เอ็มพ็อกซ์

(เปลี่ยนทางจาก Monkeypox)

โรคฝีดาษลิง (อังกฤษ: monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสฝีดาษลิง (MPXV) ที่พบเกิดขึ้นในสัตว์บางชนิด รวมถึงมนุษย์[7] อาการเบื้องต้นคือมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม และรู้สึกเหนื่อย[8] ตามมาด้วยผื่นที่ก่อให้เกิดตุ่มพองและสะเก็ดตามผิวหนัง[1] ระยะเวลาตั้งแต่รับเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12 วัน[8] โดยอาจสั้นสุด 5 วัน และนานสุด 21 วัน[7][1] ระยะเวลาของอาการโดยทั่วไปคือ 2-4 สัปดาห์[1] ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ในเด็ก ผู้ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[9]

เอ็มพ็อกซ์
ผื่นฝีดาษลิงในเด็กหญิงวัย 4 ขวบ
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการเป็นไข้, ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, ผื่นพุพอง, ต่อมน้ำเหลืองโต[1]
การตั้งต้น5–21 วันหลังรับเชื้อ[1]
ระยะดำเนินโรค2–4 สัปดาห์[1]
สาเหตุไวรัสฝีดาษลิง[2]
วิธีวินิจฉัยการทดสอบเชื้อพันธุกรรมของไวรัส[3]
โรคอื่นที่คล้ายกันอีสุกอีใส, ฝีดาษ[4]
การป้องกันวัคซีนโรคฝีดาษ[3]
ยาTecovirimat
ความชุกหายาก[2]
การเสียชีวิตน้อยกว่า 1% (สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก),[5] ไปจนถึง 10%[1] (สายพันธุ์ลุ่มแม่น้ำคองโก, ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา)[6]

ฝีดาษลิงอาจติดต่อกันได้ผ่านทางการสัมผัสเนื้อสัตว์ป่า การถูกสัตว์กัดหรือข่วน สารคัดหลั่ง สิ่งของที่ปนเปื้อน หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้โดยทั่วไปแล้วจะติดต่อกันภายในกลุ่มสัตว์ฟันแทะบางชนิด การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัสในรอยโรค อาการของผู้ป่วยโรคนี้มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับโรคอีสุกอีใส

วัคซีนโรคฝีดาษสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้โดยมีประสิทธิผลอยู่ที่ 85%[3][10] มีวัคซีนโรคฝีดาษลิงได้รับอนุมัติเมื่อ ค.ศ. 2019 ในสหรัฐให้ใช้ได้ในผู้ใหญ่โดยมีชื่อการค้าว่า Jynneos[11] ยาที่ใช้ในการรักษาคือยาต้านไวรัส tecovirimat ซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มออร์โธพ็อกซ์ไวรัส เช่น ฝีดาษ และฝีดาษลิง ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้โดยสหภาพยุโรปและสหรัฐ ยาอื่นที่อาจใช้ได้ ได้แก่ cidofovir และ brincidofovir[4][12] โอกาสเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษามีรายงานว่าสูงสุดอยู่ที่ 10-11% โดยเป็นรายงานจากการติดเชื้อพันธุ์สาขาที่ระบาดในแอฟริกากลาง (ลุ่มแม่น้ำคองโก)[1][13][14]

โรคนี้ค้นพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1958 ในลิงสำหรับทดลองในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก[15] ทั้งนี้ลิงไม่ใช่แหล่งรังโรคตามธรรมชาติของโรคนี้แต่อย่างใด[16] การติดเชื้อในมนุษย์พบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1970 ในประเทศคองโก[15] เคยมีการระบาดในสหรัฐเมื่อ ค.ศ. 2003 ซึ่งมีต้นตอมาจากร้านขายสัตว์เลี้ยงที่นำหนูจากประเทศกานามาขาย[3] การระบาดใน ค.ศ. 2022 ถือเป็นครั้งแรกที่พบการระบาดนอกทวีปแอฟริกาที่เป็นการระบาดในชุมชน โดยพบครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022 และต่อมาพบในอีกกว่า 20 ประเทศ[17] โดยพบทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย และออสเตรเลีย[18][19][20]

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อโรคฝีดาษลิงเป็น เอ็มพ็อกซ์ (MPOX) เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติหรือการเหยียดเชื้อชาติในอนาคต โดยเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 2023[21]

อาการและอาการแสดง

การเปลี่ยนแปลงตามระยะของรอยโรคที่พบในผู้ป่วยฝีดาษลิง

อาการในระยะแรกของผู้ป่วยได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ อ่อนเพลีย[22][23] โดยอาจเป็นอาการคล้ายคลึงกับที่พบในผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่[24] โรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันได้แก่ อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมักมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย[22][23] โดยจะพบที่ต่อมน้ำเหลืองหลังหู ใต้ขากรรไกร คอ หรือขาหนีบ โดยจะพบก่อนที่จะมีผื่น[4] หลังมีไข้ได้ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นที่มีลักษณะเฉพาะ มักขึ้นที่ใบหน้าก่อนบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า โดยมักพบที่ส่วนนอกของร่างกายมากกว่าตำแหน่งอื่น[22][23]

ผู้ป่วยประมาณสามในสี่จะมีรอยโรคที่ฝ่ามือฝ่าเท้า สองในสามจะมีในปาก หนึ่งในสามจะมีที่อวัยวะเพศ และหนึ่งในห้าจะมีที่ตา[22] รอยโรคในระยะแรกเริ่มจะเป็นผื่นจุดแบน (macule) จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นตุ่มนูน (papule) เป็นตุ่มน้ำใส (vesicle) เป็นตุ่มหนอง (pustule) ตามลำดับ ก่อนที่จะกลายเป็นสะเก็ดและหลุดลอกออกไปในที่สุด[1][23] ผู้ป่วยอาจมีรอยโรคได้ตั้งแต่มีเล็กน้อย 2-3 จุด ไปจนถึงมีมากหลายพันจุด ซึ่งหากมีมากๆ บางครั้งรอยโรคหลายๆ อันอาจรวมกันเป็นรอยโรคขนาดใหญ่ได้[22]

ผื่นในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะที่ตรงกัน[8] และมีลักษณะเหมือนผื่นที่พบในโรคฝีดาษ[25] ระยะที่มีผื่นมักเป็นอยู่ประมาณ 10 วัน[24] โดยผู้ป่วยอาจยังคงรู้สึกไม่สบายตัวอยู่ 2-4 สัปดาห์[1] หลังจากหายแล้วบริเวณที่เคยเป็นผื่นจะมีรอยจางอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลายเป็นแผลเป็นสีเข้ม[8]

สาเหตุ

โรคฝีดาษลิงที่พบในมนุษย์และสัตว์เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอสายคู่ อยู่ในจีนัสออร์โธพ็อกซ์ไวรัส แฟมีลีพอกซ์ไวริดี[26] ไวรัสนี้ส่วนใหญ่แล้วจะพบได้ในป่าดิบชื้นในทวีปแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก[26] โดยเชื้อนี้มีการแบ่งแยกเป็นพันธุ์สาขา (clade) ลุ่มแม่น้ำคองโก และพันธุ์สาขาแอฟริกาตะวันตก ซึ่งการกระจายของเชื้อและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์มีความสอดคล้องกันพอดี[6]

แหล่งรังโรค

ปัจจุบันยังไม่พบสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคตามธรรมชาติของโรคนี้ โดยลิงก็ไม่ใช่แหล่งรังโรคเช่นกัน แม้โรคนี้จะได้ชื่อว่าฝีดาษลิงก็ตาม โดยเชื่อกันว่าสัตว์ฟันแทะที่มีถิ่นที่อยู่ในแอฟริกาเป็นแหล่งรังโรคที่แท้จริง[16]

การวินิจฉัย

อาการของผู้ป่วยฝีดาษลิง

การวินิจฉัยแยกโรคทางคลินิกในผู้ป่วยที่มีผื่นลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ต้องนึกถึงโรคอื่นๆ เช่น อีสุกอีใส โรคหัด การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หิด ซิฟิลิส และผื่นแพ้ยาไว้ด้วย การมีต่อมน้ำเหลืองโตในระยะมีอาการก่อนเป็นผื่นเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้แยกระหว่างฝีดาษลิงกับอีสุกอีใสและฝีดาษออกจากกันได้ โดยการวินิจฉัยยืนยันทำได้โดยการตรวจหาเชื้อไวรัส[27]

การป้องกัน

การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษน่าจะสามารถลดโอกาสติดเชื้อที่นำไปสู่โรคฝีดาษลิงในมนุษย์ได้ เนื่องจากไวรัสสองชนิดนี้มีความใกล้เคียงกันมาก และยังสามารถป้องกันสัตว์ทดลองไม่ให้ติดเชื้อนี้แล้วมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้[13] ทั้งนี้ที่ผ่านมายังไม่มีการทดลองต่อยอดเพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ในมนุษย์ เนื่องจากเมื่อโรคฝีดาษถูกกำจัดหมดไปจากโลก การให้วัคซีนฝีดาษเป็นการทั่วไปก็ยุติลงตามไปด้วย[28]

การรักษา

ในสหภาพยุโรปและสหรัฐได้อนุมัติให้ใช้ยา tecovirimat ในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสในกลุ่มพ็อกซ์ไวรัสหลายชนิด รวมไปถึงฝีดาษลิงด้วย[29] วารสาร BMJ Best Practice แนะนำให้ใช้ tecovirimat หรือ brincidofovir ซึ่งเป็นยารักษาโรคฝีดาษ เป็นยาลำดับแรกในการรักษาผู้ป่วยฝีดาษลิง ควบคู่ไปกับการรักษาประคับประคองต่างๆ ได้แก่ ยาลดไข้ การให้สารน้ำ และการให้ออกซิเจนตามความจำเป็น ยาต้านแบคทีเรียหรือยาต้านไวรัสอื่นอย่างอะไซโคลเวียร์อาจนำมาใช้ได้หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนหรืออยู่ระหว่างการแยกจากการติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส[30]

ประวัติศาสตร์

ลิงแสม

โรคฝีดาษลิงถูกพบครั้งแรกโดย Preben von Magnus เมื่อ ค.ศ. 1958 ในประเทศเดนมาร์ก โดยพบการระบาดสองครั้งของโรคที่คล้ายฝีดาษในกลุ่มของลิงแสมที่ถูกจับมาจากมาเลเซียและขนส่งผ่านสิงคโปร์[31]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร