รัฐ

รัฐ (อังกฤษ: state) เป็นหน่วยการเมืองที่มีบทบาทในการผูกขาดการใช้อำนาจการปกครองสังคมและพลเมืองภายในดินแดนใต้อธิปไตยของตน[1] ประกอบกับมีองค์กรอย่างรัฐบาลที่ทำหน้าที่ในการปกครองรัฐชาติสมัยใหม่[2][3]

ประเทศส่วนใหญ่มักมีรูปแบบการปกครองในลักษณะที่เป็นเอกเทศ โดยมีการแบ่งรูปแบบการปกครองไว้ ได้แก่ รัฐเดี่ยว หรือ สหพันธรัฐ ในบริบทของรูปแบบหลังคำว่า "รัฐ" อาจใช้เพื่อนิยามว่าการเมืองการปกครองดังกล่าวอยู่ในลักษณะของรัฐที่มีสิทธิหรืออำนาจในการปกครองในแต่ละพื้นที่ หรือภูมิภาคที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของตน อำนาจสูงสุดจะมาจาก "รัฐบาลกลาง" หรือ "รัฐบาลสหพันธ์" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหลาย ๆ รัฐ มาประกอบกันเป็น "สหพันธรัฐ" (คำศัพท์อื่น ๆ ที่นำมาใช้แบ่งเขตการปกครองของรัฐบาลกลางอาจเรียกว่า "จังหวัด" "ภูมิภาค" แล้วแต่ตามที่รัฐได้กำหนดไว้)

การเกิดขึ้นของรัฐอธิปไตยในสังคมมนุษย์มีมานานหลายสหัสวรรษ ทว่าสังคมมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในรูปแบบของ "สังคมไร้รัฐ" รูปแบบของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,500 ปีก่อน[4] ประจวบกับพัฒนาการทางสังคม เช่น การขยายตัวของเมือง การประดิษฐ์ระบบการเขียน และการประมวลศาสนาแบบใหม่

เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปรัฐแต่ละรัฐต่างก็มีรูปแบบพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป โดยอ้างเหตุผลสำหรับการดำรงอยู่ของรัฐไว้หลากหลายแนวคิด (ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีเทวสิทธิ์ หรือ ทฤษฎีสัญญาประชาคม ฯลฯ) ปัจจุบันรัฐชาติสมัยใหม่มักมีรูปแบบการปกครองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานโดยประชาชนเป็นหลัก[5] รัฐอธิปไตยจะต้องได้รับการรับรองซึ่งสิทธิและอำนาจอธิปไตยในการปกครองของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างถูกต้องตามพฤตินัย รวมถึงจะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐเอกราชอื่นอีกเช่นกัน

คำว่า "รัฐ" ถูกนิยามไว้หลากหลายความหมาย[6][7] ในข้อนิยามของ มัคส์ เวเบอร์ (Max Weber) ได้ระบุเอาไว้ว่า "รัฐ" เป็นองค์กรทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ทำหน้าที่รักษาและผูกขาดอำนาจในการใช้ความรุนแรงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าคำนิยามดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับโดยสามัญ[8][9] แต่สภาวะไร้รัฐก็มิได้ขัดขวางการดำรงอยู่ของสังคม เช่น สมาพันธ์โฮดีโนโชนี (Haudenosaunee Confederacy) ที่เป็นตัวอย่างของ "รัฐไร้สัญชาติ" ซึ่งมิได้มีสถาบันหรือบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริงหรือโดยพฤตินัย[10] การบริหารงานราชการถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินกิจการและบทบาทของรัฐบาลประกอบกับเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาว่าการดำรงอยู่ของรัฐสมัยใหม่นั้น ๆ[11][12] ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวมากน้อยเพียงใด[13]

ศัพทมูลวิทยา

นิกโกเลาะ มาเกียเวลลี (Niccolò Machiavelli) เป็นหนึ่งในบุคคลแรก ๆ ที่นิยามความหมายของคำว่า "รัฐ" โดยระบุไว้ว่า "...ความสามัคคีทางการเมืองของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า และสามารถที่จะดำรงอยู่รอดได้ ไม่เพียงแค่ต้องพึ่งพาตัวรัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครองของรัฐบาลอีกด้วย..."

คำว่า "รัฐ" ในภาษาไทย มาจากคำว่า รฏฺฐ (raṭṭha) แปลว่า แคว้น บ้านเมือง ประเทศ หรือภูมิภาค[14] มีรากร่วมกับคำว่า ราษฺฏฺร (राष्ट्र; rāṣṭra) ในภาษาสันสกฤต[15] ขณะที่คำว่า "state" ในภาษาอังกฤษมีรากร่วมกับคำศัพท์ในตระกูลภาษายูโรเปียน (ตรงกับคำว่า stato ในภาษาอิตาลี, estado ในภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกส, état ในภาษาฝรั่งเศส, Staat ในภาษาเยอรมันและภาษาดัตช์ ฯลฯ) ทุกคำที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแต่สืบสร้างมาจากคำว่า status ในภาษาละติน ที่แปลว่า "เงื่อนไข หรือ สถานะ" ซึ่งก็สามารถย้อนความไปถึงคำว่า stare ที่แปลว่า "ยืนหยัด" ซึ่งหมายถึงการคงอยู่หรือความมั่นคงที่แฝงไปด้วยนัยยะของความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะหน่วยงานทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง

ในฐานะคำนามภาษาอังกฤษ state แปลว่า "เงื่อนไข หรือ สถานะ" โดยมีการบัญญัติความหมายของคำนี้ไว้ก่อนที่จะกลายเป็นศัพท์ทางการเมือง คำ ๆ นี้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในภาษาอังกฤษสมัยกลางราว ๆ ค.ศ. 1200 ซึ่งก็หยิบยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าที่สืบทอดมาจากภาษาละตินอีกทอดหนึ่ง

เมื่อมีการฟื้นฟูกฎหมายโรมันขึ้นในยุโรปราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 คำ ๆ นี้ก็มีสถานภาพทางกฎหมาย หมายถึง สถานภาพของบุคคลในสังคม (เช่น "ฐานันดรแห่งราชอาณาจักร" อันได้แก่ ขุนนาง สามัญชน และนักบวช) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะอันพิเศษของกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง สูงศักดิ์ และมีอำนาจสูงสุดเหนือทั้งหมดทั้งปวงภายใต้ราชอาณาจักร นอกจากนี้คำว่า state นี้ยังมีความหมายที่เชื่อมโยงกับแนวคิดของโรมัน (ย้อนกลับไปถึงยุคของ กิแกโร) เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง "status rei publicae" หรือ "เงื่อนไขสาธารณะ" จนกระทั่งในเวลาต่อมาคำ ๆ นี้ก็ได้มีความหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมิได้มีบริบทที่หมายถึงสถานภาพของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งในสังคมอีกต่อไปและเริ่มมีความหมายที่เชื่อมโยงกับกฎระเบียบทางสังคมหรือเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐในเวลาต่อมา[16]

ผลงานของ มาเกียเวลลี ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ตัวอย่างเช่น เจ้าผู้ปกครอง) มีส่วนสำคัญในการนิยามความหมายของคำว่า "รัฐ" นิยามที่ระบุไว้ในงานประพันธ์ของมาเกียเวลลีถือว่ามีความหมายที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับความหมายของโลกทัศน์สมัยใหม่พอสมควร[17] การแยกความต่างระหว่างศาสนจักรกับรัฐยังคงปรากฎให้เห็นตลอดจนถึงศตวรรษที่ 16 เมื่อรัฐสิบสามอาณานิคมในภูมิภาคอเมริกาเหนือได้ระบุถึงสถานภาพของประเทศของตนว่า "state" และในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1630 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ก็ทรงเคยตรัสวลีหนึ่งขึ้นมาว่า "ตัวข้าคือรัฐ" (L'État, c'est moi) แม้จะไม่มีหลักฐานใดมายืนยันอย่างแน่ชัดแต่ก็มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังตั้งแต่ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18[18]

คำนิยาม

ปัจจุบันยังมิได้มีข้อเอกฉันท์ทางวิชาการอย่างชัดเจนต่อนิยามของคำว่ารัฐ[6] ความหมายคำว่า "รัฐ" นั้นมีชุดทฤษฎีที่แตกต่างกันไปผ่านการตีความของแต่ละบุคคลแต่ก็ยังมีจุดเชื่อมโยงและมักจะมีความหมายที่ทับซ้อนกันอยู่เสมอตามแต่บริบทของสถานการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนั้น[7] หากอ้างอิงตามคำนิยามกระแสหลักของ วอลเตอร์ ไชเดิล (Walter Scheidel) เจ้าตัวได้ระบุว่ารัฐมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้: "รัฐเป็นสถาบันที่มีอำนาจแบบรวมศูนย์ ซึ่งคอยกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และใช้อำนาจเหนือประชากรที่อยู่ภายในดินแดนใต้การปกครองของตน เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความต่างทางชนชนชั้นระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง รวมถึงความต่างระหว่างองค์ประกอบของเอกราชหรือความมั่นคง ข้อแตกต่างเหล่านี้ส่งผลให้รัฐเป็นหน่วยการเมืองที่มีความแตกต่างไปจากรูปแบบขององค์กรอื่น ๆ ซึ่งมีความมั่นคงทางอำนาจน้อยกว่าอย่างการใช้อำนาจปกครอง"[19]

ข้อนิยามที่ถูกนำมาอ้างอิงมากที่สุดคือคำจำกัดความของ มัคส์ เวเบอร์[20][21][22][23][24] ที่ได้นิยามว่ารัฐเป็นองค์กรทางการเมืองภาคบังคับที่มีรัฐบาล ซึ่งคอยทำหน้าที่รวมศูนย์อำนาจและผูกขาดการใช้ความรุนแรงอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในดินแดนใต้อาณัติของตน[8][9] กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ "รัฐเป็นชุมชนของมนุษย์ที่ (ประสบความสำเร็จในการ) อ้างสิทธิ์ผูกขาดการใช้อำนาจทางกายภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ดินแดนของตน"[25]

เนื่องจากผู้คนมักสับสนถึงความหมายระหว่างคำว่า "รัฐ" กับ "ชาติ" อยู่อย่างเสมอ ดังนั้นนิยามของคำว่ารัฐจึงต้องแยกออกจากนิยามของคำว่าชาติอย่างชัดเจน โดยปกติแล้ว "รัฐ" หมายถึงหน่วยงานทางการเมืองที่มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่กำหนด และมีลักษณะที่เป็น "นามธรรมทางการเมือง-กฎหมาย" มากกว่า ขณะที่นิยามของคำว่า "ชาติ" จะยึดโยงอยู่กับอัตลักษณ์ทางการเมือง ปัจจัยทางวัฒนธรรม หรือในเชิงประวัติศาสตร์เสียมากกว่า ที่สำคัญคำว่า "ชาติ" มิใช่สิ่งที่มีคุณลักษณะของความเป็นองค์กร เช่น ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ ผู้มีอำนาจ หรือเจ้าพนักงาน และจะไม่มีการอ้างสิทธิ์ใด ๆ ในการผูกขาดการใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมายเหนือประชาชนของตน[26] ขณะที่รัฐมีทุกอย่างดังที่เวเบอร์ได้ระบุไว้ ตัวอย่างของรัฐที่ไม่มีการผูกขาดอำนาจการใช้ความรุนแรงสามารถเห็นได้จากกลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งมีความอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพในการปกครองตนเองเป็นอย่างมากเนื่องจากขาดปัจจัยอย่างการทำสงครามกับรัฐภายนอกต่างจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป[27] เราไม่ควรสับสนระหว่างคำว่ารัฐกับรัฐบาลเนื่องจาก "รัฐบาล" คือ องค์กรที่ได้รับมอบหมายอำนาจให้ดำเนินกิจการใด ๆ ก็ตามในนามของรัฐ รัฐไม่ควรสับสนกับสังคมเพราะ "สังคม" หมายถึง กลุ่มองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นผ่านขบวนการเคลื่อนไหวและความเป็นปัจเจกอย่างอิสระ โดยไม่พยายามที่จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการครอบงำของรัฐ

นอยเบอร์เกอร์ (Neuberger) ได้เสนอนิยามของคำว่ารัฐที่ต่างไปจากของเวเบอร์เล็กน้อย โดยที่ยังคำนึงถึงคุณลักษณะของความเป็นชาติอยู่เสมอ: รัฐ หมายถึง "การแสดงออกถึงศักยภาพในการรักษาเสถียรภาพของความเป็น (ชาติ) ด้วยความจำเป็นอย่างมั่นคงและถาวร"[28]

นิยามของคำว่ารัฐยังคงขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามว่ารัฐเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและด้วยเหตุอันใด มุมมองแบบสัญญาประชาคมเสนอว่ารัฐเกิดขึ้นมาก็เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงผลประโยชน์ของตนจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมได้[29] หากไม่มีรัฐก็จะเกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคม[30] ในมุมมองของนักทฤษฎีสัญญาประชาคมมองว่าบทบาทของรัฐจะต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดสรรอำนาจและแก้ไขความขัดแย้งในสังคมเพื่อผลประโยชน์ระหว่างบุคคลภายในรัฐ กลับกันในมุมมองของนักปกครองกลับมองว่ารัฐจะต้องมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขความไม่ลงรอยกันระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนกับผลประโยชน์ของรัฐ ชาลส์ ทิลลี (Charles Tilly) ได้นำเสนอไปไกลถึงขนาดนิยามว่ารัฐก็ "เปรียบเสมือนองค์กรอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่คิดจะขู่กรรโชกทรัพย์เราอยู่ตลอดเวลา"[31] ทิลลียังเสริมอีกว่ารัฐประกันความคุ้มครองจากตัวเองแก่ประชาชน[32] และตั้งคำถามกลับว่าทำไมประชาชนถึงจะต้องไว้ใจรัฐ เพราะในเมื่อประชาชนด้วยกันก็ยังมิอาจไว้วางใจซึ่งกันและกันได้

ทิลลีได้ให้คำนิยามกับรัฐต่างๆ ว่าเป็น "องค์กรที่บีบบังคับซึ่งแยกตัวออกจากครัวเรือนหรือกลุ่มเครือญาติเพื่อใช้เรียงลำดับความสำคัญที่ชัดเจนในบางประเด็นเหนือองค์กรอื่น ๆ ทั้งหมดภายในดินแดนที่กว้างขวาง"[33] รัฐชาติในที่นี้มิได้หมายถึงเพียงแค่นครรัฐ รัฐโลกวิสัย หรือจักรวรรดิ สำหรับทิลลีร่องรอยของความเป็นรัฐปรากฎให้เห็นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติตั้งแต่ 6,000 ปีก่อนคริสตกาลผ่านหลักฐานชั้นต้นอย่างบันทึกทางโบราณคดี และเริ่มปรากฎให้เห็นในยุโรปราว ค.ศ. 990 แต่โดดเด่นขึ้นเป็นพิเศษราว ๆ ค.ศ. 1490 เป็นต้นไป ทิลลีได้กำหนด "กิจกรรมขั้นต่ำที่จำเป็น" ของรัฐไว้ดังนี้:

  1. การทำสงคราม – "การกำจัดหรือทำให้อิทธิพลของคู่แข่งของตนลดลง"
  2. การสร้างรัฐ – "การกำจัดหรือทำให้คู่แข่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตน"
  3. การป้องกัน – "การกำจัดหรือทำให้ศัตรูของรัฐต้องยินยอม"
  4. การสกัดกั้น – "การได้มาซึ่งปัจจัยในการดำเนินกิจกรรมสามประการแรก"
  5. การตัดสินใจ – "การระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน"
  6. การกระจายสินค้า – “การแทรกแซงการจัดสรรสินค้าเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประชาชน”
  7. การผลิต – "การควบคุมการสร้างหรือการแปรรูปสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน"[34][35]

ที่สำคัญคือทิลลีชี้ให้เห็นว่าสงครามเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างรัฐแต่ก็สามารถทำลายรัฐได้ในเวลาเดียวกัน[36]

คำจำกัดความทางวิชาการสมัยใหม่ของรัฐมักควบรวมเกณฑ์ที่ว่ารัฐจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ[37]

ความคิดแบบเสรีนิยมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ของรัฐโลกวิสัยดังคำกล่าวของ จอห์น ล็อก (John Locke) ที่ว่า เป้าหมายของ "รัฐ" หรือ "เครือจักรภพ" คือ "การรักษาทรัพย์สิน" (ความเรียงที่สองว่าด้วยการปกครอง) โดยที่คำว่า "ทรัพย์สิน" ในงานของล็อกมิได้เจาะจงเพียงแค่ทรัพย์สินส่วนบุคคลแต่เพียงเท่านั้นแต่ยังรวมถึงชีวิตและเสรีภาพ ด้วยเหตุนี้รัฐจึงเป็นรากฐานสำคัญต่อการรักษาไว้ซึ่งการดำเนินกิจการร่วมกันทางสังคม โดยสร้างแรงจูงใจผ่านการสร้างความมั่งคั่งเพื่อมอบหลักประกันทั้งในด้านของการคุ้มครองชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินส่วนบุคคลของประชาชน อดัม สมิธ (Adam Smith) เสนอว่าการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสาธารณประโยชน์ถือเป็นบทบาทหลักที่รัฐพึงต้องปฏิบัติ[38] เนื่องจากสินค้าเหล่านี้อาจมิได้รับการจัดสรรอย่างเพียงพอ ทิลลีได้ท้าทายต่อลักษณะของความเป็นรัฐว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากผลพวงของหลักสัญญาประชาคมหรือการดำเนินกิจการภายใต้เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี โดยเขามองว่ารัฐมีลักษณะคล้ายกับไม้กางเขนที่ทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนผ่านโครงสร้างของรูปแบบกลุ่มอาชญากร[39]

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กับนักปรัชญาการเมืองได้วิพากษ์ถึงแนวโน้มการผูกขาดโดยรัฐ[40] ตัวอย่างเช่น รอเบิร์ต โนซิก (Robert Nozick) ได้ให้เหตุผลว่าการใช้ความรุนแรงโดยธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การผูกขาดซึ่งอำนาจรัฐ[41]

ปัญหาที่ทำให้เกิดความสับสนระหว่างข้อนิยามของคำว่า "รัฐ" กับ "รัฐบาล" คือมักถูกใช้เป็นคำพ้องความหมายในการสนทนาทั่วไปหรือแม้แต่วาทกรรมทางวิชาการบางหัวข้อ สรุปแล้วคำนิยามของรัฐชาติถือว่าเป็นตัวแสดงที่มิได้มีตัวตนทางกายภาพตามคุณลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลถือเป็นองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยประชาชน[42] ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐบาลคือการทำหน้าที่เป็นตัวแสดงและหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายอำนาจการบริหารงานราชการ[43]

องค์ประกอบของรัฐ

คำนิยามที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปอีกประการหนึ่งของรัฐคือคำนิยามที่ระบุไว้ในอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐในปี ค.ศ. 1933 ที่กำหนดว่า "องค์ประกอบของรัฐชาติในฐานะตัวแสดงหนึ่งตามคุณลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศจะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้:

รัฐกับประชากร

รัฐเป็นสิ่งที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงความต่างระหว่างคำว่า "ชาติ" กับ "รัฐชาติ" ออกมาอย่างชัดเจน คำว่า "ชาติ" (nation) หมายถึงชุมชนทางวัฒนธรรมและการเมืองโดยประชาชน ขณะที่คำว่า "รัฐชาติ" (nation state) หมายถึงดินแดนที่มีกลุ่มประชากรซึ่งมีชาติพันธุ์เดียวกันและเกี่ยวโยงกับรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ

ขณะที่ "ประชากร" หมายถึง กลุ่มบุคคลผู้ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของชาตินั้น ๆ ที่มารวมตัวกันอยู่ในพื้นที่หรือดินแดนเดียวกันไม่ว่าบุคคลในชาตินั้นจะมีเชื้อชาติเดียวกันหรือไม่ก็ตาม แม้ว่าโลกในศตวรรษที่ 21 จะถือว่ารัฐมีศักยภาพในการเชื่อมโยงพลเมืองภายใต้การปกครองของตนเข้าไว้ด้วยกันแต่ก็มิได้หมายความว่าจุดมุ่งหมายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอไป หากรัฐหลาย ๆ รัฐสามารถรวมตัวกันให้กลายเป็นประเทศเดียวกันได้ รัฐเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า รัฐประชาชาติ (national state) หรือ รัฐชาติ (nation state) นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในเรื่องของสัญชาติที่ทำหน้าที่ระบุว่าบุคคลคนนั้นเป็นพลเมืองของรัฐใดไม่ว่าอำนาจอธิปไตยในการปกครองของรัฐดังกล่าวจะครอบคลุมมากกว่าชาติใดชาติหนึ่งหรือไม่ก็ตาม

รัฐกับดินแดน

ดินแดนทำหน้าที่ในการกำหนดขอบเขตอำนาจอธิปไตยทางภูมิศาสตร์ของแต่ละรัฐ หลักการสำคัญของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่คือจะต้องมีอาณาเขตหรือดินแดนที่ตั้งอย่างชัดเจนไม่ว่าจะทั้งในทางบก ทางทะเล หรือในทางอากาศ บทบัญญัติของหลักการดังกล่าวเรียกว่า "สิทธิโดยแผ่นดิน"

การกำหนดเขตแดนมิใช่ปัญหาหลักสำหรับ "รัฐโบราณ" หรือ "รัฐจารีต" แต่สำหรับรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีอายุยังน้อยก็ยังคงมีปัญหาอยู่บ้างหลายประการกรณีตัวอย่างเช่น การที่อดีตรัฐอาณานิคมหลายรัฐได้รับดินแดนเพิ่มจากเดิมในสมัยหลังอาณานิคมหรือยิ่งไปกว่านั้นในกรณีของอดีตประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต เป็นต้น นอกจากนี้การพูดคุยกันถึงองค์ประกอบบางประการของการแบ่งเขตแดนก็ยังคงได้รับการถกเถียงในแวดวงวิชาการอยู่อย่างสม่ำเสมอ

รัฐกับรัฐบาล

รัฐสามารถแยกความแตกต่างออกจากรัฐบาลได้ตรงที่ว่า "รัฐ" คือ องค์กร ขณะที่ "รัฐบาล" คือ กลุ่มบุคคลที่เจาะจงโดยเฉพาะ โดยมีระบบราชการที่ควบคุมกลไกในการดำเนินกิจการของรัฐนั้น ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง[44][45][46] กล่าวคือรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจรัฐ รัฐแต่ละรัฐจะได้รับการบริหารงานโดยรัฐบาลต่าง ๆ ที่สืบทอดกันอย่างต่อเนื่อง[46] รัฐเป็นวัตถุทางสังคมที่ไม่มีสาระสำคัญและไม่มีรูปแบบทางกายภาพ ขณะที่รัฐบาลเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในการดำเนินกิจการในฐานะรัฐบางประการ[47]

รัฐบาลที่สืบทอดกันมาในแต่ละสมัยประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีสิทธิพิเศษในการผูกขาดการตัดสินใจทางการเมืองโดยปราศจากการต่อรองทางอำนาจจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือประชาชน

องค์กรทางการเมืองและกฎหมาย

องค์กรทางการเมืองและกฎหมายมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อรับประกันสถานภาพและความมั่นคงของอำนาจอธิปไตยภายใต้เขตแดนของประเทศนั้น ๆ องค์กรนี้มีลักษณะสำคัญอยู่ทั้งหมดสามประการ ได้แก่:

สถานภาพเชิงศีลธรรม

รัฐเป็นองค์กรที่มีสิทธิและอำนาจในการดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเองและเป็นอิสระต่อกันภายใต้ระบอบระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิ์ในการปกครองตนเอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในองค์ประกอบหลักของรัฐที่มีลักษณะเป็นแบบถาวรจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพหรือระยะเวลาในการดำเนินการตัดสินใจของรัฐนั้น ๆ

อำนาจอธิปไตย

รัฐจะต้องมีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง การได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยจะต้องไม่ขึ้นอยู่กับการดำเนินการจากรัฐอื่นแต่อย่างใดและจะต้องไม่มีกลุ่มหรือองค์กรทางสังคมใดที่มีอำนาจเหนือไปกว่ารัฐ ขอบเขตอำนาจอธิปไตยโดยรัฐจะต้องครอบคลุมทั้งระบอบภายในและระบอบระหว่างประเทศ[48] จะในฐานะรัฐเดี่ยวหรือรัฐสหพันธ์ก็ตาม[49] และอำนาจอธิปไตยก็สามารถถูกจำกัดได้มากน้อยเพียงใดก็ได้ผ่านความสมัครใจ ตัวอย่างเช่น หมู่เกาะคุก และ ประเทศนีวเว ที่ต้องการสิทธิในการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยตนเอง โดยปราศจากอำนาจการตัดสินใจของประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ตามหลักการของ มัคส์ เวเบอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและความชอบธรรมในการปกครองรัฐจะต้องผูกขาดอำนาจในการใช้ความรุนแรง เช่น กิจการของกองทัพ ตำรวจ หรือ อำนาจตุลาการ ที่จะต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการและบริหารงานโดยรัฐบาล การใช้อํานาจโดยรัฐสามารถแบ่งออกได้อย่างกว้าง ๆ เป็นทั้งหมดสองประเภทดังนี้:

  • อํานาจในการจัดระเบียบสังคม: รัฐสามารถควบคุมกิจกรรมและบทบาทของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของตนได้ผ่านการใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือในทางกฎหมาย
  • อํานาจในการริเริ่มบทบาทการบริหารงานราชการภายในพื้นที่: ตัวอย่างเช่น รัฐสามารถออกแบบและบริหารนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและการให้บริการแก่ชุมชนได้ โดยบทบาทดังกล่าวมีอิทธิพลสําคัญอย่างมากต่อรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19

รูปแบบของรัฐ

ชาลส์ ทิลลี จำแนกรูปแบบของรัฐไว้ทั้งหมดสี่ประเภทดังนี้ ได้แก่ จักรวรรดิ รัฐโลกวิสัย นครรัฐ และรัฐชาติ ตามความเห็นของ ไมเคิล แมนน์ (Michael Mann) หน้าที่หลักอันเป็นหลักการสากลของรัฐมีทั้งสิ้นสี่ประการ ได้แก่:

  1. การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในชาติ
  2. การปกป้องประเทศจากการรุกรานทางการทหาร
  3. การทำนุบำรุงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสาร
  4. การดำเนินนโยบายกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ[50]

โจเซฟ โคโลเมอร์ (Josep Colomer) ชี้ให้เห็นถึงความต่างระหว่างคุณลักษณะของจักรวรรดิกับรัฐไว้ดังนี้:

  1. จักรวรรดิมีอาณาเขตที่กว้างขวางกว่ารัฐอย่างชัดเจน
  2. จักรวรรดิมีอาณาเขตที่ไม่ชัดเจนหรือถาวร ขณะที่รัฐมีขอบเขตที่ชัดเจนและมั่นคง
  3. จักรวรรดิมี "ศูนย์กลางทางอำนาจที่หลากหลาย โดยไม่ขึ้นตรงกับดินแดนใดดินแดนหนึ่ง" ขณะที่รัฐมี "ศูนย์กลางทางอำนาจสูงสุดเหนือดินแดนและประชากรภายใต้การปกครองของตนทั้งปวง"
  4. จักรวรรดิมีขอบเขตอำนาจตุลาการที่ทับซ้อนกันหลายระดับ ขณะที่รัฐผูกขาดอำนาจตุลาการแต่เพียงผู้เดียวและมีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด[51]

ตามการจำแนกของ ไมเคิล เฮกเตอร์ (Michael Hechter) และ วิลเลียม บริวสไตน์ (William Brustein) รัฐชาติสมัยใหม่มีคุณลักษณะที่แตกต่างจาก "สันนิบาตแห่งนครรัฐอิสระ จักรวรรดิ สมาพันธรัฐ และสหพันธรัฐตามระบอบประชาธิปไตย" สี่ประการดังนี้:

  1. รัฐชาติสมัยใหม่จะต้องแสวงหาความสำเร็จในการขยายอำนาจและควบรวมดินแดนของตนให้อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน
  2. รัฐชาติสมัยใหม่จะต้องประสบความสำเร็จในการควบคุมกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนภายใต้ขอบเขตอำนาจอธิปไตยของตน
  3. รัฐชาติสมัยใหม่จะต้องสถาปนาสถาบันการปกครองที่แยกออกจากสถาบันทางสังคมรูปแบบอื่นออกอย่างชัดเจน
  4. ผู้ถืออำนาจการปกครองของรัฐชาติสมัยใหม่มีศักยภาพในการผูกขาดอำนาจการใช้ความรุนแรงแต่เพียงผู้เดียว[52]

นักปรัชญาการเมืองอาจจำแนกรัฐต่าง ๆ ว่าเป็น "รัฐอธิปไตย" ก็ต่อเมื่อรัฐเหล่านั้นมิได้ขึ้นตรงหรืออยู่ภายใต้อำนาจการปกครองจากรัฐอื่น ๆ ทั้งในเชิงอำนาจอธิปไตยภายนอกหรือการใช้อำนาจครอบงำ[53] รูปแบบของรัฐที่เกิดจากการรวมตัวกันอยู่เป็นหลาย ๆ รัฐเรียกว่า "สหพันธรัฐ" เป็นรูปแบบของรัฐที่การบังคับใช้อำนาจอธิปไตยและรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับรัฐบาลส่วนกลางแห่งสหพันธ์ (คล้ายกับระบอบสมาพันธรัฐของสมาพันธรัฐสวิส) รูปแบบของรัฐดังกล่าวมีความแตกต่างจากรัฐอธิปไตยทั่วไปตรงที่รัฐย่อยในแต่ละรัฐนั้น ๆ ได้ถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยบางส่วนของตนไปขึ้นตรงกับรัฐบาลสหพันธ์อย่างสมบูรณ์[54]

ในบางกรณีเราสามารถจำแนกรูปแบบต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างง่าย ๆ ตามองค์ประกอบหรือจุดเด่นที่พบเห็นได้ชัด แนวคิดเกี่ยวกับรัฐในทางทฤษฎีหรือในอุดมคติซึ่งยึดโยงกับความเป็น "ชาติ" ได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นหรือในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ในทางตรงกันข้ามรัฐบางรัฐมีความพยายามที่จะสร้างคุณธรรมผ่านการสร้างความหลากหลายทางเชื้อชาติหรือข้ามชาติ (เช่นในกรณีของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกับสหภาพโซเวียตเป็นต้น) ซึ่งได้เน้นย้ำให้เห็นถึงคุณลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพลเมืองทุกคนผ่านการนำเสนอในรูปแบบของระบอบอัตตาธิปไตย ความชอบธรรมของกษัตริย์หรืออุดมการณ์ทางการเมือง ส่วนรัฐที่ปกครองด้วยระบอบฟาสซิสต์หรือระบอบอำนาจนิยมมักส่งเสริมแนวคิดในเรื่องความเหนือกว่าทางเชื้อชาติ[55] รัฐที่นิยมชมชอบในระบอบดังกล่าวอาจนำแนวคิดในเรื่องของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือการไม่แบ่งแยกมานำเสนอ: เช่นระบอบการปกครองแบบ res publica ของโรมโบราณ กับ Rzeczpospolita ของ เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย ซึ่งระบอบที่กล่าวมาข้างตนยังมีอิทธิพลสำคัญต่อรูปแบบการปกครองของสาธารณรัฐสมัยใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

แนวคิดที่ว่าด้วย "รัฐฆราวาส" ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของศาสนา หรือ "นครรัฐ" ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นรูปแบบการปกครองที่ค่อนข้างแพร่หลายและประสบความสำเร็จมาตั้งแต่สมัยโบราณ[56][57] ได้ถูกลดทอนบทบาทและความสำคัญลงในยุคร่วมสมัย นครรัฐขนาดเล็กที่ยังมีเอกราชและอธิปไตยเป็นของตนในโลกสมัยใหม่ ได้แก่ นครรัฐวาติกัน ราชรัฐโมนาโก และ สาธารณรัฐสิงคโปร์ รวมถึงนครรัฐที่รวมตัวกันอยู่ในรูปแบบของสหพันธรัฐตัวอย่างเช่น รัฐของประเทศเยอรมนี หรืออาจเป็นเขตปกครองตนเองที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยที่จำกัดในระดับหนึ่งตัวอย่างเช่น ฮ่องกง ยิบรอลตาร์ และ เซวตา การแบ่งแยกเมืองหรือการสร้างนครรัฐใหม่ (ทั้งในรูปแบบของรัฐอธิปไตยหรือสหพันธรัฐ) ก็ยังคงมีการหารือกันอยู่ตลอดในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 เช่นในกรณีของกรุงลอนดอน เป็นต้น

รัฐกับภาคประชาสังคม

ในความคิดทางการเมืองแบบคลาสสิกรัฐถูกระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการเมือง สังคมการเมือง และภาคประชาสังคม ขณะที่ความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ทำให้รัฐชาติกลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาในฐานะรูปแบบของสังคมการเมืองภาคประชาสังคมและในรูปแบบของสังคมเศรษฐกิจ[58] ดังนั้นแล้วความเป็นรัฐชาติในชุดความคิดแบบสมัยใหม่ย่อมต้องขัดแย้งกับความเป็นภาคประชาสังคมอย่างแน่นอน[59][60][61]

อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) เชื่อว่าภาคประชาสังคมเป็นรากฐานที่สำคัญต่อกิจกรรมทางการเมือง เช่น การสร้างอัตลักษณ์ การต่อสู้ทางอุดมการณ์ การจัดกิจกรรมโดยกลุ่มปัญญาชน หรือ การใช้อำนาจครอบงำ และภาคประชาสังคมเองก็ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงให้กับขอบเขตทางเศรษฐกิจและการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำร่วมกันของภาคประชาสังคม กรัมชีเรียกสิ่งนี้ว่า "สังคมการเมือง" โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดเรื่องรัฐในฐานะการเมืองว่าการเมืองมิใช่กระบวนการรูปแบบเดียวของการจัดการทางการเมือง แต่เป็นการที่กิจกรรมขององค์กรภาคประชาสังคมที่กำหนดเงื่อนไขกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือสถาบันของรัฐ และในทางกลับกันภาคประชาสังคมก็ถูกกำหนดโดยกิจกรรมรูปแบบเหล่านั้นอีกทอดหนึ่ง[62][63] ขณะที่ หลุยส์ อัลตูแซร์ (Louis Althusser) มีความเห็นแย้งว่าองค์กรภาคประชาสังคมเช่น โบสถ์ โรงเรียน และครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งของ "กลไกรัฐเชิงอุดมการณ์" ซึ่งเติมเต็ม "กลไกรัฐที่กดขี่" (เช่น ตำรวจและทหาร) ในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม[64][65][66]

เยือร์เกิน ฮาแบร์มาส (Jürgen Habermas) ชี้ให้เห็นถึงปริมณฑลสาธารณะว่ามีความแตกต่างไปจากปริมณฑลทั่วไปทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง[67]

หากพิจารณาถึงบทบาทของกลุ่มก้อนทางสังคมในจำนวนที่หลากหลาย การพัฒนานโยบายสาธารณะและการเชื่อมโยงระหว่างระบบราชการโดยรัฐกับสถาบันอื่น ๆ การระบุขอบเขตของรัฐอย่างกว้าง ๆ จึงกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น การแปรรูปและการโอนกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐ รวมถึงการสร้างหน่วยงานกำกับดูแลขึ้นมาใหม่ยังได้เปลี่ยนขอบเขตหน้าที่และบทบาทของรัฐซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสังคมด้วย บ่อยครั้งที่สถานภาพขององค์กรเสมือนอิสระจะมีความไม่ชัดเจนจึงทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักรัฐศาสตร์ว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือภาคประชาสังคมหรือไม่มากน้อยเพียงใด นักรัฐศาสตร์บางคนมักจะพูดถึงเครือข่ายทางนโยบายและการปกครองแบบกระจายอำนาจในสังคมสมัยใหม่มากกว่าจะพูดถึงระบบราชการหรือการควบคุมนโยบายโดยตรงของรัฐ[68]

สัญลักษณ์

ภาพตัวอย่างธงชาติของกลุ่มประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ โดยปกติแล้วธงชาติมักจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ประจำชาติของรัฐอธิปไตยนั้น ๆ

สัญลักษณ์ประจำชาติทำหน้าที่แสดงให้เห็นถึง "อัตลักษณ์" และ "ค่านิยม" โดยพื้นฐานของแต่ละรัฐชาติไม่เพียงแต่รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงประเทศที่ตกอยู่ในสถานภาพอาณานิคมอีกด้วย

ความเป็นมา

การเกิดขึ้นของรัฐในรูปแบบแรกสุดคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้อำนาจมีศักยภาพในการที่จะรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางอย่างมีเสถียรภาพ เงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดขึ้นของรัฐ คือ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การทำเกษตรกรรมเช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือข้าวฟ่าง เนื่องจากเป็นธัญพืชที่สามารถผลิตได้ในปริมาณที่มาก[69][70][71][72] หรือแม้แต่การจัดเก็บภาษี การจดบันทึก และการจัดสรรทรัพยากร[69][73][74][75] ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนภายในรัฐทั้งสิ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเกษตรกรรมเป็นการเปิดทางไปสู่การมีชนชั้นทางสังคมที่ผู้คนในสังคมไม่จำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดำรงชีพด้วยตนเอง การเขียนจดบันทึกที่สามารถทำให้จดบันทึกรวบรวมรวมข้อมูลสำคัญได้ รวมถึงการวางโครงสร้างของระบบราชการก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อำนาจรัฐสามารถขยายขอบเขตออกไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น[76]

อารยธรรมโบราณถือกำเนิดขึ้นในบริเวณภูมิภาคอียิปต์, เมโสโปเตเมีย, ชมพูทวีป, จีน, มีโซอเมริกา และในบริเวณเทือกเขาแอนดีส ความเป็น "สังคมไร้รัฐ" ถูกแทนที่ด้วยความเป็น "รัฐประชาชาติสมัยใหม่" ผ่านการจัดระเบียบทางการเมืองของสังคมทั่วโลก สังคมโบราณแบบกลุ่มนักล่า คนเก็บของป่าล่าสัตว์ หรือแบบชนเผ่าขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้ต่างก็มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการต้อนฝูงสัตว์หรือการทำเกษตรกรรมทั้งสิ้น โดยที่งานวิจัยในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุช่วงระยะเวลาของสังคมไร้รัฐว่ายาวนานมากน้อยเพียงใดได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่สามารถชี้ให้เห็นชัดได้คือสังคมรูปแบบไร้รัฐกินระยะเวลายาวนานมานับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หรือแม้แต่ก่อนการเกิดขึ้นของยุคประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษย์อย่างแน่นอน

องค์กรหลักที่มีสถานภาพและอิทธิพลเทียบเท่ากับสถานภาพของรัฐในสมัยโบราณ ตัวอย่างเช่น องค์กรทางศาสนา โบสถ์ หรือ นครรัฐ[77]

นับตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ที่ดินบนโลกสามารถตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยได้เกือบทั้งหมด โลกถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ที่มีเขตแดนชัดเจนไม่มากก็น้อย โดยมีรัฐต่าง ๆ คอยอ้างสิทธิและอำนาจอธิปไตยในการปกครองเขตแดนของตนทั้งสิ้น ทั้งที่ก่อนหน้าก็ไม่เคยมีผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใดอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนที่ค่อนข้างใหญ่ขนาดนี้มาก่อน หรืออาจจะมีชนร่อนเร่อาศัยอยู่แต่ก็มิได้ดำรงชีพรวมตัวกันอยู่เป็นแบบรัฐ อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐชาติสมัยใหม่จะทำหน้าที่ในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนของตน แต่ก็ยังมีพื้นที่กว้างใหญ่อีกมาก ตัวอย่างเช่น ป่าดิบชื้นแอมะซอนที่อาจจะมีแค่คนพื้นเมืองอาศัยอยู่เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นหรือไม่มีเลย (บ้างก็มิได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากโลกภายนอก) นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกกันว่า "รัฐล้มเหลว" ซึ่งเป็นรัฐที่มิได้มีอำนาจในการปกครองดินแดนที่อ้างสิทธิ์ทั้งหมดในทางพฤตินัยหรือในกรณีที่อำนาจของตนถูกท้าทายเป็นปฏิปักษ์ ปัจจุบันประชาคมระหว่างประเทศประกอบด้วยรัฐอธิปไตยทั้งสิ้นประมาณ 200 รัฐ ในแต่ละรัฐก็จะมีตัวแทนของตนประจำการอยู่ในองค์กรสหประชาชาติซึ่งทำหน้าที่รักษาสันติภาพและความมั่นคงของตนภายใต้ระบอบระหว่างประเทศ

สังคมไร้รัฐในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ของมนุษยชาติโดยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในรูปแบบ "สังคมไร้รัฐ" ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ขาดการกระจุกตัวและปรากฎให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมากทั้งในเชิงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง

นักมานุษยวิทยา ชื่อ ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) ได้ระบุเอาไว้ว่า:

ในองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาที่ปัจจุบันค่อนข้างล้าสมัยนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่าคนเก็บของป่าล่าสัตว์รู้สึกอย่างไรกับการอยู่ใน 'สังคมไร้รัฐ' ราวกับว่าชีวิตทางสังคมของพวกเขานั้นขาดหายไปหรือยังไม่สำเร็จมากพอ โดยที่จะต้องรอให้เสร็จสมบูรณ์เสียก่อนผ่านวิวัฒนาการเชิงกลไกโดยรัฐ ในทางกลับกันหลักการสำคัญทางสังคมของคนกลุ่มนั้นดังที่ ปีแยร์ คลาตส์ (Pierre Clastres) ได้กล่าวเอาไว้นั้น โดยพื้นฐานแล้วบุคคลในสังคมไร้รัฐมักจะมี 'ความรู้สึกต่อต้าน' ความเป็นรัฐอยู่เสมอ[78]

ยุคหินใหม่

ในช่วงยุคหินใหม่สังคมมนุษย์มีการปฏิรูปทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านเกษตรกรรม การตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างเป็นหลักแหล่ง ความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้น และการใช้เครื่องมือช่วยในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ดูมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่เก่าก่อน[79][80]

นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกแบบอยู่ประจำเป็นหลักแหล่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดสิทธิในทรัพย์สิน การกสิกรรม การเกิดขึ้นของสังคมแบบครอบครัวใหญ่ มีการจัดเตรียมปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอกครอบครัวอย่างการผลิตอาหารส่วนเกินจำนวนมาก[81] ส่งผลให้เกิดการแบ่งงานกันมากขึ้นและทำให้ผู้คนมีทักษะอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการสรรหาหรือผลิตอาหารได้เอง[82] สถานภาพของรัฐในยุคแรกมีลักษณะของสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นออกจากกันอย่างชัดเจน โดยมีชนชั้นปกครองที่มีความมั่งคั่งและสิทธิพิเศษเหนือกว่าพลเมืองโดยทั่วไป ซึ่งชนชั้นดังกล่าวก็ตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ "เจ้าผู้ปกครอง" อีกทอดหนึ่ง ชนชั้นปกครองเริ่มสร้างความแตกต่างทางชนชั้นผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรมและขนบธรรมเนียมทางวัฒนธรรมที่ต่างไปจากชนชั้นแรงงานอย่างชัดเจน[83]

มีผู้ที่เสนอว่ารัฐแบบรวมศูนย์ในอดีตได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เช่น การมีระบบชลประทาน) และเพื่อควบคุมกลไกทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นตามเวลา ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของสังคมที่รวมตัวกันอยู่แบบหลวม ๆ ไม่ซับซ้อน[84][85] ปราศจากการแบ่งชนชั้นผ่านการกระจายอำนาจทางการเมืองจากหลายแห่ง[86] แม้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีและหลักมานุษยวิทยาสมัยใหม่จะไม่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวก็ตาม

สมัยยูเรเซียโบราณ

โดยทั่วไปแล้วอารยธรรมเมโสโปเตเมียถูกจัดให้เป็นอารยธรรมแรกสุดหรือสังคมซับซ้อนแรกสุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งหมายความว่าอารยธรรมดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยนครต่าง ๆ การแบ่งงานเต็มเวลา การกระจุกตัวของทุน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นปกครอง ความสัมพันธ์ของชุมชน ซึ่งขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่มากกว่าความเป็นญาติมิตร จะด้วยการค้าทางไกล การก่อสร้างสถาปัตยกรรมหรืออนุสรณ์สถานขนาดใหญ่ การมีรูปแบบของศิลปะและวัฒนธรรมที่มีมาตรฐาน การจดบันทึก คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์[87][88] ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้อารยธรรมเมโสโปเตเมียถูกจัดให้เป็นอารยธรรมที่มีลายลักษณ์อักษรเป็นแห่งแรกของโลก อิทธิพลของอารยธรรมเมโสโปเตเมียก่อให้เกิดกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรก ๆ ของโลก[89][90] องค์ความรู้ทางด้านโลหะวิทยาของชาวเมโสโปเตเมียได้รับการเผยแพร่ไปทั่วทวีปแอฟโฟร-ยูเรเชียตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล นำไปสู่การปฏิวัติทางการทหารที่ใช้อาวุธซึ่งทำมาจากทองหรือสัมฤทธิ์เป็นหลัก ส่งผลให้เอื้อต่อการทำสงครามซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นรัฐชาติต่าง ๆ ในเวลาต่อมา[91]

สมัยคลาสสิก

ภาพวาดหมู่ของวุฒิสมาชิกโรมันขณะกำลังหารืออยู่กับ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ผู้เผด็จการแห่งสาธารณรัฐโรมัน

แม้ว่ารูปแบบของรัฐจะมีตัวตนอยู่ก่อนการมาถึงของอาณาจักรกรีกโบราณ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าชาวกรีกเป็นอานารยชนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้กำหนดปรัชญาการเมืองที่ว่าด้วยรัฐไว้อย่างชัดเจน โดยได้วิเคราะห์และจำแนกถึงโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองไว้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งในยุคก่อนหน้ามีการอธิบายรูปแบบของรัฐต่าง ๆ และให้เหตุผลไว้เพียงแค่ในแง่ของหลักการทางศาสนาแต่เพียงเท่านั้น[92]

นวัตกรรมทางการเมืองที่สำคัญหลายประการในสมัยคลาสสิกมีจุดกำเนิดมาจากนครรัฐกรีกและสาธารณรัฐโรมัน นครรัฐกรีกก่อนคริสตศตวรรษที่ 4 ได้มอบสิทธิความเป็นพลเมืองให้แก่ประชากรของตนอย่างเสรี และในกรุงเอเธนส์สิทธิเหล่านี้ก็ได้ถูกควบรวมเข้ากับรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดให้กับชุดความคิดและประวัติศาสตร์ทางการเมืองในสมัยปัจจุบัน

สมัยฟิวดัล

ในสมัยกลางของยุโรป รัฐได้รับการจัดตั้งขึ้นตามหลักการของ "ระบบศักดินาสวามิภักดิ์" หรือ "ระบบฟิวดัล" ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นขุนนางกับข้าราชบริพารกลายเป็นศูนย์กลางของการจัดระเบียบทางสังคมแบบใหม่ที่นำไปสู่การพัฒนาลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มข้นและเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น[93]

ความขัดแย้งในเรื่องของการจัดเก็บภาษีระหว่างกษัตริย์และชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม (โดยเฉพาะชนชั้นนำและประชาชนทั่วไป) ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "บรรษัทนิยมโดยรัฐ" หรือ การถือครองที่ดินขึ้นในสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ มีรัฐสภาไว้สำหรับรวบรวมกลุ่มบุคคลสำคัญในสังคมเพื่อทำหน้าที่เจรจากับกษัตริย์ทั้งในเรื่องของกฎหมายและเศรษฐกิจ ภายใต้โครงสร้างของระเบียบฐานันดรแห่งราชอาณาจักร การปกครองรูปแบบดังกล่าวส่งผลให้อุดมการณ์ของรัฐบ้างก็เป็นไปตามแนวทางของสภา บ้างก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกษัตริย์ ซึ่งทั้งหมดก็นำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทั้งในเชิงนิติบัญญัติและอำนาจทางการทหารที่มากยิ่งขึ้น ระบอบดังกล่าวเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 15 การรวมศูนย์อำนาจรูปแบบนี้ก่อให้เกิดระบอบการปกครองโดยรัฐที่เรียกกันว่า "สมบูรณาญาสิทธิ์"

รัฐชาติสมัยใหม่

การสร้างความเป็นหนึ่งอันเดียวกันทางด้านวัฒนธรรมในระดับชาติมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกิดขึ้นของระบบรัฐชาติสมัยใหม่ นับตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ละรัฐต่างก็ได้รับการสถาปนาจัดตั้งขึ้นตามพื้นฐานระดับชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่อง รัฐประชาชาติ (national state) ก็มิได้มีความหมายเหมือนกับคำว่า รัฐชาติ (nation state) เสียทีเดียว แม้แต่ในสังคมที่มีเชื้อชาติเดียวกันเสียเป็นส่วนใหญ่ก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีการติดต่อสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ภายในรัฐหรือชาติเสมอไป ดังนั้นหน้าที่และบทบาทของรัฐคือการส่งเสริม "ลัทธิชาตินิยม" อย่างแข็งขัน โดยเน้นไปที่การกำหนดสัญลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นอัตลักษณ์ประจำชาติ

ชาลส์ ทิลลี ได้ให้เหตุผลว่าจำนวนรัฐทั้งหมดในภูมิภาคยุโรปตะวันตกลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่สมัยกลางตอนปลายไปจนถึงสมัยใหม่ตอนต้นในระหว่างกระบวนการก่อตัวขึ้นของรัฐ[94] ขณะที่งานวิจัยอื่น ๆ ได้โต้แย้งว่าการลดลงของรัฐในยุโรปตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร[95] ส่วน เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) ได้เคยแสดงความเห็นไว้ว่า "รัฐที่ปราศจากหนทางในการเปลี่ยนแปลงบางประการ ก็ปราศจากหนทางในการอนุรักษ์" (ภาพสะท้อนเกี่ยวกับการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส)[96]

เฮนดริก สปรูอิต (Hendrik Spruyt) ได้ชี้ให้เห็นว่าการเมืองในยุคของรัฐชาติสมัยใหม่นั้นมีความแตกต่างจากการเมืองในยุคก่อนอยู่สองประเด็นหลัก ได้แก่:

  1. รัฐชาติสมัยใหม่มีศักยภาพในการแทรกแซงสถานภาพทางสังคมที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนมากขึ้น
  2. รัฐชาติสมัยใหม่ได้รับการสนับสนุนโดยหลักการของอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศและความเท่าเทียมกันทางกฎหมายโดยรัฐ

ลักษณะทั้งสองนี้เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยกลางตอนปลายแต่รูปแบบของรัฐชาติสมัยใหม่ใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าจะบรรลุผลได้อย่างมั่นคง ลักษณะอื่นนอกเหนือจากนี้ของรัฐชาติสมัยใหม่ก็คือ รัฐเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการเมืองในระดับชาติ ซึ่งมีความเป็นเป็นเอกภาพและมีระบบราชการที่มีเหตุผลอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียมากกว่า[97]

ความเสมอภาคของอำนาจอธิปไตยไม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเมืองระดับโลกอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองท่ามกลางกระแสของการปลดปล่อยรัฐอาณานิคม อดัม เกอตาชิว ได้ระบุเอาไว้ว่ากว่าที่จะมีการรับรองอธิปไตยของประชาชนผ่านบริบททางกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นก็ต้องรอจนกว่าจะมีปฏิญญาสากลว่าด้วยการให้อิสรภาพแก่ประเทศและประชาชนภายใต้อาณานิคมใน ค.ศ. 1960[98] นักประวัติศาสตร์ เจน เบอร์แบงก์ และ เฟรเดอริก คูเปอร์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบอธิปไตยแบบเว็สท์ฟาเลิน – เป็นแนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงขอบเขตอำนาจรัฐที่มีความเป็นเอกภาพและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐอย่างทัดเทียมกัน – "ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1948 มากกว่าสนธิสัญญาที่ร่างขึ้นในปี ค.ศ. 1648"[99]

ทฤษฎีว่าด้วยจุดมุ่งหมายของรัฐ

ทฤษฎีทางการเมืองที่ว่าด้วยรัฐโดยส่วนใหญ่สามารถแบ่งออกเป็นทั้งหมดได้สองประเภท ทฤษฎีแรกเรียกว่า "เสรีนิยม" กับ "อนุรักษนิยม" ซึ่งปฏิบัติต่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามแบบแผนที่กำหนด จากนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่บทบาทและหน้าที่ของรัฐในสังคมระบอบทุนนิยม ทฤษฎีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมองว่ารัฐเป็นตัวแทนขององค์กรที่เป็นกลาง ซึ่งแยกออกจากกรอบของสังคมและเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ในทางกลับกันทฤษฎีที่สองอย่าง "มากซิสต์" และ "อนาธิปไตย" กลับมองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่มีความใกล้ชิดกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเน้นย้ำไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองเป็นหลัก ทฤษฎีเหล่านี้มักมองว่ารัฐเป็นแค่เครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสนองผลประโยชน์เพื่อชนชั้นนำทางสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่

มุมมองอนาธิปไตย

โปสเตอร์ IWW ว่าด้วย "พีระมิดของระบบทุนนิยม" (Pyramid of Capitalist System) (ป. 1911) ที่บรรยายถึงมุมมองการต่อต้านระบอบทุนนิยมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสถิติ/โครงสร้างของสังคมทุนนิยม

ลัทธิอนาธิปไตยเป็นปรัชญาการเมืองที่ถือว่ารัฐและลำดับชั้นทางสังคมนั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็นและเป็นภัยต่อสังคม ลัทธิดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดสังคมไร้รัฐหรือสังคมแบบอนาธิปไตย ซึ่งเป็นสังคมที่เน้นไปที่การจัดการและปกครองด้วยตนเองผ่านรากฐานที่ตั้งอยู่บนสถาบันหรือสหกรณ์โดยสมัครใจ

ลัทธิอนาธิปไตยเชื่อว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการครอบงำและการปราบปรามโดยธรรมชาติมิว่าผู้ใดจะเป็นผู้ปกครองก็ตาม ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐมีอำนาจผูกขาดการใช้ความรุนแรงตามกฎหมาย ซึ่งต่างไปจากแนวคิดของลัทธิมากซ์ พวกอนาธิปไตยเชื่อว่าการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐไม่ควรเป็นแค่เป้าหมายทางการเมืองเพียงอย่างเดียวแต่เชื่อว่าลัทธิอนาธิปไตยจะต้องรื้อถอนกลไกของความเป็นรัฐออกไปให้หมดพร้อมกับสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมชุดอื่นขึ้นมา โดยมิตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจรัฐแต่อย่างใด[100][101]

ผู้ที่นิยมลัทธิอนาธิปไตยคริสเตียนหลายคน ดังเช่น ฌัก แอลูล (Jacques Ellul) ได้เคยเปรียบสถานภาพของอำนาจรัฐและการเมืองไว้ในหนังสือวิวรณ์ของตนว่าเป็นสิ่งที่เดรัจฉานต่อสังคมเป็นอย่างมาก[102][103]

มุมมองทุนนิยมอนาธิปไตย

นักทุนนิยมอนาธิปไตย เช่น เมอร์เรย์ ร็อธบาร์ด (Murray Rothbard) ได้เสนอและจำแนกข้อสรุปเกี่ยวกับกลไกของรัฐในมุมมองแบบอนาธิปไตยไว้ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน[104] โดยปกติแล้วหลักการที่ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตยยึดถือมากที่สุดมีทั้งหมด 2 ประการได้แก่ "ความยินยอม" และ "การไม่ริเริ่มในสิ่งใด"[105] ความยินยอมในทฤษฎีทุนนิยมอนาธิปไตยกำหนดให้บุคคลต้องยินยอมต่อขอบเขตอำนาจของรัฐอย่างชัดเจน เว้นแต่ ความยินยอมโดยปริยายของล็อก (Lockean tacit consent) ความยินยอมดังกล่าวมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวความคิดเกี่ยวกับการผูกขาดการใช้อำนาจความรุนแรงโดยรัฐ[104][106] การผูกขาดอำนาจแบบบีบบังคับถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องถูกแยกออกจากการไม่ริเริ่มการใช้กำลังอย่างชัดเจน เนื่องจากจะต้องใช้กำลังเพื่อป้องกันมิให้กลุ่มบุคคลอื่นเสนอบริการแบบเดียวกับที่นักอนาธิปไตยเป็น นักทุนนิยมอนาธิปไตยมีชุดความเชื่อพื้นฐานที่ว่าการแทนที่อำนาจผูกขาดโดยรัฐด้วยการให้บริการที่มีสิทธิ์แข่งขันนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในบริบทเชิงบรรทัดฐานและความยุติธรรมต่อสังคม[105]

นักทุนนิยมอนาธิปไตยเชื่อว่าการแข่งขันและการโอนกิจการของรัฐมาเป็นของเอกชนจะส่งผลในทางที่ดีให้กับมูลค่าทางการตลาดและเศรษฐกิจมากกว่า เมอร์เรย์ ร็อธบาร์ด ได้ระบุเหตุผลของตนไว้ในหนังสือชื่อ อำนาจและการตลาด (Power and Market) ว่าหน้าที่และกิจการใด ๆ ของรัฐบาลจะสามารถบรรลุผลได้ดีกว่าหากหน้าที่นั้นตกอยู่ภายใต้การดำเนินการของตัวแสดงที่เป็นเอกชน โดยที่อำนาจดังกล่าวจะต้องครอบคลุมตั้งแต่อำนาจในการป้องกันประเทศ สิทธิ์ในการผลิตหรือควบคุมสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการดำเนินคดีทางกฎหมาย[104]

มุมมองแบบลัทธิมากซ์

(จากซ้ายไปขวา): คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) ป. 1875 และ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Friedrich Engels) ป. 1887

มากซ์และเอ็งเงิลส์มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนต่อแนวคิดคอมมิวนิสต์ว่าจะต้องเป็น "สังคมที่ปราศจากชนชั้น" ความเป็นรัฐจะต้อง "สูญสลาย" ไป และถูกแทนที่ด้วย "การจัดสรรทรัพยากรด้วยตนเอง" แต่เพียงเท่านั้น[107] โดยอ้างอิงจากรูปแบบของรัฐในอดีตหรือที่ยังหลงเหลืออยู่ผ่านมุมมองเชิงวิเคราะห์และยุทธวิธี แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็มิใช่รูปแบบเดียวกับสังคมนิยมยูโทเปียไปเสียหมดซะทีเดียว โดยปกติแล้วกลุ่มบุคคลที่พิจารณาว่าตนเป็นผู้นิยมลัทธิมากซ์จะต้องเป็นผู้ที่มิได้ถืออำนาจรัฐและไม่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ของการจัดสรรรูปแบบโดยสถาบันทางสังคมอย่างแท้จริง หากอ้างอิงตามหลักหรือขอบเขตที่สมเหตุสมผลแล้วจะพบว่ามิได้มี "ทฤษฎีว่าด้วยรัฐโดยมากซ์" แต่เพียงรูปแบบเดียว เนื่องจากแนวคิดของลัทธิมากซ์ที่อ้างว่ามีความแตกต่างกันไปหลากหลายทฤษฎีทั้งหมดแล้วล้วนแต่ได้รับการพัฒนาและต่อยอดโดยกลุ่มผู้นิยมลัทธิมากซ์ทั้งสิ้น[108][109][110]

งานเขียนในยุคแรก ๆ ของมากซ์เปรียบภาพของรัฐกระฎุมพีไว้ว่าเป็นดั่งปรสิตที่จัดตั้งขึ้นโดยอยู่บนฐานและโครงสร้างส่วนบนทางเศรษฐกิจที่บริหารงานขัดกับผลประโยชน์ของสาธารณะ นอกจากนี้มากซ์ยังได้ระบุไว้อีกว่าสถานภาพของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชนชั้นทางสังคมโดยทั่วไปที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมและปราบปรามการต่อสู้ทางชนชั้น พร้อมกับเป็นเครื่องมืออันจะนำไปสู่การเถลิงขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองและการครอบงำโดยกลุ่มชนชั้นผู้ปกครอง[111] ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ซึ่งเป็นงานเขียนของมากซ์เองก็ได้ระบุเอาไว้ว่ารัฐเปรียบเสมือนเป็น "คณะกรรมการสำหรับการบริหารกิจการโดยทั่วไปของกลุ่มชนชั้นกระฎุมพี"[108]

สำหรับนักทฤษฎีมาร์กซิสต์บทบาทของรัฐกระฎุมพีสมัยใหม่ถูกกำหนดขึ้นโดยหน้าที่ของมันเองผ่านระเบียบของทุนนิยมสากล ราล์ฟ มิลิแบนด์ (Ralph Miliband) เสนอว่าชนชั้นปกครองใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการครอบงำทางสังคมโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่มีภูมิหลังเดียวกันกับกลุ่มชนชั้นนายทุน ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันกับกลุ่มนายทุนได้ผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองรูปแบบต่าง ๆ

ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของกรัมชีชี้ให้เห็นว่ารัฐเป็นแค่สถาบันทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่คอยสนับสนุนและรักษาอำนาจการครอบงำของกลุ่มชนชั้นปกครอง และอำนาจรัฐเองก็ได้รับการสนับสนุนผ่านความเป็นมิจฉาทิฐิของสถาบันภาคประชาสังคมอย่าง ดังเช่น โบสถ์ โรงเรียน หรือ สื่อมวลชนอีกทอดหนึ่ง[112]

ลัทธิพหุนิยม

แนวคิดแบบพหุนิยมเป็นแนวคิดที่มีมุมมองต่อสังคมว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ในสังคม และมีมุมมองต่อรัฐว่าเป็นองค์กรทางการเมืองที่เป็นกลาง ซึ่งคอยทำหน้าที่แสดงเจตจำนงของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดก็ตามที่สามารถครอบงำกระบวนการเลือกตั้งได้[113] โรเบิร์ต ดาห์ล (Robert Dahl) ได้พัฒนาทฤษฎีว่าด้วยรัฐในแนวคิดแบบพหุนิยมไว้ว่ารัฐบาลเป็นเพียงแค่เวทีที่เป็นกลางสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์โดยมีหน่วยงานส่วนอื่น ๆ ของรัฐคอยทำหน้าที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองอีกชุดหนึ่ง ด้วยอำนาจที่จัดสรรไว้ให้มีการแข่งขันในสังคมนี้เองนโยบายโดยรัฐจึงเป็นแค่ผลผลิตของการเจรจาต่อรองที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำไปซ้ำมา แม้ว่าแนวคิดพหุนิยมจะตระหนักถึงการมีอยู่ของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมแต่ในทางกลับกันภาคประชาสังคมก็มีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ นอกจากนี้แนวคิดแบบพหุนิยมยังได้เสนอแนะว่าการกระทำของรัฐประชาธิปไตยยุคใหม่เป็นผลมาจากแรงกดดันที่ถูกใช้งานโดยกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมา ดาห์ลเรียกระบอบการปกครองของรัฐประเภทนี้ว่า "ระบอบพหุนิยม"[114]

แนวคิดแบบพหุนิยมได้ถูกท้าทายถึงการมีอยู่เป็นอย่างมากเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานเชิงประจักษ์ จากการสำรวจจะพบว่าบุคคลากรส่วนใหญ่ที่มีสิทธิในการดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูงมักมาจากชนชั้นหรือฐานันดรที่สูงส่งและร่ำรวย นักวิพากษ์สายพหุนิยมมักอ้างว่าประสงค์ของรัฐมีหน้าที่เป็นแค่ตรายางในการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำทางสังคมมากกว่าที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของทุกชนชั้นในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน[115][116]

มุมมองเชิงวิพากษ์ร่วมสมัย

เยือร์เกิน ฮาแบร์มาส มีมุมมองต่อกลไกที่ตั้งอยู่บนฐานและโครงสร้างส่วนบนของสำนักมาร์กซิสต์ที่ใช้เพื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเศรษฐกิจว่าเป็นสิ่งที่เรียบง่ายเกินไป ฮาแบร์มาสรู้สึกว่ารัฐสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการวางรากฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างก็เช่น บทบาทในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคทางเศรษฐกิจรายใหญ่ผ่านนโยบายอย่างรัฐสวัสดิการแบบแจกจ่ายซ้ำ ซึ่งกิจกรรมรูปแบบดังกล่าวก็เป็นการจัดสรรโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม ดังนั้นจุดมุ่งหมายของรัฐในมุมมองของฮาแบร์มาสจึงไม่สมควรที่จะถูกประเมินค่าว่าเป็นแค่การตอบสนองอย่างอดทนอดกลั้นต่อผลประโยชน์ของแต่ละชนชั้นทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว[117][118][119]

มีแชล ฟูโก (Michel Foucault) มีมุมมองต่อทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ว่าถูกเน้นไปที่ศูนย์กลางทางอำนาจของรัฐมากเกินไป กล่าวคือฟูโกเชื่อว่าทฤษฎีการเมืองมุ่งเน้นความสนใจไปที่สถาบันทางการเมืองซึ่งมีความเป็นเป็นนามธรรมมากเกินไปและไม่เพียงพอต่อทฤษฎีเชิงปฏิบัติของฝั่งรัฐบาล ดังนั้นในความเห็นของฟูโก "รัฐ" จึงมิใช่สาระสำคัญ เขาเชื่อว่าแทนที่จะพยายามทำความเข้าใจในกิจกรรมของรัฐบาลผ่านการวิเคราะห์คุณสมบัติของความเป็นรัฐ (ในเชิงนามธรรมที่ได้รับการประกอบสร้างขึ้นใหม่) กลับกันนักทฤษฎีการเมืองควรทำหน้าที่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในแนวทางภาคปฏิบัติของรัฐบาลเพื่อทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพธรรมชาติของรัฐเสียจะดีกว่า[120][121][122] ฟูโกได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความเป็นรัฐบาลขึ้น โดยคำนึงถึงลำดับวงศ์ตระกูลของรัฐเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาหรือทำความเข้าใจในการปกครองที่เป็นปัจเจก ซึ่งสามารถมีอิทธิพลต่อบทบาทและหน้าที่โดยรวมของรัฐได้[123]

มีแชล ฟูโก (Michel Foucault) มีมุมมองต่อบทบาทของรัฐว่า "...บางทีรัฐอาจไม่ได้เป็นอะไรที่มีความสลักสำคัญไปมากกว่าความเป็นจริงที่ประกอบสร้างขึ้นจนจับต้องได้ยากเลย ไม่แน่ความเป็นรัฐอาจถูกนิยามไว้ในแวดวงที่คับแคบกว่าที่พวกเราหลายคนคิดไว้ก็ได้..."

ฟูโกได้ให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ความเป็นรัฐสามารถเข้าถึงพลเมืองได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเสนอว่ารัฐเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสำแดงอำนาจทางเทคโนโลยีหรือระบบอำนาจที่มีหลายหัว ดังนั้นแนวคิดของฟูโกจึงเป็นการให้เหตุผลหรือน้ำหนักแก่จุดมุ่งหมายของความเป็นรัฐ แทนที่จะมีมุมมองต่ออำนาจอธิปไตยว่าเป็นสิ่งที่สมควรจะต้องถูกขจัดไปแบบเดียวกันกับมุมมองแบบลัทธิมากซ์หรือแบบอนาธิปไตย เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ได้ถูกหยิบยืมนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบนโยบายของรัฐ ส่งผลให้ฟูโกมีมุมมองต่อการเกิดขึ้นของสาขาวิชาอย่างวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และสถิติทางคณิตศาสตร์ว่าสามารถทำให้เรามีความเข้าใจต่อกลไกทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อเป้าหมายหรือความสำเร็จของรัฐนั้น ๆ ได้อย่างไร ที่สำคัญฟูโกก็ยังย้ำให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่มิใช่อุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์แต่เป็นผลผลิตโดยเจตนา ซึ่งรัฐสมัยใหม่จะต้องเสนอตัวเข้ามารับผิดชอบหรือจัดการ เช่นการเกิดขึ้นของระบอบตำรวจ (ส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งของรัฐ) การอนุญาตให้พลเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ระบอบกฎหมายชนต่างชาติ (jus gentium) จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ความเป็นประชาสังคม (civitas) หลังจากที่ถูกแบ่งแยกออกจากสังคมมนุษย์อย่างจงใจมาเป็นเวลานานนับหลายพันปี[124] ดังนั้นแล้วประชาธิปไตยในมุมมองของฟูโกจึงมิได้เป็นแค่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าดังที่นักปฏิวัติทางการเมืองหรือนักปรัชญาการเมืองมักมีภาพในหัวว่าเป็นแค่การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองหรือแสวงหาการยอมรับจาก 'ชนชั้นปกครอง' แต่อย่างใด ฟูโกยืนยันว่าทฤษดีดังกล่าวเป็นผลสำเร็จจากความพยายามในการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การถ่ายโอนอำนาจการปกครอง เสถียรภาพทางอํานาจ และการออกจากกรอบแนวคิดของศาสนจักร ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความชอบธรรมทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม กล่าวคือพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตื่นรู้และตระหนักถึงสิทธิทางการเมืองของตนได้ ตัวอย่างเช่น 'สิทธิในการเลือกตั้ง' ซึ่งเป็นการเลือกผู้แทนของตนให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นประมุขทางการเมืองของรัฐที่มีคุณสมบัติเป็นรัฐประชาธิปไตย ฟูโกมองว่าระบอบดังกล่าวเป็นรูปแบบของชีวอำนาจแบบใหม่[125][126] และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางการเมืองสมัยใหม่ ฟูโกเรียกระบอบดังกล่าวว่า "ระบอบชีวการเมือง"

นิโกส ปูลันจัส (Nicos Poulantzas) เป็นนักทฤษฎีนีโอมากซ์ชาวกรีกคนสำคัญ แนวคิดส่วนใหญ่ของเขาได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนของกรัมชี ปูลันจัสเสนอว่า 'รัฐทุนนิยม' มิได้กระทำการเพียงแค่ในนามของชนชั้นปกครองแต่เพียงกลุ่มเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้นจริงก็มิจำเป็นที่จะต้องกระทำอยู่อย่างนั้นเสมอไป เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะต้องได้รับการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนจากเจ้าพนักงานของรัฐ แต่ก็ด้วยลักษณะ 'เชิงโครงสร้าง' อีกเช่นกันที่ได้กำหนดให้โครงสร้างของรัฐจะต้องได้รับการพิทักษ์เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ระยะยาวของทุนจะมีความสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดอยู่อย่างเสมอ แนวคิดหลักของปูลันจัสสนับสนุนต่องานเขียนสายลัทธิมากซ์เกี่ยวกับแนวคิดที่ว่าด้วย "การปกครองตนเองเชิงสัมพัทธ์" โดยรัฐ ขณะที่งานเขียนของเขามักจะเกี่ยวข้องกับ 'การปกครองตนเองโดยรัฐ' ดังนั้นผลงานของปูลันจัสจึงมีความสำคัญในแง่ของการทำให้งานเขียนสายลัทธิมากซ์มีความเด่นชัดมากขึ้นและเป็นการขยายขอบเขตของงานประพันธ์ที่ว่าด้วยรัฐในมุมมองแบบมาร์กซิสต์ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันงานเขียนของเขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่ายึดติดกับกรอบของ 'กลไกเชิงโครงสร้างนิยม' มากเกินไป

จักรวาลวิทยาเชิงโครงสร้างโดยรัฐหรือสัจนิยมเชิงโครงสร้างโดยรัฐ

ทฤษฎีนี้ยึดถือว่าเป็นจักรวาลมีโครงสร้างเพียงแค่รูปแบบเดียว ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้นในสังคมมีลักษณะเฉพาะก็ด้วยสิทธิที่ได้รับการจัดสรรอย่างมีรูปแบบหรือได้รับการตกผลึกผ่านอำนาจตามลำดับชั้นและความชอบธรรมทางกฎหมายอย่างมีแบบแผน โดยมีการแบ่งชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดไว้อย่างดี รวมถึงยังมีองค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีพลวัตและแม่นยำประกอบกับองค์การทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (หรือหลายองค์กร) ที่อ้างถึงความชอบธรรมในอำนาจและมีสิทธิในการเผยแพร่หรือแสดงออกสู่สังคมก็เพื่อสนับสนุนความเชื่อทางศาสนาของแต่ละบุคคลและเพื่อการได้รับการยอมรับจากมหาชน รูปแบบของจักรวาลวิทยาเชิงโครงสร้างได้วิวัฒนาการไปในลักษณะที่เป็นวัฏจักร โดยนำเสนอสองช่วงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ ระยะการค้าขาย หรือ "สังคมเปิด" และ ระยะศักดินา หรือ "สังคมปิด" ลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันอย่างมากรูปแบบแบบนี้เองที่ช่วยแยกความแตกต่างเชิงอารยธรรมของมนุษย์ออกจากกันได้เป็นสองระดับ ซึ่งไม่เคยมีจุดสิ้นสุดแต่สลับเปลี่ยนกันไปมาเป็นวัฏจักร ลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละระดับของทั้งสองระยะนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้า (ในลักษณะที่จะต้องฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเป็นอิสระ โดยปราศจากคุณค่าที่แท้จริงของความเป็นอยู่ที่ดี ระดับของเสรีภาพและความเท่าเทียมที่พึงได้รับและตระหนักได้ รวมถึงความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมในการบรรลุไปสู่ความก้าวหน้าในระดับอารยธรรม) แม้ว่าจะมาจากกลุ่มที่มีการศึกษาและความพร้อมทางสติปัญญามากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในสังคมของทั้งสองช่วงประวัติศาสตร์ก็ตาม[127]

รัฐปกครองตนเองกับแนวคิดสถาบันนิยมใหม่

นักทฤษฎีรัฐปกครองตนเองเชื่อว่า "รัฐ" เป็นองค์กรที่ปฏิเสธอิทธิพลทางสังคมและเศรษฐกิจจากโลกภายนอกและมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ต่อตนเองแต่เพียงเท่านั้น[128]

งานเขียนเกี่ยวกับแนวคิดสถาบันนิยมใหม่ เช่น ผลงานของ ธีดา สก็อชโพล (Theda Skocpol) ได้ระบุเอาไว้ว่าตัวแสดงของรัฐมีความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการและบทบาทของรัฐอย่างมาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ บุคลากรของรัฐต่างก็มีผลประโยชน์เป็นของตนเอง และสามารถที่จะดำเนินกิจการใด ๆ ก็ตามได้อย่างอิสระ โดยปราศจากอิทธิพลของผู้มีบทบาทในสังคม (บ้างก็ย้อนแย้งกัน) เนื่องจากรัฐมีศักยภาพมากพอในการควบคุมผ่านวิธีการบังคับขู่เข็ญ และเมื่อกลุ่มองค์กรหลายกลุ่มในภาคประชาสังคมจำเป็นที่จะต้องพึ่งพารัฐในการบรรลุเป้าหมายใด ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง บุคลากรของรัฐนั้นจึงจะสามารถกำหนดความพึงพอใจทั้งต่อตนเองและต่อภาคประชาสังคมได้ไม่มากก็น้อยในระดับหนึ่ง

ทฤษฎีว่าด้วยความชอบธรรมของรัฐ

โดยปกติแล้วรัฐต่าง ๆ มักอ้างสิทธิ์ต่อความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อรักษาสิทธิ์ในการใช้อำนาจเหนือพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนทั้งสิ้น[129][130][131]

ทฤษฎีสัญญาประชาคม

หน้าปกแรกของหนังสือ 'เลอไวอะธัน' (Leviathan; ค.ศ. 1651) เขียนโดย ทอมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)

มีผู้ที่เสนอทฤษฎีสัญญาประชาคมไว้หลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐและก็เพื่ออธิบายถึงกระบวนการก่อเกิดขึ้นของรัฐ ทัศนะหลักของทฤษฎีนี้ คือ "สภาพธรรมชาติ" ที่กระตุ้นให้ผู้คนแสวงหาถึงกระบวนการเกิดขึ้นของรัฐ นักปรัชญาชาวอังกฤษนามว่า ทอมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ได้อธิบายถึงลักษณะโดยรวมของสภาพธรรมชาติว่ามีความ "โดดเดี่ยว, แร้นแค้น, โสโครก, ป่าเถื่อน และเห็นแก่ตัว" (เลอไวอะธัน; บทที่ 13–14)[132] แต่กลับกัน จอห์น ล็อก มีมุมมองต่อสภาพธรรมชาติในเชิงบวกมากกว่า และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแนวคิดในเรื่องของการเสื่อมถอยของสภาพธรรมชาติ แม้จะยอมรับว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์นั้นมิอาจที่จะมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันได้ แต่ตัวล็อกเองก็ได้หยิบยกประเด็นในเรื่องของ "สิทธิมนุษยชน" ที่มิอาจแบ่งแยกออกจากสังคมมนุษย์มาโต้แย้งได้อีกเช่นกัน สิทธิที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในมุมมองของล็อก คือ "สิทธิในทรัพย์สิน" โดยล็อกได้ให้ให้เหตุผลว่าสิทธิในทรัพย์สินเป็นสิทธิหลักที่ยังมิได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอในสภาพธรรมชาติ นักทฤษฎีสัญญาประชาคมมักอ้างถึงสิทธิธรรมชาติอยู่เสมอก็เพื่อสนับสนุนและรักษาความชอบธรรมให้กับทฤษฎีเหล่านี้ กล่าวคือพลเมืองทุกคนจำต้องยอมสละสิทธิบางอย่างเพื่อให้รัฐสามารถสถาปนาอำนาจการปกครองได้[133][134] เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วทฤษฎีสัญญาประชาคมก็จะสามารถวางรากฐานความชอบธรรมให้แก่ตัวรัฐบาลเอง โดยที่ความชอบธรรมนั้นจะมั่นคงและถาวรได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมจากผู้ถูกปกครอง การให้เหตุผลในลักษณะนี้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ เมื่อ ค.ศ. 1776

ทฤษฎีเทวสิทธิราชย์

การเกิดขึ้นของระบบรัฐชาติสมัยใหม่มีอิทธิพลที่สำคัญอย่างมากต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมือง โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางอำนาจและการปกครองอันชอบด้วยกฎหมายโดยรัฐ ผู้ที่สมาทานต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุคสมัยใหม่ตอนต้น ได้แก่ ทอมัส ฮอบส์ และ ฌ็อง โบแดง (Jean Bodin) ทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญที่สนับสนุนทฤษฎีเทวสิทธิราชย์ด้วยการชี้ให้เห็นว่าการได้มาซึ่งอำนาจและความชอบธรรมของกษัตริย์ควรได้รับการพิสูจน์โดยประชาชนโดยเฉพาะฮอบส์ที่มีมุมมองต่ออำนาจและความชอบธรรมว่ามิใช่แค่อำนาจระหว่างประชาชนด้วยกันเองแต่เพียงเท่านั้น อำนาจทางการเมืองควรเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมในตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอำนาจที่มาจากปัจเจกบุคคล (ระบุเอาไว้ในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ) ทั้งฮอบส์และโบแดงต่างก็คิดว่าตนกำลังปกป้องอำนาจของสถาบันกษัตริย์หาใช่การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทว่าแนวคิดเรื่องธรรมชาติของอำนาจอธิปไตยที่พวกเขาเสนอนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธอย่างหนักจากสายตาของผู้ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่มีพระราชอำนาจสูงสุดโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว เช่น เซอร์ รอเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Sir Robert Filmer) ที่มีมุมมองต่อแนวคิดเทวสิทธิราชย์ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของกษัตริย์เนื่องจากเป็นแนวคิดที่มีสิทธิ์เปิดโอกาสให้นำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยได้

สิทธิอำนาจนิติธรรม

ในงานเขียนของ มัคส์ เวเบอร์ ได้ระบุถึงที่มาของสิทธิอำนาจอันนำไปสู่ความชอบธรรมทางการเมืองไว้ทั้งหมด 3 ประการดังนี้:

  • ประการแรก: สิทธิอำนาจตามประเพณี (legitimacy based on traditional grounds) – เป็นความชอบธรรมที่เกิดจากชุดความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ควรเป็นไปตามกฎหรือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งผู้ที่ใช้อำนาจปกครองภายใต้อำนาจเหล่านี้เองก็มีสิทธิในการเรียกร้องอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายอีกเช่นกัน
  • ประการที่สอง: สิทธิอำนาจบารมี (legitimacy based on charismatic) – การอุทิศตนให้กับผู้นำหรือกลุ่มบุคคลที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นบุคคลสำคัญหรือมีคุณธรรมอย่างยิ่ง โดยอำนาจรูปแบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นผ่านความเชื่อมั่นศรัทธาหลังจากที่อำนาจตามประเพณีหรืออำนาจนิติธรรมเสื่อมความนิยมลงแต่เพียงเท่านั้น
  • ประการที่สาม: สิทธิอำนาจนิติธรรม (rational-legal authority) – มีที่มาจากความเชื่อที่ว่ากลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มได้รับอำนาจในลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมายและสมเหตุสมผลตามประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรเฉพาะ เวเบอร์เชื่อว่ารัฐสมัยใหม่มีลักษณะเฉพาะคือสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจทางกฎหมายที่มีเหตุและผลในการปกครอง[135][136][137]

ความล้มเหลวของรัฐ

ดัชนีความเสี่ยงต่อการเป็นรัฐล้มเหลวในแต่ละประเทศเมื่อ ค.ศ. 2023
  เตือนภัยสูงมาก (111-120)
  เตือนภัยกว่า (101-110)
  เตือนภัย (91-100)
  ระวังมาก (81-90)
  ระวังกว่า (71-80)
  ระวัง (61-70)
  มั่นคง (51-60)
  มั่นคงกว่า (41-50)
  มั่นคงมาก (31-40)
  ยั่งยืน (21-30)
  ยั่งยืนมาก (0-20)
  ไม่มีข้อมูล

รัฐบางรัฐถูกระบุว่าเป็น "รัฐบอบบาง" หรือ "รัฐล้มเหลว" เดวิด ซามูเอลส์ (David Samuels) ได้ระบุเอาไว้ว่า "ความล้มเหลวของรัฐจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่อ้างสิทธิ์ทั้งหลายได้พังทลายลงหรือมิสามารถบริหารปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ"[138] นักรัฐศาสตร์หลาย ๆ คน ทั้งซามูเอลส์ และ โจ เอส. มิกแดล (Joel S. Migdal) ได้สำรวจและจัดแบ่งเงื่อนไขในการเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลวเหล่านี้ว่ามีความแตกต่างจากรัฐในโลกตะวันตกที่มี "เสถียรภาพ" มากกว่าอย่างไร และสถานภาพของการเป็นประเทศกำลังพัฒนามีผลอย่างไรต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว

ซามูเอลส์ ได้แนะนำแนวคิดเกี่ยวกับศักยภาพของรัฐเพื่อใช้อ้างอิงถึงขอบเขตความสามารถในการบรรลุบทบาทขั้นพื้นฐานของรัฐ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมาย การรักษาความสงบเรียบร้อย และการให้บริการสาธารณะ หากไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้รัฐเหล่านั้นก็จะถือว่าเป็นรัฐล้มเหลว หรือแม้แต่ เจฟฟรีย์ เฮิบสต์ (Jeffrey Herbst) ที่ได้เสริมแนวคิดนี้ โดยระบุไว้ว่า "ความล้มเหลวของรัฐเป็นผลมาจากการที่สถาบันเหล่านั้นมีความอ่อนแอหรือไม่มีอำนาจโดยแท้จริง ซึ่งหมายความว่ารัฐเหล่านั้นปราศจากความชอบธรรมในการปกครอง เนื่องด้วยรัฐเหล่านั้นมิสามารถบริหาร ปกครอง หรือรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในสังคมได้" อย่างไรก็ดี สตีเฟน ดี. แครสเนอร์ (Stephen D. Krasner) ก็ได้ให้ความเห็นไว้อีกว่า "ความล้มเหลวของรัฐหาใช่ผลลัพธ์ของสถาบันที่อ่อนแอเพียงอย่างเดียว แต่การเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลวนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนแตกต่างกันไปแล้วแต่ตามแต่ละบริบทและสภาวะการณ์ของแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรวิเคราะห์ถึงการเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลวผ่านบริบทและความเข้าใจที่เรียบง่ายหรือตื้นเขินเกินไป"

ปัญหาของรัฐล้มเหลว

ความล้มเหลวของรัฐเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของการเมืองโลก เนื่องจากรัฐล้มเหลวมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การก่อการร้ายและความขัดแย้งภายในสังคม นอกจากนี้ความล้มเหลวของรัฐยังเป็นอุปสรรคต่อวิถีของประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐเหล่านั้นมักประสบกับความรุนแรงทางการเมืองอย่างการปกครองแบบเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลาย ๆ ครั้ง แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบโดยตรงต่อความล้มเหลวโดยรัฐ แต่ผลกระทบทางอ้อมก็ควรได้รับการเน้นย้ำอีกเช่นกัน ความล้มเหลวโดยรัฐอาจนำไปสู่การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยและความขัดแย้งข้ามพรมแดน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งหลบภัยสำหรับกลุ่มอาชญากรหรือกลุ่มหัวรุนแรงอีกด้วย เพื่อที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคตรัฐจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างสถาบันที่มีความเข้มแข็ง เช่น การส่งเสริมความหลากหลาย การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงภายในรัฐ

การเกิดขึ้นของรัฐในสมัยแรก

เพื่อให้เข้าใจถึงการเกิดขึ้นของรัฐที่ล้มเหลว เดวิด ซามูเอลส์ ได้ทำการการเปรียบเทียบปัจจัยในการเกิดขึ้นของรัฐชาติที่ตั้งอยู่ในยุโรปช่วงคริสตทศวรรษที่ 1600 กับคริสตศตวรรษที่ 20 โดยระบุเอาไว้ว่า "รัฐบาลจะต้องอนุญาตให้พลเมืองของตนมีสิทธิ์หรือส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของชาติ ขณะที่ประชาชนก็ต้องยินยอมต่อการใช้อำนาจที่มีสิทธิ์บังคับใช้เหนือตน การจัดระเบียบทางสังคมประเภทนี้จำเป็นต้องลดความชอบธรรมของการปกครองรูปแบบดั้งเดิมลง (เช่น หน่วยงานทางศาสนา) และแทนที่ด้วยการสร้างความชอบธรรมผ่านการปกครอง โดยปราศจากการยึดโยงต่อตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การที่รัฐบาลกลางมีอำนาจอธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้นนี้เองก็จะส่งผลให้องค์กรอย่างระบบราชการมีความซับซ้อนมากขึ้นตามมา"

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ในภูมิภาคยุโรปเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ ค.ศ. 1600 ประจวบกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น พัฒนาการของเทคโนโลยีอาวุธสงครามที่เป็นส่วนสำคัญในการเร่งปฏิกิริยาให้รัฐชาติสมัยใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีหรือการรวมอำนาจรัฐเข้าสู่ศูนย์กลาง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้รัฐมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองตนเองจากภัยคุกคามอื่น ๆ นอกจากนี้พัฒนาการทางด้านผลผลิตทางการเกษตร (อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงคุณภาพการผลิต) ทำให้ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ส่งผลให้สามารถรักษาคุณภาพชีวิตของพลเมืองได้มากขึ้นตามมา การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมดังกล่าวส่งผลให้อำนาจรัฐมิได้ขึ้นตรงหรือยึดโยงอยู่กับระบอบเก่า ดังเช่น "สถาบันกษัตริย์" อีกต่อไป และทั้งหมดนี้ก็ได้ปูทางไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในท้ายที่สุด[139]

การเกิดขึ้นของรัฐในยุคร่วมสมัย

เปรียบเทียบเขตแดนในทวีปแอฟริการะหว่าง ค.ศ. 1880 และใน ค.ศ. 1913

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในสมัยปัจจุบันนั้นมีความต่างไปจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของรัฐชาติที่ตั้งอยู่ในยุโรป หลาย ๆ ประเทศในสมัยปัจจุบันขาดประสิทธิภาพในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากภาษีของประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เช่น การทุจริต การหลีกเลี่ยงภาษี และความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้า เป็นต้น ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฎให้เห็นในภูมิภาคยุโรป การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในสมัยปัจจุบันโดยมากล้วนแต่เกิดขึ้นผ่านบริบทของความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีขอบเขตชัดเจน ส่งผลให้รัฐเหล่านี้มีแรงจูงใจในการจัดเก็บภาษีที่ต่ำและหันไปนิยมใช้จ่ายทางการทหารเสียมากกว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือรัฐเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจาก "ลัทธิอาณานิคม" ส่งผลให้รัฐเหล่านี้กลายเป็นสถาบันที่ถูกออกแบบโครงสร้างมาเพื่อให้เจ้าอาณานิคมแสวงหาผลประโยชน์จนนำไปสู่สถานะประเทศยากจน ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการสร้างชาติตามมา นอกจากนี้การล่าอาณานิคมของมหาอำนาจในยุโรปยังเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศตามอำเภอใจทั้งที่ในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละเขตแดนต่างก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปแต่กลับต้องมาอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน เมื่อมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นจึงส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการสร้างความพึงพอใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับทุกภาคส่วนในสังคม เนื่องจากรัฐบางรัฐเองก็มีความต้องการที่จะช่วงชิงและกำหนดอัตลักษณ์ทางการเมืองให้เป็นไปในแนวทางที่ตนต้องการอีกเช่นกัน[139]

มิกแดลได้นำเสนอประเด็นนี้ผ่านกรอบของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเฉียบพลันในประเทศโลกที่สามระหว่างยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อการเกิดขึ้นของรัฐล้มเหลว การขยายตัวของระบบการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มต้นขึ้นราว ๆ ค.ศ. 1850 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

การขยายตัวตัวของระบอบการค้าระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นฐานไว้สำหรับผลิตสินค้าเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดในภูมิภาคยุโรป การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ประกอบไปด้วย:

  • การปฏิรูปกฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดิน: มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อบูรณาการที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้สัมพันธ์กับตลาดเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น
  • การเพิ่มการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: ทั้งของเกษตรกรและเจ้าของที่ดินรายย่อย โดยเก็บภาษีเหล่านี้ไว้ในรูปแบบเงินสดแทนที่จะเป็นในรูปแบบเดิม
  • การพัฒนาระบบคมนาคมสมัยใหม่: เช่นการคมนาคมทางรถไฟที่ทำให้ใช้เวลาและต้นทุนในการผลิตและส่งออกสินค้าลดลง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจากจะมีผลต่อโครงสร้างทางสังคมรูปแบบเดิมแล้วยังส่งผลให้สถาบันทางสังคมที่มีอยู่แต่เดิมเสื่อมโทรมลง กลายเป็นการเปิดทางไปสู่การสร้างสถาบันทางสังคมรูปแบบใหม่ ๆ โดยไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติ[140] นอกจากนี้การขยายตัวของรูปแบบทางสังคมดังกล่าวยังก่อให้เกิดตรรกะทางการเมืองที่ว่ารัฐจะต้องมี "ผู้นำที่เข้มแข็ง" ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีศักยภาพและความสามารถมากพอที่จะท้าทายอำนาจอธิปไตยของรัฐและพร้อมสร้างผลประโยชน์ให้กับชาติผ่านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและสถาบันดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเห็นทั้งหมดที่มิกแดลได้นำเสนอมานี้จึงชี้ให้เห็นว่าการกระจายอำนาจผ่านการควบคุมทางโครงสร้างและสถาบันทางสังคมเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการที่เข้มแข็งของรัฐ[141]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

เชิงอรรถ

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ State

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง