ความปลอดภัยของเรือสำราญจากโรค

ไม่ว่าบริษัทเรือสำราญจะอ้างอย่างไรก็ตาม มีการติดโรคโควิดจำนวนมากในภูมิอากาศร้อน โดยประเทศต่าง ๆ ในแถบแคริบเบียน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอ่าวเปอร์เซียต่างก็ประสบผลกระทบจากโรคอย่างรุนแรง

ในเดือนมีนาคม 2020 หนังสือพิมพ์ Miami New Times รายงานว่า ผู้จัดการเรือสำราญนอร์เวย์ได้เตรียมคำตอบเพื่อชวนลูกค้าที่ยังกังวลให้จองที่เรือสำราญ รวมทั้งข้ออ้างซึ่ง "เป็นเท็จอย่างทนโท่" ว่า ไวรัสโคโรนา "สามารถรอดชีวิตได้แต่ในอุณหภูมิต่ำ ดังนั้น ทะเลแคริบเบียนจึงเป็นการเลือกที่ดีมากเมื่อไปเที่ยวเรือสำราญครั้งหน้าของคุณ" ว่า "นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางแพทย์ได้ยืนยันแล้วว่า อากาศอุ่นระดับฤดูใบไม้ผลิจะเป็นจุดยุติของไวรัสโคโรนา" และว่า "ไวรัสไม่สามารถรอดชีวิตในอุณหภูมิซึ่งอุ่นเป็นอย่างดี โดยเป็นอุณหภูมิเขตร้อนที่เรือสำราญของคุณจะแล่นไป"[176]

หวัดเป็นโรคประจำฤดู (คือมีน้อยกว่าในช่วงฤดูร้อน) ในบางประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดแม้โรคโควิด-19 อาจเป็นไปตามฤดูบ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเจน[177][178][179]ไวรัสโควิด-19 กระจายไปตามเส้นเดินทางสายการบินรวมทั้งที่ต่าง ๆ ในเขตร้อน[180]การระบาดของโรคในเรือสำราญเป็นเรื่องสามัญเพราะคนอายุมากกว่าอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิดและจับพื้นผิวที่คนอื่นได้จับ[181][182]

ดูเหมือนว่า โควิด-19 จะติดต่อได้ในทุกภูมิอากาศ[94]เพราะมีผลหนักต่อประเทศเขตร้อนหลายประเทศยกตัวอย่างเช่น เมืองดูไบ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียสตลอดปี และมีสนามบินที่อ้างว่ามีการขนส่งโดยสารนานาประเทศมากที่สุด มีการติดโรคเป็นพัน 

การป้องกัน

ประสิทธิผลของน้ำยาทำความสะอาดมือ สบู่ต้านแบคทีเรีย

การล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาทีเป็นวิธีทำความสะอาดมือซึ่งดีที่สุด รองลงมาก็คือน้ำยาทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 60[183]

ข้ออ้างว่าน้ำยาทำความสะอาดมือฆ่าเพียงแบคทีเรียแต่ไม่ฆ่าไวรัส และดังนั้น จึงไม่มีผลต่อโควิด-19 ได้กระจายไปอย่างกว้างขวางในทวิตเตอร์และสื่อสังคมอื่น ๆแม้ประสิทธิผลของมันจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ แต่น้ำยาทำความสะอาดมือโดยมากก็ฆ่าไวรัสโควิด-19[184][185]ดังนั้น จึงแนะนำให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดมือ[94]แม้จะไม่เหมือนกับสบู่คือไม่ได้ผลสำหรับเชื้อโรคทุกอย่าง[186]

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐแนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที โดยระบุว่าเป็นวิธีทำความสะอาดมือซึ่งดีที่สุดในสถานการณ์โดยมากแต่ถ้าไม่มีสบู่และน้ำ น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 60 ก็ใช้แทนได้ ยกเว้นถ้ามองเห็นได้ว่ามือไม่สะอาดหรือมีคราบน้ำมัน[183][187]ทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐและองค์การอาหารและยาสหรัฐต่างก็แนะนำสบู่ธรรมดาเพราะไม่มีหลักฐานว่า สบู่ต้านแบคทีเรียดีกว่า โดยยังมีหลักฐานที่จำกัดด้วยว่า อาจแย่กว่าในระยะยาว[188][189]

การใช้หน้ากากในที่สาธารณะ

ในเดือนกรกฎาคม 2020 หัวหน้าหน่วยงานทางสาธารณสุขสหรัฐคนหนึ่ง (U.S. Surgeon General) กระตุ้นให้คนใส่หน้ากากโดยยอมรับว่า การแก้ความที่รัฐบาลระบุก่อนหน้า (รวมทั้งตนเอง) ว่าหน้ากากไม่ได้ผลสำหรับสาธารณชนเป็นเรื่องยาก[190]

แม้เจ้าหน้าที่ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชีย จะแนะนำให้ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ แต่ในภูมิภาคอื่น ๆ รัฐบาลก็ให้คำแนะนำที่ขัดแย้งกันเองแล้วสร้างความสับสนแก่ประชาชน[191]รัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ เช่น ในสหรัฐ เบื้องต้นไม่สนใจให้สาธารณชนใช้หน้ากาก และมักให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดหรือไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับประสิทธิผลของหน้ากาก[192][193][194]แต่ก็มีผู้วิเคราะห์ซึ่งระบุเหตุการสื่อความต่อต้านหน้ากากเช่นนี้ว่า เป็นการบริหารการขาดแคลนของหน้ากาก เพราะรัฐบาลไม่ดำเนินการแก้ปัญหาเร็วพอ โดยให้ข้อสังเกตว่า ข้ออ้างเช่นนี้เกินวิทยาศาสตร์และไม่ใช่การโกหกธรรมดา [194][195][196][197]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หัวหน้าหน่วยงานทางสาธารณสุขสหรัฐ (U.S. Surgeon General) ผู้เป็นวิสัญญีแพทย์คนหนึ่งทวีตว่า "จริง ๆ นะพวกคุณ จงหยุดซื้อหน้ากาก เพราะมันไม่มีผลป้องกันสาธารณชนจากการติดไวรัสโคโรนา"แต่ภายหลังก็ถอยจากจุดยืนนี้เมื่อหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าหน้ากากสามารถกำจัดการติดต่อของไวรัส[198][199]อนึ่ง ในวันที่ 12 มิถุนายน 2020 สมาชิกของหน่วยงานเฉพาะกิจไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาวคนดังคือ นพ. (วิทยาภูมิคุ้มกัน) Anthony Fauci ก็ยืนยันว่า คนอเมริกันถูกบอกให้ไม่ใส่หน้ากากตั้งแต่ต้นเพราะหน้ากากขาดแคลน แล้วอธิบายว่าหน้ากากจริง ๆ มีผล[200][201][202][203]

สำนักข่าวบางแห่งอ้างว่า หลอดผ้าที่นำมาสวมคอให้อุ่น (neck gaiter) เมื่อเอามาใช้แทนหน้ากากเพื่อป้องกันโควิดความจริงแย่กว่าไม่ใส่มันเลย โดยตีความงานศึกษาหนึ่งผิด ๆ เพราะเป็นงานศึกษาที่แสดงวิธีการประเมินหน้ากาก และไม่ได้ประเมินประสิทธิภาพของหน้ากากในรูปแบบต่าง [204][205][206]งานศึกษายังได้ตรวจดูคนใส่หลอดผ้าที่ว่าซึ่งทำมาจากผ้าผสมโพลีเอสเตอร์และสแปนเด็กซ์เพียงรายเดียว ซึ่งจริง ๆ ไม่พอเป็นหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างที่สื่อข่าวว่า[205]งานศึกษาพบว่าหลอดผ้าดังว่า ซึ่งทำมาจากวัสดุที่บางและยืดได้ ดูเหมือนจะไม่มีประสิทธิภาพจำกัดละอองน้ำที่คนใส่พ่นออกผู้เขียนงานศึกษานี้คนหนึ่งกล่าวว่า ผลที่ได้น่าจะเป็นเพราะวัสดุและไม่ใช่เพราะรูปแบบของผ้า โดยระบุว่า "หน้ากากที่ทำจากผ้าเช่นนั้นน่าจะมีผลเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด"[207]ผู้ร่วมเขียนงานศึกษานี้อีกคนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาพยายามใช้คำอย่างระมัดระวังแล้วในการสัมภาษณ์ แต่ข่าวนี้บิดเบือนอย่างควบคุมไม่ได้สำหรับงานศึกษาที่ตรวจสอบเทคนิคการวัด ไม่ใช่ทดสอบหน้ากาก[204]

ยังมีข้ออ้างผิด ๆ ที่กระจายไปว่า การใช้หน้ากากมีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ลดออกซิเจนในเลือด[208]เพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด[209]และทำภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอ[210]มีข้ออ้างผิด ๆ ด้วยว่า หน้ากากก่อปอดบวมที่ดื้อยาปฏิชีวนะเพราะหน้ากากกันไม่ให้พ่นจุลชีพก่อโรคออกจากร่างกาย[211]

คนต่อต้านไม่ใส่หน้ากากยังใช้ข้ออ้างกำมะลอทางกฎหมายหรือทางสุขภาพเมื่อไม่ยอมใส่หน้ากาก[212]เช่นอ้างว่ากฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติกับคนพิการ (Americans with Disabilities Act) ยกเว้นตนให้ไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐต่อมาโต้ว่า กฎหมาย "ไม่ได้ยกเว้นคนพิการทุกอย่างจากการปฏิบัติตามข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยที่เป็นธรรมและจำเป็นต่อการดำเนินการที่ปลอดภัย"[213]กระทรวงยังประกาศเตือนเรื่องการใช้บัตรปลอมที่ "ยกเว้น" ผู้ถือให้ไม่ต้องใส่หน้ากาก โดยระบุว่าเป็นบัตรปลอมซึ่งกระทรวงไม่ได้ออกให้[214][215]

ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2020 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์โรดรีโก ดูแตร์เต กล่าวว่า คนที่ไม่มีเครื่องมือทำความสะอาดอาจใช้แก๊สโซลีนเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อหน้ากากของตน[216]โดยกล่าวต่อไปว่า "สำหรับคนที่ไม่มีไลซอล ให้จุ่มมันในแก๊สโซลีนหรือน้ำมันดีเซลเพียงให้หาแก๊สโซลีนแล้วจุ่มมือ (ที่มีหน้ากาก) ลงในนั้น"[216]โฆษกของเขาต่อมาจึงต้องออกมาแก้ความนี้[216]

แอลกอฮอล์ (เอทานอลและเมทานอลที่เป็นพิษ)

ตรงข้ามกับที่รายงานในบางที่ การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ป้องกันโควิด-19 และสามารถเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพทั้งระยะสั้นและยาว[94]แอลกอฮอล์ที่ใช้ดื่มเป็นชนิดเอทานอลแอลกอฮอล์อื่น ๆ เช่น เมทานอล ซึ่งเป็นพิษอย่างรุนแรง อาจมีในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำอย่างแย่มาก[217]

อิหร่านมีรายงานเมทานอลเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากความเชื่อผิด ๆ ว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะรักษาหรือป้องกันไวรัสโคโรนา[218]เพราะแอลกอฮอล์สำหรับดื่มผิดกฎหมายในอิหร่าน แอลกอฮอล์ที่ทำเองอาจมีเมทานอล[219]ตามสื่อข่าวอิหร่านเดือนมีนาคม 2020 คนเกือบ 300 คนได้เสียชีวิตและเกินกว่าพันล้มป่วยเพราะเมทานอลเป็นพิษ แต่สำนักข่าวเอพีระบุว่ามีคนตาย 480 รายและมีคนป่วย 2,850 คน[220]จำนวนคนตายเนื่องกับเมทานอลเป็นพิษในอิหร่านได้เพิ่มเป็นเกิน 700 คนในเดือนเมษายน[221]เพราะสื่อสังคมอิหร่านกระจายเรื่องจากหนังสือพิมพ์ข่าวแนวตื่นเต้นอังกฤษว่า คนอังกฤษและอื่น ๆ หายจากไวรัสโคโรนาด้วยเหล้าวิสกี้ผสมน้ำผึ้ง[218][222]ซึ่งเมื่อรวมข่าวนี้กับการใช้น้ำยาทำความสะอาดมือที่เป็นแอลกอฮอล์ (ปกติเป็นเมทานอล) จึงได้ก่อความเชื่อผิด ๆ ว่า การดื่มแอลกอฮอล์แบบเข้มข้นสูงสามารถฆ่าไวรัส[218][219][220]

มีเหตุการณ์เช่นเดียวกันในตุรกี คือมีคนตุรกี 30 คนเสียชีวิตเพราะเมทานอลเป็นพิษอาศัยวิธีการรักษาไวรัสโคโรนาที่ผิด [223][224]

ในประเทศเคนยา ผู้ว่าการเมืองไนโรบีถูกวิเคราะห์พิจารณาเพราะรวมขวดคอนญักเล็ก ๆ กับห่อของแจก โดยอ้างผิด ๆ ว่า แอลกอฮอล์เป็น "น้ำยาทำความสะอาดคอ" และว่า เพราะผลงานวิจัย จึงเชื่อว่า "แอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญในการฆ่าไวรัสโคโรนา"[225][226]

ภูมิคุ้มกันของคนกินเจ

มีข้ออ้างออนไลน์ที่กระจายไปในอินเดียว่า คนกินเจมีภูมิคุ้มกันไม่ติดเชื้อไวรัสโครนา จนกระทั่งแฮชแท็ก #NoMeat_NoCoronaVirus กลายเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์[227]การกินเนื้อไม่มีผลต่อการติดโรคโควิด-19[228]รัฐมนตรีของอินเดีย (Fisheries, Dairying and Animal Husbandry) กล่าวว่า ข่าวลือนี้มีผลลบต่ออุตสาหกรรม เช่น ลดราคาของไก่จนเหลือแค่ 1/3[229]

ศาสนาเป็นเครื่องป้องกัน

กลุ่มศาสนาต่าง ๆ อ้างการคุ้มกันโรคเนื่องกับศรัทธาของตน จนบางกลุ่มไม่ยอมระงับการชุมนุมทางศาสนาที่รวมคนเป็นจำนวนมากในอิสราเอล คนยิว Ultra-Orthodox ตอนแรกไม่ยอมปิดสุเหร่ายิวและโรงเรียนสอนศาสนา โดยไม่สนใจข้อจำกัดของรัฐบาลเพราะ "คัมภีร์โทราห์จะป้องกันและรักษา"[230]ซึ่งทำให้เกิดอัตราการติดโรคเป็น 8 เท่าในบางกลุ่ม[231]

กลุ่มเคลื่อนไหวสอนศาสนาอิสลาม Tablighi Jamaat ได้จัดการชุมนุมคนเป็นจำนวนมาก (Ijtema) ในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถานที่ผู้เข้าร่วมเชื่อว่าอัลลอฮ์จะป้องกันพวกเขา จึงเพิ่มการติดโควิด-19 เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศเหล่านั้นและอื่น [232][233][234]ในนครโกม อิหร่าน หัวหน้าของสถานบูชา Fatima Masumeh Shrine สนับสนุนให้ผู้แสวงบุญมาเยี่ยมแม้จะมีผู้ร้องให้ปิด โดยอ้างว่า สถานบูชาเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงย่อมคุ้มกันรักษา[235]

ในเกาหลีใต้ โบสถ์ River of Grace Community Church ในจังหวัดคย็องกีได้แพร่ไวรัสหลังจากพ่นน้ำเกลือใส่ปากสมาชิกเพราะเชื่อว่าจะฆ่าไวรัส[236]ส่วนผู้นำของโบสต์ Shincheonji Church of Jesus ในนครบาลแทกูอวดอ้างว่า ไม่มีศาสนิกชนของโบสถ์เลยที่ติดเชื้อในเดือนกุมภาพันธ์เทียบกับคนเป็นร้อย ๆ ผู้กำลังเสียชีวิตในอู่ฮั่น ต่อมาจึงก่อการติดโรคซึ่งกระจายไปมากที่สุดในประเทศ[237][238]

ในประเทศแทนซาเนีย ประธานาธิบดีประเทศแทนที่จะห้ามการชุมนุมกันทางศาสนา กลับกระตุ้นให้ผู้มีศรัทธาไปยังโบสต์และมัสยิดโดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันพวกเขาเขากล่าวว่า ไวรัสโคโรนาเป็นซาตาน ดังนั้น "จึงไม่สามารถรอดชีวิตในพระกายของพระคริสต์ มันจะไหม้ไป" (โดยพระกายของพระคริสต์หมายถึงโบสถ์)[239][240]

ในประเทศโซมาเลีย มีเทพนิยายที่กำลังกระจายไปและอ้างว่า คนมุสลิมมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส[241]

แม้จะเกิดเหตุการณ์ระบาดทั่ว ในวันที่ 9 มีนาคม โบสถ์แห่งกรีซ (Church of Greece) ประกาศว่า พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้ที่ไปโบสถ์จะกินขนมปังชุบไวน์จากถ้วยเดียวกัน จะทำพิธีเช่นเดียวกันต่อไป[242]สภาสงฆ์ของโบสถ์กล่าวว่า พิธี "ไม่อาจเป็นเหตุของการกระจายโรค" โดยมีผู้นำที่กล่าวว่า ไวน์ไม่มีโทษเพราะเป็นเลือดเนื้อของพระคริสต์ และว่า "คนที่ไปยังพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์กำลังก้าวเข้าไปหาพระเจ้า ผู้มีอำนาจในการรักษา"[242]ดังนั้น โบสถ์จึงปฏิเสธการจำกัดไม่ให้คนคริสต์เข้าพิธีนี้[243]ซึ่งมีคนหลายกลุ่มที่เห็นด้วยรวมทั้งผู้สอนศาสนา[244]นักการเมือง และบุคลากรทางแพทย์[244][245]ส่วนสมาคมแพทย์โรงพยาบาลแห่งกรีซวิจารณ์บุคลากรแพทย์เหล่านั้นเพราะเอาความเชื่อขึ้นหน้าวิทยาศาสตร์[244]แต่ก็มีแพทย์กรีกผู้หนึ่งที่ตีพิมพ์งานทบทวนวรรณกรรมซึ่งอ้างว่า การแพร่โรคติดต่อในพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยเกิดแต่การมีข้อถกเถียงเช่นนี้ก็เท่ากับแบ่งพวกทางสังคม ทางการเมือง และผู้ชำนาญการทางแพทย์ของกรีซ[246]

โคเคน

ยาเสพติดคือ โคเคน ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19มีทวีตหลายบทความที่อ้างว่า การสูดโคเคนจะฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาในช่องจมูก โดยข้อความได้กระจายไปทั่วยุโรปและแอฟริกากระทรวงสุขภาพฝรั่งเศสจึงได้ประกาศหักล้างข้ออ้างเท็จนี้ว่า "ไม่เลย โคเคนไม่ได้ป้องกันโควิด-19มันเป็นยาเสพติดซึ่งก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ"องค์การอนามัยโลกก็หักล้างข้ออ้างนี้ด้วย[247]

การพ่นยาฆ่าเชื้อจากเฮลิคอปเตอร์

ในประเทศเอเชียบางประเทศ มีการอ้างว่า ควรจะอยู่บ้านในวันที่เฮลิคอปเตอร์พ่น "ยาฆ่าโควิด-19" เหนือบ้านและอาคารไม่เคยมีการพ่นยาเช่นนี้ ไม่มีแผนการ และจนถึงเดือนกรกฎาคม 2020 ก็ยังไม่มียาเพื่อใช้ในการนี้[248][249]

แรงสั่น

ในอินเดีย สื่อได้หักล้างแนวคิดว่าแรงสั่นจากการตบมือในเคอร์ฟิวชานาตา (เคอร์ฟิวประชาชน) จะฆ่าไวรัส[250]นักแสดงอมิตาภ พัจจันถูกตำหนิอย่างรุนแรงสำหรับทวีตของเขาบทความหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าแรงสั่นจากการตบมือและการเป่าหอยสังค์โดยเป็นส่วนของเคอร์ฟิวชานาตาในวันอาทิตย์จะลดหรือทำลายฤทธิ์ของไวรัสโคโรนาเพราะมันเป็นคืนมืดที่สุดของเดือน (Amavasya)[251]

อาหาร

ในอินเดีย ข่าวปลอมได้กระจายไปว่า องค์การอนามัยโลกเตือนไม่ให้กินกะหล่ำปลีเพื่อป้องกันการติดโรค ซึ่งจริง ๆ ไม่มีการเตือนเช่นนี้[252]ข้ออ้างว่า ผลอันเป็นพิษของต้น Datura (พืชประเภทลำโพงและมะเขือบ้า) สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ทำให้คน 11 คนต้องเข้า รพ. เพราะได้กินผลไม้ตามคำแนะนำของวิดีโอในติ๊กต็อกที่กระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวิธีป้องกันโควิด-19[253][254]

ข้อมูลผิดเกี่ยวกับวัคซีน

บทบาทของเอ็มอาร์เอ็นเอ

การใช้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอป้องกันโควิด-19 ได้เป็นเรื่องสร้างข้อมูลเท็จที่กระจายไปตามสื่อสังคม โดยอ้างผิด ๆ ว่า วัคซีนอาร์เอ็นเอจะเปลี่ยนดีเอ็นเอของคนที่ได้รับ[255]ใน รพ. รัฐวิสคอนซิน (สหรัฐ) เภสัชกรคนหนึ่งได้อ้างทฤษฎีสมคบคิดนี้ เมื่อจงใจเอาขวดวัคซีน 57 ขวดออกจากตู้แช่แข็งในเดือนธันวาคม 2020 แล้วต่อมาถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาอาญาฐานก่ออันตรายอย่างสะเพร่าและก่อความเสียหายต่อทรัพย์สิน[256]

ความเป็นหมัน

นักการเมืองและแพทย์ชาวเยอรมัน (Wolfgang Wodarg) บวกกับอดีตพนักงานบริษัทไฟเซอร์ (Michael Yeadon) ได้กระจายข่าวเท็จที่อ้างว่า วัคซีนโควิด-19 ทำหญิงให้เป็นหมันแพทย์นักวิจารณ์กลุ่มคนต่อต้านวัคซีนคนหนึ่ง (David Gorski) เขียนว่า "ที่น่าเศร้าก็คือ คู่ที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์นี้กำลังเติมเชื้อให้แก่ความกลัวที่มีอยู่แล้วว่า วัคซีนโควิด-19 ใหม่ ๆ จะทำให้หญิงเป็นหมัน และกำลังทำการเช่นนี้อาศัยเรื่องเหลวไหลที่คิดเอา"[257]

วัคซีนโปลิโอเป็นพาหะของโควิด-19

สื่อสังคมในประเทศแคเมอรูนกระจายทฤษฎีสมคบคิดว่า วัคซีนโปลิโอมีโคโรนาไวรัส ทำให้การกำจัดโรคโปลิโอยุ่งยากขึ้นนอกเหนือไปจากปัญหาทางโลจิสติกส์และเงินทุนที่มีอยู่แล้วเนื่องกับการระบาดทั่ว[258]

อัมพาตแบบเบลล์

มีการกระจ่ายข่าวเท็จไปทางสื่อสังคมว่าวัคซีนโควิด-19 tozinameran (ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค) ก่ออัมพาตแบบเบลล์แม้จะจริงว่าในช่วงการทดลอง อาสาสมัคร 4 คนใน 22,000 คนเกิดอัมพาตแบบเบลล์ แต่องค์การอาหารและยาสหรัฐก็ให้ข้อสังเกตว่า "ความถี่การเกิดอัมพาตแบบเบลล์ที่รายงานในกลุ่มได้วัคซีนสอดคล้องกับอัตราการเกิดโรคที่คาดหวังได้ในกลุ่มประชากรทั่วไป"[259]คือวัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดอัมพาตเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

การเพิ่มฤทธิ์ของไวรัสอาศัยสารภูมิต้านทาน

การเพิ่มฤทธิ์ของไวรัสอาศัยสารภูมิต้านทาน (Antibody-dependent enhancement ตัวย่อ ADE) เป็นปรากฏการณ์ที่สารภูมิต้านทานที่มีอยู่ทำให้ไวรัสสามารถติดเซลล์บางอย่างได้มากขึ้นแม้ ADE จะพบในการทดลองวัคซีนไวรัสโคโรนากับสัตว์ แต่จนถึงปลายเดือนธันวาคม 2020 ก็ยังไม่พบในการทดลองกับมนุษย์แต่นักต่อต้านวัคซีนก็อ้าง ADE อย่างผิด ๆ ว่าเป็นเหตุผลควรให้เลี่ยงวัคซีนโควิด-19[257][260]

การอ้างว่ามีวัคซีนก่อนจะมีจริง 

มีโพสต์ทางสื่อสังคมหลายบทความที่สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดว่า ในระยะต้น ๆ ของการระบาดทั่ว ไวรัสนี้รู้จักกันอยู่แล้ว และวัคซีนต้านไวรัสก็มีแล้วแต่เว็บไซต์เช็คความจริง PolitiFact และ FactCheck.org ระบุว่า ไม่มีวัคซีนโควิด-19 ในช่วงนั้นสิทธิบัตรลำดับยีนและวัคซีนที่อ้างกันต่าง ๆ ก็เป็นสิทธิบัตรเกี่ยวกับสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาอื่น ๆ เช่น ซาร์ส[261][262]องค์การอนามัยโลกรายงานว่า จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2020 แม้จะมีรายงานข่าวว่ากำลังค้นพบยาใหม่ ๆ แต่ก็ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล[263]รวมทั้งยาปฏิชีวนะและสมุนไพร[264]

ในเฟซบุ๊ก โพสต์หนึ่งที่กระจายไปทั่วในเดือนเมษายน 2020 อ้างว่า เด็กเซเนกัล 7 คนได้เสียชีวิตเพราะวัคซีนโควิด-19แต่ก็ยังไม่มีวัคซีนเช่นนั้นที่อนุมัติให้ใช้ในมนุษย์ แม้จะมีบ้างที่กำลังทดลองทางคลินิกอยู่[265]

มีชิ้นส่วนทารกแท้งในวัคซีน

ในเดือนพฤศจิกายน 2020 มีข้ออ้างที่กระจายไปในเว็บว่า วัคซีนโควิด-19 AZD1222 ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและบริษัทแอสตราเซเนกามีเนื้อเยื่อจากทารกในครรภ์ที่ถูกทำแท้งแม้จะจริงว่าสายพันธุ์เซลล์ที่ใช้พัฒนาวัคซีนสืบสายมาจากเซลล์ของเด็กที่ถูกทำแท้งในปี 1970 แต่วัคซีนเองก็ไม่มีโมเลกุลเช่นนี้อยู่เลย[266][267]

ข้อมูลการรักษาผิด 

มีโพสต์ในสื่อสังคมมากมายที่กระจายไปทั่วเกี่ยวกับวิธีการป้องกันรักษาโคโรนาไวรัสที่ไม่มีมูลฐานความจริงบางอย่างเป็นเล่ห์โกง บางอย่างเป็นอันตรายและไม่ถูกสุขภาพ[94][268]

โรงพยาบาล

ในสหรัฐ คนอนุรักษ์นิยมคนดังต่าง ๆ ในสหรัฐ (เช่น Richard Epstein)[269]ระบุว่าการระบาดทั่วไม่ได้แพร่หลายขนาดนั้นจริง ๆ เป็นการกล่าวเกินจริงเพื่อโจมตีประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์โดยมีบางคนผู้ชี้ที่จอดรถของ รพ. ที่ว่าง ๆ ว่าเป็นหลักฐานแสดงว่าการติดโรคเป็นเรื่องเกินจริงถึงที่จอดรถจะว่างก็จริง แต่ รพ. ในทั้งนครนิวยอร์กและเมืองอื่น ๆ มีคนเป็นพัน ๆ ต้องเข้า รพ.[270]

สมุนไพร

ในจีน สื่อระดับชาติและที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าของต่าง ๆ ได้โฆษณาอย่างหนักในเรื่อง "งานวิจัยข้ามคืน" ของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นและของวิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีนเกี่ยวกับสูตรยาสมุนไพรจีน (shuanghuanglian) จนทำให้เกิดการกวาดซื้อยาประเภทนี้[271]

ส่วนประธานาธิบดีของประเทศมาดากัสการ์ แอนดรี ราโจเอลินา เริ่มผลิตและโฆษณาเครื่องดื่มสมุนไพรจากพืชสกุล Artemisia โดยอ้างว่าเป็นยามหัศจรรย์ที่สามารถรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 แม้จะไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใด ๆ เลยแล้วยังส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาหลายประเทศด้วย[272][273]

วิตามิน

ในช่วงการระบาดทั่วของโควิด-19 ผู้ขายวิตามินซีได้รับจดหมายเตือนจากองค์การอาหารและยาสหรัฐมากกว่าผู้ขายยากลางบ้านประเภทอื่น [274]

มีข้ออ้างในสื่อสังคมประเทศไทยว่า อาหารเสริมคือวิตามินดีสามารถช่วงป้องกันโคโรนาไวรัส[275]จริง ๆ แล้ว แม้ศูนย์เวชปฏิบัติอิงหลักฐานที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจะให้ข้อสังเกตว่า "คำแนะนำในปัจจุบันก็คือประชากรทั้งหมดของสหราชอาณาจักรควรกินอาหารเสริมคือวิตามินดีเพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี" แต่ก็ "ไม่พบหลักฐานทางคลินิกใด ๆ ว่า อาหารเสริมคือวิตามินดีมีประโยชน์ป้องกันหรือรักษาโควิด-19"[276]ถึงกระนั้น การขาดวิตามินดีก็อาจเพิ่มความเสี่ยงการติดโรคโควิด และเพิ่มความรุนแรงของโรค[277]

การรักษาหวัดและไข้หวัดใหญ่

มีการอ้างว่าตำราอินเดียอายุ 30 ปีระบุแอสไพริน สารต้านฮิสตามีน และยาพ่นจมูกเป็นวิธีการรักษาโควิด-19แต่ตำราจริง ๆ พูดถึงวงศ์ไวรัสโคโรนาแบบรวม [278]

มีข่าวลือที่กระจายไปตามสื่อสังคมคือซินล่างเวย์ปั๋ว เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ที่อ้างว่า ผู้เชี่ยวชาญจีนกล่าวว่า น้ำเกลือสามารถใช้ฆ่าไวรัสโคโรนาได้แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าน้ำเกลือมีผลเช่นนั้น[279]

ทวีตจากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส (Olivier Véran) บวกกับประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสเอง และงานศึกษาเล็ก ๆ เชิงทฤษฎีในวารสารการแพทย์ The Lancet Respiratory Medicine ได้สร้างความวิตกว่ายาแก้อักเสบไอบิวพรอเฟนทำโรคโควิด-19 ให้แย่ลง ซึ่งกระจายไปอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมแต่สำนักงานการแพทย์ยุโรป[280]และองค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้คนไข้โควิด-19 กินยาไอบิวพรอเฟนตามที่หมอสั่ง โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีอันตราย[281]

ผลิตภัณฑ์หรืออาหารสัตว์

นักปฏิบัติการทางการเมืองอินเดีย Swami Chakrapani และสมาชิกสภาของรัฐอัสสัม Suman Haripriya อ้างว่า การดื่มน้ำปัสสาวะของโคและการแปะอุจจาระโคที่ร่างกายสามารถรักษาโควิด-19[282][283]ส่วนหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกชาวอินเดีย Soumya Swaminathan ได้วิจารณ์นัการเมืองที่กระจายข่าวเท็จเช่นนี้โดยไม่มีมูลฐานความจริง[284]

ยาจีน

แนวทางการจัดการโควิดตั้งแต่ฉบับที่ 3 ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนแนะนำให้ใช้ยาจีนเพื่อรักษาโรค[285]ในอู่ฮั่น สำนักข่าว China Central Television รายงานว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ผลักดันให้ใช้ยาจีนชุดหนึ่งสำหรับกรณีโควิดทุกกรณีตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์[286]โดยมีสูตรหนึ่งที่ได้โปรโหมตในระดับชาติ[287]รพ. สนามในพื้นที่ก็มุ่งใช้ยาจีนอย่างโต้ง ๆ ตามสื่อของรัฐ จนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2020 คนไข้ร้อย 91.9 ในมณฑลหูเป่ย์ได้ใช้ยาจีน โดยมากถึงอัตราร้อยละ 99 สำหรับคนไข้ใน รพ. ภาคสนาม และร้อยละ 94 ในเขตกักตัวขนาดใหญ่[288]ในเดือนมีนาคม หนังสือพิมพ์อังกฤษ The Daily Telegraph มีหน้าแทรกเป็นโฆษณาจากหนังสือพิมพ์จีน People's Daily ซึ่งระบุว่ายาจีน "ช่วยสู้กับโคโรนาไวรัส"[289]

คลอโรควิน

มีการอ้างผิด ๆ ว่าได้ใช้ยาต้านมาลาเรียคือ คลอโรควิน เพื่อรักษาคนไข้กว่า 12,000 คนในไนจีเรีย[290]

Ivermectin

ในเดือนธันวาคม 2020 หัวหน้าคณะวุฒิสภาสหรัฐด้านความปลอดภัยของประเทศรอน จอนห์สัน (วิสคอนซิน พรรคริพับลิกัน) ได้ใช้การประชุมพิจารณาของวุฒิสภาเพื่อโปรโมตทฤษฎีสุดโต่งเกี่ยวกับโควิด-19[291]โดยมีพยานต่าง ๆ รวมทั้งหมอปอดและเวชบำบัดวิกฤติผู้กล่าวผิด ๆ ถึงยารักษาปรสิต ivermectin ว่าเป็นยามหัศจรรย์เพื่อใช้สู้กับโควิด-19คลิปวิดีโอเรื่องสิ่งที่เขากล่าวได้กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในสื่อสังคม โดยมีคนดูเกินกว่าล้าน[292]

แพทย์วิมตินิยมท่านหนึ่งได้เขียนว่า การระบุยา ivermectin ว่าเป็น "การรักษามหัศจรรย์" สำหรับโควิด-19 เป็นเนื้อร้ายที่กระจายออกของทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับยาไฮดรอกซิคลอโรควิน โดยทฤษฎีระบุว่ามีผู้มีอำนาจนิรนามที่พยายามกดข่าวเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาเพื่อประโยชน์ชั่วของตนเอง[293]

การรักษาที่เป็นอันตราย

นักทฤษฎีสมคบคิดกลุ่ม QAnonบางคนโปรโหมตการบ้วนปากด้วย "Miracle Mineral Supplement" (อาหารเสริมที่เป็นเกลือแร่อัศจรรย์) เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคโควิด จริง ๆ นี่เป็นคลอรีนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการอุตสาหกรรมเช่นน้ำยาฟอกขาวเป็นต้น และอาจก่อปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตองค์การอาหารและยาสหรัฐได้เตือนหลายครั้งว่าการดื่มยาที่ว่านี้เป็น "อันตราย" ซึ่งอาจทำให้ "อาเจียนอย่างรุนแรง" และ "ตับวายอย่างฉับพลัน"[294]

การรักษาที่ไม่ได้ตรวจ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 นักเทศน์คริสเตียนทางโทรทัศน์ Jim Bakker ได้โปรโหมตสารละลายทำด้วยเงินที่เขาขายทางเว็บไซต์ว่าเป็นยารักษาโควิด-19ต่อมาหมอรักษาแนวธรรมชาติคนหนึ่งได้มาให้สัมภาษณ์ในรายการของเขาว่า ยานี้ "ยังไม่ได้ทดสอบกับสายพันธุ์โคโรนาไวรัสนี้ แต่ได้ทดสอบกับสายพันธุ์โคโรนาไวรัสอื่น ๆ แล้ว และสามารถกำจัดไวรัสได้ภายใน 12 ชม."[295]ต่อมา ทั้งองค์การอาหารและยาสหรัฐและอัยการรัฐนิวยอร์กก็ได้สั่งเขาให้หยุดระงับทำการ แล้วหลังจากนั้น รัฐมิสซูรีจึงฟ้องคดีเขาเกี่ยวกับการขายยา[296][297]

อัยการรัฐนิวยอร์กยังได้ออกคำสั่งให้ระงับทำการแก่ผู้ดำเนินการวิทยุอนุรักษนิยมขวาจัด Alex Jones ผู้ขายยาสีฟันมีส่วนผสมเป็นเงินที่เขาอ้างอย่างเป็นเท็จว่า สามารถฆ่าไวรัสโดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางได้ตรวจยืนยันแล้ว[298]

ในอินเดีย มีข้อมูลผิด ๆ ที่กระจายไปตามสื่อสังคมว่า รัฐบาลพ่นยาต่อต้านโคโรนาในช่วงเคอร์ฟิวชานาตา ซึ่งเป็นเคอร์ฟิวบังคับให้อยู่บ้านในอินเดีย[299]ส่วนครูโยคะ Ramdev อ้างว่า สามารถรักษาโคโรนาไวรัสโดยกรอกน้ำมันมัสตาร์ดในจมูก ซึ่งจะทำให้ไวรัสไหลเข้าไปในกระเพาะอาหารแล้วน้ำย่อยก็จะทำลายเชื้อเขายังอ้างอีกด้วยว่าถ้ากลั้นหายใจได้หนึ่งนาที นี่หมายความว่าบุคคลไม่ได้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ไม่ว่าจะแบบมีอาการหรือไม่มีแต่ข้ออ้างทั้งสองก็ระบุว่าเท็จแล้ว[300][301]

หลังจากการเกิดเคสโควิดเป็นเค้สแรกในไนจีเรียวันที่ 28 กุมภาพันธ์ วิธีการรักษาที่ไม่ได้ทดสอบก็เริ่มกระจายไปทางแพลตฟอร์มสื่อสังคมรวมทั้งวอตส์แอปป์[302]

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐได้จับนักแสดงคนหนึ่งฐานขายยารักษาโควิด-19 ปลอม[303]

การรักษาทางจิตวิญญาณ

นักเทศน์คริสเตียนทางโทรทัศน์อเมริกันอีกผู้หนึ่ง (Kenneth Copeland) ได้อ้างทางโปรแกรม "Standing Against Coronavirus" (ยืนหยัดกับโคโรนาไวรัส) ว่า เขาสามารถรักษาผู้ชมรายการให้หายจากโควิด-19 ผ่านทีวีโดยตรงคือผู้ชมเพียงแต่แตะจอโทรทัศน์เพื่อรับการรักษาทางจิตวิญญาณ[304][305]

อื่น 

ชื่อโรค

โพสต์ในสื่อสังคมและอินเทอร์เน็ตมีมได้อ้างว่า คำอักษรละตินว่า COVID-19 มาจากวลีภาษาอังกฤษว่า "Chinese Originated Viral Infectious Disease 19" (โรคติดต่อทางไวรัสซึ่งเกิดจากจีนที่ 19) หรืออะไรที่คล้าย ๆ กัน โดยหมายถึง "ไวรัสชนิดที่ 19 ซึ่งมาจากจีน"[306]แต่จริง ๆ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่อโรคโดยย่อคำดังต่อไปนี้ คือ CO ย่อมาจาก corona, VI ย่อมาจาก virus, D ย่อมาจาก diseaseและ 19 ระบุปีที่โรคเริ่มระบาด (31 ธ.ค. 2019)[307]

รายการการ์ตูนเดอะซิมป์สันส์ได้พยากรณ์โรคไว้แล้ว

โพสต์ว่า รายการการ์ตูนเดอะซิมป์สันส์ได้พยากรณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในปี 1993 โดยประกอบกับรูปที่แค็ปจากรายการ (โดยมีคำว่า "Corona Virus" ปิดทับคำเดิมว่า "Apocalypse Meow") แม้ต่อมาจะพบว่าเท็จแต่เนื้อความของโพสต์ก็กระจายไปอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมแล้ว[308][309]

ธนบัตร 20 ปอนด์ของสหราชอาณาจักร

ทวีตหนึ่งได้เริ่มอินเทอร์เน็ตมีมว่า ธนบัตร 20 ปอนด์ของสหราชอาณาจักรมีรูปเสาส่งสัญญาณของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 จี และไวรัสโควิด-19ต่อมาเฟซบุ๊กและยูทูบจึงได้ลบบทความที่สร้างกระแสนี้ และองค์กรเช็คความจริงต่าง ๆ ก็ได้ระบุว่า เป็นรูปประภาคารมาร์เกต (Margate Lighthouse) และสิ่งที่ระบุว่า "ไวรัส" ก็คือขั้นบันไดที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์เทตบริเตน[310][311][312]

การโจมตีเรือโรงพยาบาล

รัฐบาลกลางสหรัฐได้ส่งเรือโรงพยาบาล USNS Mercy (T-AH-19) ไปที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสเพื่อเป็น โรงพยาบาลสำรองสำหรับภูมิภาคต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2020 พนักงานขับรถไฟได้ตั้งใจทำให้รถไฟขนส่งสินค้าตกรางเพื่อเข้าชนเรือ รพ. แต่ก็ไม่สำเร็จโดยไม่มีผู้บาดเจ็บอะไร ๆ[313][314]ตามอัยการของรัฐบาลกลาง พนักงานสงสัยว่าเรือจริง ๆ มีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นเกี่ยวกับโควิด-19 หรือเป็นการเข้ายึดเมืองของรัฐบาล[315]

การกลับคืนของสัตว์ป่า

ในช่วงการระบาดทั่ว มีรูปปลอมหรือทำให้เข้าใจผิด หรือรายงานข่าวเกี่ยวกับผลทางสิ่งแวดล้อมของโรค ที่ได้แชร์ไปตามแหล่งข่าวคลิกเบตและสื่อสังคม[316]โพสต์ที่มาจากซินล่างเวย์ปั๋วและกระจายไปทางทวิตเตอร์อ้างว่า มีโขลงช้างที่ลงไปยังหมู่บ้านที่เป็นเขตกักตัวในมณฑลยูนนานของประเทศจีน กินไวน์ข้าวโพดจนเมา แล้วไปสลบไสลอยู่ที่สวนน้ำชา[317]ส่วนรายงานข่าวในจีนเองหักล้างข้ออ้างว่าช้างกินไวน์จนเมาโดยให้ข้อสังเกตว่า ช้างป่าเป็นเรื่องสามัญในหมู่บ้านนั้นและภาพที่ส่งต่อดั้งเดิมถ่ายมาจากศูนย์วิจัยช้างเอเชียแห่งยูนนานในเดือนธันวาคม 2019[316]

หลังจากมีรายงานว่าภาวะมลพิษได้ลดลงในอิตาลีเพราะการล็อกดาวน์ ก็เกิดภาพที่ระบุอย่างไม่จริงว่า เป็นภาพหงส์และโลมาว่ายน้ำอยู่ในคลองเมืองเวนิส แล้วภาพต่อมาก็กระจายไปตามสื่อสังคมในที่สุดก็พบว่าภาพหงส์ถ่ายที่เกาะ Burano (อิตาลี) ซึ่งพบหงส์อย่างสามัญ ส่วนคลิปโลมาถ่ายที่ท่าเรือในแคว้นซาร์ดิเนียซึ่งห่างกันเป็นร้อย กิโลเมตร[316]และสำนักงานนายกเทศมตรีเวนิสก็อธิบายว่า น้ำคลองใสเพราะไม่มีเรือแล่นกวนตะกอนให้ลอยขึ้นมา ไม่ใช่เพราะมลภาวะได้ลดลงดังที่กล่าว[318]

หลังจากการล็อกดาวน์ในอินเดีย มีคลิปวิดีโอที่ระบุอย่างไม่จริงว่ามีชะมดพันธุ์ Viverra civettina (Malabar large-spotted civet) ที่อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว และจัดว่าเสี่ยงอย่างวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ กำลังเดินทอดน่องอยู่ในถนนของเมือง Meppayur (ประชากรประมาณ 27,000 คน) รัฐเกรละ โดยคลิปได้กระจายไปทั่วสื่อสังคมต่อมาผู้เชี่ยวชาญจึงระบุว่า ชะมดในคลิปเป็นชะมดเช็ดที่สามัญ[319]มีคลิปวิดีโออีกคลิปที่ระบุอย่างเป็นเท็จว่ามีวาฬหลังค่อมที่ได้กลับคืนสู่ทะเลอาหรับโดยถ่ายจากฝั่งของเมืองมุมไบ (อินเดีย) หลังจากปิดเส้นทางเดินเรือต่อมาจึงพบว่า วิดีโอนี้ถ่ายในปี 2019 แถบทะเลชวา (อินโดนีเซีย)[320]

ไวรัสโควิดจะอยู่ในกายตลอดไป

มีการอ้างผิด ๆ ว่า คนที่ติดโควิด-19 จะมีไวรัสในกายตลอดชีวิตจริง ๆ แม้จะยังไม่มีวิธีรักษา แต่คนที่ติดเชื้อโดยมากก็ฟื้นตัวจากโรคแล้วกำจัดไวรัสออกจากร่างกาย[94]

ความพยายามสู้กับข่าวเท็จ

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 องค์การอนามัยโลกได้ระบุถึงการระบาดทั่วของข้อมูลเท็จ (massive infodemic) โดยกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสมากมายที่รายงานแต่เป็นเท็จ จึงทำให้ยากในการได้แหล่งข้อมูลและข้อปฏิบัติที่เชื่อถือได้เมื่อจำเป็นองค์การระบุว่า เพราะมีความต้องการข้อมูลที่ทันการและเชื่อถือได้ จึงได้สร้างหน่วยกำจัดเรื่องโกหกซึ่งมีทีมตรวจตราแล้วตอบสนองต่อข้อมูลผิด ๆ ผ่านเว็บไซต์และหน้าสื่อสังคมขององค์การ[321][322][323]องค์การอนามัยโลกได้หักล้างข้ออ้างหลายอย่างโดยเฉพาะ ๆ ว่าเป็นเท็จ รวมทั้งข้ออ้างว่า สามารถบอกได้ว่าติดไวรัสหรือไม่โดยเพียงแค่กลั้นลมหายใจว่าการดื่มน้ำมาก ๆ จะป้องกันไวรัสและว่าการกลั้วคอด้วยน้ำเกลือป้องกันการติดเชื้อ[324]

สื่อสังคม

ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และกูเกิลประกาศว่าบริษัทจะทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกเพื่อแก้ปัญหาข้อมูลผิด[325]เฟซบุ๊กระบุในบล็อกว่า จะลบเนื้อความที่องค์การสุขภาพโลกและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ ระบุว่า ผิดนโยบายเนื้อความเท็จที่เป็นอันตราย[326]เฟซบุ๊กยังให้องค์การอนามัยโลกโฆษณาฟรีอีกด้วย[327]ถึงกระนั้น หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์คาดว่า แสงอาทิตย์อาจฆ่าไวรัส หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ก็พบ "กลุ่มเฟซบุ๊ก 780 กลุ่ม หน้าเฟซบุ๊ก 290 หน้า บัญชีอินสตาแกรม 9 บัญชี และทวีตเป็นพัน ๆ ข้อความที่ส่งเสริมการบำบัดด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต" โดยเป็นเนื้อความที่บริษัทเหล่านี้ไม่ยอมลบออกจากแพลตฟอร์มของตน [328]ในวันที่ 11 สิงหาคม 2020 เฟซบุ๊กลบโพสต์ 7 ล้านข้อความที่มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19[329]

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 บริษัทแอมะซอนได้ลบสินค้าเกินกว่าล้านที่อ้างว่ารักษาหรือป้องกันโคโรนาไวรัส และลบสินค้าสุขภาพเป็นหมื่น ๆ ที่มีราคา "สูงกว่าที่ขายในหรือนอกแอมะซอนมาก" ถึงกระนั้น ตามบีบีซี ก็ยังมีสินค้ามากมายที่ "ยังขายในราคาสูงกว่าปกติ" ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์[330]

มีตัวอย่างข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นล้าน ๆ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง [331]นักวิจัยข่าวปลอมให้ข้อสังเกตว่า มีข่าวลือที่เริ่มในจีนแล้วต่อมากระจายไปยังเกาหลีใต้และสหรัฐ ทำให้มหาวิทยาลัยเกาหลีหลายแห่งได้เริ่มการรณรงค์ที่ทำในภาษาหลายภาษา คือ "Facts Before Rumors" (ความจริงแทนที่ข่าวลือ) เพื่อประเมินข้ออ้างสามัญ ๆ ที่พบออนไลน์[332][333][334][335]

วิกิพีเดีย

สื่อได้ยกย่องความครอบคลุมข้อมูลโควิด-19 ของวิกิพีเดียและการสู้กับการใส่ข้อมูลเท็จในบทความอาศัยการรณรงค์ของ Wiki Project Med Foundation และของ WikiProject Medicine ในบรรดากลุ่มต่าง [336][337][338]องค์การอนามัยโลกได้ร่วมงานกับวิกิพีเดียโดยอนุญาตให้ใช้กราฟและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อช่วยสู้กับข้อมูลเท็จ โดยมีแผนจะใช้วิธีเช่นเดียวกันสำหรับโรคติดต่อต่าง ๆ ในอนาคต[339]

หนังสือพิมพ์และวารสารวิชาการ

หนังสือพิมพ์ที่ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนอ่าน (เพย์วอลล์)ก็ได้งดใช้เพย์วอลล์สำหรับข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 บางส่วนหรือทั้งหมด[340][341]สำนักพิมพ์งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็อนุญาตให้ใช้งานเป็นการเข้าถึงแบบเปิด (คือฟรี)[342]

ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ แม้จะตั้งใจพิมพ์งานวิชาการที่มีคุณภาพ ก็เริ่มมีปัญหาเพราะเกิดงานวิจัยคุณภาพต่ำหรือเป็นเท็จ ทำให้ต้องถอนงานหลายงานเกี่ยวกับโควิด-19 แล้วทำให้งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่สมเหตุผลและเชื่อถือได้น่าสงสัยไปด้วย[343]บล็อก Retraction Watch มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับบทความโควิด-19 ที่ถูกเพิกถอน[344]

การตรวจพิจารณา

รัฐบาลจำนวนหนึ่งได้ทำการส่งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสให้ผิดกฎหมายซึ่งอาจรวมขนาดการแพร่ขยายการติดไวรัส ความไม่พร้อมรับมือกับไวรัส หรือวิธีการต่อสู้กับไวรัส

กระทรวงมหาดไทยตุรกีได้จับกุมผู้ใช้สื่อสังคมต่าง ๆ ที่ได้ "เล็งเป้าเจ้าหน้าที่และกระจายความตื่นตระหนกและความกลัวโดยระบุว่า ไวรัสได้กระจายไปอย่างกว้างขวางในตุรกีโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการอย่างสมควร"[345]ส่วนกองทัพอิหร่านระบุว่า ได้จับกุมคน 3,600 คนเพราะ "กระจายข่าวลือ" เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในประเทศ[346]ในกัมพูชา บุคคลที่แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการกระแพร่กระจายของโควิด-19 ได้ถูกจับในข้อหากระจายข่าวเท็จ[347][348]รัฐสภาแอลจีเรียออกกฎหมายเกี่ยวกับการออกข่าวปลอมที่เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของชาติ[349]

ในประเทศฟิลิปปินส์[350]จีน[351]อินเดีย[352][353]อียิปต์[354]เอธิโอเปีย[355]บังกลาเทศ[356]โมร็อกโก[357]ปากีสถาน[358]ซาอุดีอาระเบีย[359]โอมาน[360]อิหร่าน[361]เวียดนาม ลาว[362]อินโดนีเซีย[353]มองโกเลีย[353]ศรีลังกา[363]เคนยา แอฟริกาใต้[364]โกตดิวัวร์[365]โซมาเลีย[366]มอริเชียส[367]ซิมบับเว[368]ไทย[369]คาซัคสถาน[370]อาเซอร์ไบจาน[371]มอนเตเนโกร[372]เซอร์เบีย[373][374]มาเลเซีย[375]สิงค์โปร์[376][377]และฮ่องกง มีคนถูกจับฐานกระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการระบาดทั่วของโควิด-19[378][353]สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ทำการกระจายข่าวปลอมและข่าวลือเกี่ยวกับการระบาดทั่วให้มีโทษทางอาญา[379]พม่าได้ปิดไม่ให้ดูเว็บไซต์ข่าว 221 แห่ง[380]รวมทั้งสำนักข่าวสำคัญหลายแห่ง[381]

เล่ห์โกง

องค์การอนามัยโลกได้เตือนว่ามีอาชญากรที่หลอกว่าตนเป็นตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกและต้องการข้อมูลส่วนตัวจากเหยื่อโดยทำผ่านอีเมลหรือโทรศัพท์[382]อนึ่ง คณะกรรมการสื่อสารกลางสหรัฐ (FCC) แนะนำไม่ให้ผู้บริโภคกดลิงก์ของอีเมลที่น่าสงสัย และไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวทางอีเมล ทางข้อความ หรือทางโทรศัพท์[383]และคณะกรรมการการค้ากลางสหรัฐ (FTC) ยังเตือนว่ามีเล่ห์โกงทางสาธารณกุศลเกี่ยวกับการระบาดทั่ว จึงแนะนำไม่ให้ผู้บริโภคบริจาคทานโดยใช้เงิน บัตรของขวัญ หรือการโอนเงินทางบัญชี[384]

บริษัทความมั่นคงไซเบอร์คือ Check Point ระบุว่า มีการโจมตีแบบฟิชชิงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อให้เหยื่อติดตั้งไวรัสคอมพิวเตอร์ โดยส่งเป็นอีเมลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาและมีไฟล์ติดมาด้วยและอาจใช้ชื่อโดเมนที่ทำให้เข้าใจผิดเช่น "cdc-gov.org" แทน "cdc.gov" (ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ) หรือแม้แต่ทำเว็บไซต์หลอกโดยเลียนแบบเว็บไซต์เดิมจนถึงเดือนมีนาคม 2020 มีชื่อโดเมนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเกิน 4,000 ชื่อที่ได้ลงทะเบียน[385]

เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐนิวเจอร์ซีย์ (สหรัฐ) ได้รายงานถึงอาชญากรผู้เคาะประตูบ้านแล้วอ้างว่า มาจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ แล้วพยายามขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงหรือหลอกโกงเหยื่อโดยทำทีเหมือนจะให้ข้อมูลเพื่อป้องกันสาธารณชนจากไวรัสโคโรนา[386]

มีลิงก์ที่ส่งไปตามอินเทอร์เน็ตโดยบอกว่าเป็นแผนที่ไวรัสโคโรนาของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ แต่ความจริงนำส่งไปยังเว็บไซต์หลอกที่กระจายมัลแวร์[387][388]

ตั้งแต่รัฐบาลกลางสหรัฐได้ออกกฎหมายช่วยเหลือประชาชนเพราะการระบาดทั่ว อาชญากรได้หลอกลวงหาประโยชน์โดยบอกให้คนจ่ายเงินตนล่วงหน้าเพื่อรับเงินช่วยเหลือดังนั้น สำนักงานสรรพากรสหรัฐจึงแนะนำให้ผู้บริโภคใช้ลิงก์หรือเว็บไซต์ทางการของสำนักงานเท่านั้นเพื่อยื่นข้อมูล โดยไม่ให้ตอบทางข้อความ อีเมล หรือโทรศัพท์[389]จากนั้น บริษัทการเงินต่าง ๆ รวมทั้งธนาคาร[390]บริษัทให้กู้[391]รวมทั้งบริษัทประกันสุขภาพ[392]ก็ได้แนะนำเช่นเดียวกันในเว็บไซต์ของตน

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

อ้างอิง

{{รายการอ้างอินำข้อมูลไปใช้ง |30em}}

แหล่งข้อมูลอื่น

  • LaFrance, Adrienne (June 2020). "The Prophecies of Q". The Atlantic.
  • Lytvynenko, Jane (2020-05-21). "Coronavirus Pseudoscientists And Conspiracy Theorists". BuzzFeed News. สืบค้นเมื่อ 2020-10-26.
  • Ulloa, Jazmine (2020-05-06). "How memes, text chains, and online conspiracies have fueled coronavirus protesters and discord". The Boston Globe.
  • Uscinski, Joseph E.; Enders, Adam M. (2020-04-30). "The Coronavirus Conspiracy Boom". The Atlantic.
  • Zhang, Sarah (2020-05-24). "We Don't Even Have a COVID-19 Vaccine, and Yet the Conspiracies Are Here". The Atlantic.

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง